สงครามโลกครั้งที่สอง (อังกฤษ: World War II หรือ Second World War; มักย่อเป็น WWII หรือ WW2) เป็นสงครามทั่วโลกกินเวลาตั้งแต่ปี 1939 ถึง 1945 ประเทศส่วนใหญ่ในโลกมีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งรัฐมหาอำนาจทั้งหมด แบ่งเป็นพันธมิตรทางทหารคู่สงครามสองฝ่าย คือ ฝ่ายสัมพันธมิตรและฝ่ายอักษะ เป็นสงครามที่กว้างขวางที่สุดในประวัติศาสตร์ มีทหารกว่า 100 ล้านนายจากกว่า 30 ประเทศเข้าร่วมโดยตรง สงครามนี้มีลักษณะเป็น "สงครามเบ็ดเสร็จ" คือ ประเทศผู้ร่วมสงครามหลักทุ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ทั้งหมดเพื่อความพยายามของสงคราม โดยลบเส้นแบ่งระหว่างทรัพยากรของพลเรือนและทหาร ประเมินกันว่าสงครามมีมูลค่าราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเมินกันว่ามีผู้เสียชีวิตระหว่าง 50 ถึง 85 ล้านคน ด้วยประการทั้งปวง สงครามโลกครั้งที่สองจึงนับว่าเป็นสงครามขนาดใหญ่ที่สุด ใช้เงินทุนมากที่สุด และมีผู้เสียชีวิตสูงสุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
สงครามโลกครั้งที่สอง | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
ฝ่ายสัมพันธมิตร | ฝ่ายอักษะ | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
ความสูญเสีย | |||||||
|
|
จักรวรรดิญี่ปุ่นซึ่งมีเป้าหมายครอบงำทวีปเอเชียและแปซิฟิกและทำสงครามกับจีนมาตั้งแต่ปี 1937 แล้ว แต่โดยทั่วไปถือว่าสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มตั้งแต่การบุกครองโปแลนด์ของเยอรมนีในวันที่ 1 กันยายน 1939 นำไปสู่การประกาศสงครามต่อเยอรมนีของประเทศฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร ตั้งแต่ปลายปี 1939 ถึงต้นปี 1941 ในการทัพและสนธิสัญญาต่าง ๆ ประเทศเยอรมนีพิชิตหรือควบคุมยุโรปภาคพื้นทวีปได้ส่วนใหญ่ และตั้งกับอิตาลีและญี่ปุ่น ภายใต้สนธิสัญญาโมโลตอฟ–ริบเบนทรอพเมื่อเดือนสิงหาคม 1939 เยอรมนีและสหภาพโซเวียตแบ่งแลผนวกดินแดนประเทศเพื่อนบ้านยุโรปของตน ได้แก่ โปแลนด์ ฟินแลนด์ โรมาเนียและรัฐบอลติก สงครามดำเนินต่อส่วนใหญ่ระหว่างชาติฝ่ายอักษะยุโรปและแนวร่วมสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพบริติช โดยมีการทัพอย่างการทัพแอฟริกาเหนือและแอฟริกาตะวันออก ยุทธการที่บริเตนซึ่งเป็นการสู้รบทางอากาศ การทัพทิ้งระเบิดเดอะบลิตซ์ การทัพบอลข่าน ตลอดจนยุทธการที่แอตแลนติกที่ยืดเยื้อ ในเดือนมิถุนายน 1941 ชาติอักษะยุโรปบุกครองสหภาพโซเวียต เปิดฉากเขตสงครามภาคพื้นดินที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งทำให้กำลังทหารสำคัญของฝ่ายอักษะตกอยู่ในสงครามบั่นทอนกำลัง ในเดือนธันวาคม 1941 ญี่ปุ่นโจมตีสหรัฐและอาณานิคมยุโรปในมหาสมุทรแปซิฟิก และพิชิตมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกส่วนมากได้อย่างรวดเร็ว
การรุกของฝ่ายอักษะยุติลงในปี 1942 หลังญี่ปุ่นปราชัยในยุทธนาวีที่มิดเวย์ใกล้กับฮาวายที่สำคัญ และเยอรมนีปราชัยในแอฟริกาเหนือและจากนั้นที่สตาลินกราดในสหภาพโซเวียต ในปี 1943 จากความปราชัยของเยอรมนีติด ๆ กันที่เคิสก์ในยุโรปตะวันออก การบุกครองอิตาลีของฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งนำให้อิตาลียอมจำนน จนถึงชัยของฝ่ายสัมพันธมิตรในมหาสมุทรแปซิฟิก ฝ่ายอักษะเสียการริเริ่มและต้องล่าถอยทางยุทธศาสตร์ในทุกแนวรบ ในปี 1944 ฝ่ายสัมพันธมิตรบุกครองฝรั่งเศสในการยึดครองของเยอรมนี ขณะเดียวกันกับที่สหภาพโซเวียตยึดดินแดนที่เสียไปทั้งหมดคืนและบุกครองเยอรมนีและพันธมิตร ระหว่างปี 1944 และ 1945 ญี่ปุ่นปราชัยสำคัญในทวีปเอเชียในภาคกลางและภาคใต้ของจีนและพม่า ขณะที่ฝ่ายสัมพันธมิตรก่อความเสียหายต่อกองทัพเรือญี่ปุ่นและยึดหมู่เกาะแปซิฟิกตะวันตกที่สำคัญ
สงครามในยุโรปยุติลงหลังกองทัพแดงยึดกรุงเบอร์ลินได้ และการยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขของเยอรมนีเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 1945 แม้จะถูกโดดเดี่ยวและตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบอย่างยิ่ง ญี่ปุ่นยังปฏิเสธที่จะยอมจำนน กระทั่งมีการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์สองลูกถล่มญี่ปุ่น และการบุกครองแมนจูเรีย จึงได้นำไปสู่การยอมจำนนอย่างเป็นทางการของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 1945
สงครามยุติลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร ผลของสงครามได้เปลี่ยนแปลงการวางแนวทางการเมืองและโครงสร้างสังคมของโลก สหประชาชาติถูกสถาปนาขึ้น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและเพื่อป้องกันความขัดแย้งในอนาคต สหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตก้าวเป็นอภิมหาอำนาจของโลกอันเป็นคู่ปรปักษ์กัน นำไปสู่ความขัดแย้งบนเวทีแห่งสงครามเย็น ซึ่งได้ดำเนินต่อมาอีก 46 ปีหลังสงคราม ขณะเดียวกัน การยอมรับหลักการการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง เร่งให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา พร้อม ๆ กับที่หลายประเทศได้มุ่งหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งอุตสาหกรรมได้รับความเสียหายระหว่างสงคราม และบูรณาการทางการเมืองได้เกิดขึ้นทั่วโลกในความพยายามที่จะรักษาเสถียรภาพความสัมพันธ์หลังสงคราม
ภูมิหลัง
สงครามโลกครั้งที่หนึ่งนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงดินแดนอย่างใหญ่หลวงในยุโรป ด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายมหาอำนาจกลาง รวมทั้งการล่มสลายของรัฐจักรวรรดิที่สำคัญ ได้แก่ จักรวรรดิเยอรมัน จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และจักรวรรดิออตโตมัน ตลอดจนจักรวรรดิรัสเซีย ขณะเดียวกัน ความสำเร็จของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วยสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา อิตาลี เซอร์เบียและโรมาเนีย รวมไปถึงการก่อตั้งรัฐใหม่หลังจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี รัสเซียและออตโตมันล่มสลาย หลังสงคราม ชาตินิยมอุดมการณ์เรียกร้องดินแดน (irredentism) และลัทธิแก้แค้น (revanchism) กลายมามีความสำคัญในหลายประเทศยุโรป อุดมการณ์เรียกร้องดินแดนและลัทธิแก้แค้นแรงกล้ามากในเยอรมนี เพราะเยอรมนีบังคับตามสนธิสัญญาแวร์ซาย เป็นผลให้เยอรมนีเสียดินแดนของประเทศไปร้อยละ 13 รวมทั้งอาณานิคมโพ้นทะเลทั้งหมด การรวมเยอรมนีเข้ากับประเทศอื่นถูกห้าม ซ้ำต้องแบกภาระชำระค่าปฏิกรรมสงครามมหาศาล และถูกจำกัดขนาดและขีดความสามารถของกองทัพอย่างมาก ขณะเดียวกัน สงครามกลางเมืองรัสเซียได้นำไปสู่การก่อตั้งสหภาพโซเวียต นำโดยพรรคบอลเชวิค ภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์
จักรวรรดิเยอรมันสิ้นสภาพไปจากการปฏิวัติเยอรมัน ค.ศ. 1918-1919 และรัฐบาลประชาธิปไตยถูกตั้งขึ้น ซึ่งภายหลังรู้จักกันว่า สาธารณรัฐไวมาร์ ในเยอรมนีระหว่างสงครามโลกได้เกิดความขัดแย้งภายในขึ้นระหว่างผู้สนับสนุนสาธารณรัฐใหม่และผู้คัดค้านที่ยึดมั่นทางฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย พรรคนาซี นำโดยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เจริญรอยตามการจัดตั้งรัฐบาลฟาสซิสต์ตามอย่างอิตาลีในเยอรมนี ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ทำให้การสนับสนุนพรรคนาซีภายในประเทศเพิ่มขึ้น และใน ค.ศ. 1933 ฮิตเลอร์ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี หลังเหตุเพลิงไหม้ไรชส์ทาค ฮิตเลอร์สถาปนารัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จพรรคการเมืองเดียวนำโดยพรรคนาซี
สถานการณ์คล้ายกันนี้ยังได้เกิดขึ้นในอิตาลี แม้ว่าอิตาลีจะเป็นพันธมิตรฝ่ายไตรภาคีและได้รับดินแดนอยู่บ้าง แต่พวกชาตินิยมอิตาลีรู้สึกโกรธแค้นที่คำมั่นสัญญาของอังกฤษและฝรั่งเศสให้ไว้เพื่อให้อิตาลีเข้าสู่สงครามในสนธิสัญญาลอนดอน ไม่เป็นไปตามการตกลงสันติภาพ นับจาก ค.ศ. 1922 ถึง 1925 ขบวนการฟาสซิสต์ นำโดยเบนิโต มุสโสลินี ยึดอำนาจในอิตาลีด้วยวาระชาตินิยม เผด็จการเบ็ดเสร็จและความร่วมมือระหว่างชนชั้น ซึ่งยกเลิกระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน สังคมนิยมใช้อำนาจบังคับ กำลังฝ่ายซ้ายและเสรีนิยม และดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบก้าวร้าวโดยมีเป้าหมายเพื่อสถาปนาอิตาลีเป็นมหาอำนาจของโลกโดยใช้กำลัง คือ "จักรวรรดิโรมันใหม่"
ส่วนทางด้านประเทศจีน รัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งได้เริ่มการทัพรวมชาติขึ้นต่อต้านเหล่าขุนศึกอิสระ จนนำไปสู่การรวมชาติในนามราวกลางคริสต์ทศวรรษ 1920 แต่หลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลจีนกลับต้องเข้าไปพัวพันในสงครามกลางเมืองกับพันธมิตรเก่า พรรคคอมมิวนิสต์จีน ใน ค.ศ. 1931 จักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งมีความต้องการจะมีอิทธิพลเหนือประเทศจีนมาเป็นเวลานานแล้ว กำลังเพิ่มกำลังทหารในจีนอย่างขนานใหญ่ เพื่อเป็นแผนการขั้นแรกในการเข้าปกครองทั้งทวีปเอเชีย โดยใช้กรณีมุกเดนเป็นข้ออ้างในการบุกครองแมนจูเรีย และจัดตั้งรัฐหุ่นเชิด แมนจูกัว จีนได้ขอความช่วยเหลือจากสันนิบาตชาติ ญี่ปุ่นจึงลาออกจากองค์การหลังมีการประณามการบุกครองดังกล่าว หลังจากนั้น ทั้งสองชาติได้เกิดการปะทะกันประปรายขึ้นอีกหลายครั้ง จนกระทั่งนำไปสู่การพักรบตางกู ในปี ค.ศ. 1933 แต่ถึงกระนั้น กองกำลังอาสาจีนก็ยังคงต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นต่อไปในอีกหลายพื้นที่ ทั้งในแมนจูเรียและมองโกเลียใน
ต่อมา ฮิตเลอร์สนับสนุนนโยบายการจัดระเบียบโลกใหม่โดยอาศัยปัจจัยทางด้านเชื้อชาติ และเริ่มเสริมสร้างกำลังทหารครั้งใหญ่ เพื่อรักษาพันธมิตรของตน ฝรั่งเศสจึงยินยอมให้อิตาลียึดครองเอธิโอเปีย ซึ่งอิตาลีต้องการยึดเป็นอาณานิคมอยู่แล้ว เหตุการณ์เริ่มเลวร้ายยิ่งขึ้นเมื่อถึงช่วงต้น ค.ศ. 1935 ซาร์ลันท์ได้รวมเข้ากับเยอรมนีตามกฎหมาย และฮิตเลอร์ได้ฉีกสนธิสัญญาแวร์ซาย พร้อมกับเร่งการฟื้นฟูกองทัพและเริ่มให้มีการเกณฑ์ทหารอย่างรวดเร็ว
ในความพยายามที่จะจำกัดวงเยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และอิตาลีจึงก่อตั้งแนวสเตรซาขึ้น ด้านสหภาพโซเวียตเองก็กังวลต่อเป้าหมายยึดครองดินแดนยุโรปตะวันออกอันกว้างใหญ่ของเยอรมนีเช่นกัน จึงได้ทำสนธิสัญญาช่วยเหลือทวิภาคีกับฝรั่งเศส แต่สนธิสัญญาฝรั่งเศส-โซเวียตต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนของสันนิบาตชาติเสียก่อน ทำให้สนธิสัญญาดังกล่าวไม่มีผลเลย ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1935 สหราชอาณาจักรได้ทำกับเยอรมนี โดยผ่อนปรนต่อข้อบังคับต่าง ๆ ที่เคยกำหนดมาก่อนหน้านี้ ส่วนสหรัฐอเมริกาก็กังวลต่อสถานการณ์ซึ่งอุบัติขึ้นในทวีปยุโรปและทวีปเอเชีย จึงได้ผ่านรัฐบัญญัติว่าด้วยความเป็นกลางในเดือนสิงหาคม ในเดือนตุลาคม อิตาลีบุกครองเอธิโอเปีย โดยมีเพียงเยอรมนีเป็นมหาอำนาจชาติเดียวในยุโรปที่สนับสนุนการบุกครองดังกล่าว อิตาลีจึงยกเลิกข้อคัดค้านต่อเป้าหมายการผนวกออสเตรียของเยอรมนี
เดือนมีนาคม ค.ศ. 1936 ฮิตเลอร์ส่งทหารกลับเข้าคืนสู่ไรน์ลันท์ อันเป็นการฝ่าฝืนสนธิสัญญาโลคาร์โน แต่ก็ได้รับการตอบสนองน้อยมากจากชาติยุโรปอื่น ๆ ครั้นเมื่อสงครามกลางเมืองสเปนปะทุขึ้นในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ทั้งฮิตเลอร์และมุสโสลินีได้ให้ความสนับสนุนแก่จอมทัพฟาสซิสต์ ฟรันซิสโก ฟรังโก และฝ่ายชาตินิยมสเปน เพื่อต่อต้านรัฐบาลสาธารณรัฐสเปนที่สอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต ทั้งสองฝ่ายต่างใช้สงครามครั้งนี้เป็นสนามทดสอบอาวุธและยุทธวิธีในการทำสงครามที่คิดค้นขึ้นใหม่ด้วย จนกระทั่งฝ่ายชาตินิยมสเปนได้รับชัยชนะเมื่อต้น ค.ศ. 1939 จากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น ได้นำไปสู่ความพยายามเสริมสร้างความแข็งแกร่งหรือการรวมกลุ่มระหว่างประเทศขึ้น เยอรมนีได้ร่วมมือกับอิตาลีก่อตั้งแกนโรม-เบอร์ลินขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1936 และทำกติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์นกับญี่ปุ่นในเดือนถัดมา ซึ่งอิตาลีก็ได้เข้าร่วมด้วยใน ค.ศ. 1937 ส่วนในประเทศจีน หลังจากกรณีซีอาน กองทัพพรรคก๊กมินตั๋งและกองทัพคอมมิวนิสต์ได้ตกลงหยุดยิงเพื่อร่วมกันสร้างแนวร่วมต่อต้านจักรวรรดิญี่ปุ่น
กลาง ค.ศ. 1937 หลังเหตุการณ์สะพานมาร์โค โปโล ญี่ปุ่นเริ่มการบุกครองจีนอย่างเต็มตัว ซึ่งลงเอยด้วยการทัพที่มีเป้าหมายจะบุกครองจีนทั้งหมด สหภาพโซเวียตเร่งลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานกันกับจีนและให้ความช่วยเหลือด้านวัตถุดิบแก่จีน เป็นการยุติความร่วมมือกับเยอรมนีของจีนที่มีอยู่ก่อนหน้า จอมทัพเจียง ไคเช็คได้วางกำลังพลที่ดีที่สุดของเขาเพื่อป้องกันเซี่ยงไฮ้ แต่ก็เสียเมืองไปหลังการสู้รบนานสามเดือน กองทัพญี่ปุ่นยังผลักดันกองทัพจีนให้ล่าถอยต่อไป และสามารถยึดนานกิงได้ในเดือนธันวาคม และกระทำการสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยม เมื่อถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1938 กองทัพจีนสามารถหยุดการรุกคืบของกองทัพญี่ปุ่นได้โดยเหตุอุทกภัยแม่น้ำหวง ในช่วงนี้ จีนได้เตรียมการป้องกันที่เมืองอู่ฮั่น แต่ก็ยังถูกตีแตกในเดือนตุลาคม แม้ว่าฝ่ายญี่ปุ่นจะได้รับชัยชนะทางทหาร แต่กลับไม่สามารถทำลายการต้านทานของจีนลงได้อย่างที่หวัง โดยรัฐบาลจีนย้ายลึกเข้าไปในแผ่นดินถึงฉงชิ่งแล้วทำสงครามต่อ
29 กรกฎาคม ค.ศ. 1938 กองทัพญี่ปุ่นและกองทัพโซเวียตปะทะกันอย่างประปรายที่ทะเลสาบคาซัน แม้ว่าโซเวียตจะเป็นฝ่ายชนะ แต่ญี่ปุ่นกลับมองว่าเป็นการเสมอที่ยังไม่รู้ผลแพ้ชนะ และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1939 ญี่ปุ่นตัดสินใจขยายพรมแดนญี่ปุ่น-มองโกเลียขึ้นไปถึงแม่น้ำคัลคินกอลด้วยกำลัง แม้ว่าญี่ปุ่นจะประสบความสำเร็จในระยะแรก แต่กองทัพคันโตในมองโกเลียได้ถูกขัดขวางอีกครั้ง และสงครามยุติลงด้วยสัญญาหยุดยิงเมื่อวันที่ 15 กันยายน โดยไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงดินแดนใด ๆ นับเป็นความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญครั้งแรกกองทัพคันโต ความพ่ายแพ้ดังกล่าวได้ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นควรมุ่งปรองดองกับรัฐบาลโซเวียตเพื่อมิให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับสงครามในจีน และหันเหความสนใจทางทหารไปทางใต้ ไปยังดินแดนในครอบครองของสหรัฐอเมริกาและยุโรปในแปซิฟิกแทน
ด้านทวีปยุโรป บทบาทของเยอรมนีและอิตาลีเริ่มก้าวร้าวมากขึ้น ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1938 เยอรมนีผนวกออสเตรีย โดยมีปฏิกิริยาจากชาติตะวันตกอื่น ๆ เพียงเล็กน้อยเช่นเดิม ด้วยความฮึกเหิม ฮิตเลอร์จึงอ้างสิทธิครอบครองซูเดเทินลันด์ ดินแดนของเชโกสโลวาเกียซึ่งมีพลเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวเยอรมัน โดยขัดต่อความต้องการของรัฐบาลเชโกสโลวาเกีย ฝรั่งเศสและอังกฤษยินยอมให้เยอรมนียึดครองซูเดนเตแลนด์ เพื่อแลกกับการหยุดแสวงหาดินแดนเพิ่มเติม ทว่าหลังจากนั้น เยอรมนีและอิตาลีได้บังคับให้เชโกสโลวาเกียยกดินแดนให้กับฮังการีและโปแลนด์อีก และในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1939 เยอรมนีบุกครองเชโกสโลวาเกียส่วนที่เหลือ และแบ่งประเทศออกเป็นรัฐในอารักขาโบฮีเมียและโมราเวียของเยอรมนี และรัฐหุ่นเชิดอิสระนิยมเยอรมนี สาธารณรัฐสโลวัก
ด้วยความตื่นตัวจากเหตุที่ฮิตเลอร์ต้องการนครเสรีดานซิกเพิ่มเติม ฝรั่งเศสและอังกฤษจึงรับประกันว่าจะให้การสนับสนุนเอกราชของโปแลนด์ และเมื่ออิตาลียึดครองแอลเบเนียในเดือนเมษายน ค.ศ. 1939 ฝรั่งเศสและอังกฤษก็ให้คำมั่นเช่นเดียวกันนี้แก่โรมาเนียและกรีซ ไม่นานหลังจากการให้คำมั่นดังนี้ ทางด้านเยอรมนีและอิตาลีก็ร่วมมือกันและลงนามเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการในสนธิสัญญาเหล็ก
เดิมสหภาพโซเวียตพยายามเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับอังกฤษและฝรั่งเศส เพื่อพยายามจำกัดวงเยอรมนี แต่ทั้งสองชาติปฏิเสธ ด้วยแคลงใจในเจตนาและความสามารถของสหภาพโซเวียต สหภาพโซเวียตเกรงว่าสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสไม่ปรารถนาจะให้ความร่วมมือทางทหารแก่ตน และวิตกว่าอาจเกิดสงครามระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียต โดยฝ่ายสัมพันธมิตรอาจเอนเอียงเข้ากับฮิตเลอร์ ทำให้สหภาพโซเวียตลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างนาซี-โซเวียต ซึ่งสนธิสัญญาดังกล่าวมีข้อตกลงลับระหว่างทั้งสองที่จะแบ่งกันครอบครองยุโรปตะวันออก โดยยกโปแลนด์ตะวันตกและลิทัวเนียให้อยู่ในเขตอิทธิพลของเยอรมนี และยกโปแลนด์ตะวันออก ฟินแลนด์ เอสโตเนีย ลัตเวีย และของโรมาเนียให้อยู่ในเขตอิทธิพลของสหภาพโซเวียต นอกจากนี้ ยังได้มีการตั้งคำถามถึงการมีเอกราชของโปแลนด์ต่อไปด้วย
การนับเวลา
สงครามโลกครั้งที่สองไม่สามารถกำหนดจุดเริ่มต้นอย่างชี้ชัดแน่นอนได้ เพราะเป็นการไม่ยุติธรรมต่อประเทศใดประเทศหนึ่ง นักประวัติศาสตร์จึงเลือกหลายช่วงเวลาว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งนี้แตกต่างกันไปตามแนวคิดของตน ซึ่งได้แก่ เหตุการณ์ญี่ปุ่นบุกครองแมนจูเรีย ในปี ค.ศ. 1931อิตาลีบุกครองเอธิโอเปีย ในปี ค.ศ. 1935 ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของสันนิบาติชาติสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง ในปี ค.ศ. 1937เยอรมนีบุกครองโปแลนด์ ในปี ค.ศ. 1939 ซึ่งนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสงคราม ญี่ปุ่นโจมตีที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ ในปี ค.ศ. 1941 และเยอรมนีบุกครองสหภาพโซเวียต ในปี ค.ศ. 1941 และยังมีนักเขียนบางคนให้ความเห็นว่า สงครามโลกครั้งที่สองเป็นสงครามครั้งเดียวกันกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่งด้วยซ้ำไป (ใช้คำว่า "สงครามกลางเมืองยุโรป" หรือ "สงครามสามสิบปีครั้งที่สอง") อย่างไรก็ตาม ในตำราส่วนใหญ่มักถือว่าสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 และยุติเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945
นอกเหนือจากนั้น สงครามโลกครั้งที่สองยังมีกำหนดเวลาสิ้นสุดแตกต่างกันเช่นกัน บ้างก็นับที่การประกาศสัญญาสงบศึกเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1945 มากกว่าการยอมจำนนอย่างเป็นทางการเมือ่วันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945; บางประเทศในทวีปยุโรปยึดเอาวันแห่งชัยชนะในทวีปยุโรป (8 พฤษภาคม ค.ศ. 1945) เป็นสำคัญ แต่ว่า สนธิสัญญาสันติภาพกับประเทศญี่ปุ่นก็ยังไม่ได้มีการลงนามจนกระทั่งปี ค.ศ. 1951 และสนธิสัญญาสันติภาพกับประเทศเยอรมนีมีการลงนามใน ค.ศ. 1990
เส้นทางของสงคราม
สงครามปะทุ
เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 เยอรมนีและรัฐบริวารสโลวาเกียบุกครองโปแลนด์ วันที่ 3 กันยายน ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรประกาศสงครามกับเยอรมนี ตามมาด้วยบรรดาประเทศในเครือจักรภพแห่งชาติ แต่ได้ให้ความช่วยเหลือแก่โปแลนด์เพียงเล็กน้อยเฉพาะการโจมตีขนาดเล็กของฝรั่งเศสเข้าไปในซาร์ลันท์เท่านั้น แม้ว่าอีกทางหนึ่ง อังกฤษกับฝรั่งเศสจะเริ่มต้นการปิดล้อมทางทะเลต่อเยอรมนีเมื่อวันที่ 3 กันยายน ซึ่งมีเป้าหมายที่จะทำลายเศรษฐกิจและความพยายามสงครามของเยอรมนี วันที่ 17 กันยายน หลังจากสงบศึกชั่วคราวกับญี่ปุ่นแล้ว สหภาพโซเวียตก็ได้เริ่มการบุกครองโปแลนด์ของตน ท้ายสุด โปแลนด์ได้ถูกแบ่งออกระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียต ส่วนลิทัวเนียกับสโลวาเกียได้รับส่วนแบ่งบ้าง ชาวโปแลนด์มิได้ยอมจำนนและสถาปนารัฐใต้ดินโปแลนด์ กองทัพป้องกันประเทศ (Home Army) ใต้ดิน และยังสู้อิงฝ่ายสัมพันธมิตรในทุกแนวรบนอกประเทศ และในเวลาเดียวกับการรบในโปแลนด์ กองทัพญี่ปุ่นก็เปิดฉากโจมตีเมืองฉางซาเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์ของจีน แต่ก็ถูกขับไล่กลับมาเมื่อปลายเดือนกันยายน
ภายหลังการบุกครองโปแลนด์และการลงนามในสนธิสัญญากำหนดสิทธิปกครองลิทัวเนีย สหภาพโซเวียตได้บีบบังคับรัฐบอลติกเพื่อยินยอมให้สหภาพโซเวียตส่งกองทัพเข้าไปประจำการภายใต้เงื่อนไขของสนธิสัญญาความร่วมมือระหว่างกัน ฟินแลนด์ปฏิเสธการเรียกร้องดินแดนและถูกสหภาพโซเวียตบุกครอง เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1939 และจบลงด้วยการยินยอมยกดินแดนบางส่วนให้กับสหภาพโซเวียต ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1940 ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรมองว่าสหภาพโซเวียตพยายามจะเข้าสู่สงครามโดยอยู่ข้างเยอรมนี และได้ตอบสนองต่อการบุกครองโดยการขับสหภาพโซเวียตออกจากสันนิบาตชาติ และในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1940 สหภาพโซเวียตบุกครองและยึดครองรัฐบอลติก
ในยุโรปตะวันตก อังกฤษได้วางกำลังบนยุโรปภาคพื้นทวีป แต่ในช่วงที่เรียกว่า สงครามลวง ไม่มีปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่ระหว่างทั้งสองฝ่ายอีกกระทั่งเดือนเมษายน ค.ศ. 1940 ทางด้านสหภาพโซเวียตและเยอรมนีได้บรรลุสนธิสัญญาการค้าระหว่างกัน ซึ่งสหภาพโซเวียตได้รับเครื่องประกอบทางทหารและทางอุตสาหกรรมของเยอรมนีโดยแลกกับการส่งวัตถุดิบให้กับเยอรมนี ซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบจากการถูกปิดล้อมเมืองท่าโดยราชนาวีสหราชอาณาจักร
เดือนเมษายน ค.ศ. 1940 เยอรมนีบุกครองเดนมาร์กและนอร์เวย์ เพื่อควบคุมการขนส่งแร่เหล็กจากสวีเดน ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังจะขัดขวาง เดนมาร์กได้ยอมจำนนอย่างรวดเร็ว และถึงแม้ว่านอร์เวย์จะได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายสัมพันธมิตรแล้วก็ตาม แต่เยอรมนีก็ยังสามารถพิชิตนอร์เวย์ได้ในเวลาเพียงสองเดือน ความไม่พอใจต่อผลของการทัพนอร์เวย์ของชาวอังกฤษได้นำไปสู่การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรจากเนวิล เชมเบอร์ลิน เป็นวินสตัน เชอร์ชิลล์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1940
ฝ่ายอักษะเคลื่อนทัพ
ในวันเดียวกัน เยอรมนีบุกครองฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์และลักเซมเบิร์กเนเธอร์แลนด์และเบลเยี่ยมพ่ายแพ้จากผลของยุทธวิธีบลิทซครีกติดต่อกันในเวลาเพียงไม่กี่วันและไม่กี่สัปดาห์ตามลำดับ ฝ่ายเยอรมนีใช้อุบายการตีผ่านแนวเทือกเขา ซึ่งมีป่าปกคลุมหนาแน่น เพื่อโอบล้อมแนวป้องกันแมกิโนต์ของฝรั่งเศส ความผิดพลาดดังกล่าวเป็นเพราะนักวางแผนชาวฝรั่งเศสคาดการณ์ผิดว่าเทือกเขานี้เป็นแนวป้องกันตามธรรมชาติที่เชื่อกันว่า ยานยนต์หุ้มเกราะไม่อาจโจมตีผ่านได้ เมื่อถึงปลายเดือนพฤษภาคม ทหารอังกฤษถูกบีบให้ล่าถอยจากแผ่นดินใหญ่ยุโรปในยุทธการดันเคิร์ก และทิ้งยุทโธปกรณ์หนักไว้เป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน อิตาลีเริ่มการบุกครองฝรั่งเศส และประกาศสงครามต่อสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส สิบสองวันหลังจากนั้น ฝรั่งเศสยอมจำนน และถูกแบ่งเป็นเขตยึดครองของเยอรมนีและอิตาลีในเวลาไม่นานนัก และรัฐซึ่งไม่อยู่ภายใต้การยึดครองภายใต้ระบอบวีชี เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม กองทัพเรืออังกฤษก็ทำลายกองทัพเรือฝรั่งเศสในแอลจีเรีย เพื่อป้องกันมิให้กองทัพเยอรมนีนำไปใช้ในกรณีที่เป็นไปได้
ในเดือนมิถุนายน ช่วงปลายยุทธการฝรั่งเศส สหภาพโซเวียตเริ่มจัดการเลือกตั้งที่ถูกจัดฉากขึ้นในรัฐบอลติกและผนวกดินแดนเหล่านี้ด้วยกำลังอย่างผิดกฎหมาย ตามด้วยการผนวกแคว้นเบสซาราเบียในโรมาเนีย แม้ว่าความร่วมมือระหว่างสหภาพโซเวียตและนาซีเยอรมนีจะมีเพิ่มมากขึ้นแล้วก็ตาม ทั้งในด้านเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง ด้านการทหารเล็กน้อย การแลกเปลี่ยนประชากรและความตกลงเกี่ยวกับชายแดน จนอาจกล่าวได้ว่าสหภาพโซเวียตเป็นพันธมิตรโดยพฤตินัยของเยอรมนีแล้วก็ตาม การยึดครองรัฐบอลติก เบสซาราเบียและนอร์ทบูโควิน่าได้สร้างความวิตกกังวลให้แก่เยอรมนี พฤติการณ์ดังกล่าว เช่นเดียวกับความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นจากความไม่สามารถบรรลุความความร่วมมือระหว่างนาซี-โซเวียตได้เพิ่มเติม ได้ทำให้ความสัมพันธ์ทั้งสองเสื่อมทรามลง เหลือแต่รอเวลาทำสงคราม
เมื่อฝรั่งเศสหลุดจากสงคราม ฝ่ายอักษะก็มีกำลังยิ่งขึ้น กองทัพอากาศเยอรมันเริ่มการรบในยุทธการบริเตน เพื่อครองแสงยานุภาพเหนือน่านฟ้าและเตรียมการรบภาคพื้นดินบนเกาะอังกฤษ แต่การทัพดังกล่าวประสบความล้มเหลว และแผนการบุกครองภาคพื้นดินได้ถูกยกเลิกในเดือนกันยายน อย่างไรก็ตาม กองทัพเรือเยอรมันประสบความสำเร็จในการจมเรือรบราชนาวีอังกฤษด้วยเรืออู ในมหาสมุทรแอตแลนติก ฝ่ายอิตาลีก็เริ่มการปฏิบัติการทางทะเลของตนในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ด้วย ในเดือนมิถุนายน ครอบครองบริติชโซมาลิแลนด์ในเดือนสิงหาคม และเปิดส่งกองทัพเข้าสู่อียิปต์ของสหราชอาณาจักรในตอนต้นเดือนกันยายน ส่วนทางด้านญี่ปุ่นก็เพิ่มการปิดล้อมจีนด้วย ทางตอนเหนือของอินโดจีนฝรั่งเศส ซึ่งถูกโดดเดี่ยว
ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ฝ่ายสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นกลางได้ออกมาตรการในการช่วยเหลือจีนและสัมพันธมิตรตะวันตก ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1939 รัฐบัญญัติว่าด้วยความเป็นกลางของสหรัฐอเมริกามีผลตามกฎหมาย การแปรบัญญัติดังกล่าวส่งผลเปิดโอกาสให้ฝ่ายสัมพันธมิตรซื้อสินค้าแบบ "" ได้ ระหว่างปี ค.ศ. 1940 ภายหลังจากที่เยอรมนียึดกรุงปารีส สหรัฐอเมริกาได้เพิ่มเติมขนาดกองทัพเรือของตนขนานใหญ่ และหลังจากการรุกล้ำเข้าไปยังอินโดจีนฝรั่งเศสของญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาก็สนับสนุนการห้ามขนส่งเหล็ก เหล็กกล้า และชิ้นส่วนเครื่องจักรแก่ญี่ปุ่น และในเดือนกันยายน สหรัฐอเมริกาก็ตกลงแลกเปลี่ยนเรือประจัญบานอเมริกันกับฐานทัพอังกฤษเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม สาธารณชนชาวอเมริกันส่วนใหญ่ก็ยังคงต่อต้านการเข้าแทรกแซงความขัดแย้งทางทหารโดยตรง จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1941
ปลายเดือนกันยายน กติกาสัญญาไตรภาคีระหว่างเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ได้เป็นรวมตัวกันก่อตั้งฝ่ายอักษะอย่างเป็นทางการ สัญญาดังกล่าวได้กำหนดเงื่อนไขว่าทุกประเทศ ยกเว้นสหภาพโซเวียต ซึ่งยังไม่อยู่ในภาวะสงครามและโจมตีรัฐสมาชิกฝ่ายอักษะรัฐใดรัฐหนึ่งจะนำไปสู่สภาวะสงครามกับรัฐสมาชิกทั้งหมด ในช่วงเวลาดังกล่าว สหรัฐอเมริกายังคงสนับสนุนสหราชอาณาจักรและจีนโดยนโยบายให้ยืม-เช่าต่อไป ซึ่งรับหน้าที่ในการจัดหาทรัพยากรสงครามและสิ่งอื่น ๆ รวมทั้งการสร้างพื้นที่ปลอดภัยแบบหยาบ ๆ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ราวครึ่งหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาจะคอยคุ้มกันกองเรือสินค้าของอังกฤษ ผลจากการตัดสินใจดังกล่าว ทำให้เยอรมนีและสหรัฐอเมริกาเผชิญหน้ากันในการทำสงครามทางทะเลในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือและตอนกลาง ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1941 แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะยังคงดำรงตนเป็นกลางอย่างเป็นทางการอยู่ก็ตาม
ฝ่ายอักษะได้ขยายตัวในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1940 เมื่อฮังการี สโลวาเกีย และโรมาเนียเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ ซึ่งในเวลาต่อมา ประเทศเหล่านี้ได้มีส่วนร่วมในการรุกรานสหภาพโซเวียต แต่โรมาเนียถูกพิจารณาว่ามีบทบาทมากที่สุด เนื่องจากต้องการทวงดินแดนที่ถูกสหภาพโซเวียตยึดครองก่อนหน้า และยังเป็นความปรารถนาส่วนตัวของเอียน อันโตเนสคูที่ต้องการปราบปรามคอมมิวนิสต์
