ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (เยอรมัน: Adolf Hitler [ˈadɔlf ˈhɪtlɐ] ( ฟังเสียง); 20 เมษายน ค.ศ. 1889 – 30 เมษายน ค.ศ. 1945) เป็นนักการเมืองชาวเยอรมันเชื้อชาติออสเตรีย หัวหน้าพรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมันหรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ พรรคนาซี ฮิตเลอร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ระหว่าง ค.ศ. 1933 – 1945 และเป็นฟือเรอร์ของเยอรมนี ตั้งแต่ ค.ศ. 1934 – 1945 ฮิตเลอร์เป็นผู้นำสูงสุดของไรช์เยอรมัน ผู้จุดชนวนสงครามโลกครั้งที่สองในทวีปยุโรป โดยเป็นที่ทราบกันดีในประวัติศาสตร์ว่าหนึ่งในนโยบายทางการเมืองของเขาที่มีต่อเยอรมนีได้นำไปสู่การทำลายล้างปฏิปักษ์ทางการเมืองของลัทธิชาติสังคมนิยมเยอรมันและเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฮอโลคอสต์ทั่วทั้งทวีปยุโรป
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ | |
---|---|
ฮิตเลอร์ในปี ค.ศ. 1938 | |
ฟือเรอร์แห่งเยอรมนี | |
ดำรงตำแหน่ง 2 สิงหาคม ค.ศ. 1934 – 30 เมษายน ค.ศ. 1945 (10 ปี 271 วัน) | |
ก่อนหน้า | เพาล์ ฟ็อน ฮินเดินบวร์ค (ประธานาธิบดี) |
ถัดไป | คาร์ล เดอนิทซ์ (ประธานาธิบดี) |
นายกรัฐมนตรีเยอรมนี | |
ดำรงตำแหน่ง 30 มกราคม ค.ศ. 1933 – 30 เมษายน ค.ศ. 1945 (12 ปี 90 วัน) | |
ประธานาธิบดี | เพาล์ ฟ็อน ฮินเดินบวร์ค |
รอง | ฟรันทซ์ ฟ็อน พาเพิน ตำแหน่งว่าง |
ก่อนหน้า | ควร์ท ฟ็อน ชไลเชอร์ |
ถัดไป | โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 20 เมษายน ค.ศ. 1889 เบราเนาอัมอิน จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี |
เสียชีวิต | 30 เมษายน ค.ศ. 1945 (56 ปี) ฟือเรอร์บุงเคอร์ เบอร์ลิน นาซีเยอรมนี |
สาเหตุการเสียชีวิต | อัตวินิบาตกรรม (ยิงตัวตาย) |
เชื้อชาติ | ออสเตรีย (ค.ศ. 1889 – 7 เมษายน ค.ศ. 1925) เยอรมัน (ค.ศ. 1932–1945) |
พรรคการเมือง | พรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมัน |
คู่สมรส | เอฟา เบราน์ (29–30 เมษายน ค.ศ. 1945) |
บุพการี |
|
วิชาชีพ | ทหาร, ศิลปิน, นักเขียน, นักการเมือง |
รางวัล | |
ลายมือชื่อ | |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
รับใช้ | เยอรมนี |
สังกัด | |
ประจำการ | 1914–20 |
ยศ |
|
หน่วย |
|
สงคราม/การสู้รบ | สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง |
ฮิตเลอร์เป็นทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่หนึ่งผู้ได้รับเหรียญกางเขนเหล็ก ต่อมา ฮิตเลอร์ได้เข้าร่วมพรรคกรรมกรเยอรมันใน ค.ศ. 1919 ซึ่งเป็นพรรคการเมืองก่อนหน้าพรรคนาซี ก่อนจะได้เป็นหัวหน้าพรรคนาซีใน ค.ศ. 1921 เขาพยายามก่อรัฐประหารที่เรียกว่า กบฏโรงเบียร์ ในเมืองมิวนิก เมื่อวันที่ 8 – 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1923 แต่ล้มเหลว ฮิตเลอร์ถูกจำคุกเป็นเวลาหนึ่งปี ซึ่งในระหว่างนั้นเองที่เขาเขียนบันทึกความทรงจำ ไมน์คัมพฟ์ ("การต่อสู้ของข้าพเจ้า") หลังได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1924 เขาได้รับการสนับสนุนจากประชาชนโดยการโจมตีสนธิสัญญาแวร์ซาย และการเสนออุดมการณ์รวมกลุ่มเยอรมัน การต่อต้านยิว และการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ด้วยวาทศิลป์อันมีเสน่ห์ดึงดูดและการโฆษณาชวนเชื่อนาซี หลังได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1933 เขาเปลี่ยนสาธารณรัฐไวมาร์เป็นไรช์ที่สาม ภายใต้อุดมการณ์นาซีอันมีลักษณะเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จและอัตตาธิปไตย เป้าหมายของเขาคือ ระเบียบโลกใหม่ ที่ให้นาซีเยอรมนีครอบงำยุโรปภาคพื้นทวีปอย่างสมบูรณ์
นโยบายต่างประเทศและในประเทศของฮิตเลอร์มีความมุ่งหมายเพื่อยึดเลเบินส์เราม์ ("พื้นที่อยู่อาศัย") เป็นของชาวเยอรมัน เขานำการสร้างเสริมกำลังอาวุธขึ้นใหม่และการบุกครองโปแลนด์ ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1939 อันนำไปสู่การปะทุของสงครามโลกครั้งที่สองในทวีปยุโรป ภายในสามปีใต้การนำของฮิตเลอร์ และพันธมิตรในยุโรปยึดครองดินแดนยุโรปและแอฟริกาเหนือส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี สถานการณ์ค่อยพลิกผันหลัง ค.ศ. 1941 กระทั่งกองทัพสัมพันธมิตรเอาชนะกองทัพเยอรมันใน ค.ศ. 1945 นโยบายความสูงสุดและที่กระตุ้นด้วยการถือชาติพันธุ์ของฮิตเลอร์ลงเอยด้วยการฆาตกรรมผู้คนนับ 17 ล้านคนอย่างเป็นระบบ ในจำนวนนี้เป็นชาวยิวเกือบหกล้านคน
ปลายสงคราม ระหว่างใน ค.ศ. 1945 ฮิตเลอร์แต่งงานกับเอฟา เบราน์ ทั้งสองทำอัตวินิบาตกรรมเมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1945 เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกกองทัพแดงของสหภาพโซเวียตจับตัว และสั่งให้เผาร่างของตน
ชีวิตช่วงต้น
บรรพบุรุษ
อาล็อยส์ ฮิตเลอร์ บิดาของฮิตเลอร์ เป็นบุตรนอกกฎหมายของมารีอา อันนา ชิคเคิลกรูเบอร์ (Maria Anna Schicklgruber) ดังนั้นชื่อบิดาจึงไม่ปรากฏในสูติบัตรของอาล็อยส์ เขาใช้นามสกุลของมารดา ใน ค.ศ. 1842 โยฮัน เกออร์ค ฮีดเลอร์ (Johann Georg Hiedler) สมรสกับมารีอา อันนา หลังมารีอา อันนา เสียชีวิตใน ค.ศ. 1847 และโยฮันเสียชีวิตใน ค.ศ. 1856 อาล็อยส์ได้รับการเลี้ยงดูโดยครอบครัวของโยฮัน เนโพมุค ฮีดเลอร์ พี่ชายของฮีดเลอร์ กระทั่ง ค.ศ. 1876 อาล็อยส์จึงได้มาเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย และทะเบียนพิธีถูกนักบวชเปลี่ยนต่อหน้าพยานสามคน
ระหว่างรอการพิจารณาที่เนือร์นแบร์คใน ค.ศ. 1945 ข้ารัฐการนาซี ฮันส์ ฟรังค์ เสนอการมีอยู่ของจดหมายที่อ้างว่า มารดาของอาล็อยส์ได้รับการว่าจ้างเป็นแม่บ้านแก่ครอบครัวยิวในกราซ และว่า บุตรชายวัย 19 ปีของครอบครัวนั้น เลโอพ็อลท์ ฟรังเคินแบร์เกอร์ (Leopold Frankenberger) เป็นบิดาของอาล็อยส์ อย่างไรก็ดี ไม่มีครอบครัวฟรังเคินแบร์เกอร์หรือชาวยิวปรากฏในทะเบียนในกราซช่วงนั้น นักประวัติศาสตร์สงสัยการอ้างที่ว่า บิดาของอาล็อยส์เป็นยิว
เมื่อมีอายุได้ 39 ปี อาล็อยส์เปลี่ยนไปใช้นามสกุล "ฮิตเลอร์" ซึ่งสามารถยังสะกดได้เป็น ฮีดเลอร์ (Hiedler), ฮึทเลอร์ (Hüttler, Huettler) ชื่อนี้อาจถูกใช้ตามระเบียบโดยเสมียนธุรการ ที่มาของชื่อดังกล่าวอาจหมายถึง "ผู้อาศัยอยู่ในกระท่อม" (Hütte; "กระท่อม"), "คนเลี้ยงแกะ" (hüten; "เฝ้า") หรือมาจากคำภาษาสลาฟ ฮิดลาร์ และฮิดลาเร็ค
วัยเด็ก
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์เกิดวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1889 ที่กัสท์โฮฟซุมพ็อมเมอร์ (Gasthof zum Pommer) โรงแรมแห่งหนึ่งในรันส์โฮเฟิน (Ranshofen) หมู่บ้านซึ่งถูกรวมเข้ากับเทศบาลเบราเนาอัมอิน (Braunau am Inn) จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ใน ค.ศ. 1938 เขาเป็นบุตรคนที่สี่จากทั้งหมดหกคนของอาล็อยส์ ฮิตเลอร์ และคลารา เพิลท์เซิล พี่ทั้งสามคนของฮิตเลอร์ (กุสทัฟ อีดา และอ็อทโท) เสียชีวิตตั้งแต่เป็นทารก เมื่อฮิตเลอร์อายุได้สามขวบ ครอบครัวของเขาย้ายไปพัสเซา เยอรมนี ที่ซึ่งทำให้ฮิตเลอร์มีสำเนียงท้องถิ่นแบบบาวาเรียล่างมากกว่าสำเนียงเยอรมันออสเตรีย และเป็นสำเนียงที่ฮิตเลอร์ใช้ตลอดชีวิต ใน ค.ศ. 1894 ครอบครัวได้ย้ายอีกหนหนึ่งไปยังเลอ็อนดิง ใกล้กับลินทซ์ และต่อมา เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1895 อาล็อยส์ได้เกษียณไปยังที่ดินเล็ก ๆ ที่ฮาเฟ็ลท์ ใกล้ลัมบัค ที่ซึ่งเขาพยายามประกอบอาชีพกสิกรรมและเลี้ยงผึ้งด้วยตนเอง ฮิตเลอร์เข้าศึกษาที่โรงเรียนที่ฟิชเชิลฮัม (Fischlham) ในละแวกใกล้เคียง ขณะที่ยังเป็นเด็ก ฮิตเลอร์ได้เริ่มติดการสงครามหลังพบหนังสือภาพเกี่ยวกับสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียท่ามกลางบรรดาสมบัติส่วนตัวของบิดา
การย้ายไปยังฮาเฟ็ลท์เกิดขึ้นไล่เลี่ยกับการเริ่มต้นความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างพ่อลูก ซึ่งเกิดจากที่ฮิตเลอร์ปฏิเสธไม่เชื่อฟังกฎระเบียบอันเข้มงวดของโรงเรียนเขา ความพยายามทำกสิกรรมที่ฮาเฟ็ลท์ของอาล็อยส์สิ้นสุดลงด้วยความล้มเหลว และใน ค.ศ. 1897 ครอบครัวฮิตเลอร์ย้ายไปลัมบัค ฮิตเลอร์เข้าศึกษาที่โรงเรียนคาทอลิกแห่งหนึ่งในระเบียงฉันนบถเบเนดิกติน (Benedictine) คริสต์ศตวรรษที่ 11 ซึ่งที่บนธรรมาสน์นั้นมีสัญลักษณ์สวัสติกะที่ถูกปรับให้เข้ากับแบบบนตราอาร์มของเทโอโดริช ฟ็อน ฮาเกิน อดีตอธิการวัด ฮิตเลอร์วัยแปดขวบเข้าเรียนร้องเพลง ร่วมอยู่ในวงประสานเสียงของโบสถ์ และกระทั่ง วาดฝันว่าตนจะเป็นนักบวช ใน ค.ศ. 1898 ครอบครัวฮิตเลอร์กลับไปอาศัย ณ เลอ็อนดิงอย่างถาวร การเสียชีวิตของเอ็ทมุนท์ (น้องชาย) จากโรคหัด เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1900 กระทบต่อฮิตเลอร์อย่างลึกซึ้ง จากที่เคยเป็นเด็กที่มั่นใจ เข้าสังคม และเป็นนักเรียนที่ยอดเยี่ยม ฮิตเลอร์เป็นเด็กอารมณ์ขุ่นมัว เฉยชา และบึ้งตึงที่มีปัญหากับบิดาและครูอย่างต่อเนื่อง
อาล็อยส์ประสบความสำเร็จในอาชีพในสำนักงานศุลกากร และต้องการให้ลูกชายเจริญตามรอยเขา ภายหลัง ฮิตเลอร์เล่าถึงช่วงนี้เกินความจริงเมื่อบิดาพาเขาไปชมที่ทำการศุลกากร โดยบรรยายว่า มันเป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่การต่อต้านอย่างไม่อาจให้อภัยระหว่างพ่อลูกที่ต่างมีความตั้งใจแรงกล้าทั้งคู่ โดยไม่สนใจความต้องการของบุตรที่อยากเข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมคลาสสิกและจบมาเป็นศิลปิน ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1900 อาล็อยส์ส่งฮิตเลอร์ไปยังเรอัลชูเลอ (Realschule) ในลินทซ์ ฮิตเลอร์ขัดขืนต่อการตัดสินใจนี้ และใน ไมน์คัมพฟ์ ได้เปิดเผยว่า เขาตั้งใจเรียนไม่ดีในโรงเรียน ด้วยหวังว่าเมื่อบิดาเห็นว่า "ข้าพเจ้ามีความคืบหน้าน้อยเพียงใดที่โรงเรียนอาชีวะ เขาจะได้ปล่อยให้ข้าพเจ้าอุทิศตนแก่ความใฝ่ฝันของข้าพเจ้าเอง"
ฮิตเลอร์เริ่มหลงใหลในลัทธิชาตินิยมเยอรมันตั้งแต่เยาว์วัย ฮิตเลอร์แสดงความภักดีต่อเยอรมนีเท่านั้น โดยเหยียดหยามราชวงศ์ฮาพส์บวร์คที่กำลังเสื่อมลงรวมถึงการปกครองของราชวงศ์เหนือจักรวรรดิที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ฮิตเลอร์และเพื่อนของเขาใช้คำทักทายภาษาเยอรมัน "ไฮล์" และร้องเพลงชาติเยอรมัน "เยอรมันเหนือทุกสรรพสิ่ง" แทนเพลงชาติจักรวรรดิออสเตรีย
หลังการเสียชีวิตกะทันหันของอาล็อยส์เมื่อวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1903 พฤติกรรมของฮิตเลอร์ที่โรงเรียนอาชีวะยิ่งเลวร้ายหนักขึ้นไปอีก มารดาเขาอนุญาตให้เขาลาออกในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1905 เขาลงเรียนที่เรอัลชูเลอในชไตเออร์ (Steyr) ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1904 พฤติกรรมและผลการเรียนของเขาแสดงถึงพัฒนาการเล็กน้อยและต่อเนื่องอยู่บ้าง ในฤดูไบ้ไม้ร่วง ค.ศ. 1905 หลังผ่านข้อสอบปลายภาค ฮิตเลอร์ก็ได้ออกจากโรงเรียนโดยไม่แสดงความทะเยอทะยานใด ๆ ต่อการศึกษาต่อ หรือแผนการที่ชัดเจนสำหรับอาชีพในอนาคต
วัยผู้ใหญ่ช่วงต้นในเวียนนาและมิวนิก
นับจาก ค.ศ. 1907 ฮิตเลอร์ออกจากลินทซ์เพื่อจะไปอาศัยและศึกษาในเวียนนาด้วยเงินสงเคราะห์เด็กกำพร้าและการสนับสนุนจากมารดา เขาทำงานเป็นกรรมกรชั่วคราว และท้ายสุด เป็นจิตรกรขายภาพวาดสีน้ำ สถาบันวิจิตรศิลป์เวียนนาปฏิเสธเขาสองครั้ง ใน ค.ศ. 1907 และ 1908 เพราะ "ความไม่เหมาะสมที่จะวาดภาพ" ของเขา ผู้อำนวยการแนะนำให้ฮิตเลอร์เรียนสถาปัตยกรรม แต่เขาขาดเอกสารแสดงวิทยฐานะเพราะยังไม่เคยจบชั้นมัธยมศึกษา วันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1907 มารดาของเขาเสียชีวิตในวัย 47 ปี หลังสถาบันฯ ปฏิเสธเป็นครั้งที่สอง ใน ค.ศ. 1909 ฮิตเลอร์ก็หมดเงินและจำเป็นต้องใช้ชีวิตแบบโบฮีเมียโดยอาศัยอยู่ในที่พักคนไร้ที่บ้าน และใน ค.ศ. 1910 เขาย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านพักชายรับจ้างยากจนบนถนนเม็ลเดอมัน ขณะที่ฮิตเลอร์อยู่ที่นั่น เวียนนาเป็นแหล่งเพาะพันธุ์อคติทางศาสนาและคตินิยมเชื้อชาติแบบคริสต์ศตวรรษที่ 19 ความกลัวว่าจะถูกผู้อพยพจากตะวันออกล่วงล้ำแพร่ขยาย และนายกเทศมนตรีประชานิยม คาร์ล ลือเกอร์ (Karl Lueger) ใช้วาทศิลป์เกลียดชังยิวรุนแรงเพื่อประโยชน์ทางการเมือง คติเกลียดชังยิวรวมเยอรมันของเกออร์ก เชอเนเรอร์ (Georg Schönerer) มีผู้สนับสนุนอย่างแข็งแกร่งและฐานในย่านมาเรียฮิลฟ์ ที่ฮิตเลอร์อาศัยอยู่ ฮิตเลอร์อ่านหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่าง ดอยท์เชส โฟลค์สบลัทท์ (Deutsches Volksblatt) ที่กระพืออคติและเล่นกับความกลัวของคริสเตียนว่าจะต้องแบกภาระจากการไหล่บ่าเข้ามาของยิวตะวันออก ความเป็นปรปักษ์ต่อสิ่งที่ฮิตเลอร์เห็นว่าเป็น "โรคกลัวเยอรมัน" ของคาทอลิก เขาจึงเริ่มยกย่องมาร์ติน ลูเธอร์
จุดกำเนิดและการพัฒนาคติเกลียดชังยิวของฮิตเลอร์นั้นยังคงเป็นประเด็นถกเถียง ฮิตเลอร์เขียนใน ไมน์คัมพฟ์ ว่า เขาเกลียดชังยิวครั้งแรกในเวียนนา ไรน์โฮลด์ ฮานิช(Reinhold Hanisch) หุ้นส่วนที่มีส่วนช่วยเหลือในการขายภาพวาดของฮิตเลอร์ ได้โต้แย้งว่า ฮิตเลอร์ยังคงติดต่อกับชาวยิวในขณะที่อยู่ในเวียนนา เพื่อนสนิทของฮิตเลอร์ เอากุสท์ คูบีเซค (August Kubizek) อ้างว่า ฮิตเลอร์เป็น "ผู้เกลียดชังยิวที่ยืนยันแล้ว" ตั้งแต่ก่อนเขาออกจากลินทซ์ บันทึกของคูบีเซคถูกนักประวัติศาสตร์ บรีกิทเทอ ฮามัน (Brigitte Hamann) เขียนโต้แย้ง เขาเขียนว่า "ในบรรดาพยานคนแรก ๆ ทั้งหมดที่สามารถเชื่อถือได้อย่างจริงจัง มีคูบีเซคคนเดียวที่บรรยายฮิตเลอร์วัยหนุ่มว่าเกลียดชังยิว และชัดเจนในประเด็นนี้ว่า เขาเชื่อถือไม่ค่อยได้" แหล่งข้อมูลหลายแหล่งให้หลักฐานหนักแน่นว่าฮิตเลอร์มีเพื่อนยิวในหอพักของเขาและในที่อื่นในเวียนนา ฮามันยังสังเกตว่า ฮิตเลอร์ไม่มีบันทึกความเห็นเกลียดชังยิวระหว่างช่วงนี้ นักประวัติศาสตร์ เอียน เคอร์ชอว์ (Ian Kershaw) เสนอว่า หากฮิตเลอร์ได้ออกความเห็นเช่นนั้นจริง ความเห็นเหล่านั้นก็อาจไม่เป็นที่สังเกต เพราะคติเกลียดชังยิวที่มีอยู่ทั่วไปในเวียนนาขณะนั้น นักประวัติศาสตร์ ริชาร์ด เจ. อีแวนส์ ว่า "ปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์ส่วนมากเห็นว่า คติเกลียดชังยิวอย่างแรงกล้าและฉาวโฉ่ของเขาเกิดขึ้นหลังจากความพ่ายแพ้ของเยอรมนี [ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง] อันเป็นผลของคำอธิบายมหันตภัยว่าเป็นเพราะ 'การแทงข้างหลัง' ประเภทหวาดระแวง"
ฮิตเลอร์ได้รับมรดกส่วนสุดท้ายจากทรัพย์สินของบิดาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1913 และย้ายไปมิวนิก นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าฮิตเลอร์ย้ายออกจากเวียนนาเพื่อหลบเลี่ยงการเกณฑ์เข้าสู่กองทัพออสเตรีย-ฮังการี ภายหลัง ฮิตเลอร์อ้างว่า เขาไม่ประสงค์จะรับใช้ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คเพราะการผสมผสาน "เชื้อชาติ" ในกองทัพ หลังเขาถูกเห็นว่าไม่เหมาะสมกับราชการทหาร เพราะไม่ผ่านการตรวจร่างกายในซัลทซ์บวร์คเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1914 เขากลับไปยังมิวนิก
สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งปะทุ ฮิตเลอร์สมัครเข้ารับราชการในกองทัพเยอรมัน เขาได้รับการตอบรับในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1914 ซึ่งมีแนวโน้มว่าเป็นผลมาจากความปล่อยปละละเลยทางธุรการ เพราะเขายังเป็นพลเมืองออสเตรีย เขาถูกจัดไปยังกรมทหารราบกองหนุนบาวาเรีย 16 (กองร้อยที่ 1 แห่งกรมลิสท์) เขาปฏิบัติหน้าที่เป็นพลนำสารส่งแนวรบด้านตะวันตกในฝรั่งเศสและเบลเยียม ใช้เวลาเกือบครึ่งหนึ่งอยู่หลังแนวหน้า เขาเข้าร่วมใน, ยุทธการที่แม่น้ำซอม ยุทธการที่อารัส และ และได้รับบาดเจ็บที่แม่น้ำซอม
ฮิตเลอร์ได้รับเชิดชูเกียรติสำหรับความกล้าหาญ ได้รับกางเขนเหล็กชั้นที่สอง ใน ค.ศ. 1914 และโดยการแนะนำของ ฮูโก้ กัทมันนท์ เขาได้รับกางเขนเหล็กชั้นที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1918 อิสริยาภรณ์ซึ่งน้อยครั้งนักจะมอบให้แก่ทหารชั้นผู้น้อยเช่นพลทหารอย่างเขา ตำแหน่งของฮิตเลอร์ที่กองบัญชาการกรม ทำให้เขามีปฏิสัมพันธ์บ่อยครั้งกับนายทหารอาวุโส อาจช่วยให้เขาได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์นี้ แม้พฤติการณ์ที่ทำให้เขาได้รับรางวัลอาจเป็นความกล้าหาญ แต่ก็อาจไม่ใช่เรื่องพิเศษมากมายนัก เขายังได้รับเครื่องหมายบาดเจ็บสีดำ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1918
ระหว่างรับราชการที่กองบัญชาการ ฮิตเลอร์ยังสร้างสรรค์งานศิลปะของตนต่อไป โดยวาดการ์ตูนและคำชี้แจงแก่หนังสือพิมพ์กองทัพ ระหว่างยุทธการแม่น้ำซอม ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1916 เขาได้รับบาดเจ็บที่บริเวณขาหนีบ หรือต้นขาซ้ายเมื่อกระสุนปืนใหญ่ระเบิดในหลุมของพลนำสารระหว่างยุทธการแม่น้ำซอม ฮิตเลอร์ใช้เวลาเกือบสองเดือนในโรงพยาบาลกาชาดที่บีลิทซ์ เขากลับมายังกรมของเขาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 1917 วันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1918 ฮิตเลอร์ตาบอดชั่วคราวจากการโจมตีด้วย และรับการรักษาในโรงพยาบาลในพาเซวัลค์ ขณะรักษาตัวอยู่ ฮิตเลอร์ทราบข่าวการพ่ายแพ้ของเยอรมนี และ จากบันทึกของเขา เมื่อทราบข่าว เขาก็ตาบอดอีกเป็นครั้งที่สอง
ฮิตเลอร์รู้สึกขมขื่นต่อการพังทลายของความพยายามทำสงคราม และการพัฒนาอุดมการณ์เริ่มเป็นรูปเป็นร่างอย่างมั่นคง เขาอธิบายสงครามว่าเป็น "ประสบการณ์ยิ่งใหญ่ที่สุดเหนืออื่นใด" และได้รับการยกย่องจากนายทหารผู้บังคับบัญชาสำหรับความกล้าหาญของเขา ประสบการณ์นี้ส่งผลให้ฮิตเลอร์เป็นผู้รักชาติเยอรมันอย่างหลงใหล และรู้สึกช็อกเมื่อเยอรมนียอมจำนนในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918 เช่นเดียวกับพวกชาตินิยมเยอรมันอื่นทั้งหลาย เขาเชื่อในตำนานแทงข้างหลัง ซึ่งอ้างว่ากองทัพเยอรมัน "ไม่แพ้ในสมรภูมิ" ได้ถูก "แทงข้างหลัง" โดยผู้นำพลเรือนและพวกมากซิสต์จากแนวหลัง นักการเมืองเหล่านี้ภายหลังถูกขนานนามว่า "อาชญากรพฤศจิกายน"
สนธิสัญญาแวร์ซายกำหนดให้เยอรมนีต้องสละดินแดนหลายแห่งและให้ไรน์ลันท์ปลอดทหาร สนธิสัญญากำหนดการลงโทษทางเศรษฐกิจและเรียกเก็บค่าปฏิกรรมสงครามจากประเทศ ชาวเยอรมันจำนวนมากเข้าใจว่าสนธิสัญญานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 231 ซึ่งประกาศให้เยอรมนีรับผิดชอบต่อสงคราม เป็นความอัปยศอดสู สภาพทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในเยอรมนีได้รับผลกระทบจากสงครามและสนธิสัญญาแวร์ซายภายหลังถูกฮิตเลอร์ใช้แสวงประโยชน์ทางการเมือง
เข้าสู่การเมือง
สมาชิกพรรคกรรมกร
หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติ ฮิตเลอร์กลับมายังมิวนิก เพราะไม่มีแผนหรือโอกาสการศึกษาและอาชีพอย่างเป็นทางการ เขาจึงพยายามอยู่ในกองทัพให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1919 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นแวร์บินดุงสมันน์ (เจ้าหน้าที่การข่าว) แห่งเอาฟ์แคลรุงส์คอมมันโด (คอมมานโดลาดตระเวน) ของไรชส์แวร์ เพื่อมีอำนาจบังคับทหารอื่นและเพื่อแทรกซึมพรรคกรรมกรเยอรมัน (DAP) ระหว่างที่เขาเฝ้าติดตามกิจกรรมของพรรค DAP ฮิตเลอร์ถูกดึงดูดโดยแนวคิดต่อต้านยิว ชาตินิยม ต่อต้านทุนนิยม และต่อต้านมากซิสต์ของอันโทน เดร็คส์เลอร์ ผู้ก่อตั้งพรรค เดร็คส์เลอร์สนับสนุนรัฐบาลที่มีศักยะแข็งขัน สังคมนิยมรุ่นที่ "ไม่ใช่ยิว" และความสามัคคีท่ามกลางสมาชิกทั้งหมดของสังคม ด้วยความประทับใจกับทักษะวาทศิลป์ของฮิตเลอร์ เดร็คส์เลอร์จึงเชิญเขาเข้าร่วมพรรคกรรมกรฯ ฮิตเลอร์ยอมรับเมื่อวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1919 เป็นสมาชิกพรรคคนที่ 55
ที่พรรคกรรมกรฯ ฮิตเลอร์พบดีทริช เอคคาร์ท หนึ่งในสมาชิกคนแรก ๆ ของพรรคและสมาชิกของลัทธิทูเลอโซไซตี (Thule Society) เอคคาร์ทได้กลายมาเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่ฮิตเลอร์ แลกเปลี่ยนความคิดกับเขา และแนะนำเขาให้รู้จักกับบุคคลในสังคมมิวนิกอย่างกว้างขวาง เพื่อเพิ่มความน่าดึงดูดแก่พรรค ทางพรรคได้เปลี่ยนชื่อเป็น "นาซิโยนอัลโซซีอัลลิสทีเชอ ดอยท์เชอ อาร์ไบแทร์พาร์ไท" หรือ พรรคสังคมนิยมกรรมกรแห่งชาติเยอรมัน (ย่อเป็น NSDAP) ฮิตเลอร์ออกแบบธงของพรรคเป็นสวัสติกะในวงกลมสีขาวบนพื้นหลังสีแดง
หลังถูกปลดประจำการในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1920 ฮิตเลอร์เริ่มทำงานกับพรรคเต็มเวลา ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1921 ฮิตเลอร์ ซึ่งสามารถปราศรัยต่อผู้ฟังจำนวนมากได้เป็นผลดีแล้ว ปราศรัยแก่ฝูงชนมากกว่าหกพันคนในมิวนิก ในการประกาศเผยแพร่การชุมนุมดังกล่าว ผู้สนับสนุนพรรคสองคันรถบรรทุกขับไปรอบเมืองและโบกธงสวัสติกะและโยนใบปลิว ไม่นานฮิตเลอร์ก็มีชื่อเสียงในทางไม่ดีจากความเอะอะโวยวายและการปราศรัยโจมตีสนธิสัญญาแวร์ซาย นักการเมืองคู่แข่ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกมากซิสต์และยิว ขณะนั้นพรรคนาซีมีศูนย์กลางอยู่ในมิวนิก แหล่งเพาะหลักของลัทธิชาตินิยมเยอรมันต่อต้านรัฐบาลซึ่งตั้งใจบดขยี้ลัทธิมากซ์และบ่อนทำลายสาธารณรัฐไวมาร์
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1921 ระหว่างที่ฮิตเลอร์และเอคคาร์ทกำลังอยู่ระหว่างการเดินทางไประดมทุนยังเบอร์ลิน ได้เกิดการจลาจลขึ้นภายในพรรคกรรมกรฯ ในมิวนิก สมาชิกคณะกรรมการบริหารพรรคกรรมกรฯ ซึ่งบางคนมองว่าฮิตเลอร์ยโสเกินไป ต้องการผนวกรวมกับพรรคสังคมนิยมเยอรมัน (DSP) คู่แข่ง ฮิตเลอร์เดินทางกลับมิวนิกเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1921 และยื่นใบลาออกจากพรรคด้วยความโกรธ สมาชิกกรรมการตระหนักว่าการลาออกของเขาจะหมายถึงจุดจบของพรรค ฮิตเลอร์ประกาศจะกลับเข้าพรรคอีกครั้งเมื่อเขาเป็นหัวหน้าพรรคแทนเดร็คส์เลอร์ และที่ทำการพรรคจะยังอยู่ในมิวนิกต่อไป คณะกรรมการตกลง เขาเข้าร่วมพรรคอีกครั้งเป็นสมาชิกคนที่ 3,680 เขายังเผชิญกับการคัดค้านภายในพรรคบ้าง แฮร์มันน์ เอสแซร์และพันธมิตรของเขาพิมพ์แผ่นพับ 3,000 แผ่นโจมตีฮิตเลอร์ว่าเป็นผู้ทรยศพรรค ไม่กี่วันให้หลัง ฮิตเลอร์กล่าวแก้ต่างและได้รับเสียงปรบมือดังสนั่น ยุทธศาสตร์ของเขาพิสูจน์แล้วว่าประสบผล ที่การประชุมใหญ่สมาชิกพรรคกรรมกรฯ เขาได้รับอำนาจเต็มในฐานะหัวหน้าพรรค โดยได้รับเสียงคัดค้านเพียงเสียงเดียว ฮิตเลอร์ยังได้รับการชดใช้จากคดีหมิ่นประมาทกับหนังสือพิมพ์สังคมนิยม มึนเชแนร์ โพสต์ ซึ่งตั้งคำถามถึงวิถีชีวิตและรายได้ของเขา
