จิตวิทยาเชิงบวก (อังกฤษ: positive psychology) เป็นสาขาย่อยใหม่ของจิตวิทยาที่ใช้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์และการแทรกแซงที่มีประสิทธิผล เพื่อช่วยให้บุคคลมีชีวิตที่น่าพอใจ โดยสร้างความเจริญก้าวหน้าสำหรับบุคคล ครอบครัว และชุมชน และค้นหาเสริมสร้างอัจฉริยภาพกับความสามารถเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขมากยิ่งขึ้น ศาสตร์นี้เพ่งความสนใจไปที่การพัฒนาตนเองแทนที่การรักษาโรค ซึ่งมักจะเป็นจุดสนใจของจิตวิทยาสาขาอื่น ๆ เป็นวิทยาการที่ค่อนข้างใหม่ งานประชุมครั้งแรกเกี่ยวกับศาสตร์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2542 และงานประชุมสากล (International Conference on Positive Psychology) เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2546
งานศึกษาในศาสตร์นี้แสดงว่า มีปัจจัยมากมายที่มีอิทธิพลต่อความสุขในชีวิต ความสัมพันธ์ทางสังคมกับคู่ชีวิต ครอบครัว เพื่อน และเครือข่ายสังคมทางอาชีพ สโมสร หรือองค์กรทางสังคมอื่น ๆ มีความสำคัญมาก ความสุขเพิ่มขึ้นเมื่อรายได้เพิ่ม แต่ก็มีขีดสุดที่ไม่ทำให้ความสุขเพิ่มอีกต่อไป การออกกำลังกายสัมพันธ์กับความเป็นสุขทางใจ เช่นเดียวกับการใช้ชีวิตแบบมี flow (คือประกอบกิจการงานด้วยสภาพทางใจที่มีสมาธิ ด้วยความยินดีพอใจ) และการฝึกอบรมจิตใจ (เช่นการเข้าสมาธิ หรือการเจริญสติ)
จิตวิทยาเชิงบวกเป็นศาสตร์ที่ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วในโลกตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งศาสตราจารย์มาร์ติน เซลิกแมน ผู้เปรียบได้ว่าเป็นบิดาของศาสตร์ดังกล่าว ได้ให้ความหมายว่าเป็นจิตวิทยาของชาวตะวันตกสมัยใหม่ที่ยึดเอาจุดแข็งของมนุษย์เป็นจุดหลักของการพัฒนา เช่น การพัฒนาด้านคุณค่า สติรับรู้ในการปฏิบัติกิจต่าง ๆ การมองโลกในแง่ดี การมีความหวัง และการมีความสุข จิตวิทยาเชิงบวกจึงเป็นศาสตร์ใหม่ที่เน้นการพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์ให้มีความสุข โดยมีพื้นฐานมาจากการพัฒนาตนเอง เป็นคนดี และมองโลกในแง่ดี ทั้งยังเป็นศาสตร์ที่อาศัยสถิติและวิธีการทางวิทยาศาสตร์อื่น ๆ ที่สามารถนำมาใช้อ้างอิงได้ ตลอดจนมีแนวทางปฏิบัติเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน
มุมมองกว้าง ๆ
สาขาจิตวิทยา "เชิงบวก" นี้ หมายให้เสริม ไม่ใช่ทดแทนหรือไม่ใส่ใจ ความรู้ทางจิตวิทยาโดยทั่วไป แต่เป็นการเน้นใช้ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ เพื่อศึกษาและกำหนดการพัฒนาบุคคลในเชิงบวก ซึ่งเข้ากับการศึกษาในจิตวิทยาโดยทั่วไปในประเด็นว่า การพัฒนามนุษย์สามารถถึงความล้มเหลวได้อย่างไร สาขาย่อยนี้ อาจชี้ให้เห็นว่า การสนใจแค่เรื่องของโรคอาจจะมีผลเป็นความเข้าใจที่ไม่สมบูรณ์หรือจำกัด เกี่ยวกับสภาพบุคคล คำว่า "ชีวิตที่ดี" (the good life) ที่ดั้งเดิมมาจากแนวคิดของอาริสโตเติล มาจากความคิดต่าง ๆ กันว่า อะไรเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิต คืออะไรเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมชีวิตให้ดีที่สุดให้บริบูรณ์ที่สุด แม้ว่าจะไม่มีนิยามที่แน่นอน แต่นักวิชาการในสาขานี้มีมติว่า บุคคลควรจะมีชีวิตที่มีความสุข (happy) ไม่อยู่ว่าง ๆ (engaged) และมีความหมาย (meaningful) เพื่อที่จะประสบกับ "ชีวิตที่ดี" ศาสตราจารย์มาร์ติน เซลิกแมน ผู้เปรียบได้ว่าเป็นบิดาของศาสตร์นี้ กล่าวถึงชีวิตที่ดีว่า "เป็นการใช้ความเข้มแข็งที่ไม่เหมือนใครของคุณทุก ๆ วัน ในการสร้างความสุขที่แท้จริงและความพอใจที่ล้นเหลือ"
ประเด็นความสนใจของนักวิชาการในสาขานี้รวมทั้งสภาวะต่าง ๆ ของสุขารมณ์ (pleasure), flow, ค่านิยม, ความเข้มแข็ง (จุดแข็ง), คุณธรรม, ความสามารถพิเศษ (พรสวรรค์), และวิธีการที่ระบบและสถาบันทางสังคมสามารถสร้างส่งเสริมปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ โดยมีประเด็นหลัก 4 อย่างดังต่อไปนี้คือ (1) ประสบการณ์เชิงบวก (2) ลักษณะทางจิต (psychological trait) ซึ่งคงทน (3) ความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น (4) สถาบันที่ส่งเสริมการพัฒนาในแนวคิดนี้ นักวิจัยและนักปราชญ์บางพวก เช่น ศ. เซลิกแมน ได้เก็บข้อมูลเพื่อพัฒนาทฤษฎีที่สามารถใช้เป็นแนวทาง (เช่น ทฤษฎี "P.E.R.M.A." หรือ หนังสือ Character Strengths and Virtues)
มีการประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้จากศาสตร์นี้หลายอย่าง แนวคิดหลักอย่างหนึ่งของสาขานี้ก็คือ บ่อยครั้งอนาคตมักจะเป็นเหตุชักจูงมนุษย์ และอาจจะมากกว่าอดีต ศ. เซลิกแมน และ ศ. ชีกเซ็นมิฮาลี (ผู้สร้างแนวคิดเกี่ยวกับ flow) นิยามจิตวิทยาเชิงบวกว่า "การศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับกิจกรรม (functioning) และความเจริญรุ่งเรือง (flourishing) เชิงบวกของมนุษย์ในหลายมิติรวมทั้งทางชีววิทยา โดยส่วนตัว โดยความสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยสถาบัน โดยวัฒนธรรม และโดยหลักทั่วไปของชีวิตอื่น ๆ" ส่วนนักจิตวิทยาอีกคู่หนึ่งได้แสดงรูปแบบของสุขภาพจิต 4 อย่างคือ แบบเจริญรุ่งเรือง (flourishing) แบบดิ้นรน (struggling) แบบตะเกียกตะกาย (floundering) และแบบอ่อนกำลัง (languishing) แต่ว่า สุขภาพจิตที่สมบูรณ์จะเป็นการรวมตัวกันของความเป็นสุขทางอารมณ์ (emotional well-being) ความเป็นสุขทางจิต (psychological well-being) ความเป็นสุขทางสังคม และการมีโรคทางจิตน้อย
นักจิตวิทยาโดยมากใส่ใจไปที่อารมณ์พื้นฐานของบุคคล โดยเชื่อว่ามีอารมณ์พื้นฐานระหว่าง 7-15 อย่าง ซึ่งอาจจะประกอบรวมกันเป็นประสบการณ์ทางอารมณ์ที่ละเอียดอ่อนหลายแบบหลายอย่าง และบอกเป็นนัยว่า ความพยายามจะกำจัดอารมณ์เชิงลบจากชีวิตอาจมีผลที่ไม่ได้ตั้งใจ คือ เป็นการกำจัดประสบการณ์ทางอารมณ์ที่ลึกซึ้งที่สุดทั้งโดยรูปแบบและโดยความละเอียดอ่อน นอกจากนั้นแล้ว ความพยายามเพิ่มอารมณ์เชิงบวกจะไม่มีผลอัตโนมัติเป็นการลดอารมณ์เชิงลบ และการลดอารมณ์เชิงลบก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีผลเป็นการเพิ่มอารมณ์เชิงบวก ส่วนนักจิตวิทยาอีกคู่หนึ่งอธิบายว่า ปฏิกิริยาทางอารมณ์เป็นประสบการณ์ทางใจ (core affect) หลัก ซึ่งก็คือปฏิกิริยาทางอารมณ์พื้นฐานที่ประสบเสมอ ๆ แต่ไม่ได้สำนึกถึง ซึ่งมีส่วนทั้งที่น่ายินดีและไม่น่ายินดี โดยมีมิติหรือองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกัน
ตั้งแต่ตั้งสาขานี้ขึ้นในปี 2541 ได้มีการลงทุนทางงานวิจัย ตีพิมพ์วรรณกรรมทางวิทยาศาสตร์เป็นจำนวนมาก จัดตั้งโปรแกรมการศึกษาต่าง ๆ ในระดับบัณฑิตศึกษาทั้งปริญญาโทและปริญญาเอก และมีการออกข่าวในสำนักข่าวสำคัญต่าง ๆ สมาคมจิตวิทยาเชิงบวกสากล (International Positive Psychology Association ตัวย่อ IPPA) พึ่งจัดตั้งขึ้นไม่นาน แต่ก็ได้ขยายเพิ่มสมาชิกเป็นพัน ๆ จากประเทศต่าง ๆ 80 ประเทศ จุดมุ่งหมายขององค์กรรวมทั้ง (1) “ส่งเสริมศาสตร์จิตวิทยาเชิงบวกทั่วโลก และสร้างความมั่นใจว่า ศาสตร์นี้จะดำรงอยู่ในฐานของวิทยาศาสตร์” (2) “ดำเนินงานเพื่อประยุกต์ใช้จิตวิทยาเชิงบวกอย่างมีประสิทธิผลอย่างมีความรับผิดชอบ ในด้านต่าง ๆ รวมทั้งจิตวิทยาองค์กร จิตวิทยาเชิงให้คำปรึกษาและแบบรักษา ธุรกิจ สุขภาพ การศึกษา และการฝึกอบรม” (3) “อุปถัมภ์การศึกษาและการฝึกอบรมในสาขานี้”
เป้าหมาย
ในการบำบัดทางประชาน (cognitive therapy) จุดมุ่งหมายก็เพื่อช่วยให้บุคคลเปลี่ยนความคิดเชิงลบ เพื่อเปลี่ยนความรู้สึกของตน วิธีนี้ใช้ได้ผลดี คือการเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับผู้อื่น เกี่ยวกับอนาคต และเกี่ยวกับตนเอง เป็นเหตุก่อความสำเร็จโดยส่วนหนึ่ง กระบวนการความคิดที่มีผลต่อสภาวะทางอารมณ์ของเราแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ความสามารถในการถอนความสนใจไปจากความคิดซ้ำซากมีประโยชน์ต่อความอยู่เป็นสุข นอกจากนั้นแล้ว การเปลี่ยนแนวคิดในเรื่องเวลาสามารถมีอิทธิพลต่อความคิดของเราเกี่ยวกับความสุข ศ. เซลิกแมนได้ระบุเป้าหมายอื่น ๆ เพื่อใช้ศาสตร์นี้ คือ สร้างครอบครัวและโรงเรียนที่ช่วยให้เด็กพัฒนา สร้างที่ทำงานโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความพอใจและผลิตผลที่สูง และการสอนผู้อื่นเกี่ยวกับจิตวิทยาเชิงบวก
พื้นเพ
นักจิตวิทยามนุษยนิยมหลายท่านรวมทั้ง ศ. อับราฮัม มาสโลว์ ได้พัฒนาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเกี่ยวกับความสุขและความเจริญรุ่งเรืองของมนุษย์ ต่อมานักจิตวิทยาเชิงบวกจึงได้พบหลักฐานเชิงประสบการณ์ที่สนับสนุนทฤษฎีเหล่านั้น แล้วได้สร้างความก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ
ศาสตร์นี้เริ่มตั้งเป็นสาขาย่อยของจิตวิทยาเริ่มที่ปี 2541 เมื่อ ศ. เซลิกแมนได้เลือกมันเป็นตีมขององค์กรเมื่อทำหน้าที่เป็นประธานของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) แม้ว่าศัพท์จะเริ่มใช้เป็นครั้งแรกโดย ศ. อับราฮัม มาสโลว์ ในหนังสือปี 2497 (Motivation and Personality) และมีตัวชี้บอกว่า นักจิตวิทยาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1950 เริ่มจะพุ่งความสนใจมากขึ้นไปที่การส่งเสริมสุขภาพจิตแทนที่การรักษาโรคเพียงอย่างเดียว
ในประโยคแรกในหนังสือของเขาชื่อว่า ความสุขที่แท้จริง (Authentic Happiness) ศ. เซลิกแมนอ้างว่า "ในครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา จิตวิทยาถูกกลืนไปในประเด็นเรื่องเดียวเท่านั้น คือ โรคจิต": xi โดยเป็นการเสริมข้อสังเกตของ ศ. มาสโลว์ เขาจึงสนับสนุนให้นักจิตวิทยาสืบต่อภารกิจที่เคยมีอีกอย่างหนึ่ง คือ ช่วยส่งเสริมความสามารถพิเศษของคนแต่ละคน และช่วยเพิ่มคุณภาพของชีวิตแม้ที่ไม่มีโรค ส่วนงานประชุมจิตวิทยาเชิงบวกเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2542 และงานประชุมสากลปี 2545 แล้วสาธารณชนก็ได้หันมาสนใจศาสตร์นี้เพิ่มขึ้นเริ่มในปี 2549 เมื่อวิชาที่ใช้มูลฐานเดียวกันที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้กลายเป็นค้อร์สยอดนิยม ในเดือนมิถุนายน 2552 การประชุมใหญ่โลกในเรื่องจิตวิทยาเชิงบวกครั้งที่ 1 (First World Congress on Positive Psychology) ก็เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
จิตวิทยาเชิงบวกเป็นศาสตร์ล่าสุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่พยายามเข้าใจธรรมชาติของความสุขและความอยู่เป็นสุข แต่ก็ไม่ใช่เป็นศาสตร์แรกที่สืบประเด็นปัญหานี้ และนักวิชาการชาวตะวันตกก็มีความเห็นต่าง ๆ กันว่า "จิตวิทยาเชิงบวก" หมายถึงอะเไร
สุขารมณ์นิยม (หรือรตินิยม อังกฤษ: Hedonism) พุ่งความสนใจไปในการหาความสุขว่าเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของ "ชีวิตที่ดี" ชาวฮิบรูแรก ๆ เชื่อในทฤษฎีคำสั่งบัญชาของพระเจ้า (divine command theory) ซึ่งหาความสุขโดยใช้ชีวิตตามคำสั่งหรือกฎที่ตั้งขึ้นโดยพระเจ้า ส่วนคนกรีกโบราณคิดว่า ความสุขสามารถหาได้ผ่านตรรกศาสตร์และการวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ในศาสนาอิสลาม ความสุขมาจาก "ความอิ่มอกอิ่มใจ" (a contented heart) ซึ่งสามารถได้จากการระลึกถึงพระเจ้าและความพอใจของพระองค์ คือ "ใจของผู้ที่ศรัทธาจะพบความพอใจในการระลึกถึง (การไม่ลืม) อัลลอฮ์ คือไม่ต้องสงสัยเลยว่า การไม่ลืมอัลลอฮ์ทำให้ใจสามารถพบความพอใจได้" ส่วนศาสนาคริสต์มีมูลฐานในการหาความสุขในคำสอนและชีวิตของพระเยซู ผู้เต็มไปด้วยความรักและความเมตตา ในศาสนาบาไฮ ความสุขสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับหลักคุณธรรมของจิตวิทยาเชิงบวก ซึ่งมองว่าคุณธรรมเป็นกระจกส่องชื่อและลักษณะของพระเจ้า และเป็นความหมายของชีวิต
ส่วนศาสนาพุทธมีรากฐานที่เฉพาะเจาะจงในเรื่องความเข้าใจสภาพจิตใจและความสุข พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ชีวิตเป็นทุกข์ ที่เกิดจากการยึดมั่นแนวคิดหรือความหวังเกี่ยวกับชีวิตและธรรมชาติความจริงที่ไม่ประกอบด้วยกุศโลบาย และสอนว่า การปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ 8 (ซึ่งเป็นหลักที่สัมพันธ์กับการใช้ชีวิตที่ประกอบด้วยจริยธรรมและความเมตตากรุณา) จะช่วยกำจัดความรู้สึกว่ามีตัวตนที่ไม่เป็นกุศโลบาย และกำจัดความทุกข์ที่มาพร้อมกับการไม่เห็นความจริงของชีวิต ในปัจจุบัน มีนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งที่กำลังศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า และเชื่อมคำสอนกับความรู้ทางประสาทวิทยาศาสตร์ในเรื่องสติ การอบรมจิต และวิธีการใช้ชีวิตเป็นอิสระจากความยึดมั่นที่ไม่ดี เพื่อให้มีชีวิตที่เป็นกุศล ถูกจริยธรรม และมีความสุขยิ่งกว่า
ศาสตร์นี้ปัจจุบันก้าวหน้ามากที่สุดในสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตก แต่ถึงแม้ว่าศาสตร์นี้จะให้แนวคิดและความรู้ใหม่ ๆ ในเรื่องอารมณ์และพฤติกรรมเชิงบวก แต่ไอเดีย ทฤษฎี งานวิจัย และแรงจูงใจเพื่อการศึกษาเรื่องบวกของพฤติกรรมมนุษย์ ความจริงก็เป็นเรื่องเก่าแก่เท่ากับประวัติศาสตร์มนุษย์เอง
มูลฐานตามประวัติ
จิตวิทยาเชิงบวกมีรากฐานในจิตวิทยามนุษยนิยม (humanistic psychology) ที่เจริญรุ่งเรืองในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่พุ่งความสนใจไปในเรื่องความสุขและความพอใจในชีวิต และเพราะว่าจิตวิทยาไม่ได้มีรากฐานทางวิทยาศาสตร์เหมือนในรูปแบบปัจจุบันจนกระทั่งท้ายคริสต์ศตวรรษที่ 19 อิทธิพลที่มาก่อนหน้านั้นมาจากหลักปรัชญาและศาสนา
คนกรีกโบราณมีความคิดหลายแนวหลายสำนัก โสกราตีสสนับสนุนไอเดียว่า ความรู้เกี่ยวกับตน (self-knowledge) เป็นทางให้ถึงความสุข ส่วนนิทานเปรียบเทียบของเพลโตเกี่ยวกับถ้ำมีอิทธิพลต่อนักปราชญ์ชาวตะวันตกที่เชื่อว่า ความสุขจะได้มาจากการหาความหมายชีวิตที่ลึกซึ้ง ส่วนอาริสโตเติลเชื่อว่าความสุข หรือที่เขาเรียกว่า "eudaimonia" มาจากกิจกรรมที่มีเหตุผลตามหลักคุณธรรมตลอดชีวิตที่บริบูรณ์ ส่วนเอพิเคียวรัสเชื่อว่า ความสุขมาจากความยินดีพอใจในเรื่องง่าย ๆ ลัทธิสโตอิกเชื่อว่า บุคคลสามารถดำรงความสุขโดยความคิดที่เป็นกลางและมีเหตุผล และได้อธิบายถึง "แบบฝึกหัดทางจิตวิญญาณ" ที่คล้ายกับแบบฝึกหัดที่ใช้ในการบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy) และในจิตวิทยาเชิงบวก ส่วนศาสนายูดาห์มีหลักปรัชญาเก่าแก่กว่า 3,000 ปีในเรื่องความสุข และเชื่อในทฤษฎีคำสั่งบัญชาของพระเจ้า (divine command theory) เพื่อหาความสุข คือ ความสุขและรางวัลชีวิตจะได้มาจากการทำตามคำสั่งของพระเจ้า
ต่อมาศาสนาคริสต์ก็ยังสืบต่อความเชื่อเกี่ยวกับทฤษฎีคำสั่งบัญชาของพระเจ้า ในช่วงสมัยกลาง ศาสนาคริสต์สอนว่าความสุขที่แท้จริงจะมีได้ก็ต่อเมื่อถึงชีวิตหลังความตาย บาป 7 ประการเป็นเรื่องการปล่อยตัวให้หมกมุ่นในโลกีย์ (self-indulgence) และการหลงตนเอง และโดยตรงกันข้าม คุณธรรมหลัก 4 อย่าง และคุณธรรมราฟาเอลอีก 3 อย่าง เป็นตัวป้องกันการทำบาป
ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาและในยุคเรืองปัญญา ปัจเจกนิยม (individualism) คือลัทธิที่ให้ความสำคัญในสิทธิและความเป็นอิสระของแต่ละคนก็เริ่มรุ่งเรืองขึ้น ในเวลาเดียวกัน บุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์ก็เริ่มมีศักดิ์ศรีเพิ่มขึ้น โดยพิจารณาว่าเป็นนักศิลป์ แทนที่จะเป็นเพียงแค่ช่างฝีมือธรรมดา ๆ ส่วนนักปราชญ์ลัทธิประโยชน์นิยมเชื่อว่า การกระทำที่ถูกศีลธรรม (moral action) ก็คือการกระทำที่ให้เกิดความสุขมากที่สุดแก่คนมากที่สุด และเสนอว่า วิทยาศาสตร์ที่อาศัยหลักฐานเชิงประสบการณ์ควรใช้เป็นตัวกำหนดว่า การกระทำอะไรถูกศีลธรรม (โดยเป็นวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับศีลธรรม) ส่วนทอมัส เจฟเฟอร์สัน และผู้สนับสนุนประชาธิปไตยอื่น ๆ เชื่อว่า ชีวิต เสรีภาพ และการเสาะแสวงหาความสุขเป็นสิทธิที่พรากจากบุคคลไม่ได้ และการละเมิดสิทธิเช่นนี้เป็นเหตุผลสมควรที่จะโค่นล้มรัฐบาล ลัทธิศิลปะจินตนิยมให้คุณค่ากับการแสดงออกทางอารมณ์ของแต่ละบุคคล โดยบุคคลจะพยายามสืบหา "ตัวตนที่แท้จริง" ทางอารมณ์ โดยไม่คำนึงถึงอุปสรรคเช่นมาตรฐานทางสังคม ในเวลาเดียวกัน อย่างน้อยในโลกชนตะวันตก ความรักและความสนิทสนมกลายเป็นแรงจูงใจหลักในการแต่งงาน
วิธีการ
จิตวิทยาเชิงบวกสนใจในประเด็น 3 อย่างคือ อารมณ์เชิงบวก (positive emotion) ลักษณะเชิงบวกของแต่ละบุคคล (positive individual trait) และสถาบันที่โปรโหมตหลักจิตวิทยาเชิงบวก (positive institution) อารมณ์เชิงบวกก็เช่นความพึงพอใจในอดีต การมีความสุขในปัจจุบัน และการมีความหวังในอนาคต ลักษณะเชิงบวกก็คือความสามารถพิเศษหรือความเข้มแข็ง (strength) และคุณธรรมของแต่ละบุคคล และสถาบันเชิงบวก เป็นสถาบันที่ใช้หลักความเข้มแข็งในการพัฒนาชุมชน ส่วนความสุข (Happiness) หมายถึงปรากฏการณ์ทางอารมณ์และทางจิตต่าง ๆ วิธีการวัดความสุขที่ใช้อย่างหนึ่งก็คือชุดคำถามที่เรียกว่า Satisfaction with Life Scale ตามผู้สร้าง ผลที่ได้จากผู้ตอบชุดคำถามนี้เข้ากับความรู้สึกจากเพื่อนและครอบครัว และสัมพันธ์กับความซึมเศร้าที่น้อยลง[]
แทนที่จะใช้การประเมินแบบระยะยาวแบบทั่วไป วิธีการวัดบางอย่างพยายามกำหนดอารมณ์ความรู้สึกที่ดีโดยแบ่งเป็นกิจกรรม ๆ คือ นักวิทยาศาสตร์ใช้วิทยุติดตามตัวเพื่อเตือนอาสาสมัครให้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์ของตนเมื่อส่งสัญญาณเตือน หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือ อาสาสมัครจะบันทึกรายละเอียดของชีวิตเมื่อวานในอนุทินในแต่ละเช้า
ความไม่สอดคล้องกันที่น่าสนใจเกิดขึ้นเมื่อนักวิจัยเปรียบเทียบผลที่ได้จากวิธีการวัดประสบการณ์แต่ละขณะ ๆ เช่นนี้ กับการประเมินแบบระยะยาว คือ การประเมินแบบหลังอาจจะไม่เที่ยงตรง บุคคลอาจจะไม่รู้ว่าอะไรทำให้ชีวิตน่าพอใจจากขณะหนึ่งไปสู่อีกขณะหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น การประเมินของพ่อแม่มักจะบอกว่าลูกของตนเป็นแหล่งความสุข ในขณะที่การประเมินเป็นขณะ ๆ แสดงว่า พ่อแม่ไม่ได้ชอบดูแลลูก ๆ ของตนเทียบกับกิจกรรมอื่น ๆ
นักจิตวิทยา ศ.ดร. แดเนียล คาฮ์นะมัน อธิบายความไม่สอดคล้องกันโดยแบ่งแยกความสุขตาม "ตนที่รู้สึก" เทียบกับ "ตนที่จำ" คือ เมื่อให้ระลึกถึงประสบการณ์ความรู้สึกในอดีต ความเอนเอียงทางความจำ (memory bias) เช่น Peak-End effect (ที่เรามักจะจำประสบการณ์ที่ระทึกใจน่าตื่นเต้น และประสบการณ์สุดท้ายมากที่สุด) มีบทบาทที่สำคัญ มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับคนไข้ colonoscopy (การส่องกล้องผ่านทวารหนักเพื่อดูช่วงท้ายของลำไส้ใหญ่) ที่น่าทึ่งอย่างหนึ่ง คือ ดร. คาฮ์นะมันพบว่า ถ้าเพิ่มเวลาการส่องกล้องขึ้น 60 วินาที คนไข้กล่าวว่าการส่องกล้อง (ที่ปกติเป็นการตรวจสอบที่ไม่สบาย) รู้สึกสบายกว่า เพียงแต่ต้องไม่ขยับกล้องในช่วงท้าย 60 วินาที เพราะว่า การขยับกล้องเป็นเหตุก่อความรู้สึกไม่สบายมากที่สุด ดร. คาฮ์นะมันให้เหตุผลว่า "ตนที่จำ" มักจะพุ่งความสนใจเป็นที่ช่วงท้ายของประสบการณ์ ผลงานวิจัยเยี่ยงนี้ช่วยอธิบายความผิดพลาดของมนุษย์ในการพยากรณ์อารมณ์ความรู้สึกของตนเองในอนาคต
นักจิตวิทยาได้พัฒนาชุดคำถาม Oxford Happiness Questionnaire โดยหมายเป็นตัววัดความเป็นสุขทางจิตใจแบบกว้าง ๆ แต่ว่าแบบคำถามถูกวิจารณ์ว่า ไม่มีรากฐานอยู่กับแบบจำลองทางทฤษฎีเกี่ยวกับความสุข และเหลื่อมกับแนวคิดอื่น ๆ เช่น ความเคารพตน (self-esteem) ความรู้สึกว่ามีความหมาย (sense of purpose) ความสนใจทางสังคม ความเมตตา ความมีมุกตลก (sense of humor) และความรู้คุณค่าของสิ่งสวยงาม (aesthetic appreciation)
ทางประสาทวิทยาศาสตร์
ประสาทวิทยาศาสตร์และการสร้างภาพสมอง (brain imaging) เพิ่มสมรรถภาพขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อช่วยให้เข้าใจเรื่องความสุขและความเศร้า ถึงแม้ว่าอาจจะเป็นไปไม่ได้ที่จะวัดความสุขที่เป็นปรวิสัย (objective) อย่างสมบูรณ์ แต่ว่า ก็ยังสามารถวัดลักษณะต่าง ๆ ทางกายภาพที่สัมพันธ์กับความสุข เช่นหนังสือ วิทยาศาสตร์แห่งความสุข (The Science of Happiness) ได้เชื่อมลักษณะพลวัตของระบบประสาทชีววิทยา (เช่น ระบบประสาทที่มากไปด้วยโดพามีน) กับแนวคิดและผลการศึกษาของจิตวิทยาเชิงบวกและจิตวิทยาสังคม หรือว่าผู้ได้รับรางวัลโนเบล ศ. อีริก แคนเดิลและผู้ร่วมงานได้วินิจฉัยภาวะซึมเศร้าได้โดยเพียงแค่ดูภาพสมองที่ทำโดย fMRI เพียงเท่านั้น
โดยกำหนดสัมพันธภาพทางประสาท (neural correlate) กับอารมณ์ นักวิทยาศาสตร์อาจสามารถใช้เทคนิคเช่น การสร้างภาพสมองโดยใช้ fMRI เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับความสุขแบบต่าง ๆ เช่น นักจิตวิทยาผู้หนึ่งทำงานวิจัยเพื่อกำหนดส่วนของสมองที่มีส่วนร่วมกับอารมณ์เชิงบวก แล้วพบว่า prefrontal cortex ด้านซ้าย ทำงานมากกว่าเมื่อเกิดความสุข และสัมพันธ์กับความสามารถในการฟื้นตัวจากอารมณ์เชิงลบ และความสามารถที่เพิ่มขึ้นในการระงับอารมณ์เชิงลบ และที่น่าสนใจก็คือ เขาพบว่า บุคคลสามารถฝึกตัวเองให้สมองส่วนนี้ทำงานเพิ่มขึ้น
เชื่อกันว่า สมองของบุคคลสามารถเปลี่ยนไปได้ตลอดอาศัยประสบการณ์ชีวิต ซึ่งเป็นสภาพที่เรียกว่า neuroplasticity (สภาพพลาสติกของระบบประสาท) แต่ว่าก็มีนักจิตวิทยาคู่หนึ่งที่ศึกษาว่า อารมณ์อะไรสามารถสืบทอดทางกรรมพันธุ์ แล้วพบว่า ความรู้สึกว่าเป็นอยู่ดีโดยระยะยาวขึ้นอยู่กับพันธุกรรมถึง 80% ซึ่งหมายความว่า ครอบครัวของเราสำคัญต่อชีวิตทางอารมณ์ของเราเมื่อเป็นผู้ใหญ่ เพราะว่า เราได้สืบทอดพันธุกรรมที่เป็นตัวกำหนดการตอบสนองทางอารมณ์ขั้นพื้นฐานต่อโลกภายนอก ดังนั้น กรรมพันธุ์จึงสำคัญต่อคุณภาพชีวิตทางอารมณ์ระยะยาวของเรา มากกว่าพฤติกรรมที่เรียนรู้หรือคุณภาพของสิ่งแวดล้อมในวัยเด็กต้น ๆ อย่างน้อยก็โดยตามแบบจำลองทางสังคม-เศรษฐกิจที่ใช้ในปัจจุบัน แต่ว่า 20% ที่เหลือ ก็ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้โดยใช้ความคิดและพฤติกรรมที่เรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรประมาท
ทางทฤษฎีวิวัฒนาการ
แนวคิดทางทฤษฎีวิวัฒนาการเป็นอีกวิธีหนึ่งเพื่อให้เข้าใจเรื่องความสุขและคุณภาพชีวิต คำถามแนะแนวทางที่เป็นกุญแจสำคัญก็คือ คุณลักษณะอะไรในสมองที่ช่วยให้มนุษย์แยกแยะระหว่างสภาวะเชิงบวกและเชิงลบในจิตได้ และคุณลักษณะเช่นนี้ช่วยเพิ่มความสามารถในการอยู่รอดและสืบพันธุ์ได้อย่างไร ผู้ที่โปรโหมตมุมมองทางวิวัฒนาการอ้างว่า คำตอบต่อคำถามเหล่านี้สามารถช่วยให้เข้าใจได้ว่า ความสุขคืออะไร และเข้าใจถึงวิธีที่ดีที่สุดในการฉวยประโยชน์จากสมรรถภาพทางสมองของมนุษย์ที่มี เป็นมุมมองที่แสดงอย่างละเอียดอย่างเป็นรูปนัยในหนังสือ ความสุขแบบดาร์วิน (Darwinian Happiness)