ในเดือนตุลาคม อิตาลีบุกครองกรีซ แต่ภายในไม่กี่วันก็ถูกขับไล่และถูกตีจนต้องถอยร่นเข้าไปในอัลแบเนีย ซึ่งสถานการณ์การรบยังคงคุมเชิงกันอยู่ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1940 ในทวีปแอฟริกา กองทัพเครือจักรภพอังกฤษก็ได้ตีโต้ตอบกองทัพอิตาลีในอียิปต์และดินแดนแอฟริกาตะวันออกของอิตาลี ในตอนต้นของปี ค.ศ. 1941 เมื่อกองทัพอิตาลีนั้นถูกผลักดันกลับไปยังลิเบียโดยกองทัพเครือจักรภพ เชอร์ชิลล์ก็ได้ออกคำสั่งให้ ในขณะเดียวกัน ก็ประสบกับความปราชัยครั้งสำคัญ เมื่อราชนาวีอังกฤษสามารถทำลายเรือประจัญบานปลดประจำการของอิตาลีไปได้ถึงสามลำใน และสร้างความเสียหายให้กับเรือรบอิตาลีอีกหลายลำในยุทธนาวีที่แหลมมาตาปัน
ไม่นานนัก เยอรมนีก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออิตาลี ฮิตเลอร์ได้ส่งกองทัพเยอรมันเข้าสู่ลิเบีย ในเดือนกุมภาพันธ์ และภายในปลายเดือนมีนาคม กองทัพฝ่ายอักษะก็ทำการรุกหนักกับกองทัพของกลุ่มเครือจักรภพที่ลดจำนวนลงไป และภายในหนึ่งเดือน กองทัพเครือจักรภพก็ถูกตีถอยร่นกลับสู่อียิปต์ เว้นแต่เพียงเมืองท่าโทบรุคซึ่งถูกล้อมเอาไว้เท่านั้น กองทัพเครือจักรภพพยายามจะ และอีกครั้งในเดือนมิถุนายน แต่ก็ประสบความล้มเหลวทั้งสองครั้ง ตอนต้นของเดือนเมษายน หลังจากบัลแกเรียเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ กองทัพเยอรมันก็เข้าแทรกแซงในคาบสมุทรบอลข่าน โดยโจมตีกรีซและยูโกสลาเวียภายหลังรัฐประหาร ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว จนในท้ายที่สุด กองทัพสัมพันธมิตรก็ต้องถอนกำลังออกไปหลังจากที่เยอรมนีสามารถยึดเกาะครีตได้เมื่อถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม
ฝ่ายสัมพันธมิตรเองก็ประสบความสำเร็จในช่วงเวลานี้เช่นเดียวกัน ในตะวันออกกลาง กองทัพเครือจักรภพก็ได้รับชัยชนะในการปราบปรามรัฐประหารในอิรัก ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยกองทัพอากาศเยอรมันจากฐานทัพใน จากนั้น ด้วยความช่วยเหลือของฝรั่งเศสเสรี ฝ่ายสัมพันธมิตรก็ประสบความสำเร็จในการทัพซีเรียและเลบานอน เพื่อจัดการกับทหารอักษะในพื้นที่ อีกทั้งในมหาสมุทรแอตแลนติก ประชาชนชาวอังกฤษมีขวัญและกำลังใจเพิ่มขึ้นจากการจมจมเรือธง บิสมาร์ค ของเยอรมนี ลงสู่ก้นทะเลได้สำเร็จ และที่อาจสำคัญสุด กองทัพอากาศอังกฤษสามารถต้านทานการโจมตีของลุควาฟเฟได้ในยุทธการแห่งบริเตน และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1941 ฮิตเลอร์ต้องยกเลิกการทิ้งระเบิดเหนือเกาะอังกฤษไป
ในทวีปเอเซีย หลังจากการรุกของทั้งสองฝ่าย สงครามระหว่างจีนและญี่ปุ่นยังคงคุมเชิงกันอยู่ในปี ค.ศ. 1940 ด้วยความพยายามที่จะเพิ่มแรงกดดันต่อจีนโดยการกีดขวางเส้นทางเสบียง และเพิ่มเสริมสร้างฐานะที่เหนือกว่า กองกำลังญี่ปุ่นได้อาศัยจังหวะที่มหาอำนาจตะวันตกยังคงทำสงครามกันอยู่ ยึดครองอินโดจีนทางตอนใต้ด้วยกำลังทหาร และในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน คอมมิวนิสต์จีนก็ได้โจมตีตอนกลางของจีน และเพื่อเป็นการแก้แค้น ญี่ปุ่นก็มีมาตรการรุนแรงออกมาเพื่อลดกำลังคนและปัจจัยการผลิตของกองกำลังคอมมิวนิสต์จีน และความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนและกองทัพชาตินิยมจีน ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายสิ้นสุดลงอย่างสิ้นเชิงในเดือนมกราคม ค.ศ. 1941 อันทำให้ปฏิบัติการทางทหารที่เคยกระทำร่วมกันก็ยุติลงตามไปด้วย ขณะที่สถานการณ์ในยุโรปและเอเชียนั้นค่อนข้างมั่นคง เยอรมนี ญี่ปุ่น และสหภาพโซเวียตก็ได้ตระเตรียมการตามนโยบายของตน ทางด้านสหภาพโซเวียตเผชิญกับความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นจากเยอรมนี ส่วนญี่ปุ่นนั้นพยายามที่ใช้ประโยชน์จากสงครามในทวีปยุโรป โดยการยึดเอาอาณานิคมอันอุดมสมบูรณ์ของยุโรปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ญี่ปุ่นและสหภาพโซเวียตก็ได้ตกลงทำสนธิสัญญาความเป็นกลางโซเวียต-ญี่ปุ่น ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1941 ตรงกันข้ามกับเยอรมนีซึ่งตั้งใจอย่างไม่ลดละที่จะวางแผนทำสงครามในสหภาพโซเวียต ได้มีการระดมพลประชิดชายแดนสหภาพโซเวียตเพิ่มมากขึ้น
สงครามลุกลามทั่วโลก
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1941 เยอรมนีรวมถึงกลุ่มประเทศฝ่ายอักษะในทวีปยุโรปและฟินแลนด์ ได้บุกครองสหภาพโซเวียตในปฏิบัติการบาร์บารอสซา ซึ่งเป็นการโจมตีที่เหนือความคาดหมาย โดยมีเป้าหมายคือการยึดครองรัฐบอลติก มอสโก และยูเครน และกำหนดเป้าหมายสูงสุดไว้ใกล้กับแนวเอ-เอ เมื่อปลายปี ค.ศ. 1941 ซึ่งเป็นแนวที่เชื่อมต่อระหว่างทะเลสาบแคสเปียนกับทะเลขาว ส่วนวัตถุประสงค์ของฮิตเลอร์ คือ การทำลายล้างแสนยานุภาพทางทหารของสหภาพโซเวียต กวาดล้างระบอบคอมมิวนิสต์ และสร้าง "พื้นที่อยู่อาศัย" โดยการใช้กำลังแย่งชิงดินแดนมาจากชนพื้นเมืองเดิม และเป็นการรับประกันการสร้างหนทางซึ่งนำไปสู่การยึดครองทรัพยากรที่จำเป็นต่อทำลายคู่แข่งของเยอรมนีที่ยังเหลืออยู่
แม้ฝ่ายกองทัพแดงจะมีการเตรียมการตีโต้ตอบทางยุทธศาสตร์ไว้ก่อนสงครามก็ตาม แต่ปฏิบัติการบาร์บารอสซาบีบให้กองบัญชาการทหารสูงสุดของโซเวียตปรับใช้แผนตั้งรับทางยุทธศาสตร์แทน ช่วงฤดูร้อน กองทัพฝ่ายอักษะได้รับชัยชนะมาตลอด สามารถยึดครองดินแดนอันกว้างใหญ่ และสร้างความเสียหายทั้งทางด้านทรัพยากรและกำลังพลให้แก่สหภาพโซเวียตเป็นอย่างมาก แต่ทว่าในช่วงกลางเดือนสิงหาคม กองบัญชาการทหารสูงสุดเยอรมนีตัดสินใจที่จะพักการรบของหมู่กองทัพกลางเอาไว้ หลังจากที่กำลังพลมีจำนวนลดลง และแบ่งกลุ่มแพนเซอร์ที่สองไปสมทบกับกองทัพที่กำลังมุ่งหน้าไปยังตอนกลางของยูเครนและเลนินกราด ยุทธการเคียฟประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ส่งผลทำให้กองทัพโซเวียตถูกทำลายไปถึงสี่กองทัพ และทำให้การมุ่งหน้าต่อไปยังคาบสมุทรไครเมียและเขตอุตสาหกรรมพัฒนาแล้วในยูเครนตะวันออกเป็นไปได้
ในช่วงปฏิบัติการบาร์บารอสซา กองทัพกว่าสามในสี่ของฝ่ายอักษะ และกองทัพอากาศส่วนใหญ่ได้ถูกเคลื่อนย้ายจากฝรั่งเศสและทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปยังแนวรบด้านตะวันออก สหราชอาณาจักรได้รีบทำการพิจารณายุทธศาสตร์หลักใหม่ทันที ในเดือนกรกฎาคม สหราชอาณาจักรและสหภาพโซเวียตก็ได้รวมตัวกันจัดตั้งพันธมิตรทางทหารเพื่อต่อต้านเยอรมนี ทั้งสองประเทศได้ร่วมมือกันบุกครองอิหร่านเพื่อรักษาและแหล่งน้ำมันในอิหร่าน ในเดือนสิงหาคม สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาได้ร่วมมือกันตั้งกฎบัตรแอตแลนติก
ต้นเดือนตุลาคม หลังจากที่กองทัพฝ่ายอักษะได้รับชัยชนะในยูเครนและแถบทะเลบอลติก โดยมีเพียงเลนินกราดและเซวัสโตปอลทื่ยังคงรบต้านทานอยู่เท่านั้นยุทธการมอสโกก็ได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นใหม่ หลังจากผ่านการรบอย่างหนักเป็นเวลาสองเดือน กองทัพฝ่ายอักษะเกือบจะถึงชานกรุงมอสโกแล้ว กองทัพของฝ่ายอักษะที่อ่อนเปลี้ย ทำให้การบุกนั้นต้องหยุดชะงักไป และถึงแม้ว่าเยอรมนีจะได้ดินแดนมาจำนวนมหาศาล แต่ว่าประสบความล้มเหลวในการบรรลุวัตถุประสงค์ทางยุทธศาสตร์ สองนครที่สำคัญของโซเวียตยังไม่แตก ขีดความสามารถของกองทัพแดงในการต้านทานการบุกของฝ่ายอักษะยังคงไม่ถูกทำลาย และศักยภาพทางทหารยังคงเหลืออยู่มาก หลังจากนี้ ระยะบลิทซครีกในทวีปยุโรปจึงได้ยุติลงอย่างสมบูรณ์
เมื่อถึงต้นเดือนธันวาคม สหภาพโซเวียตได้รับกองหนุนที่ระดมมาจากพรมแดนด้านตะวันออกซึ่งติดกับเขตแมนจูกัวของญี่ปุ่น ทำให้กองทัพโซเวียตมีปริมาณกำลังพลที่เทียบได้กับกองทัพฝ่ายอักษะ ซึ่งเมื่อประกอบกับการยืนยันจากข้อมูลข่าวกรองแล้วว่า กองทัพโซเวียตในภาคพื้นตะวันออกไกลมีปริมาณเพียงพอที่จะสามารถต้านทานกองทัพคันโตของญี่ปุ่นได้ ในวันที่ 5 ธันวาคม กองทัพโซเวียตได้ตามแนวรบที่ยาวต่อเนื่องกันกว่า 1,000 กิโลเมตร และสามารถผลักดันกองทัพอักษะได้เป็นระยะทางถึง 100-250 กิโลเมตร
ความสำเร็จของเยอรมนีในทวีปยุโรปได้กระตุ้นให้ญี่ปุ่นเพิ่มการกดดันต่อรัฐบาลยุโรปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐบาลดัตช์ยินยอมที่จะส่งมอบทรัพยากรน้ำมันจากหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ แต่ปฏิเสธที่จะยินยอมให้ญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงทางการเมืองภายในอาณานิคม ตรงกันข้ามกับฝรั่งเศสเขตวีชีซึ่งยินยอมให้ญี่ปุ่นยึดครองอินโดจีนฝรั่งเศส รัฐบาลสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและประเทศตะวันตกตอบโต้การยึดครองดังกล่าวด้วยการอายัดทรัพย์สินของญี่ปุ่น ในขณะที่สหรัฐอเมริกา (ซึ่งญี่ปุ่นอาศัยนำเข้าน้ำมันเป็นปริมาณกว่าร้อยละ 80) ตอบสนองโดยการห้ามขนส่งน้ำมันไปยังญี่ปุ่นอย่างสมบูรณ์ ญี่ปุ่นถูกบีบให้เลือกว่าจะล้มเลิกความทะเยอทะยานในการยึดครองทวีปเอเชียและหันกลับไปดำเนินการรบในจีนต่อไป หรือเข้ายึดแหล่งทรัพยากรที่ต้องการด้วยกำลังทหาร กองทัพญี่ปุ่นไม่พิจารณาถึงทางเลือกแรก และนายทหารระดับสูงจำนวนมากพิจารณาว่าการห้ามขนส่งน้ำมันไปยังญี่ปุ่นเป็นการประกาศสงครามโดยนัย
ญี่ปุ่นได้วางแผนในการยึดครองอาณานิคมของชาติยุโรปในทวีปเอเชียอย่างรวดเร็วเพื่อที่จะสร้างแนวป้องกันขนาดใหญ่ซึ่งลากยาวผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง เพื่ออำนวยความสะดวกในการแสวงหาทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างอิสระขณะทำสงครามป้องกันตนเองจนทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรที่ต้องสู้รบเป็นอาณาบริเวณกว้างเหนื่อยล้า และเพื่อการป้องกันการเข้าแทรกแซงของภายนอก ญี่ปุ่นจึงพยายามวางแผนที่จะทำลายกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับแรก ในวันที่ 7 ธันวาคม ญี่ปุ่นได้โจมตีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางในเวลาเดียวกัน รวมไปถึงโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐอเมริกาที่อ่าวเพิร์ล และยกพลขึ้นบกในไทยและมาลายา
จากการโจมตีครั้งนี้ ทำให้สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย จีน และฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกประกาศสงครามกับญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ส่วนทางด้านเยอรมนี อิตาลี และกลุ่มประเทศตามสนธิสัญญาสามฝ่ายก็ได้ตอบสนองโดยการประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาเช่นกัน ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1942 สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สหภาพโซเวียต และจีน ร่วมด้วยยี่สิบสองรัฐบาลซึ่งเป็นประเทศเล็กหรือเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น ได้ร่วมกันออก ซึ่งเป็นการรับรองกฎบัตรแอตแลนติก แต่สหภาพโซเวียตมิได้ปฏิบัติตามแถลงการณ์ดังกล่าว และคงความตกลงเป็นกลางกับญี่ปุ่น และดำเนินการตัดสินใจตามหลักการพิจารณาของตนเพียงฝ่ายเดียว นับตั้งแต่ ค.ศ. 1941 สตาลินได้ร้องขอเชอร์ชิลล์และโรสเวลต์อย่างต่อเนื่องให้เปิด "แนวรบที่สอง" ขึ้นในฝรั่งเศส แนวรบด้านตะวันออกจะกลายเป็นเขตสงครามหลักของสงครามในยุโรปและสร้างความสูญเสียแก่ชีวิตของชาวโซเวียตหลายล้านคน ซึ่งทำให้การสูญเสียหลายแสนคนของฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกเป็นเรื่องเล็กน้อย เชอร์ชิลล์และโรสเวลต์กล่าวว่าพวกเขาต้องการเวลาเตรียมการมากกว่านี้ จึงนำไปสู่การบอกเล่าที่ว่าพวกเขาชะลอเพื่อช่วยชีวิตชาวตะวันตกด้วยราคาของชีวิตชาวโซเวียต
เมื่อถึงปลายเดือนเมษายน ค.ศ. 1942 ญี่ปุ่นเกือบจะสามารถครอบครองพม่า มาลายา หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ สิงคโปร์ และ โดยสามารถสร้างความเสียหายกับกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรและจับกุมเชลยศึกได้เป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าจะทำการรบต้านทานอย่างหนัก แต่ฟิลิปปินส์ก็ถูกยึดครองในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1942 ทำให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ต้องพลัดถิ่น กองทัพญี่ปุ่นยังได้รับชัยชนะในยุทธนาวีหลายครั้งในทะเลจีนใต้ ทะเลจาวาและมหาสมุทรอินเดีย ต่อมา ได้เคลื่อนมาทิ้งระเบิดดาร์วิน และได้รับชัยชนะในการรบทางทะเลในทะเลจีนใต้ และ แต่ความสำเร็จที่แท้จริงเพียงอย่างเดียวของฝ่ายสัมพันธมิตรเกิดขึ้นในในตอนต้นของเดือนมกราคม ค.ศ. 1942 เท่านั้น การเอาชนะข้าศึกที่ไม่ทันตั้งตัวนี้ ทำให้ญี่ปุ่นมีความมั่นใจในตัวเองมากเกินไป
ทางด้านเยอรมนีก็สามารถทำการรุกต่อได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากการบังคับบัญชากองทัพเรือที่ไม่แน่นอนของสหรัฐ กองทัพเรือเยอรมันสามารถทำลายทรัพยากรฝ่ายสัมพันธมิตรใกล้ชายฝั่งด้านตะวันออกของสหรัฐอเมริกาได้ ถึงแม้ว่าจะประสบความสูญเสียเป็นจำนวนมาก แต่กองทัพฝ่ายอักษะก็สามารถหยุดยั้งการรุกครั้งใหญ่ของโซเวียตได้ทางตอนกลางและตอนใต้ และยังคงถือครองดินแดนเพิ่มเติมที่ได้รับเข้ามาเมื่อปีที่แล้วอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนในแอฟริกาเหนือ ฝ่ายอักษะได้ทำการบุกอีกครั้งในเดือนมกราคม ค.ศ. 1942 เป็นการผลักดันให้กองทัพสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพกลับไปยังแนวกาซาลาในตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนในแนวรบด้านตะวันออก การตีโต้ตอบของกองทัพโซเวียตได้ยุติลงเมื่อเดือนมีนาคม ตามด้วยการยุติการรบชั่วคราวของเยอรมนี ซึ่งใช้เวลาเพื่อวางแผนในการโจมตีในครั้งหน้าต่อไป
จุดเปลี่ยนของสงคราม
ต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1942 ญี่ปุ่นได้เริ่มวางแผนยึดพอร์ตมอร์สบีในปฏิบัติการโม โดยการโจมตีแบบสะเทินน้ำสะเทินบก เพื่อเป็นการตัดเส้นทางเสบียงระหว่างสหรัฐอเมริกากับออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถเข้าขัดขวางและทำให้ทัพเรือญี่ปุ่นต้องล่าถอยไปได้ในยุทธนาวีทะเลคอรัล และสามารถขัดขวางการบุกครองปาปัวนิวกินีได้สำเร็จ ส่วนแผนการขั้นต่อไปของญี่ปุ่น อันเกิดจากการกระตุ้นหลังกรุงโตเกียวถูกทิ้งระเบิด คือ การยึดครองหมู่เกาะมิดเวย์ รวมไปถึงการล่อเรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกันที่ยังคงเหลืออยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกมาทำลายในการรบด้วยและในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นได้ส่งอีกกองทัพหนึ่งไปยึดหมู่เกาะอะลูเชียนในอะแลสกา ในต้นเดือนมิถุนายน ญี่ปุ่นก็ได้งัดเอาแผนของตัวเองออกมาปฏิบัติ แต่ก็ถูกสกัดกั้น เนื่องจากกองทัพสหรัฐอเมริกาสามารถถอดได้ตั้งแต่เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาจึงได้เตรียมตัวรับมือกับการบุกของญี่ปุ่นได้อย่างถูกต้อง รวมไปถึงใช้ข่าวกรองดังกล่าวกระทั่งได้รับชัยชนะเด็ดขาดในยุทธนาวีมิดเวย์เหนือกองทัพเรือญี่ปุ่น
เนื่องจากญี่ปุ่นเสียทรัพยากรในการรุกรานไปมากที่มิดเวย์ ญี่ปุ่นจึงเปลี่ยนเป้าหมายไปทำการรบที่บน ในความพยายามอีกครั้งหนึ่งในการยึดพอร์ตมอร์สบี สำหรับฝ่ายสหรัฐก็ได้วางแผนที่จะตีโต้ตอบครั้งต่อไปในหมู่เกาะโซโลมอน โดยเริ่มต้นจากเกาะกัวดัลคะแนล อันเป็นก้าวแรกของการเข้ายึด ซึ่งเป็นฐานทัพเรือหลักของกองทัพญี่ปุ่นในเอเชียอาคเนย์
แผนการทั้งสองเริ่มต้นขึ้นในเดือนกรกฎาคม แต่เมื่อถึงกลางเดือนกันยายน ญี่ปุ่นจำต้องหันมาให้ความสำคัญกับการทัพกัวดัลคะแนลมากขึ้น และกองทัพญี่ปุ่นในเกาะนิวกินีนั้นได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังออกจากพื้นที่เขตพอร์ตมอร์สบีไปยังทางตอนเหนือของเกาะ ที่ซึ่งกองทัพนี้ต้องเผชิญกับกำลังผสมระหว่างสหรัฐกับออสเตรเลีย กัวดัลคะแนลได้กลายเป็นจุดยุทธศาตร์สำคัญสำหรับทั้งสองฝ่าย ทำให้เกิดการทุ่มทรัพยากรคนและเรือรบมาเป็นจำนวนมากเพื่อทำการรบ จนกระทั่งในตอนต้นของปี ค.ศ. 1943 กองทัพญี่ปุ่นก็พ่ายแพ้บนเกาะกัวดัลคะแนลและถอยทัพกลับ ในประเทศพม่า กองทัพเครือจักรภพได้รบในสองปฏิบัติการ หนึ่งคือการรุกเข้าไปในแคว้นอาระกันระหว่าง ในปลายปี ค.ศ. 1942 แต่ก็ประสบความหายนะอย่างร้ายแรง และจำเป็นต้องถอยทัพกลับเข้าสู่อินเดีย ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1943 และปฏิบัติการที่สอง ก็คือ เข้าทางด้านหลังแนวรบของญี่ปุ่นในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเมื่อปลายเดือนเมษายน ก็ได้รับผลที่ไม่แน่นอนเท่าใดนัก
ขณะที่เหตุการณ์ในแนวรบด้านตะวันออก กองทัพเยอรมันและพันธมิตรฝ่ายอักษะ ยังคงเอาชนะกองทัพโซเวียตที่ยุทธการที่คาบสมุทรเคียร์ชและยุทธการที่คาร์คอฟครั้งที่ 2 ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้เปิดฉากรุกหนักในฤดูร้อนในกรณีสีน้ำเงินในแถบสหภาพโซเวียตตอนใต้ ระหว่างเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1942 เพื่อยึดครองแหล่งขุดเจาะน้ำมันทุกแห่งในแถบคอเคซัสและทุ่งหญ้าสเตปป์คูบานอันกว้างใหญ่ เยอรมนีแบ่งหมู่กองทัพใต้ออกเป็นสองส่วน หมู่กองทัพเอถูกส่งไปโจมตีแม่น้ำดอนตอนล่าง ขณะที่หมู่กองทัพบีถูกส่งไปโจมตีทางตะวันตกเฉียงใต้โดยมุ่งหน้าไปยังคอเคซัสและแม่น้ำวอลกา กองทัพโซเวียตได้ตัดสินใจที่จะตั้งรับที่สตาลินกราด ซึ่งอยู่ในเส้นทางเดินทัพของฝ่ายอักษะ
ตอนกลางเดือนพฤศจิกายน กองทัพอักษะเกือบจะพิชิตสตาลินกราดในการสงครามเมืองอันขมขื่นแล้ว แต่กองทัพโซเวียตก็ทำการตีโต้ตอบในฤดูหนาวเป็นครั้งที่สอง โดยเริ่มจากการโอบล้อมกองทัพเยอรมันที่สตาลินกราด ตามด้วยการโจมตีสันเขารเจฟ ใกล้กรุงมอสโก แม้ว่าจะปราชัยย่อยยับในภายหลังก็ตาม ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943 กองทัพเยอรมันประสบกับความสูญเสียมหาศาล และกองทัพเยอรมันในสตาลินกราดถูกบีบบังคับให้ยอมจำนน แนวรบด้านตะวันออกถูกผลักดันไปยังจุดก่อนการรุกในฤดูร้อน กลางเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากที่การตีโต้ตอบของโซเวียตหยุดชะงัก กองทัพเยอรมันได้โจมตีฮาร์คอฟอีกครั้งหนึ่ง เกิดเป็นแนวรบที่ยื่นเข้าไปในดินแดนของโซเวียตรอบ
ทางด้านตะวันตก ด้วยความวิตกกังวลว่าญี่ปุ่นอาจใช้เกาะมาดากัสการ์ ซึ่งเป็นฐานทัพของฝรั่งเศสเขตวีชี กองทัพอังกฤษจึงสั่งดำเนินการโจมตีเกาะมาดากัสการ์ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1942 และทางด้านการทัพแอฟริกาเหนือ การโจมตีครั้งล่าสุดของฝ่ายอักษะที่ยุทธการที่กาซาลา ได้ผลักดันให้กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรให้กลับเข้าสู่อียิปต์ จนกระทั่งการบุกต้องหยุดชะงักที่เอล อาลาเมน ระหว่างการรบในช่วงนี้ บนยุโรปภาคพื้นทวีป หน่วยคอมมานโดของฝ่ายสัมพันธมิตรได้ตีโฉบฉวยเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ และจบลงด้วยการตีโฉบฉวยดีแยป ซึ่งผลเป็นความหายนะ แสดงให้เห็นถึงความไม่สามารถของฝ่ายพันธมิตรตะวันตกในการออกปฏิบัติการบุกครองยุโรปภาคพื้นทวีปโดยปราศจากการเตรียมการยุทโธปกรณ์และความมั่นคงทางปฏิบัติการมากกว่านี้
ในเดือนสิงหาคม กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถผลักดันแนวรบฝ่ายอักษะให้ถอยไปในยุทธการเอลแอละเมนครั้งที่สอง และด้วยการสิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างสูงลิบ ก็สามารถขนทรัพยากรที่ต้องการไปให้เมืองมอลต้าที่ถูกปิดล้อมเอาไว้ได้ใน จากนั้น ไม่กี่เดือนหลังจากยุทธการเอลแอละเมนครั้งที่สองในอียิปต์ ทางด้านอังกฤษและประเทศเครือจักรภพก็เริ่มเคลื่อนทัพไปทางทิศตะวันตกสู่ประเทศลิเบีย ไม่นานหลังจากที่การบุกครองแอฟริกาเหนือของฝรั่งเศสของสหรัฐอเมริกา-สหราชอาณาจักร ซึ่งก็ได้ชัยชนะ และเป็นผลให้ดินแดนดังกล่าวเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ฮิตเลอร์ได้ตอบสนองต่อการเอาใจออกห่างของอาณานิคมฝรั่งเศสโดยการออกคำสั่งยึดครองฝรั่งเศสเขตวีชี ถึงแม้ว่าฝรั่งเศสเขตวีชีจะไม่ละเมิดเงื่อนไขในข้อตกลงหยุดยิง แต่กระทรวงทหารเรือของฝรั่งเศสเขตวีชีได้จัดการจมกองทัพเรือของตนเพื่อมิให้ตกอยู่ในมือของฝ่ายเยอรมนี เมื่อถูกบีบจากกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้กองทัพฝ่ายอักษะต้องถอยร่นไปตั้งรับในตูนิเซีย ซึ่งนำไปสู่ชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1943
ฝ่ายสัมพันธมิตรตั้งหลักได้
ภายหลังจากการทัพเกาะกัวดัลคะแนล ฝ่ายสัมพันธมิตรก็เริ่มปฏิบัติการทางทหารมากมายต่อกองทัพญี่ปุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิก ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1943 กองทัพอเมริกันถูกส่งออกไปโจมตีกองทัพญี่ปุ่นจากหมู่เกาะอะลูเชียน และเริ่มต้นปฏิบัติการหลักใน เพื่อตัดขาดกำลังสนับสนุน และการฝ่าช่องโหว่ในแนวป้องกันในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม ค.ศ. 1944 กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรก็สามารถประสบความสำเร็จทั้งในสองปฏิบัตการ และยังสามารถได้ในบริเวณหมู่เกาะแคโรไลน์ เมื่อถึงเดือนเมษายน กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรก็ได้เริ่มปฏิบัติการที่จะ
ในสหภาพโซเวียต ทั้งเยอรมนีและโซเวียตต่างตระเตรียมแผนการสำหรับการรุกครั้งใหญ่ในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน ค.ศ. 1943 แถบรัสเซียตอนกลาง เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1943 กองทัพเยอรมันเริ่มเข้าตีกำลังโซเวียตรอบแนวยื่นที่เคิสก์ แต่ฮิตเลอร์กลับต้องยกเลิกแผนการนี้แม้ว่าจะผ่านไปเพียงสัปดาห์เดียว เนื่องจากสูญเสียต่อการวางระบบป้องกันเป็นขั้น ๆ อย่างลึกและการป้องกันที่สร้างไว้อย่างดี ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ฮิตเลอร์มีพฤติการณ์ดังกล่าว แม้ว่าปฏิบัติการดังกล่าวจะยังไม่บรรลุผลทางยุทธศาสตร์หรือยุทธวิธีเลยก็ตาม การตัดสินใจดังกล่าวบางส่วนเป็นผลมาจากการบุกครองเกาะซิซิลีของสัมพันธมิตร เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ประกอบกับความล้มเหลวของอิตาลีที่ผ่านมา ส่งผลให้มุสโสลินีถูกขับออกจากตำแหน่งและถูกจับกุมหลังจากนั้น
วันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1943 สหภาพโซเวียตได้ทำการตีโต้ตอบของตน และดับความหวังใด ๆ ของกองทัพเยอรมันที่จะชนะหรือกระทั่งรักษาสถานการณ์คุมเชิงไว้ได้อีกในทางตะวันออก ชัยชนะที่เคิสก์ของโซเวียตนำพาให้ความเหนือกว่าของเยอรมนีเสื่อมลง และให้สหภาพโซเวียตกลับเป็นฝ่ายริเริ่มในแนวรบด้านตะวันออก ทหารเยอรมันพยายามสร้างความมั่นคงแก่แนวรบด้านตะวันออกของตนตามแนวพันเทอร์-โวทันที่มีการเสริมอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ดี ฝ่ายโซเวียตสามารถตีผ่านแนวดังกล่าวได้ที่สโมเลนสก์และโดยการรุกโลวเออร์นีเปอร์
เดือนกันยายน ค.ศ. 1943 สัมพันธมิตรตะวันตกเริ่มการบุกครองแผ่นดินใหญ่อิตาลี ตามด้วย เยอรมนีสนองโดยการปลดอาวุธกองทัพอิตาลี ยึดการควบคุมทางทหารในพื้นที่อิตาลีทั้งหมด และสร้างแนวป้องกันขึ้นมาหลายชั้นด้วยกัน เมื่อวันที่ 12 กันยายน กองกำลังพิเศษเยอรมัน และสถาปนารัฐบริวารในอิตาลีส่วนที่ถูกเยอรมนียึดครอง ชื่อว่า สาธารณรัฐสังคมนิยมอิตาลี ฝ่ายกองทัพสัมพันธมิตรทะลวงผ่านแนวป้องกันเยอรมันได้หลายแนว จนถึงเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน
ทางด้านการรบทางทะเลในมหาสมุทรแอตแลนติก กองทัพเรือเยอรมันประสบความสูญเสียอย่างหนักในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1943 จนถูกเรียกว่า "" ความสูญเสียกองเรือดำน้ำของฝ่ายเยอรมนีเป็นจำนวนมาก ทำให้การดักทำลายกองทัพเรือฝ่ายสัมพันธมิตรต้องหยุดชะงัก ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1943 แฟรงกลิน โรสเวลต์ และวินสตัน เชอร์ชิลล์ ได้เดินทางไปพบกับเจียง ไคเช็ค ระหว่างการประชุมกรุงไคโร และอีกครั้งกับโจเซฟ สตาลินระหว่างการประชุมเตหะราน และผลจากการประชุมทั้งสองครั้งได้ข้อตกลงว่า สัมพันธมิตรตะวันตกจะบุกครองยุโรปภายในปี ค.ศ. 1944 และสหภาพโซเวียตจะประกาศสงครามกับญี่ปุ่นภายในสามเดือนหลังเยอรมนียอมแพ้
เดือนมกราคม ค.ศ. 1944 กองทัพสัมพันธมิตรได้เข้าตีหลายครั้งที่มอนเตกัสซีโน และพยายามตีโอบด้วย เมื่อถึงปลายเดือนมกราคม กองทัพโซเวียตก็สามารถขับไล่กองทัพเยอรมันออกจากมณฑลเลนินกราด ยุติการล้อมที่เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ปฏิบัติการรุกในเวลาต่อมาของโซเวียตถูกหยุดตรงพรมแดนเอสโตเนียก่อนสงคราม ซึ่งกองทัพกลุ่มเหนือของเยอรมนีได้รับความช่วยเหลือจากชาวเอสโตเนีย ด้วยหวังจะสถาปนาเอกราชของชาติใหม่ ความล่าช้านี้ได้ส่งผลกระทบต่อปฏิบัติการในแถบทะเลบอลติก ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1944 กองทัพโซเวียตปลดปล่อยคาบสมุทรไครเมีย โดยสามารถขับไล่กองทัพอักษะออกจากยูเครนขนานใหญ่ และเริ่มทำการรุกเข้าไปยังโรมาเนีย ซึ่งถูกขับไล่โดยกองทัพอักษะ พร้อมกับที่การรุกอิตาลีของฝ่ายสัมพันธมิตรประสบความสำเร็จ และบังคับให้กองทัพเยอรมันต้องล่าถอยไป และในวันที่ 4 มิถุนายน โรมก็ตกอยู่ในมือของฝ่ายสัมพันธมิตร
เริ่มในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1944 ฝ่ายญี่ปุ่นเริ่มการบุกครองหนึ่งในสองครั้ง คือ และสามารถล้อมที่ตั้งของเครือจักรภพได้ที่อิมผาลและโกหิมา ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1944 กำลังอังกฤษรุกโต้ตอบกองทัพญี่ปุ่นกลับไปยังพม่า และกองทัพจีนซึ่งบุกครองพม่าตอนเหนือเมื่อปลาย ค.ศ. 1943 ได้ล้อมกองทัพญี่ปุ่นไว้ที่มิตจีนาเป็นความพยายามที่จะทำลายกำลังรบหลักของจีน สร้างความปลอดภัยแก่ทางรถไฟระหว่างดินแดนที่ญี่ปุ่นยึดไว้และยึดสนามบินของสัมพันธมิตร เมื่อถึงเดือนมิถุนายน กองทัพญี่ปุ่นสามารถพิชิตมณฑลเหอหนานและเริ่มต้นในมณฑลหูหนาน
ฝ่ายสัมพันธมิตรรุกคืบ
6 มิถุนายน ค.ศ. 1944 ฝ่ายพันธมิตรตะวันตกได้ยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์ม็องดีในปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด และหลังจากการมอบหมายหน้าที่ให้กับกองทัพสัมพันธมิตรหลายกองพลในอิตาลีแล้ว จึงเริ่มการรุกเข้าสู่ฝรั่งเศสตอนใต้ในเดือนสิงหาคม จนสามารถปลดปล่อยกรุงปารีสได้ในวันที่ 25 สิงหาคม และในช่วงเวลาต่อมากระทั่งสิ้นปี กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรได้ผลักดันกำลังเยอรมันในยุโรปตะวันตกกลับไปถึงแม่น้ำไรน์ แต่ความพยายามที่จะรุกเข้าสู่เยอรมนีตอนเหนือ ซึ่งนำโดยปฏิบัติการพลร่มครั้งใหญ่ในเนเธอร์แลนด์ จบลงด้วยความล้มเหลว จากนั้น สัมพันธมิตรตะวันตกผลักเข้าสู่เยอรมนีอย่างช้า ๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการข้ามแม่น้ำรูร์อีกครั้งในการรุกครั้งใหญ่ ในอิตาลี การรุกของสัมพันธมิตรก็ช้าลงเช่นกัน เมื่อถึง
ส่วนทางด้านแนวรบด้านตะวันออก เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน กองทัพโซเวียตได้กระหน่ำโจมตีเป็นชุดอย่างหนักต่อเยอรมนี โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ไล่ตั้งแต่ปฏิบัติการบากราติออนในเบลารุส ซึ่งสามารถทำลายกองทัพกลุ่มกลางของเยอรมนีลงเกือบทั้งหมด ตามด้วยปฏิบัติการในการขับไล่ทหารเยอรมันออกจากยูเครนตะวันตกและโปแลนด์ตะวันออก ซึ่งจากความสำเร็จดังกล่าว ทำให้ขบวนการกู้ชาติโปแลนด์ได้เริ่มต้นก่อการจลาจล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงวอร์ซอ และในสโลวาเกียทางตอนใต้ แต่จลาจลทั้งสองครั้งไม่ได้รับการสนับสนุนจากกำลังโซเวียตเลย และถูกกองทัพเยอรมันปราบปราม ส่วนได้ทำลายกองทัพเยอรมันไปเป็นจำนวนมาก และทำให้เกิดการรัฐประการในโรมาเนียและบัลแกเรีย ส่งผลให้ประเทศทั้งสองเข้ากับฝ่ายสัมพันธมิตรแทน
