เจ้าพระยาพิษณุโลก (พ.ศ. 2259 หรือ พ.ศ. 2262 – พ.ศ. 2311) เดิมชื่อ เรือง หรือ บุญเรือง: 127–128 เป็นเจ้าพระยามหานครผู้ครองหัวเมืองชั้นเอก ผู้สำเร็จราชการเมืองพระพิษณุโลก: 127–128 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ผู้ตั้งชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) และราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ครองเมืองพิษณุโลกหลังจากเหตุการณ์การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง มีราชทินนามขุนนางตามที่ปรากฏในทำเนียบพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหาร หัวเมือง พ.ศ. 1998 ว่า เจ้าพระยาสุรสีห์พิศณุวาธิราช ชาติพัทยาธิเบศวราธิบดี อภัยพิริยบรากรมภาหุ เจ้าเมืองพิษณุโลกเอกอุ หรือเจ้าเมืองขุนนางระดับ นา 10000 เอกอุ: 190 (ศักดินา 10000 ชั้นสูงสุด) และเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เป็นต้นสกุล โรจนกุล
พระเจ้าพิษณุโลก (เรือง) | |
---|---|
เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง โรจนกุล) | |
พระเจ้าพิษณุโลก | |
ครองราชย์ | พ.ศ. 2311 |
รัชสมัย | 6 เดือน หรือ 7 วัน |
ก่อนหน้า | ราชาภิเษก: 82 |
ถัดไป | พระยาไชยบูรณ์ (จัน) |
พระมหาอุปราช | กรมพระราชวังบวรสถานมงคล |
สมุหนายก | เจ้าพระยาจักรี (ทองดี) |
เจ้าเมืองพิษณุโลก | |
ดำรงตำแหน่ง | พ.ศ. 2276 – 7 เมษายน พ.ศ. 2310 |
รัชสมัย | สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ |
ก่อนหน้า | เจ้าพระยาสุรสีห์ (พ.ศ. 2275 – 2276) |
ถัดไป | สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (พ.ศ. 2313 – 2346) |
พระราชสมภพ | พ.ศ. 2259 หรือ พ.ศ. 2262 กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา |
สวรรคต | ราวเดือน 11 พ.ศ. 2311 (49 หรือ 52 พรรษา) เมืองพิษณุโลก อาณาจักรธนบุรี: 9 |
คู่อภิเษก | ท่านผู้หญิงเชียง: 117–124 |
พระราชบิดา | หม่อมพัด |
พระราชมารดา | ไม่ปรากฏ |
ประวัติ
ชาติกำเนิด
เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เดิมเป็นชาวกรุงศรีอยุธยา เกิดในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ ราวปี พ.ศ. 2259 หรือ พ.ศ. 2262 เป็นนายทหารผู้มีฝีมือคนหนึ่งมีชื่อเสียงมานาน มีเชื้อสายเป็นเจ้าราชนิกูล: 342 ผู้หนึ่งในราชวงศ์บ้านพลูหลวงของสมเด็จพระเพทราชา ซึ่งเชาวน์ รูปเทวินทร์ กล่าวสอดคล้องกับ ธรรมเนียบตระกูลสังเขปครั้งกรุงเก่า ของหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) บันทึกไว้ว่า "จ้าวพระพิศณุโลกย์เรืองสืบสายจ้าวราชนิกุญผู้เปนพระหลานเธอแผ่นดินพระมหาบุรุษ": 24 ซึ่งพระราชนัดดา (หลาน) หรือราชภาคิไนยของสมเด็จพระเพทราชา มีนามว่า เจ้าพระพิไชยสุรินทร์ ปรากฏในพระราชพงศาวดารหลายฉบับ: 523–524 : 135–138 เดิมเป็นนายกรินท์คชประสิทธิ์ ทรงบาศซ้าย ในกรมพระคชบาล (กรมช้าง) ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาได้รับสถาปนาเป็น กรมหมื่นอินทรภักดี ในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ: 83
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) อาจเกี่ยวดองกับพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น กรมขุนสุรินทรสงคราม ของราชวงศ์บ้านพลูหลวงในฐานะเครือญาติอย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ยังเคยช่วยเหลือกรมขุนสุรินทรสงครามเสด็จหนีจากการต้องโทษในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ครอบครัว
เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) มีภรรยาเอก มีนามว่า จึงเชียง ปรากฏความว่า "...ขณะนั้นจึงเชียง ภรรยาเจ้าพระยาพิษณุโลกหนีลงเรือน้อยกับพรรคพวกบ่าวไพร่ขึ้นไป ณ เมือง สุโขทัย...": 588 : 266 ชาวไทยเชื้อสายจีนตระกูลเฉินย่านบ้านประตูจีนในกรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้เป็น ท่านผู้หญิงเชียง: 117–124 (หรือท่านผู้หญิงจึงเชียง) บิดาชื่อ หม่อมพัด เป็นเชื้อพระวงศ์ ถึงแก่กรรมเมื่อปลายรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ: 18 ส่วนมารดาเสียชีวิตที่เมืองพิษณุโลกก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง นามมารดา และบุตรหลานของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ไม่มีหลักฐานใดปรากฏแน่ชัด น้องชายของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) รับราชการเป็นที่ พระยาไชยบูรณ์ (จัน): (ฏะ) ตำแหน่งพระปลัดเมืองพระพิษณุโลก
ภายหลังเมืองพิษณุโลกแตกจากการรุกรานของชุมนุมเจ้าพระฝาง สันนิษฐานว่าท่านผู้หญิงเชียงและบุตรหลานของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) อาจหนีเข้าไปรวมกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เนื่องจากมีการค้นพบนิวาสสถานเดิมของทายาทผู้สืบตระกูลในหนังสือ นาครสงเคราะห์ ประจำพระพุทธศก ๒๔๕๖ ว่าอยู่ที่ย่านบ้านช่างหล่อ (วังหลัง) กรุงเทพมหานครสืบย้อนได้ถึงสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์
รับราชการ
เจ้าพระยาพิศณุโลก (เรือง) เริ่มรับราชการตั้งแต่วัยเยาว์ในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 (พระเจ้าท้ายสระ) แต่ไม่ปรากฏตำแหน่งใด กรมใด ส่วนในช่วงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศปรากฏว่าเคยรับราชการอยู่ด้วยกันกับหลวงพินิจอักษร (ทองดี) (พระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ฝ่ายอาลักษณ์: 196 กรมมหาดไทย ในกรุงศรีอยุธยาและเป็นสหายที่สนิทสนมกันตั้งแต่นั้นมา ต่อมาได้รับความไว้วางพระทัยจากพระมหากษัตริย์ของราชวงศ์บ้านพลูหลวงให้เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพระพิษณุโลกตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ: 343 และทำนองจะเคยเป็นผู้บังคับบัญชาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีครั้งยังเป็นหลวงยกกระบัตร เมืองตาก มาแต่ก่อน: 343
เมื่อ พ.ศ. 2276–2297 รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โปรดให้ประชุมชําระกฎหมาย พระสมุด กฎ ๓๖ ข้อ (หรือ กฎสามสิบหกข้อ) ฝ่ายลูกขุน ณ ศาลามี 9 ท่าน โดยเจ้าพระยาสุรศรี เป็นประธานฝ่ายลูกขุน และมีเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ (อู่) พระยากลาโหม พระยาธรรม พระยาพลเทพ พระราชภักดี พระยายมราช พระกำแพง และจมื่นเสมอใจราช ตามลำดับ ส่วนฝ่ายลูกขุน ณ ศาลาหลวงมี 7 ท่าน เช่น พระราชครูพระครูพิเชฐ พระจักรปาณี พระธรรมสาสตร์ พระเกษม ขุนหลวงพระไกรสี ขุนราชพินิจไจย และขุนศรีธรรมราช รวมทั้งสิ้น 16 ท่าน ปรึกษาพร้อมชำระกฎหมายครั้งนี้
เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีความสามารถในการรบจึงมีผู้นิยมนับถือกันมาก ช่วงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองเมื่อคราวรบพม่าก็ปรากฏว่ามีฝีมือเข้มแข็งไม่แพ้พม่าจึงรักษาเมืองพิษณุโลกไว้ได้: 391 หลังกรุงศรีอยุธยาเสียให้แก่พม่าครั้นไม่มีพระมหากษัตริย์ปกครองกรุงศรีอยุธยาแล้ว เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) จึงทำพิธีบรมราชาภิเษกตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์ เป็น พระเจ้าพิศณุโลก (เรือง): 52–53 ครองเมืองพิษณุโลกซึ่งเป็นนามตำแหน่งผู้ครองเมืองประเทศราช พระเจ้าพิศณุโลก (เรือง) ครองราชสมบัติได้ 6 เดือนหรืออาจมากกว่านั้น แล้วเสด็จสวรรคตด้วยโรคฝีระลอกในคอ (หรือไข้พิศม์) หรือโรคชักกระตุกอย่างฉับพลัน (บ้างใช้คำว่า "ทิวงคต": 128 หรือ "พิราลัย") ที่พระราชวังจันทน์ เมื่อราวเดือน 11 พ.ศ. 2311 สิริพระชนมายุ 49 พรรษา (ดูเพิ่ม: สังคีติยวงศ์ หน้า 407) หรือ 52 พรรษา (ดูเพิ่ม: ต้นวงศ์ตระกูลพะญาศรีสหเทพชื่อทองเพ็ง หน้า (ฐิ): (ฐิ) ) พระยาไชยบูรณ์ (จัน) น้องชายซึ่งมีตำแหน่งพระมหาอุปราช จึงได้ขึ้นครองเมืองแทนแต่ไม่ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์
กิตติศัพท์
หนังสือ พระแสงราชศัสตรา โดย กระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ความว่า :-
"เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เป็นแม่ทัพที่มีฝีมือเข้มแข็งเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยมาก เป็นข้าราชการภูมิภาคผู้เดียวที่มีศักดิ์และอำนาจเหนือข้าราชการหัวเมืองอื่น ๆ ที่คุมทัพเข้ามาช่วยป้องกันกรุง...ในบรรดาแม่ทัพนายกองที่เป็นข้าราชการหัวเมืองแล้ว เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) มีฐานันดรศักดิ์สูงกว่าทุกคน เพราะเป็นผู้ครองเมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นศูนย์การปกครองของหัวเมืองเหนือทั้งหมด ปรากฏว่าในระหว่างป้องกันกรุงศรีอยุธยาคราวนั้น เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ได้ทำการต่อสู้พม่าอย่างเข้มแข็งมาก จนได้รับแต่งตั้งให้บัญชาการกองทัพที่ตั้งต่อสู้อยู่นอกกำแพงพระนคร...ต่อมาภายหลังทางกรุงสืบทราบว่าพม่ายกทัพมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ ยกล่วงล้ำมาถึงเมืองสุโขทัย คืบหน้าจะเข้ามายึดเมืองพิษณุโลกเป็นที่มั่นอย่างเช่นที่เคยทำในสมัยเสียกรุงครั้งแรก...ทางฝ่ายราชสำนักเห็นว่าถ้าปล่อยให้พม่ายึดเมืองพิษณุโลกตั้งมั่นเป็นฐานทัพอีกแห่งทางเมืองเหนือได้ กรุงศรีอยุธยาจะเป็นอันตรายแน่นอนเหมือนเมื่อสองร้อยปีก่อน...ถ้าหากได้บุคคลที่มีความสามารถ เช่น เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ไปควบคุมบังคับบัญชาแล้วอาจป้องกันทัพพม่า หรือตีทัพพม่าให้แตกพ่ายไปได้...เข้าใจว่า เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เป็นข้าราชการที่ดีที่สุดคนหนึ่งในสมัยนั้น...เมื่อยามเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) สถาปนาเป็นกษัตริย์ในเวลาต่อมา ก็บุญน้อยหรือกรรมตามทัน ถึงแก่พิราลัยไปเสียก่อน จึงมิได้รื้อฟื้นกันขึ้นมาพิจารณาว่า การกระทำในครั้งนั้นเป็นการสมควรหรือไม่ และผิดถูกเพียงใด": 68–72
พระนาม
- พระเจ้าพิษณุโลก หรือ พระเจ้ากรุงพิษณุโลก
- จ้าวพระพิศณุโลกย์เรือง
- เจ้าพิษณุโลก (เรือง) หรือ เจ้าพิษณุโลก (เรือง โรจนกุล): 200
- พระราชาพิษณุโลกราช (พิษณุโลกปุระ)
- หูซื่อลู่หวาง
- หูซื่อลู่ หรือ เสียซื่อลู่ (จดหมายเหตุรัชกาลเกาจง "เกาจงสือลู่" บรรพ ๘๑๗)
- เจ้าพะญาสุระสีห์พิศมาธิราช ชาติพัทยาพิเบศร์วราธิบดี อภัยพิริยาปรากรมพาหุ (บุญเรือง) (ต้นวงศ์ตระกูลพะญาศรีสหเทพชื่อทองเพ็ง)
- เจ้าพระยาสุรสีห์พิศณุวาธิราช (บุญเรือง) หรือ เจ้าพระยาสุรสีห์พิศมวาธิราช (บุญเรือง): 127 หรือ เจ้าพญาสุรศรี
- เจ้าพระยาพิศณุโลก (เรือง) (ทะเบียฬนามสกุล ที่เราได้ให้ไป ลายพระราชหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)
- พระยาพิษณุโลก หรือ พญาพิศณุโลก
- วิสฺสณุโลกราชา หรือ พระยาพิษณุโลกราช (สังคีติยวงศ์)
การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองสืบต่อเนื่องจากสงครามพระเจ้าอลองพญา
ภูมิหลัง
เมื่อ พ.ศ. 2302 ในรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ (เจ้าฟ้าเอกทัศ) เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (เจ้าฟ้าดอกเดื่อ) ได้เพียง 1 ปี เกิดสงครามพระเจ้าอลองพญาอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางทหารระหว่างราชวงศ์คองบองของพม่ากับอาณาจักรอยุธยาสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง สงครามเริ่มต้นขึ้นราวเดือนธันวาคม ฝ่ายพม่าหมายจะยกทัพมารุกรานอาณาจักรอยุธยา และนำไปสู่การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2310
เมื่อ พ.ศ. 2304 ภายหลังจากที่เนเมียวสีหบดี เสร็จสิ้นจากการไปตีหัวเมืองมอญแล้ว พระเจ้าเนาดอญีมินทร์ (พระเจ้ามังลอก) พระโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าอลองพญา จัดทัพมาตีเชียงใหม่ โดยมีอภัยคามณี เป็นแม่ทัพ และมังละศิริเป็นปลัดทัพพร้อมด้วยพลจำนวน 7,500 นาย
ยกทัพขับไล่พม่า
เมื่อ พ.ศ. 2305 พระเจ้ามังลอก แต่งทัพหลวงเข้าตีเมืองเชียงใหม่เพื่อลงพระราชอาญาในข้อหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ครั้นทัพหลวงมาถึง พระเจ้าจันทร์ เจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ กรุงศรีอยุธยาในขณะนั้น ทรงแต่งหนังสือมาถวายสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์พร้อมด้วยเครื่องราชบรรณาการ มีพระประสงค์ให้เชียงใหม่เป็นเมืองออกของอยุธยา และขอกำลังทหารไปรักษาเมืองใหม่ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์จึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เกณฑ์ทัพพลหัวเมืองเหนือจำนวน 5,000 นาย ยกไปช่วยเมืองเชียงใหม่ แต่ทัพเจ้าพระยาพิษณุโลกเคลื่อนรี้พลไปถึงบ้านระแหง เมืองตาก จึงทราบข่าวว่าฝ่ายพม่าล้อมเมืองเชียงใหม่แล้วแต่ฝ่ายเชียงใหม่ (ภายใต้การปกครองของเจ้าขี้หุด) มีกำลังไม่แข็งกล้านักจึงเสียเมืองให้แก่ฝ่ายพม่าไป: 21 โดยมีเนเมียวสีหบดีอยู่รักษาเมืองเชียงใหม่ และให้พญาอภัยคามินีขึ้นเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่แทน ปรากฏใน พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน ความว่า :-
ฝ่ายพญาจันท์เมืองเชียงใหม่ จึ่งให้มีศุภอักษรลงมาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร จะฃอกองทับขึ้นไปช่วยป้องกันพม่าข้าศึก สมุหนายกกราบบังคมทูล จึ่งทรงพระกรุณาดำหรัดสั่งให้เกนกองทับหัวเมืองฝ่ายเหนือเปนคน ๕๐๐๐ โปรดให้เจ้าพญาสุรศรีเจ้าเมืองพระพิศณุโลกเปนแม่ทับ ยกไปถึงตำบลบ้านระแหง ได้ข่าวว่าเมืองเชียงใหม่เสียกับพม่าแล้ว ก็บอกลงมาให้กราบบังคมทูลให้ทราบ จึ่งโปรดให้สมุหนายกมีตราขึ้นไปให้หากองทับกลับ: 341
ในปีถัดมาในระหว่างที่พระเจ้ามังลอกทรงวุ่นกับพระภาระอยู่นั้นก็เสด็จสวรรคตลงเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2306 มเยดุมินทร์ (พระเจ้ามังระ) ซึ่งเป็นพระอนุชารองพระองค์ จึงขึ้นครองราชย์สืบต่อไป หลังครองราชสมบัติได้ไม่นานนักจึงเริ่มดำริเตรียมจะตีกรุงศรีอยุธยาต่อไปโดยให้เนเมียวสีหบดีเป็นแม่ทัพคุมกำลังพลจำนวน 20,000 นาย เข้าไปสมทบที่เมืองเชียงใหม่และตั้งขุนนางใหม่ครองหัวเมืองทั้งปวง ใน พระราชพงศาวดารพม่า กล่าวว่า :-
ลุวันที่ ๗ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๐๖ ก็ตรัสให้สีหปตีเป็นแม่ทัพคุมพล ๒๐๐๐๐ ขึ้นไปเพิ่มเติมกองทัพอันตั้งอยู่ ณ นครเชียงใหม่แล้ว ทรงตั้งขุนนางใหม่อันเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ออกไปครอบหัวเมืองทั้งปวงในพระราชอาณาจักรทั่วทุกเขตแขวง รวมทั้งหัวเมืองไทยใหญ่ข้างเหนือพระนครด้วย: 115
เมื่อ พ.ศ. 2308 เนเมียวสีหบดีซึ่งอยู่รักษาเมืองเชียงใหม่กับมังมหานรธาซึ่งอยู่รักษาเมืองที่ทวายได้รับหนังสือจากพระเจ้ามังระภายหลังจากที่เสด็จไปประทับกรุงอังวะ เมืองหลวงของพม่าว่าให้ยกทัพไปตีกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้ก็เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าอลองพญาที่ตรัสสั่งไว้ก่อนสิ้นพระชนม์ว่าให้ตีอยุธยาให้ได้ ทั้งสองจึงต่างเกณฑ์พลยกทัพเข้าปล้นเมืองต่าง ๆ อีกฝ่ายหนึ่งบุกปล้นตั้งแต่เมืองนครสวรรค์ลงมาถึงเมืองอินทรเมืองพรหม (จังหวัดสิงห์บุรี) อีกฝ่ายหนึ่งก็ปล้นอยู่แถวเมืองสุพรรณบุรี เมืองราชบุรี และเพชรบุรี แล้วจึงมารวมทัพกัน โดยหวังทำลายกำลังฝ่ายอยุธยาตั้งแต่ชั้นนอก สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์จึงโปรดให้เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เกณฑ์ทัพหัวเมืองเหนือไปขับไล่ และให้ทัพในกรุงยกทัพไปไล่พม่าทั้งด้านเมืองนครสวรรค์และเมืองราชบุรีด้วย โดยทัพด้านเหนือให้พระยาธิเบศร์บริวัตรเป็นแม่ทัพ ทัพใต้ให้พระสุนทรสงครามเป็นแม่ทัพ ต่อมาสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ทรงทราบความว่าพม่าตามตีมาจนถึงธนบุรีก็ตกพระทัยเกรงว่าพม่าจะล่วงจู่โจมเข้าถึงพระนคร จึงให้พระยารัตนาธิเบศร์คุมกองทัพซึ่งเกณฑ์มาจากนครราชสีมาลงมารักษาธนบุรีอีกทัพหนึ่งให้พระยายมราชคุมกองทัพอีกกองหนึ่งลงมารักษานนทบุรีคอยสกัดพม่าเอาไว้ ส่วนทัพของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ขับไล่พม่าจนมาสิ้นสุดที่พระนครศรีอยุธยาแล้วจึงตั้งทัพอยู่ ณ วัดภูเขาทอง ตามพระประสงค์ของสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์
ปลงศพมารดา
ครั้นเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เคลื่อนรี้พลมาตั้งอยู่ ณ วัดภูเขาทอง แล้วนั้นจึงถือโอกาสให้เจ้าพระยาพลเทพกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระบรมราชานุญาตสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์แทนตนเพื่อขอไปปลงศพมารดา (แต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวว่า เรื่องเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ขอลาไปทำศพมารดาทั้งๆ ที่ข้าศึกประชิดกรุงอยู่นั้นไม่เป็นความจริง: 216 แต่อาจจำเป็นต้องไปทำศึกป้องกันหัวเมืองเหนือหลังจากทราบว่าพม่าตีหัวเมืองสุโขทัยได้จึงจำเป็นต้องรีบยกทัพขึ้นไป): 69 และขอพระราชทานให้หลวงมหาดไทย หลวงโกษา (ยัง) และหลวงเสนา อยู่คุมทัพที่วัดภูเขาทองแทนตน: 587 ปรากฏใน พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน ความว่า :-
ขณะนั้นเจ้าพญาพิศณุโลก ให้พญาพลเทพกราบทูลพระกรุณาถวายบังคมลา กลับขึ้นไปปลงศภมานดา จะฃอให้หลวงมหาดไท หลวงโกษา หลวงเทพเสนา อยู่คุมกองทับ ณะ วัดภูเขาทองแทนตัว ก็ทรงพระกรรุณาโปรดให้กลับไปเมือง: 344
หมายเหตุ เหตุการณ์การขอไปปลงศพมารดาของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ในพระราชพงศาวดาร มีความขัดแย้งกันดังนี้ พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่า เมื่อพม่าเข้าตีหัวเมืองเหนือ กรมการฝ่ายเหนือจึงแจ้งข่าวต่อกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์จึงโปรดให้เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ยกทัพไปตีพม่า ในขณะเดียวกันหลวงโกษา (ยัง) ก็พากรมขุนสุรินทรสงคราม และกองทัพของหลวงโกษา (ยัง) คุมอยู่นั้น หนีกลับเข้าเมืองพิษณุโลกเท่านั้น แต่ทัพเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ไม่ได้กลับเข้าเมืองมาด้วย ส่วนพระราชพงศาวดารฉบับอื่นๆ กล่าวตรงกันว่า เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เลิกทัพกลับไปเมืองพิษณุโลกโดยขอกราบทูลเพื่อลาไปปลงศพมารดา ทั้งนี้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ให้ความเห็นสอดคล้องกับประเด็นนี้ไว้ว่า "การขอทูลลาไปปลงศพมารดาของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) นั้นเป็นเพียงข้ออ้างที่จะทิ้งกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยและอนาคตทางการเมืองของตนเอง รวมทั้งการได้เป็นอิสระจากกรุงศรีอยุธยา"
มีนักประวัติศาสตร์ได้แสดงทัศนะแตกต่างออกไปจากพระราชพงศาวดาร เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำริในเชิงอรรถไว้ว่า "ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เจ้าพระยาพิษณุโลกทูลลากลับไปปลงศพมารดาเห็นว่าจะไม่เป็นได้ เพราะเป็นเวลามีศึกสงคราม": 216 ส่วนหนังสือ พระแสงราชศัสตรา โดย กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า "เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ไปราชการศึกเพื่อป้องกันหัวเมืองฝ่ายเหนือมากกว่า แต่อาจจะถือโอกาสกราบบังคมทูลขออนุญาตปลงศพมารดาเมื่อเสร็จราชการแล้วก็เป็นได้ แต่พวกราชสำนักในกรุงศรีอยุธยาซึ่งไม่ปรารถนาจะให้ใครได้ดีก็คงจะแพร่ข่าวเรื่องไปทำศพมารดาให้แพร่หลายและปิดข่าวราชการสำคัญนั้นเสียเพื่อให้เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เสียหาย": 69 : 159–161
ยกทัพกอบกู้เมืองสุโขทัย
เมื่อ พ.ศ. 2308 ราวเดือนสิงหาคม เนเมียวสีหบดีรวบรวมพลจากล้านนาและล้านช้างราว 40,000 นาย ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยใหญ่และลาว แล้วจึงยกทัพหลวงจากเชียงใหม่แบ่งมาทางตาก และทางสวรรคโลก ตีหัวเมืองเหนือเรื่อยลงมา ฝ่ายเจ้าเมืองกรมการหัวเมืองเหนือเห็นข้าศึกพม่ามามากมายจึงหลบหนีเข้าป่า พม่าก็ได้หัวเมืองเรื่อยมาตั้งแต่พิชัย สวรรคโลก จนถึงเมืองสุโขทัย หลังพม่ายึดหัวเมืองสุโขทัยได้จึงตั้งค่ายอยู่ที่สุโขทัย เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) กับเจ้าเมืองกรมการหัวเมืองเหนือตัดสินใจรวบรวมพลยกทัพไปช่วยพระยาสุโขทัยรบพม่าที่ยึดเมืองเมืองสุโขทัย และเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) มักถือดาบพระแสงราชศัสตราอาญาสิทธิ์ที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ตลอดเวลาขณะไปราชการศึกหัวเมืองเหนือ: 69 พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน กล่าวว่า :-
จึ่งกรมการหัวเมืองเหนือบอกข้อราชการศึกลงมาอีกฉบับหนึ่งว่า พม่ายกมาทางเหนืออีกทับหนึ่ง สมุหนายกกราบบังคมทูล จึ่งมีพระราชโองการ ตรัสสั่งให้มีตราขึ้นไปถึงพญาพิศณุโลก ให้ยกทับไปตีทับพม่า ครั้นถึงเดือน ๗ ปีรกา สัพศก จึ่งแนกวนจอมโบ่คุมพลพม่า พลลาว ๒๐๐๐ ยกทับเรือลงมาแต่เมืองกำแพงเพชร์มาตั้งค่ายอยู่ ณะ เมืองนครสวรรค์: 344
หลังจากเจ้าพระยาพิษณุโลกยกทัพออกไปแล้ว ครั้นมีรี้พลไปถึงเมืองสุโขทัย ทัพของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) จึงได้เข้าปะทะกับทัพเนเมียวสีหบดีที่เมืองสุโขทัย เป็นทัพหลวงฝ่ายเหนือของพม่าซึ่งยกทัพมาทางด้านเมืองสวรรคโลก ส่วนกำลังทัพของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) มีกำลังคนเพียงเท่าที่จะหาได้ตามหัวเมืองต่างๆ การรบปะทะเริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายนยืดเยื้อจนถึงเดือนยี่ ในที่สุด เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ถือพระแสงราชศัสตราอาชญาสิทธิไปป้องกันหัวเมืองเหนือเป็นผลสำเร็จ: 69 : 159–161 ส่งผลให้ทัพเนเมียวสีหบดี (ทัพหลวงกองหลัง) แตกถอยกลับไปสมทบกับพวกกันเองที่เมืองนครสวรรค์: 69 ซึ่งเป็นทัพหลวงกองหน้าแล้วเคลื่อนทัพมุ่งตรงไปยังกรุงศรีอยุธยาโดยเลี่ยงทัพไม่ได้รุกล้ำเข้าไปด้านในเมืองพระพิษณุโลก: 69 : 27 สอดคล้องกับ โยธยานัยโมโกง (Yodaya Naing Mawgun) งานเขียนของ เลตเว นอระธา กล่าวถึง ความแข้มแข็งของทัพพิษณุโลกและหัวเมืองเหนืออื่นๆ จนแม่ทัพฝ่ายพม่าต้องปรับยุทธศาสตร์การรบใหม่: 33 ส่วนใน พระราชพงศาวดารพม่า กล่าวไว้ว่า :-
กองทัพใหญ่สีหปตีก็ยกลงมาตามลำน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา กองทัพใหญ่สยามยกขึ้นไปต่อตีก็แตกพ่ายเสียรี้พลล้มตายมาก: 121–122
ขณะที่พงศาวดารพม่า กล่าวตรงข้ามว่า เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ถูกพม่าตีแตกพ่ายหนี ส่วนพระยาสุโขทัย และพระยาสวรรคโลกพาครอบครัวพลเมืองหนีเข้าป่า: 98
ปราบกบฏเจ้าฟ้าจีด
ระหว่างที่เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ทำราชการศึกอยู่ที่เมืองสุโขทัยนั้น ทางด้านเมืองพระพิษณุโลกเกิดกบฏในเมือง โดยมีกรมขุนสุรินทรสงคราม (เจ้าฟ้าจีด) พระราชโอรสของพระองค์เจ้าดำกับเจ้าฟ้าหญิงเทพ พระราชธิดาของสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ และเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระเพทราชา ขณะนั้นทรงต้องโทษถึงสิ้นพระชนม์พร้อมกับเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์อยู่ในกรุงศรีอยุธยา
เมื่อสถานการณ์ระส่ำระสาย หลวงโกษา (ยัง) คิดอ่านให้กรมขุนสุรินทรสงครามขึ้นนั่งเมืองพระพิษณุโลกแทนเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) จึงลักลอบหนีคุมทัพไปช่วยกรมขุนสุรินทรสงครามในพระราชวัง และพากรมขุนสุรินทรสงครามหลบหนีกลับไปเมืองพิษณุโลก ซึ่งอาจเป็นการวางแผนร่วมกันระหว่างกรมขุนสุรินทรสงครามกับเจ้าจุ้ย ผู้นำชุมนุมสมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย) พระราชโอรสของเจ้าฟ้าอภัย ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองกรุงศรีอยุธยา ส่วนกรมขุนสุรินทรสงครามขึ้นเป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรฯ กรมขุนสุรินทรสงครามจึงตัดสินบนผู้คุมหลุดจากที่คุมขังแล้วจึงรวบรวมพรรคพวกรวมทั้งหม่อมฉิม พระธิดาในกรมขุนสุรินทรสงคราม: 2 : 21 ยกกันไปเมืองพิษณุโลก
ปรากฏใน พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ความว่า :-
ฝ่ายเจ้าพระยาพิศณุโลกก็ยกกองทัพไปช่วยรบพม่าณเมืองศุโขไทยด้วย ขณะนั้นเจ้าฟ้าจีดเปนบุตรพระองค์เจ้าดำ ซึ่งต้องสำเร็จโทษครั้งเจ้าฟ้าอไภยเจ้าฟ้าบรเมศร พระมารดานั้นเจ้าฟ้าเทพ เปนพระราชธิดาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงแผ่นดินทรงปลา แลเปนเจ้าพี่เจ้าฟ้านิ่มเจ้าฟ้าสังวาลซึ่งเปนโทษครั้งกรมพระราชวังนั้น แลเจ้าฟ้าจีดต้องโทษจำอยู่ในพระราชวัง หลวงโกษาผลเมืองพระพิศณุโลกช่วยคิดอ่านให้หนีออกจากโทษได้ ไปรับณค่ายภูเขาทอง แล้วพากันหนีไปเมืองกับทั้งบ่าวไพร่ในกองของตัว: 265
ปรากฏในกลอนบทหนึ่งว่า
๏ จักกล่าวขับกลับเล่าเจ้าฟ้าจีด | โปรดให้กีดกันกักตำหนักขัง | |
แต่แผ่นดินท้ายสระละบัลลังก์ | เป็นโทษครั้งปิตุรงค์องค์เจ้าดำ |
หลวงโกษาผลพิษณุโลก | อุปโลกน์จงรักภักดีค้ำ | |
จึงแสร้งเสเทถ่ายอุบายทำ | ลอบนำหนีโทษเป็นโสดมาฯ | |
— ลิลิต, วัลลภิศร์ สดประเสริฐ (2543) |
เมื่อมาถึงแล้วไม่พบเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) มีเพียงท่านผู้หญิงเชียง ภริยา กับขุนนางหลงเหลือเพียงบางส่วนเท่านั้น กรมขุนสุรินทรสงครามทรงมีแผนหมายจะยึดเมืองพิษณุโลกโดยคิดหลอกให้เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เข้าใจผิดว่าเพื่อรักษาเมืองให้มั่นคง จึงเรียกขุนนางในเมืองสั่งความว่าตนจะเป็นเจ้าเมืองแทน เมื่อเจ้าฟ้าจีดขึ้นนั่งเมืองพิษณุโลก จึงได้แอบเข้าเก็บริบทรัพย์สินเงินทองและยังจุดเพลิงเผาจวนเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ทิ้งเสีย: 344 ชาวเมืองต่างไม่มีผู้ใดกล้าสู้ด้วยเห็นว่าเป็นเจ้านาย ซึ่งหลวงโกษา (ยัง) ทหารเอกของเจ้าพระยาพิษณุโลกคิดเห็นชอบกับเจ้าฟ้าจีดด้วยเหตุว่าเป็นเจ้านายเช่นกัน แต่ญาติของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เห็นการณ์ ท่านผู้หญิงเชียง ภริยา พร้อมด้วยพรรคพวกและบ่าวไพร่จำนวนหนึ่งแอบหนีลงเรือขึ้นไปยังเมืองสุโขทัย เพื่อนำความไปแจ้งกับเจ้าพระยาพิษณุโลก เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) จึงเลิกทัพกลับมารวบรวมผู้คนแถวเมืองพิจิตรได้มากแล้วจึงตั้งค่ายเตรียมรบกับพวกเจ้าฟ้าจีดที่ท้ายเมืองพระพิศณุโลก รบกันหลายเพลาจนกระทั่งพวกเจ้าฟ้าจีดแตก เจ้าฟ้าจีดสั่งให้ทหารเตรียมรบป้องกันเมืองแต่ทหารกลับไม่ต่อสู้ใด ๆ เพราะทหารในเมืองต่างก็นับถือเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง)