เรื่องทั่วไปที่พบโดยประเด็น
ความสุขได้กลายเป็นเรื่องที่นิยมมาพูดคุยกันในสื่อ โดยเฉพาะในโลกตะวันตก มีงานศึกษามากมายที่พยายามไขปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความสุข ประเด็นดังต่อไปนี้เป็นสิ่งที่งานศึกษาต่าง ๆ ได้ค้นพบ
อายุ
วิกฤตการณ์วัยกลางคน (midlife crisis) อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนเมื่อความสุขในชีวิตเริ่มลดลงในบุคคลทั่วไป มีหลักฐานที่แสดงนัยว่า คนโดยมากมักจะมีความสุขขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ยกเว้นในวัยระหว่าง 40-50 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยปกติที่ "วิกฤติการณ์" อาจจะเกิด นักวิจัยได้กำหนดว่า บุคคลในช่วงอายุ 20-29 และ 70-79 มีความสุขมากกว่าในช่วงวัยกลางคน แม้ว่า ระดับความสุขอาจจะเปลี่ยนในอัตราที่ต่าง ๆ กัน ยกตัวอย่างเช่น ความเครียดและความโกรธมักจะลดลงหลังอายุ 20 ความวิตกกังวลหลังอายุ 50 และความยินดีพอใจในชีวิตลดลงอย่างช้า ๆ ในวัยผู้ใหญ่ แต่ในที่สุดจะเพิ่มขึ้นหลังจากวัย 50
สิ่งที่ค้นพบเหล่านี้มีมูลฐานจากข้อมูลที่รวบรวมมาเป็นทศวรรษ ๆ กับกลุ่มบุคคลที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน (cohort) โดยเป็นการเก็บข้อมูลโดยมีการควบคุม เช่น นักวิจัยจะไม่ใส่ใจในการลดลงของความสุขในช่วงวัยกลางคนถ้าเกิดจากประสบการณ์ร่วมกันของบุคคลในกลุ่มนั้น ๆ เช่นเกิดจากสงคราม นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการควบคุมรายได้ สถานะทางการงาน และความเป็นพ่อแม่ เพื่อที่จะกำหนดแยกให้ชัดเจนถึงผลที่มาจากอายุ นักวิจัยพบหลักฐานว่า วัยที่เปลี่ยนไปมีผลต่อความสุขในชีวิต
แต่นี้อาจจะมีเหตุหลายอย่าง ปัจจัยทางจิตใจรวมทั้งความสำนึกรู้ถึงตนเองและถึงความชอบใจของตนเองมากขึ้น ความสามารถควบคุมความต้องการและมีความคาดหวังในชีวิตที่สมเหตุสมผลมากขึ้น เพราะความมุ่งหวังที่ไม่สมเหตุผลมักจะเป็นตัวสร้างความทุกข์ และการใกล้ความตายมากขึ้นอาจจะเป็นแรงจูงใจให้พยายามเข้าถึงจุดหมายส่วนตัวในชีวิตมากขึ้น และทักษะทางสังคมต่าง ๆ เช่นการให้อภัย อาจจะต้องใช้เวลาหลายปีเพื่อพัฒนา ซึ่งเป็นทักษะที่ช่วยให้มีความสุขยิ่งขึ้น หรือว่า คนที่มีความสุขกว่าอาจจะมีชีวิตยืนนานกว่า และดังนั้นจึงมีมากกว่าในกลุ่มประชากรคนมีอายุ นอกจากนั้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงทางเคมีชีวภาพที่สัมพันธ์กับอายุอาจจะมีบทบาท
งานวิจัยอื่นพบว่า แม้ว่าคนที่มีอายุมากกว่าจะรายงานปัญหาทางสุขภาพมากกว่า แต่ปัญหาในชีวิตโดยรวม ๆ กลับมีน้อยกว่า เพราะว่าผู้ใหญ่ที่มีอายุน้อยกว่ารายงานความโกรธ ความวิตกกังวล ความเศร้าซึม ปัญหาการเงิน ปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น และความเครียดในเรื่องการงานมากกว่า นักวิจัยยังเสนออีกด้วยว่า ภาวะซึมเศร้าในคนมีอายุเกิดจากการอยู่เฉย ๆ ไม่ทำกิจกรรม และแนะนำว่าให้ทำกิจกรรมที่นำความสุขมาให้ในชีวิตต่อไปเรื่อย ๆ แม้เมื่อมีอายุเพิ่มขึ้น
แบบจำลองแบบจำกัดกิจกรรม (activity restriction model) เกี่ยวกับภาวะเศร้าซึมอย่างหนึ่งแสดงนัยว่า สิ่งก่อความเครียดที่เข้าไปขัดขวางกิจกรรมปกติในชีวิตประจำวันสามารถลดระดับสุขภาพจิตได้ คนมีอายุมักจะถูกจำกัดกิจกรรมเนื่องจากปัจจัยทางอายุต่าง ๆ ดังนั้น การเพิ่มกิจกรรมในชีวิตประจำวัน บวกกับความช่วยเหลืออุปถัมภ์ทางสังคมสามารถลดการถูกจำกัดกิจกรรม: 167
เพศ
ตั้งแต่ปี 2519 ระดับความสุขของหญิงชาวตะวันตกที่ลดลงทำให้นักวิจัยเชื่อว่าผู้ชายมีความสุขกว่าผู้หญิง ผลที่พบอาจจะเป็นเพราะว่า หญิงและชายพิจารณาความสุขต่าง ๆ กัน คือ หญิงกำหนดความเคารพตน (self-esteem) ความใกล้ชิดของความสัมพันธ์ และศาสนา ในขณะที่ชายกำหนดความเคารพตน กิจกรรมในเวลาว่าง และความสามารถควบคุมจิตใจได้ ดังนั้น หญิงและชายอาจจะไม่ได้มีความสุขที่ต่างกัน
แต่ว่าในช่วงต้น ๆ ในชีวิต หญิงมีโอกาสสูงกว่าที่จะเข้าถึงเป้าหมายชีวิต (เช่น ในเรื่องทรัพย์สมบัติและในเรื่องชีวิตครอบครัว) และดังนั้น เป็นการเพิ่มความพอใจและความสุขโดยทั่วไปของชีวิต แต่ถึงแม้ว่าชายจะเข้าถึงเป้าหมายชีวิตได้ช้ากว่า แต่ก็พอใจในชีวิตครอบครัวและสถานะการเงินมากกว่า และดังนั้น จึงสุขมากกว่าหญิงโดยทั่ว ๆ ไป คำอธิบายที่เป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ การมีการงานในบ้านที่แบ่งทำไม่เท่ากัน หรือว่าหญิงประสบกับอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ มากกว่า แต่ว่า อาจจะมีความสุขกว่า "โดยทั่วไป" ดังนั้น ผลของเพศต่อความเป็นสุขจึงไม่ค่อยลงรอยกัน เช่น ชายรายงานว่ามีความสุขน้อยกว่าหญิง แต่หญิงกลับเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้ามากกว่าชาย
งานวิจัยในประเทศอิหร่านปี 2556 ศึกษาบทบาทของเพศและอายุกับประเด็นต่าง ๆ ทางจิตวิทยาเชิงบวก รวมทั้งความแข็งแกร่งทางจิต (psychological hardiness) ความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence) ความเชื่อมั่นในตน (self-efficacy) และความสุข กับคนอิหร่านรวมทั้งเด็กวัยรุ่น 200 คนและผู้ใหญ่อายุน้อยอีก 200 คน โดยใช้คำถาม งานพบว่า ชายมีความแข็งแกร่งทางจิต เชาน์ปัญญาทางอารมณ์ ความเชื่อมั่นในตน และความสุข ในอัตราที่สูงกว่าอย่างสำคัญไม่ว่าจะอายุเท่าไร แต่ว่าก็มีงานศึกษาหนึ่งเกี่ยวกับเด็ก ที่ผู้เขียนอธิบายว่า บิดามีโอกาสที่จะแสดงพฤติกรรมเชิงบวกกับลูกสาวมากกว่าลูกชาย และพบว่า โดยทั่วไปแล้ว เด็กหญิงมีความสุขมากกว่าเด็กชายโดยทั่วไป
การเงิน
ในหนังสือ สะดุดเจอความสุข (Stumbling on Happiness) ผู้เขียนนักจิตวิทยาได้อธิบายถึงงานวิจัยที่บอกเป็นนัยว่า การเงินสำคัญต่อคนจน (ที่ปัจจัยพื้นฐานในชีวิตยังมีไม่พร้อม) แต่สำคัญลดลงอย่างมากเมื่อถึงระดับบุคคลชั้นกลางแล้ว (ที่เรียกว่า Easterlin paradox) เช่นในงานศึกษาหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า เงินทองไม่ช่วยยกระดับความสุขหลังจากที่ทำเงินได้กว่า 75,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี (ประมาณ 2,682,750 บาท หรือเป็นเงินเดือนก่อนภาษีที่ 223,563 บาท) เทียบกับรายได้เฉลี่ยทั้งประเทศที่ 55,904 ดอลลาร์ต่อปี แต่ประชาชนกลับประเมินความสุขเพราะเหตุแห่งรายได้เกินจริงประมาณ 100% โดยอ้างศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่ง (Richard Easterlin) ที่ให้ข้อสังเกตว่า ความสุขจากงานไม่ใช่มีเหตุมาจากเงินเดือนเท่านั้น คือ การมีเงินเหลือเพื่อใช้ในสิ่งอำนวยความสะดวกไม่ได้เพิ่มความสุขเท่ากับความยินดีพอใจที่ได้จากงานหรือเครือข่ายสังคม ดังนั้น ผู้เขียนหนังสือจึงยืนกรานว่า บุคคลควรจะหางานที่ตนชอบ และหาวิธีที่จะทำงานเช่นนั้นเพื่อเลี้ยงชีวิต โดยให้ใส่ใจเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคมประกอบไปด้วย
ส่วนงานวิจัยในปี 2551 ได้คัดค้านแนวคิดของ Easterlin paradox คือข้อมูลที่เก็บมาจากประเทศต่าง ๆ แสดงว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สัมพันธ์กับการอยู่เป็นสุข และไม่มีในข้อมูลที่แสดงว่า เมื่อประเทศรวยขึ้น ความสุขที่ประชาชนรู้สึกจะลดน้อยลง งานจึงสรุปว่า ความเจริญทางเศรษฐกิจจริง ๆ ช่วยเพิ่มความสุข ความร่ำรวยสัมพันธ์อย่างมีกำลังกับความยินดีพอใจในชีวิต (life satisfaction) แต่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเงินกับความเป็นสุขทางอารมณ์ (emotional well-being) กลับอ่อน ความพยายามหาเงินอาจจะทำให้บุคคลไม่สนใจกิจกรรมเวลาว่างและความสัมพันธ์กับคนอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นเหตุหรือช่วยให้เกิดความสุข การหาเงินโดยเสี่ยงทำอันตรายต่อความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น หรือโดยมีความยินดีพอใจต่อกิจกรรมเวลาว่างเป็นเครื่องเซ่น อาจจะเป็นวิธีหาความสุขที่ไม่สุขุมรอบคอบ
มีหลักฐานแสดงว่า เงิน หรือว่าการหาเงินแบบรีบเร่ง สามารถกีดขวางความสามารถในการเพิ่มรสชาติ (savoring) ของชีวิต คือการกระทำที่เสริมเพิ่มความยินดีในประสบการณ์และเพิ่มอารมณ์เชิงบวก ในงานศึกษาเกี่ยวกับผู้ใหญ่วัยทำงาน บุคคลที่ร่ำรวยกว่ารายงานว่าสามารถเสริมเพิ่มความยินดีพอใจในชีวิตได้น้อยกว่าผู้ที่ร่ำรวยน้อยกว่า
งานศึกษาปกติจะพบว่า ประชาชนของประเทศต่าง ๆ จะมีความสุขกว่าเมื่อมีปัจจัยที่จำเป็นต่อชีวิตเพียงพอ แต่ก็มีงานศึกษาที่เสนอว่า บุคคลจะมีความสุขมากกว่าถ้าใช้เงินในการทำกิจแสวงหาประสบการณ์ต่าง ๆ แทนที่จะใช้ซื้อสิ่งของ และมีงานศึกษาที่พบว่าคนที่ถูกรางวัลล็อตเตอรี่จะรายงานระดับความสุขที่สูงกว่าหลังจากถูกรางวัล แต่ก็พบว่า ระดับความสุขจะตกลงสู่ระดับอัตราปกติภายในไม่กี่เดือนหรือไม่กี่ปี คืองานศึกษาพบว่า เงินอาจจะไม่ใช่เป็นเหตุของความสุขระยะยาว
การศึกษาและความฉลาด
กวีชาวอังกฤษ โทมัส เกรย์ ได้รจนาไว้ว่า "เมื่อความไม่รู้เป็นความแสนสำราญ มันเป็นความโง่ที่จะเป็นคนฉลาด" งานวิจัยแสดงว่า ทั้งการศึกษาที่ดีและการมีระดับเชาวน์ปัญญาสูง ไม่แน่ที่จะเพิ่มระดับความสุข นักจิตวิทยาผู้ชำนาญในเรื่องความเชี่ยวชาญคนหนึ่งอ้างว่า ระดับเชาวน์ปัญญาที่สูงกว่า 120 แต้มจะมีอิทธิพลน้อยลงต่อความสำเร็จในชีวิต สันนิษฐานได้ว่า ระดับเชาวน์ปัญญาที่สูงกว่า 120 ไม่ได้เป็นเหตุของปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุขอื่น ๆ เช่นความสำเร็จในชีวิต (ยกเว้นในอาชีพเช่นฟิสิกส์ทฤษฎี ที่ระดับเชาวน์ปัญญาเป็นตัวพยากรณ์ความสำเร็จที่ดี) ดังนั้น เมื่อถึงเชาวน์ปัญญาในระดับทีว่านั้น การมีทักษะทางสังคมหรือผู้ปรึกษาที่ดีมีผลดีกว่า เมื่อเกี่ยวกับกับความสุข ระดับเชาวน์ปัญญาและการศึกษาอาจจะช่วยให้ได้ปัจจัยในชีวิตในระดับของคนชั้นกลางเท่านั้น (คือ ดังที่ว่ามาก่อน ความร่ำรวย กว่าในระดับนี้ดูเหมือนจะมีผลน้อยต่อระดับความสุข)
ศ. เซลิกแมนได้กล่าวไว้ว่า "ในฐานะของศาสตราจารย์ ผมไม่ชอบใจผลที่ว่านี่ คือว่า คุณสมบัติทางปัญญา เช่น ความใฝ่รู้ใฝ่เห็น หรือความสนใจอยากเรียนรู้ สัมพันธ์กับความสุขน้อยกว่าคุณธรรมในระหว่างบุคคล เช่น ความเมตตา ความซาบซึ้งคุณคน หรือสมรรถภาพในความรัก (ผู้อื่น)"
ความเป็นพ่อแม่
แม้จะกล่าวกันว่า ความเป็นพ่อแม่เป็นประสบการณ์ที่จำเป็นในความเป็นผู้ใหญ่ แต่งานศึกษาแสดงผลที่ไม่สม่ำเสมอว่า พ่อแม่รายงานระดับความสุขที่สูงกว่าคนไม่ใช่พ่อแม่หรือไม่ ประสบการณ์ทั่วไปอาจจะแสดงว่าการมีลูกทำให้คู่ชีวิตใกล้ชิดสนิทสนมกันมากขึ้น แต่งานวิจัยกลับแสดงว่า คู่ชีวิตพอใจในชีวิตน้อยลงหลังจากเกิดลูกคนแรก คือ ความยินดีในการมีลูกไม่พอเป็นค่าทดแทนความรับผิดชอบในความเป็นพ่อแม่
โดยอาศัยการรายงานเป็นตัวเลขของพ่อแม่ นักวิจัยพบว่า พ่อแม่ชอบทำกิจกรรมอย่างอื่น ๆ เกือบทั้งหมดมากกว่าดูแลลูกของตน แต่ในนัยกลับกัน การรายงานระดับความสุขของพ่อแม่กลับสูงกว่าผู้ที่ไม่ใช่พ่อแม่ แต่นี่อาจจะเป็นเพราะว่าคนที่มีความสุขมากกว่าอยู่แล้วจะมีลูกมากกว่า นอกจากนั้นแล้ว อาจจะเป็นเพราะว่า ในระยะยาว การมีลูกให้ความหมายในชีวิตมากกว่า งานศึกษาหนึ่งพบว่า การมีลูกจนถึง 3 คนเพิ่มความสุขในผู้ที่แต่งงาน แต่ผลไม่เป็นเช่นนั้นในกลุ่มอื่น ๆ คนที่สนับสนุนแนวคิดให้ไม่มีลูกยืนยันว่า นี่เป็นเพราะว่าบุคคลสามารถมีชีวิตที่มีความสุข ที่ก่อประโยชน์ได้โดยไม่ต้องลำบากเป็นพ่อเป็นแม่
โดยเปรียบเทียบกัน มีงานศึกษาหลายงานที่พบว่า การมีลูกทำให้พ่อแม่มีความสุขน้อยลง เมื่อเทียบกับบุคคลที่ไม่ใช่พ่อแม่ ผู้ที่มีลูกมีความอยู่เป็นสุขและความพอใจในชีวิตในระดับที่ต่ำกว่า นอกจากนั้นแล้ว พ่อแม่รายงานว่ารู้สึกเศร้าซึม และวิตกกังวลมากกว่า แต่ว่า ถ้าเปรียบเทียบผู้ใหญ่ที่ไม่มีลูกกับพ่อแม่ที่ลูกโตออกจากบ้านไปแล้ว การเป็นพ่อแม่สัมพันธ์กับความเป็นสุขทางใจ
คนอเมริกันพบว่า การเป็นพ่อแม่ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 ทำให้เครียดมากกว่าในช่วง 1950 ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเกี่ยวกับงานอาชีพและชีวิตแต่งงาน ชัดเจนว่า ชายมีความสุขน้อยลงหลังจากมีลูกเนื่องจากความกดดันทางการเงินและหน้าที่ของพ่อ ปัญหาระหว่างคู่สมรสอาจจะเกิดขึ้นเมื่อไม่อยากจะทำหน้าที่ตามประเพณี หรือว่ามีบทบาทหน้าที่ที่ต้องทำมากขึ้น ความรับผิดชอบในการเลี้ยงลูกที่ไม่เท่ากันระหว่างชายหญิงดูเหมือนจะเป็นเหตุของความแตกต่างของความยินดีพอใจนี้ คือพ่อที่ทำงานด้วย และมีหน้าที่เลี้ยงลูกที่เท่า ๆ กันด้วย มีความยินดีน้อยที่สุด และงานวิจัยก็พบว่า พ่อหรือแม่ที่เลี้ยงลูกโดยลำพังเครียดมากกว่า และรายงานว่ามีปัญหาทางจิตมากกว่าพ่อแม่ที่ยังอยู่ด้วยกัน
การแต่งงาน
ศ. เซลิกแมนได้เขียนไว้ว่า "โดยที่ไม่เหมือนเงินซึ่งมีผลอย่างมากก็นิดเดียว การแต่งงานสัมพันธ์อย่างมีกำลังกับความสุข... (แต่ว่า) ในความคิดของผม ยังไม่ชัดเจนว่าอะไรเป็นเหตุของความจริงที่ผ่านการทดสอบแล้วว่า บุคคลที่แต่งงานมีความสุขกว่าบุคคลที่ไม่ได้แต่ง": 55–56 คือ บุคคลที่แต่งงานรายงานว่ามีความสุขและความอยู่เป็นสุขในระดับที่สูงกว่าคนโสด
ส่วนงานวิจัยอื่นแสดงว่า ความสุขของบุคคลขึ้นอยู่กับความสุขของคู่สมรส และเมื่อถาม คู่สมรสจะรายงานระดับความสุขในระดับใกล้ ๆ กัน งานวิจัยยังพบด้วยว่า ระดับความสุขของคู่สมรสจะผันแปรไปเหมือน ๆ กัน ถ้าสามีรายงานว่า เป็นสัปดาห์ที่ไม่ดี ภรรยาก็จะรายงานคล้าย ๆ กัน มีข้อมูลน้อยมากในแบบการมีคู่อย่างอื่น ๆ เช่น การมีคู่ครองหลายคน (polyamory) แม้ว่า งานศึกษาหนึ่งจะพบว่า ลำดับการเป็นภรรยาไม่มีผลสำคัญต่อความยินดีพอใจในชีวิตแต่งงานโดยทั่วไป แต่รายงานนี้พบว่า ภรรยาที่อายุน้อยกว่ามีความสุขกว่าภรรยาที่แก่กว่า
แต่งานศึกษาขนาดใหญ่ปี 2003 งานหนึ่งในประเทศเยอรมนีไม่พบความแตกต่างของความสุขระหว่างคนที่แต่งงานหรือไม่ได้แต่งงาน แต่ว่าก็มีงานศึกษาต่าง ๆ ที่พบว่า บุคคลที่มีคู่สมรสมีความสุขสม่ำเสมอกว่า และพอใจในชีวิตมากกว่าบุคคลที่เป็นโสด และมีงานศึกษาอื่นที่แสดงว่า การแต่งงานเป็นตัวพยากรณ์ที่สำคัญเป็นพิเศษอย่างเดียวต่อความยินดีพอใจในชีวิตทั้งในหญิงและชาย แต่ว่า บุคคลที่ยินดีพอใจในชีวิตมากกว่าก่อนแต่งงาน มักจะมีชีวิตแต่งงานที่สุขมากกว่า
สิ่งที่น่าแปลกใจอย่างหนึ่งก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างการแต่งงานกับการอยู่เป็นสุขได้ลดลงเรื่อย ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1970 เนื่องจากหญิงรายงานว่า มีความสุขน้อยกว่าที่เคยเป็นมาก่อน และชายที่เป็นโสดรายงานว่ามีความสุขมากกว่าที่เคยเป็นมาก่อน
ทฤษฎีหนึ่งแสดงว่า ความรักมีสองปัจจัย คือ ความรักแบบเร่าร้อน (passionate) และความรักแบบเป็นเพื่อน (companionate) แบบเร่าร้อนมีลักษณะเป็นความโหยหาปรารถนาอย่างรุนแรงต่อคนที่รัก ซึ่งบ่อยครั้งประสบได้ผ่านความปิติยินดีหรือการมีเพศสัมพันธ์ หรือแม้แต่การถูกบอกปัด โดยเปรียบเทียบกัน ความรักฉันเพื่อนสัมพันธ์กับความรักความชอบใจ ความเป็นมิตร และการให้คำมั่นสัญญาต่อกันและกัน ตามทฤษฎีนี้ ทั้งความรักแบบเร่าร้อนและแบบฉันเพื่อนเป็นรากฐานของความรักทุกอย่างที่บุคคลหนึ่ง ๆ อาจจะประสบ
บุคลิกภาพ
ศ. ดร. เอ็ด ไดเนอร์ (ฉายา ดร. ความสุข) และคณะ เสนอสมการนี้ว่า อารมณ์เชิงบวก - อารมณ์เชิงลบ = ความอยู่เป็นสุขที่เป็นอัตวิสัย (subjective well-being) เนื่องความโน้มเอียงในการมีอารมณ์เชิงบวกมีสหสัมพันธ์ ที่ 0.8 กับบุคลิกภาพแบบหาความพอใจนอกตัว (extraversion) และความโน้มเอียงที่จะมีอารมณ์เชิงลบแทบจะไม่ต่างกับบุคลิกภาพแบบ neuroticism ดังนั้น สมการที่แสดงก่อนสามารถเขียนได้ว่า extraversion - neuroticism = ความสุข ลักษณะทางบุคลิกภาพสองอย่างนี้อาจจะอธิบายความแตกต่างของความสุขระหว่างบุคคลได้ถึง 50% - 75% โดยคุณลักษณะเหล่านี้มาจากทฤษฎีลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่าง
บุคคลที่มีความเสถียรทางอารมณ์ (ที่ตรงข้ามกับ neuroticism) มีสหสัมพันธ์ในระดับดีกับความสุข ความเสถียรทางอารมณ์ไม่ใช่ทำให้บุคคลโน้มเอียงไปทางอารมณ์เชิงลบน้อยลงเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวพยากรณ์เชาวน์ปัญญาทางสังคม (social intelligence) ที่ดีอีกด้วย ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ช่วยบริหารความสัมพันธ์กับผู้อื่น (ซึ่งสำคัญต่อการมีความสุข) ดังนั้น การสร้างและพัฒนาพื้นอารมณ์ (temperament) แบบหาความพอใจนอกตัว อาจจะสัมพันธ์กับความสุขในลักษณะเดียวกัน คือ เพราะช่วยสร้างความสัมพันธ์และกลุ่มญาติเพื่อนฝูงที่ให้ความช่วยเหลืออุปถัมภ์
คนบางคนอาจจะโชคดีกว่าคนอื่น ในมุมมองของทฤษฎีบุคลิกภาพทางจิตวิทยา เพราะว่ามีงานศึกษาทางพันธุกรรมที่แสดงว่า ยีนที่บ่งลักษณะบุคลิกภาพโดยเฉพาะก็คือ การหาความพอใจในสิ่งภายนอก (extraversion) ความไม่เสถียรทางอารมณ์ (neuroticism) ความพิถีพิถัน (conscientiousness) และปัจจัยทั่วไปอีกอย่างหนึ่งที่เชื่อมลักษณะบุคลิกภาพทั้ง 5 สามารถใช้อธิบายถึงการสืบทอดทางพันธุกรรมของความรู้สึกอยู่เป็นสุขที่เป็นอัตวิสัยได้ ส่วนงานวิจัยไม่นานมานี่เสนอว่า มียีนความสุข คือ 5-HTT
ความสัมพันธ์ทางสังคม
ศ. แผนกจิตเวชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดท่านหนึ่ง (George Eman Vaillant) สรุปงานศึกษาหนึ่งไว้ว่า อะไรในชีวิตเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการ "มีชีวิตอย่างประสบผลสำเร็จ" คือในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1940 นักวิชาการอีกท่านหนึ่งได้เริ่มงานศึกษาที่เลือกนักศึกษาของมหาวิทยาลัย 268 คนที่จบการศึกษาในปี 1942 1943 และ 1944 โดยพยายามระบุปัจจัยในชีวิตที่ส่งเสริมการ "มีชีวิตอย่างประสบผลสำเร็จ" ต่อมาในปี 1967 ศ. เวแลนท์จึงได้สืบต่อการศึกษานี้ โดยติดตามสัมภาษณ์สำรวจผลสำเร็จในชีวิตของศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเหล่านั้น และก็ได้สัมภาษณ์อีกในปี 2000 โดยพบว่า ปัจจัยที่สำคัญคือ สุขภาพ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด และวิธีการแก้ไขปัญหาของศิษย์เก่าเหล่านั้น ดังนั้น กุญแจสำคัญอย่างหนึ่งในการมีชีวิตที่สำเร็จผลที่ ศ. เวแลนท์ได้พบก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ดีและเข้มแข็ง
ส่วนงานศึกษาปี 2008 ที่มีชื่อเสียงที่พิมพ์ในวารสาร เดอะ บีเอ็มเจ รายงานว่าความสุขที่พบในเครือข่ายสังคม อาจสามารถแพร่กระจายจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกอีกคนหนึ่ง คือนักวิจัยได้ติดตามบุคคลจำนวน 5,000 คนเป็นเวลา 20 ปีโดยเป็นส่วนของงานศึกษาโรคหัวใจขนาดใหญ่ (Framingham Heart Study) แล้วพบว่า ทั้งความสุขและความทุกข์กระจายไปในบุคคลเป็นกลุ่ม ๆ โดยอาจจะกระจายจากบุคคลหนึ่งไปยังคนอีก 3 คนสืบต่อกัน โดยมักจะกระจายไปตามความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างเพื่อน พี่น้อง สามีภรรยา และเพื่อนบ้านติด ๆ กัน และนักวิจัยรายงานว่า ความสุขกระจายไปอย่างสม่ำเสมอกว่าความทุกข์ภายในเครือข่าย นอกจากนั้นแล้ว โครงสร้างของเครือข่ายสังคมปรากฏว่ามีอิทธิพลต่อความสุข คือ บุคคลที่อยู่กลางเครือข่าย (คือคนที่มีเพื่อน และเพื่อนของเพื่อนมาก) มีความสุขอย่างสำคัญมากกว่าคนที่อยู่ที่ขอบ ๆ บุคคลที่สนิทสนมกับคนอื่นมีโอกาสมากว่าที่จะมีความสุข ดังนั้น โดยทั่วไปแล้ว ผลงานศึกษาแสดงว่า ความสุขอาจจะกระจายไปในกลุ่มบุคคลได้เหมือนกับไวรัส การมีเพื่อนรักจะช่วยบรรเทาประสบการณ์ร้าย ๆ ในชีวิต เมื่ออยู่กับเพื่อนรัก ระดับฮอร์โมนความเครียดคือคอร์ติซอลจะลดลง และความรู้สึกว่าตนมีค่าจะสูงขึ้น
นักเศรษฐศาสตร์ประสาทคนหนึ่ง (Paul Zak) ศึกษาในเรื่องศีลธรรม ฮอร์โมน oxytocin และความไว้เนื่อเชื่อใจในบุคคลต่าง ๆ โดยอาศัยข้อมูลของงานศึกษา ผู้วิจัยแนะนำให้กอดคนอื่นบ่อยขึ้นเพื่อจะได้นิสัยไว้ใจผู้อื่น เขาอธิบายว่า "กอด 8 ครั้งต่อวัน (แล้ว) คุณจะมีความสุขขึ้น และโลกก็จะเป็นที่ที่ดีขึ้นด้วย" และงานศึกษาในปี 2012 ก็พบว่า ความเป็นที่ชื่นชอบของสมาชิกในกลุ่มสังคมที่พบกันตัวต่อตัว (sociometric status) เป็นเหตุสำคัญต่อความสุขที่วัดโดยการแจ้งความอยู่เป็นสุขของตนเอง (subjective well-being)
ภูมิอากาศ
มีหลักฐานบ้างว่าภูมิอากาศที่เห็นพระอาทิตย์มากกว่าไม่เป็นตัวพยากรณ์ความสุขที่ดี งานศึกษาหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งคนแคลิฟอร์เนียและคนรัฐทางทิศเหนือตอนกลางของประเทศ (Midwestern) คาดว่า คนแคลิฟอร์เนียจะมีความสุขกว่าเนื่องจากมีภูมิอากาศที่โปร่งใสกว่า แต่จริง ๆ แล้ว คนในเขตทั้งสองรายงานความสุขที่ไม่ได้แตกต่างกันอย่างสำคัญ ส่วนนักวิจัยอื่น ๆ กล่าวว่า การตากแดดอย่างน้อยที่สุดเพื่อสุขภาพต่อวันก็เพียงแค่ 30 นาที แต่ว่า นี่ไม่ได้หมายความว่า ภูมิอากาศจะไม่เป็นปัจจัยต่อความสุขโดยประการทั้งปวง เป็นไปได้ว่า การเปลี่ยนแปลงปกติของแสงอาทิตย์ก่อให้เกิดความซึมเศร้า (ที่เรียกว่า seasonal affective disorder) ซึ่งบั่นทอนความสุข
ศาสนา
ศาสนาและความเชื่อทางจิตวิญญาณเป็นเรื่องที่ใกล้เคียงกันแต่อาจเป็นประเด็นต่าง ๆ กัน คือ ศาสนาอาจจะเรียกได้ว่า เป็นระเบียบการปฏิบัติและความเชื่อตามวัฒนธรรมที่จัดตั้งเป็นระบบ และบ่อยครั้งจัดตั้งเป็นสถาบัน โดยมีเป้าหมายในเรื่องเกี่ยวกับการเกิดเป็นมนุษย์ และมักจะเกิดขึ้นในพื้นเพประเพณีต่าง ๆ เช่น สถาบันศาสนาต่าง ๆ ที่พบในประวัติศาสตร์
ส่วนความเชื่อทางจิตวิญญาณ (Spirituality) หมายถึงกระบวนการสืบหาความหมายและความเข้าใจเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับตนที่อยู่ในจักรวาลอันกว้างใหญ่ เป็นการสืบหาโดยบุคคลหรือโดยกลุ่มว่า อะไรควรเป็นสิ่งที่เคารพยำเกรงหรือเป็นสิ่งที่ให้ความหมายในชีวิต ดังนั้น บุคคลหนึ่งอาจจะเชื่อในศาสนาแต่ไม่เชื่อในเรื่องจิตวิญญาณ หรือว่า อาจจะเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณแต่ไม่เชื่อในเรื่องศาสนา
มักจะมีหลักฐานว่า ความเชื่อทางศาสนามีสหสัมพันธ์กับสุขภาพที่ดี ผู้ที่มีศรัทธาในศาสนามักจะมีความเป็นสุขทางใจที่ดีกว่า ทำผิดกฎหมายน้อยกว่า ติดเหล้าและยาน้อยกว่า และมีปัญหาทางสังคมอื่น ๆ น้อยกว่า มีปัจจัย 6 อย่างที่อ้างว่าเป็นเหตุของความอยู่เป็นสุขเพราะเหตุแห่งศาสนาคือ (1) ช่วยสร้างกลุ่มสังคม (2) อุปถัมภ์การใช้ชีวิตที่ถูกสุขภาพ (3) ส่งเสริมลักษณะทางบุคลิกภาพที่ประสานกันดี (4) อุปถัมภ์ความคิดสร้างสรรค์และการเห็นประโยชน์ของผู้อื่น (5) ให้กลยุทธ์ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ และ (6) ให้ความหมายและเป้าหมายในชีวิต
