ชาวโยดะยา หรือ ชาวอยุธยาในพม่า (พม่า: ယိုးဒယားလူမျိုး, : Yodaya lu myui:; โยดะยา หลุ มฺโย) เป็นคำที่เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวสยามจากอาณาจักรอยุธยา ซึ่งอพยพเข้ามาประเทศพม่า มีทั้งอพยพไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารกษัตริย์พม่าโดยสมัครใจ บ้างก็เป็นเชลยซึ่งถูกกวาดต้อนเมื่อเกิดสงคราม
รูปที่อาจเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ที่ปรากฏในเอกสารการบันทึกราชสำนักพร้อมด้วยภาพเขียน[ก] | |
ประชากรทั้งหมด | |
---|---|
35 คน (เฉพาะสายเลือดบริสุทธิ์) มากกว่า 200 คน (พ.ศ. 2560) | |
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ | |
ประเทศพม่า | |
ภาษา | |
ภาษาพม่า (เดิมใช้ภาษาไทย) | |
ศาสนา | |
ศาสนาพุทธ |
เมื่อเวลาผ่านไปหลายศตวรรษ ชาวอยุธยาในพม่าค่อย ๆ ผสมปนเปไปกับสังคมพม่า บ้างก็โยกย้ายจากถิ่นฐานเดิม พวกเขาเลิกพูดภาษาไทยและหันไปพูดภาษาพม่า จนกระทั่งทินมองจี นักวิชาการชาวพม่าผู้มีเชื้อสายโยดะยาเขียนบทความสั้นชื่อ "สุสานกษัตริย์ไทย" (A Thai King’s Tomb) ก่อน พ.ศ. 2538 โดยเชื่อว่าสถูปเก่าองค์หนึ่งในป่าช้าเนินล้านช้างหรือเนินกระแซ (ลินซินกอง) เป็นสุสานของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร อดีตพระมหากษัตริย์อยุธยาผู้นิราศจากบัลลังก์และตกเป็นเชลยในพม่า และเริ่มมีชื่อเสียงจากการที่มัคคุเทศก์พานักท่องเที่ยวไทยไปยังสถูปแห่งหนึ่งในป่าช้าลินซิน แต่กระแสดังกล่าวทำให้เกิดความตื่นตัวในการศึกษาชาวอยุธยาในพม่า และมีความพยายามในการตามหาชุมชนอยุธยาที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน
จนกระทั่งใน พ.ศ. 2556 จึงได้มีการค้นพบชุมชนเชื้อสายอยุธยาชื่อหมู่บ้านซูกา มีประชากรราว 200 คน (พ.ศ. 2560) และยังมีชุมชนของผู้มีเชื้อสายอยุธยา ณ บ้านมินตาซุ (ย่านเจ้าฟ้า) มีประชากรเชื้อสายอยุธยาอยู่ไม่ต่ำกว่า 30 คน (พ.ศ. 2557) ทั้งสองชุมชนนี้ตั้งอยู่ในเมืองมัณฑะเลย์ แม้ไม่สามารถใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวันได้แล้ว แต่วัฒนธรรมหลายอย่างของชาวอยุธยายังคงอยู่และส่งอิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรมพม่าบางประการมาจนถึงยุคปัจจุบัน
ศัพทมูลวิทยา
ชื่อ โยดะยา (พม่า: ယိုးဒယား) เป็นการออกเสียงชื่อเดิมของกรุงศรีอยุธยา คืออโยธยา ตามสำเนียงพม่า ดังปรากฏชื่อเดิมของกรุงศรีอยุธยาจากจารึกบนเขาวัดวรนาถบรรพตว่า กรุงอโยธยาศรีรามเทพนคร อันเป็นนามเมืองเดียวกันกับเมืองของพระราม โดยพม่าได้ตัดเสียง อะ ออก เพื่อความสะดวกต่อการออกเสียง สอดคล้องกับบันทึกของชาวโปรตุเกสที่บันทึกชื่อเดิมของกรุงศรีอยุธยาว่า "โอเดีย" (Odiaa) เมืองมอญเรียกว่า "เตียะเยิวเตียะเยีย"อาณาจักรล้านนาเรียกว่า "โยธิยา" และไทใหญ่เรียกว่า "โยตะร้า" หลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่งใน พ.ศ. 2112 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงปรับนามเมืองเสียใหม่ว่า ศรีอยุทธยา แปลว่า "เมืองที่รบไม่แพ้" แต่ชาวกรุงศรีอยุธยาเองจะเรียกเมืองหลวงของตนเองว่า กรุงเทพพระมหานคร
ส่วน "โยดะยา" หรือ "โยธยา" ปรากฏครั้งแรกในวรรณคดีพม่าของชิน อน ญอ (Shin Ohn Nyo) เป็นกลอนบาลี 60 บท และบทกวีของพระอัคคสมาธิ (Shin Aggasamadhi) ที่เกี่ยวข้องกับมัคฆเทวะ (Magghadeva) นับแต่การกำเนิดพระเนมิราช หลักฐานดังกล่าวมีอายุใน พ.ศ. 2060-2071 ส่วนเอกสาร ตำนานเมืองเมา ฉบับภาษาไทใหญ่ และภาษาคำตี้ หากอิงระยะเวลาการเสวยราชสมบัติของเจ้าเสือข่านฟ้า เมื่อ พ.ศ. 1763 เอกสารคงบันทึกหลังจากช่วงเวลานั้นเป็นต้นมา จนถึง พ.ศ. 2318 ที่ชาวไทพ่าเกอพยพไปตั้งถิ่นฐานที่รัฐอัสสัม ได้บันทึกชื่อกรุงศรีอยุธยาว่า "ลันจั้งโยตะร้า" คือ "ล้านช้างโยธยา"
โดยคำว่า "โยดะยา" ในการรับรู้ของชาวพม่าโบราณมีความหมายสองอย่างคือ
- หมายถึงชาวไทยจากภาคกลางและภาคใต้ของไทย ไม่นับรวมชาน (ရှမ်း) และยวน (ယွန်း)
- หมายถึงอาณาจักรอยุธยา และในบางกรณีอาจใช้เรียกอาณาจักรธนบุรีและรัตนโกสินทร์ด้วย
ทั้งนี้ชาวพม่าจะเข้าใจว่าชาวโยดะยาคือเชลยจากกรุงศรีอยุธยา โดยจำแนกออกจากชาวไทใหญ่ในรัฐฉาน ชาวยวนจากอาณาจักรล้านนาอย่างชัดเจน ครั้นในสมัย จึงจัดให้ชาวโยดะยาอยู่ในกลุ่มเดียวกับชาวไทใหญ่
ประวัติ
คราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง
การกวาดต้อน
พ.ศ. 2088 ในรัชสมัยพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ อาณาจักรอยุธยาส่งทัพไปตีเมืองทวายในช่วงที่พระองค์กำลังตีเมืองยะไข่ พระองค์จึงเสด็จกลับราชธานีแล้วส่งทัพลงไปเมืองทวายทันที ทัพอยุธยาถอยร่นไปที่เมืองตะนาวศรี พม่าจับเชลยสยามได้จำนวนหนึ่ง ต่อมาวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2091 พระองค์ส่งทัพบุกกรุงศรีอยุธยา สามารถจับพระราชอนุชา พระราชโอรส และพระชามาดาของกษัตริย์อยุธยาไปด้วย พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงมีพระราชโองการให้ยึดอาวุธและกระสุนปืน ทรงให้เหล่าข้าราชบริพารจับเชลยสยามทั้งชายหญิงไปเป็นรางวัลของตน ภายหลังกษัตริย์อยุธยาขอหย่าศึก พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้จึงส่งเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์กลับอยุธยาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2091
ต่อมาในรัชกาลพระเจ้าบุเรงนอง ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2097 แต่ทางการอยุธยากลับไม่ส่งตัวแทนเข้าเฝ้าในพระราชพิธี สร้างความไม่พอพระทัยยิ่งนัก เพราะทรงถือว่าอยุธยาเป็นประเทศราชของพม่า การกระทำเช่นนี้ทรงถือว่าเป็นกบฏ พระองค์ทรงยกพลขึ้นเหนือเข้าทางอาณาจักรล้านนาเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2100 แล้วยกทัพมาตีอยุธยาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2106 ต่อมาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงประกาศยอมแพ้เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2107 พระเจ้าบุเรงนองจึงเสด็จกลับพม่าเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2107 พร้อมกับเชลยสยามจำนวนหนึ่ง อันได้แก่ นักแสดงชายหญิง, สถาปนิก, ศิลปิน, ช่างเหล็ก, ช่างไม้, ช่างผม, คนครัว, ช่างทองแดง, ช่างย้อมสี, ช่างทอง, ช่างเครื่องเขิน, หมอช้าง, หมอม้า, นักระบำ, ช่างสี, ช่างน้ำหอม (ช่างปรุงเครื่องร่ำ), ช่างเงิน, ช่างสลักหิน, ช่างสลักปูนปั้น, ช่างแกะสลักไม้, ช่างแต่งเครื่องไม้ และช่างกลึงไม้ เมื่อเสด็จถึงหงสาวดีอันเป็นราชธานีเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2106 ทรงให้ช่างฝีมือเหล่านี้ตั้งถิ่นฐานภายในราชธานี
ต่อมาในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2111 พระเจ้าบุเรงนองทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง แต่คราวนี้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2111 และเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2112 ชาวอยุธยาจำนวนมากถูกจับไปหงสาวดี ต่อมาพระเจ้าบุเรงนองทำสงครามรบกับอาณาจักรล้านช้าง ก็พบว่ามีทัพสยามจากอยุธยาอันได้แก่ ทัพช้าง 300 เชือก, ทัพม้า 1,500 ตัว และไพร่พลอีก 30,000 คนเข้าร่วมทัพพม่า
วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2089 มีคณะทูตจากศรีลังกามาถึงเมืองพะสิม โดยขอให้กษัตริย์พม่าส่งทัพไปช่วยปราบพวกเดียรถีย์ในศรีลังกา พระเจ้าบุเรงนองจึงส่งทัพไป 2,000 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวอยุธยา 100 คน เมื่อพวกเดียรถีย์ทราบกิตติศัพท์ของทัพพม่านี้ก็เกรงกลัวและประกาศยอมแพ้โดยไม่ทำการรบ
การตั้งถิ่นฐาน
นอกจากชาวอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนแล้ว ยังมีชาวอยุธยาที่สมัครใจเข้าร่วมกับมอญและพม่า ดังปรากฏใน ราชาธิราช ระบุว่ามีชาวไทยจากเมืองเพชรบุรีจำนวน 500 คน ยอมสวามิภักดิ์กับพระเจ้ารามมะไตย (พ.ศ. 1866–1873) ในเอกสารดังกล่าวเรียกชาวไทยกลุ่มนี้ว่า เซมเดิงเปฺรียดเปฺร นอกจากนี้ยังปรากฏใน พระบรมราชโองการพม่า ความว่า
"ชาวอยุธยา 50 คนเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระเจ้าบุเรงนองโปรดให้ประจำกองม้า ให้นะ พราน สาน (Na Pran San) เป็นหัวหน้า ประทานที่ดินในการดูแลของนะ กุลา (Na Kula) เป็นที่พำนักทำการเพาะปลูก อีกกลุ่ม 125 คนมีไร นันดา (Rai Nanda) ให้อยู่ในกองม้าด้วย ยกหมู่บ้านกุกุย โกง (Kukkui Kon) บริเวณบ้านมเยะ ดุ (Mre Du) ประทานให้ไป"
และปรากฏในพงศาวดารอีกว่า
"สะ ละ วัต (Sa La Wat) พร้อมด้วยช้าง 5 เชือก และชาวอยุธยา 100 คนมาถึงพระนครเมื่อ 28 กรกฎาคม 2238 และเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว [พม่า]"
ในวรรณคดี ธัญวดีอเยด่อโป่ง หรือ วรรณคดียอพระเกียรติราชายะไข่ ระบุว่าหลังการกวาดต้อนชาวอยุธยาไปไว้เมืองพะโคของพระเจ้าบุเรงนอง มีขุนนางอยุธยาสองคนพี่น้องคือ พระสมิง และพระคุณไส เข้าไปรับราชการกับกษัตริย์ยะไข่ ได้รับความชอบมาก กษัตริย์ยะไข่โปรดให้พระสมิงไปกินเมืองเป็นการตอบแทน และเอกสารเดียวกันนั้นยังกล่าวถึงการเทครัวชาวโยดะยา 3,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีพระสมุน (Bya Tha Mun) พระอนุชากษัตริย์อยุธยา พร้อมกับปืนใหญ่ชื่อพระยุทธสาร เทวรูปสัมฤทธิ์พระรามและหนุมานของชาวโยดะยาที่พะโคไปถวายกษัตริย์ยะไข่ นอกจากนี้ยังมีชาวอยุธยาถูกขายเป็นทาสในตลาดเบงกอล ในหนังสือ City of Djinns ของวิลเลียม ดัลริมเพิล (William Dalrymple) อ้างจากจดหมายเหตุเก่าช่วงรัชกาลจักรพรรดิออรังเซพซึ่งครองประเทศร่วมสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชของอยุธยา ความว่า ในตลาดเก่าเดลี "...มีนางทาสเขมรจากแดนเลยแม่น้ำอิรวดี..." (Khmer girl concubines from beyond the Irawady) และกล่าวอีกว่า จักรพรรดินีโมกุลเสด็จ "ประทับบนหลังช้างมหึมาจากกรุงหงสาวดี" (mounted on a stupendous Pegu elephant) ไมเคิล ไรท์อธิบายว่านี่อาจจะเป็นนางทาสและช้างดีจากกรุงศรีอยุธยา
ทัน ทุนได้สรุปเกี่ยวกับชาวอยุธยาในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ว่า "บรรดาเชลยสงครามและช่างฝีมืออยุธยาถูกจับไปพม่า พวกเชลยเหล่านี้ถูกใช้ให้ไปทำไร่ไถนา บางส่วนก็ถูกส่งไปขายเป็นทาสในตลาดเบงกอล แต่เนื่องจากชื่อเสียงในความเก่งกล้าและความจงรักภักดี บางคนได้โปรดให้เป็นทหารรักษาประตูวังและประตูเมือง พวกช่างฝีมือเข้ารับราชการในราชสำนักโดยเฉพาะ บางครั้งก็มีการลุกฮือของทาสพวกนี้ แต่ส่วนใหญ่ก็ปราบได้โดยง่าย...พวกที่เป็นชาวไร่ชาวนานั้นถูกส่งไปทางเหนือ (โมนยวา, , , ซะไกง์, ชเวโบ และ) พวกนี้ผสมปนเปไปกับชนพื้นเมืองโดยง่าย และภายในหนึ่งหรือสองชั่วอายุคนต่อมา ก็จะลืมเทือกเถาเหล่ากอว่ามาจากอยุธยาหมด"
คราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง
การกวาดต้อนและการสวามิภักดิ์
ใน พ.ศ. 2310 พระเจ้ามังระทรงยึดกรุงศรีอยุธยาได้ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์เสด็จสวรรคต พม่าได้ทำการเผากรุงศรีอยุธยาปล้นชิงทรัพย์สินในพระนคร บังคับราษฎรทั้งภิกษุทั้งฆราวาสให้แจ้งที่อยู่ทรัพย์สิน ผู้ขัดขืนต้องเผชิญโทษทัณฑ์ต่าง ๆ แล้วให้จับผู้คน รวมถึงพระราชวงศ์ ข้าราชการ สมณะ ไปคุมขังไว้ โดยพระสงฆ์ให้กักไว้ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ส่วนฆราวาสให้ไว้ตามค่ายของแม่ทัพนายกองทั้งหลาย คำนวณแล้ว ปรากฏว่า เชื้อพระวงศ์ถูกกวาดต้อนไปกว่า 2,000 พระองค์ รวมจำนวนผู้ถูกพม่ากวาดต้อนไปนั้นมากกว่า 30,000– 100,000 คน อันรวมไปถึงสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรและกรมขุนวิมลพัตร เชลยส่วนใหญ่คือประชากรที่อยู่รายรอบกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ อ่างทอง, สิงห์บุรี, สุพรรณบุรี, กาญจนบุรี, ชัยนาท, อุทัยธานี, นนทบุรี, ปราจีนบุรี, และธนบุรี มีกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาถูกกวาดต้อนไปด้วย เป็นต้นว่าบุคคลเชื้อสายเปอร์เซียและ(พราหมณ์) ดังปรากฏใน พระราชพงศาวดารพม่า ความว่า "...สั่งให้เผาพระนครและปราสาททั้ง ๓ องค์ และให้เผาอารามและวิหารเสียให้หมดด้วย และสั่งให้ทำลายกำแพงเมือง และบรรดาเข้าของที่มีอยู่ในกรุงศรีอยุธยา มีพระไตรปิฎก คือ พระธรรมวินัย เป็นต้น สั่งให้ทำลายเสียแล้วก็กลับมายังพระนครแห่งตน..." ทำให้เกิดภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด มีราษฎรอยุธยาจำนวนไม่น้อยเสียชีวิตจากการสู้รบ ป่วยไข้ หรืออดอาหารตายจำนวนมากถึง 200,000 คน ด้วยเหตุนี้ราษฎรอยุธยาจำนวนมากอพยพหนีพม่าไปไกลถึงเมืองเขมรและเมืองพุทไธมาศ เฉพาะเมืองพุทไธมาศมีคนไทยอาศัยรวมกันกว่า 30,000 คน และมีชาวเมืองสวรรคโลกอพยพเข้าไปเมืองเชียงใหม่ ซึ่งขณะนั้นเป็นประเทศราชของพม่า นอกจากจะกวาดต้อนผู้คนจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว พระเจ้ามังระยังทรงกวาดต้อนเชลยสยามจากเมืองสุโขทัย, สวรรคโลก และพิษณุโลกเข้าสู่อาณาจักรเป็นจำนวนมาก ส่วนใน พงศาวดารเมืองสงขลา ระบุไว้อีกว่า "...พม่าตีแตกมากระทั่งถึงเมืองชุมพร ไชยา พวกกองทัพมากวาดเอาครอบครัวไทยไปเป็นอันมาก..."
และยังพบว่าชาวสยามจำนวนไม่น้อยเข้ากับฝ่ายพม่า เพราะทางการอยุธยานั้นขาดประสิทธิภาพในการปกครอง ดังปรากฏในบันทึกบาทหลวงฝรั่งเศสว่า "...เกิดเสียงลือกันขึ้นด้วยว่ากองทัพพม่าเต็มไปด้วยคนไทยซึ่งได้รับความเดือดร้อน เอาใจออกหาก จากไทยไปเข้ากับพม่า..." ส่วน มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า กล่าวไว้ว่า "...พวกพลทหารพลเมืองอยุทธยาทั้งปวงก็ได้รับความคับแค้นอดอยากคับแค้นอยู่ทุกผู้ทุกคนแล้วจึงได้เข้ามาอ่อนน้อมสวามิภักดิ์ที่กองทัพเราทุกวันมิได้ขาด เราก็ได้ทราบกิจราชการของพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาหมดแล้ว..."
การตั้งถิ่นฐาน
ต่อมาเชลยชาวสยามและชาวยวนนั้น ทางการพม่าได้จัดให้ตั้งบ้านเรือนในตำบลระแหงใกล้คลองชเวตชอง ส่วนตำบลมินตาซุใต้คลองชเวตชองได้ให้เจ้านายยวนและอยุธยาประทับ ซึ่งชุมชนชาวอยุธยานั้นมีขนาดใหญ่พอสมควรจึงเกิดเป็นย่านโยดะยา, ตลาดโยดะยา และศาลพระรามขึ้นในชุมชน ดังปรากฏใน พระราชพงศาวดารโกนบอง ความว่า
"...ครั้นพระเจ้าช้างเผือกอังวะทรงได้อาณาจักรอยุธยาอันไพศาล มีแดนอยุธยา โยนก สมพระทัยแล้ว พระองค์มิได้ทอดทิ้งให้เหล่าพระมเหสี พระราชธิดา พระราชกนิษฐา และพระราชนัดดาของเจ้าพระนครอยุธยาให้ได้ยาก พระองค์โปรดให้กักตัวไว้ให้อยู่แต่บริเวณเรือนภายในราชธานี แล้วมอบหมายให้เหล่าอำมาตย์พม่าเป็นผู้ถวายงานกันไปแต่ละพระองค์ พระราชโอรส พระราชอนุชา และพระราชนัดดาล้วนเป็นชาย พระองค์โปรดจัดที่พำนักในเรือนชั้นนอก และพระราชทานอาหาร เสื้อผ้าและเครื่องอุปโภคบริโภคต้องตามธรรมเนียมไทยจนพอเพียง ขึ้นชื่อว่าอำมาตย์ ผู้ดี ไพร่ ที่เป็นชาวอยุธยา กษัตริย์พม่าโปรดจัดย่านให้ตั้งบ้านเรือนอยู่กินอาศัยสิ้น..."
เชลยชาวอยุธยาเหล่านี้ได้ตั้งชุมชนตามหัวเมืองต่าง ๆ ทั้งในเมืองอังวะ อมรปุระ และมัณฑะเลย์ ซึ่งมีตั้งแต่บรรพชิต ช่างฝีมือต่าง ๆ นักดนตรี และนาฏกร เจ้านายอยุธยาพระองค์อื่น ๆ ก็ได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูจากกษัตริย์พม่า โดยสามารถแบ่งเชลยออกเป็นสามกลุ่มหลักดังนี้
- พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าของกรุงศรีอยุธยา อันได้แก่ พระราชอนุชา พระราชโอรส พระราชนัดดา และพระราชภาคิไนย ให้ตั้งบ้านเรือนนอกกำแพงพระราชวังหลวงของอังวะ ลูกหลานของเจ้านายเหล่านี้ที่เป็นหญิงได้ถวายตัวเป็นพระสนมของพระมหากษัตริย์พม่า หลายคนเป็นถึงเจ้าจอมมารดา มีเจ้านายสืบเชื้อสายโยดะยาจนถึงรัชกาลพระเจ้ามินดง
- พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในของกรุงศรีอยุธยา อันได้แก่ พระอัครมเหสี พระมเหสี พระภคินี พระราชธิดา พระราชนัดดา พระราชภาคิไนย และพระสนมประทับอยู่ในพระราชวังหลวงของอังวะ เจ้านายฝ่ายในจำนวนหนึ่งถวายตัวเป็นพระสนมพระมหากษัตริย์พม่า
- เชลยสามัญชาวอยุธยา ตั้งบ้านเรือนรอบนอกพระราชวังหลวงอังวะ คนที่ชำนาญเชิงช่างไปอยู่เมืองซะไกง์ เชลยที่ชำนาญด้านการเกษตรไปอยู่เมือง, ซะเลน และซะกุ ครั้นมีการย้ายเมืองหลวง ชาวโยดะยาก็อพยพตามไปด้วย ทำให้พบชุมชนโยดะยาตามหัวเมืองต่าง ๆ ได้แก่ เมืองอังวะ, ซะไกง์, อมรปุระ และมัณฑะเลย์
ส่วนสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร อดีตพระมหากษัตริย์อยุธยาซึ่งผนวชเป็นสมณเพศนั้นทรงจำพรรษา ณ ตึกปองเล ดังปรากฏใน จารึกเจดีย์ทรายมหาวาลุกะ ความว่า
"...ราว พ.ศ. ๒๓๑๐ พระเจ้าช้างเผือก ตั้งพระนครอยู่ที่เมืองอังวะ เมื่อชาวเชลยจากอยุธยา สุโขทัย และเชียงใหม่ถูกจับกุมมาที่นี่ รวมทั้งพระราชวงศ์ ขุนนางต่าง ๆ ก็ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างจากนครอังวะที่ระแหงและมินตาซุใกล้กับคลองที่เรียกว่าชเวตชอง รวมทั้งเจ้าฟ้าดอก กษัตริย์ผู้ต้องนิราศจากราชบัลลังก์ พระองค์อุปสมบทเป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่ที่วัดปองเล และสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๙..."
ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรในสมณเพศจึงกลายเป็นที่พึ่งทางใจของเชลยอยุธยาในพม่ามาแต่นั้น ในรัชกาลพระเจ้าปดุง มีการย้ายราชธานีจากอังวะไปอมรปุระ เชื้อพระวงศ์อยุธยาจึงย้ายไปประทับที่พระราชวังแห่งใหม่ด้วย
ยุคหลังอยุธยา
ในช่วงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีการก่อตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีใหม่ ชาวไทยในปริมณฑลของกรุงศรีอยุธยา เป็นต้นว่า กำแพงเพชร พิษณุโลก สวรรคโลก และระแหงราวสามแสนคนอพยพไปกรุงอังวะ เพราะได้ยินข่าวลือว่าทหารของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีออกสังหารคนตายเกลื่อนท้องนา ในขณะที่เชลยอยุธยาในกรุงอังวะเองก็มิได้ชื่นชมในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีผู้เคยเป็นข้าเก่าของกษัตริย์อยุธยาเท่าไร ด้วยเห็นว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหนีออกจากพระนครเพื่อไปตั้งค่ายต่างหาก พวกเขาจึงรู้สึกไม่มั่นใจที่จะกลับไปพึ่งพระบารมีของกษัตริย์ใหม่
ทั้งนี้ยังมีเชลยอยุธยาบางส่วนได้มีโอกาสหวนกลับมาตุภูมิอีกครั้ง ดังกรณีของกรมขุนรามินทรสุดา พระภาติยะในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชซึ่งพลัดพรากบ้านเกิดไปบวชชีอยู่เมืองทวายเนื่องจากตกเป็นเชลย ภายหลังทรงได้รับการช่วยเหลือจากมังจันจ่าสามารถกลับมาตุภูมิได้สำเร็จ ส่วนจอห์นและหญิงคนหนึ่งที่ทายาทเป็นชั้นหลานเหลนของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ที่พลัดไปเมืองมะริด อพยพกลับสยามและตั้งถิ่นฐานที่ชุมชนกุฎีจีน โดยหญิงที่เป็นทายาทเจ้าพระยาวิชเยนทร์นั้นเป็นยายของแองเจลินา ทรัพย์ ภรรยาของโรเบิร์ต ฮันเตอร์ และอีกกรณีหนึ่งคือมหาโคและมหากฤชซึ่งกลับมาแผ่นดินไทยหลังพลัดพรากไปสี่สิบปี ต้องทนรอนแรมเดินทางอย่างยากลำบากกลับเข้าไทย โดยกล่าวว่าที่กลับมาแผ่นดินเกิดเพราะ "คิดถึงบ้าน"
แม้จะมีบางส่วนพยายามหาทางกลับมาตุภูมิ แต่ก็มีเชลยอยุธยาจำนวนไม่น้อยที่พึงใจในอิสระเมื่อได้อยู่ในเขตขัณฑ์ของพม่าแม้ในช่วงที่ตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกไปแล้วก็ตาม เพราะพวกเขาสามารถประกอบสัมมาอาชีพเลี้ยงดูตนเอง และมิต้องคอยทำงานถวายแก่เจ้านายสยาม ดังปรากฏใน เอกสารเฮนรี เบอร์นี เล่ม 1 ซึ่งเฮนรี เบอร์นี ทูตอังกฤษที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยาม ได้กล่าวถึงเชลยอยุธยาที่อยู่ในพม่า ความว่า
"...นอกจากนี้ข้าพเจ้า [เฮนรี เบอร์นี] ยังเคยได้ยินคนกล่าวว่า ถ้าหากให้เชลยทั้งสอง [คือเชลยพม่าในสยาม และเชลยสยามในพม่า] เลือกตามชอบว่าจะกลับบ้านเกิดเมืองนอนของตนหรือไม่ ก็จะปรากฏว่าพวกเชลยสยามที่เราจับได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่ถูกพม่าจับได้มาแต่ก่อนจะเลือกอยู่ที่เดิมไม่กลับกรุงสยาม เพราะอยู่ที่นั่นต่างก็ทำงานหาเลี้ยงตนเองได้ แต่ถ้าหากกลับมาอยู่กรุงสยามแล้วต้องทำงานให้แก่เจ้านายหรือแก่พระเจ้าอยู่หัว แต่ในทำนองตรงกันข้าม เชลยพม่าที่ถูกคนสยามจับมาได้ จะอยากกลับไปอยู่กับรัฐบาลอังกฤษด้วยเหตุผลแบบเดียวกัน..."
เมื่อคราวที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จเยือนประเทศพม่า ทรงพบกับเจ้าหญิงแห่งตะรังงา (Htayanga) พระราชธิดาในพระเจ้ามินดง กับพระนางสุสิริกัลยา ซึ่งสืบสันดานมาจากเจ้านายอยุธยา ตามพระนิพนธ์ในหนังสือ เที่ยวเมืองพม่า ความว่า "...พระองค์หญิงดาราตรัสบอกว่าเธอเป็นเชื้อไทย ด้วยสกุลจอมมารดาของเธอเป็นไทย ผู้ใหญ่เล่ากันมาว่าต้นสกุลเป็นเจ้าชาย [ถูกกวาด] ไปจากกรุงศรีอยุธยาแต่ยังเยาว์ ถ้าเช่นนั้นคิดตามเวลา พระองค์เจ้าหญิงดาราก็คงเป็นชั้น ๔ หรือชั้น ๕ ต่อมาจากต้นสกุล..."
ปัจจุบัน
ผู้สืบเชื้อสายชาวสยามจากอยุธยาได้กลืนหายไปกับชาวพม่าซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ พวกเขาหันไปใช้ภาษาพม่าและวัฒนธรรมพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชาวโยดะยาในเมืองซะไกง์ซึ่งนิยมสมรสกับชาวพม่า ส่วนกลุ่มที่อาศัยอยู่ริมคลองชเวตะชองซึ่งอาศัยร่วมกับชาวไทใหญ่, ไทยวน และล้านช้างได้แต่งงานผสมปนเปกัน ปัจจุบันผู้ที่ถือตัวว่าเป็นชาวโยดะยาจะมีเชื้อสายไทใหญ่อยู่ด้วย วัฒนธรรมและวิถีชีวิตก็จะเป็นแบบไทใหญ่มากกว่าโยดะยา ส่วนวัฒนธรรมไทยที่ยังคงดำรงอยู่ในยุคก่อนตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษนั้นคือโขนละครในราชสำนัก เช่นรามเกียรติ์และอิเหนา จนได้รับความนิยมในกลุ่มเจ้านายพม่า แต่หลังจากที่พม่าตอนเหนือถูกรวมเข้ากับอังกฤษ คณะละครเหล่านี้ก็แตกฉานซ่านเซ็น บ้างก็ออกไปตั้งคณะละครของตนเอง บ้างก็ไปถวายงานให้เจ้าฟ้าไทใหญ่ หรือบางส่วนก็เลิกเป็นละครไปเลย ซึ่งละครเหล่านี้ไม่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนสมัยใหม่
นายแพทย์ทินมองจี หนึ่งในลูกหลานโขนละครชาวสยามที่อาศัยในมัณฑะเลย์ มักได้ยินปู่เล่าให้ฟังเสมอว่า "อย่าลืมว่าเธอเป็นคนไทย" ขณะที่ดอเนวอู นักข่าวชาวพม่าคนหนึ่ง ก็เคยฟังยายชื่อดอตาวเล่าเรื่องราวเก่า ๆ ว่าตระกูลของตนมีเชื้อสายตูเก๊าหรือผู้ดีจากอยุธยา โดยมีบรรพบุรุษเป็นหญิงชื่อแม่ประดู่ ลูกหลานของชาวอยุธยาในพม่านี้ไม่เข้าในลัทธิรักชาติของไทย แต่พวกเขายังรำลึกอยู่ว่าไม่ลืมรากเหง้าของตัวเอง ลูกหลานอยุธยาสูญหายไปเกือบหมดแล้ว หลายคนย้ายออกจากถิ่นฐานเดิมและแต่งงานผสมปนเปไปกับชาวพม่า คงเหลือแต่ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมไว้ผมจุกและแกละ สถาปัตยกรรมภายในวัด และศาลพระราม ขณะที่วัฒนธรรมอื่น ๆ เช่น เพลงโยดะยา, จิตรกรรมโยดะยา และอาหารการกินแบบโยดะยายังคงอยู่ไม่หายไปไหน
ใน พ.ศ. 2373 นายทหารชาวอังกฤษเดินทางไปพบชุมชนชาวโยดะยาขนาดน้อยชื่อบ้านปูเด ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองมัณฑะเลย์ และพบชุมชนโยดะยาทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองโมนยวา ซึ่งทั้งสองบ้านนี้มีการก่อสร้างเจดีย์สร้างฐานสูงแคบแบบไทยและแบบไทใหญ่ นอกจากนี้ อู้จีโก่ นักวิชาการพม่าได้ค้นพบชุมชนโยดะยาแห่งหนึ่งชื่อบ้านซูกา (มาจากคำบาลีว่า สุขะ) ในเมืองมัณฑะเลย์ เมื่อ พ.ศ. 2556 เดิมเป็นหมู่บ้านของเชลยอยุธยาที่ประดิษฐ์ดอกไม้ไฟ ซึ่งอาจเป็นหมู่บ้านอยุธยาเพียงแห่งเดียวที่ยังรักษาสายเลือดอยุธยาไว้ได้ เพราะตั้งแต่อพยพเข้ามาก็ไม่นิยมแต่งงานกับคนนอกหมู่บ้าน จะต้องออกเรือนกับคนเชื้อสายโยดะยาด้วยกันเท่านั้น หากไม่สามารถสมรสได้ ก็จะครองโสดอย่างเคร่งครัด ใน พ.ศ. 2565 พบหญิงโยดะยาบ้านซูการาว 40 คน ยังครองตนเป็นโสด หากมีผู้ชายนอกหมู่บ้านเข้ามาในหมู่บ้านจนดึกดื่นก็จะถูกชาวบ้านซูกาปาหินไล่ ชาวบ้านที่นี่ยังรักษาคำไทยไว้เป็นภาษาลับสำหรับสื่อสารในชุมชน โดยใน พ.ศ. 2560 ยังหลงเหลือบุคคลที่มีเชื้อสายอยุธยาบริสุทธิ์ 35 คน จากจำนวนคนในหมู่บ้านราวสองร้อยคน โดยถือเป็นชาวอยุธยารุ่นที่ 11 ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมคือปลูกนาข้าวและถั่ว มีมวนยาเส้นและเย็บปักถักร้อยเป็นอาชีพเสริม ไม่ประกอบอาชีพฆ่าสัตว์ ขณะที่กลุ่มชาวโยดะยาบ้านมินตาซุ (ย่านเจ้าฟ้า) ในมัณฑะเลย์มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 30 คนใน พ.ศ. 2557 และเมืองซะกุมีชุมชนโยดะยาและไทใหญ่อาศัยร่วมกันชื่อหมู่บ้านไต (ไตคือไท) แต่พูดภาษาโยดะยาหรือไทใหญ่ไม่ได้แล้ว ในงานเขียน "มกุฎราชกุมารเชื้อสายไทย" (A Crown Prince of Thai Origin) ของนายแพทย์ ทินมองจี ระบุว่ายังมีเจ้าหญิงพม่าสองพระองค์ ที่สืบเชื้อสายจากเจ้าชายทอง (Maung Htaung) พระราชโอรสในพระเจ้าแสรกแมง กับนางอี่ภู่หญิงชาวโยดะยา ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ในย่างกุ้ง
วัฒนธรรม
ภาษา
แต่เดิมชาวโยดะยาจะใช้ภาษาไทยสำเนียงอยุธยา ซึ่งจะออกเหน่อกว่าภาษาไทยมาตรฐานในปัจจุบัน และมีหลักฐานบ่งว่ายังใช้ภาษาไทยพูดอยู่จนถึงช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีการค้นพบจารึกภาษาไทยอยุธยาหลังพระพุทธรูปขนาดน้อยในวัดยาดะนา เมืองอังวะ บันทึกไว้ว่า "ลูกปลีก มีขาพ พราม" แปลว่า "การทำบุญจากหมู่บ้านพะราม" และพบอักษรไทยใต้ภาพนรกภูมิภายในกู่วุดจีกูพญาภายในสำนักสงฆ์หมั่นกินจอง เมืองมินบู เขียนอธิบายใต้ภาพไว้ว่า "สังคาตตนรก" จากหลักฐานทั้งสอง แสดงให้เห็นถึงการดำรงอยู่ของภาษาและอักษรไทยในขณะนั้น นอกจากนี้ยังมีชาวสยามคนหนึ่งชื่อนายจาดออกจากแผ่นดินสยามในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปสอนภาษาไทยแก่บุตรธิดาขุนนางพม่าในรัชกาลพระเจ้ามินดง ดังปรากฏในคำให้การนายจาด ที่ยังระบุว่าในช่วงเวลานั้นยังมีการใช้ภาษาไทยในหมู่พระสงฆ์ แต่พบว่าคนโยดะยาเริ่มพูดไทยไม่ได้แล้ว ดังปรากฏความตอนหนึ่ง ความว่า
"...ข้าพเจ้าได้ขึ้นพักอยู่ที่บ้านเจ้าท่าคืน ๑ รุ่งขึ้นมีพม่าที่เป็นพ่อค้าเศรษฐีแลขุนนางแต่ล้วนเป็นเชื้อชาติไทย พากันมาเยี่ยมเยียน ทักถามข่าวทุกข์แลสุขวันยันค่ำจึงสิ้นคนมาเยี่ยมเยียน ครั้นเวลาค่ำ ๒ ทุ่ม มองสวัสดีเศรษฐีใหญ่ในเมืองพม่า แค่เป็นหลานเหลนเชื้อชาติไทยครั้งกรุงเก่า เอารถเทียมม้าเทศคู่หนึ่งมาเชิญข้าพเจ้าให้ไปอยู่บ้านเขา ข้าพเจ้าก็ไปอยู่บ้านมองสวัสดี ๆ พูดภาษาไทยไม่ได้ มีพระสงฆ์มาเยี่ยมเยียนทักถามข่าวทุกข์แลสุขโดยภาษาไทยหลายองค์..."
ภาษาไทยของชาวโยดะยายังปรากฏอยู่ในเพลงต่าง ๆ เช่น เพลงเอเอชูเย่ไช ซึ่งเป็นเนื้อเพลงไทยเดิมที่คาดว่าเป็นเพลงเดียวกับ แต่เมื่อเวลาผ่านมานานนับร้อยปี กลับกลายเป็นเพลงที่ไม่มีใครเข้าใจความเพราะร้องกันปากต่อปากจึงเกิดความผิดพลาดในการออกเสียง จนชาวไทยหรือพม่าเองไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาของเพลงได้ ภายหลังจึงได้เปลี่ยนเนื้อร้องเป็นภาษาพม่าแทน นอกจากนี้ยังเหลือร่องรอยชื่อสถานที่เป็นภาษาไทยคือทะเลสาบเต๊ตเต (Tet Thay) ในเมืองอมรปุระ มีชื่อเดิมที่เชื่อว่าเป็นภาษาโยดะยาว่า แนก๊กตอ (Ne Kotho) แต่ไม่ทราบคำไทยเดิมหรือทราบความหมาย และอีกแห่งคือคลองชเวตาเชา ตั้งอยู่ในอมรปุระเช่นกัน มีชื่อเดิมเป็นภาษาโยดะยาว่าคลองไนกุสน (คลองนายกุศล) เดิมเป็นที่ตั้งของชุมชนโยดะยาขนาดใหญ่
ในกาลต่อมาลูกหลานชาวโยดะยาเริ่มละทิ้งภาษาไทยและออกเสียงแปร่ง รับอิทธิพลอย่างสูงจากภาษาพม่าโดยเฉพาะไวยากรณ์ การออกเสียงคำศัพท์ก็ต่างออกไปจากภาษาไทยมาตรฐาน แม้จะมีรากศัพท์เดียวกัน ดังกรณีมหาโคและมหากฤช ซึ่งมหาโคเป็นเชลยไทยที่ถูกกวาดต้อนไปพม่าราวสี่สิบปี ส่วนมหากฤชเป็นบุตรชายที่เกิดในพม่า ทั้งสองอพยพกลับเข้ามาแผ่นดินสยามในยุครัตนโกสินทร์ แต่พูดไทยไม่ชัดเจน จนต้องให้ทั้งสองพูดภาษาพม่าแล้วให้ล่ามพม่ามาแปลภาษาให้ ล่วงมาในปัจจุบันลูกหลานชาวโยดะยาเลิกใช้ภาษาไทยดังกล่าวไปแล้ว โดยหันไปพูดภาษาพม่าแทน ภาษาไทยจึงมิได้ตกทอดสู่คนรุ่นหลัง ๆ แต่มีชาวโยดะยาบางส่วนที่ยังอนุรักษ์ภาษาไทยเอาไว้ เช่นที่บ้านซูกา (มาจากคำบาลีว่า สุขะ) จะใช้คำศัพท์ของภาษาไทยเป็นภาษาลับใช้สื่อสารกันภายในหมู่บ้าน เช่นคำว่า พ่อ เรียกว่าอะบ๊ะ, ขนม เรียกขนม, กล้วย เรียกก้วย, อ้อย เรียกน้าออ, กินข้าว เรียกกินข้าวหรือปุงกิน, น้ำอบ เรียกนะโอบ ซึ่งเหลือเพียงคนรุ่นเก่าเท่านั้นที่จะเข้าใจคำเหล่านี้ได้ ทั้งนี้พวกเขาไม่สามารถพูดภาษาโยดะยาให้เป็นประโยคได้อีกต่อไป เพราะแทบไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน
ใน พ.ศ. 2359 นายแพทย์แอดอนีแรม จัดสัน (Adoniram Judson) และแอนน์ แฮเซลไทน์ "แนนซี" จัดสัน (Ann Hazeltine Judson) มิชชันนารีแบปทิสต์ชาวอเมริกันซึ่งเข้าไปเผยแผ่ศาสนาในย่างกุ้ง ได้ศึกษาภาษาไทยจากเชลยสยามซึ่งถูกกวาดต้อนเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ในเวลาเดียวกันนั้นจอร์จ เอช. ฮอฟ (George H. Hough) ช่างพิมพ์ ได้เข้ามาตั้งโรงพิมพ์ในประเทศพม่า และได้หล่อตัวพิมพ์อักษรไทยครั้งแรกใน พ.ศ. 2359 โดยใช้ต้นแบบจากที่นางจัดสันศึกษา ก่อนตีพิมพ์พระกิตติคุณมัทธิวขึ้นแต่บัดนี้ได้สูญหายไปแล้ว ถือได้ว่าชาวโยดะยาในพม่าอาจเป็นผู้ทำให้เกิดตัวพิมพ์อักษรไทยยุคแรก ๆ ก่อนที่จะพัฒนาเป็นอักษรไทยที่ใช้ในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน
ศาสนา
ชาวโยดะยานับถือศาสนาพุทธ มีคติความเชื่อที่แตกต่างไปชาวพุทธพม่าทั่วไป เช่น คติการก่อขึ้นสักการบูชา, คติการสร้างพระเจดีย์สามองค์ และคติการสร้างศาลบูชาพระราม (ต่างจากชาวพม่า เพราะโดยทั่วไปชาวพม่าจะบูชานะ) ปัจจุบันยังมีประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือนหกของทุกปี ณ ชุมชนระแหงโหม่งตีสุในมัณฑะเลย์ ประเพณีนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในรัชกาลพระเจ้าปดุงใน พ.ศ. 2325-2329 ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ผู้มีเชื้อสายสยามก่อเจดีย์ทรายตลอดริมคลองชเวตชอง จะมีการก่อพระเจดีย์สูง 25 ฟุตภายในวันเดียว มีการนิมนต์พระสงฆ์ 54 รูปนั่งบนอาสนะ และพระพุทธรูปหนึ่งองค์ประดิษฐานไว้บนโต๊ะหมู่ ส่วนอุบาสกอุบาสิกาจะถวายเครื่องคาวหวาน และเครื่องไทยทานเบื้องหน้าพระสงฆ์ ปัจจุบันมีพระเจดีย์ทรายตั้งอยู่ในมัณฑะเลย์สี่องค์ ได้แก่ตำบลระแหงโหม่งตีสุ, ตำบลดาตัน, ตำบลมินตาซุ และปุเลง่วยยอง ปัจจุบันแม้จะไม่หลงเหลือลูกหลานเชลยอยุธยาแล้ว ชาวพม่าในท้องถิ่นต่างเข้าใจว่าประเพณีการก่อพระเจดีย์ทรายไม่ใช่ธรรมเนียมของชาวพม่าทั่วไป หากแต่เป็นของชาวโยดะยาในอดีต และพวกเขามีหน้าที่อนุรักษ์และสืบทอดประเพณีนี้ให้คงอยู่ต่อไป ทุกวันนี้ชาวโยดะยาในมัณฑะเลย์จะพบปะกันเป็นประจำในทุกวันเข้าพรรษา
ชาวโยดะยาในบ้านซูกาเคร่งครัดในศาสนาพุทธอยู่ระดับหนึ่ง เพราะพวกเขาไม่ประกอบอาชีพฆ่าสัตว์ แต่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมแทน หลังเรื่องราวของหมู่บ้านชาวโยดะยาเผยแพร่สู่สาธารณชนชาวไทยแล้ว ชาวโยดะยาบ้านซูกามีความประสงค์ที่จะได้พระพุทธรูปที่มีไทยยุคปัจจุบันไปประดิษฐานที่วัดซูกากลางตั้งแต่ พ.ศ. 2563 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่ยึดโยงพวกเขาเข้ากับแผ่นดินแม่ ชาวไทยในประเทศไทยจึงได้จัดสร้างพระพุทธรูปโดยจำลองแบบจากพระพุทธชินราชและพระศรีอริยเมตไตรย ก่อนส่งมอบในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 และมีโครงการที่จะทอดผ้าป่าให้แก่วัดซูกากลางในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566
ส่วนคติการนับถือศาลพระราม สามารถพบได้ตามชุมชนโยดะยา ซึ่งต่างจากชาวพม่าที่จะบูชานะ สาเหตุที่ชาวโยดะยานับถือพระราม ส่วนหนึ่งก็เพราะพวกเขาเป็นลูกหลานของเชลยโขนละครที่ถูกกวาดต้อนมา ภายในศาลจะมีการบรรจุพระมหาฤๅษีไว้ขวาสุด ตามด้วยพระราม พระลักษมณ์ นางสีดา และหนุมาน พร้อมเครื่องบูชา ส่วนศาลพระรามในบ้านซูกานั้นยังคงรูปแบบเดียวกับศาลพระภูมิของไทยคือมีเสาเดียว ต่างจากศาลนะของพม่าซึ่งจะมีสี่เสา ปัจจุบันในมัณฑะเลย์มีศาลาไหว้ครูเรียกว่ายามะนะกันสำหรับผู้เรียนนาฏศิลป์ใช้สำหรับบูชา ภายในศาลาจะเก็บหัวโขนต่าง ๆ ไว้ ชาวโยดะยายังคงบูชาพระรามมาจนถึงปัจจุบัน และยังเข้าใจว่าชาวไทยในประเทศไทยก็คงบูชาพระรามด้วย
ชาวโยดะยาหลายคนแปรสภาพตนเองให้กลมกลืนไปกับสังคมพม่า ดังปรากฏความว่า "เมื่อฤดูฝน (พ.ศ. 2274) น้ำ (ในแม่น้ำมยิเงในอังวะ) เซาะพังทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือเมืองอังวะพัง ผู้ชำนาญชาวอยุธยาเสกมนต์ให้กระแสน้ำเปลี่ยนทางแล้วนำทรายขึ้นมาถมฝั่งแม่น้ำตามเดิม"
อาหาร
อาหารการกินอย่างอยุธยาที่มีอิทธิพลในอาหารพม่า เช่น ลอดช่อง ขนมครก และอาหารที่ใช้กะทิ นอกจากนี้อาหารพม่ายังรับอิทธิพลอื่น ๆ จากอาหารไทยเช่น การใช้น้ำปลา สำรับอาหารประเภทต้มยำ ทั้งยังรับอาหารไทยร่วมสมัยเข้าไปด้วย ซึ่งอาหารเหล่านี้จะถูกปรุงในวาระพิเศษของชุมชนเพื่อถวายพระสงฆ์หรือปรุงขายทั่วไปในตลาดซึ่งมีมานาน อาหารโยดะยาที่มีชื่อเสียงที่สุดคือซุปโยดะยา ซึ่งดัดแปลงจากต้มยำของไทย ถือเป็นอาหารพิเศษที่มีตามร้านอาหารชั้นนำ แต่จากวัตถุดิบในท้องถิ่นและระยะเวลากว่าสามร้อยปี ทำให้อาหารชนิดนี้ต่างไปจากแผ่นดินแม่ โดยมีลักษณะคล้าย มีรสเปรี้ยวนำ เค็มตาม และเผ็ดเล็กน้อย และมีอาหารพม่าที่ได้รับอิทธิพลจากเชลยโยดะยาอีกได้แก่ คะโนนโดะ (ခနုံထုပ်), ชเวยีนเอ้ (ရွှေရင်အေ), (မုန့်လက်ဆောင်း) และโหมะน์ตี (မုန့်တီ) โดยโมะน์ตีแบบอยุธยา (ယိုးဒယားမုန့်တီ) พบได้เฉพาะบ้านมินตาซุ เมืองมัณฑะเลย์ โดยเฉพาะโหมะน์และส้องซึ่งตกทอดจากลอดช่องในสมัยอยุธยา ถือเป็นของหวานที่หารับประทานได้ทั่วไป