เมื่อทหารจับกรมขุนสุรินทรสงครามได้ เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) จึงว่ากล่าวติเตียนแล้วจับใส่กรงส่งตัวไปยังพระนคร เมื่อมาถึงบริเวณทุ่งสากเหล็กเขตเมืองพิจิตร ฝ่ายผู้คุมทัพรู้ว่ามีพม่าตั้งทัพที่บ้านกูบและที่เมืองนครสวรรค์จึงลงไปพระนครไม่ได้ เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) จึงใช้อำนาจตามพระแสงราชศัสตราอาญาสิทธิ์เพื่อสำเร็จโทษเชื้อพระวงศ์: 70 โดยสั่งให้ทหารจับกรมขุนสุรินทรสงครามไปถ่วงน้ำที่เกยชัยบริเวณน้ำน่านและน้ำยม บรรดาพรรคพวกก็เอาไปประหารเสีย ส่วนหม่อมฉิมมิได้ทรงต้องโทษด้วยให้ตกเป็นเชลยอยู่ในเมืองพระพิษณุโลก (ภายหลังเป็นเจ้าจอมในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) รวมทั้ง (นามเดิม: ทองคำ) และบุตรธิดาก็อยู่ในความปกครองของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ด้วยเช่นกัน
หมายเหตุ การช่วยเหลือกรมขุนสุรินทรสงคราม (เจ้าฟ้าจีด) เสด็จลี้ภัยออกจากกรุงศรีอยุธยา อาจเป็นแผนของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เพื่อยกกรมขุนสุรินทรสงครามขึ้นเป็นกษัตริย์สืบพระราชสันตติวงศ์ หลังกรุงศรีอยุธยาแตก เช่นเดียวกับกรณีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นกษัตริย์เมืองพิมาย เนื่องจากทั้ง 2 พระองค์ต่างก็เป็นเชื้อพระวงศ์บ้านพลูหลวง สอดคล้องกับทัศนะของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งกล่าวว่า "พระยาพิษณุโลกได้คิดการใหญ่มาก่อนหน้าที่กรุงจะเสียแก่ข้าศึกแล้ว และคงจะเห็นแล้วว่ากรุงศรีอยุธยาไม่มีทางรอดจากเงื้อมมือข้าศึกไปได้ จึงคิดจะเอาเชื้อพระวงค์ชั้นสูงไปเชิดชูไว้ในเมืองพิษณุโลก": 46 และเหตุการณ์กรมขุนสุรินทรสงครามเข้ายึดเมืองพระพิษณุโลกก็เป็นเหตุให้เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ต้องยกเลิกรบกับพม่ากลางคันจึงทำให้เสียโอกาสในการรบ นายแพทย์วิบูล วิจิตรวาทการ นักเขียนเชิงประวัติศาสตร์ได้แสดงทัศนะเหตุการณ์เจ้าฟ้าจีดยึดเมืองและเผาจวนเจ้าเมือง ว่า "คิดแล้วก็ต้องเห็นใจเจ้าเมืองพิษณุโลก เพราะท่านเคยช่วยเหลือมีบุญคุณต่อเจ้าฟ้าจีดมาก่อนในแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ เจ้าฟ้าจีดเคยติดคุก พระยาพิษณุโลกช่วยให้หนีออกมาได้ ครั้นเวลาผ่านมาแทนที่จะรู้สึกบุญคุณ เจ้าฟ้าจีดกลับยกพรรคพวกมาริบทรัพย์สมบัติของท่านแล้วยังเผาบ้านท่านเสียวอดวาย ตั้งตนเป็นเจ้าเมืองแทนดื้อ ๆ"
พม่าเคลื่อนทัพอ้อมล่วงเลยไปยังกรุงศรีอยุธยา
หลักฐานของฝ่ายไทย
ในระหว่างที่เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) กลับมาปราบกรมขุนสุรินทรสงคราม พม่าถือโอกาสยกทัพล่วงเลยจากสุโขทัยมานครสวรรค์ลงมายังกำแพงเพชร หมายจะรุกรานกรุงต่อไป พม่าไม่กล้าเข้าโจมตีเมืองพิษณุโลก เมืองพิษณุโลกจึงมิได้เสียเมืองแก่พม่า
ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๖ เรื่อง ไทยรบพม่าครั้งกรุงเก่า กล่าวว่า :-
แต่ทำนองเจ้าพระยาพิศณุโลกจะเปนคนเข้มแข็ง จึงรักษาเมืองพิศณุโลกไว้ได้ แต่ก็ไม่ได้มาช่วยสู้รบที่อื่นให้เปนประโยชน์ ด้วยไพร่พลที่ถูกเกณฑ์คราวพม่าตีเมืองปักษ์ใต้ยังค้างอยู่ที่กรุงศรีอยุทธยา ต้องรักษาพระนครข้างด้านเหนือ
และ พงษาวดารเรื่องเรารบพม่า ครั้งกรุงศรีอยุทธยา กล่าวว่า :-
ฝ่ายพม่าเมื่อเจ้าพระยาพิษณุโลกเลิกทัพกลับก็ยกเลยลงมาเมืองนครสวรรค์ทางเมืองกำแพงเพ็ชร หาตามไปตีเมืองพิษณุโลกไม่ เมืองพิศณุโลกจึงมิได้เสียแก่พม่าข้าศึกในครั้งนั้น
แต่ทางพม่ากล่าวว่าพม่าได้เมืองพิษณุโลกด้วย ปรากฏใน มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า (ฉบับแปลโดยนายต่อ) ความว่า "...แลทราบว่าแม่ทัพพม่าได้ตั้งค่ายอยู่ที่เมืองพิศณุโลกเป็นอันมาก...": 233
เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2309: 122–123 เนเมียวสีหบดี แม่ทัพหลวงฝ่ายเหนือเคลื่อนกำลังพลมาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้วตั้งค่ายทางทิศตะวันออก ส่วนทัพมังมหานรธาแม่ทัพฝ่ายใต้ ย้ายค่ายมาตั้งประชิดกรุงศรีอยุธยาฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ แล้วจึงเข้าล้อมกรุงนาน 14 เดือนจนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียให้แก่ข้าศึกเมื่อ พ.ศ. 2310 จึงได้กวาดต้อนเชลยศึกชาวกรุงศรีอยุธยากลับไปยังกรุงอังวะเป็นอันมาก ทัพฝ่ายเหนือของพม่ากวาดต้อนเชลยศึกไปทางด่านอุทัยแล้วเดินทางบกต่อไปยังเมาะตะมะ: 136 โดยหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปในเขตหัวเมืองฝ่ายเหนือซึ่งเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ยังมีอำนาจควบคุมอยู่ในขณะนั้น
หมายเหตุ การเปรียบเทียบเอกสารประวัติศาสตร์กรณีเมืองพิษณุโลกเสียเมืองให้แก่พม่ามีหลักฐานแตกต่างกันระหว่างของไทยและพม่า การบักทึกของฝ่ายพม่ามีความความคลาดเคลื่อนและอคติ และกล่าวยกย่องชัยชนะของตนเกินจริง จึงต้องกระทำการใช้หลักฐานอย่างระมัดระวัง
พงศาวดารไทย | พงศาวดารพม่า |
---|---|
ข้างเมืองพิษณุโลก เจ้าฟ้าจีดที่ต้องโทษอยู่ในกรุงศรีอยุธยาหนีขึ้นไปปล้นเมืองพิษณุโลกได้เข้าตั้งอยู่ เจ้าพระยาพิษณุโลกจึงยกทัพกลับมาปราบเจ้าฟ้าจีดมีชัย จับถ่วงน้ำเสีย พม่าหาได้มาตั้งชุมนุมพล ณ เมืองพิษณุโลกไม่: 121 | ในที่สุดผู้จะขัดแข็งทั้งปวงก็พ่ายแพ้อำนาจพม่าต่างยอมอ่อนน้อมเรียบรายหมดตลอดมาทั้งกองทัพใหญ่ก็ได้กองหนุนพลลาวเพิ่มเติมมาอีกมาก จึงยกมาชุมนุมทัพอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก: 121 |
หลักฐานของฝ่ายพม่า
จากการศึกษาพงศาวดารพม่าของสุเนตร ชุตินธรานนท์ ใน พงศาวดารราชวงศ์คองบอง ได้กล่าวเรื่องยุทธศาสตร์ฝ่ายพม่าไว้อย่างละเอียดว่าเนเมียวสีหบดีได้เข้ายึดเมืองพิษณุโลก และยังตั้งทัพเพื่อรวบรวมกำลังพลอีกด้วย ดังนี้
ทัพพม่าฝ่ายเหนือเป็นทัพหลวงของเนเมียวสีหบดี (หรือ สีหะปะเต๊ะ): 219 มีทัพเรือโดย คุงชงยามะจอ เป็นแม่ทัพคุมทัพ 20 ทัพย่อยเป็นทัพกองหน้ามีรี้พลล่วงเลยมาทางลำน้ำปิง ส่วนทัพกองหลังเป็นทัพของเนเมียวสีหบดีซึ่งมี 13 ทัพย่อย รวมทัพอื่นๆ ทั้งสิ้น 58 ทัพ: 48 เคลื่อนรี้พลมาจากเชียงใหม่
ราวเดือนกันยายน ทัพพม่ามุ่งเข้าตีเมืองตากเป็นเมืองแรก: 48 พระยาตาก (สิน) เจ้าเมืองตาก ได้ตั้งทัพรอรับอยู่ในเมืองตากแต่พม่าเข้าตีเมืองตากได้ในระยะเวลาอันสั้น: 50 เมื่อได้เมืองตากแล้วทัพพม่าจึงเคลื่อนรี้พลต่อไปยังเมืองระแหง แต่เจ้าเมืองระแหงยอมอ่อนน้อมจึงยึดเมืองได้โดยง่าย: 231 แล้วจึงเคลื่อนพลไปยังกำแพงเพชรต่อไป แต่เนเมียวสีหบดีได้เดินทัพตัดเข้าไปทางลุ่มน้ำยม โดยมุ่งไปยังเมืองพิษณุโลกซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญ: 50
ทัพของเนเมียวสีหบดีได้เคลื่อนผ่านเมืองสวรรคโลกแต่เจ้าเมืองสวรรคโลกไม่ยอมอ่อนน้อมให้พลทหารยิงปืนใหญ่น้อยใส่ทัพพม่าดังห่าฝน: 231 เนเมียวสีหบดีจึงใช้กำลังเข้าตีต่อจนสามารถยึดเมืองสวรรคโลกได้ ต่อมาเนเมียวสีหบดีจึงเคลื่อนพลไปตีเมืองยะตะมะ เมื่อตีได้เมืองแล้วจึงยกทัพเข้าตีเมืองพิษณุโลก (Pith-tha-lok) ต่อไป ด้วยเมืองพิษณุโลกเป็นเมืองใหญ่และมีป้อมปราการแข็งแรง เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อพม่า: 50 : 232 และยกทัพเข้าต่อรบ เนเมียวสีหบดีจึงใช้กำลังเข้าตีเมืองจนสามารถยึดเมืองพิษณุโลกได้: 50 เจ้าเมืองพิษณุโลกพ่ายแพ้ และถูกจับเป็นเชลย: 17 (ขัดแย้งกับพระราชพงศาวดารไทยทั้งสมัยอยุธยาและธนบุรี ซึ่งกล่าวว่าพิษณุโลกมิได้เสียแก่พม่าในครั้งนั้น เจ้าพระยาพิษณุโลกยังตั้งตนเป็นเจ้าในเวลาต่อมา และพม่าเว้นเมืองใหญ่คือพิษณุโลกและพิจิตร): 18
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างพงศาวดารไทยและพม่าว่า :-
ความขัดแย้งกับพระราชพงศาวดารไทยเหล่านี้ นอกจากข้อที่เห็นได้ชัดว่าพระราชพงศาวดารไทยจะถูกต้องกว่า เช่น ที่เกี่ยวกับพระยาพิษณุโลกแล้ว พระราชพงศาวดารพม่ายังกล่าวความขัดที่แย้งกันเองอีกด้วย เพราะใน พ.ศ. ๒๓๐๙ ขณะที่พม่าล้อมกรุงอยู่นั้น พระราชพงศาวดารพม่ากลับกล่าวว่าประชาชนจากแถบพิษณุโลก สุโขทัย บ้านนา และหัวเมืองอื่นๆ ทางเหนือพากันจัดทัพได้คนถึง ๒๐,๐๐๐ ลงมาตีกระหนาบทัพพม่า แต่ถูกพม่าตีแตกกลับไป แต่หัวเมืองเหล่านี้พระราชพงศาวดารพม่าได้กล่าวว่า ถูกปราบปรามจนหมดสิ้น จะจัดทัพลงมาช่วยอยุธยาได้อย่างไร: 18
เมื่อตีเมืองพิษณุโลกได้แล้ว เนเมียวสีหบดีจึงตั้งชุมนุมทัพเป็นศูนย์บัญชาการใหญ่อยู่ที่เมืองพิษณุโลกเป็นเวลา 10 วัน: 51 : 233 เพื่อกอบโกยกำลังไพร่พล เสบียงอาหาร ช้าง ม้า จากเมืองพิษณุโลก พร้อมจัดกำลังทัพออกเป็น 2 ส่วน แต่ละส่วนมีทัพย่อย 10 ทัพ และให้ ติรินานดะเตงจาน (หรือ ศิรินันทสังจัน) และ จอคองจอตู (หรือ จอของจอสู): 233 เป็นผู้คุมทัพ ก่อนจะเคลื่อนรี้พลทยอยตีหัวเมืองตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่อไป: 51
ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ กล่าวถึงปฏิบัติการของทัพพม่า ความว่า :-
นายทัพทั้งสองจะไม่เดินทัพตรงเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาตราบเท่าที่ยังไม่ได้ยึดครองหัวเมืองรอบนอกอาณาจักรทั้งหมด และยังไม่ได้กำลังสนับสนุนจากอีกฝ่ายหนึ่ง: 51
ระหว่างที่เนเมียวสีหบดียังคงตั้งทัพปักหลักอยู่ที่เมืองพิษณุโลกนั้นจึงได้ให้ทัพทั้งสองที่จัดไว้โดยมี ติรินานดะเตงจาน และ จอคองจอตู เป็นผู้คุมทัพมีรี้พลเข้าตีเมืองละเลง (เมืองละเคิ่ง) เมืองพิชัย เมืองธานี เมืองนครสวรรค์ และอ่างทอง ตามลำดับ แต่เจ้าเมืองเหล่านี้ไม่คิดสู้จึงยอมอ่อนน้อมให้แก่พม่าแต่โดยดี ฝ่ายพม่าได้อาวุธยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมากแล้วควบคุมตัวเจ้าเมืองทั้ง 5 เมือง ส่งกลับไปที่เมืองพิษณุโลก: 52 เมืองที่ยึดได้ ฝ่ายพม่าก็ให้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยามิให้กลับใจเป็นกบฏ: 232–233 :-
จึงให้ผู้รักษาเมืองลับแล เมืองพิชัยเมืองธานี เมืองพิจิตร เมืองนครสวรรค์ เมืองอ่างทอง ถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา แล้วให้ผู้รักษาเมืองแลหัวหน้าให้รักษาเมืองเหล่านี้ต่อไป: 92
- รายชื่อหัวเมืองฝ่ายเหนือที่ได้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยากับฝ่ายพม่า: 92
- เมืองตาก (พระยาตาก (สิน))
- เมืองระแหง
- เมืองกำแพงเพชร
- เมืองสวรรคโลก (พระยาสวรรคโลก)
- เมืองสุโขทัย (พระยาสุโขทัย)
- เมืองพระพิษณุโลก (เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง))
- เมืองลับแล
- เมืองพิชัย
- เมืองธานี
- เมืองพิจิตร (หลวงโกษา (ยัง))
- เมืองนครสวรรค์
- เมืองอ่างทอง
หมายเหตุ การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาไม่ปรากฏในพงศาวดารไทย จึงหาข้อยุติไม่ได้: 94
ทัพของเนเมียวสีหบดีที่ตั้งอยู่ที่เมืองพิษณุโลกนั้นสามารถรวบรวมกำลังไพร่พล อาวุธยุทโธปกรณ์ ทั้งปืนเล็ก ปืนใหญ่ได้มากมาย เมื่อจัดทัพพร้อมแล้วจึงเคลื่อนรี้พลทั้งทางบกและทางเรือทั้งสิ้น 71 ทัพ: 52 ออกจากเมืองพิษณุโลกมุ่งลงทางใต้ต่อไป ทางกรุงศรีอยุธยาทราบข่าวว่าพม่ายกทัพลงมาจึงส่งทัพยกมารอตั้งรับแต่ทัพฝ่ายอยุธยาไม่สามารถสู้ได้จึงถอยทัพ พม่ายึดอาวุธและไพร่พลเชลยศึกได้เป็นจำนวนมาก: 52 แล้วเคลื่อนรี้พลลงไปสมทบกับทัพของมังมหานรธาเพื่อเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา: 53
ข้อสันนิษฐาน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงชี้วิธีที่พม่ายกทัพเข้ามาในครั้งนี้ปรากฏใน พงศาวดารพม่า ที่กำหนดไว้เป็นอุบายไว้คือ :-
ถ้าเมืองไหน หรือแม้แต่ตำบลบ้านไหนต่อสู้ พม่าตีได้แล้ว เก็บริบทรัพย์สมบัติเอาจนหมด ผู้คนก็จับเปนเชลยส่งไปเมืองพม่า แล้วให้เผาบ้านช่องเสียไม่ให้เหลือ ถ้าบ้านไหนเมืองไหนเข้าอ่อนน้อมต่อพม่าโดยดี พม่าให้กระทำสัตย์แล้ว ไม่ปล้นสดมภ์เก็บริบทรัพย์สมบัติ เปนแต่เรียกเอาเสบียงอาหารผู้คนพาหนะมาใช้สรอยการทัพตามแต่จะต้องการ
หากพม่าตีเมืองพิษณุโลกได้ เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ไม่อาจมีกำลังไพร่พลพอที่จะตั้งชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ได้ เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) คงมิอาจเข้าอ่อนน้อมพม่าให้เสียเมืองแต่โดยดี และทัพเนเมียวสีบดีอาจเสียกำลังพล มีกำลังไม่เพียงพอที่จะตีหัวเมืองล่างๆ เมืองพิษณุโลกอีกจำนวนมากเพราะกองทัพของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เข้มแข็งมาก นอกจากนี้หลักฐานฝั่งพม่ายังไม่มีบันทึกเหตุการณ์เจ้าฟ้าจีดก่อกบฏเข้ายึดเมืองพิษณุโลกในระหว่างที่เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) กำลังรบกับพม่าอยู่ ณ เมืองสุโขทัย (ข้อมูลพงศาวดารของไทยและของพม่าขัดแย้งกัน ไม่อาจกล่าวได้ว่าฝ่ายใดถูกต้องกว่าใคร)
สภาพจลาจลหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง
การหลบหนีของพระญาติพระวงศ์สู่เมืองพิษณุโลก
ก่อนที่จะเสียกรุงเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 ตรงกับวันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน นพศก ขณะที่กรุงศรีอยุธยาเกิดสงครามกับพม่าจวนจะเสียแก่ข้าศึก โดยมีทัพเนเมียวสีหบดีกับทัพมังมหานรธาเข้ารุกรานกรุงศรีอยุธยาออกพระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) ต้นพระบรมราชจักรีวงศ์ คุณมา (ต่อมาคือ เจ้าจอมมารดามา) และคุณลา (ต่อมาคือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา) พากันหลบหนีไปอยู่เมืองพิษณุโลก ซึ่งเจ้าพระยาพิษณุโลกเป็นเจ้าเมืองอยู่ โดยมีนายทองขวัญ (บิดาของพระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ต้นสกุล ศรีเพ็ญ) และนายแย้ม บุตรของหลวงรักษ์เสนา (จำรัส) เป็นผู้ติดตามมาด้วย พระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) เป็นสหายเก่าของเจ้าพระยาพิษณุโลก จึงได้รับต้อนรับอย่างดีถึงกับสถาปนาบรรดาศักดิ์แก่พระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี): 67 เป็นอัครมหาเสนาบดี ตำแหน่งสมุหนายกแคว้นพิษณุโลก มีราชทินนามว่า เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายกอัครมหาเสนาบดี อภัยพิริยบรากรมภาหุ ศักดินา 10000 พร้อมเครื่องยศขุนนางอย่างเสนาบดีในกรุง
ปรากฏใน พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงเซอร์ ยอน เบาริง (1969:62 - 63) ความว่า :-
บรรพบุรุษของพระองค์เดิมเป็นชาวมอญอยู่ในกรุงหงสาวดี ได้ติดตามสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเข้ามารับราชการในกรุงศรีอยุธยา เมื่อตอนสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพ ท่านผู้นี้คือ พระยาเกียรติ ได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่วัดขุนแสน ได้มีลูกหลานสืบต่อมาจนถึงโกษาปานในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ โดยเป็นราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งกรุงฝรั่งเศส ต่อมาลูกหลานคนหนึ่งได้รับราชการกับเจ้าพระยาพิษณุโลกเมื่อตอนกรุงศรีอยุธยาแตก และได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระอักษรสุนทรเสมียนตรา พระอักษรเสมียนตรามีลูกหลานหลายคน คนที่ 4 เป็นชาย ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็น พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเป็นปู่ของพระองค์ท่าน
เซอร์จอห์น เบาว์ริง อัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอนและทวีปยุโรปเมื่อปลายรัชกาลที่ 4 กล่าวใน The Kingdom And People Of Siam ว่า :-
"He, on his arrival at 'Phitsanulok,' the great city at Northern Siam, became regent or superintendent of supreme governor of that city, who proclaimed King of Siam after burning of Ayudia was in hand of Burman army, and who died by structing of fever after a few month of the royal proclamation."
(คำแปล): "เขา [ออกพระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) เสมียนตรา], เดินทางถึงเมืองพิษณุโลกนครใหญ่ทางเหนือของสยาม, ได้เป็นอัครมหาเสนาบดีหรือผู้บังคับบัญชา [เจ้าพระยาจักรี] ของเจ้าผู้ครองเมืองสูงสุดเมืองนั้น [เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง)] ซึ่งประกาศตนเป็นกษัตริย์แห่งกรุงสยามหลังจากกรุงศรีอยุธยาตกอยู่ในเงื้อมมือของกองทัพพม่า และสวรรคตด้วยไข้หลังการประกาศรับพระราชโองการเพียงไม่กี่เดือน"
— Sir John Bowring. F.R.S, The Kingdom And People Of Siam, Vol. I, (1857).
และตั้งนายทองขวัญ ผู้ติดตาม เป็นนายชำนาญ (กระบวน) นายเวรกรมมหาดไทย เมืองพิษณุโลก เจ้าพระยาจักรี (ทองดี) ประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกจนถึงแก่อสัญกรรมจนกระทั่งเมืองพิษณุโลกตกไปเป็นชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) ปรากฏใน อภินิหารบรรพบุรุษ ฉบับของหม่อมเจ้าปิยะภักดีนารถ ว่า :-
...ครั้งนั้นพระเจ้าแผ่นดินพระพิษณุโลก ก็กระทำการฌาปนกิจเผาศพตามตำแหน่งยศเสนาบดีเสร็จ คุณบุญมากับพระบุตร ท่านได้เก็บพระอัฐิกับมหาสังข์อุตราวัฏของท่านไว้ภายหลังได้นำเข้ามา ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นสำคัญ...: 29–30
และในหนังสือ ต้นวงศ์ตระกูลพะญาศรีสหเทพชื่อทองเพ็ง ความว่า :-
ครั้นอยู่มากาลครั้งหนึ่ง จึ่งท่านเจ้าพะญาจักรกรี ป่วยด้วยอาการเปนโรคโบราณทุพลภาพ จึ่งถึงอาสัญญะกรรมลงในกรุงพระพิศณุโลกย์ราชธานี ฝ่ายหม่อมบุญมาชายากับดรุณโอรส พร้อมกันกับนายชำนาญ (ทองขวัญ) นายเวร แลนายยิ้มนายแย้มสานุศิสย์สามคน พร้อมใจกันช่วยจัดการกระทำฌาปะนะกิจปลงศพเจ้าพะญาจักรกรี ทำโดยรีบเร่งร้อนรนขวนขวายให้แล้วไปคราวหนึ่ง ในที่ป่าช้าวัดกลางเมืองพระพิศณุโลกย์: (ฐิ)
คำให้การของ Chen Mo, Wen Shao และ Lin Zhengchun รวบรวมโดย Zhen Rui กล่าวว่า Zhao wang ji คือ กรมหมื่นเทพพิพิธ เสด็จลี้ภัยไปเมืองพระพิษณุโลกภายใต้การปกครองของ Fu Shi Lu Wang หรือเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ด้วย ก่อนที่จะเสด็จไปยึดเมืองนครราชสีมาแล้วทรงตั้งชุมนุมเจ้าพิมาย คำให้การดังกล่าวปรากฏใน บทความงานวิจัย เรื่อง The Fall of Ayutthaya and Siam’s Disrupted Order of Tribute to China (1767–1782): 75–128 ของ Masuda Erika, Ph.D. มหาวิทยาลัยโตเกียว นักวิจัยหลังปริญญาเอกของ CAPAS, Academia Sinica. ความว่า :-
"Zhao wang ji sheltered himself under the protection of a local chief of Fu shi lu wang. Zhao wang ji is Kroma Mun Thepphiphit, who is a son of King Borommakot. Nithi points out that Kroma Mun Thepphiphit was the most formidable opponent of King Taksin... ...Zhao wang ji, who is a half elder brother of the King of Siam [King Ekathat] is around fifty years old. He is the son of the Siamese old King and a woman of the Baitou race.: 89
(คำแปล): เจาหวังจี๋ เสด็จลี้ภัยภายใต้การคุ้มครองของผู้นำท้องถิ่นของ Fu shi lu wang. เจาหวังจี๋ คือ กรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ Nithi [นิธิ เอียวศรีวงศ์] ชี้ว่า กรมหมื่นเทพพิพิธทรงเป็นศัตรูที่น่ากลัวที่สุดของพระเจ้าตากสิน... ...เจาหวังจี๋ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระชนนีของพระเจ้ากรุงสยาม [สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์] มีพระชนมายุราว 50 พรรษา. พระองค์เป็นพระราชโอรสในพระเจ้ากรุงสยามในรัชกาลก่อนและพระมารดาเชื้อสาย Baitou...
— Masuda Erika. Ph.D. (คำให้การโดย Chen Mo, Wen Shao และ Lin Zhengchun), Taiwan Journal of Southeast Asian Studies ปีที่ 4 ฉบับที่ 2., (2007)
ต่อมามีการตั้งชุมนุมขึ้นทั้งหมด 8 ชุมนุม แบ่งเป็นชุมนุมขนาดใหญ่ 5 ชุมนุม ชุมนุมขนาดย่อม 2 ชุมนุม และชุมนุมชนชาติอื่น 1 ชุมนุม ดังนี้
ชุมนุมขนาดใหญ่ 5 ชุมนุม
- ชุมนุมพระยาตาก (สิน) หรือพระยาวชิรปราการ ตั้งอยู่ที่จันทบุรี
- ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) มีอาณาเขตเมืองพิชัย - เมืองนครสวรรค์
- ชุมนุมเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองชุมพร - มลายู
- ชุมนุมชุมนุมเจ้าพิมาย (พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าแขก กรมหมื่นเทพพิพิธ) พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองสระบุรี พิมาย ล้านช้าง กัมพูชา
- ชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองแพร่ น่าน และหลวงพระบาง
ชุมนุมขนาดย่อม 2 ชุมนุม
- ชุมนุมหลวงอร่ามเรืองฤทธิ์ (ทองด้วง) ที่ จ.สมุทรสงคราม ก่อนจะรวบเข้ากับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่กรุงธนบุรี ภายหลังปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กรุงรัตนโกสินทร์
- ชุมนุมนายบุญส่งและพระยาธนบุรี ตั้งอยู่ที่เมืองธนบุรี
ชุมนุมชนชาติอื่น 1 ชุมนุม
- ชุมนุมสุกี้ (ชุมนุมชนชาติมอญ) หรือนายทองสุก ตั้งอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น (ปัจจุบันคือพื้นที่ ต.พุทเลา และ ต.โพธิ์สามต้น อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา)
พระราชสาส์นจากสมเด็จพระโสร์ทศ ให้พิษณุโลกจัดกองทัพสนับสนุน
เมื่อปี พ.ศ. 2311 ราวต้นปีสมเด็จพระโสร์ทศ พระนามเดิม เจ้าฟ้าจุ้ย หรือ เจ้าจุ้ย เป็นผู้นำชุมนุมสมเด็จพระโสร์ทศ ตั้งอยู่ที่เมืองพุทไธมาศ (ฮาเตียน) ซึ่งพระจักรพรรดิเฉียนหลง พระเจ้ากรุงจีน ได้ให้การรับรองสถานะพระมหากษัตริย์สืบต่อจากสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ขณะนั้นสมเด็จพระโสร์ทศทรงกำลังวางแผนปราบสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี รอบที่ 2 ด้วยการรวบรวมกำลังพล 200,000 นาย ทรงแต่งพระราชสาส์นถึงเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เพื่อขอให้จัดกองทัพจากหัวเมืองเหนือเข้าร่วมสนับสนุนกองทัพของพระองค์ แต่พระราชสาส์นถูกพระยาอนุรักษ์ภูธร เจ้าเมืองนครสวรรค์ หรือพระยาพิชัยดาบหัก (อยู่ในเขตแดนของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) จับได้ระหว่างทางก่อนจะถึงเมืองพระพิษณุโลก พระราชสาส์นของสมเด็จพระโสร์ทศจึงมิได้ส่งถึงเจ้าเมืองพิษณุโลก เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) จึงมิได้ทราบข่าวและมิได้จัดกองทัพตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระโสร์ทศ (ภายหลังพระยาไชยบูรณ์ (จัน) น้องชายของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ทราบข่าวพระราชสาส์นนี้และได้จัดกองทัพร่วบสนับสนุนสมเด็จพระโสร์ทศด้วย)
อนึ่ง พระยาอนุรักษ์ภูธรได้นำพระราชสาส์นของสมเด็จพระโสร์ทศถวายรายงานต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีให้ทรงทราบ พระราชสาส์นนี้เป็นสาเหตุให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพขึ้นไปปราบชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เป็นชุมนุมแรกเมื่อเดือนตุลาคม ฤดูน้ำหลาก มีแผนเพื่อสกัดกำลังทัพจากหัวเมืองฝ่ายเหนือ เนื่องจากเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เป็นฐานอำนาจของสมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย) ทั้งยังมีเชื้อสายราชนิกุลราชวงศ์บ้านพลูหลวง และมีความสัมพันธ์เนืองๆ กับพระราชวงศ์ในฐานะพระญาติพระวงศ์
การสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์
ครั้นกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึกแล้ว เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) จึงคิดตั้งตนเป็นพระเจ้าแผ่นดินเมื่อกลางปีชวดสัมฤทธิศกตรงกับ พ.ศ. 2311 (หรืออาจปีเดียวกับตอนเสียกรุง ตามหลักฐานจากหอจดหมายเหตุประวัติศาสตร์ของจีน) แล้วสถาปนาเมืองพระพิษณุโลกเป็นเมืองหลวง เป็นพระมหานครซึ่งเป็นรัฐเอกราชของสยามแห่งใหม่เป็น กรุงพระพิศณุโลกย์ราชธานีศรีอยุทธยามหานคร: (ฏำ)–(ฏะ) เพื่อสร้างฐานราชการบ้านเมืองให้มั่นคงเช่นเดียวกับกรุงศรีอยุธยา: 127–128 จึงแต่งตั้งข้าราชการขุนนางขึ้นครบทุกตำแหน่ง โดยแต่งตั้งอัครมหาเสนาบดี 1 ฝ่าย เสนาบดีจตุสดมภ์ 4 กรม ตั้งอัฐมนตรี 8 ฝ่าย ตั้งขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยทุกหน้าที่ครบตามตำแหน่ง ตั้งพระยาไชยบูรณ์ (จัน) พระอนุชา ปลัดเมืองพระพิษณุโลก ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรฯ รับพระบัณฑูร และตั้งภริยาบุตรหลานที่อยู่เมืองพระพิษณุโลกขึ้นเป็นเจ้านายโดยทั่วถึงกัน
ปรากฏใน พงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาภาษามคธ สมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ว่า :-
บรรดาชนทั้ง ๔ นั้น พระยาพิษณุโลกที่อยู่ในเมืองพิษณุโลกนั้น ชนทั้งหลายรับพระโองการแล้ว ก็ให้ยกเสวตรฉัตรทำการราชาภิเสก...: 32–33
ใน สังคีติยวงศ์ พงศาวดาร เรื่องสังคายนาพระธรรมวินัย สมเด็จพระวันรัตนวัดพระเชตุพน ในรัชกาลที่ ๑ กล่าวว่า :-
ในพระราชาทั้งหลายนั้น ส่วนในเมืองพิษณุโลกปุร ชนทั้งหลายรับพระโองการ แลพระราชาพิษณุโลกราชนั้นให้ยกเสวตรฉัตรขึ้นแล้วอภิเษก: 417–418
ปรากฏใน อภินิหารบรรพบุรุษ ฉบับของหม่อมเจ้าปิยะภักดีนารถ ความว่า :-
ครั้งเมืองกรุงแตกเสียแก่พม่าแล้วยังไม่มีพระเจ้าแผ่นดินสยาม ฝ่ายเจ้าพระยาพิษณุโลกย์เรือง จึงตั้งตนขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดินสยาม ตั้งขุนนางขึ้นเต็มตามตำแหน่งเหมือนในกรุง...: 29–30
ปรากฏใน พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน ความว่า :-
ในขณะนั้นแต่บันดาหัวเมืองตั้งตัวเป็นจ้าวขึ้นหลายตำบล คือ เจ้าพญาพิศณุโลกเรือง ก็ตั้งตัวเป็นจ้าวขึ้นตำบลหนึ่ง... ...แลเมืองเหนือครั้งนั้นมีจ้าวขึ้นสองแห่ง แบ่งแผ่นดินออกเปนสองส่วน ตั้งแต่เมืองพระพิศณุโลกย์ลงมาถึงเมืองนครสวรรค์ กับแควปากน้ำโพนั้น เปนอนาเขตข้างจ้าวพระพิศณุโลก...: 367
พร้อมจัดพระราชพิธีราชาภิเษก: 82 ตามจารีตประเพณีอาณาจักรอยุธยาเป็น พระเจ้าพิษณุโลก หรือ พระเจ้ากรุงพิษณุโลก: 127–128 : 27 : 76–77 มีฐานะเป็น พระมหากษัตริย์แห่งกรุงพระพิษณุโลก และใช้พระราชวังจันทน์เป็นที่ประทับ ขาดแต่ยังไม่มีพิธีแห่เลียบพระนคร ส่วนคำสั่งให้บังคับใช้ว่า พระราชโองการ เหมือนอย่างสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา: 260 : 405 แทนคำว่า พระประศาสน์ ของเจ้าเมืองชั้นเอก ทั้งทรงพระราชยานผูกแปด มีองครักษ์ตามเสด็จหน้าหลังอย่างมีแบบแผนตามจารีตประเพณีพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา: 340 พร้อมทั้งจัดบ้านเมืองคอยท่าจะรับกองทัพพม่าเลยมาตีกรุงพิษณุโลก
ใน พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า "...แต่เหตุพะม่าตั้งพระนายกองไว้รั้งเมือง แลผู้ครองเมืองเอก, โท, ตรี, จัตวา บรรดาซึ่งขึ้นแก่กรุงเทพฯ นั้น ชวนกันกำเริบอหังการ ตั้งตัวเป็นใหญ่ ให้รับพระโองการเป็นหมู่เป็นเหล่ากัน จึงบังเกิดโจรภัย ทุพภิกขภัยต่าง ๆ สัตว์ทั้งปวงอนาถาหาที่พึ่งมิได้..."
นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า "การตั้งตนขึ้นเป็นใหญ่ของเจ้าพระยาพิษณุโลกไม่สามารถที่จะใช้ความเป็นเจ้าเมืองพระยามหานครดำเนินการทางการเมืองได้ เพราะสถานะนี้ไม่มีความหมายนอกเขตเมืองพิษณุโลก ในขณะที่เจ้าพระยาพิษณุโลกต้องการจะมีอำนาจเหนือหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานะของตนเป็นพระมหากษัตริย์": 150
บูรณะพระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก
เมื่อ พ.ศ.2549 จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ได้เผยแพร่การสำรวจพระราชวังจันทน์ (จังหวัดพิษณุโลก) ของคณะสำรวจโบราณสถาน ผลการสำรวจพบร่องรอยบางประการเกี่ยวกับการบูรณะและสร้างกำแพงอาคารในพื้นที่พระราชวังเก่าแห่งนี้ ร่องรอยนี้อาจเกียวข้องกับชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง)
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึกในปี ๒๓๑๐ แล้ว ในสมัยกรุงธนบุรี ปรากฏว่าเจ้าเมืองพิษณุโลกในขณะนั้นได้ตั้งตัวเป็นใหญ่เรียกว่า ชุมนุมเจ้าพิษณุโลก มีร่องรอยหลักฐานบางประการที่พบภายในพระราชวังจันทน์แสดงถึงความพยายามที่จะมีการเข้ามาบูรณะและสร้างกำแพงอาคารขึ้นบนพื้นที่นี้อีกครั้ง ร่องรอยนี้อาจเกี่ยวข้องกับการที่เจ้าเมืองพิษณุโลกพยายามที่จะฟื้นฟูบริเวณพระราชวังเก่าให้เป็นที่อยู่ขึ้นใหม่: 31
พิธีบรมราชาภิเษก
พิธีราชาภิเษกของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) จัดขึ้นที่พระราชวังจันทน์ตามแบบแผนโบราณราชประเพณีครั้งแผ่นดินพระมหาบุรุษ: 24 มีการยกเศวตฉัตรกกุธภัณฑ์เครื่องทองประกอบ ทำตั่งที่ประทับสำหรับสรงพระกระยาสนาน เสด็จออกขุนนางถวายธูปเทียน ตั้งขุนนางขึ้นทุกตำแหน่งตามพระราชกำหนดกฎหมาย สถาปนาพระราชวงศานุวงศ์ขึ้นเป็นเจ้า ตั้งนามกรุงพระพิษณุโลก ยกเว้นยังไม่มีพิธีแห่ขบวนพยุหะสมโภชพระนคร
หนังสือ ต้นวงศ์ตระกูลพะญาศรีสหเทพชื่อทองเพ็ง กล่าวว่า :-
ครั้งนั้นเจ้าพะญาพระพิศณุโลกย์ (บุญเรือง) จึ่งมีใจอหังการกำเริบโดยโมหะจิตร คิดตั้งตนขึ้นเป็นพระจ้าวแผ่นดินเอกราชสยาม ยกเมืองพระพิษณุโลกย์ขึ้นเป็นกรุงพระพิศนุโลกย์ราชธานีศรีอยุธยามหานคร จัดรั้วงานราชการบ้านเมืองให้มั่นคงแข็งแรง คล้ายกับกรุงศรีอยุธยามหานครเสร็จแล้ว จึ่งตั้งข้าราชการทุกตำแหน่งทุกกระทรวงทั้งปวงการ คือ ตั้งเอกอุอรรคมหาเสนาบดี ๑ ตั้งอรรคมหาเสนาบดี ๒ ตั้งจัตุรสดมภ์เสนาบดี ๔ ตั้งอัฐมนตรี ๘ ตั้งขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยครบทุกน่าที่เต็มตำแหน่งในพระราชกำหนดกฎหมายถ้วนทุกประการ แล้วจึ่งจัดการราชาภิเษกโดยสังเขปเสร็จแล้ว เสด็จออกขุนนางถวายดอกไม้ธูปเทียน ขาดแต่ยังไม่มีพิธีแห่เลียบพระนครเท่านั้น โดยคำสั่งของตน ๆ ก็บังคับให้ใช้ว่าดั่งนี้ "พระราชโองการ" ทั้งทรงพระราชยานผูกแปด มีหมู่องครักษ์แห่นำตามเสด็จหน้าหลังอย่างแบบแผนพระมหากษัตริย์ในกรุงศรีอยุทธยา ทรงตั้งพะญาไชยบูรณ์ (จัน) ปลัดเมืองพระพิศณุโลกย์ ซึ่งเปนพระราชอนุชาให้เป็นพระมหาอุปราชย์กรมพระราชวังบวร ฯ รับพระราชบัณฑูร แล้วทรงตั้งพระราชโอรสแลพระราชธิดา แลพระราชภาคินัยแลภาคินี กับพระราชวงศานุวงศ์ แต่ล้วนเป็นจ้าวฟ้าบ้าง เปนพระองค์จ้าวบ้าง เปนจ้าวต่างกรมบ้าง เป็นจ้าวราชนิกูลบ้างต่าง ๆ กับที่ชิดแลห่าง ทั้งทรงจัดรั้วงานราชการบ้านเมืองไว้ให้มั่นคง คอยถ้าจะรับรองกองทัพพม่าเพื่อจะเลาะมาตีกรุงพระพิศณุโลกย์บ้าง ในครั้งตั้งเป็นเอกราช จึ่งคอยระวังข้าศึกพม่าให้จงดี: (ฏำ)–(ฏะ)
รายนามผู้ได้รับสถาปนาตำแหน่ง
รายชื่อบุคคล/ขุนนาง | ตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง | หมายเหตุ |
---|---|---|
ท่านผู้หญิงเชียง | พระอัครมเหสี | ภริยาเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) |
พระยาไชยบูรณ์ (จัน) | พระมหาอุปราชที่กรมพระราชวังบวร: 76–77 | น้องชายเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) |
พระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) | อัครมหาเสนาบดี ที่สมุหนายก | เป็นที่ปรึกษาราชการบ้านเมือง |
หลวงโกษา (ยัง) | ราชองครักษ์ | |
นายทองขวัญ | นายชำนาญ นายเวร กรมมหาดไทย | ผู้ติดตามพระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) |
นายยิ้ม | เสมียน กรมมหาดไทย | |
นายแย้ม | เสมียน กรมมหาดไทย | ผู้ติดตามพระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) |
พระราชสาส์น หูซื่อลู่ (พิษณุโลก) ถึงพระเจ้ากรุงจีน
จากหลักฐาน หอจดหมายเหตุประวัติศาสตร์ของจีนของจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง: 1069–1070 มีบันทึกเกี่ยวกับพระราชสาส์นที่ส่งจากสยาม นับตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2310 พระยาตาก (สิน) ได้เข้าควบคุมเมืองระยอง เมืองชลบุรี เมืองจันทบุรี และตราดได้แล้ว ราวเดือนตุลาคม พ.ศ. 2310 พระยาตาก (สิน) ทำพิธีราชาภิเษกในปีกุน พ.ศ. 2310 ทรงแต่งพระราชสาส์นจำนวน 3 ฉบับ: 4 โดยใช้พระนามว่า กานเอินชื่อ (อังกฤษ: Gan Enchi; จีน: 甘恩敕) ฉบับแรกเป็นพระราชสาส์นถวายจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง (จีน: 乾隆) อีก 1 ฉบับเป็นพระราชสาส์นถึง หลี่ชื่อเหยา (อังกฤษ: Li Shiyao; จีน: 李侍堯) ข้าหลวงมณฑลกวางตุ้งและกวางสี และอีก 1 ฉบับถึงอุปราชแห่งเหลียงกวง: 21 : 4 โดยให้ส่งผ่านพ่อค้าชาวกวางตุ้ง ชื่อ เฉินเหม่ย (อังกฤษ: Chen Mei; จีน: 陳美) ผ่านเรือสินค้าจากสยามไปเมืองจีนเข้าเทียบที่มณฑลกวางโจว: 105–107
เนื้อความในพระราชสาส์นทั้ง 3 ฉบับ เป็นรายงานสถานการณ์สยามว่า พลเมืองชาวสยามถูกทัพพม่าเข้ารุกรานจนกรุงศรีอยุธยาได้พ่ายให้กับกองทัพพม่า รวมทั้งราชวงศ์บ้านพลูหลวงได้สิ้นสุดลง พระยาตากสินได้รวบรวมกำลังไพร่พลจนขับไล่พม่าที่เมืองจันทบุรีและตราดออกไปได้ในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2310 รวมทั้งการสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ของพระองค์ ในขณะเดียวกันเจ้าเมืองผู้ปกครองหัวเมืองอื่น 3 เมืองไม่ยอมอ่อนน้อมต่ออำนาจของพระเจ้าตากสิน ปรากฏว่ามี เมืองพิษณุโลก หรือ หูซื่อลู่ (อังกฤษ: Fu Si Lu; จีน: 扶世祿, 扶世禄): 174–175 : 4 เมืองนครศรีธรรมราช หรือ ลู่คุน (อังกฤษ: Lu Kun; จีน: 祿坤) และเมืองนครราชสีมา หรือ เกาลี่ (อังกฤษ: Gao Lie; จีน: 高烈) และมีพระประสงค์ขอให้ราชสำนักจีนรับรองสถานะความเป็นพระมหากษัตริย์ของพระเจ้าตากสิน: 174–175
เมื่อปี พ.ศ 2310 พระเจ้าพิษณุโลก (เรือง) (ในประวัติศาสตร์จีนเอ่ยตำแหน่งพระนามว่า 魯安國王 (King Ruang) หรือ 彭世洛的倫王 (King Ruang of Phitsanulok) ทรงแต่งพระราชสาส์น โดยใช้พระนามว่า หูซื่อลู่ (Fu Si lu) ถวายจักรพรรดิเฉียนหลงเพื่อขอให้พระองค์ทรงยอมรับเป็นพระมหากษัตริย์ที่ถูกต้องของกรุงศรีอยุธยา สืบต่อจากพระมหากษัตริย์พระองค์เดิมที่สิ้นพระชนม์ในระหว่างสงคราม และต่อต้านการสถาปนาของพระเจ้าตากสินหรือเจิ้นเจ้าเช่นกัน: 21–22 ปรากฏใน บันทึกของข้าหลวงใหญ่หลี่ซื่อเหยา ปีที่ 33 แห่งรัชกาลของจักรพรรดิเฉียนหลง: 591 โดย หลี่ชื่อเหยา ข้าหลวงมณฑลกวางตุ้งและกวางสี ได้นำความในพระราชสาส์นทั้งหมดขึ้นถวายฎีกาแด่จักรพรรดิเฉียนหลงเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2311
เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2311 ราชสำนักจีนให้การปฏิเสธสถานะความเป็นพระมหากษัตริย์ การอ้างสิทธิในราชบังลังก์สยาม รวมทั้งเครื่องบรรณาการของพระเจ้าตากสิน: 243 และยังปฏิเสธการช่วยฟื้นฟูสยาม จักรพรรดิเฉียนหลงทรงมีพระราชวินิจฉัยอย่างรุนแรงว่า กานเอินชื่อ เดิมอาศัยในแผ่นดินเมืองจีนไม่มียศศักดิ์ ได้แล่นเรือข้ามทะเลไปเป็นข้าหลวงรับใช้พระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม ในเวลานี้นั้นกรุงสยามถูกทำลายสิ้น พระเจ้ากรุงสยามสิ้นพระชนม์ กานเอินซื่อ บังอาจแสวงหาผลประโยชน์จากสถานการณ์ระส่ำระสายในยามนี้ ทั้งยังลืมพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม ไม่แสวงหาแต่งตั้งรัชทายาทของพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามเพื่อฟื้นฟูบ้านเมือง กลับสถาปนาตนเองขึ้นเป็นผู้ปกครองแผ่นดินสยามและยังขอให้ราชสำนักจีนยอมรับสถานะเพื่อให้มีอำนาจเหนือผู้อื่น ช่างบังอาจยิ่งนัก ประการหนึ่ง ท่านเป็นชาวจีนย่อมรู้ดีถึงคุณธรรม จริยธรรม เป็นธรรมะสูงสุด ไม่รู้คำสอนเหล่านี้เลยหรือ
ใน พระราชสาส์นพระเจ้ากรุงจีน (ฉบับแปลไทย) กล่าวว่า :-
กันเอินซี่ผู้นี้เดิมเป็นคนชั้นต่ำคนหนึ่งในประเทศจีน แต่ซัดเซพเนจรไปโพ้นทะเล แล้วได้ไปเป็นใหญ่เป็นโตขึ้นในต่างแดน เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับเสียมหลออ๋อง [พระเจ้ากรุงสยาม] แล้ว ก็เป็นเพียงเจ้ากับข้าเท่านั้น บัดนี้บ้านเมืองพินาศลงต้องหายสาบสูญไป เขาบังอาจถือโอกาสก่อการวุ่นวายขึ้นโดยไม่คำนึงถึงพระกรุณาธิคุณของเจ้านายเก่า ที่จริงเขาควรจะให้เชื้อพระวงศ์มากอบกู้ประเทศชาติ และแก้แค้นศัตรู กลับตั้งตนเองเป็นใหญ่ และหวังจะได้รับการแต่งตั้งจากเรา โดยสำคัญว่าตัวเองเป็นผู้กุมอำนาจทั้งหมดนั้น เป็นการกระทำเกินเหตุผลและหน้าที่ของตน ซึ่งท่านเพียงแต่ส่งสาส์นนั้นคืนไป หรือเพียงให้เฉินเหม่ยกลับไป ประเทศแล้วก็อาจจะไม่นำคำตำหนิเหล่านั้นไปบอกต่อ ๆ กัน เราก็ไม่สามารถจะทำให้ประเทศเหล่านั้นเกรงอำนาจของเราได้ ที่ถูกควรจะมีหนังสือตอบให้ผู้นั้นนำกลับไปด้วยเพื่อแจ้งให้นานาประเทศเข้าใจในหลักการอันถูกต้องของเราว่า ราชสำนักของเราทรงไว้ซึ่งอารยธรรมและขนบประเพณีอันดีงามเรา จะชมเชย ยกย่อง หรือตำหนิลงโทษผู้ใดก็ทำด้วยความยุติธรรมที่สุด ผู้ที่เนรคุณคิดอ่านแย่งอำนาจ เราจะไม่ยอมให้ทำเป็นอันขาด
— จักรพรรดิเฉียนหลง, พระราชสาส์นตอบกลับหลี่ชื่อเหยา อุปราชมณฑลกวางตุ้ง, (29 กันยายน พ.ศ. 2311)
รวมทั้งพระราชสาส์นพระเจ้าพิษณุโลก (เรือง) ทำให้จักรพรรดิเฉียนหลงทรงทราบว่า ยังมีผู้ปกครองอิสระในกรุงสยามอีก 3 เมือง เป็นอีกสาเหตุที่จักรพรรดิจีนไม่ยอมรับสถานะพระเจ้าตากสินว่าเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ของกรุงศรีอยุธยา เพราะพระองค์ยังไม่สามารถปราบปรามรัฐอิสระเล็กๆ ได้ ส่วนหลี่ชื่อเหยา ข้าหลวงมณฑลกวางตุ้งและกวางสี แสดงท่าที ว่าการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าตากสิน เป็นการกระทำที่เย่อหยิ่ง ในที่สุดจักรพรรดิเฉียนหลงจึงมีพระราชดำรัสแก่หลี่ชื่อเหยา ว่า "所有取道海洋一说,竟可不复置议" (คำแปล: สุดโพ้นทะเลก็มิอาจถกเถียงได้อีกแล้ว) ให้ยุติการถกเถียงเรื่องนี้
นอกจากนี้ หลักฐานจากหอจดหมายเหตุประวัติศาสตร์ของจีน ยังแสดงให้เห็นว่า เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ผ่านพิธิราชาภิเษกมาแล้วและมีพระชนม์อย่างน้อย 6 เดือน สอดคล้องกับหลักฐาน พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาภาษามคธ ฉบับ สมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน โดย ธีระวัฒน์ แสนคำ ได้สันนิษฐานไว้ว่า "เจ้าพระยาพิษณุโลกไม่ได้ถึงแก่พิราลัยหลังจากประกาศตนเป็นพระมหากษัตริย์ได้ 7 วันอย่างแน่นอน ความในส่วนนี้พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์น่าจะมีความน่าเชื่อถือกว่า"
ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง)
- ระยะที่ 1 ภายใต้การนำของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง)
ภูมิหลัง
ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลกเป็นชุมนุมของขุนนางที่ถูกต้อง: 84 ตามระบบจารีตทางการเมืองของอาณาจักรอยุธยาที่คิดต่อต้านพม่า โดยอาศัยอำนาจบารมีในสถานะเดิม กล่าวคือ เป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่ปกครองเมืองพิษณุโลกเดิมมาแต่ก่อน อาณาเขตที่ปกครองจึงยังคงอยู่ภายใต้อำนาจ อาศัยความสัมพันธ์อันดีระหว่างขุนนางอยุธยารวมทั้งราชสำนักอยุธยาในฐานะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และเชื้อสายเครือญาติพระราชวงศ์กรุงศรีอยุธยา (ราชนิกุล) และยังอาศัยพลังของขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีเป็นตัวสนับสนุน เช่น การทำพิธีราชาภิเษกซึ่งเป็นโบราณราชประเพณีสำหรับการยืนยันสิทธิ์ของผู้ปกครอง: 54 ซึ่งเจ้าพระยาพิษณุโลกมีฐานะเป็นพระมหากษัตริย์เป็น พระเจ้าพิษณุโลก ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลกถือเป็นชุมนุมหัวเมืองเหนือที่ใหญ่ที่สุด มีกำลังทหารมาก มีป้อมปราการประจำเมืองพิษณุโลกที่แข็งแรงจำนวน 14 ป้อม เป็นป้อมปราการแบบศิลปะยุโรปออกแบบโดย เมอซิเออร์ เดอ ลา มาร์ (Monsieur de la Marre) วิศวกรชาวฝรั่งเศสมาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นชุมนุมที่แข้มแข็งที่สุดเพราะเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) มีฝืมือกล้าแข็ง: 201
ที่ตั้งชุมนุม ตั้งอยู่ที่เมืองพระพิษณุโลกบนฝั่งลำน้ำน่าน มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองพิชัยลงมาจนถึงเมืองนครสวรรค์และปากน้ำโพครอบคลุมหัวเมืองเหนือ ดังนี้: 29
- เมืองพิษณุโลก (เมืองสรลวงสองแคว)
- เมืองสุโขทัย (นครไทย)
- เมืองศรีสัชนาลัย (เมืองสวรรคโลก หรือเมืองเชลียง หรือเมืองเชียงชื่น)
- เมืองกำแพงเพชร (รวมเมืองนครชุม ฝั่งขวาของแม่น้ำปิง)
- เมืองพิจิตร (รวมเมืองปากยม)
- เมืองพระบาง (เมืองนครสวรรค์) ตั้งแต่บริเวณปากน้ำโพขึ้นไป
- เมืองทุ่งยั้ง เมืองพิชัย (บางส่วนของจังหวัดอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน)
- เมืองตาก
หลังจากตั้งตนเองเป็นผู้นำชุมนุมแล้วได้มีบรรดาข้าราชการเก่ากรุงศรีอยุธยามาสวามิภักดิ์ด้วยหลายนายตั้งแต่ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เนื่องจากเจ้าพระยาพิษณุโลกเป็นผู้มีความสามารถในการสู้รบและการปกครอง: 167 เป็นขุนนางเก่าแก่ชั้นสูงในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงมีผู้นับถืออยู่มาก
ปรากฏใน พงศาวดารเรื่อง เรารบพม่า ครั้งกรุงศรีอยุทธยา พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า :-
ก๊กที่ ๑ คือ เจ้าพระยาพิษณุโลก ตั้งตัวเป็นเจ้าขึ้นที่เมืองพิษณุโลก มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองพิชัยลงมาจนเมืองนครสวรรค์ เจ้าพระยาพิษณุโลกคนนี้ชื่อ เรือง เป็นข้าราชการผู้ใหญ่ที่มีความสามารถมาแต่ก่อน ถึงเมื่อพม่าคราวหลังนี้ก็ปรากฏว่ามีฝีมือเข้มแข็งไม่แพ้พม่า คงเป็นเพราะเป็นผู้มีชื่อเสียงเกียรติยศดังกล่าวมานี้ จึงมีผู้นิยมนับถือมาก แม้ข้าราชการเก่าในกรุงศรีอยุทธยาก็ไปเข้ากับเจ้าพิศณุโลกมากด้วยกัน: 240
สอดคล้องกับ พระราชพงศาวดารพม่า กล่าวว่า "ขุนนางพากันหลบเหลื่อมหนีไปเสียแล้วก่อนเสียกรุงโดยมาก": 136–137
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระอธิบายฐานะชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ไว้ใน พงศาวดารเรื่องไทยรบพะม่า ว่า :-
เจ้าพิษณุโลกกับเจ้านครเมื่อตั้งตัวเป็นเจ้า เป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่ปกครองบ้านเมืองเป็นถิ่นฐานอยู่แล้ว การที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ไม่ต้องขวนขวายอย่างหนึ่งอย่างใด ถึงแม้จะไม่ตั้งตัวเป็นเจ้า อาณาเขตต์ที่ได้ปกครองก็คงอยู่ในอำนาจอยู่นั่นเอง: 11
ความเข้มแข็งของชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ที่ปรากฏเป็นประจักษ์ คือ ก่อนเสียกรุงนั้นทัพหลวงของพม่าฝ่ายเหนือ (ทัพเนเมียวสีหบดี) ไม่กล้าเข้าตีเมืองพระพิษณุโลก หลังเสียกรุงแล้วเจ้าพระฝาง (เรือน) ยกทัพมาตีชุมนุมพิษณุโลกยืดเยื้อถึง 6 เดือนก็ไม่สามารถตีให้แตกได้ และในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินยกทัพมาตีชุมนุมพิษณุโลกแต่ก็พ่ายแพ้จึงต้องลาดทัพกลับไปยังกรุงธนบุรี
เจ้าพระฝางยกทัพตีพิษณุโลก
หลังจากผ่านพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จ เจ้าพระฝาง (เรือน) จึงได้ยกทัพมาตั้งปิดล้อมลำน้ำทั้ง 2 ฝั่งหมายจะเข้าตีเมืองพระพิษณุโลก พลเมืองชุมนุมเจ้าพระฝางเชื่อว่าเจ้าพระฝางเป็นผู้วิเศษ กล่าวคือ เชื่อว่าอาจปราบปรามใคร ๆ ได้ด้วยฤทธิเดช: 11 พอตั้งตัวขึ้นแล้วก็กำเริบยกทัพลงมาลองฤทธิ์ตีเมืองพิษณุโลก พระเจ้าพิษณุโลก (เรือง) จึงยกทัพเข้าตีต่อฝ่ายเจ้าพระฝาง (เรือน) การปะทะครั้งนั้นเกิดขึ้นถึง 3 ครั้งยืดเยื้อประมาณ 6 เดือนแต่ไม่แพ้ไม่ชนะกัน เมื่อเจ้าพระฝาง (เรือน) ตีไม่ได้ก็โทษนั่นโทษนี่เป็นเหตุแก้ตัวแล้วจึงยกทัพกลับไปเมืองสวางคบุรี: 11
ปรากฏใน สังคีติยวงศ์ พงศาวดาร เรื่องสังคายนาพระธรรมวินัย สมเด็จพระวันรัตนวัดพระเชตุพน ในรัชกาลที่ ๑ ว่า :-
...พระองค์ได้รบกับภิกษุวรสวางค์ มีกำลังมาก เป็นภิกษุลามกขี้เมาบาปต่าง ๆ ย่ำยีสิกขาบทในพระพุทธสาสนา รบกันด้วยมหาโยธามีกำลังมากมายถึง ๓ ครั้ง ไม่แพ้ชนะกัน: 417–418
และใน พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ว่า :-
...จัดแจงกองทัพยกลงมาตีเมืองพระพิศณุโลก ตั้งค่ายล้อมเมืองทั้งสองฟากน้ำ แลเจ้าพิศณุโลกยกพลทหารออกต่อรบเปนสามารถ ทัพฝางจะหักเอาเมืองมิได้ แต่รบกันอยู่ประมาณหกเดือน ทัพฝางก็พากันเลิกกลับไปเมือง: 308
พระเจ้าตากสินยกทัพปราบ
หลังจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตีทัพสุกี้พระนายกองที่ค่ายโพธิ์สามต้นได้แล้ว เมื่อ พ.ศ. 2311 ปีขวดราวเดือนตุลาคม ฤดูน้ำหลาก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพด้วยกำลังพล 15,000 นาย ไปปราบชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลกเป็นชุมนุมแรกซึ่งเป็นชุมนุมใหญ่ เจ้าพระยาพิษณุโลกจึงได้ให้หลวงโกษา (ยัง) ทหารผู้มีฝีมือคนหนึ่งมีความชำนาญภูมิประเทศของเมืองเหนือ ยกกองทัพทั้งเรือและทางบกมาตั้งรับที่ตำบลเกยไชยเหนือปากน้ำโพ เขตเมืองนครสวรรค์ (อยู่ห่างจากเมืองพิษณุโลกซึ่งหากใช้เวลาเดินเรือจะใช้เวลา 3 วัน) โดยใช้ยุทธวิธีการรบ คือ ใช้เรือเพรียวแอบซุ่มซ่อนตัวโจมตีคอยดักซุ่มสกัดทัพโดยหลีกเลี่ยงการปะทะแบบซึ่งหน้า และขณะนั้นเป็นฤดูน้ำหลากจึงทำให้สังเกตเห็นง่ายเป็นชัยภูมิที่ได้เปรียบในการรบ
ครั้นกองทัพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกขึ้นไปถึง ก็ได้ปะทะรบพุ่งกันอย่างสามารถ ทหารฝ่ายชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก ได้ยิงปืนมาถูกพระชงฆ์ (หน้าแข้ง) ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้รับบาดเจ็บ จึงต้องยกทัพกลับ ปรากฏใน พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่า :-
เจ้าพระพิษณุโลก (เรือง) ได้ทราบข่าวศึก จึงแต่งให้หลวงโกษา (ยัง) ยกกองทัพลงมาตั้งรับ ได้รบกันเป็นสามารถ ข้าศึกยิงปืนมาต้องพระชงฆ์ข้างซ้าย จึงให้ล่าทัพหลวงกลับมายังกรุงธนบุรี: 31
ปรากฏใน พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า :-
พระยาพิษณุโลกรู้ประพฤติเหตุ แต่งพลทหารให้หลวงโกษา (ยัง) ยกออกมาตั้งรับ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จนำพลทั้งปวงเข้ารณรงค์ด้วยข้าศึกครั้งนั้น ฝ่ายข้าศึกยิงปืนมาดังห่าฝนต้องพระชงฆ์เบื้องซ้าย เลียบตัดผิวพระมังสะไปจึงให้ลาดทัพกลับยังกรุงธนบุรี
ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตรุแปง รวบรวมโดยฟร็องซัว-อ็องรี ตูร์แป็ง จากบันทึกของบาทหลวงปีแยร์ บรีโกที่เคยพำนักในสยามเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า :-
ในปีเดียวกันนั้นพระองค์ [พระเจ้าตากสิน] ได้ยกทัพเข้าโจมตีเมืองพิษณุโลก (Porcelon) และเมืองนครศรีธรรมราช ทั้ง ๒ เมืองซึ่งไม่ตกอยู่ใต้อำนาจการปกครองของพม่า ผู้ปกครองเมืองทั้งสองนี้ [เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) และเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู)] ถือโอกาสในขณะที่บ้านเมืองเกิดจลาจลทำการแข็งเมืองไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจสยาม ดังนั้นเป็นอันว่าราชอาณาจักรซึ่งประกาศเอกราชจากต่างชาติต้องเดือดร้อนเพราะเจ้าเมืองขึ้น ผู้พยายามที่จะทำลายสิ่งต่างๆ ซึ่งศัตรูได้เหลือไว้ ตามความจริงแล้วราชอาณาจักรทั้งหมดของสยามกำลังตกอยู่ในภาวะยุ่งยากโดยทั่วไป ไม่เป็นที่ทราบแน่ว่ากองทัพของพระยาตากได้ชัยชนะหรือไม่ มีแต่รายงานซึ่งไม่ยืนยันแน่นอนว่า เมืองทั้งสองถูกยึดได้
พระยาศรีสัชนาลัยบดี (เลี้ยง ศิริปาละกะ) บันทึกว่า :-
ในปลายปีชวดนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จยกพยุหโยธาไทยจีน สรรพด้วยสรรพาวุธทั้งทางบกทางเรือ ขึ้นไปตีเมืองพิษณุโลก ซึ่งเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ตั้งตัวเป็นเจ้าแข็งเมืองอยู่ ได้รบกันเป็นสามารถ ข้าศึกยิงปืนกระสุนปืนเฉียดขาเจ้าหมื่นไวยวรนาถ ซึ่งนั่งเรือหน้าพระที่ นั่งผ้านุ่งขาด กระสุนเลยไปต้องพระองค์เบื้องซ้าย จึงได้ล่าทัพกลับพระนคร
จดหมายเหตุความทรงจำ ของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี บันทึกไว้ว่า :-
ไปตีเกยชัยถูกปืนไม่เข้า: 2
หนังสือ ต้นวงศ์ตระกูลพะญาศรีสหเทพชื่อทองเพ็ง กล่าวว่า :-
อนึ่งครั้งนั้นที่มีกองทัพ พระจ้าวตากยกมาจากกรุงธนบุรี มีรี้พลล้อมกรุงพระพิศณุโลกย์ ๆ ต่อสู้รบกันโดยสามารถอาจหาญยิ่งหนัก พลทหารกองพระมหาอุปราชย์กรุงพระพิศณุโลกย์ ยิงปืนนกสับคาบศิลายาว ๗ คืบ ออกไปต้องพระฌงค์เบื้องซ้ายแห่งพระจ้าวตาก (สิน) พระจ้าวแผ่นดินกรุงธนบุรีศรีอยุทธยา กำลังทรงพระคชาธารอยู่น่าพลทหารในสมรภูมิ์ยุทธ์ที่พระฌงค์ถูกกระสุนปืนนั้นเป็นแผลฉกรรจ์ จนถึงพระมังษังหวะพระโลหิตไหลเป็นที่ชุ่มชื้นพระบุพโพอยู่เสมอมิได้ขาด กระสุนปืนนั้นถูกเผินไปหน่อยหนึ่งจึ่งหาถูกถนัดตรงพระอัฐิไม่ เปนแต่พระมังษะขาดเป็นช่องไปหน่อยหนึ่งเท่านั้น ขณะนั้นพระจ้าวตากมีพระราโชงการดำหรัศสั่งแก่ นายทัพนายกองให้ล่าทัพกลับไปยังกรุงธนบุรี: (ฐิ)–(ฐี)
ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) นับเป็นชุมนุมใหญ่ชุมนุมแรกที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปตีแล้วไม่สำเร็จ
หมายเหตุ หลวงโกษา (ยัง) เดิมเป็นเจ้าเมืองพิจิตร เป็นขุนนางที่สนิทสนมกับเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ซึ่งมาช่วยราชการในการสู้รบเสมอ หลังจากเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) รวบหัวเมืองและตั้งชุมนุมแล้วจึงแต่งตั้งให้หลวงโกษา (ยัง) เป็นทหารของตนเอง หลังจากชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) พ่าย จึงหลบหนีไปเมืองสวางคบุรีไปเป็นทหารของชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน)
การสวรรคต
เมื่อ พ.ศ. 2311 ปีชวดสัมฤทธิศกเดือนสิบเอ็ด พระเจ้าพิษณุโลก เสด็จสวรรคตด้วยโรคฝีระลอกในคอ: 260 หรือโรคชักกระตุกอย่างฉับพลัน: 399
สาเหตุของการสวรรคตของพระเจ้าพิษณุโลกมีมูลเหตุสืบเนื่องจาก เมื่อ พ.ศ. 2308 (จ.ศ. 1127 ปีระกา) ก่อนใกล้จะเสียกรุงครั้งที่ 2 ระหว่างที่พม่าล้อมกรุง ปรากฏว่าเกิดโรคฝีระบาดในกรุงศรีอยุธยา: 42 : 24 และมีชาวกรุงศรีอยุธยาหลบหนีพม่าเข้าไปรวมกับชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) จำนวนมาก คงจะเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสของโรคฝี (ไข้ทรพิษ) ซึ่งอยู่ในคนเป็นหลัก และสามารถติดต่อแพร่เชื้อระหว่างคนกับคนได้ง่ายมากผ่านละอองฝอยเล็กๆ โดยการหายใจ ไปถึงเมืองพระพิษณุโลก
ปรากฏใน จดหมายเหตุโหร ตำราพระยาโหราธิบดี (เถื่อน) เจ้ากรมโหรหลวง ซึ่งไม่มีกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารไทย ความว่า :-
ศักราช ๑๑๒๗ ปีระกา เศษ ๓ ไอ้พม่าล้อมกรุง ชนออกฝีตายมากแล
ในขณะที่พระราชพงศาวดารฉบับความพิศดารซึ่งชำระในสมัยรัชกาลที่ 4 (ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน และ ฉบับพระราชหัตถเลขา) และ ปฐมวงศ์ พยายามนำเสนอการสวรรคตของพระเจ้าพิษณุโลกในทางให้ร้ายว่า เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) มีจิตกำเริบถือตัวเกินวาสนา มีบุญญาธิการไม่ถึง หรือ รับพระราชโองการโดยไม่มีการพิธีราชาภิเษกอยู่ได้ 7 วันก็ถึงพิราลัย ซึ่งขัดแย้งกับ จดหมายเหตุโหร ตำราพระยาโหราธิบดี (เถื่อน) เจ้ากรมโหรหลวง
โดยเหตุการณ์เสด็จสวรรคตนี้ มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวแตกต่างกันออกไป เช่น
สังคีติยวงศ์ พงศาวดาร เรื่องสังคายนาพระธรรมวินัย สมเด็จพระวันรัตนวัดพระเชตุพน ในรัชกาลที่ ๑ กล่าวว่า :-
พระองค์เสวยราชในนครพิษณุโลกนั้นได้ ๖ เดือน มีอายุได้ ๔๙ ก็ทำกาลกิริยาไป: 417–418
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาภาษามคธ ฉบับ สมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตอน แผ่นดินพระยาพิศณุโลก กล่าวว่า :-
พระยาพิษณุโลกอยู่ในราชสมบัติ ๖ เดือน พระชนมายุได้ ๔๙ ปี ก็เสด็จสวรรคตไปตามยถากรรม: 32–33
ใน บทละครรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เรื่อง งานสร้างชาติไทย กล่าวว่า :-
เจ้าพิษณุโลก (เรือง โรจนกุล) ประกาศตนเป็นกษัตริย์ ครองพิษณุโลกมหานคร รบกับคณะเมืองสวางคบุรี ๓ ครั้ง ไม่แพ้ไม่ชะนะกัน ครองราชสมบัติอยู่ ๖ เดือนก็พิราลัยราวเดือน ๑๑ (ก่อนที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จะทรงนำกองทัพเรือกู้ชาติเข้ามาปราบพะม่ากรุงเก่า ๑ เดือน) ศิริชนมายุ ๔๙ พรรษา: 200
พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ฉบับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งนิพนธ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 กล่าวขัดแย้งกันว่า :-
ในปีชวด สัมฤทธิศกนั้น ฝ่ายเจ้าพระพิษณุโลกเรืองเมื่อมีชัยชนะแก่ข้าศึกฝ่ายใต้แล้ว ก็มีน้ำใจกำเริบถือตัวว่ามีบุญญาธิการมาก จึงตั้งตัวขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินรับพระราชโองการ อยู่ได้ประมาณเจ็ดวัน ก็บังเกิดวัณโรคขึ้นในคอถึงพิราลัย: 322
เรื่อง ปฐมวงศ์ พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กล่าวขัดแย้งว่า :-
เจ้าเมืองพระพิษณุโลกนั้นมีจิตกำเริบ บังคับให้ทอดโฉนดบาดหมายอ้างบังคับของตนเรียกว่า พระราชโองการโดยไม่มีการพิธีราชาภิเษก อยู่ได้ ๗ วัน ก็ถึงแก่พิราลัย: 230–231
หนังสือ ต้นวงศ์ตระกูลพะญาศรีสหเทพชื่อทองเพ็ง กล่าวว่า :-
ครั้นอยู่มากาลสมัยหนึ่ง จึ่งพระจ้าวกรุงพระพิศณุโลกย์ทรงพระประชวรเปนไข้พิศม์ได้ ๑๕ วันเสด็จดับขันธ์สวรรค์คต พระชนมายุศม์ได้ ๕๒ พรรษาถ้วนควรที่จะสังเวชน์: (ฐิ)
พระยาไชยบูรณ์ (จัน): (ฐิ) หรือ พระอินทรอากร (จัน) พระอนุชาของเจ้าพระยาพิษณุโลกซึ่งเป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรฯ จึงกระทำฌาปนกิจศพแล้วขึ้นครองเมืองแทนพี่ชายแต่ไม่ได้สถาปนาเป็นกษัตริย์: (ฐิ)
ครั้นเมื่อพระจ้าวกรุงพระพิศณุโลกย์สวรรค์คตแล้ว พระมหาอุปราชย์ กรมพระราชวังบวร ฯ พระอนุชาธิราช ได้ครอบบ้านครองเมืองแทนพระเชษฐาธิราช ในกรุงพระพิศณุโลกย์ราชธานีต่อไป...
นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า "จะเห็นได้ว่าเจ้าพระยาพิษณุโลกได้ทำการราชาภิเษกมานานแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งตัวเป็นใหญ่ได้ไม่นาน เพราะเป็นกลวิธีเดียวที่จะมีอำนาจเหนือหัวเมืองเหนือได้ เป็นเพราะหลักฐานสมัยหลังต่างหากที่กล่าวว่าเจ้าพระยาพิษณุโลกได้ชัยชนะจากพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้วกำเริบถือตัวว่ามีบุญญาธิการมาก จึงตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดิน รับพระราชโองการอยู่ได้ประมาณ ๗ วัน ก็บังเกิดวัณโรคขึ้นในคอถึงพิราลัย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเกรงกลัวสถาบันพระมหากษัตริย์": 151
หลักฐานแตกต่างกรณีสวรรคต
หลักฐาน | ประเภท | ผู้แต่ง | ปีที่แต่ง/ชำระ | ระยะครองราชย์ |
---|---|---|---|---|
พระราชสาส์นหูซื่อลู่ (พิษณุโลก) ถึงพระเจ้ากรุงจีน | ปฐมภูมิ | 扶世祿王 [พระเจ้าพิษณุโลก (เรือง)] | พ.ศ. 2310 | 6 เดือน หรือมากกว่า |
สังคีติยวงศ์ พงศาวดาร เรื่องสังคายนาพระธรรมวินัย | ทุติยภูมิ | สมเด็จพระวันรัตนวัดพระเชตุพน ในรัชกาลที่ ๑ | พ.ศ. 2332 | 6 เดือน |
พงษาวดารกรุงศรีอยุทธยา ภาษามคธแลคำแปล | ทุติยภูมิ | สมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ผู้แปล: พระยาพจนสุนทร (เรือง อติเปรมานนท์ | สมัยรัชกาลที่ 1 | 6 เดือน |
พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน | ทุติยภูมิ | 1) สมเด็จพระวันรัตน์ วัดพระเชตุพน 2) กรมพระปรมานุชิตชิโนรส | พ.ศ. 2338 | 7 วัน |
ธรรมเนียบตระกูลสังเขปครั้งกรุงเก่า | ทุติยภูมิ | หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) | พ.ศ. 2377 | 6 เดือน หรือมากกว่า |
พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา | ทุติยภูมิ | 1) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2) กรมหลวงวงศาธิราชสนิท 3) กรมพระยาดำรงราชานุภาพ | พ.ศ. 2398 | 7 วัน |
ปฐมวงศ์ | ตติยภูมิ | พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | พ.ศ. 2403 | 7 วัน โดยไม่มีพิธีราชาภิเษก |
ต้นวงศ์ตระกูลพะญาศรีสหเทพชื่อทองเพ็ง | ตติยภูมิ | ก.ศ.ร. กุหลาบ | พ.ศ. 2449 | ประชวร 15 วัน แล้วเสด็จสวรรคต |
บทความเรื่อง ข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาตอนปลายและกรุงธนบุรีจากจดหมายเหตุจีน | ตติยภูมิ | ณัฏฐภัทร จันทวิช | พ.ศ. 2523 | 6 เดือน หรือมากกว่า |
บทความเรื่อง รัฐพิษณุโลก (?): สถานะของเมืองพิษณุโลกหลังการล่มสลายของศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2309-13) | ตติยภูมิ | ธีระวัฒน์ แสนคำ | พ.ศ. 2557 | 6 เดือน หรือมากกว่า |
ชุมนุมพิษณุโลกล่มสลาย
- ระยะที่ 2 ภายใต้การนำของพระยาไชยบูรณ์ (จัน) หรือพระอินทรอากร
ภายหลังเมืองพิษณุโลกอ่อนแอลงเนื่องจากพระอินทรอากรไม่ชำนาญการรบ เป็นคนธรรมะธรรมโม ชอบเข้าวัดฟังเทศน์ทำบุญอยู่เป็นนิตย์ และไม่เป็นที่นิยมของชาวเมืองและบรรดาข้าราชการ: 343 ต่อมาชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) จึงอ่อนแอลงจึงเกิดไส้ศึกมีชาวเมืองเปิดประตูเมืองรับทัพเจ้าพระฝางเข้าเมือง เนื่องจากทัพเจ้าพระฝางมาล้อมเมืองพิษณุโลกได้ 3 เดือนจนบ้านเมืองเกิดความอดอยาก ส่งผลให้เกิดการรุกรานของชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) ขึ้นจนตีเมืองเมืองพิษณุโลกแตกไปในที่สุด พระอินทร์อากรถูกเจ้าพระฝาง (เรือน) จับต้องโทษจนเสียชีวิต ขุนนางเก่าที่เคยสนับสนุนเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ต่างก็ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าพระฝาง (เรือน): 399 บรรดาขุนนางและชาวเมืองพิษณุโลกที่หนีออกมาได้จึงหนีไปพึ่งเป็นบริวารของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ปรากฏใน จดหมายเหตุโหร ความว่า "ปีชวด จ.ศ. ๑๑๓๑ เมืองพิษณุโลก เมืองพิจิตร แตกมาสู่โพธิสมภาร..."