บุคคลที่เชื่อในศาสนาจำนวนมากประสบกับอารมณ์ที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกกับคนอื่น ๆ และช่วยให้สามารถแสดงค่านิยมและศักยภาพของตน ๆ รวมทั้ง (1) ความยินดีพอใจในสิ่งที่ตนได้รับหรือจะได้รับ (2) การให้อภัย (3) ความเมตตากรุณาและความเห็นใจผู้อื่น และ (4) ความถ่อมตนหรือการยอมรับตน: 235–252 การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเป็นส่วนของประสบการณ์ทางศาสนา ยังมีหลักฐานด้วยว่า ในคนไข้บาดเจ็บ ความเชื่อในศาสนาสัมพันธ์กับพฤติกรรมที่อำนวยความสัมพันธ์ทางสังคม และพฤติกรรมเช่นนั้นสัมพันธ์กับความอยู่เป็นสุข นอกจากนั้นแล้ว บุคคลที่มีกรรมพันธุ์ที่ทำให้ไวความรู้สึกทางสังคม จะอยู่เป็นสุขมากกว่าในสถานการณ์ที่ศาสนาให้ความสำคัญต่อความเกี่ยวพันกับบุคคลอื่น ๆ
ศาสนายังทำให้สามารถฟื้นตัวจากความเครียดได้ง่าย ทำให้รู้สึกว่าตนสามารถเข้าถึงศักยภาพของตน (self-actualization) ได้ดีขึ้น และก่อความสำเร็จในความสัมพันธ์แบบคู่ชีวิตและโดยเป็นพ่อแม่
ประโยชน์เหล่านี้ อาจเกิดขึ้นเนื่องจากเกี่ยวข้องกับศาสนามากขึ้น การมีกลุ่มสังคมที่มั่นคงน่าจะมีบทบาทสำคัญต่อผลดีของศาสนา การบำบัดทางจิตวิทยาอย่างหนึ่งใช้ศาสนาคริสต์เพื่อโปรโหมตสุขภาพทางใจที่ดีขึ้น
ส่วนในงานศึกษาอีกงานหนึ่งที่สอนแนวคิดทางพุทธศาสนากับผู้ที่ไม่ใช่คนพุทธ ปรากฏกว่าบุคคลเหล่านี้ได้คะแนนมากขึ้นในการยอมรับคนในกลุ่มอื่น ๆ และในการมีพฤติกรรมที่อำนวยความสัมพันธ์ทางสังคม และผลที่ว่านี้ไม่ใช่มีแต่ในประเทศตะวันตกเท่านั้น แต่ในที่ที่ศาสนาพุทธแพร่หลายด้วย ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ของศาสนาพุทธกับการยอมรับคนอื่น ๆ ที่ดีกว่า งานศึกษานี้ดูจะแสดงว่า เพียงแค่ได้ประสบกับระบบความเชื่อเช่นศาสนาพุทธสามารถให้เกิดผลดีในบุคคลที่ไม่ได้เชื่อในศาสนานั้นได้
แต่ว่า มีนักวิชาการจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยว่า ประโยชน์ที่พบเป็นผลจากความเชื่อทางศาสนา และบางท่านคิดว่าไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนเลยว่าความเชื่อมีประโยชน์อะไร ยกตัวอย่างเช่น ผลทางสุขภาพของผู้มีอายุที่ได้จากการไปโบสถ์ความจริงอาจจะเป็นเพียงเพราะตนสามารถไปโบสถ์ได้ เพราะว่า คนที่สุขภาพไม่ดีไม่สามารถออกไปนอกบ้านได้ งานวิเคราะห์อภิมานพบว่า งานวิจัยที่อ้างว่ามีประโยชน์ที่ได้จากความเชื่อในศาสนาบ่อยครั้งไม่ได้แสดงข้อมูลที่ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ โดยมีปัญหาต่าง ๆ เช่น ความเอนเอียงเนื่องจากการรายงานผลด้วยตนเอง (self-report bias) การใช้กลุ่มเปรียบเทียบที่ไม่สมควร และการมีกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นกลาง และก็มีการศึกษาอื่นที่คัดค้านการสวดมนต์เพื่อประโยชน์ทางสุขภาพแก่คนอื่น โดยแสดงว่า เมื่อใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์อย่างเคร่งครัด (เช่น โดยจัดคนไข้เข้ากลุ่มโดยสุ่ม และป้องกันไม่ให้คนไข้รู้ว่ามีคนสวดมนต์ให้ตนหรือไม่) หลักฐานก็จะแสดงว่าไม่มีผลอะไร
ดังนั้น จึงปรากฏว่าศาสนาเป็นสิ่งที่ช่วยประสานสังคม แต่ว่า ศาสนามีประโยชน์ในทุกเวลาทุกสถานการณ์หรือไม่ยังเป็นเรื่องที่ยังไม่มีคำยุติ และไม่ว่าจะเป็นความเชื่อเช่นไร แต่หลาย ๆ คนก็พบว่า การเป็นสมาชิกในกลุ่มที่ใกล้ชิดกันช่วยลดความวิตกกังวลและปัญหาทางจิตอื่น ๆ นอกจากนั้นแล้ว ยังอาจมีความเอนเอียงอย่างอื่นที่เกิดจากการเลือกตนเองของบุคคลที่เชื่อในเรื่องศาสนา ดังนั้น ประโยชน์ทางพฤติกรรมที่ปรากฏอาจจะเป็นลักษณะที่คล้าย ๆ กันในบุคคลที่เลือกหรือสามารถปฏิบัติตามคำสอนทางศาสนาได้ และดังนั้น การใช้คำสอนทางศาสนาโดยวิทยาศาสตร์เพื่อปรับปรุงตนให้มีความสุขขึ้นยังเป็นเรื่องที่ไม่ชัดเจน
ความเชื่อทางจิตวิญญาณ
มีคนหลายคนที่เรียกตนเองว่าเชื่อคำสอนทั้งทางศาสนาและทางจิตวิญญาณ แต่ความเชื่อทางจิตวิญญาณเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของศาสนา คือ "ความเชื่อทางจิตวิญญาณ (spirituality)" ตามการศึกษาทางจิตวิทยาเชิงบวก นิยามได้ว่าเป็น "การสืบหาสิ่งที่ควรเคารพ/สิ่งศักดิ์สิทธิ์" สิ่งศักดิ์สิทธิ์อาจจะเกี่ยวข้องกับพระเจ้า เกี่ยวกับชีวิต หรือเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการมีชีวิตอยู่ คือ ต้องมองว่าเป็นอะไรทางจิตวิญญาณที่อยู่นอกเหนือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
ความเป็นสุขทางจิตวิญญาณแก้ปัญหาความต้องการของมนุษย์ที่จะมีอุตรภาพ และเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคมและในการมีชีวิตอยู่ ความเป็นสุขทางจิตวิญญาณสัมพันธ์กับผลดีต่าง ๆ เช่น มีสุขภาพทางกายและทางจิตที่ดีกว่า วิตกกังวลน้อยกว่า เศร้าซึมน้อยกว่า เข้าถึงศักยภาพของตนได้ (self-actualization) มีความสัมพันธ์ที่ดีกับบิดามารดา มีลักษณะทางบุคลิกภาพที่ดีในระดับที่สูงกว่า และยอมรับความจริงได้ดีกว่า แต่นี่ไม่ใช่เป็นความสัมพันธ์แบบเป็นเหตุ งานวิจัยที่ศึกษาเรื่องความเชื่อทางจิตวิญญาพร้อมกับศีลธรรม (เช่น ความรัก ความเมตตา เป็นต้น) รายงานว่าผลที่พบของความเชื่อทางจิตวิญญาณ อธิบายโดยศีลธรรมได้ดีกว่า
การค้นหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยเป็นจุดมุ่งหมายส่วนตัว ปรากฏว่าสัมพันธ์กับการอยู่เป็นสุขในระดับสูงสุดเทียบกับการพยายามเพื่อจุดมุ่งหมายส่วนตัวอื่น ๆ การค้นหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยปรับปรุงความรู้สึกเกี่ยวกับตน สนับสนุนความสัมพันธ์กับผู้อื่น และสร้างความเป็นอันเดียวกันกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่เหนือตน นอกจากนั้นแล้ว งานศึกษาต่าง ๆ ยังแสดงว่า ความเชื่อทางจิตวิญญาณที่ผู้ตอบรายงานเองสัมพันธ์กับอัตราการตายและความเศร้าซึมที่ต่ำกว่า และอัตราความสุขที่สูงกว่า
ในปัจจุบัน งานวิจัยโดยมากเป็นเรื่องวิธีการที่ความเชื่อทางจิตวิญญาณสามารถช่วยในยามวิกฤติ และพบว่า ความเชื่อทางจิตวิญญาณจะดำรงความสม่ำเสมอแม้เมื่อบุคคลประสบกับเหตุการณ์ที่ทำให้บอบช้ำทางจิตใจหรือทำให้เกิดความเครียด เช่น อุบัติเหตุ สงคราม ความเจ็บป่วย หรือการเสียชีวิตของบุคคลที่รัก เมื่อประสบอุปสรรค บุคคลอาจจะหันไปใช้การสวดมนต์หรือการนั่งสมาธิ กลไกรับมือปัญหา (Coping) ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตวิญญาณรวมทั้งการอบรมจิตใจแบบพิจารณา การสร้างขอบเขตเพื่อที่จะดำรงรักษาไว้ซึ่งสิ่งที่ควรเคารพ/สิ่งศักดิ์สิทธิ์ การทำจิตใจให้บริสุทธิ์เพื่อกลับไปดำเนินตามทางที่ถูกต้อง และการสร้างกรอบทางจิตใจใหม่โดยมุ่งจะดำรงรักษาความเชื่อ การประยุกต์แนวคิดทางจิตวิญญาณและทางจิตวิทยาเชิงบวกก็คือ psychospiritual intervention (การแทรกแซงทางจิตวิญญาณ) ซึ่งเป็นแนวคิดว่า ความเชื่อทางจิตวิญญาณควรจะเพิ่มความอยู่เป็นสุข นักวิจัยพบว่า กลไกรับมือปัญหาที่มุ่งหมายจะดำรงรักษาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพิ่มความอยู่เป็นสุขและส่งบุคคลคืนไปยังสิ่งศักดิ์สิทธิ์
โดยทั่วไปแล้ว ความเชื่อทางจิตวิญญาณเป็นกระบวนการที่ดำเนินไปตลอดชีวิตรวมทั้งการสืบหา การดำรงรักษา และการพิจารณาใหม่ว่าอะไรเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเป็นกระบวนการที่เจาะจงเฉพาะบุคคล ๆ แต่ว่า ความเชื่อทางจิตวิญญาณก็พบว่าสัมพันธ์กับเหตุการณ์ร้ายและความเปลี่ยนแปลงเชิงลบอื่น ๆ ในชีวิตได้เหมือนกัน ดังนั้น แม้ว่าในปัจจุบันยังขาดงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องจิตวิญญาณอยู่ แต่ก็เป็นเรื่องจำเป็นเพราะสามารถช่วยปรับปรุงประสบการณ์ในชีวิตที่ควบคุมไม่ได้[]
วัฒนธรรม
วัฒนธรรมต่าง ๆ มีมุมมองเกี่ยวกับความเป็นอยู่ดีของมนุษย์ที่ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยในความระแวงเรื่องความสุข (aversion to happiness) หรือการกลัวความสุข แสดงว่า บุคคลบางคนหรือในบางวัฒนธรรมระแวงการมีความสุข เพราะเชื่อว่า ความสุขอาจเป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์ร้าย ๆหลักฐานเชิงประสบการณ์แสดงว่า มีความแตกต่างอย่างสำคัญว่าอะไรเป็นความเป็นอยู่ที่ดีระหว่างวัฒนธรรมชาวตะวันตกและวัฒนธรรมอื่น ๆ รวมทั้ง ของคนอิสลามและของคนเอเชียตะวันออก\ งานวิจัยปี 2014 ตรวจสอบมุมมองของวัฒนธรรมต่าง ๆ เกี่ยวความอยู่เป็นสุข แล้วระบุและอธิบายความแตกต่างกว้าง ๆ 6 อย่างระหว่างแนวคิดชาวตะวันตกและอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่วัฒนธรรมตะวันตกมักจะเน้นการปราศจากอารมณ์เชิงลบและอิสรภาพในการกำหนดว่าอะไรเป็นการอยู่เป็นสุขด้วยตนเอง วัฒนธรรมตะวันออกมักจะเน้นกิจกรรมทางศีลธรรมหรือทางศาสนา การเข้าถึงสภาวะที่เหนือตน (self-transcendence) และความกลมกลืนสามัคคีกันทางสังคม
นักวิจัยเชื้อสายคนเอเชียตะวันออกคู่หนึ่งที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียและมหาวิทยาลัยมินนิโซตาตรวจสอบความแตกต่างของความสุขในระดับสากล และมุมมองของวัฒนธรรมต่าง ๆ ว่าอะไรเป็นตัวสร้างความอยู่เป็นสุข (well-being) และความสุข (happiness) ในงานศึกษาหนึ่งที่ทำกับนักเรียนนักศึกษา 6,000 คนจาก 43 ประเทศเพื่อกำหนดความยินดีพอใจในชีวิตโดยเฉลี่ยโดยให้คะแนนระหว่าง 1-7 คนจีนมีคะแนนต่ำที่สุดที่ 3.3 และคนดัตช์ได้คะแนนสูงสุดที่ 5.4 และเมื่อถามว่าความเป็นอยู่ที่ดีตามที่รู้สึกเอง (subjective well-being) โดยอุดมคติควรจะอยู่ที่ระดับเท่าไร คนจีนให้คะแนนต่ำที่สุดที่ 4.5 และคนบราซิลสูงสุดที่ 6.2 โดยมีคะแนนระหว่าง 1-7 เช่นกัน งานศึกษาแสดงผลหลัก 3 อย่าง คือ (1) ผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่เน้นความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่เน้นค่านิยมทางสังคม มีความสุขมากกว่า (2) ลักษณะทางจิตที่มุ่งหมายบุคคลโดยเฉพาะ ๆ เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนตะวันตกมากกว่า (3) การประเมินระดับความสุขของตนขึ้นอยู่กับค่านิยมและประสบการณ์ที่ได้จากสังคม
ส่วนงานศึกษาอีกงานหนึ่งแสดงว่า คนอเมริกันเชื้อสายเอเชียและคนผิวขาวมีระดับการมองโลกในแง่ดี (optimism) คล้าย ๆ กัน แต่คนอเมริกันเชื้อสายเอเชียมีระดับการมองโลกในแง่ร้าย (pessimistic) มากกว่าคนผิวขาว แต่งานศึกษาไม่พบความแตกต่างของความซึมเศร้าในวัฒนธรรมต่าง ๆ และโดยเปรียบเทียบกันแล้ว การมองโลกในแง่ร้ายสัมพันธ์ในเชิงบวกกับพฤติกรรมการแก้ปัญหาในคนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย แต่สัมพันธ์ในเชิงลบสำหรับคนอเมริกันผิวขาว: 53
มุมมองทางการเมือง
นักจิตวิทยาที่ค้นคว้าเรื่องความสุขรู้สึกว่า ระบบการเมืองควรจะโปรโหมตความสุขของประชากร รัฐบาลควรที่จะพิจารณาระดับความสุขของประชากรในรุ่นต่อ ๆ ไป ควรดำเนินการในเรื่องการคาดหมายคงชีพ (expectancy) และควรพุ่งความสนใจไปที่การลดระดับความทุกข์ของประชาชน อาศัยการศึกษาจุดยืนทางการเมือง งานวิจัยบางงานอ้างว่า คนอนุรักษนิยมโดยทั่วไปมีความสุขกว่าคนเสรีนิยม โดยให้คำอธิบายที่อาจเป็นไปได้ว่า การยอมรับความแตกต่างกันในเรื่องรายได้ในสังคมได้ทำให้เป็นคนวิตกกังวลน้อยกว่า รองศาสตราจารย์ทางจิตวิทยาคนหนึ่งกล่าวว่า การมีมุมมองทางการเมืองที่ชัดเจนเป็นเรื่องสำคัญเพราะว่า เป็นมุมมองทางโลกอย่างหนึ่ง โดยนัยเดียวกันกับมุมมองทางศาสนา ที่สามารถช่วยให้รับมือกับความวิตกกังวลในเรื่องความตาย (death anxiety)
การติด
สามารถพูดได้ว่า คนบางพวกทำอะไรง่าย ๆ แต่ไม่สมควรเพื่อที่จะรู้สึกดี ความรู้สึกดีนั้นเป็นปัญหาส่วนหนึ่งก็เพราะว่า ไม่ต้องพยายามทำอะไรอย่างอื่น สิ่งที่ไม่สมควรก็อย่างเช่น ช็อปปิ้ง ยาเสพติด ช็อกโกแลต การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ประกอบไปด้วยความรัก และการดูโทรทัศน์ ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่สามารถเป็นปัญหาเพราะทำให้ติดได้ คือ เมื่อความสุขมาได้ง่าย ๆ ความจริงมันอาจจะมาพร้อมกับราคาที่เรายังไม่รู้ และจะปรากฏขึ้นก็ต่อเมื่อวิธีการเดียวที่จะมีความสุขได้ก็โดยการทำสิ่งเหล่านั้น ซึ่งบางครั้งเรียกได้ว่าเป็นการติด งานทบทวนวรรณกรรมในปี 2012 เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ผลงานวิจัยจากจิตวิทยาเชิงบวกเพื่อแก้ปัญหายาเสพติดและสิ่งเสพติดอื่น ๆ ระบุปัจจัย 3 อย่างที่ช่วยให้บุคคลสามารถเจริญงอกงามและทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้
ปัจจัยอย่างที่หนึ่ง ก็คือ ชีวิตที่สบายใจ (Pleasant Life) หมายถึงการมีความรู้สึกที่ดีเกี่ยวกับชีวิตในอดีต ในปัจจุบัน และในอนาคต เพื่อที่จะยกตัวอย่าง นักวิจัยได้กล่าวถึงประเด็นนี้ร่วมกับการเสพสารเสพติดคือเหล้า งานวิจัยแสดงว่า ชาวตะวันตกโดยมากสัมพันธ์การดื่มเหล้ากับความสุข แต่ว่าความสุขที่ได้จากการดื่มเหล้าเป็นความสุขทางกายที่เกิดขึ้นทันทีแต่อยู่ได้ไม่นาน ดังนั้น นักวิจัยต้องการชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ความรู้สึกดี ๆ อย่างเดียวไม่ได้หมายถึงการมีชีวิตที่ดี เพราะมีอะไรที่ยิ่งกว่านั้น
ปัจจัยที่สองก็คือ การมีชีวิตที่ไม่อยู่ว่าง (Engaged Life) เพราะสัมพันธ์กับลักษณะเชิงบวกต่าง ๆ ของบุคคล เช่นความแข็งแกร่งทางจิตใจ (character strength) ศ. เซลิกแมนได้ให้ตัวอย่างของความแข็งแกร่งทางจิตใจรวมทั้ง ความกล้าหาญ ความซื่อตรง ความเป็นพลเมืองดี ความถ่อมตน ความรอบคอบระมัดระวัง ความยินดีพอใจในสิ่งที่มีที่ได้ และความหวัง ซึ่งล้วนแต่เป็นลักษณะที่มีระดับสูงขึ้นเมื่อฟื้นตัวจากภาวะเสพติด การตกลงสู่ภาวะการติด (สารเสพติดหรืออื่น ๆ) เป็นการแสดงความไม่แข็งแกร่งทางจิตใจ แต่ว่า เมื่อกำลังดำเนินการเพื่อให้พ้นจากภาวะเสพติดเช่นนั้น ลักษณะที่ว่านั้น ๆ จะเพิ่มขึ้น
ปัจจัยที่สามก็คือ การมีชีวิตที่มีความหมาย (Meaningful Life) คือการทำงานอุทิศให้ และการเป็นสมาชิกขององค์กร/สถาบันที่ส่งเสริมลักษณะจิตเชิงบวก รวมทั้งครอบครัว ที่ทำงาน กลุ่มสังคม และสังคมโดยทั่วไป สมาชิกในกลุ่มเหล่านั้นจะเสริมสร้างให้มีอารมณ์เชิงบวก โปรโหมตความแข็งแกร่งทางจิตใจ ซึ่งสามารถช่วยทำให้พ้นจากสิ่งเสพติดได้
ความทุกข์
นอกจากนั้นแล้ว นักวิจัยที่สนใจในเรื่องการป้องกันพบว่า ความแข็งแกร่งทางจิตใจจะช่วยป้องกันโรคจิต
ความแข็งแกร่งที่เป็นเครื่องกันที่ดีรวมทั้ง ความกล้าหาญ การใส่ใจในอนาคต การมองโลกในแง่ดี ศรัทธาความเชื่อมั่น ความเชื่อในการทำกิจการงาน ความหวัง ความซื่อสัตย์ ความอุตสาหะ และสมรรถภาพในการสร้าง flow (คือประกอบกิจการงานด้วยสภาพทางใจที่มีสมาธิ ด้วยความยินดีพอใจ) และในการมองอะไรอย่างทะลุปรุโปร่งความเป็นทุกข์อาจจะเป็นตัวชี้ว่ายังมีพฤติกรรมที่ต้องเปลี่ยน หรือมีแนวคิดหรือไอเดียที่จำต้องใส่ใจและพิจารณาใหม่ โดยทั่วไปแล้ว นักจิตวิทยาเข้าใจว่า ความทุกข์ไม่สามารถกำจัดได้โดยสิ้นเชิง แต่ว่ามันเป็นไปได้ที่จะบริหารและลดความทุกข์ ศูนย์จิตวิทยาเชิงบวกของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียอธิบายว่า "จุดมุ่งหมายของจิตวิทยาเพื่อที่จะแก้ปัญหาของมนุษย์เป็นเรื่องที่เข้าใจได้และเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะละทิ้งอย่างแน่นอน (เพราะว่า) ความทุกข์ของมนุษย์เรียกร้องให้มีทางออกที่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ แต่ว่า ทั้งความทุกข์และความอยู่เป็นสุข ทั้งสองเป็นส่วนของมนุษย์ และนักจิตวิทยาควรจะใส่ใจในเรื่องทั้งสอง" จิตวิทยาเชิงบวกซึ่งเป็นศาสตร์ที่ได้แรงจูงใจจากหลักฐานเชิงประสบการณ์ พุ่งความสนใจไปที่วิธีการแก้ปัญหาความทุกข์ที่ให้ผลดี และในการสร้างความแข็งแกร่งและศีลธรรมเพื่อลดระดับความทุกข์ให้ต่ำที่สุด
เมื่อกล่าวถึงวาทะในพุทธศาสนาว่า "ชีวิตเป็นทุกข์" นักวิจัยและนักจิตวิทยาคลินิก ดร. จอร์แดน ปีเตอร์สัน เสนอว่า มุมมองนี้เป็นความจริง ไม่ใช่เป็นการมองโลกในแง่ร้าย แต่ว่าการยอมรับความจริงว่าชีวิตนั้นยากลำบาก จะให้อิสรภาพจากความคาดหวังที่ไม่สามารถเป็นจริงว่า บุคคลจะต้องสุขอยู่ตลอด ความเข้าใจเยี่ยงนี้จะช่วยบริหารความทุกข์ที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน สำหรับ ดร. ปีเตอร์สัน ศีลธรรมเป็นเรื่องสำคัญเพราะว่าเป็นอุปกรณ์สำคัญในการช่วยให้หลีกพ้นจากทุกข์ (คือ เป็นกำลังที่จะยอมรับความจริงที่ไม่ถูกใจ) ดร. ปีเตอร์สันยืนยันว่า ความทุกข์จะหนักขึ้นเพราะมีปรัชญาที่ไม่ตรงกับความจริง
โดยนัยเดียวกัน ดร. เซลิกแมนเชื่อว่า จิตวิทยาเชิงบวกไม่ใช่เรื่องฟุ้งเฟ้อ โดยกล่าวว่า "จิตวิทยาเชิงบวกโดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องสำหรับเราทุกคน ไม่ว่าจะมีปัญหาหรือไม่ จะเป็นคนอภิสิทธิ์หรือไม่ เป็นคนกำลังทุกข์หรือไม่ ความสุขที่ได้จากการสนทนาที่ดี, ความยินดีพอใจ (ในสิ่งที่มีอยู่สิ่งที่ได้) อย่างมีกำลัง, การได้ประโยชน์จากความเมตตา หรือปัญญา หรือความเชื่อทางจิตวิญญาณ หรือความถ่อมตน, การสืบหาความหมายในชีวิตและยาถอนพิษจากสถานการณ์ที่เป็น "การอยู่ไม่เป็นสุขจนกระทั่งตาย" เป็นสิทธิโดยกำเนิดสำหรับเราทุกคน"
การรับมือปัญหาเชิงบวก (Positive coping) ได้รับนิยามว่า "การตอบสนองที่มีเป้าหมายในการลดภาระทางกาย ทางอารมณ์ และทางจิต ที่เชื่อมกับเหตุการณ์เครียดในชีวิตและความยุ่งยากในชีวิตประจำวัน" มีงานวิจัยที่แสดงว่า กลยุทธ์ที่เหมาะสมในการรับมือกับปัญหาจะช่วยลดความเครียดในทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยสร้างทรัพยากรที่ช่วยระงับหรือบรรเทาปัญหาในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรทางกาย ทางจิตใจ หรือทางสังคม
การเปลี่ยนแปลงของระดับความสุข
มนุษย์มีสมรรถภาพหลายอย่าง รวมทั้งการปรับตัวต่อสุขารมณ์ (Hedonic Adaptation) ซึ่งเป็นแนวคิดว่า ความสวยงาม ชื่อเสียง และเงินทองโดยทั่วไปไม่มีผลที่คงยืนต่อความสุข (และบางครั้งเรียกว่า Hedonic treadmill) ตามแนวคิดนี้ งานวิจัยบางอย่างเสนอว่า เหตุการณ์เร็ว ๆ นี้เท่านั้น คือที่เกิดขึ้นภายใน 3 เดือนที่ผ่านมา มีผลต่อระดับความสุข ความโน้มเอียงที่จะปรับตัว คือการคืนสู่ระดับความสุขที่เคยมีมาก่อน เห็นได้จากงานศึกษาที่แสดงว่า คนถูกรางวัลล็อตเตอรี่ไม่ได้มีความสุขในปีต่อ ๆ มาหลังจากถูกรางวัล มีงานศึกษาที่แสดงว่าคนที่เป็นอัมพาตครึ่งล่าง เกือบจะมีความสุขเท่ากับกลุ่มควบคุมที่ปกติ: 48 หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ 2-3 ปีต่อมา โดยนักจิตวิทยาผู้ได้รับรางวัลโนเบล ดร. แดเนียล คาฮ์นะมันอธิบายว่า "พวกเขาไม่ใช่คนเป็นอัมพาตตลอดเวลา... (คือ) มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใส่ใจ" ดังนั้น ตรงข้ามกับอคติของเราที่คิดว่าเหตุการณ์บางอย่างจะมีผลต่อความเป็นสุขของเราอย่างยาวนานเกินความจริง (impact bias) การถูกรางวัลล็อตเตอรี่หรือการเป็นอัมพาตครึ่งล่างไม่ได้เปลี่ยนแปลงประสบการณ์ของตนในระดับที่เราเชื่อ
แต่ว่า การปรับตัวอาจจะเป็นกระบวนการที่ช้าและไม่สมบูรณ์ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในชีวิต เช่น ความตายของคู่ชีวิต หรือการสูญเสียงาน สามารถมีผลต่อระดับความสุขเป็นระยะเวลาหลายปี และแม้แต่คนเป็นอัมพาตครึ่งล่าง "ที่ปรับตัวแล้ว" ดังที่กล่าวมาแล้วความจริงก็ยังรายงานระดับความสุขที่ต่ำกว่าคนอื่น ๆ (แม้ว่า จะสุขมากกว่าที่เราคิด แต่ก็ไม่เท่ากับคนอื่น) ดังนั้น การปรับตัวจึงเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน และแม้ว่ามันจะบรรเทาผลทางอารมณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต แต่มันก็ไม่ได้กำจัดผลอารมณ์เหล่านั้นทั้งหมด
ขีดตั้งความสุข
แนวคิดเกี่ยวกับขีดตั้งความสุข (happiness set point) ก็คือว่า คนโดยมากกลับคืนไปที่ระดับความสุขเฉลี่ย หรือขีดตั้งความนสุข หลังจากมีความสุขเพิ่มขึ้นหรือลดลง คนที่มีขีดตั้งไปทางอารมณ์เชิงบวกจะเป็นคนที่ร่าเริงโดยมาก และคนที่มีขีดตั้งไปในทางลบมักจะโน้มเอียงไปทางมองโลกในแง่ร้ายและความวิตกกังวล นักจิตวิทยาท่านหนึ่งพบว่า เราสามารถมีอิทธิพลต่อระดับการอยู่เป็นสุขโดยสร้างสิ่งแวดล้อมที่ก่อความสุขได้ง่าย เหตุผลที่ความรู้สึกอยู่เป็นสุขเสถียรโดยมากก็เพราะอิทธิพลอันยิ่งใหญ่ของพันธุกรรม แม้ว่า เหตุการณ์ในชีวิตจะมีผลต่อความรู้สึกอยู่เป็นสุข คนโดยทั่วไปจะกลับไปสู่ที่ขีดตั้งความสุขของตน: 189
งานวิจัยหนึ่งพบว่า 24% ของผู้ร่วมงานวิจัยเปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญในช่วง 5 ปีแรก และ 5 ปีหลังของงาน คือ คนประมาณ 1/4 มีความอยู่เป็นสุขในช่วงเวลาหลายปีเปลี่ยนแปลงไป และบางครั้งความเปลี่ยนแปลงนั้นเหมือนกับอย่างละคร ส่วนอีกงานหนึ่งพบว่า คนประมาณ 5-6% เพิ่มความยินดีพอใจในชีวิตอย่างสำคัญในช่วง 15-20 ปี และสิ่งที่บุคคลตั้งเป้าหมายทำ มีผลอย่างสำคัญต่อความยินดีพอใจในชีวิต
เป้าหมายต่าง ๆ ในชีวิตสามารถจัดกลุ่มโดยประมาณได้เป็น 2 อย่าง ที่อาจเรียกว่า เป็นเป้าหมายที่ต้องแพ้ชนะ (zero-sum goal) และเป้าหมายที่หลายคนได้ประโยชน์ การมีเป้าหมายที่หลายคนได้ประโยชน์สัมพันธ์กับความยินดีพอใจในชีวิต รวมการให้เวลากับครอบครัว เพื่อนฝูง ทำงานทางสังคมหรือการเมือง และการทำกิจเพื่อประโยชน์ผู้อื่น นี่เป็นเป้าหมายที่คนที่ทำและคนอื่น ๆ ทั้งสองได้ประโยชน์ ส่วนเป้าหมายที่ต้องแพ้ชนะหมายถึงคนที่ทำได้ประโยชน์โดยผู้อื่นเสียประโยชน์ แต่เป้าหมายเช่นนี้ไม่ได้โปรโหมตความยินดีพอใจในชีวิต
ศาสตราจารย์จิตวิทยาท่านหนึ่งที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียอ้างอาศัยงานวิจัยของตนอย่างคล้าย ๆ กันว่า ความสุขของบุคคลหนึ่ง ๆ เปลี่ยนแปลงไปรอบ ๆ ขีดตั้งที่เป็นไปตามกรรมพันธุ์ แต่ก็มีนักวิชาการอีกผู้หนึ่งที่เตือนว่า เป็นเรื่องเหลวไหลที่จะกล่าวง่าย ๆ ว่า "กรรมพันธุ์มีอิทธิพล 30-50% ต่อความสุข" โดยอธิบายว่า ความสุขของบุคคลต้องอาศัยทั้งกรรมพันธุ์ สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรม ดังนั้น จึงเป็นเรื่องเหลวไหลที่จะอ้างว่า ความสุขของบุคคลมาจากปัจจัยเดียวเพียงเท่านั้น ความแตกต่างระหว่างปัจจัยแสดงความแตกต่างของความสุขระหว่างบุคคลเท่านั้น ดังนั้น งานวิจัยที่ว่าจึงไม่ได้กล่าวถึงความสุขของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างความสุขของบุคคลสองคนหรือมากกว่านั้น โดยเฉพาะก็คือ ผู้ทำงานวิจัยเสนอว่า 30-40% ของความแตกต่างระหว่างความสุขของบุคคลสองคนหรือมากกว่านั้นมาจากกรรมพันธุ์ (คือสามารถสืบต่อมาจากพ่อหรือแม่ได้)
กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ มันไม่ถูกต้องที่จะกล่าวว่า ความสุขของคน ๆ หนึ่ง "50% มากจากกรรมพันธุ์" แต่ว่า ถูกต้องที่จะกล่าวว่า ความแตกต่างของความสุขระหว่างบุคคล 50% มาจากความแตกต่างทางกรรมพันธุ์ (และที่เหลือจากพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม) มีงานศึกษากับแฝดที่สนับสนุนทฤษฎีที่ว่านี้ คือ แฝดที่แยกเลี้ยงต่างหาก ๆ มีความสุขเกือบเท่าเทียมกัน ซึ่งแสดงว่า สิ่งแวดล้อมไม่ใช่ปัจจัยเดียวของความสุข แต่ว่าสำคัญมากว่า ความสุขระดับพื้นฐานของบุคคลไม่ได้กำหนด "ทั้งหมด" โดยกรรมพันธุ์ และไม่ได้กำหนดโดยแม้ชีวิตในเบื้องต้นสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์ บุคคลจะสามารถเพิ่มระดับพื้นฐานของความสุขสู่ระดับที่เป็นไปได้ทางกรรมพันธุ์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างรวมทั้งพฤติกรรมและนิสัย นิสัยที่ช่วยเสริมความสุขรวมทั้งความยินดีพอใจสิ่งที่มีที่ได้ ความสำนึกคุณ และแม้แต่พฤติกรรมที่ช่วยผู้อื่น มีนิสัยและเทคนิคที่เพิ่มความสุขอื่น ๆ ตามผลงานวิจัยที่กล่าวอยู่ในบทความนี้
นอกจากการสร้างนิสัยใหม่แล้ว การใช้ยาแก้ความซึมเศร้า การออกกำลังกายที่มีประสิทธิผล และการรับประทานอาหารที่ถูกสุขภาพ มีหลักฐานว่ามีอิทธิพลต่ออารมณ์ความรู้สึก จริง ๆ แล้ว การออกกำลังกายมีประโยชน์หลายอย่างมาก จนสามารถเรียกได้ว่าเป็นยามหัศจรรย์หรือยาปาฏิหาริย์ แต่ว่า ก็ควรจะกล่าวถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่พิมพ์ในปี 2553 ด้วยที่คัดค้านการใช้ยาทางจิตเวชอย่างไม่เฉพาะเจาะจงต่อคนไข้โรคจิต โดยเฉพาะผลป้อนกลับระยะยาวที่เพิ่มสภาวะโรคจิตของคนไข้
ทฤษฎี
ทั่วไป (PERMA)
มีนักวิจัยทางจิตวิทยาเชิงบวกที่กล่าวถึงประเด็นการศึกษาใหญ่ ๆ 3 ประเด็นที่คาบเกี่ยวกัน: 275 คือ
- งานวิจัยในเรื่อง "ชีวิตที่สบายใจ (Pleasant Life)" หรือ "ชีวิตที่เพลิดเพลิน (life of enjoyment)" ตรวจสอบว่าคนสามารถประสบ พยากรณ์ และเพิ่มรสชาติของความรู้สึกและอารมณ์เชิงบวกที่เป็นส่วนของชีวิตที่ปกติและดีได้อย่างไร (เช่นในเรื่องความสัมพันธ์กับคนอื่น กิจกรรมยามว่าง ความสนใจ การบันเทิง เป็นต้น) แต่ว่าแม้จะมีความสนใจในเรื่องนี้มาก ศ. เซลิกแมนกล่าวว่า ส่วนของความสุขที่เป็นเพียงเรื่องชั่วครู่ชั่วยามนี้อาจจะเป็นเรื่องสำคัญน้อยที่สุด
- การตรวจสอบประโยชน์ของความจดจ่อ (เช่น flow) ที่บุคคลมีเมื่อกำลังทำกิจกรรมหลัก ๆ ของตนอยู่ นี่เป็นการศึกษาเกี่ยวกับ "ชีวิตที่ดี" หรือ "ชีวิตที่ไม่อยู่ว่าง" flow (การประกอบกิจการงานด้วยสภาพทางใจที่มีสมาธิ ด้วยความยินดีพอใจ) อาจมีเมื่อจับคู่จุดแข็งของบุคคลหนึ่ง ๆ กับงานที่ทำ คือ เมื่อบุคคลรู้สึกมั่นใจว่าจะทำงานที่เลือกหรือจัดให้ได้อย่างสำเร็จ
- การศึกษาในเรื่อง "ชีวิตที่มีความหมาย (Meaningful Life)" หรือชีวิตที่มีส่วนเป็นสมาชิก (life of affiliation) ตรวจสอบว่า บุคคลสามารถได้ความรู้สึกอยู่เป็นสุข ว่ามีส่วน ว่ามีความหมาย และมีเป้าหมายโดยตนเป็นส่วนหนึ่งทีสร้างส่งเสริมอะไรบางอย่างที่ใหญ่กว่าและคงยืนกว่ายิ่งกว่าตน (เช่น เกี่ยวกับธรรมชาติ กลุ่มสังคม องค์กร ขบวนการ ประเพณี หรือระบบความเชื่อ) ได้อย่างไร
แต่ว่า หมวดหมู่เหล่านี้ไม่มีทั้งการคัดค้านหรือการยอมรับอย่างกว้างขวางโดยนักวิจัยในช่วง 12 ปี ที่สาขาวิชาการนี้ได้เกิดขึ้น และแม้ว่า ศ. เซลิกแมนจะได้เสนอหมวดหมู่ทั้ง 3 นี้ แต่ว่าตั้งแต่นั้นเขาได้แนะนำว่า หมวดหมู่สุดท้ายคือ "ชีวิตที่มีความหมาย" ควรแบ่งออกเป็นอีก 3 หมวดหมู่ ดังนั้นตัวย่อที่กำหนดทฤษฎีความอยู่เป็นสุขของ ศ. เซลิกแมนก็คือ PERMA ซึ่งมาจากคำว่า "Positive Emotions (อารมณ์เชิงบวก)" "Engagement (การอยู่ไม่ว่าง)" "Relationships (ความสัมพันธ์กับผู้อื่น)" "Meaning and purpose (ความหมายและเป้าหมาย)" และ "Accomplishments (ความสำเร็จ)"
อารมณ์เชิงบวก (Positive emotions) เป็นความรู้สึกหลายอย่างไม่ใช่เพียงความสุขและความเพลิดเพลิน (joy) ยังรวมอารมณ์อื่น ๆ อีกเช่น ความตื่นเต้น ความพอใจ ความภูมิใจ และความอัศจรรย์ใจ ซึ่งมองว่าเป็นอารมณ์ที่มีผลดี เช่น ให้มีอายุยืนและมีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดี
การมีชีวิตที่ไม่ว่าง (Engagement) หมายถึงการร่วมกิจกรรมที่ดึงดูดและเสริมสร้างความสนใจของตน นักจิตวิทยาผู้หนึ่งอธิบายการมีชีวิตที่ไม่ว่างว่าเป็น flow เป็นความรู้สึกที่แรงกล้าที่นำไปสู่ความปิติยินดีและความกระจ่าง สิ่งที่กำลังจะทำต้องใช้ทักษะความสามารถที่สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป ยากและเป็นความท้าทาย แต่ว่า ยังเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ การมีชีวิตที่ไม่ว่างหมายเอาความชอบใจและสมาธิที่มีในงานที่กำลังจะทำ และระดับจะวัดโดยให้ผู้ทำรายงานเองว่า มีสมาธิในงานที่ทำ จนกระทั่งไร้ความรู้สึกเขินตนเอง (self-consciousness) หรือไม่
ความสัมพันธ์กับคนอื่น (Relationships) เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการสร้างอารมณ์เชิงบวกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับอาชีพการงาน ครอบครัว คู่ชีวิต และความสัมพันธ์แบบอื่น ๆ ดังที่บิดาของจิตวิทยาเชิงบวกอีกคนหนึ่ง คือ ศ. ดร. คริสโตเฟอร์ ปีเตอร์สัน ได้กล่าวไว้อย่างง่าย ๆ ว่า "คนอื่นสำคัญ" เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่รับ แชร์ และกระจายความรู้สึกดี ๆ ไปให้คนอื่นผ่านความสัมพันธ์ต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่ว่าจะสำคัญเมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายในชีวิตเท่านั้น แต่แม้ในช่วงที่สุขก็สำคัญด้วย และจริง ๆ แล้ว ความสัมพันธ์สามารถเพิ่มกำลังเมื่อตอบสนองต่อกันและกันในเชิงบวก มันเป็นเรื่องปกติว่า สิ่งดี ๆ ในชีวิตจะเกิดขึ้นเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น
"ความหมาย" (Meaning) หรือที่รู้จักกันว่าเป้าหมาย เป็นตัวให้เกิดคำถามว่า "ทำไม" และการค้นหาและค้นพบว่า "ทำไม" ที่ชัดเจน สามารถเป็นโครงสร้างชีวิตตั้งแต่ในเรื่องอาชีพการงาน ความสัมพันธ์กับคนอื่น และด้านอื่น ๆ การค้นหาความหมายหมายถึงการเรียนรู้ว่ามีอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าตน และแม้ว่าอาจจะมีอุปสรรคในระหว่าง ๆ การมีความหมายช่วยให้บุคคลพยายามทำตามเป้าหมายให้ได้
ความสำเร็จ (Accomplishments) เป็นการสร้างความสำเร็จและความเชี่ยวชาญ แต่โดยไม่เหมือนส่วนอื่น ๆ ของ PERMA การสืบหาควรจะทำแม้ว่าจะไม่มีผลเป็นอารมณ์ ความหมาย หรือความสัมพันธ์เชิงบวกอื่น ๆ แต่ว่าเป็นส่วนที่สามารถช่วยทำส่วนอื่น ๆ ของ PERMA เช่น ความภูมิใจ ให้สำเร็จผล ความสำเร็จอาจจะเป็นส่วนบุคคล เป็นส่วนของชุมชน เป็นกิจยามว่าง หรือเป็นเรื่องการงานอาชีพ
ปัจจัย 5 อย่างของ PERMA มีเกณฑ์คัดเลือกดังต่อไปนี้ คือ
- มีส่วนช่วยให้เกิดความอยู่ดีมีสุข
- เป็นสิ่งที่บุคคลมักจะพยายามสืบหาเพราะเหตุของมันเอง
- สามารถกำหนดและวัดได้โดยเป็นอิสระจากปัจจัยอื่น ๆ
PERMA ไม่ใช่แค่สามารถมีบทบาทในชีวิตของแต่ละบุคคล แต่สามารถใช้รายงานข่าวที่ดัง ๆ โดยใช้แนวคิดนี้ นักข่าวสามารถให้ความสนใจกับข่าวในเชิงบวก เช่น โดยยกประเด็นว่า ความขัดแย้งหรือแม้แต่เหตุการณ์ร้าย ๆ สามารถดึงชุมชนให้สามัคคีกันได้อย่างไร คนที่ประสบเหตุการณ์ร้ายสามารถเรียนรู้และกลายเป็นบุคคลที่เจริญขึ้นได้อย่างไร ข่าวสามารถเปลี่ยนมุมมองจากการหาเหยื่อมาเป็นการยกระดับจิตใจ PERMA สามารถช่วยนักข่าวให้หาโจทย์ที่ช่วยเสริมสร้าง โดยเปลี่ยนจุดสนใจไปในสิ่งที่ร้ายมาเป็นสิ่งที่ดี ๆ และทางออกต่อปัญหา
ทฤษฎี broaden-and-build (ขยายและสร้างความตระหนักรู้) ในจิตวิทยาเชิงบวกเสนอว่า อารมณ์เชิงบวก (เช่น ความสุข ความสนใจ หรือความคาดหวัง) สามารถขยายความตระหนักรู้ และช่วยส่งเสริมความคิดและพฤติกรรมใหม่ ๆ ที่แตกต่าง ที่เป็นแบบสืบเสาะ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นเป็นระยะเวลายาวนาน จะเป็นการสั่งสมพฤติกรรมใหม่ ๆ และสร้างทักษะและทรัพยากร (ทางกายและใจ) ยกตัวอย่างเช่น ความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับภูมิประเทศสามารถกลายเป็นความรู้เกี่ยวกับหนทางที่มีค่า การปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนแปลกหน้าสามารถสร้างมิตรที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การละเล่นที่ไม่มีความหมายสามารถกลายเป็นกระบวนการออกกำลังกายและร่างกายที่แข็งแรง ในทฤษฎีนี้ อารมณ์เชิงบวกยกมาเปรียบเทียบกับอารมณ์เชิงลบ ซึ่งยังพฤติกรรมแบบเอาตัวรอดที่คับแคบให้เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น อารมณ์เชิงลบเช่นความวิตกกังวลอาจนำไปสู่ปฏิกิริยาแบบสู้หรือหนี (fight-or-flight response) ที่เป็นไปเพื่อความอยู่รอดในเรื่องที่กำลังเผชิญหน้า
ศ.ดร.ฟิลิป ซิมบาร์โด ที่มีชื่อเสียงในเรื่องการทดลองเรือนจำสแตนฟอร์ด เสนอว่าเราสามารถวิเคราะห์ความสุขโดยมุมมองทางเวลา (Time Perspective) คือเสนอว่า ให้เราจัดความสนใจในชีวิตของบุคคลโดยขั้ว (ว่าเป็นแบบบวกหรือลบ) และตามกาลเวลา (ว่ามุ่งอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต) การทำอย่างนี้อาจแสดงความขัดแย้งในบุคคล แต่ไม่ใช่ในเรื่องว่าเพลิดเพลินกับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งหรือไม่ แต่ในเรื่องว่าบุคคลชอบใจในการผ่อนผันการหาความสุขในปัจจุบันเพื่อความสุขในอนาคตหรือไม่ ดร. ซิมบาร์โดเชื่อว่า งานวิจัยได้แสดงจุดสมดุลที่ดีที่สุดเกี่ยวกับกาลเวลาเพื่อจะมีชีวิตที่มีความสุข คือ ความสนใจในการประสบเหตุการณ์เชิงบวกในอดีตอีกควรจะอยู่ในระดับสูง ตามด้วยความรู้สึกว่าจะได้ประสบการณ์ที่ดีในอนาคต และควรจะใช้เวลาพอสมควร (แต่ไม่มากเกินไป) เพื่อที่จะเพลิดเพลินยินดีในเหตุการณ์ปัจจุบัน
แม้ว่าหมวดหมู่ที่เสนอของ ศ. เซลิกแมน จะยังคลุมเครือ งานวิจัยที่จะพูดถึงต่อไปจัดตามหมวดหมู่นั้นโดยคร่าว ๆ (คือ ชีวิตที่สบายใจ ที่ดี และที่มีความหมาย) แต่ว่า งานวิจัยที่จัดอยู่ในหมวดหมู่หนึ่งอาจจะเข้าประเด็นกับหมวดหมู่อื่น ๆ ด้วย
ชีวิตที่สบายใจ
ศ.ดร. อับราฮัม มาสโลว์ ได้เสนอทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ ขั้นแรก บุคคลจำเป็นต้องได้ปัจจัยพื้นฐาน (เช่น ความปลอดภัยทางกายและใจ) ก่อนที่จะได้ปัจจัยทางสังคมอื่น ๆ (เช่น การมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้อื่น) ต่อมา จึงจะสามารถแสวงหาปัจจัยที่เป็นนามธรรมอื่น ๆ (เช่น ศีลธรรมและการถึงศักยภาพของตน [self-actualization])
หลักฐานแสดงว่า อารมณ์เชิงลบสามารถก่อความเสียหายได้ ในงานวิจัยปี 2000 นักจิตวิทยาผู้หนึ่ง ตั้งสมมติฐานว่า อารมณ์เชิงบวกสามารถแก้ปัญหาทางหลอดเลือดหัวใจของอารมณ์เชิงลบได้ คือ เมื่อเครียด อัตราการเต้นหัวใจจะสูงขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้น ภูมิคุ้มกันจะต่ำ และมีการปรับตัวอื่น ๆ ที่ช่วยส่งเสริมให้ทำอะไรได้อย่างทันทีทันควัน แต่ว่าถ้าไม่ควบคุมให้ดี การมีสภาพตื่นตัวทางกายเช่นนี้สามารถนำไปสู่โรค เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและอัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้น ทั้งผลงานวิจัยที่ทำในแล็บและงานสำรวจให้หลักฐานว่า อารมณ์เชิงบวกช่วยคนเครียดให้กลับคืนมีสุขภาพทางกายที่ดีกว่าดังที่เคยมีมาก่อน ส่วนงานวิจัยอื่น ๆ พบว่า พื้นอารมณ์ที่ดีเป็นประโยชน์อย่างหนึ่งของการออกกำลังกาย
ชีวิตที่ดี
ไอเดียเกี่ยวกับความอยู่เป็นสุขโดยเป็นส่วนของชีวิตที่ดีมาจากแนวคิดของอาริสโตเติลในเรื่อง eudaimonia ส่วนแนวคิดที่เกี่ยวข้องกันรวมทั้ง ความเชื่อมั่นในสมรรถภาพตน (self-efficacy), ประสิทธิผลในตัว (personal effectiveness), flow, และการมีสติ (mindfulness)
ความเชื่อมั่นในสมรรถภาพตน เป็นความเชื่อมั่นว่า ความสามารถในการทำงานให้สำเร็จขึ้นอยู่กับความพยายาม การมีความเชื่อเช่นนี้ในระดับต่ำ สัมพันธ์กับความซึมเศร้า โดยเปรียบเทียบกันแล้ว ความเชื่อมั่นในระดับสูงสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงที่ดี เช่น การเลิกสิ่งเสพติด การแก้ปัญหาโรคเกี่ยวกับการรับประทาน และการดำเนินชีวิตที่ถูกสุขภาพ การมีความเชื่อมั่นสูงยังมีผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยบริหารความเครียด และช่วยลดความเจ็บปวด ส่วนแนวคิดคล้าย ๆ กัน คือประสิทธิผลส่วนตัว (Personal effectiveness) โดยหลักเป็นเรื่องเกี่ยวกับการวางแผนและการดำเนินงานโดยวิธีการที่ทำให้สำเร็จ
Flow
flow หมายถึงการเกิดสมาธิ (absorption) เมื่อความสามารถของตนทัดเทียมกับสิ่งที่ต้องทำเฉพาะหน้า flow กำหนดโดยลักษณะต่าง ๆ รวมทั้งสมาธิที่มีกำลัง ความไร้ความเขินเกี่ยวกับตน (self-awareness) และความรู้สึกว่าเรื่องที่ทำเป็นเรื่องท้าทาย (คือไม่ใช่เบื่อและไม่ใช่เป็นเรื่องยากเกินไป) และความรู้สึกว่า เวลากำลังล่วงเลยไปอย่างรวดเร็ว flow เป็นอะไรที่ดีโดยตัวของมันเอง นอกจากนั้น ยังสามารถช่วยให้ถึงเป้าหมาย (เช่น ชนะการละเล่นหรือการกีฬา) หรือช่วยเพิ่มทักษะ (เช่น เป็นคนเล่นหมากรุกได้เก่งขึ้น)
ทุกคนสามารถมีประสบการณ์เกี่ยวกับ flow ในเรื่องต่าง ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการละเล่น ความคิดสร้างสรรค์ หรืออาชีพการงาน โดยสามารถเกิดได้เมื่อมีเหตุการณ์ที่ท้าท้ายทัดเทียมกับความสามารถของตน แต่ว่า ถ้าไม่มีความสมดุลเช่นมีทักษะน้อยเกินไป จะทำให้เกิดความวิตกกังวล แต่ถ้าเป็นเรื่องท้าทายน้อยเกินไป ก็จะทำให้เกิดความเบื่อหน่าย
แต่ว่า เพราะสถานการณ์เป็นเรื่องท้าท้าย บ่อยครั้งจะมีทั้งความตื่นเต้นและความเครียด แต่นี่พิจารณาว่า เป็นความเครียดที่ดี โดยเชื่อว่า เป็นความเครียดที่มีผลลบน้อยกว่าความเครียดแบบเรื้อรัง แม้ว่า วิถีทางกายภาพเกี่ยวกับความเครียดทั้งสองแบบจะเป็นระบบเดียวกัน และทั้งสองล้วนสามารถทำให้เกิดความเหนื่อยอ่อน แต่ว่า ความแตกต่างทางกายภาพ และประโยชน์ที่ได้ทางใจของความเครียดที่ดี อาจจะทำให้เกิดผลดีโดยรวมมากกว่าความเหนื่อยอ่อนที่เกินขึ้น
ศ. ชีกเซ็นมิฮาลี (ผู้สร้างแนวคิดเกี่ยวกับ flow) ระบุตัวบ่ง flow ไว้ 9 อย่างว่า
- มีเป้าหมายที่ชัดเจนในทุกขั้นตอน
- มีผลปรากฏทันทีที่ช่วยนำทางการกระทำต่อ ๆ ไป
- สิ่งท้าท้ายกับความสามารถสมดุลกัน
- การกระทำและความตระหนักรู้เป็นไปด้วยกัน
- ตัวกวนสมาธิไม่สามารถกวนใจได้
- ไม่ได้เป็นห่วงเรื่องความล้มเหลว
- ความเขินตน (Self-consciousness) หายไป
- ความรู้สึกเกี่ยวกับเวลาผิดไปจากความจริง
- กิจกรรมกลายเป็นจุดมุ่งหมายในตนเอง (autotelic) คือ ทำเพื่อเห็นแก่การกระทำเอง
งานศึกษาของเขายังพบอีกด้วยว่า flow อยู่ในระดับสูงกว่าเมื่อทำงาน และความสุขจะสูงกว่าเมื่อทำกิจกรรมเวลาว่าง: 200
ความเจริญรุ่งเรือง (Flourishing)
ความเจริญรุ่งเรืองในจิตวิทยาเชิงบวกหมายถึงการทำกิจในระดับดีสุดของมนุษย์ โดยมีปัจจัย 4 อย่างคือ ความดีงาม (goodness) การก่อกำเนิด (generativity) ความเจริญ (growth) และความฟื้นคืนได้ (resilience) ตามนักจิตวิทยาท่านหนึ่ง ความดีงามรวมทั้ง ความสุข ความพอใจ และการกระทำที่สำเร็จผล การก่อกำเนิดหมายถึงการทำให้ชีวิตคนรุ่นต่อ ๆ ไปดีขึ้น และนิยามว่าเป็น "คลังความคิด การกระทำ และความยืดหยุ่นได้ทางพฤติกรรม" ความเจริญเป็นการใช้ทรัพยากรส่วนบุคคลและทางสังคมที่มี และความฟื้นคืนได้สะท้อนให้เห็นถึงความอยู่รอดและความเจริญก้าวหน้าหลังจากที่ประสบความยากลำบาก: 685
ชีวิตที่เจริญรุ่งเรืองได้มาจากความเชี่ยวชาญในปัจจัยทั้ง 4 อย่างนั้น โดยเปรียบเทียบกับแนวคิดตรงกันข้ามเช่น ความหดหู่ไม่ไยดี (languishing) และโรคจิต (psychopathology) ในมิติของสุขภาพจิต แนวคิดตรงกันข้ามเหล่านี้เป็นภาวะก่อนจะถึงโรคจิต สะท้อนให้เห็นว่าบุคคลใช้ชีวิตที่ยังไม่เต็มหรืออาจเป็นชีวิตที่ไม่มีความหมาย บุคคลที่ประสบความหดหู่ไม่ไยดีเจ็บปวดทางอารมณ์มากกว่า บกพร่องทางจิต-สังคม ทำกิจกรรมทั่วไปบางอย่างไม่ได้ และขาดงานมากกว่า
มีงานศึกษาหนึ่งในปี 2002 ที่สำรวจตัวอย่างบุคคล 3,032 คนในประเทศสหรัฐอเมริกาในวัยระหว่าง 25-74 ปี และพบว่า 17.2% ของผู้ใหญ่ทั้งหมดรู้สึกเจริญรุ่งเรือง โดยมีผู้ใหญ่อีก 56.6% ที่มีสุขภาพจิตดีพอประมาณเท่านั้น ปัจจัยสามัญของการมีชีวิตที่เจริญรุ่งเรืองรวมทั้ง การมีการศึกษา ความสูงวัย การมีคู่ชีวิต และฐานะที่ดี งานศึกษาจึงแสดงว่า มีโอกาสที่จะปรับปรุงชีวิตของคนอเมริกันเพราะว่าเพียง 20% เท่านั้นที่รู้สึกว่าตนมีชีวิตที่เจริญรุ่งเรือง
ประโยชน์ของการมีชีวิตที่เจริญรุ่งเรืองพบได้ในงานวิจัยเกี่ยวกับผลของการประสบความรู้สึกเชิงบวกเทียบกับเชิงลบ ประโยชน์ที่พบของการมีอารมณ์เชิงบวกรวมทั้งการตอบสนองที่ดี การมีพฤติกรรมที่หลายหลากกว่า การมีสัญชาติญาณที่ดีกว่า และการรับรู้และจินตนาการที่ดีกว่า: 678 นอกจากนั้นแล้ว ความรู้สึกดี ๆ ที่สัมพันธ์กับการมีชีวิตที่เจริญรุ่งเรืองมีผลเป็นระบบภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น การฟื้นตัวจากโรคหลอดเลือดหัวใจ การได้ผลลบจากอารมณ์เชิงลบน้อยลง และความอสมมาตรระว่างสมองด้านหน้า ส่วนประโยชน์ที่ได้สำหรับบุคคลที่มีสุขภาพจิตหรือความเจริญรุ่งเรืองพอประมาณรวมทั้ง สมรรถภาพทางใจและทางสังคมที่ดีกว่า การฟื้นตัวได้ดีกว่า การมีสุขภาพหลอดเลือดหัวใจที่ดีกว่า และการมีสไตล์ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าโดยทั่วไป ดังนั้น ประโยชน์ของการมีชีวิตที่เจริญรุ่งเรืองจึงแสดงนิยามอย่างหนึ่งคือ "บุคคลที่เจริญรุ่งเรืองย่อมประสบกับความอยู่เป็นสุขทางอารมณ์ ทางใจ และทางสังคม เนื่องจากความกระฉับกระเฉงและกำลังวังชา แรงจูงใจภายใน (self-determination) การเจริญเติบโตส่วนบุคคลที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด และชีวิตที่มีความหมายและมีเป้าหมาย"
การมีสติ
การมีสติหมายถึงการพุ่งความสนใจอย่างจงใจไปที่ประสบการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เป็นการตระหนักรู้อย่างมีสมาธิ (Focused awareness) คือใส่ใจโดยขณะถึงปัจจัยต่าง ๆ ของประสบการณ์ปัจจุบัน รวมทั้ง ความคิด อารมณ์ ความรู้สึกทางกาย และสิ่งแวดล้อม จุดมุ่งหมายของการมีสติก็เพื่อที่จะให้อยู่กับขณะปัจจุบัน และศึกษาเพื่อจะสังเกตการเกิดขึ้นและการผ่านไปของประสบการณ์ต่าง ๆ โดยที่ไม่ต้องตัดสินให้ความสำคัญต่อประสบการณ์และความคิด ไม่ต้องพยายามเพื่อจะหาเหตุผลและสรุปเหตุการณ์ หรือเปลี่ยนแปลงอะไร ๆ สิ่งที่ทำอย่างเดียวในระหว่างการเจริญสติก็เพียงแค่สังเกต ประโยชน์ของการเจริญสติรวมทั้งการลดความเครียด ความวิตกกังวล ความเศร้าซึม และความเจ็บปวดเรื้อรัง
ศ. จิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอ้างว่า คนมักจะเข้าไปสู่ภาวะความไร้สติ (mindlessness) โดยมีพฤติกรรมที่ซ้ำซาก ทำสิ่งที่คุ้นเคย ทำเป็นกระบวนการ โดยไม่ได้ใส่ใจ เหมือนกับเป็นหุ่นยนต์ ผู้ที่สนับสนุนการใส่ใจในปัจจุบันยังอ้างงานวิจัยของนักจิตวิทยาที่เขียนหนังสือ สะดุดเจอความสุข (Stumbling on Happiness) ที่กล่าวว่า การฝันกลางวันแทนที่จะใส่ใจในปัจจุบันอาจเป็นเหตุขวางกั้นความสุข
นักวิจัยท่านหนึ่งพบหลักฐานสนับสนุนผลลบของการฝันกลางวัน คือ เขามีอาสาสมัคร 15,000 ทั่วโลกที่ให้รายงานกว่า 650,000 รายงานโดยใช้ออนไลน์แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์ที่เตือนขอข้อมูลโดยสุ่ม ๆ และพบว่า คนที่ฝันกลางวันต่อมาไม่ช้าก็จะรายงานความสุขที่ลดลง แต่เป็นเรื่องที่ปกติมาก ๆ
ส่วน ดร. ซิมบาร์โดให้ความสำคัญต่อการใส่ใจในปัจจุบัน แต่แนะนำให้ระลึกถึงเหตุการณ์เชิงบวกในอดีตเป็นบางครั้งบางคราว เพราะว่า การพิจารณาถึงประสบการณ์ที่ดีในอดีตสามารถมีผลต่อพื้นอารมณ์ปัจจุบัน และช่วยในการสร้างความหวังที่ดีในอนาคต
มีงานวิจัยที่แสดงว่า สิ่งที่บุคคลสนใจมีผลต่อระดับความสุข และการคิดถึงความสุขมากเกินไปมีผลที่ไม่ดี แทนที่จะถามตนว่า "ฉันมีความสุขหรือเปล่า" ซึ่งเมื่อถามเพียงแค่ 4 ครั้งต่อวัน ก็จะเริ่มลดความสุข ดังนั้น จึงอาจจะดีกว่าที่จะคิดถึงค่านิยมของตน (เช่น ฉันสามารถมีหวังในเรื่องนี้ได้หรือเปล่า)
การตั้งคำถามต่าง ๆ อาจช่วยเปลี่ยนความคิด และบางทีอาจนำไปสู่การกระทำที่เราควรใส่ใจมากกว่า การตอบคำถามโดยเป็นตัวของเราเองอาจนำไปสู่การกระทำเชิงบวก และสู่ความหวัง ซึ่งเป็นความรู้สึกที่มีกำลังและเป็นความรู้สึกเชิงบวก ความหวังมักจะก่อความสุข โดยที่ความสิ้นหวังมักจะตัดทอน
นักวิจัยทางจิตวิทยาเชิงบวกคนหนึ่งเตือนว่า ประเด็นที่วิทยาศาสตร์ได้ค้นพบเป็นเบื้องต้นเหล่านี้ ไม่ควรนำไปใช้โดยทั่วไปมากเกินไป หรือไม่ควรนำไปใช้โดยไม่พิจารณา เพราะว่า การดำรงสติเป็นกระบวนการทางสมองที่ใช้ทรัพยากรมาก และเขาบอกว่า ไม่ใช่ได้ผลดีตลอดเวลา เพราะว่า มีกิจกรรมบางอย่างที่ทำได้ดีที่สุดโดยไม่ต้องใช้ความคิด ยกตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ชีพทำตามขั้นตอนที่ได้ฝึกมาแล้วเป็นอย่างดี
อย่างไรก็ดี ทักษะที่พัฒนาเช่นนี้สามารถนำไปใช้ได้ในบางโอกาส และสามารถมีผลดีตามเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้ว ส่วนศาสตราจารย์ทางจิตวิทยาและจิตเวชศาสตร์อีกท่านหนึ่งแนะนำการเจริญสติ (mindfulness meditation) เพื่อใช้ในการระบุและการบริหารอารมณ์ที่แม่นยำ
ชีวิตที่มีความหมาย
หลังจากที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับอารมณ์คือความขยะแขยง (disgust) มาหลายปี มีนักวิจัยกลุ่มหนึ่งที่ศึกษาอารมณ์ตรงกันข้าม ซึ่งพวกเขาเรียกว่า elevation (จะเรียกว่าการทำบุญต่อไป) การทำบุญเป็นอารมณ์ทางศีลธรรม เกี่ยวข้องกับความต้องการที่จะประพฤติตามศีลธรรมและทำสิ่งที่ดี ๆ เป็นอารมณ์ที่มีรากฐานทางชีวภาพ และบางครั้งกำหนดว่า เป็นความรู้สึกการขยายออกของหน้าอก หรือความรู้สึกซาบซ่านที่ผิว
การมองโลกในแง่ดีและความรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้
การมองในแง่ดีโดยเรียนรู้ (Learned optimism) หมายถึงการพัฒนาศักยภาพให้มีนิสัยมองโลกในแง่ดีและเข้าสังคมได้ ซึ่งเป็นความพยายามส่วนตัวและเป็นคุณลักษณะที่เชื่อมกับเป้าหมายส่วนตัวที่บุคคลต้องการ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นความเชื่อว่าตนสามารถมีอิทธิพลต่ออนาคตที่มองเห็นได้และมีความหมาย การมองในแง่ดีโดยเรียนรู้ตรงข้ามกับความรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้แบบเรียนรู้ (learned helplessness) ซึ่งเป็นความเชื่อว่า ตนไม่สามารถควบคุมสิ่งที่เกิดได้ และปัจจัยภายนอกอย่างอื่นเป็นตัวกำหนดผล เช่นความสำเร็จ การมองในแง่ดีสามารถเรียนรู้ได้โดยตั้งใจคัดค้านความคิดเชิงลบของตนเอง เช่นคัดค้านความคิดเกี่ยวกับเหตุการณ์ไร ๆ ก็ได้ที่มองว่าเป็นความผิดของตนที่มีผลอย่างถาวรต่อทุก ๆ ด้านในชีวิต
การคุยกับตัวเองมีผลต่อความรู้สึก ยกตัวอย่างเช่น รายงานเกี่ยวกับความสุขมีสหสัมพันธ์กับความสามารถทั่วไปที่จะ "ให้เหตุผลหรืออธิบาย" ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมและเศรษฐกิจ ความหวัง (Hope) เป็นความรู้สึกเชิงบวกที่มีกำลัง โดยสัมพันธ์กับความคิดมีเป้าหมายที่เรียนรู้ได้ ความหวังจะเกิดขึ้นเมื่อคิดโดยหาทางที่จะถึงเป้าหมาย และหาแรงจูงใจเพื่อจะดำเนินไปตามทางสู่เป้าหมายเหล่านั้น