ในชุมชนโยดะยาบ้านซูกายังคงรักษาการทำขนมแบบไทยไว้ อย่างเช่น ขนมที่ทำจากแป้งข้าวเจ้า โรยด้วยถั่วบด น้ำตาล หน้าตาคล้าย ขนมทำจากแป้งข้าวเจ้านึ่งโรยด้วยมะพร้าวขูดฝอยลักษณะใกล้เคียงกับขนมต้มขาว และขนมอีกชนิดหนึ่ง ทำจากแป้งปั้นเป็นวงกลม ก่อนนำไปทอดคล้ายขนมวง เรียกว่ามงรัดเกล้า รับประทานเคียงกับน้ำจิ้มรสออกหวาน และจะรับประทานมะม่วงสุกหวานในตอนท้าย
ส่วนชุมชนโยดะยาในมัณฑะเลย์ยังทำขนมไทยออกขาย เป็นต้นว่าขนมครก ลอดช่อง และหม้อแกง
นาฏกรรม
หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองใน พ.ศ. 2310 พม่าได้กวาดต้อนเชลยศึกฝีมือดีเข้ามาเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าเป็นช่างฝีมือต่าง ๆ นางละคร และนักดนตรีเพื่อมาทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของพม่า บรรดาเชื้อพระวงศ์อยุธยาที่เบื่อหน่ายชีวิตในราชธานีได้ริเริ่มคณะละครแบบไทยขึ้นจนเป็นที่นิยมยิ่งในราชสำนักพม่า ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย การร่ายรำอันเก่าแก่ของอยุธยา และโรงละครโอ่โถงงดงาม เป็นที่สะดุดตาของเจ้านายพม่าในความแปลกแต่น่าหลงใหล ส่งผลให้ละครสยามเป็นที่นิยมในชนชั้นปกครอง นาฏกรรมของเชลยโยดะยาเกิดขึ้นจากการริเริ่มของพระองค์เจ้าประทีป พระราชธิดาในสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ซึ่งเป็นพระมเหสีพระองค์หนึ่งของพระเจ้ามังระ ขอแสดงนาฏศิลป์อยุธยาถวายพระราชสวามี พระเจ้ากรุงอังวะทรงสนพระทัยมาก จึงมีรับสั่งให้พระเจ้าเบญวัยและนายจะ เจ้าเมืองอมรวดี (ปัจจุบันคือเมียวดี) ศึกษานาฏศิลป์อยุธยาจากเจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎ ฝ่ายในอยุธยาผู้เก่งกาจด้านนาฏกรรม
แต่เดิมการแสดงแบบโยดะยาจะใช้ภาษาไทยและชาวอยุธยาในการแสดงเท่านั้น ดังข้อมูลจาก อู้นุ เจ้ากรมมหรสพของพม่า รายงานไว้ว่า "...สมัยรัชกาลพระเจ้าช้างเผือก การแสดงละครโยดะยาก็ล้วนแต่ใช้ชาวโยดะยาแท้ ๆ แสดงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นนางสีดาหรือบุษบาก็ล้วนเป็นนางเอกชาวโยดะยา ทั้งยังใช้บทร้องบทเจรจาซึ่งเป็นภาษาโยดะยาอีกด้วย ซึ่งบรรดาผู้ชมทั้งหลายเข้าใจก็แต่เพียงท่าทางมือแขนและสีหน้าที่แสดงออกเท่านั้นไม่มีอะไรไปมากกว่านี้..." ครั้นรัชสมัยพระเจ้าจิงกูจา มีกวีเอกคนหนึ่ชื่อ เขียนบทกวีเรื่องรามเกียรติ์ด้วยภาษาพม่าอันไพเราะอ่อนหวาน ต่อมา พระมเหสีเอกผู้เป็นกวี ทรงส่งเสริมการแสดงพระรามชาดกหรือยามะซะตอในราชสำนัก ทรงเปลี่ยนแปลงการแต่งกายของนางสีดา จากเดิมที่นุ่งผ้าอย่างชาวสยามเปลี่ยนเป็นใส่เสื้อทับแขนยาวแบบพม่าและนุ่งผ้าทะเมงแทน โดยให้เหตุผลว่าการนุ่งผ้าแบบอยุธยานั้นดูไม่เป็นผู้หญิงเท่าที่ควร ต่อมาในสมัยพระเจ้าบาจีดอได้มีการแปลบทละครสยามเรื่องอิเหนา เกิดเป็นละครคู่แข่งกับพระรามชาดก แต่พระรามชาดกก็ยังเป็นที่นิยม กระทั่งถึงรัชกาลพระเจ้ามินดงผู้เคร่งครัดในพระศาสนา การแสดงละครถูกมองว่าเป็นเรื่องเหลวไหล จึงเสื่อมความนิยมไปแต่นั้น
ในบันทึกของบาทหลวงซันแกร์มาโน (Sangermano) ชาวอิตาลี ผู้พำนักในพม่าช่วง พ.ศ. 2281-2351 อธิบายถึงการร่ายรำไว้ว่า "...ครั้งแรกที่ข้าพเจ้าเห็นนักรำเหล่านี้ ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นกลุ่มของคนวิกลจริตเสียอีก..." และบันทึกการเดินทางของและเมื่อ พ.ศ. 2428 กล่าวถึงการแสดงพระรามชาดก ความว่า "...เจ้าชายนักรบแห่งยุคมหากาพย์ [คือพระราม] แต่งกายด้วยอาภรณ์รัดตัวด้วยเครื่องประดับที่เป็นประกายวาววับ มีผ้าที่จีบอย่างน่าประหลาดตรงช่วงขาทั้งสอง สวมชฎาที่มีทรงประหนึ่งมงกุฎหรือเจดีย์..."
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ เที่ยวเมืองพม่า ทรงอธิบาย "เพลงโยเดีย" และ "รำอย่างโยเดีย" ไว้ว่า "...เล่าถึงวิธีรำอย่างโยเดีย ซึ่งเขาจะเล่นให้ฉันดูในวันนั้น แล้วกลับเข้าไปนั่งเตียง พวกนางกำนัลก็ลุกขึ้นรำเข้ากับร้องเพลง "โยเดีย" การที่รำฟ้อนเข้ากับร้องเพลงโยเดีย เห็นจะซักซ้อมกันในตอนกลางวันวันนั้นหลายเที่ยว ตัวนางระบำสัก ๑๐ คน ต้องมีนางผู้ใหญ่ที่เป็นครูออกมายืนกำกับและร้องนำอยู่ในวงด้วย เพลงที่ร้องก็สังเกตได้ว่าเป็นทำนองเพลงไทยจริง เพราะเพลงพะม่ามักมีทำนองกระโชกไม่ร้องเรื่อยเหมือนเพลงไทย [...] มองโปซินรำท่าพระรามถือศรมีกระบวนเสนาตาม มองโปซินรำคนเดียวเป็นท่าเดินนาดกรายเข้ากับจังหวะปี่พาทย์ ดูก็พอสังเกตได้ว่าเป็นท่าละครไทย เพราะช้ากว่าและไม่กะดุ้งกะดิ้งเหมือนละครพะม่า..."
ส่วนอานันท์ นาคคง นักมานุษยวิทยา คณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงยามะซะตอว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับนาฏศิลป์ไทยมาก ดังปรากฏความว่า "ท่วงท่าวิจิตรอ่อนช้อยแบบนี้ ค่อนข้างจะแตกต่างจากระบำพม่าที่คุ้นเคย ซึ่งการตั้งวง และการจีบแบบนี้ สะท้อนความเป็นนาฏศิลป์อยุธยาได้อย่างชัดเจนมาก เพราะในรูปแบบของพม่าจะมีลักษณะการรำที่เป็นเหลี่ยมมากกว่า จะไม่เป็นวงโค้งแบบนี้"
ปัจจุบันการแสดงนาฏกรรม พระรามชาดก และ อิเหนา ยังคงดำรงอยู่ในประเทศพม่า โดยการแสดง พระรามชาดก ยังแสดงโดยคณะละครโขนโยดะยาที่เมืองจัดหลังวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี ซึ่งตรงกับเทศกาลลอยกระทงของไทย ส่วน อิเหนา เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงชุด ชะแลเปียวอวาไน โดยจะมีการขับร้องประกอบเครื่องดนตรี (คล้ายระนาดเอก) กับซองเกาะ (พิณแบบพม่า)
ดนตรี
ในพงศาวดารฉบับอูกาลา และพงศาวดารฉบับหอแก้ว กล่าวไว้ตรงกันว่าในรัชสมัยพระเจ้าบุเรงนอง ได้มีนักแสดงและนักดนตรีอยุธยาเข้ามาในหงสาวดีแล้วในเวลานั้น หลังสิ้นรัชกาลดังกล่าวก็ปรากฏว่าดนตรีอยุธยาถูกบรรเลงร่วมกับดนตรีประเภทอื่น ๆ ในพระราชพิธีต่าง ๆ มีการใช้เครื่องดนตรีจากอยุธยา 7 ชิ้น รวมกันเป็นมหรสพเรียกว่า "โยดะยาซายง์" ซึ่งมีร่องรอยการผสมวงปี่พาทย์ตามขนบอยุธยาตอนปลาย
โดยปรกติแล้วในราชสำนักพม่าจะใช้นักแสดงและนักดนตรีมืออาชีพชาวอยุธยาในการแสดง โดยมีบทเพลงและบทเจรจาเป็นภาษาไทย ทว่าผู้ชมชาวพม่านั้นมีความประสงค์จะรับฟังเป็นภาษาพม่าเพื่ออรรถรส ใน พ.ศ. 2332 พระเจ้าปดุงทรงตั้งกรรมการแปลงานเหล่านี้โดยเฉพาะ มีการแปลงบทเพลงรามเกียรติ์และอิเหนาเป็นภาษาพม่า แต่มีบทเพลงจำนวนแปดเพลงที่เจ้าชายเปียงสี (Pyinhsi) พระราชโอรสทรงนิพนธ์ตามทำนองเพลงอยุธยา (ส่วนชื่อในวงเล็บอ้างจากโยธยา : ดนตรีไทยในวัฒนธรรมเมียนมาร์ ของสุรดิษ ภาคสุชลและปัญญา รุ่งเรือง) ได้แก่
คำขึ้นต้นภาษาพม่า | ชื่อไทย | เทียบคำไทย |
---|---|---|
ยเวตานยา | สยานเตง Frangtin | ฝรั่งเต้น (พยันติน) |
เนงยวนคาเหมาน | เคะโมง Khemun | แขกมอญ |
ตอตองชเว | คเมง Khamein | เขมร (ขมิ้น) |
ตอมะเยงเชลาน | ทเน้า Tanauk | ท่านอก (ตะนาว) |
ปานมะเยงเล | ปเยงชา Flengchaa | เพลงช้า |
คายปานโซง | ทดวน Htatunt | โทน (ทบทวน) |
มอโยงเหโวง | ชวนชาน Chut Chant | ฉุยฉาย (เชิดฉาน) |
มายมอนพยา | อูเซะ Ngusit/Ngu Ngi | งูเง็ก (งุหงิด) |
ในจำนวนนี้มีสองเพลงเท่านั้นที่เป็นเพลงไทยคือเพลงฝรั่งเต้นและเพลงช้าจากการสอบเนื้อร้องเมื่อ พ.ศ. 2493 ส่วนใน บทเพลงพม่ายุคจารีตฉบับที่ได้รับการอนุมัติจากภาครัฐให้จัดพิมพ์ใน พ.ศ. 2497 โดยคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานกล่าวไว้ว่า
"แม้ว่าเราเคยใช้คำว่า ฝรั่งเต้น, แขกมอญ, เขมร, ท่านอก, เพลงช้า, ฉุยฉาย, ญญิต ตั้งแต่วันวานตราบเท่าทุกวันนี้ แต่คำเหล่านี้นอกจากจะมิได้ปรากฏในพจนานุกรมไทยแล้ว คนไทยระดับผู้นำยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า หากยกเว้นเพลงช้าและฝรั่งเต้นแล้ว คำเหล่านี้ไม่ใช่คำในภาษาไทย และแม้แต่คำที่เหมือนกับคำยืมก็มิได้มีปรากฏในพจนานุกรมภาษาไทยเช่นกัน ดังนั้น จึงได้เลี่ยงการใช้คำเหล่านี้ในบทที่ว่าด้วยเพลงไทย"
ขณะที่งานวิจัย โยธยา : ดนตรีไทยในวัฒนธรรมเมียนมาร์ ของสุรดิษ ภาคสุชล และปัญญา รุ่งเรืองอธิบายว่าเพลงโยธยามีมาตั้งแต่ยุคราชวงศ์โกนบอง พบร่องรอยเพลงที่ใช้ทำนองและภาษาไทยคือเพลงเอเอชูเย่ไชหรือ ส่วนเพลงไทยที่ใช้บทขับร้องเป็นภาษาพม่า ได้แก่ เพลงพยันติน, แขกมอญ, ขมิ้น, ตะนาว, เพลงช้า, ทบทวน, เชิดฉาน, งุหงิด, กะบี่ และมโหตี และพบว่าเพลงโยธยากับดนตรีไทย มีจังหวะและทำนองสม่ำเสมอเชื่อมโยงกัน
ทั้งนี้เพลงเอเอชูเย่ไช (Ei Ei Chu Yei Chai) เป็นเพลงไทยเดิม มีเนื้อร้องเป็นภาษาไทย แต่เมื่อเวลาผ่านมานานนับร้อยปี ก็กลายเป็นเพลงที่ไม่มีใครเข้าใจความหมาย เพราะร้องกันปากต่อปากมาเป็นเวลายาวนานหลายร้อยปี จึงเกิดความผิดพลาดในการออกเสียง จนชาวไทยหรือพม่าเองไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาของเพลงได้ ภายหลังจึงได้เปลี่ยนเนื้อร้องเป็นภาษาพม่าแทน จากงานวิจัยของสุรดิษ ภาคสุชลและปัญญา รุ่งเรือง พบว่าตรงกับเพลงฉุยฉายของไทย
นอกจากนี้เพลงโยดะยายังส่งผ่านจากพม่าเข้าสู่ราชสำนักเชียงใหม่ โดยเชียงใหม่จะเรียกเพลงดังกล่าวว่า "เพลงม่าน" ใช้วงปี่พาทย์บรรเลงประกอบการฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตาหรือการฟ้อนก่ำเบ้อ มนตรี ตราโมทเคยวิจารณ์ทำนองเพลงของการฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตาไว้ว่า "…ทำนองเพลงที่บรรเลงประกอบฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ถ้าถอดออกมาพิจารณาทีละประโยค ๆ จะเห็นว่า เพลงต้นจะมีทำนองของไทยภาคกลางผสมอยู่มา แต่จะมีสำเนียงแบบพม่า..."
สถาปัตยกรรม
หลังการกวาดต้อนเชลยสยามเข้ามาในแดนพม่า เชลยหลายคนเป็นช่างฝีมือขั้นสูงได้ฝากผลงานสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมแบบอยุธยาทิ้งไว้ ดัง พ.ศ. 2134 ในรัชกาลพระเจ้านันทบุเรงโปรดให้รื้อประตู รวมทั้งหอป้อมข้างบนประตูออก แล้วสร้างใหม่ตามอย่างอยุธยา ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจสร้างโดยเชลยผู้มีฝีมือเชิงช่างจากอยุธยา ซึ่งจิตรกรรมฝาผนังแบบอยุธยาส่งอิทธิพลในแผ่นดินพม่าช่วงพุทธศตวรรษที่ 24-25 ในแถบเมืองซะไกง์ และมัณฑะเลย์
โดยเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของช่างอยุธยาในพม่าคือ การใช้สีแดงชาดในจิตรกรรม, การใช้หรือแถบหยักฟันปลาคั่นภาพ, ลายพรรณพฤกษาหรือลายกระหนกแบบอยุธยา, ภาพเครื่องทรงหรือลักษณะของ, ลักษณะของภาพหรือเจดีย์ทรงเครื่องอย่างอยุธยา, ภาพพระพุทธเจ้าและเทวดาที่มีพระพักตร์อย่างอยุธยา ซึ่งลักษณะเหล่านี้สามารถเทียบเคียงกับศิลปกรรมช่วงปลายอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ สมัยพุทธศตวรรษที่ 22-24 ที่พบในภาคกลางของประเทศไทย จากการสำรวจใน พ.ศ. 2550 พบว่าศิลปกรรมส่วนใหญ่เป็นแบบอยุธยาตอนปลายราวพุทธศตวรรษที่ 24 ปรากฏอยู่กระจัดกระจายตามหัวเมืองสำคัญต่าง ๆ เช่น พะโค, ซะไกง์, อังวะ, อมรปุระ, , , โมนยวา และมัณฑะเลย์ ทั้งยังพบว่าศิลปกรรมอย่างไทยนั้นได้รับความนิยมอย่างยิ่ง ก่อให้เกิดการถ่ายทอดกรรมวิธีในการสร้างจิตรกรรม ศิลปกรรมอย่างไทยสู่ช่างพื้นเมืองชาวพม่า โดยพบหลักฐานต่าง ๆ ที่แสดงถึงอิทธิพลของช่างจากกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่คำบอกเล่า สมุดดำ จิตรกรรมฝาผนัง งานปูนปั้นประดับผนัง งานแกะสลักเครื่องไม้ และงานจำหลักหินทราย และยังหลงเหลือสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมแบบอยุธยาในพม่า ได้แก่
- (Kyauktawgyi Pagoda) เมืองอมรปุระ มีภาพจิตรกรรมบนเพดานและฝาผนัง แสดงถึงวิถีชีวิตของชาวพม่าและชาวโยดะยา และภาพเทพพนม ปัจจุบันภาพลบเลือน และบางส่วนถูกทาสีทับ
- (Maha Thein Taw Gyi Temple) เมืองซะไกง์ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบอยุธยาอย่างชัดเจน รวมทั้งภาพพระพุทธรูปขัดสมาธิศิลปะไทย แต่ปัจจุบันจิตรกรรมบางส่วนถูกปูนโบกทับไปแล้ว รวมทั้งมีความเสียหายของภาพที่เกิดการจากการรั่วซึมของหลังคา
- วัดเยตาพันจอง (Yethaphan Kyaung Temple) หรือวัดมะเดื่อ เมืองอังวะ พบว่าเบื้องหลังพระพุทธรูป มีการแกะสลักลวดลายกระหนกแบบอยุธยา และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแกะสลักจากไม้มะเดื่อฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร
- พระอารามบากะยา (Bagaya Monastery) เมืองอังวะ มีรูปแกะสลักครุฑยุดนาคศิลปะผสมไทย-พม่า
- วัดยาดะนา (Yadana Temple) เมืองอังวะ สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมไทยโดยช่างพม่า เช่น ก่อสร้างด้วยไม้ วิหารก่อด้วยอิฐและเสาปูนแบบอยุธยา และฐานชุกชีศิลปะผสมไทย-พม่า
- เจดีย์จุฬามณี ภายในวัดร้างแห่งหนึ่งในเมืองอังวะ มีลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุม มีอัตลักษณ์สอดคล้องกับสถาปัตยกรรมไทย
- กู่วุดจีกูพญา ภายในสำนักสงฆ์หมั่นกินจอง เมือง พบจิตรกรรมอยุธยาภายในกู่ทั้งเก้าห้อง
- พบงานศิลปกรรมอยุธยาภายในวัดแห่งหนึ่งที่เมืองซะเลน
- ภาพจำหลักหินเรื่องรามเกียรติ์ เมืองโมนยวา ศิลปกรรมอย่างไทยโดยฝีมือช่างพม่า
- แผ่นแกะสลักเครื่องไม้ภายในพระราชวังหงสาวดี เมืองพะโค ลักษณะลาย ใกล้เคียงกับลายบุษบก
ปัจจุบันชาวโยดะยาในหมู่บ้านซูกายังคงรักษารูปแบบการสร้างบ้านแบบเรือนไทยยกใต้ถุน มีชานพัก มียุ้งข้าว ต่างไปจากรูปแบบการตั้งเรือนของชาวพม่า พระพุทธรูปมีพุทธลักษณะที่บ่งถึงอิทธิพลของอยุธยาได้ โดยสังเกตได้จากยอดพระเกศ และพระนลาฏ ซึ่งต่างออกไปจากพระพุทธรูปแบบพม่า รวมทั้งยังมีการตั้งศาลพระรามทำนองเดียวกับศาลพระภูมิตามคติไทยคือมีเสาเดียว
ในวัฒนธรรมร่วมสมัย
- เรื่องสั้น ผมเป็นคนโยเดีย (พ.ศ. 2530) เขียนโดยเสนีย์ เสาวพงศ์ มีเนื้อหากล่าวถึงผู้เขียนขณะเป็นทูตอยู่ในประเทศพม่า ระหว่างที่เขากำลังนั่งดื่มกาแฟ ก็มีเด็กที่กำลังเตะฟุตบอลอยู่วิ่งเข้ามาหาพร้อมกับพูดภาษาอังกฤษแบบกระท่อนกระแท่นว่า "ผมเป็นคนโยเดีย ผมอยากพบคุณ" จากเขาก็วิ่งกลับไปเตะบอลต่อ เสนีย์ก็นิ่งไป
- ภาพยนตร์ สาบเสือที่ลำน้ำกษัตริย์ (พ.ศ. 2545) กำกับโดยบัณฑิต ฤทธิ์ถกล เป็นเรื่องราวของกล่อมและเนียนสามีภรรยาเชลยโยดะยาที่ถูกต้อนไปเมาะตะมะ ทว่ากล่อมตายระหว่างการสู้รบที่ลำน้ำกษัตริย์ เนียนจึงออกตามหาสามีแต่กลับถูกโจรป่าขืนใจจนตายที่ลำน้ำกษัตริย์ หลังจากนั้นเนียนกลายเป็นวิญญาณไปสิงในร่างเสือและรอการกลับมาของชายคนรัก
- ภาพยนตร์ (พ.ศ. 2559) กำกับโดย เป็นเรื่องราวของปิ่น หญิงชาวไทยที่พบจดหมายของย่าที่เป็นชาวพม่า เธอจึงเดินทางตามร่องรอยแห่งรักต่างชนชั้นของย่าที่ประเทศพม่า ณ ที่นั่นทำให้เธอพบว่าตัวเธอมีเชื้อสายพม่า และเธอพบชายชราชาวโยดะยาคนหนึ่งที่อยู่พม่ามานานจนไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าตนคิดถึงประเทศไทย
- นวนิยายเรื่อง Irrawaddy เกลียวกระซิบ (พ.ศ. 2561) เขียนโดย เป็นเรื่องราวของมินมิน หญิงเชื้อสายโยดะยารุ่นที่สิบ ที่ย้อนเวลากลับไปเมื่อ พ.ศ. 2310 ไปพบกับเจ้าหญิงดาราซึ่งเป็นเจ้าหญิงโยดะยาในพม่า การกระทำของเจ้าหญิงในอดีตจะส่งผลต่อมินมินในยุคปัจจุบัน
- ละครโทรทัศน์ จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี (พ.ศ. 2565) กำกับโดยชาติชาย เกษนัส เป็นเรื่องราวของนุชนาฏ หญิงไทยที่ไปทำงานในย่างกุ้งและล้มป่วยจากเนื้องอกในสมอง วันหนึ่งเธอซื้อหนังสือ อิเหนาฉบับพม่า ไปอ่านและร่ายรำตามภาพในหนังสือ เมื่อตื่นขึ้นมาก็พบว่าตนเองไปอยู่ในร่างของปิ่น สาวใช้ที่ใฝ่ฝันจะเป็นนางรำหลวงในราชสำนักเจ้านายฝ่ายในโยดะยา
ชาวโยดะยาที่มีชื่อเสียง
- ทินมองจี - นักวิชาการทางสังคมศาสตร์
เชิงอรรถ
หมายเหตุ
ก เอกสารการบันทึกราชสำนักพร้อมด้วยภาพเขียน บันทึกโดยจอ เทง ราชเลขาธิการและพระราชนัดดาในพระเจ้าปดุง บันทึกไว้ว่า
"ในรัชกาลสมเด็จพระไปยกาธิราชช้างเผือก [คือพระเจ้ามังระ] เมืองรัตนปุรตติยธานี [อังวะ] ไปตีกรุงศรีอยุธยา สามารถตีกรุงศรีอยุธยาและจับพระมหากษัตริย์อัญเชิญมาที่พม่า ในรัชสมัยของพระอนุชาในสมเด็จพระไปยกาธิราชช้างเผือก [พระเจ้าปดุง] สมัยอมรปุระ เสด็จมาประทับที่อมรปุระและสวรรคตในสมณเพศ ทำพิธีพระศพและถวายพระเพลิงที่สุสานลินซิงกง ภาพนี้คือพระเจ้าเอกาทัสส์"
โดยวทัญญู ฟักทอง และ รศ ดร. ศานติ ภักดีคำสรุปว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพของสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ตามที่เอกสารกล่าวไว้ ณ เบื้องต้น ส่วนทิน มอง จี, มิกกี ฮาร์ต และปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส (ซึ่งน่าจะอ้างอิงจากมิกกี ฮาร์ต) อธิบายว่าภาพดังกล่าวนี้น่าจะเป็นสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรมากกว่า ด้วยมองว่าอาจะเป็นความผิดพลาดของผู้เขียนที่จดพระนามผิด เพราะสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์มิได้สวรรคตในสมณเพศที่พม่า
อ้างอิง
- "โยเดีย ที่คิด(ไม่)ถึง: สายเลือดอโยธยา ?". ไทยพีบีเอส. 8 Jul 2017. สืบค้นเมื่อ 14 Jan 2018.