สุนทรพจน์โรงเบียร์ที่เผ็ดร้อนของฮิตเลอร์เริ่มดึงดูดผู้ฟังขาประจำ เขาเริ่มช่ำชองในการใช้แก่นประชานิยมต่อผู้ฟังของเขา รวมทั้งการใช้แพะรับบาปผู้ซึ่งสามารถใช้กล่าวโทษแก่ความยากลำบากทางเศรษฐกิจของผู้ฟังเขา นักประวัติศาสตร์ได้สังเกตปรากฏการณ์สะกดจิตของวาทศิลป์ที่เขาใช้ต่อผู้ฟังกลุ่มใหญ่ และของตาเขาในกลุ่มเล็ก เคสเซลเขียนว่า "อย่างล้นหลาม ... ชาวเยอรมันเอ่ยกับการร่ายมนต์ของความดึงดูดใจ 'สะกดจิต' ของฮิตเลอร์ คำนี้ปรากฏขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ฮิตเลอร์กล่าวกันว่าได้สะกดจิตประเทศชาติ ยึดพวกเขาอยู่ในภวังค์ที่ถอนตัวไม่ขึ้น" นักประวัติศาสตร์ ฮิวจ์ เทรเวอร์-โรเปอร์ อธิบาย "ความมีเสน่ห์ของดวงตาคู่นั้น ซึ่งสะกดชายที่ดูสุขุมมานักต่อนัก" เขาใช้อำนาจดึงดูดส่วนตัวของเขาและความเข้าใจในจิตวิทยาฝูงชนเป็นประโยชน์แก่เขา ระหว่างพูดในที่สาธารณะ อัลฟอนส์ เฮค อดีตสมาชิกยุวชนฮิตเลอร์ อธิบายปฏิกิริยาที่มีต่อสุนทรพจน์ของฮิตเลอร์ว่า "เราปะทุเข้าสู่ความบ้าคลังของความภูมิใจชาตินิยมที่อยู่ติดกับฮิสทีเรีย เป็นเวลาหลายนาทีติดกัน เราตะโกนสุดปอดของเรา ด้วยน้ำตาที่ไหลลงมาตามใบหน้าของเรา ซีก ไฮล์, ซีก ไฮล์, ซีก ไฮล์! นับแต่ชั่วขณะนั้น ผมเป็นของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ทั้งร่างกายและวิญญาณ" แม้ทักษะวาทศิลป์และคุณสมบัติส่วนตัวของเขาโดยทั่วไปจะได้รับการตอบรับดีจากฝูงชนขนาดใหญ่และในงานทางการ แต่บางคนที่พบฮิตเลอร์เป็นการส่วนตัวสังเกตว่า ลักษณะภายนอกและบุคลิกของเขาไม่อาจให้ความประทับใจสุดท้ายแก่พวกเขาได้
ผู้ติดตามคนแรก ๆ มีรูด็อล์ฟ เฮ็ส, อดีตนักบินกองทัพอากาศ แฮร์มัน เกอริง และร้อยเอกกองทัพบก แอ็นสท์ เริห์ม ผู้ซึ่งต่อมา เป็นหัวหน้าองค์การกำลังกึ่งทหารของนาซี ชตวร์มอัพไทลุง (SA, "กองพลวายุ") ซึ่งคอยคุ้มครองการประชุมและโจมตีคู่แข่งการเมืองอยู่บ่อยครั้ง อิทธิพลสำคัญต่อการคิดของเขาในช่วงนี้คือ กลุ่มสมคบคิดอันประกอบด้วยกลุ่มพวกรัสเซียขาวเนรเทศและพวกชาติสังคมนิยมช่วงแรก ๆ กลุ่มดังกล่าว ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากกองทุนที่มาจากนักอุตสาหกรรมอันมั่งคั่งอย่างเฮนรี ฟอร์ด แนะนำเขาสู่แนวคิดของการสมคบคิดยิว โดยเชื่อมโยงการเงินระหว่างประเทศกับบอลเชวิค
กบฏโรงเบียร์
ฮิตเลอร์ขอการสนับสนุนจากพลเอกสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เอริช ลูเดินดอร์ฟ สำหรับพยายามก่อรัฐประหารที่เรียกว่า "กบฏโรงเบียร์" พรรคนาซีได้ใช้ลัทธิฟาสซิสต์อิตาลีเป็นแบบภาพลักษณ์และนโยบาย และใน ค.ศ. 1923 ฮิตเลอร์ต้องการเลียนแบบ "การสวนสนามแห่งโรม" ของเบนิโต มุสโสลินี (ค.ศ. 1922) โดยจัดรัฐประหารของเขาเองในบาวาเรีย ตามด้วยการท้าทายรัฐบาลในเบอร์ลิน ฮิตเลอร์และลูเดินดอร์ฟฟ์แสวงหาสการสนับสนุนจากสทาทสคอมมิสซาร์ (ผู้ตรวจการรัฐ) กุสทัฟ ฟ็อน คาร์ ผู้ปกครองบาวาเรียโดยพฤตินัย อย่างไรก็ดี คาร์ ร่วมกับหัวหน้าตำรวจ ฮันส์ ริทแทร์ ฟอน ไซส์แซร์ และพลเอกแห่งไรชส์แวร์ อ็อทโท ฟอน ลอสซอว์ ต้องการสถาปนาลัทธิเผด็จการชาตินิยมโดยปราศจากฮิตเลอร์
ฮิตเลอร์ต้องการฉวยโอกาสสำคัญเพื่อการปลุกปั่นและการสนับสนุนของประชาชนอย่างได้ผล วันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1923 เขาและ SA โจมตีการประชุมสาธารณะที่มีผู้เข้าร่วม 3,000 คน ซึ่งจัดโดยคาฮร์ในเบือร์แกร์บรอยเคลแลร์ โรงเบียร์ขนาดใหญ่ในมิวนิก ฮิตเลอร์ขัดจังหวะปราศรัยของคาฮร์และประกาศว่า "การปฏิวัติแห่งชาติเริ่มต้นขึ้นแล้ว" ประกาศจัดตั้งรัฐบาลใหม่กับลูเดินดอร์ฟฟ์ โดยชักปืนพกออกมา ฮิตเลอร์ต้องการและได้รับการสนับสนุนจากคาฮร์ ไซส์แซร์และลอสซอ กองกำลังของฮิตเลอร์ประสบความสำเร็จช่วงแรกในการยึดไรชส์แวร์และกองบังคับการตำรวจท้องถิ่น อย่างไรก็ดี ไม่มีกองทัพหรือตำรวจรัฐเข้าร่วมกับกองกำลังของเขา คาฮร์และเพื่อนของเขารีบถอนการสนับสนุนของตนและหนีไปเข้ากับฝ่ายต่อต้านฮิตเลอร์ วันรุ่งขึ้น ฮิตเลอร์และผู้ติดตามเดินขบวนจากโรงเบียร์ไปยังกระทรวงสงครามเพื่อล้มรัฐบาลบาวาเรียระหว่าง "การสวนสนามแห่งเบอร์ลิน" แต่ตำรวจสลายการชุมนุม สมาชิกพรรคนาซีสิบหกคนและเจ้าหน้าที่ตำรวจสี่นายถูกสังหารไปในรัฐประหารที่ล้มเหลว
ฮิตเลอร์ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงได้หลบหนีไปยังบ้านของแอ็นสท์ ฮันฟ์สทาเองล์ และหลักฐานบางชิ้นชี้ว่า เขาคิดทำอัตวินิบาตกรรม เขารู้สึกหดหู่แต่สงบลงเมื่อถูกจับกุมในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1923 ด้วยข้อหากบฏ การพิจารณาคดีของเขาเริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1924 ต่อหน้าศาลประชาชนพิเศษในมิวนิก, และอัลเฟรด โรเซนแบร์กเป็นผู้นำชั่วคราวของพรรคนาซีแทน วันที่ 1 เมษายน ฮิตเลอร์ถูกตัดสินจำคุกห้าปีในเรือนจำลันด์สแบร์ก เขาได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นมิตรจากผู้คุม และได้รับอนุญาตให้รับจดหมายจำนวนมากจากผู้สนับสนุนและมีการเข้าเยี่ยมเป็นประจำจากเพื่อนร่วมพรรค ศาลสูงสุดบาวาเรียอภัยโทษและเขาถูกปล่อยตัวจากเรือนจำเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1924 แย้งต่อการทัดทานของอัยการรัฐ ซึ่งหากรวมเวลาระหว่างคุมขังรอการพิจารณาคดีแล้ว ฮิตเลอร์ได้รับโทษในเรือนจำทั้งสิ้นเกินหนึ่งปีเล็กน้อยเท่านั้น
ขณะถูกจองจำอยู่ที่เรือนจำลันด์สแบร์ก เขาได้อุทิศการเขียนหนังสือที่ชื่อว่า ไมน์คัมพฟ์ ("การต่อสู้ของข้าพเจ้า" เดิมชื่อ "สี่ปีครึ่งกับการต่อสู้กับคำโกหก ความเขลาและความขลาด") ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกส่วนใหญ่ แก่ผู้ช่วยของเขา รูด็อล์ฟ เฮ็สไมน์คัมพฟ์ ซึ่งอุทิศให้กับสมาชิกทูเลอโซไซตี ดีทริช เอคคาร์ท เป็นทั้งอัตชีวประวัติและการแถลงอุดมการณ์ของเขา ไมน์คัมพฟ์ได้รับอิทธิพลจากหนังสือ The Passing of the Great Race โดยเมดิสัน แกรนท์ ซึ่งฮิตเลอร์เรียกว่า "ไบเบิลของข้าพเจ้า"ไมน์คัมพฟ์ได้รับการตีพิมพ์สองครั้งใน ค.ศ. 1925 และ 1926 ขายได้ประมาณ 228,000 เล่มระหว่าง ค.ศ. 1925 และ 1932 ใน ค.ศ. 1933 ซึ่งเป็นปีที่ฮิตเลอร์เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขายได้หนึ่งล้านเล่ม
การสร้างพรรคใหม่
เมื่อฮิตเลอร์ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำนั้น การเมืองในเยอรมนีสงบลงและเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ซึ่งจำกัดโอกาสของฮิตเลอร์ในการปลุกระดมทางการเมือง ผลของกบฏโรงเบียร์ที่ล้มเหลว ทำให้พรรคนาซีและองค์การสืบเนื่องถูกกฎหมายห้ามในรัฐบาวาเรีย ในการประชุมกับนายกรัฐมนตรีบาวาเรีย ไฮน์ริช เฮลด์ เมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1925 ฮิตเลอร์ตกลงที่จะเคารพอำนาจโดยชอบของรัฐ และเขาจะมุ่งแสวงหาอำนาจทางการเมืองเฉพาะผ่านกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น การประชุมดังกล่าวนำไปสู่การยกเลิกการห้าม NSDAP อย่างไรก็ดี ฮิตเลอร์ยังถูกห้ามมิให้ปราศรัยต่อสาธารณะ ซึ่งยังมีผลไปจนถึง ค.ศ. 1927 ในการรุกหน้าความทะเยอทะยานทางการเมืองแม้จะมีการสั่งห้ามนี้ ฮิตเลอร์แต่งตั้งเกรกอร์ ชตรัสเซอ, อ็อทโท ชตรัสเซอ และโยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ ให้จัดการและขยายพรรคนาซีทางตอนเหนือของเยอรมนี ด้วยความเป็นผู้จัดที่ยอดเยี่ยม เกรกอร์ ชตรัสเซอ ได้เดินหน้าวิถีการเมืองที่เป็นอิสระมากขึ้น โดยเน้นองค์ประกอบของสังคมนิยมในโครงการพรรค
ฮิตเลอร์ปกครองพรรคนาซีโดยอัตโนมัติโดยอ้างฟือเรอร์พรินซิพ ("หลักการผู้นำ") ตำแหน่งภายในพรรคไม่ถูกกำหนดโดยการเลือกตั้ง แต่จะถูกบรรจุผ่านการแต่งตั้งโดยผู้มีตำแหน่งสูงกว่า ซึ่งต้องการการเชื่อฟังโดยไม่มีการตั้งคำถามต่อประสงค์ของผู้นำ
ตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาตกเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1929 ผลกระทบในเยอรมนีนั้นเลวร้ายมาก หลายล้านคนตกงานและธนาคารหลักหลายแห่งต้องปิดกิจการ ฮิตเลอร์และพรรคนาซีเตรียมฉวยโอกาสจากเหตุฉุกเฉินเพื่อเรียกเสียงสนับสนุนแก่พรรค พวกเขาสัญญาว่าจะบอกเลิกสนธิสัญญาแวร์ซาย เสริมสร้างเศรษฐกิจและจัดหางาน
การเถลิงอำนาจ
วันที่ | คะแนนเสียงทั้งหมด | ร้อยละคะแนนเสียง | ที่นั่งในไรช์สทาค | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|
พฤษภาคม ค.ศ. 1924 | 1,918,300 | 6.5 | 32 | ฮิตเลอร์อยู่ในเรือนจำ |
ธันวาคม ค.ศ. 1924 | 907,300 | 3.0 | 14 | ฮิตเลอร์ได้รับการปล่อยตัว |
พฤษภาคม ค.ศ. 1928 | 810,100 | 2.6 | 12 | |
กันยายน ค.ศ. 1930 | 6,409,600 | 18.3 | 107 | หลังวิกฤตการณ์การเงิน |
กรกฎาคม ค.ศ. 1932 | 13,745,000 | 37.3 | 230 | หลังฮิตเลอร์ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี |
พฤศจิกายน ค.ศ. 1932 | 11,737,000 | 33.1 | 196 | |
มีนาคม ค.ศ. 1933 | 17,277,180 | 43.9 | 288 | ระหว่างฮิตเลอร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี |
รัฐบาลบรือนิง
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในเยอรมนีเป็นโอกาสทางการเมืองสำหรับฮิตเลอร์ ชาวเยอรมันลังเลต่อสาธารณรัฐรัฐสภา ซึ่งเผชิญกับปัญหาคุกคามสำคัญจากทั้งพวกขวาและซ้ายจัดสุดโต่ง พรรคการเมืองสายกลางไม่สามารถหยุดยั้งกระแสแห่งลัทธิสุดโต่งเพิ่มขึ้นทุกที และการลงประชามติเยอรมนี ค.ศ. 1929 ช่วยยกระดับอุดมการณ์นาซี การเลือกตั้งเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1930 ส่งผลให้รัฐบาลผสมชุดใหญ่แตกหักและแทนที่โดยคณะรัฐมนตรีข้างน้อย นายกรัฐมนตรีไฮน์ริช บรือนิงแห่งพรรคกลาง ผู้นำคณะรัฐมนตรีชุดนั้น ปกครองโดยกฤษฎีกาฉุกเฉินจากประธานาธิบดี เพาล์ ฟ็อน ฮินเดินบวร์ค การปกครองโดยกฤษฎีกาจะกลายมาเป็นบรรทัดฐานใหม่และปูทางแก่รัฐบาลแบบอำนาจนิยมพรรคนาซีเติบโตจากพรรคที่ไม่มีใครรู้จักและได้คะแนนเสียง 18.3% และ 107 ที่นั่งในรัฐสภาในการเลือกตั้ง ค.ศ. 1930 กลายมาเป็นพรรคใหญ่ที่สุดอันดับสองในสภา
ฮิตเลอร์ปรากฏกายครั้งสำคัญในการพิจารณาคดีของนายทหารไรชส์แวร์สองนาย ร้อยตรีริชาร์ด เชรินแกร์ และฮันส์ ลูดิน ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1930 ทั้งสองถูกตั้งข้อหาเป็นสมาชิกพรรคนาซีซึ่งขณะนั้น กฎหมายไม่อนุญาตให้กำลังพลไรชส์แวร์เป็นสมาชิก อัยการให้เหตุผลว่าพรรคนาซีเป็นพรรคสุดโต่ง ทนายฝ่ายจำเลย ฮันส์ ฟรังค์จึงเรียกฮิตเลอร์มาให้การเป็นพยานในศาล วันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 1930 ฮิตเลอร์ ให้การว่า พรรคของเขาจะแสวงหาอำนาจทางการเมืองเฉพาะผ่านการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตยเท่านั้น การให้การนั้นทำให้เขาได้รับการสนับสนุนมากในหมู่นายทหารในกองทัพ
มาตรการรัดเข็มขัดของบรือนิงทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยและไม่เป็นที่นิยมอย่างยิ่ง ฮิตเลอร์ฉวยความอ่อนแอนี้โดยส่งข้อความทางการเมืองของเขาเจาะจงไปยังประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ เช่น ชาวนา ทหารผ่านศึก และชนชั้นกลาง
ฮิตเลอร์สละสัญชาติออสเตรียของเขาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1925 แต่ในขณะนั้น เขายังไม่ได้สัญชาติเยอรมัน เป็นเวลาเกือบเจ็ดปีที่ฮิตเลอร์ไร้สัญชาติ ไม่สามารถเข้าชิงตำแหน่งทางการเมืองได้ และเสี่ยงต่อการถูกเนรเทศ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1932 รัฐมนตรีมหาดไทยแห่งเบราน์ชไวก์ ผู้เป็นสมาชิกพรรคนาซีแต่งตั้งฮิตเลอร์เป็นผู้บริหารตัวแทนของรัฐในไรช์สรัท (สภาล่าง) ในเบอร์ลิน ทำให้ฮิตเลอร์เป็นพลเมืองเบราน์ชไวก์ และจึงเป็นพลเมืองเยอรมันอีกทอดหนึ่งเช่นกัน
ค.ศ. 1932 ฮิตเลอร์ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแข่งกับฟ็อน ฮินเดินบวร์ค เขาได้รับการสนับสนุนจากนักอุตสาหกรรมที่ทรงอำนาจที่สุดของเยอรมนีหลายคน หลังสุนทรพจน์วันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1932 ต่อสภาอุตสาหกรรมในดึสเซลดอร์ฟ อย่างไรก็ดี ฮินเดินบวร์คได้รับการสนับสนุนจากพรรคชาตินิยม กษัตริย์นิยม คาทอลิกและสาธารณรัฐนิยม ตลอดจนสังคมประชาธิปไตยบางพรรค ฮิตเลอร์ใช้คำขวัญระหว่างหาเสียงว่า "ฮิตเลอร์อือแบร์ดอยท์ชลันด์" (ฮิตเลอร์เหนือเยอรมนี) โดยอ้างถึงทั้งความทะเยอทะยานทางการเมืองและการหาเสียงโดยเครื่องบินของเขา ฮิตเลอร์มาเป็นอันดับสองในการเลือกตั้งทั้งสองรอบ โดยได้เสียงมากกว่า 35% ในการเลือกตั้งครั้งสุดท้าย แม้จะพ่ายต่อฮินเดินบวร์ค การเลือกตั้งครั้งนี้ได้ทำให้ฮิตเลอร์เป็นกำลังสำคัญในการเมืองเยอรมนี
การได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
การขาดรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพทำให้นักการเมืองทรงอิทธิพลสองคน ฟรันทซ์ ฟ็อน พาเพิน และอัลเฟรด ฮูเกนแบร์ก ตลอดจนนักอุตสาหกรรมและนักธุรกิจหลายคน เขียนจดหมายถึงฮินเดินบวร์ค ผู้ลงนามกระตุ้นให้ฮินเดินบวร์คแต่งตั้งฮิตเลอร์เป็นหัวหน้ารัฐบาล "ซึ่งเป็นอิสระจากพรรคการเมืองในรัฐสภา" ซึ่งอาจแปรเปลี่ยนเป็นขบวนการซึ่งอาจ "สร้างความยินดีแก่ประชากรหลายล้านคน"
ฮินเดินบวร์คตกลงแต่งตั้งฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างไม่เต็มใจ หลังการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปอีกสองครั้ง คือ ในเดือนกรกฎาคมและพฤศจิกายน ค.ศ. 1932 ไม่มีพรรคใดจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ ฮิตเลอร์จะเป็นหัวหน้ารัฐบาลผสมช่วงสั้น ๆ จัดตั้งโดยพรรคนาซีและพรรคประชาชนแห่งชาติเยอรมัน (DNVP) ของฮูเกนแบร์ก วันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1933 คณะรัฐมนตรีชุดใหม่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งระหว่างพิธีการที่กระชับและเรียบง่ายในสำนักงานของฮินเดินบวร์คพรรคนาซีนั่งเก้าอี้สามจากสิบเอ็ดตำแหน่ง ฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรี แฮร์มัน เกอริงเป็นรัฐมนตรีลอย และวิลเฮล์ม ฟริคเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย
เหตุการณ์เพลิงไหม้ไรชส์ทาค
ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ฮิตเลอร์ดำเนินการต่อต้านความพยายามของคู่แข่งพรรคพรรคนาซีในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก เพราะการคุมเชิงทางการเมือง ฮิตเลอร์จึงขอประธานาธิบดีฮินเดินบวร์คให้ยุบสภาไรชส์ทาคอีกครั้ง และกำหนดการเลือกตั้งไว้ต้นเดือนมีนาคม วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1933 อาคารไรชส์ทาคถูกวางเพลิง เกอริงกล่าวโทษว่าเป็นแผนการของคอมมิวนิสต์ เพราะมารีนึส ฟัน เดอร์ลึบเบอ ถูกพบตัวในอาคารที่เพลิงกำลังลุกโหมอยู่นั้น ด้วยการกระตุ้นของฮิตเลอร์ ฮินเดินบวร์คตอบสนองโดยออกกฤษฎีกาเพลิงไหม้ไรชส์ทาค 28 กุมภาพันธ์ ซึ่งยับยั้งสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมทั้งหมายสั่งให้ส่งตัวผู้ถูกคุมขังมาศาล (habeas corpus) กิจกรรมของพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันถูกปราบปราม และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ราว 4,000 คนถูกจับกุม นักวิจัย รวมทั้งวิลเลียม แอล. ชิเรอร์ และอลัน บูลล็อก เห็นว่าพรรคนาซีเองที่เป็นผู้รับผิดชอบต่อการวางเพลิงนั้น
นอกเหนือไปจากการรณรงค์ทางการเมืองแล้วพรรคนาซียังมีส่วนกับความรุนแรงกึ่งทหารและการขยายการโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ในวันเลือกตั้ง 6 มีนาคม ค.ศ. 1933 ส่วนแบ่งคะแนนเสียงของพรรคนาซีเพิ่มขึ้นเป็น 43.9% และพรรคได้รับที่นั่งมากที่สุดในรัฐสภา อย่างไรก็ดี พรรคของฮิตเลอร์ไม่สามารถครองเสียงข้างมากอย่างสมบูรณ์ได้ จำต้องร่วมรัฐบาลกับ DNVP อีกหน
วันพ็อทซ์ดัมและรัฐบัญญัติมอบอำนาจ
วันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1933 มีการตั้งไรชส์ทาคใหม่ขึ้นในพิธีเปิดที่โบสถ์แกริซันในพ็อทซ์ดัม "วันพ็อทซ์ดัม" นี้จัดขึ้นเพื่อแสดงความสามัคคีระหว่างขบวนการนาซีกับอภิชนและทหารปรัสเซียเก่า ฮิตเลอร์ปรากฏกายในชุดมอร์นิงโค้ต ซึ่งเป็นชุดพิธีการกลางวัน และทักทายประธานาธิบดีฟ็อน ฮินเดินบวร์คอย่างถ่อมตน
เพื่อให้ได้มาซึ่งการควบคุมทางการเมืองเต็มที่โดยไม่ต้องกุมเสียงข้างมากเด็ดขาดในรัฐสภา รัฐบาลของฮิตเลอร์นำแอร์แมคทิกุงสเกเซตซ์ (รัฐบัญญัติมอบอำนาจ) ขึ้นออกเสียงในไรชส์ทาคที่เพิ่งเลือกตั้งใหม่ รัฐบัญญัติดังกล่าวมอบอำนาจนิติบัญญัติเต็มให้แก่คณะรัฐมนตรีของฮิตเลอร์เป็นเวลาสี่ปีและอนุญาตให้เปลี่ยนวิธีปฏิบัติจากรัฐธรรมนูญได้ (โดยมีข้อยกเว้นบางประการ) ร่างรัฐบัญญัติต้องการเสียงข้างมากสองในสามจึงผ่าน พรรคนาซีใช้บทบัญญัติแห่งกฤษฎีกาเพลิงไหม้ไรชส์ทาคกันมิให้ผู้แทนสังคมประชาธิปไตยหลายคนเข้าประชุม ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์ถูกยุบไปก่อนแล้ว
วันที่ 23 มีนาคม ไรชส์ทาคประชุมที่โรงอุปรากรครอลล์ ภายใต้สถานการณ์วุ่นวาย ชายเอ็สอาเป็นแถวปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยภายในอาคาร ขณะที่คนกลุ่มใหญ่ด้านนอกคัดค้านกฎหมายที่เสนอตะโกนคำขวัญและคุกคามสมาชิกรัฐสภาที่กำลังมาถึง ฐานะของพรรคกลาง พรรคใหญ่ที่สุดอันดับสามในไรชส์ทาค กลายมาเป็นเด็ดขาด หลังฮิตเลอร์ให้คำมั่นด้วยวาจาแก่ ผู้นำพรรค ลุดวิก คาส ว่า ประธานาธิบดีฟ็อน ฮินเดินบวร์คจะยังคงมีอำนาจยับยั้ง (veto) คาสจึงประกาศว่า พรรคจะสนับสนุนรัฐบัญญัติมอบอำนาจ ท้ายสุด รัฐบัญญัติมอบอำนาจผ่านด้วยเสียง 441-84 โดยมีทุกพรรค ยกเว้นพรรคสังคมประชาธิปไตย เห็นชอบ รัฐบัญญัติมอบอำนาจ รัฐบัญญัติมอบอำนาจ ร่วมกับกฤษฎีกาเพลิงไหม้ไรชส์ทาค เปลี่ยนรัฐบาลของฮิตเลอร์เป็นเผด็ตการตามกฎหมายโดยพฤตินัย
การปลดวิสัยที่เหลือ
เมื่อมีอำนาจควบคุมเต็มเหนืออำนาจนิติบัญญัติและบริหารแล้ว ฮิตเลอร์และพันธมิตรทางการเมืองของเขาเริ่มการปราบคู่แข่งการเมืองที่เหลืออย่างเป็นระบบ พรรคสังคมประชาธิปไตยถูกยุบตามพรรคคอมมิวนิสต์และสินทรัพย์ทั้งหมดถูกยึด ขณะที่ตัวแทนสหภาพแรงงานจำนวนมากอยู่ในกรุงเบอร์ลินเพื่อร่วมกิจกรรมเมย์เดย์ พลรบวายุของเอ็สอาได้ทำลายสำนักงานสหภาพแรงงานทั่วประเทศ วันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1933 สหภาพแรงงานทั้งหมดถูกบีบให้ยุบและผู้นำถูกจับกุม บางคนถูกส่งไปยังค่ายกักกัน องค์การสหภาพใหม่ถูกจัดตั้งขึ้น โดยเป็นตัวแทนของคนงาน นายจ้างและเจ้าของบริษัททุกคนเป็นกลุ่มเดียว สหภาพแรงงานใหม่นี้สะท้อนแนวคิดชาติสังคมนิยมในวิญญาณแห่ง "โฟล์คสเกไมน์ชัฟท์" (ชุมชนเชื้อชาติเยอรมัน) ของฮิตเลอร์
เมื่อถึงปลายเดือนมิถุนายน พรรคอื่น ๆ ก็ได้ถูกยุบไปจนหมด และด้วยความช่วยเหลือของเอ็สอา ฮิตเลอร์กดดันให้พรรครัฐบาลผสมในนามของเขา ฮูเกนแบร์ก ลาออก วันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1933 พรรคนาซีของฮิตเลอร์ได้รับการประกาศให้เป็นพรรคการเมืองชอบด้วยกฎหมายพรรคเดียวในเยอรมนี ข้อเรียกร้องของเอ็สอาให้มีอำนาจทางการเมืองและการทหารเพิ่มขึ้นสร้างความกังวลอย่างมากในหมู่ผู้นำทางทหาร อุตสาหกรรมและการเมือง ฮิตเลอร์สนองโดยกวาดล้างผู้นำเอ็สอาทั้งหมด ในเหตุการณ์ซึ่งต่อมาเรียกว่า "คืนมีดยาว" ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายนถึง 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1934 ฮิตเลอร์ตั้งเป้าหมายที่แอ็นสท์ เริห์ม และคู่แข่งการเมืองคนอื่น (เช่น เกรกอร์ ชตรัสเซอร์ และอดีตนายกรัฐมนตรี ควร์ท ฟ็อน ชไลเชอร์) เริห์มและผู้นำเอ็สอาคนอื่น ๆ ร่วมกับคู่แข่งการเมืองของฮิตเลอร์จำนวนหนึ่ง ถูกล้อม จับกุม และยิงทิ้ง ขณะที่ประชาคมระหว่างประเทศและชาวเยอรมันบางคนตระหนกต่อการฆาตกรรม ชาวเยอรมันหลายคนมองว่าฮิตเลอร์กำลังฟื้นฟูระเบียบ
วันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1934 ประธานาธิบดีฮินเดินบวร์คถึงแก่อสัญกรรม หนึ่งวันก่อนหน้านั้น คณะรัฐมนตรีได้ผ่านกฎหมายให้มีผลใช้บังคับเมื่อฮินเดินบวร์คเสียชีวิต ซึ่งล้มล้างตำแหน่งประธานาธิบดีและรวมอำนาจของประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรี ฮิตเลอร์จึงกลายมาเป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและประมุขรัฐบาล มีชื่อทางการว่า ฟือเรอร์อุนด์ไรชส์คันซเลอร์ (ผู้นำและนายกรัฐมนตรี) กฎหมายนี้แท้จริงแล้วละเมิดรัฐบัญญัติมอบอำนาจ ขณะที่รัฐบัญญัติมอบอำนาจจะให้ฮิตเลอร์เปลี่ยนวิธีปฏิบัติจากรัฐธรรมนูญได้ แต่ห้ามเขาชัดเจนมิให้ผ่านกฎหมายใด ๆ ที่ขัดกับตำแหน่งประธานาธิบดี ใน ค.ศ. 1932 มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประธานศาลยุติธรรมสูงสุด มิใช่นายกรัฐมนตรี รักษาการแทนประธานาธิบดีระหว่างที่มีการเลือกตั้งใหม่ ด้วยกฎหมายนี้ ฮิตเลอร์ได้ปลดทางแก้สุดท้ายตามกฎหมายที่จะถอดเขาออกจากตำแหน่ง
ในฐานะประมุขแห่งรัฐ ฮิตเลอร์จึงเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วย การมอบสัตย์ปฏิญาณของทหารและกะลาสีตามประเพณีถูกเปลี่ยนเป็นการยืนยันความภักดีต่อฮิตเลอร์โดยตรง มากกว่าตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุด วันที่ 19 สิงหาคม การรวมตำแหน่งประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรีได้รับการอนุมัติโดยการลงประชามติ ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุน 90% ของผู้ออกมาใช้สิทธิ
มันอาจจะถูกมองเป็นเรื่องเหลวไหล ถ้าผมจะบอกคุณว่าขบวนการชาติสังคมนิยม (นาซี) จะคงอยู่ต่อไปอีกเป็นพันปี! ... อย่าลืมพวกที่เคยหัวเราะใส่ผมเมื่อ 15 ปีที่แล้วตอนผมบอกว่าวันหนึ่งผมจะปกครองเยอรมันสิ ลองให้พวกนั้นมาหัวเราะตอนนี้คงไม่ต่างอะไรจากพวกโง่ ตอนผมประกาศว่าผมจะอยู่ในอำนาจ!