นักเขียนคนหนึ่งเสนอว่า การเปลี่ยนความคิดสามารถช่วยแก้ความรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้ (ในสถานะที่โลกมีปัญหามากมาย) แนวคิดนี้มาจากงานวิจัยจากนักสังคมวิทยาคนหนึ่ง ที่อธิบายว่า เมื่อเผชิญหน้ากับปัญหาใหญ่ บุคคลมักจะเรียนรู้ว่าทำอะไรไม่ได้มากกว่าที่จะเปลี่ยนความคิด วิธีการที่สามารถใช้ได้ (ซึ่งนักเขียนเรียกว่า Vertical Agitation) ก็คือ ให้ใส่ใจเพียงส่วนหนึ่ง ๆ ของปัญหาไปทีละอย่าง ๆ โดยให้ถือว่าตนมีหน้าที่แก้ส่วนปัญหานั้น ๆ ซึ่งใช้ได้กับปัญหาทุกระดับจนกระทั่งระดับสูงสุดในรัฐบาล ในธุรกิจ หรือในกลุ่มสังคม (เช่น ให้โปรโหมตอะไรอย่างหนึ่งอย่างเข้มแข็ง เช่น หลอดประหยัดไฟ) ซึ่งช่วยให้แต่คนแต่ละคนในสังคมมีส่วนคนละเล็กน้อยทำให้มีการเปลี่ยนแปลง โดยไม่รู้สึกกังวลว่า มีงานมากแค่ไหนทั้งหมดที่จะต้องทำ นอกจากนั้นแล้ว การใช้วิธีการทำคนละหน่อยจะช่วยไม่ให้รู้สึกว่า ตนดีกว่าคนอื่น (เช่น เที่ยวพูดให้เพื่อนและครอบครัวฟังว่าควรจะทำตนอย่างไร) และเมื่อมีคนทำเช่นนี้เป็นจำนวนมาก เหตุการณ์ก็จะสามารถปรับปรุงได้โดยระดับหนึ่ง
การมีงานที่ดี
นักจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดผู้หนึ่งได้ทำงานศึกษาอย่างกว้างขวางว่า การทำงานให้ดีมีผลอะไรหรือไม่ เขาเสนอว่า บุคคลรุ่นหลัง ๆ (โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา) ถูกสอนให้พุ่งความสนใจไปในการหาเงินทอง แม้ว่าการมีเงินจะไม่ได้ช่วยให้เกิดความสุขอย่างแน่นอน วิธีการแก้ที่นักจิตวิทยาเสนอคล้ายกับหลักการชีวิตที่สบายใจ ที่ดี ที่มีความหมายดังที่กล่าวมาก่อนแล้ว เขาเชื่อว่า ควรจะฝึกให้เยาวชนทำงานให้ดีที่สุดในวิชาการสาขาของตน และมีชีวิตที่อยู่ไม่ว่าง ตามความเชื่อทางศีลธรรมของตน
ตามงานศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกางานหนึ่ง พ่อแม่ 48% ให้รางวัลลูกของตนถ้าได้เกรดดีเป็นเงินสดหรืออะไรอย่างอื่นที่มีความหมาย แต่ว่า เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทุกครอบครัวในสหรัฐเห็นด้วย แม้ว่า ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาจะสนับสนุนให้ให้รางวัลเมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ดี แทนที่จะใช้การลงโทษเมื่อมีพฤติกรรมที่ไม่ดี แต่ในบางกรณี บางครอบครัวไม่มีเงินทองพอที่จะให้รางวัลลูกในลักษณะแบบนี้ รางวัลที่สามารถให้นอกเหนือจากเงินรวมทั้ง การให้ใช้เวลามากขึ้นเล่นคอมพ์ หรือนอนสายได้มากขึ้น แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญที่เชื่อว่า รางวัลที่ดีที่สุดก็คือคำชมและคำให้กำลังใจ เพราว่ารางวัลที่เป็นรูปธรรมในระยะยาวอาจจะทำให้มีผลเสียต่อเด็ก
มีงานศึกษาเกี่ยวกับรางวัลที่ให้กับเด็กในปี 2514 ที่ยังใช้กันจนถึงทุกวันนี้ เป็นงานศึกษาที่ออกข่าวในหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ ที่พุ่งความสนใจไปที่ผลระยะสั้นและระยะยาวของรางวัลต่อพฤติกรรมที่ดีของเด็ก ผู้ทำงานศึกษาเสนอว่า รางวัลเพื่อพฤติกรรมที่ดีเป็นสิ่งจูงใจที่ได้ผลแต่เพียงระยะสั้น ในเบื้องต้น รางวัลจะสนับสนุนให้มีแรงจูงใจพยายามทำให้ได้ตามเป้าหมายของตน แต่ว่า หลังจากที่เลิกให้รางวัล เด็กจะสนใจในเรื่องนั้นน้อยกว่าคนอื่น ๆ ที่ไม่เคยได้รางวัล ผู้ศึกษาชี้ว่า ในวัยเยาว์ เด็กมีสัญชาตญาณที่จะดื้อต่อบุคคลที่พยายามควบคุมพฤติกรรมของตน ซึ่งเขาใช้เป็นหลักฐานว่า รางวัลเพื่อพฤติกรรมที่ดีมีผลจำกัด
โดยให้เปรียบเทียบกัน หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ก็ได้เสนอผลงานวิจัยที่สนับสนุนผลดีที่ได้จากการให้รางวัลเด็กเพื่อพฤติกรรมที่ดี นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญอ้างว่า เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมหรือการศึกษาในโรงเรียนควรจะมีตัวช่วยมาก รวมทั้งรางวัล แม้ว่า เด็กเบื้องต้นอาจจะสนใจเพียงแค่สิ่งที่ได้เป็นรางวัล แต่ว่าก็อาจจะเกิดความรักเรียนขึ้น แม้ว่าจะมีเรื่องที่ไม่ยุติในการให้รางวัล ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า วิธีที่ดีที่สุดที่จะจูงใจเด็กก็คือเสนอให้รางวัลเมื่อต้นปีการศึกษา แต่ถ้าไม่ได้ผล แนะนำให้ทั้งครูและผู้ปกครองหยุดใช้ระบบการให้รางวัล แต่เพราะเด็กต่างกัน วิธีใดวิธีหนึ่งก็จะไม่ได้ผลกับทุกคน เด็กบางคนตอบสนองดีต่อการให้รางวัลเพื่อพฤติกรรมดี บางคนตอบสนองในเชิงลบ ผลที่ได้ขึ้นอยู่กับคน[]
ความเข้มแข็งและคุณธรรม
หนังสือ Character Strengths and Virtues (ตัวย่อ CSV) เป็นความพยายามแรก ๆ ของนักวิชาการที่จะจำแนกและแยกแยะลักษณะทางจิตวิทยาเชิงบวกของมนุษย์ โดยคล้ายกับคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (DSM) ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ที่ช่วยสร้างความเข้าใจในเรื่องจิตวิทยาทั่วไป หนังสือ CSV มีจุดประสงค์เพื่อสร้างขอบเขตเชิงทฤษฎีเพื่อช่วยส่งเสริมความเข้าใจในเรื่องความเข้มแข็งและคุณธรรม และเพื่อประยุกต์ใช้จิตวิทยาเชิงบวก คู่มือกำหนดหมวดหมู่คุณธรรม 6 อย่างหลัก ๆ ซึ่งเป็นฐานของความเข้มแข็ง 24 อย่างที่วัดได้
หนังสือเสนอว่า คุณธรรม 6 อย่างเหล่านี้มีอยู่ในประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมต่าง ๆ โดยมาก นอกจากนั้นแล้ว คุณธรรมและความเข้มแข็งเหล่านี้ทำให้เกิดความสุขมากขึ้นเมื่อได้พัฒนา ความเข้าใจเช่นนี้ชี้ความจริง 3 อย่างโดยยังไม่กล่าวถึงคำเตือนและข้อยกเว้นต่าง ๆ ที่อาจจะมี: 51
- การศึกษาเรื่องคุณสมบัติเชิงบวกของมนุษย์ขยายขอบเขตของงานวิจัยทางจิตวิทยาเพื่อรวมสุขภาพทางใจที่ดี
- ผู้นำในศาสตร์จิตวิทยาเชิงบวกกำลังท้าท้ายแนวคิดสัมพัทธนิยมทางศีลธรรม โดยเสนอว่า มนุษย์มีความโน้มเอียงโดยวิวัฒนาการไปยังค่านิยมทางศีลธรรมบางอย่าง และว่า
- คุณธรรมมีรากฐานทางชีวภาพ (biological)
การจัดหมวดหมู่ของคุณธรรม 6 อย่างและความเข็มแข็ง 24 อย่างก็คือ
- ปัญญาและความรู้ รวมทั้ง ความคิดสร้างสรรค์ ความอยากรู้อยากเห็น ความมีใจเปิด ความชอบเรียนรู้ มุมมองหรือปัญญา และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
- ความกล้าหาญ รวมความกล้าหาญ ความอดทนไม่ท้อถอย ความซื่อตรง กำลังวังชา (vitality) ความสนุกตื่นเต้น (zest)
- มนุษยธรรม รวมทั้งความรัก ความเมตตา เชาวน์ปัญญาทางสังคม (social intelligence)
- ความยุติธรรม รวมทั้งความเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วม ความยุติธรรม ความเป็นผู้นำ
- ความยับยั้งชั่งใจ รวมทั้งการให้อภัยและความกรุณา ความถ่อมตน ความสุขุมรอบคอบ และการคุมตัวเองได้
- Transcendence รวมทั้ง ความสำนึกคุณค่าของความสวยงามและความดีเลิศ ความขอบคุณยินดี (gratitude) ความหวัง อารมณ์ขัน และความเชื่อทางจิตวิญญาณ
แต่ว่างานวิจัยในปี 2010 คัดค้านการจัดกลุ่มคุณธรรมเป็น 6 กลุ่ม คือ นักวิจัยเสนอว่า ความเข้มแข็ง 24 อย่างสามารถจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ 3-4 หมวดได้อย่างเหมาะสมกว่า คือ ความเข้มแข็งทางเชาวน์ปัญญา (Intellectual) ความเข้มแข็งในเรื่องระหว่างบุคคล (Interpersonal) และความเข้มแข็งในการยับยั้งชั่งใจ (Temperance) หรืออีกแบบหนึ่งคือ ความเข้มแข็งระหว่างบุคคล ความแข็งแกร่ง กำลังวังชา และความระมัดระวัง
ความเข็มแข็งและวิธีการจัดหมวดหมู่เช่นนี้ ได้พบในวรรณกรรมอื่น ๆ ที่ต่างหากจากเรื่องนี้ เช่นในงานศึกษาที่กล่าวถึงนิสัยของบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์สูง และก็มีงานวิจัยอื่นที่แสดงว่า การอยู่เป็นสุขที่ปรากฏว่าเป็นผลของความเชื่อทางจิตวิญญาณ ความจริงเป็นสิ่งที่เกิดจากคุณธรรม
การประยุกต์ใช้
จิตวิทยาเชิงบวกสามารถประยุกต์ใช้เพื่อช่วยบุคคลและองค์กรกำหนดความเข็มแข็งเพื่อเพิ่มและดำรงรักษาความอยู่เป็นสุข ทั้งผู้บำบัด ผู้ให้คำปรึกษา ผู้ฝึกหัด ผู้ทำการทางจิตวิทยาต่าง ๆ แผนกบุคลากร นักกลยุทธ์ทางธุรกิจ และบุคคลอื่น ๆ กำลังเริ่มใช้วิธีและเทคนิคใหม่ ๆ ในการขยายและต่อเติมความเข้มแข็งของบุคคลต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมทั้งบุคคลปกติที่ไม่ได้มีโรคทางจิตใด ๆ
นักวิจัยทางจิตวิทยาท่านหนึ่งอธิบายว่า คนที่มีสุขภาพทางอารมณ์ดีมีลักษณะดังต่อไปนี้คือ ยืดหยุ่นสามารถปรับตัวได้กับสถานการณ์ต่าง ๆ รู้สึกว่าชีวิตมีความหมาย "เข้าใจว่า ตัวเองไม่ใช่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล" มีความเมตตากรุณาและสมรรถภาพที่จะไม่เห็นแก่ตัว มีความใกล้ชิดและความยินดีพอใจในความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ และรู้สึกว่าสามารถควบคุมกายใจได้
การวัดความสุข
โดยอ้างจิตวิทยาเชิงบวก นักวิเคราะห์นโยบายของรัฐบางท่าน เสนอให้เปลี่ยนใช้ความสุขมวลรวมประชาชาติแทนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเป็นตัววัดหลักว่า ประเทศหนึ่ง ๆ มีความสำเร็จมากแค่ไหน
ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 นักวิจัย "ความสุข" ท่านหนึ่ง สัมพันธ์ลักษณะของบุคคลต่าง ๆ กับความรู้สึกอยู่เป็นสุขโดยใช้สถิติ ซึ่งกลายมาเป็นผลงานวิจัยที่อ้างอิงกันมากที่สุดในท็อป 2.4% ของวารสารนั้น
เทคนิคจิตวิทยาเชิงบวกในยุคต้น ๆ
วิธีที่ง่ายที่สุดดีที่สุดอย่างหนึ่งในการเพิ่มความสุขของตนก็คือ การทำสิ่งที่เพิ่มอัตราอารมณ์เชิงบวกเทียบกับอารมณ์เชิงลบ และในกรณีมากมาย บุคคลต่าง ๆ ความจริงเก่งมากที่จะกำหนดว่าอะไรจะเพิ่มอารมณ์เชิงบวกของตน มีเทคนิคหลายอย่างที่ได้พัฒนาเพื่อช่วยเพิ่มความสุข
เทคนิคอย่างหนึ่งปรากฏในวิดีโอฝึกสร้างความสุขทำในปี 1979 (Happiness Training Program) เสนอหลัก 14 อย่างเพื่อความสุข โดยเป็นเทคนิคที่มีหลักฐานยืนยัน และกำหนดเป็นหมวดหมู่ดังต่อไปนี้ คือ (1) เปลี่ยนกิจกรรม (2) เปลี่ยนความคิด (3) สร้างและดำรงความสัมพันธ์กับผู้อื่น (4) ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาตน (5) ลดอารมณ์เชิงลบ แม้ว่าจะค่อนข้างล้าสมัยสักหน่อย ข้อมูลเหล่านี้อยู่ในหนังสือภาษาอังกฤษ 21 หน้าที่เข้าถึงได้ออนไลน์ คือ และหนังสือชุดอีกสองเล่มคือ
เทคนิคที่สองรู้จักกันว่า "Sustainable Happiness Model (SHM)" (แปลว่า แบบจำลองความสุขที่คงยืน) ซึ่งเสนอว่า ความสุขระยะยาวกำหนดโดย (1) ขีดตั้งทางกรรมพันธุ์ของตน (2) ปัจจัยรอบตัว (3) กิจกรรมที่ตั้งใจทำ นักวิจัยพวกหนึ่งเสนอให้เปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ให้เหมาะสมเพื่อจะมีความสุขในระยะยาว
ส่วนคำแนะนำอีกอย่างหนึ่งเพื่อเพิ่มความสุขก็คือการฝึกมีความหวัง เพราะเชื่อว่า ความหวัง (hope) เป็นตัวขับเคลื่อนอารมณ์เชิงบวกและความรู้สึกอยู่เป็นสุข เป็นการฝึกที่อาศัยทฤษฎีความหวัง (hope theory) ซึ่งอ้างว่า ความรู้สึกอยู่เป็นสุขจะเพิ่มขึ้นเมื่อบุคคลสร้างเป้าหมายและเชื่อว่าตนสามารถถึงเป้าหมายเหล่านั้นได้ เป้าหมายหลักอย่างหนึ่งของการฝึกเช่นนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลมีความหวังที่เป็นไปไม่ได้ ที่เห็นชัดที่สุดก็คือ เมื่อบุคคลเชื่อว่าพฤติกรรมของตนเองเปลี่ยนได้ง่าย ๆ และผลการเปลี่ยนแปลงจะปรากฏให้เห็นได้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ
วิชาพละ
เพื่อเป็นอุปกรณ์ให้มีชีวิตดีขึ้น จิตวิทยาเชิงบวกมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มคุณภาพของประสบการณ์ต่าง ๆ ในโครงสร้างเยี่ยงนี้ เด็กนักเรียนสามารถเรียนรู้ที่จะตื่นเต้นกับกิจกรรมทางกาย การเล่นเป็นธรรมชาติของเด็กอยู่แล้ว จิตวิทยาเชิงบวกต้องการที่จะดำรงรักษาความกระตือรือร้นเช่นนี้ (เพื่อเป็นความกระตือรือร้นเป็นแรงจูงใจในการใช้ชีวิต) ในการมีกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่กำลังโต ถ้าทำให้น่าสนใจ ท้าทาย และสนุก การออกกำลังกายจะช่วยสร้างความสุขให้เด็ก วิธีการนี้สามารถให้แนวทางเด็กเพื่อที่จะมีชีวิตแบบไม่ว่าง สบายใจ และมีความหมาย
ในการศึกษา
จิตวิทยาเชิงบวกมีประโยชน์ต่อทั้งสถาบันการศึกษาและนักศึกษาเพราะว่าช่วยให้กำลังใจบุคคลต่าง ๆ ให้ทำดีที่สุดเท่าที่ตนทำได้ โดยเปรียบเทียบกับการดุว่า ซึ่งมีผลตรงกันข้าม นักเขียนคู่หนึ่งกล่าวถึงงานวิจัยในปี 1925 ที่เด็กนักเรียนชั้น ป.4 ป.5 และ ป.6 ได้คำชม คำตำหนิ หรือไม่ว่าอะไร แล้วแต่คะแนนที่ได้ในการทำเลข นักเรียนที่ได้รับคำชมดีขึ้น 71% ที่ได้รับคำตำหนิดีขึ้น 19% และนักเรียนที่ไม่ได้ว่าอะไรดีขึ้น 5% ดังนั้น การชมจึงดูจะเป็นวิธีที่ได้ผล
ตามนักเขียนคู่นี้ คน 99 คนจาก 100 ชอบที่จะได้รับอิทธิพลจากคนที่มีความคิดเชิงบวก ประโยชน์รวมทั้ง การได้ผลงานมากขึ้น การแพร่กระจายของอารมณ์เชิงบวก ซึ่งช่วยให้สามารถทำงานได้ดีที่สุดตามความสามารถของตน คนความคิดเชิงลบแม้คนเดียวสามารถทำลายความรู้สึกดี ๆ ภายในสถานการณ์อย่างหนึ่งได้ นักเขียนอ้างว่า "อารมณ์เชิงบวกเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการอยู่รอดในแต่ละวัน ๆ"
การพัฒนาเยาวชน
มีขบวนการในการพัฒนาเยาวชนในสหรัฐอเมริกาปัจจุบันที่เรียกว่า Positive Youth Development (การพัฒนาเยาวชนแบบบวก) ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้แนวคิดจากจิตวิทยาเชิงบวกเช่นกัน เพราะว่า เป็นการโปรโหมตการพัฒนาในแง่บวกแทนที่จะมองเยาวชนว่า มักจะก่อปัญหาที่ต้องแก้ไข ซึ่งเป็นโปแกรมที่ทำโดยชุมชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ
จิตวิทยาคลินิก
ขบวนการเปลี่ยนแปลงบุคคลในเชิงบวกโดยเน้นความเข้มแข็ง มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนจิตวิทยาคลินิกให้ให้ความสำคัญ ต่อกิจกรรมในชีวิตประจำวันทั้งที่เป็นเชิงบวกและเชิงลบเมื่อพยายามวินิจฉัยเข้าใจและรักษาโรค การป้องกันรักษาโดยเน้นความเข้มแข็งและอารมณ์เชิงบวกสามารถมีประสิทธิผลในการรักษาโรค นอกเหนือไปจากวิธีการที่ใช้โดยทั่วไปเช่นการบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (CBT)
นักจิตวิทยากำลังสืบหาวิธีใช้เทคนิคของจิตวิทยาเชิงบวกเพื่อรักษาคนไข้ นักเขียนท่านหนึ่งกล่าวถึงวิธีการรักษาป้องกันแบบบวกเพื่อช่วยคนไข้ โดยกำหนดว่า เป็นการบำบัดหรือกิจกรรมที่มีเป้าหมายหลักเพื่อเพิ่มความรู้สึก พฤติกรรม หรือความคิดเชิงบวก แทนที่จะพุ่งความสนใจไปที่ความคิดเชิงลบหรือพฤติกรรมที่ไม่ได้ผลดี ซึ่งวิธีหนึ่งที่สามารถใช้ในการรักษาก็คือ positive activity interventions (PAI) แปลว่า การป้องกันรักษาโดยกิจกรรมเชิงบวก ซึ่งเป็นการฝึก/การบริหารที่ทำด้วยตนเองให้เกิดความรู้สึก ความคิด หรือพฤติกรรมเชิงบวก เทคนิคสองอย่างของ PAI ที่ใช้มากที่สุดก็คือ "สิ่งสามสิ่งที่ดี" (Three Good Things) และ "ตัวเองที่ดีที่สุดในอนาคต" (Best Future Self) "สิ่งสามสิ่งที่ดี" ให้คนไข้บันทึกประจำวันเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ เหตุการณ์ 3 อย่างในวันนั้นที่เป็นไปด้วยดี และเหตุที่ยังให้เหตุการณ์นั้น ๆ เกิดขึ้น ส่วน "ตัวเองที่ดีที่สุดในอนาคต" ให้คนไข้ "คิดถึงชีวิตตัวเองในอนาคต และให้จินตนาการว่าทุกสิ่งทุอย่างเป็นไปได้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และคนไข้ได้ทำงานอย่างขยันขันแข็ง ได้สำเร็จเป้าหมายทุกอย่างในชีวิต ให้คิดถึงว่าความฝันทุกอย่างในชีวิตได้กลายเป็นจริง” แล้วให้คนไข้เขียนสิ่งที่จินตนาการทุกอย่าง การป้องกันรักษาเยี่ยงนี้ปรากฏกว่าช่วยลดความซึมเศร้า
จิตวิทยาเชิงบวกสามารถให้ข้อมูลต่อจิตวิทยาคลินิกเพื่อขยายวิธีการรักษาและประโยชน์ที่พึงได้ ถ้าได้โอกาสที่เหมาะสม จิตวิทยาเชิงบวกอาจช่วยเปลี่ยนการให้ความสำคัญวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาเกี่ยวกับประสบการณ์มนุษย์ทั้งในเชิงกว้างและในเชิงลึกได้ดีขึ้นในสถานที่รักษาพยาบาล
ในที่ทำงาน
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ในการบำบัดนักโทษ
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
การพัฒนาหลังความบาดเจ็บและการรายงานข่าวที่สร้างสรรค์
การพัฒนาหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (Posttraumatic growth ตัวย่อ PTG) เป็นผลที่เกิดขึ้นได้หลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนใจ แทนที่จะเกิดความผิดปกติที่เรียกว่า ความผิดปกติหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD) คือหลังจากเหตุการณ์สะเทือนใจ เช่น ถูกข่มขืน การร่วมประเวณีกับญาติสนิท โรคมะเร็ง การถูกทำร้าย หรือการต่อสู้ในสงคราม "เป็นเรื่องปกติที่จะประสบอาการซึมเศร้าและความวิตกกังวลที่บั่นทอนสุขภาพ" บุคคลที่เรียนรู้จากประสบการณ์แบบ PTG จะประสบกับผลร้าย ๆ ชั่วระยะหนึ่ง แล้วจะมีความอยู่เป็นสุขที่ดีขึ้น ที่ดียิ่งกว่าก่อนที่จะมีเหตุการณ์สะเทือนใจ ศ. เซลิกแมนเน้นว่า "การมีประสิทธิภาพทางใจในระดับที่สูงกว่าที่เคยมี" เป็นกุญแจสำคัญของ PTG คือ ถ้าบุคคลประสบกับเหตุการณ์ซึมเศร้าแล้วฟื้นคืนสู่สภาพเดิมทางจิต นี้เรียกว่าความฟื้นคืนสภาพทางจิตได้ (Psychological resilience) เทียบกับ PTG ที่จุดสะเทือนใจจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนแปลงให้บุคคลถึงความอยู่เป็นสุขที่ดียิ่งขึ้น
ศ. เซลิกแมนรับรองว่า "ความจริงก็คือ จุดสะเทือนใจบ่อยครั้งเป็นจุดเริ่มการพัฒนา และถ้าได้อุปกรณ์ความช่วยเหลือที่เหมาะสม บุคคลจะสามารถได้ผลดีที่สุดจากโอกาสนั้น ๆ" ศ. เซลิกแมนเสนอให้ใช้องค์ประกอบ 5 อย่างเหล่านี้เพื่ออำนวย PTG (1) ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการตอบสนองต่อเรื่องสะเทือนใจ (2) ลดความวิตกกังวล (3) ให้เปิดเผยเหตุการณ์ (ต่อบุคคลอื่น) อย่างสร้างสรรค์ (4) สร้างเรื่องเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์สะเทือนใจ (trauma narrative) และ (5) แสดงหลักและความเห็นเกี่ยวกับชีวิตที่เข้มแข็งสามารถเผชิญรับปัญหาท้าทายต่าง ๆ ได้ ผู้ที่ประสบกับ PTG จะได้องค์ประกอบของ "ชีวิตที่ดี" ตามทฤษฎีของ ศ. เซลิกแมน รวมทั้งการมีชีวิตที่มีความหมายและมีจุดมุ่งหมายที่ดีกว่า การมีความสัมพันธ์กับคนอื่นที่ดีกว่า ความสำเร็จในชีวิต และจิตใจที่มองโลกในแง่ดีเปิดใจกว้างกว่า ตามทฤษฎี Broaden-and-build
หลักต่าง ๆ ของ PTG สามารถใช้ได้ในหลายเรื่อง เป็นแนวคิดที่สำคัญไม่ใช่แค่สำหรับทหาร ผู้ทำการในเหตุการณ์ฉุกเฉิน หรือคนที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์สะเทือนใจ แต่โดยทั่วไปแล้ว เป็นเรื่องสำหรับทุก ๆ คนที่ต้องเผชิญปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
วิธีเผยแพร่เรื่องเกี่ยวกับ PTG อย่างหนึ่งก็คือ การรายงานข่าวที่สร้างสรรค์ ซึ่งอาจจะนิยามได้ว่า "เป็นสไตล์การออกข่าวแบบใหม่ที่ใช้เทคนิคจิตวิทยาเชิงบวกมีจุดมุ่งหมายเพื่อดึงดูดผู้อ่านโดยเสนอข่าวที่สร้างสรรค์ดีกว่า โดยยังสามารถดำรงภารกิจอื่น ๆ ของการออกข่าว" นักข่าวชำนาญการคนหนึ่งแสดงว่า การออกข่าวโดยทั่ว ๆ ไปเป็นเรื่องลบ และมีผลลบต่อความรู้สึกของผู้ฟัง การใช้ PTG พุ่งความสนใจไปที่ความเข้มแข็งของเหยื่อและตัวอย่างการข้ามพ้นปัญหาที่เผชิญหน้า จะช่วยให้ผู้อ่าน/ผู้ชมสร้างอุดมคติเช่นเดียวกันในชีวิตของตน "ดังนั้น จุดมุ่งหมายของจิตวิทยาเชิงบวกเกี่ยวกับทฤษฎีความอยู่เป็นสุขก็เพื่อวัดและสร้างความเจริญรุ่งเรือง (flourishing) ของมนุษย์" เพราะฉะนั้น การใช้แนวคิดของจิตวิทยาเชิงบวกเช่น PTG, PERMA และ broaden and build ต่อการออกข่าวอาจช่วยพัฒนาความรู้สึกเป็นแรงจูงใจให้บุคคลเข้าใจถึงประโยชน์ของสภาพจิตเชิงบวก
การฝึก
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
แนวทางงานวิจัยในอนาคต
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ข้อคัดค้าน
ตามนักจิตวิทยาชื่อดังคนหนึ่ง จิตวิทยาเชิงบวกไม่สามารถอธิบายพฤติกรรมที่โหดร้ายทารุณดังเช่นที่ทำโดยนาซีเยอรมนี โจเซฟ สตาลิน และอื่น ๆ ได้ นอกจากนั้นแล้ว เขายังชี้ว่า มีหลักฐานงานวิจัยที่แสดงว่า ความรู้สึกในเชิงบวกสูงมีสหสัมพันธ์กับการแปลสิ่งเร้าผิดเชิงบวก (positive illusion) ซึ่งบิดเบือนความเป็นจริง ผลร้ายของการมีความรู้สึกเชิงบวกมากเกินไปก็คือ กลายเป็นคนไม่สามารถที่จะพัฒนาทางจิตได้ ไม่สามารถพิจารณาตนเองให้สมจริงได้ และมักจะมีอคติในเรื่องชาติและผิวพรรณ โดยตรงกันข้ามกัน ความรู้สึกเชิงลบ ซึ่งบางครั้งปรากฏในบุคคลที่ซึมเศร้าในระดับอ่อนหรือปานกลาง สัมพันธ์กับความบิดเบือนความจริงที่น้อยกว่า ดังนั้น ความรู้สึกเชิงลบอาจมีบทบาทสำคัญในภาวะความเจริญรุ่งเรืองของมนุษย์
ตัวอย่างเช่น การบริหารจัดการข้อขัดแย้ง และการยอมรับความรู้สึกเชิงลบ รวมทั้งอารมณ์เชิงลบเช่นความรู้สึกผิด อาจจะเป็นตัวช่วยเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรือง (flourishing) ได้ดีกว่า นักจิตวิทยานั้นให้มุมมองหนึ่งว่า "บางที ความสุขที่แท้จริงอาจไม่ใช่อะไรที่ต้องตั้งเป้า แต่เป็นสิ่งที่ได้เนื่องจากการใช้ชีวิตที่ดี และการใช้ชีวิตที่ดีไม่ได้ตั้งอยู่ในสถาณการณ์ที่ตั้งโปรแกรมไว้ หรือจัดปรับตั้งค่าไว้เป็นอย่างดี" ศ. เซลิกแมนได้ยอมรับในงานของเขาเกี่ยวกับเรื่องการแปลสิ่งเร้าผิดเชิงบวก และก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการเพียงแค่มีความรู้สึกที่ดี ๆ เกี่ยวกับตนที่ไม่สมกับความจริง และยอมรับความสำคัญของความรู้สึกเชิงลบกับความวิตกกังวล
นักเขียนของสำนักข่าว เดอะการ์เดียน ผู้หนึ่งให้ข้อสังเกตว่า "นักจิตวิทยาเชิงบวกสามารถถูกล่าวหาได้ว่า ฝังศีรษะตัวเองอยู่ในทราย (เหมือนนกกระจอกเทศ) และไม่สนใจว่า บุคคลที่เศร้าซึม หรือแม้แต่คนเพียงแค่ไม่มีความสุข มีปัญหาจริง ๆ ที่จำเป็นต้องแก้ไข" แล้วอ้างคำของนักจิตวิทยาคลินิกคนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตันผู้กล่าวว่า งานศึกษาเรื่องจิตวิทยาเชิงบวกเป็นแค่การกล่าวซ้ำแนวคิดเดิม ๆ ที่เคยมีมาแล้ว และว่าไม่มีผลงานวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนประสิทธิภาพของวิธีเยี่ยงนี้
มีนักวิชาการที่อ้างว่า แม้ว่าจิตวิทยาเชิงบวกจะเป็นประโยชน์ต่อสาขาจิตวิทยาโดยทั่วไป แต่ก็มีจุดอ่อนของมันเอง เธออ้างประเด็นผลลบของจิตวิทยาเชิงบวก และความแบ่งแยกกันของนักวิชาการในสาขาจิตวิทยาเนื่องจากแนวคิดของจิตวิทยาเชิงบวก รวมทั้งความเห็นที่ไม่สม่ำเสมอในเรื่องบทบาทของความรู้สึกเชิงลบ และยกประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคนิคของศาสตร์แบบง่าย ๆ เกินไป คือเป็นแบบเดียวใช้กับทุกคน ซึ่งอาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการพัฒนาข้อมูลวิชาการของศาสตร์ เธอเสนอให้พิจารณาความแตกต่างระหว่างบุคคลเพื่อประยุกต์ใช้วิธีการต่าง ๆ
ดูเพิ่ม
ศาสตร์ที่มาก่อนจิตวิทยาเชิงบวก
เชิงอรรถและอ้างอิง
- Seligman, Martin E.P. (2000). "Positive Psychology: An Introduction". American Psychologist. 55 (1): 5–14. doi:10.1037/0003-066X.55.1.5. PMID 11392865.