- "รอยเวลา....มัณฑะเลย์". กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. 8 Aug 2017. สืบค้นเมื่อ 14 Jan 2018.
- "250 ปี..จิตวัญญาณไทย "ชีวิตสายเลือดโยเดีย" วิถีในเมียนมา..ไม่สาบสูญ". เดลินิวส์. 23 Jul 2017. สืบค้นเมื่อ 14 Jan 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - "การสำรวจพื้นที่ในการจัดกิจกรรมความร่วมมือด้านการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง และโครงสร้างพระอุโบสถวัดมหาเต็งดอจี การศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เรื่อง ชาวอยุธยาในเมียนมา และการจัดการแสดงนาฏดุริยางคศิลป์ ณ เมืองมัณฑะเลย์และเมืองสะกาย". กลุ่มแผนงาน โครงการและวิเทศสัมพันธ์ กรมศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 15 Jan 2018.
- . ตระเวนข่าวออนไลน์. 25 Mar 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-20. สืบค้นเมื่อ 15 Jan 2018.
- วลัยลักษณ์ ทรงศิริ (1 Oct 2012). . มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-12-20. สืบค้นเมื่อ 14 Jan 2018.
- วลัยลักษณ์ ทรงศิริ (23 Dec 2016). "สถูปเจ้าฟ้าอุทุมพร และลูกหลานชาวโยดะยาในพม่า "คุณหมอทิน มอง จี"". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 14 Jan 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - นภัทร อุทัยฉาย. . เนชั่นเนลจีโอกราฟิก. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-08. สืบค้นเมื่อ 28 Jan 2018.
- วทัญญู ฟักทอง (7 Feb 2018). "'สุสานลินซินโกง' เป็นสุสานของใครและเกี่ยวข้องกับพระเจ้าอุทุมพรอย่างไร?". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 7 Feb 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - "ย้อนเส้นทางสถูป 'พระเจ้าอุทุมพร' ปมปัญหาที่รอเวลาแก้ไข !?!". ไทยรัฐออนไลน์. 20 May 2014. สืบค้นเมื่อ 16 Jan 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - "'สถูปพระเจ้าอุทุมพร' จุดประกายค้นหาชาวอยุธยาในพม่า". คมชัดลึก. 6 Mar 2014. สืบค้นเมื่อ 16 Jan 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - "มีสถูปกษัตริย์อยุธยาอยู่ในเมียนมาร์จริงหรือ?". วอยซ์ทีวี. 31 Oct 2013. สืบค้นเมื่อ 19 Feb 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - ผกามาศ ใจฉลาด (13 Mar 2014). "พบ 3 ปมปริศนา แกะรอยชาว 'อยุธยา' ในพม่า". คมชัดลึก. สืบค้นเมื่อ 14 Jan 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - Sirinya Wattanasukchai (2 May 2013). "On the walls in Mandalay". Bangkok Post (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 18 Jan 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - . Myanmar Travel Information (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-02. สืบค้นเมื่อ 2 Jun 2022.
{{}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown () - อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติ สู่มรดกโลก, หน้า 64-66
- ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ, หน้า 47-48
- วิรัช นิยมธรรม. . Myanmar Studies Center. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-09. สืบค้นเมื่อ 10 Sep 2021.
- บรรจบ พันธุเมธา (2524). อันเนื่องด้วยชื่อ ชื่อไทยน้อยไทยใหญ่ (PDF). p. 4.
- กรกิจ ดิษฐาน (23 Jul 2018). "ออกพระจักรีจึงเป็นตัวแทนของโยดะยาที่คบได้ ไม่กลิ้งกลอก ภักดีต่อนายพม่า แต่คนไทยคงไม่ชอบเราถือหลักฐาน". Gypzy World. สืบค้นเมื่อ 19 Dec 2020.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติ สู่มรดกโลก, หน้า 67
- กระดานทองสองแผ่นดิน, หน้า 98-99
- เมี้ยนจี (เขียน), สุเนตร ชุตินธรานนท์ และธีรยุทธ พนมยงค์ (แปลและเรียบเรียง). "บทเพลงโยธยาสามเพลงอันแสดงถึงลักษณะไทยในประเทศพม่า ดนตรีพม่ายุคจารีต". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 141
- ศานติ ภักดีคำ, รศ. ดร. (5 มีนาคม 2561). "ตามรอยสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือขุนหลวงหาวัด: จากกรุงศรีอยุธยาสู่กรุงอมรปุระ". ศิลปวัฒนธรรม. (39:5), หน้า 72-92
- ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ, หน้า 49
- อรวินท์ ลิขิตวิเศษกุล (9 กรกฎาคม 2561). "อิทธิพลอยุธยา งานศิลปะในความทรงจำของช่างเลือดผสม". ศิลปวัฒนธรรม. (39:9), หน้า 24-30
- อรวินท์ ลิขิตวิเศษกุล (20 Jul 2018). "อิทธิพลศิลปะอยุธยาในความทรงจำของช่างเชื้อสาย "โยเดีย"". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 21 Jul 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - รศ. ดร. เชษฐ์ ติงสัญชลี. . ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-20. สืบค้นเมื่อ 16 Mar 2018.
- รศ. ดร. เชษฐ์ ติงสัญชลี. . ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-21. สืบค้นเมื่อ 16 Mar 2018.
- ปิ่น บุตรี (11 Jul 2013). ""พระมหามัยมุนี" พระพุทธรูปมีชีวิต มหาศรัทธาแห่งพม่า". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 16 Mar 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - ถั่นทุน (เขียน), ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (แปล). "ชาวอยุธยาในพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์พม่าในปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 23 (คริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 17)". อยุธยา : ประวัติศาสตร์และการเมือง, หน้า 239
- ทันทุน (เขียน), สุพรรณี กาญจนัษฐิติ (แปล). "เชลยอยุธยาในราชสำนักพม่า". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 74-75
- ถั่นทุน (เขียน), ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (แปล). "ชาวอยุธยาในพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์พม่าในปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 23 (คริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 17)". อยุธยา : ประวัติศาสตร์และการเมือง, หน้า 242-243
- ทันทุน (เขียน), สุพรรณี กาญจนัษฐิติ (แปล). "เชลยอยุธยาในราชสำนักพม่า". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 80-81
- บรรจบ พันธุเมธา (2524). อันเนื่องด้วยชื่อ ชื่อไทยน้อยไทยใหญ่ (PDF). p. 3.
- ถั่นทุน (เขียน), ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (แปล). "ชาวอยุธยาในพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์พม่าในปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 23 (คริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 17)". อยุธยา : ประวัติศาสตร์และการเมือง, หน้า 243
- ทันทุน (เขียน), สุพรรณี กาญจนัษฐิติ (แปล). "เชลยอยุธยาในราชสำนักพม่า". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 84
- ถั่นทุน (เขียน), ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (แปล). "ชาวอยุธยาในพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์พม่าในปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 23 (คริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 17)". อยุธยา : ประวัติศาสตร์และการเมือง, หน้า 246
- ทันทุน (เขียน), สุพรรณี กาญจนัษฐิติ (แปล). "เชลยอยุธยาในราชสำนักพม่า". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 85
- วัทญญู ฟักทอง (25 Feb 2019). . จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-14. สืบค้นเมื่อ 14 Jun 2020.
- ไมเคิล ไรท์ (4 กุมภาพันธ์ 2548). "ภูมิศาสตร์-ประวัติศาสตร์สยาม : เอกสารชั้นต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่เปิดเผยใหม่". ศิลปวัฒนธรรม. (26:4), หน้า 94
- ถั่นทุน (เขียน), ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (แปล). "ชาวอยุธยาในพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์พม่าในปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 23 (คริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 17)". อยุธยา : ประวัติศาสตร์และการเมือง, หน้า 247
- ทันทุน (เขียน), สุพรรณี กาญจนัษฐิติ (แปล). "เชลยอยุธยาในราชสำนักพม่า". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 87-89
- สามกรุง, หน้า 121-122.
- A history of Thailand, หน้า 23.
- ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. ๒๓๕๒-๒๔๕๓ ด้านเศรษฐกิจ. หน้า 1.
- ปรามินทร์ เครือทอง (22 Feb 2017). "พม่า Shutdown กรุงศรี ใครหนี ใครสู้ ?". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 24 Feb 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - "Salvaging a lost king". History of Ayutthaya (ภาษาอังกฤษ). 2013. สืบค้นเมื่อ 18 Jan 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - ปรามินทร์ เครือทอง (20 Sep 2016). "ชะตากรรมเจ้าหญิงอยุธยาหลังกรุงแตก". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 19 Feb 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - พระราชพงศาวดารพม่า, หน้า 1135
- ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์, หน้า 106
- เล่าเรื่อง...เฉกอะหมัด ต้นสกุลบุนนาค, หน้า 108
- จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์ (26 Sep 2017). . มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-08. สืบค้นเมื่อ 19 Jul 2018.
- การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 31
- การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 174
- การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 32
- หม่องหม่องทิน (เขียน), ส. หยกฟ้าและสุเนตร ชุตินธรานนท์ (แปล). "เชลยไทยในมัณฑะเลย์". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 96
- กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย, หน้า 87
- กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย, หน้า 77
- หม่องหม่องทิน (เขียน), ส. หยกฟ้าและสุเนตร ชุตินธรานนท์ (แปล). "เชลยไทยในมัณฑะเลย์". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 97
- หม่องหม่องทิน (เขียน), ส. หยกฟ้าและสุเนตร ชุตินธรานนท์ (แปล). "เชลยไทยในมัณฑะเลย์". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 99-100
- หม่องหม่องทิน (เขียน), ส. หยกฟ้าและสุเนตร ชุตินธรานนท์ (แปล). "เชลยไทยในมัณฑะเลย์". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 105
- ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์, หน้า 137
- ศานติ ภักดีคำ, รศ. ดร. (12 ตุลาคม 2561). "ตามทางทัพพม่าคราวเสียกรุงฯ พ.ศ. 2310 (ตอนจบ) จากอังวะสู่อมรปุระและสวรรคตในหลักฐานพม่า". ศิลปวัฒนธรรม. (39:12), หน้า 28
- ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์, หน้า 123-127
- โยเดียกับราชวงศ์พม่า เรื่องจริงที่ไม่มีใครรู้, หน้า 156
- "ตามรอย 'พระเจ้าอุทุมพร' และเชลยกรุงศรีฯ ถูกกวาดต้อนไปกรุงรัตนปุระอังวะ-อมรปุระ". ศิลปวัฒนธรรม. 19 May 2020. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - สยามหลากเผ่าหลายพันธุ์., หน้า 189-190
- จุลลดา ภักดีภูมินทร์ (13 Mar 2001). . สกุลไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-13. สืบค้นเมื่อ 24 Feb 2014.
- . โพสต์ทูเดย์. 29 Mar 2018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-04. สืบค้นเมื่อ 7 Jun 2020.
- กิเลน ประลองเชิง (28 Nov 2013). "คำให้การมหาโค". ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 14 Jan 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - "ฝรั่งอ้าง "เชลยสยาม" ยอมตกเป็นเชลยของพม่าดีกว่ากลับมาเป็นไพร่รับใช้นายที่เมืองตัวเอง". ศิลปวัฒนธรรม. 2 Aug 2016. สืบค้นเมื่อ 3 Feb 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - เที่ยวเมืองพม่า, หน้า 239
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. "เรื่องเที่ยวเมืองพม่า ตอนที่ ๖ เที่ยวเมืองมัณฑเล ภาคปลาย". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 15 Aug 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - ดำรง ใคร่ครวญ และคณะ. "พระเจ้าอุทุมพระกับชาวอโยธยาในพม่า". 250 ปี เสียกรุงศรีอยุธยา-สถาปนากรุงธนบุรี 2310-2560, หน้า 194
- ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์, หน้า 132
- Noel F. Singer (เขียน), สุเนตร ชุตินธรานนท์ และธีรยุทธ พนมยงค์ (แปลและเรียบเรียง). "รามเกียรติ์ในราชสำนักพม่าไปจากกรุงศรีอยุธยา". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 115
- Noel F. Singer (เขียน), สุเนตร ชุตินธรานนท์ และธีรยุทธ พนมยงค์ (แปลและเรียบเรียง). "รามเกียรติ์ในราชสำนักพม่าไปจากกรุงศรีอยุธยา". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 130
- "โยเดีย ที่คิด(ไม่)ถึง: แม่ประดู่และผู้ดีแห่งมินบู". ไทยพีบีเอส. 11 Aug 2018. สืบค้นเมื่อ 18 Aug 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - ถั่นทุน (เขียน), ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (แปล). "ชาวอยุธยาในพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์พม่าในปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 23 (คริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 17)". อยุธยา : ประวัติศาสตร์และการเมือง, หน้า 247
- ทันทุน (เขียน), สุพรรณี กาญจนัษฐิติ (แปล). "เชลยอยุธยาในราชสำนักพม่า". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 89
- ศักดิ์ชัย สายสิงห์, รศ. ดร. และภภพล จันทร์วัฒนะกุล (18 Jan 2010). . เอ็มไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-17. สืบค้นเมื่อ 14 Jan 2018.
- "250 ปีปัจฉิมกาลอยุธยา: มิกกี้ ฮาร์ท สำรวจหลักฐานชุมชนชาวสยามและพระเจ้าอุทุมพรที่พม่า". ประชาไท. 4 Apr 2017. สืบค้นเมื่อ 14 Jan 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - ดำรง ใคร่ครวญ และคณะ. "พระเจ้าอุทุมพระกับชาวอโยธยาในพม่า". 250 ปี เสียกรุงศรีอยุธยา-สถาปนากรุงธนบุรี 2310-2560, หน้า 197-198
- "คนไทยในเมียนมา ณ หมู่บ้านสุขะ ยังคงรักษาเอกลักษณ์ไทย (บางอย่าง) ไว้จนปัจจุบัน". แนวหน้า. 15 Oct 2022. สืบค้นเมื่อ 22 Apr 2023.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - "เที่ยวพม่าแบบอันซีน ตามรอยชาวโยเดียที่สาบสูญสู่แผ่นดินเมียนมา". ชิลไปไหน. 19 Jan 2018. สืบค้นเมื่อ 13 May 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - "มกุฎราชกุมารพม่าที่พระมารดาเป็นคนไทยจากคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2". ศิลปวัฒนธรรม. 28 Apr 2021. สืบค้นเมื่อ 2 May 2021.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. "สำเนียงไทยสมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์กับปัญหาสำเนียงสุพรรณบุรี สำเนียงหลวงหรือพูดเหน่อ". อยุธยา : ประวัติศาสตร์และการเมือง, หน้า 229-230
- กรุงเทพฯ มาจากไหน ?, หน้า 206
- อักษรไทยมาจากไหน ?, หน้า 137-138
- พม่ารบไทย, หน้า 126
- Suradit Phaksuchon; Panya Rungrueang. "Yodaya: Thai Classical Music in Myanmar Culture". MANUSYA : Journal of Humanities (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 1 Mar 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - เมี้ยนจี (เขียน), สุเนตร ชุตินธรานนท์ และธีรยุทธ พนมยงค์ (แปลและเรียบเรียง). "บทเพลงโยธยาสามเพลงอันแสดงถึงลักษณะไทยในประเทศพม่า ดนตรีพม่ายุคจารีต". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 145-146
- หม่องหม่องทิน (เขียน), ส. หยกฟ้าและสุเนตร ชุตินธรานนท์ (แปล). "เชลยไทยในมัณฑะเลย์". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 103
- หม่องหม่องทิน (เขียน), ส. หยกฟ้า และสุเนตร ชุตินธรานนท์ (แปล). "เชลยไทยในมัณฑะเลย์". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 106
- ดำรง ใคร่ครวญ และคณะ. "พระเจ้าอุทุมพระกับชาวอโยธยาในพม่า". 250 ปี เสียกรุงศรีอยุธยา-สถาปนากรุงธนบุรี 2310-2560, หน้า 197-202
- ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ (19 May 2023). "ฟื้นฟู "สายใยโยเดีย" (โยดะยา:อยุธยา) ในเมียนมา". ไทยพับลิก้า. สืบค้นเมื่อ 23 Jul 2023.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - "สถูปปริศนาแห่งอมรปุระ". ไทยพีบีเอส. 16 Jan 2013. สืบค้นเมื่อ 15 Jan 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - โยเดียกับราชวงศ์พม่า เรื่องจริงที่ไม่มีใครรู้, หน้า 166
- องค์ บรรจุน, ดร. (6 เมษายน 2562). "ข้างสำรับพม่า : ส่วนผสมของครัวมอญ จีน อินเดีย และฝรั่ง". ศิลปวัฒนธรรม. (40:6), หน้า 32
- องค์ บรรจุน, ดร. (6 เมษายน 2562). "ข้างสำรับพม่า : ส่วนผสมของครัวมอญ จีน อินเดีย และฝรั่ง". ศิลปวัฒนธรรม. (40:6), หน้า 43-44
- . The Voice (ภาษาพม่า). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-18. สืบค้นเมื่อ 2019-11-15.
- ဘိုဘို (2019-02-22). "မန္တလေးမှာ ယိုးဒယားမုန့်တီ လစဉ်လုပ်စားသူ မိသားစု". BBC (ภาษาพม่า). สืบค้นเมื่อ 2019-11-15.
- ดำรง ใคร่ครวญ และคณะ. "พระเจ้าอุทุมพระกับชาวอโยธยาในพม่า". 250 ปี เสียกรุงศรีอยุธยา-สถาปนากรุงธนบุรี 2310-2560, หน้า 211
- Noel F. Singer (เขียน), สุเนตร ชุตินธรานนท์ และธีรยุทธ พนมยงค์ (แปลและเรียบเรียง). "รามเกียรติ์ในราชสำนักพม่าไปจากกรุงศรีอยุธยา". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 113-115
- ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ (31 Aug 2017). "'เพลงโยทยา' นาฏศิลป์อิงเมือง อีกจิตวิญญาณอยุธยาในเมียนมา". เดลินิวส์. สืบค้นเมื่อ 19 Jul 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - สิทธิพร เนตรนิยม (Jan–Jun 2019). ฟ้อนม่านมุ้ยเซียงตา : อิทธิพลนาฏกรรมพม่าในสังคมไทย ศึกษาวิเคราะห์ความหมายของชื่อชุดการแสดง บทขับร้อง และโครงสร้างของทำนองเพลง. วารสารไทยคดีศึกษา (16:1). p. 63.