ในเดือนกันยายน 1944 กองทัพแดงได้เคลื่อนทัพไปยังยูโกสลาเวีย ทำให้กองทัพกลุ่มอีและกองทัพกลุ่มเอฟในกรีซ แอลเบเนีย และยูโกสลาเวียต้องถอยร่นอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันมิให้ถูกตัดออกจากกำลังส่วนอื่น ๆ เมื่อถึงจุดนี้ พลพรรคชาวยูโกสลาฟภายใต้การนำของจอมพล ยอซีป บรอซ ตีโต ซึ่งได้ครอบครองดินแดนจำนวนมากในยูโกสลาเวียและโจมตีกองทัพเยอรมันต่อไปทางทิศใต้ ในเซอร์เบีย กองทัพแดงได้มีส่วนช่วยเหลือพลพรรคในการปลดปล่อยกรุงเบลเกรด เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ไม่กี่วันหลังจากนั้น กองทัพแดงได้โจมตีฮังการีครั้งใหญ่ในการรุกบูดาเปสต์ ซึ่งกินเวลานานก่อนที่กรุงบูดาเปสต์จะแตกในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสหภาพโซเวียตจะประสบความสำเร็จในคาบสมุทรบอลข่าน แต่การต่อต้านของฟินแลนด์ต่อปฏิบัติการของโซเวียตบนคอคอดแครีเลียน ได้ปฏิเสธการยึดครองของสหภาพโซเวียต ก่อนจะมีการนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกด้วยเงื่อนไขที่เสียเปรียบเพียงเล็กน้อย และทำให้ฟินแลนด์เปลี่ยนมาอยู่กับฝ่ายสัมพันธมิตรแทน
ถึงต้นเดือนกรกฎาคม กองทัพเครือจักรภพ ซึ่งตั้งมั่นอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถคลายวงล้อมของกองทัพญี่ป่นที่ลงได้ และสามารถผลักดันให้กองทัพญี่ปุ่นถอยไปได้จนถึง ขณะที่กองทัพจีนสามารถยึดเมืองมยิตคยินาในประเทศพม่าได้ ส่วนทางด้านประเทศจีน กองทัพญี่ปุ่นเริ่มได้รับชัยชนะอย่างมาก จากการยึดเมืองฉางชาไว้ได้ในที่สุดในตอนกลางเดือนมิถุนายน และยึดเมืองได้เมื่อต้นเดือนสิงหาคม จากนั้นจึงได้เคลื่อนทัพต่อไปยังมณฑลกวางสี สามารถเอาชนะกองกำลังจีนได้ที่ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน และประสบความสำเร็จในการเชื่อมต่อกองทัพญี่ปุ่นในจีนและในคาบสมุทรอินโดจีนในกลางเดือนธันวาคม
ด้านมหาสมุทรแปซิฟิก กองทัพอเมริกันยังคงกดดันแนวป้องกันของญี่ปุ่นตามหมู่เกาะต่าง ๆ ต่อไป ราวกลางเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1944 กองทัพอเมริกันเริ่มการโจมตีหมู่เกาะมาเรียนาและปาเลา และได้รับชัยชนะเด็ดขาดต่อกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นในภายในเวลาไม่กี่วัน ผลของความปราชัยนี้นำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นของพลเอกโตโจ และทำให้สหรัฐอเมริกามีฐานทัพอากาศซึ่งสามารถรองรับเครื่องบินทิ้งระเบิดหนักเพื่อโจมตีแผ่นดินใหญ่ญี่ปุ่นได้ ปลายเดือนตุลาคม กองทัพอเมริกันยกพลขึ้นบกที่ หลังจากนั้นไม่นาน กองทัพเรือของสัมพันธมิตรก็ได้รับชัยชนะครั้งใหญ่ต่อกองทัพญี่ปุ่นอีกครั้งในยุทธนาวีอ่าวเลย์เต ซึ่งถือได้ว่ายุทธนาวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
อักษะล่มสลาย ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ชัย
วันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1944 กองทัพเยอรมันได้พยายามอย่างเข้าตาจนเพื่อความสำเร็จโดยการเรียกระดมกองหนุนเยอรมัน และตีโต้ตอบครั้งใหญ่ที่ป่าอาร์เดินเนส เพื่อที่จะแบ่งแยกฝ่ายพันธมิตรตะวันตก โอบล้อมกองกำลังฝ่ายพันธมิตรตะวันตกขนาดใหญ่และยึดครองเมืองท่าเสบียงที่สำคัญที่อันท์เวิร์พ เพื่อที่จะรักษาความสงบทางการเมือง ซึ่งกินเวลาจนถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 1945 โดยไม่บรรลุวัตถุประสงค์ทางยุทธศาสตร์แต่อย่างใดเลย ส่วนในแนวรบด้านตะวันออก กองทัพโซเวียตโจมตีถึงฮังการี และกองทัพเยอรมันจำเป็นต้องทิ้งกรีซและยูโกสลาเวีย ขณะที่ในอิตาลี กองทัพสัมพันธมิตรยังคงไม่สามารถโจมตีผ่านแนวป้องกันของเยอรมันได้ และกลางเดือนมกราคม ค.ศ. 1945 สหภาพโซเวียตโจมตีโปแลนด์ สามารถผลักดันกองทัพเยอรมันจากแม่น้ำวิสตูลาถึงแม่น้ำโอเดอร์ในเยอรมนี และยึดครองปรัสเซียตะวันออก เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสหภาพโซเวียตได้เข้าร่วมการประชุมที่ยัลตา ซึ่งได้ข้อสรุปถึงการแบ่งปันดินแดนของเยอรมนีภายหลังสงคราม และกำหนดเวลาที่สหภาพโซเวียตจะเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่น
ในเดือนกุมภาพันธ์ กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกได้เข้าสู่แผ่นดินของเยอรมนีและเข้าประชิดแม่น้ำไรน์ ขณะที่กองทัพโซเวียตและไซลีเชีย เมื่อถึงเดือนมีนาคม กองทัพสัมพันธมิตรตะวันตกได้ข้ามแม่น้ำไรน์ทั้งทางเหนือและทางใต้ของ และสามารถล้อมกองทัพเยอรมันขนาดใหญ่เอาไว้ ส่วนด้านกองทัพโซเวียตสามารถรุกเข้าถึงกรุงเวียนนา ในที่สุดกองทัพสัมพันธมิตรตะวันดกก็สามารถ และสามารถโจมตีได้ทางตะวันตกของเยอรมนี เมื่อต้นเดือนเมษายน ค.ศ. 1945 ขณะที่ปลายเดือนเดียวกัน กองทัพโซเวียตเข้าถล่มกรุงเบอร์ลิน กองทัพฝ่ายพันธมิตรตะวันตกและกองทัพโซเวียตได้มาบรรจบกันที่แม่น้ำเอลเบอ เมื่อวันที่ 25 เมษายน เมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1945 อาคารรัฐสภาไรชส์ทาคถูกยึดครอง แสดงถึงความพ่ายแพ้ทางการทหารของนาซีเยอรมนี
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 เมษายน ประธานาธิบดีสหรัฐ แฟรงกลิน โรสเวลต์ ถึงแก่อสัญกรรมขณะดำรงตำแหน่ง ผู้ที่มารับตำแหน่งต่อคือรองประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน ขณะที่เบนิโต มุสโสลินีถูกสังหารโดย เมื่อวันที่ 28 เมษายน และอีกสองวันให้หลัง ฮิตเลอร์ทำพินัยกรรมมอบอำนาจให้กับจอมพลเรือคาร์ล เดอนิทซ์ และยิงตัวตายในฟือเรอร์บุงเคอร์
หลังจากนั้น กองทัพเยอรมันในอิตาลีได้ยอมแพ้ในวันที่ 29 เมษายน ส่วนเยอรมนีได้ยอมแพ้ในยุโรปตะวันตกเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ทว่ากองทัพเยอรมันยังรบกับกองทัพโซเวียตในแนวรบด้านตะวันออกต่อไปถึงวันที่ 8-9 พฤษภาคม ส่วนกองทัพเยอรมันที่เหลือเพียงเล็กน้อยได้ทำการสู้รบต้านทานกับกองทัพโซเวียตในกรุงปรากกระทั่งยอมจำนนเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม
ทางด้านมหาสมุทรแปซิฟิก กองทัพสหรัฐอเมริกาได้รุกเข้าสู่ หลังจากได้ชัยในเกาะเลเตเมื่อปลายปี ค.ศ. 1944 จากนั้นก็ ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1945 และสามารถคืนได้ในเดือนมีนาคม; การรบบนเกาะลูซอน และเกาะอื่น ๆ ยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม ในเดือนพฤษภาคม กองกำลังออสเตรเลียยกพลขึ้นบกบนเกาะบอร์เนียว และสามารถยึดครองบ่อน้ำมันที่นั่นได้ กองกำลังอังกฤษ อเมริกัน และจีนก็สามารถเอาชนะกองทัพญี่ปุ่นในพม่าตอนเหนือเมื่อเดือนพฤษภาคม และกองทัพอังกฤษรุดหน้าไปถึงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม
กองทัพอเมริกันยังคงมุ่งหน้าเข้าสู่ญี่ปุ่น สามารถยึดเกาะอิโวะจิมะได้ในเดือนมีนาคม และยึดเกาะโอะกินะวะได้ในเดือนมิถุนายน ในขณะที่เครื่องบินทิ้งระเบิดของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาได้ทำลายเมืองต่าง ๆ ของญี่ปุ่น และเรือดำน้ำอเมริกันก็เข้าปิดล้อมเกาะญี่ปุ่น ตัดขาดการนำเข้าจากภายนอก
วันที่ 11 กรกฎาคม บรรดาผู้นำฝ่ายสัมพันธมิตรประชุมที่พ็อทซ์ดัม ประเทศเยอรมนี ได้ข้อสรุปว่า ที่ประชุมให้ และย้ำถึงความจำเป็นของญี่ปุ่นที่จะต้องยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำกล่าวที่ว่า "ทางเลือกสำหรับญี่ปุ่นคือการทำลายล้างฉับพลันสิ้นซาก" ระหว่างการประชุมนี้ สหราชอาณาจักรจัด และได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรแทนวินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีคนเดิม
เมื่อญี่ปุ่นได้ปฏิเสธข้อเสนอที่พ็อทซ์ดัม สหรัฐอเมริกาจึงตัดสินใจทิ้งระเบิดปรมาณูสองลูกบนแผ่นดินญี่ปุ่นที่ฮิโระชิมะและนะงะซะกิ ต้นเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945 ระหว่างการทิ้งระเบิดปรมาณูทั้งสองลูก สหภาพโซเวียตก็ประกาศสงครามกับญี่ปุ่น และโจมตีแมนจูเรียของญี่ปุ่น ตามข้อตกลงยัลตา ญี่ปุ่นได้ตัดสินใจยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข ในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1945 หลังจากนั้นในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 ญี่ปุ่นได้ลงนามในตราสารยอมจำนนอย่างเป็นทางการ และเป็นจุดจบของสงครามด้วยเช่นกัน
หลังสงคราม
ฝ่ายสัมพันธมิตรได้สถาปนาการบริหารยึดครองในออสเตรียและเยอรมนี ออสเตรียนั้นได้กลายมาเป็นรัฐที่เป็นกลางทางการเมือง โดยไม่อิงกับกลุ่มการเมืองใด ๆ ส่วนเยอรมนีนั้นถูกแบ่งออกเป็นเขตยึดครองฝั่งตะวันตกและตะวันออกซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมโดยฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกและสหภาพโซเวียตตามลำดับ โครงการขจัดความเป็นนาซี (Denazification) ในเยอรมนีได้นำไปสู่การฟ้องอาชญากรสงครามนาซีและการปลดอดีตผู้นำนาซีลงจากอำนาจ แต่ต่อมานโยบายนี้ได้เปลี่ยนไปเป็นการนิรโทษกรรมและการยอมรับอดีตนาซีเข้ากับสังคมเยอรมนีตะวันตกอีกครั้ง เยอรมนีสูญเสียพื้นที่ไปหนึ่งในสี่จากพื้นที่เมื่อ ค.ศ. 1937 พื้นที่ทางตะวันออก ได้แก่ ไซลีเชีย นอยมาร์ค และส่วนใหญ่ของพอเมอเรเนียถูกผนวกเข้ากับโปแลนด์ ปรัสเซียตะวันออกถูกแบ่งระหว่างโปแลนด์กับสหภาพโซเวียต ตามด้วยการขับไล่ชาวเยอรมัน 9 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ เช่นเดียวกับชาวเยอรมัน 3 ล้านคนออกจากซูเดเตนแลนด์ในเชโกสโลวาเกียไปยังเยอรมนี ภายในคริสต์ทศวรรษ 1950 ชาวเยอรมันตะวันตกหนึ่งในห้าคนเป็นผู้ลี้ภัยมาจากทางตะวันออก สหภาพโซเวียตยังได้ยึดครองจังหวัดของโปแลนด์ที่อยู่ทางตะวันออกของเส้นเคอร์ซอน ซึ่งชาวโปแลนด์กว่า 2 ล้านคนถูกขับไล่ออกมาด้วย การยึดครองนี้รวมไปถึงโรมาเนียตะวันออก บางส่วนของฟินแลนด์ตะวันออก และรัฐบอลติกทั้งสาม
ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรได้ก่อตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้น ด้วยความพยายามที่จะรักษาสันติภาพทั่วโลก โดยมีผลอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1945 และปรับใช้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในปี ค.ศ. 1948 อันเป็นมาตรฐานสามัญซึ่งทุกชาติสมาชิกจะต้องบรรลุ ความสัมพันธ์ระหว่างสัมพันธมิตรตะวันตกและสหภาพโซเวียตได้เสื่อมลงตั้งแต่ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะจบลงแล้ว และชาติอภิมหาอำนาจแต่ละฝ่ายต่างก็เริ่มสร้างเขตอิทธิพลของตนเองอย่างรวดเร็ว ทวีปยุโรปได้ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ด้วยอิทธิพลของฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกและสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า "ม่านเหล็ก" ซึ่งได้ลากผ่านประเทศเยอรมนีและประเทศออสเตรีย สหภาพโซเวียตได้สร้างค่ายตะวันออกขึ้น โดยการผนวกดินแดนหลายประเทศซึ่งถูกยึดครองอยู่ในลักษณะของ ซึ่งเดิมจะต้องผนวกรวมเข้ากับเยอรมนี ตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพ อย่างเช่น โปแลนด์ตะวันออก รัฐบอลติกทั้งสาม บางส่วนของฟินแลนด์ตะวันออก และโรมาเนียตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนรัฐอื่นที่สหภาพโซเวียตยึดครองในระหว่างสงครามก็ถูกเปลี่ยนเป็นรัฐบริวารของสหภาพโซเวียต อย่างเช่น สาธารณรัฐประชาชนโปแลนด์ สาธารณรัฐประชาชนฮังการีสาธารณรัฐสังคมนิยมสโลวักสาธารณรัฐประชาชนโรมาเนีย สาธารณรัฐประชาชนแอลเบเนีย และเยอรมนีตะวันออกภายใต้การยึดครองของสหภาพโซเวียต
ในทวีปเอเชีย สหรัฐอเมริกาได้เข้ายึดครองญี่ปุ่น และดำเนินการปกครองหมู่เกาะต่าง ๆ ของญี่ปุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก ขณะที่สหภาพโซเวียตก็เข้ายึดครองเกาะซาฮาลินและหมู่เกาะคูริล ส่วนเกาหลีภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นนั้น ก็ จากความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ทำให้สหรัฐอเมริกาได้ก่อตั้งพันธมิตรเนโท และทางสหภาพโซเวียตก็ได้ก่อตั้งสนธิสัญญาวอร์ซอขึ้น ทั้งสององค์การทางทหารนี้อาจถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็น
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นไม่นาน เกิดเหตุการณ์เกาหลีเหนือบุกครองเกาหลีใต้ขึ้น ระหว่างเกาหลีเหนือซึ่งได้รับการหนุนหลังโดยจีนและสหภาพโซเวียต กับเกาหลีใต้ภายใต้ความช่วยเหลือของสหประชาชาติ ซึ่งทึ่สุดแล้วจบลงด้วยการเสมอกันและสัญญาหยุดยิง หลังจากนั้น ผู้นำเกาเหลีเหนือ คิม อิลซอง ได้สร้างรูปแบบการปกครองที่รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางอย่างมาก รวมทั้งก่อให้เกิดลัทธิบูชาบุคคลอันน่าเกรงขาม
หลายประเทศซึ่งถูกชาติตะวันตกยึดครองเป็นอาณานิคม ได้ประกาศเอกราชและแยกตัวออกมาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากความสูญเสียทรัพยากรของชาติตะวันตก ทำให้อิทธิพลจากภายนอกอ่อนแอลง โดยการแยกตัวดังกล่าวได้เกิดขึ้นอย่างสันติในหลายประเทศ ยกเว้นในเวียดนาม และแอลจีเรีย ในอีกหลายพื้นที่ในโลก ทำให้เกิดเป็นประเทศใหม่ขึ้นมามากมาย ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรมและศาสนา การประกาศเอกราชที่โดดเด่นมาก คือ อันนำไปสู่การก่อตั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ และในอินเดียก็เกิดการแตกออกเป็นสองประเทศ คือ อินเดียและปากีสถาน
ส่วนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองมีความแตกต่างกันในหลากหลายภูมิภาคของโลก และพบว่าในหลายประเทศมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในทางบวก เช่น เยอรมนีตะวันตก ซึ่งเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจนอยู่ในสถานะก่อนสงครามได้ในคริสต์ทศวรรษ 1950 อิตาลี ซึ่งออกจากสงครามด้วยสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ในคริสต์ทศวรรษ 1950 เศรษฐกิจของอิตาลีก็มีอัตราการเติบโตสูงและมีเสถียรภาพ สหราชอาณาจักรออกจากสงครามด้วยเศรษฐกิจตกต่ำเช่นกัน แต่สภาพทางเศรษฐกิจของอังกฤษยังคงถดถอยอีกเป็นเวลากว่าทศวรรษ ฝรั่งเศสก็มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างรวดเร็วเช่นกัน และมีอัตราการเจริญเติบโตสูงและมีการดำเนินตามสมัยนิยม สหภาพโซเวียตก็มีอัตราการผลิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังสงคราม และญี่ปุ่น ซึ่งมีอัตราการเติบโจทางเศรษฐกิจสูงมาก จนกระทั่งก้าวขึ้นเป็นอภิมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 จีน ซึ่งเป็นประเทศล้มละลายจากผลของสงครามกลางเมือง แต่ในปี ค.ศ. 1953 เศรษฐกิจก็มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว และมีอัตราการผลิตกลับมาเป็นปกติเหมือนก่อนสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกาที่มีผลผลิตทางอุตสาหกรรมคิดเป็นครึ่งหนึ่งของโลก แต่ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาก็ถดถอยอย่างหนัก
ผลกระทบของสงคราม
ความสูญเสียและอาชญากรรมสงคราม
ได้มีการประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่สองไว้อย่างหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่ได้เสนอว่าคิดเป็นจำนวนมากกว่า 60 ล้านคน ประกอบไปด้วยทหารอย่างน้อย 22 ล้านคน และพลเรือนอย่างน้อย 40 ล้านคน สาเหตุเสียชีวิตของพลเรือนส่วนใหญ่นั้นมาจากโรคระบาด การอดอาหาร การฆ่าฟัน และการทำลายพืชพันธุ์ ด้านสหภาพโซเวียตสูญเสียประชากรราว 27 ล้านคนระหว่างช่วงสงคราม คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของความสูญเสียทั้งหมดระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
จากความสูญเสียร้อยละ 85 เป็นของฝ่ายสัมพันธมิตร (ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนและชาวโซเวียต) และร้อยละ 15 เป็นของฝ่ายอักษะ มีการประมาณว่ามีพลเรือนราว 12 ล้านคนเสียชีวิตในค่ายกักกันนาซี 1.5 ล้านคนจากการทิ้งระเบิด และสาเหตุอื่นๆ ในยุโรปอีก 7 ล้านคน รวมไปถึงอีก 7.5 ล้านคนในจีน โดยเหตุการณ์ที่โด่งดัง ได้แก่ การสังหารหมู่ที่นานกิง โดยสาเหตุที่ตัวเลขความสูญเสียมีความแตกต่างกันมากนั้นมีสาเหตุมาจากว่าการตายส่วนใหญ่ไม่ได้มีการจดบันทึกเอาไว้
จำนวนการเสียชีวิตจำนวนมากเป็นผลมาจากการล้างชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นในดินแดนภายใต้การยึดครองของฝ่ายอักษะ และอาชญากรรมสงครามอื่น ๆ ซึ่งถูกกระทำโดยชาวเยอรมันและชาวญี่ปุ่น โดยเหตุการณ์ที่เป็นที่รู้จักกันดีของอาชญากรรมสงครามชาวเยอรมัน ได้แก่ ฮอโลคอสต์ ซึ่งเป็นการล้างชาติอย่างเป็นระบบในเขตยึดครองของเยอรมนีและพันธมิตร โดยนอกจากชาวยิวแล้ว ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มความคิดอื่น ๆ ถูกสังหารอีกเป็นจำนวนกว่า 5 ล้านคน และด้านทหารญี่ปุ่นก็ได้สังหารพลเรือนราว 3 - 10 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ระหว่างสงครามโลกครั้งทีสอง
นอกจากนั้น เรื่องของการใช้อาวุธชีวภาพและอาวุธเคมียังได้ถูกนำมาตัดสินด้วย ทหารอิตาลีได้ใช้แก๊สมัสตาร์ดในการบุกครองเอธิโอเปีย ส่วนญี่ปุ่นได้ใช้อาวุธดังกล่าวในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง และในสงครามชายแดนโซเวียต-ญี่ปุ่น โดยทั้งเยอรมนีและญี่ปุ่นได้มีการทดลองอาวุธกับพลเรือนและเชลยสงครามจำนวนมาก
ขณะที่การตัดสินคดีความอาชญากรรมสงครามของฝ่ายอักษะถูกชำระความในศาลชำระความระหว่างประเทศแห่งแรก แต่ว่าอาชญากรรมของฝ่ายสัมพันธมิตรกลับตรงกันข้าม ตัวอย่างอาชญากรรมสงคราม เช่น ค่ายใช้แรงงานของโซเวียต การกักกันชาวญี่ปุ่น-อเมริกันในสหรัฐอเมริกา (Operation Keelhaul) การขับไล่ชาวเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การข่มขืนระหว่างการยึดครองเยอรมนี การสังหารหมู่คาตินของสหภาพโซเวียต นอกจากนี้ ในสงครามยังมีผู้เสียชีวิตเป็นอันมากจากทุพภิกขภัย เช่น ทุพภิกขภัยแคว้นเบงกอล ค.ศ. 1943 และทุพภิกขภัยเวียดนาม ค.ศ. 1944-45
นักประวัติศาสตร์บางคนเสนอว่า การทิ้งระเบิดขนานใหญ่ในเขตพลเรือนในดินแดนข้าศึกของสัมพันธมิตรตะวันตก รวมทั้งโตเกียว และที่โดดเด่นที่สุดคือ นครเดรสเดิน ฮัมบวร์ค และโคโลญของเยอรมนี อันเป็นผลให้นครกว่า 160 แห่งถูกทำลายล้าง และพลเรือนชาวเยอรมันเสียชีวิตกว่า 600,000 คน ควรถูกพิจารณาว่าเป็นอาชญากรรมสงครามด้วย
ค่ายกักกันและการใช้แรงงานทาส
ฮอโลคอสต์ได้สังหารชาวยิวในทวีปยุโรปเป็นจำนวนอย่างน้อย 6 ล้านคน รวมไปถึงเชื้อชาติอื่น ๆ อีกที่ถูกพวกนาซีลงความเห็นว่าเป็นพวกที่ "ไม่คู่ควร" หรือ "ต่ำกว่ามนุษย์" (รวมไปถึงผู้ที่ทุพพลภาพ ผู้ที่มีอาการป่วยทางจิต เชลยสงครามโซเวียต พวกรักร่วมเพศ และชาวยิปซี) โดยเป็นส่วนหนึ่งของถอนรากถอนโคนอย่างจงใจ และได้รับการดำเนินการโดยรัฐบาลฟาสซิสต์นาซี นำโดยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มีกรรมกรและคนงานราว 12 ล้านคน ซึ่งโดยส่วนมากมาจากยุโรปตะวันออก ได้ถูกว่าจ้างให้มาทำงานให้เศรษฐกิจสงครามของนาซีเยอรมนี
นอกเหนือจากค่ายกักกันของนาซีแล้ว ยังมีค่ายกูลักหรือของสหภาพโซเวียต ซึ่งได้นำไปสู่ความตายของพลเรือนจำนวนมากในดินแดนยึดครองของฝ่ายนาซีเยอรมนีและสหภาพโซเวียต ได้แก่ โปแลนด์ ลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย รวมไปถึงเชลยสงครามของเยอรมนี และยังมีชาวโซเวียตบางส่วนที่คาดว่าเป็นผู้สนับสนุนของฝ่ายนาซี จากหลักฐานพบว่าเชลยสงครามของโซเวียตกว่า 60% ของทั้งหมดได้เสียชีวิตระหว่างสงคราม ริชาร์ด โอเวรีได้บันทึกตัวเลขเชลยศึกชาวโซเวียตไว้ 5.7 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ 57% เสียชีวิต คิดเป็น 3.6 ล้านคน เชลยศึกโซเวียตที่รอดชีวิตและหลบหนีเข้าสู่มาตุภูมิจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนทรยศ (ดูเพิ่ม: )
ค่ายเชลยสงครามของญี่ปุ่นเองก็มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และยังมีการตั้งเป็นค่ายแรงงาน ภายหลังจากการตัดสินของศาลทหารระหว่างประเทศสำหรับตะวันออกไกล (เดิมชื่อ ศาลพิเศษโตเกียว) ได้ลงมติว่าอัตราการเสียชีวิตของเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรคิดเป็น 27.1% (ในจำนวนนี้เป็นทหารสหรัฐอเมริกา 37%) คิดเป็นเจ็ดเท่าของอัตราเดียวกันของค่ายแรงงานของนาซีเยอรมนีและอิตาลี แต่จำนวนดังกล่าวนั้นมีสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชลยศึกชาวจีน ซึ่งจากคำสั่งที่ได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1937 โดยจักรพรรดิฮิโรฮิโตได้ระบุว่า ชาวจีนไม่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายระหว่างประเทศ หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ทหารสหราชอาณาจักรได้รับการปล่อยตัว 37,853 นาย ทหารเนเธอร์แลนด์ 28,500 นาย ทหารสหรัฐอเมริกา 14,473 นาย แต่พบว่าทหารจีนถูกพบว่าได้รับการปล่อยตัวเพียง 56 นาย
อ้างอิงจากการศึกษาร่วมกันของนักประวัติศาสตร์ ได้สรุปว่า มีชาวจีนมากกว่า 10 ล้านคนถูกเกณฑ์โดยกองทัพญี่ปุ่น และถูกใช้แรงงานอย่างทาส เพื่อวงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา ทั้งในแมนจูกัวและทางภาคเหนือของประเทศจีน ห้องสมุดรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกาได้ประมาณว่าในเกาะชวาว่าชาวอินโดนีเซียกว่า 4 ถึง 10 ล้านคนต้องถูกบังคับให้ทำงานแก่กองทัพญี่ปุ่นระหว่างสงคราม ชาวอินโดนีเซียบนเกาะชวากว่า 270,000 คนได้ถูกส่งไปทำงานในดินแดนที่ญี่ปุ่นยึดครองอยู่ในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งมีเพียง 52,000 คนเท่านั้นที่สามารถกลับคืนสู่ถิ่นเดิมได้
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1942 ประธานาธิบดีโรสเวลต์ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารที่ 9066 ซึ่งได้ทำการกักตัวชาวญี่ปุ่น อิตาลี และเยอรมัน และผู้อพยพบางส่วนจากหมู่เกาะฮาวาย ซึ่งหลบหนีหลังจากการโจมตีที่ฐานทัพเรือเพิร์ลในช่วงเวลาระหว่างสงครามเป็นจำนวนมาก ชาวญี่ปุ่น-อเมริกันถูกกักตัวโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเป็นจำนวนกว่า 150,000 คน รวมไปถึงชาวเยอรมันและชาวอิตาลีซึ่งอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาเกือบ 11,000 คน
ขณะเดียวกัน ก็การใช้แรงงานโดยฝ่ายสัมพันธมิตรเช่นกัน ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นในดินแดนตะวันออก อย่างเช่นในโปแลนด์ แต่ยังมีผู้ใช้แรงงานอีกกว่าล้านคนในตะวันตก ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1945 หลักฐานของฝรั่งเศสได้ระบุว่ามีเชลยสงครามชาวเยอรมันกว่า 2,000 คน ตายหรือพิการทุกเดือนในอุบัติเหตุการเก็บกวาดทุ่นระเบิด
แนวหลังและอุตสาหกรรม
ในทวีปยุโรป ช่วงสงครามเริ่มขึ้นใหม่ ๆ นั้นฝ่ายสัมพันธมิตรนั้นมีความได้เปรียบทั้งทางด้านจำนวนประชากรและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ในปี 1938 ฝ่ายสัมพันธมิตรมีประชากรมากกว่าฝ่ายอักษะ 30% และอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศมากกว่าฝ่ายอักษะ 30% ซึ่งทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรได้เปรียบทางยุทธศาสตร์มากกว่า 5:1 ในด้านจำนวนประชากรและอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมคิดเป็น 2:1
ในทวีปเอเชีย จีนนั้นมีประชากรเป็นหกเท่าของญี่ปุ่น และมีอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศมากกว่าญี่ปุ่นไป 89% แต่ถ้าหากรวมเอาอาณานิคมของญี่ปุ่นเข้าไปด้วย ความแตกต่างของจำนวนประชากรจะลดลงเหลือเพียงสามเท่าและความก้าวหน้าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศลดลงเหลือ 38%
แม้ความแตกต่างระหว่างทั้งสองฝ่ายจะมีมาก แต่ฝ่ายอักษะก็สามารถตัดกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรได้ด้วยบลิทซครีกของเยอรมนีและญี่ปุ่นหลายครั้ง ทว่าความได้เปรียบทางเศรษฐกิจและประชากรของฝ่ายสัมพันธมิตรได้กลายมาเป็นปัจจัยแตกหักจนถึง ค.ศ. 1942 หลังสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเข้าสู่สงคราม โดยสงครามได้เปลี่ยนไปเป็นสงครามแห่งความสูญเสีย ช่วงปลายสงคราม ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถช่วงชิงความได้เปรียบทางเศรษฐกิจได้ด้วยการเข้ายึดแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ ความไม่เต็มใจของเยอรมนีและญี่ปุ่นที่จะเกณฑ์แรงงานสตรี และการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจสงครามในตอนปลาย เยอรมนีและญี่ปุ่นนั้นแท้จริงแล้วไม่ได้เตรียมการอย่างเหมาะสมสำหรับสงครามยืดเยื้อและไม่มีขีดความสามารถใด ๆ เลยที่จะทำเช่นนั้น เพื่อที่จะเพิ่มการผลิต เยอรมนีและญี่ปุ่นจำเป็นต้องอาศัยแรงงานจากประเทศที่ตนเองสามารถยึดครองได้มาใช้แรงงานนับล้าน โดยพบว่าเยอรมนีได้มีการใช้แรงงานทาสกว่า 12 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากยุโรปตะวันออก และญี่ปุ่นได้มีการใช้แรงงานทาสเอเชียตะวันออกไกลกว่า 18 ล้านคน
ดินแดนที่ถูกยึดครองระหว่างสงคราม
ในทวีปยุโรป การยึดครองแบ่งออกเป็นสองประเภท สำหรับยุโรปตะวันตก ยุโรปเหนือ และยุโรปกลาง เยอรมนีได้ออกนโยบายทางเศรษฐกิจซึ่งได้ผลตอบแทนกว่า 69.5 ล้านล้านไรช์มาร์กจนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม ซึ่งยังไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ยุทโธปกรณ์ทางทหาร วัตถุดิบและสินค้าอื่น ๆ ซึ่งเรียกกันว่า (Nazi plunder) รายได้ของนาซีเยอรมนีในดินแดนยึดครองนั้นคิดเป็นกว่าร้อยละ 40 ของรายได้จากภาษีในแผ่นดินเยอรมนี และเพิ่มขึ้นเป็นเกือบร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมดของเยอรมนีในช่วงระหว่างสงคราม
ส่วนทางยุโรปตะวันออก ซึ่งคนทั้งหลายต่างก็หวังต่อผลประโยชน์จากนโยบายแสวงหาพื้นที่อยู่อาศัยไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากแนวรบซึ่งไม่แน่นอน และผลจากนโยบาย "สกอชท์เอิร์ธ" ของโซเวียต ซึ่งเป็นการปฏิเสธมิให้ทรัพยากรทั้งหลายตกอยู่ในเงื้อมมือของชาวเยอรมัน ไม่เหมือนกับทางยุโรปตะวันตก นั้นได้ก่อให้เกิดความเลวร้ายต่าง ๆ กับ "ชนชั้นต่ำกว่ามนุษย์" ในแนวรบด้านตะวันออก จึงเต็มไปด้วยการฆาตกรรมและการสังหารหมู่ และถึงแม้ว่าจะมีขบวนการกู้ขาติเกิดขึ้นมากมายในประเทศที่ถูกยึดครอง แต่ก็ยังไม่สามารถก่อให้เกิดผลกระทบโดยรวมต่อการขยายตัวของนาซีเยอรมนีได้ กระทั่งปลาย ค.ศ. 1943
ในเอเชีย ญี่ปุ่นพยายามสร้างวงไพบูลย์มหาเอเชียบูรพาขึ้น และมีจุดประสงค์ที่จะครองความเป็นใหญ่ โดยอ้างการปลดปล่อยชาติที่ต้องตกเป็นอาณานิคมของชาติอภิมหาอำนาจในทวีปยุโรป ถึงแม้ว่ากองทัพญี่ปุ่นนั้นจะได้รับการต้อนรับจากนักต่อสู้เพื่อเอกราชในหลายดินแดน แต่ว่าเนื่องจากการกระทำที่โหดร้ายได้เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อญี่ปุ่นไปเสียภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ระหว่างการยึดครองของญี่ปุ่นในช่วงแรกนั้นได้รับน้ำมันกว่า 4 ล้านแกลลอนจากการล่าถอยของฝ่ายสัมพันธมิตร และใน ค.ศ. 1943 ญี่ปุ่นได้ผลผลิตจากหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์กว่า 50 ล้านแกลลอน กว่าร้อยละ 76 ของอัตราการผลิตของญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1940
การพัฒนาเทคโนโลยีและรูปแบบการทำสงคราม
ระหว่างสงคราม อากาศยานยังคงดำรงบทบาทของตนทั้งในการลาดตระเวนสำรวจ เครื่องบินขับไล่ เครื่องบินทิ้งระเบิด และการสนับสนุนภาคพื้นดินมาจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ถึงแม้ว่าอากาศยานทั้งหลายจะได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นอย่างมากแล้ว บทบาทที่สำคัญของอากาศยานอีกสองประการนอกเหนือจากที่ได้กล่าวมาแล้ว ได้แก่ การขนส่งทางอากาศ เป็นความสามารถที่จะเคลื่อนย้ายเสบียง เครื่องยุทธภัณฑ์และหน่วยทหารได้อย่างรวดเร็วตามลำดับความสำคัญ ถึงแม้ว่าจะยังมีปริมาณที่รองรับได้ต่ำอยู่ก็ตาม และ ซึ่งเป็นการทิ้งระเบิดถล่มเป้าหมายพลเรือนด้วยความหวังที่จะทำลายอุตสาหกรรมและขวัญกำลังใจของข้าศึกเองก็มีการพัฒนาขึ้นเช่นกัน รวมไปถึงอุปกรณ์ป้องกันภัยที่สำคัญ เช่น เรดาร์ และปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ได้รับการพัฒนาเป็นอย่างสูง อย่างเช่น ของเยอรมนี อากาศยานเจตก็ปรากฏให้เห็นเป็นครั้งแรกในการออกปฏิบัติการจำนวนหนึ่งระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และถึงแม้ว่าอากาศยานเจตจะถูกนำเข้าสู่สงครามในตอนปลาย และปรากฏให้เห็นเพียงจำนวนน้อย หมายความว่าพวกมันไม่มีผลกระทบต่อสงครามโดยตรงด้วยตัวเอง และจำนวนน้อยถูกพบเห็นในการบริการขนส่งขนาดใหญ่หลังจากสงคราม