— ฮิตเลอร์ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าว, มิถุนายน 1934
ต้น ค.ศ. 1938 ฮิตเลอร์บีบให้รัฐมนตรีว่าการสงคราม จอมพล แวร์เนอร์ ฟ็อน บล็อมแบร์ค ลาออก เมื่อสำนวนตำรวจพบว่า ภรรยาใหม่ของบล็อมแบร์คเคยมีประวัติเป็นโสเภณี ฮิตเลอร์ถอดผู้บัญชาการทหารบก พลเอก แวร์แนร์ ฟอน ฟริทช์ หลังหน่วยเอ็สอาสกล่าวหาว่าเขามีส่วนในความสัมพันธ์ร่วมเพศ นายทหารทั้งสองเริ่มดวงตกเมื่อพวกเขาคัดค้านคำสั่งของฮิตเลอร์ที่สั่งให้ทั้งสองเตรียมกองทัพบกให้พร้อมเข้าสู่สงครามภายในปี ค.ศ. 1938 ฮิตเลอร์เรียกเหตุการณ์ทั้งสองนี้ว่า "เหตุอื้อฉาวบล็อมแบร์ค-ฟริทซ์" และใช้มันเป็นข้ออ้างเพื่อควบรวมสายบัญชาการกองทัพ ฮิตเลอร์ตั้งตัวเองเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดแทนบล็อมแบร์ค ทำให้เขาสามารถบังคับบัญชากองทัพได้โดยตรง เขาเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการสงครามกับโอเบอร์คอมมันโดแดร์เวร์มัคท์ (กองบัญชาการทหารสูงสุด หรือ OKW) นำโดย พลเอก วิลเฮ็ล์ม ไคเทิล และในวันเดียวกัน นายพลสิบหกนายถูกถอดจากตำแหน่ง และ 44 นายถูกย้าย ทั้งหมดถูกสงสัยว่าไม่ภักดีต่อนาซีเพียงพอ เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1938 นายพลอื่นอีกสิบสองนายถูกปลด
หลังได้เสริมสร้างอำนาจการเมืองของเขาแล้ว ฮิตเลอร์ปราบปรามหรือกำจัดคู่แข่งของเขาด้วยกระบวนการชื่อ ไกลช์ชัลทุง ("จัดแถว") เขาพยายามหาการสนับสนุนจากสาธารณะเพิ่มเติมโดยสัญญาจะกลับผลของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและสนธิสัญญาแวร์ซาย
ไรช์ที่สาม
เศรษฐกิจและวัฒนธรรม
ใน ค.ศ. 1935 ฮิตเลอร์แต่งตั้ง เป็นผู้มีอำนาจเต็มด้านเศรษฐกิจสงคราม รับผิดชอบการเตรียมเศรษฐกิจเพื่อสงคราม การฟื้นฟูบูรณะและการติดอาวุธใหม่ได้รับจัดหาเงินทุนผ่านเมโฟบิล การพิมพ์เงิน และการยึดสินทรัพย์ของผู้ที่ถูกจับกุมในข้อหาเสี้ยนหนามแผ่นดิน รวมทั้งยิว การว่างงานลดลงอย่างมาก จากหกล้านคนใน ค.ศ. 1932 เหลือหนึ่งล้านคนใน ค.ศ. 1936 ฮิตเลอร์เป็นผู้ดูแลหนึ่งในโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคหนึ่งในครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เยอรมนี ซึ่งนำไปสู่การก่อสร้างเขื่อน ทางหลวงพิเศษ ทางรถไฟและงานสาธารณะอื่น ๆ ค่าแรงลดลงเล็กน้อยในช่วงปีก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อเทียบกับในสมัยไวมาร์ ขณะที่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น 25%
รัฐบาลฮิตเลอร์สนับสนุนสถาปัตยกรรมอย่างกว้างขวาง อัลแบร์ท สเพร์ ผู้นำการตีความแบบคลาสสิกของฮิตเลอร์นำไปปรับกับวัฒนธรรมเยอรมัน ถูกกำหนดให้รับผิดชอบการปฏิสังขรณ์สถาปัตยกรรมในเบอร์ลิน ฮิตเลอร์เปิดกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในเบอร์ลิน
การสร้างเสริมอาวุธและพันธมิตรใหม่
ในการประชุมกับผู้นำทางทหารของเยอรมนีเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1933 ฮิตเลอร์กล่าวถึง "การพิชิตเพื่อเลเบินส์เราม์ในทางตะวันออกและทำให้เป็นเยอรมันอย่างไร้ความปรานี" เป็นความมุ่งหมายนโยบายต่างประเทศสูงสุดของเขา ในเดือนมีนาคม เจ้าชายแบร์นาร์ด วิลเฮล์ม ฟอน บือโลว์ เลขานุการเอาสวแวร์ทีเกส อัมท์ (กระทรวงการต่างประเทศ) ออกแถลงการณ์ใหญ่ถึงเป้าประสงค์ของนโยบายต่างประเทศกับเยอรมนี คือ อันชลูสส์กับออสเตรีย การฟื้นฟูพรมแดนแห่งชาติของเยอรมนีใน ค.ศ. 1914 การปฏิเสธการจำกัดทางทหารภายใต้สนธิสัญญาแวร์ซาย การได้อดีตอาณานิคมเยอรมนีในแอฟริกาคืน และเขตอิทธิพลของเยอรมนีในยุโรปตะวันออก ฮิตเลอร์พบว่าเป้าหมายของบือโลว์นั้นถ่อมเกินไป ในสุนทรพจน์ของเขาช่วงนี้ เขาเน้นย้ำเป้าหมายของนโยบายและความเต็มใจทำงานภายในความตกลงระหว่างประเทศอย่างสันติ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกใน ค.ศ. 1933 ฮิตเลอร์จัดลำดับรายจ่ายทางทหารมาก่อนเงินช่วยเหลือผู้ว่างงาน
เยอรมนีถอนตัวจากสันนิบาตชาติและการประชุมปลดอาวุธโลกในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1933 ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1935 ฮิตเลอร์ประกาศขยายกำลังพลเวร์มัคท์เป็น 600,000 นาย หกเท่าของจำนวนที่สนธิสัญญาแวร์ซายอนุญาต รวมถึงการพัฒนากองทัพอากาศ (ลุฟท์วัฟเฟอ) และการเพิ่มขนาดกองทัพเรือ (ครีกสมารีเนอ) อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลีและสันนิบาตชาติประณามแผนการเหล่านี้ว่าเป็นการละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซาย ความตกลงนาวิกอังกฤษ-เยอรมัน วันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1935 อนุญาตให้ระวางน้ำหนักของกองทัพเรือเยอรมันเพิ่มขึ้นเป็น 35% ของราชนาวีอังกฤษ ฮิตเลอร์เรียกการลงนามความตกลงดังกล่าวว่าเป็น "วันที่สุขที่สุดในชีวิตเขา" ดังที่เขาเชื่อว่าความตกลงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของพันธมิตรอังกฤษ-เยอรมันที่เขาได้ทำนายไว้ในไมน์คัมพฟ์ ฝรั่งเศสและอิตาลีไม่ได้รับการปรึกษาก่อนลงนาม ซึ่งเป็นการบั่นทอนสันนิบาตชาติโดยตรง และทิ้งสนธิสัญญาแวร์ซายบนหนทางสู่ความไม่ลงรอยกัน
เยอรมนียึดครองเขตปลอดทหารในไรน์ลันท์อีกครั้งในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1936 อันเป็นการละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซาย ฮิตเลอร์ส่งกำลังเข้าไปในสเปนเพื่อสนับสนุนพลเอกฟรังโก หลังได้รับการขอความช่วยเหลือในเดือกรกฎาคม ค.ศ. 1936 ในขณะเดียวกัน ฮิตเลอร์พยายามสร้างพันธมิตรอังฤษ-เยอรมนีอย่างต่อเนื่อง ในการสนองต่อวิกฤตเศรษฐกิจที่ลุกลามขึ้นอันเกิดจากความพยายามสร้างเสริมอาวุธขึ้นใหม่ ฮิตเลอร์จึงออกบันทึกข้อความสั่งแฮร์มัน เกอริงเพื่อดำเนินการแผนการสี่ปีเพื่อให้เยอรมนีพร้อมทำสงครามภายในสี่ปีข้างหน้า "บันทึกข้อความแผนการสี่ปี" เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1936 กำหนดการต่อสู้สุดกำลังระหว่าง "ยิว-บอลเชวิค" กับชาติสังคมนิยมเยอรมัน ซึ่งในมุมมองของฮิตเลอร์ จำเป็นต้องมีความพยายามที่ผูกมัดในการเสริมสร้างอาวุธโดยไม่คำนึงถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจ
เคานต์กาเลอัซโซ ซีอาโน รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลเบนิโต มุสโสลินี ประกาศอักษะระหว่างเยอรมนีกับอิตาลี และในวันที่ 25 พฤศจิกายน เยอรมนีลงนามในสนธิสัญญาต่อต้านองค์การคอมมิวนิสต์สากลกับญี่ปุ่น อังกฤษ จีน อิตาลีและโปแลนด์ได้รับเชิญให้เข้าร่วมสนธิสัญญาดังกล่าวด้วย แต่มีเพียงอิตาลีเท่านั้นที่ลงนามใน ค.ศ. 1937 ฮิตเลอร์ละทิ้งความฝันพันธมิตรอังกฤษ-เยอรมนี โดยกล่างโทษว่าผู้นำอังกฤษ "ไม่เหมาะสม" เขาจัดการประชุมลับที่ทำเนียบรัฐบาลไรช์กับรัฐมนตรีสงครามและต่างประเทศ ตลอดจนหัวหน้าทางทหารในเดือนพฤศจิกายนปีนั้น ตามบันทึกการประชุมฮ็อสบัค ฮิตเลอร์แถลงเจตนาในการได้มาซึ่งเลเบินส์เราม์สำหรับชาวเยอรมัน และสั่งเตรียมทำสงครามในทางตะวันออก ซึ่งจะเริ่มขึ้นไม่ช้ากว่า ค.ศ. 1943 เขาแถลงว่าบันทึกการประชุมถือว่าเป็น "พินัยกรรมการเมือง" ในกรณีเขาเสียชีวิต เขารู้สึกว่าวิกฤตเศรษฐกิจเยอรมนีได้มาถึงจุดที่มาตรฐานการครองชีพในเยอรมนีถดถอยรุนแรงจนต้องใช้เฉพาะนโยบายก้าวร้าวทางทหาร คือ ยึดออสเตรียและเชโกสโลวาเกีย เท่านั้น ฮิตเลอร์กระตุ้นการปฏิบัติอย่างรวดเร็ว ก่อนที่อังกฤษและฝรั่งเศสจะเป็นผู้นำการแข่งขันอาวุธอย่างถาวร ต้น ค.ศ. 1938 ตามติดกรณีอื้อฉาวบล็อมแบร์ค-ฟริทช์ ฮิตเลอร์ถือสิทธิ์ควบคุมระบบนโยบายทางทหาร-ต่างประเทศ โดยปลดนอยรัทจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ เขาครองบทบาทและตำแหน่งโอแบร์สเทียร์ เบเฟลชาแบร์ แดร์ เวร์มัคท์ (ผู้บัญชาการทหารสูงสุด) จากต้น ค.ศ. 1938 สืบมา ฮิตเลอร์ดำเนินนโยบายต่างประเทศซึ่งมีสงครามเป็นเป้าหมายสูงสุด
การล้างชาติ
มโนทัศน์หลักของนาซี คือ แนวคิดความสะอาดเชื้อชาติ วันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1935 เขาเสนอกฎหมายสองฉบับ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ กฎหมายเนือร์นแบร์ค แก่ไรชส์ทาค กฎหมายนี้ห้ามการสมรสระหว่างผู้ที่มิใช่ยิวกับเยอรมันเชื้อสายยิว และห้ามการจ้างสตรีมิใช่ยิวอายุต่ำกว่า 45 ปีในครัวเรือนยิว กฎหมายกีดกันผู้ที่ "มิใช่อารยัน" จากประโยชน์ของพลเมืองเยอรมัน นโยบายสุพันธุศาสตร์ช่วงแรกของฮิตเลอร์มุ่งไปยังเด็กที่บกพร่องทางกายและการพัฒนาในโครงการที่ถูกขนานนามว่า การปฏิบัติบรันดท์ (Action Brandt) และภายหลังอนุมัติโครงการการุณยฆาตแก่ผู้ใหญ่ที่บกพร่องทางจิตและกายอย่างร้ายแรง ซึ่งปัจจุบันมักเรียกว่า การปฏิบัติเท4 (Action T4)
แนวคิดเลเบินส์เราม์ของฮิตเลอร์ ซึ่งรับหลักการในไมน์คัมพฟ์ มุ่งการได้มาซึ่งดินแดนใหม่สำหรับการตั้งถิ่นฐานของชาวเยอรมันในยุโรปตะวันออก เจเนรัลพลันโอสท์ ("แผนการทั่วไปสำหรับทางตะวันออก") กำหนดให้ประชากรในยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียตส่วนที่ถูกยึดครองเนรเทศไปยังไซบีเรียตะวันตก เพื่อใช้เป็นแรงงานทาสหรือสังหารทิ้ง ดินแดนที่ถูกพิชิตจะถูกตั้งเป็นอาณานิคมของผู้ตั้งถิ่นฐานชาวเยอรมันหรือที่ถูก "ทำให้เป็นเยอรมัน" แผนการเดิมกำหนดให้กระบวนการนี้เริ่มต้นหลังการพิชิตสหภาพโซเวียต แต่เมื่อไม่เป็นผล ฮิตเลอร์จึงเลื่อนแผนการออกไป จนถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 1942 การตัดสินใจนี้ได้นำไปยังการสังหารชาวยิวและผู้ถูกเนรเทศอื่นซึ่งถูกพิจารณาว่าไม่พึงปรารถนา
ฮอโลคอสต์ (อังกฤษ: The Holocuast) (Endlösung der jüdischen Frage หรือ "การแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย") จัดขึ้นและดำเนินการโดยไฮน์ริช ฮิมเลอร์และไรนาร์ด ไฮดริช บันทึกการประชุมวันน์เซ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1942 และนำโดยไรนาร์ด ไฮดริช ร่วมกับเจ้าหน้าที่นาซีอาวุโสอื่นอีกสิบห้าคน เป็นหลักฐานชัดเจนที่สุดถึงการวางแผนฮอโลคอสต์อย่างเป็นระบบ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ มีบันทึกคำกล่าวของฮิตเลอร์ต่อเพื่อนร่วมงานว่า "สุขภาพดีของเราจะฟื้นคืนก็ด้วยการสังหารยิวเท่านั้น" มีค่ายกักกันและค่ายมรณะนาซีประมาณสามสิบแห่งใช้เพื่อวัตถุประสงค์นี้ จนถึงฤดูร้อน ค.ศ. 1942 สถานที่ตั้งค่ายกักกันเอาชวิทซ์ถูกดัดแปลงให้สามารถรองรับผู้ถูกเนรเทศจำนวนมากเพื่อสังหารหรือใช้แรงงานทาส
แม้ไม่ปรากฏว่ามีคำสั่งเจาะจงจากฮิตเลอร์ที่อนุมัติการสังหารหมู่ เขาได้อนุมัติไอน์ซัทซกรุพเพน หน่วยสังหารซึ่งติดตามกองทัพเยอรมันผ่านโปแลนด์และรัสเซีย เขายังได้รับรายงานอย่างดีเกี่ยวกับพฤติกรรมของหน่วยนี้ด้วย ระหว่างการสอบสวนโดยสายลับโซเวียต บันทึกซึ่งได้รับการเปิดเผยในอีกกว่าห้าสิบปีให้หลัง คนขับรถของฮิตเลอร์ ไฮนซ์ ลินเกอ และผู้ช่วยของเขา อ็อทโท กึนเชอ แถลงว่าฮิตเลอร์มีความสนใจโดยตรงในการพัฒนาห้องรมแก๊ส
ระหว่าง ค.ศ. 1939 ถึง 1945 เอ็สอาส ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลผู้ให้ความร่วมมือและทหารเกณฑ์จากประเทศที่ถูกยึดครอง รับผิดชอบต่อการเสียชีวิตถึงสิบเอ็ดถึงสิบสี่ล้านชีวิต รวมทั้งชาวยิวหกล้านคน คิดเป็นสองในสามของประชากรยิวในยุโรป และชาวโรมาระหว่าง 500,000 ถึง 1,500,000 คน การเสียชีวิตเกิดขึ้นในค่ายกักกันและค่ายมรณะ ย่านชาวยิว และการประหารชีวิตหมู่ เหยื่อการล้างชาติหลายคนถูกรมแก๊สจนเสียชีวิต ขณะที่บ้างเสียชีวิตเพราะหิวโหยหรือป่วยขณะใช้แรงงานทาส
นโยบายของฮิตเลอร์ยังส่งผลให้มีการสังหารชาวโปแลนด์ และเชลยศึกโซเวียต พวกคอมมิวนิสต์และศัตรูการเมืองอื่น พวกรักร่วมเพศ ผู้พิการทางกายหรือใจ ผู้นับถือลัทธิพยานพระยาเวห์ นิกายแอดเวนติสต์ และผู้นำสหภาพแรงงาน ฮิตเลอร์ไม่เคยปรากฏว่าเยือนค่ายกักกันและมิได้พูดถึงการสังหารอย่างเปิดเผย.
สงครามโลกครั้งที่สอง
ความสำเร็จทางการทูตช่วงต้น
พันธมิตรกับญี่ปุ่น
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1938 ด้วยการแนะนำจากรัฐมนตรีต่างประเทศที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งใหม่ เชโกสโลวาเกีย ผู้นิยมญี่ปุ่นอย่างแข็งขัน ฮิตเลอร์จึงยุติพันธมิตรจีน-เยอรมันกับสาธารณรัฐจีนและเข้าเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นที่ทันสมัยและทรงอำนาจกว่า ฮิตเลอร์ประกาศรับรองแมนจูกัว รัฐที่ญี่ปุ่นยึดครองในแมนจูเรีย ของเยอรมนี และสละการอ้างสิทธิ์ของเยอรมนีเหนืออดีตอาณานิคมในแปซิฟิกที่ญี่ปุ่นถือครองอยู่ ฮิตเลอร์สั่งยุติการส่งอาวุธไปยังจีน และเรียกนายทหารเยอรมันที่ทำงานกับกองทัพจีนทั้งหมดกลับ เพื่อเป็นการตอบโต้ พลเอก เจียง ไคเช็ก ของจีนยกเลิกความตกลงเศรษฐกิจจีน-เยอรมนีทั้งหมด ทำให้เยอรมนีขาดวัตถุดิบจากจีน แม้จีนจะยังขนส่งทังสเตนซึ่งเป็นโลหะสำคัญในการผลิตอาวุธ ต่อไปจนกระทั่ง ค.ศ. 1939
ออสเตรียและเชโกสโลวาเกีย
วันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1938 ฮิตเลอร์ประกาศรวมออสเตรียเข้ากับนาซีเยอรมนีในอันชลุส จากนั้นฮิตเลอร์มุ่งความสนใจของเขาไปยังประชากรเชื้อชาติเยอรมันในเขตซูเดเทินลันท์ของเชโกสโลวาเกีย
วันที่ 28-29 มีนาคม ค.ศ. 1938 ฮิตเลอร์จัดการประชุมลับขึ้นหลายครั้งในกรุงเบอร์ลินกับคอนรัด เฮนไลน์ แห่งซูเดเตนไฮม์ฟรอนท์ (Heimfront, "แนวสนับสนุน") พรรคการเมืองเชื้อชาติเยอรมันใหญ่ที่สุดในซูเดเทินลันท์ ทั้งสองตกลงว่าเฮนไลน์จะเรียกร้องสิทธิปกครองตนเองสำหรับชาวเยอรมันซูเดเตนเพิ่มขึ้นจากรัฐบาลเชโกสโลวาเกีย ซึ่งจะเป็นข้ออ้างสำหรับการปฏิบัติทางทหารต่อเชโกสโลวาเกีย ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1938 เฮนไลน์บอกรัฐมนตรีต่างประเทศฮังการีว่า "ไม่ว่ารัฐบาลเช็กจะเสนออะไร เขาจะเรียกร้องสูงขึ้นเสมอ ... เขาต้องการบ่อนทำลายความเข้าใจทุกทาง เพราะนี่เป็นเพียงวิธีเดียวที่จะระเบิดเชโกสโลวาเกียอย่างรวดเร็ว" โดยส่วนตัว ฮิตเลอร์มองว่าปัญหาซูเดเตนไม่สำคัญ เจตนาที่แท้จริงของเขานั้นคือสงครามพิชิตเชโกสโลวาเกีย
ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1938 ฮิตเลอร์สั่งให้ OKW เตรียมการสำหรับฟัลกรึน (Fall Grün, "กรณีเขียว") ชื่อรหัสสำหรับการบุกครองเชโกสโลวาเกีย ด้วยผลของแรงกดดันทางการทูตอย่างหนักจากฝรั่งเศสและอังกฤษ วันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1938 ประธานาธิบดีเชโกสโลวาเกีย เอ็ดวาร์ด เบเนช จึงประกาศ "แผนการที่สี่" เพื่อจัดระเบียบประเทศใหม่ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งตกลงรับข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ของเฮนไลน์ว่าด้วยการปกครองตนเองของซูเดเตน ไฮม์ฟรอนท์ของเฮนไลน์สนองต่อข้อเสนอของเบเนชด้วยการปะทะอย่างรุนแรงหลายครั้งกับตำรวจเชโกสโลวาเกีย ซึ่งนำไปสู่การประกาศกฎอัยการศึกในบางเขตของซูเดเตน
เยอรมนีนั้นพึ่งพาน้ำมันนำเข้า การเผชิญหน้ากับอังกฤษเหนือกรณีพิพาทเชโกสโลวาเกียอาจตัดทอนเสบียงน้ำมันของเยอรมนีได้ ฮิตเลอร์จึงเลื่อนฟัลกรึนออกไป ซึ่งเดิมวางแผนไว้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1938 วันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1938 ฮิตเลอร์, เนวิลล์ เชมเบอร์เลน, เอดัวร์ ดาลาดีเย และเบนิโต มุสโสลินีเข้าร่วมการประชุมหนึ่งวันในกรุงมิวนิกซึ่งนำไปสู่ความตกลงมิวนิก ซึ่งได้มอบเขตซูเดเทินลันท์ให้แก่เยอรมนี
เชมเบอร์เลนพอใจกับการประชุมมิวนิก โดยเรียกผลว่า "สันติภาพในสมัยของเรา" ขณะที่ฮิตเลอร์โกรธกับโอกาสทำสงครามที่พลาดไปใน ค.ศ. 1938 ฮิตเลอร์แสดงความผิดหวังของเขาต่อความตกลงมิวนิกออกมาในสุนทรพจน์เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 1938 ในซาร์บรึกเคน ในมุมมองของฮิตเลอร์ สันติภาพซึ่งอังกฤษเป็นนายหน้านั้น แม้จะอำนวยประโยชน์ต่อการเรียกร้องบังหน้าของเยอรมนี แต่ก็เป็นความพ่ายแพ้ทางการทูตซึ่งยิ่งกระตุ้นเจตนาของฮิตเลอร์ในการจำกัดอำนาจของอังกฤษเพื่อกรุยทางแก่การขยายตัวไปทางตะวันออกของเยอรมนี ผลจากการประชุมนี้ ฮิตเลอร์ได้รับเลือกเป็นบุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์ ค.ศ. 1938
ในปลาย ค.ศ. 1938 และต้น ค.ศ. 1939 วิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่ดำเนินต่อไปซึ่งเกิดขึ้นจากความพยายามสร้างเสริมอาวุธใหม่บีบให้ฮิตเลอร์ตัดงบประมาณป้องกันประเทศลงอย่างมาก วันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์กล่าวสุนทรพจน์ "ส่งออกหรือตาย" โดยเรียกร้องการรุกทางเศรษฐกิจของเยอรมนีเพื่อเพิ่มสินทรัพย์แลกเปลี่ยนต่างประเทศเยอรมนีเพื่อจ่ายเป็นค่าวัตถุดิบ เช่น เหล็กคุณภาพสูงซึ่งจำเป็นต่ออาวุธทางทหาร
วันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1939 โดยเป็นการละเมิดข้อตกลงมิวนิกและอาจเป็นเพราะผลของวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่ถลำลึกซึ่งต้องการสินทรัพย์เพิ่มเติม ฮิตเลอร์จึงสั่งให้เวร์มัคท์บุกครองปราก และจากปราสาทปรากได้ประกาศให้เป็นรัฐในอารักขาของเยอรมนี
สงครามโลกครั้งที่สองปะทุ
ในการประชุมส่วนตัวใน ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์อธิบายว่าอังกฤษเป็นศัตรูหลักที่จำต้องถูกพิชิต ในมุมมองของเขา การลบล้างโปแลนด์จากการเป็นชาติมีอธิปไตยเป็นการโหมโรงที่จำเป็นสู่เป้าหมายนั้น ปีกตะวันออกจำต้องได้รับการทำให้ปลอดภัย และที่ดินจะถูกเพิ่มเข้าไปในเลเบินส์เราม์ของเยอรมนี ฮิตเลอร์ต้องการให้โปแลนด์เป็นรัฐบริวารของเยอรมนีหรือมิฉะนั้นก็ถูกทำให้เป็นกลางเพื่อให้ปีกทางตะวันออกของไรช์ปลอดภัย และเพื่อป้องกันการปิดล้อมของอังกฤษที่เป็นไปได้ แต่เดิม ฮิตเลอร์ชอบแนวคิดรัฐบริวาร ซึ่งถูกปฏิเสธโดยรัฐบาลโปแลนด์ ดังนั้น ฮิตเลอร์จึงตัดสินใจบุกครองโปแลนด์ ซึ่งเขาถือว่าเป็นเป้าหมายนโยบายต่างประเทศหลักของเยอรมนีใน ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์ถูกขัดใจที่อังกฤษ "รับประกัน" เอกราชของโปแลนด์ ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1939 และบอกแก่เพื่อนร่วมงานเขาว่า "ฉันจะบ่มเครื่องดื่มปิศาจให้พวกมัน" ในสุนทรพจน์ในวิลเฮล์มชาเวนเพื่อปล่อยเรือประจัญบานเทียร์พิทซ์ลงน้ำเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์ขู่จะบอกเลิกความตกลงนาวีอังกฤษ-เยอรมันเป็นครั้งแรก หากอังกฤษยืนกรานการรับประกันเอกราชของโปแลนด์ ซึ่งเขามองว่าเป็นนโยบาย "ตีวงล้อม" วันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์สั่งการให้ฝ่ายทหารเตรียมการสำหรับฟัลไวสส์ (Fall Weiss, "กรณีขาว") แผนการสำหรับการบุกครองของเยอรมนีในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1939 ในสุนทรพจน์ต่อไรชส์ทาคเมื่อวันที่ 28 เมษายน ฮิตเลอร์บอกเลิกทั้งความตกลงนาวิกอังกฤษ-เยอรมันและสนธิสัญญาไม่รุกรานเยอรมนี–โปแลนด์ ฮิตเลอร์กล่าวแก่นายพลของเขาว่าแผนการดั้งเดิมของเขาใน ค.ศ. 1939 คือ "... จัดตั้งความสัมพันธ์ที่ยอมรับได้กับโปแลนด์เพื่อต่อสู้กับตะวันตก" เนื่องจากโปแลนด์ปฏิเสธจะเป็นบริวารของเยอรมนี ฮิตเลอร์จึงเชื่อว่าทางเลือกเดียวของเขาคือการบุกครองโปแลนด์
นักประวัติศาสตร์ เช่น วิลเลียม คาร์, แกร์ฮาร์ด ไวน์แบร์ก และเอียน เคอร์ชอว์ เสนอว่า สาเหตุหนึ่งที่ฮิตเลอร์เร่งทำสงคราม เพราะความกลัวผิดปกติและหมกมุ่นของเขาว่าจะตายก่อนวัยอันควร และดังนั้น จึงมีความรู้สึกว่า เขาอาจไม่มีชีวิตอยู่จนสำเร็จงานของเขาก็ได้
ฮิตเลอร์เดิมกังวลว่าการโจมตีทางทหารต่อโปแลนด์อาจส่งผลให้เกิดสงครามกับอังกฤษก่อนเวลาอันควร อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีต่างประเทศของฮิตเลอร์ และอดีตเอกอัครราชทูตประจำกรุงลอนดอน โยอาคิม ฟ็อน ริบเบินทร็อพ ยืนยันแก่เขาว่าทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสจะไม่เคารพการผูกมัดของพวกตนต่อโปแลนด์ และสงครามเยอรมนี-โปแลนด์จะเป็นเพียงสงครามในภูมิภาคจำกัด ริบเบินทร็อพอ้างว่าในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1938 รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ฌอร์ฌ บอแน (Georges Bonnet) ได้แถลงว่า ฝรั่งเศสมองว่ายุโรปตะวันออกเป็นเขตอิทธิพลจำเพาะของเยอรมนี ริบเบินทร็อพได้แสดงโทรเลขภายใน (diplomatic cable) แก่ฮิตเลอร์ซึ่งสนับสนุนการวิเคราะห์ของเขา เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำกรุงลอนดอน แฮร์แบร์ท ฟอน ดีร์คเซน สนับสนุนการวิเคราะห์ของริบเบินทร็อพด้วยการเดินหนังสือในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1939 โดยรายงานว่าเชมเบอร์เลนทราบ "โครงสร้างสังคมของอังกฤษ กระทั่งกรอบความคิดของจักรวรรดิอังกฤษ ว่าจะไม่รอดพ้นความยุ่งเหยิงของสงครามแม้จะชนะก็ตาม" และดังนั้นจึงจะยอมอ่อนตาม เมื่อเป็นเช่นนั้น วันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์จึงสั่งระดมพลทางทหารต่อโปแลนด์
แผนการสำหรับการทัพทางทหารในโปแลนด์ของฮิตเลอร์เมื่อปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นเดือนกันยายนนั้นต้องอาศัยการสนับสนุนโดยปริยายของโซเวียต สนธิสัญญาไม่รุกราน (กติกาสัญญาโมโลตอฟ–ริบเบินทร็อพ) ระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียต ภายใต้การนำของโจเซฟ สตาลิน รวมภาคผนวกลับด้วยความตกลงแบ่งโปแลนด์ระหว่างสองประเทศ ในการสนองต่อสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบินทร็อพ อังกฤษและโปแลนด์ลงนามในพันธมิตรทางการทหารอังกฤษ-โปแลนด์เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1939 ซึ่งขัดกับที่ริบเบินทร็อพพยากรณ์ไว้ว่าสนธิสัญญาที่เพิ่งก่อตั้งนี้จะตัดความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษ-โปแลนด์ พันธมิตรนี้ ร่วมกับข่าวจากอิตาลีที่ว่ามุสโสลินีจะไม่เคารพสนธิสัญญาเหล็ก ทำให้ฮิตเลอร์เลื่อนการโจมตีโปแลนด์ออกไปจากวันที่ 25 สิงหาคม ไปเป็น 1 กันยายน ไม่กี่วันก่อนสงครามเริ่มต้น ฮิตเลอร์พยายามออกอุบายให้อังกฤษวางตัวเป็นกลางโดยเสนอการรับประกันไม่รุกรานต่อจักรวรรดิอังกฤษเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม และโดยให้ริบเบินทร็อพเสนอแผนสันติภาพนาทีสุดท้ายด้วยจำกัดเวลาสั้นอย่างเป็นไปไม่ได้ในความพยายามที่จะกล่าวโทษว่าสงครามเป็นผลจากความเฉื่อยชาของอังกฤษและโปแลนด์
เพื่อใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการบุกครองทางทหารต่อโปแลนด์ ฮิตเลอร์จึงอ้างสิทธิเหนือนครเสรีดันท์ซิชและสิทธิในถนนนอกอาณาเขตข้ามฉนวนโปแลนด์ ซึ่งเยอรมนีได้ยกให้ภายใต้สนธิสัญญาแวร์ซาย แม้ความกังวลของฮิตเลอร์ว่าอังกฤษอาจเข้าแทรกแซง ท้ายที่สุด เขาไม่ได้ยุติเป้าหมายในอันที่จะบุกครองโปแลนด์ และวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 เยอรมนีก็ได้บุกครองโปแลนด์ทางตะวันตก อังกฤษและฝรั่งเศสสนองโดยประกาศสงครามต่อเยอรมนีในวันที่ 3 กันยายน ซึ่งได้สร้างความประหลาดใจแก่ฮิตเลอร์ ทำให้เขาหันไปหาริบเบินทร็อพและถามเขาอย่างโกรธ ๆ ว่า "ไงล่ะทีนี้" ฝรั่งเศสและอังกฤษมิได้ปฏิบัติตามการประกาศของตนในทันที และเมื่อวันที่ 17 กันยายน กองทัพโซเวียตบุกครองโปแลนด์จากทางตะวันออก
โปแลนด์จะไม่มีวันผงาดขึ้นมาอีกเหมือนครั้งสนธิสัญญาแวร์ซาย! นี่ไม่เพียงถูกการันตีโดยเยอรมนีเท่านั้น แต่ยังถูกการันตีโดยรัสเซียด้วย
— ฮิตเลอร์ กล่าวสุนทรพจน์ต่อสาธารณะในดันท์ซิช กันยายน ค.ศ. 1939
การสูญเสียโปแลนด์ตามมาด้วยสิ่งที่นักหนังสือพิมพ์ร่วมสมัยเรียกว่า "สงครามลวง" หรือซิทซครีก ฮิตเลอร์สั่งการให้เกาไลเทอร์แห่งโปแลนด์ตะวันตกเฉียงเหนือ อัลแบร์ท ฟอร์สแตร์ และอาร์ธูร์ ไกรแซร์ ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งใหม่ "แผลง[พื้นที่]เป็นเยอรมัน" (Germanise) และให้สัญญาแก่ทั้งสองว่า "จะไม่มีการตั้งคำถาม" ถึงวิธีการที่ใช้ ด้วยความรำคาญใจของฮิมเลอร์ ฟอร์สแตร์ให้ชาวโปแลนด์ท้องถิ่นลงนามในแบบซึ่งประกาศว่าพวกเขามีเลือดเยอรมัน และไม่ต้องใช้เอกสารหลักฐานอื่นประกอบ แต่อีกด้านหนึ่ง ไกรแซร์เริ่มการรณรงค์ล้างเชื้อชาติอย่างโหดร้ายต่อประชากรโปแลนด์ในอำนาจของเขา ไกรแซร์บ่นกับฮิตเลอร์ว่าฟอร์สแตร์อนุญาตให้ชาวโปแลนด์หลายพันคนได้รับการยอมรับว่าเป็นชาวเยอรมัน "โดยเชื้อชาติ" และดังนั้น ในมุมมองของไกรแซร์ จึงเป็นอันตรายต่อ "ความบริสุทธิ์ทางเชื้อชาติ" ของเยอรมัน ฮิตเลอร์บอกฮิมเลอร์และไกรแซร์ให้ยอมรับความขับข้องกับฟอร์สแตร์ และไม่ให้พาดพิงถึงเขา การจัดการกับกรณีพิพาทฟอร์สแตร์-ไกรแซร์นั้น ได้ถูกพัฒนาเป็นตัวอย่างของทฤษฎี "ทำงานมุ่งสู่ฟือเรอร์" ของเคอร์ชอว์ หมายความว่า ฮิตเลอร์สั่งการอย่างคลุมเครือและคาดหวังให้ผู้ใต้บังคับบัญชาของเขาดำเนินนโยบายนั้นเอง
อีกกรณีพิพาทหนึ่งเกิดขึ้นระหว่างฝ่ายที่แตกต่างกัน ด้านหนึ่ง นำโดยฮิมเลอร์และไกรแซร์ สนับสนุนการกวาดล้างเชื้อชาติในโปแลนด์ และอีกด้านหนึ่ง นำโดยเกอริงและฮันส์ ฟรังค์ ข้าหลวงใหญ่ดินแดนเจเนรัลกอแวร์นเมนท์ในโปแลนด์เขตยึดครอง เรียกร้องให้เปลี่ยนโปแลนด์เป็น "ยุ้งฉาง" ของไรช์ ในการประชุมซึ่งจัดที่คฤหาสน์คารินฮัลของเกอริงเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1940 กรณีพิพาทนี้เดิมได้รับการตัดสินเห็นชอบกับมุมมองการแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจของเกอริง-ฟรังค์ ซึ่งยุติการเนรเทศขนานใหญ่ซึ่งรบกวนเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี วันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 ฮิมเลอร์นำเสนอฮิตเลอร์ด้วยบันทึกข้อความ "บางคติว่าด้วยการปฏิบัติต่อประชากรต่างด้าวในทางตะวันออก" ซึ่งเรียกร้องให้ขับไล่ประชากรยิวทั้งยุโรปไปยังแอฟริกาและลดฐานะประชากรโปแลนด์ที่เหลือลงเป็น "ชนชั้นแรงงานไร้ผู้นำ" ฮิตเลอร์ลงความเห็นต่อข้อเสนอดังกล่าวว่า "ดีงาม" เขาจึงละเลยเกอริงและฟรังค์ และนำนโยบายของฮิมเลอร์-ไกรแซร์ไปปฏิบัติในโปแลนด์
ฮิตเลอร์สั่งการให้เสริมสร้างกำลังทหารตามชายแดนตะวันตกของเยอรมนี และในเดือนเมษายน ค.ศ. 1940 กองทัพเยอรมันบุกครองเดนมาร์กและนอร์เวย์ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1940 กองทัพของฮิตเลอร์โจมตีฝรั่งเศส และพิชิตลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม ชัยชนะเหล่านี้กระตุ้นให้มุสโสลินีนำอิตาลีเข้าพวกกับฮิตเลอร์ในวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1940 ฝรั่งเศสยอมจำนนเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1940
อังกฤษ ซึ่งกองทัพถูกบีบให้ออกจากฝรั่งเศสทางทะเลจากดันเคิร์ก ยังคงสู้รบเคียงข้างเครือจักรภพอังกฤษอื่น ๆ ในยุทธนาวีแอตแลนติก ฮิตเลอร์ทาบทามสันติภาพต่ออังกฤษ ซึ่งขณะนี้นำโดยวินสตัน เชอร์ชิลล์ และเมื่อการทาบทามนั้นถูกปฏิเสธ เขาได้สั่งการทิ้งระเบิดโฉบฉวยต่อสหราชอาณาจักร โหมโรงสู่การบุกครองสหราชอาณาจักรที่วางแผนไว้ของฮิตเลอร์เป็นชุดการโจมตีทางอากาศในยุทธการบริเตนต่อฐานทัพอากาศกองทัพอากาศอังกฤษ และสถานีเรดาร์ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ อย่างไรก็ดี ลุฟท์วัฟเฟอของเยอรมนีไม่สามารถเอาชนะกองทัพอากาศอังกฤษ
วันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1940 กติกาสัญญาไตรภาคีได้รับการลงนามในกรุงเบอร์ลิน โดยซาบูโร คูรูซุ ผู้แทนญี่ปุ่น, โยอาคิม ฟ็อน ริบเบินทร็อพ ผู้แทนไรช์ และกาลีอาซโซ ซิอาโน ผู้แทนอิตาลี ความตกลงดังกล่าวภายหลังขยายไปรวมถึงฮังการี โรมาเนียและบัลแกเรีย ประเทศเหล่านี้รู้จักกันในชื่อกลุ่มอักษะประเทศ จุดประสงค์ของสนธิสัญญาคือ เพื่อขัดขวางสหรัฐอเมริกามิให้สนับสนุนอังกฤษ จนถึงปลายเดือนตุลาคม ค.ศ. 1940 ความเป็นเจ้าทางอากาศสำหรับการบุกครองอังกฤษ ปฏิบัติการสิงโตทะเล ไม่อาจบรรลุได้ และฮิตเลอร์สั่งการตีโฉบฉวยทางอากาศยามกลางคืนตามนครต่าง ๆ ของอังกฤษ รวมทั้งลอนดอน พลีมัธ และคอเวนทรี
ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1941 ฮิตเลอร์ถูกทำให้ไขว้เขวจากแผนการทางตะวันออกโดยกิจกรรมทางทหารในแอฟริกาเหนือ คาบสมุทรบอลข่านและตะวันออกกลาง ในเดือนกุมภาพันธ์ กองทัพเยอรมันไปถึงลิเบียเพื่อสนับสนุนอิตาลี ในเดือนเมษายน ฮิตเลอร์สั่งการบุกครองยูโกสลาเวีย และตามด้วยการบุกครองกรีซในเวลาอันรวดเร็ว ในเดือนพฤษภาคม กองทัพเยอรมันถูกส่งไปสนับสนุนกำลังกบฏอิรักที่สู้รบต่ออังกฤษและ วันที่ 23 พฤษภาคม ฮิตเลอร์ออกคำสั่งฟือเรอร์ ฉบับที่ 30
ทางสู่ความปราชัย
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1941 โดยฝ่าฝืนสนธิสัญญาไม่รุกรานฮิตเลอร์-สตาลิน ทหารเยอรมันสามล้านนายโจมตีสหภาพโซเวียตในปฏิบัติการบาร์บารอสซา การบุกครองนี้ได้ยึดพื้นที่ได้กว้างใหญ่ไพศาล รวมทั้งรัฐบอลติก เบลารุส และยูเครน อย่างไรก็ดี การรุกคืบของเยอรมนีหยุดลงไม่ไกลจากกรุงมอสโกในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1941 โดยฤดูหนาวของรัสเซียและการต้านทานอย่างดุเดือดของโซเวียต
การชุมนุมของทหารโซเวียตตรงพรมแดนตะวันออกของเยอรมนีในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1941 อาจเป็นเหตุให้ฮิตเลอร์มามีส่วนในฟลุคท์ นัค ฟอร์น ("บินไปข้างหน้า") เพื่อเผชิญหน้ากับความขัดแย้งอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ วิกตอร์ ซูโวรอฟ, แอ็นสท์ โทพิทช์, โจอาคิม ฮอฟฟ์มันน์, แอ็นสท์ นอลเทอ และเดวิด เอียร์วิง ได้ถกเถียงกันว่าเหตุผลอย่างเป็นทางการสำหรับบาร์บารอสซาที่กองทัพเยอรมันให้นั้นเป็นเหตุผลแท้จริง คือ สงครามป้องกันเพื่อปัดป้องการโจมตีของโซเวียตที่เตรียมการไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1941 อย่างไรก็ดี ทฤษฎีนี้ถูกติเตียน นักประวัติศาสตร์อเมริกัน เกอร์ฮาร์ด ไวน์เบิร์ก เคยเปรียบผู้สนับสนุนทฤษฎีสงครามป้องกันกับผู้ที่เชื่อใน "เทพนิยาย"
การบุกครองสหภาพโซเวียตของกองทัพบกเยอรมันถึงขีดสุดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1941 เมื่อกองพลทหารราบที่ 258 รุกเข้าไปภายในรัศมี 24 กิโลเมตรจากกรุงมอสโก ใกล้พอที่จะเห็นยอดแหลมของเครมลิน อย่างไรก็ดี พวกเขาไม่ได้เตรียมการสำหรับสภาพอันโหดร้ายของฤดูหนาวรัสเซีย และกองทัพโซเวียตผลักดันกองทัพเยอรมันกลับมาเป็นระยะทางกว่า 320 กิโลเมตร
วันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 ญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ รัฐฮาวาย สี่วันให้หลัง การประกาศสงครามอย่างเป็นทางการต่อสหรัฐอเมริกาของฮิตเลอร์ ทำให้เยอรมนีเข้าสู่สงครามกับกำลังผสมซึ่งมีประเทศจักรวรรดิใหญ่ที่สุดในโลก คือ จักรวรรดิอังกฤษ ประเทศอุตสาหกรรมและการเงินยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก คือ สหรัฐอเมริกา และประเทศที่มีกองทัพใหญ่ที่สุดในโลก คือ สหภาพโซเวียต
เมื่อฮิมเลอร์เข้าพบฮิตเลอร์ในวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1941 แล้วตั้งคำถาม "จะให้ทำยังไงกับพวกยิวในรัสเซีย?" ฮิตเลอร์ตอบว่า "ก็กำจัดทิ้งเหมือน ๆ กันนั่นแหละ") นักประวัติศาสตร์อิสราเอล เยฮูดา บาวเออร์ (Yehuda Bauer) ได้ออกความเห็นว่า ความเห็นของฮิตเลอร์นี้อาจใกล้เคียงมากที่สุดเท่าที่นักประวัติศาสตร์จะหาคำสั่งสรุปขั้นสุดท้ายจากฮิตเลอร์ในพันธุฆาตที่ดำเนินระหว่างการล้างชาติโดยนาซี
ปลาย ค.ศ. 1942 กองทัพเยอรมันปราชัยในยุทธการเอล อาลาเมนครั้งที่สอง ขัดขวางแผนการของฮิตเลอร์ในการยึดคลองสุเอซและตะวันออกกลาง เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943 ยุทธการสตาลินกราดสิ้นสุดลงด้วยกองทัพเยอรมันที่หกถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง ตามด้วยความพ่ายแพ้เด็ดขาดในยุทธการเคิสก์ การตัดสินใจทางทหารของฮิตเลอร์เริ่มไม่มั่นคงเพิ่มขึ้น และฐานะทางทหารและเศรษฐกิจของเยอรมนีบั่นทอนลงไปพร้อมกับสุขภาพของฮิตเลอร์ เคอร์ชอว์และคนอื่น ๆ เชื่อว่า ฮิตเลอร์อาจป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน
หลังการบุกครองอิตาลีของฝ่ายสัมพันธมิตรใน ค.ศ. 1943 มุสโสลินีถูกปลดโดยปีเอโตร บาโดลโย ผู้ยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ตลอด ค.ศ. 1943 และ 1944 สหภาพโซเวียตค่อย ๆ บีบให้กองทัพของฮิตเลอร์ล่าถอยตามแนวรบด้านตะวันออก วันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1944 กองทัพสัมพันธมิตรตะวันตกขึ้นฝั่งทางตอนเหนือของฝรั่งเศสในหนึ่งในปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบกที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด ด้วยเหตุความเสื่อมถอยของกองทัพเยอรมัน นายทหารหลายคนจึงสรุปว่า ความพ่ายแพ้หลีกเลี่ยงไม่ได้ และการตัดสินใจผิดพลาดหรือการปฏิเสธของฮิตเลอร์จะยืดสงครามออกไปและส่งผลให้ประเทศชาติพังพินาศย่อยยับ ความพยายามลอบสังหารที่ได้รับความสนใจหลายครั้งต่อฮิตเลอร์เกิดขึ้นระหว่างช่วงนี้
ระหว่าง ค.ศ. 1939 และ 1945 มีหลายแผนในการลอบสังหารฮิตเลอร์ ซึ่งบางแผนดำเนินไปยังระดับที่สำคัญ แผนที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดมาจากภายในเยอรมนี และอย่างน้อยบางส่วนมาจากโอกาสที่เพิ่มขึ้นที่เยอรมนีจะแพ้สงคราม ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1944 แผนลับ 20 กรกฎาคม ส่วนหนึ่งของปฏิบัติการวาลคือเรอ เคลาส์ ฟ็อน ชเตาเฟินแบร์ค ติดตั้งระเบิดไว้ในกองบัญชาการแห่งหนึ่งของฮิตเลอร์ โวลฟ์สชันเซอ (รังหมาป่า) ที่รัสเทนบูร์ก ฮิตเลอร์รอดชีวิตอย่างหวุดหวิดเพราะบางคนผลักกระเป๋าเอกสารที่บรรจุระเบิดไปหลังขาโต๊ะประชุมที่หนักอย่างไม่รู้ เมื่อเกิดระเบิดขึ้น โต๊ะสะท้อนแรงระเบิดส่วนมากไปจากฮิตเลอร์ ภายหลัง ฮิตเลอร์สั่งการตอบโต้อย่างโหดร้าย ซึ่งส่งผลให้มีการประหารชีวิตคนกว่า 4,900 คน
ความปราชัยและอสัญกรรม
จนถึงปลาย ค.ศ. 1944 กองทัพแดงได้ขับกองทัพเยอรมันถอยกลับไปยังยุโรปตะวันตก และสัมพันธมิตรตะวันตกกำลังรุกคืบเข้าไปในเยอรมนี หลังได้รับแจ้งความล้มเหลวของการรุกอาร์เดนเนสของเขา ฮิตเลอร์จึงตระหนักว่าเยอรมนีกำลังแพ้สงคราม ความหวังของเขา ซึ่งขึ้นอยู่กับการถึงแก่อสัญกรรมของแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์เมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1945 คือ การเจรจาสันติภาพกับอเมริกาและอังกฤษ ฮิตเลอร์สั่งการให้ทำลายโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรมทั้งหมดของเยอรมนีก่อนที่จะตกอยู่ในมือฝ่ายสัมพันธมิตร โดยทำตามมุมมองของเขาที่ว่าความล้มเหลวทางทหารของเยอรมนีเสียสิทธิ์ในการอยู่รอดเป็นชาติ การดำเนินการแผนการเผาทุกสิ่งทุกอย่างนี้ถูกมอบหมายไปยังรัฐมนตรีอาวุธ อัลแบร์ท ชเปียร์ ผู้ขัดคำสั่งเขาอย่างเงียบ ๆ
วันที่ 20 เมษายน วันเกิดปีที่ 56 ของเขา ฮิตเลอร์เดินทางครั้งสุดท้ายจากฟือเรอร์บุงเคอร์ไปยังพื้นที่กลางแจ้ง ในสวนที่ถูกทำลายของทำเนียบรัฐบาลไรช์ เขามอบกางเขนเหล็กให้ทหารหนุ่มแห่งยุวชนฮิตเลอร์ จนถึงวันที่ 21 เมษายน แนวรบเบลารุสที่ 1 ของเกออร์กี จูคอฟ ได้เจาะผ่านการป้องกันสุดท้ายของกองทัพกลุ่มวิสตูลาของพลเอก กอททาร์ด ไฮน์รีซี ระหว่างยุทธการที่ราบสูงซีโลว์ และรุกเข้าไปยังชานกรุงเบอร์ลิน ในการไม่ยอมรับเกี่ยวกับสถานการณ์อันเลวร้ายเพิ่มขึ้น ฮิตเลอร์ตั้งความหวังของเขาต่อหน่วย อาร์เมอับไทลุง ชไตเนอร์ ("กองทหารชไตเนอร์") ภายใต้การบังคับบัญชาของนายทหารวัฟเฟิน เอ็สอาส พลโท เฟลิคส์ ชไตเนอร์ ฮิตเลอร์สั่งการให้ชไตเนอร์โจมตีปีกด้านเหนือของส่วนที่ยื่นออกมา และกองพลเยอรมันที่เก้าได้รับคำสั่งให้โจมตีไปทางเหนือแบบ (pincer attack)
ระหว่างการประชุมทหารเมื่อวันที่ 22 เมษายน ฮิตเลอร์ถามถึงการรุกของชไตเนอร์ หลังความเงียบเป็นเวลานาน เขาได้รับบอกเล่าว่า การโจมตีนั้นไม่เคยเกิดขึ้นและพวกรัสเซียได้ตีฝ่าเข้าไปในกรุงเบอร์ลิน ข่าวนี้ทำให้ฮิตเลอร์ขอให้ทุกคนยกเว้นวิลเฮ็ล์ม ไคเทิล, อัลเฟรด โยเดิล, ฮันส์ เครพส์ และวิลเฮ็ล์ม บวร์คดอร์ฟ ออกจากห้อง จากนั้น เขาได้ประณามต่อการทรยศและความไร้ความสามารถของผู้บังคับบัญชาของเขาอย่างเผ็ดร้อน และลงเอยด้วยการประกาศเป็นครั้งแรกว่า เยอรมนีแพ้สงคราม ฮิตเลอร์ประกาศว่าเขาจะอยู่ในกรุงเบอร์ลินจนถึงจุดจบและจากนั้นยิงตัวตาย
เกิบเบิลส์ออกประกาศวันที่ 23 เมษายนกระตุ้นให้พลเมืองเบอร์ลินป้องกันนครอย่างกล้าหาญ วันเดียวกันนั้น เกอริงส่งโทรเลขจากเบอร์ชเทสกาเดนในรัฐบาวาเรีย แย้งว่า ตั้งแต่ฮิตเลอร์ถูกตัดขาดในกรุงเบอร์ลิน ตัวเขาควรเป็นผู้นำเยอรมนีแทน เกอริงได้กำหนดเวลา หลังจากนั้นเขาจะพิจารณาว่าฮิตเลอร์ไร้ความสามารถ ฮิตเลอร์สนองด้วยความโกรธโดยสั่งจับกุมเกอริง และเมื่อเขียนพินัยกรรมเมื่อวันที่ 29 เมษายน เขาถอดเกอริงออกจากตำแหน่งทั้งหมดในรัฐบาล
กรุงเบอร์ลินได้มาถูกตัดขาดจากส่วนที่เหลือของเยอรมนีอย่างสิ้นเชิง วันที่ 28 เมษายน ฮิตเลอร์พบว่า ฮิมเลอร์กำลังพยายามเจรจาเงื่อนไขการยอมแพ้ต่อสัมพันธมิตรตะวันตก เขาจึงสั่งจับกุมฮิมเลอร์และสั่งยิงแฮร์มันน์ เฟเกิลไอน์ (ผู้แทนเอ็สอาสของฮิมเลอร์ที่กองบัญชาการของฮิตเลอร์ในกรุงเบอร์ลิน)
หลังเที่ยงคืนวันที่ 29 เมษายน ฮิตเลอร์สมรสกับเอฟา เบราน์ในพิธีตามกฎหมายเล็ก ๆ ในห้องแผนที่ภายในฟือเรอร์บุงเกอร์ หลังทานอาหารเช้างานแต่งที่เรียบง่ายกับภรรยาใหม่ของเขา จากนั้น เขานำเลขานุการเทราเดิล ยุงเงอ (Traudl Junge) ไปอีกห้องหนึ่งและบอกให้เขียนพินัยกรรมฉบับหลังสุดของเขา เหตุการณ์ดังกล่าวมีฮันส์ เครพส์, วิลเฮ็ล์ม บวร์คดอร์ฟ, โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ และมาร์ทีน บอร์มันเป็นพยานและผู้ลงนามเอกสาร ในช่วงบ่าย ฮิตเลอร์ทราบข่าวการประหารชีวิตผู้เผด็จการชาวอิตาลี เบนิโต มุสโสลินี ซึ่งอาจเพิ่มความตั้งใจที่จะหนีการจับตัว
วันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1945 หลังการสู้รบถนนต่อถนนอย่างเข้มข้น เมื่อกองทัพโซเวียตอยู่ในระยะหนึ่งหรือสองช่วงตึกจากทำเนียบรัฐบาลไรช์ ฮิตเลอร์และเบราน์ทำอัตวินิบาตกรรม เบราน์กัดแคปซูลไซยาไนด์ และฮิตเลอร์ยิงตัวตายด้วยปืนพกวัลเทอร์ เพเพคา (Walther PPK) 7.65 มม. ของเขา ร่างไร้วิญญาณของฮิตเลอร์และเอฟา เบราน์ถูกนำขึ้นบันไดและผ่านทางออกฉุกเฉินของบังเกอร์ไปยังสวนที่ถูกระเบิดหลังทำเนียบรัฐบาลไรช์ ที่ซึ่งทั้งสองร่างถูกวางไว้ในหลุมระเบิด ราดด้วยน้ำมัน และจุดไฟ ขณะที่กองทัพแดงยิงปืนใหญ่ถล่มต่อเนื่อง
เบอร์ลินยอมจำนนเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม บันทึกในจดหมายเหตุโซเวียต ซึ่งได้มาหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย แสดงให้เห็นว่า ศพของฮิตเลอร์ เบราน์ โจเซฟและมักดา เกิบเบิลส์ ลูก ๆ เกิบเบิลส์ทั้งหกคน พลเอก ฮันส์ เครพส์ และสุนัขของฮิตเลอร์ ถูกฝังและขุดขึ้นมาหลายครั้ง จากนั้นโซเวียตจัดการเผา บดและโปรยอัฐิที่แม่น้ำบีเดริทซ์ สาขาหนึ่งของแม่น้ำเอลเบ
มรดก
การยิงตัวตายของฮิตเลอร์ถูกเปรียบเทียบโดยคนร่วมสมัยว่าเป็น "คาถา" กำลังเสื่อม โทแลนด์ระบุว่า เมื่อไร้ซึ่งผู้นำ ลัทธิชาติสังคมนิยมก็ "ระเบิดเหมือนกับฟอง"
พฤติการณ์ของฮิตเลอร์และอุดมการณ์นาซีถูกคนเกือบทั้งโลกมองว่าผิดศีลธรรมอย่างร้ายแรง อุดมการณ์การเมืองของเขานำมาซึ่งสงครามโลก ยุโรปตะวันออกและยุโรปกลางอยู่ในสภาพพังพินาศและยากจนข้นแค้น ประเทศเยอรมนีเองก็ประสบกับความวินาศย่อยยับเบ็ดเสร็จ ซึ่งถูกเปรียบเปรยว่าเป็นเวลา "ศูนย์นาฬิกา" ที่หมายถึงจุดสิ้นสุดของนาซีเยอรมนี และเป็นจุดเริ่มต้นของเยอรมนีที่ปราศนาซี นโยบายของฮิตเลอร์ได้สร้างความบอบช้ำแก่มวลมนุษยชาติในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 40 ล้านคนโดยประมาณ หรือ 27 ล้านคนเฉพาะในสหภาพโซเวียต นักประวัติศาสตร์ นักปรัชญาและนักการเมืองมักใช้คำว่า "ชั่วร้าย" (evil) ในการอธิบายระบอบนาซี ในเยอรมนีและออสเตรีย กฎหมายห้ามการปฏิเสธฮอโลคอสต์ และการแสดงสัญลักษณ์นาซี เช่น สวัสติกะ
นักประวัติศาสตร์พรรคเสรีนิยมแห่งชาติเยอรมัน ฟรีดริช ไมเน็คเคอ (Friedrich Meinecke) อธิบายฮิตเลอร์ว่าเป็น "หนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่สุดในห้วงประวัติศาสตร์ ที่หนึ่งบุคคลจะมีอำนาจเกินจิตนาการได้" นักประวัติศาสตร์ฮิวจ์ เทรเวอร์-โรเปอร์ มองเขาว่าเป็น "ผู้พิชิตเจ้าระเบียบ บ้าประวัติศาสตร์ บ้าปรัชญาที่สุด และยังหยาบช้า ทารุณ และใจแคบที่สุดเท่าที่โลกเคยรู้จัก" สำหรับนักประวัติศาสตร์ จอห์น เอ็ม. โรเบิร์ตส ความพ่ายแพ้ของฮิตเลอร์เป็นจุดจบของช่วงประวัติศาสตร์ยุโรปที่ถูกเยอรมนีครอบงำ และแทนที่ด้วยสงครามเย็น ซึ่งเป็นการเผชิญหน้าในระดับโลกระหว่างสหภาพโซเวียตกับสหรัฐอเมริกา
มุมมองทางศาสนา
บิดามารดาของฮิตเลอร์นับถือนิกายโรมันคาทอลิก แต่หลังย้ายออกจากบ้านแล้ว เขาไม่เคยเข้าพิธีมิสซาหรือรับศีลศักดิ์สิทธิ์เลย เขาเชิดชูลักษณะจำนวนหนึ่งของนิกายโปรแตสแตนต์ที่เหมาะกับมุมมองของเขาเอง และรับเอาบางลักษณะของการจัดการเป็นระบบลำดับขั้นของศาสนจักรคาทอลิก พิธีสวดและสำนวนโวหารมาใช้ในการเมืองของเขาด้วย หลังเขาย้ายไปยังเยอรมนี ฮิตเลอร์ไม่เคยออกจากศาสนจักรของเขาเลย นักประวัติศาสตร์ ริชาร์ด ชไตก์มันน์-กัลล์ (Richard Steigmann-Gall) สรุปว่า เขา "สามารถจัดว่าเป็นคาทอลิกได้" แต่ "สมาชิกภาพศาสนจักรแต่ในนามเป็นตัววัดที่เชื่อถือไม่ได้อย่างมากในการวัดความศรัทธาแท้จริงในบริบทนี้"
ต่อสาธารณะ ฮิตเลอร์มักยกย่องมรดกคริสเตียนและวัฒนธรรมคริสเตียนเยอรมัน และปฏิญาณความเชื่อในพระเยซูคริสต์ "อารยัน" พระเยซูผู้ต่อสู้กับพวกยิว เขากล่าวถึงการตีความศาสนาคริสต์ของเขาว่าเป็น แรงจูงใจสำคัญแก่การต่อต้านยิวของเขา โดยว่า "ในฐานะคริสเตียน ผมไม่มีหน้าที่จะปล่อยให้ตัวเองถูกหลอกลวง แต่ผมมีหน้าที่ที่จะสู้เพื่อความจริงและความยุติธรรม" แต่สำหรับส่วนตัว ฮิตเลอร์วิจารณ์ศาสนาคริสต์แบบดั้งเดิม โดยพิจารณาว่าเป็นศาสนาที่เหมาะสมเฉพาะสำหรับทาส เขายกย่องอำนาจแห่งโรมแต่ยังรักษาความเป็นปรปักษ์อย่างรุนแรงต่อคำสอนของโรม นักประวัติศาสตร์ จอห์น เอส. คอนเวย์ ว่า ฮิตเลอร์ยึดถือ "การต่อต้านหลัก" ต่อศาสนจักรคริสเตียน
ด้านความสัมพันธ์ทางการเมืองกับศาสนจักร ฮิตเลอร์รับเอายุทธศาสตร์ "ที่เหมาะสมกับจุดประสงค์ทางการเมืองที่ส่งผลโดยตรงของเขา" ตามรายงานของสำนักงานบริการด้านยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ฮิตเลอร์มีแผนการใหญ่ ตั้งแต่ก่อนเขาก้าวขึ้นสู่อำนาจ ในการทำลายอิทธิพลของคริสตจักรภายในแผ่นดินไรช์ รายงานชื่อ "แผนแม่บทนาซี" (The Nazi Master Plan) ระบุว่า การทำลายล้างศาสนจักรเป็นเป้าหมายของขบวนการตั้งแต่เริ่มต้น แต่เป็นการไม่เหมาะสมที่จะแสดงท่าทีสุดโต่งนี้อย่างเปิดเผย เจตนาของเขา ตามข้อมูลของบุลล็อก คือ รอกระทั่งสงครามยุติแล้วจึงค่อยทำลายอิทธิพลของศาสนาคริสต์
ฮิตเลอร์ยกย่องประเพณีทางทหารของมุสลิม แต่มองว่าชาวอาหรับ "เป็นเชื้อชาติต่ำกว่า" เขาเชื่อว่า ชาวเยอรมันที่เป็นเชื้อชาติสูงส่งกว่า ร่วมกับศาสนาอิสลาม สามารถพิชิตดินแดนส่วนใหญ่ของโลกได้ระหว่างยุคกลาง ระหว่างการประชุมกับศาสตราจารย์ชาวญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1931 ฮิตเลอร์ยกย่องศาสนาชินโตและวัฒนธรรมญี่ปุ่น แม้ฮิมเลอร์จะสนใจในเวทมนตร์ การตีความอักษร และการตามรอยรากเหง้าก่อนประวัติศาสตร์ของชาวเยอรมัน แต่ฮิตเลอร์นั้นเน้นการปฏิบัติมากกว่า และอุดมการณ์ของเขารวมอยู่ที่ความเกี่ยวพันทางปฏิบัติมากกว่า
สุขภาพ
นักวิจัยได้เสนอว่า ฮิตเลอร์ทุกข์ทรมานจากอาการและโรคต่าง ๆ ได้แก่ โรคลำไส้แปรปรวน รอยโรคที่ผิวหนัง หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคพาร์กินสันซิฟิลิส และมีเสียงในหู ทฤษฎีเกี่ยวกับสภาวะทางการแพทย์ของฮิตเลอร์ยากจะพิสูจน์ และตามทฤษฎีเหล่านี้ น้ำหนักมากเกินอาจมีผลซึ่งหลาย ๆ เหตุการณ์และผลที่เกิดขึ้นภายหลังของแผ่นดินไรช์ที่สามอาจมาจากสุขภาพทางกายที่เป็นไปได้ว่าบกพร่องของปัจเจกบุคคลหนึ่งเดียว เคอร์ชอว์รู้สึกว่า เป็นการดีกว่าที่จะที่จะถือมุมมองของประวัติศาสตร์เยอรมันที่กว้างกว่า โดยพิจารณาว่า แรงผลักทางสังคมใดนำไปสู่แผ่นดินไรช์ที่สามและนโยบายมากกว่าเจริญรอยตามคำอธิบายแคบ ๆ แก่การล้างชาติโดยนาซีและสงครามโลกครั้งที่สองโดยอิงบุคคลเพียงคนเดียว
ฮิตเลอร์กินมังสวิรัติ ในงานสังคม บางครั้งเขาให้คำอธิบายการฆ่าสัตว์ด้วยกราฟิกด้วยพยายามให้แขกอาหารเย็นของเขาไม่กินเนื้อ มีการอ้างเหตุผลกว้างขวางมากที่สุดว่า ความกลัวโรคมะเร็ง (ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้มารดาของเขาเสียชีวิต) ทำให้ฮิตเลอร์กินมังสวิรัติ เขาเป็นผู้ต้านการทดลองในสัตว์ และอาจเลือกทานอาหารเพราะความเป็นห่วงสัตว์อย่างลึกซึ้ง บอร์มันสั่งให้สร้างเรือนกระจกใกล้กับแบร์กฮอฟ (ใกล้กับแบร์ชเทสกาเดน) เพื่อให้ฮิตเลอร์มีผลไม้และผักเพียงพออย่างต่อเนื่องตลอดสงคราม ฮิตเลอร์ดูถูกแอลกอฮอล์และไม่สูบบุหรี่ เขาส่งเสริมการรณรงค์งดสูบบุหรี่อย่างห้าวหาญทั่วประเทศเยอรมนี ฮิตเลอร์เริ่มใช้แอมเฟตามีนเป็นครั้งคราวตั้งแต่ ค.ศ. 1937 และเริ่มติดยาในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1942 อัลแบร์ท สเพร์เชื่อมโยงการใช้แอมเฟตามีนนี้กับการตัดสินใจที่ไม่ยืดหยุ่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ของฮิตเลอร์ (ตัวอย่างเช่น ไม่เคยอนุญาตการร่นถอยทางทหาร)
ฮิตเลอร์ได้รับการสั่งจ่ายยาถึงเก้าสิบชนิดที่แตกต่างกันระหว่างสงคราม และทานยาหลายเม็ดต่อวันเพราะปัญหากระเพาะอาหารเรื้อรังและอาการป่วยอื่น ๆ เขาทุกข์ทรมานจากแก้วหูทะลุ อันเป็นผลของแรงระเบิดในแผนลับ 20 กรกฎาคม ใน ค.ศ. 1944 และถูกถอนเสี้ยนไม้สองร้อยชิ้นออกจากขาของเขา ฟิล์มภาพยนตร์ข่าวฮิตเลอร์แสดงให้เห็นว่า มือฮิตเลอร์สั่นและเขาเดินย่องแย่ง ซึ่งเริ่มขึ้นก่อนสงครามและเลวร้ายลงเมื่อใกล้บั้นปลายชีวิต แพทย์ประจำตัวฮิตเลอร์ ธีโอดอร์ โมเรลล์ รักษาฮิตเลอร์ด้วยยาซึ่งสั่งจ่ายโดยทั่วไปเพื่อรักษาโรคพาร์กินสันใน ค.ศ. 1945 แอ็นสท์-กึนเทอร์ เชนค์และแพทย์อีกหลายคนพบฮิตเลอร์ในสัปดาห์ท้าย ๆ ของชีวิตเพื่อวินิจฉัยโรคพาร์กินสัน
ครอบครัว
ฮิตเลอร์ส่งเสริมภาพลักษณ์ของตนต่อสาธารณะว่าเป็นภาพลักษณ์ชายที่อยู่เป็นโสดโดยปราศจากชีวิตครอบครัว อุทิศตนทั้งหมดให้แก่ภารกิจทางการเมืองและประเทศชาติของเขา เขาพบเอฟา เบราน์ ภรรยาลับของเขา ใน ค.ศ. 1929 และสมรสกับเธอในเดือนเมษายน ค.ศ. 1945 ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1931 เกลี เราบัล หลานสาวของเขา ทำอัตวินิบาตกรรมด้วยปืนของฮิตเลอร์ในอพาร์ตเมนต์ในมิวนิกของเขา มีข่าวลือในบรรดาคนร่วมสมัยว่า เกลีมีความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกกับเขา และความตายของเธอนั้นเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ลึกล้ำและยาวนาน เพาลา ฮิตเลอร์ สมาชิกคนสุดท้ายของครอบครัวฮิตเลอร์สายตรงคนสุดท้าย เสียชีวิตใน ค.ศ. 1960
เชิงอรรถ
- "Hitler ersucht um Entlassung aus der österreichischen Staatsangehörigkeit", 7 April 1925 (in German). Translation: "Hitler's official application to end his Austrian citizenship". NS-Archiv. Retrieved on 2008-08-19
- Keegan 1989
- Niewyk, Donald L.; Nicosia, Francis R. (2000). The Columbia Guide to the Holocaust. New York: Columbia University Press. ISBN .
- Linge (2009), With Hitler to the End: The Memoir of Hitler's Valet, pp. 199, 200
- Shirer, W. L. (1960), , New York: Simon and Schuster
- (1999). . Harper Perennial.
- Maser 1973, p. 15.
- Hamann 2010, p. 50.
- Toland 1992, pp. 246–47.
- Kershaw 1999, pp. 8–9.
- Jetzinger 1976, p. 32.
- "Adolf Hitler's Austrian hometown revokes honour title". . 8 July 2011. สืบค้นเมื่อ 8 July 2011.
- Shirer 1960, p. 9. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Rosmus 2004, p. 33.
- Keller 2010, p. 15.
- Hamann 2010, pp. 7–8.
- Kubizek 2006, p. 37.
- Kubizek 2006, p. 92.
- Hitler 1999, p. 6.
- Fromm 1977, pp. 493–498.
- Hauner 1983, p. 2.
- Shirer 1960, pp. 10–11. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Payne 1990, p. 22.
- Kershaw 2008, p. 9.
- Hitler 1999, p. 8.
- Keller 2010, pp. 33–34.
- Fest 1977, p. 32.
- Kershaw 2008, p. 8.
- Hitler 1999, p. 10.
- Evans 2003, p. 163.
- Bendersky 2000, p. 26.
- Ryschka 2008, p. 35.
- Hamann 2010, p. 13.
- Kershaw 1999, p. 19.
- Kershaw 1999, p. 20.
- Bullock 1962, pp. 30–31.
- Hitler 1999, p. 20.
- Bullock 1999, pp. 30–33.
- Shirer 1960, p. 26. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Hamann 2010, pp. 243–246.
- Hamann 2010, pp. 341–345.
- Hamann 2010, p. 350.
- Kershaw 1999, p. 60–67.
- Hitler 1999, p. 52.
- Toland 1992, p. 45.
- Kershaw 1999, pp. 55, 63.
- Hamann 2010, p. 174.
- Shirer 1960, p. 25. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Hamann 1999, p. 176.
- Hamann 2010, pp. 347–359.
- Kershaw 1999, p. 64.
- Hamann 2010, pp. 348.
- Kershaw 1999, p. 66.
- Evans 2011.
- Shirer 1960, p. 27. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Weber 2010, pp. 13.
- Shirer 1960, p. 27, footnote. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Kershaw 1999, p. 90.
- Weber 2010, pp. 12–13.
- Kershaw 2008, p. 53.
- Kershaw 2008, p. 54.
- Weber 2010, p. 100.
- Shirer 1960, p. 30. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Kershaw 2008, p. 59.
- Bullock 1962, p. 52.
- Kershaw 1999, p. 96.
- Steiner 1976, p. 392.
- Alastair Jamieson, Nazi leader Hitler really did have only one ball.html, The Daily Telegraph, retrieved on 20 November 2008
- Kershaw 2008, p. 57.
- Kershaw 2008, p. 58.
- Kershaw 2008, pp. 59, 60.
- Kershaw 1999, p. 97.
- Kershaw 1999, p. 102.
- Kershaw 2008, pp. 61, 62.
- Keegan 1987, pp. 238–240.
- Bullock 1962, p. 60.
- Kershaw 2008, pp. 61–63.
- Kershaw 2008, p. 96.
- Kershaw 2008, pp. 80, 90, 92.
- Bullock 1999, p. 61.
- Kershaw 1999, p. 109.
- Kershaw 2008, p. 82.
- Stackelberg 2007, p. 9.
- Mitcham 1996, p. 67.
- Fest 1970, p. 21.
- Kershaw 2008, pp. 94, 95, 100.
- Kershaw 2008, p. 87.
- Kershaw 2008, p. 88.
- Kershaw 2008, p. 89.
- Kershaw 2008, pp. 89–92.
- Kershaw 2008, p. 81.
- Kershaw 2008, pp. 100, 101.
- Kershaw 2008, p. 102.
- Kershaw 2008, p. 103.
- Kershaw 2008, pp. 83, 103.
- Kershaw 2008, p. 99.
- Bullock 1999, p. 376.
- Frauenfeld 1937.
- Goebbels 1936.
- Kressel 2002, p. 121.
- Trevor-Roper 1987, p. 116.
- Kershaw 2008, p. 105–106.
- Bullock 1999, p. 377.
- Heck 2001, p. 23.
- Larson 2011, p. 157.
- Kershaw 1999, p. 367.
- Kellogg 2005, p. 275.
- Kellogg 2005, p. 203.
- Kershaw 2008, p. 126.
- Kershaw 2008, p. 125.
- Kershaw 2008, p. 128.
- Kershaw 2008, p. 129.
- Shirer 1960, pp. 71–72. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Kershaw 2008, pp. 130–131.
- Shirer 1960, pp. 73–74. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Kershaw 2008, p. 132.
- Kershaw 2008, p. 131.
- Munich Court, 1924.
- Fulda 2009, pp. 68–69.
- Kershaw 1999, p. 239.
- Bullock 1962, p. 121.
- Spiro 2008.
- Shirer 1960, pp. 80–81. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Kershaw 2008, pp. 158, 161, 162.
- Kershaw 2008, pp. 162, 166.
- Shirer 1960, p. 129. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Kershaw 2008, pp. 166, 167.
- Kershaw 2008, pp. 170, 172.
- Shirer 1960, pp. 136–137. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Kolb 2005, pp. 224–225.
- Kolb 1988, p. 105.
- Halperin 1965, p. 403 et. seq.
- Halperin 1965, pp. 434–446 et. seq..
- Wheeler-Bennett 1967, p. 218.
- Wheeler-Bennett 1967, p. 216.
- Wheeler-Bennett 1967, pp. 218–219.
- Wheeler-Bennett 1967, p. 222.
- Halperin 1965, p. 449 et. seq..
- Halperin 1965, pp. 434–436, 471.
- Shirer 1960, p. 130. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Hinrichs 2007.
- Halperin 1965, p. 476.
- Halperin 1965, pp. 468–471.
- Bullock 1962, p. 201.
- Halperin 1965, pp. 477–479.
- Eingabe der Industriellen an Hindenburg vom November 1932, Glasnost, สืบค้นเมื่อ 22 May 2008
- "accessed 20 March 2010". Fox News. 17 October 2003. สืบค้นเมื่อ 20 April 2010.
- Shirer 1960, p. 184. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Bullock 1962, p. 262.
- Shirer 1960, p. 194. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Shirer 1960, p. 192. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Bullock 1999, p. 262.
- Bullock 1962, p. 265.
- City of Potsdam.
- Shirer 1960, p. 196–197. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Shirer 1960, p. 198. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Shirer 1960, p. 196. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Bullock 1999, p. 269.
- Shirer 1960, p. 199. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Shirer 1960, p. 201. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Shirer 1960, p. 202. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Evans 2003, pp. 350–374.
- Kershaw 2008, pp. 309–314.
- Tames 2008, pp. 4–5.
- Kershaw 2008, pp. 313–315.
- Shirer 1960, p. 220. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Shirer 1960, p. 229. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Bullock 1962, p. 309.
- Shirer 1960, p. 230. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Time, 1934.
- Kershaw 2008, pp. 392, 393.