จดหมายมองซิเออร์คอร์ ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ บางกอก วันที่ ๗ เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๗๗๐ (พ.ศ. ๒๓๑๓) บันทึกร่วมสมัยของมองซิเออร์คอร์ซึ่งเข้ามาอยู่อาศัยในเมืองไทย และได้เที่ยวดูในพระราชธานี มองซิเออร์คอร์ได้พบเด็กในสภาพอดอยากเป็นจำนวนมาก มีเด็กพวกนี้เข้ารีดเป็นจำนวน 400 คน และเด็กส่วนใหญ่เป็นบุตรชาวบ้านนอกซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้พามาจากหัวเมืองหลังจากเสด็จไปปราบปรามหัวเมือง
คนเหล่านี้เป็นชาวเมืองพิษณุโลก และชาวเมืองนครราชสีมา ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินได้พาลงมาเป็นชะเลย เพื่อจะให้คนในกรุงแน่นหนาขึ้น เพราะตั้งแต่ครั้งรบกับพะม่า ในกรุงหมดผู้หมดคน เหลือแต่เสือและสัตว์ป่าเท่านั้น คนที่ต้องมาเป็นชะเลยนั้นหมดทางที่จะทำมาหากิน เพราะมาอยู่ในภูมิประเทศใหม่ซึ่งไม่เคยได้อยู่เลย เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้จึงจวนจะตายด้วยอดอาหารการกิน และก็ไม่มีใครที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือพวกนี้เลย
ชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) เป็นชุมนุมของกบฏไพร่ ตั้งอยู่ที่วัดพระฝาง เมืองสวางคบุรี (เมืองฝาง) มีอาณาเขตทางเหนือถึงหัวเมืองแพร่และน่าน เชื่อมต่อกับวัฒนธรรมระหว่างสยาม ล้านนา และล้านช้าง และอาณาณาเขตทางใต้ถึงหัวเมืองอุทัยธานี: 20 รุกล้ำเข้าแดนเมืองชัยนาท ดังปรากฏ "ด้วยเหล่าร้ายนั้นยกลงมาตระเวน ตีเอาข้าวปลาอาหาร เผาเรือนเสียหายหลายตำบล ไพร่บ้านพลเมืองได้รับความแค้นเคืองขัดสน” ซึ่งอาณาเขตทางใต้ได้มาจากการที่ชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) ผนวกกับชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เจ้าพระฝาง (เรือน) ถูกกล่าวหาว่าเป็น “คนอาสัตย์อาธรรมฝ่ายเหนือ” เพราะเป็นพระภิกษุที่ย่ำยีพระธรรมวินัย
เหตุการณ์ตามพระนิพนธ์กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
พระนิพนธ์เรื่อง เที่ยวตามทางรถไฟ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ว่า เมื่อพม่ามาตีกรุงศรีอยุธยา ยกกองทัพมาทางเมืองกาญจนบุรี 1 ทาง ทางเมืองเชียงใหม่ 1 ทาง พม่าไม่กล้าไปตีเมืองพิษณุโลก ยกหลีกเลยมาทางเมืองสุโขทัย เจ้าพระยาพิษณุโลกยกกองทัพติดตามไปตีพม่า กำลังรบกันอยู่ทางเมืองพิษณุโลกมีพวกไทยด้วยกันชิงเมือง (หมายถึงเจ้าฟ้าจีด) เจ้าพระยาพิษณุโลกจึงล่าทัพกลับไปรักษาเมืองตามเดิม ครั้นไม่มีพระราชาธิบดีปกครองกรุงศรีอยุธยาแล้ว เจ้าพระยาพิษณุโลกตั้งชุมนุม เจ้าพระฝางยกกองทัพมาตีเมืองพิษณุโลก ต้องล้อมเมืองอยู่ 7 เดือนตีไม่ได้เมืองจึงล่าทัพกลับไป
เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมายกกองทัพหมายจะตีเมืองพิษณุโลกแต่ก็ถูกปืนต้องล่าทัพกลับ เจ้าพระยาพิษณุโลกจึงตั้งตัวเป็นใหญ่ได้ทำพิธีราชาภิเษกตั้งตัวขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ แต่เผอิญเกิดโรคที่ในคอ พอราชาพิเษกได้ 7 วันก็ถึงแก่พิราลัย เป็นเหตุให้คนทั้งหลายเห็นว่ายกตนเกินวาสนา เมืองพิษณุโลกจึงอ่อนแอลง เจ้าพระฝางได้ยกทัพมาอีกตั้งล้อมอยู่ 2 เดือนก็ได้เมืองพิษณุโลก
การปราบหัวเมืองเหนือ และการฟื้นฟูสู่กรุงธนบุรี พ.ศ. 2313
พ.ศ. 2313 ตรงกับวันเสาร์เดือน 8 แรม 14 ค่ำ เดือนมิถุนายน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพไปตี ชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) และพม่า หัวเมืองเหนืออีกครั้งโดยแบ่งเป็น
- 1. ทัพหลวงเป็นทัพเรือ กำลังพล 12,000 นาย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จขึ้นไปถึงพิษณุโลกก่อนทัพบก 9 วัน ตีเมืองพิษณุโลกไปก่อน
- 2. ทัพบกที่ 1 กำลังพล 5,000 นาย ให้ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (บุญมา) (ขณะนั้นทรงบรรดาศักดิ์เป็นพระยายมราช) เป็นแม่ทัพ เดินทัพไปทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาและน้ำน่าน ซึ่งทัพบกที่ 1 เดินทางมาถึงก่อนทัพบกที่ 2 2 วัน
- 3. ทัพบกที่ 2 กำลังพล 5,000 นาย ให้ เจ้าพระยาพิชัยราชา (ขณะนั้นบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาพิชัยราชา") เป็นแม่ทัพ ให้เดินทัพไปทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาและน้ำน่านบรรจบกับทัพยกที่ 1 ที่พิษณุโลก
ชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) นับเป็นชุมนุมสุดท้ายที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตีได้ ต่อมาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้เดินทัพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (บุญมา) ไปตีเมืองสวางคบุรี เมื่อทัพบกของเจ้าพระยาพิชัยราชามาถึงจึงให้รีบไปช่วยทัพของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (บุญมา) ตีเมืองสวางคบุรี
วันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 7 ค่ำ เมื่อตีเมืองสวางคบุรีได้แล้ว มีชาวเมืองสวางคบุรีส่วนหนึ่งหนีขึ้นไปล้านนา ส่งผลให้โป่มะยุง่วน ขุนนางพม่าเชื้อพระวงศ์ เป็นอุปราชอาณาจักรล้านนา เจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ขณะนั้นทรงทราบสถานการณ์แล้วว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสามารถรวบรวมประเทศเป็นอาณาจักรเดียวกันเรียบร้อยแล้วนับจากวันที่เริ่มกอบกู้อาณาจักร 6 พฤศจิกายน 2310 เป็นเวลานาน 2 ปี 10 เดือน
พระราชอิสริยยศและพระเกียรติยศ
บรรดาศักดิ์
สมัยกรุงศรีอยุธยา
- รัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ
- เจ้าราชนิกูล (ไม่ปรากฏบรรดาศักดิ์)
- รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ – สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์
- อาลักษณ์ กรมมหาดไทย (ไม่ปรากฏบรรดาศักดิ์)
- หลวงเสนามาตย์ (เรือง) ศักดินา 1600 มหาดไทยฝ่ายเหนือ กรมมหาดไทย
- พระราชฤทธานนพหลภักดี (เรือง) ศักดินา 3000 ยกกระบัตรเมืองพระพิษณุโลก กรมวัง รั้งตำแหน่งพระปลัดเมืองพระพิษณุโลก (หัวเมืองพิษณุโลกมีปลัดเมือง 2 คน ปลัดอีกคน คือ หลวงไชยบูรณ์)
- พระยาสุรสุนทรบวรพิศณุวาธิราช ชาติพัทยาธิเบศวราธิบดี อภัยพิรียบรากรมภาหุ: 331 : 172 หรือ พญาพิศณุโลก (เรือง) (รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ศักดินา 10000 (พระยาพานทอง) เจ้าเมืองพระพิษณุโลกขึ้นกับกรมมหาดไทย
- เจ้าพระยาสุรสีห์พิศณุวาธิราช ชาติพัทยาธิเบศวราธิบดี อภัยพิริยบรากรมภาหุ เมืองพิศณุโลก เอกอุ นา ๑๐๐๐๐ ขึ้นประแดงเสนาฏขวา หรือ เจ้าพระยาพิศณุโลก (เรือง) (รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ – พ.ศ. 2310) ศักดินา 10000 เอกอุ (บรรดาศักดิ์ขุนนางชั้นสูงสุด; พระยานาหมื่นหัวเมืองเอก ก็เรียก: 322 ) เจ้าเมืองพระพิษณุโลกเอกอุ ถือตราพระราชสีห์ แม้ไม่ได้เป็นเจ้านายแต่ก็ยังอยู่ในฐานะพิเศษ ศักดินาเจ้าเมืองเทียบเท่าอัครมหาเสนาบดีที่สมุหนายกและสมุหพระกลาโหม มียศสูงกว่าเสนาบดีชั้นจตุสดมภ์ และยังมีฐานะเปรียบได้ดั่งกษัตริย์ในบ้านเมืองของตน เพราะเมืองพิษณุโลกเป็นเมืองหลวงในช่วงที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงครองราชย์ในช่วงราชอาณาจักรอยุธยาซึ่งเป็นช่วงที่มีส่งครามยืดเยื้อกับอาณาจักรล้านนา ไม่เพียงแต่เป็นเมืองพระมหาอุปราช แต่ยังเป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่คอยดูแลหัวเมืองเหนือทั้งหมดและดูเหตุการณ์ด้านเมืองพม่าและเมืองมอญ
หมายเหตุ:
- สันนิษฐานว่าอาจจะได้ตั้งบรรดาศักดิ์ชั้นพระยา และเจ้าพระยาในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เนื่องจากไม่พบหลักฐานว่าสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ตั้งเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เพราะขณะนั้นเป็นช่วงฉุกละหุกเกิดการสับเปลี่ยนกษัตริย์ภายในราชวงศ์ ประกอบกับหัวเมืองพิษณุโลกเป็นเมืองเอกที่เป็นหน้าด่านเกิดสงครามบ่อยครั้ง อย่างไรก็ตามปรากฏบรรดาศักดิ์เด่นชัดของเจ้าพระยาพิศณุโลก (เรือง) ในสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ เมื่อได้ทรงครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร
- เจ้าเมืองพิษณุโลกทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาร่วมกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
- ราชทินนาม เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ เป็นราชทินนามของเจ้าเมืองพิษณุโลกในสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ สำหรับขุนนางบรรดาศักดิ์ชั้นเจ้าพระยา และพระญาติพระวงศ์ที่ครองหัวเมืองพิษณุโลก
พระราชอิสริยยศ
สมัยกรุงธนบุรี
- รัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ระหว่างการจลาจลหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พ.ศ. 2310–11
- พระเจ้ากรุงพิษณุโลก หรือ พระเจ้าพิศณุโลก (เรือง) (พ.ศ. 2311) (อังกฤษ: King Ruang, Prince Ruang, พระนามภาษาจีน หูซื่อลู่ หรือ หูซื่อลู่หวาง (อังกฤษ: Fu Si Lu, Fu Shi Lu Wang; จีน: 扶世祿, 扶世禄, 扶世祿王)): 4 ราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ครองเมืองพิษณุโลก: 67 เมื่อ พ.ศ. 2311 สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยจัดพระราชพิธีราชาภิเษกตามระบบจารีตประเพณีของอาณาจักรอยุธยา มีพระราชปุโรหิตาจารย์ในสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ ขุนนางหัวเมืองขั้นโทชั้นตรีรอบเมืองพิษณุโลกต่างๆ และขุนนางที่หลบหนีมาจากกรุงศรีอยุธยาครั้นกรุงแตกจำนวนมากร่วมพระราชพิธีดังกล่าว ทรงสำเร็จราชการแผ่นดินเมืองพิษณุโลก หัวเมืองชั้นเอก ครอบคลุมทั้ง 7 มณฑล พระเจ้าพิศณุโลก (เรือง) ประทับ ณ พระราชวังจันทน์ เมืองพระพิษณุโลก รวมทั้งยังมีความพยายามที่จะบูรณะฟื้นฟูพระราชวังจันทน์เพื่อใช้เป็นที่ประทับ: 31
- หมายเหตุ
พระราชอิสริยยศของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เมื่อตั้งตนเป็นกษัตริย์ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาภาษามคธแลคำแปล ใช้คำว่า “ราชาภิเษก” สำหรับพระเจ้าแผ่นดินเสวยราชสมบัติสืบพระวงศานุวงศ์ (สืบสายโลหิตตามกฎมนเทียรบาล) และใช้คำว่า “เสด็จสวรรคต” สำหรับพระเจ้าแผ่นดิน ขณะที่ พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน และพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ใช้คำว่า “พิราลัย” ฐานันดรศักดิ์เสมอสมเด็จเจ้าพระยา หรือเจ้าประเทศราช ส่วน เอกสารสำคัญทางประวัติ โดยเถา ศรีชลาลัย ใช้คำว่า “ทิวงคต” ฐานันดรศักดิ์เสมอพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือพระราชวงศ์ซึ่งทรงเศวตฉัตร 7 ชั้น
เครื่องราชอิสริยยศ
เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ได้รับพระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม ตามทำเนียบศักดินาหัวเมืองเจ้าเมืองพิษณุโลกและเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช รวมถึงมีตำรวจสำหรับแห่อย่างเจ้า ที่ปรากฏในกฏมณเฑียรบาล ตำแหน่งพระยาหัวเมือง กินเมืองทั้ง 4 ฝ่าย (จตุสดมภ์) ดังนี้
- ขี่คานหามกรรชิงหุ้มผ้าขาว (ขุนนางสามัญชน) (สำหรับขุนนางหัวเมืองชั้นเจ้าพระยา) หรือเสลี่ยงหามเป็นยานพาหนะ
- ดาบพระแสงราชศัสตรา (พระแสงดาบอาญาสิทธิ์) ประจำหัวเมืองพิษณุโลก: 68
- เครื่องสูง
- พานทองเครื่องยศอย่างเจ้า
- น้ำเต้าน้ำทอง
- เสลี่ยงงา เสลี่ยงกลีบบัว
- เจียดทองซ้ายขวา
- เครื่องทอง
- กระบี่กั้นหยั่น กระบี่บั้งทอง
- ร่มปลิก 2 คัน
- ทานตะวันเบื้อ 1 คู่
- กรรชิงหุ้มผ้าแดง 1 คัน
- เรือกูบแมงดาคฤ 3 ตอน
- บดลาดสาวตคุดหัวท้ายนั่งหน้าสอง คานหาม เก้าอี้ทอง ศิโรเพฐน์มวยทอง แตรลำโพง 3 คู่ และปี่กลอง
วัฒนธรรมร่วมสมัย
บทบาทการมีตัวตนของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) รวมถึงบุคคลในครอบครัวถูกสร้างการรับรู้แก่สังคมไทยในยุคปัจจุบันผ่านวรรณกรรม งานเขียน ละคร และนวนิยายอิงประวัติศาสตร์หลากหลาย เช่น
วรรณกรรมและนวนิยายอิงประวัติศาสตร์
วรรณกรรมไทย
- สังคีติยวงศ์ เป็นวรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2332 โดยสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ครั้งยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรม กล่าวถึง เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ตั้งตนขึ้นเป็นอิสระรับพระโองการให้ยกเศวตฉัตรขึ้นแล้วทำการอภิเษกหลังจากเสียกรุงศรีครั้งที่สอง วรรณกรรมดังกล่าวเขียนเป็นภาษาบาลี ว่า "อิติ อโยชฺฌนคเร วินาสิเต ปิ ตทา อโยชฺฌวิชิเต วิสฺสณุโลกราชา จ นครสิริธมฺมราชา จ นครราชสีมาราชา จ วรนายราสี จาติ จตสฺโส ชนา อตฺตโน อตฺตโน นคเร อิสฺสรา อเหสุ" มีความหมายว่า "อโยธยนครถึงพินาศโดยประการ ดังนี้แล้ว ครั้งนั้นในแว่นแคว้นอโยธยา มีชาย ๔ คนตั้งเป็นอิสระขึ้นในนครของตนๆ คือ พระยาพิษณุโลกราช ๑ พระราชานครสิริธรรมราช ๑ พระราชานครราชสิมาราช ๑ วรนายราศีคือพระนายกอง ๑"
- บทละครรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เรื่องงานสร้างชาติไทย มีการกล่าวถึงการเกิดสงครามปะทะกันหลายครั้งระหว่างที่เจ้าพิษณุโลก (เรือง ต้นสกุลโรจนกุล) ยังมีพระชนม์อยู่
- กรุงแตก เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ประพันธ์โดย หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) หรือกิมเหลียง โดยกล่าวถึงบทบาททางการสงครามของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) คราวเสียงกรุงครั้งที่สอง และท่านผู้หญิงเชียง ภริยาของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) กับคุณหญิงนิ่มนวล ในบทบาทสตรีที่เป็นผู้ต่อต้านการเข้ายึดเมืองพิษณุโลกของเจ้าฟ้าจีด
- ยุคันตวาต ๒ ภาคสงครามพระเจ้าอลองพญา นิยายแฟนตาซีอิงประวัติศาสตร์ แต่งโดย LanzaDeluz (นามแฝง) กล่าวถึงบทบาทของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ตอน ราชการศึกในท้องพระโรง: ตอนที่ ๑
- ชีวิตของประเทศ เป็นนวนิยายไทยอิงประวัติศาสตร์ขนาดยาว ประพันธ์โดย วิษณุ เครืองาม เป็นนิยายที่อิงเหตุการณ์การล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา การกู้แผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าตากสิน จนกระทั่งมีการสร้างไทยให้เป็นหนึ่งของแผ่นดินจนถึงรัชกาลที่ 5 กล่าวถึง เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ว่า ได้ตั้งตัวเป็นใหญ่และอภิเษกเป็นพระเจ้ากรุงพิษณุโลก ได้ตั้งพระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) เป็นเจ้าพระยาจักรีฝ่ายพิษณุโลก
- สมบัติเจ้าพระฝาง แต่งโดย นวลแสงทอง เป็นเรื่องราวลี้ลับอิงประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปสมัยไทยเสียกรุงแก่พม่า สมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2310 มีคณะกู้ชาติแตกออกเป็น 6 ก๊ก กล่าวถึง เจ้าพระยาพิษณุโลกตั้งตัวเป็นกษัตริย์
- บุญมาพระยาเสือ เป็น นิยายอิงประวัติศาสตร์ แต่งโดย ปองพล อดิเรกสาร โดยนำข้อเท็จจริงที่มีอยู่ตั้งแต่ช่วงก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ยุคสมัยพระเจ้าตากสิน จนถึงสมัยรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์มาปรุงแต่งใส่เรื่องราว ความรู้สึกของตัวละคร รวมทั้งวิถีชีวิตผู้คนในยุคสมัยให้มีชีวิตชีวาตามจินตนาการของผู้แต่ง นิยายเรื่องนี้มีบทสนทนาระหว่างหลวงพินิจอักษร (ทองดี) (พ่อ) กับบุญมา (บุตร) กล่าวถึง เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) สหายสนิทของหลวงพินิจอักษร (ทองดี) มีหนังสือชักชวนให้หลวงพินิจอักษร (ทองดี) ไปอยู่เมืองพิษณุโลกก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก และเหตุการณ์การปราบก๊กของพระยาพิษณุโลก (เรือง) ของพระเจ้าตากสิน
- ยอดเศวตฉัตร แต่งโดย หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง) นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ช่วงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจนถึงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง กล่าวถึงเหตุการณ์เจ้าฟ้าจีดแย่งขึ้นนั่งเมืองพิษณุโลกในขณะที่เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) กำลังติดศึกรบพม่าที่เมืองสุโขทัยอยู่ จำเป็นต้องยกกำลังกลับเมืองพิษณุโลกแล้วจับเจ้าฟ้าจีดไปสำเร็จโทษด้วยการถ่วงน้ำ
- หนึ่งด้าวฟ้าเดียว ประพันธ์โดยวรรณวรรธน์ นิยายอิงประวัติศาตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายถึงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 กล่าวถึงชุมนุมพิษณุโลก
วรรณกรรมต่างประเทศ
- Yodaya Naing Mawgun (โยธยาพ่าย) (พม่า: ယိုးဒယားနိုင်မော်ကွန်း) วรรณกรรมจากประเทศพม่า เป็นบันทึกของ เลตเว นอระธา (Letwe Nawrahta; 1723-1791) ข้าราชสำนักของพม่า เมื่อ พ.ศ. 2310 ช่วงเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง บันทึกตอนที่ 3 บทที่ 19 ถึง 27 กล่าวถึง ความแข้มแข็งของทัพพิษณุโลกและหัวเมืองเหนืออื่นๆ ซึ่งเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เป็นแม่ทัพฝ่ายเหนือของกรุงศรีอยุธยา ว่าเป็นศัตรูที่กล้าหาญและคู่ควรกับฝ่ายพม่า ซึ่งแม่ทัพฝ่ายพม่าต้องปรับยุทธศาสตร์วิธีรบใหม่ ซึ่ง Soe Thuzar Myint ได้ถอดจากอักษรต้นฉบับภาษาเมียนมาจากใบลานเป็นภาษาอังกฤษ ความว่า "Siamese reinforcements sent from Phitsanulok and other towns were routed. The poet portrays the Siamese as a courageous foe, a worthy adversary of the Myanmar whose commanders had to resort to innovative tactics."
- Rattanakosin : The Birth of Bangkok นวนิยายภาษาต่างประเทศอิงประวัติศาสตร์ไทย แต่งโดย Paul Adirex กล่าวถึง ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ได้จัดทัพต่อต้านทัพฝ่ายพระเจ้ากรุงธนบุรีเขตเมืองนครสวรรค์ และการพิราลัยของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) หลังทำพิธีราชาภิเษก
ฉันทลักษณ์
- วรรณคดีไทย เรื่อง สามกรุง พระนิพนธ์ของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (นามปากกา น.ม.ส.) ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 2485 เป็นร่ายสุภาพประกอบโคลง ๒ ร่วมกับโคลง ๔ สุภาพ ทรงแทรกทัศนะส่วนพระองค์วิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์บ้านเมืองจากพระราชพงศาวดารตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา
ร่ายสุภาพ
๏ เจ้าพระยาพิศณุโลก คนึงโฉลกบ้านเมือง (นามเดิม "เรือง" เลื่องนาม) คิดเห็นตามโอกาศ ว่าวาศนามาดล จึ่งเชิญตนเชิดตั้ง โดดเด่นเป็นใหญ่ครั้ง เมื่อไร้ไอศวรรย์ เดิมแล ฯ
— พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, สามกรุง (ไทยสี่ก๊ก ตอน เจ้าพิศณุโลก), (พ.ศ. 2485)
โครง ๒ สุภาพ
๏ ธนบุรินทร์ปิ่นเผ้า | ปรารภพิศณุโลกเจ้า | |
จัดสู้ดูแรง ฯ |
โครง ๔ สุภาพ
๏ เจ้าพิศณุโลกปลื้ม | ปรีดี | |
นึกว่าบารมีมี | ช่อช้วย |
กอบการอภิเศกศรี | เสวตรฉัตร | |
งานเสร็จเจ็ดวันม้วย | จึ่งน้องครองเมือง ฯ |
- กลอนสุภาพ เรื่อง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประพันธ์โดย พลตรีวิเชียร ชูปรีชา
๏ ได้เวลาพระเจ้าตากกำจัดก๊ก | พิษณุโลกก๊กแรกต้องให้สิ้น | |
ยกทัพเรือรุดหน้าฝ่าวาริน | พระองค์อินทร์เป็นจอมทัพพร้อมไพร่พล |
เจ้าพระยาพิษณุโลกมีบัญชา | หลวงโกษามาต้านทานด้วยการปล้น | |
จัดเรือเพรียวดักซุ่มตั้งกลุ่มโจร | ที่ตำบลเกยชัยรับให้ดี | |
— พลตรีวิเชียร ชูปรีชา |
ละคร
- ฟ้าใหม่ เป็นนวนิยายประพันธ์โดย ดัดแปลงเป็นบทโทรทัศน์เมื่อ พ.ศ. 2547 กล่าวถึง เรณูนวล นำแสดงโดย พัชราภา ไชยเชื้อ บทบาทลูกสาวคนเดียวเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) และบทบาทของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) นำแสดงโดย อรรถชัย อนันตเมฆ
- สายโลหิต เป็นนวนิยายประพันธ์โดย โสภาค สุวรรณ และมีการดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ เมื่อคราวออกอากาศครั้งที่ 4 ปี พ.ศ. 2561 กล่าวถึงเหตุการณ์ เกิดกบฏที่เมืองพิษณุโลกขณะเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ยกทัพไปช่วยพระยาสุโขทัย เป็นเหตุให้ต้องล่าทัพกลับเมืองพิษณุโลก: 9
- พรหมลิขิต เป็นนิยายภาคต่อจาก บุพเพสันนิวาส ประพันธ์โดย รอมแพง ซึ่งได้เปิดเผยในงาน เกร็ดประวัติศาสตร์ที่ยังคาใจจากศิลปากรสู่บุพเพสันนิวาส ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ พ่อเรืองเล็ก และพ่อริดบุตรชายของแม่การะเกดกับขุนศรีวิสารวาจาจะไปอยู่ที่เมืองพิษณุโลกพร้อมกับพ่อเรืองใหญ่ (หมื่นเรืองราชภักดี) มีกระแสทางสื่อโซเชี่ยลว่า คุณเรืองเล็กหรือหมื่นเรืองราชภักดี คนใดคนหนึ่ง อาจเกี่ยวข้องกับตำแหน่งเจ้าเมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ที่เริ่มรับราชการในช่วงรัชกาลของพระเจ้าท้ายสระ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2566 รอมแพงให้สัมภาษณ์ในรายการ ลายกนกยกสยาม ว่าในบุพเพสันนิวาสบอกไว้ว่า พ่อเรืองเล็กไปอยู่ที่เมืองสองแควกับพ่อเรืองใหญ่ตั้งแต่เด็ก และเป็นบรรพบุรุษของใครบางคนที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์ รอมแพงยังได้นำชื่อเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) บุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ไปตั้งชื่อตัวละครชื่อ พ่อบุญเรือง ซึ่งเป็นบุตรของพ่อเรืองเล็กกับแม่เรียม
ต้นสกุลโรจนกุล
โรจนกุล (Rochanakul) เป็นนามสกุลพระราชทานสมัยรัชกาลที่ 6 ลำดับที่ 368 ใน สมุดทะเบียฬนามสกุลพระราชทาน เป็นสกุลของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) มีเชื้อสายเป็นเจ้าราชนิกูล: 342 ผู้หนึ่งในราชวงศ์บ้านพลูหลวง นามว่า เจ้าพระพิไชยสุรินทร์ พระราชนัดดาของสมเด็จพระเพทราชา: 24 สมัยกรุงศรีอยุธยา
เมื่อ พ.ศ. 2456 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวนั้น พระยาชำนาญอักษร (ปลอบ) กรมราชเลขาธิการ กระทรวงวัง กับหลวงพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก) ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมยุทธนาธิการ (หรือกรมทหารบก) กระทรวงกลาโหม เป็นผู้กราบบังคมทูลขอพระราชทานนามสกุล เมื่อสืบสายขึ้นไปแล้วจึงทรงพระราชวินิจฉัยใช้คำว่า "โรจนะ" รวมกับคำว่า "กุล" ให้หมายถึง ตระกูลของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามสกุลว่า โรจนกุล เขียนเป็นอักษรโรมันว่า Rochanakul ให้แก่พระยาชำนาญอักษร (ปลอบ) (ขณะมีบรรดาศักดิ์เป็น รองเสวกเอก หลวงลิขิตปรีชา (ปลอบ) ปลัดกรมกองรายงานหนังสือไปมา กรมราชเลขานุการ) กับ นายพันโท หลวงพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก) บิดา พระราชทานเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2456 ตามที่ปรากฏใน ราชกิจจานุเบกษา ประกาศพระราชทานนามสกุลครั้งที่ ๕: 1, 246 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงมุรธาธรในขณะนั้นรับสนองพระบรมราชโองการ
ในคราวพระราชทาน บัตรนามสกุลพระราชทานสกุลโรจนกุล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานอาลักษณ์เป็นผู้เขียนและทรงลงพระปรมาภิไธย "วชิราวุธ ปร." กำกับบัตรนามสกุลพระราชทานว่า :-
ขอให้นามสกุลของ นายพันโท หลวงพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก) กระทรวงกระลาโหม กับหลวงลิขิตปรีชา (ปลอบ) กรมราชเลขานุการตามที่ขอมานั้นว่า "โรจนกุล" เขียนเป็นอักษรโรมันว่า "Rochanakul" อันเป็นนามสกุลแห่งบรรดาผู้ที่สืบสกุลตรงลงมาจากเจ้าพระยาพิศณุโลก (เรือง) อันเป็นมงคลนาม
ขอให้สกุลโรจนกุลมีความเจริญรุ่งเรืองมั่นคงอยู่ในกรุงสยามนี้ชั่วกัลปาวสาน ๚ะ
พระที่นั่งอัมพรสถาน
วันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖— วชิราวุธ ปร., บัตรนามสกุลพระราชทาน, พระที่นั่งอัมพรสถาน (2456).
บัตรรับรองนามสกุลพระราชทาน รัชกาลที่ 6 ออกให้โดย มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ ประธานมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ฯ ลงนามรับรองบัตรว่า :-
พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล โรจนกุล (Rochanakul)* แก่ นายพันโท หลวงพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก) กองหนุน กระทรวงกระลาโหม (บิดา) กับหลวงลิขิตปรีชา (ปลอบ) ปลัดกรมกองรายงานหนังสือไปมา กรมราชเลขานุการ (บุตร) สกุลเจ้าพระยาพิศณุโลก (เรือง) เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๕๖ เป็นลำดับที่ ๓๖๘ ในสมุดทะเบียฬนามสกุลพระราชทาน
*ราชกิจจานุเบกษาลงว่า "โรจนะกุล"— มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์, หอวชิราวุธานุสรณ์ สำนักหอสมุดแห่งชาติ.
ลำดับสมาชิกวงศ์ตระกูล
สมาชิกวงศ์ตระกูลเท่าที่จะสืบได้มีดังนี้
ชั้นบรรพบุรุษ
- สมเด็จพระเพทราชา
- พระราชบุตรธิดาพระองค์หนึ่ง (ไม่ปรากฏหลักฐานพระนามที่แน่ชัด)
- เจ้าพระพิไชยสุรินทร์ (พระราชนัดดา) เจ้าราชนิกูล ต่อมาเป็น กรมหมื่นอินทรภักดี
- หม่อมพัด (เชื้อพระวงศ์)
ชั้นต้นสกุล
- เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) (พ.ศ. 2262 – 2311) เจ้าเมืองพระพิษณุโลก (สืบเชื้อสายจาก เจ้าพระพิไชยสุรินทร์ เจ้าราชนิกูล)
- ท่านผู้หญิงเชียง ท่านผู้หญิงภริยาของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง)
- พระยาไชยบูรณ์ (จัน) (ไม่ปรากฏ – พ.ศ. 2312) พระปลัดเมืองพระพิษณุโลก
- ขุนหมื่น (ดี) ช่างเขียน กรมช่างสิบหมู่ ฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล สมัยรัชกาลที่ 2
- หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม โรจนกุล) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล สมัยรัชกาลที่ 3
- หลวงพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก โรจนกุล) ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารบก สมัยรัชกาลที่ 5
- พระยาชำนาญอักษร (ปลอบ โรจนกุล) ปลัดกรมราชเลขาธิการ กระทรวงวัง สมัยในรัชกาลที่ 7
- รองอำมาตย์ตรี โปรด โรจนกุล
- พระอำนวยเนติพจน์ (เลื่อง โรจนกุล) ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด
- ลือ โรจนกุล (พ.ศ. 2465) ครูโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
- รองอำมาตย์เอก หลวงนิติกรณ์ทยุดี (พจน์ โรจนกุล): 4, 230 ผู้พิพากษาศาลมณฑลสุราษฎร์
- หลวงวิโรจน์รัฐกิจ (เปรื่อง โรจนกุล) ผู้ว่าราชการจังหวัด
- รองอำมาตย์โท ขุนโรจนกุลประภัทร (ปอนด์ โรจนกุล) นายอำเภอ
- นายแป้นมหาดเล็ก (ต่อมาคือ ศรีชัย โรจนกุล หรือ แป้น โรจนกุล) (ไม่ปรากฏ – พ.ศ. 2538) เสมียนตรามหาดไทย และปลัดอำเภอ
พงศาวลี
พงศาวลีของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
มรดก
- ถนนเจ้าพระยาพิษณุโลก: 167 อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
- ถนนพระยาสุรสีห์ (ถนนสุรสีห์): 167 อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2476
- ซอยโรจนกุล (ซอย ๑–๕) ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ
ความเชื่อ
- ศาลพ่อปู่เรืองฤทธิ์ จังหวัดพิษณุโลก ตั้งอยู่ริมถนนพระร่วง คูเมืองเก่าประตูชัย (เยื้องมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามส่วนวังจันทน์ กับสะพานประตูชัย) ใกล้กับพระราชวังจันทน์สถานที่ที่เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เสด็จสวรรคต เมื่อ พ.ศ. 2311 มีผู้นิยมบนบูชาสักการะ บางส่วนมีความเชื่อว่าศาลพ่อปู่เรืองฤทธิ์อาจเกี่ยวข้องกับเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง)
หมายเหตุ
- เชิงอรรถ
- เดิมเป็น หลวงจ่าแสนยากร ต่อมาคือ พระยาอภัยมนตรี ผู้ว่าที่สมุหนายก
- พระราชบัญญัติปี จ.ศ. 822 มโรงนักสัตวโทศก พระไอยการอาชญาหลวง ที่ทรงตั้งขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีความในบานผแนกว่า "...เมืองศรีสัชนาไลย เมืองศุกโขโทย เมืองกำแพงเพชร เมืองพิศณุโลกย์ เมืองไชยนาถบูรี แลเมืองนอกทังปวงภอเอาราชการได้..."
- เขียนแบบเก่า "เจ้าพระยาพิศณุโลก": 265–266 ,"เจ้าพระยาพิษณุโลกย์": 59 ,"เจ้าพะญาพระพิศณุโลกย์ (บุญเรือง)": (ฏำ) ,"เจ้าพญาพิศณุโลกเรือง": 367 ,"พญาพิษณุโลก", "--พิศณุโลกย์" ,"--พิศนุโลกย" หรือ "เจ้าพระพิษณุโลก" : 128–129 , "เจ้าพิษณุโลก (เรือง โรจนกุล)": 200
- ราชทินนามเดิมมีชื่อว่า เจ้าพระยาสรศรี แล้วแปลงเป็น สุรศรี ต่อมาเป็น สรสีห์ กระทั่งกลายเป็น เจ้าพระยาสุรสีห์ มีความหมายว่า เจ้าเมืองพิษณุโลก ผู้เก่งกาจเหมือนราชสีห์ หรือ ราชสีห์ผู้กล้าหาญในเมืองพิษณุโลก: 70 หรือ เสือร้ายผู้เป็นใหญ่ในเมืองพิษณุโลก: 190 ส่วนสร้อย พิษณุวาธิราช เดิมใช้คำว่า พิศมาธิราช แล้วแปลงเป็น พิศมวาธิราช บ้าง พิษัณุวาธิราช บ้าง พิศณุวาธิราช บ้าง จนกลายเป็น พิศณุวาธิราช สร้อย พิศณุวาธิราช มาจากคำท้ายสร้อยชื่อว่า อาญาธิราช หมายถึง ให้ถืออาญาสิทธิ์คืออาจสั่งให้ประหารชีวิตผู้กระทำผิดถึงมหันตโทษได้: 7
- ราชทินนามที่เขียนอีกแบบ ปรากฏชื่อว่า เจ้าพระยาสุรสีห์พิศมวาธิราช (บุญเรือง): 127–128 พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน เขียนว่า เจ้าพญาสุรศรีเจ้าเมืองพระพิศณุโลก: 341 และ เจ้าพะญาสุระสีห์พิศมาธิราช ชาติพัทยาพิเบศร์วราธิบดี อภัยพิริยาปรากรมพาหุ (บุญเรือง): (ฏำ)
- เป็นราชทินนามสำหรับเจ้าพระยาหรือพระญาติพระวงศ์ครองเจ้าเมืองชั้นเอก เมืองพิษณุโลก ปรากฏในมลเฑียรบาลเรียกว่า นา ๑๐๐๐๐ กินเมืองทั้ง ๔ ฝ่าย หรือ ท้าวพระยาหัวเมืองทั้ง ๔: 322
- บรรดาศักดิ์เจ้าพระยาชั้นเอกของราชอาณาจักรในสมัยอยุธยา ยังแบ่งเป็นชั้นเอกอุ หรือเอกอุดม (เอกสมบูรณ์): 107 เอกมอ หรือเอกมัธยม (เอกระดับกลาง) และเอกสอ หรือเอกสามัญ มีศักดินา 10000 เท่ากันทุกชั้น ในธรรมเนียมสมัยก่อนถือเป็นข้าทูลละอองผู้ใหญ่ สมุหนายกกับผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก เป็นเจ้าพระยาชั้นเอกอุเท่ากัน: 129 ในขณะที่เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองเอกระดับสามัญ: 107
- ต้นวงศ์ตระกูลพะญาศรีสหเทพชื่อทองเพ็ง กล่าวว่า พระชนมายุศม์ได้ ๕๒ พรรษาถ้วน: (ฐิ) ส่วน พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาภาษามคธ กล่าวว่า พระชนมายุได้ ๔๙ ปี: 32–33
- หนังสือ "ย่ำอดีต พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับงานกู้อิสรภาพของชาติไทย" กล่าวถึง ภูมิหลังของเจ้าพระยาพิษณุโลก ความว่า "อันเจ้าพระยาพิษณุโลกเรือง ที่ยกตัวขึ้นเป็นกษัตริย์ได้เพียง ๗ วันเท่านั้น เดิมเป็นนายทหารผู้มีฝีมือคนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา เข้าใจว่ามีเชื้อสายเป็นเจ้าราชนิกูลผู้หนึ่งในราชวงศ์บ้านพลูหลวงของพระเพทราชา ได้รับความไว้วางใจจากกษัตริย์ของราชวงศ์นี้ให้ขึ้นมาเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลกซึ่งเป็นเมืองเอกของภาคเหนือตั้งแต่แผ่นดินพระเจ้าบรมโกษฐ์ มีชื่อเสียงมานานตั้งแต่พระเจ้าตากยังเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตากอยู่ด้วยซ้ำไป ทํานองจะเคยเป็นผู้บังคับบัญชาของพระเจ้าตากมาก่อน รู้ฝีมือกันอยู่": 342
- หนังสือ ต้นวงศ์ตระกูลพะญาศรีสหเทพชื่อทองเพ็ง ปรากฏชื่อว่า พระยาไชยบูรณ์ นามเดิมว่า จัน เป็นพระอนุชาของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ส่วนพระราชพงศาวดารไทย และหนังสือประวัติศาสตร์หลายเล่มปรากฏชื่อว่า พระอินทรอากร แต่ไม่ปรากฏนามเดิม แต่กล่าวตรงกันว่าเป็นน้องชายของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ตรงกัน
- ในพงศาวดารพม่าระบุปี พ.ศ. 2306 ปีที่ถูกต้องอาจเป็น พ.ศ. 2307
- พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน ลงว่าตรงกับปี พ.ศ. 2308
- คำว่า Fu Shi Lu (จีน: 扶世祿) หมายถึง Phitsanulok.: หน้า 89 เชิงอรรถที่ 51 คำว่า wang (จีน: 王) หมายถึง King.
- สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ในพระราชนิพนธ์ เรื่อง ไทยรบพม่า ไว้ในเชิงอรรถ
- พระราชกำหนดเก่า จุลศักราช ๑๑๒๑ (29 พฤษภาคม พ.ศ. 2302) ว่าด้วยอัตราค่าตั้งเจ้าเมือง ผู้รักษาเมือง ผู้รั้งเมืองและกรมการ ได้ใช้คำว่า เจ้าเมือง เฉพาะผู้ปกครองเมืองเอก คือ เมืองพิษณุโลกและเมืองนครศรีธรรมราชเท่านั้น ส่วนเมืองโทและเมืองตรี เรียกว่า ผู้รักษาเมืองและผู้รั้งเมือง เมืองเอกอยู่อยู่ในสถานภาพพิเศษ ไม่มียุกกระบัตร
- ขึ้นประแดงเสนาฎขวา คือ การติดต่อราชการกับสมุหพระกลาโหมฝ่ายขวา: 109 คำว่า ประแดง เป็นคำเก่า หมายถึง เลขานุการมีหน้าที่ประสานงานหรือติตต่องานกับเสนาบดีในราชธานี หากพออนุโลมเปรียบเทียบตำแหน่งข้าราชการในปัจจุบัน คือ เลขานุการรัฐมนตรี ส่วนคำว่า เสนาฎ หมายถึง ปืน
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสันนิษฐานว่า "แต่เดิมเจ้าพระยาที่มีนามในทำเนียบทั้ง ๕ คน จะได้พระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้า จึงเรียกว่า "เจ้าพระยา" ข้อนี้มีเค้าเงื่อนอยู่ในทำเนียบศักดินาหัวเมืองเจ้าเมืองพิษณุโลกกับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช มีตำรวจสำหรับแห่เหมือนอย่างเจ้า แต่เจ้าเมืองอื่นหามีไม่"
- หนังสือ ทะเบียฬนามสกุล ที่เราได้ให้ไป วชิราวุธ ปร. เขียนว่า โรจนกุล ส่วน ราชกิจจานุเบกษา ประกาศพระราชทานนามสกุลครั้งที่ ๕ เขียนว่า โรจนะกุล
- ต่อมาถูกโอนย้ายไปขึ้นกับฝ่ายพระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) ในรัชสมัยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
อ้างอิง
- ราชบัณฑิตยสถาน. (2521). อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๔: ป-ฤ ฤๅ. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง. 503 หน้า.
- มานพ ถาวรวัฒน์สกุล. (2536). ขุนนางอยุธยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรม. 298 หน้า. หน้า 153. ISBN
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2459). "กฎหมายงานพระบรมศพครั้งกรุงเก่า (สอบเรื่องราวตำราพระเมรุกรมหลวงโยธาเทพฯ)," ใน เรื่องสมเด็จพระบรมศพ คือจดหมายเหตุงานพระเมรุครั้งกรุงเก่า กับพระราชวิจารณ์ของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง. พิมพ์แจกในงานศพ อำมาตย์เอก พระยาทวาราวดีภิบาล (แจ่ม โรจนวิภาต) จางวางกรุงเก่า ปีมโรงอัฐศพ พ.ศ. ๒๔๕๙. พระนคร: โสภณพิพรรฒนากร. 43 หน้า. หน้า 8.
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), ฝ่ายส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว. (2556). "ปูมบ้านปูมเมือง," ใน ทรัพยากรการท่องเที่ยวไทย ชุดภาคเหนือ: พิษณุโลก. 2022-09-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โครงการจัดทำหนังสือทรัพยากรการท่องเที่ยวไทย ชุดภาคเหนือ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเจริยพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. 76 หน้า. ISBN
- วิจิตรวาทการ, หลวง. (2514). กรุงแตก. พระนคร: เสริมวิทย์บรรณาคาร. 240 หน้า.
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2505). พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ภาค ๒. (พิมพ์ครั้งที่ 2). พระนคร: โอเดียนสโตร์.
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด)
- พระราชพงศาวดาร ฉบับกรมศึกษาธิการ ร.ศ.๑๒๐ เล่ม ๒. พระนคร: กรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ, 2444.
- ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. (2538). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑: ฉบับโรงเรียนหลวงสวนกุหลาบ. กรุงเทพฯ: แสงไทยการพิมพ์. 182 หน้า. หน้า 53. ISBN
- ก.ศ.ร. กุหลาบ และสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร. (2449). ต้นวงศ์ตระกูลพะญาศรีสหเทพชื่อทองเพ็ง 2023-07-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. พระนคร: ม.ป.ท. 454 หน้า.
- ศานติ ภักดีคำ (บก.), สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (เผยแพร่). (2558). พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. มูลนิธิ "ทุนพระพุทธยอดฟ้า" ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔) ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 558 หน้า. ISBN
- ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่มที่ 3. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2542. หน้า 448.
- พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีสังเขป. พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพนายวิรุฬห์ บุณยรัตพันธุ์ ณ เมรุวัดระฆังโฆสิตาราม ถนนอรุณอมรินทร์ กรุงเทพฯ วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๖. กรุงเทพฯ: อมรการพิมพ์, 2516. หน้า 3.
- วินัย พงศ์ศรีเพียร (บรรณาธิการ) และคณะ. (2542). จดหมายเหตุนครเชียงใหม่. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. 356 หน้า. หน้า 330. ISBN
- ซามูเอล เจ. สมิท. (2548). จดหมายเหตุสยามไสมย เล่ม ๔ จ.ศ. ๑๒๔๗. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สมาคมกิจวัฒนธรรม.
- Phangsavakara. Geschichte der Könige von Siam. p. 414.
- จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2465). พระราชปรารภเรื่องพระพุทธชินราช. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
- กระทรวงธรรมการ. (2440). พงศาวดารสยาม: ปริเฉทที่ ๒ เล่มที่ ๒. พระนคร: โรงพิมพ์ศุภมิตรบำรุง. 174 หน้า.
- ศรีภูริปรีชา (กมล สาลักษณ), พระยา. (2463). นิพนธ์ของพระยาศรีภูริปรีชา. พระนคร: โรงพิมพ์ไทย. 102 หน้า.
- กรมศิลปากร. (2480). "เอกสารสำคัญทางประวัติ: บันทึกท้ายประวัติเจ้าพระยาสวรรคโลก ของ เถา ศรีชลาลัย", วารสารศิลปากร 1(2)(สิงหาคม 2480).
- ตากสินมหาราช, สมเด็จพระเจ้า, ธนิต อยู่โพธิ์ และปรีดา ศรีชลาลัย. (2484). บทละครรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี: เล่าเรื่องหนังสือรามเกียรติ์ และเรื่องงานสร้างชาติไทย. พิมพ์ในงานศพนายอาคม อินทรโยธิน เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส. พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์. หน้า 200.
- สัจจาภิรมย์อุดมราชภักดี (สรวง ศรีเพ็ญ), พระยา. (2502). เล่าให้ลูกฟัง ของพระยาสัจจาภิรมย์อุดมราชภักดี. กระทรวงมหาดไทยพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาสัจจาภิรมย์อุดมราชภักดี (สรวง ศรีเพ็ญ) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส พระนคร วันเสาร์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๐๒. พระนคร: โรงพิมพ์กรมมหาดไทย. 219 หน้า. หน้า 9–10.
- ประยุทธ สิทธิพันธ์. (2505). ต้นตระกูลขุนนางไทย. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา. 544 หน้า.
- มานพ ถนอมศรี. (2533). เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน): ราชทูตแห่งพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามต้นราชวงศ์พระบรมมาราชจักรี. กรุงเทพฯ: ต้นอ้อ. 68 หน้า. หน้า 41.
- ละออง ศรีสุคนธ์. (2508). เที่ยวเมืองไทย 71 จังหวัด เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา.
- พิเศศ บูรณะสมบัติ. (2547). ประวัติศาสตร์การปกครองของไทย: ตั้งแต่สมัยเริ่มแรกถึงเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย พ.ศ. 2475. กรุงเทพฯ: รวมสาส์น. 302 หน้า. ISBN
- ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๘๒ เรื่อง พระราชพงศาวดารกรุงสยาม: จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2537. 423 หน้า. หน้า 115. ISBN
- จดหมายเหตุโหรฉบับรามัญ.
- ประชา นิยมวงศ์. (2483). บันทึกหลักฐานและเหตุการณ์ สมัยกรุงเทพฯ เล่มที่ 1. พระนคร: มิตรไทย. หน้า 91.
- คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2500). จังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย 71 จังหวัด เล่มที่ 2. กรุงเทพฯ: สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม.
- กรมศิลปากร. (2522). เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท. กรุงเทพฯ: ประยูรวงศ์. หน้า 115.
- ธรรมคามน์ โภวาที, ถวิล สุนทรศาลทูล และสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (เผยแพร่). (2511). ประวัติมหาดไทย (ส่วนกลาง) ภาคที่ ๒ ตอนที่ ๒. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการประวัติและพิพิธภัณฑ์มหาดไทย. 423 หน้า.
- กรมศิลปากร. (2526). อักขรานุกรมประวัติศาสตร์ไทย: อักษร ฆ ง จ. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. หน้า 410. ISBN
- กรมศิลปากร. (2505). วารสารศิลปากร, 6(1).
- คณะกรรมการจัดทำหนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช. (2545). เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 402 หน้า. ISBN
- กฎหมายตราสามดวง เล่ม 1. พระนคร: คุรุสภา, 2515. หน้า 317.
- วินัย พงศ์ศรีเพียร และศศิกานต์ คงศักดิ์. (2549). ภาษาอัชฌาไศรย : The Pleasure of Words. กรุงเทพฯ: กองทุน พลโทดำเนิร เลขะกุล เพื่อประวัติศาสตร์. 195 หน้า. ISBN
- วินัย พงศ์ศรีเพียร. (2548). กฎมณเทียรบาล ฉบับเฉลิมพระเกียรติ เล่มที่ 2. จัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในโอกาสที่กฎหมายตราสามดวงมีอายุครบ 200 ปี และเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติปีที่ 60 พุทธศักราช 2548. ผลงานวิจัยโครงการวิจัยเมธีอาวุโส สกว. "กฎหมายตราสามดวง: ประมวลกฎหมายไทยในฐานะมรดกโลก". กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.). 339 หน้า. หน้า 142. ISBN
- วิจารณ์ พานิช. (2550). สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย 44. ชายคาภาษาไทย (23). สืบค้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน, 2555.
- มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์, คณะกรรมการรวบรวมและค้นคว้าเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์ ฯลฯ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. (2529). ทะเบียฬนามสกุล ที่เราได้ให้ไป วชิราวุธ ปร. กรุงเทพฯ: พี.เพรส. หน้า 79. "ลำดับที่ ๓๖๘ ยศบรรดาศักดิ์ นายพันโท หลวงพิสณฑ์ยุทธการ นามเดิม ปึก ตำแหน่งกองหนุน กระทรวงกระลาโหม ยศบรรดาศักดิ์ หลวงลิขิตปรีชา นามเดิมปลอบ ตำแหน่งกรมราชเลขานุการ นามสกุล โรจนกุล หมายเหตุ สกุลเจ้าพระยาพิศณุโลก (เรือง)" (ลายพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)
- ธนิต อยู่โพธิ์. (2497). ศิลปินแห่งละคอนไทย. พระนคร: กรมศิลปากร. 102 หน้า.
- เทพ สุนทรศารทูล. (2534). มงคลนาม ตามตำราโหราศาสตร์. กรุงเทพฯ: พระนารายณ์. 255 หน้า. ISBN . หน้า 205. "๑๔๙. โรจนกุล เจ้าพระยาพิศณุโลก (เรือง) หัวหน้าก๊กเจ้าพระยาพิษณุโลกเป็นต้นสกุล"
- อักขรานุกรมขุนนาง รัตนโกสินทรศก ๑๓๑ โรงเรียนมหาดเล็ก. พระนคร: บำรุงนุกูลกิจ, 2452. 268 หน้า. หน้า 118.
- นามสกุลพระราชทาน หมวดอักษร ร. ลำดับที่ ๐๓๖๘. พระราชวังพญาไท.
- นามสกุลพระราชทาน ร.ศ.113-124 (ค.ศ.1894-1905). นามสกุลที่ขึ้นต้นด้วย (ร) ลำดับที่ ๐๓๖๘.
- ภูมิพิสัยพิสุทธิวรพงศ์-ร..๒ นามสกุลพระราชทาน-ร..๒ ลำดับที่ ๐๓๖๘.
- "ทำเนียบตำแหน่งข้าราชการ กองรายงานหนังสือไปมา กรมราชเลขานุการ," ใน นาครสงเคราะห์ ประจำพุทธศก ๒๔๕๖. พระนคร: โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย, 2456. หน้า 90.
- นาครสงเคราะห์ ประจำพุทธศก ๒๔๕๖. พระนคร: โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย, 2456. หน้า 458.
- พนรัตน์ วัดพระเชตุพน, สมเด็จพระ. (2459). พงษาวดารกรุงศรีอยุทธยา ภาษามคธ แลคำแปล. แปลโดย พระยาพจนสุนทร (เรือง อติเปรมานนท์). นายเชียร บุนนาค ผู้บุตร พิมพ์แจกในงานปลงศพ ท่านเลื่อม ต.จ. ภรรยาพระยามนตรีสุริยวงษ์ (ชื่น บุนนาค) ม.ส.ม, ท.จ.ว. ฯลฯ ปีมโรง อัฐศก พ.ศ. 2459]. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทย ณสพานยศเส.
- เชาวน์ รูปเทวินทร์. (2528). ย่ำอดีต พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับงานกู้อิสรภาพของชาติไทย เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: บริษัท พี.วาทิน พับลิเคชั่น จำกัด. 672 หน้า.
- ลิขิตปรีชา (คุ้ม), หลวง. (2378). ธรรมเนียบตระกูลสังเขปครั้งกรุงเก่า ต้นฉบับลายมือคัดของนายคุ้ม ร.ศ. ๕๓. กรุงเทพพระมหานคร, [ม.ป.ท.] (เอกสารไม่ตีพิมพ์เผยแพร่).
- "ตั้งเจ้าราชนิกูล แผ่นดินสมเด็จพระมหาบุรุษ (พระเพทราชา) จุลศักราช ๑๐๔๔-๑๐๕๙," ใน พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ภาค ๒ (๒๔๕๕). กรุงเทพฯ: ม.ป.พ. หน้า 126.
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2511). พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา. (พิมพ์ครั้งที่ 6). พระนคร: กรมศิลปากร. 884 หน้า.
- ปรมานุชิตชิโนรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระ. (2488). พระราชพงสาวดารกรุงสรีอยุธยา ฉบับความสมเด็ดกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เล่ม 3. พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์. 137 หน้า. หน้า 388.
- คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี. (2542). ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 2. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2542. หน้า 266.
- ประยูร พิศนาคะ. (2515). สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ. กรุงเทพฯ: สำนักหอสมุดกลาง 09. 472 หน้า. หน้า 83.
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2506). "สงครามครั้งที่ 24 คราวเสียกรุงครั้งหลัง ปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๐", ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๖. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา. หน้า 107.
- วิบูล วิจิตรวาทการ. (2542). สตรีสยามในอดีต. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊คส์. 370 หน้า. หน้า 81. ISBN
- วิบูล วิจิตรวาทการ. (2540). เรื่องสนุกในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ: หมึกจีน. 248 หน้า. หน้า 95.
- กฤตภาส โรจนกุล. (2554). เอกสารการค้นคว้าประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาเรื่อง โรจนกุล ชีวประวัติและเชื้อสายสัมพันธ์. กรุงเทพฯ: [ม.ป.ท.] (เอกสารไม่ตีพิมพ์เผยแพร่). อ้างใน ลิขิตปรีชา (คุ้ม), หลวง. (2378). ธรรมเนียบตระกูลสังเขปครั้งกรุงเก่า ต้นฉบับลายมือคัดของนายคุ้ม ร.ศ. ๕๓. กรุงเทพพระมหานคร, [ม.ป.ท.] (เอกสารไม่ตีพิมพ์เผยแพร่).
- ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖. พระนคร: คุรุสภา, 2506. หน้า 184.
- ประกอบ โชประการ, สมบูรณ์ คนฉลาด และประยุทธ สิทธิพันธ์. (2521). ปฏิวัติสามสมัย : ประวัติศาสตร์การเมืองไทย เรื่องของคนไทย. กรุงเทพฯ: น.ส.พ.รวมข่าว. 1,152 หน้า.
- ประยูร พิศนาคะ. (2516). สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก. กรุงเทพฯ: สำนักหอสมุดกลาง 09. 463 หน้า. หน้า 88.
- พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ. (2544). สมเด็จพระปฐมบรมชนกนาถ. กรุงเทพฯ: บันทึกสยาม. 126 หน้า. หน้า 66. ISBN
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2473). "กฎหมายครั้งกรุงเก่า: แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ," ใน ตำนานกฎหมายเมืองไทย. พิมพ์ในงานพระศพ หม่อมเจ้าสมรบำเทอง อาภากร ครบปัญญาสมวารเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๓. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร.
- วินัย พงศ์ศรีเพียร. (2547). กฎหมายตราสามดวง : แว่นส่องสังคมไทย ผลงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ลำดับที่ ๑ สถานภาพการกฎหมายตราสามดวง. กรุงเทพฯ: เฟื่องฟ้า. 176 หน้า. หน้า 51. ISBN
- ราชบุรีดิเรกฤทธิ์, พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่น. (2444). กฎหมาย เล่ม ๒ สำหรับผู้พิพากษาแลทนายว่าความ. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: กองละหุโทษ. หน้า 38.
- ภารดี มหาขันธ์. (2527). ประวัติศาสตร์การปกครองไทย. กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร. 198 หน้า. หน้า 66.
- สมบัติ พลายน้อย และสุพจน์ แจ้งเร็ว. (2537). ขุนนางสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน. 271 หน้า. หน้า 198. ISBN
- บุญทรง ไทยทำ. (2526). ประวัติวีรบุรุษและวีรสตรีไทย. กรุงเทพฯ: บรรณกิจ. 232 หน้า. ISBN
- ลำจุล ฮวบเจริญ. (2546). เกร็ดพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา และบางสาระที่น่ารู้ในวังหลัง-วังหน้ากรุงรัตนโกสินทร์. เชียงใหม่: The Knowledge Center. 506 หน้า. ISBN
- ศึกษากรรม์พิเศษ, ขุน. (2501). ตำนานเมืองพิษณุโลก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พระพุทธชินราช และวัดจุฬามณี. เรียบเรียงขึ้นน้อมเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าบรมราชินีนารถ ในคราวเสด็จพระราชดำเนินประพาส จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๑. ธนบุรี: โรงพิมพ์ประยูรวงศ์. 70 หน้า. หน้า 10.
- นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2536). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: มติชน. 611 หน้า. หน้า 174. ISBN
- พระมหาโพธิธรรมาจารย์ วงศ์ศากยะภิกษุณีโพธิสัตต์ (ภิกษุณีโพธิสัตต์ วรมัย กบิลสิงห์). (2540). ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: ส่องศยาม. 329 หน้า. หน้า 37. ISBN
- วิทยาสาส์น เล่มที่ 22. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2514.
- วิเทศดรุณการ (ชด มหาขันธ์), ขุน, และคณะ. (2474). บูรพประเทศ ตอนประเทศสยาม ภาคที่ 2. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทยเกษม.
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2534). ชุมนุมพระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (ฉบับพิมพ์ซ้ำ). กรุงเทพฯ: บรรณกิจ. 425 หน้า. ISBN
- เสทื้อน ศุภโสภณ. (2522). แบบเรียนประวัติศาสตร์ไทย (ส 421) ฉบับพัฒนาการ. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์. หน้า 39.
- สำนักราชเลขาธิการ. (2538). เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย. (พิมพ์ครั้งที่ 2). ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทาน, ล.2 กองทัพเรือพิมพ์ถวายสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เนื่องในพระราชพิธีสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ และบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ 6 รอบ 6 พฤษภาคม 2538. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง: กองทัพเรือ. 348 หน้า. หน้า 20. ISBN
- ธีระวัฒน์ แสนคำ. "เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) แห่งก๊กพิษณุโลก ถึงแก่พิราลัยหลังเป็นกษัตริย์ได้ 7 วันจริงหรือ?," ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2564.
- คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2563). ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: มติชน. 470 หน้า. หน้า 399. ISBN
- กระทรวงมหาดไทย. (2509). "ข้อสังเกตในการพระราชทานพระแสงราชศัสตรา," ใน พระแสงราชศัสตรา. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก มังกร พรหมโยธี ม.ป.ช.,ม.ว.ม.,ท.จ.ว. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๒๙ มิถุนายน ๒๕๐๙. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง. 172 หน้า.
- กรมศิลปากร, กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์. (2534). วรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ (หมวดศาสนจักร) เล่ม ๓. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 335 หน้า. หน้า 245. ISBN
- เกริกเกียรติ ไพบูลย์ศิลป. (2557). พุทธศาสนากับพระมหากษัตริย์ไทย พ.ศ. 2310-2394. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
- หวน พินธุพันธ์. (2514). "ชื่อถนนในเขตเทศบาลเมืองพิษณุโลก" 2023-07-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ใน
wikipedia, แบบไทย, วิกิพีเดีย, วิกิ หนังสือ, หนังสือ, ห้องสมุด, บทความ, อ่าน, ดาวน์โหลด, ฟรี, ดาวน์โหลดฟรี, mp3, วิดีโอ, mp4, 3gp, jpg, jpeg, gif, png, รูปภาพ, เพลง, เพลง, หนัง, หนังสือ, เกม, เกม, มือถือ, โทรศัพท์, Android, iOS, Apple, โทรศัพท์โมบิล, Samsung, iPhone, Xiomi, Xiaomi, Redmi, Honor, Oppo, Nokia, Sonya, MI, PC, พีซี, web, เว็บ, คอมพิวเตอร์
ecaphrayaphisnuolk ph s 2259 hrux ph s 2262 ph s 2311 edimchux eruxng hrux buyeruxng 127 128 epnecaphrayamhankhrphukhrxnghwemuxngchnexk phusaercrachkaremuxngphraphisnuolk 127 128 inrchsmysmedcphraecaxyuhwbrmoks phutngchumnumecaphrayaphisnuolk eruxng aelarachaphieskepnphramhakstriykhrxngemuxngphisnuolkhlngcakehtukarnkaresiykrungsrixyuthyakhrngthisxng mirachthinnamkhunnangtamthipraktinthaeniybphraixykartaaehnngnaphleruxn nathhar hwemuxng ph s 1998 wa ecaphrayasursihphisnuwathirach chatiphthyathiebswrathibdi xphyphiriybrakrmphahu ecaemuxngphisnuolkexkxu hruxecaemuxngkhunnangradb na 10000 exkxu 190 skdina 10000 chnsungsud aelaecaphrayaphisnuolk eruxng epntnskul orcnkulphraecaphisnuolk eruxng ecaphrayaphisnuolk eruxng orcnkul phraecaphisnuolkkhrxngrachyph s 2311rchsmy6 eduxn hrux 7 wnkxnhnarachaphiesk 82 thdipphrayaichyburn cn phramhaxuprachkrmphrarachwngbwrsthanmngkhlsmuhnaykecaphrayackri thxngdi ecaemuxngphisnuolkdarngtaaehnngph s 2276 7 emsayn ph s 2310rchsmysmedcphraecaxyuhwbrmoks smedcphraecaxuthumphr smedcphrathinngsuriyasnxmrinthrkxnhnaecaphrayasursih ph s 2275 2276 thdipsmedcphrabwrrachecamhasursinghnath ph s 2313 2346 phrarachsmphphph s 2259 hrux ph s 2262 krungsrixyuthya xanackrxyuthyaswrrkhtraweduxn 11 ph s 2311 49 hrux 52 phrrsa emuxngphisnuolk xanackrthnburi 9 khuxphieskthanphuhyingechiyng 117 124 phrarachbidahmxmphdphrarachmardaimpraktbthkhwamnimikhxkhwamphasacin hakxupkrnkhxngkhunimsamarthernedxrxksrniid khunxacehnekhruxnghmaykhatham xksrphiess klxng hruxsylksnxun aethnthixksrcin bthkhwamnimixksrphma hakxupkrnkhxngkhunimsamarthernedxrxksrniid khunxacehnekhruxnghmaykhatham xksrphiess klxng hruxsylksnxun aethnthixksrphmaprawtichatikaenid ecaphrayaphisnuolk eruxng edimepnchawkrungsrixyuthya ekidinrchkalsmedcphrathinngthaysra rawpi ph s 2259 hrux ph s 2262 epnnaythharphumifimuxkhnhnungmichuxesiyngmanan miechuxsayepnecarachnikul 342 phuhnunginrachwngsbanphluhlwngkhxngsmedcphraephthracha sungechawn rupethwinthr klawsxdkhlxngkb thrrmeniybtrakulsngekhpkhrngkrungeka khxnghlwnglikhitpricha khum bnthukiwwa cawphraphisnuolkyeruxngsubsaycawrachnikuyphuepnphrahlanethxaephndinphramhaburus 24 sungphrarachndda hlan hruxrachphakhiinykhxngsmedcphraephthracha minamwa ecaphraphiichysurinthr praktinphrarachphngsawdarhlaychbb 523 524 135 138 edimepnnaykrinthkhchprasiththi thrngbassay inkrmphrakhchbal krmchang tngaetrchkalsmedcphranaraynmharach txmaidrbsthapnaepn krmhmunxinthrphkdi inrchkalsmedcphrathinngthaysra 83 smedcphraecabrmwngsethx krmphrayadarngrachanuphaph thrngsnnisthanwa ecaphrayaphisnuolk eruxng xacekiywdxngkbphrabrmwngsanuwngs echn krmkhunsurinthrsngkhram khxngrachwngsbanphluhlwnginthanaekhruxyatixyangidxyanghnung nxkcakniyngekhychwyehluxkrmkhunsurinthrsngkhramesdchnicakkartxngothsinrchsmysmedcphraecaxyuhwbrmoks khrxbkhrw ecaphrayaphisnuolk eruxng miphrryaexk minamwa cungechiyng praktkhwamwa khnanncungechiyng phrryaecaphrayaphisnuolkhnilngeruxnxykbphrrkhphwkbawiphrkhunip n emuxng suokhthy 588 266 chawithyechuxsaycintrakulechinyanbanpratucininkrungsrixyuthya txmaidepn thanphuhyingechiyng 117 124 hruxthanphuhyingcungechiyng bidachux hmxmphd epnechuxphrawngs thungaekkrrmemuxplayrchkalphraecaxyuhwbrmoks 18 swnmardaesiychiwitthiemuxngphisnuolkkxnthicaesiykrungsrixyuthyakhrngthisxng nammarda aelabutrhlankhxngecaphrayaphisnuolk eruxng immihlkthanidpraktaenchd nxngchaykhxngecaphrayaphisnuolk eruxng rbrachkarepnthi phrayaichyburn cn ta taaehnngphrapldemuxngphraphisnuolk phayhlngemuxngphisnuolkaetkcakkarrukrankhxngchumnumecaphrafang snnisthanwathanphuhyingechiyngaelabutrhlankhxngecaphrayaphisnuolk eruxng xachniekhaiprwmkbsmedcphraecakrungthnburi enuxngcakmikarkhnphbniwassthanedimkhxngthayathphusubtrakulinhnngsux nakhrsngekhraah pracaphraphuththsk 2456 waxyuthiyanbanchanghlx wnghlng krungethphmhankhrsubyxnidthungsmyrchkalthi 1 thrngsthapnakrungrtnoksinthr rbrachkar ecaphrayaphisnuolk eruxng erimrbrachkartngaetwyeyawinrchsmysmedcphrasrrephchythi 9 phraecathaysra aetimprakttaaehnngid krmid swninchwngrchsmysmedcphraecaxyuhwbrmokspraktwaekhyrbrachkarxyudwyknkbhlwngphinicxksr thxngdi phrarachbidakhxngphrabathsmedcphraphuththyxdfaculaolkmharach fayxalksn 196 krmmhadithy inkrungsrixyuthyaaelaepnshaythisnithsnmkntngaetnnma txmaidrbkhwamiwwangphrathycakphramhakstriykhxngrachwngsbanphluhlwngihepnphusaercrachkaremuxngphraphisnuolktngaetrchkalsmedcphraecaxyuhwbrmoks 343 aelathanxngcaekhyepnphubngkhbbychakhxngsmedcphraecakrungthnburikhrngyngepnhlwngykkrabtr emuxngtak maaetkxn 343 emux ph s 2276 2297 rchkalsmedcphraecaxyuhwbrmoks oprdihprachumcharakdhmay phrasmud kd 36 khx hrux kdsamsibhkkhx faylukkhun n salami 9 than odyecaphrayasursri epnprathanfaylukkhun aelamiecaphrayachanaybrirks xu phrayaklaohm phrayathrrm phrayaphlethph phrarachphkdi phrayaymrach phrakaaephng aelacmunesmxicrach tamladb swnfaylukkhun n salahlwngmi 7 than echn phrarachkhruphrakhruphiechth phrackrpani phrathrrmsastr phraeksm khunhlwngphraikrsi khunrachphinicicy aelakhunsrithrrmrach rwmthngsin 16 than pruksaphrxmcharakdhmaykhrngni ecaphrayaphisnuolk eruxng epnkhunnangchnphuihytngaetsmykrungsrixyuthya mikhwamsamarthinkarrbcungmiphuniymnbthuxknmak chwngkaresiykrungsrixyuthyakhrngthisxngemuxkhrawrbphmakpraktwamifimuxekhmaekhngimaephphmacungrksaemuxngphisnuolkiwid 391 hlngkrungsrixyuthyaesiyihaekphmakhrnimmiphramhakstriypkkhrxngkrungsrixyuthyaaelw ecaphrayaphisnuolk eruxng cungthaphithibrmrachaphiesktngtnkhunepnkstriy epn phraecaphisnuolk eruxng 52 53 khrxngemuxngphisnuolksungepnnamtaaehnngphukhrxngemuxngpraethsrach phraecaphisnuolk eruxng khrxngrachsmbtiid 6 eduxnhruxxacmakkwann aelwesdcswrrkhtdwyorkhfiralxkinkhx hruxikhphism hruxorkhchkkratukxyangchbphln bangichkhawa thiwngkht 128 hrux phiraly thiphrarachwngcnthn emuxraweduxn 11 ph s 2311 siriphrachnmayu 49 phrrsa duephim sngkhitiywngs hna 407 hrux 52 phrrsa duephim tnwngstrakulphayasrishethphchuxthxngephng hna thi thi phrayaichyburn cn nxngchaysungmitaaehnngphramhaxuprach cungidkhunkhrxngemuxngaethnaetimidkhunepnkstriy kittisphth hnngsux phraaesngrachsstra ody krathrwngmhadithy klawthungecaphrayaphisnuolk eruxng khwamwa ecaphrayaphisnuolk eruxng epnaemthphthimifimuxekhmaekhngepnthiiwwangphrarachhvthymak epnkharachkarphumiphakhphuediywthimiskdiaelaxanacehnuxkharachkarhwemuxngxun thikhumthphekhamachwypxngknkrung inbrrdaaemthphnaykxngthiepnkharachkarhwemuxngaelw ecaphrayaphisnuolk eruxng mithanndrskdisungkwathukkhn ephraaepnphukhrxngemuxngphisnuolk sungepnsunykarpkkhrxngkhxnghwemuxngehnuxthnghmd praktwainrahwangpxngknkrungsrixyuthyakhrawnn ecaphrayaphisnuolk eruxng idthakartxsuphmaxyangekhmaekhngmak cnidrbaetngtngihbychakarkxngthphthitngtxsuxyunxkkaaephngphrankhr txmaphayhlngthangkrungsubthrabwaphmaykthphmatihwemuxngfayehnux yklwnglamathungemuxngsuokhthy khubhnacaekhamayudemuxngphisnuolkepnthimnxyangechnthiekhythainsmyesiykrungkhrngaerk thangfayrachsankehnwathaplxyihphmayudemuxngphisnuolktngmnepnthanthphxikaehngthangemuxngehnuxid krungsrixyuthyacaepnxntrayaennxnehmuxnemuxsxngrxypikxn thahakidbukhkhlthimikhwamsamarth echn ecaphrayaphisnuolk eruxng ipkhwbkhumbngkhbbychaaelwxacpxngknthphphma hruxtithphphmaihaetkphayipid ekhaicwa ecaphrayaphisnuolk eruxng epnkharachkarthidithisudkhnhnunginsmynn emuxyamecaphrayaphisnuolk eruxng sthapnaepnkstriyinewlatxma kbuynxyhruxkrrmtamthn thungaekphiralyipesiykxn cungmiidruxfunknkhunmaphicarnawa karkrathainkhrngnnepnkarsmkhwrhruxim aelaphidthukephiyngid 68 72 phranamphraecaphisnuolk hrux phraecakrungphisnuolk cawphraphisnuolkyeruxng ecaphisnuolk eruxng hrux ecaphisnuolk eruxng orcnkul 200 phrarachaphisnuolkrach phisnuolkpura husuxluhwang husuxlu hrux esiysuxlu cdhmayehturchkalekacng ekacngsuxlu brrph 817 ecaphayasurasihphismathirach chatiphthyaphiebsrwrathibdi xphyphiriyaprakrmphahu buyeruxng tnwngstrakulphayasrishethphchuxthxngephng ecaphrayasursihphisnuwathirach buyeruxng hrux ecaphrayasursihphismwathirach buyeruxng 127 hrux ecaphyasursri ecaphrayaphisnuolk eruxng thaebiylnamskul thieraidihiplayphrarachhtthkhxngphrabathsmedcphramngkudeklaecaxyuhw phrayaphisnuolk hrux phyaphisnuolk wis snuolkracha hrux phrayaphisnuolkrach sngkhitiywngs karesiykrungsrixyuthyakhrngthisxngsubtxenuxngcaksngkhramphraecaxlxngphyaphumihlng emux ph s 2302 inrchsmysmedcphrathinngsuriyasnxmrinthr ecafaexkths esdckhunkhrxngrachytxcaksmedcphraecaxuthumphr ecafadxkedux idephiyng 1 pi ekidsngkhramphraecaxlxngphyaxnenuxngmacakkhwamkhdaeyngthangthharrahwangrachwngskhxngbxngkhxngphmakbxanackrxyuthyasmyrachwngsbanphluhlwng sngkhramerimtnkhunraweduxnthnwakhm fayphmahmaycaykthphmarukranxanackrxyuthya aelanaipsukaresiykrungsrixyuthyakhrngthisxnginpi ph s 2310 emux ph s 2304 phayhlngcakthienemiywsihbdi esrcsincakkariptihwemuxngmxyaelw phraecaenadxyiminthr phraecamnglxk phraoxrsxngkhihykhxngphraecaxlxngphya cdthphmatiechiyngihm odymixphykhamni epnaemthph aelamnglasiriepnpldthphphrxmdwyphlcanwn 7 500 nay ykthphkhbilphma emux ph s 2305 phraecamnglxk aetngthphhlwngekhatiemuxngechiyngihmephuxlngphrarachxayainkhxhminphrabrmedchanuphaph khrnthphhlwngmathung phraecacnthr ecaphukhrxngemuxngechiyngihm krungsrixyuthyainkhnann thrngaetnghnngsuxmathwaysmedcphrathinngsuriyasnxmrinthrphrxmdwyekhruxngrachbrrnakar miphraprasngkhihechiyngihmepnemuxngxxkkhxngxyuthya aelakhxkalngthhariprksaemuxngihm smedcphrathinngsuriyasnxmrinthrcungmirbsngihecaphrayaphisnuolk eruxng eknththphphlhwemuxngehnuxcanwn 5 000 nay ykipchwyemuxngechiyngihm aetthphecaphrayaphisnuolkekhluxnriphlipthungbanraaehng emuxngtak cungthrabkhawwafayphmalxmemuxngechiyngihmaelwaetfayechiyngihm phayitkarpkkhrxngkhxngecakhihud mikalngimaekhngklankcungesiyemuxngihaekfayphmaip 21 odymienemiywsihbdixyurksaemuxngechiyngihm aelaihphyaxphykhaminikhunepnecaemuxngechiyngihmaethn praktin phrarachphngsawdar chbbsmedcphraphnrtn wdphraechtuphn chbbtwekhiyn khwamwa fayphyacnthemuxngechiyngihm cungihmisuphxksrlngmakhxphungphrabrmophthismphar cakhxkxngthbkhunipchwypxngknphmakhasuk smuhnaykkrabbngkhmthul cungthrngphrakrunadahrdsngiheknkxngthbhwemuxngfayehnuxepnkhn 5000 oprdihecaphyasursriecaemuxngphraphisnuolkepnaemthb ykipthungtablbanraaehng idkhawwaemuxngechiyngihmesiykbphmaaelw kbxklngmaihkrabbngkhmthulihthrab cungoprdihsmuhnaykmitrakhunipihhakxngthbklb 341 wdphuekhathxng cnghwdphrankhrsrixyuthya epncudthitngthphecaphrayaphisnuolk eruxng aemthphfayehnux insngkhramithy phmakhrawesiykrungsrixyuthyakhrngthisxng ph s 2310 inpithdmainrahwangthiphraecamnglxkthrngwunkbphrapharaxyunnkesdcswrrkhtlngemuxeduxnphvscikayn ph s 2306 meyduminthr phraecamngra sungepnphraxnucharxngphraxngkh cungkhunkhrxngrachysubtxip hlngkhrxngrachsmbtiidimnannkcungerimdarietriymcatikrungsrixyuthyatxipodyihenemiywsihbdiepnaemthphkhumkalngphlcanwn 20 000 nay ekhaipsmthbthiemuxngechiyngihmaelatngkhunnangihmkhrxnghwemuxngthngpwng in phrarachphngsawdarphma klawwa luwnthi 7 eduxnkumphaphnth ph s 2306 ktrsihsihptiepnaemthphkhumphl 20000 khunipephimetimkxngthphxntngxyu n nkhrechiyngihmaelw thrngtngkhunnangihmxnepnthiiwwangphrarachhvthy xxkipkhrxbhwemuxngthngpwnginphrarachxanackrthwthukekhtaekhwng rwmthnghwemuxngithyihykhangehnuxphrankhrdwy 115 emux ph s 2308 enemiywsihbdisungxyurksaemuxngechiyngihmkbmngmhanrthasungxyurksaemuxngthithwayidrbhnngsuxcakphraecamngraphayhlngcakthiesdcipprathbkrungxngwa emuxnghlwngkhxngphmawaihykthphiptikrungsrixyuthya thngnikepnphraprasngkhkhxngphraecaxlxngphyathitrssngiwkxnsinphrachnmwaihtixyuthyaihid thngsxngcungtangeknthphlykthphekhaplnemuxngtang xikfayhnungbukplntngaetemuxngnkhrswrrkhlngmathungemuxngxinthremuxngphrhm cnghwdsinghburi xikfayhnungkplnxyuaethwemuxngsuphrrnburi emuxngrachburi aelaephchrburi aelwcungmarwmthphkn odyhwngthalaykalngfayxyuthyatngaetchnnxk smedcphrathinngsuriyasnxmrinthrcungoprdihecaphrayaphisnuolk eruxng eknththphhwemuxngehnuxipkhbil aelaihthphinkrungykthphipilphmathngdanemuxngnkhrswrrkhaelaemuxngrachburidwy odythphdanehnuxihphrayathiebsrbriwtrepnaemthph thphitihphrasunthrsngkhramepnaemthph txmasmedcphrathinngsuriyasnxmrinthrthrngthrabkhwamwaphmatamtimacnthungthnburiktkphrathyekrngwaphmacalwngcuocmekhathungphrankhr cungihphrayartnathiebsrkhumkxngthphsungeknthmacaknkhrrachsimalngmarksathnburixikthphhnungihphrayaymrachkhumkxngthphxikkxnghnunglngmarksannthburikhxyskdphmaexaiw swnthphkhxngecaphrayaphisnuolk eruxng khbilphmacnmasinsudthiphrankhrsrixyuthyaaelwcungtngthphxyu n wdphuekhathxng tamphraprasngkhkhxngsmedcphrathinngsuriyasnxmrinthr plngsphmarda khrnecaphrayaphisnuolk eruxng ekhluxnriphlmatngxyu n wdphuekhathxng aelwnncungthuxoxkasihecaphrayaphlethphkrabbngkhmthulphrakrunakhxphrabrmrachanuyatsmedcphrathinngsuriyasnxmrinthraethntnephuxkhxipplngsphmarda aetsmedckrmphrayadarngrachanuphaph thrngklawwa eruxngecaphrayaphisnuolk eruxng khxlaipthasphmardathng thikhasukprachidkrungxyunnimepnkhwamcring 216 aetxaccaepntxngipthasukpxngknhwemuxngehnuxhlngcakthrabwaphmatihwemuxngsuokhthyidcungcaepntxngribykthphkhunip 69 aelakhxphrarachthanihhlwngmhadithy hlwngoksa yng aelahlwngesna xyukhumthphthiwdphuekhathxngaethntn 587 praktin phrarachphngsawdar chbbsmedcphraphnrtn wdphraechtuphn chbbtwekhiyn khwamwa khnannecaphyaphisnuolk ihphyaphlethphkrabthulphrakrunathwaybngkhmla klbkhunipplngsphmanda cakhxihhlwngmhadith hlwngoksa hlwngethphesna xyukhumkxngthb na wdphuekhathxngaethntw kthrngphrakrrunaoprdihklbipemuxng 344 hmayehtu ehtukarnkarkhxipplngsphmardakhxngecaphrayaphisnuolk eruxng inphrarachphngsawdar mikhwamkhdaeyngkndngni phrarachphngsawdar chbbphrarachhtthelkha klawwa emuxphmaekhatihwemuxngehnux krmkarfayehnuxcungaecngkhawtxkrungsrixyuthya smedcphrathinngsuriyasnxmrinthrcungoprdihecaphrayaphisnuolk eruxng ykthphiptiphma inkhnaediywknhlwngoksa yng kphakrmkhunsurinthrsngkhram aelakxngthphkhxnghlwngoksa yng khumxyunn hniklbekhaemuxngphisnuolkethann aetthphecaphrayaphisnuolk eruxng imidklbekhaemuxngmadwy swnphrarachphngsawdarchbbxun klawtrngknwa ecaphrayaphisnuolk eruxng elikthphklbipemuxngphisnuolkodykhxkrabthulephuxlaipplngsphmarda thngni nithi exiywsriwngs idihkhwamehnsxdkhlxngkbpraednniiwwa karkhxthullaipplngsphmardakhxngecaphrayaphisnuolk eruxng nnepnephiyngkhxxangthicathingkrungsrixyuthya thngnikephuxkhwamplxdphyaelaxnakhtthangkaremuxngkhxngtnexng rwmthngkaridepnxisracakkrungsrixyuthya minkprawtisastridaesdngthsnaaetktangxxkipcakphrarachphngsawdar echn smedckrmphrayadarngrachanuphaph thrngdariinechingxrrthiwwa inhnngsuxphrarachphngsawdarwa ecaphrayaphisnuolkthullaklbipplngsphmardaehnwacaimepnid ephraaepnewlamisuksngkhram 216 swnhnngsux phraaesngrachsstra ody krathrwngmhadithy klawwa ecaphrayaphisnuolk eruxng iprachkarsukephuxpxngknhwemuxngfayehnuxmakkwa aetxaccathuxoxkaskrabbngkhmthulkhxxnuyatplngsphmardaemuxesrcrachkaraelwkepnid aetphwkrachsankinkrungsrixyuthyasungimprarthnacaihikhriddikkhngcaaephrkhaweruxngipthasphmardaihaephrhlayaelapidkhawrachkarsakhynnesiyephuxihecaphrayaphisnuolk eruxng esiyhay 69 159 161 ykthphkxbkuemuxngsuokhthy emux ph s 2308 raweduxnsinghakhm enemiywsihbdirwbrwmphlcaklannaaelalanchangraw 40 000 nay swnihyepnchawithyihyaelalaw aelwcungykthphhlwngcakechiyngihmaebngmathangtak aelathangswrrkholk tihwemuxngehnuxeruxylngma fayecaemuxngkrmkarhwemuxngehnuxehnkhasukphmamamakmaycunghlbhniekhapa phmakidhwemuxngeruxymatngaetphichy swrrkholk cnthungemuxngsuokhthy hlngphmayudhwemuxngsuokhthyidcungtngkhayxyuthisuokhthy ecaphrayaphisnuolk eruxng kbecaemuxngkrmkarhwemuxngehnuxtdsinicrwbrwmphlykthphipchwyphrayasuokhthyrbphmathiyudemuxngemuxngsuokhthy aelaecaphrayaphisnuolk eruxng mkthuxdabphraaesngrachsstraxayasiththithiidrbphrarachthancaksmedcphrathinngsuriyasnxmrinthrtlxdewlakhnaiprachkarsukhwemuxngehnux 69 phrarachphngsawdar chbbsmedcphraphnrtn wdphraechtuphn chbbtwekhiyn klawwa cungkrmkarhwemuxngehnuxbxkkhxrachkarsuklngmaxikchbbhnungwa phmaykmathangehnuxxikthbhnung smuhnaykkrabbngkhmthul cungmiphrarachoxngkar trssngihmitrakhunipthungphyaphisnuolk ihykthbiptithbphma khrnthungeduxn 7 pirka sphsk cungaenkwncxmobkhumphlphma phllaw 2000 ykthberuxlngmaaetemuxngkaaephngephchrmatngkhayxyu na emuxngnkhrswrrkh 344 hlngcakecaphrayaphisnuolkykthphxxkipaelw khrnmiriphlipthungemuxngsuokhthy thphkhxngecaphrayaphisnuolk eruxng cungidekhapathakbthphenemiywsihbdithiemuxngsuokhthy epnthphhlwngfayehnuxkhxngphmasungykthphmathangdanemuxngswrrkholk swnkalngthphkhxngecaphrayaphisnuolk eruxng mikalngkhnephiyngethathicahaidtamhwemuxngtang karrbpathaerimkhunineduxnphvscikaynyudeyuxcnthungeduxnyi inthisud ecaphrayaphisnuolk eruxng thuxphraaesngrachsstraxachyasiththiippxngknhwemuxngehnuxepnphlsaerc 69 159 161 sngphlihthphenemiywsihbdi thphhlwngkxnghlng aetkthxyklbipsmthbkbphwkknexngthiemuxngnkhrswrrkh 69 sungepnthphhlwngkxnghnaaelwekhluxnthphmungtrngipyngkrungsrixyuthyaodyeliyngthphimidruklaekhaipdaninemuxngphraphisnuolk 69 27 sxdkhlxngkb oythyanyomokng Yodaya Naing Mawgun nganekhiynkhxng eltew nxratha klawthung khwamaekhmaekhngkhxngthphphisnuolkaelahwemuxngehnuxxun cnaemthphfayphmatxngprbyuththsastrkarrbihm 33 swnin phrarachphngsawdarphma klawiwwa kxngthphihysihptikyklngmatamlanaaemnaecaphraya kxngthphihysyamykkhuniptxtikaetkphayesiyriphllmtaymak 121 122 khnathiphngsawdarphma klawtrngkhamwa ecaphrayaphisnuolk eruxng thukphmatiaetkphayhni swnphrayasuokhthy aelaphrayaswrrkholkphakhrxbkhrwphlemuxnghniekhapa 98 prabkbtecafacid rahwangthiecaphrayaphisnuolk eruxng tharachkarsukxyuthiemuxngsuokhthynn thangdanemuxngphraphisnuolkekidkbtinemuxng odymikrmkhunsurinthrsngkhram ecafacid phrarachoxrskhxngphraxngkhecadakbecafahyingethph phrarachthidakhxngsmedcphrathinngthaysra aelaepnphrarachnddakhxngsmedcphraephthracha khnannthrngtxngothsthungsinphrachnmphrxmkbecafathrrmthiebsichyechsthsuriywngsxyuinkrungsrixyuthya emuxsthankarnrasarasay hlwngoksa yng khidxanihkrmkhunsurinthrsngkhramkhunnngemuxngphraphisnuolkaethnecaphrayaphisnuolk eruxng cunglklxbhnikhumthphipchwykrmkhunsurinthrsngkhraminphrarachwng aelaphakrmkhunsurinthrsngkhramhlbhniklbipemuxngphisnuolk sungxacepnkarwangaephnrwmknrahwangkrmkhunsurinthrsngkhramkbecacuy phunachumnumsmedcphraosrths ecafacuy phrarachoxrskhxngecafaxphy khunepnkstriypkkhrxngkrungsrixyuthya swnkrmkhunsurinthrsngkhramkhunepnphramhaxuprach krmphrarachwngbwr krmkhunsurinthrsngkhramcungtdsinbnphukhumhludcakthikhumkhngaelwcungrwbrwmphrrkhphwkrwmthnghmxmchim phrathidainkrmkhunsurinthrsngkhram 2 21 ykknipemuxngphisnuolk praktin phrarachphngsawdar chbbphrarachhtthelkha khwamwa fayecaphrayaphisnuolkkykkxngthphipchwyrbphmanemuxngsuokhithydwy khnannecafacidepnbutrphraxngkhecada sungtxngsaercothskhrngecafaxiphyecafabremsr phramardannecafaethph epnphrarachthidasmedcphraphuththecahlwngaephndinthrngpla aelepnecaphiecafanimecafasngwalsungepnothskhrngkrmphrarachwngnn aelecafacidtxngothscaxyuinphrarachwng hlwngoksaphlemuxngphraphisnuolkchwykhidxanihhnixxkcakothsid iprbnkhayphuekhathxng aelwphaknhniipemuxngkbthngbawiphrinkxngkhxngtw 265 praktinklxnbthhnungwa ckklawkhbklbelaecafacid oprdihkidknkktahnkkhngaetaephndinthaysralabllngk epnothskhrngpiturngkhxngkhecadahlwngoksaphlphisnuolk xupolkncngrkphkdikhacungaesrngeseththayxubaytha