- Noel F. Singer (เขียน), สุเนตร ชุตินธรานนท์ และธีรยุทธ พนมยงค์ (แปลและเรียบเรียง). "รามเกียรติ์ในราชสำนักพม่าไปจากกรุงศรีอยุธยา". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 117
- Noel F. Singer (เขียน), สุเนตร ชุตินธรานนท์ และธีรยุทธ พนมยงค์ (แปลและเรียบเรียง). "รามเกียรติ์ในราชสำนักพม่าไปจากกรุงศรีอยุธยา". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 119
- Noel F. Singer (เขียน), สุเนตร ชุตินธรานนท์ และธีรยุทธ พนมยงค์ (แปลและเรียบเรียง). "รามเกียรติ์ในราชสำนักพม่าไปจากกรุงศรีอยุธยา". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 123
- Noel F. Singer (เขียน), สุเนตร ชุตินธรานนท์ และธีรยุทธ พนมยงค์ (แปลและเรียบเรียง). "รามเกียรติ์ในราชสำนักพม่าไปจากกรุงศรีอยุธยา". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 112
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. "เรื่องเที่ยวเมืองพม่า ตอนที่ ๑๐ เรื่องเที่ยวเมืองแปร". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 15 Aug 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - PLOY (25 Jan 2022). "นาฏศิลป์และการละครที่ปรากฏอยู่ใน "จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี"". ALTV. สืบค้นเมื่อ 3 Jun 2022.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - "ไทย-พม่า กับความสัมพันธ์ด้าน "นาฏกรรม" ที่หยิบยืมกันไปมา". ศิลปวัฒนธรรม. 16 Apr 2020. สืบค้นเมื่อ 12 Jun 2020.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - เมี้ยนจี (เขียน), สุเนตร ชุตินธรานนท์ และธีรยุทธ พนมยงค์ (แปลและเรียบเรียง). "บทเพลงโยธยาสามเพลงอันแสดงถึงลักษณะไทยในประเทศพม่า ดนตรีพม่ายุคจารีต". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 143-144
- สนั่น ธรรมธิ (30 Oct 2008). . คลังเอกสารสาธารณะ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-08-16. สืบค้นเมื่อ 15 Aug 2018.
- จักรพงษ์ คำบุญเรือง (29 Nov 2017). "ฟ้อนพื้นเมืองเชียงใหม่". เชียงใหม่นิวส์. สืบค้นเมื่อ 15 Aug 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - ทันทุน (เขียน), สุพรรณี กาญจนัษฐิติ (แปล). "เชลยอยุธยาในราชสำนักพม่า". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 86
- อรวินท์ ลิขิตวิเศษกุล (08 กุมภาพันธ์ 2022). "อิทธิพลศิลปะอยุธยาตามเมืองต่าง ๆ ในความทรงจำของช่างเชื้อสาย "โยเดีย"". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2023.
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help))CS1 maint: url-status () - อรวินท์ ลิขิตวิเศษกุล (2010). ช่างอยุธยาในเมืองพม่ารามัญ. สมาคมอิโคโมสไทย. ISBN .
- ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ (18 Aug 2017). "สัมผัส 'ป๊อปปูลาร์' ในพม่า กว่า 250 ปี 'ศิลปะโยเดีย'". เดลินิวส์. สืบค้นเมื่อ 27 Jan 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - "โบกปูนทับจิตรกรรมสมัยอยุธยา". ASTV ผู้จัดการออนไลน์. 4 Mar 2014. สืบค้นเมื่อ 16 Jan 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status ()[] - วิภา จิรภาไพศาล (5 Mar 2018). "ตามรอย 'สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร' จากกรุงศรีอยุธยา ถึงกรุงอังวะ". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 7 Mar 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - "เที่ยวมัณฑะเลย์ ตามรอยชาวโยเดียที่เมืองสกายน์". ไทยโพสต์. 6 Jul 2018. สืบค้นเมื่อ 19 Jul 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - Bioscope Magazine (16 Nov 2016). . เอ็มไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-01-14. สืบค้นเมื่อ 10 Apr 2018.
- "ความพร่าเลือนของรัฐ-ชาติ และความทับซ้อนของศาสนา ใน 'สาบเสือที่ลำน้ำกษัตริย์'". คนมองหนัง. 4 Oct 2016. สืบค้นเมื่อ 10 Apr 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - "เรื่องย่อ "FROM BANGKOK TO MANDALAY ถึงคน…ไม่คิดถึง"". ไทยพีบีเอส. 23 Jul 2017. สืบค้นเมื่อ 10 Apr 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - ""ถึงคน..ไม่คิดถึง" มองความสัมพันธ์ "ไทย-พม่า" ในมุมใหม่ๆ". คนมองหนัง. 28 Nov 2016. สืบค้นเมื่อ 10 Apr 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - "Irrawaddy เกลียวกระซิบ". อ่านเอา. สืบค้นเมื่อ 10 Apr 2018.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - "ละคร จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี". ไทยพีบีเอส. สืบค้นเมื่อ 17 Feb 2022.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - วีรวัฒน์ อัจจุตมานัส (7 Feb 2022). "เข้าใจไทย-พม่าด้วยมุมมองใหม่ ผ่านความละเมียดละไมของละครจากเจ้าพระยาสู่อิรวดี". The Standard. สืบค้นเมื่อ 17 Feb 2022.
{{}}
: CS1 maint: url-status () - "แปล พาราไบเก ฟันธงไม่ใช่ พระเจ้าอุทุมพร". ASTV ผู้จัดการออนไลน์. 12 Mar 2014. สืบค้นเมื่อ 25 Mar 2018.[]
- โยเดียกับราชวงศ์พม่า เรื่องจริงที่ไม่มีใครรู้, หน้า 154
- "ยันเดินหน้าอนุสรณ์สถาน 'พระเจ้าอุทุมพร' แม้ถูกระงับ!". ไทยรัฐออนไลน์. 20 Mar 2014. สืบค้นเมื่อ 25 Mar 2018.
บรรณานุกรม
- กำพล จำปาพันธ์. อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติ สู่มรดกโลก. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, 2559
- จิตร ภูมิศักดิ์. ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : ชนนิยม, 2556
- ชัย เรืองศิลป์. ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. ๒๓๕๒-๒๔๕๓ ด้านเศรษฐกิจ. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2541.
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, กาญจนี ละอองศรี (บรรณาธิการ). 250 ปี เสียกรุงศรีอยุธยา-สถาปนากรุงธนบุรี 2310-2560. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2564
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (เขียน), ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (บรรณาธิการ). อยุธยา : ประวัติศาสตร์และการเมือง. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2560
- นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. พระราชพงศาวดารพม่า. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2550
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. เที่ยวเมืองพม่า. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2517
- นิธิ เอียวศรีวงศ์. กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553
- นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559
- ปรีดี พิศภูมิวิถี. กระดานทองสองแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553
- พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ (บรรณาธิการ). เล่าเรื่อง...เฉกอะหมัด ต้นสกุลบุนนาค. กรุงเทพฯ : บันทึกสยาม, 2553
- พิทยาลงกรณ์, พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่น. สามกรุง. พระนคร : คลังวิทยา, 2511
- มิคกี้ ฮาร์ท. โยเดียกับราชวงศ์พม่า เรื่องจริงที่ไม่มีใครรู้. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ, 2561
- ศานติ ภักดีคำ, รศ. ดร. ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561
- สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงเทพฯ มาจากไหน ?. กรุงเทพ : มติชน, 2548
- สุจิตต์ วงษ์เทศ. อักษรไทย มาจากไหน ?. กรุงเทพ : มติชน, 2548
- สุเนตร ชุตินธรานนท์, ดร. พม่ารบไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554
- สุเนตร ชุตินธรานนท์, รศ. ดร. (บรรณาธิการ). พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555
- องค์ บรรจุน. สยามหลากเผ่าหลายพันธุ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553
- Baker, Chris, Christopher John Baker, Pasuk Phongpaichit (2009). A history of Thailand (2 ed.). Cambridge University Press.
wikipedia, แบบไทย, วิกิพีเดีย, วิกิ หนังสือ, หนังสือ, ห้องสมุด, บทความ, อ่าน, ดาวน์โหลด, ฟรี, ดาวน์โหลดฟรี, mp3, วิดีโอ, mp4, 3gp, jpg, jpeg, gif, png, รูปภาพ, เพลง, เพลง, หนัง, หนังสือ, เกม, เกม, มือถือ, โทรศัพท์, Android, iOS, Apple, โทรศัพท์โมบิล, Samsung, iPhone, Xiomi, Xiaomi, Redmi, Honor, Oppo, Nokia, Sonya, MI, PC, พีซี, web, เว็บ, คอมพิวเตอร์
chawoydaya hrux chawxyuthyainphma phma ယ ဒယ လ မ Yodaya lu myui oydaya hlu m oy epnkhathieriykklumchatiphnthuthimibrrphburusepnchawsyamcakxanackrxyuthya sungxphyphekhamapraethsphma mithngxphyphipphungphrabrmophthismpharkstriyphmaodysmkhric bangkepnechlysungthukkwadtxnemuxekidsngkhramoydaya ယ ဒယ လ မ rupthixacepnphrabrmsathislksnkhxngsmedcphraecaxuthumphr thipraktinexksarkarbnthukrachsankphrxmdwyphaphekhiyn k prachakrthnghmd35 khn echphaasayeluxdbrisuththi makkwa 200 khn ph s 2560 phumiphakhthimiprachakrxyangminysakhypraethsphmaphasaphasaphma edimichphasaithy sasnasasnaphuthth emuxewlaphaniphlaystwrrs chawxyuthyainphmakhxy phsmpnepipkbsngkhmphma bangkoykyaycakthinthanedim phwkekhaelikphudphasaithyaelahnipphudphasaphma cnkrathngthinmxngci nkwichakarchawphmaphumiechuxsayoydayaekhiynbthkhwamsnchux susankstriyithy A Thai King s Tomb kxn ph s 2538 odyechuxwasthupekaxngkhhnunginpachaeninlanchanghruxeninkraaes linsinkxng epnsusankhxngsmedcphraecaxuthumphr xditphramhakstriyxyuthyaphunirascakbllngkaelatkepnechlyinphma aelaerimmichuxesiyngcakkarthimkhkhuethskphankthxngethiywithyipyngsthupaehnghnunginpachalinsin aetkraaesdngklawthaihekidkhwamtuntwinkarsuksachawxyuthyainphma aelamikhwamphyayaminkartamhachumchnxyuthyathiynghlngehluxxyuinpccubn cnkrathngin ph s 2556 cungidmikarkhnphbchumchnechuxsayxyuthyachuxhmubansuka miprachakrraw 200 khn ph s 2560 aelayngmichumchnkhxngphumiechuxsayxyuthya n banmintasu yanecafa miprachakrechuxsayxyuthyaxyuimtakwa 30 khn ph s 2557 thngsxngchumchnnitngxyuinemuxngmnthaely aemimsamarthichphasaithyinchiwitpracawnidaelw aetwthnthrrmhlayxyangkhxngchawxyuthyayngkhngxyuaelasngxiththiphltxsilpwthnthrrmphmabangprakarmacnthungyukhpccubnsphthmulwithyakrungsrixyuthyainxdit chux oydaya phma ယ ဒယ epnkarxxkesiyngchuxedimkhxngkrungsrixyuthya khuxxoythya tamsaeniyngphma dngpraktchuxedimkhxngkrungsrixyuthyacakcarukbnekhawdwrnathbrrphtwa krungxoythyasriramethphnkhr xnepnnamemuxngediywknkbemuxngkhxngphraram odyphmaidtdesiyng xa xxk ephuxkhwamsadwktxkarxxkesiyng sxdkhlxngkbbnthukkhxngchawoprtueksthibnthukchuxedimkhxngkrungsrixyuthyawa oxediy Odiaa emuxngmxyeriykwa etiyaeyiwetiyaeyiy xanackrlannaeriykwa oythiya aelaithihyeriykwa oytara hlngesiykrungsrixyuthyakhrngthihnungin ph s 2112 smedcphranerswrmharachthrngprbnamemuxngesiyihmwa srixyuththya aeplwa emuxngthirbimaeph aetchawkrungsrixyuthyaexngcaeriykemuxnghlwngkhxngtnexngwa krungethphphramhankhr swn oydaya hrux oythya praktkhrngaerkinwrrnkhdiphmakhxngchin xn yx Shin Ohn Nyo epnklxnbali 60 bth aelabthkwikhxngphraxkhkhsmathi Shin Aggasamadhi thiekiywkhxngkbmkhkhethwa Magghadeva nbaetkarkaenidphraenmirach hlkthandngklawmixayuin ph s 2060 2071 swnexksar tananemuxngema chbbphasaithihy aelaphasakhati hakxingrayaewlakareswyrachsmbtikhxngecaesuxkhanfa emux ph s 1763 exksarkhngbnthukhlngcakchwngewlannepntnma cnthung ph s 2318 thichawithphaekxphyphiptngthinthanthirthxssm idbnthukchuxkrungsrixyuthyawa lncngoytara khux lanchangoythya odykhawa oydaya inkarrbrukhxngchawphmaobranmikhwamhmaysxngxyangkhux hmaythungchawithycakphakhklangaelaphakhitkhxngithy imnbrwmchan ရ မ aelaywn ယ န hmaythungxanackrxyuthya aelainbangkrnixacicheriykxanackrthnburiaelartnoksinthrdwy thngnichawphmacaekhaicwachawoydayakhuxechlycakkrungsrixyuthya odycaaenkxxkcakchawithihyinrthchan chawywncakxanackrlannaxyangchdecn khrninsmy cungcdihchawoydayaxyuinklumediywkbchawithihyprawtikhrawesiykrungsrixyuthyakhrngthihnung karkwadtxn rupsaridkhxngethwrup singh aelachangexrawnaebbkhxmthixyuthyaekhynamacaknkhrthm aethlngkaresiykrungsrixyuthyakhrngthihnung phmacungnaklbipdwy pccubntngpradbxyuthi emuxngmnthaely ph s 2088 inrchsmyphraecataebngchewti xanackrxyuthyasngthphiptiemuxngthwayinchwngthiphraxngkhkalngtiemuxngyaikh phraxngkhcungesdcklbrachthaniaelwsngthphlngipemuxngthwaythnthi thphxyuthyathxyrnipthiemuxngtanawsri phmacbechlysyamidcanwnhnung txmawnthi 13 tulakhm ph s 2091 phraxngkhsngthphbukkrungsrixyuthya samarthcbphrarachxnucha phrarachoxrs aelaphrachamadakhxngkstriyxyuthyaipdwy phraecataebngchewtithrngmiphrarachoxngkarihyudxawuthaelakrasunpun thrngihehlakharachbripharcbechlysyamthngchayhyingipepnrangwlkhxngtn phayhlngkstriyxyuthyakhxhyasuk phraecataebngchewticungsngehlaphrabrmwngsanuwngsklbxyuthyainwnthi 28 kumphaphnth ph s 2091 txmainrchkalphraecabuerngnxng prakxbphrarachphithirachaphieskemuxwnthi 12 mkrakhm ph s 2097 aetthangkarxyuthyaklbimsngtwaethnekhaefainphrarachphithi srangkhwamimphxphrathyyingnk ephraathrngthuxwaxyuthyaepnpraethsrachkhxngphma karkrathaechnnithrngthuxwaepnkbt phraxngkhthrngykphlkhunehnuxekhathangxanackrlannaemuxwnthi 26 tulakhm ph s 2100 aelwykthphmatixyuthyaemuxwnthi 1 phvscikayn ph s 2106 txmasmedcphramhackrphrrdithrngprakasyxmaephemuxwnthi 18 kumphaphnth ph s 2107 phraecabuerngnxngcungesdcklbphmaemuxwnthi 24 minakhm ph s 2107 phrxmkbechlysyamcanwnhnung xnidaek nkaesdngchayhying sthapnik silpin changehlk changim changphm khnkhrw changthxngaedng changyxmsi changthxng changekhruxngekhin hmxchang hmxma nkraba changsi changnahxm changprungekhruxngra changengin changslkhin changslkpunpn changaekaslkim changaetngekhruxngim aelachangklungim emuxesdcthunghngsawdixnepnrachthaniemuxwnthi 15 kumphaphnth ph s 2106 thrngihchangfimuxehlanitngthinthanphayinrachthani txmainwnthi 11 tulakhm ph s 2111 phraecabuerngnxngthasngkhramkbkrungsrixyuthyaxikkhrng aetkhrawnismedcphramhackrphrrdiesdcswrrkhtemuxwnthi 16 emsayn ph s 2111 aelaesiykrungsrixyuthyaemuxwnthi 31 krkdakhm ph s 2112 chawxyuthyacanwnmakthukcbiphngsawdi txmaphraecabuerngnxngthasngkhramrbkbxanackrlanchang kphbwamithphsyamcakxyuthyaxnidaek thphchang 300 echuxk thphma 1 500 tw aelaiphrphlxik 30 000 khnekharwmthphphma wnthi 13 krkdakhm ph s 2089 mikhnathutcaksrilngkamathungemuxngphasim odykhxihkstriyphmasngthphipchwyprabphwkediyrthiyinsrilngka phraecabuerngnxngcungsngthphip 2 000 khn incanwnniepnchawxyuthya 100 khn emuxphwkediyrthiythrabkittisphthkhxngthphphmanikekrngklwaelaprakasyxmaephodyimthakarrb kartngthinthan nxkcakchawxyuthyathithukkwadtxnaelw yngmichawxyuthyathismkhricekharwmkbmxyaelaphma dngpraktin rachathirach rabuwamichawithycakemuxngephchrburicanwn 500 khn yxmswamiphkdikbphraecarammaity ph s 1866 1873 inexksardngklaweriykchawithyklumniwa esmedingep riydep r nxkcakniyngpraktin phrabrmrachoxngkarphma khwamwa chawxyuthya 50 khnekhaphungphrabrmophthismphar phraecabuerngnxngoprdihpracakxngma ihna phran san Na Pran San epnhwhna prathanthidininkarduaelkhxngna kula Na Kula epnthiphankthakarephaapluk xikklum 125 khnmiir nnda Rai Nanda ihxyuinkxngmadwy ykhmubankukuy okng Kukkui Kon briewnbanmeya du Mre Du prathanihip aelapraktinphngsawdarxikwa sa la wt Sa La Wat phrxmdwychang 5 echuxk aelachawxyuthya 100 khnmathungphrankhremux 28 krkdakhm 2238 aelaekharbrachkarinphrabathsmedcphraecaxyuhw phma inwrrnkhdi thywdixeydxopng hrux wrrnkhdiyxphraekiyrtirachayaikh rabuwahlngkarkwadtxnchawxyuthyaipiwemuxngphaokhkhxngphraecabuerngnxng mikhunnangxyuthyasxngkhnphinxngkhux phrasming aelaphrakhunis ekhaiprbrachkarkbkstriyyaikh idrbkhwamchxbmak kstriyyaikhoprdihphrasmingipkinemuxngepnkartxbaethn aelaexksarediywknnnyngklawthungkarethkhrwchawoydaya 3 000 khn sungincanwnnimiphrasmun Bya Tha Mun phraxnuchakstriyxyuthya phrxmkbpunihychuxphrayuththsar ethwrupsmvththiphraramaelahnumankhxngchawoydayathiphaokhipthwaykstriyyaikh nxkcakniyngmichawxyuthyathukkhayepnthasintladebngkxl inhnngsux City of Djinns khxngwileliym dlrimephil William Dalrymple xangcakcdhmayehtuekachwngrchkalckrphrrdixxrngesphsungkhrxngpraethsrwmsmysmedcphranaraynmharachkhxngxyuthya khwamwa intladekaedli minangthasekhmrcakaednelyaemnaxirwdi Khmer girl concubines from beyond the Irawady aelaklawxikwa ckrphrrdiniomkulesdc prathbbnhlngchangmhumacakkrunghngsawdi mounted on a stupendous Pegu elephant imekhil irthxthibaywanixaccaepnnangthasaelachangdicakkrungsrixyuthya thn thunidsrupekiywkbchawxyuthyainchwngewladngklawiwwa brrdaechlysngkhramaelachangfimuxxyuthyathukcbipphma phwkechlyehlanithukichihipthairithna bangswnkthuksngipkhayepnthasintladebngkxl aetenuxngcakchuxesiynginkhwamekngklaaelakhwamcngrkphkdi bangkhnidoprdihepnthharrksapratuwngaelapratuemuxng phwkchangfimuxekharbrachkarinrachsankodyechphaa bangkhrngkmikarlukhuxkhxngthasphwkni aetswnihykprabidodyngay phwkthiepnchawirchawnannthuksngipthangehnux omnywa saikng chewob aela phwkniphsmpnepipkbchnphunemuxngodyngay aelaphayinhnunghruxsxngchwxayukhntxma kcalumethuxkethaehlakxwamacakxyuthyahmd khrawesiykrungsrixyuthyakhrngthisxng karkwadtxnaelakarswamiphkdi in ph s 2310 phraecamngrathrngyudkrungsrixyuthyaid smedcphrathinngsuriyasnxmrinthresdcswrrkht phmaidthakarephakrungsrixyuthyaplnchingthrphysininphrankhr bngkhbrasdrthngphiksuthngkhrawasihaecngthixyuthrphysin phukhdkhuntxngephchiyothsthnthtang aelwihcbphukhn rwmthungphrarachwngs kharachkar smna ipkhumkhngiw odyphrasngkhihkkiwthikhayophthisamtn swnkhrawasihiwtamkhaykhxngaemthphnaykxngthnghlay khanwnaelw praktwa echuxphrawngsthukkwadtxnipkwa 2 000 phraxngkh rwmcanwnphuthukphmakwadtxnipnnmakkwa 30 000 100 000 khn xnrwmipthungsmedcphraecaxuthumphraelakrmkhunwimlphtr echlyswnihykhuxprachakrthixyurayrxbkrungsrixyuthya idaek xangthxng singhburi suphrrnburi kaycnburi chynath xuthythani nnthburi pracinburi aelathnburi miklumchatiphnthutang thixasyxyuinkrungsrixyuthyathukkwadtxnipdwy epntnwabukhkhlechuxsayepxresiyaelaphrahmn dngpraktin phrarachphngsawdarphma khwamwa sngihephaphrankhraelaprasaththng 3 xngkh aelaihephaxaramaelawiharesiyihhmddwy aelasngihthalaykaaephngemuxng aelabrrdaekhakhxngthimixyuinkrungsrixyuthya miphraitrpidk khux phrathrrmwiny epntn sngihthalayesiyaelwkklbmayngphrankhraehngtn thaihekidphawabanaetksaaehrkkhad mirasdrxyuthyacanwnimnxyesiychiwitcakkarsurb pwyikh hruxxdxahartaycanwnmakthung 200 000 khn