ส่วนในทะเล ในขณะที่การพัฒนาเกิดขึ้นในการทำสงครามทางทะเลในเกือบทุกรูปแบบ แต่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในการพัฒนาเรือบรรทุกเครื่องบินและเรือดำน้ำ ถึงแม้ว่าในตอนต้นของสงคราม การทำสงครามการบินประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อยก็ตาม แต่ปฏิบัติการในตารันโต อ่าวเพิร์ล ทะเลจีนใต้ และทะเลคอรัล ได้ทำให้เรือบรรทุกเครื่องบินก้าวขึ้นมากมีบทบาทสำคัญแทนที่เรือประจัญบาน ในมหาสมุทรแอตแลนติก เรือบรรทุกเครื่องบินถูกพิสูจน์แล้วว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในระบบกองเรือคุ้มกันฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้ประสิทธิภาพรัศมีในการป้องกันเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และมีส่วนช่วยในการอุด นอกเหนือจากประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นแล้ว เรือบรรทุกเครื่องบินยังประหยัดกว่าเรือประจัญบานเนื่องจากเครื่องบินมีราคาต่ำ และลำเรือไม่จำเป็นจะต้องหุ้มเกราะหนา เรือดำน่ำ ซึ่งถูกพิสูจน์ว่าเป็นอาวุธอันทรงประสิทธิภาพระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้มีการคาดการณ์ล่วงหน้าโดยทุกฝ่ายว่าจะมีบทบาทสำคัญในสงครามโลกครั้งที่สอง ฝ่ายอังกฤษมุ่งเน้นไปยังอุปกรณ์และยุทธวิธีในการต่อสู้เรือดำน้ำ อย่างเช่น โซนาร์ และระบบกองเรือคุ้มกัน ในขณะที่เยอรมนีมุ่งเน้นไปยังการพัฒนาความสามารถในการรุก ด้วยการออกแบบ และยุทธวิธี และการพัฒนาเทคโนโลยีของฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างช้า ๆ ก็ได้พิสูจน์ถึงชัยชนะ
ส่วนรูปแบบการรบภาคพื้นดินได้เปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากแนวรบอยู่กับที่ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เปลี่ยนมาเป็นการรบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นแนวคิดมาจากรูปแบบการทำสงครามระหว่างเหล่าทัพ ซึ่งเป็นการประสานงานกันระหว่างคุณสมบัติของกองกำลังทหารที่หลากหลาย รถถัง ซึ่งถูกใช้สนับสนุนทหารราบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้พัฒนาจนกลายมาเป็นอาวุธพื้นฐานของกองกำลังทั้งหมดในสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1930 การออกแบบรถถังได้มีการพัฒนาขึ้นเป็นอย่างมากในทุกด้าน เมื่อเทียบกับเมื่อครั้งสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และยังได้มีการพัฒนาความเร็ว เกราะและกำลังยิงที่เพิ่มมากขึ้น ยังได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระหว่างสงคราม ในช่วงแรกของสงคราม กองทัพส่วนใหญ่พิจารณาว่ารถถังเป็นอาวุธที่ดีที่สุดในการต่อสู้รถถังด้วยกัน จึงได้พัฒนารถถังที่มีจุดประสงค์พิเศษขึ้นเพื่อบรรลุผลนั้น แต่แนวคิดดังกล่าวได้รับการพิสูจน์ว่าผิดในการปฏิบัติของรถถังค่อนข้างเบาในช่วงแรกในการต่อกรกับรถถัง และหลักนิยมของเยอรมันในการหลีกเลี่ยงการรบแบบรถถังต่อรถถัง และอีกปัจจัยนหนึ่ง จากการใช้กองกำลังผสมของเยอรมนี อันเป็นปัจจัยหลักของยุทธวิธีการโจมตีสายฟ้าแลบซึ่งประสบความสำเร็จทั้งในโปแลนด์และฝรั่งเศส และปรากฏหลายวิธีในการทำลายรถถัง รวมทั้ง ปืนต่อสู้รถถัง ทุ่นระเบิด อาวุธพิสัยใกล้ต่อสู้รถถังสำหรับทหารราบ และการใช้รถถังได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ แม้กระทั่งในหลายกองทัพจะได้มีการเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรอย่างกว้างขวาง แต่ทหารราบก็ยังคงเป็นกระดูกสันหลังสำหรับกองกำลังทั้งหมด และตลอดช่วงเวลาของสงคราม ยุทธภัณฑ์ของทหารราบส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกับที่เคยใช้ประโยชน์ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่มีการใช้เป็นประเทศแรก ซึ่งก็คือ นอกจากนี้ การพัฒนาบางประการยังเกี่ยวกับปืนกลพกพาได้ ตัวอย่างที่โดดเด่นเช่น เอ็มจี 42 ของเยอรมนี และปืนกลมืออีกหลายประเภท ซึ่งมีความเหมาะสมสำหรับการรบในเมืองและในป่าปืนเล็กยาวจู่โจม ซึ่งเป็นพัฒนาการในตอนปลายของสงคราม เป็นการรวมข้อดีของปืนเล็กยาวและปืนกลมือเข้าไว้ด้วยกัน และได้กลายมาเป็นอาวุธพื้นฐานสำหรับทหารราบในเกือบทุกกองทัพหลังสงคราม
ในแง่ของการติดต่อสื่อสาร ผู้เข้าร่วมสงครามส่วนใหญ่พยายามที่จะแก้ไขปัญหาของความซับซ้อนและการรักษาความปลอดภัย โดยการใช้ประโยชน์จากขนาดใหญ่สำหรับวิทยาการเข้ารหัส ประกอบกับการสร้างเครื่องรหัสขึ้นมาหลายแบบ ซึ่งที่เป็นรู้จักกันกว้างขวางที่สุด ได้แก่ เครื่องอินิกมาของเยอรมนี ซึ่งเป็นกระบวนการตอบโต้เครื่องถอดรหัส ซึ่งตัวอย่างที่โดดเด่น ได้แก่ ของอังกฤษ และการถอดรหัสกองทัพเรือญี่ปุ่นของฝ่ายสัมพันธมิตร ส่วนอีกทิศทางหนึ่งที่สำคัญของข่าวกรองทางทหาร ได้แก่ การใช้ปฏิบัติการ ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรได้ประสบความสำเร็จในหลายโอกาสจนได้ผลดี อย่างเช่น และปฏิบัติการบอดีการ์ด นอกจากนี้ ในการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมยังได้แก่ คอมพิวเตอร์ซึ่งสามารถโปรแกรมได้เป็นครั้งแรก ( และอีนิแอก) ขีปนาวุธนำวิถี และจรวดสมัยใหม่ การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ อันเป็นผลมาจากโครงการแมนฮัตตัน การสร้าง และการสร้างท่อน้ำมันลอดผ่านช่องแคบอังกฤษ
ดูเพิ่ม
เชิงอรรถ
- คำว่าสงครามโลกครั้งที่สองในภาษาอังกฤษนั้น ในเอกสารประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการของสหราชอาณาจักรและชาติตะวันตกใช้คำว่า "Second World War" ส่วนในสหรัฐใช้คำว่า "World War II" (ย่อเป็น WWII" หรือ "WW2") ซึ่งเอกสารประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการในประเทศส่วนใหญ่มักจะใช้ภาษาอังกฤษว่า "Second World War" (เช่น Zweiter Weltkrieg ในภาษาเยอรมัน; Segunda Guerra mundial ในภาษาสเปน; Seconde Guerre mondiale ในภาษาฝรั่งเศส) แต่ทั้งสองคำนี้โดยทั่วไปแล้วสามารถใช้แทนกันได้; แม้ในประวัติศาสตร์การทหารอย่างเป็นทางการ คำว่า "Second World War" ถูกสร้างขึ้นโดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา; ส่วนคำว่า "World War II" พบใช้เป็นครั้งแรกในนิตยสาร เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1939 (War Machines 2010-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน) ซึ่งเป็นผู้ประดิษฐ์คำว่า "World War I" ขึ้นในอีกสามเดือนต่อมา
- ตามที่ D.Glantz ได้กล่าวไว้ว่า, The Soviet‐German War 1941–45 2011-07-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน "เมื่อถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน [กองทัพบกเยอรมัน] ได้สูญเสียกำลังพลกว่า 20% ของกองกำลังดั้งเดิม (686,000 นาย) และกว่า 2/3 ของพาหนะยานยนต์ครึ่งล้านคัน 65% ของจำนวนรถถัง โดยกองบัญชาการทหารสูงสุดของเยอรมนีได้จัดกำลังพล 136 กองพลของตนให้เป็น 83 กองพลเต็มอัตราศึก"
- ตามการเขียนของ Ernest May (The United States, the Soviet Union and the Far Eastern War. The Pacific Historical Review. V. 24. No. 2. (1955) p.156) เชอร์ชิลล์ชี้ว่า: "การประกาศสงครามของรัสเซียต่อญีป่นจะเป็นการสร้างความได้เปรียบให้กับฝ่ายเราเป็นอย่างมาก โดยมีเงื่อนไขเท่านั้นว่า พวกรัสเซียจะต้องรู้สึกมั่นใจว่าแนวรบด้านตะวันตกของพวกเขาจะไม่เสียไป"
- ปฏิบัติการครั้งนี้ "เป็นความพ่ายแพ้อย่างฉิบหายที่สุดแห่งกองทัพเยอรมันทั้งหมดในสงครามโลกครั้งที่สอง", The operation "was the most calamitous defeat of all the German armed forces in World War II". แหล่งที่มา: Zaloga, Bagration 1944: The destruction of Army Group Centre, 7.
อ้างอิง
- Wallechinsky, David: David Wallechinsky's Twentieth Century : History With the Boring Parts Left Out, Little Brown & Co., 1996, , - cited by White
- Brzezinski, Zbigniew: Out of Control: Global Turmoil on the Eve of the Twenty-first Century, Prentice Hall & IBD, 1994, ASIN B000O8PVJI - cited by White
- Coleman, P. (1999) World War II Resource Guide (Gardena, California: The American War Library)
- Keegan, John (1989), The Second World War, Glenfield, Auckland 10, New Zealand: Hutchinson
{{}}
: CS1 maint: location (). - Sommerville, Donald (14 Dec 2008). The Complete Illustrated History of World War Two: An Authoritative Account of the Deadliest Conflict in Human History with Analysis of Decisive Encounters and Landmark Engagements. Lorenz Books. p. 5. .
- Hakim, Joy (1995). A History of Us: War, Peace and all that Jazz. New York: Oxford University Press. ISBN .
- Kantowicz, Edward R., The rage of nations, Wm. B. Eerdmans Publishing, 1999, , page 149
- Davies, Norman (2008), No Simple Victory: World War II in Europe, 1939-1945, Penguin Group, . p. 134-140
- Bullock 1962, p. 265
- Shaw, Anthony. World War II Day by Day, pg. 35
- Preston, Peter, Pacific Asia in the global system: an introduction, Wiley-Blackwell, 1998, , pages 104–105
- Myers, Ramon; Peattie, Mark. The Japanese Colonial Empire, 1895-1945, pg. 458
- Ralph Steadman, Winston Smith (June 1, 2004). All Riot on the Western Front. Last Gasp. p. 28. ISBN . สืบค้นเมื่อ 2009-11-12.
- Coogan, Anthony (1993). "The Volunteer Armies of Northeast China". . 43. จากแหล่งเดิมเมื่อ 11 May 2012. สืบค้นเมื่อ 6 May 2012.
- Kenneth, Brody, J (1999). The Avoidable War: Pierre Laval and the Politics of Reality, 1935–1936. Transaction Publishers. p. 4. ISBN .
- Zalampas, Michael (January 10, 1989). Adolf Hitler and the Third Reich in American magazines, 1923-1939 (Google Books). Bowling Green University Popular Press. p. 62. ISBN . สืบค้นเมื่อ 2009-11-14.
- เจฟเฟอรี เรคคอร์ด. Appeasement Reconsidered: Investigating the Mythology of the 1930s, น. 50
- ไมเคิล แมนเดลบอม. The Fate of Nations: The Search for National Security in the Nineteenth and Twentieth Centuries, น. 96
- เดวิด เอฟ. ชมิทซ์. Henry L. Stimson: The First Wise Man, น. 124
- อลิสัน คิตสัน. Germany 1858-1990: Hope, Terror, and Revival, น. 231
- แอนโทนี พี. อดัมทไวท์. The Making of the Second World War, น. 52
- เฮเลน เกรแฮม. The Spanish Civil War: A Very Short Introduction, น. 110
- Robert Melvin Spector. World Without Civilization: Mass Murder and the Holocaust, History, and Analysis, pg. 257
- โดนัลด์ เอฟ. บัสกี. Communism in History and Theory: Asia, Africa, and the Americas, น. 10
- Fairbank, John King , Albert Feuerwerker, Denis Crispin Twitchett, The Cambridge history of China, Cambridge University Press, 1986, , page 547–551
- Twitchett, Denis; Fairbank, John K. The Cambridge history of China, pg. 566
- Taylor, Jay (2009). The Generalissimo: Chiang Kai-shek and the struggle for modern China. Harvard University Press. pp. 150–152. .
- Coox, Alvin D. Nomonhan: Japan Against Russia, 1939, pg. 189
- Coox, Alvin D. (1990). Nomonhan: Japan Against Russia, 1939. Stanford University Press. p. 189.
- Sella, Amnon (October 1983). "Khalkhin-Gol: The Forgotten War". Journal of Contemporary History 18 (4) : 651–87.
- Collier, Martin; Pedley, Philip. Germany 1919-45, pg. 144
- Kershaw 2001, p. 121–2
- Kershaw 2001, p. 157
- Davies, Norman (2008), No Simple Victory: World War II in Europe, 1939-1945, Penguin Group, , p. 143-144
- Lowe, C. J.; Marzari, F. Italian Foreign Policy 1870-1940, pg. 330
- "Pact of Steel", in Dear and Foot, ed., Oxford Companion to World War II, , 2002, , p. 674.
- Michael Jabara Carley (1993). End of the 'Low, Dishonest Decade': Failure of the Anglo-Franco-Soviet Alliance in 1939. Europe-Asia Studies 45 (2), 303-341.
- Sharp, Alan; Stone, Glyn. Anglo-French Relations in the Twentieth Century, pg 195-197
- Rudolf Schlesinger. The Foreign Policy of Soviet Russia. Soviet Studies, Vol. 1, No. 2, (Oct., 1949) , pp. 140-150. พิมพ์ที่: Taylor & Francis, Ltd.
- E. H. Carr., From Munich to Moscow. I., Soviet Studies, Vol. 1, No. 1, (Jun., 1949), pp. 3-17. Published by: Taylor & Francis, Ltd.
- Zachary Shore. What Hitler Knew: The Battle for Information in Nazi Foreign Policy. Published by Oxford University Press US, 2005 , 978-0-19-518261-3, p. 108
- "Nazi-Soviet Pact", in Dear and Foot, ed., Oxford Companion to World War II, Oxford University Press, 2002, , pp. 608–9
- Dear, I. C. B.; Foot, M. R. D, บ.ก. (2002). "Nazi-Soviet Pact". The Oxford Companion to World War II. Oxford University Press. p. 608. ISBN .
- James Bradley, Ron Powers. Flags of Our Fathers, pg. 58
- Tucker, Spencer; Roberts, Priscilla Mary. Encyclopedia of World War II: A Political, Social, and Military History, pg. 771; note, however, that Tucker's own view is that 191 is most convenient; p. 9.
- Ben-Horin, Eliahu (1943). The Middle East: Crossroads of History, p. 169
- Taylor, Alan (1979). How Wars Begin, p. 124
- Yisreelit, Hevrah Mizrahit (1965). Asian and African Studies, p. 191
- Barker, A. J., The Rape of Ethiopia 1936, Ballantine Books (1971) pp. 131-132
- Chickering, Roger; Förster, Stig; Greiner, Bernd. A World at Total War: Global Conflict and the Politics of Destruction, 1937-1945, pg. 64
- Fiscus, James W. Critical Perspectives on World War II, pg. 44
- Kantowicz, Edward R. The Rage of Nations, pg. 346
- Greer, Gordon B. What Price Security?, pg. 28
- น.อ. ปรีชา ศรีวาลัย, สงครามโลกครั้งที่ ๑-๒ และสงครามเกาหลี, สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, หน้า 80
- เจริญ ไชยชนะ, สงครามโลกครั้งที่ ๒, สำนักพิมพ์เสริมวิทย์บรรณาธิการ, หน้า 2
- Canfora, Luciano; Jones, Simon (2006). Democracy in Europe: A History of an Ideology, p. 155
- Prin, Gwyn (2002). The Heart of War: On Power, Conflict and Obligation in the Twenty-First Century, p. 11
- Shiraishi, Masaya, Japanese relations with Vietnam, 1951-1987, SEAP Publications, 1990, , page 4
- [1]
- May, Ernest R. Strange Victory: Hitler's Conquest of France, pg. 93
- Roskill, S.W. (1954). The War at Sea 1939-1945 Volume 1 : The Defensive. History of the Second World War. United Kingdom Military Series. London: HMSO. p. 64.
- Fritz, Martin (2005). "Economic Warfare". ใน Dear, I.C.B and Foot, M.R.D. (บ.ก.). The Oxford Companion to World War II. Oxford: Oxford University Press. p. 248. ISBN .
{{}}
: CS1 maint: multiple names: editors list () - Zaloga, Steven J. Poland 1939: The Birth of Blitzkrieg, pg. 80
- Igor Baka: Slovensko vo vojne proti Poľsku v roku 1939 (Slovakia during the war against Poland in 1939) , Vojenská história, 2005, No 3
- Hempel, Andrew, Poland in World War II: An Illustrated Military History, Hippocrene Books, 2003, ISBN 078181004, pages 24–25
- Jowett, Philip S. The Japanese Army, 1931-45, pg. 14
- David J. Smith. The Baltic States: Estonia, Latvia and Lithuania, p. 24,
- Bilinsky, Yaroslav. Endgame in NATO's Enlargement: The Baltic States and Ukraine, Greenwood Publishing Group, 1999, , p. 9.
- Murray, Williamson & Allan Reed Millett (2001), A War to Be Won: Fighting the Second World War, Harvard University Press, , p. 55-56
- D. W. Spring. 'The Soviet Decision for War against Finland, 30 November 1939'. Soviet Studies, Vol. 38, No. 2 (Apr., 1986), pp. 207–226)
- Hanhimäki, Jussi M. Containing Coexistence: America, Russia, and the "Finnish Solution", หน้า 13
- Hsiung, James Chieh; Levine, Steven I. China's Bitter Victory: The War with Japan, 1937-1945, pg. 16
- Weinberg, Gerhard L. (1995), A World at Arms: A Global History of World War II, Cambridge University Press, , p. 95 & 121
- Shirer, William L., The Rise and Fall of the Third Reich: A History of Nazi Germany, Simon and Schuster, 1990 , pp. 668–9
- Murray, Williamson & Allan Reed Millett (2001), A War to Be Won: Fighting the Second World War, Harvard University Press, , p. 57-63
- Commager, Henry Steele. The Story of the Second World War, pg. 30
- Reynolds, David. From World War to Cold War: Churchill, Roosevelt, and the International History of the 1940s, pgs. 76, 77
- Crawford, Keith, Stuart J. Foster, War, nation, memory: international perspectives on World War II in school history textbooks, IAP, 2007, , page 68
- Nolan, Cathal J., The Greenwood Encyclopedia of International Relations: A-E, Greenwood Publishing Group, 2002, , page 170
- Regan, Geoffrey, The Brassey's book of military blunders, Brassey's, 2000, , page 152
- Kennedy, David M. Freedom from Fear: The American People in Depression and War, 1929-1945, pg. 439
- Deist, William, et al., Germany and the Second World War — Volume 2: Germany's Initial Conquests in Europe, Oxford University Press, 2001, 0198228880, p. 311.
- Militärgeschichtliches Forschungsamt. Germany and the Second World War - Volume 2: Germany's Initial Conquests in Europe, pg. 311
- Brown, David. The Road to Oran: Anglo-French Naval Relations, September 1939-July 1940, pg. xxx
- Bilinsky, Yaroslav (1999). Endgame in NATO's Enlargement: The Baltic States and Ukraine (Google books). Greenwood Publishing Group. p. 9. ISBN . สืบค้นเมื่อ 15 November 2009.
- Ferguson, Niall (2006). The War of the World Penguin, pp.367, 376, 379, 417
- Snyder, Timothy (2010). Bloodlands, Random House, from p. 118 onwards
- H. W. Koch. Hitler's 'Programme' and the Genesis of Operation 'Barbarossa'. The Historical Journal, Vol. 26, No. 4 (Dec., 1983), pp. 891-920
- Roberts, Geoffrey (2006). Stalin's Wars: From World War to Cold War, 1939–1953. Yale University Press. p. 56. ISBN .
- Roberts, Geoffrey (2006). Stalin's Wars: From World War to Cold War, 1939–1953. Yale University Press. p. 59. ISBN .
- Kelly, Nigel; Rees, Rosemary; Shuter, Jane. Twentieth Century World, pg. 38
- Goldstein, Margaret J. World War II, pg. 35
- Mercado, Stephen C. The Shadow Warriors of Nakano: A History of the Imperial Japanese Army's Elite Intelligence School, pg. 109
- Brown, Robert J. Manipulating the Ether: The Power of Broadcast Radio in Thirties America, pg. 91
- Morison, Samuel Eliot. History of United States Naval Operations in World War II, pg. 60
- Maingot, Anthony P.The United States and the Caribbean: Challenges of an Asymetrical Relationship, pg. 52
- Hadley Cantril, America Faces the War: A Study in Public Opinion, The Public Opinion Quarterly 4:3 (Sept. 1940), p. 390.
- Weinberg, Gerhard L. (1995), A World at Arms: A Global History of World War II, Cambridge University Press, p. 182
- Bilhartz, Terry D.; Elliott, Alan C.Currents in American History: A Brief History of the United States, pg. 179
- Murray, Williamson; Millett, Allan Reed. A War to Be Won: Fighting the Second World War, pg. 165
- Knell, Hermann. To Destroy a City: Strategic Bombing and Its Human Consequences in World War II, pg. 205
- Murray, Williamson & Allan Reed Millett (2001), A War to Be Won: Fighting the Second World War, Harvard University Press, , p. 233-245
- "Tripartite Pact", in Dear and Foot, ed., Oxford Companion to World War II, p. 877.
- Dennis Deletant, "Romania", in Dear and Foot, ed., Oxford Companion to World War II, pp. 745–46.
- Clogg, Richard. A Concise History of Greece, pg. 118
- Jowett, Philip S., Stephen Andrew, The Italian Army 1940-45 (2) : Africa 1940-43, Osprey Publishing, 2001, , pages 9–10
- Brown, David, The Royal Navy and the Mediterranean, Routledge, 2002, , pages 64–65
- Jackson, Ashley. The British Empire and the Second World War, pg. 106
- Laurier, Jim , "Tobruk 1941: Rommel's opening move", Osprey Publishing, 2001, , pages 7–8
- Murray, Williamson & Allan Reed Millett (2001), A War to Be Won: Fighting the Second World War, Harvard University Press, , p. 263-267
- Macksey, Kenneth, Rommel: battles and campaigns, Da Capo Press, 1997, , pages 61–63
- Weinberg, Gerhard L. A World at Arms: A Global History of World War II, pg. 229
- Watson, William E. Tricolor and Crescent: France and the Islamic World, pg. 80
- Jackson, Ashley. The British Empire and the Second World War, pg. 154
- Stewart, Vance. Three Against One: Churchill, Roosevelt, Stalin Vs Adolph Hitler, pg. 159
- "The London Blitz, 1940". Eyewitness to History. 2001. สืบค้นเมื่อ 2008-03-11.
- Joes, Anthony James. Resisting Rebellion: The History And Politics of Counterinsurgency, pg. 224
- Fairbank, John King. China: A New History, pg. 320
- Garver, John W. Chinese-Soviet Relations, 1937-1945: The Diplomacy of Chinese Nationalism, pg. 114
- Weinberg, Gerhard L. A World at Arms: A Global History of World War II, pg. 195
- Amnon Sella. "Barbarossa": Surprise Attack and Communication. Journal of Contemporary History, Vol. 13, No. 3, (Jul., 1978), pp. 555-583.
- Kershaw, Ian. Fateful Choices, pp.66–69.
- Jonathan Steinberg. The Third Reich Reflected: German Civil Administration in the Occupied Soviet Union, 1941-4 The English Historical Review, Vol. 110, No. 437 (Jun., 1995), pp. 620-651
- Milan Hauner. Did Hitler Want a World Dominion? Journal of Contemporary History, Vol. 13, No. 1 (Jan., 1978), pp. 15-32
- Cynthia A. Roberts. Planning for War: The Red Army and the Catastrophe of 1941. Europe-Asia Studies, Vol. 47, No. 8 (Dec., 1995), pp. 1293-1326
- Alan F. Wilt. Hitler's Late Summer Pause in 1941. Military Affairs, Vol. 45, No. 4 (Dec., 1981), pp.187-191.
- Louis, William Roger (1998). More Adventures with Britannia: Personalities, Politics and Culture in Britain. University of Texas Press. p. 223. ISBN .
- The Soviet‐German War 1941–45 2011-07-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนMyths and Realities: A Survey Essay.
- Hitler Can Be Beaten. The New York Times: Aug 5, 1941
- Brian P. Farrell. Yes, Prime Minister: Barbarossa, Whipcord, and the Basis of British Grand Strategy, Autumn 1941. The Journal of Military History, Vol. 57, No. 4 (Oct., 1993), pp. 599-625
- Pravda, Alex; Duncan, Peter J. S. Soviet-British Relations Since the 1970s, pg. 29
- Heptulla, Najma. The Logic of Political Survival, pg. 131
- Gerald R. Kleinfeld. Hitler's Strike for Tikhvin. Military Affairs, Vol. 47, No. 3 (Oct., 1983), pp. 122-128
- Shukman, Harold. Stalin's Generals, p.113
- Burroughs, William James. Climate: Into the 21st Century, pg. 115
- Klaus Reinhardt ; Karl B. Keenan. Moscow-The Turning Point: The Failure of Hitler's Strategy in the Winter of 1941-42. Berg, 1992. . P.227.
- A. S. Milward. The End of the Blitzkrieg. The Economic History Review, New Series, Vol. 16, No. 3 (1964), pp. 499-518.
- Louis Rotundo. The Creation of Soviet Reserves and the 1941 Campaign. Military Affairs, Vol. 50, No. 1 (Jan., 1986), pp. 21-28.
- Whymant, Robert. Stalin's Spy: Richard Sorge and the Tokyo Espionage Ring, pg. 314
- Glantz, David M. (2001), The Soviet‐German War 1941–45 Myths and Realities: A Survey Essay 2011-07-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน p. 9
- Raymond L. Garthoff. The Soviet Manchurian Campaign, August 1945. Military Affairs, Vol. 33, No. 2 (Oct., 1969), p. 312.
- Welch, David. Modern European History, 1871-2000: A Documentary Reader, pg. 102
- Weinberg, Gerhard L (2005). A World At Arms. Cambridge University Press. p. 248. ISBN .
- Irvine H. Anderson, Jr. De Facto Embargo on Oil to Japan: A Bureaucratic Reflex. The Pacific Historical Review, Vol. 44, No. 2 (May, 1975), p. 201.
- Northrup, Cynthia Clark. The American economy: a historical encyclopedia, pg. 214
- Lightbody, Bradley. The Second World War: Ambitions to Nemesis, pg. 125
- Weinberg, Gerhard L (2005). A World At Arms. Cambridge University Press. p. 310. ISBN .
- Morgan, Patrick M. Strategic Military Surprise: Incentives and Opportunities, pg. 51
- Thurman,M. J.; Sherman, Christine. War Crimes: Japan's World War II Atrocities, pg. 68
- Wohlstetter, Roberta (1962). Pearl Harbor: Warning and Decision. Stanford University Press. pp. 341–43. ISBN .
- Mingst, Karen A.;Karns, Margaret P. United Nations in the Twenty-First Century, pg. 22
- Dunn, Dennis J. Caught Between Roosevelt & Stalin: America's Ambassadors to Moscow, pg. 157
- Rees, Laurence (2009). World War Two Behind Closed Doors, BBC Books, p. 99.
- Rees, Laurence (2009). World War Two Behind Closed Doors, BBC Books, p. 406-7.
- Klam, Julie. The Rise of Japan and Pearl Harbor, Black Rabbit Books, 2002, p. 27.
- Lewis, Morton. . ใน Greenfield, Kent Roberts (บ.ก.). The Fall of the Philippines. U.S. Government Printing Office. p. 529. Library of Congress Catalogue Card Number: 53-63678. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-08. สืบค้นเมื่อ 2010-04-02. (Table 11).