- Shirer 1960, p. 312. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Kershaw 2008, pp. 393–397.
- Shirer 1960, p. 308. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Shirer 1960, p. 318–319. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Kershaw 2008, pp. 397–398.
- Shirer 1960, p. 259–260. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Shirer 1960, p. 258. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Shirer 1960, p. 262. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Speer 1971, pp. 118–119.
- Weinberg 1970, pp. 26–27.
- Kershaw 1999, pp. 490–491.
- Kershaw 1999, pp. 492, 555–556, 586–587.
- Carr 1972, p. 23.
- Kershaw 2008, p. 297.
- Messerschmidt 1990, pp. 601–602.
- Hildebrand 1973, p. 39.
- Roberts 1975.
- Messerschmidt 1990, pp. 630–631.
- Overy, Origins of WWII Reconsidered 1999.
- Carr 1972, pp. 56–57.
- Messerschmidt 1990, p. 642.
- Aigner 1985, p. 264.
- Messerschmidt 1990, pp. 636–637.
- Carr 1972, pp. 73–78.
- Messerschmidt 1990, p. 638.
- Kershaw 1999, pp. 567–568.
- Overy 2005, p. 252.
- Gellately 1996.
- Steinberg 1995.
- Snyder 2010, p. 416.
- Kershaw 2008, p. 683.
- Shirer 1960, p. 965. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Naimark 2002, p. 81.
- Shirer 1960, p. 967. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Kershaw 2008, p. 687.
- Megargee 2007, p. 146.
- Megargee 2007, p. 144.
- Yad Vashem, 2006.
- Yad Vashem, 2008.
- Holocaust Memorial Museum.
- Hancock 2004, pp. 383–396.
- Shirer 1960, p. 946. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- US Holocaust Memorial Museum.
- Niewyk & Nicosia 2000, p. 45. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFNiewykNicosia2000 ()
- Goldhagen 1996, p. 290.
- Downing 2005, p. 33.
- Bloch 1992, pp. 178–179.
- Plating 2011, p. 21.
- Butler & Young 1989, p. 159.
- Bullock 1962, p. 434.
- Overy 2005, p. 425.
- Weinberg 1980, pp. 334–335.
- Weinberg 1980, pp. 338–340.
- Weinberg 1980, p. 366.
- Weinberg 1980, pp. 418–419.
- Kee 1988, pp. 149–150.
- Weinberg 1980, p. 419.
- Murray 1984, pp. 256–260.
- Bullock 1962, p. 469.
- Overy, The Munich Crisis 1999, p. 207.
- Kee 1988, pp. 202–203.
- Weinberg 1980, pp. 462–463.
- Messerschmidt 1990, p. 672.
- Messerschmidt 1990, pp. 671, 682–683.
- Rothwell 2001, pp. 90–91.
- Time, January 1939.
- Murray 1984, p. 268.
- Shirer 1960, p. 448. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Weinberg 1980, pp. 579–581.
- Messerschmidt 1990, pp. 688–690.
- Weinberg 1980, pp. 537–539, 557–560.
- Maiolo 1998, p. 178.
- Weinberg 1980, p. 558.
- Carr 1972, pp. 76–77.
- Kershaw 2000b, pp. 36–37, 92.
- Weinberg 1955.
- Robertson 1985, p. 212.
- Bloch 1992, p. 228.
- Overy 1989, p. 56.
- Bloch 1992, pp. 210, 228.
- Craig 1983.
- Overy, The Third Reich 1999.
- Robertson 1963, pp. 181–187.
- Bloch 1992, pp. 252–253.
- Weinberg 1995, pp. 85–94.
- Bloch 1992, pp. 255–257.
- Weinberg 1980, pp. 561–562, 583–584.
- Messerschmidt 1990, p. 714.
- Bloch 1992, p. 260.
- Hakim 1995.
- Time, October 1939.
- Rees 1997, pp. 141–145.
- Kershaw 2008, p. 527.
- Rees 1997, pp. 148–149.
- Shirer 1960, pp. 696–730. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Shirer 1960, pp. 731–737. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Shirer 1960, pp. 774–782. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Kershaw 2008, p. 580.
- Kershaw 2008, p. 570.
- Kershaw 2008, p. 604–605.
- Kurowski 2005, pp. 141–142.
- Shirer 1960, p. 830. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Shirer 1960, p. 863. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Weinberg et al. 1989.
- Shirer 1960, p. 900–901. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Bauer 2000, p. 5.
- Shirer 1960, p. 921. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Shirer 1960, p. 1006. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- BBC News, 1999.
- Shirer 1960, p. 997. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Shirer 1960, p. 1036. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Speer 1971, p. 513–514.
- Kershaw 2008, pp. 544–547, 821–822, 827–828.
- Kershaw 2008, p. 816–818.
- Shirer 1960, §29. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Bullock 1962, pp. 753, 763, 778, 780–781.
- Bullock 1962, pp. 774–775.
- Beevor 2002, pp. 255–256.
- Le Tissier 2010, p. 45.
- Dollinger 1995, p. 231.
- Beevor 2002, p. 275.
- Bullock 1962, p. 787.
- Bullock 1962, pp. 787, 795.
- Butler & Young 1989, pp. 227–228.
- Bullock 1962, pp. 792, 795.
- Beevor 2002, p. 343.
- Bullock 1962, p. 795.
- Bullock 1962, p. 798.
- Linge 2009, p. 199.
- Joachimsthaler 1999, pp. 160–180.
- Joachimsthaler 1999, pp. 217–220.
- Linge 2009, p. 200.
- Bullock 1962, pp. 799–800.
- Vinogradov 2005, pp. 111, 333.
- Fest 1974, p. 753.
- Speer 1971, p. 617.
- Toland 1977, p. 892.
- Kershaw 2000a, pp. 1–6.
- Fischer 1995, p. 569.
- Del Testa, Lemoine & Strickland 2003, p. 83.
- Dear & Foot 2001, p. 341.
- Welch 2001, p. 2.
- Shirer 1960, p. 6. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFShirer1960 ()
- Hitler & Trevor-Roper 1988, p. xxxv.
- Roberts 1996, p. 501.
- Lichtheim 1974, p. 366.
- Rißmann 2001, pp. 94–96.
- Rißmann 2001, p. 96.
- Bullock 1962, p. 219.
- Steigmann-Gall 2003, p. XV.
- Steigmann-Gall 2007.
- Steigmann-Gall 2003, pp. 27, 108.
- Hitler 1942, p. 20.
- Hitler 1973, p. 23.
- Bullock 1962, pp. 219, 389.
- Conway 1968, p. 3.
- Sharkey 2002.
- Bonney 2001.
- Office of Strategic Services, 1945.
- Speer 1971, p. 142–143.
- Payne 2008, p. 171.
- Hanfstaengl 1994, p. 174.
- Speer 1971, pp. 171, 174.
- Bullock 1999, p. 729.
- Bullock 1962, p. 717.
- Redlich 2000, pp. 129–190.
- Kershaw 2000a, p. 72.
- Kershaw 2008, pp. xxxv–xxxvi.
- Bullock 1999, p. 388.
- Kershaw 2008, p. 380.
- Dietrich 2010, p. 172.
- Dietrich 2010, p. 171.
- Toland 1992, p. 741.
- Heston & Heston 1980, pp. 125–142.
- Heston & Heston 1980, pp. 11–20.
- Linge 2009, p. 156.
- Kershaw 2008, p. 782.
- O'Donnell 2001, p. 37.
- Bullock 1999, p. 563.
- Kershaw 2008, p. 378.
- Bullock 1962, pp. 393–394.
- Kershaw 2008, p. 4.
อ้างอิง
ตีพิมพ์
- Aigner, Dietrich (1985). "Hitler's ultimate aims – a programme of world dominion?". ใน Koch, H. W. (บ.ก.). Aspects of the Third Reich. London: MacMillan. ISBN .
- Doyle, D (February 2005). "Adolf Hitler's medical care". Journal of the Royal College of Physicians of Edinburgh. 35 (1): 75–82. PMID 15825245.
- Bauer, Yehuda (2000). Rethinking the Holocaust. New Haven: Yale University Press. p. 5. ISBN .
- (2002). . London: Viking-Penguin Books. ISBN .
- Bendersky, Joseph W (2000). A History of Nazi Germany: 1919–1945. Lanham: Rowman & Littlefield. ISBN .
- Bloch, Michael (1992). Ribbentrop. New York: Crown Publishing. ISBN .
- (2001). (PDF). Rutgers Journal of Law and Religion. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 4 March 2016. สืบค้นเมื่อ 19 April 2020.
- (1970). The German Dictatorship. แปลโดย Jean Steinberg. New York: . ISBN .
- (1962) [1952]. Hitler: A Study in Tyranny. London: Penguin Books. ISBN .
- Bullock, Alan (1999) [1952]. Hitler: A Study in Tyranny. New York: Konecky & Konecky. ISBN .
- Butler, Ewan; Young, Gordon (1989). The Life and Death of Hermann Göring. Newton Abbot, Devon: . ISBN .
- Carr, William (1972). Arms, Autarky and Aggression. London: Edward Arnold. ISBN .
- (1968). The Nazi Persecution of the Churches 1933–45. London: Weidenfeld & Nicolson. ISBN .
- Crandell, William F. (1987). "Eisenhower the Strategist: The Battle of the Bulge and the Censure of Joe McCarthy". Presidential Studies Quarterly. 17 (3): 487–501. JSTOR 27550441.
- (2008). Fighter: The True Story of the Battle of Britain. New York: Random House. ISBN .
- Del Testa, David W; Lemoine, Florence; Strickland, John (2003). Government Leaders, Military Rulers, and Political Activists. Westport: Greenwood Publishing Group. p. 83. ISBN .
- Dollinger, Hans (1995) [1965]. The Decline and Fall of Nazi Germany and Imperial Japan: A Pictorial History of the Final Days of World War II. New York: Gramercy. ISBN .
- Dorland, Michael (2009). Cadaverland: Inventing a Pathology of Catastrophe for Holocaust Survival: The Limits of Medical Knowledge and Memory in France. Tauber Institute for the Study of European Jewry series. Waltham, Mass: University Press of New England. ISBN .
- Downing, David (2005). The Nazi Death Camps. World Almanac Library of the Holocaust. Pleasantville, NY: Gareth Stevens. ISBN .
- Ellis, John (1993). World War II Databook: The Essential Facts and Figures for All the Combatants. London: Aurum. ISBN .
- (2003). . New York: . ISBN .
- Evans, Richard J. (2005). . New York: . ISBN .
- Evans, Richard J. (2008). . New York: . ISBN .
- (1970). The Face of the Third Reich. London: Weidenfeld & Nicolson. ISBN .
- Fest, Joachim C. (1974) [1973]. Hitler. London: Weidenfeld & Nicolson. ISBN .
- Fest, Joachim C. (1977) [1973]. Hitler. Harmondsworth: Penguin. ISBN .
- Fest, Joachim (2004). Inside Hitler's Bunker: The Last Days of the Third Reich. New York: Farrar, Straus and Giroux. ISBN .
- Fischer, Klaus P. (1995). Nazi Germany: A New History. London: Constable and Company. ISBN .
- (1977) [1973]. The Anatomy of Human Destructiveness. London: Penguin Books. ISBN .
- Fulda, Bernhard (2009). Press and Politics in the Weimar Republic. Oxford: Oxford University Press. ISBN .
- (1996). "Reviewed work(s): Vom Generalplan Ost zum Generalsiedlungsplan by Czeslaw Madajczyk. Der "Generalplan Ost". Hauptlinien der nationalsozialistischen Planungs- und Vernichtungspolitik by ; Sabine Schleiermacher". Central European History. 29 (2): 270–274. doi:10.1017/S0008938900013170.
- Gellately, Robert (2001). Social Outsiders in Nazi Germany. Princeton, NJ: Princeton University Press. ISBN .
- Ghaemi, Nassir (2011). A First-Rate Madness: Uncovering the Links Between Leadership and Mental Illness. New York: Penguin Publishing Group. ISBN .
- Goeschel, Christian (2018). Mussolini and Hitler: The Forging of the Fascist Alliance. New Haven; London: Yale University Press. ISBN .
- (1996). . New York: Knopf. ISBN .
- (1979). The Meaning of Hitler. Cambridge, MA: Harvard University Press. ISBN .
- (1995). War, Peace, and All That Jazz. . Vol. 9. New York: Oxford University Press. ISBN .
- Halperin, Samuel William (1965) [1946]. Germany Tried Democracy: A Political History of the Reich from 1918 to 1933. New York: W.W. Norton. ISBN .
- Hamann, Brigitte (2010) [1999]. Hitler's Vienna: A Portrait of the Tyrant as a Young Man. Trans. Thomas Thornton. London; New York: Tauris Parke Paperbacks. ISBN .
- (2004). "Romanies and the Holocaust: A Reevaluation and an Overview". ใน Stone, Dan (บ.ก.). The Historiography of the Holocaust. New York; Basingstoke: Palgrave Macmillan. ISBN .
- (2001) [1985]. A Child of Hitler: Germany In The Days When God Wore A Swastika. Phoenix, AZ: Renaissance House. ISBN .
- Heston, Leonard L.; Heston, Renate (1980) [1979]. The Medical Casebook of Adolf Hitler: His Illnesses, Doctors, and Drugs. New York: Stein and Day. ISBN .
- (1973). The Foreign Policy of the Third Reich. London: Batsford. ISBN .
wikipedia, แบบไทย, วิกิพีเดีย, วิกิ หนังสือ, หนังสือ, ห้องสมุด, บทความ, อ่าน, ดาวน์โหลด, ฟรี, ดาวน์โหลดฟรี, mp3, วิดีโอ, mp4, 3gp, jpg, jpeg, gif, png, รูปภาพ, เพลง, เพลง, หนัง, หนังสือ, เกม, เกม, มือถือ, โทรศัพท์, Android, iOS, Apple, โทรศัพท์โมบิล, Samsung, iPhone, Xiomi, Xiaomi, Redmi, Honor, Oppo, Nokia, Sonya, MI, PC, พีซี, web, เว็บ, คอมพิวเตอร์
lingkkhamphasa inbthkhwamni miiwihphuxanaelaphurwmaekikhbthkhwamsuksaephimetimodysadwk enuxngcakwikiphiediyphasaithyyngimmibthkhwamdngklaw krann khwrribsrangepnbthkhwamodyerwthisud xdxlf hitelxr eyxrmn Adolf Hitler ˈadɔlf ˈhɪtlɐ fngesiyng 20 emsayn kh s 1889 30 emsayn kh s 1945 epnnkkaremuxngchaweyxrmnechuxchatixxsetriy hwhnaphrrkhkrrmkrchatisngkhmniymeyxrmnhruxthiruckknthwipinchux phrrkhnasi hitelxrdarngtaaehnngnaykrthmntrieyxrmni rahwang kh s 1933 1945 aelaepnfuxerxrkhxngeyxrmni tngaet kh s 1934 1945 hitelxrepnphunasungsudkhxngircheyxrmn phucudchnwnsngkhramolkkhrngthisxnginthwipyuorp odyepnthithrabkndiinprawtisastrwahnunginnoybaythangkaremuxngkhxngekhathimitxeyxrmniidnaipsukarthalaylangptipksthangkaremuxngkhxnglththichatisngkhmniymeyxrmnaelaepnpccysakhythithaihekidhxolkhxstthwthngthwipyuorpxdxlf hitelxrhitelxrinpi kh s 1938fuxerxraehngeyxrmnidarngtaaehnng 2 singhakhm kh s 1934 30 emsayn kh s 1945 10 pi 271 wn kxnhnaephal fxn hinedinbwrkh prathanathibdi thdipkharl edxniths prathanathibdi naykrthmntrieyxrmnidarngtaaehnng 30 mkrakhm kh s 1933 30 emsayn kh s 1945 12 pi 90 wn prathanathibdiephal fxn hinedinbwrkhrxngfrnths fxn phaephin taaehnngwangkxnhnakhwrth fxn chilechxrthdipoyesf ekibebilskhxmulswnbukhkhlekid20 emsayn kh s 1889 ebraenaxmxin ckrwrrdixxsetriy hngkariesiychiwit30 emsayn kh s 1945 56 pi fuxerxrbungekhxr ebxrlin nasieyxrmnisaehtukaresiychiwitxtwinibatkrrm yingtwtay echuxchatixxsetriy kh s 1889 7 emsayn kh s 1925 eyxrmn kh s 1932 1945 phrrkhkaremuxngphrrkhkrrmkrchatisngkhmniymeyxrmnkhusmrsexfa ebran 29 30 emsayn kh s 1945 buphkarixalxys hitelxr bida khlara ephilesil marda wichachiphthhar silpin nkekhiyn nkkaremuxngrangwlkangekhnehlkchnhnung ekhruxnghmaybadecblaymuxchuxysthiidrbkaraetngtngrbich eyxrmnisngkdpracakar1914 20yssibtrikxngpracakar Gefreiter hnwykrmkxnghnunbawaeriythi 16khawkrxngirchsaewrsngkhram karsurbsngkhramolkkhrngthihnung hitelxrepnthharphansuksngkhramolkkhrngthihnungphuidrbehriyykangekhnehlk txma hitelxridekharwmphrrkhkrrmkreyxrmnin kh s 1919 sungepnphrrkhkaremuxngkxnhnaphrrkhnasi kxncaidepnhwhnaphrrkhnasiin kh s 1921 ekhaphyayamkxrthpraharthieriykwa kbtorngebiyr inemuxngmiwnik emuxwnthi 8 9 phvscikayn kh s 1923 aetlmehlw hitelxrthukcakhukepnewlahnungpi sunginrahwangnnexngthiekhaekhiynbnthukkhwamthrngca imnkhmphf kartxsukhxngkhapheca hlngidrbkarplxytwemuxwnthi 20 thnwakhm kh s 1924 ekhaidrbkarsnbsnuncakprachachnodykarocmtisnthisyyaaewrsay aelakaresnxxudmkarnrwmklumeyxrmn kartxtanyiw aelakartxtankhxmmiwnist dwywathsilpxnmiesnhdungdudaelakarokhsnachwnechuxnasi hlngidrbaetngtngepnnaykrthmntriemuxwnthi 30 mkrakhm kh s 1933 ekhaepliynsatharnrthiwmarepnirchthisam phayitxudmkarnnasixnmilksnaepnephdckarebdesrcaelaxttathipity epahmaykhxngekhakhux raebiybolkihm thiihnasieyxrmnikhrxbngayuorpphakhphunthwipxyangsmburn noybaytangpraethsaelainpraethskhxnghitelxrmikhwammunghmayephuxyudelebinseram phunthixyuxasy epnkhxngchaweyxrmn ekhanakarsrangesrimkalngxawuthkhunihmaelakarbukkhrxngopaelnd ineduxnknyayn kh s 1939 xnnaipsukarpathukhxngsngkhramolkkhrngthisxnginthwipyuorp phayinsampiitkarnakhxnghitelxr aelaphnthmitrinyuorpyudkhrxngdinaednyuorpaelaaexfrikaehnuxswnihy xyangirkdi sthankarnkhxyphlikphnhlng kh s 1941 krathngkxngthphsmphnthmitrexachnakxngthpheyxrmnin kh s 1945 noybaykhwamsungsudaelathikratundwykarthuxchatiphnthukhxnghitelxrlngexydwykarkhatkrrmphukhnnb 17 lankhnxyangepnrabb incanwnniepnchawyiwekuxbhklankhn playsngkhram rahwangin kh s 1945 hitelxraetngngankbexfa ebran thngsxngthaxtwinibatkrrmemuxwnthi 30 emsayn kh s 1945 ephuxhlikeliyngimihthukkxngthphaedngkhxngshphaphosewiytcbtw aelasngihepharangkhxngtnchiwitchwngtnbrrphburus xalxys hitelxr bidakhxnghitelxr epnbutrnxkkdhmaykhxngmarixa xnna chikhekhilkruebxr Maria Anna Schicklgruber dngnnchuxbidacungimpraktinsutibtrkhxngxalxys ekhaichnamskulkhxngmarda in kh s 1842 oyhn ekxxrkh hidelxr Johann Georg Hiedler smrskbmarixa xnna hlngmarixa xnna esiychiwitin kh s 1847 aelaoyhnesiychiwitin kh s 1856 xalxysidrbkareliyngduodykhrxbkhrwkhxngoyhn enophmukh hidelxr phichaykhxnghidelxr krathng kh s 1876 xalxyscungidmaepnbutrchxbdwykdhmay aelathaebiynphithithuknkbwchepliyntxhnaphyansamkhn rahwangrxkarphicarnathienuxrnaebrkhin kh s 1945 kharthkarnasi hns frngkh esnxkarmixyukhxngcdhmaythixangwa mardakhxngxalxysidrbkarwacangepnaembanaekkhrxbkhrwyiwinkras aelawa butrchaywy 19 pikhxngkhrxbkhrwnn eloxphxlth frngekhinaebrekxr Leopold Frankenberger epnbidakhxngxalxys xyangirkdi immikhrxbkhrwfrngekhinaebrekxrhruxchawyiwpraktinthaebiyninkraschwngnn nkprawtisastrsngsykarxangthiwa bidakhxngxalxysepnyiw emuxmixayuid 39 pi xalxysepliynipichnamskul hitelxr sungsamarthyngsakdidepn hidelxr Hiedler huthelxr Huttler Huettler chuxnixacthukichtamraebiybodyesmiynthurkar thimakhxngchuxdngklawxachmaythung phuxasyxyuinkrathxm Hutte krathxm khneliyngaeka huten efa hruxmacakkhaphasaslaf hidlar aelahidlaerkh wyedk xdxlf hitelxrinwythark praman kh s 1889 1890 khlara mardakhxngxdxlf xdxlf hitelxrekidwnthi 20 emsayn kh s 1889 thiksthohfsumphxmemxr Gasthof zum Pommer orngaermaehnghnunginrnsohefin Ranshofen hmubansungthukrwmekhakbethsbalebraenaxmxin Braunau am Inn ckrwrrdixxsetriy hngkari in kh s 1938 ekhaepnbutrkhnthisicakthnghmdhkkhnkhxngxalxys hitelxr aelakhlara ephilthesil phithngsamkhnkhxnghitelxr kusthf xida aelaxxthoth esiychiwittngaetepnthark emuxhitelxrxayuidsamkhwb khrxbkhrwkhxngekhayayipphsesa eyxrmni thisungthaihhitelxrmisaeniyngthxngthinaebbbawaeriylangmakkwasaeniyngeyxrmnxxsetriy aelaepnsaeniyngthihitelxrichtlxdchiwit in kh s 1894 khrxbkhrwidyayxikhnhnungipyngelxxnding iklkblinths aelatxma emuxeduxnmithunayn kh s 1895 xalxysideksiynipyngthidinelk thihaeflth ikllmbkh thisungekhaphyayamprakxbxachiphksikrrmaelaeliyngphungdwytnexng hitelxrekhasuksathiorngeriynthifichechilhm Fischlham inlaaewkiklekhiyng khnathiyngepnedk hitelxriderimtidkarsngkhramhlngphbhnngsuxphaphekiywkbsngkhramfrngess prsesiythamklangbrrdasmbtiswntwkhxngbida karyayipynghaeflthekidkhunileliykbkarerimtnkhwamkhdaeyngxyangrunaerngrahwangphxluk sungekidcakthihitelxrptiesthimechuxfngkdraebiybxnekhmngwdkhxngorngeriynekha khwamphyayamthaksikrrmthihaeflthkhxngxalxyssinsudlngdwykhwamlmehlw aelain kh s 1897 khrxbkhrwhitelxryayiplmbkh hitelxrekhasuksathiorngeriynkhathxlikaehnghnunginraebiyngchnnbthebendiktin Benedictine khriststwrrsthi 11 sungthibnthrrmasnnnmisylksnswstikathithukprbihekhakbaebbbntraxarmkhxngethoxodrich fxn haekin xditxthikarwd hitelxrwyaepdkhwbekhaeriynrxngephlng rwmxyuinwngprasanesiyngkhxngobsth aelakrathng wadfnwatncaepnnkbwch in kh s 1898 khrxbkhrwhitelxrklbipxasy n elxxndingxyangthawr karesiychiwitkhxngexthmunth nxngchay cakorkhhd emuxwnthi 2 kumphaphnth kh s 1900 krathbtxhitelxrxyangluksung cakthiekhyepnedkthimnic ekhasngkhm aelaepnnkeriynthiyxdeyiym hitelxrepnedkxarmnkhunmw echycha aelabungtungthimipyhakbbidaaelakhruxyangtxenuxng xalxysprasbkhwamsaercinxachiphinsankngansulkakr aelatxngkarihlukchayecriytamrxyekha phayhlng hitelxrelathungchwngniekinkhwamcringemuxbidaphaekhaipchmthithakarsulkakr odybrryaywa mnepnehtukarnthinaipsukartxtanxyangimxacihxphyrahwangphxlukthitangmikhwamtngicaerngklathngkhu odyimsnickhwamtxngkarkhxngbutrthixyakekhasuksainorngeriynmthymkhlassikaelacbmaepnsilpin ineduxnknyayn kh s 1900 xalxyssnghitelxripyngerxlchuelx Realschule inlinths hitelxrkhdkhuntxkartdsinicni aelain imnkhmphf idepidephywa ekhatngiceriynimdiinorngeriyn dwyhwngwaemuxbidaehnwa khaphecamikhwamkhubhnanxyephiyngidthiorngeriynxachiwa ekhacaidplxyihkhaphecaxuthistnaekkhwamiffnkhxngkhaphecaexng hitelxrerimhlngihlinlththichatiniymeyxrmntngaeteyawwy hitelxraesdngkhwamphkditxeyxrmniethann odyehyiydhyamrachwngshaphsbwrkhthikalngesuxmlngrwmthungkarpkkhrxngkhxngrachwngsehnuxckrwrrdithimikhwamhlakhlaythangechuxchati hitelxraelaephuxnkhxngekhaichkhathkthayphasaeyxrmn ihl aelarxngephlngchatieyxrmn eyxrmnehnuxthuksrrphsing aethnephlngchatickrwrrdixxsetriy hlngkaresiychiwitkathnhnkhxngxalxysemuxwnthi 3 mkrakhm kh s 1903 phvtikrrmkhxnghitelxrthiorngeriynxachiwayingelwrayhnkkhunipxik mardaekhaxnuyatihekhalaxxkinvduibimphli kh s 1905 ekhalngeriynthierxlchuelxinchitexxr Steyr ineduxnknyayn kh s 1904 phvtikrrmaelaphlkareriynkhxngekhaaesdngthungphthnakarelknxyaelatxenuxngxyubang invduibimrwng kh s 1905 hlngphankhxsxbplayphakh hitelxrkidxxkcakorngeriynodyimaesdngkhwamthaeyxthayanid txkarsuksatx hruxaephnkarthichdecnsahrbxachiphinxnakht wyphuihychwngtninewiynnaaelamiwnik nbcak kh s 1907 hitelxrxxkcaklinthsephuxcaipxasyaelasuksainewiynnadwyenginsngekhraahedkkaphraaelakarsnbsnuncakmarda ekhathanganepnkrrmkrchwkhraw aelathaysud epncitrkrkhayphaphwadsina sthabnwicitrsilpewiynnaptiesthekhasxngkhrng in kh s 1907 aela 1908 ephraa khwamimehmaasmthicawadphaph khxngekha phuxanwykaraenanaihhitelxreriynsthaptykrrm aetekhakhadexksaraesdngwithythanaephraayngimekhycbchnmthymsuksa wnthi 21 thnwakhm kh s 1907 mardakhxngekhaesiychiwitinwy 47 pi hlngsthabn ptiesthepnkhrngthisxng in kh s 1909 hitelxrkhmdenginaelacaepntxngichchiwitaebbobhiemiyodyxasyxyuinthiphkkhnirthiban aelain kh s 1910 ekhayayekhamaxasyxyuinbanphkchayrbcangyakcnbnthnnemledxmn khnathihitelxrxyuthinn ewiynnaepnaehlngephaaphnthuxkhtithangsasnaaelakhtiniymechuxchatiaebbkhriststwrrsthi 19 khwamklwwacathukphuxphyphcaktawnxxklwnglaaephrkhyay aelanaykethsmntriprachaniym kharl luxekxr Karl Lueger ichwathsilpekliydchngyiwrunaerngephuxpraoychnthangkaremuxng khtiekliydchngyiwrwmeyxrmnkhxngekxxrk echxenerxr Georg Schonerer miphusnbsnunxyangaekhngaekrngaelathaninyanmaeriyhilf thihitelxrxasyxyu hitelxrxanhnngsuxphimphthxngthinxyang dxythechs oflkhsblthth Deutsches Volksblatt thikraphuxxkhtiaelaelnkbkhwamklwkhxngkhrisetiynwacatxngaebkpharacakkarihlbaekhamakhxngyiwtawnxxk khwamepnprpkstxsingthihitelxrehnwaepn orkhklweyxrmn khxngkhathxlik ekhacungerimykyxngmartin luethxr cudkaenidaelakarphthnakhtiekliydchngyiwkhxnghitelxrnnyngkhngepnpraednthkethiyng hitelxrekhiynin imnkhmphf wa ekhaekliydchngyiwkhrngaerkinewiynna irnohld hanich Reinhold Hanisch hunswnthimiswnchwyehluxinkarkhayphaphwadkhxnghitelxr idotaeyngwa hitelxryngkhngtidtxkbchawyiwinkhnathixyuinewiynna ephuxnsnithkhxnghitelxr exakusth khubieskh August Kubizek xangwa hitelxrepn phuekliydchngyiwthiyunynaelw tngaetkxnekhaxxkcaklinths bnthukkhxngkhubieskhthuknkprawtisastr brikithethx hamn Brigitte Hamann ekhiynotaeyng ekhaekhiynwa inbrrdaphyankhnaerk thnghmdthisamarthechuxthuxidxyangcringcng mikhubieskhkhnediywthibrryayhitelxrwyhnumwaekliydchngyiw aelachdecninpraednniwa ekhaechuxthuximkhxyid aehlngkhxmulhlayaehlngihhlkthanhnkaennwahitelxrmiephuxnyiwinhxphkkhxngekhaaelainthixuninewiynna hamnyngsngektwa hitelxrimmibnthukkhwamehnekliydchngyiwrahwangchwngni nkprawtisastr exiyn ekhxrchxw Ian Kershaw esnxwa hakhitelxridxxkkhwamehnechnnncring khwamehnehlannkxacimepnthisngekt ephraakhtiekliydchngyiwthimixyuthwipinewiynnakhnann nkprawtisastr richard ec xiaewns wa pccubn nkprawtisastrswnmakehnwa khtiekliydchngyiwxyangaerngklaaelachawochkhxngekhaekidkhunhlngcakkhwamphayaephkhxngeyxrmni insngkhramolkkhrngthihnung xnepnphlkhxngkhaxthibaymhntphywaepnephraa karaethngkhanghlng praephthhwadraaewng hitelxridrbmrdkswnsudthaycakthrphysinkhxngbidaineduxnphvsphakhm kh s 1913 aelayayipmiwnik nkprawtisastrechuxwahitelxryayxxkcakewiynnaephuxhlbeliyngkareknthekhasukxngthphxxsetriy hngkari phayhlng hitelxrxangwa ekhaimprasngkhcarbichrachwngshaphsbwrkhephraakarphsmphsan echuxchati inkxngthph hlngekhathukehnwaimehmaasmkbrachkarthhar ephraaimphankartrwcrangkayinslthsbwrkhemuxwnthi 5 kumphaphnth kh s 1914 ekhaklbipyngmiwnik sngkhramolkkhrngthihnung emuxsngkhramolkkhrngthihnungpathu hitelxrsmkhrekharbrachkarinkxngthpheyxrmn ekhaidrbkartxbrbineduxnsinghakhm kh s 1914 sungmiaenwonmwaepnphlmacakkhwamplxyplalaelythangthurkar ephraaekhayngepnphlemuxngxxsetriy ekhathukcdipyngkrmthharrabkxnghnunbawaeriy 16 kxngrxythi 1 aehngkrmlisth ekhaptibtihnathiepnphlnasarsngaenwrbdantawntkinfrngessaelaebleyiym ichewlaekuxbkhrunghnungxyuhlngaenwhna ekhaekharwmin yuththkarthiaemnasxm yuththkarthixars aela aelaidrbbadecbthiaemnasxm hitelxr khnthinngdankhwasud kbephuxnthharinkrmthharrabkxnghnunbawaeriy 16 rahwangsngkhramolkkhrngthihnung hitelxridrbechidchuekiyrtisahrbkhwamklahay idrbkangekhnehlkchnthisxng in kh s 1914 aelaodykaraenanakhxng huok kthmnnth ekhaidrbkangekhnehlkchnthihnung emuxwnthi 4 singhakhm kh s 1918 xisriyaphrnsungnxykhrngnkcamxbihaekthharchnphunxyechnphlthharxyangekha taaehnngkhxnghitelxrthikxngbychakarkrm thaihekhamiptismphnthbxykhrngkbnaythharxawuos xacchwyihekhaidrbekhruxngxisriyaphrnni aemphvtikarnthithaihekhaidrbrangwlxacepnkhwamklahay aetkxacimicheruxngphiessmakmaynk ekhayngidrbekhruxnghmaybadecbsida emuxwnthi 18 phvsphakhm kh s 1918 sibtrikxngpracakar xdxlf hitelxr rahwangsngkhramolkkhrngthihnung rahwangrbrachkarthikxngbychakar hitelxryngsrangsrrkhngansilpakhxngtntxip odywadkartunaelakhachiaecngaekhnngsuxphimphkxngthph rahwangyuththkaraemnasxm ineduxntulakhm kh s 1916 ekhaidrbbadecbthibriewnkhahnib hruxtnkhasayemuxkrasunpunihyraebidinhlumkhxngphlnasarrahwangyuththkaraemnasxm hitelxrichewlaekuxbsxngeduxninorngphyabalkachadthibiliths ekhaklbmayngkrmkhxngekhaemuxwnthi 5 minakhm kh s 1917 wnthi 15 tulakhm kh s 1918 hitelxrtabxdchwkhrawcakkarocmtidwy aelarbkarrksainorngphyabalinphaeswlkh khnarksatwxyu hitelxrthrabkhawkarphayaephkhxngeyxrmni aela cakbnthukkhxngekha emuxthrabkhaw ekhaktabxdxikepnkhrngthisxng hitelxrrusukkhmkhuntxkarphngthlaykhxngkhwamphyayamthasngkhram