- Seligman, M.E.P (1998). Learned optimism (2nd ed.). New York: Pocket Books.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Compton, William C (2005). "1". An Introduction to Positive Psychology. Wadsworth Publishing. pp. 1–22. ISBN .
- "Positive Psychology กับชีวิตครอบครัว" (PDF). มหาวิทยาลัยมหิดล.[](ไทย)
- Peterson, C (2009). "Positive psychology". Reclaiming Children and Youth. 18 (2): 3–7.
- Seligman, M.E.P (2009). Authentic Happiness. New York: Free Press.
using your signature strengths every day to produce authentic happiness and abundant gratification
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Peterson, Christopher (2006-07-27). A Primer in Positive Psychology. Oxford University Press. ISBN .
- Peterson, C (2009). "Reclaiming Children and Youth". Positive Psychology. 18 (2): 3–7.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Seligman, M.E.P.; Csikszentmihalyi, M. (2000). "Positive Psychology: An introduction". American Psychologist. 55 (1): 5–14. doi:10.1037/0003-066x.55.1.5.
the scientific study of positive human functioning and flourishing on multiple levels that include the biological, personal, relational, institutional, cultural, and global dimensions of life
- Keyes, CLM; Lopez, SJ (2002). Lopez, CR; Snyder, SJ (บ.ก.). Toward a science of mental health: Positive directions in diagnosis and interventions. Handbook of positive psychology. London: Oxford University Press. pp. 45–59.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Schimmack, U (2005). Larsen, M; Eid, R (บ.ก.). The structure of subjective well-being. The science of subjective well-being. New York, NY, US: Guilford Press. pp. 97–123.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Russell, J.A.; Barrett, L. (1999). "Core affect, prototypical emotional episodes, and other things called emotion: Dissecting the elephant". Journal of Personality and Social Psychology. 76 (5): 805–819. doi:10.1037/0022-3514.76.5.805. PMID 10353204.
- . International Positive Psychology Association. 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-24. สืบค้นเมื่อ 2016-07-24.
- Seligman, Martin E.P (2007). "Positive Psychology Center". Positive Psychology Center. University of Pennsylvania. จากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-23. สืบค้นเมื่อ 2013-03-12.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2006-07-11. สืบค้นเมื่อ 2011-02-07.
- Maslow, Abraham (1954). Toward a Positive Psychology. Motivation and Personality. Harper. ISBN .
- Secker, J (1998). "Current conceptualizations of mental health and mental health promotion" (PDF). Vol. 13 no. 1. Health Education Research. p. 58. สืบค้นเมื่อ 2010-05-18.
... Amongst psychologists ... the importance of promoting health rather than simply preventing ill-health date back to the 1950s (Jahoda, 1958)
- Hales, Dianne (2010). "An Invitation to Health, Brief: Psychological Well-Being" (2010-2011 ed.). Wadsworth Cengage Learning. p. 26. สืบค้นเมื่อ 2010-05-18.
- Seligman, Martin E. P. (2002). Authentic Happiness: Using the New Positive Psychology to Realize Your Potential for Lasting Fulfillment. New York: Free Press. ISBN .
- Maslow, Abraham (1954). Motivation and Personality. Harper & Brothers. p. 354. ISBN .
The science of psychology has been far more successful on the negative than on the positive side. It has revealed to us much about man’s shortcomings, his illness, his sins, but little about his potentialities, his virtues, his achievable aspirations, or his full psychological height. It is as if psychology has voluntarily restricted itself to only half its rightful jurisdiction, the darker, meaner half.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Ben-Shahar, Ben (2007). Happier - Learn the Secrets to Daily Joy and Lasting Fulfillment (1st ed.). McGraw-Hill.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - "First World Congress on Positive Psychology Kicks Off Today With Talks by Two of the World's Most Renowned Psychologists". Reuters (Press release). 2009-06-18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-08. สืบค้นเมื่อ 2016-07-24.
- Sûrah al-Ra`d: 28
- Compton, William C; Hoffman, Edward (2013). Positive Psychology: The Science of Happiness and Flourishing (2nd ed.). Belmont, CA: Wadsworth Cengage Learning.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Robertson, D (2010). The Philosophy of Cognitive-Behavioural Therapy: Stoicism as Rational and Cognitive Psychotherapy. London: Karnac. ISBN .
- Wilkinson, Phaedra (2014-10-21). . Chicago: Chicago Tribune. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-15. สืบค้นเมื่อ 2014-11-16.
The Jewish Learning Institute's (JLI) Newest Class Looks at Positive Psychology through the 3,000-year-old lens of Jewish thought. Northbrook, IL - When Israeli-born psychologist Tal Ben-Shahar began teaching a class called Positive Psychology at Harvard in 2006, a record 855 undergraduate students signed up for his class. Droves of students at the academically-intense university came to learn, as the course description puts it, about "psychological aspects of a fulfilling and flourishing life."
- . Cape Coral Daily Breeze. 2014-10-31. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-01. สืบค้นเมื่อ 2014-11-03.
Rabbi Zalman Abraham of JLI's headquarters in New York says that being happy can depend on one's perspective, explaining, "How Happiness Thinks is based on the premise that to be happy, you can either change the world, or you can change your thinking." While drawing on 3,000 years of Jewish wisdom on happiness, the course, which was prepared in partnership between JLI and the Washington School of Psychiatry, builds on the latest observations and discoveries in the field of positive psychology.
- Wallis, Claudia (2005-01-09). "Science of Happiness: New Research on Mood, Satisfaction". TIME. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-05. สืบค้นเมื่อ 2011-02-07.
- . Ted.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-04. สืบค้นเมื่อ 2011-02-07.
- Argyle, Michael; Hills, Peter. "Oxford Happiness Questionnaire".
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Hills, P; Argyle, M (2002). "The Oxford Happiness Questionnaire: a compact scale for the measurement of psychological well-being". Personality and Individual Differences. 33: 1073–1082.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Kashdan, Todd B. (2004). "The assessment of subjective well-being (issues raised by the Oxford Happiness Questionnaire)" (PDF). Personality and Individual Differences. 36 (5): 1225–1232. doi:10.1016/S0191-8869(03)00213-7.
- Klein, Stefan (2006). The Science of Happiness. Marlowe & Company. ISBN .
- . Wnyc.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-18. สืบค้นเมื่อ 2011-02-07.
- Luz, A; Dunne, J; Davidson, R (2007). Zelazo, P; Moscovitch, M; Thompson, E (บ.ก.). Meditation and the neuroscience of consciousness. Cambridge Handbook of Consciousness. Cambridge University Press.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Lykken, D.; Tellegen, A. (1996). "Happiness is a stochastic phenomenon". Psychological Science. 7 (3): 186–189. doi:10.1111/j.1467-9280.1996.tb00355.x.
- Grinde, Bjørn (2002). "Happiness in the perspective of evolutionary psychology". Journal of Happiness Studies. 3 (4): 331–354. doi:10.1023/A:1021894227295.
- Bakalar, Nicholas (2010-05-31). "The Guardian, Happiness May Come With Age, Study Says. "...by almost any measure, people become happier with age, although researchers are not sure why"". Nytimes.com. สืบค้นเมื่อ 2011-11-12.
- Alok Jha, science correspondent (2008-01-29). "Happiness is being young or old, but middle age is misery". London: Guardian. สืบค้นเมื่อ 2011-11-12.
- Bakalar, Nicholas (2010-05-31). "The Guardian, Happiness May Come With Age, Study Says". Nytimes.com. สืบค้นเมื่อ 2011-11-12.
- "Age and happiness: The U-bend of life". The Economist. 2010-12-16. สืบค้นเมื่อ 2011-02-07.
- Vedantam, Shankar (2008-07-14). "Older Americans May Be Happier Than Younger Ones". The Washington Post.
- Lopez, SJ; Snyder, CR (2009). The Oxford Handbook of Positive Psychology. Oxford University Press.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Stevenson, B., & Wolfers, J. (2009). "The paradox of declining female happiness" (PDF). American Economic Journal: Economic Policy. doi:10.3386/w14969.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Reid, A. (2004). "Gender and sources of subjective well-being". Sex Roles. 51 (11/12): 617–629. doi:10.1007/s11199-004-0714-1.
- Plagnol, A.; Easterlin, R. (2008). "Aspirations, attainments, and satisfaction: life cycle differences between American women and men". Journal of Happiness Studies. 9 (4): 601–619. doi:10.1007/s10902-008-9106-5.
{{}}
: CS1 maint: multiple names: authors list ()[] - Mencarini, L.; Sironi, M. (2010). "Happiness, Housework and Gender Inequality in Europe" (PDF). European Sociological Review. 0 (2): 1–17. doi:10.1093/esr/jcq059.
{{}}
: CS1 maint: multiple names: authors list () - Strickland, B. (1992). "Women and depression". Current Directions in Psychological Science. 1 (4): 132–5. doi:10.1111/1467-8721.ep10769766. JSTOR 20182155.
- Khodarahimi, Siamak. "The Role of Gender on Positive Psychology Constructs in a Sample of Iranian Adolescents and Young Adults". Applied Research in Quality of Life. PsycINFO.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Bai, Sunhye (2008). "Children's expressions of Positive Emotion are Sustained by Smiling, Touching, and Playing with Parents and Siblings: a Naturalistic Observational Study of Family Life". Developmental Psychology. doi:10.1037/a0039854.
- "The happiness-income paradox revisited — PNAS". Pnas.org. 2010-12-13. สืบค้นเมื่อ 2011-02-07.
- Aknin, L.; Norton, M.; Dunn, E. (2009). "From wealth to well-being? Money matters, but less than people think". The Journal of Positive Psychology. 4 (6): 523–7. doi:10.1080/17439760903271421.
{{}}
: CS1 maint: multiple names: authors list () - Easterlin, R. (2008). "Income and happiness: towards a unified theory" (PDF). The Economic Journal. 11 (473): 465–484. doi:10.1111/1468-0297.00646.
- Stevenson, B; Wolfers, J (2008). "Economic growth and subjective well-being: Reassessing the Easterlin paradox" (PDF). Brookings Papers on Economic Activity. 39 (1): 1–102. doi:10.3386/w14282.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Kahneman, D; Deaton, A (September 2010). "High income improves evaluation of life but not emotional well-being". Proc. Natl. Acad. Sci. U.S.A. 107 (38): 16489–93. doi:10.1073/pnas.1011492107. PMC 2944762. PMID 20823223.
{{}}
: CS1 maint: multiple names: authors list () - Quoidbach, J; Dunn, EW; Petrides, KV; Mikolajczak, M (June 2010). "Money giveth, money taketh away: the dual effect of wealth on happiness". Psychol Sci. 21 (6): 759–63. doi:10.1177/0956797610371963. PMID 20483819.
{{}}
: CS1 maint: multiple names: authors list () - Levy, Francesca (2010-07-14). "Forbes article "Table: The World's Happiest Countries"". Forbes.com. สืบค้นเมื่อ 2011-11-12.
- Dunn, EW; Aknin, LB; Norton, MI (March 2008). "Spending money on others promotes happiness". Science. 319 (5870): 1687–8. doi:10.1126/science.1150952. PMID 18356530.
{{}}
: CS1 maint: multiple names: authors list () - Brickman, Philip; Coates & Janoff-Bulman (1978). "Lottery Winners and Accident Victims: Is Happiness Relative?". Journal of Personality and Social Psychology. 36 (8): 917–927. doi:10.1037/0022-3514.36.8.917.
- "Ignorance is bliss | Define Ignorance is bliss at Dictionary.com". Dictionary.reference.com. สืบค้นเมื่อ 2011-02-07.
Where ignorance is bliss, ’Tis folly to be wise.'
- Ericsson, K Anders; Prietula, Michael J; Cokely, Edward T. (PDF). Harvard Business Review. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-02-24.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - "Comparing countries: The rich, the poor and Bulgaria". The Economist. 2010-12-16. สืบค้นเมื่อ 2011-02-07.
- Twenge, JM; Campbell, WK; Foster, CA (August 2003). "Parenthood and Marital Satisfaction: A Meta-Analytic Review". Journal of Marriage and Family. 65 (3): 574–583. doi:10.1111/j.1741-3737.2003.00574.x.
{{}}
: CS1 maint: multiple names: authors list () - Evenson, Ranae J.; Simon (December 2005). "Clarifying the Relationship Between Parenthood and Depression". Journal of Health and Social Behavior. 46 (4): 341–358. doi:10.1177/002214650504600403.
- "The joys of parenthood". The Economist. 2008-03-27.
- Brooks, Arthur C. (2008). Gross National Happiness: Why Happiness Matters for America - and How We Can Get More of It. Basic Books. ISBN .
- Angeles, L. (2009). "Children and Life Satisfaction". Journal of Happiness Studies. 11 (4): 523–538. doi:10.1007/s10902-009-9168-z.
- Umberson, D.; Gove, W. (1989). "Parenthood and psychological well-being: theory, measurement, and stage in the family life course". Journal of Family Issues. 10 (4): 440–462. doi:10.1177/019251389010004002.
{{}}
: CS1 maint: multiple names: authors list () - McLanahan, S.; Adams, J. (1987). "Parenthood and psychological well-being". Annual Review of Sociology. 13: 237–257. doi:10.1146/annurev.soc.13.1.237. JSTOR 2083248.
{{}}
: CS1 maint: multiple names: authors list () - Ferri, E; Smith, K (1996). Parenting in the 1990s. London: Family Policy Studies Centre.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Orden, SR; Bradburn, NM (May 1968). "Dimensions of Marriage Happiness". American Journal of Sociology. 73 (6): 715–731. doi:10.1086/224565. JSTOR 2775777.
{{}}
: CS1 maint: multiple names: authors list () - Hoppmann, CA; Gerstorf, D; Willis, SL; Shaie, KW (January 2011). "Spousal interrelations in happiness in the Seattle Longitudinal Study: Considerable similarities in levels and change over time". Developmental Psychology. 47 (1): 1–8. doi:10.1037/a0020788.
{{}}
: CS1 maint: multiple names: authors list () - Gwanfogbe, PN; Schumm, WR; Smith, M; Furrow, JL (January 1997). "Polygyny and marital/life satisfaction: An exploratory study from rural Cameroon". Journal of Comparative Family Studies. 28 (1): 55–71.
{{}}
: CS1 maint: multiple names: authors list () - Becker, Anne (2003-03-18). "Marriage Is Not the Key to Happiness". Psychology Today.
- Diener, E; Suh, E. M. (2000). Culture and subjective well-being. Cambridge, MA: MIT Press.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Diener, M; Diener McGavran, M. B. (2008). "What makes people happy? A developmental approach to the literature on family relationships and well-being". ใน Eid, M; Larsen, R (บ.ก.). The science of subjective well-being. New York: Guilford Press. pp. 347–375.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Glenn, N. D.; Weaver, C. N. (1988). "The changing relationship of marital status to reported happiness". Journal of Marriage and the Family. 50: 317–324. doi:10.2307/351999.
- Barnes, M. L. Sternberg, R. J. (1997). "A hierarchical model of love and its prediction of satisfaction in close relationships". ใน Sternberg, RJ; Hojjatt, M (บ.ก.). Satisfaction in close relationships. New York: Guilford Press. pp. 79–101.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Diener, Ed; Suh, Eunkook M.; Lucas, Richard E.; Smith, Heidi L. (1999-01-01). "Subjective well-being: Three decades of progress". Psychological Bulletin. 125 (2): 276–302. doi:10.1037/0033-2909.125.2.276.
- Weiss, A; Bates, TC; Luciano, M (March 2008). "Happiness is a personal (ity) thing: the genetics of personality and well-being in a representative sample". Psychol Sci. 19 (3): 205–10. doi:10.1111/j.1467-9280.2008.02068.x. PMID 18315789.
{{}}
: CS1 maint: multiple names: authors list () - Nordqvist, Christian (2011-05-07). "Happiness Gene Located". Medical News Today.
- Shenk, J (Autumn 2009). . Wilson Quarterly. 33: 73–74. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-27. สืบค้นเมื่อ 2016-07-24.
- Fowler, JH; Christakis, NA (2008). "Dynamic spread of happiness in a large social network: longitudinal analysis over 20 years in the Framingham Heart Study". BMJ. 337 (768): a2338. doi:10.1136/bmj.a2338. PMC 2600606. PMID 19056788.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Belluck, Pam (2008-12-05). "Strangers May Cheer You Up, Study Says". New York Times. สืบค้นเมื่อ 2010-04-10.
- "Happiness Can Spread Among People Like a Contagion, Study Indicates". The Washington Post. 2008-12-05. p. A08.
- Adams, Ryan E.; Bukoeski & Santo (2011). "The Presence of a Best Friend Buffers the Effects of Negative Experiences". Developmental Psychology. 47 (6): 1786–1791. doi:10.1037/a0025401.
- Zak, Paul (2011). . TED lecture. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-01. สืบค้นเมื่อ 2016-07-24.
- Anderson, C.; Kraus, M. W.; Galinsky, A. D.; Keltner, D. (2012-05-31). "The Local-Ladder Effect: Social Status and Subjective Well-Being". Psychological Science. 23 (7): 764–771. doi:10.1177/0956797611434537.
- Aaronson, Lauren. "Happiness Is a Beach, Sometimes". Psychology Today. สืบค้นเมื่อ 2011-02-07.
- Paloutzian, R. F; Park, C. L. Handbook of the psychology of religion and spirituality. New York, NY, US: Guilford Press.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - George, L. K.; Larson, D. B.; Koenig, H. G.; McCullough, M. E. (2000). "Spirituality and health: What we know, what we need to know". Journal of Social and Clinical Psychology. 19 (1): 102–116. doi:10.1521/jscp.2000.19.1.102.
- Donahue, M. J.; Benson, P. L. (1995). "Religion and the well-being of adolescents". Journal of Social Issues. 51 (2): 145–160. doi:10.1111/j.1540-4560.1995.tb01328.x.
- Emmons, R. A. (1999). The psychology of ultimate concerns: Motivation and spirituality in personality. New York: Guilford.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Frazier, Patricia (May 2013). "The relation between trauma exposure and prosocial behavior". Psychological Trauma: Theory, Research, Practice, and Policy. สืบค้นเมื่อ 2015-04-12.
- Sasaki, Joni Y.; Kim, Heejung S.; Xu, Jun (2011-11-01). . Journal of Cross-Cultural Psychology. 42 (8): 1394–1405. doi:10.1177/0022022111412526. ISSN 0022-0221. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-05. สืบค้นเมื่อ 2015-04-12.
- Reuter, Kirby K. (March 2014). "Religiosity and Spirituality as Resiliency Resources: Moderation, Mediation, or Moderated Mediation?". Journal for the Scientific Study of Religion. 53: 56–72. doi:10.1111/jssr.12081.
- Graff, Ladd (October 1971). "POI CORRELATES OF A RELIGIOUS COMMITMENT INVENTORY". Journal of Clinical Psychology. 27: 502–504. doi:10.1002/1097-4679(197110)27:4<502::AID-JCLP2270270431>3.0.CO;2-2. สืบค้นเมื่อ 2015-04-12.
- "Religion or spirituality has positive impact on romantic/marital relationships, child development, research shows". สืบค้นเมื่อ 2015-04-13.
- Greggo, Stephen P (2012). "Clinical Appraisal of Spirituality: In Search of Rapid Assessment Instruments (RAIs) for Christian Counseling". Journal of Psychology and Christianity. สืบค้นเมื่อ 2015-04-12.
- . www.themirrorpost.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-12. สืบค้นเมื่อ 2015-04-13.
- Galen, LW (September 2012). "Does religious belief promote prosociality? A critical examination". Psychol Bull. 138: 876–906. doi:10.1037/a0028251. PMID 22925142.
- Masters, KS (August 2006). "Are there demonstrable effects of distant intercessory prayer? A meta-analytic review". Ann Behav Med. 32: 21–6. doi:10.1207/s15324796abm3201_3. PMID 16827626.
- Hodge, David R. (2007-03-01). "A Systematic Review of the Empirical Literature on Intercessory Prayer". Research on Social Work Practice. 17 (2): 174–187. doi:10.1177/1049731506296170. ISSN 1049-7315. สืบค้นเมื่อ 2015-04-13.
- Pargament, K.I. (1999). "The psychology of religion and spirituality? Yes and no". International Journal for the Psychology of Religion. 9: 3–16. doi:10.1207/s15327582ijpr0901_2.
a search for the sacred
- Snyder, C. R; Lopez, Shane (2002). Handbook of Positive Psychology. New York: Oxford University Press.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Nelson, James M. (2009). Psychology, Religion, and Spirituality. New York: Springer Science + Business Media, LLC. p. 359.
- Wood, Connor (2013-05-30). "Does spirituality help well-being, or do we just need to be good to each other?". Institute for the Bio-Cultural Study of Religion.
- Emmons, R.A.; Cheun, C.; Tehrani, K. (1998). "Assessing spirituality through personal goals: Implications for research on religion and subjective well-being". Social Indicators Research. 45: 391–422. doi:10.1023/A:1006926720976.
- Holder, Mark D; Coleman, Ben; Wallace, Judi M. (2008). "Spirituality, Religiousness, and Happiness in Children Aged 8-12 Years". Journal of Happiness Studies. 11: 131–150. doi:10.1007/s10902-008-9126-1.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Fehring, RJ; Miller, JF; Shaw, C (1997). "Spiritual well-being, religiosity, hope, depression, and other mood states in elderly people coping with cancer". Oncology Nursing Forum. 24 (4): 663–671. PMID 9159782.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Strawbridge, W.J.; Cohen, R.D.; Shema, S.J. (1997). "Frequent attendance at religious services and mortality over 28 years". American Journal of Public Health. 87: 957–961. doi:10.2105/ajph.87.6.957. PMC 1380930. PMID 9224176.