lxbnahniothsepnosdma lilit wllphisr sdpraesrith 2543 emuxmathungaelwimphbecaphrayaphisnuolk eruxng miephiyngthanphuhyingechiyng phriya kbkhunnanghlngehluxephiyngbangswnethann krmkhunsurinthrsngkhramthrngmiaephnhmaycayudemuxngphisnuolkodykhidhlxkihecaphrayaphisnuolk eruxng ekhaicphidwaephuxrksaemuxngihmnkhng cungeriykkhunnanginemuxngsngkhwamwatncaepnecaemuxngaethn emuxecafacidkhunnngemuxngphisnuolk cungidaexbekhaekbribthrphysinenginthxngaelayngcudephlingephacwnecaphrayaphisnuolk eruxng thingesiy 344 chawemuxngtangimmiphuidklasudwyehnwaepnecanay sunghlwngoksa yng thharexkkhxngecaphrayaphisnuolkkhidehnchxbkbecafaciddwyehtuwaepnecanayechnkn aetyatikhxngecaphrayaphisnuolk eruxng ehnkarn thanphuhyingechiyng phriya phrxmdwyphrrkhphwkaelabawiphrcanwnhnungaexbhnilngeruxkhunipyngemuxngsuokhthy ephuxnakhwamipaecngkbecaphrayaphisnuolk ecaphrayaphisnuolk eruxng cungelikthphklbmarwbrwmphukhnaethwemuxngphicitridmakaelwcungtngkhayetriymrbkbphwkecafacidthithayemuxngphraphisnuolk rbknhlayephlacnkrathngphwkecafacidaetk ecafacidsngihthharetriymrbpxngknemuxngaetthharklbimtxsuid ephraathharinemuxngtangknbthuxecaphrayaphisnuolk eruxng emuxthharcbkrmkhunsurinthrsngkhramid ecaphrayaphisnuolk eruxng cungwaklawtietiynaelwcbiskrngsngtwipyngphrankhr emuxmathungbriewnthungsakehlkekhtemuxngphicitr fayphukhumthphruwamiphmatngthphthibankubaelathiemuxngnkhrswrrkhcunglngipphrankhrimid ecaphrayaphisnuolk eruxng cungichxanactamphraaesngrachsstraxayasiththiephuxsaercothsechuxphrawngs 70 odysngihthharcbkrmkhunsurinthrsngkhramipthwngnathiekychybriewnnananaelanaym brrdaphrrkhphwkkexaippraharesiy swnhmxmchimmiidthrngtxngothsdwyihtkepnechlyxyuinemuxngphraphisnuolk phayhlngepnecacxminsmedcphraecakrungthnburi rwmthng namedim thxngkha aelabutrthidakxyuinkhwampkkhrxngkhxngecaphrayaphisnuolk eruxng dwyechnkn hmayehtu karchwyehluxkrmkhunsurinthrsngkhram ecafacid esdcliphyxxkcakkrungsrixyuthya xacepnaephnkhxngecaphrayaphisnuolk eruxng ephuxykkrmkhunsurinthrsngkhramkhunepnkstriysubphrarachsnttiwngs hlngkrungsrixyuthyaaetk echnediywkbkrniecaphrayasrisuriywngsykkrmhmunethphphiphithkhunepnkstriyemuxngphimay enuxngcakthng 2 phraxngkhtangkepnechuxphrawngsbanphluhlwng sxdkhlxngkbthsnakhxngnithi exiywsriwngs sungklawwa phrayaphisnuolkidkhidkarihymakxnhnathikrungcaesiyaekkhasukaelw aelakhngcaehnaelwwakrungsrixyuthyaimmithangrxdcakenguxmmuxkhasukipid cungkhidcaexaechuxphrawngkhchnsungipechidchuiwinemuxngphisnuolk 46 aelaehtukarnkrmkhunsurinthrsngkhramekhayudemuxngphraphisnuolkkepnehtuihecaphrayaphisnuolk eruxng txngykelikrbkbphmaklangkhncungthaihesiyoxkasinkarrb nayaephthywibul wicitrwathkar nkekhiynechingprawtisastridaesdngthsnaehtukarnecafacidyudemuxngaelaephacwnecaemuxng wa khidaelwktxngehnicecaemuxngphisnuolk ephraathanekhychwyehluxmibuykhuntxecafacidmakxninaephndinkhxngsmedcphraecaxyuhwbrmoksth ecafacidekhytidkhuk phrayaphisnuolkchwyihhnixxkmaid khrnewlaphanmaaethnthicarusukbuykhun ecafacidklbykphrrkhphwkmaribthrphysmbtikhxngthanaelwyngephabanthanesiywxdway tngtnepnecaemuxngaethndux rxngrxykaaephngobranemuxngphisnuolkinsmyxyuthyatamaenwekhtphrarachwngcnthn phbthiwdophthiyan cnghwdphisnuolk phmaekhluxnthphxxmlwngelyipyngkrungsrixyuthya hlkthankhxngfayithy inrahwangthiecaphrayaphisnuolk eruxng klbmaprabkrmkhunsurinthrsngkhram phmathuxoxkasykthphlwngelycaksuokhthymankhrswrrkhlngmayngkaaephngephchr hmaycarukrankrungtxip phmaimklaekhaocmtiemuxngphisnuolk emuxngphisnuolkcungmiidesiyemuxngaekphma prachumphngsawdar phakhthi 6 eruxng ithyrbphmakhrngkrungeka klawwa aetthanxngecaphrayaphisnuolkcaepnkhnekhmaekhng cungrksaemuxngphisnuolkiwid aetkimidmachwysurbthixunihepnpraoychn dwyiphrphlthithukeknthkhrawphmatiemuxngpksityngkhangxyuthikrungsrixyuththya txngrksaphrankhrkhangdanehnux aela phngsawdareruxngerarbphma khrngkrungsrixyuththya klawwa fayphmaemuxecaphrayaphisnuolkelikthphklbkykelylngmaemuxngnkhrswrrkhthangemuxngkaaephngephchr hatamiptiemuxngphisnuolkim emuxngphisnuolkcungmiidesiyaekphmakhasukinkhrngnn aetthangphmaklawwaphmaidemuxngphisnuolkdwy praktin mharachwngsphngsawdarphma chbbaeplodynaytx khwamwa aelthrabwaaemthphphmaidtngkhayxyuthiemuxngphisnuolkepnxnmak 233 emuxwnthi 20 mkrakhm ph s 2309 122 123 enemiywsihbdi aemthphhlwngfayehnuxekhluxnkalngphlmathungkrungsrixyuthyaaelwtngkhaythangthistawnxxk swnthphmngmhanrthaaemthphfayit yaykhaymatngprachidkrungsrixyuthyafngtawntkechiyngehnux aelwcungekhalxmkrungnan 14 eduxncnkrathngkrungsrixyuthyaesiyihaekkhasukemux ph s 2310 cungidkwadtxnechlysukchawkrungsrixyuthyaklbipyngkrungxngwaepnxnmak thphfayehnuxkhxngphmakwadtxnechlysukipthangdanxuthyaelwedinthangbktxipyngemaatama 136 odyhlikeliyngimekhaipinekhthwemuxngfayehnuxsungecaphrayaphisnuolk eruxng yngmixanackhwbkhumxyuinkhnann hmayehtu karepriybethiybexksarprawtisastrkrniemuxngphisnuolkesiyemuxngihaekphmamihlkthanaetktangknrahwangkhxngithyaelaphma karbkthukkhxngfayphmamikhwamkhwamkhladekhluxnaelaxkhti aelaklawykyxngchychnakhxngtnekincring cungtxngkrathakarichhlkthanxyangramdrawng hlkthanaetktangkrniemuxngphisnuolkesiyemuxngrahwangphngsawdarithykbphngsawdarphma phngsawdarithy phngsawdarphmakhangemuxngphisnuolk ecafacidthitxngothsxyuinkrungsrixyuthyahnikhunipplnemuxngphisnuolkidekhatngxyu ecaphrayaphisnuolkcungykthphklbmaprabecafacidmichy cbthwngnaesiy phmahaidmatngchumnumphl n emuxngphisnuolkim 121 inthisudphucakhdaekhngthngpwngkphayaephxanacphmatangyxmxxnnxmeriybrayhmdtlxdmathngkxngthphihykidkxnghnunphllawephimetimmaxikmak cungykmachumnumthphxyu n emuxngphisnuolk 121 hlkthankhxngfayphma cakkarsuksaphngsawdarphmakhxngsuentr chutinthrannth in phngsawdarrachwngskhxngbxng idklaweruxngyuththsastrfayphmaiwxyanglaexiydwaenemiywsihbdiidekhayudemuxngphisnuolk aelayngtngthphephuxrwbrwmkalngphlxikdwy dngni thphphmafayehnuxepnthphhlwngkhxngenemiywsihbdi hrux sihapaeta 219 mithpheruxody khungchngyamacxepnaemthphkhumthph 20 thphyxyepnthphkxnghnamiriphllwngelymathanglanaping swnthphkxnghlngepnthphkhxngenemiywsihbdisungmi 13 thphyxy rwmthphxun thngsin 58 thph 48 ekhluxnriphlmacakechiyngihm raweduxnknyayn thphphmamungekhatiemuxngtakepnemuxngaerk 48 phrayatak sin ecaemuxngtak idtngthphrxrbxyuinemuxngtakaetphmaekhatiemuxngtakidinrayaewlaxnsn 50 emuxidemuxngtakaelwthphphmacungekhluxnriphltxipyngemuxngraaehng aetecaemuxngraaehngyxmxxnnxmcungyudemuxngidodyngay 231 aelwcungekhluxnphlipyngkaaephngephchrtxip aetenemiywsihbdiidedinthphtdekhaipthanglumnaym odymungipyngemuxngphisnuolksungepnepahmaysakhy 50 thphkhxngenemiywsihbdiidekhluxnphanemuxngswrrkholkaetecaemuxngswrrkholkimyxmxxnnxmihphlthharyingpunihynxyisthphphmadnghafn 231 enemiywsihbdicungichkalngekhatitxcnsamarthyudemuxngswrrkholkid txmaenemiywsihbdicungekhluxnphliptiemuxngyatama emuxtiidemuxngaelwcungykthphekhatiemuxngphisnuolk Pith tha lok txip dwyemuxngphisnuolkepnemuxngihyaelamipxmprakaraekhngaerng ecaphrayaphisnuolk eruxng imyxmxxnnxmtxphma 50 232 aelaykthphekhatxrb enemiywsihbdicungichkalngekhatiemuxngcnsamarthyudemuxngphisnuolkid 50 ecaemuxngphisnuolkphayaeph aelathukcbepnechly 17 khdaeyngkbphrarachphngsawdarithythngsmyxyuthyaaelathnburi sungklawwaphisnuolkmiidesiyaekphmainkhrngnn ecaphrayaphisnuolkyngtngtnepnecainewlatxma aelaphmaewnemuxngihykhuxphisnuolkaelaphicitr 18 s dr nithi exiywsriwngs klawthungkhwamkhdaeyngrahwangphngsawdarithyaelaphmawa khwamkhdaeyngkbphrarachphngsawdarithyehlani nxkcakkhxthiehnidchdwaphrarachphngsawdarithycathuktxngkwa echn thiekiywkbphrayaphisnuolkaelw phrarachphngsawdarphmayngklawkhwamkhdthiaeyngknexngxikdwy ephraain ph s 2309 khnathiphmalxmkrungxyunn phrarachphngsawdarphmaklbklawwaprachachncakaethbphisnuolk suokhthy banna aelahwemuxngxun thangehnuxphakncdthphidkhnthung 20 000 lngmatikrahnabthphphma aetthukphmatiaetkklbip aethwemuxngehlaniphrarachphngsawdarphmaidklawwa thukprabpramcnhmdsin cacdthphlngmachwyxyuthyaidxyangir 18 emuxtiemuxngphisnuolkidaelw enemiywsihbdicungtngchumnumthphepnsunybychakarihyxyuthiemuxngphisnuolkepnewla 10 wn 51 233 ephuxkxbokykalngiphrphl esbiyngxahar chang ma cakemuxngphisnuolk phrxmcdkalngthphxxkepn 2 swn aetlaswnmithphyxy 10 thph aelaih tirinandaetngcan hrux sirinnthsngcn aela cxkhxngcxtu hrux cxkhxngcxsu 233 epnphukhumthph kxncaekhluxnriphlthyxytihwemuxngtxnlangkhxnglumnaecaphrayatxip 51 s dr suentr chutinthrannth klawthungptibtikarkhxngthphphma khwamwa naythphthngsxngcaimedinthphtrngekhalxmkrungsrixyuthyatrabethathiyngimidyudkhrxnghwemuxngrxbnxkxanackrthnghmd aelayngimidkalngsnbsnuncakxikfayhnung 51 rahwangthienemiywsihbdiyngkhngtngthphpkhlkxyuthiemuxngphisnuolknncungidihthphthngsxngthicdiwodymi tirinandaetngcan aela cxkhxngcxtu epnphukhumthphmiriphlekhatiemuxnglaelng emuxnglaekhing emuxngphichy emuxngthani emuxngnkhrswrrkh aelaxangthxng tamladb aetecaemuxngehlaniimkhidsucungyxmxxnnxmihaekphmaaetodydi fayphmaidxawuthyuthothpkrnepncanwnmakaelwkhwbkhumtwecaemuxngthng 5 emuxng sngklbipthiemuxngphisnuolk 52 emuxngthiyudid fayphmakihthuxnaphraphiphthnstyamiihklbicepnkbt 232 233 cungihphurksaemuxnglbael emuxngphichyemuxngthani emuxngphicitr emuxngnkhrswrrkh emuxngxangthxng thuxnaphraphiphthnscca aelwihphurksaemuxngaelhwhnaihrksaemuxngehlanitxip 92 raychuxhwemuxngfayehnuxthiidthuxnaphraphiphthnstyakbfayphma 92 emuxngtak phrayatak sin emuxngraaehng emuxngkaaephngephchr emuxngswrrkholk phrayaswrrkholk emuxngsuokhthy phrayasuokhthy emuxngphraphisnuolk ecaphrayaphisnuolk eruxng emuxnglbael emuxngphichy emuxngthani emuxngphicitr hlwngoksa yng emuxngnkhrswrrkh emuxngxangthxng hmayehtu karthuxnaphraphiphthnstyaimpraktinphngsawdarithy cunghakhxyutiimid 94 thphkhxngenemiywsihbdithitngxyuthiemuxngphisnuolknnsamarthrwbrwmkalngiphrphl xawuthyuthothpkrn thngpunelk punihyidmakmay emuxcdthphphrxmaelwcungekhluxnriphlthngthangbkaelathangeruxthngsin 71 thph 52 xxkcakemuxngphisnuolkmunglngthangittxip thangkrungsrixyuthyathrabkhawwaphmaykthphlngmacungsngthphykmarxtngrbaetthphfayxyuthyaimsamarthsuidcungthxythph phmayudxawuthaelaiphrphlechlysukidepncanwnmak 52 aelwekhluxnriphllngipsmthbkbthphkhxngmngmhanrthaephuxekhalxmkrungsrixyuthya 53 khxsnnisthan smedcphraecabrmwngsethx krmphrayadarngrachanuphaph thrngchiwithithiphmaykthphekhamainkhrngnipraktin phngsawdarphma thikahndiwepnxubayiwkhux thaemuxngihn hruxaemaettablbanihntxsu phmatiidaelw ekbribthrphysmbtiexacnhmd phukhnkcbepnechlysngipemuxngphma aelwihephabanchxngesiyimihehlux thabanihnemuxngihnekhaxxnnxmtxphmaodydi phmaihkrathastyaelw implnsdmphekbribthrphysmbti epnaeteriykexaesbiyngxaharphukhnphahnamaichsrxykarthphtamaetcatxngkar hakphmatiemuxngphisnuolkid ecaphrayaphisnuolk eruxng imxacmikalngiphrphlphxthicatngchumnumecaphrayaphisnuolk eruxng id ecaphrayaphisnuolk eruxng khngmixacekhaxxnnxmphmaihesiyemuxngaetodydi aelathphenemiywsibdixacesiykalngphl mikalngimephiyngphxthicatihwemuxnglang emuxngphisnuolkxikcanwnmakephraakxngthphkhxngecaphrayaphisnuolk eruxng ekhmaekhngmak nxkcaknihlkthanfngphmayngimmibnthukehtukarnecafacidkxkbtekhayudemuxngphisnuolkinrahwangthiecaphrayaphisnuolk eruxng kalngrbkbphmaxyu n emuxngsuokhthy khxmulphngsawdarkhxngithyaelakhxngphmakhdaeyngkn imxacklawidwafayidthuktxngkwaikhr sphaphclaclhlngkaresiykrungsrixyuthyakhrngthisxngkarhlbhnikhxngphrayatiphrawngssuemuxngphisnuolk kxnthicaesiykrungemuxwnthi 7 emsayn ph s 2310 trngkbwnxngkhar khun 9 kha eduxn 5 pikun nphsk khnathikrungsrixyuthyaekidsngkhramkbphmacwncaesiyaekkhasuk odymithphenemiywsihbdikbthphmngmhanrthaekharukrankrungsrixyuthyaxxkphraxksrsunthrsastr thxngdi tnphrabrmrachckriwngs khunma txmakhux ecacxmmardama aelakhunla txmakhux smedcphraecanxngyaethx ecafakrmhlwngckrecsda phaknhlbhniipxyuemuxngphisnuolk sungecaphrayaphisnuolkepnecaemuxngxyu odyminaythxngkhwy bidakhxngphrayasrishethph thxngephng tnskul sriephy aelanayaeym butrkhxnghlwngrksesna cars epnphutidtammadwy phraxksrsunthrsastr thxngdi epnshayekakhxngecaphrayaphisnuolk cungidrbtxnrbxyangdithungkbsthapnabrrdaskdiaekphraxksrsunthrsastr thxngdi 67 epnxkhrmhaesnabdi taaehnngsmuhnaykaekhwnphisnuolk mirachthinnamwa ecaphrayackrisrixngkhrks smuhnaykxkhrmhaesnabdi xphyphiriybrakrmphahu skdina 10000 phrxmekhruxngyskhunnangxyangesnabdiinkrung praktin phrarachhtthelkhakhxngphrabathsmedcphracxmeklaecaxyuhw thungesxr yxn ebaring 1969 62 63 khwamwa brrphburuskhxngphraxngkhedimepnchawmxyxyuinkrunghngsawdi idtidtamsmedcphranerswrmharachekhamarbrachkarinkrungsrixyuthya emuxtxnsmedcphranerswrprakasxisrphaph thanphunikhux phrayaekiyrti idekhamatngbaneruxnxyuthiwdkhunaesn idmilukhlansubtxmacnthungoksapaninaephndinsmedcphranarayn odyepnrachthutipecriysmphnthimtrikbphraecahluysthi 14 aehngkrungfrngess txmalukhlankhnhnungidrbrachkarkbecaphrayaphisnuolkemuxtxnkrungsrixyuthyaaetk aelaidrbbrrdaskdiepnphraxksrsunthresmiyntra phraxksresmiyntramilukhlanhlaykhn khnthi 4 epnchay sungtxmaidkhunkhrxngrachsmbtiepn phraphuththyxdfaculaolk sungepnpukhxngphraxngkhthan esxrcxhn ebawring xkhrrachthutithypracakrunglxndxnaelathwipyuorpemuxplayrchkalthi 4 klawin The Kingdom And People Of Siam wa He on his arrival at Phitsanulok the great city at Northern Siam became regent or superintendent of supreme governor of that city who proclaimed King of Siam after burning of Ayudia was in hand of Burman army and who died by structing of fever after a few month of the royal proclamation khaaepl ekha xxkphraxksrsunthrsastr thxngdi esmiyntra edinthangthungemuxngphisnuolknkhrihythangehnuxkhxngsyam idepnxkhrmhaesnabdihruxphubngkhbbycha ecaphrayackri khxngecaphukhrxngemuxngsungsudemuxngnn ecaphrayaphisnuolk eruxng sungprakastnepnkstriyaehngkrungsyamhlngcakkrungsrixyuthyatkxyuinenguxmmuxkhxngkxngthphphma aelaswrrkhtdwyikhhlngkarprakasrbphrarachoxngkarephiyngimkieduxn Sir John Bowring F R S The Kingdom And People Of Siam Vol I 1857 aelatngnaythxngkhwy phutidtam epnnaychanay krabwn nayewrkrmmhadithy emuxngphisnuolk ecaphrayackri thxngdi prathbxyuthiemuxngphisnuolkcnthungaekxsykrrmcnkrathngemuxngphisnuolktkipepnchumnumecaphrafang eruxn praktin xphiniharbrrphburus chbbkhxnghmxmecapiyaphkdinarth wa khrngnnphraecaaephndinphraphisnuolk kkrathakarchapnkicephasphtamtaaehnngysesnabdiesrc khunbuymakbphrabutr thanidekbphraxthikbmhasngkhxutrawtkhxngthaniwphayhlngidnaekhama thwayphrabathsmedcphraphuththyxdfaculaolkepnsakhy 29 30 aelainhnngsux tnwngstrakulphayasrishethphchuxthxngephng khwamwa khrnxyumakalkhrnghnung cungthanecaphayackrkri pwydwyxakarepnorkhobranthuphlphaph cungthungxasyyakrrmlnginkrungphraphisnuolkyrachthani fayhmxmbuymachayakbdrunoxrs phrxmknkbnaychanay thxngkhwy nayewr aelnayyimnayaeymsanusisysamkhn phrxmicknchwycdkarkrathachapanakicplngsphecaphayackrkri thaodyriberngrxnrnkhwnkhwayihaelwipkhrawhnung inthipachawdklangemuxngphraphisnuolky thi khaihkarkhxng Chen Mo Wen Shao aela Lin Zhengchun rwbrwmody Zhen Rui klawwa Zhao wang ji khux krmhmunethphphiphith esdcliphyipemuxngphraphisnuolkphayitkarpkkhrxngkhxng Fu Shi Lu Wang hruxecaphrayaphisnuolk eruxng dwy kxnthicaesdcipyudemuxngnkhrrachsimaaelwthrngtngchumnumecaphimay khaihkardngklawpraktin bthkhwamnganwicy eruxng The Fall of Ayutthaya and Siam s Disrupted Order of Tribute to China 1767 1782 75 128 khxng Masuda Erika Ph D mhawithyalyotekiyw nkwicyhlngpriyyaexkkhxng CAPAS Academia Sinica khwamwa Zhao wang ji sheltered himself under the protection of a local chief of Fu shi lu wang Zhao wang ji is Kroma Mun Thepphiphit who is a son of King Borommakot Nithi points out that Kroma Mun Thepphiphit was the most formidable opponent of King Taksin Zhao wang ji who is a half elder brother of the King of Siam King Ekathat is around fifty years old He is the son of the Siamese old King and a woman of the Baitou race 89 khaaepl ecahwngci esdcliphyphayitkarkhumkhrxngkhxngphunathxngthinkhxng Fu shi lu wang ecahwngci khux krmhmunethphphiphith sungepnphrarachoxrskhxngsmedcphraecaxyuhwbrmoks Nithi nithi exiywsriwngs chiwa krmhmunethphphiphiththrngepnstruthinaklwthisudkhxngphraecataksin ecahwngcisungepnphraechsthatangphrachnnikhxngphraecakrungsyam smedcphrathinngsuriyasnxmrinthr miphrachnmayuraw 50 phrrsa phraxngkhepnphrarachoxrsinphraecakrungsyaminrchkalkxnaelaphramardaechuxsay Baitou Masuda Erika Ph D khaihkarody Chen Mo Wen Shao aela Lin Zhengchun Taiwan Journal of Southeast Asian Studies pithi 4 chbbthi 2 2007 txmamikartngchumnumkhunthnghmd 8 chumnum aebngepnchumnumkhnadihy 5 chumnum chumnumkhnadyxm 2 chumnum aelachumnumchnchatixun 1 chumnum dngni chumnumkhnadihy 5 chumnum chumnumphrayatak sin hruxphrayawchirprakar tngxyuthicnthburi chumnumecaphrayaphisnuolk eruxng mixanaekhtemuxngphichy emuxngnkhrswrrkh chumnumecaphrayankhrsrithrrmrach hnu mixanaekhttngaetemuxngchumphr mlayu chumnumchumnumecaphimay phraecalukyaethx phraxngkhecaaekhk krmhmunethphphiphith phrarachoxrsinsmedcphraecaxyuhwbrmoks mixanaekhttngaetemuxngsraburi phimay lanchang kmphucha chumnumecaphrafang eruxn mixanaekhttngaetemuxngaephr nan aelahlwngphrabang chumnumkhnadyxm 2 chumnum chumnumhlwngxrameruxngvththi thxngdwng thi c smuthrsngkhram kxncarwbekhakbsmedcphraecataksinmharachthikrungthnburi phayhlngprabdaphieskkhunepnphrabathsmedcphraphuththyxdfaculaolkmharach krungrtnoksinthr chumnumnaybuysngaelaphrayathnburi tngxyuthiemuxngthnburi chumnumchnchatixun 1 chumnum chumnumsuki chumnumchnchatimxy hruxnaythxngsuk tngxyuthikhayophthisamtn pccubnkhuxphunthi t phuthela aela t ophthisamtn x bangpahn c phrankhrsrixyuthya phrarachsasncaksmedcphraosrths ihphisnuolkcdkxngthphsnbsnun emuxpi ph s 2311 rawtnpismedcphraosrths phranamedim ecafacuy hrux ecacuy epnphunachumnumsmedcphraosrths tngxyuthiemuxngphuthithmas haetiyn sungphrackrphrrdiechiynhlng phraecakrungcin idihkarrbrxngsthanaphramhakstriysubtxcaksmedcphrathinngsuriyasnxmrinthr khnannsmedcphraosrthsthrngkalngwangaephnprabsmedcphraecakrungthnburi rxbthi 2 dwykarrwbrwmkalngphl 200 000 nay thrngaetngphrarachsasnthungecaphrayaphisnuolk eruxng ephuxkhxihcdkxngthphcakhwemuxngehnuxekharwmsnbsnunkxngthphkhxngphraxngkh aetphrarachsasnthukphrayaxnurksphuthr ecaemuxngnkhrswrrkh hruxphrayaphichydabhk xyuinekhtaednkhxngsmedcphraecakrungthnburi cbidrahwangthangkxncathungemuxngphraphisnuolk phrarachsasnkhxngsmedcphraosrthscungmiidsngthungecaemuxngphisnuolk ecaphrayaphisnuolk eruxng cungmiidthrabkhawaelamiidcdkxngthphtamphrarachprasngkhkhxngsmedcphraosrths phayhlngphrayaichyburn cn nxngchaykhxngecaphrayaphisnuolk eruxng thrabkhawphrarachsasnniaelaidcdkxngthphrwbsnbsnunsmedcphraosrthsdwy xnung phrayaxnurksphuthridnaphrarachsasnkhxngsmedcphraosrthsthwayrayngantxsmedcphraecakrungthnburiihthrngthrab phrarachsasnniepnsaehtuihsmedcphraecakrungthnburiykthphkhunipprabchumnumecaphrayaphisnuolk eruxng epnchumnumaerkemuxeduxntulakhm vdunahlak miaephnephuxskdkalngthphcakhwemuxngfayehnux enuxngcakecaphrayaphisnuolk eruxng epnthanxanackhxngsmedcphraosrths ecafacuy thngyngmiechuxsayrachnikulrachwngsbanphluhlwng aelamikhwamsmphnthenuxng kbphrarachwngsinthanaphrayatiphrawngskarsthapnakhunepnphramhakstriyphrarachwngcnthn calxngody s ekiyrtikhun dr snti elksukhum epnphrarachwngekathiecaphrayaphisnuolk eruxng prakxbphithirachaphieskkhunkhrxngrachyepnphramhakstriykrungphraphisnuolk aelamikarkhnphbrxngrxyhlkthankarburnasxmaesmbriewnphrarachwngnisungxacekiywkhxngkbecaemuxngphisnuolk eruxng khrnkrungsrixyuthyaesiyaekkhasukaelw ecaphrayaphisnuolk eruxng cungkhidtngtnepnphraecaaephndinemuxklangpichwdsmvththisktrngkb ph s 2311 hruxxacpiediywkbtxnesiykrung tamhlkthancakhxcdhmayehtuprawtisastrkhxngcin aelwsthapnaemuxngphraphisnuolkepnemuxnghlwng epnphramhankhrsungepnrthexkrachkhxngsyamaehngihmepn krungphraphisnuolkyrachthanisrixyuththyamhankhr ta ta ephuxsrangthanrachkarbanemuxngihmnkhngechnediywkbkrungsrixyuthya 127 128 cungaetngtngkharachkarkhunnangkhunkhrbthuktaaehnng odyaetngtngxkhrmhaesnabdi 1 fay esnabdictusdmph 4 krm tngxthmntri 8 fay tngkhunnangphuihyphunxythukhnathikhrbtamtaaehnng tngphrayaichyburn cn phraxnucha pldemuxngphraphisnuolk khunepnphramhaxuprach krmphrarachwngbwr rbphrabnthur aelatngphriyabutrhlanthixyuemuxngphraphisnuolkkhunepnecanayodythwthungkn praktin phngsawdarkrungsrixyuththyaphasamkhth smedcphraphnrtn wdphraechtuphn wa brrdachnthng 4 nn phrayaphisnuolkthixyuinemuxngphisnuolknn chnthnghlayrbphraoxngkaraelw kihykeswtrchtrthakarrachaphiesk 32 33 in sngkhitiywngs phngsawdar eruxngsngkhaynaphrathrrmwiny smedcphrawnrtnwdphraechtuphn inrchkalthi 1 klawwa inphrarachathnghlaynn swninemuxngphisnuolkpur chnthnghlayrbphraoxngkar aelphrarachaphisnuolkrachnnihykeswtrchtrkhunaelwxphiesk 417 418 praktin xphiniharbrrphburus chbbkhxnghmxmecapiyaphkdinarth khwamwa khrngemuxngkrungaetkesiyaekphmaaelwyngimmiphraecaaephndinsyam fayecaphrayaphisnuolkyeruxng cungtngtnkhunepnphraecaaephndinsyam tngkhunnangkhunetmtamtaaehnngehmuxninkrung 29 30 praktin phrarachphngsawdar chbbsmedcphraphnrtn wdphraechtuphn chbbtwekhiyn khwamwa inkhnannaetbndahwemuxngtngtwepncawkhunhlaytabl khux ecaphyaphisnuolkeruxng ktngtwepncawkhuntablhnung aelemuxngehnuxkhrngnnmicawkhunsxngaehng aebngaephndinxxkepnsxngswn tngaetemuxngphraphisnuolkylngmathungemuxngnkhrswrrkh kbaekhwpaknaophnn epnxnaekhtkhangcawphraphisnuolk 367 phrxmcdphrarachphithirachaphiesk 82 tamcaritpraephnixanackrxyuthyaepn phraecaphisnuolk hrux phraecakrungphisnuolk 127 128 27 76 77 mithanaepn phramhakstriyaehngkrungphraphisnuolk aelaichphrarachwngcnthnepnthiprathb khadaetyngimmiphithiaeheliybphrankhr swnkhasngihbngkhbichwa phrarachoxngkar ehmuxnxyangsmedcphraecaaephndinkrungsrixyuthya 260 405 aethnkhawa phraprasasn khxngecaemuxngchnexk thngthrngphrarachyanphukaepd mixngkhrkstamesdchnahlngxyangmiaebbaephntamcaritpraephniphramhakstriyaehngkrungsrixyuthya 340 phrxmthngcdbanemuxngkhxythacarbkxngthphphmaelymatikrungphisnuolk in phrarachphngsawdar chbbphncnthnumas ecim klawwa aetehtuphamatngphranaykxngiwrngemuxng aelphukhrxngemuxngexk oth tri ctwa brrdasungkhunaekkrungethph nn chwnknkaeribxhngkar tngtwepnihy ihrbphraoxngkarepnhmuepnehlakn cungbngekidocrphy thuphphikkhphytang stwthngpwngxnathahathiphungmiid nithi exiywsriwngs klawwa kartngtnkhunepnihykhxngecaphrayaphisnuolkimsamarththicaichkhwamepnecaemuxngphrayamhankhrdaeninkarthangkaremuxngid ephraasthananiimmikhwamhmaynxkekhtemuxngphisnuolk inkhnathiecaphrayaphisnuolktxngkarcamixanacehnuxhwemuxngfayehnuxthnghmd cungcaepntxngepliynsthanakhxngtnepnphramhakstriy 150 burnaphrarachwngcnthn emuxngphisnuolk emux ph s 2549 cdhmaykhawmulnithielk praiph wiriyaphnthu idephyaephrkarsarwcphrarachwngcnthn cnghwdphisnuolk khxngkhnasarwcobransthan phlkarsarwcphbrxngrxybangprakarekiywkbkarburnaaelasrangkaaephngxakharinphunthiphrarachwngekaaehngni rxngrxynixacekiywkhxngkbchumnumecaphrayaphisnuolk eruxng emuxkrungsrixyuthyaesiyaekkhasukinpi 2310 aelw insmykrungthnburi praktwaecaemuxngphisnuolkinkhnannidtngtwepnihyeriykwa chumnumecaphisnuolk mirxngrxyhlkthanbangprakarthiphbphayinphrarachwngcnthnaesdngthungkhwamphyayamthicamikarekhamaburnaaelasrangkaaephngxakharkhunbnphunthinixikkhrng rxngrxynixacekiywkhxngkbkarthiecaemuxngphisnuolkphyayamthicafunfubriewnphrarachwngekaihepnthixyukhunihm 31 phithibrmrachaphiesk phithirachaphieskkhxngecaphrayaphisnuolk eruxng cdkhunthiphrarachwngcnthntamaebbaephnobranrachpraephnikhrngaephndinphramhaburus 24 mikarykeswtchtrkkuthphnthekhruxngthxngprakxb thatngthiprathbsahrbsrngphrakrayasnan esdcxxkkhunnangthwaythupethiyn tngkhunnangkhunthuktaaehnngtamphrarachkahndkdhmay sthapnaphrarachwngsanuwngskhunepneca tngnamkrungphraphisnuolk ykewnyngimmiphithiaehkhbwnphyuhasmophchphrankhr hnngsux tnwngstrakulphayasrishethphchuxthxngephng klawwa khrngnnecaphayaphraphisnuolky buyeruxng cungmiicxhngkarkaeribodyomhacitr khidtngtnkhunepnphracawaephndinexkrachsyam ykemuxngphraphisnuolkykhunepnkrungphraphisnuolkyrachthanisrixyuthyamhankhr cdrwnganrachkarbanemuxngihmnkhngaekhngaerng khlaykbkrungsrixyuthyamhankhresrcaelw cungtngkharachkarthuktaaehnngthukkrathrwngthngpwngkar khux tngexkxuxrrkhmhaesnabdi 1 tngxrrkhmhaesnabdi 2 tngctursdmphesnabdi 4 tngxthmntri 8 tngkhunnangphuihyphunxykhrbthuknathietmtaaehnnginphrarachkahndkdhmaythwnthukprakar aelwcungcdkarrachaphieskodysngekhpesrcaelw esdcxxkkhunnangthwaydxkimthupethiyn khadaetyngimmiphithiaeheliybphrankhrethann odykhasngkhxngtn kbngkhbihichwadngni phrarachoxngkar thngthrngphrarachyanphukaepd mihmuxngkhrksaehnatamesdchnahlngxyangaebbaephnphramhakstriyinkrungsrixyuththya thrngtngphayaichyburn cn pldemuxngphraphisnuolky sungepnphrarachxnuchaihepnphramhaxuprachykrmphrarachwngbwr rbphrarachbnthur aelwthrngtngphrarachoxrsaelphrarachthida aelphrarachphakhinyaelphakhini kbphrarachwngsanuwngs aetlwnepncawfabang epnphraxngkhcawbang epncawtangkrmbang epncawrachnikulbangtang kbthichidaelhang thngthrngcdrwnganrachkarbanemuxngiwihmnkhng khxythacarbrxngkxngthphphmaephuxcaelaamatikrungphraphisnuolkybang inkhrngtngepnexkrach cungkhxyrawngkhasukphmaihcngdi ta ta raynamphuidrbsthapnataaehnng raychuxphuthiidrbaetngtngtamthimihlkthanpraktiw midngni raychuxbukhkhl khunnang taaehnngthiidrbaetngtng hmayehtuthanphuhyingechiyng phraxkhrmehsi phriyaecaphrayaphisnuolk eruxng phrayaichyburn cn phramhaxuprachthikrmphrarachwngbwr 76 77 nxngchayecaphrayaphisnuolk eruxng phraxksrsunthrsastr thxngdi xkhrmhaesnabdi thismuhnayk epnthipruksarachkarbanemuxnghlwngoksa yng rachxngkhrksnaythxngkhwy naychanay nayewr krmmhadithy phutidtamphraxksrsunthrsastr thxngdi nayyim esmiyn krmmhadithynayaeym esmiyn krmmhadithy phutidtamphraxksrsunthrsastr thxngdi phrarachsasn husuxlu phisnuolk thungphraecakrungcin cakhlkthan hxcdhmayehtuprawtisastrkhxngcinkhxngckrphrrdiechiynhlngaehngrachwngsching 1069 1070 mibnthukekiywkbphrarachsasnthisngcaksyam nbtngaetwnthi 28 emsayn ph s 2310 phrayatak sin idekhakhwbkhumemuxngrayxng emuxngchlburi emuxngcnthburi aelatradidaelw raweduxntulakhm ph s 2310 phrayatak sin thaphithirachaphieskinpikun ph s 2310 thrngaetngphrarachsasncanwn 3 chbb 4 odyichphranamwa kanexinchux xngkvs Gan Enchi cin 甘恩敕 chbbaerkepnphrarachsasnthwayckrphrrdiechiynhlngaehngrachwngsching cin 乾隆 xik 1 chbbepnphrarachsasnthung hlichuxehya xngkvs Li Shiyao cin 李侍堯 khahlwngmnthlkwangtungaelakwangsi aelaxik 1 chbbthungxuprachaehngehliyngkwng 21 4 odyihsngphanphxkhachawkwangtung chux echinehmy xngkvs Chen Mei cin 陳美 phaneruxsinkhacaksyamipemuxngcinekhaethiybthimnthlkwangocw 105 107 enuxkhwaminphrarachsasnthng 3 chbb epnrayngansthankarnsyamwa phlemuxngchawsyamthukthphphmaekharukrancnkrungsrixyuthyaidphayihkbkxngthphphma rwmthngrachwngsbanphluhlwngidsinsudlng phrayataksinidrwbrwmkalngiphrphlcnkhbilphmathiemuxngcnthburiaelatradxxkipidinchwngeduxntulakhm ph s 2310 rwmthngkarsthapnakhunepnphramhakstriykhxngphraxngkh inkhnaediywknecaemuxngphupkkhrxnghwemuxngxun 3 emuxngimyxmxxnnxmtxxanackhxngphraecataksin praktwami emuxngphisnuolk hrux husuxlu xngkvs Fu Si Lu cin 扶世祿 扶世禄 174 175 4 emuxngnkhrsrithrrmrach hrux lukhun xngkvs Lu Kun cin 祿坤 aelaemuxngnkhrrachsima hrux ekali xngkvs Gao Lie cin 高烈 aelamiphraprasngkhkhxihrachsankcinrbrxngsthanakhwamepnphramhakstriykhxngphraecataksin 174 175 hlichuxehya cin 李侍堯 xuprachaehngehliyngkwng ph s 2310 2320 phunaphrarachsasn kanexinchux phraecataksin aela husuxlu phraecaphisnuolk eruxng khunthwayckrphrrdiechiynhlngemux ph s 2311 emuxpi ph s 2310 phraecaphisnuolk eruxng inprawtisastrcinexytaaehnngphranamwa 魯安國王 King Ruang hrux 彭世洛的倫王 King Ruang of Phitsanulok thrngaetngphrarachsasn odyichphranamwa husuxlu Fu Si lu thwayckrphrrdiechiynhlngephuxkhxihphraxngkhthrngyxmrbepnphramhakstriythithuktxngkhxngkrungsrixyuthya subtxcakphramhakstriyphraxngkhedimthisinphrachnminrahwangsngkhram aelatxtankarsthapnakhxngphraecataksinhruxecinecaechnkn 21 22 praktin bnthukkhxngkhahlwngihyhlisuxehya pithi 33 aehngrchkalkhxngckrphrrdiechiynhlng 591 ody hlichuxehya khahlwngmnthlkwangtungaelakwangsi idnakhwaminphrarachsasnthnghmdkhunthwaydikaaedckrphrrdiechiynhlngemuxwnthi 17 krkdakhm ph s 2311 emuxwnthi 29 knyayn ph s 2311 rachsankcinihkarptiesthsthanakhwamepnphramhakstriy karxangsiththiinrachbnglngksyam rwmthngekhruxngbrrnakarkhxngphraecataksin 243 aelayngptiesthkarchwyfunfusyam ckrphrrdiechiynhlngthrngmiphrarachwinicchyxyangrunaerngwa kanexinchux edimxasyinaephndinemuxngcinimmiysskdi idaelneruxkhamthaelipepnkhahlwngrbichphraecaaephndinkrungsyam inewlaninnkrungsyamthukthalaysin phraecakrungsyamsinphrachnm