dwyehtunirasdrxyuthyacanwnmakxphyphhniphmaipiklthungemuxngekhmraelaemuxngphuthithmas echphaaemuxngphuthithmasmikhnithyxasyrwmknkwa 30 000 khn aelamichawemuxngswrrkholkxphyphekhaipemuxngechiyngihm sungkhnannepnpraethsrachkhxngphma nxkcakcakwadtxnphukhncakkrungsrixyuthyaaelw phraecamngrayngthrngkwadtxnechlysyamcakemuxngsuokhthy swrrkholk aelaphisnuolkekhasuxanackrepncanwnmak swnin phngsawdaremuxngsngkhla rabuiwxikwa phmatiaetkmakrathngthungemuxngchumphr ichya phwkkxngthphmakwadexakhrxbkhrwithyipepnxnmak aelayngphbwachawsyamcanwnimnxyekhakbfayphma ephraathangkarxyuthyannkhadprasiththiphaphinkarpkkhrxng dngpraktinbnthukbathhlwngfrngesswa ekidesiyngluxknkhundwywakxngthphphmaetmipdwykhnithysungidrbkhwameduxdrxn exaicxxkhak cakithyipekhakbphma swn mharachwngsphngsawdarphma klawiwwa phwkphlthharphlemuxngxyuththyathngpwngkidrbkhwamkhbaekhnxdxyakkhbaekhnxyuthukphuthukkhnaelwcungidekhamaxxnnxmswamiphkdithikxngthpherathukwnmiidkhad erakidthrabkicrachkarkhxngphraecakrungsrixyuththyahmdaelw kartngthinthan txmaechlychawsyamaelachawywnnn thangkarphmaidcdihtngbaneruxnintablraaehngiklkhlxngchewtchxng swntablmintasuitkhlxngchewtchxngidihecanayywnaelaxyuthyaprathb sungchumchnchawxyuthyannmikhnadihyphxsmkhwrcungekidepnyanoydaya tladoydaya aelasalphraramkhuninchumchn dngpraktin phrarachphngsawdaroknbxng khwamwa khrnphraecachangephuxkxngwathrngidxanackrxyuthyaxniphsal miaednxyuthya oynk smphrathyaelw phraxngkhmiidthxdthingihehlaphramehsi phrarachthida phrarachknistha aelaphrarachnddakhxngecaphrankhrxyuthyaihidyak phraxngkhoprdihkktwiwihxyuaetbriewneruxnphayinrachthani aelwmxbhmayihehlaxamatyphmaepnphuthwaynganknipaetlaphraxngkh phrarachoxrs phrarachxnucha aelaphrarachnddalwnepnchay phraxngkhoprdcdthiphankineruxnchnnxk aelaphrarachthanxahar esuxphaaelaekhruxngxupophkhbriophkhtxngtamthrrmeniymithycnphxephiyng khunchuxwaxamaty phudi iphr thiepnchawxyuthya kstriyphmaoprdcdyanihtngbaneruxnxyukinxasysin wdoydayainpachalanchang emuxngxmrpura sungsnnisthanwathuksrangkhunincudthwayphraephlingphrabrmsphsmedcphraecaxuthumphr aetepnthithkethiyng ephraahlkthanphmaklawephiyngwaidthwayphraephlingsmedcphraecaxuthumphrthipachalanchangethann echlychawxyuthyaehlaniidtngchumchntamhwemuxngtang thnginemuxngxngwa xmrpura aelamnthaely sungmitngaetbrrphchit changfimuxtang nkdntri aelanatkr ecanayxyuthyaphraxngkhxun kidrbkarxupthmphkhachucakkstriyphma odysamarthaebngechlyxxkepnsamklumhlkdngni phrabrmwngsanuwngsfayhnakhxngkrungsrixyuthya xnidaek phrarachxnucha phrarachoxrs phrarachndda aelaphrarachphakhiiny ihtngbaneruxnnxkkaaephngphrarachwnghlwngkhxngxngwa lukhlankhxngecanayehlanithiepnhyingidthwaytwepnphrasnmkhxngphramhakstriyphma hlaykhnepnthungecacxmmarda miecanaysubechuxsayoydayacnthungrchkalphraecamindng phrabrmwngsanuwngsfayinkhxngkrungsrixyuthya xnidaek phraxkhrmehsi phramehsi phraphkhini phrarachthida phrarachndda phrarachphakhiiny aelaphrasnmprathbxyuinphrarachwnghlwngkhxngxngwa ecanayfayincanwnhnungthwaytwepnphrasnmphramhakstriyphma echlysamychawxyuthya tngbaneruxnrxbnxkphrarachwnghlwngxngwa khnthichanayechingchangipxyuemuxngsaikng echlythichanaydankarekstripxyuemuxng saeln aelasaku khrnmikaryayemuxnghlwng chawoydayakxphyphtamipdwy thaihphbchumchnoydayatamhwemuxngtang idaek emuxngxngwa saikng xmrpura aelamnthaely swnsmedcphraecaxuthumphr xditphramhakstriyxyuthyasungphnwchepnsmnephsnnthrngcaphrrsa n tukpxngel dngpraktin carukecdiythraymhawaluka khwamwa raw ph s 2310 phraecachangephuxk tngphrankhrxyuthiemuxngxngwa emuxchawechlycakxyuthya suokhthy aelaechiyngihmthukcbkummathini rwmthngphrarachwngs khunnangtang kihtngbaneruxnxyuhangcaknkhrxngwathiraaehngaelamintasuiklkbkhlxngthieriykwachewtchxng rwmthngecafadxk kstriyphutxngnirascakrachbllngk phraxngkhxupsmbthepnphraphiksucaphrrsaxyuthiwdpxngel aelasinphrachnmemux ph s 2339 dwyehtunismedcphraecaxuthumphrinsmnephscungklayepnthiphungthangickhxngechlyxyuthyainphmamaaetnn inrchkalphraecapdung mikaryayrachthanicakxngwaipxmrpura echuxphrawngsxyuthyacungyayipprathbthiphrarachwngaehngihmdwy yukhhlngxyuthya rupnkaesdngyamasatxfayxsurphngschwngstwrrsthi 19rupwithichiwitchawphmachwngstwrrsthi 19 ephyihehnchayiwphmkhnhnung inchwngsmedcphraecakrungthnburikarkxtngkrungthnburiepnrachthaniihm chawithyinprimnthlkhxngkrungsrixyuthya epntnwa kaaephngephchr phisnuolk swrrkholk aelaraaehngrawsamaesnkhnxphyphipkrungxngwa ephraaidyinkhawluxwathharkhxngsmedcphraecakrungthnburixxksngharkhntayekluxnthxngna inkhnathiechlyxyuthyainkrungxngwaexngkmiidchunchminsmedcphraecakrungthnburiphuekhyepnkhaekakhxngkstriyxyuthyaethair dwyehnwasmedcphraecakrungthnburihnixxkcakphrankhrephuxiptngkhaytanghak phwkekhacungrusukimmnicthicaklbipphungphrabarmikhxngkstriyihm thngniyngmiechlyxyuthyabangswnidmioxkashwnklbmatuphumixikkhrng dngkrnikhxngkrmkhunraminthrsuda phraphatiyainphrabathsmedcphraphuththyxdfaculaolkmharachsungphldphrakbanekidipbwchchixyuemuxngthwayenuxngcaktkepnechly phayhlngthrngidrbkarchwyehluxcakmngcncasamarthklbmatuphumiidsaerc swncxhnaelahyingkhnhnungthithayathepnchnhlanehlnkhxngecaphrayawicheynthr khxnsaetntin fxlkhxn thiphldipemuxngmarid xphyphklbsyamaelatngthinthanthichumchnkudicin odyhyingthiepnthayathecaphrayawicheynthrnnepnyaykhxngaexngeclina thrphy phrryakhxngorebirt hnetxr aelaxikkrnihnungkhuxmhaokhaelamhakvchsungklbmaaephndinithyhlngphldphrakipsisibpi txngthnrxnaermedinthangxyangyaklabakklbekhaithy odyklawwathiklbmaaephndinekidephraa khidthungban aemcamibangswnphyayamhathangklbmatuphumi aetkmiechlyxyuthyacanwnimnxythiphungicinxisraemuxidxyuinekhtkhnthkhxngphmaaeminchwngthitkepnxananikhmkhxngchatitawntkipaelwktam ephraaphwkekhasamarthprakxbsmmaxachipheliyngdutnexng aelamitxngkhxythanganthwayaekecanaysyam dngpraktin exksarehnri ebxrni elm 1 sungehnri ebxrni thutxngkvsthiekhamaecriysmphnthimtrikbsyam idklawthungechlyxyuthyathixyuinphma khwamwa nxkcaknikhapheca ehnri ebxrni yngekhyidyinkhnklawwa thahakihechlythngsxng khuxechlyphmainsyam aelaechlysyaminphma eluxktamchxbwacaklbbanekidemuxngnxnkhxngtnhruxim kcapraktwaphwkechlysyamthieracbidodyechphaaxyangyingphwkthithukphmacbidmaaetkxncaeluxkxyuthiedimimklbkrungsyam ephraaxyuthinntangkthanganhaeliyngtnexngid aetthahakklbmaxyukrungsyamaelwtxngthanganihaekecanayhruxaekphraecaxyuhw aetinthanxngtrngknkham echlyphmathithukkhnsyamcbmaid caxyakklbipxyukbrthbalxngkvsdwyehtuphlaebbediywkn emuxkhrawthismedcphraecabrmwngsethx krmphrayadarngrachanuphaphesdceyuxnpraethsphma thrngphbkbecahyingaehngtarngnga Htayanga phrarachthidainphraecamindng kbphranangsusiriklya sungsubsndanmacakecanayxyuthya tamphraniphnthinhnngsux ethiywemuxngphma khwamwa phraxngkhhyingdaratrsbxkwaethxepnechuxithy dwyskulcxmmardakhxngethxepnithy phuihyelaknmawatnskulepnecachay thukkwad ipcakkrungsrixyuthyaaetyngeyaw thaechnnnkhidtamewla phraxngkhecahyingdarakkhngepnchn 4 hruxchn 5 txmacaktnskul pccubn ecahyingtarngnga thisicaksay ecanayphmaechuxsayoydaya chayphraruprwmkbsmedcphraecabrmwngsethx krmphrayadarngrachanuphaph emux ph s 2478 phusubechuxsaychawsyamcakxyuthyaidklunhayipkbchawphmasungepnchnklumihy phwkekhahnipichphasaphmaaelawthnthrrmphma odyechphaaxyangyinginklumchawoydayainemuxngsaikngsungniymsmrskbchawphma swnklumthixasyxyurimkhlxngchewtachxngsungxasyrwmkbchawithihy ithywn aelalanchangidaetngnganphsmpnepkn pccubnphuthithuxtwwaepnchawoydayacamiechuxsayithihyxyudwy wthnthrrmaelawithichiwitkcaepnaebbithihymakkwaoydaya swnwthnthrrmithythiyngkhngdarngxyuinyukhkxntkepnxananikhmkhxngxngkvsnnkhuxokhnlakhrinrachsank echnramekiyrtiaelaxiehna cnidrbkhwamniyminklumecanayphma aethlngcakthiphmatxnehnuxthukrwmekhakbxngkvs khnalakhrehlanikaetkchansanesn bangkxxkiptngkhnalakhrkhxngtnexng bangkipthwaynganihecafaithihy hruxbangswnkelikepnlakhripely sunglakhrehlaniimidrbkhwamniyminklumkhnsmyihm nayaephthythinmxngci hnunginlukhlanokhnlakhrchawsyamthixasyinmnthaely mkidyinpuelaihfngesmxwa xyalumwaethxepnkhnithy khnathidxenwxu nkkhawchawphmakhnhnung kekhyfngyaychuxdxtawelaeruxngraweka watrakulkhxngtnmiechuxsaytuekahruxphudicakxyuthya odymibrrphburusepnhyingchuxaempradu lukhlankhxngchawxyuthyainphmaniimekhainlththirkchatikhxngithy aetphwkekhayngralukxyuwaimlumrakehngakhxngtwexng lukhlanxyuthyasuyhayipekuxbhmdaelw hlaykhnyayxxkcakthinthanedimaelaaetngnganphsmpnepipkbchawphma khngehluxaetphaphcitrkrrmfaphnngphayinwdthiaesdngihehnthungwthnthrrmiwphmcukaelaaekla sthaptykrrmphayinwd aelasalphraram khnathiwthnthrrmxun echn ephlngoydaya citrkrrmoydaya aelaxaharkarkinaebboydayayngkhngxyuimhayipihn in ph s 2373 naythharchawxngkvsedinthangipphbchumchnchawoydayakhnadnxychuxbanpued thangtawntkechiyngehnuxkhxngemuxngmnthaely aelaphbchumchnoydayathangtawntkechiyngehnuxkhxngemuxngomnywa sungthngsxngbannimikarkxsrangecdiysrangthansungaekhbaebbithyaelaaebbithihy nxkcakni xuciok nkwichakarphmaidkhnphbchumchnoydayaaehnghnungchuxbansuka macakkhabaliwa sukha inemuxngmnthaely emux ph s 2556 edimepnhmubankhxngechlyxyuthyathipradisthdxkimif sungxacepnhmubanxyuthyaephiyngaehngediywthiyngrksasayeluxdxyuthyaiwid ephraatngaetxphyphekhamakimniymaetngngankbkhnnxkhmuban catxngxxkeruxnkbkhnechuxsayoydayadwyknethann hakimsamarthsmrsid kcakhrxngosdxyangekhrngkhrd in ph s 2565 phbhyingoydayabansukaraw 40 khn yngkhrxngtnepnosd hakmiphuchaynxkhmubanekhamainhmubancndukdunkcathukchawbansukapahinil chawbanthiniyngrksakhaithyiwepnphasalbsahrbsuxsarinchumchn odyin ph s 2560 ynghlngehluxbukhkhlthimiechuxsayxyuthyabrisuththi 35 khn cakcanwnkhninhmubanrawsxngrxykhn odythuxepnchawxyuthyarunthi 11 swnihyprakxbxachiphekstrkrrmkhuxpluknakhawaelathw mimwnyaesnaelaeybpkthkrxyepnxachiphesrim imprakxbxachiphkhastw khnathiklumchawoydayabanmintasu yanecafa inmnthaelymixyuimtakwa 30 khnin ph s 2557 aelaemuxngsakumichumchnoydayaaelaithihyxasyrwmknchuxhmubanit itkhuxith aetphudphasaoydayahruxithihyimidaelw innganekhiyn mkudrachkumarechuxsayithy A Crown Prince of Thai Origin khxngnayaephthy thinmxngci rabuwayngmiecahyingphmasxngphraxngkh thisubechuxsaycakecachaythxng Maung Htaung phrarachoxrsinphraecaaesrkaemng kbnangxiphuhyingchawoydaya yngmiphrachnmchiphxyuinyangkungwthnthrrmphasa aetedimchawoydayacaichphasaithysaeniyngxyuthya sungcaxxkehnxkwaphasaithymatrthaninpccubn aelamihlkthanbngwayngichphasaithyphudxyucnthungchwngrchkalphrabathsmedcphraphuththelishlanphaly mikarkhnphbcarukphasaithyxyuthyahlngphraphuththrupkhnadnxyinwdyadana emuxngxngwa bnthukiwwa lukplik mikhaph phram aeplwa karthabuycakhmubanpharam aelaphbxksrithyitphaphnrkphumiphayinkuwudcikuphyaphayinsanksngkhhmnkincxng emuxngminbu ekhiynxthibayitphaphiwwa sngkhattnrk cakhlkthanthngsxng aesdngihehnthungkardarngxyukhxngphasaaelaxksrithyinkhnann nxkcakniyngmichawsyamkhnhnungchuxnaycadxxkcakaephndinsyaminrchkalphrabathsmedcphraculcxmeklaecaxyuhw ipsxnphasaithyaekbutrthidakhunnangphmainrchkalphraecamindng dngpraktinkhaihkarnaycad thiyngrabuwainchwngewlannyngmikarichphasaithyinhmuphrasngkh aetphbwakhnoydayaerimphudithyimidaelw dngpraktkhwamtxnhnung khwamwa khaphecaidkhunphkxyuthibanecathakhun 1 rungkhunmiphmathiepnphxkhaesrsthiaelkhunnangaetlwnepnechuxchatiithy phaknmaeyiymeyiyn thkthamkhawthukkhaelsukhwnynkhacungsinkhnmaeyiymeyiyn khrnewlakha 2 thum mxngswsdiesrsthiihyinemuxngphma aekhepnhlanehlnechuxchatiithykhrngkrungeka exarthethiymmaethskhuhnungmaechiykhaphecaihipxyubanekha khaphecakipxyubanmxngswsdi phudphasaithyimid miphrasngkhmaeyiymeyiynthkthamkhawthukkhaelsukhodyphasaithyhlayxngkh phasaithykhxngchawoydayayngpraktxyuinephlngtang echn ephlngexexchueyich sungepnenuxephlngithyedimthikhadwaepnephlngediywkb aetemuxewlaphanmanannbrxypi klbklayepnephlngthiimmiikhrekhaickhwamephraarxngknpaktxpakcungekidkhwamphidphladinkarxxkesiyng cnchawithyhruxphmaexngimsamarthekhaicenuxhakhxngephlngid phayhlngcungidepliynenuxrxngepnphasaphmaaethn nxkcakniyngehluxrxngrxychuxsthanthiepnphasaithykhuxthaelsabettet Tet Thay inemuxngxmrpura michuxedimthiechuxwaepnphasaoydayawa aenkktx Ne Kotho aetimthrabkhaithyedimhruxthrabkhwamhmay aelaxikaehngkhuxkhlxngchewtaecha tngxyuinxmrpuraechnkn michuxedimepnphasaoydayawakhlxnginkusn khlxngnaykusl edimepnthitngkhxngchumchnoydayakhnadihy inkaltxmalukhlanchawoydayaerimlathingphasaithyaelaxxkesiyngaeprng rbxiththiphlxyangsungcakphasaphmaodyechphaaiwyakrn karxxkesiyngkhasphthktangxxkipcakphasaithymatrthan aemcamiraksphthediywkn dngkrnimhaokhaelamhakvch sungmhaokhepnechlyithythithukkwadtxnipphmarawsisibpi swnmhakvchepnbutrchaythiekidinphma thngsxngxphyphklbekhamaaephndinsyaminyukhrtnoksinthr aetphudithyimchdecn cntxngihthngsxngphudphasaphmaaelwihlamphmamaaeplphasaih lwngmainpccubnlukhlanchawoydayaelikichphasaithydngklawipaelw odyhnipphudphasaphmaaethn phasaithycungmiidtkthxdsukhnrunhlng aetmichawoydayabangswnthiyngxnurksphasaithyexaiw echnthibansuka macakkhabaliwa sukha caichkhasphthkhxngphasaithyepnphasalbichsuxsarknphayinhmuban echnkhawa phx eriykwaxaba khnm eriykkhnm klwy eriykkwy xxy eriyknaxx kinkhaw eriykkinkhawhruxpungkin naxb eriyknaoxb sungehluxephiyngkhnrunekaethannthicaekhaickhaehlaniid thngniphwkekhaimsamarthphudphasaoydayaihepnpraoykhidxiktxip ephraaaethbimidichinchiwitpracawn in ph s 2359 nayaephthyaexdxniaerm cdsn Adoniram Judson aelaaexnn aeheslithn aennsi cdsn Ann Hazeltine Judson michchnnariaebpthistchawxemriknsungekhaipephyaephsasnainyangkung idsuksaphasaithycakechlysyamsungthukkwadtxnemuxkhrawesiykrungsrixyuthyakhrngthisxng inewlaediywknnncxrc exch hxf George H Hough changphimph idekhamatngorngphimphinpraethsphma aelaidhlxtwphimphxksrithykhrngaerkin ph s 2359 odyichtnaebbcakthinangcdsnsuksa kxntiphimphphrakittikhunmththiwkhunaetbdniidsuyhayipaelw thuxidwachawoydayainphmaxacepnphuthaihekidtwphimphxksrithyyukhaerk kxnthicaphthnaepnxksrithythiichinpraethsithycnthungpccubn sasna chawoydayanbthuxsasnaphuthth mikhtikhwamechuxthiaetktangipchawphuththphmathwip echn khtikarkxkhunskkarbucha khtikarsrangphraecdiysamxngkh aelakhtikarsrangsalbuchaphraram tangcakchawphma ephraaodythwipchawphmacabuchana pccubnyngmipraephnikxphraecdiythrayinwnkhun 13 kha eduxnhkkhxngthukpi n chumchnraaehngohmngtisuinmnthaely praephninipraktkhunkhrngaerkinrchkalphraecapdungin ph s 2325 2329 thrngmiphrabrmrachanuyatihphumiechuxsaysyamkxecdiythraytlxdrimkhlxngchewtchxng camikarkxphraecdiysung 25 futphayinwnediyw mikarnimntphrasngkh 54 rupnngbnxasna aelaphraphuththruphnungxngkhpradisthaniwbnotahmu swnxubaskxubasikacathwayekhruxngkhawhwan aelaekhruxngithythanebuxnghnaphrasngkh pccubnmiphraecdiythraytngxyuinmnthaelysixngkh idaektablraaehngohmngtisu tabldatn tablmintasu aelapuelngwyyxng pccubnaemcaimhlngehluxlukhlanechlyxyuthyaaelw chawphmainthxngthintangekhaicwapraephnikarkxphraecdiythrayimichthrrmeniymkhxngchawphmathwip hakaetepnkhxngchawoydayainxdit aelaphwkekhamihnathixnurksaelasubthxdpraephniniihkhngxyutxip thukwnnichawoydayainmnthaelycaphbpaknepnpracainthukwnekhaphrrsa hwokhnkhxngyamasatxphayinphiphithphnthaehnghnung chawoydayainbansukaekhrngkhrdinsasnaphuththxyuradbhnung ephraaphwkekhaimprakxbxachiphkhastw aetcaprakxbxachiphekstrkrrmaethn hlngeruxngrawkhxnghmubanchawoydayaephyaephrsusatharnchnchawithyaelw chawoydayabansukamikhwamprasngkhthicaidphraphuththrupthimiithyyukhpccubnippradisthanthiwdsukaklangtngaet ph s 2563 ephuxepnsylksnthiyudoyngphwkekhaekhakbaephndinaem chawithyinpraethsithycungidcdsrangphraphuththrupodycalxngaebbcakphraphuththchinrachaelaphrasrixriyemtitry kxnsngmxbinwnthi 9 phvsphakhm ph s 2566 aelamiokhrngkarthicathxdphapaihaekwdsukaklangineduxnphvscikayn ph s 2566 swnkhtikarnbthuxsalphraram samarthphbidtamchumchnoydaya sungtangcakchawphmathicabuchana saehtuthichawoydayanbthuxphraram swnhnungkephraaphwkekhaepnlukhlankhxngechlyokhnlakhrthithukkwadtxnma phayinsalcamikarbrrcuphramhavisiiwkhwasud tamdwyphraram phralksmn nangsida aelahnuman phrxmekhruxngbucha swnsalphraraminbansukannyngkhngrupaebbediywkbsalphraphumikhxngithykhuxmiesaediyw tangcaksalnakhxngphmasungcamisiesa pccubninmnthaelymisalaihwkhrueriykwayamanaknsahrbphueriynnatsilpichsahrbbucha phayinsalacaekbhwokhntang iw chawoydayayngkhngbuchaphrarammacnthungpccubn aelayngekhaicwachawithyinpraethsithykkhngbuchaphraramdwy chawoydayahlaykhnaeprsphaphtnexngihklmklunipkbsngkhmphma dngpraktkhwamwa emuxvdufn ph s 2274 na inaemnamyienginxngwa esaaphngthangdantawnxxkechiyngehnuxemuxngxngwaphng phuchanaychawxyuthyaeskmntihkraaesnaepliynthangaelwnathraykhunmathmfngaemnatamedim xahar rankhnmkhrkaehnghnunginyangkung xaharkarkinxyangxyuthyathimixiththiphlinxaharphma echn lxdchxng khnmkhrk aelaxaharthiichkathi nxkcaknixaharphmayngrbxiththiphlxun cakxaharithyechn karichnapla sarbxaharpraephthtmya thngyngrbxaharithyrwmsmyekhaipdwy sungxaharehlanicathukprunginwaraphiesskhxngchumchnephuxthwayphrasngkhhruxprungkhaythwipintladsungmimanan xaharoydayathimichuxesiyngthisudkhuxsupoydaya sungddaeplngcaktmyakhxngithy thuxepnxaharphiessthimitamranxaharchnna aetcakwtthudibinthxngthinaelarayaewlakwasamrxypi thaihxaharchnidnitangipcakaephndinaem odymilksnakhlay mirsepriywna ekhmtam aelaephdelknxy aelamixaharphmathiidrbxiththiphlcakechlyoydayaxikidaek khaonnoda ခန ထ ပ chewyinex ရ ရင အ မ န လက ဆ င aelaohmanti မ န တ odyomantiaebbxyuthya ယ ဒယ မ န တ phbidechphaabanmintasu emuxngmnthaely odyechphaaohmanaelasxngsungtkthxdcaklxdchxnginsmyxyuthya thuxepnkhxnghwanthiharbprathanidthwip inchumchnoydayabansukayngkhngrksakarthakhnmaebbithyiw xyangechn khnmthithacakaepngkhaweca orydwythwbd natal hnatakhlay khnmthacakaepngkhawecanungorydwymaphrawkhudfxylksnaiklekhiyngkbkhnmtmkhaw aelakhnmxikchnidhnung thacakaepngpnepnwngklm kxnnaipthxdkhlaykhnmwng eriykwamngrdekla rbprathanekhiyngkbnacimrsxxkhwan aelacarbprathanmamwngsukhwanintxnthay swnchumchnoydayainmnthaelyyngthakhnmithyxxkkhay epntnwakhnmkhrk lxdchxng aelahmxaekng natkrrm yamasatxsungidrbkartkthxdcakechlyxyuthyatngaet ph s 2310 hlngkaresiykrungsrixyuthyakhrngthisxngin ph s 2310 phmaidkwadtxnechlysukfimuxdiekhamaepncanwnmak imwaepnchangfimuxtang nanglakhr aelankdntriephuxmathanubarungsilpwthnthrrmkhxngphma brrdaechuxphrawngsxyuthyathiebuxhnaychiwitinrachthaniidrierimkhnalakhraebbithykhuncnepnthiniymyinginrachsankphma imwacaepnkaraetngkay karrayraxnekaaekkhxngxyuthya aelaornglakhroxothngngdngam epnthisadudtakhxngecanayphmainkhwamaeplkaetnahlngihl sngphlihlakhrsyamepnthiniyminchnchnpkkhrxng natkrrmkhxngechlyoydayaekidkhuncakkarrierimkhxngphraxngkhecaprathip phrarachthidainsmedcphrathinngsuriyasnxmrinthr sungepnphramehsiphraxngkhhnungkhxngphraecamngra khxaesdngnatsilpxyuthyathwayphrarachswami phraecakrungxngwathrngsnphrathymak cungmirbsngihphraecaebywyaelanayca ecaemuxngxmrwdi pccubnkhuxemiywdi suksanatsilpxyuthyacakecafakunthlaelaecafamngkud fayinxyuthyaphuekngkacdannatkrrm aetedimkaraesdngaebboydayacaichphasaithyaelachawxyuthyainkaraesdngethann dngkhxmulcak xunu ecakrmmhrsphkhxngphma raynganiwwa smyrchkalphraecachangephuxk karaesdnglakhroydayaklwnaetichchawoydayaaeth aesdngthngsin imwacaepnnangsidahruxbusbaklwnepnnangexkchawoydaya thngyngichbthrxngbthecrcasungepnphasaoydayaxikdwy sungbrrdaphuchmthnghlayekhaickaetephiyngthathangmuxaekhnaelasihnathiaesdngxxkethannimmixairipmakkwani khrnrchsmyphraecacingkuca mikwiexkkhnhnuchux ekhiynbthkwieruxngramekiyrtidwyphasaphmaxnipheraaxxnhwan txma phramehsiexkphuepnkwi thrngsngesrimkaraesdngphraramchadkhruxyamasatxinrachsank thrngepliynaeplngkaraetngkaykhxngnangsida cakedimthinungphaxyangchawsyamepliynepnisesuxthbaekhnyawaebbphmaaelanungphathaemngaethn odyihehtuphlwakarnungphaaebbxyuthyannduimepnphuhyingethathikhwr txmainsmyphraecabacidxidmikaraeplbthlakhrsyameruxngxiehna ekidepnlakhrkhuaekhngkbphraramchadk aetphraramchadkkyngepnthiniym krathngthungrchkalphraecamindngphuekhrngkhrdinphrasasna karaesdnglakhrthukmxngwaepneruxngehlwihl cungesuxmkhwamniymipaetnn inbnthukkhxngbathhlwngsnaekrmaon Sangermano chawxitali phuphankinphmachwng ph s 2281 2351 xthibaythungkarrayraiwwa khrngaerkthikhaphecaehnnkraehlani khaphecakhidwaepnklumkhxngkhnwiklcritesiyxik aelabnthukkaredinthangkhxngaelaemux ph s 2428 klawthungkaraesdngphraramchadk khwamwa ecachaynkrbaehngyukhmhakaphy khuxphraram aetngkaydwyxaphrnrdtwdwyekhruxngpradbthiepnprakaywawwb miphathicibxyangnaprahladtrngchwngkhathngsxng swmchdathimithrngprahnungmngkudhruxecdiy smedcphraecabrmwngsethx krmphrayadarngrachanuphaph thrngniphnth ethiywemuxngphma thrngxthibay ephlngoyediy aela raxyangoyediy iwwa elathungwithiraxyangoyediy sungekhacaelnihchnduinwnnn aelwklbekhaipnngetiyng phwknangkanlklukkhunraekhakbrxngephlng oyediy karthirafxnekhakbrxngephlngoyediy ehncasksxmknintxnklangwnwnnnhlayethiyw twnangrabask 10 khn txngminangphuihythiepnkhruxxkmayunkakbaelarxngnaxyuinwngdwy ephlngthirxngksngektidwaepnthanxngephlngithycring ephraaephlngphamamkmithanxngkraochkimrxngeruxyehmuxnephlngithy mxngopsinrathaphraramthuxsrmikrabwnesnatam mxngopsinrakhnediywepnthaedinnadkrayekhakbcnghwapiphathy dukphxsngektidwaepnthalakhrithy ephraachakwaaelaimkadungkadingehmuxnlakhrphama swnxannth nakhkhng nkmanusywithya khnaduriyangkhsilp mhawithyalysilpakr klawthungyamasatxwamilksnaiklekhiyngkbnatsilpithymak dngpraktkhwamwa thwngthawicitrxxnchxyaebbni khxnkhangcaaetktangcakrabaphmathikhunekhy sungkartngwng aelakarcibaebbni sathxnkhwamepnnatsilpxyuthyaidxyangchdecnmak ephraainrupaebbkhxngphmacamilksnakarrathiepnehliymmakkwa caimepnwngokhngaebbni pccubnkaraesdngnatkrrm phraramchadk aela xiehna yngkhngdarngxyuinpraethsphma odykaraesdng phraramchadk yngaesdngodykhnalakhrokhnoydayathiemuxngcdhlngwnkhun 15 kha eduxn 12 khxngthukpi sungtrngkbethskallxykrathngkhxngithy swn xiehna epnswnhnungkhxngkaraesdngchud chaaelepiywxwain odycamikarkhbrxngprakxbekhruxngdntri khlayranadexk kbsxngekaa phinaebbphma dntri wngdntriaelankaesdngyamasatxchwngstwrrsthi 19wngdntriaelankaesdngchwngstwrrsthi 19 sngektnkdntriedkkhnthayiwphmcuk inphngsawdarchbbxukala aelaphngsawdarchbbhxaekw klawiwtrngknwainrchsmyphraecabuerngnxng idminkaesdngaelankdntrixyuthyaekhamainhngsawdiaelwinewlann hlngsinrchkaldngklawkpraktwadntrixyuthyathukbrrelngrwmkbdntripraephthxun inphrarachphithitang mikarichekhruxngdntricakxyuthya 7 chin rwmknepnmhrspheriykwa oydayasayng sungmirxngrxykarphsmwngpiphathytamkhnbxyuthyatxnplay odyprktiaelwinrachsankphmacaichnkaesdngaelankdntrimuxxachiphchawxyuthyainkaraesdng odymibthephlngaelabthecrcaepnphasaithy thwaphuchmchawphmannmikhwamprasngkhcarbfngepnphasaphmaephuxxrrthrs in ph s 2332 phraecapdungthrngtngkrrmkaraeplnganehlaniodyechphaa mikaraeplngbthephlngramekiyrtiaelaxiehnaepnphasaphma aetmibthephlngcanwnaepdephlngthiecachayepiyngsi Pyinhsi phrarachoxrsthrngniphnthtamthanxngephlngxyuthya swnchuxinwngelbxangcakoythya dntriithyinwthnthrrmemiynmar khxngsurdis phakhsuchlaelapyya rungeruxng idaek khakhuntnphasaphma chuxithy ethiybkhaithyyewtanya syanetng Frangtin frngetn phyntin enngywnkhaehman ekhaomng Khemun aekhkmxytxtxngchew khemng Khamein ekhmr khmin txmaeyngechlan thena Tanauk thanxk tanaw panmaeyngel peyngcha Flengchaa ephlngchakhaypanosng thdwn Htatunt othn thbthwn mxoyngehowng chwnchan Chut Chant chuychay echidchan maymxnphya xuesa Ngusit Ngu Ngi nguengk nguhngid incanwnnimisxngephlngethannthiepnephlngithykhuxephlngfrngetnaelaephlngchacakkarsxbenuxrxngemux ph s 2493 swnin bthephlngphmayukhcaritchbbthiidrbkarxnumticakphakhrthihcdphimphin ph s 2497 odykhnakrrmkarkahndmatrthanklawiwwa aemwaeraekhyichkhawa frngetn aekhkmxy ekhmr thanxk ephlngcha chuychay yyit tngaetwnwantrabethathukwnni aetkhaehlaninxkcakcamiidpraktinphcnanukrmithyaelw khnithyradbphunayngidtngkhxsngektwa hakykewnephlngchaaelafrngetnaelw khaehlaniimichkhainphasaithy aelaaemaetkhathiehmuxnkbkhayumkmiidmipraktinphcnanukrmphasaithyechnkn dngnn cungideliyngkarichkhaehlaniinbththiwadwyephlngithy khnathinganwicy oythya dntriithyinwthnthrrmemiynmar khxngsurdis phakhsuchl aelapyya rungeruxngxthibaywaephlngoythyamimatngaetyukhrachwngsoknbxng phbrxngrxyephlngthiichthanxngaelaphasaithykhuxephlngexexchueyichhrux swnephlngithythiichbthkhbrxngepnphasaphma idaek ephlngphyntin aekhkmxy khmin tanaw ephlngcha thbthwn echidchan nguhngid kabi aelamohti aelaphbwaephlngoythyakbdntriithy micnghwaaelathanxngsmaesmxechuxmoyngkn thngniephlngexexchueyich Ei Ei Chu Yei Chai epnephlngithyedim mienuxrxngepnphasaithy aetemuxewlaphanmanannbrxypi kklayepnephlngthiimmiikhrekhaickhwamhmay ephraarxngknpaktxpakmaepnewlayawnanhlayrxypi cungekidkhwamphidphladinkarxxkesiyng cnchawithyhruxphmaexngimsamarthekhaicenuxhakhxngephlngid phayhlngcungidepliynenuxrxngepnphasaphmaaethn caknganwicykhxngsurdis phakhsuchlaelapyya rungeruxng phbwatrngkbephlngchuychaykhxngithy nxkcakniephlngoydayayngsngphancakphmaekhasurachsankechiyngihm odyechiyngihmcaeriykephlngdngklawwa ephlngman ichwngpiphathybrrelngprakxbkarfxnmanmuyechiyngtahruxkarfxnkaebx mntri traomthekhywicarnthanxngephlngkhxngkarfxnmanmuyechiyngtaiwwa thanxngephlngthibrrelngprakxbfxnmanmuyechiyngta thathxdxxkmaphicarnathilapraoykh caehnwa ephlngtncamithanxngkhxngithyphakhklangphsmxyuma aetcamisaeniyngaebbphma sthaptykrrm phaphcitrkrrmfaphnngrupsibsxngnkstrtamkhtixyuthyathirupaekaslkkhruthyudnakhsilpaphsmthi hlngkarkwadtxnechlysyamekhamainaednphma echlyhlaykhnepnchangfimuxkhnsungidfakphlngansthaptykrrmaelacitrkrrmaebbxyuthyathingiw dng ph s 2134 inrchkalphraecannthbuerngoprdihruxpratu rwmthnghxpxmkhangbnpratuxxk aelwsrangihmtamxyangxyuthya sungepnipidwaxacsrangodyechlyphumifimuxechingchangcakxyuthya sungcitrkrrmfaphnngaebbxyuthyasngxiththiphlinaephndinphmachwngphuththstwrrsthi 24 25 inaethbemuxngsaikng aelamnthaely odyexklksnthioddednkhxngchangxyuthyainphmakhux karichsiaedngchadincitrkrrm karichhruxaethbhykfnplakhnphaph layphrrnphvksahruxlaykrahnkaebbxyuthya phaphekhruxngthrnghruxlksnakhxng lksnakhxngphaphhruxecdiythrngekhruxngxyangxyuthya phaphphraphuththecaaelaethwdathimiphraphktrxyangxyuthya sunglksnaehlanisamarthethiybekhiyngkbsilpkrrmchwngplayxyuthyathungtnrtnoksinthr smyphuththstwrrsthi 22 24 thiphbinphakhklangkhxngpraethsithy cakkarsarwcin ph s 2550 phbwasilpkrrmswnihyepnaebbxyuthyatxnplayrawphuththstwrrsthi 24 praktxyukracdkracaytamhwemuxngsakhytang echn phaokh saikng xngwa xmrpura omnywa aelamnthaely thngyngphbwasilpkrrmxyangithynnidrbkhwamniymxyangying kxihekidkarthaythxdkrrmwithiinkarsrangcitrkrrm silpkrrmxyangithysuchangphunemuxngchawphma odyphbhlkthantang thiaesdngthungxiththiphlkhxngchangcakkrungsrixyuthya tngaetkhabxkela smudda citrkrrmfaphnng nganpunpnpradbphnng nganaekaslkekhruxngim aelangancahlkhinthray aelaynghlngehluxsthaptykrrmaelacitrkrrmaebbxyuthyainphma idaek Kyauktawgyi Pagoda emuxngxmrpura miphaphcitrkrrmbnephdanaelafaphnng aesdngthungwithichiwitkhxngchawphmaaelachawoydaya aelaphaphethphphnm pccubnphaphlbeluxn aelabangswnthukthasithb Maha Thein Taw Gyi Temple emuxngsaikng miphaphcitrkrrmfaphnngaebbxyuthyaxyangchdecn rwmthngphaphphraphuththrupkhdsmathisilpaithy aetpccubncitrkrrmbangswnthukpunobkthbipaelw rwmthngmikhwamesiyhaykhxngphaphthiekidkarcakkarrwsumkhxnghlngkha wdeytaphncxng Yethaphan Kyaung Temple hruxwdmaedux emuxngxngwa phbwaebuxnghlngphraphuththrup mikaraekaslklwdlaykrahnkaebbxyuthya aelaepnthipradisthanphraphuththrupaekaslkcakimmaeduxfiphrahtthsmedcphraecaxuthumphr phraxarambakaya Bagaya Monastery emuxngxngwa mirupaekaslkkhruthyudnakhsilpaphsmithy phma wdyadana Yadana Temple emuxngxngwa srangtamaebbsthaptykrrmithyodychangphma echn kxsrangdwyim wiharkxdwyxithaelaesapunaebbxyuthya aelathanchukchisilpaphsmithy phma ecdiyculamni phayinwdrangaehnghnunginemuxngxngwa milksnaepnecdiyyxmum mixtlksnsxdkhlxngkbsthaptykrrmithy kuwudcikuphya phayinsanksngkhhmnkincxng emuxng phbcitrkrrmxyuthyaphayinkuthngekahxng phbngansilpkrrmxyuthyaphayinwdaehnghnungthiemuxngsaeln phaphcahlkhineruxngramekiyrti emuxngomnywa silpkrrmxyangithyodyfimuxchangphma aephnaekaslkekhruxngimphayinphrarachwnghngsawdi emuxngphaokh lksnalay iklekhiyngkblaybusbk pccubnchawoydayainhmubansukayngkhngrksarupaebbkarsrangbanaebberuxnithyykitthun michanphk miyungkhaw tangipcakrupaebbkartngeruxnkhxngchawphma phraphuththrupmiphuththlksnathibngthungxiththiphlkhxngxyuthyaid odysngektidcakyxdphraeks aelaphranlat sungtangxxkipcakphraphuththrupaebbphma rwmthngyngmikartngsalphraramthanxngediywkbsalphraphumitamkhtiithykhuxmiesaediywinwthnthrrmrwmsmyeruxngsn phmepnkhnoyediy ph s 2530 ekhiynodyesniy esawphngs mienuxhaklawthungphuekhiynkhnaepnthutxyuinpraethsphma rahwangthiekhakalngnngdumkaaef kmiedkthikalngetafutbxlxyuwingekhamahaphrxmkbphudphasaxngkvsaebbkrathxnkraaethnwa phmepnkhnoyediy phmxyakphbkhun cakekhakwingklbipetabxltx esniykningip phaphyntr sabesuxthilanakstriy ph s 2545 kakbodybnthit vththithkl epneruxngrawkhxngklxmaelaeniynsamiphrryaechlyoydayathithuktxnipemaatama thwaklxmtayrahwangkarsurbthilanakstriy eniyncungxxktamhasamiaetklbthukocrpakhuniccntaythilanakstriy hlngcaknneniynklayepnwiyyanipsinginrangesuxaelarxkarklbmakhxngchaykhnrk phaphyntr ph s 2559 kakbody epneruxngrawkhxngpin hyingchawithythiphbcdhmaykhxngyathiepnchawphma ethxcungedinthangtamrxngrxyaehngrktangchnchnkhxngyathipraethsphma n thinnthaihethxphbwatwethxmiechuxsayphma aelaethxphbchaychrachawoydayakhnhnungthixyuphmamanancnimsamarthphudidetmpakwatnkhidthungpraethsithy nwniyayeruxng Irrawaddy ekliywkrasib ph s 2561 ekhiynody epneruxngrawkhxngminmin hyingechuxsayoydayarunthisib thiyxnewlaklbipemux ph s 2310 ipphbkbecahyingdarasungepnecahyingoydayainphma karkrathakhxngecahyinginxditcasngphltxminmininyukhpccubn lakhrothrthsn cakecaphrayasuxirwdi ph s 2565 kakbodychatichay eksns epneruxngrawkhxngnuchnat hyingithythiipthanganinyangkungaelalmpwycakenuxngxkinsmxng wnhnungethxsuxhnngsux xiehnachbbphma ipxanaelarayratamphaphinhnngsux emuxtunkhunmakphbwatnexngipxyuinrangkhxngpin sawichthiiffncaepnnangrahlwnginrachsankecanayfayinoydayachawoydayathimichuxesiyngthinmxngci nkwichakarthangsngkhmsastrechingxrrthhmayehtu k exksarkarbnthukrachsankphrxmdwyphaphekhiyn bnthukodycx ethng rachelkhathikaraelaphrarachnddainphraecapdung bnthukiwwa inrchkalsmedcphraipykathirachchangephuxk khuxphraecamngra emuxngrtnpurttiythani xngwa iptikrungsrixyuthya samarthtikrungsrixyuthyaaelacbphramhakstriyxyechiymathiphma inrchsmykhxngphraxnuchainsmedcphraipykathirachchangephuxk phraecapdung smyxmrpura esdcmaprathbthixmrpuraaelaswrrkhtinsmnephs thaphithiphrasphaelathwayphraephlingthisusanlinsingkng phaphnikhuxphraecaexkathss odywthyyu fkthxng aela rs dr santi phkdikhasrupwaphaphdngklawepnphaphkhxngsmedcphrathinngsuriyasnxmrinthrtamthiexksarklawiw n ebuxngtn swnthin mxng ci mikki hart aelapxngkhwy sukhwthna lasus sungnacaxangxingcakmikki hart xthibaywaphaphdngklawninacaepnsmedcphraecaxuthumphrmakkwa dwymxngwaxacaepnkhwamphidphladkhxngphuekhiynthicdphranamphid ephraasmedcphrathinngsuriyasnxmrinthrmiidswrrkhtinsmnephsthiphma xangxing oyediy thikhid im thung sayeluxdxoythya ithyphibiexs 8 Jul 2017 subkhnemux 14 Jan 2018 rxyewla mnthaely krungethphthurkicxxniln 8 Aug 2017 subkhnemux 14 Jan 2018 250 pi citwyyanithy chiwitsayeluxdoyediy withiinemiynma imsabsuy edliniws 23 Jul 2017 subkhnemux 14 Jan 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk karsarwcphunthiinkarcdkickrrmkhwamrwmmuxdankarxnurkscitrkrrmfaphnng aelaokhrngsrangphraxuobsthwdmhaetngdxci karsuksathangprawtisastraelaobrankhdi eruxng chawxyuthyainemiynma aelakarcdkaraesdngnatduriyangkhsilp n emuxngmnthaelyaelaemuxngsakay klumaephnngan okhrngkaraelawiethssmphnth krmsilpakr subkhnemux 15 Jan 2018 traewnkhawxxniln 25 Mar 2014 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2020 02 20 subkhnemux 15 Jan 2018 wlylksn thrngsiri 1 Oct 2012 mulnithielk praiph wiriyaphnthu khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2015 12 20 subkhnemux 14 Jan 2018 wlylksn thrngsiri 23 Dec 2016 sthupecafaxuthumphr aelalukhlanchawoydayainphma khunhmxthin mxng ci silpwthnthrrm subkhnemux 14 Jan 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk nphthr xuthychay enchnenlcioxkrafik khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2017 10 08 subkhnemux 28 Jan 2018 wthyyu fkthxng 7 Feb 2018 susanlinsinokng epnsusankhxngikhraelaekiywkhxngkbphraecaxuthumphrxyangir mtichnxxniln subkhnemux 7 Feb 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk yxnesnthangsthup phraecaxuthumphr pmpyhathirxewlaaekikh ithyrthxxniln 20 May 2014 subkhnemux 16 Jan 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk sthupphraecaxuthumphr cudprakaykhnhachawxyuthyainphma khmchdluk 6 Mar 2014 subkhnemux 16 Jan 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk misthupkstriyxyuthyaxyuinemiynmarcringhrux wxysthiwi 31 Oct 2013 subkhnemux 19 Feb 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk phkamas icchlad 13 Mar 2014 phb 3 pmprisna aekarxychaw xyuthya inphma khmchdluk subkhnemux 14 Jan 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk Sirinya Wattanasukchai 2 May 2013 On the walls in Mandalay Bangkok Post phasaxngkvs subkhnemux 18 Jan 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk Myanmar Travel Information phasaxngkvs khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2022 06 02 subkhnemux 2 Jun 2022 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint bot original URL status unknown lingk xyuthya caksngkhmemuxngthananachati sumrdkolk hna 64 66 khwamepnmakhxngkhasyam ithy law aelakhxm aelalksnathangsngkhmkhxngchuxchnchati hna 47 48 wirch niymthrrm Myanmar Studies Center khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2021 09 09 subkhnemux 10 Sep 2021 brrcb phnthuemtha 2524 xnenuxngdwychux chuxithynxyithyihy PDF p 4 krkic disthan 23 Jul 2018 xxkphrackricungepntwaethnkhxngoydayathikhbid imklingklxk phkditxnayphma aetkhnithykhngimchxberathuxhlkthan Gypzy World subkhnemux 19 Dec 2020 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk xyuthya caksngkhmemuxngthananachati sumrdkolk hna 67 kradanthxngsxngaephndin hna 98 99 emiynci ekhiyn suentr chutinthrannth aelathiryuthth phnmyngkh aeplaelaeriyberiyng bthephlngoythyasamephlngxnaesdngthunglksnaithyinpraethsphma dntriphmayukhcarit phmaxanithy wadwyprawtisastraelasilpaithyinthrrsnaphma hna 141 santi phkdikha rs dr 5 minakhm 2561 tamrxysmedcphraecaxuthumphr hruxkhunhlwnghawd