วิตามินซี หรือ กรดแอสคอร์บิก หรือ กรดแอล-แอสคอร์บิก (l-ascorbic acid) หรือ แอสคอร์เบต (ascorbate เป็นแอนไอออน [anion] ของกรดแอสคอร์บิก) เป็นวิตามินที่พบในอาหารและอาหารเสริมต่าง ๆ ใช้ป้องกันและรักษาโรคลักปิดลักเปิด เป็นสารอาหารจำเป็นที่ใช้ซ่อมแซมเนื้อเยื่อและผลิตสารสื่อประสาทบางอย่างโดยอาศัยเอนไซม์ จำเป็นในการทำงานของเอนไซม์หลายอย่างและสำคัญต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระด้วย เป็นสารอาหารจำเป็นสำหรับมนุษย์และสัตว์อื่นบางชนิด เป็นวิตามินที่ละลายน้ำได้ แอสคอร์เบตจำเป็นในเมแทบอลิซึมของสัตว์และพืชทุกชนิด สิ่งมีชีวิตแทบทุกชนิดสามารถสังเคราะห์ได้ ที่สังเคราะห์ไม่ได้ต้องได้จากอาหาร
ข้อมูลทางคลินิก | |
---|---|
ชื่ออื่น | l-ascorbic acid, กรดแอสคอร์บิก, แอสคอร์เบต |
/ | Monograph |
a682583 | |
ระดับความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ |
|
ช่องทางการรับยา | ทางปาก ฉีดที่กล้ามเนื้อ ให้ทางเส้นเลือด ฉีดใต้ผิวหนัง |
รหัส ATC |
|
กฏหมาย | |
สถานะตามกฏหมาย |
|
ข้อมูลเภสัชจลนศาสตร์ | |
ชีวประสิทธิผล | รวดเร็วและสมบูรณ์ |
น้อยมาก | |
ครึ่งชีวิตทางชีวภาพ | ต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นในเลือด |
การขับออก | ไต |
ตัวบ่งชี้ | |
| |
เลขทะเบียน CAS |
|
(PubChem) CID |
|
| |
DrugBank |
|
ChemSpider |
|
| |
| |
| |
| |
| |
E300 | |
100.000.061 | |
ข้อมูลทางกายภาพและเคมี | |
สูตร | C6H8O6 |
176.12 g·mol−1 | |
แบบจำลอง 3D () |
|
ความหนาแน่น | 1.694 g/cm3 |
จุดหลอมเหลว | 190–192 องศาเซลเซียส (374–378 องศาฟาเรนไฮต์) (บางส่วนจะสลายไป) |
จุดเดือด | 553 องศาเซลเซียส (1,027 องศาฟาเรนไฮต์) |
| |
| |
(verify) | |
หลักฐานจนถึงปี 2016 ไม่สนับสนุนให้ใช้ป้องกันโรคหวัดธรรมดา แต่มีหลักฐานว่าการใช้เป็นประจำทำให้หายหวัดเร็วขึ้น ไม่ชัดเจนว่าการกินเป็นอาหารเสริมมีผลต่อความเสี่ยงโรคมะเร็ง โรคระบบหัวใจหลอดเลือด และภาวะสมองเสื่อม อาจใช้กินหรือฉีด
วิตามินซีโดยมากมีผลข้างเคียงน้อย แต่ถ้ากินมากอาจทำให้ไม่สบายท้อง ปวดท้อง รบกวนการนอน และทำให้หน้าแดง ขนาดปกติปลอดภัยเมื่อตั้งครรภ์แพทยศาสตรบัณฑิตยสถานแห่งชาติสหรัฐ (NAM) แนะนำไม่ให้กินเป็นปริมาณมาก ๆ
วิตามินซีค้นพบในปี 1912 แล้วแยกต่างหากในปี 1928 เป็นวิตามินชนิดแรกที่ผลิตโดยสังเคราะห์ทางเคมีในปี 1933 มันอยู่ในรายการยาจำเป็นขององค์การอนามัยโลก เพราะเป็นยาที่มีประสิทธิภาพดีสุดและปลอดภัยซึ่งจำเป็นในระบบสาธารณสุข เป็นยาสามัญที่ไม่แพงและซื้อได้เอง ในปี 1937 นักเคมีชาวฮังการีอัลเบิร์ต เซนต์จอจี (Albert Szent-Györgyi) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ และนักเคมีชาวอังกฤษ (Norman Haworth) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีส่วนหนึ่งก็เพราะค้นพบวิตามินซี อาหารที่มีรวมทั้งผลไม้สกุลส้ม กีวี บรอกโคลี กะหล่ำดาว พริกหยวก และสตรอว์เบอร์รี การเก็บไว้หรือหุงต้มนาน ๆ อาจลดวิตามินซีในอาหาร
กรดแอสคอร์บิกใช้เป็นสารปรุงแต่งอาหารอย่างกว้างขวางเพื่อป้องกันออกซิเดชัน
ชีววิทยา
ความสำคัญ
วิตามินซีเป็นสารอาหารจำเป็นสำหรับสัตว์บางอย่างรวมทั้งมนุษย์ คำว่า วิตามินซี รวมเอาสารประกอบทางเคมีที่ทั่วไปมีโครงสร้างคล้ายกันหลายชนิดที่เรียกว่า vitamer มีฤทธิ์วิตามินซีในร่างกายสัตว์ ซึ่งรวมกรดแอสคอร์บิกและเกลือของมัน เกลือแอสคอร์เบต ดังเช่น โซเดียมแอสคอร์เบต (sodium ascorbate) และแคลเซียมแอสคอร์เบต (calcium ascorbate) มักใช้ในอาหารเสริม ซึ่งสลายเป็นแอสคอร์เบตเมื่อย่อย ทั้งแอสคอร์เบตและกรดแอสคอร์บิกมีอยู่ตามธรรมชาติในร่างกาย เพราะทั้งสองแปลงรูปเป็นกันและกันได้แล้วแต่ความเป็นกรด (pH) ส่วนรูปแบบโมเลกุลที่ออกซิไดซ์ เช่น กรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก (DHA) สามารถเปลี่ยนกลับเป็นกรดแอสคอร์บิกด้วยตัวรีดิวซ์ (reducing agent)
วิตามินซีเป็นโคแฟกเตอร์ในปฏิกิริยาอาศัยเอนไซม์ในสัตว์ (และมนุษย์) ซึ่งอำนวยกิจทางชีววิทยาที่จำเป็นหลายอย่างรวมทั้งการสมานแผล การป้องกันเลือดออกจากหลอดเลือดฝอย และการสังเคราะห์คอลลาเจน ในมนุษย์ การขาดวิตามินซีทำให้การสังเคราะห์คอลลาเจนบกพร่อง ซึ่งทำให้อาการโรคลักปิดลักเปิดหนักขึ้น บทบาททางเคมีชีวภาพของวิตามินซีอีกอย่างก็คือเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (คือเป็นตัวรีดิวซ์) โดยจ่ายอิเล็กตรอนแก่ปฏิกิริยาเคมีทั้งที่อาศัยเอนไซม์และไม่อาศัยเอนไซม์หลายอย่าง แล้วเปลี่ยนสภาพเป็นแบบออกซิไดซ์ โดยอาจเป็นกรดเซมิดีไฮโดรแอสคอร์บิก (semidehydroascorbic acid) หรือกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก ซึ่งสามารถรีดีวซ์ให้กลับคืนสภาพเดิมด้วยกลไกอาศัยเอนไซม์โดยใช้กลูตาไธโอนและ NADPH เป็นเมแทบอไลต์
ในพืช วิตามินซีเป็นซับสเตรตสำหรับเอนไซม์แอสคอร์เบตเพอร์ออกซิเดส (ascorbate peroxidase) เอนไซม์นี้ใช้แอสคอร์เบตเพื่อสลายไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (H2O2) ที่เป็นพิษให้เป็นน้ำ (H2O)
การขาด
โรคลักปิดลักเปิดมีเหตุจากการขาดวิตามินซี เพราะเมื่อไม่มีวิตามิน คอลลาเจนที่ร่างกายผลิตจะไม่เสถียรพอเพื่อใช้งาน โรคทำให้มีจุดน้ำตาลบนผิวหนัง เหงือกยุ่ย และเลือดออกตามเยื่อเมือก จุดดังว่าเกิดมากสุดที่ขา คนไข้จะดูซีด ซึมเศร้า และอ่อนล้า ถ้าเป็นมาก แผลจะไม่ค่อยหาย ฟันร่วง จนถึงเสียชีวิตได้ ร่างกายมนุษย์สามารถเก็บสะสมวิตามินซีเป็นปริมาณจำกัดเท่านั้น ดังนั้น ก็จะหมดไปถ้าไม่ได้เพิ่ม แต่การปรากฏอาการของผู้ใหญ่ที่ไม่ขาดวิตามินแล้วทานอาหารที่ไม่มีวิตามินซีเลย อาจกินเวลาตั้งแต่เดือนหนึ่งจนถึงมากกว่า 6 เดือนขึ้นอยู่กับปริมาณวิตามินซีสะสมก่อนหน้านี้
มีงานศึกษาเด่นที่ทดลองก่อโรคในผู้ปฏิเสธไม่ยอมเป็นทหารโดยอ้างมโนธรรมในประเทศอังกฤษช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และในนักโทษรัฐไอโอวา (สหรัฐ) ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 จนถึง 1980 งานศึกษาทั้งสองพบว่า อาการโรคลักปิดลักเปิดต่าง ๆ ที่ปรากฏเพราะทานอาหารที่มีวิตามินซีน้อยมากสามารถแก้ได้ทั้งหมดโดยเสริมวิตามินซีเพียงแค่ 10 มก./วัน ในงานทดลองเหล่านี้ ไม่มีความแตกต่างทางคลินิกระหว่างชายที่ได้วิตามิน 70 มก./วัน (ซึ่งทำให้มีความเข้มข้นวิตามินในเลือด 0.55 มก./ดล. อันเป็น 1/3 ของระดับอิ่มตัวในเนื้อเยื่อโดยประมาณ) กับชายที่ได้ 10 มก./วัน นักโทษในงานศึกษาเกิดอาการโรคประมาณ 4 สัปดาห์หลังเริ่มทานอาหารปลอดวิตามินซี เทียบกับงานศึกษาในอังกฤษที่ต้องใช้เวลา 6-8 เดือนโดยน่าจะเป็นเพราะการเร่งให้ทานอาหารเสริมขนาด 70 มก./วันเป็นเวลา 6 สัปดาห์ก่อนให้ทานอาหารขาดวิตามิน
ชายในงานทั้งสองที่ทานอาหารเกือบไร้วิตามิน มีวิตามินซีในเลือดต่ำกว่าที่จะวัดได้อย่างแม่นยำเมื่อเริ่มเกิดอาการโรค ในนักโทษรัฐไอโอวา ได้ประเมิน (โดยวิธี Carbon-14 labeled l-ascorbic acid) ในช่วงปรากฏโรคนี้ว่า มีปริมาณสะสมในร่างกายน้อยกว่า 300 มก. โดยใช้ต่อวันลดลงเหลือเพียงแค่ 2.5 มก.
การใช้
วิตามินซีมีบทบาทที่ชัดเจนในการรักษาโรคลักปิดลักเปิด ซึ่งเกิดเพราะขาดวิตามินซี นอกเหนือจากนั้น บทบาทของมันในการป้องกันหรือรักษาโรคต่าง ๆ เป็นเรื่องโต้แย้งไม่มีที่สิ้นสุด โดยงานทบทวนวรรณกรรมต่าง ๆ ก็รายงานผลที่ขัดแยังกัน งานทบทวนแบบคอเคลนปี 2012 รายงานว่า การเสริมอาหารด้วยวิตามินซีไม่มีผลต่ออัตราตายโดยทั้งหมด (overall mortality) วิตามินอยู่ในรายกายยาจำเป็นขององค์การอนามัยโลก โดยเป็นยาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยที่สุดอันจำเป็นในระบบสาธารณสุข
โรคลักปิดลักเปิด
โรคลักปิดลักเปิดเกิดจากการขาดวิตามินซี สามารถป้องกันและรักษาได้ด้วยอาหารที่มีวิตามินซีหรือด้วยอาหารเสริม โรคใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือนก่อนจะเกิดอาการเมื่อทานอาหารที่ไม่มีหรือมีวิตามินซีน้อย อาการเบื้องต้นรวมทั้งความละเหี่ยไม่สบายและภาวะง่วงงุน โดยแย่ลงเป็นหายใจไม่เต็มปอด ปวดกระดูก เหงือกเลือดออก ฟกช้ำง่าย แผลหายยาก และในที่สุดเป็นไข้ ชัก และสุดท้าย เสียชีวิต โรคกลับคืนดีได้จนถึงระยะสุดท้าย ๆ เพราะร่างกายจะผลิตคอลลาเจนแทนที่ที่ไม่ดีเพราะขาดวิตามิน ยาสามารถใช้กิน ฉีดในกล้ามเนื้อ หรือให้ทางเส้นเลือด
โรคนี้รู้จักกันตั้งแต่สมัยฮิปพอคราทีสช่วงกรีกโบราณแล้ว ในปี 1747 ศัลยแพทย์ของราชนาวีอังกฤษ คือ เจมส์ ลินด์ ได้ทำงานทดลองมีกลุ่มควบคุมงานต้น ๆ ที่แสดงว่า ผลไม้สกุลส้มป้องกันโรคนี้ได้ และเริ่มจากปี 1796 ราชนาวีอังกฤษก็แจกน้ำเลมอนแก่กะลาสีทุกคน
การติดเชื้อ
ผลของวิตามินซีต่อโรคหวัดธรรมดาได้ทำการวิจัยอย่างกว้างขวาง งานทดลองทางคลินิกมีกลุ่มควบคุมงานแรกสุดดูเหมือนจะทำในปี 1945 ต่อจากนั้น ก็มีงานวิจัยต่อ ๆ มา แต่ความสนใจทั้งทางวิชาการและจากสาธารณชนได้เพิ่มขึ้นเมื่อไลนัส พอลิง ผู้ได้รับทั้งรางวัลโนเบลสาขาเคมี (1954) และรางวัลโนเบลสันติภาพ (1962) ได้เริ่มตีพิมพ์ผลงานวิจัยในเรื่องนี้ และเขียนหนังสือปี 1970 คือ "Vitamin C and the Common Cold" (วิตามินซีกับโรคหวัดธรรมดา) ต่อมาจึงเขียนหนังสือที่อัปเดตและขยายความอีกเล่มปี 1976 คือ "Vitamin C, the Common Cold and the Flu" (วิตามินซี โรคหวัดธรรมดา และไข้หวัดใหญ่)
งานวิจัยเรื่องวิตามินซีกับไข้หวัดธรรมดาแบ่งออกเป็นผลในการป้องกัน ผลต่อระยะเวลาที่เป็น และผลต่อความรุนแรงของโรค งานทบทวนแบบคอเคลนปี 2013 ซึ่งตรวจดูงานวิจัยต่าง ๆ ที่ทดลองใช้วิตามินอย่างน้อย 200 มก./วัน สรุปว่า วิตามินซีที่กินเป็นประจำไม่มีประสิทธิภาพป้องกันไข้หวัดธรรมดา แม้กิน 1,000 มก./วัน ก็ไม่ได้ผล แต่การกินวิตามินซีเป็นประจำลดระยะการเป็นหวัด 8% ในผู้ใหญ่ และ 14% ในเด็ก โดยลดความรุนแรงของไข้ด้วย ข้อมูลงานทดลองเซตย่อยระบุว่า ช่วยลดอุบัติการณ์ของไข้หวัดธรรมดาครึ่งหนึ่งในนักวิ่งมาราธอน ในผู้เล่นสกี และในทหารที่ทำการในที่หนาวมาก (subarctic) ข้อมูลงานทดลองเซตย่อยอีกเซ็ตหนึ่งตรวจดูการใช้รักษา คือจะไม่เริ่มกินวิตามินซีจนกระทั่งรู้สึกเป็นไข้ แล้วพบว่าวิตามินซีไม่มีผลต่อระยะเวลาหรือความรุนแรงของโรค เทียบกับงานทบทวนปี 2009 ที่สรุปว่า วิตามินซีไม่ป้องกันโรคหวัด ลดระยะเวลาที่เป็น แต่ไม่ลดความรุนแรง นักวิจัยของงานปี 2013 สรุปว่า "...เพราะวิตามินซีมีผลที่สม่ำเสมอต่อระยะเวลาและความรุนแรงของไข้หวัดในงานศึกษาที่ให้กินเป็นอาหารเสริมเป็นประจำ เพราะราคาถูกและปลอดภัย มันอาจคุ้มค่าสำหรับคนไข้โรคหวัดธรรมดาเพื่อทดลองเป็นส่วนบุคคลว่า การใช้วิตามินซีเพื่อรักษามีประโยชน์กับตนหรือไม่"
วิตามินซีกระจายเข้าไปในเซลล์ภูมิคุ้มกันในระดับความเข้มข้นสูงได้ดี ช่วยงานต้านจุลชีพของร่างกาย ช่วยเซลล์ภูมิคุ้มกัน (คือ natural killer cell หรือ NK cell ซึ่งเป็นลิมโฟไซต์ชนิดหนึ่ง) ให้ทำงานได้ดีขึ้น ช่วยเพิ่มจำนวนลิมโฟไซต์ และใช้หมดเร็วมากเมื่อติดเชื้อ ซึ่งแสดงว่ามีบทบาทสำคัญในการควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน สำนักงานความปลอดภัยอาหารยุโรป (EFSA) พบว่า มีความสัมพันธ์โดยเป็นเหตุผลระหว่างการกินวิตามินซีในอาหาร กับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ปกติในผู้ใหญ่และเด็กอายุน้อยกว่า 3 ขวบ
มะเร็ง
มีแนวทางการศึกษาสองอย่างว่า วิตามินซีมีผลต่อมะเร็งหรือไม่ อย่างแรกคือ ถ้าได้จากอาหารในพิสัยปกติโดยไม่ทานอาหารเสริมเพิ่ม ผู้ที่กินวิตามินซีมากกว่าเสี่ยงเกิดมะเร็งน้อยกว่าหรือไม่ ถ้ามีน้อยกว่า การกินเป็นอาหารเสริมมีประโยชน์เหมือนกันหรือไม่ อย่างที่สองคือ สำหรับคนไข้ที่ได้วินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง การให้กรดแอสคอร์บิกปริมาณมากทางเส้นเลือดเพื่อรักษามะเร็งช่วยลดผลไม่พึงประสงค์ของการรักษาวิธีอื่น ๆ และดังนั้น จึงช่วยให้รอดชีวิตได้นานขึ้นหรือเพิ่มคุณภาพชีวิตหรือไม่ งานทบทวนแบบคอเคลนปี 2013 ไม่พบหลักฐานว่าการกินเป็นอาหารเสริมลดความเสี่ยงมะเร็งปอดสำหรับคนสุขภาพดีหรือคนเสี่ยงสูงเพราะสูบยา (มีบุหรี่เป็นต้น) หรือเพราะได้รับแร่ใยหิน
งานวิเคราะห์อภิมานที่สองปี 2011 ไม่พบผลต่อความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก มีงานวิเคราะห์อภิมานสองงาน (2011, 2013) ที่ประเมินผลของการกินวิตามินซีเป็นอาหารเสริมต่อความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ งานหนึ่งพบความสัมพันธ์อย่างอ่อน ๆ ระหว่างการกินวิตามินซีกับความเสี่ยงที่ลดลง อีกงานหนึ่งไม่พบ
งานวิเคราะห์อภิมานปี 2011 อีกงานหนึ่งไม่พบหลักฐานว่า การกินวิตามินซีเป็นอาหารเสริมช่วยป้องกันมะเร็งเต้านม แต่งานปี 2014 สรุปว่า วิตามินซีสัมพันธ์กับการรอดชีวิตได้นานขึ้นสำหรับคนไข้ที่วินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม
"การให้วิตามินซีทางเส้นเลือดเป็นการรักษามะเร็งแบบประกอบอย่างหนึ่งที่มีข้อโต้แย้ง และใช้อย่างกว้างขวางในการรักษาเนื้องอกและมะเร็งแบบธรรมชาติ (naturopathic oncology) และแบบบูรณาการ (integrative oncology)" โดยเป็นส่วนของการแพทย์ทางเลือก (เช่น orthomolecular medicine เป็นต้น) ถ้าใช้กิน ประสิทธิภาพการดูดซึมจะลดลงเมื่อปริมาณสูงขึ้น แต่การให้ทางเส้นเลือดไม่มีปัญหานี้ ทำให้สามารถได้ความเข้มข้นในเลือดถึง 5-10 mmol/L ซึ่งมากกว่าที่ได้ทางปากคือ 0.2 mmol/L อย่างมาก ทฤษฏีต่าง ๆ ที่เสนอกลไกการทำงานขัดแย้งกันเอง เอกสารหนึ่งแสดงว่า ความเข้มข้นของกรดแอสคอร์บิกในเนื้อเยื่อสูงมีฤทธิ์เป็น pro-oxidant คือก่อไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (H2O2) ที่ฆ่าเซลล์เนื้องอก pro-oxidant เป็นสารเคมีที่ก่อ oxidative stress โดยก่อกลุ่มออกซิเจนที่ไวปฏิกิริยา (reactive oxygen species) หรือโดยยับยั้งระบบต้านอนุมูลอิสระ oxidative stress ที่เกิดสามารถทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อ แต่เอกสารเดียวกันก็อ้างด้วยว่า กรดแอสคอร์บิกมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ดังนั้นจึงลดผลที่ไม่พึงประสงค์ของเคมีบำบัดและการฉายแสง สรุปคือเอกสารเดียวกันเสนอกลไกการทำงานเป็น 2 ทฤษฎีที่ขัดแย้งกันเอง
แม้งานวิจัยก็ยังดำเนินต่อไปในเรื่องเหล่านี้ แต่งานทบทวนปี 2014 ได้สรุปว่า "ในปัจจุบัน การให้วิตามินซีทางเส้นเลือดในปริมาณมาก [โดยเป็นยาต้านมะเร็ง] ไม่อาจแนะนำให้ใช้นอกการทดลองทางคลินิกได้" งานทบทวนปี 2015 ได้เสริมว่า "ไม่มีหลักฐานคุณภาพดีที่แสดงนัยว่า การให้แอสคอร์เบตเป็นอาหารเสริมในคนไข้มะเร็งเพิ่มผลต้านมะเร็งของเคมีบำบัดหรือลดความเป็นพิษของมัน หลักฐานเกี่ยวกับผลต้านเนื้องอกของแอสคอร์เบตจำกัดอยู่กับรายงานผู้ป่วย งานศึกษาแบบสังเกต และงานศึกษาที่ไม่มีกลุ่มควบคุม" คือจำกัดอยู่กับงานศึกษาที่จัดว่า มีคุณภาพด้อยกว่า
โรคระบบหัวใจหลอดเลือด
งานวิเคราะห์อภิมานปี 2013 ไม่พบหลักฐานว่า การกินวิตามินซีเป็นอาหารเสริมลดกล้ามเนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือด ลดโรคหลอดเลือดสมอง ลดอัตราตายเหตุโรคระบบหัวใจหลอดเลือด และลดอัตราตายเหตุทุกอย่าง แต่งานปีเดียวกันอีกงานก็พบความสัมพันธ์ระหว่างระดับวิตามินซีในเลือดหรือระดับการได้วิตามินซีในอาหาร กับความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองที่ลดลง
งานวิเคราะห์อภิมานปี 2014 ที่ตรวจงานทดลองทางคลินิก 44 งานแสดงผลดีของวิตามินซีเมื่อกินมากกว่า 500 มก./วันต่อการทำงานของเอนโดทีเลียม/เนื้อเยื่อบุโพรง เนื้อเยื่อบุโพรงเป็นชั้นเซลล์ที่บุผิวภายในของหลอดเลือด การทำหน้าที่ผิดปรกติของเนื้อเยื่อบุโพรง (endothelial dysfunction) ยกว่า เป็นเหตุของโรคหลอดเลือดในด้านต่าง ๆ นักวิจัยของงานตั้งข้อสังเกตว่า ผลของการกินวิตามินซีเป็นอาหารเสริมดูเหมือนจะขึ้นอยู่กับสุขภาพ คือมีผลดีกว่าสำหรับผู้ที่เสี่ยงโรคระบบหัวใจหลอดเลือดมากกว่า
การทำงานของสมอง
งานทบทวนเป็นระบบปี 2017 พบความเข้มข้นวิตามินซีที่ต่ำกว่าในบุคคลที่พิการทางประชาน รวมทั้งคนไข้โรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อม เมื่อเทียบกับคนปกติ แต่วิธีตรวจการทำงานทางประชานที่ใช้ คือ Mini-Mental State Examination เป็นเพียงการตรวจการทำงานแบบทั่ว ๆ ไป ซึ่งชี้ว่าคุณภาพของงานวิจัยทั่ว ๆ ไปที่ประเมินความสำคัญของวิตามินซีต่อการทำงานทางประชานของคนปกติและคนพิการนั้นไม่ดี งานวิจัยปี 2014 ที่ตรวจสอบสารอาหารในคนไข้โรคอัลไซเมอร์รายงานว่า ในเลือด คนไข้มีวิตามินซี มีกรดโฟลิก (วิตามินบี9) วิตามินบี12 และวิตามินอีทั้งหมดน้อย
โรคอื่น ๆ
งานศึกษาที่ตรวจผลของการได้วิตามินซีต่อความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ได้ข้อสรุปต่าง ๆ ที่ขัดแย้งกัน การทานอาหารให้ถูกสุขภาพน่าจะสำคัญกว่าการทานอาหารเสริมเพื่อให้ได้ประโยชน์ที่อาจเป็นไปได้อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ งานทบทวนปี 2010 ไม่พบประโยชน์ของการกินวิตามินซีเป็นอาหารเสริมเพื่อรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ งานทบทวนแบบคอเคลนปี 2012 พบว่า การกินวิตามินซีเป็นอาหารเสริมไม่ช่วยป้องกันหรือชะลอต้อกระจกที่เป็นไปตามวัย
ผลข้างเคียง
วิตามินซีละลายน้ำได้ ถ้ากินเกินกว่าที่ร่างกายดูดซึมได้ ก็จะขับออกทางปัสสาวะ จึงไม่ค่อยเป็นพิษแบบฉับพลัน วิตามินซีมีความเป็นพิษต่ำมาก แต่การกินเกินกว่า 2-3 ก./วันอาจทำให้ย่อยอาหารได้ไม่ดีโดยเฉพาะถ้ากินเมื่อท้องว่าง การกินวิตามินซีในรูปแบบเกลือคือโซเดียมแอสคอร์เบตและแคลเซียมแอสคอร์เบตอาจลดปัญหานี้ อาการอื่น ๆ ที่เกิดเมื่อกินมากรวมทั้งคลื่นไส้ ปวดท้อง และท้องร่วง ซึ่งยกว่าเป็นผลทางออสโมซิสของวิตามินซีที่ดูดซึมไม่ได้เมื่อผ่านทางเดินอาหาร โดยทฤษฎี การกินวิตามินซีมากอาจเป็นเหตุให้ดูดซึมธาตุเหล็กเกิน ข้อสรุปงานทบทวนในผู้มีสุขภาพปกติไม่แสดงว่ามีปัญหานี้ แต่ไม่ได้ตรวจว่าความเป็นไปได้ว่า บุคคลที่มีภาวะเหล็กเกินที่สืบทางพันธุกรรมอาจเกิดปัญหาเช่นนี้ได้
แม้มีความเชื่อมานานในวงการแพทย์ว่าวิตามินซีเพิ่มความเสี่ยงโรคนิ่วไต แต่ "รายงานว่าเกิดโรคนิ่วไตซึ่งสัมพันธ์กับการได้กรดแอสคอร์บิกมากเกินจำกัดอยู่กับบุคคลที่เป็นโรคไต" โดยงานทบทวนต่าง ๆ ได้แสดงว่า "ข้อมูลจากงานศึกษาทางวิทยาการระบาดไม่สนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างการได้กรดแอสคอร์บิกมากเกินกับการเกิดนิ่วไตในบุคคลที่ปรากฏว่าสุขภาพดี" แต่ก็มีงานทดลองขนาดใหญ่งานหนึ่ง ทำอยู่หลายปี ที่รายงานอัตรากาเกิดนิ่วไตเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าสำหรับชายที่กินวิตามินซีเป็นอาหารเสริมประจำ
อาหาร
ระดับแนะนำ
ระดับแนะนำ (มก./วัน) ของแพทยศาสตรบัณฑิตยสถานแห่งชาติสหรัฐ (NAM) | |
---|---|
RDA (เด็ก 1-3 ขวบ) | 15 |
RDA (เด็ก 4-8 ขวบ) | 25 |
RDA (เด็ก 9-13 ปี) | 45 |
RDA (ผู้หญิง 14-18 ปี) | 65 |
RDA (ผู้ชาย 14-18 ปี) | 75 |
RDA (ผู้ใหญ่หญิง) | 75 |
RDA (ผู้ใหญ่ชาย) | 90 |
RDA (หญิงตั้งครรภ์) | 85 |
RDA (หญิงให้นม) | 120 |
สูงสุด (ผู้ใหญ่หญิง) | 2,000 |
สูงสุด (ผู้ใหญ่ชาย) | 2,000 |
ทั่วโลก องค์กรแห่งชาติต่าง ๆ ได้ตั้งระดับที่แนะนำให้ได้วิตามินซีแต่ละวัน