aelakarphthnaxudmkarnerimepnrupepnrangxyangmnkhng ekhaxthibaysngkhramwaepn prasbkarnyingihythisudehnuxxunid aelaidrbkarykyxngcaknaythharphubngkhbbychasahrbkhwamklahaykhxngekha prasbkarnnisngphlihhitelxrepnphurkchatieyxrmnxyanghlngihl aelarusukchxkemuxeyxrmniyxmcannineduxnphvscikayn kh s 1918 echnediywkbphwkchatiniymeyxrmnxunthnghlay ekhaechuxintananaethngkhanghlng sungxangwakxngthpheyxrmn imaephinsmrphumi idthuk aethngkhanghlng odyphunaphleruxnaelaphwkmaksistcakaenwhlng nkkaremuxngehlaniphayhlngthukkhnannamwa xachyakrphvscikayn snthisyyaaewrsaykahndiheyxrmnitxngsladinaednhlayaehngaelaihirnlnthplxdthhar snthisyyakahndkarlngothsthangesrsthkicaelaeriykekbkhaptikrrmsngkhramcakpraeths chaweyxrmncanwnmakekhaicwasnthisyyani odyechphaaxyangyingkhx 231 sungprakasiheyxrmnirbphidchxbtxsngkhram epnkhwamxpysxdsu sphaphthangesrsthkic sngkhmaelakaremuxngineyxrmniidrbphlkrathbcaksngkhramaelasnthisyyaaewrsayphayhlngthukhitelxrichaeswngpraoychnthangkaremuxngekhasukaremuxngsmachikphrrkhkrrmkr hlngsngkhramolkkhrngthihnungyuti hitelxrklbmayngmiwnik ephraaimmiaephnhruxoxkaskarsuksaaelaxachiphxyangepnthangkar ekhacungphyayamxyuinkxngthphihnanthisudethathicathaid eduxnkrkdakhm kh s 1919 ekhaidrbaetngtngepnaewrbindungsmnn ecahnathikarkhaw aehngexafaekhlrungskhxmmnod khxmmanodladtraewn khxngirchsaewr ephuxmixanacbngkhbthharxunaelaephuxaethrksumphrrkhkrrmkreyxrmn DAP rahwangthiekhaefatidtamkickrrmkhxngphrrkh DAP hitelxrthukdungdudodyaenwkhidtxtanyiw chatiniym txtanthunniym aelatxtanmaksistkhxngxnothn edrkhselxr phukxtngphrrkh edrkhselxrsnbsnunrthbalthimiskyaaekhngkhn sngkhmniymrunthi imichyiw aelakhwamsamkhkhithamklangsmachikthnghmdkhxngsngkhm dwykhwamprathbickbthksawathsilpkhxnghitelxr edrkhselxrcungechiyekhaekharwmphrrkhkrrmkr hitelxryxmrbemuxwnthi 12 knyayn kh s 1919 epnsmachikphrrkhkhnthi 55 saenabtrsmachikphrrkhkrrmkreyxrmnkhxngxdxlf hitelxr thiphrrkhkrrmkr hitelxrphbdithrich exkhkharth hnunginsmachikkhnaerk khxngphrrkhaelasmachikkhxnglththithuelxosisti Thule Society exkhkharthidklaymaepnphuihkhapruksaaekhitelxr aelkepliynkhwamkhidkbekha aelaaenanaekhaihruckkbbukhkhlinsngkhmmiwnikxyangkwangkhwang ephuxephimkhwamnadungdudaekphrrkh thangphrrkhidepliynchuxepn nasioynxlossixllisthiechx dxythechx xaribaethrpharith hrux phrrkhsngkhmniymkrrmkraehngchatieyxrmn yxepn NSDAP hitelxrxxkaebbthngkhxngphrrkhepnswstikainwngklmsikhawbnphunhlngsiaedng hlngthukpldpracakarineduxnminakhm kh s 1920 hitelxrerimthangankbphrrkhetmewla ineduxnkumphaphnth kh s 1921 hitelxr sungsamarthprasrytxphufngcanwnmakidepnphldiaelw prasryaekfungchnmakkwahkphnkhninmiwnik inkarprakasephyaephrkarchumnumdngklaw phusnbsnunphrrkhsxngkhnrthbrrthukkhbiprxbemuxngaelaobkthngswstikaaelaoynibpliw imnanhitelxrkmichuxesiynginthangimdicakkhwamexaxaowywayaelakarprasryocmtisnthisyyaaewrsay nkkaremuxngkhuaekhng aelaodyechphaaxyangying phwkmaksistaelayiw khnannphrrkhnasimisunyklangxyuinmiwnik aehlngephaahlkkhxnglththichatiniymeyxrmntxtanrthbalsungtngicbdkhyilththimaksaelabxnthalaysatharnrthiwmar ineduxnmithunayn kh s 1921 rahwangthihitelxraelaexkhkharthkalngxyurahwangkaredinthangipradmthunyngebxrlin idekidkarclaclkhunphayinphrrkhkrrmkr inmiwnik smachikkhnakrrmkarbriharphrrkhkrrmkr sungbangkhnmxngwahitelxryosekinip txngkarphnwkrwmkbphrrkhsngkhmniymeyxrmn DSP khuaekhng hitelxredinthangklbmiwnikemuxwnthi 11 krkdakhm kh s 1921 aelayuniblaxxkcakphrrkhdwykhwamokrth smachikkrrmkartrahnkwakarlaxxkkhxngekhacahmaythungcudcbkhxngphrrkh hitelxrprakascaklbekhaphrrkhxikkhrngemuxekhaepnhwhnaphrrkhaethnedrkhselxr aelathithakarphrrkhcayngxyuinmiwniktxip khnakrrmkartklng ekhaekharwmphrrkhxikkhrngepnsmachikkhnthi 3 680 ekhayngephchiykbkarkhdkhanphayinphrrkhbang aehrmnn exsaesraelaphnthmitrkhxngekhaphimphaephnphb 3 000 aephnocmtihitelxrwaepnphuthrysphrrkh imkiwnihhlng hitelxrklawaektangaelaidrbesiyngprbmuxdngsnn yuththsastrkhxngekhaphisucnaelwwaprasbphl thikarprachumihysmachikphrrkhkrrmkr ekhaidrbxanacetminthanahwhnaphrrkh odyidrbesiyngkhdkhanephiyngesiyngediyw hitelxryngidrbkarchdichcakkhdihminpramathkbhnngsuxphimphsngkhmniym munechaenr ophst sungtngkhathamthungwithichiwitaelarayidkhxngekha sunthrphcnorngebiyrthiephdrxnkhxnghitelxrerimdungdudphufngkhapraca ekhaerimchachxnginkarichaeknprachaniymtxphufngkhxngekha rwmthngkarichaepharbbapphusungsamarthichklawothsaekkhwamyaklabakthangesrsthkickhxngphufngekha nkprawtisastridsngektpraktkarnsakdcitkhxngwathsilpthiekhaichtxphufngklumihy aelakhxngtaekhainklumelk ekhseslekhiynwa xyanglnhlam chaweyxrmnexykbkarraymntkhxngkhwamdungdudic sakdcit khxnghitelxr khanipraktkhunsaaelwsaela hitelxrklawknwaidsakdcitpraethschati yudphwkekhaxyuinphwngkhthithxntwimkhun nkprawtisastr hiwc ethrewxr orepxr xthibay khwammiesnhkhxngdwngtakhunn sungsakdchaythidusukhummanktxnk ekhaichxanacdungdudswntwkhxngekhaaelakhwamekhaicincitwithyafungchnepnpraoychnaekekha rahwangphudinthisatharna xlfxns ehkh xditsmachikyuwchnhitelxr xthibayptikiriyathimitxsunthrphcnkhxnghitelxrwa erapathuekhasukhwambakhlngkhxngkhwamphumiicchatiniymthixyutidkbhisthieriy epnewlahlaynathitidkn erataoknsudpxdkhxngera dwynatathiihllngmatamibhnakhxngera sik ihl sik ihl sik ihl nbaetchwkhnann phmepnkhxngxdxlf hitelxrthngrangkayaelawiyyan aemthksawathsilpaelakhunsmbtiswntwkhxngekhaodythwipcaidrbkartxbrbdicakfungchnkhnadihyaelainnganthangkar aetbangkhnthiphbhitelxrepnkarswntwsngektwa lksnaphaynxkaelabukhlikkhxngekhaimxacihkhwamprathbicsudthayaekphwkekhaid phutidtamkhnaerk mirudxlf ehs xditnkbinkxngthphxakas aehrmn ekxring aelarxyexkkxngthphbk aexnsth erihm phusungtxma epnhwhnaxngkhkarkalngkungthharkhxngnasi chtwrmxphithlung SA kxngphlwayu sungkhxykhumkhrxngkarprachumaelaocmtikhuaekhngkaremuxngxyubxykhrng xiththiphlsakhytxkarkhidkhxngekhainchwngnikhux klumsmkhbkhidxnprakxbdwyklumphwkrsesiykhawenrethsaelaphwkchatisngkhmniymchwngaerk klumdngklaw sungidrbkarsnbsnundankarengincakkxngthunthimacaknkxutsahkrrmxnmngkhngxyangehnri fxrd aenanaekhasuaenwkhidkhxngkarsmkhbkhidyiw odyechuxmoyngkarenginrahwangpraethskbbxlechwikh kbtorngebiyr hitelxrkhxkarsnbsnuncakphlexksngkhramolkkhrngthihnung exrich luedindxrf sahrbphyayamkxrthpraharthieriykwa kbtorngebiyr phrrkhnasiidichlththifassistxitaliepnaebbphaphlksnaelanoybay aelain kh s 1923 hitelxrtxngkareliynaebb karswnsnamaehngorm khxngebniot musoslini kh s 1922 odycdrthpraharkhxngekhaexnginbawaeriy tamdwykarthathayrthbalinebxrlin hitelxraelaluedindxrffaeswnghaskarsnbsnuncaksthathskhxmmissar phutrwckarrth kusthf fxn khar phupkkhrxngbawaeriyodyphvtiny xyangirkdi khar rwmkbhwhnatarwc hns rithaethr fxn issaesr aelaphlexkaehngirchsaewr xxthoth fxn lxssxw txngkarsthapnalththiephdckarchatiniymodyprascakhitelxr caelyinkarphicarnakbtorngebiyr hitelxrepnkhnthisinbcakkhwasud hitelxrtxngkarchwyoxkassakhyephuxkarplukpnaelakarsnbsnunkhxngprachachnxyangidphl wnthi 8 phvscikayn kh s 1923 ekhaaela SA ocmtikarprachumsatharnathimiphuekharwm 3 000 khn sungcdodykhahrinebuxraekrbrxyekhlaelr orngebiyrkhnadihyinmiwnik hitelxrkhdcnghwaprasrykhxngkhahraelaprakaswa karptiwtiaehngchatierimtnkhunaelw prakascdtngrthbalihmkbluedindxrff odychkpunphkxxkma hitelxrtxngkaraelaidrbkarsnbsnuncakkhahr issaesraelalxssx kxngkalngkhxnghitelxrprasbkhwamsaercchwngaerkinkaryudirchsaewraelakxngbngkhbkartarwcthxngthin xyangirkdi immikxngthphhruxtarwcrthekharwmkbkxngkalngkhxngekha khahraelaephuxnkhxngekharibthxnkarsnbsnunkhxngtnaelahniipekhakbfaytxtanhitelxr wnrungkhun hitelxraelaphutidtamedinkhbwncakorngebiyripyngkrathrwngsngkhramephuxlmrthbalbawaeriyrahwang karswnsnamaehngebxrlin aettarwcslaykarchumnum smachikphrrkhnasisibhkkhnaelaecahnathitarwcsinaythuksngharipinrthpraharthilmehlw hitelxrsungidrbbadecbcakkarthukyingidhlbhniipyngbankhxngaexnsth hnfsthaexngl aelahlkthanbangchinchiwa ekhakhidthaxtwinibatkrrm ekharusukhdhuaetsngblngemuxthukcbkuminwnthi 11 phvscikayn kh s 1923 dwykhxhakbt karphicarnakhdikhxngekhaerimkhunineduxnkumphaphnth kh s 1924 txhnasalprachachnphiessinmiwnik aelaxlefrd oresnaebrkepnphunachwkhrawkhxngphrrkhnasiaethn wnthi 1 emsayn hitelxrthuktdsincakhukhapiineruxncalndsaebrk ekhaidrbkarptibtixyangepnmitrcakphukhum aelaidrbxnuyatihrbcdhmaycanwnmakcakphusnbsnunaelamikarekhaeyiymepnpracacakephuxnrwmphrrkh salsungsudbawaeriyxphyothsaelaekhathukplxytwcakeruxncaemuxwnthi 20 thnwakhm kh s 1924 aeyngtxkarthdthankhxngxykarrth sunghakrwmewlarahwangkhumkhngrxkarphicarnakhdiaelw hitelxridrbothsineruxncathngsinekinhnungpielknxyethann khnathukcxngcaxyuthieruxncalndsaebrk ekhaidxuthiskarekhiynhnngsuxthichuxwa imnkhmphf kartxsukhxngkhapheca edimchux sipikhrungkbkartxsukbkhaokhk khwamekhlaaelakhwamkhlad chbbtiphimphkhrngaerkswnihy aekphuchwykhxngekha rudxlf ehsimnkhmphf sungxuthisihkbsmachikthuelxosisti dithrich exkhkharth epnthngxtchiwprawtiaelakaraethlngxudmkarnkhxngekha imnkhmphfidrbxiththiphlcakhnngsux The Passing of the Great Race odyemdisn aekrnth sunghitelxreriykwa ibebilkhxngkhapheca imnkhmphfidrbkartiphimphsxngkhrngin kh s 1925 aela 1926 khayidpraman 228 000 elmrahwang kh s 1925 aela 1932 in kh s 1933 sungepnpithihitelxrekhadarngtaaehnngnaykrthmntri khayidhnunglanelm karsrangphrrkhihm emuxhitelxrthukplxytwcakeruxncann karemuxngineyxrmnisngblngaelaesrsthkicerimfuntw sungcakdoxkaskhxnghitelxrinkarplukradmthangkaremuxng phlkhxngkbtorngebiyrthilmehlw thaihphrrkhnasiaelaxngkhkarsubenuxngthukkdhmayhaminrthbawaeriy inkarprachumkbnaykrthmntribawaeriy ihnrich ehld emuxwnthi 4 mkrakhm kh s 1925 hitelxrtklngthicaekharphxanacodychxbkhxngrth aelaekhacamungaeswnghaxanacthangkaremuxngechphaaphankrabwnkarprachathipityethann karprachumdngklawnaipsukarykelikkarham NSDAP xyangirkdi hitelxryngthukhammiihprasrytxsatharna sungyngmiphlipcnthung kh s 1927 inkarrukhnakhwamthaeyxthayanthangkaremuxngaemcamikarsnghamni hitelxraetngtngekrkxr chtrsesx xxthoth chtrsesx aelaoyesf ekibebils ihcdkaraelakhyayphrrkhnasithangtxnehnuxkhxngeyxrmni dwykhwamepnphucdthiyxdeyiym ekrkxr chtrsesx idedinhnawithikaremuxngthiepnxisramakkhun odyennxngkhprakxbkhxngsngkhmniyminokhrngkarphrrkh hitelxrpkkhrxngphrrkhnasiodyxtonmtiodyxangfuxerxrphrinsiph hlkkarphuna taaehnngphayinphrrkhimthukkahndodykareluxktng aetcathukbrrcuphankaraetngtngodyphumitaaehnngsungkwa sungtxngkarkarechuxfngodyimmikartngkhathamtxprasngkhkhxngphuna tladhlkthrphyinshrthxemrikatkemuxwnthi 24 tulakhm kh s 1929 phlkrathbineyxrmninnelwraymak hlaylankhntknganaelathnakharhlkhlayaehngtxngpidkickar hitelxraelaphrrkhnasietriymchwyoxkascakehtuchukechinephuxeriykesiyngsnbsnunaekphrrkh phwkekhasyyawacabxkeliksnthisyyaaewrsay esrimsrangesrsthkicaelacdhangankarethlingxanacphlkareluxktngphrrkhnasi wnthi khaaennesiyngthnghmd rxylakhaaennesiyng thinnginirchsthakh hmayehtuphvsphakhm kh s 1924 1 918 300 6 5 32 hitelxrxyuineruxncathnwakhm kh s 1924 907 300 3 0 14 hitelxridrbkarplxytwphvsphakhm kh s 1928 810 100 2 6 12 knyayn kh s 1930 6 409 600 18 3 107 hlngwikvtkarnkarenginkrkdakhm kh s 1932 13 745 000 37 3 230 hlnghitelxrlngsmkhrchingtaaehnngprathanathibdiphvscikayn kh s 1932 11 737 000 33 1 196 minakhm kh s 1933 17 277 180 43 9 288 rahwanghitelxrdarngtaaehnngnaykrthmntrirthbalbruxning phawaesrsthkictktakhrngihyineyxrmniepnoxkasthangkaremuxngsahrbhitelxr chaweyxrmnlngeltxsatharnrthrthspha sungephchiykbpyhakhukkhamsakhycakthngphwkkhwaaelasaycdsudotng phrrkhkaremuxngsayklangimsamarthhyudyngkraaesaehnglththisudotngephimkhunthukthi aelakarlngprachamtieyxrmni kh s 1929 chwyykradbxudmkarnnasi kareluxktngemuxeduxnknyayn kh s 1930 sngphlihrthbalphsmchudihyaetkhkaelaaethnthiodykhnarthmntrikhangnxy naykrthmntriihnrich bruxningaehngphrrkhklang phunakhnarthmntrichudnn pkkhrxngodykvsdikachukechincakprathanathibdi ephal fxn hinedinbwrkh karpkkhrxngodykvsdikacaklaymaepnbrrthdthanihmaelaputhangaekrthbalaebbxanacniymphrrkhnasietibotcakphrrkhthiimmiikhrruckaelaidkhaaennesiyng 18 3 aela 107 thinnginrthsphainkareluxktng kh s 1930 klaymaepnphrrkhihythisudxndbsxnginspha hitelxrpraktkaykhrngsakhyinkarphicarnakhdikhxngnaythharirchsaewrsxngnay rxytririchard echrinaekr aelahns ludin invduibimrwng kh s 1930 thngsxngthuktngkhxhaepnsmachikphrrkhnasisungkhnann kdhmayimxnuyatihkalngphlirchsaewrepnsmachik xykarihehtuphlwaphrrkhnasiepnphrrkhsudotng thnayfaycaely hns frngkhcungeriykhitelxrmaihkarepnphyaninsal wnthi 25 knyayn kh s 1930 hitelxr ihkarwa phrrkhkhxngekhacaaeswnghaxanacthangkaremuxngechphaaphankareluxktngtamwithiprachathipityethann karihkarnnthaihekhaidrbkarsnbsnunmakinhmunaythharinkxngthph matrkarrdekhmkhdkhxngbruxningthaihesrsthkickraetuxngkhunelknxyaelaimepnthiniymxyangying hitelxrchwykhwamxxnaexniodysngkhxkhwamthangkaremuxngkhxngekhaecaacngipyngprachachnthiidrbphlkrathbcakphawaenginefxchwngkhristthswrrs 1920 aelaphawaesrsthkictktakhrngihy echn chawna thharphansuk aelachnchnklang hitelxrslasychatixxsetriykhxngekhaxyangepnthangkaremuxwnthi 7 emsayn kh s 1925 aetinkhnann ekhayngimidsychatieyxrmn epnewlaekuxbecdpithihitelxrirsychati imsamarthekhachingtaaehnngthangkaremuxngid aelaesiyngtxkarthukenreths wnthi 25 kumphaphnth kh s 1932 rthmntrimhadithyaehngebranchiwk phuepnsmachikphrrkhnasiaetngtnghitelxrepnphubrihartwaethnkhxngrthinirchsrth sphalang inebxrlin thaihhitelxrepnphlemuxngebranchiwk aelacungepnphlemuxngeyxrmnxikthxdhnungechnkn kh s 1932 hitelxrlngsmkhrrbeluxktngepnprathanathibdiaekhngkbfxn hinedinbwrkh ekhaidrbkarsnbsnuncaknkxutsahkrrmthithrngxanacthisudkhxngeyxrmnihlaykhn hlngsunthrphcnwnthi 27 mkrakhm kh s 1932 txsphaxutsahkrrmindusesldxrf xyangirkdi hinedinbwrkhidrbkarsnbsnuncakphrrkhchatiniym kstriyniym khathxlikaelasatharnrthniym tlxdcnsngkhmprachathipitybangphrrkh hitelxrichkhakhwyrahwanghaesiyngwa hitelxrxuxaebrdxythchlnd hitelxrehnuxeyxrmni odyxangthungthngkhwamthaeyxthayanthangkaremuxngaelakarhaesiyngodyekhruxngbinkhxngekha hitelxrmaepnxndbsxnginkareluxktngthngsxngrxb odyidesiyngmakkwa 35 inkareluxktngkhrngsudthay aemcaphaytxhinedinbwrkh kareluxktngkhrngniidthaihhitelxrepnkalngsakhyinkaremuxngeyxrmni karidrbaetngtngepnnaykrthmntri karkhadrthbalthimiprasiththiphaphthaihnkkaremuxngthrngxiththiphlsxngkhn frnths fxn phaephin aelaxlefrd hueknaebrk tlxdcnnkxutsahkrrmaelankthurkichlaykhn ekhiyncdhmaythunghinedinbwrkh phulngnamkratunihhinedinbwrkhaetngtnghitelxrepnhwhnarthbal sungepnxisracakphrrkhkaremuxnginrthspha sungxacaeprepliynepnkhbwnkarsungxac srangkhwamyindiaekprachakrhlaylankhn hitelxrthihnatangkhxngthaeniybrthbalirch khnaidrbkarprbmuxtxnrbcakprachachnineynwnthiekhasabantnekharbtaaehnngnaykrthmntrieyxrmni hinedinbwrkhtklngaetngtnghitelxrepnnaykrthmntrixyangimetmic hlngkareluxktngepnkarthwipxiksxngkhrng khux ineduxnkrkdakhmaelaphvscikayn kh s 1932 immiphrrkhidcdtngrthbalesiyngkhangmakid hitelxrcaepnhwhnarthbalphsmchwngsn cdtngodyphrrkhnasiaelaphrrkhprachachnaehngchatieyxrmn DNVP khxnghueknaebrk wnthi 30 mkrakhm kh s 1933 khnarthmntrichudihmsabantnekharbtaaehnngrahwangphithikarthikrachbaelaeriybngayinsankngankhxnghinedinbwrkhphrrkhnasinngekaxisamcaksibexdtaaehnng hitelxrepnnaykrthmntri aehrmn ekxringepnrthmntrilxy aelawilehlm frikhepnrthmntrimhadithy ehtukarnephlingihmirchsthakh khnadarngtaaehnngnaykrthmntri hitelxrdaeninkartxtankhwamphyayamkhxngkhuaekhngphrrkhphrrkhnasiinkarcdtngrthbalesiyngkhangmak ephraakarkhumechingthangkaremuxng hitelxrcungkhxprathanathibdihinedinbwrkhihyubsphairchsthakhxikkhrng aelakahndkareluxktngiwtneduxnminakhm wnthi 27 kumphaphnth kh s 1933 xakharirchsthakhthukwangephling ekxringklawothswaepnaephnkarkhxngkhxmmiwnist ephraamarinus fn edxrlubebx thukphbtwinxakharthiephlingkalnglukohmxyunn dwykarkratunkhxnghitelxr hinedinbwrkhtxbsnxngodyxxkkvsdikaephlingihmirchsthakh 28 kumphaphnth sungybyngsiththikhnphunthan rwmthnghmaysngihsngtwphuthukkhumkhngmasal habeas corpus kickrrmkhxngphrrkhkhxmmiwnisteyxrmnthukprabpram aelasmachikphrrkhkhxmmiwnistraw 4 000 khnthukcbkum nkwicy rwmthngwileliym aexl chierxr aelaxln bullxk ehnwaphrrkhnasiexngthiepnphurbphidchxbtxkarwangephlingnn nxkehnuxipcakkarrnrngkhthangkaremuxngaelwphrrkhnasiyngmiswnkbkhwamrunaerngkungthharaelakarkhyaykarokhsnachwnechuxtxtankhxmmiwnistinchwngkxnkareluxktng inwneluxktng 6 minakhm kh s 1933 swnaebngkhaaennesiyngkhxngphrrkhnasiephimkhunepn 43 9 aelaphrrkhidrbthinngmakthisudinrthspha xyangirkdi phrrkhkhxnghitelxrimsamarthkhrxngesiyngkhangmakxyangsmburnid catxngrwmrthbalkb DNVP xikhn wnphxthsdmaelarthbyytimxbxanac ephal fxn hinedinbwrkh kbxdxlf hitelxr 21 minakhm kh s 1933 wnthi 21 minakhm kh s 1933 mikartngirchsthakhihmkhuninphithiepidthiobsthaekrisninphxthsdm wnphxthsdm nicdkhunephuxaesdngkhwamsamkhkhirahwangkhbwnkarnasikbxphichnaelathharprsesiyeka hitelxrpraktkayinchudmxrningokht sungepnchudphithikarklangwn aelathkthayprathanathibdifxn hinedinbwrkhxyangthxmtn ephuxihidmasungkarkhwbkhumthangkaremuxngetmthiodyimtxngkumesiyngkhangmakeddkhadinrthspha rthbalkhxnghitelxrnaaexraemkhthikungsekests rthbyytimxbxanac khunxxkesiynginirchsthakhthiephingeluxktngihm rthbyytidngklawmxbxanacnitibyytietmihaekkhnarthmntrikhxnghitelxrepnewlasipiaelaxnuyatihepliynwithiptibticakrththrrmnuyid odymikhxykewnbangprakar rangrthbyytitxngkaresiyngkhangmaksxnginsamcungphan phrrkhnasiichbthbyytiaehngkvsdikaephlingihmirchsthakhknmiihphuaethnsngkhmprachathipityhlaykhnekhaprachum khnathiphrrkhkhxmmiwnistthukyubipkxnaelw wnthi 23 minakhm irchsthakhprachumthiorngxuprakrkhrxll phayitsthankarnwunway chayexsxaepnaethwptibtihnathirksakhwamplxdphyphayinxakhar khnathikhnklumihydannxkkhdkhankdhmaythiesnxtaoknkhakhwyaelakhukkhamsmachikrthsphathikalngmathung thanakhxngphrrkhklang phrrkhihythisudxndbsaminirchsthakh klaymaepneddkhad hlnghitelxrihkhamndwywacaaek phunaphrrkh ludwik khas wa prathanathibdifxn hinedinbwrkhcayngkhngmixanacybyng veto khascungprakaswa phrrkhcasnbsnunrthbyytimxbxanac thaysud rthbyytimxbxanacphandwyesiyng 441 84 odymithukphrrkh ykewnphrrkhsngkhmprachathipity ehnchxb rthbyytimxbxanac rthbyytimxbxanac rwmkbkvsdikaephlingihmirchsthakh epliynrthbalkhxnghitelxrepnephdtkartamkdhmayodyphvtiny karpldwisythiehlux emuxmixanackhwbkhumetmehnuxxanacnitibyytiaelabriharaelw hitelxraelaphnthmitrthangkaremuxngkhxngekhaerimkarprabkhuaekhngkaremuxngthiehluxxyangepnrabb phrrkhsngkhmprachathipitythukyubtamphrrkhkhxmmiwnistaelasinthrphythnghmdthukyud khnathitwaethnshphaphaerngngancanwnmakxyuinkrungebxrlinephuxrwmkickrrmemyedy phlrbwayukhxngexsxaidthalaysanknganshphaphaerngnganthwpraeths wnthi 2 phvsphakhm kh s 1933 shphaphaerngnganthnghmdthukbibihyubaelaphunathukcbkum bangkhnthuksngipyngkhaykkkn xngkhkarshphaphihmthukcdtngkhun odyepntwaethnkhxngkhnngan naycangaelaecakhxngbrisththukkhnepnklumediyw shphaphaerngnganihmnisathxnaenwkhidchatisngkhmniyminwiyyanaehng oflkhsekimnchfth chumchnechuxchatieyxrmn khxnghitelxr emuxthungplayeduxnmithunayn phrrkhxun kidthukyubipcnhmd aeladwykhwamchwyehluxkhxngexsxa hitelxrkddnihphrrkhrthbalphsminnamkhxngekha hueknaebrk laxxk wnthi 14 krkdakhm kh s 1933 phrrkhnasikhxnghitelxridrbkarprakasihepnphrrkhkaremuxngchxbdwykdhmayphrrkhediywineyxrmni khxeriykrxngkhxngexsxaihmixanacthangkaremuxngaelakarthharephimkhunsrangkhwamkngwlxyangmakinhmuphunathangthhar xutsahkrrmaelakaremuxng hitelxrsnxngodykwadlangphunaexsxathnghmd inehtukarnsungtxmaeriykwa khunmidyaw rahwangwnthi 30 mithunaynthung 2 krkdakhm kh s 1934 hitelxrtngepahmaythiaexnsth erihm aelakhuaekhngkaremuxngkhnxun echn ekrkxr chtrsesxr aelaxditnaykrthmntri khwrth fxn chilechxr erihmaelaphunaexsxakhnxun rwmkbkhuaekhngkaremuxngkhxnghitelxrcanwnhnung thuklxm cbkum aelayingthing khnathiprachakhmrahwangpraethsaelachaweyxrmnbangkhntrahnktxkarkhatkrrm chaweyxrmnhlaykhnmxngwahitelxrkalngfunfuraebiyb wnthi 2 singhakhm kh s 1934 prathanathibdihinedinbwrkhthungaekxsykrrm hnungwnkxnhnann khnarthmntriidphankdhmayihmiphlichbngkhbemuxhinedinbwrkhesiychiwit sunglmlangtaaehnngprathanathibdiaelarwmxanackhxngprathanathibdikbnaykrthmntri hitelxrcungklaymaepnthngpramukhaehngrthaelapramukhrthbal michuxthangkarwa fuxerxrxundirchskhnselxr phunaaelanaykrthmntri kdhmayniaethcringaelwlaemidrthbyytimxbxanac khnathirthbyytimxbxanaccaihhitelxrepliynwithiptibticakrththrrmnuyid aethamekhachdecnmiihphankdhmayid thikhdkbtaaehnngprathanathibdi in kh s 1932 mikaraekikhrththrrmnuyephuxihprathansalyutithrrmsungsud miichnaykrthmntri rksakaraethnprathanathibdirahwangthimikareluxktngihm dwykdhmayni hitelxridpldthangaeksudthaytamkdhmaythicathxdekhaxxkcaktaaehnng inthanapramukhaehngrth hitelxrcungepnphubychakarthharsungsuddwy karmxbstyptiyankhxngthharaelakalasitampraephnithukepliynepnkaryunynkhwamphkditxhitelxrodytrng makkwataaehnngphubychakarsungsud wnthi 19 singhakhm karrwmtaaehnngprathanathibdikbnaykrthmntriidrbkarxnumtiodykarlngprachamti sungidrbesiyngsnbsnun 90 khxngphuxxkmaichsiththi mnxaccathukmxngepneruxngehlwihl thaphmcabxkkhunwakhbwnkarchatisngkhmniym nasi cakhngxyutxipxikepnphnpi xyalumphwkthiekhyhweraaisphmemux 15 pithiaelwtxnphmbxkwawnhnungphmcapkkhrxngeyxrmnsi lxngihphwknnmahweraatxnnikhngimtangxaircakphwkong txnphmprakaswaphmcaxyuinxanac hitelxrihsmphasntxphusuxkhaw mithunayn 1934 tn kh s 1938 hitelxrbibihrthmntriwakarsngkhram cxmphl aewrenxr fxn blxmaebrkh laxxk emuxsanwntarwcphbwa phrryaihmkhxngblxmaebrkhekhymiprawtiepnosephni hitelxrthxdphubychakarthharbk phlexk aewraenr fxn frithch hlnghnwyexsxasklawhawaekhamiswninkhwamsmphnthrwmephs naythharthngsxngerimdwngtkemuxphwkekhakhdkhankhasngkhxnghitelxrthisngihthngsxngetriymkxngthphbkihphrxmekhasusngkhramphayinpi kh s 1938 hitelxreriykehtukarnthngsxngniwa ehtuxuxchawblxmaebrkh friths aelaichmnepnkhxxangephuxkhwbrwmsaybychakarkxngthph hitelxrtngtwexngepnphubychakarthharsungsudaethnblxmaebrkh thaihekhasamarthbngkhbbychakxngthphidodytrng ekhaepliyntwrthmntriwakarsngkhramkboxebxrkhxmmnodaedrewrmkhth kxngbychakarthharsungsud hrux OKW naody phlexk wilehlm ikhethil aelainwnediywkn nayphlsibhknaythukthxdcaktaaehnng aela 44 naythukyay thnghmdthuksngsywaimphkditxnasiephiyngphx emuxthungeduxnkumphaphnth kh s 1938 nayphlxunxiksibsxngnaythukpld hlngidesrimsrangxanackaremuxngkhxngekhaaelw hitelxrprabpramhruxkacdkhuaekhngkhxngekhadwykrabwnkarchux iklchchlthung cdaethw ekhaphyayamhakarsnbsnuncaksatharnaephimetimodysyyacaklbphlkhxngphawaesrsthkictktaaelasnthisyyaaewrsayirchthisamesrsthkicaelawthnthrrm othethenrung srresriyphutay bnraebiynghna exernhlelx hxekiyrtiys inchakhlngepnthichumnumnasi exernthribuxen ewthiekiyrtiys rupcnthresiyw inkarchumnumthienuxrnaebrkh knyayn kh s 1934 in kh s 1935 hitelxraetngtng epnphumixanacetmdanesrsthkicsngkhram rbphidchxbkaretriymesrsthkicephuxsngkhram karfunfuburnaaelakartidxawuthihmidrbcdhaenginthunphanemofbil karphimphengin aelakaryudsinthrphykhxngphuthithukcbkuminkhxhaesiynhnamaephndin rwmthngyiw karwangnganldlngxyangmak cakhklankhnin kh s 1932 ehluxhnunglankhnin kh s 1936 hitelxrepnphuduaelhnunginokhrngkarphthnasatharnupophkhhnunginkhrngihythisudinprawtisastreyxrmni sungnaipsukarkxsrangekhuxn thanghlwngphiess thangrthifaelangansatharnaxun khaaerngldlngelknxyinchwngpikxnsngkhramolkkhrngthisxngemuxethiybkbinsmyiwmar khnathikhakhrxngchiphephimkhun 25 rthbalhitelxrsnbsnunsthaptykrrmxyangkwangkhwang xlaebrth sephr phunakartikhwamaebbkhlassikkhxnghitelxrnaipprbkbwthnthrrmeyxrmn thukkahndihrbphidchxbkarptisngkhrnsthaptykrrminebxrlin hitelxrepidkilaoxlimpikvdurxninebxrlin karsrangesrimxawuthaelaphnthmitrihm inkarprachumkbphunathangthharkhxngeyxrmniemuxwnthi 3 kumphaphnth kh s 1933 hitelxrklawthung karphichitephuxelebinseraminthangtawnxxkaelathaihepneyxrmnxyangirkhwamprani epnkhwammunghmaynoybaytangpraethssungsudkhxngekha ineduxnminakhm ecachayaebrnard wilehlm fxn buxolw elkhanukarexaswaewrthieks xmth krathrwngkartangpraeths xxkaethlngkarnihythungepaprasngkhkhxngnoybaytangpraethskbeyxrmni khux xnchlusskbxxsetriy karfunfuphrmaednaehngchatikhxngeyxrmniin kh s 1914 karptiesthkarcakdthangthharphayitsnthisyyaaewrsay karidxditxananikhmeyxrmniinaexfrikakhun aelaekhtxiththiphlkhxngeyxrmniinyuorptawnxxk hitelxrphbwaepahmaykhxngbuxolwnnthxmekinip insunthrphcnkhxngekhachwngni ekhaennyaepahmaykhxngnoybayaelakhwametmicthanganphayinkhwamtklngrahwangpraethsxyangsnti inkarprachumkhnarthmntrikhrngaerkin kh s 1933 hitelxrcdladbraycaythangthharmakxnenginchwyehluxphuwangngan eyxrmnithxntwcaksnnibatchatiaelakarprachumpldxawutholkineduxntulakhm kh s 1933 ineduxnminakhm kh s 1935 hitelxrprakaskhyaykalngphlewrmkhthepn 600 000 nay hkethakhxngcanwnthisnthisyyaaewrsayxnuyat rwmthungkarphthnakxngthphxakas lufthwfefx aelakarephimkhnadkxngthpherux khriksmarienx xngkvs frngess xitaliaelasnnibatchatipranamaephnkarehlaniwaepnkarlaemidsnthisyyaaewrsay khwamtklngnawikxngkvs eyxrmn wnthi 18 mithunayn kh s 1935 xnuyatihrawangnahnkkhxngkxngthpheruxeyxrmnephimkhunepn 35 khxngrachnawixngkvs hitelxreriykkarlngnamkhwamtklngdngklawwaepn wnthisukhthisudinchiwitekha dngthiekhaechuxwakhwamtklngniepncuderimtnkhxngphnthmitrxngkvs eyxrmnthiekhaidthanayiwinimnkhmphf frngessaelaxitaliimidrbkarpruksakxnlngnam sungepnkarbnthxnsnnibatchatiodytrng aelathingsnthisyyaaewrsaybnhnthangsukhwamimlngrxykn eyxrmniyudkhrxngekhtplxdthharinirnlnthxikkhrngineduxnminakhm kh s 1936 xnepnkarlaemidsnthisyyaaewrsay hitelxrsngkalngekhaipinsepnephuxsnbsnunphlexkfrngok hlngidrbkarkhxkhwamchwyehluxineduxkrkdakhm kh