wikipedia, แบบไทย, วิกิพีเดีย, วิกิ หนังสือ, หนังสือ, ห้องสมุด, บทความ, อ่าน, ดาวน์โหลด, ฟรี, ดาวน์โหลดฟรี, mp3, วิดีโอ, mp4, 3gp, jpg, jpeg, gif, png, รูปภาพ, เพลง, เพลง, หนัง, หนังสือ, เกม, เกม, มือถือ, โทรศัพท์, Android, iOS, Apple, โทรศัพท์โมบิล, Samsung, iPhone, Xiomi, Xiaomi, Redmi, Honor, Oppo, Nokia, Sonya, MI, PC, พีซี, web, เว็บ, คอมพิวเตอร์
citwithyaechingbwk xngkvs positive psychology epnsakhayxyihmkhxngcitwithyathiichkhwamekhaicthangwithyasastraelakaraethrkaesngthimiprasiththiphl ephuxchwyihbukhkhlmichiwitthinaphxic odysrangkhwamecriykawhnasahrbbukhkhl khrxbkhrw aelachumchn aelakhnhaesrimsrangxcchriyphaphkbkhwamsamarthephuxihsamarthichchiwitidxyangepnpktisukhmakyingkhun sastrniephngkhwamsnicipthikarphthnatnexngaethnthikarrksaorkh sungmkcaepncudsnickhxngcitwithyasakhaxun epnwithyakarthikhxnkhangihm nganprachumkhrngaerkekiywkbsastrniekidkhunemuxpi ph s 2542 aelanganprachumsakl International Conference on Positive Psychology ekidkhunkhrngaerkinpi 2546 ngansuksainsastrniaesdngwa mipccymakmaythimixiththiphltxkhwamsukhinchiwit khwamsmphnththangsngkhmkbkhuchiwit khrxbkhrw ephuxn aelaekhruxkhaysngkhmthangxachiph somsr hruxxngkhkrthangsngkhmxun mikhwamsakhymak khwamsukhephimkhunemuxrayidephim aetkmikhidsudthiimthaihkhwamsukhephimxiktxip karxxkkalngkaysmphnthkbkhwamepnsukhthangic echnediywkbkarichchiwitaebbmi flow khuxprakxbkickarngandwysphaphthangicthimismathi dwykhwamyindiphxic aelakarfukxbrmcitic echnkarekhasmathi hruxkarecriysti citwithyaechingbwkepnsastrthiidrbkarphthnaxyangrwderwinolktawntkodyechphaaxyangyingthipraethsshrthxemrika sungsastracarymartin eslikaemn phuepriybidwaepnbidakhxngsastrdngklaw idihkhwamhmaywaepncitwithyakhxngchawtawntksmyihmthiyudexacudaekhngkhxngmnusyepncudhlkkhxngkarphthna echn karphthnadankhunkha stirbruinkarptibtikictang karmxngolkinaengdi karmikhwamhwng aelakarmikhwamsukh citwithyaechingbwkcungepnsastrihmthiennkarphthnabukhlikphaphkhxngmnusyihmikhwamsukh odymiphunthanmacakkarphthnatnexng epnkhndi aelamxngolkinaengdi thngyngepnsastrthixasysthitiaelawithikarthangwithyasastrxun thisamarthnamaichxangxingid tlxdcnmiaenwthangptibtiepntwxyangthichdecnmummxngkwang sakhacitwithya echingbwk ni hmayihesrim imichthdaethnhruximisic khwamruthangcitwithyaodythwip aetepnkarennichraebiybwithithangwithyasastr ephuxsuksaaelakahndkarphthnabukhkhlinechingbwk sungekhakbkarsuksaincitwithyaodythwipinpraednwa karphthnamnusysamarththungkhwamlmehlwidxyangir sakhayxyni xacchiihehnwa karsnicaekheruxngkhxngorkhxaccamiphlepnkhwamekhaicthiimsmburnhruxcakd ekiywkbsphaphbukhkhl khawa chiwitthidi the good life thidngedimmacakaenwkhidkhxngxarisotetil macakkhwamkhidtang knwa xairepnsingthimikhunkhathisudinchiwit khuxxairepnpccythisngesrimchiwitihdithisudihbriburnthisud aemwacaimminiyamthiaennxn aetnkwichakarinsakhanimimtiwa bukhkhlkhwrcamichiwitthimikhwamsukh happy imxyuwang engaged aelamikhwamhmay meaningful ephuxthicaprasbkb chiwitthidi sastracarymartin eslikaemn phuepriybidwaepnbidakhxngsastrni klawthungchiwitthidiwa epnkarichkhwamekhmaekhngthiimehmuxnikhrkhxngkhunthuk wn inkarsrangkhwamsukhthiaethcringaelakhwamphxicthilnehlux praednkhwamsnickhxngnkwichakarinsakhanirwmthngsphawatang khxngsukharmn pleasure flow khaniym khwamekhmaekhng cudaekhng khunthrrm khwamsamarthphiess phrswrrkh aelawithikarthirabbaelasthabnthangsngkhmsamarthsrangsngesrimpccytang ehlani odymipraednhlk 4 xyangdngtxipnikhux 1 prasbkarnechingbwk 2 lksnathangcit psychological trait sungkhngthn 3 khwamsmphnththidikbphuxun 4 sthabnthisngesrimkarphthnainaenwkhidni nkwicyaelankprachybangphwk echn s eslikaemn idekbkhxmulephuxphthnathvsdithisamarthichepnaenwthang echn thvsdi P E R M A hrux hnngsux Character Strengths and Virtues mikarprayuktichkhwamruthiidcaksastrnihlayxyang aenwkhidhlkxyanghnungkhxngsakhanikkhux bxykhrngxnakhtmkcaepnehtuchkcungmnusy aelaxaccamakkwaxdit s eslikaemn aela s chikesnmihali phusrangaenwkhidekiywkb flow niyamcitwithyaechingbwkwa karsuksathangwithyasastrekiywkbkickrrm functioning aelakhwamecriyrungeruxng flourishing echingbwkkhxngmnusyinhlaymitirwmthngthangchiwwithya odyswntw odykhwamsmphnthkbphuxun odysthabn odywthnthrrm aelaodyhlkthwipkhxngchiwitxun swnnkcitwithyaxikkhuhnungidaesdngrupaebbkhxngsukhphaphcit 4 xyangkhux aebbecriyrungeruxng flourishing aebbdinrn struggling aebbtaekiyktakay floundering aelaaebbxxnkalng languishing aetwa sukhphaphcitthismburncaepnkarrwmtwknkhxngkhwamepnsukhthangxarmn emotional well being khwamepnsukhthangcit psychological well being khwamepnsukhthangsngkhm aelakarmiorkhthangcitnxy nkcitwithyaodymakisicipthixarmnphunthankhxngbukhkhl odyechuxwamixarmnphunthanrahwang 7 15 xyang sungxaccaprakxbrwmknepnprasbkarnthangxarmnthilaexiydxxnhlayaebbhlayxyang aelabxkepnnywa khwamphyayamcakacdxarmnechinglbcakchiwitxacmiphlthiimidtngic khux epnkarkacdprasbkarnthangxarmnthiluksungthisudthngodyrupaebbaelaodykhwamlaexiydxxn nxkcaknnaelw khwamphyayamephimxarmnechingbwkcaimmiphlxtonmtiepnkarldxarmnechinglb aelakarldxarmnechinglbkimidhmaykhwamwacamiphlepnkarephimxarmnechingbwk swnnkcitwithyaxikkhuhnungxthibaywa ptikiriyathangxarmnepnprasbkarnthangic core affect hlk sungkkhuxptikiriyathangxarmnphunthanthiprasbesmx aetimidsanukthung sungmiswnthngthinayindiaelaimnayindi odymimitihruxxngkhprakxbtang thiimehmuxnkn tngaettngsakhanikhuninpi 2541 idmikarlngthunthangnganwicy tiphimphwrrnkrrmthangwithyasastrepncanwnmak cdtngopraekrmkarsuksatang inradbbnthitsuksathngpriyyaothaelapriyyaexk aelamikarxxkkhawinsankkhawsakhytang smakhmcitwithyaechingbwksakl International Positive Psychology Association twyx IPPA phungcdtngkhunimnan aetkidkhyayephimsmachikepnphn cakpraethstang 80 praeths cudmunghmaykhxngxngkhkrrwmthng 1 sngesrimsastrcitwithyaechingbwkthwolk aelasrangkhwammnicwa sastrnicadarngxyuinthankhxngwithyasastr 2 daeninnganephuxprayuktichcitwithyaechingbwkxyangmiprasiththiphlxyangmikhwamrbphidchxb indantang rwmthngcitwithyaxngkhkr citwithyaechingihkhapruksaaelaaebbrksa thurkic sukhphaph karsuksa aelakarfukxbrm 3 xupthmphkarsuksaaelakarfukxbrminsakhani epahmay inkarbabdthangprachan cognitive therapy cudmunghmaykephuxchwyihbukhkhlepliynkhwamkhidechinglb ephuxepliynkhwamrusukkhxngtn withiniichidphldi khuxkarepliynkhwamkhidekiywkbphuxun ekiywkbxnakht aelaekiywkbtnexng epnehtukxkhwamsaercodyswnhnung krabwnkarkhwamkhidthimiphltxsphawathangxarmnkhxngeraaetktangknipinaetlabukhkhl khwamsamarthinkarthxnkhwamsnicipcakkhwamkhidsasakmipraoychntxkhwamxyuepnsukh nxkcaknnaelw karepliynaenwkhidineruxngewlasamarthmixiththiphltxkhwamkhidkhxngeraekiywkbkhwamsukh s eslikaemnidrabuepahmayxun ephuxichsastrni khux srangkhrxbkhrwaelaorngeriynthichwyihedkphthna srangthithanganodymiepahmayephuxsrangkhwamphxicaelaphlitphlthisung aelakarsxnphuxunekiywkbcitwithyaechingbwkphunephnkcitwithyamnusyniymhlaythanrwmthng s xbrahm masolw idphthnathngphakhthvsdiaelaphakhptibtiekiywkbkhwamsukhaelakhwamecriyrungeruxngkhxngmnusy txmankcitwithyaechingbwkcungidphbhlkthanechingprasbkarnthisnbsnunthvsdiehlann aelwidsrangkhwamkawhnaindantang sahrb s eslikaemn citwithyaodyechphaacitwithyaechingbwk samarthtrwcsxbaelaoprohmtwithikarthiidphlcringephuxxupphmphkhwamxyuepnsukhkhxngthngbukhkhlaelachumchn sastrnierimtngepnsakhayxykhxngcitwithyaerimthipi 2541 emux s eslikaemnideluxkmnepntimkhxngxngkhkremuxthahnathiepnprathankhxngsmakhmcitwithyaxemrikn American Psychological Association aemwasphthcaerimichepnkhrngaerkody s xbrahm masolw inhnngsuxpi 2497 Motivation and Personality aelamitwchibxkwa nkcitwithyatngaetkhristthswrrs 1950 erimcaphungkhwamsnicmakkhunipthikarsngesrimsukhphaphcitaethnthikarrksaorkhephiyngxyangediyw inpraoykhaerkinhnngsuxkhxngekhachuxwa khwamsukhthiaethcring Authentic Happiness s eslikaemnxangwa inkhrungstwrrsthiphanma citwithyathukklunipinpraedneruxngediywethann khux orkhcit xi odyepnkaresrimkhxsngektkhxng s masolw ekhacungsnbsnunihnkcitwithyasubtxpharkicthiekhymixikxyanghnung khux chwysngesrimkhwamsamarthphiesskhxngkhnaetlakhn aelachwyephimkhunphaphkhxngchiwitaemthiimmiorkh swnnganprachumcitwithyaechingbwkekidkhunepnkhrngaerkinpi 2542 aelanganprachumsaklpi 2545 aelwsatharnchnkidhnmasnicsastrniephimkhuneriminpi 2549 emuxwichathiichmulthanediywknthimhawithyalyharwardidklayepnkhxrsyxdniym ineduxnmithunayn 2552 karprachumihyolkineruxngcitwithyaechingbwkkhrngthi 1 First World Congress on Positive Psychology kekidkhunthimhawithyalyephnsileweniy praethsshrthxemrika citwithyaechingbwkepnsastrlasudxyanghnungkhxngmnusythiphyayamekhaicthrrmchatikhxngkhwamsukhaelakhwamxyuepnsukh aetkimichepnsastraerkthisubpraednpyhani aelankwichakarchawtawntkkmikhwamehntang knwa citwithyaechingbwk hmaythungxaeir sukharmnniym hruxrtiniym xngkvs Hedonism phungkhwamsnicipinkarhakhwamsukhwaepnxngkhprakxbphunthankhxng chiwitthidi chawhibruaerk echuxinthvsdikhasngbychakhxngphraeca divine command theory sunghakhwamsukhodyichchiwittamkhasnghruxkdthitngkhunodyphraeca swnkhnkrikobrankhidwa khwamsukhsamarthhaidphantrrksastraelakarwiekhraahxyangmiehtuphl insasnaxislam khwamsukhmacak khwamximxkximic a contented heart sungsamarthidcakkarralukthungphraecaaelakhwamphxickhxngphraxngkh khux ickhxngphuthisrththacaphbkhwamphxicinkarralukthung karimlum xllxh khuximtxngsngsyelywa karimlumxllxhthaihicsamarthphbkhwamphxicid swnsasnakhristmimulthaninkarhakhwamsukhinkhasxnaelachiwitkhxngphraeysu phuetmipdwykhwamrkaelakhwamemtta insasnabaih khwamsukhsmphnthxyangiklchidkbhlkkhunthrrmkhxngcitwithyaechingbwk sungmxngwakhunthrrmepnkracksxngchuxaelalksnakhxngphraeca aelaepnkhwamhmaykhxngchiwit swnsasnaphuththmirakthanthiechphaaecaacngineruxngkhwamekhaicsphaphciticaelakhwamsukh phraphuththecathrngsxnwa chiwitepnthukkh thiekidcakkaryudmnaenwkhidhruxkhwamhwngekiywkbchiwitaelathrrmchatikhwamcringthiimprakxbdwykusolbay aelasxnwa karptibtitamxriymrrkhmixngkh 8 sungepnhlkthismphnthkbkarichchiwitthiprakxbdwycriythrrmaelakhwamemttakruna cachwykacdkhwamrusukwamitwtnthiimepnkusolbay aelakacdkhwamthukkhthimaphrxmkbkarimehnkhwamcringkhxngchiwit inpccubn minkwithyasastrcanwnhnungthikalngsuksakhasxnkhxngphraphuththeca aelaechuxmkhasxnkbkhwamruthangprasathwithyasastrineruxngsti karxbrmcit aelawithikarichchiwitepnxisracakkhwamyudmnthiimdi ephuxihmichiwitthiepnkusl thukcriythrrm aelamikhwamsukhyingkwa sastrnipccubnkawhnamakthisudinshrthxemrikaaelayuorptawntk aetthungaemwasastrnicaihaenwkhidaelakhwamruihm ineruxngxarmnaelaphvtikrrmechingbwk aetixediy thvsdi nganwicy aelaaerngcungicephuxkarsuksaeruxngbwkkhxngphvtikrrmmnusy khwamcringkepneruxngekaaekethakbprawtisastrmnusyexng multhantamprawti citwithyaechingbwkmirakthanincitwithyamnusyniym humanistic psychology thiecriyrungeruxnginsmykhriststwrrsthi 20 thiphungkhwamsnicipineruxngkhwamsukhaelakhwamphxicinchiwit aelaephraawacitwithyaimidmirakthanthangwithyasastrehmuxninrupaebbpccubncnkrathngthaykhriststwrrsthi 19 xiththiphlthimakxnhnannmacakhlkprchyaaelasasna khnkrikobranmikhwamkhidhlayaenwhlaysank oskratissnbsnunixediywa khwamruekiywkbtn self knowledge epnthangihthungkhwamsukh swnnithanepriybethiybkhxngephlotekiywkbthamixiththiphltxnkprachychawtawntkthiechuxwa khwamsukhcaidmacakkarhakhwamhmaychiwitthiluksung swnxarisotetilechuxwakhwamsukh hruxthiekhaeriykwa eudaimonia macakkickrrmthimiehtuphltamhlkkhunthrrmtlxdchiwitthibriburn swnexphiekhiywrsechuxwa khwamsukhmacakkhwamyindiphxicineruxngngay lththisotxikechuxwa bukhkhlsamarthdarngkhwamsukhodykhwamkhidthiepnklangaelamiehtuphl aelaidxthibaythung aebbfukhdthangcitwiyyan thikhlaykbaebbfukhdthiichinkarbabdodykarprbepliynkhwamkhidaelaphvtikrrm cognitive behavioral therapy aelaincitwithyaechingbwk swnsasnayudahmihlkprchyaekaaekkwa 3 000 piineruxngkhwamsukh aelaechuxinthvsdikhasngbychakhxngphraeca divine command theory ephuxhakhwamsukh khux khwamsukhaelarangwlchiwitcaidmacakkarthatamkhasngkhxngphraeca txmasasnakhristkyngsubtxkhwamechuxekiywkbthvsdikhasngbychakhxngphraeca inchwngsmyklang sasnakhristsxnwakhwamsukhthiaethcringcamiidktxemuxthungchiwithlngkhwamtay bap 7 prakarepneruxngkarplxytwihhmkmuninolkiy self indulgence aelakarhlngtnexng aelaodytrngknkham khunthrrmhlk 4 xyang aelakhunthrrmrafaexlxik 3 xyang epntwpxngknkarthabap insmyfunfusilpwithyaaelainyukheruxngpyya pceckniym individualism khuxlththithiihkhwamsakhyinsiththiaelakhwamepnxisrakhxngaetlakhnkerimrungeruxngkhun inewlaediywkn bukhkhlthimikhwamkhidsrangsrrkhkerimmiskdisriephimkhun odyphicarnawaepnnksilp aethnthicaepnephiyngaekhchangfimuxthrrmda swnnkprachylththipraoychnniymechuxwa karkrathathithuksilthrrm moral action kkhuxkarkrathathiihekidkhwamsukhmakthisudaekkhnmakthisud aelaesnxwa withyasastrthixasyhlkthanechingprasbkarnkhwrichepntwkahndwa karkrathaxairthuksilthrrm odyepnwithyasastrekiywkbsilthrrm swnthxms ecfefxrsn aelaphusnbsnunprachathipityxun echuxwa chiwit esriphaph aelakaresaaaeswnghakhwamsukhepnsiththithiphrakcakbukhkhlimid aelakarlaemidsiththiechnniepnehtuphlsmkhwrthicaokhnlmrthbal lththisilpacintniymihkhunkhakbkaraesdngxxkthangxarmnkhxngaetlabukhkhl odybukhkhlcaphyayamsubha twtnthiaethcring thangxarmn odyimkhanungthungxupsrrkhechnmatrthanthangsngkhm inewlaediywkn xyangnxyinolkchntawntk khwamrkaelakhwamsnithsnmklayepnaerngcungichlkinkaraetngnganwithikarcitwithyaechingbwksnicinpraedn 3 xyangkhux xarmnechingbwk positive emotion lksnaechingbwkkhxngaetlabukhkhl positive individual trait aelasthabnthioprohmthlkcitwithyaechingbwk positive institution xarmnechingbwkkechnkhwamphungphxicinxdit karmikhwamsukhinpccubn aelakarmikhwamhwnginxnakht lksnaechingbwkkkhuxkhwamsamarthphiesshruxkhwamekhmaekhng strength aelakhunthrrmkhxngaetlabukhkhl aelasthabnechingbwk epnsthabnthiichhlkkhwamekhmaekhnginkarphthnachumchn swnkhwamsukh Happiness hmaythungpraktkarnthangxarmnaelathangcittang withikarwdkhwamsukhthiichxyanghnungkkhuxchudkhathamthieriykwa Satisfaction with Life Scale tamphusrang phlthiidcakphutxbchudkhathamniekhakbkhwamrusukcakephuxnaelakhrxbkhrw aelasmphnthkbkhwamsumesrathinxylng tnthica Remembering self xaccaimichaehlngkhxmuldithisudephuxthaih tnthiprasb rusuk Experiencing self mikhwamsukh aethnthicaichkarpraeminaebbrayayawaebbthwip withikarwdbangxyangphyayamkahndxarmnkhwamrusukthidiodyaebngepnkickrrm khux nkwithyasastrichwithyutidtamtwephuxetuxnxasasmkhrihbnthukraylaexiydekiywkbsthankarnkhxngtnemuxsngsyyanetuxn hruxxikwithihnungkkhux xasasmkhrcabnthukraylaexiydkhxngchiwitemuxwaninxnuthininaetlaecha khwamimsxdkhlxngknthinasnicekidkhunemuxnkwicyepriybethiybphlthiidcakwithikarwdprasbkarnaetlakhna echnni kbkarpraeminaebbrayayaw khux karpraeminaebbhlngxaccaimethiyngtrng bukhkhlxaccaimruwaxairthaihchiwitnaphxiccakkhnahnungipsuxikkhnahnung yktwxyangechn karpraeminkhxngphxaemmkcabxkwalukkhxngtnepnaehlngkhwamsukh inkhnathikarpraeminepnkhna aesdngwa phxaemimidchxbduaelluk khxngtnethiybkbkickrrmxun nkcitwithya s dr aedeniyl khahnamn xthibaykhwamimsxdkhlxngknodyaebngaeykkhwamsukhtam tnthirusuk ethiybkb tnthica khux emuxihralukthungprasbkarnkhwamrusukinxdit khwamexnexiyngthangkhwamca memory bias echn Peak End effect thieramkcacaprasbkarnthirathukicnatunetn aelaprasbkarnsudthaymakthisud mibthbaththisakhy miphlnganwicyekiywkbkhnikh colonoscopy karsxngklxngphanthwarhnkephuxduchwngthaykhxnglaisihy thinathungxyanghnung khux dr khahnamnphbwa thaephimewlakarsxngklxngkhun 60 winathi khnikhklawwakarsxngklxng thipktiepnkartrwcsxbthiimsbay rusuksbaykwa ephiyngaettxngimkhybklxnginchwngthay 60 winathi ephraawa karkhybklxngepnehtukxkhwamrusukimsbaymakthisud dr khahnamnihehtuphlwa tnthica mkcaphungkhwamsnicepnthichwngthaykhxngprasbkarn phlnganwicyeyiyngnichwyxthibaykhwamphidphladkhxngmnusyinkarphyakrnxarmnkhwamrusukkhxngtnexnginxnakht nkcitwithyaidphthnachudkhatham Oxford Happiness Questionnaire odyhmayepntwwdkhwamepnsukhthangciticaebbkwang aetwaaebbkhathamthukwicarnwa immirakthanxyukbaebbcalxngthangthvsdiekiywkbkhwamsukh aelaehluxmkbaenwkhidxun echn khwamekharphtn self esteem khwamrusukwamikhwamhmay sense of purpose khwamsnicthangsngkhm khwamemtta khwammimuktlk sense of humor aelakhwamrukhunkhakhxngsingswyngam aesthetic appreciation thangprasathwithyasastr prasathwithyasastraelakarsrangphaphsmxng brain imaging ephimsmrrthphaphkhuneruxy ephuxchwyihekhaiceruxngkhwamsukhaelakhwamesra thungaemwaxaccaepnipimidthicawdkhwamsukhthiepnprwisy objective xyangsmburn aetwa kyngsamarthwdlksnatang thangkayphaphthismphnthkbkhwamsukh echnhnngsux withyasastraehngkhwamsukh The Science of Happiness idechuxmlksnaphlwtkhxngrabbprasathchiwwithya echn rabbprasaththimakipdwyodphamin kbaenwkhidaelaphlkarsuksakhxngcitwithyaechingbwkaelacitwithyasngkhm hruxwaphuidrbrangwlonebl s xirik aekhnedilaelaphurwmnganidwinicchyphawasumesraidodyephiyngaekhduphaphsmxngthithaody fMRI ephiyngethann odykahndsmphnthphaphthangprasath neural correlate kbxarmn nkwithyasastrxacsamarthichethkhnikhechn karsrangphaphsmxngodyich fMRI ephuxhakhxmulephimekiywkbkhwamsukhaebbtang echn nkcitwithyaphuhnungthanganwicyephuxkahndswnkhxngsmxngthimiswnrwmkbxarmnechingbwk aelwphbwa prefrontal cortex dansay thanganmakkwaemuxekidkhwamsukh aelasmphnthkbkhwamsamarthinkarfuntwcakxarmnechinglb aelakhwamsamarththiephimkhuninkarrangbxarmnechinglb aelathinasnickkhux ekhaphbwa bukhkhlsamarthfuktwexngihsmxngswnnithanganephimkhun echuxknwa smxngkhxngbukhkhlsamarthepliynipidtlxdxasyprasbkarnchiwit sungepnsphaphthieriykwa neuroplasticity sphaphphlastikkhxngrabbprasath aetwakminkcitwithyakhuhnungthisuksawa xarmnxairsamarthsubthxdthangkrrmphnthu aelwphbwa khwamrusukwaepnxyudiodyrayayawkhunxyukbphnthukrrmthung 80 sunghmaykhwamwa khrxbkhrwkhxngerasakhytxchiwitthangxarmnkhxngeraemuxepnphuihy ephraawa eraidsubthxdphnthukrrmthiepntwkahndkartxbsnxngthangxarmnkhnphunthantxolkphaynxk dngnn krrmphnthucungsakhytxkhunphaphchiwitthangxarmnrayayawkhxngera makkwaphvtikrrmthieriynruhruxkhunphaphkhxngsingaewdlxminwyedktn xyangnxykodytamaebbcalxngthangsngkhm esrsthkicthiichinpccubn aetwa 20 thiehlux kyngsamarthprbepliynidodyichkhwamkhidaelaphvtikrrmthieriynrucaksingaewdlxm sungepneruxngthiimkhwrpramath thangthvsdiwiwthnakar aenwkhidthangthvsdiwiwthnakarepnxikwithihnungephuxihekhaiceruxngkhwamsukhaelakhunphaphchiwit khathamaenaaenwthangthiepnkuyaecsakhykkhux khunlksnaxairinsmxngthichwyihmnusyaeykaeyarahwangsphawaechingbwkaelaechinglbincitid aelakhunlksnaechnnichwyephimkhwamsamarthinkarxyurxdaelasubphnthuidxyangir phuthioprohmtmummxngthangwiwthnakarxangwa khatxbtxkhathamehlanisamarthchwyihekhaicidwa khwamsukhkhuxxair aelaekhaicthungwithithidithisudinkarchwypraoychncaksmrrthphaphthangsmxngkhxngmnusythimi epnmummxngthiaesdngxyanglaexiydxyangepnrupnyinhnngsux khwamsukhaebbdarwin Darwinian Happiness eruxngthwipthiphbodypraednkhwamsukhidklayepneruxngthiniymmaphudkhuykninsux odyechphaainolktawntk mingansuksamakmaythiphyayamikhpccythimiswnekiywkhxngkbkhwamsukh praedndngtxipniepnsingthingansuksatang idkhnphb xayu wikvtkarnwyklangkhn midlife crisis xacepncuderimtnthichdecnemuxkhwamsukhinchiwiterimldlnginbukhkhlthwip mihlkthanthiaesdngnywa khnodymakmkcamikhwamsukhkhunemuxxayumakkhun ykewninwyrahwang 40 50 pi sungepnchwngwypktithi wikvtikarn xaccaekid nkwicyidkahndwa bukhkhlinchwngxayu 20 29 aela 70 79 mikhwamsukhmakkwainchwngwyklangkhn aemwa radbkhwamsukhxaccaepliyninxtrathitang kn yktwxyangechn khwamekhriydaelakhwamokrthmkcaldlnghlngxayu 20 khwamwitkkngwlhlngxayu 50 aelakhwamyindiphxicinchiwitldlngxyangcha inwyphuihy aetinthisudcaephimkhunhlngcakwy 50 singthikhnphbehlanimimulthancakkhxmulthirwbrwmmaepnthswrrs kbklumbukhkhlthimilksnakhlaykhlungkn cohort odyepnkarekbkhxmulodymikarkhwbkhum echn nkwicycaimisicinkarldlngkhxngkhwamsukhinchwngwyklangkhnthaekidcakprasbkarnrwmknkhxngbukhkhlinklumnn echnekidcaksngkhram nxkcaknnaelw yngmikarkhwbkhumrayid sthanathangkarngan aelakhwamepnphxaem ephuxthicakahndaeykihchdecnthungphlthimacakxayu nkwicyphbhlkthanwa wythiepliynipmiphltxkhwamsukhinchiwit aetnixaccamiehtuhlayxyang pccythangciticrwmthngkhwamsanukruthungtnexngaelathungkhwamchxbickhxngtnexngmakkhun khwamsamarthkhwbkhumkhwamtxngkaraelamikhwamkhadhwnginchiwitthismehtusmphlmakkhun ephraakhwammunghwngthiimsmehtuphlmkcaepntwsrangkhwamthukkh aelakariklkhwamtaymakkhunxaccaepnaerngcungicihphyayamekhathungcudhmayswntwinchiwitmakkhun aelathksathangsngkhmtang echnkarihxphy xaccatxngichewlahlaypiephuxphthna sungepnthksathichwyihmikhwamsukhyingkhun hruxwa khnthimikhwamsukhkwaxaccamichiwityunnankwa aeladngnncungmimakkwainklumprachakrkhnmixayu nxkcaknnaelw karepliynaeplngthangekhmichiwphaphthismphnthkbxayuxaccamibthbath nganwicyxunphbwa aemwakhnthimixayumakkwacaraynganpyhathangsukhphaphmakkwa aetpyhainchiwitodyrwm klbminxykwa ephraawaphuihythimixayunxykwarayngankhwamokrth khwamwitkkngwl khwamesrasum pyhakarengin pyhakhwamsmphnthkbphuxun aelakhwamekhriydineruxngkarnganmakkwa nkwicyyngesnxxikdwywa phawasumesrainkhnmixayuekidcakkarxyuechy imthakickrrm aelaaenanawaihthakickrrmthinakhwamsukhmaihinchiwittxiperuxy aememuxmixayuephimkhun aebbcalxngaebbcakdkickrrm activity restriction model ekiywkbphawaesrasumxyanghnungaesdngnywa singkxkhwamekhriydthiekhaipkhdkhwangkickrrmpktiinchiwitpracawnsamarthldradbsukhphaphcitid khnmixayumkcathukcakdkickrrmenuxngcakpccythangxayutang dngnn karephimkickrrminchiwitpracawn bwkkbkhwamchwyehluxxupthmphthangsngkhmsamarthldkarthukcakdkickrrm 167 ephs tngaetpi 2519 radbkhwamsukhkhxnghyingchawtawntkthildlngthaihnkwicyechuxwaphuchaymikhwamsukhkwaphuhying phlthiphbxaccaepnephraawa hyingaelachayphicarnakhwamsukhtang kn khux hyingkahndkhwamekharphtn self esteem khwamiklchidkhxngkhwamsmphnth aelasasna inkhnathichaykahndkhwamekharphtn kickrrminewlawang aelakhwamsamarthkhwbkhumciticid dngnn hyingaelachayxaccaimidmikhwamsukhthitangkn aetwainchwngtn inchiwit hyingmioxkassungkwathicaekhathungepahmaychiwit echn ineruxngthrphysmbtiaelaineruxngchiwitkhrxbkhrw aeladngnn epnkarephimkhwamphxicaelakhwamsukhodythwipkhxngchiwit aetthungaemwachaycaekhathungepahmaychiwitidchakwa aetkphxicinchiwitkhrxbkhrwaelasthanakarenginmakkwa aeladngnn cungsukhmakkwahyingodythw ip khaxthibaythiepnipidxikxyanghnungkkhux karmikarnganinbanthiaebngthaimethakn hruxwahyingprasbkbxarmnkhun lng makkwa aetwa xaccamikhwamsukhkwa odythwip dngnn phlkhxngephstxkhwamepnsukhcungimkhxylngrxykn echn chayraynganwamikhwamsukhnxykwahying aethyingklbesiyngtxphawasumesramakkwachay nganwicyinpraethsxihranpi 2556 suksabthbathkhxngephsaelaxayukbpraedntang thangcitwithyaechingbwk rwmthngkhwamaekhngaekrngthangcit psychological hardiness khwamchladthangxarmn emotional intelligence khwamechuxmnintn self efficacy aelakhwamsukh kbkhnxihranrwmthngedkwyrun 200 khnaelaphuihyxayunxyxik 200 khn odyichkhatham nganphbwa chaymikhwamaekhngaekrngthangcit echanpyyathangxarmn khwamechuxmnintn aelakhwamsukh inxtrathisungkwaxyangsakhyimwacaxayuethair aetwakmingansuksahnungekiywkbedk thiphuekhiynxthibaywa bidamioxkasthicaaesdngphvtikrrmechingbwkkbluksawmakkwalukchay aelaphbwa odythwipaelw edkhyingmikhwamsukhmakkwaedkchayodythwip karengin emuxthungradbbukhkhlchnklangthangessthkicaelw xaccadithisudthicaichewlaaelakhwamphyayaminkarthanganthichxb aelasrangekhruxkhaythangsngkhmthinaphxicihkhwamsukh inhnngsux sadudecxkhwamsukh Stumbling on Happiness phuekhiynnkcitwithyaidxthibaythungnganwicythibxkepnnywa karenginsakhytxkhncn thipccyphunthaninchiwityngmiimphrxm aetsakhyldlngxyangmakemuxthungradbbukhkhlchnklangaelw thieriykwa Easterlin paradox echninngansuksahnunginpraethsshrthxemrikaphbwa enginthxngimchwyykradbkhwamsukhhlngcakthithaenginidkwa 75 000 dxllarshrth txpi praman 2 682 750 bath hruxepnengineduxnkxnphasithi 223 563 bath ethiybkbrayidechliythngpraethsthi 55 904 dxllartxpi aetprachachnklbpraeminkhwamsukhephraaehtuaehngrayidekincringpraman 100 odyxangsastracaryesrsthsastrthanhnung Richard Easterlin