- Hill, J. R.; Ranft, Bryan. The Oxford Illustrated History of the Royal Navy, pg. 362
- Hill, J. R.; Ranft, Bryan. The Oxford Illustrated History of the Royal Navy, pg. 362
- Hsiung, James Chieh; Levine, Steven I. China's Bitter Victory: The War with Japan, 1937-1945, pg. 158
- Perez, Louis G. (1 June 1998). The history of Japan (Google Books). Greenwood Publishing Group. p. 145. ISBN . สืบค้นเมื่อ 2009-11-12.
- Gooch, John. Decisive Campaigns of the Second World War, pg.52
- Glantz, David M. (2001), The Soviet‐German War 1941–45 Myths and Realities: A Survey Essay 2011-07-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, p. 31
- Molinari, Andrea. Desert Raiders: Axis and Allied Special Forces 1940-43, pg. 91
- Welch, David. Modern European History, 1871-2000: A Documentary Reader, pg. 102
- Mitcham, Samuel W.; Mitcham, Samuel W. Jr. Rommel's Desert War: The Life and Death of the Afrika Korps, pg. 31
- Glantz, David M. From the Don to the Dnepr: Soviet Offensive Operations, December 1942-August 1943, pg. 215
- Maddox, Robert James. The United States and World War II, pgs. 111-112
- Salecker, Gene Eric. Fortress Against the Sun: The B-17 Flying Fortress in the Pacific, pg. 186
- Ropp, Theodore. War in the Modern World, pg. 368
- Weinberg, Gerhard L. A World at Arms: A Global History of World War II, pg. 339
- Gilbert, Adrian. The Encyclopedia of Warfare: From Earliest Times to the Present Day, pg. 259
- Swain, Bruce. A Chronology of Australian Armed Forces at War 1939-45, pg. 197
- Hane, Mikiso. Modern Japan: A Historical Survey, pg. 340
- Marston, Daniel. The Pacific War Companion: From Pearl Harbor to Hiroshima, pg. 111
- Brayley, Martin. The British Army, 1939-45, pg. 9
- Read, Anthony. The Devil's Disciples: Hitler's Inner Circle, pg. 764
- Davies, Norman (2006). Europe at War 1939–1945: No Simple Victory. Macmillan. p. 100. ISBN .
- Badsey, Stephen. The Hutchinson Atlas of World War II Battle Plans: Before and After, pgs. 235-236
- Black, Jeremy. World War Two: A Military History, pg. 119
- Gilbert, Sir Martin, The Second World War: A Complete History, Macmillan, 2004 , pages 397–400
- Shukman, Harold. Stalin's Generals, pg. 142
- Paxton, Robert O. Vichy France: Old Guard and New Order, 1940-1944, pg. 313
- Rich, Norman. Hitler's War Aims: Ideology, the Nazi State, and the Course of Expansion, pg. 178
- Penrose, Jane. The D-Day Companion, pg. 129
- Robin Neillands. The Dieppe Raid: The Story of the Disastrous 1942 Expedition. (Indiana University Press, 2006).
- Thomas, David Arthur. A Companion to the Royal Navy, pg. 265
- Thomas, Nigel. German Army 1939-1945 (2) : North Africa & Balkans, pg. 8
- Ross, Steven T. American War Plans, 1941-1945: The Test of Battle, pg. 38
- Bonner, Kit; Bonner, Carolyn. Warship Boneyards, pg. 24
- Collier, Paul. The Second World War (4) : The Mediterranean 1940-1945, pg. 11
- Thompson, John Herd; Randall, Stephen J. Canada and the United States: Ambivalent Allies, pg. 164
- Freedom from Fear: The American People in Depression and War, 1929-1945, pg. 610
- Rottman, Gordon L. World War II Pacific Island Guide: A Geo-Military Study, pg. 228
- Glantz, David M. From the Don to the Dnepr: Soviet Offensive Operations, December 1942-August 1943, pgs. 216-217
- David M. Glantz. CSI Report No. 11. Soviet Defensive Tactics at Kursk, July 1943.1 2008-03-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- David M. Glantz. Soviet military deception in the Second World War; Routledge, 1989ISBN 0-7146-3347-X, 9780714633473, 644 pages, pp. 149–159
- Kershaw, Ian. Hitler, 1936–1945: Nemesis, W. W. Norton & Company, 2001, ,p. 592.
- O'Reilly, Charles T. Forgotten Battles: Italy's War of Liberation, 1943–1945, p. 32.
- Bellamy, Chris T (2007). Absolute war: Soviet Russia in the Second World War. BAlfred A. Knopf. p. 595. ISBN .
- O'Reilly, Charles T (2001). Forgotten Battles: Italy's War of Liberation, 1943–1945. Lexington Books. p. 35. ISBN .
- Healy, Mark (1992). Kursk 1943: The tide turns in the East. Osprey Publishing. p. 90. ISBN .
- Glantz, David M. (2001), บhttp://www.strom.clemson.edu/publications/sg-war41-45.pdf 2011-07-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน The Soviet‐German War 1941–45 Myths and Realities: A Survey Essay]
- McGowen, Tom. Assault From The Sea: Amphibious Invasions in the Twentieth Century, pgs. 43-44
- Lamb, Richard. War in Italy, 1943-1945: A Brutal Story, pgs. 154-155
- Hart, Stephen; Hart, Russell. The German Soldier in World War II, pg. 151
- Blinkhorn, Martin. Mussolini and Fascist Italy, pg. 52
- Read, Anthony; Fisher, David. The Fall of Berlin, pg. 129
- Read, Anthony. The Devil's Disciples: Hitler's Inner Circle, pg. 804
- Iriye,, Akira, Power and culture: the Japanese-American war, 1941-1945,Harvard University Press, 1981, , page 154
- Polley, Martin, A-Z of modern Europe since 1789, Taylor & Francis, 2000, , page 148
- Weinberg, Gerhard L. (1995), A World at Arms: A Global History of World War II, Cambridge University Press, , p. 660-661
- Glantz, David M., The siege of Leningrad, 1941-1944: 900 days of terror, Zenith Imprint, 2001, , pages 166–169
- Estonian State Commission on Examination of Policies of Repression (2005). (PDF). Estonian Encyclopedia Publishers. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-01-14. สืบค้นเมื่อ 2008-08-01.
- Mart Laar. "Sinimäed 1944: II maailmasõja lahingud Kirde-Eestis". Tallinn: Varrak, 2006
- David M. Glantz (2002). The Battle for Leningrad: 1941–1944. Lawrence: University Press of Kansas
- Chubarov, Alexander. Russia's Bitter Path to Modernity: A History of the Soviet and Post-Soviet Eras, p. 122.
- Havighurst, Alfred F. Britain in Transition: The Twentieth Century, pg. 344
- Lightbody, Bradley. The Second World War: Ambitions to Nemesis, pg. 224
- Zeiler, Thomas W. Unconditional Defeat: Japan, America, and the End of World War II, pg. 60
- Craven, Wesley Frank; Cate, James Lea. The Army Air Forces in World War II, Volume Five - The Pacific, Matterhorn to Nagasaki, pg. 207
- Hsiung, James Chieh; Levine, Steven I. China's Bitter Victory: The War with Japan, 1937-1945, pg. 163
- Coble, Parks M. Chinese Capitalists in Japan's New Order: The Occupied Lower Yangzi, 1937-1945, pg. 85
- Zaloga, Steven J. US Armored Units in the North African and Italian Campaigns 19422-45, pg. 81
- Badsey, Stephen. Normandy 1944: Allied Landings and Breakout, pg. 91
- "Market-Garden", in Dear and Foot, ed., Oxford Companion to World War II, Osprey Publishing, 1990, ,p. 877.
- Berend, Tibor Iván. Central and Eastern Europe, 1944-1993: Detour from the Periphery to the Periphery, pg. 8
- Wiktor, Christian L. Multilateral Treaty Calendar - 1648-1995, pg. 426
- Hastings, Max, Paul Henry Collier. The Second World War: a world in flames, Osprey Publishing, 2004, , pages 223–224
- Wiest, Andrew A.; Barbier, M. K. Strategy and Tactics Infantry Warfare pgs. 65, 66
- Wiktor, Christian L. Multilateral Treaty Calendar - 1648-1995, pg. 426
wikipedia, แบบไทย, วิกิพีเดีย, วิกิ หนังสือ, หนังสือ, ห้องสมุด, บทความ, อ่าน, ดาวน์โหลด, ฟรี, ดาวน์โหลดฟรี, mp3, วิดีโอ, mp4, 3gp, jpg, jpeg, gif, png, รูปภาพ, เพลง, เพลง, หนัง, หนังสือ, เกม, เกม, มือถือ, โทรศัพท์, Android, iOS, Apple, โทรศัพท์โมบิล, Samsung, iPhone, Xiomi, Xiaomi, Redmi, Honor, Oppo, Nokia, Sonya, MI, PC, พีซี, web, เว็บ, คอมพิวเตอร์
sngkhramolkkhrngthisxng xngkvs World War II hrux Second World War mkyxepn WWII hrux WW2 epnsngkhramthwolkkinewlatngaetpi 1939 thung 1945 praethsswnihyinolkmiswnekiywkhxng rwmthngrthmhaxanacthnghmd aebngepnphnthmitrthangthharkhusngkhramsxngfay khux faysmphnthmitraelafayxksa epnsngkhramthikwangkhwangthisudinprawtisastr mithharkwa 100 lannaycakkwa 30 praethsekharwmodytrng sngkhramnimilksnaepn sngkhramebdesrc khux praethsphurwmsngkhramhlkthumkhidkhwamsamarththangesrsthkic xutsahkrrmaelawithyasastrthnghmdephuxkhwamphyayamkhxngsngkhram odylbesnaebngrahwangthrphyakrkhxngphleruxnaelathhar praeminknwasngkhrammimulkharaw 1 lanlandxllarshrth praeminknwamiphuesiychiwitrahwang 50 thung 85 lankhn dwyprakarthngpwng sngkhramolkkhrngthisxngcungnbwaepnsngkhramkhnadihythisud ichenginthunmakthisud aelamiphuesiychiwitsungsudinprawtisastrmnusychatisngkhramolkkhrngthisxngcaksaybnipkhwa thharekhruxckrphphinthaelthray phleruxncinthukfngthngepnodythharyipun eruxxukhxngeyxrmnrahwangptibtikar kxngthphosewiytthistalinkrad krungebxrlinthukthalay ekhruxngbinrbyipunetriymkhunbincakeruxbrrthukxakasyanwnthi1 knyayn 1939 thung 2 knyayn 1945 duephim sthanthithwipyuorp mhasmuthraepsifk mhasmuthraextaelntik exechiytawnxxkechiyngit cin tawnxxkklang thaelemdietxrereniyn aexfrikaehnux aexfrikatawnxxkechiyngehnux thwipxxsetreliy xemrikaehnux aela xemrikaitphlfaysmphnthmitrchna nasieyxrmnilmslay ckrwrrdiyipunaelackrwrrdixitalilmslay erimyukhniwekhliyr yubsnnibatichati karkxtngshprachachati shrthaelashphaphosewiytkawkhunmaepnxphimhaxanac erimsngkhrameyn duephim khusngkhramfaysmphnthmitrfayxksaphubngkhbbychaaelaphunaphunafaysmphnthmitr ocesf stalin aefrngklin di orsewlt winstn echxrchil eciyng ikhechkphunafayxksa xdxlf hitelxr ckrphrrdihiorhiota ebniot musoslinikhwamsuyesiythharesiychiwit makkwa 16 000 000 nay phleruxnesiychiwit makkwa 45 000 000 khn esiychiwitthnghmd makkwa 61 000 000 khn 1937 1945 duephim thharesiychiwit makkwa 8 000 000 nay phleruxnesiychiwit makkwa 4 000 000 khn esiychiwitthnghmd makkwa 12 000 000 khn 1937 1945 duephim bthkhwamnixangxingkhristskrach khristthswrrs khriststwrrs sungepnsarasakhykhxngenuxha ckrwrrdiyipunsungmiepahmaykhrxbngathwipexechiyaelaaepsifikaelathasngkhramkbcinmatngaetpi 1937 aelw aetodythwipthuxwasngkhramolkkhrngthisxngerimtngaetkarbukkhrxngopaelndkhxngeyxrmniinwnthi 1 knyayn 1939 naipsukarprakassngkhramtxeyxrmnikhxngpraethsfrngessaelashrachxanackr tngaetplaypi 1939 thungtnpi 1941 inkarthphaelasnthisyyatang praethseyxrmniphichithruxkhwbkhumyuorpphakhphunthwipidswnihy aelatngkbxitaliaelayipun phayitsnthisyyaomoltxf ribebnthrxphemuxeduxnsinghakhm 1939 eyxrmniaelashphaphosewiytaebngaelphnwkdinaednpraethsephuxnbanyuorpkhxngtn idaek opaelnd finaelnd ormaeniyaelarthbxltik sngkhramdaenintxswnihyrahwangchatifayxksayuorpaelaaenwrwmshrachxanackraelaekhruxckrphphbritich odymikarthphxyangkarthphaexfrikaehnuxaelaaexfrikatawnxxk yuththkarthibrietnsungepnkarsurbthangxakas karthphthingraebidedxablits karthphbxlkhan tlxdcnyuththkarthiaextaelntikthiyudeyux ineduxnmithunayn 1941 chatixksayuorpbukkhrxngshphaphosewiyt epidchakekhtsngkhramphakhphundinthiihythisudinprawtisastr sungthaihkalngthharsakhykhxngfayxksatkxyuinsngkhrambnthxnkalng ineduxnthnwakhm 1941 yipunocmtishrthaelaxananikhmyuorpinmhasmuthraepsifik aelaphichitmhasmuthraepsifiktawntkswnmakidxyangrwderw karrukkhxngfayxksayutilnginpi 1942 hlngyipunprachyinyuththnawithimidewyiklkbhawaythisakhy aelaeyxrmniprachyinaexfrikaehnuxaelacaknnthistalinkradinshphaphosewiyt inpi 1943 cakkhwamprachykhxngeyxrmnitid knthiekhiskinyuorptawnxxk karbukkhrxngxitalikhxngfaysmphnthmitrsungnaihxitaliyxmcann cnthungchykhxngfaysmphnthmitrinmhasmuthraepsifik fayxksaesiykarrierimaelatxnglathxythangyuththsastrinthukaenwrb inpi 1944 faysmphnthmitrbukkhrxngfrngessinkaryudkhrxngkhxngeyxrmni khnaediywknkbthishphaphosewiytyuddinaednthiesiyipthnghmdkhunaelabukkhrxngeyxrmniaelaphnthmitr rahwangpi 1944 aela 1945 yipunprachysakhyinthwipexechiyinphakhklangaelaphakhitkhxngcinaelaphma khnathifaysmphnthmitrkxkhwamesiyhaytxkxngthpheruxyipunaelayudhmuekaaaepsifiktawntkthisakhy sngkhraminyuorpyutilnghlngkxngthphaedngyudkrungebxrlinid aelakaryxmcannxyangimmienguxnikhkhxngeyxrmniemuxwnthi 8 phvsphakhm 1945 aemcathukoddediywaelatkxyuinsphaphesiyepriybxyangying yipunyngptiesththicayxmcann krathngmikarthingraebidniwekhliyrsxnglukthlmyipun aelakarbukkhrxngaemncueriy cungidnaipsukaryxmcannxyangepnthangkarkhxngyipunemuxwnthi 2 knyayn 1945 sngkhramyutilngdwychychnakhxngfaysmphnthmitr phlkhxngsngkhramidepliynaeplngkarwangaenwthangkaremuxngaelaokhrngsrangsngkhmkhxngolk shprachachatithuksthapnakhun ephuxsngesrimkhwamrwmmuxrahwangpraethsaelaephuxpxngknkhwamkhdaeynginxnakht shrthxemrikakbshphaphosewiytkawepnxphimhaxanackhxngolkxnepnkhuprpkskn naipsukhwamkhdaeyngbnewthiaehngsngkhrameyn sungiddaenintxmaxik 46 pihlngsngkhram khnaediywkn karyxmrbhlkkarkarkahndkarpkkhrxngdwytnexng erngihekidkarekhluxnihwephuxeriykrxngexkrachinthwipexechiyaelathwipaexfrika phrxm kbthihlaypraethsidmunghnafunfuesrsthkicsungxutsahkrrmidrbkhwamesiyhayrahwangsngkhram aelaburnakarthangkaremuxngidekidkhunthwolkinkhwamphyayamthicarksaesthiyrphaphkhwamsmphnthhlngsngkhramphumihlngsngkhramolkkhrngthihnungnamasungkarepliynaeplngdinaednxyangihyhlwnginyuorp dwykhwamphayaephkhxngfaymhaxanacklang rwmthngkarlmslaykhxngrthckrwrrdithisakhy idaek ckrwrrdieyxrmn ckrwrrdixxsetriy hngkari aelackrwrrdixxtotmn tlxdcnckrwrrdirsesiy khnaediywkn khwamsaerckhxngfaysmphnthmitr sungprakxbdwyshrachxanackr frngess shrthxemrika xitali esxrebiyaelaormaeniy rwmipthungkarkxtngrthihmhlngckrwrrdixxsetriy hngkari rsesiyaelaxxtotmnlmslay hlngsngkhram chatiniymxudmkarneriykrxngdinaedn irredentism aelalththiaekaekhn revanchism klaymamikhwamsakhyinhlaypraethsyuorp xudmkarneriykrxngdinaednaelalththiaekaekhnaerngklamakineyxrmni ephraaeyxrmnibngkhbtamsnthisyyaaewrsay epnphliheyxrmniesiydinaednkhxngpraethsiprxyla 13 rwmthngxananikhmophnthaelthnghmd karrwmeyxrmniekhakbpraethsxunthukham satxngaebkpharacharakhaptikrrmsngkhrammhasal aelathukcakdkhnadaelakhidkhwamsamarthkhxngkxngthphxyangmak khnaediywkn sngkhramklangemuxngrsesiyidnaipsukarkxtngshphaphosewiyt naodyphrrkhbxlechwikh phayitkarpkkhrxngrabxbkhxmmiwnist ckrwrrdieyxrmnsinsphaphipcakkarptiwtieyxrmn kh s 1918 1919 aelarthbalprachathipitythuktngkhun sungphayhlngruckknwa satharnrthiwmar ineyxrmnirahwangsngkhramolkidekidkhwamkhdaeyngphayinkhunrahwangphusnbsnunsatharnrthihmaelaphukhdkhanthiyudmnthangfaykhwaaelafaysay phrrkhnasi naodyxdxlf hitelxr ecriyrxytamkarcdtngrthbalfassisttamxyangxitaliineyxrmni thamklangphawaesrsthkictktakhrngihy thaihkarsnbsnunphrrkhnasiphayinpraethsephimkhun aelain kh s 1933 hitelxridrbaetngtngepnnaykrthmntri hlngehtuephlingihmirchsthakh hitelxrsthapnarthephdckarebdesrcphrrkhkaremuxngediywnaodyphrrkhnasi sthankarnkhlayknniyngidekidkhuninxitali aemwaxitalicaepnphnthmitrfayitrphakhiaelaidrbdinaednxyubang aetphwkchatiniymxitalirusukokrthaekhnthikhamnsyyakhxngxngkvsaelafrngessihiwephuxihxitaliekhasusngkhraminsnthisyyalxndxn imepniptamkartklngsntiphaph nbcak kh s 1922 thung 1925 khbwnkarfassist naodyebniot musoslini yudxanacinxitalidwywarachatiniym ephdckarebdesrcaelakhwamrwmmuxrahwangchnchn sungykelikrabxbprachathipityaebbmiphuaethn sngkhmniymichxanacbngkhb kalngfaysayaelaesriniym aeladaeninnoybaytangpraethsaebbkawrawodymiepahmayephuxsthapnaxitaliepnmhaxanackhxngolkodyichkalng khux ckrwrrdiormnihm thharyipunbukkhrxngcininkrnimukedn swnthangdanpraethscin rthbalphrrkhkkmintngiderimkarthphrwmchatikhuntxtanehlakhunsukxisra cnnaipsukarrwmchatiinnamrawklangkhristthswrrs 1920 aethlngcaknnimnan rthbalcinklbtxngekhaipphwphninsngkhramklangemuxngkbphnthmitreka phrrkhkhxmmiwnistcin in kh s 1931 ckrwrrdiyipun sungmikhwamtxngkarcamixiththiphlehnuxpraethscinmaepnewlananaelw kalngephimkalngthharincinxyangkhnanihy ephuxepnaephnkarkhnaerkinkarekhapkkhrxngthngthwipexechiy odyichkrnimukednepnkhxxanginkarbukkhrxngaemncueriy aelacdtngrthhunechid aemncukw cinidkhxkhwamchwyehluxcaksnnibatchati yipuncunglaxxkcakxngkhkarhlngmikarpranamkarbukkhrxngdngklaw hlngcaknn thngsxngchatiidekidkarpathaknprapraykhunxikhlaykhrng cnkrathngnaipsukarphkrbtangku inpi kh s 1933 aetthungkrann kxngkalngxasacinkyngkhngtxtankxngthphyipuntxipinxikhlayphunthi thnginaemncueriyaelamxngokeliyin txma hitelxrsnbsnunnoybaykarcdraebiybolkihmodyxasypccythangdanechuxchati aelaerimesrimsrangkalngthharkhrngihy ephuxrksaphnthmitrkhxngtn frngesscungyinyxmihxitaliyudkhrxngexthioxepiy sungxitalitxngkaryudepnxananikhmxyuaelw ehtukarnerimelwrayyingkhunemuxthungchwngtn kh s 1935 sarlnthidrwmekhakbeyxrmnitamkdhmay aelahitelxridchiksnthisyyaaewrsay phrxmkberngkarfunfukxngthphaelaerimihmikareknththharxyangrwderw inkhwamphyayamthicacakdwngeyxrmni shrachxanackr frngess aelaxitalicungkxtngaenwsetrsakhun danshphaphosewiytexngkkngwltxepahmayyudkhrxngdinaednyuorptawnxxkxnkwangihykhxngeyxrmniechnkn cungidthasnthisyyachwyehluxthwiphakhikbfrngess aetsnthisyyafrngess osewiyttxngphankrabwnkarkhntxnkhxngsnnibatchatiesiykxn thaihsnthisyyadngklawimmiphlely ineduxnmithunayn kh s 1935 shrachxanackridthakbeyxrmni odyphxnprntxkhxbngkhbtang thiekhykahndmakxnhnani swnshrthxemrikakkngwltxsthankarnsungxubtikhuninthwipyuorpaelathwipexechiy cungidphanrthbyytiwadwykhwamepnklangineduxnsinghakhm ineduxntulakhm xitalibukkhrxngexthioxepiy odymiephiyngeyxrmniepnmhaxanacchatiediywinyuorpthisnbsnunkarbukkhrxngdngklaw xitalicungykelikkhxkhdkhantxepahmaykarphnwkxxsetriykhxngeyxrmni sakprkhkphngkhxngemuxngekrnikahlngthukthingraebid eduxnminakhm kh s 1936 hitelxrsngthharklbekhakhunsuirnlnth xnepnkarfafunsnthisyyaolkharon aetkidrbkartxbsnxngnxymakcakchatiyuorpxun khrnemuxsngkhramklangemuxngsepnpathukhunineduxnkrkdakhmpiediywkn thnghitelxraelamusosliniidihkhwamsnbsnunaekcxmthphfassist frnsisok frngok aelafaychatiniymsepn ephuxtxtanrthbalsatharnrthsepnthisxng sungidrbkarsnbsnuncakshphaphosewiyt thngsxngfaytangichsngkhramkhrngniepnsnamthdsxbxawuthaelayuththwithiinkarthasngkhramthikhidkhnkhunihmdwy cnkrathngfaychatiniymsepnidrbchychnaemuxtn kh s 1939 cakkhwamtungekhriydthiephimkhun idnaipsukhwamphyayamesrimsrangkhwamaekhngaekrnghruxkarrwmklumrahwangpraethskhun eyxrmniidrwmmuxkbxitalikxtngaeknorm ebxrlinkhunineduxntulakhm kh s 1936 aelathaktikasyyatxtanokhminethirnkbyipunineduxnthdma sungxitalikidekharwmdwyin kh s 1937 swninpraethscin hlngcakkrnisixan kxngthphphrrkhkkmintngaelakxngthphkhxmmiwnistidtklnghyudyingephuxrwmknsrangaenwrwmtxtanckrwrrdiyipun ehyuxcakkarsngharhmukxngxyurimfngkhxngaemnaaeyngsi phayhlngyuththkarnanking klang kh s 1937 hlngehtukarnsaphanmarokh opol yipunerimkarbukkhrxngcinxyangetmtw sunglngexydwykarthphthimiepahmaycabukkhrxngcinthnghmd shphaphosewiyternglngnaminsnthisyyaimrukranknkbcinaelaihkhwamchwyehluxdanwtthudibaekcin epnkaryutikhwamrwmmuxkbeyxrmnikhxngcinthimixyukxnhna cxmthpheciyng ikhechkhidwangkalngphlthidithisudkhxngekhaephuxpxngknesiyngih aetkesiyemuxngiphlngkarsurbnansameduxn kxngthphyipunyngphlkdnkxngthphcinihlathxytxip aelasamarthyudnankingidineduxnthnwakhm aelakrathakarsngharhmuxyangohdehiym emuxthungeduxnmithunayn kh s 1938 kxngthphcinsamarthhyudkarrukkhubkhxngkxngthphyipunidodyehtuxuthkphyaemnahwng inchwngni cinidetriymkarpxngknthiemuxngxuhn aetkyngthuktiaetkineduxntulakhm aemwafayyipuncaidrbchychnathangthhar aetklbimsamarththalaykartanthankhxngcinlngidxyangthihwng odyrthbalcinyaylukekhaipinaephndinthungchngchingaelwthasngkhramtx thharyipuninyuththkarthihalhin kxl 29 krkdakhm kh s 1938 kxngthphyipunaelakxngthphosewiytpathaknxyangprapraythithaelsabkhasn aemwaosewiytcaepnfaychna aetyipunklbmxngwaepnkaresmxthiyngimruphlaephchna aelaemuxwnthi 11 phvsphakhm kh s 1939 yipuntdsinickhyayphrmaednyipun mxngokeliykhunipthungaemnakhlkhinkxldwykalng aemwayipuncaprasbkhwamsaercinrayaaerk aetkxngthphkhnotinmxngokeliyidthukkhdkhwangxikkhrng aelasngkhramyutilngdwysyyahyudyingemuxwnthi 15 knyayn odyimekidkarepliynaeplngdinaednid nbepnkhwamphayaephkhrngsakhykhrngaerkkxngthphkhnot khwamphayaephdngklawidthaihrthbalyipunkhwrmungprxngdxngkbrthbalosewiytephuxmiihekhamayungekiywkbsngkhramincin aelahnehkhwamsnicthangthharipthangit ipyngdinaedninkhrxbkhrxngkhxngshrthxemrikaaelayuorpinaepsifikaethn hitelxrprakasxnchlussinkrungewiynna danthwipyuorp bthbathkhxngeyxrmniaelaxitalierimkawrawmakkhun ineduxnminakhm kh s 1938 eyxrmniphnwkxxsetriy odymiptikiriyacakchatitawntkxun ephiyngelknxyechnedim dwykhwamhukehim hitelxrcungxangsiththikhrxbkhrxngsuedethinlnd dinaednkhxngechoksolwaekiysungmiphlemuxngswnihyepnchaweyxrmn odykhdtxkhwamtxngkarkhxngrthbalechoksolwaekiy frngessaelaxngkvsyinyxmiheyxrmniyudkhrxngsuednetaelnd ephuxaelkkbkarhyudaeswnghadinaednephimetim thwahlngcaknn eyxrmniaelaxitaliidbngkhbihechoksolwaekiyykdinaednihkbhngkariaelaopaelndxik aelaineduxnminakhm kh s 1939 eyxrmnibukkhrxngechoksolwaekiyswnthiehlux aelaaebngpraethsxxkepnrthinxarkkhaobhiemiyaelaomraewiykhxngeyxrmni aelarthhunechidxisraniymeyxrmni satharnrthsolwk dwykhwamtuntwcakehtuthihitelxrtxngkarnkhresridansikephimetim frngessaelaxngkvscungrbpraknwacaihkarsnbsnunexkrachkhxngopaelnd aelaemuxxitaliyudkhrxngaexlebeniyineduxnemsayn kh s 1939 frngessaelaxngkvskihkhamnechnediywknniaekormaeniyaelakris imnanhlngcakkarihkhamndngni thangdaneyxrmniaelaxitalikrwmmuxknaelalngnamepnphnthmitrxyangepnthangkarinsnthisyyaehlk edimshphaphosewiytphyayamekharwmepnphnthmitrkbxngkvsaelafrngess ephuxphyayamcakdwngeyxrmni aetthngsxngchatiptiesth dwyaekhlngicinectnaaelakhwamsamarthkhxngshphaphosewiyt shphaphosewiytekrngwashrachxanackraelafrngessimprarthnacaihkhwamrwmmuxthangthharaektn aelawitkwaxacekidsngkhramrahwangeyxrmnikbshphaphosewiyt odyfaysmphnthmitrxacexnexiyngekhakbhitelxr thaihshphaphosewiytlngnaminsnthisyyaimrukranknrahwangnasi osewiyt sungsnthisyyadngklawmikhxtklnglbrahwangthngsxngthicaaebngknkhrxbkhrxngyuorptawnxxk odyykopaelndtawntkaelalithweniyihxyuinekhtxiththiphlkhxngeyxrmni aelaykopaelndtawnxxk finaelnd exsoteniy ltewiy aelakhxngormaeniyihxyuinekhtxiththiphlkhxngshphaphosewiyt nxkcakni yngidmikartngkhathamthungkarmiexkrachkhxngopaelndtxipdwykarnbewlasngkhramolkkhrngthisxngimsamarthkahndcuderimtnxyangchichdaennxnid ephraaepnkarimyutithrrmtxpraethsidpraethshnung nkprawtisastrcungeluxkhlaychwngewlawaepncuderimtnkhxngsngkhramolkkhrngniaetktangkniptamaenwkhidkhxngtn sungidaek ehtukarnyipunbukkhrxngaemncueriy inpi kh s 1931xitalibukkhrxngexthioxepiy inpi kh s 1935 sungnaipsukarlmslaykhxngsnnibatichatisngkhramcin yipunkhrngthisxng inpi kh s 1937eyxrmnibukkhrxngopaelnd inpi kh s 1939 sungnkprawtisastrswnihythuxepncuderimtnkhxngsngkhram yipunocmtithiephirlharebxr inpi kh s 1941 aelaeyxrmnibukkhrxngshphaphosewiyt inpi kh s 1941 aelayngminkekhiynbangkhnihkhwamehnwa sngkhramolkkhrngthisxngepnsngkhramkhrngediywknkbsngkhramolkkhrngthihnungdwysaip ichkhawa sngkhramklangemuxngyuorp hrux sngkhramsamsibpikhrngthisxng xyangirktam intaraswnihymkthuxwasngkhramolkkhrngthisxngerimkhunemuxwnthi 1 knyayn kh s 1939 aelayutiemuxwnthi 2 knyayn kh s 1945 nxkehnuxcaknn sngkhramolkkhrngthisxngyngmikahndewlasinsudaetktangknechnkn bangknbthikarprakassyyasngbsukemuxwnthi 14 singhakhm kh s 1945 makkwakaryxmcannxyangepnthangkaremuxwnthi 2 knyayn kh s 1945 bangpraethsinthwipyuorpyudexawnaehngchychnainthwipyuorp 8 phvsphakhm kh s 1945 epnsakhy aetwa snthisyyasntiphaphkbpraethsyipunkyngimidmikarlngnamcnkrathngpi kh s 1951 aelasnthisyyasntiphaphkbpraethseyxrmnimikarlngnamin kh s 1990esnthangkhxngsngkhramsngkhrampathu thhareyxrmnaewrmkhth kalngekhliyrthikhamekhtaednipyngopaelnd emuxwnthi 1 knyayn kh s 1939 emuxwnthi 1 knyayn kh s 1939 eyxrmniaelarthbriwarsolwaekiybukkhrxngopaelnd wnthi 3 knyayn frngessaelashrachxanackrprakassngkhramkbeyxrmni tammadwybrrdapraethsinekhruxckrphphaehngchati aetidihkhwamchwyehluxaekopaelndephiyngelknxyechphaakarocmtikhnadelkkhxngfrngessekhaipinsarlnthethann aemwaxikthanghnung xngkvskbfrngesscaerimtnkarpidlxmthangthaeltxeyxrmniemuxwnthi 3 knyayn sungmiepahmaythicathalayesrsthkicaelakhwamphyayamsngkhramkhxngeyxrmni wnthi 17 knyayn hlngcaksngbsukchwkhrawkbyipunaelw shphaphosewiytkiderimkarbukkhrxngopaelndkhxngtn thaysud opaelndidthukaebngxxkrahwangeyxrmnikbshphaphosewiyt swnlithweniykbsolwaekiyidrbswnaebngbang chawopaelndmiidyxmcannaelasthapnarthitdinopaelnd kxngthphpxngknpraeths Home Army itdin aelayngsuxingfaysmphnthmitrinthukaenwrbnxkpraeths aelainewlaediywkbkarrbinopaelnd kxngthphyipunkepidchakocmtiemuxngchangsaepnkhrngaerk sungepnemuxngsakhythangyuththsastrkhxngcin aetkthukkhbilklbmaemuxplayeduxnknyayn phayhlngkarbukkhrxngopaelndaelakarlngnaminsnthisyyakahndsiththipkkhrxnglithweniy shphaphosewiytidbibbngkhbrthbxltikephuxyinyxmihshphaphosewiytsngkxngthphekhaippracakarphayitenguxnikhkhxngsnthisyyakhwamrwmmuxrahwangkn finaelndptiesthkareriykrxngdinaednaelathukshphaphosewiytbukkhrxng emuxeduxnphvscikayn kh s 1939 aelacblngdwykaryinyxmykdinaednbangswnihkbshphaphosewiyt ineduxnminakhm kh s 1940 frngessaelashrachxanackrmxngwashphaphosewiytphyayamcaekhasusngkhramodyxyukhangeyxrmni aelaidtxbsnxngtxkarbukkhrxngodykarkhbshphaphosewiytxxkcaksnnibatchati aelaineduxnmithunayn kh s 1940 shphaphosewiytbukkhrxngaelayudkhrxngrthbxltik inyuorptawntk xngkvsidwangkalngbnyuorpphakhphunthwip aetinchwngthieriykwa sngkhramlwng immiptibtikarthangthharkhnadihyrahwangthngsxngfayxikkrathngeduxnemsayn kh s 1940 thangdanshphaphosewiytaelaeyxrmniidbrrlusnthisyyakarkharahwangkn sungshphaphosewiytidrbekhruxngprakxbthangthharaelathangxutsahkrrmkhxngeyxrmniodyaelkkbkarsngwtthudibihkbeyxrmni sungchwybrrethaphlkrathbcakkarthukpidlxmemuxngthaodyrachnawishrachxanackr eduxnemsayn kh s 1940 eyxrmnibukkhrxngednmarkaelanxrewy ephuxkhwbkhumkarkhnsngaerehlkcakswiedn sungfaysmphnthmitrkalngcakhdkhwang ednmarkidyxmcannxyangrwderw aelathungaemwanxrewycaidrbkhwamchwyehluxcakfaysmphnthmitraelwktam aeteyxrmnikyngsamarthphichitnxrewyidinewlaephiyngsxngeduxn khwamimphxictxphlkhxngkarthphnxrewykhxngchawxngkvsidnaipsukarepliyntwnaykrthmntriaehngshrachxanackrcakenwil echmebxrlin epnwinstn echxrchill emuxwnthi 10 phvsphakhm kh