s 1936 inkhnaediywkn hitelxrphyayamsrangphnthmitrxngvs eyxrmnixyangtxenuxng inkarsnxngtxwikvtesrsthkicthiluklamkhunxnekidcakkhwamphyayamsrangesrimxawuthkhunihm hitelxrcungxxkbnthukkhxkhwamsngaehrmn ekxringephuxdaeninkaraephnkarsipiephuxiheyxrmniphrxmthasngkhramphayinsipikhanghna bnthukkhxkhwamaephnkarsipi eduxnsinghakhm kh s 1936 kahndkartxsusudkalngrahwang yiw bxlechwikh kbchatisngkhmniymeyxrmn sunginmummxngkhxnghitelxr caepntxngmikhwamphyayamthiphukmdinkaresrimsrangxawuthodyimkhanungthungmulkhathangesrsthkic wnthi 25 tulakhm kh s 1936 xitalikbeyxrmniprakasepnxksatxkn ekhantkaelxsos sixaon rthmntritangpraethskhxngrthbalebniot musoslini prakasxksarahwangeyxrmnikbxitali aelainwnthi 25 phvscikayn eyxrmnilngnaminsnthisyyatxtanxngkhkarkhxmmiwnistsaklkbyipun xngkvs cin xitaliaelaopaelndidrbechiyihekharwmsnthisyyadngklawdwy aetmiephiyngxitaliethannthilngnamin kh s 1937 hitelxrlathingkhwamfnphnthmitrxngkvs eyxrmni odyklangothswaphunaxngkvs imehmaasm ekhacdkarprachumlbthithaeniybrthbalirchkbrthmntrisngkhramaelatangpraeths tlxdcnhwhnathangthharineduxnphvscikaynpinn tambnthukkarprachumhxsbkh hitelxraethlngectnainkaridmasungelebinseramsahrbchaweyxrmn aelasngetriymthasngkhraminthangtawnxxk sungcaerimkhunimchakwa kh s 1943 ekhaaethlngwabnthukkarprachumthuxwaepn phinykrrmkaremuxng inkrniekhaesiychiwit ekharusukwawikvtesrsthkiceyxrmniidmathungcudthimatrthankarkhrxngchiphineyxrmnithdthxyrunaerngcntxngichechphaanoybaykawrawthangthhar khux yudxxsetriyaelaechoksolwaekiy ethann hitelxrkratunkarptibtixyangrwderw kxnthixngkvsaelafrngesscaepnphunakaraekhngkhnxawuthxyangthawr tn kh s 1938 tamtidkrnixuxchawblxmaebrkh frithch hitelxrthuxsiththikhwbkhumrabbnoybaythangthhar tangpraeths odypldnxyrthcaktaaehnngrthmntritangpraeths ekhakhrxngbthbathaelataaehnngoxaebrsethiyr ebeflchaaebr aedr ewrmkhth phubychakarthharsungsud caktn kh s 1938 subma hitelxrdaeninnoybaytangpraethssungmisngkhramepnepahmaysungsud karlangchati monthsnhlkkhxngnasi khux aenwkhidkhwamsaxadechuxchati wnthi 15 knyayn kh s 1935 ekhaesnxkdhmaysxngchbb sungruckkninchux kdhmayenuxrnaebrkh aekirchsthakh kdhmaynihamkarsmrsrahwangphuthimiichyiwkbeyxrmnechuxsayyiw aelahamkarcangstrimiichyiwxayutakwa 45 piinkhrweruxnyiw kdhmaykidknphuthi miichxaryn cakpraoychnkhxngphlemuxngeyxrmn noybaysuphnthusastrchwngaerkkhxnghitelxrmungipyngedkthibkphrxngthangkayaelakarphthnainokhrngkarthithukkhnannamwa karptibtibrndth Action Brandt aelaphayhlngxnumtiokhrngkarkarunykhataekphuihythibkphrxngthangcitaelakayxyangrayaerng sungpccubnmkeriykwa karptibtieth4 Action T4 aenwkhidelebinseramkhxnghitelxr sungrbhlkkarinimnkhmphf mungkaridmasungdinaednihmsahrbkartngthinthankhxngchaweyxrmninyuorptawnxxk ecenrlphlnoxsth aephnkarthwipsahrbthangtawnxxk kahndihprachakrinyuorptawnxxkaelashphaphosewiytswnthithukyudkhrxngenrethsipyngisbieriytawntk ephuxichepnaerngnganthashruxsngharthing dinaednthithukphichitcathuktngepnxananikhmkhxngphutngthinthanchaweyxrmnhruxthithuk thaihepneyxrmn aephnkaredimkahndihkrabwnkarnierimtnhlngkarphichitshphaphosewiyt aetemuximepnphl hitelxrcungeluxnaephnkarxxkip cnthungeduxnmkrakhm kh s 1942 kartdsinicniidnaipyngkarsngharchawyiwaelaphuthukenrethsxunsungthukphicarnawaimphungprarthna hxolkhxst xngkvs The Holocuast Endlosung der judischen Frage hrux karaekpyhachawyiwkhrngsudthay cdkhunaeladaeninkarodyihnrich himelxraelairnard ihdrich bnthukkarprachumwnnes sungcdkhunemuxwnthi 20 mkrakhm kh s 1942 aelanaodyirnard ihdrich rwmkbecahnathinasixawuosxunxiksibhakhn epnhlkthanchdecnthisudthungkarwangaephnhxolkhxstxyangepnrabb wnthi 22 kumphaphnth mibnthukkhaklawkhxnghitelxrtxephuxnrwmnganwa sukhphaphdikhxngeracafunkhunkdwykarsngharyiwethann mikhaykkknaelakhaymrnanasipramansamsibaehngichephuxwtthuprasngkhni cnthungvdurxn kh s 1942 sthanthitngkhaykkknexachwithsthukddaeplngihsamarthrxngrbphuthukenrethscanwnmakephuxsngharhruxichaerngnganthas thharxemriknyunxyukhangrthekhnsungmisphkxngetmbnrthbrrthuknxkemruinkhaykkknbuekhinwlththiephingidrbkarpldplxy emsayn kh s 1945 aemimpraktwamikhasngecaacngcakhitelxrthixnumtikarsngharhmu ekhaidxnumtiixnsthskruphephn hnwysngharsungtidtamkxngthpheyxrmnphanopaelndaelarsesiy ekhayngidrbraynganxyangdiekiywkbphvtikrrmkhxnghnwynidwy rahwangkarsxbswnodysaylbosewiyt bnthuksungidrbkarepidephyinxikkwahasibpiihhlng khnkhbrthkhxnghitelxr ihns linekx aelaphuchwykhxngekha xxthoth kunechx aethlngwahitelxrmikhwamsnicodytrnginkarphthnahxngrmaeks rahwang kh s 1939 thung 1945 exsxas sungidrbkarsnbsnuncakrthbalphuihkhwamrwmmuxaelathhareknthcakpraethsthithukyudkhrxng rbphidchxbtxkaresiychiwitthungsibexdthungsibsilanchiwit rwmthngchawyiwhklankhn khidepnsxnginsamkhxngprachakryiwinyuorp aelachawormarahwang 500 000 thung 1 500 000 khn karesiychiwitekidkhuninkhaykkknaelakhaymrna yanchawyiw aelakarpraharchiwithmu ehyuxkarlangchatihlaykhnthukrmaekscnesiychiwit khnathibangesiychiwitephraahiwohyhruxpwykhnaichaerngnganthas noybaykhxnghitelxryngsngphlihmikarsngharchawopaelnd aelaechlysukosewiyt phwkkhxmmiwnistaelastrukaremuxngxun phwkrkrwmephs phuphikarthangkayhruxic phunbthuxlththiphyanphrayaewh nikayaexdewntist aelaphunashphaphaerngngan hitelxrimekhypraktwaeyuxnkhaykkknaelamiidphudthungkarsngharxyangepidephy sngkhramolkkhrngthisxngkhwamsaercthangkarthutchwngtn hitelxrkboysueka mtsuoxka rthmntritangpraethsyipun thikarprachuminkrungebxrlinemuxeduxnminakhm kh s 1941 thiyunxyukhanghlngnnkhux oyxakhim fxn ribebinthrxphphnthmitrkbyipun ineduxnkumphaphnth kh s 1938 dwykaraenanacakrthmntritangpraethsthiephingidrbaetngtngihm echoksolwaekiy phuniymyipunxyangaekhngkhn hitelxrcungyutiphnthmitrcin eyxrmnkbsatharnrthcinaelaekhaepnphnthmitrkbyipunthithnsmyaelathrngxanackwa hitelxrprakasrbrxngaemncukw rththiyipunyudkhrxnginaemncueriy khxngeyxrmni aelaslakarxangsiththikhxngeyxrmniehnuxxditxananikhminaepsifikthiyipunthuxkhrxngxyu hitelxrsngyutikarsngxawuthipyngcin aelaeriyknaythhareyxrmnthithangankbkxngthphcinthnghmdklb ephuxepnkartxbot phlexk eciyng ikhechk khxngcinykelikkhwamtklngesrsthkiccin eyxrmnithnghmd thaiheyxrmnikhadwtthudibcakcin aemcincayngkhnsngthngsetnsungepnolhasakhyinkarphlitxawuth txipcnkrathng kh s 1939 xxsetriyaelaechoksolwaekiy wnthi 12 minakhm kh s 1938 hitelxrprakasrwmxxsetriyekhakbnasieyxrmniinxnchlus caknnhitelxrmungkhwamsnickhxngekhaipyngprachakrechuxchatieyxrmninekhtsuedethinlnthkhxngechoksolwaekiy wnthi 28 29 minakhm kh s 1938 hitelxrcdkarprachumlbkhunhlaykhrnginkrungebxrlinkbkhxnrd ehniln aehngsuedetnihmfrxnth Heimfront aenwsnbsnun phrrkhkaremuxngechuxchatieyxrmnihythisudinsuedethinlnth thngsxngtklngwaehnilncaeriykrxngsiththipkkhrxngtnexngsahrbchaweyxrmnsuedetnephimkhuncakrthbalechoksolwaekiy sungcaepnkhxxangsahrbkarptibtithangthhartxechoksolwaekiy ineduxnemsayn kh s 1938 ehnilnbxkrthmntritangpraethshngkariwa imwarthbalechkcaesnxxair ekhacaeriykrxngsungkhunesmx ekhatxngkarbxnthalaykhwamekhaicthukthang ephraaniepnephiyngwithiediywthicaraebidechoksolwaekiyxyangrwderw odyswntw hitelxrmxngwapyhasuedetnimsakhy ectnathiaethcringkhxngekhannkhuxsngkhramphichitechoksolwaekiy eduxntulakhm kh s 1938 hitelxr yunxyuinemxrsieds khbphanfungchninechb swnhnungkhxngphumiphakhsuedethinlnththimiprachakrchaweyxrmnxasyxyumakkhxngechoksolwaekiy sungthukphnwkekhakbnasieyxrmnicakkhwamtklngmiwnik ineduxnemsayn kh s 1938 hitelxrsngih OKW etriymkarsahrbflkrun Fall Grun krniekhiyw chuxrhssahrbkarbukkhrxngechoksolwaekiy dwyphlkhxngaerngkddnthangkarthutxyanghnkcakfrngessaelaxngkvs wnthi 5 knyayn kh s 1938 prathanathibdiechoksolwaekiy exdward ebench cungprakas aephnkarthisi ephuxcdraebiybpraethsihmtamrththrrmnuy sungtklngrbkhxeriykrxngswnihykhxngehnilnwadwykarpkkhrxngtnexngkhxngsuedetn ihmfrxnthkhxngehnilnsnxngtxkhxesnxkhxngebenchdwykarpathaxyangrunaernghlaykhrngkbtarwcechoksolwaekiy sungnaipsukarprakaskdxykarsukinbangekhtkhxngsuedetn eyxrmninnphungphanamnnaekha karephchiyhnakbxngkvsehnuxkrniphiphathechoksolwaekiyxactdthxnesbiyngnamnkhxngeyxrmniid hitelxrcungeluxnflkrunxxkip sungedimwangaephniwemuxwnthi 1 tulakhm kh s 1938 wnthi 29 knyayn kh s 1938 hitelxr enwill echmebxreln exdwr daladiey aelaebniot musosliniekharwmkarprachumhnungwninkrungmiwniksungnaipsukhwamtklngmiwnik sungidmxbekhtsuedethinlnthihaekeyxrmni echmebxrelnphxickbkarprachummiwnik odyeriykphlwa sntiphaphinsmykhxngera khnathihitelxrokrthkboxkasthasngkhramthiphladipin kh s 1938 hitelxraesdngkhwamphidhwngkhxngekhatxkhwamtklngmiwnikxxkmainsunthrphcnemuxwnthi 9 tulakhm kh s 1938 insarbrukekhn inmummxngkhxnghitelxr sntiphaphsungxngkvsepnnayhnann aemcaxanwypraoychntxkareriykrxngbnghnakhxngeyxrmni aetkepnkhwamphayaephthangkarthutsungyingkratunectnakhxnghitelxrinkarcakdxanackhxngxngkvsephuxkruythangaekkarkhyaytwipthangtawnxxkkhxngeyxrmni phlcakkarprachumni hitelxridrbeluxkepnbukhkhlaehngpikhxngnitysarithm kh s 1938 hitelxreyuxnprasathprak imnanhlngechoksolwaekiythukyudkhrxng 15 minakhm kh s 1939 inplay kh s 1938 aelatn kh s 1939 wikvtkarnesrsthkicthidaenintxipsungekidkhuncakkhwamphyayamsrangesrimxawuthihmbibihhitelxrtdngbpramanpxngknpraethslngxyangmak wnthi 30 mkrakhm kh s 1939 hitelxrklawsunthrphcn sngxxkhruxtay odyeriykrxngkarrukthangesrsthkickhxngeyxrmniephuxephimsinthrphyaelkepliyntangpraethseyxrmniephuxcayepnkhawtthudib echn ehlkkhunphaphsungsungcaepntxxawuththangthhar wnthi 15 minakhm kh s 1939 odyepnkarlaemidkhxtklngmiwnikaelaxacepnephraaphlkhxngwikvtkarnesrsthkicthithlaluksungtxngkarsinthrphyephimetim hitelxrcungsngihewrmkhthbukkhrxngprak aelacakprasathprakidprakasihepnrthinxarkkhakhxngeyxrmni sngkhramolkkhrngthisxngpathu inkarprachumswntwin kh s 1939 hitelxrxthibaywaxngkvsepnstruhlkthicatxngthukphichit inmummxngkhxngekha karlblangopaelndcakkarepnchatimixthipityepnkarohmorngthicaepnsuepahmaynn piktawnxxkcatxngidrbkarthaihplxdphy aelathidincathukephimekhaipinelebinseramkhxngeyxrmni hitelxrtxngkarihopaelndepnrthbriwarkhxngeyxrmnihruxmichannkthukthaihepnklangephuxihpikthangtawnxxkkhxngirchplxdphy aelaephuxpxngknkarpidlxmkhxngxngkvsthiepnipid aetedim hitelxrchxbaenwkhidrthbriwar sungthukptiesthodyrthbalopaelnd dngnn hitelxrcungtdsinicbukkhrxngopaelnd sungekhathuxwaepnepahmaynoybaytangpraethshlkkhxngeyxrmniin kh s 1939 hitelxrthukkhdicthixngkvs rbprakn exkrachkhxngopaelnd sungprakasemuxwnthi 31 minakhm kh s 1939 aelabxkaekephuxnrwmnganekhawa chncabmekhruxngdumpisacihphwkmn insunthrphcninwilehlmchaewnephuxplxyeruxpracybanethiyrphithslngnaemuxwnthi 1 emsayn kh s 1939 hitelxrkhucabxkelikkhwamtklngnawixngkvs eyxrmnepnkhrngaerk hakxngkvsyunkrankarrbpraknexkrachkhxngopaelnd sungekhamxngwaepnnoybay tiwnglxm wnthi 3 emsayn kh s 1939 hitelxrsngkarihfaythharetriymkarsahrbfliwss Fall Weiss krnikhaw aephnkarsahrbkarbukkhrxngkhxngeyxrmniinwnthi 25 singhakhm kh s 1939 insunthrphcntxirchsthakhemuxwnthi 28 emsayn hitelxrbxkelikthngkhwamtklngnawikxngkvs eyxrmnaelasnthisyyaimrukraneyxrmni opaelnd hitelxrklawaeknayphlkhxngekhawaaephnkardngedimkhxngekhain kh s 1939 khux cdtngkhwamsmphnththiyxmrbidkbopaelndephuxtxsukbtawntk enuxngcakopaelndptiesthcaepnbriwarkhxngeyxrmni hitelxrcungechuxwathangeluxkediywkhxngekhakhuxkarbukkhrxngopaelnd nkprawtisastr echn wileliym khar aekrhard iwnaebrk aelaexiyn ekhxrchxw esnxwa saehtuhnungthihitelxrerngthasngkhram ephraakhwamklwphidpktiaelahmkmunkhxngekhawacataykxnwyxnkhwr aeladngnn cungmikhwamrusukwa ekhaxacimmichiwitxyucnsaercngankhxngekhakid hitelxredimkngwlwakarocmtithangthhartxopaelndxacsngphlihekidsngkhramkbxngkvskxnewlaxnkhwr xyangirkdi rthmntritangpraethskhxnghitelxr aelaxditexkxkhrrachthutpracakrunglxndxn oyxakhim fxn ribebinthrxph yunynaekekhawathngxngkvsaelafrngesscaimekharphkarphukmdkhxngphwktntxopaelnd aelasngkhrameyxrmni opaelndcaepnephiyngsngkhraminphumiphakhcakd ribebinthrxphxangwaineduxnsinghakhm kh s 1938 rthmntritangpraethsfrngess chxrch bxaen Georges Bonnet idaethlngwa frngessmxngwayuorptawnxxkepnekhtxiththiphlcaephaakhxngeyxrmni ribebinthrxphidaesdngothrelkhphayin diplomatic cable aekhitelxrsungsnbsnunkarwiekhraahkhxngekha exkxkhrrachthuteyxrmnipracakrunglxndxn aehraebrth fxn dirkhesn snbsnunkarwiekhraahkhxngribebinthrxphdwykaredinhnngsuxineduxnsinghakhm kh s 1939 odyraynganwaechmebxrelnthrab okhrngsrangsngkhmkhxngxngkvs krathngkrxbkhwamkhidkhxngckrwrrdixngkvs wacaimrxdphnkhwamyungehyingkhxngsngkhramaemcachnaktam aeladngnncungcayxmxxntam emuxepnechnnn wnthi 21 singhakhm kh s 1939 hitelxrcungsngradmphlthangthhartxopaelnd aephnkarsahrbkarthphthangthharinopaelndkhxnghitelxremuxplayeduxnsinghakhmhruxtneduxnknyaynnntxngxasykarsnbsnunodypriyaykhxngosewiyt snthisyyaimrukran ktikasyyaomoltxf ribebinthrxph rahwangeyxrmnikbshphaphosewiyt phayitkarnakhxngocesf stalin rwmphakhphnwklbdwykhwamtklngaebngopaelndrahwangsxngpraeths inkarsnxngtxsnthisyyaomoltxf ribebinthrxph xngkvsaelaopaelndlngnaminphnthmitrthangkarthharxngkvs opaelndemuxwnthi 25 singhakhm kh s 1939 sungkhdkbthiribebinthrxphphyakrniwwasnthisyyathiephingkxtngnicatdkhwamsmphnthrahwangxngkvs opaelnd phnthmitrni rwmkbkhawcakxitalithiwamusoslinicaimekharphsnthisyyaehlk thaihhitelxreluxnkarocmtiopaelndxxkipcakwnthi 25 singhakhm ipepn 1 knyayn imkiwnkxnsngkhramerimtn hitelxrphyayamxxkxubayihxngkvswangtwepnklangodyesnxkarrbpraknimrukrantxckrwrrdixngkvsemuxwnthi 25 singhakhm aelaodyihribebinthrxphesnxaephnsntiphaphnathisudthaydwycakdewlasnxyangepnipimidinkhwamphyayamthicaklawothswasngkhramepnphlcakkhwamechuxychakhxngxngkvsaelaopaelnd ephuxichepnkhxxangsahrbkarbukkhrxngthangthhartxopaelnd hitelxrcungxangsiththiehnuxnkhresridnthsichaelasiththiinthnnnxkxanaekhtkhamchnwnopaelnd sungeyxrmniidykihphayitsnthisyyaaewrsay aemkhwamkngwlkhxnghitelxrwaxngkvsxacekhaaethrkaesng thaythisud ekhaimidyutiepahmayinxnthicabukkhrxngopaelnd aelawnthi 1 knyayn kh s 1939 eyxrmnikidbukkhrxngopaelndthangtawntk xngkvsaelafrngesssnxngodyprakassngkhramtxeyxrmniinwnthi 3 knyayn sungidsrangkhwamprahladicaekhitelxr thaihekhahnipharibebinthrxphaelathamekhaxyangokrth wa inglathini frngessaelaxngkvsmiidptibtitamkarprakaskhxngtninthnthi aelaemuxwnthi 17 knyayn kxngthphosewiytbukkhrxngopaelndcakthangtawnxxk opaelndcaimmiwnphngadkhunmaxikehmuxnkhrngsnthisyyaaewrsay niimephiyngthukkarntiodyeyxrmniethann aetyngthukkarntiodyrsesiydwy hitelxr klawsunthrphcntxsatharnaindnthsich knyayn kh s 1939 smachikirchsthakhaesdngkhwamekharphtxhitelxrthiorngxuprakrkhrxllemuxwnthi 6 tulakhm kh s 1939 hlngsinsudkarthphtxopaelnd karsuyesiyopaelndtammadwysingthinkhnngsuxphimphrwmsmyeriykwa sngkhramlwng hruxsithskhrik hitelxrsngkarihekailethxraehngopaelndtawntkechiyngehnux xlaebrth fxrsaetr aelaxarthur ikraesr thiephingidrbaetngtngihm aephlng phunthi epneyxrmn Germanise aelaihsyyaaekthngsxngwa caimmikartngkhatham thungwithikarthiich dwykhwamrakhayickhxnghimelxr fxrsaetrihchawopaelndthxngthinlngnaminaebbsungprakaswaphwkekhamieluxdeyxrmn aelaimtxngichexksarhlkthanxunprakxb aetxikdanhnung ikraesrerimkarrnrngkhlangechuxchatixyangohdraytxprachakropaelndinxanackhxngekha ikraesrbnkbhitelxrwafxrsaetrxnuyatihchawopaelndhlayphnkhnidrbkaryxmrbwaepnchaweyxrmn odyechuxchati aeladngnn inmummxngkhxngikraesr cungepnxntraytx khwambrisuththithangechuxchati khxngeyxrmn hitelxrbxkhimelxraelaikraesrihyxmrbkhwamkhbkhxngkbfxrsaetr aelaimihphadphingthungekha karcdkarkbkrniphiphathfxrsaetr ikraesrnn idthukphthnaepntwxyangkhxngthvsdi thanganmungsufuxerxr khxngekhxrchxw hmaykhwamwa hitelxrsngkarxyangkhlumekhruxaelakhadhwngihphuitbngkhbbychakhxngekhadaeninnoybaynnexng xikkrniphiphathhnungekidkhunrahwangfaythiaetktangkn danhnung naodyhimelxraelaikraesr snbsnunkarkwadlangechuxchatiinopaelnd aelaxikdanhnung naodyekxringaelahns frngkh khahlwngihydinaednecenrlkxaewrnemnthinopaelndekhtyudkhrxng eriykrxngihepliynopaelndepn yungchang khxngirch inkarprachumsungcdthikhvhasnkharinhlkhxngekxringemuxwnthi 12 kumphaphnth kh s 1940 krniphiphathniedimidrbkartdsinehnchxbkbmummxngkaraeswnghapraoychnthangesrsthkickhxngekxring frngkh sungyutikarenrethskhnanihysungrbkwnesrsthkic xyangirkdi wnthi 15 phvsphakhm kh s 1940 himelxrnaesnxhitelxrdwybnthukkhxkhwam bangkhtiwadwykarptibtitxprachakrtangdawinthangtawnxxk sungeriykrxngihkhbilprachakryiwthngyuorpipyngaexfrikaaelaldthanaprachakropaelndthiehluxlngepn chnchnaerngnganirphuna hitelxrlngkhwamehntxkhxesnxdngklawwa dingam ekhacunglaelyekxringaelafrngkh aelananoybaykhxnghimelxr ikraesripptibtiinopaelnd hitelxreyuxnkrungparisphrxmdwysthapnik xlaebrth chepiyr say aelasilpin xaron ebrekxr 23 mithunayn kh s 1940 hitelxrsngkarihesrimsrangkalngthhartamchayaedntawntkkhxngeyxrmni aelaineduxnemsayn kh s 1940 kxngthpheyxrmnbukkhrxngednmarkaelanxrewy ineduxnphvsphakhm kh s 1940 kxngthphkhxnghitelxrocmtifrngess aelaphichitlkesmebirk enethxraelnd aelaebleyiym chychnaehlanikratunihmusoslininaxitaliekhaphwkkbhitelxrinwnthi 10 mithunayn kh s 1940 frngessyxmcannemuxwnthi 22 mithunayn kh s 1940 xngkvs sungkxngthphthukbibihxxkcakfrngessthangthaelcakdnekhirk yngkhngsurbekhiyngkhangekhruxckrphphxngkvsxun inyuththnawiaextaelntik hitelxrthabthamsntiphaphtxxngkvs sungkhnaninaodywinstn echxrchill aelaemuxkarthabthamnnthukptiesth ekhaidsngkarthingraebidochbchwytxshrachxanackr ohmorngsukarbukkhrxngshrachxanackrthiwangaephniwkhxnghitelxrepnchudkarocmtithangxakasinyuththkarbrietntxthanthphxakaskxngthphxakasxngkvs aelasthanierdarthangtawntkechiyngitkhxngxngkvs xyangirkdi lufthwfefxkhxngeyxrmniimsamarthexachnakxngthphxakasxngkvs wnthi 27 knyayn kh s 1940 ktikasyyaitrphakhiidrbkarlngnaminkrungebxrlin odysabuor khurusu phuaethnyipun oyxakhim fxn ribebinthrxph phuaethnirch aelakalixasos sixaon phuaethnxitali khwamtklngdngklawphayhlngkhyayiprwmthunghngkari ormaeniyaelablaekeriy praethsehlaniruckkninchuxklumxksapraeths cudprasngkhkhxngsnthisyyakhux ephuxkhdkhwangshrthxemrikamiihsnbsnunxngkvs cnthungplayeduxntulakhm kh s 1940 khwamepnecathangxakassahrbkarbukkhrxngxngkvs ptibtikarsingotthael imxacbrrluid aelahitelxrsngkartiochbchwythangxakasyamklangkhuntamnkhrtang khxngxngkvs rwmthnglxndxn phlimth aelakhxewnthri invduibimphli kh s 1941 hitelxrthukthaihikhwekhwcakaephnkarthangtawnxxkodykickrrmthangthharinaexfrikaehnux khabsmuthrbxlkhanaelatawnxxkklang ineduxnkumphaphnth kxngthpheyxrmnipthungliebiyephuxsnbsnunxitali ineduxnemsayn hitelxrsngkarbukkhrxngyuokslaewiy aelatamdwykarbukkhrxngkrisinewlaxnrwderw ineduxnphvsphakhm kxngthpheyxrmnthuksngipsnbsnunkalngkbtxirkthisurbtxxngkvsaela wnthi 23 phvsphakhm hitelxrxxkkhasngfuxerxr chbbthi 30 thangsukhwamprachy emuxwnthi 22 mithunayn kh s 1941 odyfafunsnthisyyaimrukranhitelxr stalin thhareyxrmnsamlannayocmtishphaphosewiytinptibtikarbarbarxssa karbukkhrxngniidyudphunthiidkwangihyiphsal rwmthngrthbxltik eblarus aelayuekhrn xyangirkdi karrukkhubkhxngeyxrmnihyudlngimiklcakkrungmxsokineduxnthnwakhm kh s 1941 odyvduhnawkhxngrsesiyaelakartanthanxyangdueduxdkhxngosewiyt karchumnumkhxngthharosewiyttrngphrmaedntawnxxkkhxngeyxrmniinvduibimphli kh s 1941 xacepnehtuihhitelxrmamiswninflukhth nkh fxrn binipkhanghna ephuxephchiyhnakbkhwamkhdaeyngxnhlikeliyngimid wiktxr suowrxf aexnsth othphithch ocxakhim hxffmnn aexnsth nxlethx aelaedwid exiyrwing idthkethiyngknwaehtuphlxyangepnthangkarsahrbbarbarxssathikxngthpheyxrmnihnnepnehtuphlaethcring khux sngkhrampxngknephuxpdpxngkarocmtikhxngosewiytthietriymkariwemuxeduxnkrkdakhm kh s 1941 xyangirkdi thvsdinithuktietiyn nkprawtisastrxemrikn ekxrhard iwnebirk ekhyepriybphusnbsnunthvsdisngkhrampxngknkbphuthiechuxin ethphniyay karbukkhrxngshphaphosewiytkhxngkxngthphbkeyxrmnthungkhidsudemuxwnthi 2 thnwakhm kh s 1941 emuxkxngphlthharrabthi 258 rukekhaipphayinrsmi 24 kiolemtrcakkrungmxsok iklphxthicaehnyxdaehlmkhxngekhrmlin xyangirkdi phwkekhaimidetriymkarsahrbsphaphxnohdraykhxngvduhnawrsesiy aelakxngthphosewiytphlkdnkxngthpheyxrmnklbmaepnrayathangkwa 320 kiolemtr wnthi 7 thnwakhm kh s 1941 yipunocmtiephirlharebxr rthhaway siwnihhlng karprakassngkhramxyangepnthangkartxshrthxemrikakhxnghitelxr thaiheyxrmniekhasusngkhramkbkalngphsmsungmipraethsckrwrrdiihythisudinolk khux ckrwrrdixngkvs praethsxutsahkrrmaelakarenginyingihythisudinolk khux shrthxemrika aelapraethsthimikxngthphihythisudinolk khux shphaphosewiyt hitelxrprakassngkhramkbshrth 11 thnwakhm 1941 emuxhimelxrekhaphbhitelxrinwnthi 18 thnwakhm kh s 1941 aelwtngkhatham caihthayngingkbphwkyiwinrsesiy hitelxrtxbwa kkacdthingehmuxn knnnaehla nkprawtisastrxisraexl eyhuda bawexxr Yehuda Bauer idxxkkhwamehnwa khwamehnkhxnghitelxrnixaciklekhiyngmakthisudethathinkprawtisastrcahakhasngsrupkhnsudthaycakhitelxrinphnthukhatthidaeninrahwangkarlangchatiodynasi play kh s 1942 kxngthpheyxrmnprachyinyuththkarexl xalaemnkhrngthisxng khdkhwangaephnkarkhxnghitelxrinkaryudkhlxngsuexsaelatawnxxkklang eduxnkumphaphnth kh s 1943 yuththkarstalinkradsinsudlngdwykxngthpheyxrmnthihkthukthalaylngxyangsineching tamdwykhwamphayaepheddkhadinyuththkarekhisk kartdsinicthangthharkhxnghitelxrerimimmnkhngephimkhun aelathanathangthharaelaesrsthkickhxngeyxrmnibnthxnlngipphrxmkbsukhphaphkhxnghitelxr ekhxrchxwaelakhnxun echuxwa hitelxrxacpwyepnorkhpharkinsn hlngkarbukkhrxngxitalikhxngfaysmphnthmitrin kh s 1943 musoslinithukpldodypiexotr baodloy phuyxmcanntxfaysmphnthmitr tlxd kh s 1943 aela 1944 shphaphosewiytkhxy bibihkxngthphkhxnghitelxrlathxytamaenwrbdantawnxxk wnthi 6 mithunayn kh s 1944 kxngthphsmphnthmitrtawntkkhunfngthangtxnehnuxkhxngfrngessinhnunginptibtikarsaethinnasaethinbkthiihythisudinprawtisastr ptibtikaroxewxrlxrd dwyehtukhwamesuxmthxykhxngkxngthpheyxrmn naythharhlaykhncungsrupwa khwamphayaephhlikeliyngimid aelakartdsinicphidphladhruxkarptiesthkhxnghitelxrcayudsngkhramxxkipaelasngphlihpraethschatiphngphinasyxyyb khwamphyayamlxbsngharthiidrbkhwamsnichlaykhrngtxhitelxrekidkhunrahwangchwngni hxngaephnthisungthukthalaythirnghmapahlngaephnlb 20 krkdakhm rahwang kh s 1939 aela 1945 mihlayaephninkarlxbsngharhitelxr sungbangaephndaeninipyngradbthisakhy aephnthiepnthiruckknmakthisudmacakphayineyxrmni aelaxyangnxybangswnmacakoxkasthiephimkhunthieyxrmnicaaephsngkhram ineduxnkrkdakhm kh s 1944 aephnlb 20 krkdakhm swnhnungkhxngptibtikarwalkhuxerx ekhlas fxn chetaefinaebrkh tidtngraebidiwinkxngbychakaraehnghnungkhxnghitelxr owlfschnesx rnghmapa thirsethnburk hitelxrrxdchiwitxyanghwudhwidephraabangkhnphlkkraepaexksarthibrrcuraebidiphlngkhaotaprachumthihnkxyangimru emuxekidraebidkhun otasathxnaerngraebidswnmakipcakhitelxr phayhlng hitelxrsngkartxbotxyangohdray sungsngphlihmikarpraharchiwitkhnkwa 4 900 khn khwamprachyaelaxsykrrm cnthungplay kh s 1944 kxngthphaedngidkhbkxngthpheyxrmnthxyklbipyngyuorptawntk aelasmphnthmitrtawntkkalngrukkhubekhaipineyxrmni hlngidrbaecngkhwamlmehlwkhxngkarrukxarednenskhxngekha hitelxrcungtrahnkwaeyxrmnikalngaephsngkhram khwamhwngkhxngekha sungkhunxyukbkarthungaekxsykrrmkhxngaefrngklin di orsewltemuxwnthi 12 emsayn kh s 1945 khux karecrcasntiphaphkbxemrikaaelaxngkvs hitelxrsngkarihthalayokhrngsrangphunthanthangxutsahkrrmthnghmdkhxngeyxrmnikxnthicatkxyuinmuxfaysmphnthmitr odythatammummxngkhxngekhathiwakhwamlmehlwthangthharkhxngeyxrmniesiysiththiinkarxyurxdepnchati kardaeninkaraephnkarephathuksingthukxyangnithukmxbhmayipyngrthmntrixawuth xlaebrth chepiyr phukhdkhasngekhaxyangengiyb wnthi 20 emsayn wnekidpithi 56 khxngekha hitelxredinthangkhrngsudthaycakfuxerxrbungekhxripyngphunthiklangaecng inswnthithukthalaykhxngthaeniybrthbalirch ekhamxbkangekhnehlkihthharhnumaehngyuwchnhitelxr cnthungwnthi 21 emsayn aenwrbeblarusthi 1 khxngekxxrki cukhxf idecaaphankarpxngknsudthaykhxngkxngthphklumwistulakhxngphlexk kxththard ihnrisi rahwangyuththkarthirabsungsiolw aelarukekhaipyngchankrungebxrlin inkarimyxmrbekiywkbsthankarnxnelwrayephimkhun hitelxrtngkhwamhwngkhxngekhatxhnwy xaremxbithlung chitenxr kxngthharchitenxr phayitkarbngkhbbychakhxngnaythharwfefin exsxas phloth eflikhs chitenxr hitelxrsngkarihchitenxrocmtipikdanehnuxkhxngswnthiyunxxkma aelakxngphleyxrmnthiekaidrbkhasngihocmtiipthangehnuxaebb pincer attack rahwangkarprachumthharemuxwnthi 22 emsayn hitelxrthamthungkarrukkhxngchitenxr hlngkhwamengiybepnewlanan ekhaidrbbxkelawa karocmtinnimekhyekidkhunaelaphwkrsesiyidtifaekhaipinkrungebxrlin khawnithaihhitelxrkhxihthukkhnykewnwilehlm ikhethil xlefrd oyedil hns ekhrphs aelawilehlm bwrkhdxrf xxkcakhxng caknn ekhaidpranamtxkarthrysaelakhwamirkhwamsamarthkhxngphubngkhbbychakhxngekhaxyangephdrxn aelalngexydwykarprakasepnkhrngaerkwa eyxrmniaephsngkhram hitelxrprakaswaekhacaxyuinkrungebxrlincnthungcudcbaelacaknnyingtwtay ekibebilsxxkprakaswnthi 23 emsaynkratunihphlemuxngebxrlinpxngknnkhrxyangklahay wnediywknnn ekxringsngothrelkhcakebxrchethskaedninrthbawaeriy aeyngwa tngaethitelxrthuktdkhadinkrungebxrlin twekhakhwrepnphunaeyxrmniaethn ekxringidkahndewla hlngcaknnekhacaphicarnawahitelxrirkhwamsamarth hitelxrsnxngdwykhwamokrthodysngcbkumekxring aelaemuxekhiynphinykrrmemuxwnthi 29 emsayn ekhathxdekxringxxkcaktaaehnngthnghmdinrthbal krungebxrlinidmathuktdkhadcakswnthiehluxkhxngeyxrmnixyangsineching wnthi 28 emsayn hitelxrphbwa himelxrkalngphyayamecrcaenguxnikhkaryxmaephtxsmphnthmitrtawntk ekhacungsngcbkumhimelxraelasngyingaehrmnn efekilixn phuaethnexsxaskhxnghimelxrthikxngbychakarkhxnghitelxrinkrungebxrlin hlngethiyngkhunwnthi 29 emsayn hitelxrsmrskbexfa