cakkrungsrixyuthyasukrungxmrpura silpwthnthrrm 39 5 hna 72 92 khwamepnmakhxngkhasyam ithy law aelakhxm aelalksnathangsngkhmkhxngchuxchnchati hna 49 xrwinth likhitwiesskul 9 krkdakhm 2561 xiththiphlxyuthya ngansilpainkhwamthrngcakhxngchangeluxdphsm silpwthnthrrm 39 9 hna 24 30 xrwinth likhitwiesskul 20 Jul 2018 xiththiphlsilpaxyuthyainkhwamthrngcakhxngchangechuxsay oyediy silpwthnthrrm subkhnemux 21 Jul 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk rs dr echsth tingsychli sunymanusywithyasirinthr khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2019 07 20 subkhnemux 16 Mar 2018 rs dr echsth tingsychli sunymanusywithyasirinthr khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2019 07 21 subkhnemux 16 Mar 2018 pin butri 11 Jul 2013 phramhamymuni phraphuththrupmichiwit mhasrththaaehngphma phucdkarxxniln subkhnemux 16 Mar 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk thnthun ekhiyn chaywithy ekstrsiri aepl chawxyuthyainphrabrmophthismpharkhxngkstriyphmainplayphuththstwrrsthi 21 thungklangphuththstwrrsthi 23 khriststwrrsthi 16 thung 17 xyuthya prawtisastraelakaremuxng hna 239 thnthun ekhiyn suphrrni kaycnsthiti aepl echlyxyuthyainrachsankphma phmaxanithy wadwyprawtisastraelasilpaithyinthrrsnaphma hna 74 75 thnthun ekhiyn chaywithy ekstrsiri aepl chawxyuthyainphrabrmophthismpharkhxngkstriyphmainplayphuththstwrrsthi 21 thungklangphuththstwrrsthi 23 khriststwrrsthi 16 thung 17 xyuthya prawtisastraelakaremuxng hna 242 243 thnthun ekhiyn suphrrni kaycnsthiti aepl echlyxyuthyainrachsankphma phmaxanithy wadwyprawtisastraelasilpaithyinthrrsnaphma hna 80 81 brrcb phnthuemtha 2524 xnenuxngdwychux chuxithynxyithyihy PDF p 3 thnthun ekhiyn chaywithy ekstrsiri aepl chawxyuthyainphrabrmophthismpharkhxngkstriyphmainplayphuththstwrrsthi 21 thungklangphuththstwrrsthi 23 khriststwrrsthi 16 thung 17 xyuthya prawtisastraelakaremuxng hna 243 thnthun ekhiyn suphrrni kaycnsthiti aepl echlyxyuthyainrachsankphma phmaxanithy wadwyprawtisastraelasilpaithyinthrrsnaphma hna 84 thnthun ekhiyn chaywithy ekstrsiri aepl chawxyuthyainphrabrmophthismpharkhxngkstriyphmainplayphuththstwrrsthi 21 thungklangphuththstwrrsthi 23 khriststwrrsthi 16 thung 17 xyuthya prawtisastraelakaremuxng hna 246 thnthun ekhiyn suphrrni kaycnsthiti aepl echlyxyuthyainrachsankphma phmaxanithy wadwyprawtisastraelasilpaithyinthrrsnaphma hna 85 wthyyu fkthxng 25 Feb 2019 cudprakay krungethphthurkic khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2020 06 14 subkhnemux 14 Jun 2020 imekhil irth 4 kumphaphnth 2548 phumisastr prawtisastrsyam exksarchntnsmysmedcphranaraynthiepidephyihm silpwthnthrrm 26 4 hna 94 thnthun ekhiyn chaywithy ekstrsiri aepl chawxyuthyainphrabrmophthismpharkhxngkstriyphmainplayphuththstwrrsthi 21 thungklangphuththstwrrsthi 23 khriststwrrsthi 16 thung 17 xyuthya prawtisastraelakaremuxng hna 247 thnthun ekhiyn suphrrni kaycnsthiti aepl echlyxyuthyainrachsankphma phmaxanithy wadwyprawtisastraelasilpaithyinthrrsnaphma hna 87 89 samkrung hna 121 122 A history of Thailand hna 23 prawtisastrithysmy ph s 2352 2453 danesrsthkic hna 1 praminthr ekhruxthxng 22 Feb 2017 phma Shutdown krungsri ikhrhni ikhrsu silpwthnthrrm subkhnemux 24 Feb 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk Salvaging a lost king History of Ayutthaya phasaxngkvs 2013 subkhnemux 18 Jan 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk praminthr ekhruxthxng 20 Sep 2016 chatakrrmecahyingxyuthyahlngkrungaetk silpwthnthrrm subkhnemux 19 Feb 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk phrarachphngsawdarphma hna 1135 khunhlwnghawd kstriyphuesiyslarachy hna 106 elaeruxng echkxahmd tnskulbunnakh hna 108 caruwrrn dwngkhacnthr 26 Sep 2017 mulnithielk praiph wiriyaphnthu khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2019 07 08 subkhnemux 19 Jul 2018 karemuxngithysmyphraecakrungthnburi hna 31 karemuxngithysmyphraecakrungthnburi hna 174 karemuxngithysmyphraecakrungthnburi hna 32 hmxnghmxngthin ekhiyn s hykfaaelasuentr chutinthrannth aepl echlyithyinmnthaely phmaxanithy wadwyprawtisastraelasilpaithyinthrrsnaphma hna 96 krungaetk phraecatak aelaprawtisastrithy hna 87 krungaetk phraecatak aelaprawtisastrithy hna 77 hmxnghmxngthin ekhiyn s hykfaaelasuentr chutinthrannth aepl echlyithyinmnthaely phmaxanithy wadwyprawtisastraelasilpaithyinthrrsnaphma hna 97 hmxnghmxngthin ekhiyn s hykfaaelasuentr chutinthrannth aepl echlyithyinmnthaely phmaxanithy wadwyprawtisastraelasilpaithyinthrrsnaphma hna 99 100 hmxnghmxngthin ekhiyn s hykfaaelasuentr chutinthrannth aepl echlyithyinmnthaely phmaxanithy wadwyprawtisastraelasilpaithyinthrrsnaphma hna 105 khunhlwnghawd kstriyphuesiyslarachy hna 137 santi phkdikha rs dr 12 tulakhm 2561 tamthangthphphmakhrawesiykrung ph s 2310 txncb cakxngwasuxmrpuraaelaswrrkhtinhlkthanphma silpwthnthrrm 39 12 hna 28 khunhlwnghawd kstriyphuesiyslarachy hna 123 127 oyediykbrachwngsphma eruxngcringthiimmiikhrru hna 156 tamrxy phraecaxuthumphr aelaechlykrungsri thukkwadtxnipkrungrtnpuraxngwa xmrpura silpwthnthrrm 19 May 2020 subkhnemux 22 May 2020 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk syamhlakephahlayphnthu hna 189 190 cullda phkdiphuminthr 13 Mar 2001 skulithy khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2014 02 13 subkhnemux 24 Feb 2014 ophstthuedy 29 Mar 2018 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2021 05 04 subkhnemux 7 Jun 2020 kieln pralxngeching 28 Nov 2013 khaihkarmhaokh ithyrthxxniln subkhnemux 14 Jan 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk frngxang echlysyam yxmtkepnechlykhxngphmadikwaklbmaepniphrrbichnaythiemuxngtwexng silpwthnthrrm 2 Aug 2016 subkhnemux 3 Feb 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk ethiywemuxngphma hna 239 darngrachanuphaph smedcphraecabrmwngsethx krmphraya eruxngethiywemuxngphma txnthi 6 ethiywemuxngmnthel phakhplay wchiryan subkhnemux 15 Aug 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk darng ikhrkhrwy aelakhna phraecaxuthumphrakbchawxoythyainphma 250 pi esiykrungsrixyuthya sthapnakrungthnburi 2310 2560 hna 194 khunhlwnghawd kstriyphuesiyslarachy hna 132 Noel F Singer ekhiyn suentr chutinthrannth aelathiryuthth phnmyngkh aeplaelaeriyberiyng ramekiyrtiinrachsankphmaipcakkrungsrixyuthya phmaxanithy wadwyprawtisastraelasilpaithyinthrrsnaphma hna 115 Noel F Singer ekhiyn suentr chutinthrannth aelathiryuthth phnmyngkh aeplaelaeriyberiyng ramekiyrtiinrachsankphmaipcakkrungsrixyuthya phmaxanithy wadwyprawtisastraelasilpaithyinthrrsnaphma hna 130 oyediy thikhid im thung aempraduaelaphudiaehngminbu ithyphibiexs 11 Aug 2018 subkhnemux 18 Aug 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk thnthun ekhiyn chaywithy ekstrsiri aepl chawxyuthyainphrabrmophthismpharkhxngkstriyphmainplayphuththstwrrsthi 21 thungklangphuththstwrrsthi 23 khriststwrrsthi 16 thung 17 xyuthya prawtisastraelakaremuxng hna 247 thnthun ekhiyn suphrrni kaycnsthiti aepl echlyxyuthyainrachsankphma phmaxanithy wadwyprawtisastraelasilpaithyinthrrsnaphma hna 89 skdichy saysingh rs dr aelaphphphl cnthrwthnakul 18 Jan 2010 exmithy khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2017 07 17 subkhnemux 14 Jan 2018 250 pipcchimkalxyuthya mikki harth sarwchlkthanchumchnchawsyamaelaphraecaxuthumphrthiphma prachaith 4 Apr 2017 subkhnemux 14 Jan 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk darng ikhrkhrwy aelakhna phraecaxuthumphrakbchawxoythyainphma 250 pi esiykrungsrixyuthya sthapnakrungthnburi 2310 2560 hna 197 198 khnithyinemiynma n hmubansukha yngkhngrksaexklksnithy bangxyang iwcnpccubn aenwhna 15 Oct 2022 subkhnemux 22 Apr 2023 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk ethiywphmaaebbxnsin tamrxychawoyediythisabsuysuaephndinemiynma chilipihn 19 Jan 2018 subkhnemux 13 May 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk mkudrachkumarphmathiphramardaepnkhnithycakkhrawesiykrungsrixyuthyakhrngthi 2 silpwthnthrrm 28 Apr 2021 subkhnemux 2 May 2021 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk chaywithy ekstrsiri saeniyngithysmyxyuthya rtnoksinthrkbpyhasaeniyngsuphrrnburi saeniynghlwnghruxphudehnx xyuthya prawtisastraelakaremuxng hna 229 230 krungethph macakihn hna 206 xksrithymacakihn hna 137 138 phmarbithy hna 126 Suradit Phaksuchon Panya Rungrueang Yodaya Thai Classical Music in Myanmar Culture MANUSYA Journal of Humanities phasaxngkvs subkhnemux 1 Mar 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk emiynci ekhiyn suentr chutinthrannth aelathiryuthth phnmyngkh aeplaelaeriyberiyng bthephlngoythyasamephlngxnaesdngthunglksnaithyinpraethsphma dntriphmayukhcarit phmaxanithy wadwyprawtisastraelasilpaithyinthrrsnaphma hna 145 146 hmxnghmxngthin ekhiyn s hykfaaelasuentr chutinthrannth aepl echlyithyinmnthaely phmaxanithy wadwyprawtisastraelasilpaithyinthrrsnaphma hna 103 hmxnghmxngthin ekhiyn s hykfa aelasuentr chutinthrannth aepl echlyithyinmnthaely phmaxanithy wadwyprawtisastraelasilpaithyinthrrsnaphma hna 106 darng ikhrkhrwy aelakhna phraecaxuthumphrakbchawxoythyainphma 250 pi esiykrungsrixyuthya sthapnakrungthnburi 2310 2560 hna 197 202 pnthph tngsriwngs 19 May 2023 funfu sayiyoyediy oydaya xyuthya inemiynma ithyphblika subkhnemux 23 Jul 2023 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk sthupprisnaaehngxmrpura ithyphibiexs 16 Jan 2013 subkhnemux 15 Jan 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk oyediykbrachwngsphma eruxngcringthiimmiikhrru hna 166 xngkh brrcun dr 6 emsayn 2562 khangsarbphma swnphsmkhxngkhrwmxy cin xinediy aelafrng silpwthnthrrm 40 6 hna 32 xngkh brrcun dr 6 emsayn 2562 khangsarbphma swnphsmkhxngkhrwmxy cin xinediy aelafrng silpwthnthrrm 40 6 hna 43 44 The Voice phasaphma khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2019 11 18 subkhnemux 2019 11 15 ဘ ဘ 2019 02 22 မန တလ မ ယ ဒယ မ န တ လစဉ လ ပ စ သ မ သ စ BBC phasaphma subkhnemux 2019 11 15 darng ikhrkhrwy aelakhna phraecaxuthumphrakbchawxoythyainphma 250 pi esiykrungsrixyuthya sthapnakrungthnburi 2310 2560 hna 211 Noel F Singer ekhiyn suentr chutinthrannth aelathiryuthth phnmyngkh aeplaelaeriyberiyng ramekiyrtiinrachsankphmaipcakkrungsrixyuthya phmaxanithy wadwyprawtisastraelasilpaithyinthrrsnaphma hna 113 115 siriorcn siriaephthy 31 Aug 2017 ephlngoythya natsilpxingemuxng xikcitwiyyanxyuthyainemiynma edliniws subkhnemux 19 Jul 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk siththiphr entrniym Jan Jun 2019 fxnmanmuyesiyngta xiththiphlnatkrrmphmainsngkhmithy suksawiekhraahkhwamhmaykhxngchuxchudkaraesdng bthkhbrxng aelaokhrngsrangkhxngthanxngephlng warsarithykhdisuksa 16 1 p 63 Noel F Singer ekhiyn suentr chutinthrannth aelathiryuthth phnmyngkh aeplaelaeriyberiyng ramekiyrtiinrachsankphmaipcakkrungsrixyuthya phmaxanithy wadwyprawtisastraelasilpaithyinthrrsnaphma hna 117 Noel F Singer ekhiyn suentr chutinthrannth aelathiryuthth phnmyngkh aeplaelaeriyberiyng ramekiyrtiinrachsankphmaipcakkrungsrixyuthya phmaxanithy wadwyprawtisastraelasilpaithyinthrrsnaphma hna 119 Noel F Singer ekhiyn suentr chutinthrannth aelathiryuthth phnmyngkh aeplaelaeriyberiyng ramekiyrtiinrachsankphmaipcakkrungsrixyuthya phmaxanithy wadwyprawtisastraelasilpaithyinthrrsnaphma hna 123 Noel F Singer ekhiyn suentr chutinthrannth aelathiryuthth phnmyngkh aeplaelaeriyberiyng ramekiyrtiinrachsankphmaipcakkrungsrixyuthya phmaxanithy wadwyprawtisastraelasilpaithyinthrrsnaphma hna 112 darngrachanuphaph smedcphraecabrmwngsethx krmphraya eruxngethiywemuxngphma txnthi 10 eruxngethiywemuxngaepr wchiryan subkhnemux 15 Aug 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk PLOY 25 Jan 2022 natsilpaelakarlakhrthipraktxyuin cakecaphrayasuxirwdi ALTV subkhnemux 3 Jun 2022 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk ithy phma kbkhwamsmphnthdan natkrrm thihyibyumknipma silpwthnthrrm 16 Apr 2020 subkhnemux 12 Jun 2020 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk emiynci ekhiyn suentr chutinthrannth aelathiryuthth phnmyngkh aeplaelaeriyberiyng bthephlngoythyasamephlngxnaesdngthunglksnaithyinpraethsphma dntriphmayukhcarit phmaxanithy wadwyprawtisastraelasilpaithyinthrrsnaphma hna 143 144 snn thrrmthi 30 Oct 2008 khlngexksarsatharna khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2018 08 16 subkhnemux 15 Aug 2018 ckrphngs khabuyeruxng 29 Nov 2017 fxnphunemuxngechiyngihm echiyngihmniws subkhnemux 15 Aug 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk thnthun ekhiyn suphrrni kaycnsthiti aepl echlyxyuthyainrachsankphma phmaxanithy wadwyprawtisastraelasilpaithyinthrrsnaphma hna 86 xrwinth likhitwiesskul 08 kumphaphnth 2022 xiththiphlsilpaxyuthyatamemuxngtang inkhwamthrngcakhxngchangechuxsay oyediy silpwthnthrrm subkhnemux 30 knyayn 2023 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a trwcsxbkhawnthiin date help CS1 maint url status lingk xrwinth likhitwiesskul 2010 changxyuthyainemuxngphmaramy smakhmxiokhomsithy ISBN 978 616 90599 0 5 siriorcn siriaephthy 18 Aug 2017 smphs pxppular inphma kwa 250 pi silpaoyediy edliniws subkhnemux 27 Jan 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk obkpunthbcitrkrrmsmyxyuthya ASTV phucdkarxxniln 4 Mar 2014 subkhnemux 16 Jan 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk lingkesiy wipha cirphaiphsal 5 Mar 2018 tamrxy smedcphraecaxuthumphr cakkrungsrixyuthya thungkrungxngwa mtichnxxniln subkhnemux 7 Mar 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk ethiywmnthaely tamrxychawoyediythiemuxngskayn ithyophst 6 Jul 2018 subkhnemux 19 Jul 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk Bioscope Magazine 16 Nov 2016 exmithy khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2019 01 14 subkhnemux 10 Apr 2018 khwamphraeluxnkhxngrth chati aelakhwamthbsxnkhxngsasna in sabesuxthilanakstriy khnmxnghnng 4 Oct 2016 subkhnemux 10 Apr 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk eruxngyx FROM BANGKOK TO MANDALAY thungkhn imkhidthung ithyphibiexs 23 Jul 2017 subkhnemux 10 Apr 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk thungkhn imkhidthung mxngkhwamsmphnth ithy phma inmumihm khnmxnghnng 28 Nov 2016 subkhnemux 10 Apr 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk Irrawaddy ekliywkrasib xanexa subkhnemux 10 Apr 2018 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk lakhr cakecaphrayasuxirwdi ithyphibiexs subkhnemux 17 Feb 2022 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk wirwthn xccutmans 7 Feb 2022 ekhaicithy phmadwymummxngihm phankhwamlaemiydlaimkhxnglakhrcakecaphrayasuxirwdi The Standard subkhnemux 17 Feb 2022 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint url status lingk aepl pharaibek fnthngimich phraecaxuthumphr ASTV phucdkarxxniln 12 Mar 2014 subkhnemux 25 Mar 2018 lingkesiy oyediykbrachwngsphma eruxngcringthiimmiikhrru hna 154 ynedinhnaxnusrnsthan phraecaxuthumphr aemthukrangb ithyrthxxniln 20 Mar 2014 subkhnemux 25 Mar 2018 brrnanukrm kaphl capaphnth xyuthya caksngkhmemuxngthananachati sumrdkolk nnthburi miwesiymephrs 2559 citr phumiskdi khwamepnmakhxngkhasyam ithy law aelakhxm aelalksnathangsngkhmkhxngchuxchnchati phimphkhrngthi 6 krungethph chnniym 2556 chy eruxngsilp prawtisastrithysmy ph s 2352 2453 danesrsthkic krungethph ithywthnaphanich 2541 chaywithy ekstrsiri kaycni laxxngsri brrnathikar 250 pi esiykrungsrixyuthya sthapnakrungthnburi 2310 2560 krungethph mulnithiokhrngkartarasngkhmsastraelamnusysastr 2564 chaywithy ekstrsiri ekhiyn tharngskdi ephchrelisxnnt brrnathikar xyuthya prawtisastraelakaremuxng phimphkhrngthi 5 krungethph mulnithiokhrngkartarasngkhmsastraelamnusysastr 2560 nrathippraphnthphngs phraecabrmwngsethx krmphra phrarachphngsawdarphma phimphkhrngthi 2 nnthburi sripyya 2550 darngrachanuphaph smedcphraecabrmwngsethx krmphraya ethiywemuxngphma krungethph khlngwithya 2517 nithi exiywsriwngs krungaetk phraecatak aelaprawtisastrithy phimphkhrngthi 10 krungethph mtichn 2553 nithi exiywsriwngs karemuxngithysmyphraecakrungthnburi phimphkhrngthi 12 krungethph mtichn 2559 pridi phisphumiwithi kradanthxngsxngaephndin krungethph mtichn 2553 phladisy siththithykic brrnathikar elaeruxng echkxahmd tnskulbunnakh krungethph bnthuksyam 2553 phithyalngkrn phrarachwrwngsethx krmhmun samkrung phrankhr khlngwithya 2511 mikhki harth oyediykbrachwngsphma eruxngcringthiimmiikhrru phimphkhrngthi 4 krungethph sthabnphiphithphnthkareriynruaehngchati 2561 santi phkdikha rs dr khunhlwnghawd kstriyphuesiyslarachy krungethph mtichn 2561 sucitt wngseths krungethph macakihn krungethph mtichn 2548 sucitt wngseths xksrithy macakihn krungethph mtichn 2548 suentr chutinthrannth dr phmarbithy phimphkhrngthi 10 krungethph mtichn 2554 suentr chutinthrannth rs dr brrnathikar phmaxanithy wadwyprawtisastraelasilpaithyinthrrsnaphma krungethph mtichn 2555 xngkh brrcun syamhlakephahlayphnthu krungethph mtichn 2553 Baker Chris Christopher John Baker Pasuk Phongpaichit 2009 A history of Thailand 2 ed Cambridge University Press