s 1940 fayxksaekhluxnthph xdxlf hitelxrinkrungparis thaykbxlaebrth chepiyr aela hlngfrngessyxmcann inwnediywkn eyxrmnibukkhrxngfrngess ebleyiym enethxraelndaelalkesmebirkenethxraelndaelaebleyiymphayaephcakphlkhxngyuththwithiblithskhriktidtxkninewlaephiyngimkiwnaelaimkispdahtamladb fayeyxrmniichxubaykartiphanaenwethuxkekha sungmipapkkhlumhnaaenn ephuxoxblxmaenwpxngknaemkiontkhxngfrngess khwamphidphladdngklawepnephraankwangaephnchawfrngesskhadkarnphidwaethuxkekhaniepnaenwpxngkntamthrrmchatithiechuxknwa yanynthumekraaimxacocmtiphanid emuxthungplayeduxnphvsphakhm thharxngkvsthukbibihlathxycakaephndinihyyuorpinyuththkardnekhirk aelathingyuthothpkrnhnkiwepncanwnmak emuxwnthi 10 mithunayn xitalierimkarbukkhrxngfrngess aelaprakassngkhramtxshrachxanackraelafrngess sibsxngwnhlngcaknn frngessyxmcann aelathukaebngepnekhtyudkhrxngkhxngeyxrmniaelaxitaliinewlaimnannk aelarthsungimxyuphayitkaryudkhrxngphayitrabxbwichi emuxwnthi 3 krkdakhm kxngthpheruxxngkvskthalaykxngthpheruxfrngessinaexlcieriy ephuxpxngknmiihkxngthpheyxrmninaipichinkrnithiepnipid ineduxnmithunayn chwngplayyuththkarfrngess shphaphosewiyterimcdkareluxktngthithukcdchakkhuninrthbxltikaelaphnwkdinaednehlanidwykalngxyangphidkdhmay tamdwykarphnwkaekhwnebssaraebiyinormaeniy aemwakhwamrwmmuxrahwangshphaphosewiytaelanasieyxrmnicamiephimmakkhunaelwktam thngindanesrsthkicxyangkwangkhwang dankarthharelknxy karaelkepliynprachakraelakhwamtklngekiywkbchayaedn cnxacklawidwashphaphosewiytepnphnthmitrodyphvtinykhxngeyxrmniaelwktam karyudkhrxngrthbxltik ebssaraebiyaelanxrthbuokhwinaidsrangkhwamwitkkngwlihaekeyxrmni phvtikarndngklaw echnediywkbkhwamtungekhriydthiephimmakkhuncakkhwamimsamarthbrrlukhwamkhwamrwmmuxrahwangnasi osewiytidephimetim idthaihkhwamsmphnththngsxngesuxmthramlng ehluxaetrxewlathasngkhram ekhruxngbinkhbilxngkvsspitifrrahwangyuththkarbrietn khwamlmehlwcakptibtikardngklawyutikarrukkhxngeyxrmniinyuorptawntk emuxfrngesshludcaksngkhram fayxksakmikalngyingkhun kxngthphxakaseyxrmnerimkarrbinyuththkarbrietn ephuxkhrxngaesngyanuphaphehnuxnanfaaelaetriymkarrbphakhphundinbnekaaxngkvs aetkarthphdngklawprasbkhwamlmehlw aelaaephnkarbukkhrxngphakhphundinidthukykelikineduxnknyayn xyangirktam kxngthpheruxeyxrmnprasbkhwamsaercinkarcmeruxrbrachnawixngkvsdwyeruxxu inmhasmuthraextaelntik fayxitalikerimkarptibtikarthangthaelkhxngtninthaelemdietxrereniyn dwy ineduxnmithunayn khrxbkhrxngbritichosmaliaelndineduxnsinghakhm aelaepidsngkxngthphekhasuxiyiptkhxngshrachxanackrintxntneduxnknyayn swnthangdanyipunkephimkarpidlxmcindwy thangtxnehnuxkhxngxinodcinfrngess sungthukoddediyw tlxdchwngewladngklaw fayshrthxemrikasungepnklangidxxkmatrkarinkarchwyehluxcinaelasmphnthmitrtawntk ineduxnphvscikayn kh s 1939 rthbyytiwadwykhwamepnklangkhxngshrthxemrikamiphltamkdhmay karaeprbyytidngklawsngphlepidoxkasihfaysmphnthmitrsuxsinkhaaebb id rahwangpi kh s 1940 phayhlngcakthieyxrmniyudkrungparis shrthxemrikaidephimetimkhnadkxngthpheruxkhxngtnkhnanihy aelahlngcakkarruklaekhaipyngxinodcinfrngesskhxngyipun shrthxemrikaksnbsnunkarhamkhnsngehlk ehlkkla aelachinswnekhruxngckraekyipun aelaineduxnknyayn shrthxemrikaktklngaelkepliyneruxpracybanxemriknkbthanthphxngkvsephimetim xyangirktam satharnchnchawxemriknswnihykyngkhngtxtankarekhaaethrkaesngkhwamkhdaeyngthangthharodytrng cnkrathngthungpi kh s 1941 playeduxnknyayn ktikasyyaitrphakhirahwangeyxrmni xitali aelayipun idepnrwmtwknkxtngfayxksaxyangepnthangkar syyadngklawidkahndenguxnikhwathukpraeths ykewnshphaphosewiyt sungyngimxyuinphawasngkhramaelaocmtirthsmachikfayxksarthidrthhnungcanaipsusphawasngkhramkbrthsmachikthnghmd inchwngewladngklaw shrthxemrikayngkhngsnbsnunshrachxanackraelacinodynoybayihyum echatxip sungrbhnathiinkarcdhathrphyakrsngkhramaelasingxun rwmthngkarsrangphunthiplxdphyaebbhyab sungkhrxbkhlumphunthirawkhrunghnungkhxngmhasmuthraextaelntik sungkxngthpheruxshrthxemrikacakhxykhumknkxngeruxsinkhakhxngxngkvs phlcakkartdsinicdngklaw thaiheyxrmniaelashrthxemrikaephchiyhnakninkarthasngkhramthangthaelinmhasmuthraextaelntiktxnehnuxaelatxnklang ineduxntulakhm kh s 1941 aemwashrthxemrikacayngkhngdarngtnepnklangxyangepnthangkarxyuktam fayxksaidkhyaytwineduxnphvscikayn kh s 1940 emuxhngkari solwaekiy aelaormaeniyekharwmkbfayxksa sunginewlatxma praethsehlaniidmiswnrwminkarrukranshphaphosewiyt aetormaeniythukphicarnawamibthbathmakthisud enuxngcaktxngkarthwngdinaednthithukshphaphosewiytyudkhrxngkxnhna aelayngepnkhwamprarthnaswntwkhxngexiyn xnotenskhuthitxngkarprabpramkhxmmiwnist ineduxntulakhm xitalibukkhrxngkris aetphayinimkiwnkthukkhbilaelathukticntxngthxyrnekhaipinxlaebeniy sungsthankarnkarrbyngkhngkhumechingknxyu ineduxnthnwakhm kh s 1940 inthwipaexfrika kxngthphekhruxckrphphxngkvskidtiottxbkxngthphxitaliinxiyiptaeladinaednaexfrikatawnxxkkhxngxitali intxntnkhxngpi kh s 1941 emuxkxngthphxitalinnthukphlkdnklbipyngliebiyodykxngthphekhruxckrphph echxrchillkidxxkkhasngih inkhnaediywkn kprasbkbkhwamprachykhrngsakhy emuxrachnawixngkvssamarththalayeruxpracybanpldpracakarkhxngxitaliipidthungsamlain aelasrangkhwamesiyhayihkberuxrbxitalixikhlaylainyuththnawithiaehlmmatapn rththngphnesxreyxrmnkhxngkxngthphnxyaexfrika kalngladtraewnthithaelthrayaexfrikaehnux kh s 1941 imnannk eyxrmnikyunmuxekhamachwyehluxxitali hitelxridsngkxngthpheyxrmnekhasuliebiy ineduxnkumphaphnth aelaphayinplayeduxnminakhm kxngthphfayxksakthakarrukhnkkbkxngthphkhxngklumekhruxckrphphthildcanwnlngip aelaphayinhnungeduxn kxngthphekhruxckrphphkthuktithxyrnklbsuxiyipt ewnaetephiyngemuxngthaothbrukhsungthuklxmexaiwethann kxngthphekhruxckrphphphyayamca aelaxikkhrngineduxnmithunayn aetkprasbkhwamlmehlwthngsxngkhrng txntnkhxngeduxnemsayn hlngcakblaekeriyekharwmkbfayxksa kxngthpheyxrmnkekhaaethrkaesnginkhabsmuthrbxlkhan odyocmtikrisaelayuokslaewiyphayhlngrthprahar sungkprasbkhwamsaercxyangrwderw cninthaythisud kxngthphsmphnthmitrktxngthxnkalngxxkiphlngcakthieyxrmnisamarthyudekaakhritidemuxthungsineduxnphvsphakhm faysmphnthmitrexngkprasbkhwamsaercinchwngewlaniechnediywkn intawnxxkklang kxngthphekhruxckrphphkidrbchychnainkarprabpramrthpraharinxirk sungidrbkarsnbsnunodykxngthphxakaseyxrmncakthanthphin caknn dwykhwamchwyehluxkhxngfrngessesri faysmphnthmitrkprasbkhwamsaercinkarthphsieriyaelaelbanxn ephuxcdkarkbthharxksainphunthi xikthnginmhasmuthraextaelntik prachachnchawxngkvsmikhwyaelakalngicephimkhuncakkarcmcmeruxthng bismarkh khxngeyxrmni lngsuknthaelidsaerc aelathixacsakhysud kxngthphxakasxngkvssamarthtanthankarocmtikhxnglukhwafefidinyuththkaraehngbrietn aelaemuxwnthi 11 phvsphakhm kh s 1941 hitelxrtxngykelikkarthingraebidehnuxekaaxngkvsip inthwipexesiy hlngcakkarrukkhxngthngsxngfay sngkhramrahwangcinaelayipunyngkhngkhumechingknxyuinpi kh s 1940 dwykhwamphyayamthicaephimaerngkddntxcinodykarkidkhwangesnthangesbiyng aelaephimesrimsrangthanathiehnuxkwa kxngkalngyipunidxasycnghwathimhaxanactawntkyngkhngthasngkhramknxyu yudkhrxngxinodcinthangtxnitdwykalngthhar aelaineduxnsinghakhmpiediywkn khxmmiwnistcinkidocmtitxnklangkhxngcin aelaephuxepnkaraekaekhn yipunkmimatrkarrunaerngxxkmaephuxldkalngkhnaelapccykarphlitkhxngkxngkalngkhxmmiwnistcin aelakhwamtungekhriydthiephimmakkhunrahwangphrrkhkhxmmiwnistcinaelakxngthphchatiniymcin thaihkhwamsmphnthkhxngthngsxngfaysinsudlngxyangsinechingineduxnmkrakhm kh s 1941 xnthaihptibtikarthangthharthiekhykratharwmknkyutilngtamipdwy khnathisthankarninyuorpaelaexechiynnkhxnkhangmnkhng eyxrmni yipun aelashphaphosewiytkidtraetriymkartamnoybaykhxngtn thangdanshphaphosewiytephchiykbkhwamtungekhriydthiephimmakkhuncakeyxrmni swnyipunnnphyayamthiichpraoychncaksngkhraminthwipyuorp odykaryudexaxananikhmxnxudmsmburnkhxngyuorpinexechiytawnxxkechiyngit khnathiyipunaelashphaphosewiytkidtklngthasnthisyyakhwamepnklangosewiyt yipun ineduxnemsayn kh s 1941 trngknkhamkbeyxrmnisungtngicxyangimldlathicawangaephnthasngkhraminshphaphosewiyt idmikarradmphlprachidchayaednshphaphosewiytephimmakkhun sngkhramluklamthwolk phaphekhluxnihwekhtsngkhramyuorpinsngkhramolkkhrngthisxngthhareyxrmnrahwangkarbukshphaphosewiyt kh s 1941 emuxwnthi 22 mithunayn kh s 1941 eyxrmnirwmthungklumpraethsfayxksainthwipyuorpaelafinaelnd idbukkhrxngshphaphosewiytinptibtikarbarbarxssa sungepnkarocmtithiehnuxkhwamkhadhmay odymiepahmaykhuxkaryudkhrxngrthbxltik mxsok aelayuekhrn aelakahndepahmaysungsudiwiklkbaenwex ex emuxplaypi kh s 1941 sungepnaenwthiechuxmtxrahwangthaelsabaekhsepiynkbthaelkhaw swnwtthuprasngkhkhxnghitelxr khux karthalaylangaesnyanuphaphthangthharkhxngshphaphosewiyt kwadlangrabxbkhxmmiwnist aelasrang phunthixyuxasy odykarichkalngaeyngchingdinaednmacakchnphunemuxngedim aelaepnkarrbpraknkarsranghnthangsungnaipsukaryudkhrxngthrphyakrthicaepntxthalaykhuaekhngkhxngeyxrmnithiyngehluxxyu aemfaykxngthphaedngcamikaretriymkartiottxbthangyuththsastriwkxnsngkhramktam aetptibtikarbarbarxssabibihkxngbychakarthharsungsudkhxngosewiytprbichaephntngrbthangyuththsastraethn chwngvdurxn kxngthphfayxksaidrbchychnamatlxd samarthyudkhrxngdinaednxnkwangihy aelasrangkhwamesiyhaythngthangdanthrphyakraelakalngphlihaekshphaphosewiytepnxyangmak aetthwainchwngklangeduxnsinghakhm kxngbychakarthharsungsudeyxrmnitdsinicthicaphkkarrbkhxnghmukxngthphklangexaiw hlngcakthikalngphlmicanwnldlng aelaaebngklumaephnesxrthisxngipsmthbkbkxngthphthikalngmunghnaipyngtxnklangkhxngyuekhrnaelaelninkrad yuththkarekhiyfprasbkhwamsaercxyangngdngam sngphlthaihkxngthphosewiytthukthalayipthungsikxngthph aelathaihkarmunghnatxipyngkhabsmuthrikhremiyaelaekhtxutsahkrrmphthnaaelwinyuekhrntawnxxkepnipid inchwngptibtikarbarbarxssa kxngthphkwasaminsikhxngfayxksa aelakxngthphxakasswnihyidthukekhluxnyaycakfrngessaelathaelemdietxrereniynipyngaenwrbdantawnxxk shrachxanackridribthakarphicarnayuththsastrhlkihmthnthi ineduxnkrkdakhm shrachxanackraelashphaphosewiytkidrwmtwkncdtngphnthmitrthangthharephuxtxtaneyxrmni thngsxngpraethsidrwmmuxknbukkhrxngxihranephuxrksaaelaaehlngnamninxihran ineduxnsinghakhm shrachxanackraelashrthxemrikaidrwmmuxkntngkdbtraextaelntik tneduxntulakhm hlngcakthikxngthphfayxksaidrbchychnainyuekhrnaelaaethbthaelbxltik odymiephiyngelninkradaelaeswsotpxlthuyngkhngrbtanthanxyuethannyuththkarmxsokkidthukruxfunkhunihm hlngcakphankarrbxyanghnkepnewlasxngeduxn kxngthphfayxksaekuxbcathungchankrungmxsokaelw kxngthphkhxngfayxksathixxnepliy thaihkarbuknntxnghyudchangkip aelathungaemwaeyxrmnicaiddinaednmacanwnmhasal aetwaprasbkhwamlmehlwinkarbrrluwtthuprasngkhthangyuththsastr sxngnkhrthisakhykhxngosewiytyngimaetk khidkhwamsamarthkhxngkxngthphaednginkartanthankarbukkhxngfayxksayngkhngimthukthalay aelaskyphaphthangthharyngkhngehluxxyumak hlngcakni rayablithskhrikinthwipyuorpcungidyutilngxyangsmburn emuxthungtneduxnthnwakhm shphaphosewiytidrbkxnghnunthiradmmacakphrmaedndantawnxxksungtidkbekhtaemncukwkhxngyipun thaihkxngthphosewiytmiprimankalngphlthiethiybidkbkxngthphfayxksa sungemuxprakxbkbkaryunyncakkhxmulkhawkrxngaelwwa kxngthphosewiytinphakhphuntawnxxkiklmiprimanephiyngphxthicasamarthtanthankxngthphkhnotkhxngyipunid inwnthi 5 thnwakhm kxngthphosewiytidtamaenwrbthiyawtxenuxngknkwa 1 000 kiolemtr aelasamarthphlkdnkxngthphxksaidepnrayathangthung 100 250 kiolemtr khwamsaerckhxngeyxrmniinthwipyuorpidkratunihyipunephimkarkddntxrthbalyuorpinexechiytawnxxkechiyngit rthbaldtchyinyxmthicasngmxbthrphyakrnamncakhmuekaaxinediytawnxxkkhxngdtch aetptiesththicayinyxmihyipunekhaaethrkaesngthangkaremuxngphayinxananikhm trngknkhamkbfrngessekhtwichisungyinyxmihyipunyudkhrxngxinodcinfrngess rthbalshrthxemrika shrachxanackraelapraethstawntktxbotkaryudkhrxngdngklawdwykarxaydthrphysinkhxngyipun inkhnathishrthxemrika sungyipunxasynaekhanamnepnprimankwarxyla 80 txbsnxngodykarhamkhnsngnamnipyngyipunxyangsmburn yipunthukbibiheluxkwacalmelikkhwamthaeyxthayaninkaryudkhrxngthwipexechiyaelahnklbipdaeninkarrbincintxip hruxekhayudaehlngthrphyakrthitxngkardwykalngthhar kxngthphyipunimphicarnathungthangeluxkaerk aelanaythharradbsungcanwnmakphicarnawakarhamkhnsngnamnipyngyipunepnkarprakassngkhramodyny mitsubichi ex6exm sior epnekhruxngbinkhbilbneruxbrrthukekhruxngbinochkhakhu khxngkxngthpheruxckrwrrdiyipun kxnkarocmtiephirlharebxr yipunidwangaephninkaryudkhrxngxananikhmkhxngchatiyuorpinthwipexechiyxyangrwderwephuxthicasrangaenwpxngknkhnadihysunglakyawphanmhasmuthraepsifiktxnklang ephuxxanwykhwamsadwkinkaraeswnghathrphyakrxnxudmsmburninexechiytawnxxkechiyngitxyangxisrakhnathasngkhrampxngkntnexngcnthaihfaysmphnthmitrthitxngsurbepnxanabriewnkwangehnuxyla aelaephuxkarpxngknkarekhaaethrkaesngkhxngphaynxk yipuncungphyayamwangaephnthicathalaykxngthpheruxshrthxemrikaepnxndbaerk inwnthi 7 thnwakhm yipunidocmtiexechiytawnxxkechiyngitaelamhasmuthraepsifiktxnklanginewlaediywkn rwmipthungocmtithanthpheruxshrthxemrikathixawephirl aelaykphlkhunbkinithyaelamalaya yuexsexs aexriosna bibi 39 thukephlingihmhlngyipunocmtithixawephirl cakkarocmtikhrngni thaihshrthxemrika shrachxanackr xxsetreliy cin aelafaysmphnthmitrtawntkprakassngkhramkbyipunxyangepnthangkar swnthangdaneyxrmni xitali aelaklumpraethstamsnthisyyasamfaykidtxbsnxngodykarprakassngkhramkbshrthxemrikaechnkn ineduxnmkrakhm kh s 1942 shrthxemrika shrachxanackr shphaphosewiyt aelacin rwmdwyyisibsxngrthbalsungepnpraethselkhruxepnrthbalphldthin idrwmknxxk sungepnkarrbrxngkdbtraextaelntik aetshphaphosewiytmiidptibtitamaethlngkarndngklaw aelakhngkhwamtklngepnklangkbyipun aeladaeninkartdsinictamhlkkarphicarnakhxngtnephiyngfayediyw nbtngaet kh s 1941 stalinidrxngkhxechxrchillaelaorsewltxyangtxenuxngihepid aenwrbthisxng khuninfrngess aenwrbdantawnxxkcaklayepnekhtsngkhramhlkkhxngsngkhraminyuorpaelasrangkhwamsuyesiyaekchiwitkhxngchawosewiythlaylankhn sungthaihkarsuyesiyhlayaesnkhnkhxngfaysmphnthmitrtawntkepneruxngelknxy echxrchillaelaorsewltklawwaphwkekhatxngkarewlaetriymkarmakkwani cungnaipsukarbxkelathiwaphwkekhachalxephuxchwychiwitchawtawntkdwyrakhakhxngchiwitchawosewiyt emuxthungplayeduxnemsayn kh s 1942 yipunekuxbcasamarthkhrxbkhrxngphma malaya hmuekaaxinediytawnxxkkhxngdtch singkhopr aela odysamarthsrangkhwamesiyhaykbkxngkalngfaysmphnthmitraelacbkumechlysukidepncanwnmak thungaemwacathakarrbtanthanxyanghnk aetfilippinskthukyudkhrxngineduxnphvsphakhm kh s 1942 thaihrthbalfilippinstxngphldthin kxngthphyipunyngidrbchychnainyuththnawihlaykhrnginthaelcinit thaelcawaaelamhasmuthrxinediy txma idekhluxnmathingraebiddarwin aelaidrbchychnainkarrbthangthaelinthaelcinit aela aetkhwamsaercthiaethcringephiyngxyangediywkhxngfaysmphnthmitrekidkhuninintxntnkhxngeduxnmkrakhm kh s 1942 ethann karexachnakhasukthiimthntngtwni thaihyipunmikhwammnicintwexngmakekinip thangdaneyxrmniksamarththakarruktxidechnediywkn enuxngcakkarbngkhbbychakxngthpheruxthiimaennxnkhxngshrth kxngthpheruxeyxrmnsamarththalaythrphyakrfaysmphnthmitriklchayfngdantawnxxkkhxngshrthxemrikaid thungaemwacaprasbkhwamsuyesiyepncanwnmak aetkxngthphfayxksaksamarthhyudyngkarrukkhrngihykhxngosewiytidthangtxnklangaelatxnit aelayngkhngthuxkhrxngdinaednephimetimthiidrbekhamaemuxpithiaelwxyuepncanwnmak swninaexfrikaehnux fayxksaidthakarbukxikkhrngineduxnmkrakhm kh s 1942 epnkarphlkdnihkxngthphshrachxanackraelaekhruxckrphphklbipyngaenwkasalaintxntneduxnkumphaphnth swninaenwrbdantawnxxk kartiottxbkhxngkxngthphosewiytidyutilngemuxeduxnminakhm tamdwykaryutikarrbchwkhrawkhxngeyxrmni sungichewlaephuxwangaephninkarocmtiinkhrnghnatxip cudepliynkhxngsngkhram ekhruxngbindathingraebidxemriknrahwangyuththnawimidewy tneduxnphvsphakhm kh s 1942 yipuniderimwangaephnyudphxrtmxrsbiinptibtikarom odykarocmtiaebbsaethinnasaethinbk ephuxepnkartdesnthangesbiyngrahwangshrthxemrikakbxxsetreliy xyangirktam faysmphnthmitrsamarthekhakhdkhwangaelathaihthpheruxyipuntxnglathxyipidinyuththnawithaelkhxrl aelasamarthkhdkhwangkarbukkhrxngpapwniwkiniidsaerc swnaephnkarkhntxipkhxngyipun xnekidcakkarkratunhlngkrungotekiywthukthingraebid khux karyudkhrxnghmuekaamidewy rwmipthungkarlxeruxbrrthukekhruxngbinxemriknthiyngkhngehluxxyuinmhasmuthraepsifikmathalayinkarrbdwyaelainkhnaediywkn yipunidsngxikkxngthphhnungipyudhmuekaaxaluechiyninxaaelska intneduxnmithunayn yipunkidngdexaaephnkhxngtwexngxxkmaptibti aetkthukskdkn enuxngcakkxngthphshrthxemrikasamarththxdidtngaetemuxplayeduxnphvsphakhm kxngthpheruxshrthxemrikacungidetriymtwrbmuxkbkarbukkhxngyipunidxyangthuktxng rwmipthungichkhawkrxngdngklawkrathngidrbchychnaeddkhadinyuththnawimidewyehnuxkxngthpheruxyipun enuxngcakyipunesiythrphyakrinkarrukranipmakthimidewy yipuncungepliynepahmayipthakarrbthibn inkhwamphyayamxikkhrnghnunginkaryudphxrtmxrsbi sahrbfayshrthkidwangaephnthicatiottxbkhrngtxipinhmuekaaosolmxn odyerimtncakekaakwdlkhaaenl xnepnkawaerkkhxngkarekhayud sungepnthanthpheruxhlkkhxngkxngthphyipuninexechiyxakheny aephnkarthngsxngerimtnkhunineduxnkrkdakhm aetemuxthungklangeduxnknyayn yipuncatxnghnmaihkhwamsakhykbkarthphkwdlkhaaenlmakkhun aelakxngthphyipuninekaaniwkininnidrbkhasngihthxnkalngxxkcakphunthiekhtphxrtmxrsbiipyngthangtxnehnuxkhxngekaa thisungkxngthphnitxngephchiykbkalngphsmrahwangshrthkbxxsetreliy kwdlkhaaenlidklayepncudyuththsatrsakhysahrbthngsxngfay thaihekidkarthumthrphyakrkhnaelaeruxrbmaepncanwnmakephuxthakarrb cnkrathngintxntnkhxngpi kh s 1943 kxngthphyipunkphayaephbnekaakwdlkhaaenlaelathxythphklb inpraethsphma kxngthphekhruxckrphphidrbinsxngptibtikar hnungkhuxkarrukekhaipinaekhwnxaraknrahwang inplaypi kh s 1942 aetkprasbkhwamhaynaxyangrayaerng aelacaepntxngthxythphklbekhasuxinediy ineduxnphvsphakhm kh s 1943 aelaptibtikarthisxng kkhux ekhathangdanhlngaenwrbkhxngyipunineduxnkumphaphnth sungemuxplayeduxnemsayn kidrbphlthiimaennxnethaidnk thharosewiytocmtixakharbaneruxnrahwangyuththkarstalinkrad kh s 1943 khnathiehtukarninaenwrbdantawnxxk kxngthpheyxrmnaelaphnthmitrfayxksa yngkhngexachnakxngthphosewiytthiyuththkarthikhabsmuthrekhiyrchaelayuththkarthikharkhxfkhrngthi 2 sunghlngcaknnkidepidchakrukhnkinvdurxninkrnisinaengininaethbshphaphosewiyttxnit rahwangeduxnmithunayn kh s 1942 ephuxyudkhrxngaehlngkhudecaanamnthukaehnginaethbkhxekhssaelathunghyasetppkhubanxnkwangihy eyxrmniaebnghmukxngthphitxxkepnsxngswn hmukxngthphexthuksngipocmtiaemnadxntxnlang khnathihmukxngthphbithuksngipocmtithangtawntkechiyngitodymunghnaipyngkhxekhssaelaaemnawxlka kxngthphosewiytidtdsinicthicatngrbthistalinkrad sungxyuinesnthangedinthphkhxngfayxksa txnklangeduxnphvscikayn kxngthphxksaekuxbcaphichitstalinkradinkarsngkhramemuxngxnkhmkhunaelw aetkxngthphosewiytkthakartiottxbinvduhnawepnkhrngthisxng odyerimcakkaroxblxmkxngthpheyxrmnthistalinkrad tamdwykarocmtisnekharecf iklkrungmxsok aemwacaprachyyxyybinphayhlngktam tneduxnkumphaphnth kh s 1943 kxngthpheyxrmnprasbkbkhwamsuyesiymhasal aelakxngthpheyxrmninstalinkradthukbibbngkhbihyxmcann aenwrbdantawnxxkthukphlkdnipyngcudkxnkarrukinvdurxn klangeduxnkumphaphnth hlngcakthikartiottxbkhxngosewiythyudchangk kxngthpheyxrmnidocmtiharkhxfxikkhrnghnung ekidepnaenwrbthiyunekhaipindinaednkhxngosewiytrxb rththngkhruesedxrkhxngxngkvskhnadaeninkarrudhnainkarthphaexfrikaehnux thangdantawntk dwykhwamwitkkngwlwayipunxacichekaamadakskar sungepnthanthphkhxngfrngessekhtwichi kxngthphxngkvscungsngdaeninkarocmtiekaamadakskarineduxnphvsphakhm kh s 1942 aelathangdankarthphaexfrikaehnux karocmtikhrnglasudkhxngfayxksathiyuththkarthikasala idphlkdnihkxngthphfaysmphnthmitrihklbekhasuxiyipt cnkrathngkarbuktxnghyudchangkthiexl xalaemn rahwangkarrbinchwngni bnyuorpphakhphunthwip hnwykhxmmanodkhxngfaysmphnthmitridtiochbchwyepahmaythangyuththsastr aelacblngdwykartiochbchwydiaeyp sungphlepnkhwamhayna aesdngihehnthungkhwamimsamarthkhxngfayphnthmitrtawntkinkarxxkptibtikarbukkhrxngyuorpphakhphunthwipodyprascakkaretriymkaryuthothpkrnaelakhwammnkhngthangptibtikarmakkwani ineduxnsinghakhm kxngthphfaysmphnthmitrsamarthphlkdnaenwrbfayxksaihthxyipinyuththkarexlaexlaemnkhrngthisxng aeladwykarsinepluxngthrphyakrxyangsunglib ksamarthkhnthrphyakrthitxngkaripihemuxngmxltathithukpidlxmexaiwidin caknn imkieduxnhlngcakyuththkarexlaexlaemnkhrngthisxnginxiyipt thangdanxngkvsaelapraethsekhruxckrphphkerimekhluxnthphipthangthistawntksupraethsliebiy imnanhlngcakthikarbukkhrxngaexfrikaehnuxkhxngfrngesskhxngshrthxemrika shrachxanackr sungkidchychna aelaepnphlihdinaedndngklawekharwmkbfaysmphnthmitr hitelxridtxbsnxngtxkarexaicxxkhangkhxngxananikhmfrngessodykarxxkkhasngyudkhrxngfrngessekhtwichi thungaemwafrngessekhtwichicaimlaemidenguxnikhinkhxtklnghyudying aetkrathrwngthhareruxkhxngfrngessekhtwichiidcdkarcmkxngthpheruxkhxngtnephuxmiihtkxyuinmuxkhxngfayeyxrmni emuxthukbibcakkxngthphfaysmphnthmitr thaihkxngthphfayxksatxngthxyrniptngrbintuniesiy sungnaipsuchychnakhxngfaysmphnthmitr emuxeduxnphvsphakhm kh s 1943 faysmphnthmitrtnghlkid thharshrthinkarsurbkbkxngthphyipunbnhmuekaaosolmxn phayhlngcakkarthphekaakwdlkhaaenl faysmphnthmitrkerimptibtikarthangthharmakmaytxkxngthphyipuninmhasmuthraepsifik ineduxnphvsphakhm kh s 1943 kxngthphxemriknthuksngxxkipocmtikxngthphyipuncakhmuekaaxaluechiyn aelaerimtnptibtikarhlkin ephuxtdkhadkalngsnbsnun aelakarfachxngohwinaenwpxngkninmhasmuthraepsifiktxnklang emuxsineduxnminakhm kh s 1944 kxngthphfaysmphnthmitrksamarthprasbkhwamsaercthnginsxngptibtkar aelayngsamarthidinbriewnhmuekaaaekhoriln emuxthungeduxnemsayn kxngthphfaysmphnthmitrkiderimptibtikarthica thngsxngfaysngrththngrwmkwaaepdphnkhninyuththkarekhisk nbepnyuththkarrththngihythisudtlxdkal inshphaphosewiyt thngeyxrmniaelaosewiyttangtraetriymaephnkarsahrbkarrukkhrngihyinvduibimphliaelavdurxn kh s 1943 aethbrsesiytxnklang emuxwnthi 4 krkdakhm kh s 1943 kxngthpheyxrmnerimekhatikalngosewiytrxbaenwyunthiekhisk aethitelxrklbtxngykelikaephnkarniaemwacaphanipephiyngspdahediyw enuxngcaksuyesiytxkarwangrabbpxngknepnkhn xyanglukaelakarpxngknthisrangiwxyangdi sungnbepnkhrngaerkthihitelxrmiphvtikarndngklaw aemwaptibtikardngklawcayngimbrrluphlthangyuththsastrhruxyuththwithielyktam kartdsinicdngklawbangswnepnphlmacakkarbukkhrxngekaasisilikhxngsmphnthmitr emuxwnthi 9 krkdakhm prakxbkbkhwamlmehlwkhxngxitalithiphanma sngphlihmusoslinithukkhbxxkcaktaaehnngaelathukcbkumhlngcaknn wnthi 12 krkdakhm kh s 1943 shphaphosewiytidthakartiottxbkhxngtn aeladbkhwamhwngid khxngkxngthpheyxrmnthicachnahruxkrathngrksasthankarnkhumechingiwidxikinthangtawnxxk chychnathiekhiskkhxngosewiytnaphaihkhwamehnuxkwakhxngeyxrmniesuxmlng aelaihshphaphosewiytklbepnfayrieriminaenwrbdantawnxxk thhareyxrmnphyayamsrangkhwammnkhngaekaenwrbdantawnxxkkhxngtntamaenwphnethxr owthnthimikaresrimxyangerngdwn xyangirkdi fayosewiytsamarthtiphanaenwdngklawidthisomelnskaelaodykarrukolwexxrniepxr eduxnknyayn kh s 1943 smphnthmitrtawntkerimkarbukkhrxngaephndinihyxitali tamdwy eyxrmnisnxngodykarpldxawuthkxngthphxitali yudkarkhwbkhumthangthharinphunthixitalithnghmd aelasrangaenwpxngknkhunmahlaychndwykn emuxwnthi 12 knyayn kxngkalngphiesseyxrmn aelasthapnarthbriwarinxitaliswnthithukeyxrmniyudkhrxng chuxwa satharnrthsngkhmniymxitali faykxngthphsmphnthmitrthalwngphanaenwpxngkneyxrmnidhlayaenw cnthungemuxklangeduxnphvscikayn thangdankarrbthangthaelinmhasmuthraextaelntik kxngthpheruxeyxrmnprasbkhwamsuyesiyxyanghnkineduxnphvsphakhm kh s 1943 cnthukeriykwa khwamsuyesiykxngeruxdanakhxngfayeyxrmniepncanwnmak thaihkardkthalaykxngthpheruxfaysmphnthmitrtxnghyudchangk ineduxnphvscikayn kh s 1943 aefrngklin orsewlt aelawinstn echxrchill idedinthangipphbkbeciyng ikhechkh rahwangkarprachumkrungikhor aelaxikkhrngkbocesf stalinrahwangkarprachumetharan aelaphlcakkarprachumthngsxngkhrngidkhxtklngwa smphnthmitrtawntkcabukkhrxngyuorpphayinpi kh s 1944 aelashphaphosewiytcaprakassngkhramkbyipunphayinsameduxnhlngeyxrmniyxmaeph karykphlkhunbkkhxngthharxemriknthixnsiox eduxnmkrakhm kh s 1944 kxngthphsmphnthmitridekhatihlaykhrngthimxnetkssion aelaphyayamtioxbdwy emuxthungplayeduxnmkrakhm kxngthphosewiytksamarthkhbilkxngthpheyxrmnxxkcakmnthlelninkrad yutikarlxmthiepnehtuihmiphuesiychiwitmakthisudinprawtisastr ptibtikarrukinewlatxmakhxngosewiytthukhyudtrngphrmaednexsoteniykxnsngkhram sungkxngthphklumehnuxkhxngeyxrmniidrbkhwamchwyehluxcakchawexsoteniy dwyhwngcasthapnaexkrachkhxngchatiihm khwamlachaniidsngphlkrathbtxptibtikarinaethbthaelbxltik ineduxnphvsphakhm kh s 1944 kxngthphosewiytpldplxykhabsmuthrikhremiy odysamarthkhbilkxngthphxksaxxkcakyuekhrnkhnanihy aelaerimthakarrukekhaipyngormaeniy sungthukkhbilodykxngthphxksa phrxmkbthikarrukxitalikhxngfaysmphnthmitrprasbkhwamsaerc aelabngkhbihkxngthpheyxrmntxnglathxyip aelainwnthi 4 mithunayn ormktkxyuinmuxkhxngfaysmphnthmitr thharxngkvskhnathakaryingpunkhrkinyuththkarthiximphal erimineduxnminakhm kh s 1944 fayyipunerimkarbukkhrxnghnunginsxngkhrng khux aelasamarthlxmthitngkhxngekhruxckrphphidthiximphalaelaokhima ineduxnphvsphakhm kh s 1944 kalngxngkvsrukottxbkxngthphyipunklbipyngphma aelakxngthphcinsungbukkhrxngphmatxnehnuxemuxplay kh s 1943 idlxmkxngthphyipuniwthimitcinaepnkhwamphyayamthicathalaykalngrbhlkkhxngcin srangkhwamplxdphyaekthangrthifrahwangdinaednthiyipunyudiwaelayudsnambinkhxngsmphnthmitr emuxthungeduxnmithunayn kxngthphyipunsamarthphichitmnthlehxhnanaelaerimtninmnthlhuhnan faysmphnthmitrrukkhub karykphlkhunbkthihadoxmahainaekhwnnxrmxngdirahwangptibtikaroxewxrlxrd 6 mithunayn kh s 1944 fayphnthmitrtawntkidykphlkhunbkthihadnxrmxngdiinptibtikaroxewxrlxrd aelahlngcakkarmxbhmayhnathiihkbkxngthphsmphnthmitrhlaykxngphlinxitaliaelw cungerimkarrukekhasufrngesstxnitineduxnsinghakhm cnsamarthpldplxykrungparisidinwnthi 25 singhakhm aelainchwngewlatxmakrathngsinpi kxngthphfaysmphnthmitridphlkdnkalngeyxrmninyuorptawntkklbipthungaemnairn aetkhwamphyayamthicarukekhasueyxrmnitxnehnux sungnaodyptibtikarphlrmkhrngihyinenethxraelnd cblngdwykhwamlmehlw caknn smphnthmitrtawntkphlkekhasueyxrmnixyangcha