ebraninphithitamkdhmayelk inhxngaephnthiphayinfuxerxrbungekxr hlngthanxaharechanganaetngthieriybngaykbphrryaihmkhxngekha caknn ekhanaelkhanukarethraedil yungengx Traudl Junge ipxikhxnghnungaelabxkihekhiynphinykrrmchbbhlngsudkhxngekha ehtukarndngklawmihns ekhrphs wilehlm bwrkhdxrf oyesf ekibebils aelamarthin bxrmnepnphyanaelaphulngnamexksar inchwngbay hitelxrthrabkhawkarpraharchiwitphuephdckarchawxitali ebniot musoslini sungxacephimkhwamtngicthicahnikarcbtw hnaaerkkhxnghnngsuxphimphkhxngthphshrth stasaexndsitrph wnthi 2 phvsphakhm kh s 1945 wnthi 30 emsayn kh s 1945 hlngkarsurbthnntxthnnxyangekhmkhn emuxkxngthphosewiytxyuinrayahnunghruxsxngchwngtukcakthaeniybrthbalirch hitelxraelaebranthaxtwinibatkrrm ebrankdaekhpsulisyaind aelahitelxryingtwtaydwypunphkwlethxr ephephkha Walther PPK 7 65 mm khxngekha rangirwiyyankhxnghitelxraelaexfa ebranthuknakhunbnidaelaphanthangxxkchukechinkhxngbngekxripyngswnthithukraebidhlngthaeniybrthbalirch thisungthngsxngrangthukwangiwinhlumraebid raddwynamn aelacudif khnathikxngthphaedngyingpunihythlmtxenuxng ebxrlinyxmcannemuxwnthi 2 phvsphakhm bnthukincdhmayehtuosewiyt sungidmahlngshphaphosewiytlmslay aesdngihehnwa sphkhxnghitelxr ebran ocesfaelamkda ekibebils luk ekibebilsthnghkkhn phlexk hns ekhrphs aelasunkhkhxnghitelxr thukfngaelakhudkhunmahlaykhrng caknnosewiytcdkarepha bdaelaopryxthithiaemnabiedriths sakhahnungkhxngaemnaexlebmrdknxktukthihitelxrekidinebraena xm xinn praethsxxsetriy epnsilaxnusrnyaetuxnkhwamnasaphrungkhxngsngkhram carukwa ephuxsntiphaph esriphaph aelaprachathipity ckimmifassistxik lansphkhxyyaetuxn karyingtwtaykhxnghitelxrthukepriybethiybodykhnrwmsmywaepn khatha kalngesuxm othaelndrabuwa emuxirsungphuna lththichatisngkhmniymk raebidehmuxnkbfxng phvtikarnkhxnghitelxraelaxudmkarnnasithukkhnekuxbthngolkmxngwaphidsilthrrmxyangrayaerng xudmkarnkaremuxngkhxngekhanamasungsngkhramolk yuorptawnxxkaelayuorpklangxyuinsphaphphngphinasaelayakcnkhnaekhn praethseyxrmniexngkprasbkbkhwamwinasyxyybebdesrc sungthukepriybeprywaepnewla sunynalika thihmaythungcudsinsudkhxngnasieyxrmni aelaepncuderimtnkhxngeyxrmnithiprasnasi noybaykhxnghitelxridsrangkhwambxbchaaekmwlmnusychatiinradbthiimekhymimakxn aelasngphlihmiphuesiychiwit 40 lankhnodypraman hrux 27 lankhnechphaainshphaphosewiyt nkprawtisastr nkprchyaaelankkaremuxngmkichkhawa chwray evil inkarxthibayrabxbnasi ineyxrmniaelaxxsetriy kdhmayhamkarptiesthhxolkhxst aelakaraesdngsylksnnasi echn swstika nkprawtisastrphrrkhesriniymaehngchatieyxrmn fridrich imenkhekhx Friedrich Meinecke xthibayhitelxrwaepn hnungintwxyangthidithisudinhwngprawtisastr thihnungbukhkhlcamixanacekincitnakarid nkprawtisastrhiwc ethrewxr orepxr mxngekhawaepn phuphichitecaraebiyb baprawtisastr baprchyathisud aelaynghyabcha tharun aelaicaekhbthisudethathiolkekhyruck sahrbnkprawtisastr cxhn exm orebirts khwamphayaephkhxnghitelxrepncudcbkhxngchwngprawtisastryuorpthithukeyxrmnikhrxbnga aelaaethnthidwysngkhrameyn sungepnkarephchiyhnainradbolkrahwangshphaphosewiytkbshrthxemrikamummxngthangsasnabidamardakhxnghitelxrnbthuxnikayormnkhathxlik aethlngyayxxkcakbanaelw ekhaimekhyekhaphithimissahruxrbsilskdisiththiely ekhaechidchulksnacanwnhnungkhxngnikayopraetsaetntthiehmaakbmummxngkhxngekhaexng aelarbexabanglksnakhxngkarcdkarepnrabbladbkhnkhxngsasnckrkhathxlik phithiswdaelasanwnowharmaichinkaremuxngkhxngekhadwy hlngekhayayipyngeyxrmni hitelxrimekhyxxkcaksasnckrkhxngekhaely nkprawtisastr richard chitkmnn kll Richard Steigmann Gall srupwa ekha samarthcdwaepnkhathxlikid aet smachikphaphsasnckraetinnamepntwwdthiechuxthuximidxyangmakinkarwdkhwamsrththaaethcringinbribthni txsatharna hitelxrmkykyxngmrdkkhrisetiynaelawthnthrrmkhrisetiyneyxrmn aelaptiyankhwamechuxinphraeysukhrist xaryn phraeysuphutxsukbphwkyiw ekhaklawthungkartikhwamsasnakhristkhxngekhawaepn aerngcungicsakhyaekkartxtanyiwkhxngekha odywa inthanakhrisetiyn phmimmihnathicaplxyihtwexngthukhlxklwng aetphmmihnathithicasuephuxkhwamcringaelakhwamyutithrrm aetsahrbswntw hitelxrwicarnsasnakhristaebbdngedim odyphicarnawaepnsasnathiehmaasmechphaasahrbthas ekhaykyxngxanacaehngormaetyngrksakhwamepnprpksxyangrunaerngtxkhasxnkhxngorm nkprawtisastr cxhn exs khxnewy wa hitelxryudthux kartxtanhlk txsasnckrkhrisetiyn dankhwamsmphnththangkaremuxngkbsasnckr hitelxrrbexayuththsastr thiehmaasmkbcudprasngkhthangkaremuxngthisngphlodytrngkhxngekha tamrayngankhxngsanknganbrikardanyuththsastrkhxngshrthxemrika hitelxrmiaephnkarihy tngaetkxnekhakawkhunsuxanac inkarthalayxiththiphlkhxngkhristckrphayinaephndinirch raynganchux aephnaembthnasi The Nazi Master Plan rabuwa karthalaylangsasnckrepnepahmaykhxngkhbwnkartngaeterimtn aetepnkarimehmaasmthicaaesdngthathisudotngnixyangepidephy ectnakhxngekha tamkhxmulkhxngbullxk khux rxkrathngsngkhramyutiaelwcungkhxythalayxiththiphlkhxngsasnakhrist hitelxrykyxngpraephnithangthharkhxngmuslim aetmxngwachawxahrb epnechuxchatitakwa ekhaechuxwa chaweyxrmnthiepnechuxchatisungsngkwa rwmkbsasnaxislam samarthphichitdinaednswnihykhxngolkidrahwangyukhklang rahwangkarprachumkbsastracarychawyipunin kh s 1931 hitelxrykyxngsasnachinotaelawthnthrrmyipun aemhimelxrcasnicinewthmntr kartikhwamxksr aelakartamrxyrakehngakxnprawtisastrkhxngchaweyxrmn aethitelxrnnennkarptibtimakkwa aelaxudmkarnkhxngekharwmxyuthikhwamekiywphnthangptibtimakkwasukhphaphnkwicyidesnxwa hitelxrthukkhthrmancakxakaraelaorkhtang idaek orkhlaisaeprprwn rxyorkhthiphiwhnng hwicetnphidcnghwa orkhpharkinsnsifilis aelamiesiynginhu thvsdiekiywkbsphawathangkaraephthykhxnghitelxryakcaphisucn aelatamthvsdiehlani nahnkmakekinxacmiphlsunghlay ehtukarnaelaphlthiekidkhunphayhlngkhxngaephndinirchthisamxacmacaksukhphaphthangkaythiepnipidwabkphrxngkhxngpceckbukhkhlhnungediyw ekhxrchxwrusukwa epnkardikwathicathicathuxmummxngkhxngprawtisastreyxrmnthikwangkwa odyphicarnawa aerngphlkthangsngkhmidnaipsuaephndinirchthisamaelanoybaymakkwaecriyrxytamkhaxthibayaekhb aekkarlangchatiodynasiaelasngkhramolkkhrngthisxngodyxingbukhkhlephiyngkhnediyw hitelxrkinmngswirti inngansngkhm bangkhrngekhaihkhaxthibaykarkhastwdwykrafikdwyphyayamihaekhkxahareynkhxngekhaimkinenux mikarxangehtuphlkwangkhwangmakthisudwa khwamklworkhmaerng sungepnorkhthithaihmardakhxngekhaesiychiwit thaihhitelxrkinmngswirti ekhaepnphutankarthdlxnginstw aelaxaceluxkthanxaharephraakhwamepnhwngstwxyangluksung bxrmnsngihsrangeruxnkrackiklkbaebrkhxf iklkbaebrchethskaedn ephuxihhitelxrmiphlimaelaphkephiyngphxxyangtxenuxngtlxdsngkhram hitelxrduthukaexlkxhxlaelaimsubbuhri ekhasngesrimkarrnrngkhngdsubbuhrixyanghawhaythwpraethseyxrmni hitelxrerimichaexmeftaminepnkhrngkhrawtngaet kh s 1937 aelaerimtidyainvduibimrwng kh s 1942 xlaebrth sephrechuxmoyngkarichaexmeftaminnikbkartdsinicthiimyudhyunephimkhuneruxy khxnghitelxr twxyangechn imekhyxnuyatkarrnthxythangthhar hitelxridrbkarsngcayyathungekasibchnidthiaetktangknrahwangsngkhram aelathanyahlayemdtxwnephraapyhakraephaaxahareruxrngaelaxakarpwyxun ekhathukkhthrmancakaekwhuthalu xnepnphlkhxngaerngraebidinaephnlb 20 krkdakhm in kh s 1944 aelathukthxnesiynimsxngrxychinxxkcakkhakhxngekha filmphaphyntrkhawhitelxraesdngihehnwa muxhitelxrsnaelaekhaedinyxngaeyng sungerimkhunkxnsngkhramaelaelwraylngemuxiklbnplaychiwit aephthypracatwhitelxr thioxdxr omerll rksahitelxrdwyyasungsngcayodythwipephuxrksaorkhpharkinsnin kh s 1945 aexnsth kunethxr echnkhaelaaephthyxikhlaykhnphbhitelxrinspdahthay khxngchiwitephuxwinicchyorkhpharkinsnkhrxbkhrwhitelxrsngesrimphaphlksnkhxngtntxsatharnawaepnphaphlksnchaythixyuepnosdodyprascakchiwitkhrxbkhrw xuthistnthnghmdihaekpharkicthangkaremuxngaelapraethschatikhxngekha ekhaphbexfa ebran phrryalbkhxngekha in kh s 1929 aelasmrskbethxineduxnemsayn kh s 1945 ineduxnknyayn kh s 1931 ekli erabl hlansawkhxngekha thaxtwinibatkrrmdwypunkhxnghitelxrinxphartemntinmiwnikkhxngekha mikhawluxinbrrdakhnrwmsmywa eklimikhwamsmphnthechingoraemntikkbekha aelakhwamtaykhxngethxnnepnbxekidaehngkhwamthukkhluklaaelayawnan ephala hitelxr smachikkhnsudthaykhxngkhrxbkhrwhitelxrsaytrngkhnsudthay esiychiwitin kh s 1960echingxrrth Hitler ersucht um Entlassung aus der osterreichischen Staatsangehorigkeit 7 April 1925 in German Translation Hitler s official application to end his Austrian citizenship NS Archiv Retrieved on 2008 08 19 Keegan 1989harvnb error no target CITEREFKeegan1989 Niewyk Donald L Nicosia Francis R 2000 The Columbia Guide to the Holocaust New York Columbia University Press ISBN 978 0 231 11200 0 Linge 2009 With Hitler to the End The Memoir of Hitler s Valet pp 199 200 Shirer W L 1960 New York Simon and Schuster 1999 Harper Perennial ISBN 0 06 095339 X Maser 1973 p 15 Hamann 2010 p 50 Toland 1992 pp 246 47 Kershaw 1999 pp 8 9 Jetzinger 1976 p 32 Adolf Hitler s Austrian hometown revokes honour title 8 July 2011 subkhnemux 8 July 2011 Shirer 1960 p 9 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Rosmus 2004 p 33 Keller 2010 p 15 Hamann 2010 pp 7 8 Kubizek 2006 p 37 Kubizek 2006 p 92 Hitler 1999 p 6 Fromm 1977 pp 493 498 Hauner 1983 p 2 sfn error no target CITEREFHauner1983 Shirer 1960 pp 10 11 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Payne 1990 p 22 Kershaw 2008 p 9 Hitler 1999 p 8 Keller 2010 pp 33 34 Fest 1977 p 32 Kershaw 2008 p 8 Hitler 1999 p 10 Evans 2003 p 163 Bendersky 2000 p 26 Ryschka 2008 p 35 Hamann 2010 p 13 Kershaw 1999 p 19 Kershaw 1999 p 20 Bullock 1962 pp 30 31 Hitler 1999 p 20 Bullock 1999 pp 30 33 Shirer 1960 p 26 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Hamann 2010 pp 243 246 Hamann 2010 pp 341 345 Hamann 2010 p 350 Kershaw 1999 p 60 67 Hitler 1999 p 52 Toland 1992 p 45 Kershaw 1999 pp 55 63 Hamann 2010 p 174 Shirer 1960 p 25 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Hamann 1999 p 176 sfn error no target CITEREFHamann1999 Hamann 2010 pp 347 359 Kershaw 1999 p 64 Hamann 2010 pp 348 Kershaw 1999 p 66 Evans 2011 Shirer 1960 p 27 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Weber 2010 pp 13 Shirer 1960 p 27 footnote sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Kershaw 1999 p 90 Weber 2010 pp 12 13 Kershaw 2008 p 53 Kershaw 2008 p 54 Weber 2010 p 100 Shirer 1960 p 30 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Kershaw 2008 p 59 Bullock 1962 p 52 Kershaw 1999 p 96 Steiner 1976 p 392 Alastair Jamieson Nazi leader Hitler really did have only one ball html The Daily Telegraph retrieved on 20 November 2008 Kershaw 2008 p 57 Kershaw 2008 p 58 Kershaw 2008 pp 59 60 Kershaw 1999 p 97 Kershaw 1999 p 102 Kershaw 2008 pp 61 62 Keegan 1987 pp 238 240 Bullock 1962 p 60 Kershaw 2008 pp 61 63 Kershaw 2008 p 96 Kershaw 2008 pp 80 90 92 Bullock 1999 p 61 Kershaw 1999 p 109 Kershaw 2008 p 82 Stackelberg 2007 p 9 sfn error no target CITEREFStackelberg2007 Mitcham 1996 p 67 Fest 1970 p 21 Kershaw 2008 pp 94 95 100 Kershaw 2008 p 87 Kershaw 2008 p 88 Kershaw 2008 p 89 Kershaw 2008 pp 89 92 Kershaw 2008 p 81 Kershaw 2008 pp 100 101 Kershaw 2008 p 102 Kershaw 2008 p 103 Kershaw 2008 pp 83 103 Kershaw 2008 p 99 Bullock 1999 p 376 Frauenfeld 1937 Goebbels 1936 Kressel 2002 p 121 Trevor Roper 1987 p 116 sfn error no target CITEREFTrevor Roper1987 Kershaw 2008 p 105 106 Bullock 1999 p 377 Heck 2001 p 23 Larson 2011 p 157 sfn error no target CITEREFLarson2011 Kershaw 1999 p 367 Kellogg 2005 p 275 Kellogg 2005 p 203 Kershaw 2008 p 126 Kershaw 2008 p 125 Kershaw 2008 p 128 Kershaw 2008 p 129 Shirer 1960 pp 71 72 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Kershaw 2008 pp 130 131 Shirer 1960 pp 73 74 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Kershaw 2008 p 132 Kershaw 2008 p 131 Munich Court 1924 Fulda 2009 pp 68 69 Kershaw 1999 p 239 Bullock 1962 p 121 Spiro 2008 sfn error no target CITEREFSpiro2008 Shirer 1960 pp 80 81 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Kershaw 2008 pp 158 161 162 Kershaw 2008 pp 162 166 Shirer 1960 p 129 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Kershaw 2008 pp 166 167 Kershaw 2008 pp 170 172 Shirer 1960 pp 136 137 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Kolb 2005 pp 224 225 Kolb 1988 p 105 Halperin 1965 p 403 et seq Halperin 1965 pp 434 446 et seq Wheeler Bennett 1967 p 218 Wheeler Bennett 1967 p 216 Wheeler Bennett 1967 pp 218 219 Wheeler Bennett 1967 p 222 Halperin 1965 p 449 et seq Halperin 1965 pp 434 436 471 Shirer 1960 p 130 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Hinrichs 2007 Halperin 1965 p 476 Halperin 1965 pp 468 471 Bullock 1962 p 201 Halperin 1965 pp 477 479 Eingabe der Industriellen an Hindenburg vom November 1932 Glasnost subkhnemux 22 May 2008 accessed 20 March 2010 Fox News 17 October 2003 subkhnemux 20 April 2010 Shirer 1960 p 184 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Bullock 1962 p 262 Shirer 1960 p 194 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Shirer 1960 p 192 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Bullock 1999 p 262 Bullock 1962 p 265 City of Potsdam Shirer 1960 p 196 197 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Shirer 1960 p 198 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Shirer 1960 p 196 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Bullock 1999 p 269 Shirer 1960 p 199 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Shirer 1960 p 201 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Shirer 1960 p 202 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Evans 2003 pp 350 374 Kershaw 2008 pp 309 314 Tames 2008 pp 4 5 Kershaw 2008 pp 313 315 Shirer 1960 p 220 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Shirer 1960 p 229 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Bullock 1962 p 309 Shirer 1960 p 230 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Time 1934 Kershaw 2008 pp 392 393 Shirer 1960 p 312 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Kershaw 2008 pp 393 397 Shirer 1960 p 308 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Shirer 1960 p 318 319 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Kershaw 2008 pp 397 398 Shirer 1960 p 259 260 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Shirer 1960 p 258 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Shirer 1960 p 262 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Speer 1971 pp 118 119 Weinberg 1970 pp 26 27 Kershaw 1999 pp 490 491 Kershaw 1999 pp 492 555 556 586 587 Carr 1972 p 23 Kershaw 2008 p 297 Messerschmidt 1990 pp 601 602 Hildebrand 1973 p 39 Roberts 1975 Messerschmidt 1990 pp 630 631 Overy Origins of WWII Reconsidered 1999 Carr 1972 pp 56 57 Messerschmidt 1990 p 642 Aigner 1985 p 264 Messerschmidt 1990 pp 636 637 Carr 1972 pp 73 78 Messerschmidt 1990 p 638 Kershaw 1999 pp 567 568 Overy 2005 p 252 Gellately 1996 Steinberg 1995 Snyder 2010 p 416 Kershaw 2008 p 683 Shirer 1960 p 965 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Naimark 2002 p 81 Shirer 1960 p 967 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Kershaw 2008 p 687 Megargee 2007 p 146 Megargee 2007 p 144 Yad Vashem 2006 sfn error no target CITEREFYad Vashem 2006 Yad Vashem 2008 sfn error no target CITEREFYad Vashem 2008 Holocaust Memorial Museum Hancock 2004 pp 383 396 Shirer 1960 p 946 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 US Holocaust Memorial Museum Niewyk amp Nicosia 2000 p 45 sfn error multiple targets 2 CITEREFNiewykNicosia2000 Goldhagen 1996 p 290 Downing 2005 p 33 Bloch 1992 pp 178 179 Plating 2011 p 21 Butler amp Young 1989 p 159 Bullock 1962 p 434 Overy 2005 p 425 Weinberg 1980 pp 334 335 Weinberg 1980 pp 338 340 Weinberg 1980 p 366 Weinberg 1980 pp 418 419 Kee 1988 pp 149 150 Weinberg 1980 p 419 Murray 1984 pp 256 260 Bullock 1962 p 469 Overy The Munich Crisis 1999 p 207 Kee 1988 pp 202 203 Weinberg 1980 pp 462 463 Messerschmidt 1990 p 672 Messerschmidt 1990 pp 671 682 683 Rothwell 2001 pp 90 91 Time January 1939 Murray 1984 p 268 Shirer 1960 p 448 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Weinberg 1980 pp 579 581 Messerschmidt 1990 pp 688 690 Weinberg 1980 pp 537 539 557 560 Maiolo 1998 p 178 Weinberg 1980 p 558 Carr 1972 pp 76 77 Kershaw 2000b pp 36 37 92 Weinberg 1955 sfn error no target CITEREFWeinberg1955 Robertson 1985 p 212 Bloch 1992 p 228 Overy 1989 p 56 sfn error no target CITEREFOvery1989 Bloch 1992 pp 210 228 Craig 1983 sfn error no target CITEREFCraig1983 Overy The Third Reich 1999 sfn error no target CITEREFOvery The Third Reich1999 Robertson 1963 pp 181 187 Bloch 1992 pp 252 253 Weinberg 1995 pp 85 94 Bloch 1992 pp 255 257 Weinberg 1980 pp 561 562 583 584 Messerschmidt 1990 p 714 Bloch 1992 p 260 Hakim 1995 Time October 1939 sfn error no target CITEREFTime October 1939 Rees 1997 pp 141 145 Kershaw 2008 p 527 Rees 1997 pp 148 149 Shirer 1960 pp 696 730 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Shirer 1960 pp 731 737 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Shirer 1960 pp 774 782 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Kershaw 2008 p 580 Kershaw 2008 p 570 Kershaw 2008 p 604 605 Kurowski 2005 pp 141 142 Shirer 1960 p 830 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Shirer 1960 p 863 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Weinberg et al 1989 sfn error no target CITEREFWeinberg et al 1989 Shirer 1960 p 900 901 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Bauer 2000 p 5 Shirer 1960 p 921 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Shirer 1960 p 1006 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 BBC News 1999 Shirer 1960 p 997 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Shirer 1960 p 1036 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Speer 1971 p 513 514 Kershaw 2008 pp 544 547 821 822 827 828 Kershaw 2008 p 816 818 Shirer 1960 29 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Bullock 1962 pp 753 763 778 780 781 Bullock 1962 pp 774 775 Beevor 2002 pp 255 256 Le Tissier 2010 p 45 Dollinger 1995 p 231 Beevor 2002 p 275 Bullock 1962 p 787 Bullock 1962 pp 787 795 Butler amp Young 1989 pp 227 228 Bullock 1962 pp 792 795 Beevor 2002 p 343 Bullock 1962 p 795 Bullock 1962 p 798 Linge 2009 p 199 Joachimsthaler 1999 pp 160 180 Joachimsthaler 1999 pp 217 220 Linge 2009 p 200 Bullock 1962 pp 799 800 Vinogradov 2005 pp 111 333 Fest 1974 p 753 Speer 1971 p 617 Toland 1977 p 892 sfn error no target CITEREFToland1977 Kershaw 2000a pp 1 6 sfn error no target CITEREFKershaw2000a Fischer 1995 p 569 Del Testa Lemoine amp Strickland 2003 p 83 Dear amp Foot 2001 p 341 sfn error no target CITEREFDearFoot2001 Welch 2001 p 2 Shirer 1960 p 6 sfn error multiple targets 2 CITEREFShirer1960 Hitler amp Trevor Roper 1988 p xxxv Roberts 1996 p 501 Lichtheim 1974 p 366 Rissmann 2001 pp 94 96 Rissmann 2001 p 96 Bullock 1962 p 219 Steigmann Gall 2003 p XV Steigmann Gall 2007 sfn error no target CITEREFSteigmann Gall2007 Steigmann Gall 2003 pp 27 108 Hitler 1942 p 20 sfn error no target CITEREFHitler1942 Hitler 1973 p 23 sfn error no target CITEREFHitler1973 Bullock 1962 pp 219 389 Conway 1968 p 3 Sharkey 2002 Bonney 2001 Office of Strategic Services 1945 sfn error no target CITEREFOffice of Strategic Services 1945 Speer 1971 p 142 143 Payne 2008 p 171 sfn error no target CITEREFPayne2008 Hanfstaengl 1994 p 174 sfn error no target CITEREFHanfstaengl1994 Speer 1971 pp 171 174 Bullock 1999 p 729 Bullock 1962 p 717 Redlich 2000 pp 129 190 Kershaw 2000a p 72 sfn error no target CITEREFKershaw2000a Kershaw 2008 pp xxxv xxxvi Bullock 1999 p 388 Kershaw 2008 p 380 Dietrich 2010 p 172 sfn error no target CITEREFDietrich2010 Dietrich 2010 p 171 sfn error no target CITEREFDietrich2010 Toland 1992 p 741 Heston amp Heston 1980 pp 125 142 Heston amp Heston 1980 pp 11 20 Linge 2009 p 156 Kershaw 2008 p 782 O Donnell 2001 p 37 Bullock 1999 p 563 Kershaw 2008 p 378 Bullock 1962 pp 393 394 Kershaw 2008 p 4 xangxingtiphimph Aigner Dietrich 1985 Hitler s ultimate aims a programme of world dominion in Koch H W b k Aspects of the Third Reich London MacMillan ISBN 978 0 312 05726 8 Doyle D February 2005 Adolf Hitler s medical care Journal of the Royal College of Physicians of Edinburgh 35 1 75 82 PMID 15825245 Bauer Yehuda 2000 Rethinking the Holocaust New Haven Yale University Press p 5 ISBN 978 0 300 08256 2 2002 London Viking Penguin Books ISBN 978 0 670 03041 5 Bendersky Joseph W 2000 A History of Nazi Germany 1919 1945 Lanham Rowman amp Littlefield ISBN 978 1 4422 1003 5 Bloch Michael 1992 Ribbentrop New York Crown Publishing ISBN 978 0 517 59310 3 2001 PDF Rutgers Journal of Law and Religion khlngkhxmulekaekbcakaehlngedim PDF emux 4 March 2016 subkhnemux 19 April 2020 1970 The German Dictatorship aeplody Jean Steinberg New York ISBN 978 0 14 013724 8 1962 1952 Hitler A Study in Tyranny London Penguin Books ISBN 978 0 14 013564 0 Bullock Alan 1999 1952 Hitler A Study in Tyranny New York Konecky amp Konecky ISBN 978 1 56852 036 0 Butler Ewan Young Gordon 1989 The Life and Death of Hermann Goring Newton Abbot Devon ISBN 978 0 7153 9455 7 Carr William 1972 Arms Autarky and Aggression London Edward Arnold ISBN 978 0 7131 5668 3 1968 The Nazi Persecution of the Churches 1933 45 London Weidenfeld amp Nicolson ISBN 978 0 297 76315 4 Crandell William F 1987 Eisenhower the Strategist The Battle of the Bulge and the Censure of Joe McCarthy Presidential Studies Quarterly 17 3 487 501 JSTOR 27550441 2008 Fighter The True Story of the Battle of Britain New York Random House ISBN 978 1 84595 106 1 Del Testa David W Lemoine Florence Strickland John 2003 Government Leaders Military Rulers and Political Activists Westport Greenwood Publishing Group p 83 ISBN 978 1 57356 153 2 Dollinger Hans 1995 1965 The Decline and Fall of Nazi Germany and Imperial Japan A Pictorial History of the Final Days of World War II New York Gramercy ISBN 978 0 517 12399 7 Dorland Michael 2009 Cadaverland Inventing a Pathology of Catastrophe for Holocaust Survival The Limits of Medical Knowledge and Memory in France Tauber Institute for the Study of European Jewry series Waltham Mass University Press of New England ISBN 978 1 58465 784 2 Downing David 2005 The Nazi Death Camps World Almanac Library of the Holocaust Pleasantville NY Gareth Stevens ISBN 978 0 8368 5947 8 Ellis John 1993 World War II Databook The Essential Facts and Figures for All the Combatants London Aurum ISBN 978 1 85410 254 6 2003 New York ISBN 978 0 14 303469 8 Evans Richard J 2005 New York ISBN 978 0 14 303790 3 Evans Richard J 2008 New York ISBN 978 0 14 311671 4 1970 The Face of the Third Reich London Weidenfeld amp Nicolson ISBN 978 0 297 17949 8 Fest Joachim C 1974 1973 Hitler London Weidenfeld amp Nicolson ISBN 978 0 297 76755 8 Fest Joachim C 1977 1973 Hitler Harmondsworth Penguin ISBN 978 0 14 021983 8 Fest Joachim 2004 Inside Hitler s Bunker The Last Days of the Third Reich New York Farrar Straus and Giroux ISBN 978 0 374 13577 5 Fischer Klaus P 1995 Nazi Germany A New History London Constable and Company ISBN 978 0 09 474910 8 1977 1973 The Anatomy of Human Destructiveness London Penguin Books ISBN 978 0 14 004258 0 Fulda Bernhard 2009 Press and Politics in the Weimar Republic Oxford Oxford University Press ISBN 978 0 19 954778 4 1996 Reviewed work s Vom Generalplan Ost zum Generalsiedlungsplan by Czeslaw Madajczyk Der Generalplan Ost Hauptlinien der nationalsozialistischen Planungs und Vernichtungspolitik by Sabine Schleiermacher Central European History 29 2 270 274 doi 10 1017 S0008938900013170 Gellately Robert 2001 Social Outsiders in Nazi Germany Princeton NJ Princeton University Press ISBN 978 0 691 08684 2 Ghaemi Nassir 2011 A First Rate Madness Uncovering the Links Between Leadership and Mental Illness New York Penguin Publishing Group ISBN 978 1 101 51759 8 Goeschel Christian 2018 Mussolini and Hitler The Forging of the Fascist Alliance New Haven London Yale University Press ISBN 978 0 300 17883 8 1996 New York Knopf ISBN 978 0 679 44695 8 1979 The Meaning of Hitler Cambridge MA Harvard University Press ISBN 978 0 674 55775 8 1995 War Peace and All That Jazz Vol 9 New York Oxford University Press ISBN 978 0 19 509514 2 Halperin Samuel William 1965 1946 Germany Tried Democracy A Political History of the Reich from 1918 to 1933 New York W W Norton ISBN 978 0 393 00280 5 Hamann Brigitte 2010 1999 Hitler s Vienna A Portrait of the Tyrant as a Young Man Trans Thomas Thornton London New York Tauris Parke Paperbacks ISBN 978 1 84885 277 8 2004 Romanies and the Holocaust A Reevaluation and an Overview in Stone Dan b k The Historiography of the Holocaust New York Basingstoke Palgrave Macmillan ISBN 978 0 333 99745 1 2001 1985 A Child of Hitler Germany In The Days When God Wore A Swastika Phoenix AZ Renaissance House ISBN 978 0 939650 44 6 Heston Leonard L Heston Renate 1980 1979 The Medical Casebook of Adolf Hitler His Illnesses Doctors and Drugs New York Stein and Day ISBN 978 0 8128 2718 7 1973 The Foreign Policy of the Third Reich London Batsford ISBN 978 0 7134 1126 3