- 40 มก./วัน (อินเดีย - สถาบันโภชนศาสตร์แห่งชาติ เมืองไฮเดอราบาด)
- 45 มก./วัน หรือ 300 มก./สัปดาห์ (องค์การอนามัยโลก)
- 60 มก./วันสำหรับบุคคลอายุกว่า 6 ปีขึ้นไป (ไทย - สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา)
- 80 มก./วัน (สภาคณะกรรมาธิการยุโรปในเรื่องป้ายอาหาร)
- 90 มก./วัน (ชาย) และ 75 มก./วัน (หญิง) (กระทรวงสาธารณสุขแคนาดา 2007)
- 90 มก./วัน (ชาย) และ 75 มก./วัน (หญิง) (แพทยศาสตรบัณฑิตยสถานแห่งชาติสหรัฐ [NAS])
- 100 มก./วัน (สถาบันสุขภาพและโภชนาการแห่งชาติญี่ปุ่น)
- 110 มก./วัน (ชาย) และ 95 มก./วัน (หญิง) (สำนักงานความปลอดภัยอาหารยุโรป [EFSA])
ในปี 2000 แพทยศาสตรบัณฑิตยสถานแห่งชาติสหรัฐ (NAM) ได้เปลี่ยนระดับอาหารที่แนะนำ (Recommended Dietary Allowance ตัวย่อ RDA) เป็น 90 มก./วัน สำหรับชายผู้ใหญ่ และ 75 มก./วัน สำหรับหญิงผู้ใหญ่ และตั้งระดับสูงสุด (Tolerable upper intake level ตัวย่อ UL) สำหรับผู้ใหญ่ที่ 2,000 มก./วัน ตารางยังแสดง RDA สำหรับสหรัฐและแคนาดาสำหรับเด็ก หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมลูกอีกด้วย สำหรับสหภาพยุโรป สำนักงานความปลอดภัยอาหารยุโรป (EFSA) ตั้งระดับแนะนำที่สูงกว่าสำหรับผู้ใหญ่รวมทั้งเด็ก คือ 20 มก./วันสำหรับเด็ก 1-3 ขวบ, 30 มก./วันสำหรับเด็ก 4-6 ขวบ, 45 มก./วันสำหรับเด็ก 7-10 ขวบ, 70 มก./วันสำหรับเด็ก 11-14 ปี, 100 มก./วันสำหรับชาย 15-17 ปี, 90 มก./วันสำหรับหญิง 15-17 ปี, 100 มก./วันสำหรับหญิงตั้งครรภ์ และ 155 มก./วันสำหรับหญิงให้นมลูก แต่อินเดียตั้งระดับที่ต่ำกว่ามาก คือ 40 มก./วันสำหรับเด็กตั้งแต่ 1 ขวบจนถึงผู้ใหญ่, 60 มก./วันสำหรับหญิงตั้งครรภ์ และ 80 มก./วันสำหรับหญิงให้นมลูก จึงชัดเจนว่า ประเทศต่าง ๆ ไม่มีความเห็นพ้องร่วมกัน
แพทยศาสตรบัณฑิตยสถานแห่งชาติสหรัฐ (NAM) ตั้งระดับสูงสุด (UL) สำหรับผู้ใหญ่ที่ 2,000 มก./วัน เพราะงานทดลองในมนุษย์รายงานอาการท้องร่วงและปัญหาทางเดินอาหารอื่น ๆ เมื่อได้มากกว่า 3,000 มก./วัน นี่เป็นระดับต่ำสุดที่เริ่มมีปัญหา (LOAEL) คือปัญหาอื่น ๆ พบในระดับที่สูงกว่า ส่วนสำนักงานความปลอดภัยอาหารยุโรป (EFSA) ทบทวนปัญหาความปลอดภัยนี้ในปี 2006 แล้วได้สรุปว่า ไม่มีหลักฐานพอตั้งระดับสูงสุดสำหรับวิตามินซี ซึ่งสถาบันสุขภาพและโภชนาการแห่งชาติญี่ปุ่นก็ได้สรุปเช่นเดียวกันในปี 2010
ผู้สูบบุหรี่และผู้ที่อยู่กับผู้สูบบุหรี่จะมีระดับวิตามินซีในเลือดต่ำกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งเชื่อว่า เกิดจากความเสียหายเนื่องกับออกซิเดชั่น (oxidative damage) ร่างกายจึงใช้วิตามินซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระนี้จนหมดไป แพทยศาสตรบัณฑิตยสถานแห่งชาติสหรัฐประมาณว่า ผู้สูบบุหรี่จำเป็นต้องได้วิตามินซี 35 มก./วันมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ แต่ก็ไม่ได้ตั้งระดับแนะนำที่สูงกว่าสำหรับผู้สูบบุหรี่อย่างเป็นรูปธรรม งานวิเคราะห์อภิมานปี 2014 แสดงความสัมพันธ์ผกผันระหว่างระดับการได้วิตามินซีกับมะเร็งปอด แต่ก็สรุปว่าจำเป็นต้องวิจัยยิ่งขึ้นเพื่อยืนยันสังเกตการณ์นี้
ศูนย์สถิติสุขภาพแห่งชาติสหรัฐได้สำรวจในปี 2013-2014 และรายงานว่า สำหรับผู้ใหญ่อายุ 20 ปีขึ้น ชายได้วิตามินซีโดยเฉลี่ย 83.3 มก./วันและหญิง 75.1 มก./วัน ซึ่งหมายความว่าหญิงครึ่งหนึ่งและชายมากกว่าครึ่งไม่ได้วิตามินซีตามระดับที่แนะนำ (RDA) งานสำรวจเดียวกันระบุว่า ผู้ใหญ่ 30% รายงานว่าตนบริโภควิตามินซีหรือวิตามิน/แร่ธาตุรวมที่มีวิตามินซีเป็นอาหารเสริม และในคนกลุ่มนี้ ปริมาณที่ได้ทั้งหมดอยู่ที่ 300-400 มก./วัน
ป้ายอาหาร
ในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อนุญาตให้แสดงข้อความกล่าวอ้างหน้าที่ของวิตามินซีดังต่อไปนี้คือ
- ช่วยให้หลอดเลือดแข็งแรง
- มีส่วนช่วยในกระบวนการต่อต้านอนุมูลอิสระ
- มีส่วนช่วยในการปกป้องเซลล์จากอนุมูลอิสระ
- มีส่วนช่วยในการสร้างคอลลาเจนเพื่อการทำงานตามปกติของกระดูกอ่อน
- มีส่วนช่วยในการสร้างคอลลาเจนเพื่อการทำงานตามปกติของกระดูก
- มีส่วนช่วยในการสร้างคอลลาเจน
- มีส่วนช่วยในการสร้างคอลลาเจนเพื่อการทำงานตามปกติของผิวหนัง
- มีส่วนช่วยในการสร้างคอลลาเจนเพื่อการทำงานตามปกติของฟัน
- มีส่วนช่วยให้ร่างกายได้รับพลังงานจากเมตาบอลิซึมตามปกติ
- มีส่วนช่วยในการทำงานตามปกติของระบบประสาท
- มีส่วนช่วยในการทำหน้าที่ตามปกติของระบบภูมิคุ้มกัน
- มีส่วนช่วยในการคืนสภาพของรีดิวซ์วิตามินอี
- เพิ่มการดูดซึมเหล็ก
แหล่งที่ได้
แหล่งธรรมชาติที่สมบูรณ์ที่สุดก็คือผักและผลไม้ วิตามินซีเป็นอาหารเสริมที่กินกันมากที่สุดและมีอยู่ในหลายรูปแบบ รวมทั้งยาเม็ด ยาสำหรับผสมเครื่องดื่ม และยาแคปซูล
จากพืช
แม้พืชจะเป็นแหล่งอาหารที่ดีสำหรับวิตามินซี แต่ปริมาณก็จะขึ้นอยู่กับชนิดพืช คุณภาพดิน ภูมิอากาศ เก็บเกี่ยวเมื่อไร วิธีการเก็บ และวิธีการจัดขาย ตารางต่อไปนี้แสดงค่าประมาณ เพื่อเปรียบเทียบความสมบูรณ์ระหว่างพืชต่าง ๆ แต่เพราะพืชบางอย่างวิเคราะห์เมื่อสด บางอย่างก็ตากแห้งแล้ว (ซึ่งก็จะเพิ่มความเข้มข้นขององค์ประกอบต่าง ๆ รวมทั้งวิตามินซี) ข้อมูลอาจมีค่าแปรผันหรืออาจเปรียบเทียบกันได้ยาก ปริมาณเป็นมิลลิกรัมต่อร้อยกรัมของผักผลไม้ส่วนที่กินได้
พืช | ปริมาณ (มก./100 ก.) |
---|---|
ลูกพลัมคอกคาทู (Kakadu plum) | 1,000–5,300 |
กามูกามู | 2,800 |
เชอร์รีสเปน | 1,677 |
Seabuckthorn | 695 |
มะขามป้อม | 445 |
ผลวิสามัญของกุหลาบ | 426 |
ฝรั่ง | 228 |
Blackcurrant | 200 |
พริกหยวกเหลือง | 183 |
พริกหยวกแดง | 128 |
ผักกะหล่ำปีเคล (Kale) | 120 |
กีวี, บรอกโคลี | 90 |
พืช | !ปริมาณ (มก./100 ก.) |
---|---|
พริกหยวกเขียว | 80 |
loganberry, redcurrant, กะหล่ำดาว | 80 |
cloudberry, elderberry | 60 |
มะละกอ, สตรอว์เบอร์รี | 60 |
ส้ม, เลมอน | 53 |
สับปะรด, กะหล่ำดอก | 48 |
แคนตาลูป | 40 |
เกรปฟรูต, แรสเบอร์รี | 30 |
เสาวรส, ผักโขม | 30 |
กะหล่ำปลี, มะนาว | 30 |
มะม่วง | 28 |
แบล็กเบอร์รี | 21 |
พืช | ปริมาณ (มก./100 ก.) |
---|---|
มันฝรั่ง, honeydew melon | 20 |
มะเขือเทศ | 14 |
แครนเบอร์รี | 13 |
บลูเบอร์รี, องุ่น | 10 |
เอพริคอต, พลัม, แตงโม | 10 |
อาโวคาโด | 8.8 |
หอมใหญ่ | 7.4 |
เชอร์รี, ท้อ | 7 |
แคร์รอต, แอปเปิล, หน่อไม้ฝรั่ง | 6 |
จากสัตว์
อาหารที่ได้จากสัตว์มีวิตามินซีน้อย และที่มีก็จะถูกทำลายโดยความร้อนเมื่อหุงต้ม เช่น ตับไก่ดิบมี 17.9 มก./100 ก. แต่เมื่อผัด จะเหลือแค่ 2.7 มก./100 ก. ไข่ไก่ไม่มีวิตามินซีไม่ว่าจะสุกหรือไม่สุก นมแม่มีวิตามินซี 5.0 มก./100 ก. เทียบกับนมสูตรทารก (สหรัฐ) ตัวอย่างหนึ่งที่มี 6.1 มก./100 ก. เทียบกับนมวัวที่ 1.0 มก./100 ก.
การหุงต้มอาหาร
วิตามินซีจะสลายตัวในสถานการณ์บางอย่าง หลายอย่างเกิดเมื่อหุงต้มอาหาร ความเข้มข้นของวิตามินในอาหารยังลดลงตามเวลาและตามอุณหภูมิที่เก็บไว้ การหุงต้มสามารถลดวิตามินซีในผักราว ๆ 60% ส่วนหนึ่งก็เพราะการสลายตัวอาศัยเอนไซม์ซึ่งอาจเกิดได้มากกว่าเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า 100 องศาเซลเซียส ยิ่งหุงต้มนาน ผลเช่นนี้ก็จะเกิดมากขึ้น และการหุงต้มในภาชนะทองแดงก็ยังเร่งปฏิกิริยาการสลายตัวเช่นนี้
วิตามินซีในอาหารยังอาจซึมชะละลายลงในน้ำที่ใช้หุงต้ม ซึ่งก็จะไม่ได้กินเมื่อเททิ้งไป แต่วิตามินซีในผักผลไม้ก็ไม่ได้ละลายออกในอัตราเท่า ๆ กัน งานวิจัยแสดงว่า บรอกโคลีดูเหมือนจะเก็บวิตามินซีได้ดีกว่าผักผลไม้อื่น ๆ งานวิจัยยังแสดงด้วยว่าผลไม้ที่เก็บเกี่ยวสด ๆ จะไม่เสียสารอาหารไปอย่างสำคัญถ้าเก็บไว้ในตู้เย็น 2-3 วัน
อาหารเสริม
อาหารเสริมเป็นวิตามินซีมีเป็นเม็ด แคปซูล เป็นผงสำเร็จรูปสำหรับละลายน้ำ อยู่ในวิตามินและแร่ธาตุรวม อยู่ในสูตรเพื่อเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และผงที่ทำเป็นผลึก อนึ่ง น้ำผลไม้และน้ำหวานอื่น ๆ อาจเติมวิตามินซีด้วย ขนาดเม็ดหรือแคปซูลเริ่มตั้งแต่ 25 มก. ไปจนถึง 1,500 มก. รูปแบบที่ใช้เป็นอาหารเสริมมากที่สุดคือกรดแอสคอร์บิก โซเดียมแอสคอร์เบต และแคลเซียมแอสคอร์เบต โมเลกุลของวิตามินซียังสามารถยึดกับกรดไขมันคือ palmitate กลายเป็น ascorbyl palmitate หรืออาจใส่เข้าใน liposome
การเสริมในอาหาร
ในประเทศแคนาดา มีอาหารหลายอย่างที่ผู้ผลิตสามารถอาสาเติมวิตามินซีเอง และหลายอย่างที่บังคับให้ต้องเติม อาหารที่ต้องเติมวิตามินซีรวมทั้งเครื่องดื่มรสผลไม้ ผงชงเป็นเครื่องดื่มรสผลไม้ อาหารที่ใช้เป็นส่วนของไดเอ็ตพลังงานต่ำ ผลิตภัณฑ์กินแทนอาหาร และนมข้น
การเติมในอาหาร
กรดแอสคอร์บิกและรูปแบบเกลือและเอสเทอร์ต่าง ๆ ของมันเป็นสารเติมแต่งอาหารที่สามัญโดยมากเพื่อชะลอกระบวนการออกซิเดชัน หมายเลขสารเติมแต่งอาหารที่ใช้รวมทั้ง
- E300 กรดแอสคอร์บิก อนุมัติให้ใช้เป็นสารเติมแต่งอาหารใน EU, U.S., ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
- E301 โซเดียมแอสคอร์เบต อนุมัติให้ใช้เป็นสารเติมแต่งอาหารใน EU, U.S., ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
- E302 แคลเซียมแอสคอร์เบต อนุมัติให้ใช้เป็นสารเติมแต่งอาหารใน EU, U.S., ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
- E303 โพแทสเซียมแอสคอร์เบต potassium ascorbate (อนุมัติให้ใช้เป็นสารเติมแต่งอาหารในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ แต่ไม่อนุมัติในสหรัฐ )
- E304 เอสเทอร์กรดไขมันของกรดแอสคอร์บิก เช่น ascorbyl palmitate อนุมัติให้ใช้เป็นสารเติมแต่งอาหารใน EU, U.S., ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
- INS 304 Ascorbyl palmitate (แอสคอร์บิลแพลมิเทต) หรือ Vitamin C palmitate (วิตามินซีแพลมิเทต) เป็นวัตถุเจือปนอาหารที่อนุญาตให้ใช้ในเอนไซม์ปรุงแต่งหรือเอนไซม์ตรึงรูปในประเทศไทย)
เภสัชวิทยา
Pharmacodynamics
วิตามินซีในรูปแบบของแอสคอร์เบตทำหน้าที่ทางสรีรภาพมากมายในร่างกายมนุษย์โดยเป็นซับสเตรตของเอนไซม์ และ/หรือเป็นโคแฟกเตอร์ และเป็นโมเลกุลที่สละอิเล็กตรอน หน้าที่รวมทั้งการสังเคราะห์คอลลาเจน, carnitine และสารสื่อประสาท, การสังเคราะห์และแคแทบอลิซึมของไทโรซีน และเมแทบอลิซึมของ microsome ในชีวสังเคราะห์ แอสคอร์เบตทำหน้าที่เป็นตัวรีดิวซ์ (reducing agent) คือให้อิเล็กตรอนและป้องกันออกซิเดชันโดยรักษาอะตอมเหล็กและทองแดงให้อยู่ในสภาพรีดิวซ์ วิตามินซียังเป็นโคแฟกเตอร์ของเอนไซม์ดังต่อไปนี้
- กลุ่มเอนไซม์ 3 กลุ่ม (prolyl-3-hydroxylases, prolyl-4-hydroxylases และ lysyl hydroxylases) ที่จำเป็นในการสังเคราะห์คอลลาเจนโดยเพิ่มกลุ่มไฮดรอกซิล (hydroxylation) ให้แก่กรดอะมิโนคือ proline และไลซีนในคอลลาเจน อาศัยเอนไซม์ prolyl hydroxylase และ lysyl hydroxylase โดยทั้งสองต้องมีวิตามินซีเป็นโคแฟกเตอร์ บทบาทโคแฟกเตอร์ของมันก็เพื่อออกซิไดซ์ prolyl hydroxylase และ lysyl hydroxylase จาก Fe2+ ให้เป็น Fe3+ และเพื่อรีดิวซ์จาก Fe3+ ให้เป็น Fe2+ การเพิ่มกลุ่มไฮดรอกซิลทำให้โมเลกุลคอลลาเจนกลายเป็นโครงสร้าง triple helix ดังนั้น วิตามินซีจึงจำเป็นเพื่อพัฒนาการและการดำรงรักษาเนื้อเยื่อแกรนูเลชัน (เนื้อเยื่อที่งอกปิดแปล) เส้นเลือด และกระดูกอ่อน
- เอนไซม์สองชนิด (ε-N-trimethyl-L-lysine hydroxylase และ γ-butyrobetaine hydroxylase) ซึ่งจำเป็นเพื่อสังเคราะห์ carnitine ซึ่งเป็นสารประกอบที่ขาดไม่ได้เพื่อขนส่งกรดไขมันเข้าไปยังไมโทคอนเดรียสำหรับการสร้างเอทีพี
- เอนไซม์กลุ่ม Hypoxia-inducible factor-proline dioxygenase (มีไอโซฟอร์มเป็น EGLN1, EGLN2 และ EGLN3)
- dopamine beta-hydroxylase ที่มีบทบาทในชีวสังเคราะห์ของ norepinephrine จากโดพามีน
- peptidylglycine alpha-amidating monooxygenase ซึ่งแปลงฮอร์โมนเพปไทด์ (peptide hormone) ให้เป็นรูปแบบ amide โดยกำจัด glyoxylate residue จาก c-terminal glycine residues ซึ่งเพิ่มเสถียรภาพและฤทธิ์ของฮอร์โมนเพปไทด์
Pharmacokinetics
การดูดซึม
ตามสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (NIH) ในมนุษย์ ร่างกายดูดซึมวิตามินซีประมาณ 70%-90% เมื่อกินขนาดพอประมาณระหว่าง 30-180 มก./วัน แต่ถ้ากินมากกว่า 1,000 มก./วัน การดูดซึมจะลดลงน้อยกว่า 50% มันขนส่งผ่านลำไส้ทั้งด้วยกลไกที่ไวกลูโคสและไม่ไวกลูโคส ดังนั้น การมีน้ำตาลมากในลำไส้จะทำให้ดูดซึมได้ช้าลง
ร่างกายดูดซึมกรดแอสคอร์บิกทั้งด้วยการขนส่งแบบแอ๊กถีฟ (active transport) และการแพร่ธรรมดา Sodium-Ascorbate Co-Transporters (SVCTs) และ Hexose transporters (GLUTs) เป็นโปรตีนขนส่งที่อาศัยโซเดียมและจำเป็นเพื่อการขนส่งแบบแอ๊กถีฟ โปรตีน SVCT1 (ยีน SLC23A1) และ SVCT2 (ยีน SLC23A2) นำเข้าแอสคอร์เบตในสภาพรีดิวซ์ผ่านเยื่อหุ้มเข้าไปในเซลล์ ส่วน GLUT1 และ GLUT3 ปกติเป็นตัวขนส่งกลูโคส ดังนั้น จึงขนส่งวิตามินซีในรูปแบบกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก (DHA) เท่านั้น แม้ DHA จะดูดซึมในอัตราสูงกว่าแอสคอร์เบต แต่ DHA ที่พบในเลือดและเนื้อเยื่อโดยปกติจะต่ำ เพราะเซลล์จะเปลี่ยน DHA ให้เป็นแอสคอร์เบตอย่างรวดเร็ว
การขนส่ง
SVCTs ดูเหมือนจะเป็นระบบขนส่งหลักของวิตามินซีในร่างกาย ข้อยกเว้นที่เด่นสุดคือเม็ดเลือดแดง ซึ่งเสียโปรตีน SVCT ไปเมื่อเจริญเต็มที่ ในทั้งสัตว์ที่สังเคราะห์วิตามินซี (เช่นหนู) และไม่สังเคราะห์ (เช่นมนุษย์) เซลล์โดยมาก (เว้นไม่กี่อย่าง) จะมีกรดแอสคอร์บิกในระดับสูงกว่าในเลือด คือ 50 µmol/L มาก เช่น กรดแอสคอร์บิกในต่อมใต้สมองและต่อมหมวกไตอาจเกิน 2,000 µmol/L และในกล้ามเนื้ออยู่ที่ 200-300 µmol/L หน้าที่เป็นโคเอนไซม์ของกรดแอสคอร์บิกไม่จำเป็นต้องมีความเข้มข้นสูงเช่นนี้ ดังนั้นวิตามินซีจึงอาจมีหน้าที่อื่นที่ยังไม่ปรากฏ ความเข้มข้นในอวัยวะต่าง ๆ เช่นนี้ทำให้วิตามินซีในเลือดไม่เป็นตัวบ่งชี้ที่ดีว่าร่างกายขาดวิตามินซีหรือไม่ และบุคคลต่าง ๆ อาจใช้เวลาต่าง ๆ กันก่อนที่จะแสดงอาการขาดเมื่อกินอาหารที่มีวิตามินซีน้อยมาก
การขับออก
ร่างกายจะขับกรดแอสคอร์บิกออกทางปัสสาวะ ในมนุษย์ช่วงที่ได้น้อย ไตจะดูดซึมวิตามินซีกลับแทนที่จะขับออก เมื่อเลือดมีความเข้มข้น 1.4 มก./ดล. ขึ้น ไตจึงจะดูดซึมกลับน้อยลงโดยที่เกินก็จะขับออกทางปัสสาวะ การกู้คืนเช่นนี้จึงชะลอการขาดวิตามินได้ กรดแอสคอร์บิกยังอาจเปลี่ยนอย่างผันกลับได้เป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก (DHA) แต่ DHA อาจเปลี่ยนอย่างผันกลับไม่ได้เป็น 2,3-diketogluonate แล้วเป็นออกซาเลต โดย 3 อย่างหลังนี้ก็ขับออกทางปัสสาวะเช่นกัน มนุษย์สามารถแปลง DHA กลับเป็นแอสคอร์เบตได้ดีกว่าหนูตะเภา และดังนั้น ก็จะใช้เวลามากกว่าก่อนที่จะขาด
เคมี
ชื่อว่า "วิตามินซี" จะหมายถึงกรดแอสคอร์บิกในรูปแบบ l-enantiomer เสมอ ดังนั้น ยกเว้นจะระบุไว้ แอสคอร์เบตและกรดแอสคอร์บิกจึงหมายถึง l-ascorbate และ l-ascorbic acid ตามลำดับ กรดแอสคอร์บิกเป็นกรดน้ำตาล (sugar acid) อ่อน ๆ ที่มีโครงสร้างสัมพันธ์กับกลูโคส ในระบบชีวภาพ กรดแอสคอร์บิกจะพบอยู่แต่ในพีเอชที่ต่ำ แต่ในสารละลายที่มีพีเอชเกิน 5 ก็จะพบเป็นแอสคอร์เบต โมเลกุลเหล่านี้มีฤทธิ์เป็นวิตามินซี จึงเป็นไวพจน์ของวิตามินซี ยกเว้นจะระบุไว้
มีวิธีการวิเคราะห์มากมายเพื่อตรวจจับกรดแอสคอร์บิก เช่น ระดับวิตามินซีในตัวอย่างอาหารเช่นน้ำผลไม้สามารถคำนวณโดยวัดปริมาตรของตัวอย่างที่ต้องใช้เพื่อเปลี่ยนสีสารละลาย dichlorophenolindophenol (DCPIP) แล้วเทียบกับค่ามาตรฐานที่ระบุความเข้มข้นของวิตามินซี
การตรวจระดับ
มีวิธีการตรวจง่าย ๆ เพื่อวัดระดับวิตามินซีในปัสสาวะ ในซีรัมหรือพลาสมาของเลือด แต่นี่จะระบุระดับที่พึ่งกินไม่ใช่ว่าร่างกายมีมากแค่ไหน มีข้อสังเกตว่า ในขณะที่ความเข้มข้นในซีรัมหรือพลาสมาจะเป็นไปตามจังหวะรอบวัน (circadian rhythm) หรือแสดงผลเนื่องกับการทานอาหารเมื่อไม่นาน ระดับในเนื้อเยื่อจะมีเสถียรภาพกว่า และอาจใช้เป็นตัวอย่างของแอสคอร์เบตที่มีอยู่ในร่างกายทั้งหมดได้ดีกว่า แต่มีแล็บน้อยมากที่มีอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ได้ฝึกเพื่อให้วิเคราะห์อย่างละเอียดเช่นนี้ได้
ชีวสังเคราะห์
สัตว์และพืชโดยมากสามารถสังเคราะห์วิตามินซีผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ที่อาศัยเอนไซม์ ซึ่งเปลี่ยนมอโนแซ็กคาไรด์ให้เป็นวิตามินซี แต่ยีสต์ก็ไม่ได้ผลิต l-ascorbic acid แต่ผลิตสเตอริโอไอโซเมอร์ (stereoisomer) ของมัน คือ erythorbic acid
ในพืช การสังเคราะห์ทำโดยเปลี่ยนน้ำตาล mannose หรือ galactose ให้เป็นกรดแอสคอร์บิก
ในสัตว์ วัสดุตั้งต้นก็คือกลูโคส ในสปีชีส์ที่สังเคราะห์แอสคอร์เบตในตับ (รวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนกเกาะคอน) กลูโคสจะสกัดจากไกลโคเจน จึงเป็นกระบวนการที่อาศัยการสลายไกลโคเจน (glycogenolysis) ในสัตว์ที่ไม่สามารถสังเคราะห์วิตามินซี เอนไซม์ คือ l-gulonolactone oxidase (GULO) ซึ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาขั้นสุดท้ายในกระบวนการชีวสังเคราะห์ จะกลายพันธุ์ไปมากจนทำการไม่ได้
ในสัตว์ต่าง ๆ
ชีวสังเคราะห์ของกรดแอสคอร์บิกในสัตว์มีกระดูกสันหลังเริ่มจากการสร้าง UDP glucuronic acid ซึ่งเกิดเมื่อ UDP-glucose ผ่านกระบวนการออกซิเดชัน 2 ครั้งที่เร่งปฏิกิริยาด้วยเอนไซม์ UDP-glucose 6-dehydrogenase ซึ่งใช้โคแฟกเตอร์ NAD+ เป็นตัวรับอิเล็กตรอน เอนไซม์ transferase คือ UDP-glucuronate pyrophosphorylase จะกำจัด UMP และ glucuronokinase โดยมีโคแฟกเตอร์คือ ADP เป็นการกำจัดฟอสเฟตสุดท้ายทำให้กลายเป็น d-glucuronic acid กลุ่มแอลดีไฮด์ของสารประกอบนี้จะรีดิวซ์เป็นแอลกอฮอล์ปฐมภูมิ (primary alcohol) ด้วยเอนไซม์ glucuronate reductase และโคแฟกเตอร์ NADPH โดยมีผลผลิตเป็น l-gulonic acid ซึ่งตามด้วยการเกิดแล็กโทน (lactone) อาศัยเอนไซม์แบบ hydrolase คือ gluconolactonase โดยแล็กโทนจะอยู่ระหว่างกลุ่มคาร์บอนิล (carbonyl) ที่เชื่อมกับ C1 กับกลุ่มไฮดรอกซิลที่เชื่อมกับ C4 แล้ว l-Gulonolactone ก็จะทำปฏิกิริยากับออกซิเจนโดยมีเอนไซม์ l-gulonolactone oxidase (ซึ่งทำการไม่ได้ในมนุษย์และไพรเมตอันดับย่อย Haplorrhini อื่น ๆ) เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาและมีโคแฟกเตอร์คือ FAD+ ปฏิกิริยานี้สร้าง 2-oxogulonolactone (2-keto-gulonolactone) ซึ่งเกิดปฏิกิริยา enolization (ที่กลุ่ม keto เปลี่ยนเป็น enol) เอง (spontaneous) กลายเป็นกรดแอสคอร์บิก
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางอย่างได้เสียสมรรถภาพการสังเคราะห์วิตามินซี รวมทั้งไพรเมตกลุ่มซิเมียน และทาร์เซียร์ ซึ่งรวมกันเป็นอันดับย่อยของไพรเมตกลุ่มหนึ่งในสองกลุ่มคือ Haplorrhini โดยรวมมนุษย์อยู่ด้วย กลุ่มไพรเมตที่มีลักษณะ "ดั้งเดิม" กว่า คือ Strepsirrhini ยังมีสมรรถภาพผลิตวิตามินซี ค้างคาวโดยมากก็สังเคราะห์ไม่ได้ และสปีชีส์ในวงศ์ Caviidae (อันดับสัตว์ฟันแทะ) ซึ่งรวมหนูตะเภาและ capybara (Hydrochoerus hydrochaeris เป็นสัตว์ฟันแทะขนาดใหญ่สุดในโลกที่อยู่ในอเมริกาใต้) ก็สังเคราะห์ไม่ได้ แต่สัตว์ฟันแทะอื่น ๆ รวมทั้งหนูและหนูหริ่งก็สังเคราะห์ได้
สัตว์เลื้อยคลานและนกในอันดับที่เก่าแก่กว่าจะสังเคราะห์กรดแอสคอร์บิกในไต ส่วนนกในอันดับที่ใหม่กว่าและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยมากสังเคราะห์ในตับ มีสปีชีส์นกเกาะคอนจำนวนหนึ่งที่สังเคราะห์ไม่ได้เหมือนกัน โดยไม่ได้เป็นพันธุ์ญาติกันที่ชัดเจนอีกด้วย จึงมีทฤษฎีว่า สมรรถภาพเช่นนี้สูญไปในนกหลายครั้งหลายหนต่างหาก ๆ โดยเฉพาะก็คือ สมมุติว่าในกรณีสองกรณี การสังเคราะห์วิตามินซีได้สูญไปแล้วภายหลังกลับได้มาใหม่ สมรรภาพการสังเคราะห์วิตามินซียังสูญไปในปลา 96% (คือกลุ่ม teleosts) ค้างคาววงศ์ต่าง ๆ ที่ได้ตรวจสอบ (ในอันดับ Chiroptera) รวมทั้งวงศ์ที่กินแมลงและผลไม้ สังเคราะห์วิตามินซีไม่ได้ มีการตรวจพบเอนไซม์ gulonolactone oxidase (ที่ใช้ในการสังเคราะห์ขั้นตอนสุดท้าย) จำนวนน้อยมาก (trace) ในค้างคาว 1 สปีชีส์ในบรรดา 34 สปีชีส์ซึ่งอยู่ในวงศ์ 6 วงศ์ที่ตรวจ มีค้างค้าวอย่างน้อย 2 สปีชีส์ คือ Rousettus leschenaultii ซึ่งกินผลไม้และค้างคาวหน้ายักษ์ทศกัณฐ์ (Hipposideros armiger) ซึ่งกินแมลง ที่ยังมี (หรือได้คืน) สมรรถภาพการผลิตวิตามินซี
สปีชีส์บางส่วนเหล่านี้ (รวมทั้งมนุษย์) สามารถแก้ขัดการสูญสมรรถภาพโดยนำวิตามินซีที่ออกซิไดซ์แล้วกลับคืนไปใช้ใหม่ได้
ไพรเมตกลุ่มซิเมียน (ที่ผลิตวิตามินซีไม่ได้) โดยมากบริโภควิตามินซีในปริมาณ 10-20 เท่ามากกว่าที่รัฐบาลต่าง ๆ แนะนำให้มนุษย์บริโภค ความขัดแย้งเช่นนี้เป็นมูลฐานของข้อถกเถียงเกี่ยวกับระดับอาหารที่แนะนำในปัจจุบัน ซึ่งมีผู้แก้ว่า มนุษย์สงวนรักษาวิตามินซีที่ได้ในอาหารไว้ได้ดีมาก และสามารถรักษาระดับวิตามินซีในเลือดเทียบเท่ากับซิเมียนอื่น ๆ แม้จะได้วิตามินซีจากอาหารน้อยกว่า โดยอาจเป็นเพราะนำวิตามินซีที่ออกซิไดซ์แล้วกลับไปใช้ใหม่ได้
ในพืชต่าง ๆ
มีวิถีการสังเคราะห์วิตามินซีหลายอย่างในพืช โดยมากได้มาจากผลิตผลของวิถีการสลายกลูโคสและวิถีทางเคมีอื่น ๆ ตัวอย่างหนึ่งก็คือที่ต้องผ่านผนังเซลล์อันเป็นพอลิเมอร์ของพืช สารตั้งต้นที่เป็นหลักของการสังเคราะห์วิตามินซีในพืชดูเหมือนจะเป็น l-galactose ซึ่งทำปฏิกิริยากับเอนไซม์ l-galactose dehydrogenase เป็นปฏิกิริยาที่เปิดวงแหวนแล็กโทน แล้วปิดอีกโดยแล็กโทนจะอยู่ระหว่างกลุ่มคาร์บอนิลที่อะตอม C1 และกลุ่มไฮดรอกซิลที่ C4 โดยกลายเป็น l-galactonolactone ซึ่งก็จะมีปฏิกิริยากับ mitochondrial flavoenzyme คือ l-galactonolactone dehydrogenase โดยมีผลิตผลเป็นกรดแอสคอร์บิก
ในผักโขม l-ascorbic acid มีผลป้อนกลับเชิงลบต่อ l-galactose dehydrogenase เอ็มบริโอของพืชใบเลี้ยงคู่จะหลั่งกรดแอสคอร์บิกออกโดยเป็นกลไกลรีดิวซ์คอมเพล็กซ์เหล็กที่อยู่นอกเซลล์ เป็นขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อให้ขนส่งเหล็กเข้ามาในเซลล์ได้
พืชทั้งหมดสามารถสังเคราะห์กรดแอสคอร์บิก โดยมีหน้าที่เป็นโคแฟกเตอร์สำหรับเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์ด้วยแสง การสังเคราะห์ฮอร์โมนพืช ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และเป็นตัวปฏิรูปสารต้านอนุมูลอิสระอื่น ๆ พืชมีวิถีการสังเคราะห์วิตามินซีหลายอย่าง วิถีหลักจะเริ่มด้วยกลูโคส ฟรักโทส หรือ mannose ซึ่งล้วนเป็นน้ำตาลที่ไม่ซับซ้อน แล้วดำเนินต่อไปเป็น l-galactose, l-galactonolactone และกรดแอสคอร์บิก โดยมีกระบวนการควบคุมแบบป้อนกลับ คือ การมีกรดแอสคอร์บิกจะยับยั้งเอนไซม์ที่ใช้ในการสังเคราะห์ กระบวนการนี้เป็นไปตามจังหวะประจำวัน (diurnal rhythm) โดยมีเอนไซม์สูงสุดในตอนเช้าเพื่อสนับสนุนการสังเคราะห์ด้วยแสงในช่วงกลางวันที่แสงจ้าของพระอาทิตย์ทำให้ต้องมีกรดแอสคอร์บิกในความเข้มข้นสูง วิถีการสังเคราะห์ย่อยอื่น ๆ อาจจะมีที่ส่วนต่าง ๆ ของพืชอย่างเฉพาะเจาะจง ซึ่งอาจเหมือนกับวิถีการสังเคราะห์ในสัตว์ (รวมทั้ง GLO enzyme) หรือเริ่มด้วย inositol แล้วดำเนินเป็น l-galactonic acid แล้วเป็น l-galactonolactone แล้วจึงได้ผลเป็นกรดแอสคอร์บิก
วิวัฒนาการ
กรดแอสคอร์บิกเป็นโคแฟกเตอร์ของเอนไซม์ที่สามัญในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ใช้ในการสังเคราะห์คอลลาเจน เป็นตัวรีดิวซ์ที่มีกำลังซึ่งสามารถกำจัดกลุ่มออกซิเจนที่ไวปฏิกิริยา (reactive oxygen species, ROS) ได้เร็ว เพราะมีหน้าที่สำคัญเยี่ยงนี้ จึงน่าแปลกใจว่าสมรรถภาพในการผลิตจึงไม่รักษาไว้ทางวิวัฒนาการ จริงอย่างนั้น ไพรเมตที่คล้ายมนุษย์, หนูตะเภา, ปลา teleost, ค้างคาวโดยมาก และนกเกาะคอนบางพวก ล้วนสูญสมรรถภาพในการผลิตวิตามินซีเองไม่ว่าจะทางตับหรือไตโดยสูญต่างหาก ๆ กัน ในกรณีทั้งหมดที่วิเคราะห์จีโนมในเรื่องการไร้สมรรถภาพการสังเคราะห์กรดแอสคอร์บิกที่จำเป็น (ascorbic acid auxotroph) จุดเริ่มความเปลี่ยนแปลงเป็นการกลายพันธุ์ที่ทำให้เสียการของยีนที่เข้ารหัส l-Gulono-γ-lactone oxidase ซึ่งเป็นเอนไซม์เร่งปฏิกิริยาการสังเคราะห์กรดแอสคอร์บิกขั้นสุดท้ายดังที่กล่าวไปแล้ว คำอธิบายหนึ่งสำหรับการเสียสมรรถภาพเช่นนี้โดยเกิดซ้ำ ๆ ในประวัติวิวัฒนาการก็คือการเปลี่ยนความถี่ยีนอย่างไม่เจาะจง (genetic drift) และถ้าสมมุติว่า อาหารที่กินมีวิตามินซีสูง การคัดเลือกโดยธรรมชาติก็จะไม่ช่วยรักษาสมรรถภาพไว้
ในกรณีไพรเมตกลุ่มซิเมียน เชื่อว่าการสูญสมรรถภาพการผลิตวิตามินซีเกิดขึ้นมานานแล้วก่อนที่มนุษย์หรือแม้แต่เอปจะเกิดขึ้น เพราะโดยหลักฐานแล้วมันเกิดตั้งแต่การปรากฏขึ้นของไพรเมตต้น ๆ แต่หลังจากการแยกออกเป็นอันดับย่อยสองอันดับหลัก ๆ คือ Haplorrhini (ไพรเมตจมูกแห้ง) ซึ่งไร้สมรรถภาพ และ Strepsirrhini (ไพรเมตจมูกเปียก) ซึ่งยังคงสมรรถภาพ ตามการตรวจเวลาด้วยเทคนิค molecular clock ไพรเมตอันดับย่อยสองกลุ่มนี้แยกออกจากกันราว 63-60 ล้านปีก่อน ประมาณ 3-5 ล้านปีต่อจากนั้น (คือ 58 ล้านปีก่อน) ซึ่งสั้นมากจากมุมมองทางวิวัฒนาการ infraorder "Tarsiiformes" ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่วงศ์เดียวคือทาร์เซียร์ (Tarsiidae) ก็ได้แยกออกจาก Haplorrhini อื่น ๆ เพราะทาร์เซียร์ก็ผลิตวิตามินซีไม่ได้เหมือนกัน นี่แสดงนัยว่า การกลายพันธุ์ได้เกิดก่อนหน้านั้น และดังนั้น จึงต้องเกิดระหว่าง 63-58 ล้านปีก่อน
มีข้อสังเกตด้วยว่า การเสียสมรรถภาพการสังเคราะห์แอสคอร์เบตเกิดขนานกับการเสียสมรรถภาพการสลายกรดยูริกซึ่งเป็นลักษณะอีกอย่างหนึ่งของไพรเมตบางชนิด ทั้งกรดยูริกและแอสคอร์เบตเป็นตัวรีดิวซ์ที่มีกำลัง ซึ่งทำให้เสนอว่า ในไพรเมตที่ "สูงกว่า" กรดยูริกได้ทำหน้าที่บางอย่างแทนแอสคอร์เบต
การผลิตทางอุตสาหกรรม
วิตามินซีผลิตจากกลูโคสด้วยวิธีสองอย่าง กระบวนการ Reichstein process ซึ่งพัฒนาขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 มีการหมักเตรียมเพียงครั้งเดียวแล้วตามด้วยกรรมวิธีทางเคมีล้วน ๆ ส่วนกระบวนการผลิตปัจจุบันซึ่งพัฒนาขึ้นในประเทศจีนในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 มีการหมัก 2 ครั้งโดยการหมักครั้งที่สองใช้แทนกระบวนการทางเคมีบางส่วนในระยะหลัง ๆ กระบวนการทั้งสองล้วนใช้แอลกฮอล์น้ำตาลคือ ซอร์บิทอล เป็นสารตั้งต้น แล้วแปลงมันเป็นซอร์โบส (sorbose) ด้วยการหมัก กระบวนการหมักปัจจุบัน (ที่มีการหมักสองครั้ง) ก็จะแปลงซอรโบส์เป็น 2-keto-l-gulonic acid (KGA) ด้วยการหมักอีกครั้งโดยไม่ต้องสร้างสารมัธยันตร์ (intermediate) อีกอย่าง กระบวนการทั้งสองจะได้วิตามิน 60% ตามน้ำหนักถ้าสารตั้งต้นเป็นกลูโคส
ในปี 2017 ประเทศจีนผลิตกรดแอสคอร์บิกคือวิตามินซี 95% ของโลก เป็นวิตามินที่จีนส่งออกมากที่สุด โดยมีรายได้ 880 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 30,000 ล้านบาท) ในปี 2017 แต่เพราะแรงกดดันไม่ให้เผาถ่านหินซึ่งทำเนื่องกับการผลิตวิตามินซี ราคาจึงได้เพิ่มขึ้นในปี 2016 เป็นสามเท่าคือ 424 บาท/กก.
ประวัติ
ยาพื้นบ้าน
ความจำเป็นต้องมีอาหารเป็นผักผลไม้สด ๆ หรือเนื้อดิบเพื่อป้องกันโรครู้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว คนพื้นเมืองที่อยู่ในเขตกันดารประกอบความรู้เช่นนี้ในศาสตร์แพทย์พื้นบ้านของตน ๆ ยกตัวอย่าง เช่น ใบต้นสนในเขตอบอุ่น หรือใบต้นไม้ที่ทนแล้งในเขตทะเลทราย ได้ใช้ต้มดื่มเป็นสมุนไพร ในปี 1536 นักสำรวจชาวฝรั่งเศสฌัก การ์ตีเย ซึ่งกำลังสำรวจแม่น้ำเซนต์ลอว์เรนซ์ (แคนาดา) ได้ใช้ความรู้คนพื้นเมืองเพื่อช่วยชีวิตลูกน้องของตนซึ่งกำลังป่วยเป็นโรคลักปิดลักเปิดจนถึงตาย โดยต้มใบสน (สกุล Thuja) เป็นชาสมุนไพรซึ่งต่อมาพบว่ามีวิตามินซี 50 มก./100 ก.
โรคลักปิดลักเปิดของกะลาสี
ในคณะสำรวจอินเดียปี 1497 ของชาวโปรตุเกส วัชกู ดา กามา คุณสมบัติรักษาโรคของส้มก็รู้กันอยู่แล้ว ต่อมา ชาวโปรตุเกสผู้หนึ่งได้ปลูกผักผลไม้ไว้ในเกาะเซนต์เฮเลนา (มหาสมุทรแอตแลนติกใต้) ซึ่งเป็นจุดหยุดพักเมื่อเดินทางกลับมาจากเอเชีย จึงพอช่วยบำรุงรักษาลูกเรือที่แวะพักที่เกาะนั่น
เจ้าหน้าที่ได้แนะนำเป็นครั้งเป็นคราวให้กินพืชผลไม้เพื่อป้องกันโรคลักปิดลักเปิดเมื่อต้องเดินทางใช้เวลานานในทะเล แพทย์คนแรกของบริษัทอินเดียตะวันออก (อังกฤษ) คือ จอหน์ วูดอลล์ ได้แนะนำให้ใช้น้ำเลมอนเพื่อป้องกันและรักษาโรคในหนังสือปี 1617 ที่เขาเขียน (The Surgeon's Mate) ในปี 1734 นักเขียนและนักวิทยาศาสตร์ชาวดัตช์ Johann Bachstrom ได้ยืนยันความเห็นว่า "โรคลักปิดลักเปิดเกิดจากการเว้นการกินพืชและใบผัก"
โรคลักปิดลักเปิดได้เป็นโรคฆ่ากะลาสีโรคหลักมานานแล้วเมื่อเดินทางในทะเลเป็นระยะเวลานาน ตามนักเขียนผู้หนึ่ง "ในปี 1499 วัชกู ดา กามา ได้เสียลูกเรือ 116 คนจาก 170 คน ในปี 1520 มาเจลลันได้เสียลูกเรือ 208 คนจาก 230 คน ทั้งหมดโดยหลักเพราะโรคลักปิดลักเปิด"
ศัลยแพทย์ของราชนาวีอังกฤษ คือ เจมส์ ลินด์ เป็นบุคคลแรกที่ได้พยายามหาเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ของโรคนี้ เมื่อกำลังเดินทางในทะเลเมื่อเดือนพฤษภาคม 1747 หมอได้ให้ลูกเรือบางส่วนส้ม 2 ลูกและเลมอน 1 ลูกต่อวันนอกเหนือจากอาหารและน้ำที่ได้ตามปกติ ในขณะที่คนอื่นก็ให้ไซเดอร์ หรือน้ำส้มสายชู หรือกรดซัลฟิวริก หรือน้ำทะเลนอกเหนือจากอาหารและน้ำที่ได้ตามปกติ เป็นการทดลองมีกลุ่มควบคุมงานแรก ๆ ของโลก ผลแสดงว่า ส้มป้องกันโรคนี้ได้ ซึ่งหมอได้พิมพ์ในผลงานปี 1753
ผลไม้สด ๆ ใช้ที่มากเกินจะเก็บไว้บนเรือ เทียบกับการต้มให้เหลือแต่น้ำแม้ใช้ที่น้อยแต่ก็ทำลายวิตามิน (โดยเฉพาะถ้าต้มในภาชนะทองแดง) แต่ต้องรอจนถึงปี 1796 ก่อนที่ราชนาวีอังกฤษจะได้อนุมัติให้แจกน้ำเลมอนแก่ลูกเรือ ในปี 1845 เรือในเขตแคริบเบียนก็เริ่มได้น้ำมะนาวแทน และในปี 1860 น้ำมะนาว (lime) ก็ได้ใช้ทั่วราชนาวีอังกฤษแล้ว ทำให้คนอเมริกันตั้งชื่อเล่นคนอังกฤษว่า "limey" ส่วนเจมส์ คุก ได้แสดงประโยชน์ของกะหล่ำปลีดองเยอรมัน (sauerkraut) คือพาลูกเรือไปยังหมู่เกาะฮาวายโดยไม่ได้เสียลูกเรือสักคนเนื่องกับโรคลักปิดลักเปิด ราชนาวีอังกฤษจึงได้มอบเหรียญรางวัลแก่เขา
ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 ชื่อว่า antiscorbutic ใช้สำหรับอาหารที่รู้ว่าป้องกันโรคลักปิดลักเปิด ซึ่งรวมเลมอน มะนาว ส้ม กะหล่ำปลีดองเยอรมัน ผักกะหล่ำ มอลต์เป็นต้น ในปี 1928 นักมานุษยวิทยาอาร์กติกชาวแคนาดา Vilhjalmur Stefansson ได้แสดงว่า ชาวอินุอิต (Inuit) ไม่เกิดโรคลักปิดลักเปิดเพราะกินอาหารโดยมากเป็นเนื้อดิบ งานศึกษาอาหารพื้นบ้านของคนกลุ่ม First Nations ในยูคอน, คนดีน (Dene), คนอินุอิต และคนเมทีส (Métis) ในแคนาดาเหนือพบว่า วิตามินซีที่ได้จากอาหารโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 52-62 มก./วัน ซึ่งเทียบได้กับระดับที่วิทยาศาสตรบัณฑิตยสถานแห่งชาติสหรัฐระบุว่า สนองความต้องการของคน 50% ในกลุ่มนั้นตามการทบทวนวรรณกรรมวิทยาศาสตร์
การค้นพบ
วิตามินซีได้ค้นพบในปี 1912 แล้วสกัดต่างหากได้ในปี 1928 และสังเคราะห์ในปี 1933 จึงเป็นวิตามินแรกที่สังเคราะห์ได้ ต่อมาไม่นาน นักเคมีชาวสวิส-โปแลนด์ (Tadeus Reichstein) ได้ค้นพบวิธีการสังเคราะห์วิตามินจำนวนมาก ๆ เป็นกระบวนการที่ปัจจุบันเรียกว่า Reichstein process ซึ่งทำให้ผลิตวิตามินได้ในราคาถูก ในปี 1934 บริษัทฮอฟฟ์แมน-ลา โรชได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า Redoxon สำหรับวิตามินซีสังเคราะห์ แล้วเริ่มวางตลาดขายเป็นอาหารเสริม
ในปี 1907 แพทย์ชาวนอร์วีเจียนสองคนคือ Axel Holst และ Theodor Frølich ได้ค้นพบสัตว์ทดลองที่จะช่วยระบุปัจจัยต้านโรคลักปิดลักเปิด คือเมื่อกำลังศึกษาโรคเหน็บชาที่เกิดในเรือ ได้เลี้ยงหนูตะเภาด้วยอาหารทดลองที่ทำจากเมล็ดข้าวและแป้ง แต่หนูตะเภากลับเกิดโรคลักปิดลักเปิดแทนโรคเหน็บชา เพราะโชคดีว่า สัตว์สปีชีส์นี้ไม่ผลิตวิตามินซีเอง เทียบกับหนูและหนูหริ่งที่ผลิตได้เอง ในปี 1912 นักชีวเคมีชาวโปแลนด์ Casimir Funk ได้พัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับวิตามิน ซึ่งอย่างหนึ่งเชื่อว่า เป็นปัจจัยต้านโรคลักปิดลักเปิด (anti-scorbutic factor) นี้ ในปี 1928 นี้เรียกว่า water-soluble C (ซีละลายน้ำได้) ถึงแม้เวลานั้น โครงสร้างทางเคมีจะยังไม่ได้ระบุ
ระหว่างปี 1928-1932 ทีมนักวิจัยชาวฮังการีอัลเบิร์ต เซนต์จอจี และชาวอเมริกันชาลส์ เกล็น คิง ได้ระบุปัจจัยที่ต้านโรคลักปิดลักเปิด เซนต์จอจีได้แยก hexuronic acid จากต่อมหมวกไตของสัตว์ และคาดว่า มันเป็นปัจจัยต้านโรคลักปิดลักเปิด ในต้นปี 1932 แล็บของคิงก็ได้หลักฐานว่าเป็นเช่นนั้น แต่ก็ตีพิมพ์ผลงานโดยไม่ได้ให้เครดิตกับเซนต์จอจี ซึ่งก่อการโต้เถียงกันว่าใครได้ระบุมันก่อน ในปี 1933 นักเคมีชาวอังกฤษเซอร์วอลเตอร์ นอร์แมน ฮาเวอร์ธ ได้ระบุวิตามินนี้ว่าเป็น l-hexuronic acid ซึ่งให้หลักฐานโดยสังเคราะห์มันขึ้นในปีเดียวกัน
ฮาเวอร์ธและเซนต์จอจีได้เสนอให้ตั้งชื่อ l-hexuronic acid ว่ากรดแอสคอร์บิก (a-scorbic acid) และตั้งชื่อสารเคมีว่า l-ascorbic acid เพื่อยกย่องฤทธิ์ต้านโรคลักปิดลักเปิดของมัน คำมาจากภาษาละติน คือ "a-" หมายถึง ไปจาก หรือออกนอกจาก และ -scorbic มาจากคำละตินสมัยกลาง scorbuticus (เกี่ยวกับ โรคลักปิดลักเปิด) ซึ่งมาจากรากเดียวกับคำภาษานอร์สโบราณ skyrbjugr กับภาษาฝรั่งเศส scorbut กับภาษาดัตช์ scheurbuik และกับภาษาถิ่นเยอรมัน (Low German) scharbock ส่วนหนึ่งเพราะการค้นพบนี้ เซนต์จอจีจึงได้รางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ปี 1937 และฮาเวอร์ธก็ได้ร่วมรับรางวัลโนเบลสาขาเคมีปีเดียวกัน
ในปี 1957 นักวิชาการ (J.J. Burns) ได้แสดงว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดอาจเป็นโรคลักปิดลักเปิดเพราะตับไม่ผลิตเอนไซม์ l-gulonolactone oxidase ซึ่งเป็นเอนไซม์สุดท้ายใน 4 อย่างที่ต้องใช้สังเคราะห์วิตามินซี ส่วนนักชีวเคมีชาวอเมริกัน (Irwin Stone) เป็นบุคคลแรกที่ใช้วิตามินซีเพื่อถนอมอาหาร แล้วต่อมาเสนอทฤษฎีว่า มนุษย์มีรูปแบบกลายพันธุ์ของยีนที่เข้ารหัส l-gulonolactone oxidase
ในปี 2008 นักวิจัยฝรั่งเศสที่มหาวิทยาลัยมองเปลเย (University of Montpellier) พบว่า ในมนุษย์และไพรเมตอื่น ๆ เม็ดเลือดแดงได้วิวัฒนาการกลไกซึ่งสามารถใช้วิตามินซีที่มีในร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าสัตว์อื่น ๆ โดยเปลี่ยน l-dehydroascorbic acid (DHA) ที่ออกซิไดซ์แล้วกลับเป็นกรดแอสคอร์บิกเพื่อนำไปใช้ใหม่ เป็นกลไกที่ไม่พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่สังเคราะห์วิตามินซีได้เอง
เมกะโดส
เมกะโดส (วิตามินซี) เป็นคำหมายถึงการกินหรือฉีดวิตามินซี ในขนาดที่เทียบเท่าหรือมากกว่าที่ผลิตในตับของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทที่สามารถสังเคราะห์วิตามินซีได้เอง ทฤษฎีนี้ แต่ไม่รวมคำ มาจากบทความปี 1970 ของผู้รับรางวัลโนเบลชาวอเมริกันไลนัส พอลิง โดยสรุปก็คือตามความคิดของเขา เพื่อให้สุขภาพดีสุด มนุษย์ควรบริโภควิตามินซีอย่างน้อย 2,300 มก./วันเพื่อชดเชยความไม่สามารถสังเคราะห์วิตามินซีได้เอง ค่าที่แนะนำนี้ก็อยู่ในระดับที่ลิงกอริลลาบริโภคด้วย ซึ่งเป็นสัตว์ใกล้กับมนุษย์ที่ไม่ผลิตวิตามินซีเองเช่นกัน เหตุผลที่อ้างเพื่อให้ใช้ขนาดสูงเช่นนี้อย่างที่สองก็คือ ความเข้มข้นของกรดแอสคอร์บิกในเลือดจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงระดับสูงสุดที่ราว ๆ 190-200 µmol/L เมื่อได้บริโภคเกิน 1,250 มก. รัฐบาลต่าง ๆ แนะนำให้กินในระดับ 40-110 มก./วันตามที่กล่าวแล้ว และระดับปกติในเลือดอยู่ที่ประมาณ 50 µmol/L ดังนั้น ระดับ "ปกติ" จึงอยู่ที่ 25% ของค่าสูงสุดที่เป็นไปได้เมื่อได้ในระดับเมกะโดส
ในปี 1970 พอลิงได้สร้างความนิยมต่อแนวคิดว่า การกินวิตามินขนาดสูง ๆ จะช่วยป้องกันและรักษาไข้หวัดธรรมดา อีกไม่กี่ปีต่อจากนั้น เขาก็เสนอด้วยว่า วิตามินซีช่วยป้องกันโรคระบบหัวใจหลอดเลือด และการได้ 10 ก./วันในเบื้องต้น (เป็นเวลา 10 วัน) ที่ให้ทางเส้นเลือด และต่อจากนั้นทางปาก จะช่วยรักษามะเร็งระยะปลาย การกินวิตามินในระดับเมกะโดสก็ได้ผู้สนับสนุนอื่น ๆ ด้วย รวมทั้งนักเคมี Irwin Stone (บุคคลแรกที่ใช้วิตามินซีถนอมอาหาร) แพทย์ชาวเยอรมัน Matthias Rath และนักธุรกิจและนักเขียน Patrick Holford โดยสองคนหลังถูกตำหนิว่าอ้างวิธีรักษามะเร็งและการติดเชื้อเอชไอวีโดยไม่มีหลักฐานอะไร
ทฤษฎีเมกะโดสนี้โดยมากได้ถูกดิ๊สเครดิตแล้ว แต่ก็มีประโยชน์เล็กน้อยสำหรับโรคหวัดธรรมดา ประโยชน์ก็ไม่ได้ดีกว่าเมื่อบริโภคเกิน 1,000 มก./วัน เทียบกับเมื่อบริโภค 200-1,000 มก./วัน จึงไม่ต้องจำกัดอยู่กับระดับเมกะโดส ทฤษฎีว่า การให้กรดแอสคอร์บิกปริมาณมากผ่านเส้นเลือดเพื่อรักษามะเร็งระยะปลายก็ยังจัดว่าไม่มีข้อพิสูจน์และยังต้องทำงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง แม้เวลาจะผ่านมาถึง 40 ปีหลังจากบทความของพอลิง อย่างไรก็ดี ถึงไม่มีหลักฐานสรุปได้ แพทย์รายบุคคลก็ยังคงให้จ่ายกรดแอสคอร์บิกเข้าเส้นเลือดของคนไข้โรคมะเร็งเป็นพัน ๆ คน
สังคมและวัฒนธรรม
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2011 ไปรษณีย์สวิสได้ออกแสตมป์มีรูปแสดงโครงสร้างโมเลกุลของวิตามินซีเพื่อฉลองปีเคมีสากล
เชิงอรรถ
- เป็นส่วนของ National Academies of Sciences, Engineering, and Medicine โดยแบ่งเป็น
- วิทยาศาสตรบัณฑิตยสถานแห่งชาติสหรัฐ (NAS)
- วิศวกรรมศาสตรบัณฑิตยสถานแห่งชาติสหรัฐ (NAE)
- แพทยศาสตรบัณฑิตยสถานแห่งชาติสหรัฐ (NAM)
- LD50 (คือ ขนาดที่ฆ่าประชากร 50%) ในหนูโดยทั่วไปยอมรับที่ 11.9 กรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัวเมื่อบังคับให้อาหารทางหลอดสวนกระเพาะ ยังไม่ทราบกลไกการเสียชีวิตจากขนาดดังกล่าว (1.2% ของน้ำหนักตัว หรือ 0.84 กก. สำหรับมนุษย์หนัก 70 กก.) แต่อาจเป็นกลไกเชิงกลมากกว่าเชิงเคมี ส่วน LD50 ในมนุษย์ยังไม่ทราบ เพราะขาดข้อมูลการเสียชีวิตโดยอุบัติเหตุหรือการได้สารพิษโดยเจตนา ทว่า เช่นเดียวกับสารทุกอย่างที่ทดลองในลักษณะนี้ LD50 ของหนูยึดเป็นแนวทางสำหรับภาวะพิษในมนุษย์
- Health Canada
- Japan National Institute of Health and Nutrition.