aetimprasbkhwamsaercinkarkhamaemnarurxikkhrnginkarrukkhrngihy inxitali karrukkhxngsmphnthmitrkchalngechnkn emuxthung swnthangdanaenwrbdantawnxxk emuxwnthi 22 mithunayn kxngthphosewiytidkrahnaocmtiepnchudxyanghnktxeyxrmni odyerimtngaeteduxnmithunayn iltngaetptibtikarbakratixxnineblarus sungsamarththalaykxngthphklumklangkhxngeyxrmnilngekuxbthnghmd tamdwyptibtikarinkarkhbilthhareyxrmnxxkcakyuekhrntawntkaelaopaelndtawnxxk sungcakkhwamsaercdngklaw thaihkhbwnkarkuchatiopaelndiderimtnkxkarclacl odyechphaaxyangyinginkrungwxrsx aelainsolwaekiythangtxnit aetclaclthngsxngkhrngimidrbkarsnbsnuncakkalngosewiytely aelathukkxngthpheyxrmnprabpram swnidthalaykxngthpheyxrmnipepncanwnmak aelathaihekidkarrthprakarinormaeniyaelablaekeriy sngphlihpraethsthngsxngekhakbfaysmphnthmitraethn ineduxnknyayn 1944 kxngthphaedngidekhluxnthphipyngyuokslaewiy thaihkxngthphklumxiaelakxngthphklumexfinkris aexlebeniy aelayuokslaewiytxngthxyrnxyangtxenuxngephuxpxngknmiihthuktdxxkcakkalngswnxun emuxthungcudni phlphrrkhchawyuokslafphayitkarnakhxngcxmphl yxsip brxs tiot sungidkhrxbkhrxngdinaedncanwnmakinyuokslaewiyaelaocmtikxngthpheyxrmntxipthangthisit inesxrebiy kxngthphaedngidmiswnchwyehluxphlphrrkhinkarpldplxykrungeblekrd emuxwnthi 20 tulakhm imkiwnhlngcaknn kxngthphaedngidocmtihngkarikhrngihyinkarrukbudaepst sungkinewlanankxnthikrungbudaepstcaaetkineduxnkumphaphnth kh s 1945 xyangirktam aemwashphaphosewiytcaprasbkhwamsaercinkhabsmuthrbxlkhan aetkartxtankhxngfinaelndtxptibtikarkhxngosewiytbnkhxkhxdaekhrieliyn idptiesthkaryudkhrxngkhxngshphaphosewiyt kxncamikarnaipsukarlngnaminsnthisyyasngbsukdwyenguxnikhthiesiyepriybephiyngelknxy aelathaihfinaelndepliynmaxyukbfaysmphnthmitraethn eruxpracyban yamaota thukthingraebidiklkbthanpunihydanhwerux rahwangyuththnawixawelyet thungtneduxnkrkdakhm kxngthphekhruxckrphph sungtngmnxyuinexechiytawnxxkechiyngit samarthkhlaywnglxmkhxngkxngthphyipnthilngid aelasamarthphlkdnihkxngthphyipunthxyipidcnthung khnathikxngthphcinsamarthyudemuxngmyitkhyinainpraethsphmaid swnthangdanpraethscin kxngthphyipunerimidrbchychnaxyangmak cakkaryudemuxngchangchaiwidinthisudintxnklangeduxnmithunayn aelayudemuxngidemuxtneduxnsinghakhm caknncungidekhluxnthphtxipyngmnthlkwangsi samarthexachnakxngkalngcinidthi emuxplayeduxnphvscikayn aelaprasbkhwamsaercinkarechuxmtxkxngthphyipunincinaelainkhabsmuthrxinodcininklangeduxnthnwakhm danmhasmuthraepsifik kxngthphxemriknyngkhngkddnaenwpxngknkhxngyipuntamhmuekaatang txip rawklangeduxnmithunayn kh s 1944 kxngthphxemriknerimkarocmtihmuekaamaeriynaaelapaela aelaidrbchychnaeddkhadtxkxngthpheruxckrwrrdiyipuninphayinewlaimkiwn phlkhxngkhwamprachyninaipsukarlaxxkcaktaaehnngnaykrthmntriyipunkhxngphlexkotoc aelathaihshrthxemrikamithanthphxakassungsamarthrxngrbekhruxngbinthingraebidhnkephuxocmtiaephndinihyyipunid playeduxntulakhm kxngthphxemriknykphlkhunbkthi hlngcaknnimnan kxngthpheruxkhxngsmphnthmitrkidrbchychnakhrngihytxkxngthphyipunxikkhrnginyuththnawixawelyet sungthuxidwayuththnawithiyingihythisudinprawtisastr xksalmslay faysmphnthmitridchy xakharirchsthakhkhxngeyxrmni hlngkarkhrxbkhrxngkhxngkxngthphfaysmphnthmitr emuxwnthi 3 mithunayn kh s 1945raebidprmanusungthukthingthiemuxngnangasaki wnthi 16 thnwakhm kh s 1944 kxngthpheyxrmnidphyayamxyangekhatacnephuxkhwamsaercodykareriykradmkxnghnuneyxrmn aelatiottxbkhrngihythipaxaredinens ephuxthicaaebngaeykfayphnthmitrtawntk oxblxmkxngkalngfayphnthmitrtawntkkhnadihyaelayudkhrxngemuxngthaesbiyngthisakhythixnthewirph ephuxthicarksakhwamsngbthangkaremuxng sungkinewlacnthungeduxnmkrakhm kh s 1945 odyimbrrluwtthuprasngkhthangyuththsastraetxyangidely swninaenwrbdantawnxxk kxngthphosewiytocmtithunghngkari aelakxngthpheyxrmncaepntxngthingkrisaelayuokslaewiy khnathiinxitali kxngthphsmphnthmitryngkhngimsamarthocmtiphanaenwpxngknkhxngeyxrmnid aelaklangeduxnmkrakhm kh s 1945 shphaphosewiytocmtiopaelnd samarthphlkdnkxngthpheyxrmncakaemnawistulathungaemnaoxedxrineyxrmni aelayudkhrxngprsesiytawnxxk emuxwnthi 4 kumphaphnth phunashrthxemrika shrachxanackr aelashphaphosewiytidekharwmkarprachumthiylta sungidkhxsrupthungkaraebngpndinaednkhxngeyxrmniphayhlngsngkhram aelakahndewlathishphaphosewiytcaekharwmsngkhramkbyipun ineduxnkumphaphnth kxngthphfaysmphnthmitrtawntkidekhasuaephndinkhxngeyxrmniaelaekhaprachidaemnairn khnathikxngthphosewiytaelaisliechiy emuxthungeduxnminakhm kxngthphsmphnthmitrtawntkidkhamaemnairnthngthangehnuxaelathangitkhxng aelasamarthlxmkxngthpheyxrmnkhnadihyexaiw swndankxngthphosewiytsamarthrukekhathungkrungewiynna inthisudkxngthphsmphnthmitrtawndkksamarth aelasamarthocmtiidthangtawntkkhxngeyxrmni emuxtneduxnemsayn kh s 1945 khnathiplayeduxnediywkn kxngthphosewiytekhathlmkrungebxrlin kxngthphfayphnthmitrtawntkaelakxngthphosewiytidmabrrcbknthiaemnaexlebx emuxwnthi 25 emsayn emuxwnthi 30 emsayn kh s 1945 xakharrthsphairchsthakhthukyudkhrxng aesdngthungkhwamphayaephthangkarthharkhxngnasieyxrmni yxnklbipemuxwnthi 12 emsayn prathanathibdishrth aefrngklin orsewlt thungaekxsykrrmkhnadarngtaaehnng phuthimarbtaaehnngtxkhuxrxngprathanathibdiaehrri exs thruaemn khnathiebniot musoslinithuksngharody emuxwnthi 28 emsayn aelaxiksxngwnihhlng hitelxrthaphinykrrmmxbxanacihkbcxmphleruxkharl edxniths aelayingtwtayinfuxerxrbungekhxr hlngcaknn kxngthpheyxrmninxitaliidyxmaephinwnthi 29 emsayn swneyxrmniidyxmaephinyuorptawntkemuxwnthi 7 phvsphakhm thwakxngthpheyxrmnyngrbkbkxngthphosewiytinaenwrbdantawnxxktxipthungwnthi 8 9 phvsphakhm swnkxngthpheyxrmnthiehluxephiyngelknxyidthakarsurbtanthankbkxngthphosewiytinkrungprakkrathngyxmcannemuxwnthi 11 phvsphakhm thangdanmhasmuthraepsifik kxngthphshrthxemrikaidrukekhasu hlngcakidchyinekaaeletemuxplaypi kh s 1944 caknnk ineduxnmkrakhm kh s 1945 aelasamarthkhunidineduxnminakhm karrbbnekaalusxn aelaekaaxun yngkhngdaenintxipcnkrathngsinsudsngkhram ineduxnphvsphakhm kxngkalngxxsetreliyykphlkhunbkbnekaabxreniyw aelasamarthyudkhrxngbxnamnthinnid kxngkalngxngkvs xemrikn aelacinksamarthexachnakxngthphyipuninphmatxnehnuxemuxeduxnphvsphakhm aelakxngthphxngkvsrudhnaipthungyangkung emuxwnthi 3 phvsphakhm kxngthphxemriknyngkhngmunghnaekhasuyipun samarthyudekaaxiowacimaidineduxnminakhm aelayudekaaoxakinawaidineduxnmithunayn inkhnathiekhruxngbinthingraebidkhxngkxngthphxakasshrthxemrikaidthalayemuxngtang khxngyipun aelaeruxdanaxemriknkekhapidlxmekaayipun tdkhadkarnaekhacakphaynxk wnthi 11 krkdakhm brrdaphunafaysmphnthmitrprachumthiphxthsdm praethseyxrmni idkhxsrupwa thiprachumih aelayathungkhwamcaepnkhxngyipunthicatxngyxmaephxyangimmienguxnikh odyechphaaxyangyingkhaklawthiwa thangeluxksahrbyipunkhuxkarthalaylangchbphlnsinsak rahwangkarprachumni shrachxanackrcd aelaidrbeluxktngepnnaykrthmntrikhxngshrachxanackraethnwinstn echxrchill naykrthmntrikhnedim emuxyipunidptiesthkhxesnxthiphxthsdm shrthxemrikacungtdsinicthingraebidprmanusxnglukbnaephndinyipunthihiorachimaaelanangasaki tneduxnsinghakhm kh s 1945 rahwangkarthingraebidprmanuthngsxngluk shphaphosewiytkprakassngkhramkbyipun aelaocmtiaemncueriykhxngyipun tamkhxtklngylta yipunidtdsinicyxmaephxyangimmienguxnikh inwnthi 15 singhakhm kh s 1945 hlngcaknninwnthi 2 knyayn kh s 1945 yipunidlngnamintrasaryxmcannxyangepnthangkar aelaepncudcbkhxngsngkhramdwyechnknhlngsngkhramfaysmphnthmitridsthapnakarbriharyudkhrxnginxxsetriyaelaeyxrmni xxsetriynnidklaymaepnrththiepnklangthangkaremuxng odyimxingkbklumkaremuxngid swneyxrmninnthukaebngxxkepnekhtyudkhrxngfngtawntkaelatawnxxksungxyuphayitkarkhwbkhumodyfaysmphnthmitrtawntkaelashphaphosewiyttamladb okhrngkarkhcdkhwamepnnasi Denazification ineyxrmniidnaipsukarfxngxachyakrsngkhramnasiaelakarpldxditphunanasilngcakxanac aettxmanoybayniidepliynipepnkarnirothskrrmaelakaryxmrbxditnasiekhakbsngkhmeyxrmnitawntkxikkhrng eyxrmnisuyesiyphunthiiphnunginsicakphunthiemux kh s 1937 phunthithangtawnxxk idaek isliechiy nxymarkh aelaswnihykhxngphxemxereniythukphnwkekhakbopaelnd prsesiytawnxxkthukaebngrahwangopaelndkbshphaphosewiyt tamdwykarkhbilchaweyxrmn 9 lankhnthixasyxyuinphunthiehlani echnediywkbchaweyxrmn 3 lankhnxxkcaksuedetnaelndinechoksolwaekiyipyngeyxrmni phayinkhristthswrrs 1950 chaweyxrmntawntkhnunginhakhnepnphuliphymacakthangtawnxxk shphaphosewiytyngidyudkhrxngcnghwdkhxngopaelndthixyuthangtawnxxkkhxngesnekhxrsxn sungchawopaelndkwa 2 lankhnthukkhbilxxkmadwy karyudkhrxngnirwmipthungormaeniytawnxxk bangswnkhxngfinaelndtawnxxk aelarthbxltikthngsam phnthmitrthangthharinthwipyuorphlngsngkhram praethsfaysmphnthmitridkxtngxngkhkarshprachachatikhun dwykhwamphyayamthicarksasntiphaphthwolk odymiphlxyangepnthangkar emuxwnthi 24 tulakhm kh s 1945 aelaprbichptiyyasaklwadwysiththimnusychn inpi kh s 1948 xnepnmatrthansamysungthukchatismachikcatxngbrrlu khwamsmphnthrahwangsmphnthmitrtawntkaelashphaphosewiytidesuxmlngtngaetkxnthisngkhramolkkhrngthisxngcacblngaelw aelachatixphimhaxanacaetlafaytangkerimsrangekhtxiththiphlkhxngtnexngxyangrwderw thwipyuorpidthukaebngxxkepnsxngswn dwyxiththiphlkhxngfaysmphnthmitrtawntkaelashphaphosewiyt sungepnthiruckknwa manehlk sungidlakphanpraethseyxrmniaelapraethsxxsetriy shphaphosewiytidsrangkhaytawnxxkkhun odykarphnwkdinaednhlaypraethssungthukyudkhrxngxyuinlksnakhxng sungedimcatxngphnwkrwmekhakbeyxrmni tamenguxnikhkhxngsnthisyyaomoltxf ribebnthrxph xyangechn opaelndtawnxxk rthbxltikthngsam bangswnkhxngfinaelndtawnxxk aelaormaeniytawnxxkechiyngehnux swnrthxunthishphaphosewiytyudkhrxnginrahwangsngkhramkthukepliynepnrthbriwarkhxngshphaphosewiyt xyangechn satharnrthprachachnopaelnd satharnrthprachachnhngkarisatharnrthsngkhmniymsolwksatharnrthprachachnormaeniy satharnrthprachachnaexlebeniy aelaeyxrmnitawnxxkphayitkaryudkhrxngkhxngshphaphosewiyt inthwipexechiy shrthxemrikaidekhayudkhrxngyipun aeladaeninkarpkkhrxnghmuekaatang khxngyipuninmhasmuthraepsifikdantawntk khnathishphaphosewiytkekhayudkhrxngekaasahalinaelahmuekaakhuril swnekahliphayitkarpkkhrxngkhxngyipunnn k cakkhwamtungekhriydthiephimmakkhunrahwangshrthxemrikaaelashphaphosewiyt thaihshrthxemrikaidkxtngphnthmitrenoth aelathangshphaphosewiytkidkxtngsnthisyyawxrsxkhun thngsxngxngkhkarthangthharnixacthuxidwaepncuderimtnkhxngsngkhrameyn aephnthiolkaesdngxananikhmhlngsngkhramolkkhrngthisxngyutiemux kh s 1945 hlngcaknnimnan hlaypraethsideriykrxngexkrach naipsukarcdtngxisraexl tlxdcnkarpldplxyxananikhminexechiyaelaaexfrika hlngcakehtukarndngklawnnimnan ekidehtukarnekahliehnuxbukkhrxngekahliitkhun rahwangekahliehnuxsungidrbkarhnunhlngodycinaelashphaphosewiyt kbekahliitphayitkhwamchwyehluxkhxngshprachachati sungthusudaelwcblngdwykaresmxknaelasyyahyudying hlngcaknn phunaekaehliehnux khim xilsxng idsrangrupaebbkarpkkhrxngthirwmxanacekhasusunyklangxyangmak rwmthngkxihekidlththibuchabukhkhlxnnaekrngkham hlaypraethssungthukchatitawntkyudkhrxngepnxananikhm idprakasexkrachaelaaeyktwxxkmaepncanwnmak enuxngcakkhwamsuyesiythrphyakrkhxngchatitawntk thaihxiththiphlcakphaynxkxxnaexlng odykaraeyktwdngklawidekidkhunxyangsntiinhlaypraeths ykewninewiydnam aelaaexlcieriy inxikhlayphunthiinolk thaihekidepnpraethsihmkhunmamakmay dwyehtuphlthangmnusythrrmaelasasna karprakasexkrachthioddednmak khux xnnaipsukarkxtngxisraexlaelapaelsitn aelainxinediykekidkaraetkxxkepnsxngpraeths khux xinediyaelapakisthan swnkarfuntwkhxngesrsthkichlngcaksngkhramolkkhrngthisxngmikhwamaetktangkninhlakhlayphumiphakhkhxngolk aelaphbwainhlaypraethsmikarfuntwthangesrsthkicinthangbwk echn eyxrmnitawntk sungesrsthkicfuntwxyangrwderwcnxyuinsthanakxnsngkhramidinkhristthswrrs 1950 xitali sungxxkcaksngkhramdwysphaphesrsthkictkta aetinkhristthswrrs 1950 esrsthkickhxngxitalikmixtrakaretibotsungaelamiesthiyrphaph shrachxanackrxxkcaksngkhramdwyesrsthkictktaechnkn aetsphaphthangesrsthkickhxngxngkvsyngkhngthdthxyxikepnewlakwathswrrs frngesskmikarfuntwthangesrsthkickhxnkhangrwderwechnkn aelamixtrakarecriyetibotsungaelamikardaenintamsmyniym shphaphosewiytkmixtrakarphlitephimsungkhunxyangrwderwphayhlngsngkhram aelayipun sungmixtrakaretibocthangesrsthkicsungmak cnkrathngkawkhunepnxphimhaxanacthangesrsthkickhxngolkinchwngkhristthswrrs 1980 cin sungepnpraethslmlalaycakphlkhxngsngkhramklangemuxng aetinpi kh s 1953 esrsthkickmiaenwonmthicafuntw aelamixtrakarphlitklbmaepnpktiehmuxnkxnsngkhram odyechphaaxyangying shrthxemrikathimiphlphlitthangxutsahkrrmkhidepnkhrunghnungkhxngolk aetinchwngkhristthswrrs 1970 esrsthkicshrthxemrikakthdthxyxyanghnkphlkrathbkhxngsngkhramkhwamsuyesiyaelaxachyakrrmsngkhram idmikarpramanwamiphuesiychiwitcaksngkhramolkkhrngthisxngiwxyanghlakhlay aetswnihyidesnxwakhidepncanwnmakkwa 60 lankhn prakxbipdwythharxyangnxy 22 lankhn aelaphleruxnxyangnxy 40 lankhn saehtuesiychiwitkhxngphleruxnswnihynnmacakorkhrabad karxdxahar karkhafn aelakarthalayphuchphnthu danshphaphosewiytsuyesiyprachakrraw 27 lankhnrahwangchwngsngkhram khidepnekuxbkhrunghnungkhxngkhwamsuyesiythnghmdrahwangsngkhramolkkhrngthisxng cakkhwamsuyesiyrxyla 85 epnkhxngfaysmphnthmitr swnihyepnchawcinaelachawosewiyt aelarxyla 15 epnkhxngfayxksa mikarpramanwamiphleruxnraw 12 lankhnesiychiwitinkhaykkknnasi 1 5 lankhncakkarthingraebid aelasaehtuxun inyuorpxik 7 lankhn rwmipthungxik 7 5 lankhnincin odyehtukarnthiodngdng idaek karsngharhmuthinanking odysaehtuthitwelkhkhwamsuyesiymikhwamaetktangknmaknnmisaehtumacakwakartayswnihyimidmikarcdbnthukexaiw canwnkaresiychiwitcanwnmakepnphlmacakkarlangchatiphnthuthiekidkhunindinaednphayitkaryudkhrxngkhxngfayxksa aelaxachyakrrmsngkhramxun sungthukkrathaodychaweyxrmnaelachawyipun odyehtukarnthiepnthiruckkndikhxngxachyakrrmsngkhramchaweyxrmn idaek hxolkhxst sungepnkarlangchatixyangepnrabbinekhtyudkhrxngkhxngeyxrmniaelaphnthmitr odynxkcakchawyiwaelw yngmiklumchatiphnthuhruxklumkhwamkhidxun thuksngharxikepncanwnkwa 5 lankhn aeladanthharyipunkidsngharphleruxnraw 3 10 lankhn sungswnihyepnchawcin rahwangsngkhramolkkhrngthisxng nxkcaknn eruxngkhxngkarichxawuthchiwphaphaelaxawuthekhmiyngidthuknamatdsindwy thharxitaliidichaeksmstardinkarbukkhrxngexthioxepiy swnyipunidichxawuthdngklawinsngkhramcin yipunkhrngthisxng aelainsngkhramchayaednosewiyt yipun odythngeyxrmniaelayipunidmikarthdlxngxawuthkbphleruxnaelaechlysngkhramcanwnmak khnathikartdsinkhdikhwamxachyakrrmsngkhramkhxngfayxksathukcharakhwaminsalcharakhwamrahwangpraethsaehngaerk aetwaxachyakrrmkhxngfaysmphnthmitrklbtrngknkham twxyangxachyakrrmsngkhram echn khayichaerngngankhxngosewiyt karkkknchawyipun xemrikninshrthxemrika Operation Keelhaul karkhbilchaweyxrmnhlngsngkhramolkkhrngthisxng karkhmkhunrahwangkaryudkhrxngeyxrmni karsngharhmukhatinkhxngshphaphosewiyt nxkcakni insngkhramyngmiphuesiychiwitepnxnmakcakthuphphikkhphy echn thuphphikkhphyaekhwnebngkxl kh s 1943 aelathuphphikkhphyewiydnam kh s 1944 45 nkprawtisastrbangkhnesnxwa karthingraebidkhnanihyinekhtphleruxnindinaednkhasukkhxngsmphnthmitrtawntk rwmthngotekiyw aelathioddednthisudkhux nkhredrsedin hmbwrkh aelaokholykhxngeyxrmni xnepnphlihnkhrkwa 160 aehngthukthalaylang aelaphleruxnchaweyxrmnesiychiwitkwa 600 000 khn khwrthukphicarnawaepnxachyakrrmsngkhramdwy khaykkknaelakarichaerngnganthas nkothsphuthrmanin praethsxxsetriy inpi kh s 1945 hxolkhxstidsngharchawyiwinthwipyuorpepncanwnxyangnxy 6 lankhn rwmipthungechuxchatixun xikthithukphwknasilngkhwamehnwaepnphwkthi imkhukhwr hrux takwamnusy rwmipthungphuthithuphphlphaph phuthimixakarpwythangcit echlysngkhramosewiyt phwkrkrwmephs aelachawyipsi odyepnswnhnungkhxngthxnrakthxnokhnxyangcngic aelaidrbkardaeninkarodyrthbalfassistnasi naodyxdxlf hitelxr mikrrmkraelakhnnganraw 12 lankhn sungodyswnmakmacakyuorptawnxxk idthukwacangihmathanganihesrsthkicsngkhramkhxngnasieyxrmni nxkehnuxcakkhaykkknkhxngnasiaelw yngmikhaykulkhruxkhxngshphaphosewiyt sungidnaipsukhwamtaykhxngphleruxncanwnmakindinaednyudkhrxngkhxngfaynasieyxrmniaelashphaphosewiyt idaek opaelnd lithweniy ltewiy aelaexsoteniy rwmipthungechlysngkhramkhxngeyxrmni aelayngmichawosewiytbangswnthikhadwaepnphusnbsnunkhxngfaynasi cakhlkthanphbwaechlysngkhramkhxngosewiytkwa 60 khxngthnghmdidesiychiwitrahwangsngkhram richard oxewriidbnthuktwelkhechlysukchawosewiytiw 5 7 lankhn sungincanwnni 57 esiychiwit khidepn 3 6 lankhn echlysukosewiytthirxdchiwitaelahlbhniekhasumatuphumicathuktrahnawaepnkhnthrys duephim khayechlysngkhramkhxngyipunexngkmiphuesiychiwitepncanwnmak aelayngmikartngepnkhayaerngngan phayhlngcakkartdsinkhxngsalthharrahwangpraethssahrbtawnxxkikl edimchux salphiessotekiyw idlngmtiwaxtrakaresiychiwitkhxngechlysukfaysmphnthmitrkhidepn 27 1 incanwnniepnthharshrthxemrika 37 khidepnecdethakhxngxtraediywknkhxngkhayaerngngankhxngnasieyxrmniaelaxitali aetcanwndngklawnnmisungmak odyechphaaxyangyingechlysukchawcin sungcakkhasngthiidrbkarxnumtiemuxwnthi 5 singhakhm kh s 1937 odyckrphrrdihiorhiotidrabuwa chawcinimxyuphayitkarkhumkhrxngkhxngkdhmayrahwangpraeths hlngcaksngkhramolkkhrngthisxng thharshrachxanackridrbkarplxytw 37 853 nay thharenethxraelnd 28 500 nay thharshrthxemrika 14 473 nay aetphbwathharcinthukphbwaidrbkarplxytwephiyng 56 nay xangxingcakkarsuksarwmknkhxngnkprawtisastr idsrupwa michawcinmakkwa 10 lankhnthukeknthodykxngthphyipun aelathukichaerngnganxyangthas ephuxwngiphbulyrwmaehngmhaexechiyburpha thnginaemncukwaelathangphakhehnuxkhxngpraethscin hxngsmudrthsphaaehngshrthxemrikaidpramanwainekaachwawachawxinodniesiykwa 4 thung 10 lankhntxngthukbngkhbihthanganaekkxngthphyipunrahwangsngkhram chawxinodniesiybnekaachwakwa 270 000 khnidthuksngipthanganindinaednthiyipunyudkhrxngxyuinexechiyxakheny sungmiephiyng 52 000 khnethannthisamarthklbkhunsuthinedimid emuxwnthi 19 kumphaphnth kh s 1942 prathanathibdiorsewltidlngnaminkhasngfaybriharthi 9066 sungidthakarkktwchawyipun xitali aelaeyxrmn aelaphuxphyphbangswncakhmuekaahaway sunghlbhnihlngcakkarocmtithithanthpheruxephirlinchwngewlarahwangsngkhramepncanwnmak chawyipun xemriknthukkktwodyrthbalshrthxemrikaaelaaekhnadaepncanwnkwa 150 000 khn rwmipthungchaweyxrmnaelachawxitalisungxasyxyuinshrthxemrikaekuxb 11 000 khn khnaediywkn kkarichaerngnganodyfaysmphnthmitrechnkn swnihyaelwcaekidkhunindinaedntawnxxk xyangechninopaelnd aetyngmiphuichaerngnganxikkwalankhnintawntk ineduxnthnwakhm kh s 1945 hlkthankhxngfrngessidrabuwamiechlysngkhramchaweyxrmnkwa 2 000 khn tayhruxphikarthukeduxninxubtiehtukarekbkwadthunraebid aenwhlngaelaxutsahkrrm krafepriybethiybxtraphlitphnthmwlrwmkhxngfayxksaemuxethiybkbfaysmphnthmitrrahwangpi 1938 1945 inthwipyuorp chwngsngkhramerimkhunihm nnfaysmphnthmitrnnmikhwamidepriybthngthangdancanwnprachakraelakhwammnkhngthangesrsthkic inpi 1938 faysmphnthmitrmiprachakrmakkwafayxksa 30 aelaxtraphlitphnthmwlrwminpraethsmakkwafayxksa 30 sungthaihfaysmphnthmitridepriybthangyuththsastrmakkwa 5 1 indancanwnprachakraelaxtraphlitphnthmwlrwmkhidepn 2 1 inthwipexechiy cinnnmiprachakrepnhkethakhxngyipun aelamixtraphlitphnthmwlrwminpraethsmakkwayipunip 89 aetthahakrwmexaxananikhmkhxngyipunekhaipdwy khwamaetktangkhxngcanwnprachakrcaldlngehluxephiyngsamethaaelakhwamkawhnakhxngphlitphnthmwlrwminpraethsldlngehlux 38 aemkhwamaetktangrahwangthngsxngfaycamimak aetfayxksaksamarthtdkalngfaysmphnthmitriddwyblithskhrikkhxngeyxrmniaelayipunhlaykhrng thwakhwamidepriybthangesrsthkicaelaprachakrkhxngfaysmphnthmitridklaymaepnpccyaetkhkcnthung kh s 1942 hlngshrthxemrikaaelashphaphosewiytekhasusngkhram odysngkhramidepliynipepnsngkhramaehngkhwamsuyesiy chwngplaysngkhram faysmphnthmitrsamarthchwngchingkhwamidepriybthangesrsthkiciddwykarekhayudaehlngthrphyakrthrrmchati aelapccyxun idaek khwamimetmickhxngeyxrmniaelayipunthicaeknthaerngnganstri aelakarepliynaeplngipsuesrsthkicsngkhramintxnplay eyxrmniaelayipunnnaethcringaelwimidetriymkarxyangehmaasmsahrbsngkhramyudeyuxaelaimmikhidkhwamsamarthid elythicathaechnnn ephuxthicaephimkarphlit eyxrmniaelayipuncaepntxngxasyaerngngancakpraethsthitnexngsamarthyudkhrxngidmaichaerngngannblan odyphbwaeyxrmniidmikarichaerngnganthaskwa 12 lankhn sungswnihymacakyuorptawnxxk aelayipunidmikarichaerngnganthasexechiytawnxxkiklkwa 18 lankhn dinaednthithukyudkhrxngrahwangsngkhram inthwipyuorp karyudkhrxngaebngxxkepnsxngpraephth sahrbyuorptawntk yuorpehnux aelayuorpklang eyxrmniidxxknoybaythangesrsthkicsungidphltxbaethnkwa 69 5 lanlanirchmarkcnkrathngsinsudsngkhram sungyngimrwmthungphlitphnthxutsahkrrm yuthothpkrnthangthhar wtthudibaelasinkhaxun sungeriykknwa Nazi plunder rayidkhxngnasieyxrmniindinaednyudkhrxngnnkhidepnkwarxyla 40 khxngrayidcakphasiinaephndineyxrmni aelaephimkhunepnekuxbrxyla 40 khxngrayidthnghmdkhxngeyxrmniinchwngrahwangsngkhram swnthangyuorptawnxxk sungkhnthnghlaytangkhwngtxphlpraoychncaknoybayaeswnghaphunthixyuxasyimprasbkhwamsaerc enuxngcakaenwrbsungimaennxn aelaphlcaknoybay skxchthexirth khxngosewiyt sungepnkarptiesthmiihthrphyakrthnghlaytkxyuinenguxmmuxkhxngchaweyxrmn imehmuxnkbthangyuorptawntk nnidkxihekidkhwamelwraytang kb chnchntakwamnusy inaenwrbdantawnxxk cungetmipdwykarkhatkrrmaelakarsngharhmu aelathungaemwacamikhbwnkarkukhatiekidkhunmakmayinpraethsthithukyudkhrxng aetkyngimsamarthkxihekidphlkrathbodyrwmtxkarkhyaytwkhxngnasieyxrmniid krathngplay kh s 1943 inexechiy yipunphyayamsrangwngiphbulymhaexechiyburphakhun aelamicudprasngkhthicakhrxngkhwamepnihy odyxangkarpldplxychatithitxngtkepnxananikhmkhxngchatixphimhaxanacinthwipyuorp thungaemwakxngthphyipunnncaidrbkartxnrbcaknktxsuephuxexkrachinhlaydinaedn aetwaenuxngcakkarkrathathiohdrayidepliynthsnkhtithimitxyipunipesiyphayinewlaimkispdah rahwangkaryudkhrxngkhxngyipuninchwngaerknnidrbnamnkwa 4 lanaekllxncakkarlathxykhxngfaysmphnthmitr aelain kh s 1943 yipunidphlphlitcakhmuekaaxinediytawnxxkkhxngdtchkwa 50 lanaekllxn kwarxyla 76 khxngxtrakarphlitkhxngyipunin kh s 1940 karphthnaethkhonolyiaelarupaebbkarthasngkhram rahwangsngkhram xakasyanyngkhngdarngbthbathkhxngtnthnginkarladtraewnsarwc ekhruxngbinkhbil ekhruxngbinthingraebid aelakarsnbsnunphakhphundinmacaksngkhramolkkhrngthihnung thungaemwaxakasyanthnghlaycaidrbkarphthnakhunepnxyangmakaelw bthbaththisakhykhxngxakasyanxiksxngprakarnxkehnuxcakthiidklawmaaelw idaek karkhnsngthangxakas epnkhwamsamarththicaekhluxnyayesbiyng ekhruxngyuththphnthaelahnwythharidxyangrwderwtamladbkhwamsakhy thungaemwacayngmiprimanthirxngrbidtaxyuktam aela sungepnkarthingraebidthlmepahmayphleruxndwykhwamhwngthicathalayxutsahkrrmaelakhwykalngickhxngkhasukexngkmikarphthnakhunechnkn rwmipthungxupkrnpxngknphythisakhy echn erdar aelapunihytxsuxakasyanthiidrbkarphthnaepnxyangsung xyangechn khxngeyxrmni xakasyanectkpraktihehnepnkhrngaerkinkarxxkptibtikarcanwnhnungrahwangsngkhramolkkhrngthisxng aelathungaemwaxakasyanectcathuknaekhasusngkhramintxnplay aelapraktihehnephiyngcanwnnxy hmaykhwamwaphwkmnimmiphlkrathbtxsngkhramodytrngdwytwexng aelacanwnnxythukphbehninkarbrikarkhnsngkhnadihyhlngcaksngkhram swninthael inkhnathikarphthnaekidkhuninkarthasngkhramthangthaelinekuxbthukrupaebb aetpraktihehnxyangchdecninkarphthnaeruxbrrthukekhruxngbinaelaeruxdana thungaemwaintxntnkhxngsngkhram karthasngkhramkarbinprasbkhwamsaercephiyngelknxyktam aetptibtikarintarnot xawephirl thaelcinit aelathaelkhxrl idthaiheruxbrrthukekhruxngbinkawkhunmakmibthbathsakhyaethnthieruxpracyban inmhasmuthraextaelntik eruxbrrthukekhruxngbinthukphisucnaelwwamibthbathsakhyxyangmakinrabbkxngeruxkhumknfaysmphnthmitr thaihprasiththiphaphrsmiinkarpxngknephimkhunepnxyangmak aelamiswnchwyinkarxud nxkehnuxcakprasiththiphaphthiephimkhunaelw eruxbrrthukekhruxngbinyngprahydkwaeruxpracybanenuxngcakekhruxngbinmirakhata aelalaeruximcaepncatxnghumekraahna eruxdana sungthukphisucnwaepnxawuthxnthrngprasiththiphaphrahwangsngkhramolkkhrngthihnung idmikarkhadkarnlwnghnaodythukfaywacamibthbathsakhyinsngkhramolkkhrngthisxng fayxngkvsmungennipyngxupkrnaelayuththwithiinkartxsueruxdana xyangechn osnar aelarabbkxngeruxkhumkn inkhnathieyxrmnimungennipyngkarphthnakhwamsamarthinkarruk dwykarxxkaebb aelayuththwithi aelakarphthnaethkhonolyikhxngfaysmphnthmitrxyangcha kidphisucnthungchychna swnrupaebbkarrbphakhphundinidepliynaeplngcakhnamuxepnhlngmux cakaenwrbxyukbthisungepnthiniyminsmysngkhramolkkhrngthihnung epliynmaepnkarrbthimikarepliynaeplngxyuesmx odykarepliynaeplngniepnaenwkhidmacakrupaebbkarthasngkhramrahwangehlathph sungepnkarprasannganknrahwangkhunsmbtikhxngkxngkalngthharthihlakhlay rththng sungthukichsnbsnunthharrabinsngkhramolkkhrngthihnung idphthnacnklaymaepnxawuthphunthankhxngkxngkalngthnghmdinsngkhramolkkhrngthisxng inchwngplaykhristthswrrs 1930 karxxkaebbrththngidmikarphthnakhunepnxyangmakinthukdan emuxethiybkbemuxkhrngsmysngkhramolkkhrngthihnung aelayngidmikarphthnakhwamerw ekraaaelakalngyingthiephimmakkhun yngidekidkhunxyangtxenuxngtlxdrahwangsngkhram inchwngaerkkhxngsngkhram kxngthphswnihyphicarnawarththngepnxawuththidithisudinkartxsurththngdwykn cungidphthnarththngthimicudprasngkhphiesskhunephuxbrrluphlnn aetaenwkhiddngklawidrbkarphisucnwaphidinkarptibtikhxngrththngkhxnkhangebainchwngaerkinkartxkrkbrththng aelahlkniymkhxngeyxrmninkarhlikeliyngkarrbaebbrththngtxrththng aelaxikpccynhnung cakkarichkxngkalngphsmkhxngeyxrmni xnepnpccyhlkkhxngyuththwithikarocmtisayfaaelbsungprasbkhwamsaercthnginopaelndaelafrngess aelaprakthlaywithiinkarthalayrththng rwmthng puntxsurththng thunraebid xawuthphisyikltxsurththngsahrbthharrab aelakarichrththngidthuknamaichpraoychn aemkrathnginhlaykxngthphcaidmikarepliynipichekhruxngckrxyangkwangkhwang aetthharrabkyngkhngepnkraduksnhlngsahrbkxngkalngthnghmd aelatlxdchwngewlakhxngsngkhram yuththphnthkhxngthharrabswnihymikhwamkhlaykhlungkbthiekhyichpraoychninsngkhramolkkhrngthihnung shrthxemrikaepnpraethsaerkthimikarichepnpraethsaerk sungkkhux nxkcakni karphthnabangprakaryngekiywkbpunklphkphaid twxyangthioddednechn exmci 