kanexinsux bngxacaeswnghaphlpraoychncaksthankarnrasarasayinyamni thngynglumphramhakrunathikhunkhxngphraecaaephndinkrungsyam imaeswnghaaetngtngrchthayathkhxngphraecaaephndinkrungsyamephuxfunfubanemuxng klbsthapnatnexngkhunepnphupkkhrxngaephndinsyamaelayngkhxihrachsankcinyxmrbsthanaephuxihmixanacehnuxphuxun changbngxacyingnk prakarhnung thanepnchawcinyxmrudithungkhunthrrm criythrrm epnthrrmasungsud imrukhasxnehlanielyhrux in phrarachsasnphraecakrungcin chbbaeplithy klawwa knexinsiphuniedimepnkhnchntakhnhnunginpraethscin aetsdesphencripophnthael aelwidipepnihyepnotkhunintangaedn emuxphudthungkhwamsmphnthrahwangtwekhakbesiymhlxxxng phraecakrungsyam aelw kepnephiyngecakbkhaethann bdnibanemuxngphinaslngtxnghaysabsuyip ekhabngxacthuxoxkaskxkarwunwaykhunodyimkhanungthungphrakrunathikhunkhxngecanayeka thicringekhakhwrcaihechuxphrawngsmakxbkupraethschati aelaaekaekhnstru klbtngtnexngepnihy aelahwngcaidrbkaraetngtngcakera odysakhywatwexngepnphukumxanacthnghmdnn epnkarkrathaekinehtuphlaelahnathikhxngtn sungthanephiyngaetsngsasnnnkhunip hruxephiyngihechinehmyklbip praethsaelwkxaccaimnakhatahniehlannipbxktx kn erakimsamarthcathaihpraethsehlannekrngxanackhxngeraid thithukkhwrcamihnngsuxtxbihphunnnaklbipdwyephuxaecngihnanapraethsekhaicinhlkkarxnthuktxngkhxngerawa rachsankkhxngerathrngiwsungxarythrrmaelakhnbpraephnixndingamera cachmechy ykyxng hruxtahnilngothsphuidkthadwykhwamyutithrrmthisud phuthienrkhunkhidxanaeyngxanac eracaimyxmihthaepnxnkhad ckrphrrdiechiynhlng phrarachsasntxbklbhlichuxehya xuprachmnthlkwangtung 29 knyayn ph s 2311 rwmthngphrarachsasnphraecaphisnuolk eruxng thaihckrphrrdiechiynhlngthrngthrabwa yngmiphupkkhrxngxisrainkrungsyamxik 3 emuxng epnxiksaehtuthickrphrrdicinimyxmrbsthanaphraecataksinwaepnphramhakstriyphraxngkhihmkhxngkrungsrixyuthya ephraaphraxngkhyngimsamarthprabpramrthxisraelk id swnhlichuxehya khahlwngmnthlkwangtungaelakwangsi aesdngthathi wakarkhunkhrxngrachykhxngphraecataksin epnkarkrathathieyxhying inthisudckrphrrdiechiynhlngcungmiphrarachdarsaekhlichuxehya wa 所有取道海洋一说 竟可不复置议 khaaepl sudophnthaelkmixacthkethiyngidxikaelw ihyutikarthkethiyngeruxngni nxkcakni hlkthancakhxcdhmayehtuprawtisastrkhxngcin yngaesdngihehnwa ecaphrayaphisnuolk eruxng phanphithirachaphieskmaaelwaelamiphrachnmxyangnxy 6 eduxn sxdkhlxngkbhlkthan phngsawdarkrungsrixyuthyaphasamkhth chbb smedcphraphnrtn wdphraechtuphn ody thirawthn aesnkha idsnnisthaniwwa ecaphrayaphisnuolkimidthungaekphiralyhlngcakprakastnepnphramhakstriyid 7 wnxyangaennxn khwaminswnniphrarachphngsawdarkrungsrixyuthya chbbsmedcphraphnrtnnacamikhwamnaechuxthuxkwa chumnumecaphrayaphisnuolk eruxng rayathi 1 phayitkarnakhxngecaphrayaphisnuolk eruxng phumihlng chumnumecaphrayaphisnuolkepnchumnumkhxngkhunnangthithuktxng 84 tamrabbcaritthangkaremuxngkhxngxanackrxyuthyathikhidtxtanphma odyxasyxanacbarmiinsthanaedim klawkhux epnphumixanacaelahnathipkkhrxngemuxngphisnuolkedimmaaetkxn xanaekhtthipkkhrxngcungyngkhngxyuphayitxanac xasykhwamsmphnthxndirahwangkhunnangxyuthyarwmthngrachsankxyuthyainthanakharachkarchnphuihyaelaechuxsayekhruxyatiphrarachwngskrungsrixyuthya rachnikul aelayngxasyphlngkhxngkhnbthrrmeniymcaritpraephniepntwsnbsnun echn karthaphithirachaphiesksungepnobranrachpraephnisahrbkaryunynsiththikhxngphupkkhrxng 54 sungecaphrayaphisnuolkmithanaepnphramhakstriyepn phraecaphisnuolk chumnumecaphrayaphisnuolkthuxepnchumnumhwemuxngehnuxthiihythisud mikalngthharmak mipxmprakarpracaemuxngphisnuolkthiaekhngaerngcanwn 14 pxm epnpxmprakaraebbsilpayuorpxxkaebbody emxsiexxr edx la mar Monsieur de la Marre wiswkrchawfrngessmatngaetrchkalsmedcphranaraynmharach epnchumnumthiaekhmaekhngthisudephraaecaphrayaphisnuolk eruxng mifumuxklaaekhng 201 thitngchumnum tngxyuthiemuxngphraphisnuolkbnfnglananan mixanaekhttngaetemuxngphichylngmacnthungemuxngnkhrswrrkhaelapaknaophkhrxbkhlumhwemuxngehnux dngni 29 emuxngphisnuolk emuxngsrlwngsxngaekhw emuxngsuokhthy nkhrithy emuxngsrischnaly emuxngswrrkholk hruxemuxngechliyng hruxemuxngechiyngchun emuxngkaaephngephchr rwmemuxngnkhrchum fngkhwakhxngaemnaping emuxngphicitr rwmemuxngpakym emuxngphrabang emuxngnkhrswrrkh tngaetbriewnpaknaophkhunip emuxngthungyng emuxngphichy bangswnkhxngcnghwdxutrditthinpccubn emuxngtak hlngcaktngtnexngepnphunachumnumaelwidmibrrdakharachkarekakrungsrixyuthyamaswamiphkdidwyhlaynaytngaetkxnesiykrungsrixyuthyakhrngthisxng enuxngcakecaphrayaphisnuolkepnphumikhwamsamarthinkarsurbaelakarpkkhrxng 167 epnkhunnangekaaekchnsunginsmykrungsrixyuthya cungmiphunbthuxxyumak praktin phngsawdareruxng erarbphma khrngkrungsrixyuththya phraniphnthsmedckrmphrayadarngrachanuphaphwa kkthi 1 khux ecaphrayaphisnuolk tngtwepnecakhunthiemuxngphisnuolk mixanaekhttngaetemuxngphichylngmacnemuxngnkhrswrrkh ecaphrayaphisnuolkkhnnichux eruxng epnkharachkarphuihythimikhwamsamarthmaaetkxn thungemuxphmakhrawhlngnikpraktwamifimuxekhmaekhngimaephphma khngepnephraaepnphumichuxesiyngekiyrtiysdngklawmani cungmiphuniymnbthuxmak aemkharachkarekainkrungsrixyuththyakipekhakbecaphisnuolkmakdwykn 240 sxdkhlxngkb phrarachphngsawdarphma klawwa khunnangphaknhlbehluxmhniipesiyaelwkxnesiykrungodymak 136 137 smedcphraecabrmwngsethx krmphrayadarngrachanuphaphthrngphraxthibaythanachumnumecaphrayaphisnuolk eruxng iwin phngsawdareruxngithyrbphama wa ecaphisnuolkkbecankhremuxtngtwepneca epnphumixanacaelahnathipkkhrxngbanemuxngepnthinthanxyuaelw karthitngtwepnihyimtxngkhwnkhwayxyanghnungxyangid thungaemcaimtngtwepneca xanaekhttthiidpkkhrxngkkhngxyuinxanacxyunnexng 11 khwamekhmaekhngkhxngchumnumecaphrayaphisnuolk eruxng thipraktepnpracks khux kxnesiykrungnnthphhlwngkhxngphmafayehnux thphenemiywsihbdi imklaekhatiemuxngphraphisnuolk hlngesiykrungaelwecaphrafang eruxn ykthphmatichumnumphisnuolkyudeyuxthung 6 eduxnkimsamarthtiihaetkid aelainsmykrungthnburi smedcphraecataksinykthphmatichumnumphisnuolkaetkphayaephcungtxngladthphklbipyngkrungthnburi ecaphrafangykthphtiphisnuolk hlngcakphanphithibrmrachaphieskesrc ecaphrafang eruxn cungidykthphmatngpidlxmlanathng 2 fnghmaycaekhatiemuxngphraphisnuolk phlemuxngchumnumecaphrafangechuxwaecaphrafangepnphuwiess klawkhux echuxwaxacprabpramikhr iddwyvththiedch 11 phxtngtwkhunaelwkkaeribykthphlngmalxngvththitiemuxngphisnuolk phraecaphisnuolk eruxng cungykthphekhatitxfayecaphrafang eruxn karpathakhrngnnekidkhunthung 3 khrngyudeyuxpraman 6 eduxnaetimaephimchnakn emuxecaphrafang eruxn tiimidkothsnnothsniepnehtuaektwaelwcungykthphklbipemuxngswangkhburi 11 praktin sngkhitiywngs phngsawdar eruxngsngkhaynaphrathrrmwiny smedcphrawnrtnwdphraechtuphn inrchkalthi 1 wa phraxngkhidrbkbphiksuwrswangkh mikalngmak epnphiksulamkkhiemabaptang yayisikkhabthinphraphuththsasna rbkndwymhaoythamikalngmakmaythung 3 khrng imaephchnakn 417 418 aelain phrarachphngsawdar chbbphrarachhtthelkha wa cdaecngkxngthphyklngmatiemuxngphraphisnuolk tngkhaylxmemuxngthngsxngfakna aelecaphisnuolkykphlthharxxktxrbepnsamarth thphfangcahkexaemuxngmiid aetrbknxyupramanhkeduxn thphfangkphaknelikklbipemuxng 308 phaphaesdngthitngchumnumtang hlngkaresiykrungsrixyuthyakhrngthisxng ph s 2310 1 chumnumecaphrafang simwng 2 chumnumecaphrayaphisnuolk eruxng siekhiyw 3 chumnumecaphimay siehluxng 4 chumnumphrayatak siaedng 5 chumnumecaphrayankhrsrithrrmrach hnu sichmphu phraecataksinykthphprab hlngcaksmedcphraecakrungthnburitithphsukiphranaykxngthikhayophthisamtnidaelw emux ph s 2311 pikhwdraweduxntulakhm vdunahlak smedcphraecakrungthnburithrngykthphdwykalngphl 15 000 nay ipprabchumnumecaphrayaphisnuolkepnchumnumaerksungepnchumnumihy ecaphrayaphisnuolkcungidihhlwngoksa yng thharphumifimuxkhnhnungmikhwamchanayphumipraethskhxngemuxngehnux ykkxngthphthngeruxaelathangbkmatngrbthitablekyichyehnuxpaknaoph ekhtemuxngnkhrswrrkh xyuhangcakemuxngphisnuolksunghakichewlaedineruxcaichewla 3 wn odyichyuththwithikarrb khux icheruxephriywaexbsumsxntwocmtikhxydksumskdthphodyhlikeliyngkarpathaaebbsunghna aelakhnannepnvdunahlakcungthaihsngektehnngayepnchyphumithiidepriybinkarrb khrnkxngthphkhxngsmedcphraecakrungthnburiykkhunipthung kidpatharbphungknxyangsamarth thharfaychumnumecaphrayaphisnuolk idyingpunmathukphrachngkh hnaaekhng khxngsmedcphraecakrungthnburiidrbbadecb cungtxngykthphklb praktin phrarachphngsawdar chbbphrarachhtthelkha klawwa ecaphraphisnuolk eruxng idthrabkhawsuk cungaetngihhlwngoksa yng ykkxngthphlngmatngrb idrbknepnsamarth khasukyingpunmatxngphrachngkhkhangsay cungihlathphhlwngklbmayngkrungthnburi 31 praktin phrarachphngsawdarkrungthnburi chbbphncnthnumas ecim klawwa phrayaphisnuolkrupraphvtiehtu aetngphlthharihhlwngoksa yng ykxxkmatngrb phraecaxyuhwesdcnaphlthngpwngekharnrngkhdwykhasukkhrngnn faykhasukyingpunmadnghafntxngphrachngkhebuxngsay eliybtdphiwphramngsaipcungihladthphklbyngkrungthnburi prawtisastrithysmykrungsrixyuthya chbbtruaepng rwbrwmodyfrxngsw xxngri turaepng cakbnthukkhxngbathhlwngpiaeyr briokthiekhyphankinsyamemuxplaysmykrungsrixyuthya klawwa inpiediywknnnphraxngkh phraecataksin idykthphekhaocmtiemuxngphisnuolk Porcelon aelaemuxngnkhrsrithrrmrach thng 2 emuxngsungimtkxyuitxanackarpkkhrxngkhxngphma phupkkhrxngemuxngthngsxngni ecaphrayaphisnuolk eruxng aelaecaphrayankhrsrithrrmrach hnu thuxoxkasinkhnathibanemuxngekidclaclthakaraekhngemuxngimyxmxyuitxanacsyam dngnnepnxnwarachxanackrsungprakasexkrachcaktangchatitxngeduxdrxnephraaecaemuxngkhun phuphyayamthicathalaysingtang sungstruidehluxiw tamkhwamcringaelwrachxanackrthnghmdkhxngsyamkalngtkxyuinphawayungyakodythwip imepnthithrabaenwakxngthphkhxngphrayatakidchychnahruxim miaetrayngansungimyunynaennxnwa emuxngthngsxngthukyudid phrayasrischnalybdi eliyng siripalaka bnthukwa inplaypichwdnn smedcphraecaxyuhwesdcykphyuhoythaithycin srrphdwysrrphawuththngthangbkthangerux khuniptiemuxngphisnuolk sungecaphrayaphisnuolk eruxng tngtwepnecaaekhngemuxngxyu idrbknepnsamarth khasukyingpunkrasunpunechiydkhaecahmuniwywrnath sungnngeruxhnaphrathi nngphanungkhad krasunelyiptxngphraxngkhebuxngsay cungidlathphklbphrankhr cdhmayehtukhwamthrngca khxngphraecaipyikaethx krmhlwngnrinthrethwi bnthukiwwa iptiekychythukpunimekha 2 hnngsux tnwngstrakulphayasrishethphchuxthxngephng klawwa xnungkhrngnnthimikxngthph phracawtakykmacakkrungthnburi miriphllxmkrungphraphisnuolky txsurbknodysamarthxachayyinghnk phlthharkxngphramhaxuprachykrungphraphisnuolky yingpunnksbkhabsilayaw 7 khub xxkiptxngphrachngkhebuxngsayaehngphracawtak sin phracawaephndinkrungthnburisrixyuththya kalngthrngphrakhchatharxyunaphlthharinsmrphumiyuthththiphrachngkhthukkrasunpunnnepnaephlchkrrc cnthungphramngsnghwaphraolhitihlepnthichumchunphrabuphophxyuesmxmiidkhad krasunpunnnthukephiniphnxyhnungcunghathukthndtrngphraxthiim epnaetphramngsakhadepnchxngiphnxyhnungethann khnannphracawtakmiphraraochngkardahrssngaek naythphnaykxngihlathphklbipyngkrungthnburi thi thi chumnumecaphrayaphisnuolk eruxng nbepnchumnumihychumnumaerkthismedcphraecakrungthnburiiptiaelwimsaerc hmayehtu hlwngoksa yng edimepnecaemuxngphicitr epnkhunnangthisnithsnmkbecaphrayaphisnuolk eruxng sungmachwyrachkarinkarsurbesmx hlngcakecaphrayaphisnuolk eruxng rwbhwemuxngaelatngchumnumaelwcungaetngtngihhlwngoksa yng epnthharkhxngtnexng hlngcakchumnumecaphrayaphisnuolk eruxng phay cunghlbhniipemuxngswangkhburiipepnthharkhxngchumnumecaphrafang eruxn karswrrkhtemux ph s 2311 pichwdsmvththiskeduxnsibexd phraecaphisnuolk esdcswrrkhtdwyorkhfiralxkinkhx 260 hruxorkhchkkratukxyangchbphln 399 saehtukhxngkarswrrkhtkhxngphraecaphisnuolkmimulehtusubenuxngcak emux ph s 2308 c s 1127 piraka kxniklcaesiykrungkhrngthi 2 rahwangthiphmalxmkrung praktwaekidorkhfirabadinkrungsrixyuthya 42 24 aelamichawkrungsrixyuthyahlbhniphmaekhaiprwmkbchumnumecaphrayaphisnuolk eruxng canwnmak khngcaepnphahanaechuxiwrskhxngorkhfi ikhthrphis sungxyuinkhnepnhlk aelasamarthtidtxaephrechuxrahwangkhnkbkhnidngaymakphanlaxxngfxyelk odykarhayic ipthungemuxngphraphisnuolk praktin cdhmayehtuohr taraphrayaohrathibdi ethuxn ecakrmohrhlwng sungimmiklawthunginphrarachphngsawdarithy khwamwa skrach 1127 piraka ess 3 ixphmalxmkrung chnxxkfitaymakael inkhnathiphrarachphngsawdarchbbkhwamphisdarsungcharainsmyrchkalthi 4 chbbsmedcphraphnrtn wdphraechtuphn chbbtwekhiyn aela chbbphrarachhtthelkha aela pthmwngs phyayamnaesnxkarswrrkhtkhxngphraecaphisnuolkinthangihraywa ecaphrayaphisnuolk eruxng micitkaeribthuxtwekinwasna mibuyyathikarimthung hrux rbphrarachoxngkarodyimmikarphithirachaphieskxyuid 7 wnkthungphiraly sungkhdaeyngkb cdhmayehtuohr taraphrayaohrathibdi ethuxn ecakrmohrhlwng odyehtukarnesdcswrrkhtni mihlkthanthangprawtisastrklawaetktangknxxkip echn sngkhitiywngs phngsawdar eruxngsngkhaynaphrathrrmwiny smedcphrawnrtnwdphraechtuphn inrchkalthi 1 klawwa phraxngkheswyrachinnkhrphisnuolknnid 6 eduxn mixayuid 49 kthakalkiriyaip 417 418 phngsawdarkrungsrixyuthyaphasamkhth chbb smedcphraphnrtn wdphraechtuphn txn aephndinphrayaphisnuolk klawwa phrayaphisnuolkxyuinrachsmbti 6 eduxn phrachnmayuid 49 pi kesdcswrrkhtiptamythakrrm 32 33 in bthlakhrramekiyrti phrarachniphnthsmedcphraecakrungthnburi eruxng ngansrangchatiithy klawwa ecaphisnuolk eruxng orcnkul prakastnepnkstriy khrxngphisnuolkmhankhr rbkbkhnaemuxngswangkhburi 3 khrng imaephimchanakn khrxngrachsmbtixyu 6 eduxnkphiralyraweduxn 11 kxnthismedcphraecataksinmharach cathrngnakxngthpheruxkuchatiekhamaprabphamakrungeka 1 eduxn sirichnmayu 49 phrrsa 200 phrarachphngsawdar chbbphrarachhtthelkha chbbsmedckrmphrayadarngrachanuphaph sungniphnthkhuninsmyrchkalthi 4 klawkhdaeyngknwa inpichwd smvththisknn fayecaphraphisnuolkeruxngemuxmichychnaaekkhasukfayitaelw kminaickaeribthuxtwwamibuyyathikarmak cungtngtwkhunepnphraecaaephndinrbphrarachoxngkar xyuidpramanecdwn kbngekidwnorkhkhuninkhxthungphiraly 322 eruxng pthmwngs phrarachniphnthkhxngphrabathsmedcphracxmeklaecaxyuhw rchkalthi 4 klawkhdaeyngwa ecaemuxngphraphisnuolknnmicitkaerib bngkhbihthxdochndbadhmayxangbngkhbkhxngtneriykwa phrarachoxngkarodyimmikarphithirachaphiesk xyuid 7 wn kthungaekphiraly 230 231 hnngsux tnwngstrakulphayasrishethphchuxthxngephng klawwa khrnxyumakalsmyhnung cungphracawkrungphraphisnuolkythrngphraprachwrepnikhphismid 15 wnesdcdbkhnthswrrkhkht phrachnmayusmid 52 phrrsathwnkhwrthicasngewchn thi phrayaichyburn cn thi hrux phraxinthrxakr cn phraxnuchakhxngecaphrayaphisnuolksungepnphramhaxuprach krmphrarachwngbwr cungkrathachapnkicsphaelwkhunkhrxngemuxngaethnphichayaetimidsthapnaepnkstriy thi khrnemuxphracawkrungphraphisnuolkyswrrkhkhtaelw phramhaxuprachy krmphrarachwngbwr phraxnuchathirach idkhrxbbankhrxngemuxngaethnphraechsthathirach inkrungphraphisnuolkyrachthanitxip nithi exiywsriwngs klawwa caehnidwaecaphrayaphisnuolkidthakarrachaphieskmananaelw xyangnxyktngtwepnihyidimnan ephraaepnklwithiediywthicamixanacehnuxhwemuxngehnuxid epnephraahlkthansmyhlngtanghakthiklawwaecaphrayaphisnuolkidchychnacakphraecakrungthnburiaelwkaeribthuxtwwamibuyyathikarmak cungtngtwkhunepnecaaephndin rbphrarachoxngkarxyuidpraman 7 wn kbngekidwnorkhkhuninkhxthungphiraly thngniephuxihekidkhwamekrngklwsthabnphramhakstriy 151 hlkthanaetktangkrniswrrkht hlkthanaetktangkrniecaphrayaphisnuolk eruxng phiraly 7 wnhrux 6 eduxnhlngepnkstriy hlkthan praephth phuaetng pithiaetng chara rayakhrxngrachyphrarachsasnhusuxlu phisnuolk thungphraecakrungcin pthmphumi 扶世祿王 phraecaphisnuolk eruxng ph s 2310 6 eduxn hruxmakkwasngkhitiywngs phngsawdar eruxngsngkhaynaphrathrrmwiny thutiyphumi smedcphrawnrtnwdphraechtuphn inrchkalthi 1 ph s 2332 6 eduxnphngsawdarkrungsrixyuththya phasamkhthaelkhaaepl thutiyphumi smedcphraphnrtn wdphraechtuphn phuaepl phrayaphcnsunthr eruxng xtieprmannth smyrchkalthi 1 6 eduxnphrarachphngsawdar chbbsmedcphraphnrtn wdphraechtuphn chbbtwekhiyn thutiyphumi 1 smedcphrawnrtn wdphraechtuphn 2 krmphraprmanuchitchionrs ph s 2338 7 wnthrrmeniybtrakulsngekhpkhrngkrungeka thutiyphumi hlwnglikhitpricha khum ph s 2377 6 eduxn hruxmakkwaphrarachphngsawdar chbbphrarachhtthelkha thutiyphumi 1 phrabathsmedcphracxmeklaecaxyuhw 2 krmhlwngwngsathirachsnith 3 krmphrayadarngrachanuphaph ph s 2398 7 wnpthmwngs ttiyphumi phrabathsmedcphracxmeklaecaxyuhw ph s 2403 7 wn odyimmiphithirachaphiesktnwngstrakulphayasrishethphchuxthxngephng ttiyphumi k s r kuhlab ph s 2449 prachwr 15 wn aelwesdcswrrkhtbthkhwameruxng khxethccringbangprakarekiywkbprawtisastrsmyxyuthyatxnplayaelakrungthnburicakcdhmayehtucin ttiyphumi ntthphthr cnthwich ph s 2523 6 eduxn hruxmakkwabthkhwameruxng rthphisnuolk sthanakhxngemuxngphisnuolkhlngkarlmslaykhxngsunyxanacrthkrungsrixyuthya ph s 2309 13 ttiyphumi thirawthn aesnkha ph s 2557 6 eduxn hruxmakkwachumnumphisnuolklmslay rayathi 2 phayitkarnakhxngphrayaichyburn cn hruxphraxinthrxakr phayhlngemuxngphisnuolkxxnaexlngenuxngcakphraxinthrxakrimchanaykarrb epnkhnthrrmathrrmom chxbekhawdfngethsnthabuyxyuepnnity aelaimepnthiniymkhxngchawemuxngaelabrrdakharachkar 343 txmachumnumecaphrayaphisnuolk eruxng cungxxnaexlngcungekidissukmichawemuxngepidpratuemuxngrbthphecaphrafangekhaemuxng enuxngcakthphecaphrafangmalxmemuxngphisnuolkid 3 eduxncnbanemuxngekidkhwamxdxyak sngphlihekidkarrukrankhxngchumnumecaphrafang eruxn khuncntiemuxngemuxngphisnuolkaetkipinthisud phraxinthrxakrthukecaphrafang eruxn cbtxngothscnesiychiwit khunnangekathiekhysnbsnunecaphrayaphisnuolk eruxng tangkimihkhwamrwmmuxkbecaphrafang eruxn 399 brrdakhunnangaelachawemuxngphisnuolkthihnixxkmaidcunghniipphungepnbriwarkhxngsmedcphraecakrungthnburi praktin cdhmayehtuohr khwamwa pichwd c s 1131 emuxngphisnuolk emuxngphicitr aetkmasuophthismphar cdhmaymxngsiexxrkhxr thungphuxanwykarkhnatangpraeths bangkxk wnthi 7 eduxnmithunayn kh s 1770 ph s 2313 bnthukrwmsmykhxngmxngsiexxrkhxrsungekhamaxyuxasyinemuxngithy aelaidethiywduinphrarachthani mxngsiexxrkhxridphbedkinsphaphxdxyakepncanwnmak miedkphwkniekharidepncanwn 400 khn aelaedkswnihyepnbutrchawbannxksungsmedcphraecakrungthnburiidphamacakhwemuxnghlngcakesdcipprabpramhwemuxng khnehlaniepnchawemuxngphisnuolk aelachawemuxngnkhrrachsima sungphraecaaephndinidphalngmaepnchaely ephuxcaihkhninkrungaennhnakhun ephraatngaetkhrngrbkbphama inkrunghmdphuhmdkhn ehluxaetesuxaelastwpaethann khnthitxngmaepnchaelynnhmdthangthicathamahakin ephraamaxyuinphumipraethsihmsungimekhyidxyuely ephraachannkhnehlanicungcwncataydwyxdxaharkarkin aelakimmiikhrthicasngekhraahchwyehluxphwkniely chumnumecaphrafang eruxn epnchumnumkhxngkbtiphr tngxyuthiwdphrafang emuxngswangkhburi emuxngfang mixanaekhtthangehnuxthunghwemuxngaephraelanan echuxmtxkbwthnthrrmrahwangsyam lanna aelalanchang aelaxananaekhtthangitthunghwemuxngxuthythani 20 ruklaekhaaednemuxngchynath dngprakt dwyehlaraynnyklngmatraewn tiexakhawplaxahar ephaeruxnesiyhayhlaytabl iphrbanphlemuxngidrbkhwamaekhnekhuxngkhdsn sungxanaekhtthangitidmacakkarthichumnumecaphrafang eruxn phnwkkbchumnumecaphrayaphisnuolk eruxng ecaphrafang eruxn thukklawhawaepn khnxastyxathrrmfayehnux ephraaepnphraphiksuthiyayiphrathrrmwiny ehtukarntamphraniphnthkrmphrayadarngrachanuphaph phraniphntheruxng ethiywtamthangrthif khxngsmedcphraecabrmwngsethx krmphrayadarngrachanuphaph klawthungehtukarndngklawiwwa emuxphmamatikrungsrixyuthya ykkxngthphmathangemuxngkaycnburi 1 thang thangemuxngechiyngihm 1 thang phmaimklaiptiemuxngphisnuolk ykhlikelymathangemuxngsuokhthy ecaphrayaphisnuolkykkxngthphtidtamiptiphma kalngrbknxyuthangemuxngphisnuolkmiphwkithydwyknchingemuxng hmaythungecafacid ecaphrayaphisnuolkcunglathphklbiprksaemuxngtamedim khrnimmiphrarachathibdipkkhrxngkrungsrixyuthyaaelw ecaphrayaphisnuolktngchumnum ecaphrafangykkxngthphmatiemuxngphisnuolk txnglxmemuxngxyu 7 eduxntiimidemuxngcunglathphklbip emuxsmedcphraecakrungthnburimaykkxngthphhmaycatiemuxngphisnuolkaetkthukpuntxnglathphklb ecaphrayaphisnuolkcungtngtwepnihyidthaphithirachaphiesktngtwkhunepnphramhakstriy aetephxiyekidorkhthiinkhx phxrachaphieskid 7 wnkthungaekphiraly epnehtuihkhnthnghlayehnwayktnekinwasna emuxngphisnuolkcungxxnaexlng ecaphrafangidykthphmaxiktnglxmxyu 2 eduxnkidemuxngphisnuolk karprabhwemuxngehnux aelakarfunfusukrungthnburi ph s 2313 ph s 2313 trngkbwnesareduxn 8 aerm 14 kha eduxnmithunayn smedcphraecakrungthnburiykthphipti chumnumecaphrafang eruxn aelaphma hwemuxngehnuxxikkhrngodyaebngepn 1 thphhlwngepnthpherux kalngphl 12 000 nay smedcphraecakrungthnburi esdckhunipthungphisnuolkkxnthphbk 9 wn tiemuxngphisnuolkipkxn 2 thphbkthi 1 kalngphl 5 000 nay ih smedcphrabwrrachecamhasursinghnath buyma khnannthrngbrrdaskdiepnphrayaymrach epnaemthph edinthphipthangfngtawnxxkkhxngaemnaecaphrayaaelananan sungthphbkthi 1 edinthangmathungkxnthphbkthi 2 2 wn 3 thphbkthi 2 kalngphl 5 000 nay ih ecaphrayaphichyracha khnannbrrdaskdiepn phrayaphichyracha epnaemthph ihedinthphipthangfngtawntkkhxngaemnaecaphrayaaelanananbrrcbkbthphykthi 1 thiphisnuolk chumnumecaphrafang eruxn nbepnchumnumsudthaythismedcphraecakrungthnburitiid txmasmedcphraecakrungthnburioprdihedinthphsmedcphrabwrrachecamhasursinghnath buyma iptiemuxngswangkhburi emuxthphbkkhxngecaphrayaphichyrachamathungcungihribipchwythphkhxngsmedcphrabwrrachecamhasursinghnath buyma tiemuxngswangkhburi wnxathity eduxn 9 aerm 7 kha emuxtiemuxngswangkhburiidaelw michawemuxngswangkhburiswnhnunghnikhuniplanna sngphlihopmayungwn khunnangphmaechuxphrawngs epnxuprachxanackrlanna ecaphukhrxngemuxngechiyngihmkhnannthrngthrabsthankarnaelwwa smedcphraecakrungthnburisamarthrwbrwmpraethsepnxanackrediywkneriybrxyaelwnbcakwnthierimkxbkuxanackr 6 phvscikayn 2310 epnewlanan 2 pi 10 eduxnphrarachxisriyysaelaphraekiyrtiysbrrdaskdi smykrungsrixyuthya rchkalsmedcphrathinngthaysraecarachnikul impraktbrrdaskdi rchkalsmedcphraecaxyuhwbrmoks smedcphrathinngsuriyasnxmrinthrxalksn krmmhadithy impraktbrrdaskdi hlwngesnamaty eruxng skdina 1600 mhadithyfayehnux krmmhadithy phrarachvththannphhlphkdi eruxng skdina 3000 ykkrabtremuxngphraphisnuolk krmwng rngtaaehnngphrapldemuxngphraphisnuolk hwemuxngphisnuolkmipldemuxng 2 khn pldxikkhn khux hlwngichyburn phrayasursunthrbwrphisnuwathirach chatiphthyathiebswrathibdi xphyphiriybrakrmphahu 331 172 hrux phyaphisnuolk eruxng rchkalsmedcphraecaxyuhwbrmoks skdina 10000 phrayaphanthxng ecaemuxngphraphisnuolkkhunkbkrmmhadithy ecaphrayasursihphisnuwathirach chatiphthyathiebswrathibdi xphyphiriybrakrmphahu emuxngphisnuolk exkxu na 10000 khunpraaedngesnatkhwa hrux ecaphrayaphisnuolk eruxng rchkalsmedcphraecaxyuhwbrmoks ph s 2310 skdina 10000 exkxu brrdaskdikhunnangchnsungsud phrayanahmunhwemuxngexk keriyk 322 ecaemuxngphraphisnuolkexkxu thuxtraphrarachsih aemimidepnecanayaetkyngxyuinthanaphiess skdinaecaemuxngethiybethaxkhrmhaesnabdithismuhnaykaelasmuhphraklaohm miyssungkwaesnabdichnctusdmph aelayngmithanaepriybiddngkstriyinbanemuxngkhxngtn ephraaemuxngphisnuolkepnemuxnghlwnginchwngthismedcphrabrmitrolknath thrngkhrxngrachyinchwngrachxanackrxyuthyasungepnchwngthimisngkhramyudeyuxkbxanackrlanna imephiyngaetepnemuxngphramhaxuprach aetyngepnemuxngyuththsastrthikhxyduaelhwemuxngehnuxthnghmdaeladuehtukarndanemuxngphmaaelaemuxngmxy hmayehtu snnisthanwaxaccaidtngbrrdaskdichnphraya aelaecaphrayainsmysmedcphraecaxyuhwbrmoks enuxngcakimphbhlkthanwasmedcphrathinngsuriyasnxmrinthrtngecaphrayaphisnuolk eruxng ephraakhnannepnchwngchuklahukekidkarsbepliynkstriyphayinrachwngs prakxbkbhwemuxngphisnuolkepnemuxngexkthiepnhnadanekidsngkhrambxykhrng xyangirktampraktbrrdaskdiednchdkhxngecaphrayaphisnuolk eruxng insmysmedcphrathinngsuriyasnxmrinthr emuxidthrngkhrxngrachytxcaksmedcphraecaxuthumphr ecaemuxngphisnuolkthaphithithuxnaphraphiphthnstyarwmkbsmedcphraecaxyuhwbrmoks rachthinnam ecaphrayasursih epnrachthinnamkhxngecaemuxngphisnuolkinsmykrungsrixyuthyacnthungsmyrtnoksinthr sahrbkhunnangbrrdaskdichnecaphraya aelaphrayatiphrawngsthikhrxnghwemuxngphisnuolkphrarachxisriyys smykrungthnburi rchkalsmedcphraecakrungthnburi rahwangkarclaclhlngesiykrungsrixyuthyakhrngthisxng ph s 2310 11 phraecakrungphisnuolk hrux phraecaphisnuolk eruxng ph s 2311 xngkvs King Ruang Prince Ruang phranamphasacin husuxlu hrux husuxluhwang xngkvs Fu Si Lu Fu Shi Lu Wang cin 扶世祿 扶世禄 扶世祿王 4 rachaphieskepnphramhakstriykhrxngemuxngphisnuolk 67 emux ph s 2311 smysmedcphraecakrungthnburi odycdphrarachphithirachaphiesktamrabbcaritpraephnikhxngxanackrxyuthya miphrarachpuorhitacaryinsmedcphrathinngsuriyasnxmrinthr khunnanghwemuxngkhnothchntrirxbemuxngphisnuolktang aelakhunnangthihlbhnimacakkrungsrixyuthyakhrnkrungaetkcanwnmakrwmphrarachphithidngklaw thrngsaercrachkaraephndinemuxngphisnuolk hwemuxngchnexk khrxbkhlumthng 7 mnthl phraecaphisnuolk eruxng prathb n phrarachwngcnthn emuxngphraphisnuolk rwmthngyngmikhwamphyayamthicaburnafunfuphrarachwngcnthnephuxichepnthiprathb 31 hmayehtu phrarachxisriyyskhxngecaphrayaphisnuolk eruxng emuxtngtnepnkstriy phngsawdarkrungsrixyuthyaphasamkhthaelkhaaepl ichkhawa rachaphiesk sahrbphraecaaephndineswyrachsmbtisubphrawngsanuwngs subsayolhittamkdmnethiyrbal aelaichkhawa esdcswrrkht sahrbphraecaaephndin khnathi phrarachphngsawdar chbbsmedcphraphnrtn wdphraechtuphn chbbtwekhiyn aelaphrarachphngsawdar chbbphrarachhtthelkha ichkhawa phiraly thanndrskdiesmxsmedcecaphraya hruxecapraethsrach swn exksarsakhythangprawti odyetha srichlaly ichkhawa thiwngkht thanndrskdiesmxphraecaaephndintangpraeths krmphrarachwngbwrsthanmngkhl hruxphrarachwngssungthrngeswtchtr 7 chn ekhruxngrachxisriyys ecaphrayaphisnuolk eruxng idrbphrarachthanekhruxngysxyangecatangkrm tamthaeniybskdinahwemuxngecaemuxngphisnuolkaelaecaemuxngnkhrsrithrrmrach rwmthungmitarwcsahrbaehxyangeca thipraktinktmnethiyrbal taaehnngphrayahwemuxng kinemuxngthng 4 fay ctusdmph dngni khikhanhamkrrchinghumphakhaw khunnangsamychn sahrbkhunnanghwemuxngchnecaphraya hruxesliynghamepnyanphahna dabphraaesngrachsstra phraaesngdabxayasiththi pracahwemuxngphisnuolk 68 ekhruxngsung phanthxngekhruxngysxyangeca naetanathxng esliyngnga esliyngklibbw eciydthxngsaykhwa ekhruxngthxng krabiknhyn krabibngthxng rmplik 2 khn thantawnebux 1 khu krrchinghumphaaedng 1 khn eruxkubaemngdakhv 3 txn bdladsawtkhudhwthaynnghnasxng khanham ekaxithxng siorephthnmwythxng aetrlaophng 3 khu aelapiklxngwthnthrrmrwmsmybthbathkarmitwtnkhxngecaphrayaphisnuolk eruxng rwmthungbukhkhlinkhrxbkhrwthuksrangkarrbruaeksngkhmithyinyukhpccubnphanwrrnkrrm nganekhiyn lakhr aelanwniyayxingprawtisastrhlakhlay echn wrrnkrrmaelanwniyayxingprawtisastr wrrnkrrmithy sngkhitiywngs epnwrrnkrrmsmyrtnoksinthr aetngkhunemux ph s 2332 odysmedcphraphnrtn wdphraechtuphn khrngyngdarngsmnskdiepnphraphimlthrrm klawthung ecaphrayaphisnuolk eruxng tngtnkhunepnxisrarbphraoxngkarihykeswtchtrkhunaelwthakarxphieskhlngcakesiykrungsrikhrngthisxng wrrnkrrmdngklawekhiynepnphasabali wa xiti xoych chnkher winasiet pi ttha xoych chwichiet wis snuolkracha c nkhrsirithm mracha c nkhrrachsimaracha c wrnayrasi cati cts os chna xt ton xt ton nkher xis sra xehsu mikhwamhmaywa xoythynkhrthungphinasodyprakar dngniaelw khrngnninaewnaekhwnxoythya michay 4 khntngepnxisrakhuninnkhrkhxngtn khux phrayaphisnuolkrach 1 phrarachankhrsirithrrmrach 1 phrarachankhrrachsimarach 1 wrnayrasikhuxphranaykxng 1 bthlakhrramekiyrti phrarachniphnthsmedcphraecakrungthnburi eruxngngansrangchatiithy mikarklawthungkarekidsngkhrampathaknhlaykhrngrahwangthiecaphisnuolk eruxng tnskulorcnkul yngmiphrachnmxyu krungaetk epnnwniyayxingprawtisastr praphnthody hlwngwicitrwathkar wicitr wicitrwathkar hruxkimehliyng odyklawthungbthbaththangkarsngkhramkhxngecaphrayaphisnuolk eruxng khrawesiyngkrungkhrngthisxng aelathanphuhyingechiyng phriyakhxngecaphrayaphisnuolk eruxng kbkhunhyingnimnwl inbthbathstrithiepnphutxtankarekhayudemuxngphisnuolkkhxngecafacid yukhntwat 2 phakhsngkhramphraecaxlxngphya niyayaefntasixingprawtisastr aetngody LanzaDeluz namaefng klawthungbthbathkhxngecaphrayaphisnuolk eruxng txn rachkarsukinthxngphraorng txnthi 1 chiwitkhxngpraeths epnnwniyayithyxingprawtisastrkhnadyaw praphnthody wisnu ekhruxngam epnniyaythixingehtukarnkarlmslaykhxngkrungsrixyuthya karkuaephndinkhxngsmedcphraecataksin cnkrathngmikarsrangithyihepnhnungkhxngaephndincnthungrchkalthi 5 klawthung ecaphrayaphisnuolk eruxng wa idtngtwepnihyaelaxphieskepnphraecakrungphisnuolk idtngphraxksrsunthrsastr thxngdi epnecaphrayackrifayphisnuolk smbtiecaphrafang aetngody nwlaesngthxng epneruxngrawlilbxingprawtisastryxnklbipsmyithyesiykrungaekphma