- accessory fruit
- ผ่านกระบวนการ leaching (การซึมชะละลาย)
- liposome เป็นถุงกลมเล็ก ๆ ที่มีเยื่อหุ้มเป็นลิพิดสองชั้น (lipid bilayer) อย่างน้อย 1 ชุด ซึ่งสามารถใช้เพื่อนำส่งสารอาหารหรือยา liposome สามารถทำได้โดยทำลายเยื่อหุ้มทางชีวภาพ (เช่นใช้เสียงผ่านกระบวนการ sonication)
- carnitine (β-hydroxy-γ-N-trimethylaminobutyric acid, 3-hydroxy-4-N,N,N-trimethylaminobutyrate) เป็น quaternary ammonium compound มีหน้าที่ทางเมทาบอลิซึมในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พืช และแบคทีเรีย เป็นสารประกอบที่ขาดไม่ได้เพื่อขนส่งกรดไขมันเข้าไปยังไมโทคอนเดรียสำหรับการสร้างเอทีพี
- protein isoform เป็นสมาชิกของกลุ่มโปรตีนที่คล้ายกันมากและมีหน้าที่ทางชีวภาพที่เหมือนกันหรือคล้ายกัน
- ในสาขาเคมี เอแนนทิโอเมอร์ (enantiomer) จากคำกรีกว่า ἐνάντιος (enántios) แปลว่า ตรงกันข้าม และ μέρος (méros) แปลว่า ส่วน หรือเรียกอีกอย่างว่าไอโซเมอร์เชิงแสง (optical isomer) เป็นสเตอริโอไอโซเมอร์ (stereoisomer) หนึ่งในสองอย่างที่เป็นรูปสะท้อนของกันและกันโดยไม่เหมือนกัน เหมือนกับมือซ้ายและขวาที่เหมือนกันยกเว้นกลับกันตามแกนหนึ่ง ๆ (โดยที่ไม่สามารถทำมือให้ปรากฏเหมือนกันเพียงแค่เปลี่ยนทิศทางเท่านั้น) อะตอมไคแรลอะตอมหนึ่งหรือโครงสร้างคล้ายกัน ๆ ที่มีในสารประกอบ จะทำให้สารประกอบนั้นมีโครงสร้างที่เป็นไปได้สองอย่างซึ่งไม่เหมือนกันแต่เป็นรูปสะท้อนของกันและกัน
- UDP glucuronic acid เป็นน้ำตาลที่ใช้เพื่อสร้างพอลิแซ็กคาไรด์ และเป็นสารมัธยันตร์อย่างหนึ่งในการสังเคราะห์กรดแอสคอร์บิกทางชีวภาพ
- แอลกอฮอล์ปฐมภูมิ (primary alcohol) เป็น แอลกอฮอล์ซึ่งมีกลุ่มไฮดรอกซิลเชื่อมกับอะตอมคาร์บอนหลักอะตอมหนึ่ง หรือก็อาจนิยามว่าเป็นโมเลกุลที่มีกลุ่ม “-CH2OH” เทียบกับแอลกอฮอล์ทุติยภูมิที่มีสูตร “-CHROH” และแอลกอฮอล์ตติยภูมิที่มีสูตร “-CR2OH” โดย “R” ระบุกลุ่มที่มีอะตอมคาร์บอน
- Haplorhini (หรือเรียกด้วยคำภาษาอังกฤษอื่น ๆ ว่า haplorhine และ dry-nosed primate ซึ่งแปลว่า ไพรเมตจมูกแห้ง โดยมาจากคำกรีกซึ่งแปลว่า "มีจมูกง่าย ๆ") เป็นเคลดที่รวมเอาไพรเมตกลุ่มทาร์เซียร์และซิเมียน (infraorder "Simiiformes") โดยบางครั้งสะกดเป็น Haplorrhini กลุ่ม Simiiformes รวมเอา catarrhines (ลิงโลกเก่ากับเอปรวมทั้งมนุษย์) และ platyrrhines (ลิงโลกใหม่)
- ซิเมียน (simian, infraorder Simiiformes) รวมเอา catarrhines (ลิงโลกเก่ากับเอปรวมทั้งมนุษย์) และ platyrrhines (ลิงโลกใหม่)
- พืชใบเลี้ยงคู่สามารถขนส่ง Fe2+ เข้าไปในเซลล์ได้ แต่ถ้าเหล็กไหลเวียนนอกเซลล์ในรูปแบบ Fe3+ ก็จะต้องผ่านการรีดิวซ์เพื่อให้ขนส่งได้ เอ็มบริโอของพืชหลั่งแอสคอร์เบตเป็นจำนวนมากเพื่อรีดิวซ์ Fe3+ ที่เป็นส่วนของคอมเพล็กซ์เหล็ก
- reactive oxygen species (ROS) เป็นสารเคมีมีออกซิเจนที่ไวเกิดปฏิกิริยาเคมี ตัวอย่างรวมทั้ง เพอร์ออกไซด์ ซูเปอร์ออกไซด์ อนุมูลกลุ่มไฮดรอกซิล และออกซิเจนโดด ๆ
- อินุอิต (Inuit) เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองผู้มีวัฒนธรรมคล้าย ๆ กันและอยู่ในบริเวณอาร์กติกของกรีนแลนด์ แคนาดา และอะลาสกา
- Estimated Average Requirement
- Tadeus Reichstein ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ปี 1950 แต่ไม่ใช่เพราะวิตามิน
- "ในปี 1934 ฮอฟฟ์แมน-ลา โรช ได้ซื้อสิทธิบัตรของกระบวนการ Reichstein process แล้วกลายเป็นบริษัทยาแรกที่ผลิตเป็นปริมาณมากและวางตลาดขายวิตามินซีสังเคราะห์ ใต้เครื่องหมายการค้า Redoxon"
- Vitamin C megadosage
อ้างอิง
- Merck Index, 14th ed.
- "Ascorbic Acid". The American Society of Health-System Pharmacists. จากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-12-30. สืบค้นเมื่อ 2016-12-08.
- "Vitamin C". Dietary Reference Intakes for Vitamin C, Vitamin E, Selenium, and Carotenoids. Washington, DC: The National Academies Press. 2000. pp. 95–185. ISBN . จากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-02. สืบค้นเมื่อ 2017-09-01. มีข้อความต่าง ๆ รวมทั้ง
- "Reports of kidney stone formation associated with excess ascorbic acid intake are limited to individuals with renal disease".
- "data from epidemiological studies do not support an association between excess ascorbic acid intake and kidney stone formation in apparently healthy individuals"
- "Vitamin C". Micronutrient Information Center, Linus Pauling Institute, Oregon State University, Corvallis, OR. 2018-07-01. จากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-12. สืบค้นเมื่อ 2019-06-19.
- "Fact Sheet for Health Professionals - Vitamin C". Office of Dietary Supplements, US National Institutes of Health. 2016-02-11. จากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-30.
- "สารอาหารประเภทวิตามิน". siripansiri.wordpress.com. จากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-16. สืบค้นเมื่อ 2016-04-17.
- WHO Model Formulary 2008 (PDF). World Health Organization. 2009. p. 496. ISBN . (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-12-13. สืบค้นเมื่อ 2016-12-08.
- Hemilä, H; Chalker, E (January 2013). "Vitamin C for preventing and treating the common cold". The Cochrane Database of Systematic Reviews (1): CD000980. doi:10.1002/14651858.CD000980.pub4. PMC 1160577. PMID 23440782.
- Ye, Y; Li, J; Yuan, Z (2013). "Effect of antioxidant vitamin supplementation on cardiovascular outcomes: a meta-analysis of randomized controlled trials". PLOS ONE. 8 (2): e56803. Bibcode:2013PLoSO...856803Y. doi:10.1371/journal.pone.0056803. PMC 3577664. PMID 23437244.
- Duerbeck, NB; Dowling, DD; Duerbeck, JM (March 2016). "Vitamin C: Promises Not Kept". Obstetrical & Gynecological Survey. 71 (3): 187–93. doi:10.1097/OGX.0000000000000289. PMID 26987583.
- "Ascorbic acid Use During Pregnancy". Drugs.com. จากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-12-31. สืบค้นเมื่อ 2016-12-30.
- Squires, Victor R. (2011). The Role of Food, Agriculture, Forestry and Fisheries in Human Nutrition - Volume IV. EOLSS Publications. p. 121. ISBN .
- "WHO Model List of Essential Medicines (19th List)" (PDF). World Health Organization. April 2015. (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-12-13. สืบค้นเมื่อ 2016-12-08.
- British national formulary : BNF 76 (76 ed.). Pharmaceutical Press. 2018. p. 1049. ISBN .
- "International Drug Price Indicator Guide. Vitamin C: Supplier Prices". Management Sciences for Health, Arlington, VA. 2016. จากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-23. สืบค้นเมื่อ 2017-03-22.
- "The Nobel Prize in Physiology or Medicine 1937". Nobel Media AB. จากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-05. สืบค้นเมื่อ 2014-11-20.
- Zetterström, R (May 2009). "Nobel Prize 1937 to Albert von Szent-Györgyi: identification of vitamin C as the anti-scorbutic factor". Acta Paediatrica. 98 (5): 915–9. doi:10.1111/j.1651-2227.2009.01239.x. PMID 19239412.
- Meister, A (April 1994). "Glutathione-ascorbic acid antioxidant system in animals". J. Biol. Chem. 269 (13): 9397–9400. PMID 8144521. จากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-11.
- Michels, A; Frei, B (2012). "Vitamin C". ใน Caudill, MA; Rogers, M (บ.ก.). Biochemical, Physiological, and Molecular Aspects of Human Nutrition (3 ed.). Philadelphia: Saunders. pp. 627–654. ISBN .
- Gropper, SS; Smith, JL; Grodd, JL (2005). Advanced nutrition and human metabolism. Belmont, CA: Thomson Wadsworth. pp. 260–275. ISBN .
- Anjum, Naser A.; Umar, Shahid; Chan, Ming-Tsair, บ.ก. (2010-09-13). Ascorbate-Glutathione Pathway and Stress Tolerance in Plants. Springer. p. 324. ISBN . จากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-11-05. สืบค้นเมื่อ 2017-08-03.
- . medlineplus.gov. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-28. สืบค้นเมื่อ 2016-07-23.
- Hodges, RE; Baker, EM; Hood, J; Sauberlich, HE; March, SC (May 1969). "Experimental scurvy in man" (PDF). The American Journal of Clinical Nutrition. 22 (5): 535–48. doi:10.1093/ajcn/22.5.535. PMID 4977512. (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-08-31.
- Pemberton, J (June 2006). "Medical experiments carried out in Sheffield on conscientious objectors to military service during the 1939-45 war". International Journal of Epidemiology. 35 (3): 556–8. doi:10.1093/ije/dyl020. PMID 16510534.
- Bjelakovic, G; Nikolova, D; Gluud, LL; Simonetti, RG; Gluud, C (March 2012). "Antioxidant supplements for prevention of mortality in healthy participants and patients with various diseases". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 3 (3): CD007176. doi:10.1002/14651858.CD007176.pub2. PMID 22419320.
- Lind, J (1753). A Treatise of the Scurvy. London: A. Millar. In the 1757 edition of his work, Lind discusses his experiment starting on page 149. 2016-03-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Baron, JH (June 2009). (PDF). Nutrition Reviews. 67 (6): 315–32. doi:10.1111/j.1753-4887.2009.00205.x. PMID 19519673. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-12-01. สืบค้นเมื่อ 2019-09-12.
- Manwaring, WH (June 1945). "Ascorbic Acid vs. the Common Cold". California and Western Medicine. 62 (6): 309–10. PMC 1781017. PMID 18747053.
- Pauling, Linus (1970). Vitamin C and the Common Cold (1 ed.). San Francisco: W. H. Freeman. ISBN . 4914696M.
- Pauling, Linus (1976). Vitamin C, the Common Cold, and the Flu. W.H. Freeman and Company.
- Heimer, KA; Hart, AM; Martin, LG; Rubio-Wallace, S (May 2009). "Examining the evidence for the use of vitamin C in the prophylaxis and treatment of the common cold". Journal of the American Academy of Nurse Practitioners. 21 (5): 295–300. doi:10.1111/j.1745-7599.2009.00409.x. PMID 19432914.
- Wintergerst, ES; Maggini, S; Hornig, DH (2006). "Immune-enhancing role of vitamin C and zinc and effect on clinical conditions" (PDF). Annals of Nutrition & Metabolism. 50 (2): 85–94. doi:10.1159/000090495. PMID 16373990. (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-07-22.
- EFSA Panel on Dietetic Products, Nutrition and Allergies (2009). "Scientific Opinion on the substantiation of health claims related to vitamin C and protection of DNA, proteins and lipids from oxidative damage (ID 129, 138, 143, 148), antioxidant function of lutein (ID 146), maintenance of vision (ID 141, 142), collagen formation (ID 130, 131, 136, 137, 149), function of the nervous system (ID 133), function of the immune system (ID 134), function of the immune system during and after extreme physical exercise (ID 144), non-haem iron absorption (ID 132, 147), energy-yielding metabolism (ID 135), and relief in case of irritation in the upper respiratory tract (ID 1714, 1715) pursuant to Article 13(1) of Regulation (EC) No 1924/2006". EFSA Journal. 7 (9): 1226. doi:10.2903/j.efsa.2009.1226.
- EFSA Panel on Dietetic Products, Nutrition and Allergies (2015). "Vitamin C and contribution to the normal function of the immune system: evaluation of a health claim pursuant to Article 14 of Regulation (EC) No 1924/2006". EFSA Journal. 13 (11): 4298. doi:10.2903/j.efsa.2015.4298.
- Cortés-Jofré M, Rueda JR, Corsini-Muñoz G, Fonseca-Cortés C, Caraballoso M, X Bonfill Cosp (October 2012). "Drugs for preventing lung cancer in healthy people". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 10: CD002141. doi:10.1002/14651858.CD002141.pub2. PMID 23076895.
- Stratton, J; Godwin, M (June 2011). "The effect of supplemental vitamins and minerals on the development of prostate cancer: a systematic review and meta-analysis". Family Practice. 28 (3): 243–52. doi:10.1093/fampra/cmq115. PMID 21273283.
- Xu X, Yu E, Liu L, Zhang W, Wei X, Gao X, Song N, Fu C (November 2013). "Dietary intake of vitamins A, C, and E and the risk of colorectal adenoma: a meta-analysis of observational studies". European Journal of Cancer Prevention. 22 (6): 529–39. doi:10.1097/CEJ.0b013e328364f1eb. PMID 24064545.
- Papaioannou D, Cooper KL, Carroll C, Hind D, Squires H, Tappenden P, Logan RF (October 2011). "Antioxidants in the chemoprevention of colorectal cancer and colorectal adenomas in the general population: a systematic review and meta-analysis". Colorectal Disease. 13 (10): 1085–99. doi:10.1111/j.1463-1318.2010.02289.x. PMID 20412095.
- Fulan H, Changxing J, Baina WY, Wencui Z, Chunqing L, Fan W, Dandan L, Dianjun S, Tong W, Da P, Yashuang Z (October 2011). "Retinol, vitamins A, C, and E and breast cancer risk: a meta-analysis and meta-regression". Cancer Causes & Control. 22 (10): 1383–96. doi:10.1007/s10552-011-9811-y. PMID 21761132.
- Harris, HR; Orsini, N; Wolk, A (May 2014). "Vitamin C and survival among women with breast cancer: a meta-analysis". European Journal of Cancer. 50 (7): 1223–31. doi:10.1016/j.ejca.2014.02.013. PMID 24613622.
- Fritz H, Flower G, Weeks L, Cooley K, Callachan M, McGowan J, Skidmore B, Kirchner L, Seely D (July 2014). "Intravenous Vitamin C and Cancer: A Systematic Review". Integrative Cancer Therapies. 13 (4): 280–300. doi:10.1177/1534735414534463. PMID 24867961. มีข้อความเป็นต้นว่า
- "Intravenous vitamin C is a contentious adjunctive cancer therapy, widely used in naturopathic and integrative oncology settings."
- Du, J; Cullen, JJ; Buettner, GR (December 2012). "Ascorbic acid: chemistry, biology and the treatment of cancer". Biochimica et Biophysica Acta. 1826 (2): 443–57. doi:10.1016/j.bbcan.2012.06.003. PMC 3608474. PMID 22728050.
- Parrow, NL; Leshin, JA; Levine, M (December 2013). "Parenteral ascorbate as a cancer therapeutic: a reassessment based on pharmacokinetics". Antioxidants & Redox Signaling. 19 (17): 2141–56. doi:10.1089/ars.2013.5372. PMC 3869468. PMID 23621620.
- "Inhibition of cellular antioxidants: a possible mechanism of toxic cell injury". 1984. PMID 6094175.
{{}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
((help)) - Wilson MK, Baguley BC, Wall C, Jameson MB, Findlay MP (March 2014). "Review of high-dose intravenous vitamin C as an anticancer agent". Asia-Pacific Journal of Clinical Oncology. 10 (1): 22–37. doi:10.1111/ajco.12173. PMID 24571058. มีข้อความเป็นต้นว่า
- "Currently, the use of high-dose intravenous vitamin C [as an anticancer agent] cannot be recommended outside of a clinical trial."
- Jacobs, C; Hutton, B; Ng, T; Shorr, R; Clemons, M (February 2015). "Is there a role for oral or intravenous ascorbate (vitamin C) in treating patients with cancer? A systematic review". The Oncologist. 20 (2): 210–23. doi:10.1634/theoncologist.2014-0381. PMC 4319640. PMID 25601965. มีข้อความเป็นต้นว่า
- "There is no high-quality evidence to suggest that ascorbate supplementation in cancer patients either enhances the antitumor effects of chemotherapy or reduces its toxicity. Evidence for ascorbate's anti-tumor effects was limited to case reports and observational and uncontrolled studies."
- Chen, GC; Lu, DB; Pang, Z; Liu, QF (November 2013). "Vitamin C intake, circulating vitamin C and risk of stroke: a meta-analysis of prospective studies". Journal of the American Heart Association. 2 (6): e000329. doi:10.1161/JAHA.113.000329. PMC 3886767. PMID 24284213.
- Ashor, AW; Lara, J; Mathers, JC; Siervo, M (July 2014). "Effect of vitamin C on endothelial function in health and disease: a systematic review and meta-analysis of randomised controlled trials". Atherosclerosis. 235 (1): 9–20. doi:10.1016/j.atherosclerosis.2014.04.004. PMID 24792921.
- Travica N, Ried K, Sali A, Scholey A, Hudson I, Pipingas A (2017-08-30). "Vitamin C status and cognitive function: A systematic review". Nutrients. 9 (9): E960. doi:10.3390/nu9090960. PMC 5622720. PMID 28867798.
- da Silva Lopes S, Vellas B, Elemans S, Luchsinger J, Kamphuis P, Yaffe K, Sijben J, Groenendijk M, Stijnen T (2014). "Plasma nutrient status of patients with Alzheimer's disease: Systematic review and meta-analysis". Alzheimer's and Dementia. 10 (4): 485–502. doi:10.1016/j.jalz.2013.05.1771. PMID 24144963.
- Crichton, GE; Bryan, J; Murphy, KJ (September 2013). "Dietary antioxidants, cognitive function and dementia--a systematic review". Plant Foods for Human Nutrition. 68 (3): 279–92. doi:10.1007/s11130-013-0370-0. PMID 23881465.
- Li, FJ; Shen, L; Ji, HF (2012). "Dietary intakes of vitamin E, vitamin C, and β-carotene and risk of Alzheimer's disease: a meta-analysis". Journal of Alzheimer's Disease. 31 (2): 253–8. doi:10.3233/JAD-2012-120349. PMID 22543848.
- Harrison, FE (2012). "A critical review of vitamin C for the prevention of age-related cognitive decline and Alzheimer's disease". Journal of Alzheimer's Disease. 29 (4): 711–26. doi:10.3233/JAD-2012-111853. PMC 3727637. PMID 22366772.
- Rosenbaum, CC; O'Mathúna, DP; Chavez, M; Shields, K (2010). "Antioxidants and antiinflammatory dietary supplements for osteoarthritis and rheumatoid arthritis". Alternative Therapies in Health and Medicine. 16 (2): 32–40. PMID 20232616.
- Mathew, MC; Ervin, AM; Tao, J; Davis, RM (June 2012). "Antioxidant vitamin supplementation for preventing and slowing the progression of age-related cataract". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 6 (6): CD004567. doi:10.1002/14651858.CD004567.pub2. PMC 4410744. PMID 22696344.
- "Safety (MSDS) data for ascorbic acid". Oxford University. 2005-10-09. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-09. สืบค้นเมื่อ 2007-02-21.
- Goodwin, JS; Tangum, MR (November 1998). "Battling quackery: attitudes about micronutrient supplements in American academic medicine". Archives of Internal Medicine. 158 (20): 2187–91. doi:10.1001/archinte.158.20.2187. PMID 9818798.
- Naidu, KA (August 2003). "Vitamin C in human health and disease is still a mystery? An overview" (PDF). Nutrition Journal. 2 (7): 7. doi:10.1186/1475-2891-2-7. PMC 201008. PMID 14498993. (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-18.
- Thomas, LD; Elinder, CG; Tiselius, HG; Wolk, A; Akesson, A (March 2013). "Ascorbic acid supplements and kidney stone incidence among men: a prospective study". JAMA Internal Medicine. 173 (5): 386–8. doi:10.1001/jamainternmed.2013.2296. PMID 23381591.
- (PDF). National Institute of Nutrition, India. 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-12-22. สืบค้นเมื่อ 2019-09-12.
- World Health Organization (2004). "Chapter 7: Vitamin C" (PDF). Vitamin and Mineral Requirements in Human Nutrition, Second Edition (PDF). Geneva: World Health Organization. ISBN . (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-29. สืบค้นเมื่อ 2007-02-20.
- สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (2019), p. 185
- "Commission Directive 2008/100/EC of 28 October 2008 amending Council Directive 90/496/EEC on nutrition labelling for foodstuffs as regards recommended daily allowances, energy conversion factors and definitions". The Commission of the European Communities. 2008-10-29. จากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-02.
- . Natural Health Product Monograph. Health Canada. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-04-03.
- "Dietary Reference Intakes for Japanese 2010: Water-Soluble Vitamins" (PDF). Journal of Nutritional Science and Vitaminology. 2013 (59): S67–S82. จากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-14.
- "Overview on Dietary Reference Values for the EU population as derived by the EFSA Panel on Dietetic Products, Nutrition and Allergies" (PDF). 2017. (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-28.
- "Tolerable Upper Intake Levels For Vitamins And Minerals" (PDF). European Food Safety Authority. 2006. (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-16.
- Luo, J; Shen, L; Zheng, D (2014). "Association between vitamin C intake and lung cancer: a dose-response meta-analysis". Scientific Reports. 4: 6161. Bibcode:2014NatSR...4E6161L. doi:10.1038/srep06161. PMC 5381428. PMID 25145261.
- "TABLE 1: Nutrient Intakes from Food and Beverages" 2017-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน What We Eat In America, NHANES 2012-2014
- "TABLE 37: Nutrient Intakes from Dietary Supplements" 2017-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน What We Eat In America, NHANES 2012-2014
- สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (2019), pp. 2763–2764
- Duarte A, Caixeirinho D, Miguel G, Sustelo V, Nunes C, Mendes M, Marreiros A (2010). "Vitamin C Content of Citrus from Conventional versus Organic Farming Systems". Acta Horticulturae. 868 (868): 389–394. doi:10.17660/ActaHortic.2010.868.52. :10400.1/1158.
- . Danish Veterinary and Food Administration. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-14. สืบค้นเมื่อ 2014-11-20.
- "NDL/FNIC Food Composition Database Home Page". USDA Nutrient Data Laboratory, the Food and Nutrition Information Center and Information Systems Division of the National Agricultural Library. จากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-15. สืบค้นเมื่อ 2014-11-20.
- "Natural food-Fruit Vitamin C Content". The Natural Food Hub. จากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-07. สืบค้นเมื่อ 2007-03-07.
- USDA Food Composition Databases 2017-12-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน United States Department of Agriculture, Agricultural Research Service. Release 28 (2015).
- Brand JC, Rae C, McDonnell J, Lee A, Cherikoff V, Truswell AS (1987). "The nutritional composition of Australian aboriginal bushfoods. I". Food Technology in Australia. 35 (6): 293–296.
- Justi KC, Visentainer JV, de Souza N Evelázio, Matsushita M (December 2000). "Nutritional composition and vitamin C stability in stored camu-camu (Myrciaria dubia) pulp". Archivos Latinoamericanos de Nutricion. 50 (4): 405–8. PMID 11464674.
- Vendramini, AL; Trugo, LC (2000). "Chemical composition of acerola fruit (Malpighia punicifolia L.) at three stages of maturity". Food Chemistry. 71 (2): 195–198. doi:10.1016/S0308-8146(00)00152-7.
- Chatterjee, IB (December 1973). "Evolution and the biosynthesis of ascorbic acid". Science. 182 (4118): 1271–2. Bibcode:1973Sci...182.1271C. doi:10.1126/science.182.4118.1271. PMID 4752221.
- USDA Food Composition Databases 2017-12-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน United States Department of Agriculture, Agricultural Research Service. Release 28 (2015).
- Clark, S (2007-01-08). . Washington State University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-01-29. สืบค้นเมื่อ 2007-02-28.
- Roig, MG; Rivera, ZS; Kennedy, JF (May 1995). "A model study on rate of degradation of L-ascorbic acid during processing using home-produced juice concentrates". International Journal of Food Sciences and Nutrition. 46 (2): 107–15. doi:10.3109/09637489509012538. PMID 7621082.
- Allen, MA; Burgess, SG (1950). "The losses of ascorbic acid during the large-scale cooking of green vegetables by different methods". The British Journal of Nutrition. 4 (2–3): 95–100. doi:10.1079/BJN19500024. PMID 14801407.
- Combs, GF (2001). The Vitamins, Fundamental Aspects in Nutrition and Health (2nd ed.). San Diego, CA: Academic Press. pp. 245–272. ISBN .
- Miranda, H (2006-06-02). "Fresh-Cut Fruit May Keep Its Vitamins". WebMD. จากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-07-26. สืบค้นเมื่อ 2007-02-25.
- Davis JL, Paris HL, Beals JW, Binns SE, Giordano GR, Scalzo RL, Schweder MM, Blair E, Bell C (2016). "Liposomal-encapsulated Ascorbic Acid: Influence on Vitamin C Bioavailability and Capacity to Protect Against Ischemia-Reperfusion Injury". Nutrition and Metabolic Insights. 9: 25–30. doi:10.4137/NMI.S39764. PMC 4915787. PMID 27375360.
- . Canadian Food Inspection Agency, Government of Canada. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-18. สืบค้นเมื่อ 2017-11-20.
- UK Food Standards Agency: "Current EU approved additives and their E Numbers". สืบค้นเมื่อ 2011-10-27.
- U.S. Food and Drug Administration: . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-17. สืบค้นเมื่อ 2011-10-27.
- Australia New Zealand Food Standards Code "Standard 1.2.4 - Labelling of ingredients". สืบค้นเมื่อ 2011-10-27.
- U.S. Food and Drug Administration: "Listing of Food Additives Status Part II". สืบค้นเมื่อ 2011-10-27.
- สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (2019), p. 2796
- Karlic, Heidrun; Lohninger, Alfred (2004). "Supplementation of l-carnitine in athletes: does it make sense?". Nutrition. 20 (7–8): 709–715. doi:10.1016/j.nut.2004.04.003. ISSN 0899-9007.
- "Carnitine--metabolism and functions". 1983. PMID 6361812.
{{}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
((help)) - "Role of carnitine in disease". 2010. doi:10.1186/1743-7075-7-30.
{{}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
((help)) - Prockop, DJ; Kivirikko, KI (1995). "Collagens: molecular biology, diseases, and potentials for therapy". Annual Review of Biochemistry. 64: 403–434. doi:10.1146/annurev.bi.64.070195.002155. PMID 7574488.
- Peterkofsky, B (December 1991). "Ascorbate requirement for hydroxylation and secretion of procollagen: relationship to inhibition of collagen synthesis in scurvy". The American Journal of Clinical Nutrition. 54 (6 Suppl): 1135S–1140S. doi:10.1093/ajcn/54.6.1135s. PMID 1720597.
- Kivirikko, KI; Myllylä, R (1985). "Post-translational processing of procollagens". Annals of the New York Academy of Sciences. 460 (1): 187–201. Bibcode:1985NYASA.460..187K. doi:10.1111/j.1749-6632.1985.tb51167.x. PMID 3008623.
- Ang, A; Pullar, JM; Currie, MJ; Vissers, M (2018). "Vitamin C and immune cell function in inflammation and cancer". Biochemical Society Transactions. 46 (5): 1147–1159. doi:10.1042/BST20180169. PMC 6195639. PMID 30301842.
- Metzen, E (2007). "Enzyme substrate recognition in oxygen sensing: how the HIF trap snaps". The Biochemical Journal. 408 (2): e5-6. doi:10.1042/BJ20071306. PMC 2267343. PMID 17990984.
The HIFalpha hydroxylases belong to a superfamily of dioxygenases that require the co-substrates oxygen and 2-oxoglutarate as well as the cofactors Fe2+ and ascorbate. The regulation of enzyme turnover by the concentration of the cosubstrate oxygen constitutes the interface between tissue oxygen level and the activity of HIF. The HIFalpha prolyl hydroxylases, termed PHDs/EGLNs (prolyl hydroxylase domain proteins/EGL nine homologues), bind to a conserved Leu-Xaa-Xaa-Leu-Ala-Pro motif present in all substrates identified so far.
- Levine M, Dhariwal KR, Washko P, Welch R, Wang YH, Cantilena CC, Yu R (1992). "Ascorbic acid and reaction kinetics in situ: a new approach to vitamin requirements". Journal of Nutritional Science and Vitaminology. Spec No: 169–172. doi:10.3177/jnsv.38.Special_169. PMID 1297733.
- Kaufman, S (1974). "Dopamine-beta-hydroxylase". Journal of Psychiatric Research. 11: 303–316. doi:10.1016/0022-3956(74)90112-5. PMID 4461800.
- Eipper BA, Milgram SL, Husten EJ, Yun HY, Mains RE (1993). "Peptidylglycine alpha-amidating monooxygenase: a multifunctional protein with catalytic, processing, and routing domains". Protein Science. 2 (4): 489–497. doi:10.1002/pro.5560020401. PMC 2142366. PMID 8518727.
- Eipper, BA; Stoffers, DA; Mains, RE (1992). "The biosynthesis of neuropeptides: peptide alpha-amidation". Annual Review of Neuroscience. 15: 57–85. doi:10.1146/annurev.ne.15.030192.000421. PMID 1575450.
- Wilson, JX (2005). "Regulation of vitamin C transport". Annual Review of Nutrition. 25: 105–125. doi:10.1146/annurev.nutr.25.050304.092647. PMID 16011461.
- Savini I, Rossi A, Pierro C, Avigliano L, Catani MV (April 2008). "SVCT1 and SVCT2: key proteins for vitamin C uptake". Amino Acids. 34 (3): 347–355. doi:10.1007/s00726-007-0555-7. PMID 17541511.