42 khxngeyxrmni aelapunklmuxxikhlaypraephth sungmikhwamehmaasmsahrbkarrbinemuxngaelainpapunelkyawcuocm sungepnphthnakarintxnplaykhxngsngkhram epnkarrwmkhxdikhxngpunelkyawaelapunklmuxekhaiwdwykn aelaidklaymaepnxawuthphunthansahrbthharrabinekuxbthukkxngthphhlngsngkhram inaengkhxngkartidtxsuxsar phuekharwmsngkhramswnihyphyayamthicaaekikhpyhakhxngkhwamsbsxnaelakarrksakhwamplxdphy odykarichpraoychncakkhnadihysahrbwithyakarekharhs prakxbkbkarsrangekhruxngrhskhunmahlayaebb sungthiepnruckknkwangkhwangthisud idaek ekhruxngxinikmakhxngeyxrmni sungepnkrabwnkartxbotekhruxngthxdrhs sungtwxyangthioddedn idaek khxngxngkvs aelakarthxdrhskxngthpheruxyipunkhxngfaysmphnthmitr swnxikthisthanghnungthisakhykhxngkhawkrxngthangthhar idaek karichptibtikar sungfaysmphnthmitridprasbkhwamsaercinhlayoxkascnidphldi xyangechn aelaptibtikarbxdikard nxkcakni inkarphthnathangdanethkhonolyiaelawiswkrrmyngidaek khxmphiwetxrsungsamarthopraekrmidepnkhrngaerk aelaxiniaexk khipnawuthnawithi aelacrwdsmyihm karphthnaxawuthniwekhliyr xnepnphlmacakokhrngkaraemnhttn karsrang aelakarsrangthxnamnlxdphanchxngaekhbxngkvsduephimraychuxptibtikarthangthharrahwangsngkhramolkkhrngthisxng phubngkhbbychainsngkhramolkkhrngthisxng ethkhonolyirahwangsngkhramolkkhrngthisxng sngkhramebdesrcechingxrrthkhawasngkhramolkkhrngthisxnginphasaxngkvsnn inexksarprawtisastrxyangepnthangkarkhxngshrachxanackraelachatitawntkichkhawa Second World War swninshrthichkhawa World War II yxepn WWII hrux WW2 sungexksarprawtisastrxyangepnthangkarinpraethsswnihymkcaichphasaxngkvswa Second World War echnZweiter Weltkrieginphasaeyxrmn Segunda Guerra mundialinphasasepn Seconde Guerre mondialeinphasafrngess aetthngsxngkhaniodythwipaelwsamarthichaethnknid aeminprawtisastrkarthharxyangepnthangkar khawa Second World War thuksrangkhunody rthmntriwakarkrathrwngkartangpraethsshrthxemrika swnkhawa World War II phbichepnkhrngaerkinnitysaremuxwnthi 12 mithunayn kh s 1939 War Machines 2010 11 14 thi ewyaebkaemchchin sungepnphupradisthkhawa World War I khuninxiksameduxntxma tamthi D Glantz idklawiwwa The Soviet German War 1941 45 2011 07 09 thi ewyaebkaemchchin emuxthungwnthi 1 phvscikayn kxngthphbkeyxrmn idsuyesiykalngphlkwa 20 khxngkxngkalngdngedim 686 000 nay aelakwa 2 3 khxngphahnayanyntkhrunglankhn 65 khxngcanwnrththng odykxngbychakarthharsungsudkhxngeyxrmniidcdkalngphl 136 kxngphlkhxngtnihepn 83 kxngphletmxtrasuk tamkarekhiynkhxng Ernest May The United States the Soviet Union and the Far Eastern War The Pacific Historical Review V 24 No 2 1955 p 156 echxrchillchiwa karprakassngkhramkhxngrsesiytxyipncaepnkarsrangkhwamidepriybihkbfayeraepnxyangmak odymienguxnikhethannwa phwkrsesiycatxngrusukmnicwaaenwrbdantawntkkhxngphwkekhacaimesiyip ptibtikarkhrngni epnkhwamphayaephxyangchibhaythisudaehngkxngthpheyxrmnthnghmdinsngkhramolkkhrngthisxng The operation was the most calamitous defeat of all the German armed forces in World War II aehlngthima Zaloga Bagration 1944 The destruction of Army Group Centre 7 xangxingWallechinsky David David Wallechinsky s Twentieth Century History With the Boring Parts Left Out Little Brown amp Co 1996 ISBN 0 316 92056 8 ISBN 978 0 316 92056 8 cited by White Brzezinski Zbigniew Out of Control Global Turmoil on the Eve of the Twenty first Century Prentice Hall amp IBD 1994 ASIN B000O8PVJI cited by White Coleman P 1999 World War II Resource Guide Gardena California The American War Library Keegan John 1989 The Second World War Glenfield Auckland 10 New Zealand Hutchinson a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Citation title aemaebb Citation citation a CS1 maint location Sommerville Donald 14 Dec 2008 The Complete Illustrated History of World War Two An Authoritative Account of the Deadliest Conflict in Human History with Analysis of Decisive Encounters and Landmark Engagements Lorenz Books p 5 ISBN 0 7548 1898 5 Hakim Joy 1995 A History of Us War Peace and all that Jazz New York Oxford University Press ISBN 0 19 509514 6 Kantowicz Edward R The rage of nations Wm B Eerdmans Publishing 1999 ISBN 0 8028 4455 3 page 149 Davies Norman 2008 No Simple Victory World War II in Europe 1939 1945 Penguin Group ISBN 0 14 311409 3 p 134 140 Bullock 1962 p 265harvnb error no target CITEREFBullock1962 Shaw Anthony World War II Day by Day pg 35 Preston Peter Pacific Asia in the global system an introduction Wiley Blackwell 1998 ISBN 0 631 20238 2 pages 104 105 Myers Ramon Peattie Mark The Japanese Colonial Empire 1895 1945 pg 458 Ralph Steadman Winston Smith June 1 2004 All Riot on the Western Front Last Gasp p 28 ISBN 0867196165 subkhnemux 2009 11 12 Coogan Anthony 1993 The Volunteer Armies of Northeast China 43 cakaehlngedimemux 11 May 2012 subkhnemux 6 May 2012 Kenneth Brody J 1999 The Avoidable War Pierre Laval and the Politics of Reality 1935 1936 Transaction Publishers p 4 ISBN 0765806223 Zalampas Michael January 10 1989 Adolf Hitler and the Third Reich in American magazines 1923 1939 Google Books Bowling Green University Popular Press p 62 ISBN 0879724625 subkhnemux 2009 11 14 ecfefxri erkhkhxrd Appeasement Reconsidered Investigating the Mythology of the 1930s n 50 imekhil aemnedlbxm The Fate of Nations The Search for National Security in the Nineteenth and Twentieth Centuries n 96 edwid exf chmiths Henry L Stimson The First Wise Man n 124 xlisn khitsn Germany 1858 1990 Hope Terror and Revival n 231 aexnothni phi xdmthiwth The Making of the Second World War n 52 eheln ekraehm The Spanish Civil War A Very Short Introduction n 110 Robert Melvin Spector World Without Civilization Mass Murder and the Holocaust History and Analysis pg 257 odnld exf bski Communism in History and Theory Asia Africa and the Americas n 10 Fairbank John King Albert Feuerwerker Denis Crispin Twitchett The Cambridge history of China Cambridge University Press 1986 ISBN 0 521 24338 6 page 547 551 Twitchett Denis Fairbank John K The Cambridge history of China pg 566 Taylor Jay 2009 The Generalissimo Chiang Kai shek and the struggle for modern China Harvard University Press pp 150 152 ISBN 978 0 674 03338 2 Coox Alvin D Nomonhan Japan Against Russia 1939 pg 189 Coox Alvin D 1990 Nomonhan Japan Against Russia 1939 Stanford University Press p 189 ISBN 0 8047 1835 0 Sella Amnon October 1983 Khalkhin Gol The Forgotten War Journal of Contemporary History 18 4 651 87 Collier Martin Pedley Philip Germany 1919 45 pg 144 Kershaw 2001 p 121 2 Kershaw 2001 p 157 Davies Norman 2008 No Simple Victory World War II in Europe 1939 1945 Penguin Group ISBN 0 14 311409 3 p 143 144 Lowe C J Marzari F Italian Foreign Policy 1870 1940 pg 330 Pact of Steel in Dear and Foot ed Oxford Companion to World War II 2002 ISBN 0 19 860446 7 p 674 Michael Jabara Carley 1993 End of the Low Dishonest Decade Failure of the Anglo Franco Soviet Alliance in 1939 Europe Asia Studies 45 2 303 341 Sharp Alan Stone Glyn Anglo French Relations in the Twentieth Century pg 195 197 Rudolf Schlesinger The Foreign Policy of Soviet Russia Soviet Studies Vol 1 No 2 Oct 1949 pp 140 150 phimphthi Taylor amp Francis Ltd E H Carr From Munich to Moscow I Soviet Studies Vol 1 No 1 Jun 1949 pp 3 17 Published by Taylor amp Francis Ltd Zachary Shore What Hitler Knew The Battle for Information in Nazi Foreign Policy Published by Oxford University Press US 2005 ISBN 0 19 518261 8 978 0 19 518261 3 p 108 Nazi Soviet Pact in Dear and Foot ed Oxford Companion to World War II Oxford University Press 2002 ISBN 0 19 860446 7 pp 608 9 Dear I C B Foot M R D b k 2002 Nazi Soviet Pact The Oxford Companion to World War II Oxford University Press p 608 ISBN 0198604467 James Bradley Ron Powers Flags of Our Fathers pg 58 Tucker Spencer Roberts Priscilla Mary Encyclopedia of World War II A Political Social and Military History pg 771 note however that Tucker s own view is that 191 is most convenient p 9 Ben Horin Eliahu 1943 The Middle East Crossroads of History p 169 Taylor Alan 1979 How Wars Begin p 124 Yisreelit Hevrah Mizrahit 1965 Asian and African Studies p 191 Barker A J The Rape of Ethiopia 1936 Ballantine Books 1971 pp 131 132 Chickering Roger Forster Stig Greiner Bernd A World at Total War Global Conflict and the Politics of Destruction 1937 1945 pg 64 Fiscus James W Critical Perspectives on World War II pg 44 Kantowicz Edward R The Rage of Nations pg 346 Greer Gordon B What Price Security pg 28 n x pricha sriwaly sngkhramolkkhrngthi 1 2 aelasngkhramekahli sankphimphoxediynsotr hna 80 ecriy ichychna sngkhramolkkhrngthi 2 sankphimphesrimwithybrrnathikar hna 2 Canfora Luciano Jones Simon 2006 Democracy in Europe A History of an Ideology p 155 Prin Gwyn 2002 The Heart of War On Power Conflict and Obligation in the Twenty First Century p 11 Shiraishi Masaya Japanese relations with Vietnam 1951 1987 SEAP Publications 1990 ISBN 0 87727 122 4 page 4 1 May Ernest R Strange Victory Hitler s Conquest of France pg 93 Roskill S W 1954 The War at Sea 1939 1945 Volume 1 The Defensive History of the Second World War United Kingdom Military Series London HMSO p 64 Fritz Martin 2005 Economic Warfare in Dear I C B and Foot M R D b k The Oxford Companion to World War II Oxford Oxford University Press p 248 ISBN 9780192806703 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite book title aemaebb Cite book cite book a CS1 maint multiple names editors list Zaloga Steven J Poland 1939 The Birth of Blitzkrieg pg 80 Igor Baka Slovensko vo vojne proti Poľsku v roku 1939 Slovakia during the war against Poland in 1939 Vojenska historia 2005 No 3 Hempel Andrew Poland in World War II An Illustrated Military History Hippocrene Books 2003 ISBN 078181004 pages 24 25 Jowett Philip S The Japanese Army 1931 45 pg 14 David J Smith The Baltic States Estonia Latvia and Lithuania p 24 ISBN 0 415 28580 1 Bilinsky Yaroslav Endgame in NATO s Enlargement The Baltic States and Ukraine Greenwood Publishing Group 1999 ISBN 0 275 96363 2 p 9 Murray Williamson amp Allan Reed Millett 2001 A War to Be Won Fighting the Second World War Harvard University Press ISBN 0 674 00680 1 p 55 56 D W Spring The Soviet Decision for War against Finland 30 November 1939 Soviet Studies Vol 38 No 2 Apr 1986 pp 207 226 Hanhimaki Jussi M Containing Coexistence America Russia and the Finnish Solution hna 13 Hsiung James Chieh Levine Steven I China s Bitter Victory The War with Japan 1937 1945 pg 16 Weinberg Gerhard L 1995 A World at Arms A Global History of World War II Cambridge University Press ISBN 0 521 55879 4 p 95 amp 121 Shirer William L The Rise and Fall of the Third Reich A History of Nazi Germany Simon and Schuster 1990 ISBN 0 671 72868 7 pp 668 9 Murray Williamson amp Allan Reed Millett 2001 A War to Be Won Fighting the Second World War Harvard University Press ISBN 0 674 00680 1 p 57 63 Commager Henry Steele The Story of the Second World War pg 30 Reynolds David From World War to Cold War Churchill Roosevelt and the International History of the 1940s pgs 76 77 Crawford Keith Stuart J Foster War nation memory international perspectives on World War II in school history textbooks IAP 2007 ISBN 1 59311 852 X page 68 Nolan Cathal J The Greenwood Encyclopedia of International Relations A E Greenwood Publishing Group 2002 ISBN 0 313 30741 5 page 170 Regan Geoffrey The Brassey s book of military blunders Brassey s 2000 ISBN 1 57488 252 X page 152 Kennedy David M Freedom from Fear The American People in Depression and War 1929 1945 pg 439 Deist William et al Germany and the Second World War Volume 2 Germany s Initial Conquests in Europe Oxford University Press 2001 0198228880 p 311 Militargeschichtliches Forschungsamt Germany and the Second World War Volume 2 Germany s Initial Conquests in Europe pg 311 Brown David The Road to Oran Anglo French Naval Relations September 1939 July 1940 pg xxx Bilinsky Yaroslav 1999 Endgame in NATO s Enlargement The Baltic States and Ukraine Google books Greenwood Publishing Group p 9 ISBN 0275963632 subkhnemux 15 November 2009 Ferguson Niall 2006 The War of the World Penguin pp 367 376 379 417 Snyder Timothy 2010 Bloodlands Random House from p 118 onwards H W Koch Hitler s Programme and the Genesis of Operation Barbarossa The Historical Journal Vol 26 No 4 Dec 1983 pp 891 920 Roberts Geoffrey 2006 Stalin s Wars From World War to Cold War 1939 1953 Yale University Press p 56 ISBN 0300112041 Roberts Geoffrey 2006 Stalin s Wars From World War to Cold War 1939 1953 Yale University Press p 59 ISBN 0300112041 Kelly Nigel Rees Rosemary Shuter Jane Twentieth Century World pg 38 Goldstein Margaret J World War II pg 35 Mercado Stephen C The Shadow Warriors of Nakano A History of the Imperial Japanese Army s Elite Intelligence School pg 109 Brown Robert J Manipulating the Ether The Power of Broadcast Radio in Thirties America pg 91 Morison Samuel Eliot History of United States Naval Operations in World War II pg 60 Maingot Anthony P The United States and the Caribbean Challenges of an Asymetrical Relationship pg 52 Hadley Cantril America Faces the War A Study in Public Opinion The Public Opinion Quarterly 4 3 Sept 1940 p 390 Weinberg Gerhard L 1995 A World at Arms A Global History of World War II Cambridge University Press ISBN 0 521 55879 4 p 182 Bilhartz Terry D Elliott Alan C Currents in American History A Brief History of the United States pg 179 Murray Williamson Millett Allan Reed A War to Be Won Fighting the Second World War pg 165 Knell Hermann To Destroy a City Strategic Bombing and Its Human Consequences in World War II pg 205 Murray Williamson amp Allan Reed Millett 2001 A War to Be Won Fighting the Second World War Harvard University Press ISBN 0 674 00680 1 p 233 245 Tripartite Pact in Dear and Foot ed Oxford Companion to World War II p 877 Dennis Deletant Romania in Dear and Foot ed Oxford Companion to World War II pp 745 46 Clogg Richard A Concise History of Greece pg 118 Jowett Philip S Stephen Andrew The Italian Army 1940 45 2 Africa 1940 43 Osprey Publishing 2001 ISBN 1 85532 865 8 pages 9 10 Brown David The Royal Navy and the Mediterranean Routledge 2002 ISBN 0 7146 5205 9 pages 64 65 Jackson Ashley The British Empire and the Second World War pg 106 Laurier Jim Tobruk 1941 Rommel s opening move Osprey Publishing 2001 ISBN 1 84176 092 7 pages 7 8 Murray Williamson amp Allan Reed Millett 2001 A War to Be Won Fighting the Second World War Harvard University Press ISBN 0 674 00680 1 p 263 267 Macksey Kenneth Rommel battles and campaigns Da Capo Press 1997 ISBN 0 306 80786 6 pages 61 63 Weinberg Gerhard L A World at Arms A Global History of World War II pg 229 Watson William E Tricolor and Crescent France and the Islamic World pg 80 Jackson Ashley The British Empire and the Second World War pg 154 Stewart Vance Three Against One Churchill Roosevelt Stalin Vs Adolph Hitler pg 159 The London Blitz 1940 Eyewitness to History 2001 subkhnemux 2008 03 11 Joes Anthony James Resisting Rebellion The History And Politics of Counterinsurgency pg 224 Fairbank John King China A New History pg 320 Garver John W Chinese Soviet Relations 1937 1945 The Diplomacy of Chinese Nationalism pg 114 Weinberg Gerhard L A World at Arms A Global History of World War II pg 195 Amnon Sella Barbarossa Surprise Attack and Communication Journal of Contemporary History Vol 13 No 3 Jul 1978 pp 555 583 Kershaw Ian Fateful Choices pp 66 69 Jonathan Steinberg The Third Reich Reflected German Civil Administration in the Occupied Soviet Union 1941 4 The English Historical Review Vol 110 No 437 Jun 1995 pp 620 651 Milan Hauner Did Hitler Want a World Dominion Journal of Contemporary History Vol 13 No 1 Jan 1978 pp 15 32 Cynthia A Roberts Planning for War The Red Army and the Catastrophe of 1941 Europe Asia Studies Vol 47 No 8 Dec 1995 pp 1293 1326 Alan F Wilt Hitler s Late Summer Pause in 1941 Military Affairs Vol 45 No 4 Dec 1981 pp 187 191 Louis William Roger 1998 More Adventures with Britannia Personalities Politics and Culture in Britain University of Texas Press p 223 ISBN 029274708X The Soviet German War 1941 45 2011 07 09 thi ewyaebkaemchchinMyths and Realities A Survey Essay Hitler Can Be Beaten The New York Times Aug 5 1941 Brian P Farrell Yes Prime Minister Barbarossa Whipcord and the Basis of British Grand Strategy Autumn 1941 The Journal of Military History Vol 57 No 4 Oct 1993 pp 599 625 Pravda Alex Duncan Peter J S Soviet British Relations Since the 1970s pg 29 Heptulla Najma The Logic of Political Survival pg 131 Gerald R Kleinfeld Hitler s Strike for Tikhvin Military Affairs Vol 47 No 3 Oct 1983 pp 122 128 Shukman Harold Stalin s Generals p 113 Burroughs William James Climate Into the 21st Century pg 115 Klaus Reinhardt Karl B Keenan Moscow The Turning Point The Failure of Hitler s Strategy in the Winter of 1941 42 Berg 1992 ISBN 0 85496 695 1 P 227 A S Milward The End of the Blitzkrieg The Economic History Review New Series Vol 16 No 3 1964 pp 499 518 Louis Rotundo The Creation of Soviet Reserves and the 1941 Campaign Military Affairs Vol 50 No 1 Jan 1986 pp 21 28 Whymant Robert Stalin s Spy Richard Sorge and the Tokyo Espionage Ring pg 314 Glantz David M 2001 The Soviet German War 1941 45 Myths and Realities A Survey Essay 2011 07 09 thi ewyaebkaemchchin p 9 Raymond L Garthoff The Soviet Manchurian Campaign August 1945 Military Affairs Vol 33 No 2 Oct 1969 p 312 Welch David Modern European History 1871 2000 A Documentary Reader pg 102 Weinberg Gerhard L 2005 A World At Arms Cambridge University Press p 248 ISBN 0521618266 Irvine H Anderson Jr De Facto Embargo on Oil to Japan A Bureaucratic Reflex The Pacific Historical Review Vol 44 No 2 May 1975 p 201 Northrup Cynthia Clark The American economy a historical encyclopedia pg 214 Lightbody Bradley The Second World War Ambitions to Nemesis pg 125 Weinberg Gerhard L 2005 A World At Arms Cambridge University Press p 310 ISBN 0521618266 Morgan Patrick M Strategic Military Surprise Incentives and Opportunities pg 51 Thurman M J Sherman Christine War Crimes Japan s World War II Atrocities pg 68 Wohlstetter Roberta 1962 Pearl Harbor Warning and Decision Stanford University Press pp 341 43 ISBN 0804705984 Mingst Karen A Karns Margaret P United Nations in the Twenty First Century pg 22 Dunn Dennis J Caught Between Roosevelt amp Stalin America s Ambassadors to Moscow pg 157 Rees Laurence 2009 World War Two Behind Closed Doors BBC Books p 99 Rees Laurence 2009 World War Two Behind Closed Doors BBC Books p 406 7 Klam Julie The Rise of Japan and Pearl Harbor Black Rabbit Books 2002 p 27 Lewis Morton in Greenfield Kent Roberts b k The Fall of the Philippines U S Government Printing Office p 529 Library of Congress Catalogue Card Number 53 63678 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2012 01 08 subkhnemux 2010 04 02 Table 11 Hill J R Ranft Bryan The Oxford Illustrated History of the Royal Navy pg 362 Hill J R Ranft Bryan The Oxford Illustrated History of the Royal Navy pg 362 Hsiung James Chieh Levine Steven I China s Bitter Victory The War with Japan 1937 1945 pg 158 Perez Louis G 1 June 1998 The history of Japan Google Books Greenwood Publishing Group p 145 ISBN 0313302960 subkhnemux 2009 11 12 Gooch John Decisive Campaigns of the Second World War pg 52 Glantz David M 2001 The Soviet German War 1941 45 Myths and Realities A Survey Essay 2011 07 09 thi ewyaebkaemchchin p 31 Molinari Andrea Desert Raiders Axis and Allied Special Forces 1940 43 pg 91 Welch David Modern European History 1871 2000 A Documentary Reader pg 102 Mitcham Samuel W Mitcham Samuel W Jr Rommel s Desert War The Life and Death of the Afrika Korps pg 31 Glantz David M From the Don to the Dnepr Soviet Offensive Operations December 1942 August 1943 pg 215 Maddox Robert James The United States and World War II pgs 111 112 Salecker Gene Eric Fortress Against the Sun The B 17 Flying Fortress in the Pacific pg 186 Ropp Theodore War in the Modern World pg 368 Weinberg Gerhard L A World at Arms A Global History of World War II pg 339 Gilbert Adrian The Encyclopedia of Warfare From Earliest Times to the Present Day pg 259 Swain Bruce A Chronology of Australian Armed Forces at War 1939 45 pg 197 Hane Mikiso Modern Japan A Historical Survey pg 340 Marston Daniel The Pacific War Companion From Pearl Harbor to Hiroshima pg 111 Brayley Martin The British Army 1939 45 pg 9 Read Anthony The Devil s Disciples Hitler s Inner Circle pg 764 Davies Norman 2006 Europe at War 1939 1945 No Simple Victory Macmillan p 100 ISBN 0333692853 Badsey Stephen The Hutchinson Atlas of World War II Battle Plans Before and After pgs 235 236 Black Jeremy World War Two A Military History pg 119 Gilbert Sir Martin The Second World War A Complete History Macmillan 2004 ISBN 0 8050 7623 9 pages 397 400 Shukman Harold Stalin s Generals pg 142 Paxton Robert O Vichy France Old Guard and New Order 1940 1944 pg 313 Rich Norman Hitler s War Aims Ideology the Nazi State and the Course of Expansion pg 178 Penrose Jane The D Day Companion pg 129 Robin Neillands The Dieppe Raid The Story of the Disastrous 1942 Expedition Indiana University Press 2006 Thomas David Arthur A Companion to the Royal Navy pg 265 Thomas Nigel German Army 1939 1945 2 North Africa amp Balkans pg 8 Ross Steven T American War Plans 1941 1945 The Test of Battle pg 38 Bonner Kit Bonner Carolyn Warship Boneyards pg 24 Collier Paul The Second World War 4 The Mediterranean 1940 1945 pg 11 Thompson John Herd Randall Stephen J Canada and the United States Ambivalent Allies pg 164 Freedom from Fear The American People in Depression and War 1929 1945 pg 610 Rottman Gordon L World War II Pacific Island Guide A Geo Military Study pg 228 Glantz David M From the Don to the Dnepr Soviet Offensive Operations December 1942 August 1943 pgs 216 217 David M Glantz CSI Report No 11 Soviet Defensive Tactics at Kursk July 1943 1 2008 03 06 thi ewyaebkaemchchin David M Glantz Soviet military deception in the Second World War Routledge 1989ISBN 0 7146 3347 X 9780714633473 644 pages pp 149 159 Kershaw Ian Hitler 1936 1945 Nemesis W W Norton amp Company 2001 ISBN 0 393 32252 1 p 592 O Reilly Charles T Forgotten Battles Italy s War of Liberation 1943 1945 p 32 Bellamy Chris T 2007 Absolute war Soviet Russia in the Second World War BAlfred A Knopf p 595 ISBN 0 375 41086 4 O Reilly Charles T 2001 Forgotten Battles Italy s War of Liberation 1943 1945 Lexington Books p 35 ISBN 0 7391 0195 1 Healy Mark 1992 Kursk 1943 The tide turns in the East Osprey Publishing p 90 ISBN 1 85532 211 0 Glantz David M 2001 bhttp www strom clemson edu publications sg war41 45 pdf 2011 07 09 thi ewyaebkaemchchin The Soviet German War 1941 45 Myths and Realities A Survey Essay McGowen Tom Assault From The Sea Amphibious Invasions in the Twentieth Century pgs 43 44 Lamb Richard War in Italy 1943 1945 A Brutal Story pgs 154 155 Hart Stephen Hart Russell The German Soldier in World War II pg 151 Blinkhorn Martin Mussolini and Fascist Italy pg 52 Read Anthony Fisher David The Fall of Berlin pg 129 Read Anthony The Devil s Disciples Hitler s Inner Circle pg 804 Iriye Akira Power and culture the Japanese American war 1941 1945 Harvard University Press 1981 ISBN 0 674 69582 8 page 154 Polley Martin A Z of modern Europe since 1789 Taylor amp Francis 2000 ISBN 0 415 18598 X page 148 Weinberg Gerhard L 1995 A World at Arms A Global History of World War II Cambridge University Press ISBN 0 521 55879 4 p 660 661 Glantz David M The siege of Leningrad 1941 1944 900 days of terror Zenith Imprint 2001 ISBN 0 7603 0941 8 pages 166 169 Estonian State Commission on Examination of Policies of Repression 2005 PDF Estonian Encyclopedia Publishers khlngkhxmulekaekbcakaehlngedim PDF emux 2013 01 14 subkhnemux 2008 08 01 Mart Laar Sinimaed 1944 II maailmasoja lahingud Kirde Eestis Tallinn Varrak 2006 David M Glantz 2002 The Battle for Leningrad 1941 1944 Lawrence University Press of Kansas Chubarov Alexander Russia s Bitter Path to Modernity A History of the Soviet and Post Soviet Eras p 122 Havighurst Alfred F Britain in Transition The Twentieth Century pg 344 Lightbody Bradley The Second World War Ambitions to Nemesis pg 224 Zeiler Thomas W Unconditional Defeat Japan America and the End of World War II pg 60 Craven Wesley Frank Cate James Lea The Army Air Forces in World War II Volume Five The Pacific Matterhorn to Nagasaki pg 207 Hsiung James Chieh Levine Steven I China s Bitter Victory The War with Japan 1937 1945 pg 163 Coble Parks M Chinese Capitalists in Japan s New Order The Occupied Lower Yangzi 1937 1945 pg 85 Zaloga Steven J US Armored Units in the North African and Italian Campaigns 19422 45 pg 81 Badsey Stephen Normandy 1944 Allied Landings and Breakout pg 91 Market Garden in Dear and Foot ed Oxford Companion to World War II Osprey Publishing 1990 ISBN 0 85045 921 4 p 877 Berend Tibor Ivan Central and Eastern Europe 1944 1993 Detour from the Periphery to the Periphery pg 8 Wiktor Christian L Multilateral Treaty Calendar 1648 1995 pg 426 Hastings Max Paul Henry Collier The Second World War a world in flames Osprey Publishing 2004 ISBN 1 84176 830 8 pages 223 224 Wiest Andrew A Barbier M K Strategy and Tactics Infantry Warfare pgs 65 66 Wiktor Christian L Multilateral Treaty Calendar 1648 1995 pg 426