smysmedcphrathinngsuriyasnxmrinthr emuxpi ph s 2310 mikhnakuchatiaetkxxkepn 6 kk klawthung ecaphrayaphisnuolktngtwepnkstriy buymaphrayaesux epn niyayxingprawtisastr aetngody pxngphl xdierksar odynakhxethccringthimixyutngaetchwngkxnesiykrungsrixyuthyakhrngthi 2 yukhsmyphraecataksin cnthungsmyrchkalthi 1 krungrtnoksinthrmaprungaetngiseruxngraw khwamrusukkhxngtwlakhr rwmthngwithichiwitphukhninyukhsmyihmichiwitchiwatamcintnakarkhxngphuaetng niyayeruxngnimibthsnthnarahwanghlwngphinicxksr thxngdi phx kbbuyma butr klawthung ecaphrayaphisnuolk eruxng shaysnithkhxnghlwngphinicxksr thxngdi mihnngsuxchkchwnihhlwngphinicxksr thxngdi ipxyuemuxngphisnuolkkxnkrungsrixyuthyaaetk aelaehtukarnkarprabkkkhxngphrayaphisnuolk eruxng khxngphraecataksin yxdeswtchtr aetngody hlwngwicitrwathkar kimehliyng nwniyayxingprawtisastrchwngrchkalsmedcphraecaxyuhwbrmokscnthungkaresiykrungsrixyuthyakhrngthisxng klawthungehtukarnecafacidaeyngkhunnngemuxngphisnuolkinkhnathiecaphrayaphisnuolk eruxng kalngtidsukrbphmathiemuxngsuokhthyxyu caepntxngykkalngklbemuxngphisnuolkaelwcbecafacidipsaercothsdwykarthwngna hnungdawfaediyw praphnthodywrrnwrrthn niyayxingprawtisatrsmykrungsrixyuthyatxnplaythungkaresiykrungsrixyuthyakhrngthi 2 klawthungchumnumphisnuolkwrrnkrrmtangpraeths Yodaya Naing Mawgun oythyaphay phma ယ ဒယ န င မ က န wrrnkrrmcakpraethsphma epnbnthukkhxng eltew nxratha Letwe Nawrahta 1723 1791 kharachsankkhxngphma emux ph s 2310 chwngehtukarnesiykrungsrixyuthyakhrngthisxng bnthuktxnthi 3 bththi 19 thung 27 klawthung khwamaekhmaekhngkhxngthphphisnuolkaelahwemuxngehnuxxun sungecaphrayaphisnuolk eruxng epnaemthphfayehnuxkhxngkrungsrixyuthya waepnstruthiklahayaelakhukhwrkbfayphma sungaemthphfayphmatxngprbyuththsastrwithirbihm sung Soe Thuzar Myint idthxdcakxksrtnchbbphasaemiynmacakiblanepnphasaxngkvs khwamwa Siamese reinforcements sent from Phitsanulok and other towns were routed The poet portrays the Siamese as a courageous foe a worthy adversary of the Myanmar whose commanders had to resort to innovative tactics Rattanakosin The Birth of Bangkok nwniyayphasatangpraethsxingprawtisastrithy aetngody Paul Adirex klawthung chumnumecaphrayaphisnuolk eruxng idcdthphtxtanthphfayphraecakrungthnburiekhtemuxngnkhrswrrkh aelakarphiralykhxngecaphrayaphisnuolk eruxng hlngthaphithirachaphieskchnthlksn wrrnkhdiithy eruxng samkrung phraniphnthkhxngphrarachwrwngsethx krmhmunphithyalngkrn nampakka n m s thrngniphnthemux ph s 2485 epnraysuphaphprakxbokhlng 2 rwmkbokhlng 4 suphaph thrngaethrkthsnaswnphraxngkhwiphakswicarnehtukarnbanemuxngcakphrarachphngsawdartngaetsmyplaykrungsrixyuthya raysuphaph ecaphrayaphisnuolk khnungochlkbanemuxng namedim eruxng eluxngnam khidehntamoxkas wawasnamadl cungechiytnechidtng oddednepnihykhrng emuxirixswrry edimael phrarachwrwngsethx krmhmunphithyalngkrn samkrung ithysikk txn ecaphisnuolk ph s 2485 okhrng 2 suphaph thnburinthrpinepha prarphphisnuolkecacdsuduaerng okhrng 4 suphaph ecaphisnuolkplum pridinukwabarmimi chxchwykxbkarxphiesksri eswtrchtrnganesrcecdwnmwy cungnxngkhrxngemuxng klxnsuphaph eruxng smedcphraecataksinmharach praphnthody phltriwiechiyr chupricha idewlaphraecatakkacdkk phisnuolkkkaerktxngihsinykthpheruxrudhnafawarin phraxngkhxinthrepncxmthphphrxmiphrphlecaphrayaphisnuolkmibycha hlwngoksamatanthandwykarplncderuxephriywdksumtngklumocr thitablekychyrbihdi phltriwiechiyr chuprichalakhr faihm epnnwniyaypraphnthody ddaeplngepnbthothrthsnemux ph s 2547 klawthung ernunwl naaesdngody phchrapha ichyechux bthbathluksawkhnediywecaphrayaphisnuolk eruxng aelabthbathkhxngecaphrayaphisnuolk eruxng naaesdngody xrrthchy xnntemkh sayolhit epnnwniyaypraphnthody osphakh suwrrn aelamikarddaeplngepnlakhrothrthsn emuxkhrawxxkxakaskhrngthi 4 pi ph s 2561 klawthungehtukarn ekidkbtthiemuxngphisnuolkkhnaecaphrayaphisnuolk eruxng ykthphipchwyphrayasuokhthy epnehtuihtxnglathphklbemuxngphisnuolk 9 phrhmlikhit epnniyayphakhtxcak buphephsnniwas praphnthody rxmaephng sungidepidephyinngan ekrdprawtisastrthiyngkhaiccaksilpakrsubuphephsnniwas waepnehtukarnthiekidkhuninrchkalphraecathaysra phxeruxngelk aelaphxridbutrchaykhxngaemkaraekdkbkhunsriwisarwacacaipxyuthiemuxngphisnuolkphrxmkbphxeruxngihy hmuneruxngrachphkdi mikraaesthangsuxosechiylwa khuneruxngelkhruxhmuneruxngrachphkdi khnidkhnhnung xacekiywkhxngkbtaaehnngecaemuxngphisnuolk sungepnchwngkhabekiywkbecaphrayaphisnuolk eruxng thierimrbrachkarinchwngrchkalkhxngphraecathaysra emuxwnthi 10 thnwakhm ph s 2566 rxmaephngihsmphasninraykar layknkyksyam wainbuphephsnniwasbxkiwwa phxeruxngelkipxyuthiemuxngsxngaekhwkbphxeruxngihytngaetedk aelaepnbrrphburuskhxngikhrbangkhnthimixyuinprawtisastr rxmaephngyngidnachuxecaphrayaphisnuolk eruxng bukhkhlthimitwtncringinprawtisastriptngchuxtwlakhrchux phxbuyeruxng sungepnbutrkhxngphxeruxngelkkbaemeriymtnskulorcnkulorcnkul Rochanakul epnnamskulphrarachthansmyrchkalthi 6 ladbthi 368 in smudthaebiylnamskulphrarachthan epnskulkhxngecaphrayaphisnuolk eruxng miechuxsayepnecarachnikul 342 phuhnunginrachwngsbanphluhlwng namwa ecaphraphiichysurinthr phrarachnddakhxngsmedcphraephthracha 24 smykrungsrixyuthya emux ph s 2456 rchsmyphrabathsmedcphramngkudeklaecaxyuhw inkhrawnn phrayachanayxksr plxb krmrachelkhathikar krathrwngwng kbhlwngphisnthyuththkar puk thharmhadelkrksaphraxngkh krmyuththnathikar hruxkrmthharbk krathrwngklaohm epnphukrabbngkhmthulkhxphrarachthannamskul emuxsubsaykhunipaelwcungthrngphrarachwinicchyichkhawa orcna rwmkbkhawa kul ihhmaythung trakulkhxngecaphrayaphisnuolk eruxng thrngmiphrabrmrachoxngkaroprdekla phrarachthannamskulwa orcnkul ekhiynepnxksrormnwa Rochanakul ihaekphrayachanayxksr plxb khnamibrrdaskdiepn rxngeswkexk hlwnglikhitpricha plxb pldkrmkxngraynganhnngsuxipma krmrachelkhanukar kb nayphnoth hlwngphisnthyuththkar puk bida phrarachthanemuxwnthi 15 krkdakhm ph s 2456 aelaprakaslnginrachkiccanuebksaemuxwnthi 14 knyayn ph s 2456 tamthipraktin rachkiccanuebksa prakasphrarachthannamskulkhrngthi 5 1 246 odyphraecabrmwngsethx krmphranersrwrvththi esnabdikrathrwngmurthathrinkhnannrbsnxngphrabrmrachoxngkar inkhrawphrarachthan btrnamskulphrarachthanskulorcnkul phrabathsmedcphraecaxyuhwesdcxxk n phrathinngxmphrsthan oprdekla ihecaphnknganxalksnepnphuekhiynaelathrnglngphraprmaphiithy wchirawuth pr kakbbtrnamskulphrarachthanwa khxihnamskulkhxng nayphnoth hlwngphisnthyuththkar puk krathrwngkralaohm kbhlwnglikhitpricha plxb krmrachelkhanukartamthikhxmannwa orcnkul ekhiynepnxksrormnwa Rochanakul xnepnnamskulaehngbrrdaphuthisubskultrnglngmacakecaphrayaphisnuolk eruxng xnepnmngkhlnam khxihskulorcnkulmikhwamecriyrungeruxngmnkhngxyuinkrungsyamnichwklpawsan a phrathinngxmphrsthan wnthi 15 krkdakhm ph s 2456 wchirawuth pr btrnamskulphrarachthan phrathinngxmphrsthan 2456 btrrbrxngnamskulphrarachthan rchkalthi 6 xxkihody mulnithiphrabrmrachanusrn phrabathsmedcphramngkudeklaecaxyuhw inphrabrmrachupthmph sungthanphuhyingbutri wiraiwthya prathanmulnithiphrabrmrachanusrn lngnamrbrxngbtrwa phrabathsmedcphraramathibdi srisinthrmhawchirawuth phramngkudeklaecaxyuhw thrngphrakrunaoprdekla phrarachthannamskul orcnkul Rochanakul aek nayphnoth hlwngphisnthyuththkar puk kxnghnun krathrwngkralaohm bida kbhlwnglikhitpricha plxb pldkrmkxngraynganhnngsuxipma krmrachelkhanukar butr skulecaphrayaphisnuolk eruxng emuxwnthi 15 krkdakhm phuththskrach 2456 epnladbthi 368 insmudthaebiylnamskulphrarachthan rachkiccanuebksalngwa orcnakul mulnithiphrabrmrachanusrn phrabathsmedcphramngkudeklaecaxyuhw inphrabrmrachupthmph hxwchirawuthanusrn sankhxsmudaehngchati ladbsmachikwngstrakul smachikwngstrakulethathicasubidmidngni chnbrrphburus smedcphraephthracha phrarachbutrthidaphraxngkhhnung imprakthlkthanphranamthiaenchd ecaphraphiichysurinthr phrarachndda ecarachnikul txmaepn krmhmunxinthrphkdihmxmphd echuxphrawngs dd dd dd chntnskul ecaphrayaphisnuolk eruxng ph s 2262 2311 ecaemuxngphraphisnuolk subechuxsaycak ecaphraphiichysurinthr ecarachnikul thanphuhyingechiyng thanphuhyingphriyakhxngecaphrayaphisnuolk eruxng phrayaichyburn cn imprakt ph s 2312 phrapldemuxngphraphisnuolkkhunhmun di changekhiyn krmchangsibhmu fayphrarachwngbwrsthanmngkhl smyrchkalthi 2hlwnglikhitpricha khum orcnkul ecakrmphraxalksn fayphrarachwngbwrsthanmngkhl smyrchkalthi 3hlwngphisnthyuththkar puk orcnkul thharmhadelkrksaphraxngkh krmthharbk smyrchkalthi 5phrayachanayxksr plxb orcnkul pldkrmrachelkhathikar krathrwngwng smyinrchkalthi 7 rxngxamatytri oprd orcnkulphraxanwyentiphcn eluxng orcnkul phuphiphaksahwhnasalcnghwdlux orcnkul ph s 2465 khruorngeriynswnkuhlabwithyaly dd dd dd dd dd dd rxngxamatyexk hlwngnitikrnthyudi phcn orcnkul 4 230 phuphiphaksasalmnthlsurasdrhlwngwiorcnrthkic epruxng orcnkul phuwarachkarcnghwdrxngxamatyoth khunorcnkulpraphthr pxnd orcnkul nayxaephxnayaepnmhadelk txmakhux srichy orcnkul hrux aepn orcnkul imprakt ph s 2538 esmiyntramhadithy aelapldxaephx dd dd dd dd dd dd dd dd phngsawliphngsawlikhxngecaphrayaphisnuolk eruxng 8 smedcphraephthracha 17 thawsriscca phranmeprm 4 krmhmunxinthrphkdi 2 hmxmphd 1 ecaphrayaphisnuolk eruxng mrdksxyorcnkul sxy 1 5 echuxmkbthnnsukhumwith inphunthi x bangbx cnghwdsmuthrprakarthnnecaphrayaphisnuolk 167 xaephxemuxng cnghwdphisnuolk thnnphrayasursih thnnsursih 167 xaephxemuxng cnghwdphisnuolk srangemuxpi ph s 2476 sxyorcnkul sxy 1 5 tablkhlxngdan xaephxbangbx cnghwdsmuthrprakarkhwamechuxsalphxpueruxngvththi cnghwdphisnuolk tngxyurimthnnphrarwng khuemuxngekapratuchy eyuxngmhawithyalyrachphtphibulsngkhramswnwngcnthn kbsaphanpratuchy iklkbphrarachwngcnthnsthanthithiecaphrayaphisnuolk eruxng esdcswrrkht emux ph s 2311 miphuniymbnbuchaskkara bangswnmikhwamechuxwasalphxpueruxngvththixacekiywkhxngkbecaphrayaphisnuolk eruxng hmayehtuechingxrrthedimepn hlwngcaaesnyakr txmakhux phrayaxphymntri phuwathismuhnayk phrarachbyytipi c s 822 morngnkstwothsk phraixykarxachyahlwng thithrngtngkhuninsmysmedcphrabrmitrolknath mikhwaminbanphaenkwa emuxngsrischnaily emuxngsukokhothy emuxngkaaephngephchr emuxngphisnuolky emuxngichynathburi aelemuxngnxkthngpwngphxexarachkarid ekhiynaebbeka ecaphrayaphisnuolk 265 266 ecaphrayaphisnuolky 59 ecaphayaphraphisnuolky buyeruxng ta ecaphyaphisnuolkeruxng 367 phyaphisnuolk phisnuolky phisnuolky hrux ecaphraphisnuolk 128 129 ecaphisnuolk eruxng orcnkul 200 rachthinnamedimmichuxwa ecaphrayasrsri aelwaeplngepn sursri txmaepn srsih krathngklayepn ecaphrayasursih mikhwamhmaywa ecaemuxngphisnuolk phuekngkacehmuxnrachsih hrux rachsihphuklahayinemuxngphisnuolk 70 hrux esuxrayphuepnihyinemuxngphisnuolk 190 swnsrxy phisnuwathirach edimichkhawa phismathirach aelwaeplngepn phismwathirach bang phisnuwathirach bang phisnuwathirach bang cnklayepn phisnuwathirach srxy phisnuwathirach macakkhathaysrxychuxwa xayathirach hmaythung ihthuxxayasiththikhuxxacsngihpraharchiwitphukrathaphidthungmhntothsid 7 rachthinnamthiekhiynxikaebb praktchuxwa ecaphrayasursihphismwathirach buyeruxng 127 128 phrarachphngsawdar chbbsmedcphraphnrtn wdphraechtuphn chbbtwekhiyn ekhiynwa ecaphyasursriecaemuxngphraphisnuolk 341 aela ecaphayasurasihphismathirach chatiphthyaphiebsrwrathibdi xphyphiriyaprakrmphahu buyeruxng ta epnrachthinnamsahrbecaphrayahruxphrayatiphrawngskhrxngecaemuxngchnexk emuxngphisnuolk praktinmlethiyrbaleriykwa na 10000 kinemuxngthng 4 fay hrux thawphrayahwemuxngthng 4 322 brrdaskdiecaphrayachnexkkhxngrachxanackrinsmyxyuthya yngaebngepnchnexkxu hruxexkxudm exksmburn 107 exkmx hruxexkmthym exkradbklang aelaexksx hruxexksamy miskdina 10000 ethaknthukchn inthrrmeniymsmykxnthuxepnkhathullaxxngphuihy smuhnaykkbphusaercrachkaremuxngphisnuolk epnecaphrayachnexkxuethakn 129 inkhnathiecaemuxngnkhrsrithrrmrachepnemuxngexkradbsamy 107 tnwngstrakulphayasrishethphchuxthxngephng klawwa phrachnmayusmid 52 phrrsathwn thi swn phngsawdarkrungsrixyuthyaphasamkhth klawwa phrachnmayuid 49 pi 32 33 hnngsux yaxdit phrarachprawtismedcphraecataksinmharachkbngankuxisrphaphkhxngchatiithy klawthung phumihlngkhxngecaphrayaphisnuolk khwamwa xnecaphrayaphisnuolkeruxng thiyktwkhunepnkstriyidephiyng 7 wnethann edimepnnaythharphumifimuxkhnhnungkhxngkrungsrixyuthya ekhaicwamiechuxsayepnecarachnikulphuhnunginrachwngsbanphluhlwngkhxngphraephthracha idrbkhwamiwwangiccakkstriykhxngrachwngsniihkhunmaepnphusaercrachkaremuxngphisnuolksungepnemuxngexkkhxngphakhehnuxtngaetaephndinphraecabrmoksth michuxesiyngmanantngaetphraecatakyngepnhlwngykkrabtremuxngtakxyudwysaip thanxngcaekhyepnphubngkhbbychakhxngphraecatakmakxn rufimuxknxyu 342 hnngsux tnwngstrakulphayasrishethphchuxthxngephng praktchuxwa phrayaichyburn namedimwa cn epnphraxnuchakhxngecaphrayaphisnuolk eruxng swnphrarachphngsawdarithy aelahnngsuxprawtisastrhlayelmpraktchuxwa phraxinthrxakr aetimpraktnamedim aetklawtrngknwaepnnxngchaykhxngecaphrayaphisnuolk eruxng trngkn inphngsawdarphmarabupi ph s 2306 pithithuktxngxacepn ph s 2307 phrarachphngsawdar chbbsmedcphraphnrtn wdphraechtuphn chbbtwekhiyn lngwatrngkbpi ph s 2308 khawa Fu Shi Lu cin 扶世祿 hmaythung Phitsanulok hna 89 echingxrrththi 51 khawa wang cin 王 hmaythung King smedc krmphrayadarngrachanuphaph thrngelaiwinphrarachniphnth eruxng ithyrbphma iwinechingxrrth phrarachkahndeka culskrach 1121 29 phvsphakhm ph s 2302 wadwyxtrakhatngecaemuxng phurksaemuxng phurngemuxngaelakrmkar idichkhawa ecaemuxng echphaaphupkkhrxngemuxngexk khux emuxngphisnuolkaelaemuxngnkhrsrithrrmrachethann swnemuxngothaelaemuxngtri eriykwa phurksaemuxngaelaphurngemuxng emuxngexkxyuxyuinsthanphaphphiess immiyukkrabtr khunpraaedngesnadkhwa khux kartidtxrachkarkbsmuhphraklaohmfaykhwa 109 khawa praaedng epnkhaeka hmaythung elkhanukarmihnathiprasannganhruxtittxngankbesnabdiinrachthani hakphxxnuolmepriybethiybtaaehnngkharachkarinpccubn khux elkhanukarrthmntri swnkhawa esnad hmaythung pun smedcphraecabrmwngsethx ecafakrmphrayanrisranuwdtiwngs thrngsnnisthanwa aetedimecaphrayathiminaminthaeniybthng 5 khn caidphrarachthanekhruxngysxyangeca cungeriykwa ecaphraya khxnimiekhaenguxnxyuinthaeniybskdinahwemuxngecaemuxngphisnuolkkbecaemuxngnkhrsrithrrmrach mitarwcsahrbaehehmuxnxyangeca aetecaemuxngxunhamiim hnngsux thaebiylnamskul thieraidihip wchirawuth pr ekhiynwa orcnkul swn rachkiccanuebksa prakasphrarachthannamskulkhrngthi 5 ekhiynwa orcnakul txmathukoxnyayipkhunkbfayphrabrmmharachwng wnghlwng inrchsmykrmphrarachwngbwrwiichychayxangxingrachbnthitysthan 2521 xkkhranukrmphumisastrithy chbbrachbnthitysthan elm 4 p v vi phimphkhrngthi 2 krungethph orngphimphswnthxngthin krmkarpkkhrxng 503 hna manph thawrwthnskul 2536 khunnangxyuthya krungethph sankphimphmhawithyalythrrm 298 hna hna 153 ISBN 978 9 745 71443 4 darngrachanuphaph smedc krmphraya 2459 kdhmaynganphrabrmsphkhrngkrungeka sxberuxngrawtaraphraemrukrmhlwngoythaethph in eruxngsmedcphrabrmsph khuxcdhmayehtunganphraemrukhrngkrungeka kbphrarachwicarnkhxngsmedcphraphuththecahlwng phimphaeckinngansph xamatyexk phrayathwarawdiphibal aecm orcnwiphat cangwangkrungeka pimorngxthsph ph s 2459 phrankhr osphnphiphrrthnakr 43 hna hna 8 karthxngethiywaehngpraethsithy ththth faysngesrimsinkhakarthxngethiyw 2556 pumbanpumemuxng in thrphyakrkarthxngethiywithy chudphakhehnux phisnuolk 2022 09 02 thi ewyaebkaemchchin okhrngkarcdthahnngsuxthrphyakrkarthxngethiywithy chudphakhehnux echlimphraekiyrtiphrabathsmedcphraecaxyuhw inoxkasecriyphrachnmphrrsa 7 rxb 5 thnwakhm 2554 krungethph karthxngethiywaehngpraethsithy 76 hna ISBN 978 974 679 255 4 wicitrwathkar hlwng 2514 krungaetk phrankhr esrimwithybrrnakhar 240 hna darngrachanuphaph smedc krmphraya 2505 phrarachphngsawdar chbbphrarachhtthelkha phakh 2 phimphkhrngthi 2 phrankhr oxediynsotr phrarachphngsawdarkrungsrixyuthya chbbphrackrphrrdiphngs cad phrarachphngsawdar chbbkrmsuksathikar r s 120 elm 2 phrankhr krmsuksathikar krathrwngthrrmkar 2444 thiphakrwngsmhaoksathibdi kha bunnakh ecaphraya 2538 phrarachphngsawdarkrungrtnoksinthr rchkalthi 1 chbborngeriynhlwngswnkuhlab krungethph aesngithykarphimph 182 hna hna 53 ISBN 978 974 8936 96 3 k s r kuhlab aelasankhxsmudaehngchati krmsilpakr 2449 tnwngstrakulphayasrishethphchuxthxngephng 2023 07 06 thi ewyaebkaemchchin phrankhr m p th 454 hna santi phkdikha bk sanknganelkhathikarsphaphuaethnrasdr ephyaephr 2558 phrarachphngsawdar chbbsmedcphraphnrtn wdphraechtuphn trwcsxbcharacakexksartwekhiyn mulnithi thunphraphuththyxdfa inphrabrmrachupthmph cdphimphodyesdcphrarachkuslinkarphrarachthanephlingsph phrathrrmpyyabdi thawr tis sanukor p th 4 n emruhlwnghnaphlbphlaxisriyaphrn wdethphsirinthrawas wnxathitythi 10 phvsphakhm ph s 2558 krungethph xmrinthrphrintingaexndphblichching 558 hna ISBN 978 616 92351 0 1 prachumphngsawdarchbbkaycnaphiesk elmthi 3 krungethph krmsilpakr 2542 hna 448 phrarachphngsawdarkrungthnburisngekhp phimphinnganchapnkicsphnaywirulh bunyrtphnthu n emruwdrakhngokhsitaram thnnxrunxmrinthr krungethph wnthi 27 tulakhm 2516 krungethph xmrkarphimph 2516 hna 3 winy phngssriephiyr brrnathikar aelakhna 2542 cdhmayehtunkhrechiyngihm krungethph khnakrrmkarcharaprawtisastrithy sankelkhathikarnaykrthmntri 356 hna hna 330 ISBN 974 777 218 3 samuexl ec smith 2548 cdhmayehtusyamismy elm 4 c s 1247 phimphkhrngthi 2 krungethph smakhmkicwthnthrrm Phangsavakara Geschichte der Konige von Siam p 414 culcxmeklaecaxyuhw phrabathsmedcphra 2465 phrarachprarpheruxngphraphuththchinrach phrankhr orngphimphosphnphiphrrththnakr krathrwngthrrmkar 2440 phngsawdarsyam priechththi 2 elmthi 2 phrankhr orngphimphsuphmitrbarung 174 hna sriphuripricha kml salksn phraya 2463 niphnthkhxngphrayasriphuripricha phrankhr orngphimphithy 102 hna krmsilpakr 2480 exksarsakhythangprawti bnthukthayprawtiecaphrayaswrrkholk khxng etha srichlaly warsarsilpakr1 2 singhakhm 2480 taksinmharach smedcphraeca thnit xyuophthi aelaprida srichlaly 2484 bthlakhrramekiyrti phrarachniphnthsmedcphraecakrungthnburi elaeruxnghnngsuxramekiyrti aelaeruxngngansrangchatiithy phimphinngansphnayxakhm xinthroythin emuxwnthi 23 phvscikayn ph s 2474 n emruwdethphsirinthrawas phrankhr orngphimphphracnthr hna 200 sccaphirmyxudmrachphkdi srwng sriephy phraya 2502 elaihlukfng khxngphrayasccaphirmyxudmrachphkdi krathrwngmhadithyphimphepnthiralukinnganphrarachthanephlingsph phrayasccaphirmyxudmrachphkdi srwng sriephy n emruwdethphsirinthrawas phrankhr wnesarthi 14 phvscikayn 2502 phrankhr orngphimphkrmmhadithy 219 hna hna 9 10 prayuthth siththiphnth 2505 tntrakulkhunnangithy krungethph khlngwithya 544 hna manph thnxmsri 2533 ecaphrayaoksathibdi pan rachthutaehngphraecaaephndinkrungsyamtnrachwngsphrabrmmarachckri krungethph tnxx 68 hna hna 41 laxxng srisukhnth 2508 ethiywemuxngithy 71 cnghwd elmthi 1 krungethph khlngwithya phiess burnasmbti 2547 prawtisastrkarpkkhrxngkhxngithy tngaetsmyerimaerkthungepliynepnprachathipity ph s 2475 krungethph rwmsasn 302 hna ISBN 978 974 955 677 1 prachumphngsawdar phakhthi 82 eruxng phrarachphngsawdarkrungsyam caktnchbbkhxngbritichmiwesiymkrunglxndxn phimphkhrngthi 2 krungethph krmsilpakr 2537 423 hna hna 115 ISBN 974 419 025 6 cdhmayehtuohrchbbramy pracha niymwngs 2483 bnthukhlkthanaelaehtukarn smykrungethph elmthi 1 phrankhr mitrithy hna 91 khnakrrmkarsphawthnthrrmaehngchati 2500 cnghwdtang inpraethsithy 71 cnghwd elmthi 2 krungethph sphawthnthrrmaehngchati krathrwngwthnthrrm krmsilpakr 2522 echlimphraekiyrtismedcphrabwrrachecamhasursinghnath krungethph prayurwngs hna 115 thrrmkhamn ophwathi thwil sunthrsalthul aelasanknganpldkrathrwngmhadithy ephyaephr 2511 prawtimhadithy swnklang phakhthi 2 txnthi 2 krungethph khnakrrmkarprawtiaelaphiphithphnthmhadithy 423 hna krmsilpakr 2526 xkkhranukrmprawtisastrithy xksr kh ng c krungethph krmsilpakr hna 410 ISBN 974 792 228 2 krmsilpakr 2505 warsarsilpakr 6 1 khnakrrmkarcdthahnngsuxthiralukaelacdhmayehtuphrarachphithismmngkhlphrachnmayuethaphrabathsmedcphraphuththyxdfaculaolkmharach 2545 eruxngtngecaphrayainkrungrtnoksinthr krungethph krmsilpakr 402 hna ISBN 978 9 744 17534 2 kdhmaytrasamdwng elm 1 phrankhr khuruspha 2515 hna 317 winy phngssriephiyr aelassikant khngskdi 2549 phasaxchchaisry The Pleasure of Words krungethph kxngthun phlothdaenir elkhakul ephuxprawtisastr 195 hna ISBN 974 963 337 7 winy phngssriephiyr 2548 kdmnethiyrbal chbbechlimphraekiyrti elmthi 2 cdphimphechlimphraekiyrti phrabathsmedcphraphuththyxdfaculaolkmharach inoxkasthikdhmaytrasamdwngmixayukhrb 200 pi aelaechlimphraekiyrti phrabathsmedcphraecaxyuhwphumiphlxdulyedchinoxkasthithrngkhrxngsirirachsmbtipithi 60 phuththskrach 2548 phlnganwicyokhrngkarwicyemthixawuos skw kdhmaytrasamdwng pramwlkdhmayithyinthanamrdkolk krungethph sankngankxngthunsnbsnunkarwicy skw 339 hna hna 142 ISBN 978 974 9633 32 8 wicarn phanich 2550 snukkbphasaithy phasaxchchaisry 44 chaykhaphasaithy 23 subkhnemuxwnthi 4 mithunayn 2555 mulnithiphrabrmrachanusrn phrabathsmedcphramngkudeklaecaxyuhw inphrabrmrachupthmph khnakrrmkarrwbrwmaelakhnkhwaekiywkbphrarachniphnth l khxngphrabathsmedcphramngkudeklaecaxyuhw 2529 thaebiylnamskul thieraidihip wchirawuth pr krungethph phi ephrs hna 79 ladbthi 368 ysbrrdaskdi nayphnoth hlwngphisnthyuththkar namedim puk taaehnngkxnghnun krathrwngkralaohm ysbrrdaskdi hlwnglikhitpricha namedimplxb taaehnngkrmrachelkhanukar namskul orcnkul hmayehtu skulecaphrayaphisnuolk eruxng layphrarachhtthelkhakhxngphrabathsmedcphramngkudeklaecaxyuhw thnit xyuophthi 2497 silpinaehnglakhxnithy phrankhr krmsilpakr 102 hna ethph sunthrsarthul 2534 mngkhlnam tamtaraohrasastr krungethph phranarayn 255 hna ISBN 974 575 190 1 hna 205 149 orcnkul ecaphrayaphisnuolk eruxng hwhnakkecaphrayaphisnuolkepntnskul xkkhranukrmkhunnang rtnoksinthrsk 131 orngeriynmhadelk phrankhr barungnukulkic 2452 268 hna hna 118 namskulphrarachthan hmwdxksr r ladbthi 0368 phrarachwngphyaith namskulphrarachthan r s 113 124 kh s 1894 1905 namskulthikhuntndwy r ladbthi 0368 phumiphisyphisuththiwrphngs r 2 namskulphrarachthan r 2 ladbthi 0368 thaeniybtaaehnngkharachkar kxngraynganhnngsuxipma krmrachelkhanukar in nakhrsngekhraah pracaphuththsk 2456 phrankhr orngphimphhnngsuxphimphithy 2456 hna 90 nakhrsngekhraah pracaphuththsk 2456 phrankhr orngphimphhnngsuxphimphithy 2456 hna 458 phnrtn wdphraechtuphn smedcphra 2459 phngsawdarkrungsrixyuththya phasamkhth aelkhaaepl aeplody phrayaphcnsunthr eruxng xtieprmannth nayechiyr bunnakh phubutr phimphaeckinnganplngsph thaneluxm t c phrryaphrayamntrisuriywngs chun bunnakh m s m th c w l pimorng xthsk ph s 2459 krungethph orngphimphithy nsphanyses echawn rupethwinthr 2528 yaxdit phrarachprawtismedcphraecataksinmharachkbngankuxisrphaphkhxngchatiithy elmthi 1 krungethph bristh phi wathin phbliekhchn cakd 672 hna likhitpricha khum hlwng 2378 thrrmeniybtrakulsngekhpkhrngkrungeka tnchbblaymuxkhdkhxngnaykhum r s 53 krungethphphramhankhr m p th exksarimtiphimphephyaephr tngecarachnikul aephndinsmedcphramhaburus phraephthracha culskrach 1044 1059 in phrarachphngsawdar chbbphrarachhtthelkha phakh 2 2455 krungethph m p ph hna 126 darngrachanuphaph smedc krmphraya 2511 phrarachphngsawdar chbbphrarachhtthelkha phimphkhrngthi 6 phrankhr krmsilpakr 884 hna prmanuchitchionrs smedcphramhasmneca krmphra 2488 phrarachphngsawdarkrungsrixyuthya chbbkhwamsmeddkrmphraprmanuchitchionrs elm 3 phrankhr orngphimphphracnthr 137 hna hna 388 khnakrrmkarxanwykarcdnganchlxngsirirachsmbtikhrb 50 pi 2542 prachumphngsawdarchbbkaycnaphiesk elm 2 krungethph krmsilpakr 2542 hna 266 prayur phisnakha 2515 smedcphraecaexkths krungethph sankhxsmudklang 09 472 hna hna 83 darngrachanuphaph smedc krmphraya 2506 sngkhramkhrngthi 24 khrawesiykrungkhrnghlng pikun ph s 2310 prachumphngsawdar elm 6 krungethph xngkhkarkhakhxngkhuruspha hna 107 wibul wicitrwathkar 2542 strisyaminxdit krungethph srangsrrkhbukhs 370 hna hna 81 ISBN 974 737 729 2 wibul wicitrwathkar 2540 eruxngsnukinaephndinsmedcphraecakrungthnburi krungethph hmukcin 248 hna hna 95 kvtphas orcnkul 2554 exksarkarkhnkhwaprawtisastrsmyxyuthyaeruxng orcnkul chiwprawtiaelaechuxsaysmphnth krungethph m p th exksarimtiphimphephyaephr xangin likhitpricha khum hlwng 2378 thrrmeniybtrakulsngekhpkhrngkrungeka tnchbblaymuxkhdkhxngnaykhum r s 53 krungethphphramhankhr m p th exksarimtiphimphephyaephr prachumphngsawdar phakhthi 6 phrankhr khuruspha 2506 hna 184 prakxb ochprakar smburn khnchlad aelaprayuthth siththiphnth 2521 ptiwtisamsmy prawtisastrkaremuxngithy eruxngkhxngkhnithy krungethph n s ph rwmkhaw 1 152 hna prayur phisnakha 2516 smedcphraphuththyxdfaculaolk krungethph sankhxsmudklang 09 463 hna hna 88 phladisy siththithykic 2544 smedcphrapthmbrmchnknath krungethph bnthuksyam 126 hna hna 66 ISBN 974 862 989 9 darngrachanuphaph smedc krmphraya 2473 kdhmaykhrngkrungeka aephndinsmedcphraecabrmoksth in tanankdhmayemuxngithy phimphinnganphrasph hmxmecasmrbaethxng xaphakr khrbpyyasmwaremuxwnthi 6 thnwakhm ph s 2473 phrankhr osphnphiphrrththnakr winy phngssriephiyr 2547 kdhmaytrasamdwng aewnsxngsngkhmithy phlnganwicychbbsmburn ladbthi 1 sthanphaphkarkdhmaytrasamdwng krungethph efuxngfa 176 hna hna 51 ISBN 974 9633 31 8 rachburidierkvththi phraecalukyaethx krmhmun 2444 kdhmay elm 2 sahrbphuphiphaksaaelthnaywakhwam phimphkhrngthi 2 krungethph kxnglahuoths hna 38 phardi mhakhnth 2527 prawtisastrkarpkkhrxngithy krungethph silpabrrnakhar 198 hna hna 66 smbti phlaynxy aelasuphcn aecngerw 2537 khunnangsyam krungethph mtichn 271 hna hna 198 ISBN 978 9 747 11428 7 buythrng ithytha 2526 prawtiwirburusaelawirstriithy krungethph brrnkic 232 hna ISBN 978 974 220 938 4 lacul hwbecriy 2546 ekrdphngsawdarkrungsrixyuthya aelabangsarathinaruinwnghlng wnghnakrungrtnoksinthr echiyngihm The Knowledge Center 506 hna ISBN 978 974 951 704 8 suksakrrmphiess khun 2501 tananemuxngphisnuolk wdphrasrirtnmhathatu phraphuththchinrach aelawdculamni eriyberiyngkhunnxmeklathwayphrabathsmedcphraecaxyuhwphumiphlxdulyedch aelasmedcphranangecabrmrachininarth inkhrawesdcphrarachdaeninpraphas cnghwdphisnuolk emuxwnthi 27 kumphaphnth ph s 2501 thnburi orngphimphprayurwngs 70 hna hna 10 nithi exiywsriwngs 2536 karemuxngithysmyphraecakrungthnburi phimphkhrngthi 2 krungethph mtichn 611 hna hna 174 ISBN 974 7049 34 1 phramhaophthithrrmacary wngssakyaphiksuniophthistt phiksuniophthistt wrmy kbilsingh 2540 ikhrkhaphraecataksin phimphkhrngthi 3 krungethph sxngsyam 329 hna hna 37 ISBN 978 974 260 135 5 withyasasn elmthi 22 krungethph ithywthnaphanich 2514 wiethsdrunkar chd mhakhnth khun aelakhna 2474 burphpraeths txnpraethssyam phakhthi 2 phimphkhrngthi 2 krungethph orngphimphithyeksm darngrachanuphaph smedc krmphraya 2534 chumnumphraniphnth smedckrmphrayadarngrachanuphaph chbbphimphsa krungethph brrnkic 425 hna ISBN 978 974 220 918 6 esthuxn suphosphn 2522 aebberiynprawtisastrithy s 421 chbbphthnakar phimphkhrngthi 3 krungethph xksrecriythsn hna 39 sankrachelkhathikar 2538 eruxngechlimphraysecanay phimphkhrngthi 2 thrngphrakrunaoprdekla ihphimphphrarachthan l 2 kxngthpheruxphimphthwaysmedcphraecaphinangethx ecafaklyaniwthna enuxnginphrarachphithisthapnaphraxisriyskdi aelabaephyphrarachkuslchlxngphrachnmayu 6 rxb 6 phvsphakhm 2538 krungethph xmrinthrphrintingaexndphblichching kxngthpherux 348 hna hna 20 ISBN 978 974 827 451 5 thirawthn aesnkha ecaphrayaphisnuolk eruxng aehngkkphisnuolk thungaekphiralyhlngepnkstriyid 7 wncringhrux in silpwthnthrrm chbbkrkdakhm 2557 subkhnemux 24 phvscikayn 2564 khris ebekhxr aelaphasuk phngsiphcitr 2563 prawtisastrxyuthya hastwrrssuolkihm phimphkhrngthi 3 krungethph mtichn 470 hna hna 399 ISBN 978 974 0217 21 3 krathrwngmhadithy 2509 khxsngektinkarphrarachthanphraaesngrachsstra in phraaesngrachsstra phimphepnxnusrninnganphrarachthanephlingsph phlexk mngkr phrhmoythi m p ch m w m th c w n emruhnaphlbphlaxisriyaphrn wdethphsirinthrawas 29 mithunayn 2509 krungethph orngphimphswnthxngthin krmkarpkkhrxng 172 hna krmsilpakr kxngwrrnkhdiaelaprawtisastr 2534 wrrnkrrmsmyrtnoksinthr hmwdsasnckr elm 3 krungethph krmsilpakr 335 hna hna 245 ISBN 978 974 4 19001 7 ekrikekiyrti iphbulysilp 2557 phuththsasnakbphramhakstriyithy ph s 2310 2394 withyaniphnthpriyyamhabnthit sakhawichaprawtisastr phakhwichaprawtisastr khnaxksrsastr culalngkrnmhawithyaly hwn phinthuphnth 2514 chuxthnninekhtethsbalemuxngphisnuolk 2023 07 05 thi ewyaebkaemchchin in