- Rumsey SC, Kwon O, Xu GW, Burant CF, Simpson I, Levine M (July 1997). "Glucose transporter isoforms GLUT1 and GLUT3 transport dehydroascorbic acid". The Journal of Biological Chemistry. 272 (30): 18982–18989. doi:10.1074/jbc.272.30.18982. PMID 9228080.
- May, JM; Qu, ZC; Neel, DR; Li, X (May 2003). "Recycling of vitamin C from its oxidized forms by human endothelial cells". Biochimica et Biophysica Acta. 1640 (2–3): 153–161. doi:10.1016/S0167-4889(03)00043-0. PMID 12729925.
- May, JM; Qu, ZC; Qiao, H; Koury, MJ (August 2007). "Maturational loss of the vitamin C transporter in erythrocytes". Biochemical and Biophysical Research Communications. 360 (1): 295–298. doi:10.1016/j.bbrc.2007.06.072. PMC 1964531. PMID 17586466.
- Padayatty, SJ; Levine, M (September 2016). "Vitamin C: the known and the unknown and Goldilocks". Oral Diseases. 22 (6): 463–493. doi:10.1111/odi.12446. PMC 4959991. PMID 26808119.
- Oreopoulos DG, Lindeman RD, VanderJagt DJ, Tzamaloukas AH, Bhagavan HN, Garry PJ (October 1993). "Renal excretion of ascorbic acid: effect of age and sex". Journal of the American College of Nutrition. 12 (5): 537–542. doi:10.1080/07315724.1993.10718349. PMID 8263270.
- Linster, CL; Van Schaftingen, E (January 2007). "Vitamin C. Biosynthesis, recycling and degradation in mammals". The FEBS Journal. 274 (1): 1–22. doi:10.1111/j.1742-4658.2006.05607.x. PMID 17222174.
- IUPAC (1997). Compendium of Chemical Terminology (the "Gold Book") (2nd ed.).
- "Testing Foods for Vitamin C (Ascorbic Acid)" (PDF). British Nutrition Foundation. 2004. (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-11-23.
- "Measuring the Vitamin C content of foods and fruit juices". Nuffield Foundation. 2011-11-24. จากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-07-21.
- Emadi-Konjin, P; Verjee, Z; Levin, AV; Adeli, K (May 2005). "Measurement of intracellular vitamin C levels in human lymphocytes by reverse phase high performance liquid chromatography (HPLC)". Clinical Biochemistry. 38 (5): 450–6. doi:10.1016/j.clinbiochem.2005.01.018. PMID 15820776.
- Yamada, H; Yamada, K; Waki, M; Umegaki, K (October 2004). "Lymphocyte and plasma vitamin C levels in type 2 diabetic patients with and without diabetes complications". Diabetes Care. 27 (10): 2491–2. doi:10.2337/diacare.27.10.2491. PMID 15451922.
- Branduardi P, Fossati T, Sauer M, Pagani R, Mattanovich D, Porro D (October 2007). "Biosynthesis of vitamin C by yeast leads to increased stress resistance". PLOS ONE. 2 (10): e1092. Bibcode:2007PLoSO...2.1092B. doi:10.1371/journal.pone.0001092. PMC 2034532. PMID 17971855.
- Wheeler, GL; Jones, MA; Smirnoff, N (May 1998). "The biosynthetic pathway of vitamin C in higher plants". Nature. 393 (6683): 365–9. Bibcode:1998Natur.393..365W. doi:10.1038/30728. PMID 9620799.
- Stone, Irwin (1972), The Natural History of Ascorbic Acid in the Evolution of Mammals and Primates, จากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-01-17
- Bánhegyi, G; Mándl, J (2001). "The hepatic glycogenoreticular system". Pathology Oncology Research. 7 (2): 107–10. 10.1.1.602.5659. doi:10.1007/BF03032575. PMID 11458272.
- Valpuesta, V.; Botella, M. A. (2004). "Biosynthesis of L-Ascorbic Acid in Plants: New Pathways for an Old Antioxidant" (PDF). Trends in Plant Science. 9 (12): 573–577. doi:10.1016/j.tplants.2004.10.002. PMID 15564123.
- Nishikimi, M; Yagi, K (December 1991). "Molecular basis for the deficiency in humans of gulonolactone oxidase, a key enzyme for ascorbic acid biosynthesis". The American Journal of Clinical Nutrition. 54 (6 Suppl): 1203S–1208S. doi:10.1093/ajcn/54.6.1203s. PMID 1962571.
- Nishikimi, M; Kawai, T; Yagi, K (October 1992). "Guinea pigs possess a highly mutated gene for L-gulono-gamma-lactone oxidase, the key enzyme for L-ascorbic acid biosynthesis missing in this species". The Journal of Biological Chemistry. 267 (30): 21967–72. PMID 1400507.
- Ohta, Y; Nishikimi, M (October 1999). "Random nucleotide substitutions in primate nonfunctional gene for L-gulono-gamma-lactone oxidase, the missing enzyme in L-ascorbic acid biosynthesis". Biochimica et Biophysica Acta. 1472 (1–2): 408–11. doi:10.1016/S0304-4165(99)00123-3. PMID 10572964.
- "Definition: primary alcohol from Online Medical Dictionary". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-13. สืบค้นเมื่อ 2007-11-22.
- "Haplorrhini". Integrated Taxonomic Information System. จากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-28. สืบค้นเมื่อ 2017-01-02.
- Stone, I (1972). . Orthomolecular Psychiatry. 1: 82–89. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-01-30.
- Dewick, P. M (2009). Medicinal Natural Products: A Biosynthetic Approach (3rd ed.). John Wiley and Sons. p. 493. ISBN .
- Miller, R. Eric; Fowler, Murray E. (2014-07-31). Fowler's Zoo and Wild Animal Medicine, Volume 8. p. 389. ISBN . จากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-12-07. สืบค้นเมื่อ 2016-06-02.
- del Rio, Martinez C (July 1997). "Can passerines synthesize vitamin C?". The Auk. 114 (3): 513–516. doi:10.2307/4089257. JSTOR 4089257.
- Drouin, G; Godin, JR; Pagé, B (August 2011). "The genetics of vitamin C loss in vertebrates". Current Genomics. 12 (5): 371–8. doi:10.2174/138920211796429736. PMC 3145266. PMID 22294879.
- Jenness, R; Birney, E; Ayaz, K (1980). "Variation of l-gulonolactone oxidase activity in placental mammals". Comparative Biochemistry and Physiology B. 67 (2): 195–204. doi:10.1016/0305-0491(80)90131-5.
- Cui J, Pan YH, Zhang Y, Jones G, Zhang S (February 2011). "Progressive pseudogenization: vitamin C synthesis and its loss in bats". Molecular Biology and Evolution. 28 (2): 1025–31. doi:10.1093/molbev/msq286. PMID 21037206.
- Cui J, Yuan X, Wang L, Jones G, Zhang S (Nov 2011). "Recent loss of vitamin C biosynthesis ability in bats". PLOS ONE. 6 (11): e27114. Bibcode:2011PLoSO...627114C. doi:10.1371/journal.pone.0027114. PMC 3206078. PMID 22069493.
- Montel-Hagen A, Kinet S, Manel N, Mongellaz C, Prohaska R, Battini JL, Delaunay J, Sitbon M, Taylor N (March 2008). "Erythrocyte Glut1 triggers dehydroascorbic acid uptake in mammals unable to synthesize vitamin C". Cell. 132 (6): 1039–48. doi:10.1016/j.cell.2008.01.042. PMID 18358815.
- Milton, K (June 1999). "Nutritional characteristics of wild primate foods: do the diets of our closest living relatives have lessons for us?" (PDF). Nutrition. 15 (6): 488–98. 10.1.1.564.1533. doi:10.1016/S0899-9007(99)00078-7. PMID 10378206. (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-10.
- Leferink, N. G.; van den Berg, W. A.; van Berkel, W. J. (2008). "L-Galactono-γ-lactone Dehydrogenase from Arabidopsis thaliana, a Flavoprotein Involved in Vitamin C Biosynthesis". FEBS Journal. 275 (4): 713–726. doi:10.1111/j.1742-4658.2007.06233.x. PMID 18190525.
- Mieda, T.; Yabuta, Y.; Rapolu, M.; Motoki, T.; Takeda, T.; Yoshimura, K.; Ishikawa, T.; Shigeoka, S. (2004). "Feedback Inhibition of Spinach L-Galactose Dehydrogenase by L-Ascorbate" (PDF). Plant and Cell Physiology. 45 (9): 1271–1279. doi:10.1093/pcp/pch152. PMID 15509850.
- Grillet L, Ouerdane L, Flis P, Hoang MT, Isaure MP, Lobinski R, และคณะ (January 2014). "Ascorbate efflux as a new strategy for iron reduction and transport in plants" (PDF). The Journal of Biological Chemistry. 289 (5): 2515–25. doi:10.1074/jbc.M113.514828. PMC 3908387. PMID 24347170. (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-16.
- Gallie, DR (2013). "L-ascorbic Acid: a multifunctional molecule supporting plant growth and development". Scientifica. 2013: 1–24. doi:10.1155/2013/795964. PMC 3820358. PMID 24278786.
- Mellidou, I; Kanellis, AK (2017). "Genetic Control of Ascorbic Acid Biosynthesis and Recycling in Horticultural Crops". Frontiers in Chemistry. 5: 50. Bibcode:2017FrCh....5...50M. doi:10.3389/fchem.2017.00050. PMC 5504230. PMID 28744455.
- Bulley, S; Laing, W (October 2016). "The regulation of ascorbate biosynthesis". Current Opinion in Plant Biology. 33: 15–22. doi:10.1016/j.pbi.2016.04.010. PMID 27179323.
- "Superoxide Ion: Generation and Chemical Implications". 2016. doi:10.1021/acs.chemrev.5b00407.
{{}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
((help)) - Lachapelle, MY; Drouin, G (February 2011). "Inactivation dates of the human and guinea pig vitamin C genes". Genetica. 139 (2): 199–207. doi:10.1007/s10709-010-9537-x. PMID 21140195.
- Drouin, G; Godin, JR; Pagé, B (August 2011). "The genetics of vitamin C loss in vertebrates". Current Genomics. 12 (5): 371–8. doi:10.2174/138920211796429736. PMC 3145266. PMID 22294879.
- Yang, H (June 2013). "Conserved or lost: molecular evolution of the key gene GULO in vertebrate vitamin C biosynthesis". Biochemical Genetics. 51 (5–6): 413–25. doi:10.1007/s10528-013-9574-0. PMID 23404229.
- Zhang ZD, Frankish A, Hunt T, Harrow J, Gerstein M (2010). "Identification and analysis of unitary pseudogenes: historic and contemporary gene losses in humans and other primates". Genome Biology. 11 (3): R26. doi:10.1186/gb-2010-11-3-r26. PMC 2864566. PMID 20210993.
- Koshizaka T, Nishikimi M, Ozawa T, Yagi K (February 1988). "Isolation and sequence analysis of a complementary DNA encoding rat liver L-gulono-gamma-lactone oxidase, a key enzyme for L-ascorbic acid biosynthesis". The Journal of Biological Chemistry. 263 (4): 1619–21. PMID 3338984.
- Pollock, JI; Mullin, RJ (1987). "Vitamin C biosynthesis in prosimians: evidence for the anthropoid affinity of Tarsius". American Journal of Physical Anthropology. 73 (1): 65–70. doi:10.1002/ajpa.1330730106. PMID 3113259.
- Poux, C; Douzery, EJ (2004). "Primate phylogeny, evolutionary rate variations, and divergence times: a contribution from the nuclear gene IRBP". American Journal of Physical Anthropology. 124 (1): 01–16. doi:10.1002/ajpa.10322. PMID 15085543.
- Goodman M, Porter CA, Czelusniak J, Page SL, Schneider H, Shoshani J, Gunnell G, Groves CP (1998). "Toward a phylogenetic classification of Primates based on DNA evidence complemented by fossil evidence". Molecular Phylogenetics and Evolution. 9 (3): 585–598. doi:10.1006/mpev.1998.0495. PMID 9668008.
- Porter CA, Page SL, Czelusniak J, Schneider H, Schneider MP, Sampaio I, Goodman M (1997). "Phylogeny and Evolution of Selected Primates as Determined by Sequences of the ε-Globin Locus and 5′ Flanking Regions". International Journal of Primatology. 18 (2): 261–295. doi:10.1023/A:1026328804319. :2027.42/44561.
- Pollock, JI & Mullin, RJ (1986). "Vitamin C biosynthesis in prosimians: Evidence for the anthropoid affinity of Tarsius". Amer J Physical Anthropology. 73 (1): 65–70. doi:10.1002/ajpa.1330730106. PMID 3113259. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-28.
- Proctor, P (1970). "Similar functions of uric acid and ascorbate in man?". Nature. 228 (5274): 868. Bibcode:1970Natur.228..868P. doi:10.1038/228868a0. PMID 5477017.
- "The production of vitamin C" (PDF). Competition Commission. 2001. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-01-19. สืบค้นเมื่อ 2007-02-20.
- Gelski, Jeff
wikipedia, แบบไทย, วิกิพีเดีย, วิกิ หนังสือ, หนังสือ, ห้องสมุด, บทความ, อ่าน, ดาวน์โหลด, ฟรี, ดาวน์โหลดฟรี, mp3, วิดีโอ, mp4, 3gp, jpg, jpeg, gif, png, รูปภาพ, เพลง, เพลง, หนัง, หนังสือ, เกม, เกม, มือถือ, โทรศัพท์, Android, iOS, Apple, โทรศัพท์โมบิล, Samsung, iPhone, Xiomi, Xiaomi, Redmi, Honor, Oppo, Nokia, Sonya, MI, PC, พีซี, web, เว็บ, คอมพิวเตอร์
witaminsi hrux krdaexskhxrbik hrux krdaexl aexskhxrbik l ascorbic acid hrux aexskhxrebt ascorbate epnaexnixxxn anion khxngkrdaexskhxrbik epnwitaminthiphbinxaharaelaxaharesrimtang ichpxngknaelarksaorkhlkpidlkepid epnsarxaharcaepnthiichsxmaesmenuxeyuxaelaphlitsarsuxprasathbangxyangodyxasyexnism caepninkarthangankhxngexnismhlayxyangaelasakhytxkarthangankhxngrabbphumikhumkn aelayngepnsartanxnumulxisradwy epnsarxaharcaepnsahrbmnusyaelastwxunbangchnid epnwitaminthilalaynaid aexskhxrebtcaepninemaethbxlisum khxngstwaelaphuchthukchnid singmichiwitaethbthukchnidsamarthsngekhraahid thisngekhraahimidtxngidcakxaharwitaminsikhxmulthangkhlinikchuxxunl ascorbic acid krdaexskhxrbik aexskhxrebt Monographa682583radbkhwamesiyngtxtharkinkhrrphA khnadcnthungradb RDA C khnadehnuxradb RDA chxngthangkarrbyathangpak chidthiklamenux ihthangesneluxd chiditphiwhnngrhs ATCA11G WHO kthmaysthanatamkthmaysuxexngid thangpak ibsngaephthy emuxchid khxmulephschclnsastrchiwprasiththiphlrwderwaelasmburnnxymakkhrungchiwitthangchiwphaphtang khunxyukbkhwamekhmkhnineluxdkarkhbxxkittwbngchichuxtamrabb IUPAC l threo Hex 2 enono 1 4 lactone hrux R 3 4 Dihydroxy 5 S 1 2 dihydroxyethyl furan 2 5H oneelkhthaebiyn CAS50 81 7 YPubChem CID546700674781DrugBankDB00126 YChemSpider10189562 YPQ6CK8PD0RD00018 YCHEBI 29073 YCHEMBL196 Y002072E300100 000 061khxmulthangkayphaphaelaekhmisutrC 6H 8O 6176 12 g mol 1aebbcalxng 3D Interactive imagekhwamhnaaenn1 694 g cm3cudhlxmehlw190 192 xngsaeslesiys 374 378 xngsafaerniht bangswncaslayip cudeduxd553 xngsaeslesiys 1 027 xngsafaerniht OC C H O C H 1OC O C O C1OInChI 1S C6H8O6 c7 1 2 8 5 3 9 4 10 6 11 12 5 h2 5 7 10H 1H2 t2 5 m0 s1 YKey CIWBSHSKHKDKBQ JLAZNSOCSA N Y verify saranukrmephschkrrmbthkhwamnixangxingkhristskrach khristthswrrs khriststwrrs sungepnsarasakhykhxngenuxha hlkthancnthungpi 2016 imsnbsnunihichpxngknorkhhwdthrrmda aetmihlkthanwakarichepnpracathaihhayhwderwkhun imchdecnwakarkinepnxaharesrimmiphltxkhwamesiyngorkhmaerng orkhrabbhwichlxdeluxd aelaphawasmxngesuxm xacichkinhruxchid witaminsiodymakmiphlkhangekhiyngnxy aetthakinmakxacthaihimsbaythxng pwdthxng rbkwnkarnxn aelathaihhnaaedng khnadpktiplxdphyemuxtngkhrrphaephthysastrbnthitysthanaehngchatishrth NAM aenanaimihkinepnprimanmak witaminsikhnphbinpi 1912 aelwaeyktanghakinpi 1928 epnwitaminchnidaerkthiphlitodysngekhraahthangekhmiinpi 1933 mnxyuinraykaryacaepnkhxngxngkhkarxnamyolk ephraaepnyathimiprasiththiphaphdisudaelaplxdphysungcaepninrabbsatharnsukh epnyasamythiimaephngaelasuxidexng inpi 1937 nkekhmichawhngkarixlebirt esntcxci Albert Szent Gyorgyi idrbrangwloneblsakhasrirwithyahruxkaraephthy aelankekhmichawxngkvs Norman Haworth idrbrangwloneblsakhaekhmiswnhnungkephraakhnphbwitaminsi xaharthimirwmthngphlimskulsm kiwi brxkokhli kahladaw phrikhywk aelastrxwebxrri karekbiwhruxhungtmnan xacldwitaminsiinxahar krdaexskhxrbikichepnsarprungaetngxaharxyangkwangkhwangephuxpxngknxxksiedchnchiwwithyakhwamsakhy witaminsiepnsarxaharcaepnsahrbstwbangxyangrwmthngmnusy khawa witaminsi rwmexasarprakxbthangekhmithithwipmiokhrngsrangkhlayknhlaychnidthieriykwa vitamer mivththiwitaminsiinrangkaystw sungrwmkrdaexskhxrbikaelaekluxkhxngmn ekluxaexskhxrebt dngechn osediymaexskhxrebt sodium ascorbate aelaaekhlesiymaexskhxrebt calcium ascorbate mkichinxaharesrim sungslayepnaexskhxrebtemuxyxy thngaexskhxrebtaelakrdaexskhxrbikmixyutamthrrmchatiinrangkay ephraathngsxngaeplngrupepnknaelaknidaelwaetkhwamepnkrd pH swnrupaebbomelkulthixxksiids echn krddiihodraexskhxrbik DHA samarthepliynklbepnkrdaexskhxrbikdwytwridiws reducing agent witaminsiepnokhaefketxrinptikiriyaxasyexnisminstw aelamnusy sungxanwykicthangchiwwithyathicaepnhlayxyangrwmthngkarsmanaephl karpxngkneluxdxxkcakhlxdeluxdfxy aelakarsngekhraahkhxllaecn inmnusy karkhadwitaminsithaihkarsngekhraahkhxllaecnbkphrxng sungthaihxakarorkhlkpidlkepidhnkkhun bthbaththangekhmichiwphaphkhxngwitaminsi xikxyangkkhuxepnsartanxnumulxisra khuxepntwridiws odycayxielktrxnaekptikiriyaekhmithngthixasyexnismaelaimxasyexnismhlayxyang aelwepliynsphaphepnaebbxxksiids odyxacepnkrdesmidiihodraexskhxrbik semidehydroascorbic acid hruxkrddiihodraexskhxrbik sungsamarthridiwsihklbkhunsphaphedimdwyklikxasyexnismodyichklutaithoxn aela NADPH epnemaethbxilt inphuch witaminsiepnsbsetrtsahrbexnismaexskhxrebtephxrxxksieds ascorbate peroxidase exnismniichaexskhxrebtephuxslayihodrecnephxrxxkisd H2O2 thiepnphisihepnna H2O karkhad orkhlkpidlkepidmiehtucakkarkhadwitaminsi ephraaemuximmiwitamin khxllaecnthirangkayphlitcaimesthiyrphxephuxichngan orkhthaihmicudnatalbnphiwhnng ehnguxkyuy aelaeluxdxxktameyuxemuxk cuddngwaekidmaksudthikha khnikhcadusid sumesra aelaxxnla thaepnmak aephlcaimkhxyhay fnrwng cnthungesiychiwitid rangkaymnusysamarthekbsasmwitaminsiepnprimancakdethann dngnn kcahmdipthaimidephim aetkarpraktxakarkhxngphuihythiimkhadwitaminaelwthanxaharthiimmiwitaminsiely xackinewlatngaeteduxnhnungcnthungmakkwa 6 eduxn khunxyukbprimanwitaminsisasmkxnhnani mingansuksaednthithdlxngkxorkhinphuptiesthimyxmepnthharodyxangmonthrrminpraethsxngkvschwngsngkhramolkkhrngthisxng aelainnkothsrthixoxwa shrth inchwngplaykhristthswrrs 1960 cnthung 1980 ngansuksathngsxngphbwa xakarorkhlkpidlkepidtang thipraktephraathanxaharthimiwitaminsinxymaksamarthaekidthnghmdodyesrimwitaminsiephiyngaekh 10 mk wn innganthdlxngehlani immikhwamaetktangthangkhlinikrahwangchaythiidwitamin 70 mk wn sungthaihmikhwamekhmkhnwitaminineluxd 0 55 mk dl xnepn 1 3 khxng radbximtwinenuxeyuxodypraman kbchaythiid 10 mk wn nkothsinngansuksaekidxakarorkhpraman 4 spdah hlngerimthanxaharplxdwitaminsi ethiybkbngansuksainxngkvsthitxngichewla 6 8 eduxn odynacaepnephraakarerngihthanxaharesrimkhnad 70 mk wn epnewla 6 spdah kxnihthanxaharkhadwitamin chayinnganthngsxngthithanxaharekuxbirwitamin miwitaminsiineluxdtakwathicawdidxyangaemnyaemuxerimekidxakarorkh innkothsrthixoxwa idpraemin odywithi Carbon 14 labeled l ascorbic acid inchwngpraktorkhniwa miprimansasminrangkaynxykwa 300 mk odyichtxwnldlngehluxephiyngaekh 2 5 mk karichxaharesrimwitaminsithikhayinrankhayya witaminsimibthbaththichdecninkarrksaorkhlkpidlkepid sungekidephraakhadwitaminsi nxkehnuxcaknn bthbathkhxngmninkarpxngknhruxrksaorkhtang epneruxngotaeyngimmithisinsud odynganthbthwnwrrnkrrmtang kraynganphlthikhdaeyngkn nganthbthwnaebbkhxekhlnpi 2012 raynganwa karesrimxahardwywitaminsiimmiphltxxtratayodythnghmd overall mortality witaminxyuinraykayyacaepnkhxngxngkhkarxnamyolk odyepnyathimiprasiththiphaphaelaplxdphythisudxncaepninrabbsatharnsukh orkhlkpidlkepid orkhlkpidlkepidekidcakkarkhadwitaminsi samarthpxngknaelarksaiddwyxaharthimiwitaminsihruxdwyxaharesrim orkhichewlaxyangnxy 1 eduxnkxncaekidxakaremuxthanxaharthiimmihruxmiwitaminsinxy xakarebuxngtnrwmthngkhwamlaehiyimsbayaelaphawangwngngun odyaeylngepnhayicimetmpxd pwdkraduk ehnguxkeluxdxxk fkchangay aephlhayyak aelainthisudepnikh chk aelasudthay esiychiwit orkhklbkhundiidcnthungrayasudthay ephraarangkaycaphlitkhxllaecnaethnthithiimdiephraakhadwitamin yasamarthichkin chidinklamenux hruxihthangesneluxd orkhniruckkntngaetsmyhipphxkhrathischwngkrikobranaelw inpi 1747 slyaephthykhxngrachnawixngkvs khux ecms lind idthanganthdlxngmiklumkhwbkhumngantn thiaesdngwa phlimskulsmpxngknorkhniid aelaerimcakpi 1796 rachnawixngkvskaecknaelmxnaekkalasithukkhn kartidechux phurbrangwloneblchawxemriknilns phxling snbsnunihkinwitaminsiephuxorkhhwdthrrmdainhnngsuxpi 1970 phlkhxngwitaminsitxorkhhwdthrrmdaidthakarwicyxyangkwangkhwang nganthdlxngthangkhlinikmiklumkhwbkhumnganaerksudduehmuxncathainpi 1945 txcaknn kminganwicytx ma aetkhwamsnicthngthangwichakaraelacaksatharnchnidephimkhunemuxilns phxling phuidrbthngrangwloneblsakhaekhmi 1954 aelarangwloneblsntiphaph 1962 iderimtiphimphphlnganwicyineruxngni aelaekhiynhnngsuxpi 1970 khux Vitamin C and the Common Cold witaminsikborkhhwdthrrmda txmacungekhiynhnngsuxthixpedtaelakhyaykhwamxikelmpi 1976 khux Vitamin C the Common Cold and the Flu witaminsi orkhhwdthrrmda aelaikhhwdihy nganwicyeruxngwitaminsikbikhhwdthrrmdaaebngxxkepnphlinkarpxngkn phltxrayaewlathiepn aelaphltxkhwamrunaerngkhxngorkh nganthbthwnaebbkhxekhln pi 2013 sungtrwcdunganwicytang thithdlxngichwitaminxyangnxy 200 mk wn srupwa witaminsithikinepnpracaimmiprasiththiphaphpxngknikhhwdthrrmda aemkin 1 000 mk wn kimidphl aetkarkinwitaminsiepnpracaldrayakarepnhwd 8 inphuihy aela 14 inedk odyldkhwamrunaerngkhxngikhdwy khxmulnganthdlxngestyxyrabuwa chwyldxubtikarnkhxngikhhwdthrrmdakhrunghnunginnkwingmarathxn inphuelnski aelainthharthithakarinthihnawmak subarctic khxmulnganthdlxngestyxyxikesthnungtrwcdukarichrksa khuxcaimerimkinwitaminsicnkrathngrusukepnikh aelwphbwawitaminsiimmiphltxrayaewlahruxkhwamrunaerngkhxngorkh ethiybkbnganthbthwnpi 2009 thisrupwa witaminsiimpxngknorkhhwd ldrayaewlathiepn aetimldkhwamrunaerng nkwicykhxngnganpi 2013 srupwa ephraawitaminsimiphlthismaesmxtxrayaewlaaelakhwamrunaerngkhxngikhhwdinngansuksathiihkinepnxaharesrimepnpraca ephraarakhathukaelaplxdphy mnxackhumkhasahrbkhnikhorkhhwdthrrmdaephuxthdlxngepnswnbukhkhlwa karichwitaminsiephuxrksamipraoychnkbtnhruxim witaminsikracayekhaipinesllphumikhumkninradbkhwamekhmkhnsungiddi chwyngantanculchiphkhxngrangkay chwyesllphumikhumkn khux natural killer cell hrux NK cell sungepnlimofistchnidhnung ihthanganiddikhun chwyephimcanwnlimofist aelaichhmderwmakemuxtidechux sungaesdngwamibthbathsakhyinkarkhwbkhumrabbphumikhumkn sankngankhwamplxdphyxaharyuorp EFSA phbwa mikhwamsmphnthodyepnehtuphlrahwangkarkinwitaminsiinxahar kbkarthangankhxngrabbphumikhumknthipktiinphuihyaelaedkxayunxykwa 3 khwb maerng miaenwthangkarsuksasxngxyangwa witaminsimiphltxmaernghruxim xyangaerkkhux thaidcakxaharinphisypktiodyimthanxaharesrimephim phuthikinwitaminsimakkwaesiyngekidmaerngnxykwahruxim thaminxykwa karkinepnxaharesrimmipraoychnehmuxnknhruxim xyangthisxngkhux sahrbkhnikhthiidwinicchywaepnmaerng karihkrdaexskhxrbikprimanmakthangesneluxdephuxrksamaerngchwyldphlimphungprasngkhkhxngkarrksawithixun aeladngnn cungchwyihrxdchiwitidnankhunhruxephimkhunphaphchiwithruxim nganthbthwnaebbkhxekhlnpi 2013 imphbhlkthanwakarkinepnxaharesrimldkhwamesiyngmaerngpxdsahrbkhnsukhphaphdihruxkhnesiyngsungephraasubya mibuhriepntn hruxephraaidrbaeriyhin nganwiekhraahxphimanthisxngpi 2011 imphbphltxkhwamesiyngmaerngtxmlukhmak minganwiekhraahxphimansxngngan 2011 2013 thipraeminphlkhxngkarkinwitaminsiepnxaharesrimtxkhwamesiyngmaernglaisihy nganhnungphbkhwamsmphnthxyangxxn rahwangkarkinwitaminsikbkhwamesiyngthildlng xiknganhnungimphb nganwiekhraahxphimanpi 2011 xiknganhnungimphbhlkthanwa karkinwitaminsiepnxaharesrimchwypxngknmaerngetanm aetnganpi 2014 srupwa witaminsismphnthkbkarrxdchiwitidnankhunsahrbkhnikhthiwinicchywaepnmaerngetanm karihwitaminsithangesneluxdepnkarrksamaerngaebbprakxbxyanghnungthimikhxotaeyng aelaichxyangkwangkhwanginkarrksaenuxngxkaelamaerngaebbthrrmchati naturopathic oncology aelaaebbburnakar integrative oncology odyepnswnkhxngkaraephthythangeluxk echn orthomolecular medicine epntn thaichkin prasiththiphaphkardudsumcaldlngemuxprimansungkhun aetkarihthangesneluxdimmipyhani thaihsamarthidkhwamekhmkhnineluxdthung 5 10 mmol L sungmakkwathiidthangpakkhux 0 2 mmol L xyangmak thvstitang thiesnxklikkarthangankhdaeyngknexng exksarhnungaesdngwa khwamekhmkhnkhxngkrdaexskhxrbikinenuxeyuxsungmivththiepn pro oxidant khuxkxihodrecnephxrxxkisd H2O2 thikhaesllenuxngxk pro oxidant epnsarekhmithikx oxidative stress odykxklumxxksiecnthiiwptikiriya reactive oxygen species hruxodyybyngrabbtanxnumulxisra oxidative stress thiekidsamarththalayesllaelaenuxeyux aetexksarediywknkxangdwywa krdaexskhxrbikmivththiepnsartanxnumulxisra dngnncungldphlthiimphungprasngkhkhxngekhmibabdaelakarchayaesng srupkhuxexksarediywknesnxklikkarthanganepn 2 thvsdithikhdaeyngknexng aemnganwicykyngdaenintxipineruxngehlani aetnganthbthwnpi 2014 idsrupwa inpccubn karihwitaminsithangesneluxdinprimanmak odyepnyatanmaerng imxacaenanaihichnxkkarthdlxngthangkhlinikid nganthbthwnpi 2015 idesrimwa immihlkthankhunphaphdithiaesdngnywa karihaexskhxrebtepnxaharesriminkhnikhmaerngephimphltanmaerngkhxngekhmibabdhruxldkhwamepnphiskhxngmn hlkthanekiywkbphltanenuxngxkkhxngaexskhxrebtcakdxyukbraynganphupwy ngansuksaaebbsngekt aelangansuksathiimmiklumkhwbkhum khuxcakdxyukbngansuksathicdwa mikhunphaphdxykwa orkhrabbhwichlxdeluxd nganwiekhraahxphimanpi 2013 imphbhlkthanwa karkinwitaminsiepnxaharesrimldklamenuxhwictayehtukhadeluxd ldorkhhlxdeluxdsmxng ldxtratayehtuorkhrabbhwichlxdeluxd aelaldxtratayehtuthukxyang aetnganpiediywknxikngankphbkhwamsmphnthrahwangradbwitaminsiineluxdhruxradbkaridwitaminsiinxahar kbkhwamesiyngorkhhlxdeluxdsmxngthildlng nganwiekhraahxphimanpi 2014 thitrwcnganthdlxngthangkhlinik 44 nganaesdngphldikhxngwitaminsiemuxkinmakkwa 500 mk wn txkarthangankhxngexnodthieliym enuxeyuxbuophrng enuxeyuxbuophrngepnchnesllthibuphiwphayinkhxnghlxdeluxd karthahnathiphidprktikhxngenuxeyuxbuophrng endothelial dysfunction ykwa epnehtukhxngorkhhlxdeluxdindantang nkwicykhxngngantngkhxsngektwa phlkhxngkarkinwitaminsiepnxaharesrimduehmuxncakhunxyukbsukhphaph khuxmiphldikwasahrbphuthiesiyngorkhrabbhwichlxdeluxdmakkwa karthangankhxngsmxng nganthbthwnepnrabbpi 2017 phbkhwamekhmkhnwitaminsithitakwainbukhkhlthiphikarthangprachan rwmthngkhnikhorkhxlisemxraelaphawasmxngesuxm emuxethiybkbkhnpkti aetwithitrwckarthanganthangprachanthiich khux Mini Mental State Examination epnephiyngkartrwckarthanganaebbthw ip sungchiwakhunphaphkhxngnganwicythw ipthipraeminkhwamsakhykhxngwitaminsitxkarthanganthangprachankhxngkhnpktiaelakhnphikarnnimdi nganwicypi 2014 thitrwcsxbsarxaharinkhnikhorkhxlisemxrraynganwa ineluxd khnikhmiwitaminsi mikrdoflik witaminbi9 witaminbi12 aelawitaminxithnghmdnxy orkhxun ngansuksathitrwcphlkhxngkaridwitaminsitxkhwamesiyngorkhxlisemxridkhxsruptang thikhdaeyngkn karthanxaharihthuksukhphaphnacasakhykwakarthanxaharesrimephuxihidpraoychnthixacepnipidxyangidxyanghnungodyechphaa nganthbthwnpi 2010 imphbpraoychnkhxngkarkinwitaminsiepnxaharesrimephuxrksaorkhkhxxkesbrumatxyd nganthbthwnaebbkhxekhlnpi 2012 phbwa karkinwitaminsiepnxaharesrimimchwypxngknhruxchalxtxkrackthiepniptamwyphlkhangekhiyngwitaminsilalaynaid thakinekinkwathirangkaydudsumid kcakhbxxkthangpssawa cungimkhxyepnphisaebbchbphln witaminsimikhwamepnphistamak aetkarkinekinkwa 2 3 k wn xacthaihyxyxaharidimdiodyechphaathakinemuxthxngwang karkinwitaminsiinrupaebbekluxkhuxosediymaexskhxrebtaelaaekhlesiymaexskhxrebtxacldpyhani xakarxun thiekidemuxkinmakrwmthngkhlunis pwdthxng aelathxngrwng sungykwaepnphlthangxxsomsiskhxngwitaminsithidudsumimidemuxphanthangedinxahar odythvsdi karkinwitaminsimakxacepnehtuihdudsumthatuehlkekin khxsrupnganthbthwninphumisukhphaphpktiimaesdngwamipyhani aetimidtrwcwakhwamepnipidwa bukhkhlthimiphawaehlkekinthisubthangphnthukrrmxacekidpyhaechnniid aemmikhwamechuxmananinwngkaraephthywawitaminsiephimkhwamesiyngorkhniwit aet raynganwaekidorkhniwitsungsmphnthkbkaridkrdaexskhxrbikmakekincakdxyukbbukhkhlthiepnorkhit odynganthbthwntang idaesdngwa khxmulcakngansuksathangwithyakarrabadimsnbsnunkhwamsmphnthrahwangkaridkrdaexskhxrbikmakekinkbkarekidniwitinbukhkhlthipraktwasukhphaphdi aetkminganthdlxngkhnadihynganhnung thaxyuhlaypi thiraynganxtrakaekidniwitephimkhunthungsxngethasahrbchaythikinwitaminsiepnxaharesrimpracaxaharradbaenana radbaenana mk wn khxngaephthysastrbnthitysthanaehngchatishrth NAM RDA edk 1 3 khwb 15RDA edk 4 8 khwb 25RDA edk 9 13 pi 45RDA phuhying 14 18 pi 65RDA phuchay 14 18 pi 75RDA phuihyhying 75RDA phuihychay 90RDA hyingtngkhrrph 85RDA hyingihnm 120sungsud phuihyhying 2 000sungsud phuihychay 2 000 thwolk xngkhkraehngchatitang idtngradbthiaenanaihidwitaminsiaetlawn 40 mk wn xinediy sthabnophchnsastraehngchati emuxngihedxrabad 45 mk wn hrux 300 mk spdah xngkhkarxnamyolk 60 mk wnsahrbbukhkhlxayukwa 6 pikhunip ithy sankngankhnakrrmkarxaharaelaya 80 mk wn sphakhnakrrmathikaryuorpineruxngpayxahar 90 mk wn chay aela 75 mk wn hying krathrwngsatharnsukhaekhnada 2007 90 mk wn chay aela 75 mk wn hying aephthysastrbnthitysthanaehngchatishrth NAS 100 mk wn sthabnsukhphaphaelaophchnakaraehngchatiyipun 110 mk wn chay aela 95 mk wn hying sankngankhwamplxdphyxaharyuorp EFSA inpi 2000 aephthysastrbnthitysthanaehngchatishrth NAM idepliynradbxaharthiaenana Recommended Dietary Allowance twyx RDA epn 90 mk wn sahrbchayphuihy aela 75 mk wn sahrbhyingphuihy aelatngradbsungsud Tolerable upper intake level twyx UL sahrbphuihythi 2 000 mk wn tarangyngaesdng RDA sahrbshrthaelaaekhnadasahrbedk hyingtngkhrrph aelahyingihnmlukxikdwy sahrbshphaphyuorp sankngankhwamplxdphyxaharyuorp EFSA tngradbaenanathisungkwasahrbphuihyrwmthngedk khux 20 mk wnsahrbedk 1 3 khwb 30 mk wnsahrbedk 4 6 khwb 45 mk wnsahrbedk 7 10 khwb 70 mk wnsahrbedk 11 14 pi 100 mk wnsahrbchay 15 17 pi 90 mk wnsahrbhying 15 17 pi 100 mk wnsahrbhyingtngkhrrph aela 155 mk wnsahrbhyingihnmluk aetxinediytngradbthitakwamak khux 40 mk wnsahrbedktngaet 1 khwb cnthungphuihy 60 mk wnsahrbhyingtngkhrrph aela 80 mk wnsahrbhyingihnmluk cungchdecnwa praethstang immikhwamehnphxngrwmkn aephthysastrbnthitysthanaehngchatishrth NAM tngradbsungsud UL sahrbphuihythi 2 000 mk wn ephraanganthdlxnginmnusyraynganxakarthxngrwngaelapyhathangedinxaharxun emuxidmakkwa 3 000 mk wn niepnradbtasudthierimmipyha LOAEL khuxpyhaxun phbinradbthisungkwa swnsankngankhwamplxdphyxaharyuorp EFSA thbthwnpyhakhwamplxdphyniinpi 2006 aelwidsrupwa immihlkthanphxtngradbsungsudsahrbwitaminsi sungsthabnsukhphaphaelaophchnakaraehngchatiyipunkidsrupechnediywkninpi 2010 phusubbuhriaelaphuthixyukbphusubbuhricamiradbwitaminsiineluxdtakwaphuimsubbuhri sungechuxwa ekidcakkhwamesiyhayenuxngkbxxksiedchn oxidative damage rangkaycungichwitaminsungepnsartanxnumulxisranicnhmdip aephthysastrbnthitysthanaehngchatishrthpramanwa phusubbuhricaepntxngidwitaminsi 35 mk wnmakkwaphuimsubbuhri aetkimidtngradbaenanathisungkwasahrbphusubbuhrixyangepnrupthrrm nganwiekhraahxphimanpi 2014 aesdngkhwamsmphnthphkphnrahwangradbkaridwitaminsikbmaerngpxd aetksrupwacaepntxngwicyyingkhunephuxyunynsngektkarnni sunysthitisukhphaphaehngchatishrthidsarwcinpi 2013 2014 aelaraynganwa sahrbphuihyxayu 20 pikhun chayidwitaminsiodyechliy 83 3 mk wnaelahying 75 1 mk wn sunghmaykhwamwahyingkhrunghnungaelachaymakkwakhrungimidwitaminsitamradbthiaenana RDA ngansarwcediywknrabuwa phuihy 30 raynganwatnbriophkhwitaminsihruxwitamin aerthaturwmthimiwitaminsiepnxaharesrim aelainkhnklumni primanthiidthnghmdxyuthi 300 400 mk wn payxahar inpraethsithy sankngankhnakrrmkarxaharaelaya xnuyatihaesdngkhxkhwamklawxanghnathikhxngwitaminsidngtxipnikhuxchwyihhlxdeluxdaekhngaerng miswnchwyinkrabwnkartxtanxnumulxisra miswnchwyinkarpkpxngesllcakxnumulxisra miswnchwyinkarsrangkhxllaecnephuxkarthangantampktikhxngkradukxxn miswnchwyinkarsrangkhxllaecnephuxkarthangantampktikhxngkraduk miswnchwyinkarsrangkhxllaecn miswnchwyinkarsrangkhxllaecnephuxkarthangantampktikhxngphiwhnng miswnchwyinkarsrangkhxllaecnephuxkarthangantampktikhxngfn miswnchwyihrangkayidrbphlngngancakemtabxlisumtampkti miswnchwyinkarthangantampktikhxngrabbprasath miswnchwyinkarthahnathitampktikhxngrabbphumikhumkn miswnchwyinkarkhunsphaphkhxngridiwswitaminxi ephimkardudsumehlk aehlngthiid aehlngthrrmchatithismburnthisudkkhuxphkaelaphlim witaminsiepnxaharesrimthikinknmakthisudaelamixyuinhlayrupaebb rwmthngyaemd yasahrbphsmekhruxngdum aelayaaekhpsul cakphuch aemphuchcaepnaehlngxaharthidisahrbwitaminsi aetprimankcakhunxyukbchnidphuch khunphaphdin phumixakas ekbekiywemuxir withikarekb aelawithikarcdkhay tarangtxipniaesdngkhapraman ephuxepriybethiybkhwamsmburnrahwangphuchtang aetephraaphuchbangxyangwiekhraahemuxsd bangxyangktakaehngaelw sungkcaephimkhwamekhmkhnkhxngxngkhprakxbtang rwmthngwitaminsi khxmulxacmikhaaeprphnhruxxacepriybethiybknidyak primanepnmillikrmtxrxykrmkhxngphkphlimswnthikinid phuch priman mk 100 k lukphlmkhxkkhathu Kakadu plum 1 000 5 300kamukamu 2 800echxrrisepn 1 677Seabuckthorn 695makhampxm 445phlwisamykhxngkuhlab 426frng 228Blackcurrant 200phrikhywkehluxng 183phrikhywkaedng 128phkkahlapiekhl Kale 120kiwi brxkokhli 90 phuch priman mk 100 k phrikhywkekhiyw 80loganberry redcurrant kahladaw 80cloudberry elderberry 60malakx strxwebxrri 60sm elmxn 53sbpard kahladxk 48aekhntalup 40ekrpfrut aersebxrri 30esawrs phkokhm 30kahlapli manaw 30mamwng 28aeblkebxrri 21 phuch priman mk 100 k mnfrng honeydew melon 20maekhuxeths 14aekhrnebxrri 13bluebxrri xngun 10exphrikhxt phlm aetngom 10xaowkhaod 8 8hxmihy 7 4echxrri thx 7aekhrrxt aexpepil hnximfrng 6 cakstw ehmuxnstwxun aetimehmuxnmnusy aephaphlitwitaminsiidexng aephaotaelwthihnkraw 70 kk caphlitwitaminsiekin 13 300 mk wn thasukhphaphpkti aelacaphlitmakkwannepnhlayethatwemuximpkti xaharthiidcakstwmiwitaminsinxy aelathimikcathukthalayodykhwamrxnemuxhungtm echn tbikdibmi 17 9 mk 100 k aetemuxphd caehluxaekh 2 7 mk 100 k ikhikimmiwitaminsiimwacasukhruximsuk nmaemmiwitaminsi 5 0 mk 100 k ethiybkbnmsutrthark shrth twxyanghnungthimi 6 1 mk 100 k ethiybkbnmwwthi 1 0 mk 100 k karhungtmxahar witaminsicaslaytwinsthankarnbangxyang hlayxyangekidemuxhungtmxahar khwamekhmkhnkhxngwitamininxaharyngldlngtamewlaaelatamxunhphumithiekbiw karhungtmsamarthldwitaminsiinphkraw 60 swnhnungkephraakarslaytwxasyexnismsungxacekididmakkwaemuxxunhphumitakwa 100 xngsaeslesiys yinghungtmnan phlechnnikcaekidmakkhun aelakarhungtminphachnathxngaedngkyngerngptikiriyakarslaytwechnni witaminsiinxaharyngxacsumchalalaylnginnathiichhungtm sungkcaimidkinemuxeththingip aetwitaminsiinphkphlimkimidlalayxxkinxtraetha kn nganwicyaesdngwa brxkokhliduehmuxncaekbwitaminsiiddikwaphkphlimxun nganwicyyngaesdngdwywaphlimthiekbekiywsd caimesiysarxaharipxyangsakhythaekbiwintueyn 2 3 wn xaharesrim xaharesrimepnwitaminsimiepnemd aekhpsul epnphngsaercrupsahrblalayna xyuinwitaminaelaaerthaturwm xyuinsutrephuxepnsartanxnumulxisra aelaphngthithaepnphluk xnung naphlimaelanahwanxun xacetimwitaminsidwy khnademdhruxaekhpsulerimtngaet 25 mk ipcnthung 1 500 mk rupaebbthiichepnxaharesrimmakthisudkhuxkrdaexskhxrbik osediymaexskhxrebt aelaaekhlesiymaexskhxrebt omelkulkhxngwitaminsiyngsamarthyudkbkrdikhmnkhux palmitate klayepn ascorbyl palmitate hruxxacisekhain liposome karesriminxahar inpraethsaekhnada mixaharhlayxyangthiphuphlitsamarthxasaetimwitaminsiexng aelahlayxyangthibngkhbihtxngetim xaharthitxngetimwitaminsirwmthngekhruxngdumrsphlim phngchngepnekhruxngdumrsphlim xaharthiichepnswnkhxngidextphlngnganta phlitphnthkinaethnxahar aelanmkhn karetiminxahar krdaexskhxrbikaelarupaebbekluxaelaexsethxrtang khxngmnepnsaretimaetngxaharthisamyodymakephuxchalxkrabwnkarxxksiedchn hmayelkhsaretimaetngxaharthiichrwmthng E300 krdaexskhxrbik xnumtiihichepnsaretimaetngxaharin EU U S xxsetreliyaelaniwsiaelnd E301 osediymaexskhxrebt xnumtiihichepnsaretimaetngxaharin EU U S xxsetreliyaelaniwsiaelnd E302 aekhlesiymaexskhxrebt xnumtiihichepnsaretimaetngxaharin EU U S xxsetreliyaelaniwsiaelnd E303 ophaethsesiymaexskhxrebt potassium ascorbate xnumtiihichepnsaretimaetngxaharinxxsetreliyaelaniwsiaelnd aetimxnumtiinshrth E304 exsethxrkrdikhmnkhxngkrdaexskhxrbik echn ascorbyl palmitate xnumtiihichepnsaretimaetngxaharin EU U S xxsetreliyaelaniwsiaelnd INS 304 Ascorbyl palmitate aexskhxrbilaephlmietht hrux Vitamin C palmitate witaminsiaephlmietht epnwtthuecuxpnxaharthixnuyatihichinexnismprungaetnghruxexnismtrungrupinpraethsithy ephschwithyaPharmacodynamics witaminsiinrupaebbkhxngaexskhxrebtthahnathithangsrirphaphmakmayinrangkaymnusyodyepnsbsetrtkhxngexnism aela hruxepnokhaefketxr aelaepnomelkulthislaxielktrxn hnathirwmthngkarsngekhraahkhxllaecn carnitine aelasarsuxprasath karsngekhraahaelaaekhaethbxlisumkhxngithorsin aelaemaethbxlisumkhxng microsome inchiwsngekhraah aexskhxrebtthahnathiepntwridiws reducing agent khuxihxielktrxnaelapxngknxxksiedchnodyrksaxatxmehlkaelathxngaedngihxyuinsphaphridiws witaminsiyngepnokhaefketxrkhxngexnismdngtxipni klumexnism 3 klum prolyl 3 hydroxylases prolyl 4 hydroxylases aela lysyl hydroxylases thicaepninkarsngekhraahkhxllaecnodyephimklumihdrxksil hydroxylation ihaekkrdxamionkhux proline aelailsininkhxllaecn xasyexnism prolyl hydroxylase aela lysyl hydroxylase odythngsxngtxngmiwitaminsiepnokhaefketxr bthbathokhaefketxrkhxngmnkephuxxxksiids prolyl hydroxylase aela lysyl hydroxylase cak Fe2 ihepn Fe3 aelaephuxridiwscak Fe3 ihepn Fe2 karephimklumihdrxksilthaihomelkulkhxllaecnklayepnokhrngsrang triple helix dngnn witaminsicungcaepnephuxphthnakaraelakardarngrksaenuxeyuxaekrnuelchn enuxeyuxthingxkpidaepl esneluxd aelakradukxxn exnismsxngchnid e N trimethyl L lysine hydroxylase aela g butyrobetaine hydroxylase sungcaepnephuxsngekhraah carnitine sungepnsarprakxbthikhadimidephuxkhnsngkrdikhmnekhaipyngimothkhxnedriysahrbkarsrangexthiphi exnismklum Hypoxia inducible factor proline dioxygenase miixosfxrmepn EGLN1 EGLN2 aela EGLN3 dopamine beta hydroxylase thimibthbathinchiwsngekhraahkhxng norepinephrine cakodphamin peptidylglycine alpha amidating monooxygenase sungaeplnghxromnephpithd peptide hormone ihepnrupaebb amide odykacd glyoxylate residue cak c terminal glycine residues sungephimesthiyrphaphaelavththikhxnghxromnephpithdPharmacokinetics kardudsum tamsthabnsukhphaphaehngchatishrth NIH inmnusy rangkaydudsumwitaminsipraman 70 90 emuxkinkhnadphxpramanrahwang 30 180 mk wn aetthakinmakkwa 1 000 mk wn kardudsumcaldlngnxykwa 50 mnkhnsngphanlaisthngdwyklikthiiwkluokhsaelaimiwkluokhs dngnn karminatalmakinlaiscathaihdudsumidchalng rangkaydudsumkrdaexskhxrbikthngdwykarkhnsngaebbaexkthif active transport aelakaraephrthrrmda Sodium Ascorbate Co Transporters SVCTs aela Hexose transporters GLUTs epnoprtinkhnsngthixasyosediymaelacaepnephuxkarkhnsngaebbaexkthif oprtin SVCT1 yin SLC23A1 aela SVCT2 yin SLC23A2 naekhaaexskhxrebtinsphaphridiwsphaneyuxhumekhaipinesll swn GLUT1 aela GLUT3 pktiepntwkhnsngkluokhs dngnn cungkhnsngwitaminsiinrupaebbkrddiihodraexskhxrbik DHA ethann aem DHA cadudsuminxtrasungkwaaexskhxrebt aet DHA thiphbineluxdaelaenuxeyuxodypkticata ephraaesllcaepliyn DHA ihepnaexskhxrebtxyangrwderw karkhnsng SVCTs duehmuxncaepnrabbkhnsnghlkkhxngwitaminsiinrangkay khxykewnthiednsudkhuxemdeluxdaedng sungesiyoprtin SVCT ipemuxecriyetmthi inthngstwthisngekhraahwitaminsi echnhnu aelaimsngekhraah echnmnusy esllodymak ewnimkixyang camikrdaexskhxrbikinradbsungkwaineluxd khux 50 µmol L mak echn krdaexskhxrbikintxmitsmxngaelatxmhmwkitxacekin 2 000 µmol L aelainklamenuxxyuthi 200 300 µmol L hnathiepnokhexnismkhxngkrdaexskhxrbikimcaepntxngmikhwamekhmkhnsungechnni dngnnwitaminsicungxacmihnathixunthiyngimprakt khwamekhmkhninxwywatang echnnithaihwitaminsiineluxdimepntwbngchithidiwarangkaykhadwitaminsihruxim aelabukhkhltang xacichewlatang knkxnthicaaesdngxakarkhademuxkinxaharthimiwitaminsinxymak karkhbxxk rangkaycakhbkrdaexskhxrbikxxkthangpssawa inmnusychwngthiidnxy itcadudsumwitaminsiklbaethnthicakhbxxk emuxeluxdmikhwamekhmkhn 1 4 mk dl khun itcungcadudsumklbnxylngodythiekinkcakhbxxkthangpssawa karkukhunechnnicungchalxkarkhadwitaminid krdaexskhxrbikyngxacepliynxyangphnklbidepnkrddiihodraexskhxrbik DHA aet DHA xacepliynxyangphnklbimidepn 2 3 diketogluonate aelwepnxxksaelt ody 3 xyanghlngnikkhbxxkthangpssawaechnkn mnusysamarthaeplng DHA klbepnaexskhxrebtiddikwahnutaepha aeladngnn kcaichewlamakkwakxnthicakhadekhmikrdaexskhxrbik insphaphridiws krddiihodraexskhxrbik DHA insphaphxxksiids chuxwa witaminsi cahmaythungkrdaexskhxrbikinrupaebb l enantiomer esmx dngnn ykewncarabuiw aexskhxrebtaelakrdaexskhxrbikcunghmaythung l ascorbate aela l ascorbic acid tamladb krdaexskhxrbikepnkrdnatal sugar acid xxn thimiokhrngsrangsmphnthkbkluokhs inrabbchiwphaph krdaexskhxrbikcaphbxyuaetinphiexchthita aetinsarlalaythimiphiexchekin 5 kcaphbepnaexskhxrebt omelkulehlanimivththiepnwitaminsi cungepniwphcnkhxngwitaminsi ykewncarabuiw miwithikarwiekhraahmakmayephuxtrwccbkrdaexskhxrbik echn radbwitaminsiintwxyangxaharechnnaphlimsamarthkhanwnodywdprimatrkhxngtwxyangthitxngichephuxepliynsisarlalay dichlorophenolindophenol DCPIP aelwethiybkbkhamatrthanthirabukhwamekhmkhnkhxngwitaminsikartrwcradbmiwithikartrwcngay ephuxwdradbwitaminsiinpssawa insirmhruxphlasmakhxngeluxd aetnicaraburadbthiphungkinimichwarangkaymimakaekhihn mikhxsngektwa inkhnathikhwamekhmkhninsirmhruxphlasmacaepniptamcnghwarxbwn circadian rhythm hruxaesdngphlenuxngkbkarthanxaharemuximnan radbinenuxeyuxcamiesthiyrphaphkwa aelaxacichepntwxyangkhxngaexskhxrebtthimixyuinrangkaythnghmdiddikwa aetmiaelbnxymakthimixupkrnaelaecahna thiidfukephuxihwiekhraahxyanglaexiydechnniidchiwsngekhraahstwaelaphuchodymaksamarthsngekhraahwitaminsiphankhntxntang thixasyexnism sungepliynmxonaeskkhairdihepnwitaminsi aetyistkimidphlit l ascorbic acid aetphlitsetxrioxixosemxr stereoisomer khxngmn khux erythorbic acid inphuch karsngekhraahthaodyepliynnatal mannose hrux galactose ihepnkrdaexskhxrbik instw wsdutngtnkkhuxkluokhs inspichisthisngekhraahaexskhxrebtintb rwmthngstweliynglukdwynmaelankekaakhxn kluokhscaskdcakiklokhecn cungepnkrabwnkarthixasykarslayiklokhecn glycogenolysis instwthiimsamarthsngekhraahwitaminsi exnism khux l gulonolactone oxidase GULO sungepntwerngptikiriyakhnsudthayinkrabwnkarchiwsngekhraah caklayphnthuipmakcnthakarimid instwtang chiwsngekhraahkhxngwitaminsiinstwmikraduksnhlng chiwsngekhraahkhxngkrdaexskhxrbikinstwmikraduksnhlngerimcakkarsrang UDP glucuronic acid sungekidemux UDP glucose phankrabwnkarxxksiedchn 2 khrngthierngptikiriyadwyexnism UDP glucose 6 dehydrogenase sungichokhaefketxr NAD epntwrbxielktrxn exnism transferase khux UDP glucuronate pyrophosphorylase cakacd UMP aela glucuronokinase odymiokhaefketxrkhux ADP epnkarkacdfxseftsudthaythaihklayepn d glucuronic acid klumaexldiihdkhxngsarprakxbnicaridiwsepnaexlkxhxlpthmphumi primary alcohol dwyexnism glucuronate reductase aelaokhaefketxr NADPH odymiphlphlitepn l gulonic acid sungtamdwykarekidaelkothn lactone xasyexnismaebb hydrolase khux gluconolactonase odyaelkothncaxyurahwangklumkharbxnil carbonyl thiechuxmkb C1 kbklumihdrxksilthiechuxmkb C4 aelw l Gulonolactone kcathaptikiriyakbxxksiecnodymiexnism l gulonolactone oxidase sungthakarimidinmnusyaelaiphremt xndbyxy Haplorrhini xun epntwerngptikiriyaaelamiokhaefketxrkhux FAD ptikiriyanisrang 2 oxogulonolactone 2 keto gulonolactone sungekidptikiriya enolization thiklum keto epliynepn enol exng spontaneous klayepnkrdaexskhxrbik stweliynglukdwynmbangxyangidesiysmrrthphaphkarsngekhraahwitaminsi rwmthngiphremtklumsiemiyn aelatharesiyr sungrwmknepnxndbyxykhxngiphremtklumhnunginsxngklumkhux Haplorrhini odyrwmmnusyxyudwy klumiphremtthimilksna dngedim kwa khux Strepsirrhini yngmismrrthphaphphlitwitaminsi khangkhawodymakksngekhraahimid aelaspichisinwngs Caviidae xndbstwfnaetha sungrwmhnutaephaaela capybara Hydrochoerus hydrochaeris epnstwfnaethakhnadihysudinolkthixyuinxemrikait ksngekhraahimid aetstwfnaethaxun rwmthnghnuaelahnuhringksngekhraahid stweluxykhlanaelankinxndbthiekaaekkwacasngekhraahkrdaexskhxrbikinit swnnkinxndbthiihmkwaaelastweliynglukdwynmodymaksngekhraahintb mispichisnkekaakhxncanwnhnungthisngekhraahimidehmuxnkn odyimidepnphnthuyatiknthichdecnxikdwy cungmithvsdiwa smrrthphaphechnnisuyipinnkhlaykhrnghlayhntanghak odyechphaakkhux smmutiwainkrnisxngkrni karsngekhraahwitaminsiidsuyipaelwphayhlngklbidmaihm smrrphaphkarsngekhraahwitaminsiyngsuyipinpla 96 khuxklum teleosts khangkhawwngstang thiidtrwcsxb inxndb Chiroptera rwmthngwngsthikinaemlngaelaphlim sngekhraahwitaminsiimid mikartrwcphbexnism gulonolactone oxidase thiichinkarsngekhraahkhntxnsudthay canwnnxymak trace inkhangkhaw 1 spichisinbrrda 34 spichissungxyuinwngs 6 wngsthitrwc mikhangkhawxyangnxy 2 spichis khux Rousettus leschenaultii sungkinphlimaelakhangkhawhnayksthsknth Hipposideros armiger sungkinaemlng thiyngmi hruxidkhun smrrthphaphkarphlitwitaminsi spichisbangswnehlani rwmthngmnusy samarthaekkhdkarsuysmrrthphaphodynawitaminsithixxksiidsaelwklbkhunipichihmid iphremtklumsiemiyn thiphlitwitaminsiimid odymakbriophkhwitaminsiinpriman 10 20 etha makkwathirthbaltang aenanaihmnusybriophkh khwamkhdaeyngechnniepnmulthankhxngkhxthkethiyngekiywkbradbxaharthiaenanainpccubn sungmiphuaekwa mnusysngwnrksawitaminsithiidinxahariwiddimak aelasamarthrksaradbwitaminsiineluxdethiybethakbsiemiynxun aemcaidwitaminsicakxaharnxykwa odyxacepnephraanawitaminsithixxksiidsaelwklbipichihmid inphuchtang chiwsngekhraahkhxngwitaminsiinphuch miwithikarsngekhraahwitaminsihlayxyanginphuch odymakidmacakphlitphlkhxngwithikarslaykluokhsaelawithithangekhmixun twxyanghnungkkhuxthitxngphanphnngesllxnepnphxliemxrkhxngphuch sartngtnthiepnhlkkhxngkarsngekhraahwitaminsiinphuchduehmuxncaepn l galactose sungthaptikiriyakbexnism l galactose dehydrogenase epnptikiriyathiepidwngaehwnaelkothn aelwpidxikodyaelkothncaxyurahwangklumkharbxnilthixatxm C1 aelaklumihdrxksilthi C4 odyklayepn l galactonolactone sungkcamiptikiriyakb mitochondrial flavoenzyme khux l galactonolactone dehydrogenase odymiphlitphlepnkrdaexskhxrbik inphkokhm l ascorbic acid miphlpxnklbechinglbtx l galactose dehydrogenase exmbrioxkhxngphuchibeliyngkhucahlngkrdaexskhxrbik xxkodyepnkliklridiwskhxmephlksehlkthixyunxkesll epnkhntxnthicaepnephuxihkhnsngehlkekhamainesllid phuchthnghmdsamarthsngekhraahkrdaexskhxrbik odymihnathiepnokhaefketxrsahrbexnismthiekiywkhxngkbkarsngekhraahdwyaesng karsngekhraahhxromnphuch thahnathiepnsartanxnumulxisra aelaepntwptirupsartanxnumulxisraxun phuchmiwithikarsngekhraahwitaminsihlayxyang withihlkcaerimdwykluokhs frkoths hrux mannose sunglwnepnnatalthiimsbsxn aelwdaenintxipepn l galactose l galactonolactone aelakrdaexskhxrbik odymikrabwnkarkhwbkhumaebbpxnklb khux karmikrdaexskhxrbikcaybyngexnismthiichinkarsngekhraah krabwnkarniepniptamcnghwapracawn diurnal rhythm odymiexnismsungsudintxnechaephuxsnbsnunkarsngekhraahdwyaesnginchwngklangwnthiaesngcakhxngphraxathitythaihtxngmikrdaexskhxrbikinkhwamekhmkhnsung withikarsngekhraahyxyxun xaccamithiswntang khxngphuchxyangechphaaecaacng sungxacehmuxnkbwithikarsngekhraahinstw rwmthng GLO enzyme hruxerimdwy inositol aelwdaeninepn l galactonic acid aelwepn l galactonolactone aelwcungidphlepnkrdaexskhxrbik wiwthnakar krdaexskhxrbikepnokhaefketxrkhxngexnismthisamyinstweliynglukdwynm ichinkarsngekhraahkhxllaecn epntwridiwsthimikalngsungsamarthkacdklumxxksiecnthiiwptikiriya reactive oxygen species ROS iderw ephraamihnathisakhyeyiyngni cungnaaeplkicwasmrrthphaphinkarphlitcungimrksaiwthangwiwthnakar cringxyangnn iphremtthikhlaymnusy hnutaepha pla teleost khangkhawodymak aelankekaakhxnbangphwk lwnsuysmrrthphaphinkarphlitwitaminsiexngimwacathangtbhruxitodysuytanghak kn inkrnithnghmdthiwiekhraahcionmineruxngkarirsmrrthphaphkarsngekhraahkrdaexskhxrbikthicaepn ascorbic acid auxotroph cuderimkhwamepliynaeplngepnkarklayphnthuthithaihesiykarkhxngyinthiekharhs l Gulono g lactone oxidase sungepnexnismerngptikiriyakarsngekhraahkrdaexskhxrbikkhnsudthaydngthiklawipaelw khaxthibayhnungsahrbkaresiysmrrthphaphechnniodyekidsa inprawtiwiwthnakarkkhuxkarepliynkhwamthiyinxyangimecaacng genetic drift aelathasmmutiwa xaharthikinmiwitaminsisung karkhdeluxkodythrrmchatikcaimchwyrksasmrrthphaphiw inkrniiphremtklumsiemiyn echuxwakarsuysmrrthphaphkarphlitwitaminsiekidkhunmananaelwkxnthimnusyhruxaemaetexpcaekidkhun ephraaodyhlkthanaelwmnekidtngaetkarpraktkhunkhxngiphremttn aethlngcakkaraeykxxkepnxndbyxysxngxndbhlk khux Haplorrhini iphremtcmukaehng sungirsmrrthphaph aela Strepsirrhini iphremtcmukepiyk sungyngkhngsmrrthphaph tamkartrwcewladwyethkhnikh molecular clock iphremtxndbyxysxngklumniaeykxxkcakknraw 63 60 lanpikxn praman 3 5 lanpi txcaknn khux 58 lanpikxn sungsnmakcakmummxngthangwiwthnakar infraorder Tarsiiformes sungpccubnehluxxyuwngsediywkhuxtharesiyr Tarsiidae kidaeykxxkcak Haplorrhini xun ephraatharesiyrkphlitwitaminsiimidehmuxnkn niaesdngnywa karklayphnthuidekidkxnhnann aeladngnn cungtxngekidrahwang 63 58 lanpi kxn mikhxsngektdwywa karesiysmrrthphaphkarsngekhraahaexskhxrebtekidkhnankbkaresiysmrrthphaphkarslaykrdyuriksungepnlksnaxikxyanghnungkhxngiphremtbangchnid thngkrdyurikaelaaexskhxrebt epntwridiwsthimikalng sungthaihesnxwa iniphremtthi sungkwa krdyurikidthahnathibangxyangaethnaexskhxrebtkarphlitthangxutsahkrrmwitaminsiphlitcakkluokhsdwywithisxngxyang krabwnkar Reichstein process sungphthnakhuninchwngkhristthswrrs 1930 mikarhmketriymephiyngkhrngediywaelwtamdwykrrmwithithangekhmilwn swnkrabwnkarphlitpccubnsungphthnakhuninpraethscininchwngkhristthswrrs 1960 mikarhmk 2 khrngodykarhmkkhrngthisxngichaethnkrabwnkarthangekhmibangswninrayahlng krabwnkarthngsxnglwnichaexlkhxlnatalkhux sxrbithxl epnsartngtn aelwaeplngmnepnsxrobs sorbose dwykarhmk krabwnkarhmkpccubn thimikarhmksxngkhrng kcaaeplngsxrobsepn 2 keto l gulonic acid KGA dwykarhmkxikkhrngodyimtxngsrangsarmthyntr intermediate xikxyang krabwnkarthngsxngcaidwitamin 60 tamnahnkthasartngtnepnkluokhs inpi 2017 praethscinphlitkrdaexskhxrbikkhuxwitaminsi 95 khxngolk epnwitaminthicinsngxxkmakthisud odymirayid 880 lanehriyyshrth praman 30 000 lanbath inpi 2017 aetephraaaerngkddnimihephathanhinsungthaenuxngkbkarphlitwitaminsi rakhacungidephimkhuninpi 2016 epnsamethakhux 424 bath kk prawtiyaphunban khwamcaepntxngmixaharepnphkphlimsd hruxenuxdibephuxpxngknorkhruknmatngaetsmyobranaelw khnphunemuxngthixyuinekhtkndarprakxbkhwamruechnniinsastraephthyphunbankhxngtn yktwxyang echn ibtnsninekhtxbxun hruxibtnimthithnaelnginekhtthaelthray idichtmdumepnsmuniphr inpi 1536 nksarwcchawfrngesschk kartiey sungkalngsarwcaemnaesntlxwerns aekhnada idichkhwamrukhnphunemuxngephuxchwychiwitluknxngkhxngtnsungkalngpwyepnorkhlkpidlkepidcnthungtay odytmibsn skul Thuja epnchasmuniphrsungtxmaphbwamiwitaminsi 50 mk 100 k orkhlkpidlkepidkhxngkalasi phlimskulsmepnaehlngwitaminsiaerk thiaephthyeruxidich inkhnasarwcxinediypi 1497 khxngchawoprtueks wchku da kama khunsmbtirksaorkhkhxngsmkruknxyuaelw txma chawoprtueksphuhnungidplukphkphlimiwinekaaesntehelna mhasmuthraextaelntikit sungepncudhyudphkemuxedinthangklbmacakexechiy cungphxchwybarungrksalukeruxthiaewaphkthiekaann ecahnathiidaenanaepnkhrngepnkhrawihkinphuchphlimephuxpxngknorkhlkpidlkepidemuxtxngedinthangichewlananinthael aephthykhnaerkkhxngbristhxinediytawnxxk xngkvs khux cxhn wudxll idaenanaihichnaelmxnephuxpxngknaelarksaorkhinhnngsuxpi 1617 thiekhaekhiyn The Surgeon s Mate inpi 1734 nkekhiynaelankwithyasastrchawdtch Johann Bachstrom idyunynkhwamehnwa orkhlkpidlkepidekidcakkarewnkarkinphuchaelaibphk orkhlkpidlkepididepnorkhkhakalasiorkhhlkmananaelwemuxedinthanginthaelepnrayaewlanan tamnkekhiynphuhnung inpi 1499 wchku da kama idesiylukerux 116 khncak 170 khn inpi 1520 maecllnidesiylukerux 208 khncak 230 khn thnghmdodyhlkephraaorkhlkpidlkepid inpi 1747 slyaephthykhxngrachnawixngkvs khux ecms lind idrabukhunsmbtiinphlimthipxngknorkhlkpidlkepidodythaepnkarthdlxngthimiklumkhwbkhumnganaerk thiidbnthukiw slyaephthykhxngrachnawixngkvs khux ecms lind epnbukhkhlaerkthiidphyayamhaehtuphlthangwithyasastrkhxngorkhni emuxkalngedinthanginthaelemuxeduxnphvsphakhm 1747 hmxidihlukeruxbangswnsm 2 lukaelaelmxn 1 luktxwnnxkehnuxcakxaharaelanathiidtampkti inkhnathikhnxunkihisedxr hruxnasmsaychu hruxkrdslfiwrik hruxnathaelnxkehnuxcakxaharaelanathiidtampkti epnkarthdlxngmiklumkhwbkhumnganaerk khxngolk phlaesdngwa smpxngknorkhniid sunghmxidphimphinphlnganpi 1753 phlimsd ichthimakekincaekbiwbnerux ethiybkbkartmihehluxaetnaaemichthinxyaetkthalaywitamin odyechphaathatminphachnathxngaedng aettxngrxcnthungpi 1796 kxnthirachnawixngkvscaidxnumtiihaecknaelmxnaeklukerux inpi 1845 eruxinekhtaekhribebiynkerimidnamanawaethn aelainpi 1860 namanaw lime kidichthwrachnawixngkvsaelw thaihkhnxemrikntngchuxelnkhnxngkvswa limey swnecms khuk idaesdngpraoychnkhxngkahlaplidxngeyxrmn sauerkraut khuxphalukeruxipynghmuekaahawayodyimidesiylukeruxskkhnenuxngkborkhlkpidlkepid rachnawixngkvscungidmxbehriyyrangwlaekekha inkhriststwrrsthi 18 aela 19 chuxwa antiscorbutic ichsahrbxaharthiruwapxngknorkhlkpidlkepid sungrwmelmxn manaw sm kahlaplidxngeyxrmn phkkahla mxltepntn inpi 1928 nkmanusywithyaxarktikchawaekhnada Vilhjalmur Stefansson idaesdngwa chawxinuxit Inuit imekidorkhlkpidlkepidephraakinxaharodymakepnenuxdib ngansuksaxaharphunbankhxngkhnklum First Nations inyukhxn khndin Dene khnxinuxit aelakhnemthis Metis inaekhnadaehnuxphbwa witaminsithiidcakxaharodyechliyxyuthi 52 62 mk wn sungethiybidkbradbthiwithyasastrbnthitysthan aehngchatishrthrabuwa snxngkhwamtxngkarkhxngkhn 50 inklumnntamkarthbthwnwrrnkrrmwithyasastr karkhnphb nkekhmichawhngkarixlebirt esntcxci idekhiynwa ekhaidrbrangwloneblsakhasrirwithyahruxkaraephthyhlngcakkhnphbwithikarphlitwitaminsiepncanwnmakephuxnganwicyemuxxasyxyuthiemuxngaesaekd hngkari sungidklayepnsunyxutsahkrrmphlitphrikhywkaedng witaminsiidkhnphbinpi 1912 aelwskdtanghakidinpi 1928 aelasngekhraahinpi 1933 cungepnwitaminaerkthisngekhraahid txmaimnan nkekhmichawswis opaelnd Tadeus Reichstein idkhnphbwithikarsngekhraahwitamincanwnmak epnkrabwnkarthipccubneriykwa Reichstein process sungthaihphlitwitaminidinrakhathuk inpi 1934 bristhhxffaemn la orchidcdthaebiynekhruxnghmaykarkha Redoxon sahrbwitaminsisngekhraah aelwerimwangtladkhayepnxaharesrim inpi 1907 aephthychawnxrwieciynsxngkhnkhux Axel Holst aela Theodor Frolich idkhnphbstwthdlxngthicachwyrabupccytanorkhlkpidlkepid khuxemuxkalngsuksaorkhehnbchathiekidinerux ideliynghnutaephadwyxaharthdlxngthithacakemldkhawaelaaepng aethnutaephaklbekidorkhlkpidlkepidaethnorkhehnbcha ephraaochkhdiwa stwspichisniimphlitwitaminsiexng ethiybkbhnuaelahnuhringthiphlitidexng inpi 1912 nkchiwekhmichawopaelnd Casimir Funk idphthnaaenwkhidekiywkbwitamin sungxyanghnungechuxwa epnpccytanorkhlkpidlkepid anti scorbutic factor ni inpi 1928 nieriykwa water soluble C silalaynaid thungaemewlann okhrngsrangthangekhmicayngimidrabu nkekhmichawhngkarixlebirt esntcxci phuxyuinphaphthaypi 1948 ni idrbrangwloneblsakhasrirwithyahruxkaraephthypi 1937 sahrbkarkhnphbkhxngekhaekiywkbkrabwnkarephaihmthangchiwphaph odyykwitaminsiaelakarerngptikiriyakhxng fumaric acid epnphiess rahwangpi 1928 1932 thimnkwicychawhngkarixlebirt esntcxci aelachawxemriknchals ekln khing idrabupccythitanorkhlkpidlkepid esntcxciidaeyk hexuronic acid caktxmhmwkitkhxngstw aelakhadwa mnepnpccytanorkhlkpidlkepid intnpi 1932 aelbkhxngkhingkidhlkthanwaepnechnnn aetktiphimphphlnganodyimidihekhrditkbesntcxci sungkxkarotethiyngknwaikhridrabumnkxn inpi 1933 nkekhmichawxngkvsesxrwxletxr nxraemn haewxrth idrabuwitaminniwaepn l hexuronic acid sungihhlkthanodysngekhraahmnkhuninpiediywkn haewxrthaelaesntcxciidesnxihtngchux l hexuronic acid wakrdaexskhxrbik a scorbic acid aelatngchuxsarekhmiwa l ascorbic acid ephuxykyxngvththitanorkhlkpidlkepidkhxngmn khamacakphasalatin khux a hmaythung ipcak hruxxxknxkcak aela scorbic macakkhalatinsmyklang scorbuticus ekiywkb orkhlkpidlkepid sungmacakrakediywkbkhaphasanxrsobran skyrbjugr kbphasafrngess scorbut kbphasadtch scheurbuik aelakbphasathineyxrmn Low German scharbock swnhnungephraakarkhnphbni esntcxcicungidrangwloneblsakhasrirwithyahruxkaraephthypi 1937 aelahaewxrthkidrwmrbrangwloneblsakhaekhmipiediywkn inpi 1957 nkwichakar J J Burns idaesdngwa stweliynglukdwynmbangchnidxacepnorkhlkpidlkepidephraatbimphlitexnism l gulonolactone oxidase sungepnexnismsudthayin 4 xyangthitxngichsngekhraahwitaminsi swnnkchiwekhmichawxemrikn Irwin Stone epnbukhkhlaerkthiichwitaminsiephuxthnxmxahar aelwtxmaesnxthvsdiwa mnusymirupaebbklayphnthukhxngyinthiekharhs l gulonolactone oxidase inpi 2008 nkwicyfrngessthimhawithyalymxngepley University of Montpellier phbwa inmnusyaelaiphremtxun emdeluxdaedngidwiwthnakarkliksungsamarthichwitaminsithimiinrangkayxyangmiprasiththiphaphyingkwastwxun odyepliyn l dehydroascorbic acid DHA thixxksiidsaelwklbepnkrdaexskhxrbikephuxnaipichihm epnklikthiimphbinstweliynglukdwynmthisngekhraahwitaminsiidexng emkaods emkaods witaminsi epnkhahmaythungkarkinhruxchidwitaminsi inkhnadthiethiybethahruxmakkwathiphlitintbkhxngstweliynglukdwynmpraephththisamarthsngekhraahwitaminsiidexng thvsdini aetimrwmkha macakbthkhwampi 1970 khxngphurbrangwloneblchawxemriknilns phxling odysrupkkhuxtamkhwamkhidkhxngekha ephuxihsukhphaphdisud mnusykhwrbriophkhwitaminsixyangnxy 2 300 mk wn ephuxchdechykhwamimsamarthsngekhraahwitaminsiidexng khathiaenananikxyuinradbthilingkxrillabriophkhdwy sungepnstwiklkbmnusythiimphlitwitaminsiexngechnkn ehtuphlthixangephuxihichkhnadsungechnnixyangthisxngkkhux khwamekhmkhnkhxngkrdaexskhxrbikineluxdcaephimkhuneruxy cnthungradbsungsudthiraw 190 200 µmol L emuxidbriophkhekin 1 250 mk rthbaltang aenanaihkininradb 40 110 mk wn tamthiklawaelw aelaradbpktiineluxdxyuthipraman 50 µmol L dngnn radb pkti cungxyuthi 25 khxngkhasungsudthiepnipidemuxidinradbemkaods inpi 1970 phxlingidsrangkhwamniymtxaenwkhidwa karkinwitaminkhnadsung cachwypxngknaelarksaikhhwdthrrmda xikimkipitxcaknn ekhakesnxdwywa witaminsichwypxngknorkhrabbhwichlxdeluxd aelakarid 10 k wn inebuxngtn epnewla 10 wn thiihthangesneluxd aelatxcaknnthangpak cachwyrksamaerngrayaplay karkinwitamininradbemkaodskidphusnbsnunxun dwy rwmthngnkekhmi Irwin Stone bukhkhlaerkthiichwitaminsithnxmxahar aephthychaweyxrmn Matthias Rath aelankthurkicaelankekhiyn Patrick Holford odysxngkhnhlngthuktahniwaxangwithirksamaerngaelakartidechuxexchixwiodyimmihlkthanxair thvsdiemkaodsniodymakidthukdisekhrditaelw aetkmipraoychnelknxysahrborkhhwdthrrmda praoychnkimiddikwaemuxbriophkhekin 1 000 mk wn ethiybkbemuxbriophkh 200 1 000 mk wn cungimtxngcakdxyukbradbemkaods thvsdiwa karihkrdaexskhxrbikprimanmakphanesneluxdephuxrksamaerngrayaplaykyngcdwaimmikhxphisucnaelayngtxngthanganwicythimikhunphaphsung aemewlacaphanmathung 40 pihlngcakbthkhwamkhxngphxling xyangirkdi thungimmihlkthansrupid aephthyraybukhkhlkyngkhngihcaykrdaexskhxrbikekhaesneluxdkhxngkhnikhorkhmaerngepnphn khnsngkhmaelawthnthrrmineduxnkumphaphnth 2011 iprsniyswisidxxkaestmpmirupaesdngokhrngsrangomelkulkhxngwitaminsiephuxchlxngpiekhmisaklechingxrrthepnswnkhxng National Academies of Sciences Engineering and Medicine odyaebngepn withyasastrbnthitysthanaehngchatishrth NAS wiswkrrmsastrbnthitysthanaehngchatishrth NAE aephthysastrbnthitysthanaehngchatishrth NAM LD50 khux khnadthikhaprachakr 50 inhnuodythwipyxmrbthi 11 9 krmtxkiolkrmkhxngnahnktw emuxbngkhbihxaharthanghlxdswnkraephaa yngimthrabklikkaresiychiwitcakkhnaddngklaw 1 2 khxngnahnktw hrux 0 84 kk sahrbmnusyhnk 70 kk aetxacepnklikechingklmakkwaechingekhmi swn LD50 inmnusyyngimthrab ephraakhadkhxmulkaresiychiwitodyxubtiehtuhruxkaridsarphisodyectna thwa echnediywkbsarthukxyangthithdlxnginlksnani LD50 khxnghnuyudepnaenwthangsahrbphawaphisinmnusy Health Canada Japan National Institute of Health and Nutrition accessory fruit phankrabwnkar leaching karsumchalalay liposome epnthungklmelk thimieyuxhumepnliphidsxngchn lipid bilayer xyangnxy 1 chud sungsamarthichephuxnasngsarxaharhruxya liposome samarththaidodythalayeyuxhumthangchiwphaph echnichesiyngphankrabwnkar sonication carnitine b hydroxy g N trimethylaminobutyric acid 3 hydroxy 4 N N N trimethylaminobutyrate epn quaternary ammonium compound mihnathithangemthabxlisum instweliynglukdwynm phuch aelaaebkhthieriy epnsarprakxbthikhadimidephuxkhnsngkrdikhmnekhaipyngimothkhxnedriysahrbkarsrangexthiphi protein isoform epnsmachikkhxngklumoprtinthikhlayknmakaelamihnathithangchiwphaphthiehmuxnknhruxkhlaykn insakhaekhmi exaennthioxemxr enantiomer cakkhakrikwa ἐnantios enantios aeplwa trngknkham aela meros meros aeplwa swn hruxeriykxikxyangwaixosemxrechingaesng optical isomer epnsetxrioxixosemxr stereoisomer hnunginsxngxyangthiepnrupsathxnkhxngknaelaknodyimehmuxnkn ehmuxnkbmuxsayaelakhwathiehmuxnknykewnklbkntamaeknhnung odythiimsamarththamuxihpraktehmuxnknephiyngaekhepliynthisthangethann xatxmikhaerlxatxmhnunghruxokhrngsrangkhlaykn thimiinsarprakxb cathaihsarprakxbnnmiokhrngsrangthiepnipidsxngxyangsungimehmuxnknaetepnrupsathxnkhxngknaelakn UDP glucuronic acid epnnatalthiichephuxsrangphxliaeskkhaird aelaepnsarmthyntrxyanghnunginkarsngekhraahkrdaexskhxrbikthangchiwphaph aexlkxhxlpthmphumi primary alcohol epn aexlkxhxlsungmiklumihdrxksilechuxmkbxatxmkharbxnhlkxatxmhnung hruxkxacniyamwaepnomelkulthimiklum CH2OH ethiybkbaexlkxhxlthutiyphumithimisutr CHROH aelaaexlkxhxlttiyphumithimisutr CR2OH ody R rabuklumthimixatxmkharbxn Haplorhini hruxeriykdwykhaphasaxngkvsxun wa haplorhine aela dry nosed primate sungaeplwa iphremtcmukaehng odymacakkhakriksungaeplwa micmukngay epnekhldthirwmexaiphremtklumtharesiyraelasiemiyn infraorder Simiiformes odybangkhrngsakdepn Haplorrhini klum Simiiformes rwmexa catarrhines lingolkekakbexprwmthngmnusy aela platyrrhines lingolkihm siemiyn simian infraorder Simiiformes rwmexa catarrhines lingolkekakbexprwmthngmnusy aela platyrrhines lingolkihm phuchibeliyngkhusamarthkhnsng Fe2 ekhaipinesllid aetthaehlkihlewiynnxkesllinrupaebb Fe3 kcatxngphankarridiwsephuxihkhnsngid exmbrioxkhxngphuchhlngaexskhxrebtepncanwnmakephuxridiws Fe3 thiepnswnkhxngkhxmephlksehlk reactive oxygen species ROS epnsarekhmimixxksiecnthiiwekidptikiriyaekhmi twxyangrwmthng ephxrxxkisd suepxrxxkisd xnumulklumihdrxksil aelaxxksiecnodd xinuxit Inuit epnklumchnphunemuxngphumiwthnthrrmkhlay knaelaxyuinbriewnxarktikkhxngkrinaelnd aekhnada aelaxalaska Estimated Average Requirement Tadeus Reichstein idrbrangwloneblsakhasrirwithyahruxkaraephthypi 1950 aetimichephraawitamin inpi 1934 hxffaemn la orch idsuxsiththibtrkhxngkrabwnkar Reichstein process aelwklayepnbristhyaaerkthiphlitepnprimanmakaelawangtladkhaywitaminsisngekhraah itekhruxnghmaykarkha Redoxon Vitamin C megadosagexangxingMerck Index 14th ed Ascorbic Acid The American Society of Health System Pharmacists cakaehlngedimemux 2016 12 30 subkhnemux 2016 12 08 Vitamin C Dietary Reference Intakes for Vitamin C Vitamin E Selenium and Carotenoids Washington DC The National Academies Press 2000 pp 95 185 ISBN 978 0 309 06935 9 cakaehlngedimemux 2017 09 02 subkhnemux 2017 09 01 mikhxkhwamtang rwmthng Reports of kidney stone formation associated with excess ascorbic acid intake are limited to individuals with renal disease data from epidemiological studies do not support an association between excess ascorbic acid intake and kidney stone formation in apparently healthy individuals Vitamin C Micronutrient Information Center Linus Pauling Institute Oregon State University Corvallis OR 2018 07 01 cakaehlngedimemux 2019 07 12 subkhnemux 2019 06 19 Fact Sheet for Health Professionals Vitamin C Office of Dietary Supplements US National Institutes of Health 2016 02 11 cakaehlngedimemux 2017 07 30 sarxaharpraephthwitamin siripansiri wordpress com cakaehlngedimemux 2019 09 16 subkhnemux 2016 04 17 WHO Model Formulary 2008 PDF World Health Organization 2009 p 496 ISBN 9789241547659 PDF cakaehlngedimemux 2016 12 13 subkhnemux 2016 12 08 Hemila H Chalker E January 2013 Vitamin C for preventing and treating the common cold The Cochrane Database of Systematic Reviews 1 CD000980 doi 10 1002 14651858 CD000980 pub4 PMC 1160577 PMID 23440782 Ye Y Li J Yuan Z 2013 Effect of antioxidant vitamin supplementation on cardiovascular outcomes a meta analysis of randomized controlled trials PLOS ONE 8 2 e56803 Bibcode 2013PLoSO 856803Y doi 10 1371 journal pone 0056803 PMC 3577664 PMID 23437244 Duerbeck NB Dowling DD Duerbeck JM March 2016 Vitamin C Promises Not Kept Obstetrical amp Gynecological Survey 71 3 187 93 doi 10 1097 OGX 0000000000000289 PMID 26987583 Ascorbic acid Use During Pregnancy Drugs com cakaehlngedimemux 2016 12 31 subkhnemux 2016 12 30 Squires Victor R 2011 The Role of Food Agriculture Forestry and Fisheries in Human Nutrition Volume IV EOLSS Publications p 121 ISBN 9781848261952 WHO Model List of Essential Medicines 19th List PDF World Health Organization April 2015 PDF cakaehlngedimemux 2016 12 13 subkhnemux 2016 12 08 British national formulary BNF 76 76 ed Pharmaceutical Press 2018 p 1049 ISBN 9780857113382 International Drug Price Indicator Guide Vitamin C Supplier Prices Management Sciences for Health Arlington VA 2016 cakaehlngedimemux 2017 03 23 subkhnemux 2017 03 22 The Nobel Prize in Physiology or Medicine 1937 Nobel Media AB cakaehlngedimemux 2014 11 05 subkhnemux 2014 11 20 Zetterstrom R May 2009 Nobel Prize 1937 to Albert von Szent Gyorgyi identification of vitamin C as the anti scorbutic factor Acta Paediatrica 98 5 915 9 doi 10 1111 j 1651 2227 2009 01239 x PMID 19239412 Meister A April 1994 Glutathione ascorbic acid antioxidant system in animals J Biol Chem 269 13 9397 9400 PMID 8144521 cakaehlngedimemux 2015 08 11 Michels A Frei B 2012 Vitamin C in Caudill MA Rogers M b k Biochemical Physiological and Molecular Aspects of Human Nutrition 3 ed Philadelphia Saunders pp 627 654 ISBN 978 1 4377 0959 9 Gropper SS Smith JL Grodd JL 2005 Advanced nutrition and human metabolism Belmont CA Thomson Wadsworth pp 260 275 ISBN 978 0 534 55986 1 Anjum Naser A Umar Shahid Chan Ming Tsair b k 2010 09 13 Ascorbate Glutathione Pathway and Stress Tolerance in Plants Springer p 324 ISBN 978 9 048 19403 2 cakaehlngedimemux 2017 11 05 subkhnemux 2017 08 03 medlineplus gov khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2016 07 28 subkhnemux 2016 07 23 Hodges RE Baker EM Hood J Sauberlich HE March SC May 1969 Experimental scurvy in man PDF The American Journal of Clinical Nutrition 22 5 535 48 doi 10 1093 ajcn 22 5 535 PMID 4977512 PDF cakaehlngedimemux 2018 08 31 Pemberton J June 2006 Medical experiments carried out in Sheffield on conscientious objectors to military service during the 1939 45 war International Journal of Epidemiology 35 3 556 8 doi 10 1093 ije dyl020 PMID 16510534 Bjelakovic G Nikolova D Gluud LL Simonetti RG Gluud C March 2012 Antioxidant supplements for prevention of mortality in healthy participants and patients with various diseases The Cochrane Database of Systematic Reviews 3 3 CD007176 doi 10 1002 14651858 CD007176 pub2 PMID 22419320 Lind J 1753 A Treatise of the Scurvy London A Millar In the 1757 edition of his work Lind discusses his experiment starting on page 149 2016 03 20 thi ewyaebkaemchchin Baron JH June 2009 PDF Nutrition Reviews 67 6 315 32 doi 10 1111 j 1753 4887 2009 00205 x PMID 19519673 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedim PDF emux 2017 12 01 subkhnemux 2019 09 12 Manwaring WH June 1945 Ascorbic Acid vs the Common Cold California and Western Medicine 62 6 309 10 PMC 1781017 PMID 18747053 Pauling Linus 1970 Vitamin C and the Common Cold 1 ed San Francisco W H Freeman ISBN 9780716701590 4914696M Pauling Linus 1976 Vitamin C the Common Cold and the Flu W H Freeman and Company Heimer KA Hart AM Martin LG Rubio Wallace S May 2009 Examining the evidence for the use of vitamin C in the prophylaxis and treatment of the common cold Journal of the American Academy of Nurse Practitioners 21 5 295 300 doi 10 1111 j 1745 7599 2009 00409 x PMID 19432914 Wintergerst ES Maggini S Hornig DH 2006 Immune enhancing role of vitamin C and zinc and effect on clinical conditions PDF Annals of Nutrition amp Metabolism 50 2 85 94 doi 10 1159 000090495 PMID 16373990 PDF cakaehlngedimemux 2018 07 22 EFSA Panel on Dietetic Products Nutrition and Allergies 2009 Scientific Opinion on the substantiation of health claims related to vitamin C and protection of DNA proteins and lipids from oxidative damage ID 129 138 143 148 antioxidant function of lutein ID 146 maintenance of vision ID 141 142 collagen formation ID 130 131 136 137 149 function of the nervous system ID 133 function of the immune system ID 134 function of the immune system during and after extreme physical exercise ID 144 non haem iron absorption ID 132 147 energy yielding metabolism ID 135 and relief in case of irritation in the upper respiratory tract ID 1714 1715 pursuant to Article 13 1 of Regulation EC No 1924 2006 EFSA Journal 7 9 1226 doi 10 2903 j efsa 2009 1226 EFSA Panel on Dietetic Products Nutrition and Allergies 2015 Vitamin C and contribution to the normal function of the immune system evaluation of a health claim pursuant to Article 14 of Regulation EC No 1924 2006 EFSA Journal 13 11 4298 doi 10 2903 j efsa 2015 4298 Cortes Jofre M Rueda JR Corsini Munoz G Fonseca Cortes C Caraballoso M X Bonfill Cosp October 2012 Drugs for preventing lung cancer in healthy people The Cochrane Database of Systematic Reviews 10 CD002141 doi 10 1002 14651858 CD002141 pub2 PMID 23076895 Stratton J Godwin M June 2011 The effect of supplemental vitamins and minerals on the development of prostate cancer a systematic review and meta analysis Family Practice 28 3 243 52 doi 10 1093 fampra cmq115 PMID 21273283 Xu X Yu E Liu L Zhang W Wei X Gao X Song N Fu C November 2013 Dietary intake of vitamins A C and E and the risk of colorectal adenoma a meta analysis of observational studies European Journal of Cancer Prevention 22 6 529 39 doi 10 1097 CEJ 0b013e328364f1eb PMID 24064545 Papaioannou D Cooper KL Carroll C Hind D Squires H Tappenden P Logan RF October 2011 Antioxidants in the chemoprevention of colorectal cancer and colorectal adenomas in the general population a systematic review and meta analysis Colorectal Disease 13 10 1085 99 doi 10 1111 j 1463 1318 2010 02289 x PMID 20412095 Fulan H Changxing J Baina WY Wencui Z Chunqing L Fan W Dandan L Dianjun S Tong W Da P Yashuang Z October 2011 Retinol vitamins A C and E and breast cancer risk a meta analysis and meta regression Cancer Causes amp Control 22 10 1383 96 doi 10 1007 s10552 011 9811 y PMID 21761132 Harris HR Orsini N Wolk A May 2014 Vitamin C and survival among women with breast cancer a meta analysis European Journal of Cancer 50 7 1223 31 doi 10 1016 j ejca 2014 02 013 PMID 24613622 Fritz H Flower G Weeks L Cooley K Callachan M McGowan J Skidmore B Kirchner L Seely D July 2014 Intravenous Vitamin C and Cancer A Systematic Review Integrative Cancer Therapies 13 4 280 300 doi 10 1177 1534735414534463 PMID 24867961 mikhxkhwamepntnwa Intravenous vitamin C is a contentious adjunctive cancer therapy widely used in naturopathic and integrative oncology settings Du J Cullen JJ Buettner GR December 2012 Ascorbic acid chemistry biology and the treatment of cancer Biochimica et Biophysica Acta 1826 2 443 57 doi 10 1016 j bbcan 2012 06 003 PMC 3608474 PMID 22728050 Parrow NL Leshin JA Levine M December 2013 Parenteral ascorbate as a cancer therapeutic a reassessment based on pharmacokinetics Antioxidants amp Redox Signaling 19 17 2141 56 doi 10 1089 ars 2013 5372 PMC 3869468 PMID 23621620 Inhibition of cellular antioxidants a possible mechanism of toxic cell injury 1984 PMID 6094175 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a Cite journal txngkar journal help Wilson MK Baguley BC Wall C Jameson MB Findlay MP March 2014 Review of high dose intravenous vitamin C as an anticancer agent Asia Pacific Journal of Clinical Oncology 10 1 22 37 doi 10 1111 ajco 12173 PMID 24571058 mikhxkhwamepntnwa Currently the use of high dose intravenous vitamin C as an anticancer agent cannot be recommended outside of a clinical trial Jacobs C Hutton B Ng T Shorr R Clemons M February 2015 Is there a role for oral or intravenous ascorbate vitamin C in treating patients with cancer A systematic review The Oncologist 20 2 210 23 doi 10 1634 theoncologist 2014 0381 PMC 4319640 PMID 25601965 mikhxkhwamepntnwa There is no high quality evidence to suggest that ascorbate supplementation in cancer patients either enhances the antitumor effects of chemotherapy or reduces its toxicity Evidence for ascorbate s anti tumor effects was limited to case reports and observational and uncontrolled studies Chen GC Lu DB Pang Z Liu QF November 2013 Vitamin C intake circulating vitamin C and risk of stroke a meta analysis of prospective studies Journal of the American Heart Association 2 6 e000329 doi 10 1161 JAHA 113 000329 PMC 3886767 PMID 24284213 Ashor AW Lara J Mathers JC Siervo M July 2014 Effect of vitamin C on endothelial function in health and disease a systematic review and meta analysis of randomised controlled trials Atherosclerosis 235 1 9 20 doi 10 1016 j atherosclerosis 2014 04 004 PMID 24792921 Travica N Ried K Sali A Scholey A Hudson I Pipingas A 2017 08 30 Vitamin C status and cognitive function A systematic review Nutrients 9 9 E960 doi 10 3390 nu9090960 PMC 5622720 PMID 28867798 da Silva Lopes S Vellas B Elemans S Luchsinger J Kamphuis P Yaffe K Sijben J Groenendijk M Stijnen T 2014 Plasma nutrient status of patients with Alzheimer s disease Systematic review and meta analysis Alzheimer s and Dementia 10 4 485 502 doi 10 1016 j jalz 2013 05 1771 PMID 24144963 Crichton GE Bryan J Murphy KJ September 2013 Dietary antioxidants cognitive function and dementia a systematic review Plant Foods for Human Nutrition 68 3 279 92 doi 10 1007 s11130 013 0370 0 PMID 23881465 Li FJ Shen L Ji HF 2012 Dietary intakes of vitamin E vitamin C and b carotene and risk of Alzheimer s disease a meta analysis Journal of Alzheimer s Disease 31 2 253 8 doi 10 3233 JAD 2012 120349 PMID 22543848 Harrison FE 2012 A critical review of vitamin C for the prevention of age related cognitive decline and Alzheimer s disease Journal of Alzheimer s Disease 29 4 711 26 doi 10 3233 JAD 2012 111853 PMC 3727637 PMID 22366772 Rosenbaum CC O Mathuna DP Chavez M Shields K 2010 Antioxidants and antiinflammatory dietary supplements for osteoarthritis and rheumatoid arthritis Alternative Therapies in Health and Medicine 16 2 32 40 PMID 20232616 Mathew MC Ervin AM Tao J Davis RM June 2012 Antioxidant vitamin supplementation for preventing and slowing the progression of age related cataract The Cochrane Database of Systematic Reviews 6 6 CD004567 doi 10 1002 14651858 CD004567 pub2 PMC 4410744 PMID 22696344 Safety MSDS data for ascorbic acid Oxford University 2005 10 09 ekbcakaehlngedimemux 2007 02 09 subkhnemux 2007 02 21 Goodwin JS Tangum MR November 1998 Battling quackery attitudes about micronutrient supplements in American academic medicine Archives of Internal Medicine 158 20 2187 91 doi 10 1001 archinte 158 20 2187 PMID 9818798 Naidu KA August 2003 Vitamin C in human health and disease is still a mystery An overview PDF Nutrition Journal 2 7 7 doi 10 1186 1475 2891 2 7 PMC 201008 PMID 14498993 PDF cakaehlngedimemux 2012 09 18 Thomas LD Elinder CG Tiselius HG Wolk A Akesson A March 2013 Ascorbic acid supplements and kidney stone incidence among men a prospective study JAMA Internal Medicine 173 5 386 8 doi 10 1001 jamainternmed 2013 2296 PMID 23381591 PDF National Institute of Nutrition India 2011 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedim PDF emux 2018 12 22 subkhnemux 2019 09 12 World Health Organization 2004 Chapter 7 Vitamin C PDF Vitamin and Mineral Requirements in Human Nutrition Second Edition PDF Geneva World Health Organization ISBN 978 92 4 154612 6 PDF cakaehlngedimemux 2007 11 29 subkhnemux 2007 02 20 sankxahar sankngankhnakrrmkarxaharaelaya 2019 p 185 Commission Directive 2008 100 EC of 28 October 2008 amending Council Directive 90 496 EEC on nutrition labelling for foodstuffs as regards recommended daily allowances energy conversion factors and definitions The Commission of the European Communities 2008 10 29 cakaehlngedimemux 2016 10 02 Natural Health Product Monograph Health Canada khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2013 04 03 Dietary Reference Intakes for Japanese 2010 Water Soluble Vitamins PDF Journal of Nutritional Science and Vitaminology 2013 59 S67 S82 cakaehlngedimemux 2019 09 14 Overview on Dietary Reference Values for the EU population as derived by the EFSA Panel on Dietetic Products Nutrition and Allergies PDF 2017 PDF cakaehlngedimemux 2017 08 28 Tolerable Upper Intake Levels For Vitamins And Minerals PDF European Food Safety Authority 2006 PDF cakaehlngedimemux 2016 03 16 Luo J Shen L Zheng D 2014 Association between vitamin C intake and lung cancer a dose response meta analysis Scientific Reports 4 6161 Bibcode 2014NatSR 4E6161L doi 10 1038 srep06161 PMC 5381428 PMID 25145261 TABLE 1 Nutrient Intakes from Food and Beverages 2017 02 24 thi ewyaebkaemchchin What We Eat In America NHANES 2012 2014 TABLE 37 Nutrient Intakes from Dietary Supplements 2017 10 06 thi ewyaebkaemchchin What We Eat In America NHANES 2012 2014 sankxahar sankngankhnakrrmkarxaharaelaya 2019 pp 2763 2764 Duarte A Caixeirinho D Miguel G Sustelo V Nunes C Mendes M Marreiros A 2010 Vitamin C Content of Citrus from Conventional versus Organic Farming Systems Acta Horticulturae 868 868 389 394 doi 10 17660 ActaHortic 2010 868 52 10400 1 1158 Danish Veterinary and Food Administration khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2011 10 14 subkhnemux 2014 11 20 NDL FNIC Food Composition Database Home Page USDA Nutrient Data Laboratory the Food and Nutrition Information Center and Information Systems Division of the National Agricultural Library cakaehlngedimemux 2014 11 15 subkhnemux 2014 11 20 Natural food Fruit Vitamin C Content The Natural Food Hub cakaehlngedimemux 2007 03 07 subkhnemux 2007 03 07 USDA Food Composition Databases 2017 12 22 thi ewyaebkaemchchin United States Department of Agriculture Agricultural Research Service Release 28 2015 Brand JC Rae C McDonnell J Lee A Cherikoff V Truswell AS 1987 The nutritional composition of Australian aboriginal bushfoods I Food Technology in Australia 35 6 293 296 Justi KC Visentainer JV de Souza N Evelazio Matsushita M December 2000 Nutritional composition and vitamin C stability in stored camu camu Myrciaria dubia pulp Archivos Latinoamericanos de Nutricion 50 4 405 8 PMID 11464674 Vendramini AL Trugo LC 2000 Chemical composition of acerola fruit Malpighia punicifolia L at three stages of maturity Food Chemistry 71 2 195 198 doi 10 1016 S0308 8146 00 00152 7 Chatterjee IB December 1973 Evolution and the biosynthesis of ascorbic acid Science 182 4118 1271 2 Bibcode 1973Sci 182 1271C doi 10 1126 science 182 4118 1271 PMID 4752221 USDA Food Composition Databases 2017 12 22 thi ewyaebkaemchchin United States Department of Agriculture Agricultural Research Service Release 28 2015 Clark S 2007 01 08 Washington State University khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2007 01 29 subkhnemux 2007 02 28 Roig MG Rivera ZS Kennedy JF May 1995 A model study on rate of degradation of L ascorbic acid during processing using home produced juice concentrates International Journal of Food Sciences and Nutrition 46 2 107 15 doi 10 3109 09637489509012538 PMID 7621082 Allen MA Burgess SG 1950 The losses of ascorbic acid during the large scale cooking of green vegetables by different methods The British Journal of Nutrition 4 2 3 95 100 doi 10 1079 BJN19500024 PMID 14801407 Combs GF 2001 The Vitamins Fundamental Aspects in Nutrition and Health 2nd ed San Diego CA Academic Press pp 245 272 ISBN 978 0 12 183492 0 Miranda H 2006 06 02 Fresh Cut Fruit May Keep Its Vitamins WebMD cakaehlngedimemux 2006 07 26 subkhnemux 2007 02 25 Davis JL Paris HL Beals JW Binns SE Giordano GR Scalzo RL Schweder MM Blair E Bell C 2016 Liposomal encapsulated Ascorbic Acid Influence on Vitamin C Bioavailability and Capacity to Protect Against Ischemia Reperfusion Injury Nutrition and Metabolic Insights 9 25 30 doi 10 4137 NMI S39764 PMC 4915787 PMID 27375360 Canadian Food Inspection Agency Government of Canada khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2018 12 18 subkhnemux 2017 11 20 UK Food Standards Agency Current EU approved additives and their E Numbers subkhnemux 2011 10 27 U S Food and Drug Administration khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2012 01 17 subkhnemux 2011 10 27 Australia New Zealand Food Standards Code Standard 1 2 4 Labelling of ingredients subkhnemux 2011 10 27 U S Food and Drug Administration Listing of Food Additives Status Part II subkhnemux 2011 10 27 sankxahar sankngankhnakrrmkarxaharaelaya 2019 p 2796 Karlic Heidrun Lohninger Alfred 2004 Supplementation of l carnitine in athletes does it make sense Nutrition 20 7 8 709 715 doi 10 1016 j nut 2004 04 003 ISSN 0899 9007 Carnitine metabolism and functions 1983 PMID 6361812 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a Cite journal txngkar journal help Role of carnitine in disease 2010 doi 10 1186 1743 7075 7 30 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a Cite journal txngkar journal help Prockop DJ Kivirikko KI 1995 Collagens molecular biology diseases and potentials for therapy Annual Review of Biochemistry 64 403 434 doi 10 1146 annurev bi 64 070195 002155 PMID 7574488 Peterkofsky B December 1991 Ascorbate requirement for hydroxylation and secretion of procollagen relationship to inhibition of collagen synthesis in scurvy The American Journal of Clinical Nutrition 54 6 Suppl 1135S 1140S doi 10 1093 ajcn 54 6 1135s PMID 1720597 Kivirikko KI Myllyla R 1985 Post translational processing of procollagens Annals of the New York Academy of Sciences 460 1 187 201 Bibcode 1985NYASA 460 187K doi 10 1111 j 1749 6632 1985 tb51167 x PMID 3008623 Ang A Pullar JM Currie MJ Vissers M 2018 Vitamin C and immune cell function in inflammation and cancer Biochemical Society Transactions 46 5 1147 1159 doi 10 1042 BST20180169 PMC 6195639 PMID 30301842 Metzen E 2007 Enzyme substrate recognition in oxygen sensing how the HIF trap snaps The Biochemical Journal 408 2 e5 6 doi 10 1042 BJ20071306 PMC 2267343 PMID 17990984 The HIFalpha hydroxylases belong to a superfamily of dioxygenases that require the co substrates oxygen and 2 oxoglutarate as well as the cofactors Fe2 and ascorbate The regulation of enzyme turnover by the concentration of the cosubstrate oxygen constitutes the interface between tissue oxygen level and the activity of HIF The HIFalpha prolyl hydroxylases termed PHDs EGLNs prolyl hydroxylase domain proteins EGL nine homologues bind to a conserved Leu Xaa Xaa Leu Ala Pro motif present in all substrates identified so far Levine M Dhariwal KR Washko P Welch R Wang YH Cantilena CC Yu R 1992 Ascorbic acid and reaction kinetics in situ a new approach to vitamin requirements Journal of Nutritional Science and Vitaminology Spec No 169 172 doi 10 3177 jnsv 38 Special 169 PMID 1297733 Kaufman S 1974 Dopamine beta hydroxylase Journal of Psychiatric Research 11 303 316 doi 10 1016 0022 3956 74 90112 5 PMID 4461800 Eipper BA Milgram SL Husten EJ Yun HY Mains RE 1993 Peptidylglycine alpha amidating monooxygenase a multifunctional protein with catalytic processing and routing domains Protein Science 2 4 489 497 doi 10 1002 pro 5560020401 PMC 2142366 PMID 8518727 Eipper BA Stoffers DA Mains RE 1992 The biosynthesis of neuropeptides peptide alpha amidation Annual Review of Neuroscience 15 57 85 doi 10 1146 annurev ne 15 030192 000421 PMID 1575450 Wilson JX 2005 Regulation of vitamin C transport Annual Review of Nutrition 25 105 125 doi 10 1146 annurev nutr 25 050304 092647 PMID 16011461 Savini I Rossi A Pierro C Avigliano L Catani MV April 2008 SVCT1 and SVCT2 key proteins for vitamin C uptake Amino Acids 34 3 347 355 doi 10 1007 s00726 007 0555 7 PMID 17541511 Rumsey SC Kwon O Xu GW Burant CF Simpson I Levine M July 1997 Glucose transporter isoforms GLUT1 and GLUT3 transport dehydroascorbic acid The Journal of Biological Chemistry 272 30 18982 18989 doi 10 1074 jbc 272 30 18982 PMID 9228080 May JM Qu ZC Neel DR Li X May 2003 Recycling of vitamin C from its oxidized forms by human endothelial cells Biochimica et Biophysica Acta 1640 2 3 153 161 doi 10 1016 S0167 4889 03 00043 0 PMID 12729925 May JM Qu ZC Qiao H Koury MJ August 2007 Maturational loss of the vitamin C transporter in erythrocytes Biochemical and Biophysical Research Communications 360 1 295 298 doi 10 1016 j bbrc 2007 06 072 PMC 1964531 PMID 17586466 Padayatty SJ Levine M September 2016 Vitamin C the known and the unknown and Goldilocks Oral Diseases 22 6 463 493 doi 10 1111 odi 12446 PMC 4959991 PMID 26808119 Oreopoulos DG Lindeman RD VanderJagt DJ Tzamaloukas AH Bhagavan HN Garry PJ October 1993 Renal excretion of ascorbic acid effect of age and sex Journal of the American College of Nutrition 12 5 537 542 doi 10 1080 07315724 1993 10718349 PMID 8263270 Linster CL Van Schaftingen E January 2007 Vitamin C Biosynthesis recycling and degradation in mammals The FEBS Journal 274 1 1 22 doi 10 1111 j 1742 4658 2006 05607 x PMID 17222174 IUPAC 1997 Compendium of Chemical Terminology the Gold Book 2nd ed Testing Foods for Vitamin C Ascorbic Acid PDF British Nutrition Foundation 2004 PDF cakaehlngedimemux 2015 11 23 Measuring the Vitamin C content of foods and fruit juices Nuffield Foundation 2011 11 24 cakaehlngedimemux 2015 07 21 Emadi Konjin P Verjee Z Levin AV Adeli K May 2005 Measurement of intracellular vitamin C levels in human lymphocytes by reverse phase high performance liquid chromatography HPLC Clinical Biochemistry 38 5 450 6 doi 10 1016 j clinbiochem 2005 01 018 PMID 15820776 Yamada H Yamada K Waki M Umegaki K October 2004 Lymphocyte and plasma vitamin C levels in type 2 diabetic patients with and without diabetes complications Diabetes Care 27 10 2491 2 doi 10 2337 diacare 27 10 2491 PMID 15451922 Branduardi P Fossati T Sauer M Pagani R Mattanovich D Porro D October 2007 Biosynthesis of vitamin C by yeast leads to increased stress resistance PLOS ONE 2 10 e1092 Bibcode 2007PLoSO 2 1092B doi 10 1371 journal pone 0001092 PMC 2034532 PMID 17971855 Wheeler GL Jones MA Smirnoff N May 1998 The biosynthetic pathway of vitamin C in higher plants Nature 393 6683 365 9 Bibcode 1998Natur 393 365W doi 10 1038 30728 PMID 9620799 Stone Irwin 1972 The Natural History of Ascorbic Acid in the Evolution of Mammals and Primates cakaehlngedimemux 2018 01 17 Banhegyi G Mandl J 2001 The hepatic glycogenoreticular system Pathology Oncology Research 7 2 107 10 10 1 1 602 5659 doi 10 1007 BF03032575 PMID 11458272 Valpuesta V Botella M A 2004 Biosynthesis of L Ascorbic Acid in Plants New Pathways for an Old Antioxidant PDF Trends in Plant Science 9 12 573 577 doi 10 1016 j tplants 2004 10 002 PMID 15564123 Nishikimi M Yagi K December 1991 Molecular basis for the deficiency in humans of gulonolactone oxidase a key enzyme for ascorbic acid biosynthesis The American Journal of Clinical Nutrition 54 6 Suppl 1203S 1208S doi 10 1093 ajcn 54 6 1203s PMID 1962571 Nishikimi M Kawai T Yagi K October 1992 Guinea pigs possess a highly mutated gene for L gulono gamma lactone oxidase the key enzyme for L ascorbic acid biosynthesis missing in this species The Journal of Biological Chemistry 267 30 21967 72 PMID 1400507 Ohta Y Nishikimi M October 1999 Random nucleotide substitutions in primate nonfunctional gene for L gulono gamma lactone oxidase the missing enzyme in L ascorbic acid biosynthesis Biochimica et Biophysica Acta 1472 1 2 408 11 doi 10 1016 S0304 4165 99 00123 3 PMID 10572964 Definition primary alcohol from Online Medical Dictionary ekbcakaehlngedimemux 2007 08 13 subkhnemux 2007 11 22 Haplorrhini Integrated Taxonomic Information System cakaehlngedimemux 2019 08 28 subkhnemux 2017 01 02 Stone I 1972 Orthomolecular Psychiatry 1 82 89 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2017 01 30 Dewick P M 2009 Medicinal Natural Products A Biosynthetic Approach 3rd ed John Wiley and Sons p 493 ISBN 978 0470741672 Miller R Eric Fowler Murray E 2014 07 31 Fowler s Zoo and Wild Animal Medicine Volume 8 p 389 ISBN 9781455773992 cakaehlngedimemux 2016 12 07 subkhnemux 2016 06 02 del Rio Martinez C July 1997 Can passerines synthesize vitamin C The Auk 114 3 513 516 doi 10 2307 4089257 JSTOR 4089257 Drouin G Godin JR Page B August 2011 The genetics of vitamin C loss in vertebrates Current Genomics 12 5 371 8 doi 10 2174 138920211796429736 PMC 3145266 PMID 22294879 Jenness R Birney E Ayaz K 1980 Variation of l gulonolactone oxidase activity in placental mammals Comparative Biochemistry and Physiology B 67 2 195 204 doi 10 1016 0305 0491 80 90131 5 Cui J Pan YH Zhang Y Jones G Zhang S February 2011 Progressive pseudogenization vitamin C synthesis and its loss in bats Molecular Biology and Evolution 28 2 1025 31 doi 10 1093 molbev msq286 PMID 21037206 Cui J Yuan X Wang L Jones G Zhang S Nov 2011 Recent loss of vitamin C biosynthesis ability in bats PLOS ONE 6 11 e27114 Bibcode 2011PLoSO 627114C doi 10 1371 journal pone 0027114 PMC 3206078 PMID 22069493 Montel Hagen A Kinet S Manel N Mongellaz C Prohaska R Battini JL Delaunay J Sitbon M Taylor N March 2008 Erythrocyte Glut1 triggers dehydroascorbic acid uptake in mammals unable to synthesize vitamin C Cell 132 6 1039 48 doi 10 1016 j cell 2008 01 042 PMID 18358815 Milton K June 1999 Nutritional characteristics of wild primate foods do the diets of our closest living relatives have lessons for us PDF Nutrition 15 6 488 98 10 1 1 564 1533 doi 10 1016 S0899 9007 99 00078 7 PMID 10378206 PDF cakaehlngedimemux 2017 08 10 Leferink N G van den Berg W A van Berkel W J 2008 L Galactono g lactone Dehydrogenase from Arabidopsis thaliana a Flavoprotein Involved in Vitamin C Biosynthesis FEBS Journal 275 4 713 726 doi 10 1111 j 1742 4658 2007 06233 x PMID 18190525 Mieda T Yabuta Y Rapolu M Motoki T Takeda T Yoshimura K Ishikawa T Shigeoka S 2004 Feedback Inhibition of Spinach L Galactose Dehydrogenase by L Ascorbate PDF Plant and Cell Physiology 45 9 1271 1279 doi 10 1093 pcp pch152 PMID 15509850 Grillet L Ouerdane L Flis P Hoang MT Isaure MP Lobinski R aelakhna January 2014 Ascorbate efflux as a new strategy for iron reduction and transport in plants PDF The Journal of Biological Chemistry 289 5 2515 25 doi 10 1074 jbc M113 514828 PMC 3908387 PMID 24347170 PDF cakaehlngedimemux 2019 09 16 Gallie DR 2013 L ascorbic Acid a multifunctional molecule supporting plant growth and development Scientifica 2013 1 24 doi 10 1155 2013 795964 PMC 3820358 PMID 24278786 Mellidou I Kanellis AK 2017 Genetic Control of Ascorbic Acid Biosynthesis and Recycling in Horticultural Crops Frontiers in Chemistry 5 50 Bibcode 2017FrCh 5 50M doi 10 3389 fchem 2017 00050 PMC 5504230 PMID 28744455 Bulley S Laing W October 2016 The regulation of ascorbate biosynthesis Current Opinion in Plant Biology 33 15 22 doi 10 1016 j pbi 2016 04 010 PMID 27179323 Superoxide Ion Generation and Chemical Implications 2016 doi 10 1021 acs chemrev 5b00407 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a Cite journal txngkar journal help Lachapelle MY Drouin G February 2011 Inactivation dates of the human and guinea pig vitamin C genes Genetica 139 2 199 207 doi 10 1007 s10709 010 9537 x PMID 21140195 Drouin G Godin JR Page B August 2011 The genetics of vitamin C loss in vertebrates Current Genomics 12 5 371 8 doi 10 2174 138920211796429736 PMC 3145266 PMID 22294879 Yang H June 2013 Conserved or lost molecular evolution of the key gene GULO in vertebrate vitamin C biosynthesis Biochemical Genetics 51 5 6 413 25 doi 10 1007 s10528 013 9574 0 PMID 23404229 Zhang ZD Frankish A Hunt T Harrow J Gerstein M 2010 Identification and analysis of unitary pseudogenes historic and contemporary gene losses in humans and other primates Genome Biology 11 3 R26 doi 10 1186 gb 2010 11 3 r26 PMC 2864566 PMID 20210993 Koshizaka T Nishikimi M Ozawa T Yagi K February 1988 Isolation and sequence analysis of a complementary DNA encoding rat liver L gulono gamma lactone oxidase a key enzyme for L ascorbic acid biosynthesis The Journal of Biological Chemistry 263 4 1619 21 PMID 3338984 Pollock JI Mullin RJ 1987 Vitamin C biosynthesis in prosimians evidence for the anthropoid affinity of Tarsius American Journal of Physical Anthropology 73 1 65 70 doi 10 1002 ajpa 1330730106 PMID 3113259 Poux C Douzery EJ 2004 Primate phylogeny evolutionary rate variations and divergence times a contribution from the nuclear gene IRBP American Journal of Physical Anthropology 124 1 01 16 doi 10 1002 ajpa 10322 PMID 15085543 Goodman M Porter CA Czelusniak J Page SL Schneider H Shoshani J Gunnell G Groves CP 1998 Toward a phylogenetic classification of Primates based on DNA evidence complemented by fossil evidence Molecular Phylogenetics and Evolution 9 3 585 598 doi 10 1006 mpev 1998 0495 PMID 9668008 Porter CA Page SL Czelusniak J Schneider H Schneider MP Sampaio I Goodman M 1997 Phylogeny and Evolution of Selected Primates as Determined by Sequences of the e Globin Locus and 5 Flanking Regions International Journal of Primatology 18 2 261 295 doi 10 1023 A 1026328804319 2027 42 44561 Pollock JI amp Mullin RJ 1986 Vitamin C biosynthesis in prosimians Evidence for the anthropoid affinity of Tarsius Amer J Physical Anthropology 73 1 65 70 doi 10 1002 ajpa 1330730106 PMID 3113259 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2012 06 28 Proctor P 1970 Similar functions of uric acid and ascorbate in man Nature 228 5274 868 Bibcode 1970Natur 228 868P doi 10 1038 228868a0 PMID 5477017 The production of vitamin C PDF Competition Commission 2001 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedim PDF emux 2012 01 19 subkhnemux 2007 02 20 Gelski Jeff