thiihkhxsngektwa khwamsukhcaknganimichmiehtumacakengineduxnethann khux karmienginehluxephuxichinsingxanwykhwamsadwkimidephimkhwamsukhethakbkhwamyindiphxicthiidcaknganhruxekhruxkhaysngkhm dngnn phuekhiynhnngsuxcungyunkranwa bukhkhlkhwrcahanganthitnchxb aelahawithithicathanganechnnnephuxeliyngchiwit odyihisiceruxngkhwamsmphnththangsngkhmprakxbipdwy swnnganwicyinpi 2551 idkhdkhanaenwkhidkhxng Easterlin paradox khuxkhxmulthiekbmacakpraethstang aesdngwaphlitphnthmwlrwminpraeths GDP smphnthkbkarxyuepnsukh aelaimmiinkhxmulthiaesdngwa emuxpraethsrwykhun khwamsukhthiprachachnrusukcaldnxylng ngancungsrupwa khwamecriythangesrsthkiccring chwyephimkhwamsukh khwamrarwysmphnthxyangmikalngkbkhwamyindiphxicinchiwit life satisfaction aetwa khwamsmphnthrahwangenginkbkhwamepnsukhthangxarmn emotional well being klbxxn khwamphyayamhaenginxaccathaihbukhkhlimsnickickrrmewlawangaelakhwamsmphnthkbkhnxun sungepnsingthiepnehtuhruxchwyihekidkhwamsukh karhaenginodyesiyngthaxntraytxkhwamsmphnthkbbukhkhlxun hruxodymikhwamyindiphxictxkickrrmewlawangepnekhruxngesn xaccaepnwithihakhwamsukhthiimsukhumrxbkhxb mihlkthanaesdngwa engin hruxwakarhaenginaebbriberng samarthkidkhwangkhwamsamarthinkarephimrschati savoring khxngchiwit khuxkarkrathathiesrimephimkhwamyindiinprasbkarnaelaephimxarmnechingbwk inngansuksaekiywkbphuihywythangan bukhkhlthirarwykwaraynganwasamarthesrimephimkhwamyindiphxicinchiwitidnxykwaphuthirarwynxykwa ngansuksapkticaphbwa prachachnkhxngpraethstang camikhwamsukhkwaemuxmipccythicaepntxchiwitephiyngphx aetkmingansuksathiesnxwa bukhkhlcamikhwamsukhmakkwathaichengininkarthakicaeswnghaprasbkarntang aethnthicaichsuxsingkhxng aelamingansuksathiphbwakhnthithukrangwllxtetxricaraynganradbkhwamsukhthisungkwahlngcakthukrangwl aetkphbwa radbkhwamsukhcatklngsuradbxtrapktiphayinimkieduxnhruximkipi khuxngansuksaphbwa enginxaccaimichepnehtukhxngkhwamsukhrayayaw karsuksaaelakhwamchlad kwichawxngkvs othms ekry idrcnaiwwa emuxkhwamimruepnkhwamaesnsaray mnepnkhwamongthicaepnkhnchlad nganwicyaesdngwa thngkarsuksathidiaelakarmiradbechawnpyyasung imaenthicaephimradbkhwamsukh nkcitwithyaphuchanayineruxngkhwamechiywchaykhnhnungxangwa radbechawnpyyathisungkwa 120 aetmcamixiththiphlnxylngtxkhwamsaercinchiwit snnisthanidwa radbechawnpyyathisungkwa 120 imidepnehtukhxngpccythithaihekidkhwamsukhxun echnkhwamsaercinchiwit ykewninxachiphechnfisiksthvsdi thiradbechawnpyyaepntwphyakrnkhwamsaercthidi dngnn emuxthungechawnpyyainradbthiwann karmithksathangsngkhmhruxphupruksathidimiphldikwa emuxekiywkbkbkhwamsukh radbechawnpyyaaelakarsuksaxaccachwyihidpccyinchiwitinradbkhxngkhnchnklangethann khux dngthiwamakxn khwamrarwy kwainradbniduehmuxncamiphlnxytxradbkhwamsukh s eslikaemnidklawiwwa inthanakhxngsastracary phmimchxbicphlthiwani khuxwa khunsmbtithangpyya echn khwamifruifehn hruxkhwamsnicxyakeriynru smphnthkbkhwamsukhnxykwakhunthrrminrahwangbukhkhl echn khwamemtta khwamsabsungkhunkhn hruxsmrrthphaphinkhwamrk phuxun khwamepnphxaem aemcaklawknwa khwamepnphxaemepnprasbkarnthicaepninkhwamepnphuihy aetngansuksaaesdngphlthiimsmaesmxwa phxaemraynganradbkhwamsukhthisungkwakhnimichphxaemhruxim prasbkarnthwipxaccaaesdngwakarmilukthaihkhuchiwitiklchidsnithsnmknmakkhun aetnganwicyklbaesdngwa khuchiwitphxicinchiwitnxylnghlngcakekidlukkhnaerk khux khwamyindiinkarmilukimphxepnkhathdaethnkhwamrbphidchxbinkhwamepnphxaem odyxasykarraynganepntwelkhkhxngphxaem nkwicyphbwa phxaemchxbthakickrrmxyangxun ekuxbthnghmdmakkwaduaellukkhxngtn aetinnyklbkn karraynganradbkhwamsukhkhxngphxaemklbsungkwaphuthiimichphxaem aetnixaccaepnephraawakhnthimikhwamsukhmakkwaxyuaelwcamilukmakkwa nxkcaknnaelw xaccaepnephraawa inrayayaw karmilukihkhwamhmayinchiwitmakkwa ngansuksahnungphbwa karmilukcnthung 3 khnephimkhwamsukhinphuthiaetngngan aetphlimepnechnnninklumxun khnthisnbsnunaenwkhidihimmilukyunynwa niepnephraawabukhkhlsamarthmichiwitthimikhwamsukh thikxpraoychnidodyimtxnglabakepnphxepnaem odyepriybethiybkn mingansuksahlaynganthiphbwa karmilukthaihphxaemmikhwamsukhnxylng emuxethiybkbbukhkhlthiimichphxaem phuthimilukmikhwamxyuepnsukhaelakhwamphxicinchiwitinradbthitakwa nxkcaknnaelw phxaemraynganwarusukesrasum aelawitkkngwlmakkwa aetwa thaepriybethiybphuihythiimmilukkbphxaemthilukotxxkcakbanipaelw karepnphxaemsmphnthkbkhwamepnsukhthangic khnxemriknphbwa karepnphxaeminchwngkhristthswrrs 1970 thaihekhriydmakkwainchwng 1950 sungechuxknwaepnephraakhwamepliynaeplngthangsngkhmekiywkbnganxachiphaelachiwitaetngngan chdecnwa chaymikhwamsukhnxylnghlngcakmilukenuxngcakkhwamkddnthangkarenginaelahnathikhxngphx pyharahwangkhusmrsxaccaekidkhunemuximxyakcathahnathitampraephni hruxwamibthbathhnathithitxngthamakkhun khwamrbphidchxbinkareliynglukthiimethaknrahwangchayhyingduehmuxncaepnehtukhxngkhwamaetktangkhxngkhwamyindiphxicni khuxphxthithangandwy aelamihnathieliynglukthietha kndwy mikhwamyindinxythisud aelanganwicykphbwa phxhruxaemthieliynglukodylaphngekhriydmakkwa aelaraynganwamipyhathangcitmakkwaphxaemthiyngxyudwykn karaetngngan s eslikaemnidekhiyniwwa odythiimehmuxnenginsungmiphlxyangmakknidediyw karaetngngansmphnthxyangmikalngkbkhwamsukh aetwa inkhwamkhidkhxngphm yngimchdecnwaxairepnehtukhxngkhwamcringthiphankarthdsxbaelwwa bukhkhlthiaetngnganmikhwamsukhkwabukhkhlthiimidaetng 55 56 khux bukhkhlthiaetngnganraynganwamikhwamsukhaelakhwamxyuepnsukhinradbthisungkwakhnosd swnnganwicyxunaesdngwa khwamsukhkhxngbukhkhlkhunxyukbkhwamsukhkhxngkhusmrs aelaemuxtham khusmrscaraynganradbkhwamsukhinradbikl kn nganwicyyngphbdwywa radbkhwamsukhkhxngkhusmrscaphnaepripehmuxn kn thasamiraynganwa epnspdahthiimdi phrryakcarayngankhlay kn mikhxmulnxymakinaebbkarmikhuxyangxun echn karmikhukhrxnghlaykhn polyamory aemwa ngansuksahnungcaphbwa ladbkarepnphrryaimmiphlsakhytxkhwamyindiphxicinchiwitaetngnganodythwip aetraynganniphbwa phrryathixayunxykwamikhwamsukhkwaphrryathiaekkwa aetngansuksakhnadihypi 2003 nganhnunginpraethseyxrmniimphbkhwamaetktangkhxngkhwamsukhrahwangkhnthiaetngnganhruximidaetngngan aetwakmingansuksatang thiphbwa bukhkhlthimikhusmrsmikhwamsukhsmaesmxkwa aelaphxicinchiwitmakkwabukhkhlthiepnosd aelamingansuksaxunthiaesdngwa karaetngnganepntwphyakrnthisakhyepnphiessxyangediywtxkhwamyindiphxicinchiwitthnginhyingaelachay aetwa bukhkhlthiyindiphxicinchiwitmakkwakxnaetngngan mkcamichiwitaetngnganthisukhmakkwa singthinaaeplkicxyanghnungkkhux khwamsmphnthrahwangkaraetngngankbkarxyuepnsukhidldlngeruxy inpraethsshrthxemrikatngaetkhristthswrrs 1970 enuxngcakhyingraynganwa mikhwamsukhnxykwathiekhyepnmakxn aelachaythiepnosdraynganwamikhwamsukhmakkwathiekhyepnmakxn thvsdihnungaesdngwa khwamrkmisxngpccy khux khwamrkaebberarxn passionate aelakhwamrkaebbepnephuxn companionate aebberarxnmilksnaepnkhwamohyhaprarthnaxyangrunaerngtxkhnthirk sungbxykhrngprasbidphankhwampitiyindihruxkarmiephssmphnth hruxaemaetkarthukbxkpd odyepriybethiybkn khwamrkchnephuxnsmphnthkbkhwamrkkhwamchxbic khwamepnmitr aelakarihkhamnsyyatxknaelakn tamthvsdini thngkhwamrkaebberarxnaelaaebbchnephuxnepnrakthankhxngkhwamrkthukxyangthibukhkhlhnung xaccaprasb bukhlikphaph s dr exd idenxr chaya dr khwamsukh aelakhna esnxsmkarniwa xarmnechingbwk xarmnechinglb khwamxyuepnsukhthiepnxtwisy subjective well being enuxngkhwamonmexiynginkarmixarmnechingbwkmishsmphnth thi 0 8 kbbukhlikphaphaebbhakhwamphxicnxktw extraversion aelakhwamonmexiyngthicamixarmnechinglbaethbcaimtangkbbukhlikphaphaebb neuroticism dngnn smkarthiaesdngkxnsamarthekhiynidwa extraversion neuroticism khwamsukh lksnathangbukhlikphaphsxngxyangnixaccaxthibaykhwamaetktangkhxngkhwamsukhrahwangbukhkhlidthung 50 75 odykhunlksnaehlanimacakthvsdilksnabukhlikphaphihy 5 xyang bukhkhlthimikhwamesthiyrthangxarmn thitrngkhamkb neuroticism mishsmphnthinradbdikbkhwamsukh khwamesthiyrthangxarmnimichthaihbukhkhlonmexiyngipthangxarmnechinglbnxylngethann aetyngepntwphyakrnechawnpyyathangsngkhm social intelligence thidixikdwy sungepnkhunlksnathichwybriharkhwamsmphnthkbphuxun sungsakhytxkarmikhwamsukh dngnn karsrangaelaphthnaphunxarmn temperament aebbhakhwamphxicnxktw xaccasmphnthkbkhwamsukhinlksnaediywkn khux ephraachwysrangkhwamsmphnthaelaklumyatiephuxnfungthiihkhwamchwyehluxxupthmph khnbangkhnxaccaochkhdikwakhnxun inmummxngkhxngthvsdibukhlikphaphthangcitwithya ephraawamingansuksathangphnthukrrmthiaesdngwa yinthibnglksnabukhlikphaphodyechphaakkhux karhakhwamphxicinsingphaynxk extraversion khwamimesthiyrthangxarmn neuroticism khwamphithiphithn conscientiousness aelapccythwipxikxyanghnungthiechuxmlksnabukhlikphaphthng 5 samarthichxthibaythungkarsubthxdthangphnthukrrmkhxngkhwamrusukxyuepnsukhthiepnxtwisyid swnnganwicyimnanmaniesnxwa miyinkhwamsukh khux 5 HTT khwamsmphnththangsngkhm s aephnkcitewchsastrkhxngmhawithyalyharwardthanhnung George Eman Vaillant srupngansuksahnungiwwa xairinchiwitepnsingthisakhytxkar michiwitxyangprasbphlsaerc khuxinchwngkhristthswrrs 1940 nkwichakarxikthanhnungiderimngansuksathieluxknksuksakhxngmhawithyaly 268 khnthicbkarsuksainpi 1942 1943 aela 1944 odyphyayamrabupccyinchiwitthisngesrimkar michiwitxyangprasbphlsaerc txmainpi 1967 s ewaelnthcungidsubtxkarsuksani odytidtamsmphasnsarwcphlsaercinchiwitkhxngsisyekamhawithyalyehlann aelakidsmphasnxikinpi 2000 odyphbwa pccythisakhykhux sukhphaph khwamsmphnththiiklchid aelawithikaraekikhpyhakhxngsisyekaehlann dngnn kuyaecsakhyxyanghnunginkarmichiwitthisaercphlthi s ewaelnthidphbkkhux khwamsmphnthrahwangbukhkhlthidiaelaekhmaekhng swnngansuksapi 2008 thimichuxesiyngthiphimphinwarsar edxa biexmec raynganwakhwamsukhthiphbinekhruxkhaysngkhm xacsamarthaephrkracaycakbukhkhlhnungipyngxikxikkhnhnung khuxnkwicyidtidtambukhkhlcanwn 5 000 khnepnewla 20 piodyepnswnkhxngngansuksaorkhhwickhnadihy Framingham Heart Study aelwphbwa thngkhwamsukhaelakhwamthukkhkracayipinbukhkhlepnklum odyxaccakracaycakbukhkhlhnungipyngkhnxik 3 khnsubtxkn odymkcakracayiptamkhwamsmphnththiiklchidrahwangephuxn phinxng samiphrrya aelaephuxnbantid kn aelankwicyraynganwa khwamsukhkracayipxyangsmaesmxkwakhwamthukkhphayinekhruxkhay nxkcaknnaelw okhrngsrangkhxngekhruxkhaysngkhmpraktwamixiththiphltxkhwamsukh khux bukhkhlthixyuklangekhruxkhay khuxkhnthimiephuxn aelaephuxnkhxngephuxnmak mikhwamsukhxyangsakhymakkwakhnthixyuthikhxb bukhkhlthisnithsnmkbkhnxunmioxkasmakwathicamikhwamsukh dngnn odythwipaelw phlngansuksaaesdngwa khwamsukhxaccakracayipinklumbukhkhlidehmuxnkbiwrs karmiephuxnrkcachwybrrethaprasbkarnray inchiwit emuxxyukbephuxnrk radbhxromnkhwamekhriydkhuxkhxrtisxlcaldlng aelakhwamrusukwatnmikhacasungkhun nkesrsthsastrprasathkhnhnung Paul Zak suksaineruxngsilthrrm hxromn oxytocin aelakhwamiwenuxechuxicinbukhkhltang odyxasykhxmulkhxngngansuksa phuwicyaenanaihkxdkhnxunbxykhunephuxcaidnisyiwicphuxun ekhaxthibaywa kxd 8 khrngtxwn aelw khuncamikhwamsukhkhun aelaolkkcaepnthithidikhundwy aelangansuksainpi 2012 kphbwa khwamepnthichunchxbkhxngsmachikinklumsngkhmthiphbkntwtxtw sociometric status epnehtusakhytxkhwamsukhthiwdodykaraecngkhwamxyuepnsukhkhxngtnexng subjective well being phumixakas mihlkthanbangwaphumixakasthiehnphraxathitymakkwaimepntwphyakrnkhwamsukhthidi ngansuksahnunginpraethsshrthxemrika thngkhnaekhlifxreniyaelakhnrththangthisehnuxtxnklangkhxngpraeths Midwestern khadwa khnaekhlifxreniycamikhwamsukhkwaenuxngcakmiphumixakasthioprngiskwa aetcring aelw khninekhtthngsxngrayngankhwamsukhthiimidaetktangknxyangsakhy swnnkwicyxun klawwa kartakaeddxyangnxythisudephuxsukhphaphtxwnkephiyngaekh 30 nathi aetwa niimidhmaykhwamwa phumixakascaimepnpccytxkhwamsukhodyprakarthngpwng epnipidwa karepliynaeplngpktikhxngaesngxathitykxihekidkhwamsumesra thieriykwa seasonal affective disorder sungbnthxnkhwamsukh sasna sasnaaelakhwamechuxthangcitwiyyanepneruxngthiiklekhiyngknaetxacepnpraedntang kn khux sasnaxaccaeriykidwa epnraebiybkarptibtiaelakhwamechuxtamwthnthrrmthicdtngepnrabb aelabxykhrngcdtngepnsthabn odymiepahmayineruxngekiywkbkarekidepnmnusy aelamkcaekidkhuninphunephpraephnitang echn sthabnsasnatang thiphbinprawtisastr swnkhwamechuxthangcitwiyyan Spirituality hmaythungkrabwnkarsubhakhwamhmayaelakhwamekhaicephimkhunekiywkbtnthixyuinckrwalxnkwangihy epnkarsubhaodybukhkhlhruxodyklumwa xairkhwrepnsingthiekharphyaekrnghruxepnsingthiihkhwamhmayinchiwit dngnn bukhkhlhnungxaccaechuxinsasnaaetimechuxineruxngcitwiyyan hruxwa xaccaechuxineruxngcitwiyyanaetimechuxineruxngsasna mkcamihlkthanwa khwamechuxthangsasnamishsmphnthkbsukhphaphthidi phuthimisrththainsasnamkcamikhwamepnsukhthangicthidikwa thaphidkdhmaynxykwa tidehlaaelayanxykwa aelamipyhathangsngkhmxun nxykwa mipccy 6 xyangthixangwaepnehtukhxngkhwamxyuepnsukhephraaehtuaehngsasnakhux 1 chwysrangklumsngkhm 2 xupthmphkarichchiwitthithuksukhphaph 3 sngesrimlksnathangbukhlikphaphthiprasankndi 4 xupthmphkhwamkhidsrangsrrkhaelakarehnpraoychnkhxngphuxun 5 ihklyuththinkaraekpyhatang thiepnexklksn aela 6 ihkhwamhmayaelaepahmayinchiwit bukhkhlthiechuxinsasnacanwnmakprasbkbxarmnthichwysrangkhwamsmphnthechingbwkkbkhnxun aelachwyihsamarthaesdngkhaniymaelaskyphaphkhxngtn rwmthng 1 khwamyindiphxicinsingthitnidrbhruxcaidrb 2 karihxphy 3 khwamemttakrunaaelakhwamehnicphuxun aela 4 khwamthxmtnhruxkaryxmrbtn 235 252 karmiptismphnththangsngkhmepnswnkhxngprasbkarnthangsasna yngmihlkthandwywa inkhnikhbadecb khwamechuxinsasnasmphnthkbphvtikrrmthixanwykhwamsmphnththangsngkhm aelaphvtikrrmechnnnsmphnthkbkhwamxyuepnsukh nxkcaknnaelw bukhkhlthimikrrmphnthuthithaihiwkhwamrusukthangsngkhm caxyuepnsukhmakkwainsthankarnthisasnaihkhwamsakhytxkhwamekiywphnkbbukhkhlxun sasnayngthaihsamarthfuntwcakkhwamekhriydidngay thaihrusukwatnsamarthekhathungskyphaphkhxngtn self actualization iddikhun aelakxkhwamsaercinkhwamsmphnthaebbkhuchiwitaelaodyepnphxaem praoychnehlani xacekidkhunenuxngcakekiywkhxngkbsasnamakkhun karmiklumsngkhmthimnkhngnacamibthbathsakhytxphldikhxngsasna karbabdthangcitwithyaxyanghnungichsasnakhristephuxoprohmtsukhphaphthangicthidikhun swninngansuksaxiknganhnungthisxnaenwkhidthangphuththsasnakbphuthiimichkhnphuthth praktkwabukhkhlehlaniidkhaaennmakkhuninkaryxmrbkhninklumxun aelainkarmiphvtikrrmthixanwykhwamsmphnththangsngkhm aelaphlthiwaniimichmiaetinpraethstawntkethann aetinthithisasnaphuththaephrhlaydwy sungaesdngthungkhwamsmphnthkhxngsasnaphuththkbkaryxmrbkhnxun thidikwa ngansuksaniducaaesdngwa ephiyngaekhidprasbkbrabbkhwamechuxechnsasnaphuththsamarthihekidphldiinbukhkhlthiimidechuxinsasnannid aetwa minkwichakarcanwnmakthiimehndwywa praoychnthiphbepnphlcakkhwamechuxthangsasna aelabangthankhidwaimmihlkthanthichdecnelywakhwamechuxmipraoychnxair yktwxyangechn phlthangsukhphaphkhxngphumixayuthiidcakkaripobsthkhwamcringxaccaepnephiyngephraatnsamarthipobsthid ephraawa khnthisukhphaphimdiimsamarthxxkipnxkbanid nganwiekhraahxphimanphbwa nganwicythixangwamipraoychnthiidcakkhwamechuxinsasnabxykhrngimidaesdngkhxmulthiidxyangthuktxngsmburn odymipyhatang echn khwamexnexiyngenuxngcakkarraynganphldwytnexng self report bias karichklumepriybethiybthiimsmkhwr aelakarmikdeknththiimepnklang aelakmikarsuksaxunthikhdkhankarswdmntephuxpraoychnthangsukhphaphaekkhnxun odyaesdngwa emuxichwithikarthangwithyasastrxyangekhrngkhrd echn odycdkhnikhekhaklumodysum aelapxngknimihkhnikhruwamikhnswdmntihtnhruxim hlkthankcaaesdngwaimmiphlxair dngnn cungpraktwasasnaepnsingthichwyprasansngkhm aetwa sasnamipraoychninthukewlathuksthankarnhruximyngepneruxngthiyngimmikhayuti aelaimwacaepnkhwamechuxechnir aethlay khnkphbwa karepnsmachikinklumthiiklchidknchwyldkhwamwitkkngwlaelapyhathangcitxun nxkcaknnaelw yngxacmikhwamexnexiyngxyangxunthiekidcakkareluxktnexngkhxngbukhkhlthiechuxineruxngsasna dngnn praoychnthangphvtikrrmthipraktxaccaepnlksnathikhlay kninbukhkhlthieluxkhruxsamarthptibtitamkhasxnthangsasnaid aeladngnn karichkhasxnthangsasnaodywithyasastrephuxprbprungtnihmikhwamsukhkhunyngepneruxngthiimchdecn khwamechuxthangcitwiyyan mikhnhlaykhnthieriyktnexngwaechuxkhasxnthngthangsasnaaelathangcitwiyyan aetkhwamechuxthangcitwiyyanepnephiyngaekhswnhnungkhxngsasna khux khwamechuxthangcitwiyyan spirituality tamkarsuksathangcitwithyaechingbwk niyamidwaepn karsubhasingthikhwrekharph singskdisiththi singskdisiththixaccaekiywkhxngkbphraeca ekiywkbchiwit hruxeruxngxun thiekiywkbkarmichiwitxyu khux txngmxngwaepnxairthangcitwiyyanthixyunxkehnuxbukhkhlidbukhkhlhnung khwamepnsukhthangcitwiyyanaekpyhakhwamtxngkarkhxngmnusythicamixutrphaph aelaekiywkhxngkbkhwamepnxyuthidithangsngkhmaelainkarmichiwitxyu khwamepnsukhthangcitwiyyansmphnthkbphlditang echn misukhphaphthangkayaelathangcitthidikwa witkkngwlnxykwa esrasumnxykwa ekhathungskyphaphkhxngtnid self actualization mikhwamsmphnththidikbbidamarda milksnathangbukhlikphaphthidiinradbthisungkwa aelayxmrbkhwamcringiddikwa aetniimichepnkhwamsmphnthaebbepnehtu nganwicythisuksaeruxngkhwamechuxthangcitwiyyaphrxmkbsilthrrm echn khwamrk khwamemtta epntn raynganwaphlthiphbkhxngkhwamechuxthangcitwiyyan xthibayodysilthrrmiddikwa karkhnhasingskdisiththiodyepncudmunghmayswntw praktwasmphnthkbkarxyuepnsukhinradbsungsudethiybkbkarphyayamephuxcudmunghmayswntwxun karkhnhasingskdisiththichwyprbprungkhwamrusukekiywkbtn snbsnunkhwamsmphnthkbphuxun aelasrangkhwamepnxnediywknkbsingskdisiththithixyuehnuxtn nxkcaknnaelw ngansuksatang yngaesdngwa khwamechuxthangcitwiyyanthiphutxbraynganexngsmphnthkbxtrakartayaelakhwamesrasumthitakwa aelaxtrakhwamsukhthisungkwa inpccubn nganwicyodymakepneruxngwithikarthikhwamechuxthangcitwiyyansamarthchwyinyamwikvti aelaphbwa khwamechuxthangcitwiyyancadarngkhwamsmaesmxaememuxbukhkhlprasbkbehtukarnthithaihbxbchathangcitichruxthaihekidkhwamekhriyd echn xubtiehtu sngkhram khwamecbpwy hruxkaresiychiwitkhxngbukhkhlthirk emuxprasbxupsrrkh bukhkhlxaccahnipichkarswdmnthruxkarnngsmathi klikrbmuxpyha Coping thiepneruxngekiywkbcitwiyyanrwmthngkarxbrmciticaebbphicarna karsrangkhxbekhtephuxthicadarngrksaiwsungsingthikhwrekharph singskdisiththi karthaciticihbrisuththiephuxklbipdaenintamthangthithuktxng aelakarsrangkrxbthangciticihmodymungcadarngrksakhwamechux karprayuktaenwkhidthangcitwiyyanaelathangcitwithyaechingbwkkkhux psychospiritual intervention karaethrkaesngthangcitwiyyan sungepnaenwkhidwa khwamechuxthangcitwiyyankhwrcaephimkhwamxyuepnsukh nkwicyphbwa klikrbmuxpyhathimunghmaycadarngrksasingskdisiththiephimkhwamxyuepnsukhaelasngbukhkhlkhunipyngsingskdisiththi odythwipaelw khwamechuxthangcitwiyyanepnkrabwnkarthidaeniniptlxdchiwitrwmthngkarsubha kardarngrksa aelakarphicarnaihmwaxairepnsingskdisiththi odyepnkrabwnkarthiecaacngechphaabukhkhl aetwa khwamechuxthangcitwiyyankphbwasmphnthkbehtukarnrayaelakhwamepliynaeplngechinglbxun inchiwitidehmuxnkn dngnn aemwainpccubnyngkhadnganwicyekiywkberuxngcitwiyyanxyu aetkepneruxngcaepnephraasamarthchwyprbprungprasbkarninchiwitthikhwbkhumimid txngkarxangxing wthnthrrm wthnthrrmtang mimummxngekiywkbkhwamepnxyudikhxngmnusythiimehmuxnkn yktwxyangechn nganwicyinkhwamraaewngeruxngkhwamsukh aversion to happiness hruxkarklwkhwamsukh aesdngwa bukhkhlbangkhnhruxinbangwthnthrrmraaewngkarmikhwamsukh ephraaechuxwa khwamsukhxacepnehtuihekidehtukarnray hlkthanechingprasbkarnaesdngwa mikhwamaetktangxyangsakhywaxairepnkhwamepnxyuthidirahwangwthnthrrmchawtawntkaelawthnthrrmxun rwmthng khxngkhnxislamaelakhxngkhnexechiytawnxxk nganwicypi 2014 trwcsxbmummxngkhxngwthnthrrmtang ekiywkhwamxyuepnsukh aelwrabuaelaxthibaykhwamaetktangkwang 6 xyangrahwangaenwkhidchawtawntkaelaxun yktwxyangechn inkhnathiwthnthrrmtawntkmkcaennkarprascakxarmnechinglbaelaxisrphaphinkarkahndwaxairepnkarxyuepnsukhdwytnexng wthnthrrmtawnxxkmkcaennkickrrmthangsilthrrmhruxthangsasna karekhathungsphawathiehnuxtn self transcendence aelakhwamklmklunsamkhkhiknthangsngkhm nkwicyechuxsaykhnexechiytawnxxkkhuhnungthimhawithyalyaekhlifxreniyaelamhawithyalyminniostatrwcsxbkhwamaetktangkhxngkhwamsukhinradbsakl aelamummxngkhxngwthnthrrmtang waxairepntwsrangkhwamxyuepnsukh well being aelakhwamsukh happiness inngansuksahnungthithakbnkeriynnksuksa 6 000 khncak 43 praethsephuxkahndkhwamyindiphxicinchiwitodyechliyodyihkhaaennrahwang 1 7 khncinmikhaaenntathisudthi 3 3 aelakhndtchidkhaaennsungsudthi 5 4 aelaemuxthamwakhwamepnxyuthiditamthirusukexng subjective well being odyxudmkhtikhwrcaxyuthiradbethair khncinihkhaaenntathisudthi 4 5 aelakhnbrasilsungsudthi 6 2 odymikhaaennrahwang 1 7 echnkn ngansuksaaesdngphlhlk 3 xyang khux 1 phuthiichchiwitxyuinsngkhmthiennkhwamepntwkhxngtwexng imichennkhaniymthangsngkhm mikhwamsukhmakkwa 2 lksnathangcitthimunghmaybukhkhlodyechphaa epneruxngekiywkbkhntawntkmakkwa 3 karpraeminradbkhwamsukhkhxngtnkhunxyukbkhaniymaelaprasbkarnthiidcaksngkhm swnngansuksaxiknganhnungaesdngwa khnxemriknechuxsayexechiyaelakhnphiwkhawmiradbkarmxngolkinaengdi optimism khlay kn aetkhnxemriknechuxsayexechiymiradbkarmxngolkinaengray pessimistic makkwakhnphiwkhaw aetngansuksaimphbkhwamaetktangkhxngkhwamsumesrainwthnthrrmtang aelaodyepriybethiybknaelw karmxngolkinaengraysmphnthinechingbwkkbphvtikrrmkaraekpyhainkhnxemriknechuxsayexechiy aetsmphnthinechinglbsahrbkhnxemriknphiwkhaw 53 mummxngthangkaremuxng nkcitwithyathikhnkhwaeruxngkhwamsukhrusukwa rabbkaremuxngkhwrcaoprohmtkhwamsukhkhxngprachakr rthbalkhwrthicaphicarnaradbkhwamsukhkhxngprachakrinruntx ip khwrdaeninkarineruxngkarkhadhmaykhngchiph expectancy aelakhwrphungkhwamsnicipthikarldradbkhwamthukkhkhxngprachachn xasykarsuksacudyunthangkaremuxng nganwicybangnganxangwa khnxnurksniymodythwipmikhwamsukhkwakhnesriniym odyihkhaxthibaythixacepnipidwa karyxmrbkhwamaetktangknineruxngrayidinsngkhmidthaihepnkhnwitkkngwlnxykwa rxngsastracarythangcitwithyakhnhnungklawwa karmimummxngthangkaremuxngthichdecnepneruxngsakhyephraawa epnmummxngthangolkxyanghnung odynyediywknkbmummxngthangsasna thisamarthchwyihrbmuxkbkhwamwitkkngwlineruxngkhwamtay death anxiety kartid samarthphudidwa khnbangphwkthaxairngay aetimsmkhwrephuxthicarusukdi khwamrusukdinnepnpyhaswnhnungkephraawa imtxngphyayamthaxairxyangxun singthiimsmkhwrkxyangechn chxpping yaesphtid chxkokaelt karmiephssmphnththiimidprakxbipdwykhwamrk aelakarduothrthsn sunglwnaetepnsingthisamarthepnpyhaephraathaihtidid khux emuxkhwamsukhmaidngay khwamcringmnxaccamaphrxmkbrakhathierayngimru aelacapraktkhunktxemuxwithikarediywthicamikhwamsukhidkodykarthasingehlann sungbangkhrngeriykidwaepnkartid nganthbthwnwrrnkrrminpi 2012 ekiywkbkarprayuktichphlnganwicycakcitwithyaechingbwkephuxaekpyhayaesphtidaelasingesphtidxun rabupccy 3 xyangthichwyihbukhkhlsamarthecriyngxkngamaelathapraoychnihaeksngkhmid pccyxyangthihnung kkhux chiwitthisbayic Pleasant Life hmaythungkarmikhwamrusukthidiekiywkbchiwitinxdit inpccubn aelainxnakht ephuxthicayktwxyang nkwicyidklawthungpraednnirwmkbkaresphsaresphtidkhuxehla nganwicyaesdngwa chawtawntkodymaksmphnthkardumehlakbkhwamsukh aetwakhwamsukhthiidcakkardumehlaepnkhwamsukhthangkaythiekidkhunthnthiaetxyuidimnan dngnn nkwicytxngkarchiihehnxyangchdecnwa khwamrusukdi xyangediywimidhmaythungkarmichiwitthidi ephraamixairthiyingkwann pccythisxngkkhux karmichiwitthiimxyuwang Engaged Life ephraasmphnthkblksnaechingbwktang khxngbukhkhl echnkhwamaekhngaekrngthangcitic character strength s eslikaemnidihtwxyangkhxngkhwamaekhngaekrngthangciticrwmthng khwamklahay khwamsuxtrng khwamepnphlemuxngdi khwamthxmtn khwamrxbkhxbramdrawng khwamyindiphxicinsingthimithiid aelakhwamhwng sunglwnaetepnlksnathimiradbsungkhunemuxfuntwcakphawaesphtid kartklngsuphawakartid saresphtidhruxxun epnkaraesdngkhwamimaekhngaekrngthangcitic aetwa emuxkalngdaeninkarephuxihphncakphawaesphtidechnnn lksnathiwann caephimkhun pccythisamkkhux karmichiwitthimikhwamhmay Meaningful Life khuxkarthanganxuthisih aelakarepnsmachikkhxngxngkhkr sthabnthisngesrimlksnacitechingbwk rwmthngkhrxbkhrw thithangan klumsngkhm aelasngkhmodythwip smachikinklumehlanncaesrimsrangihmixarmnechingbwk oprohmtkhwamaekhngaekrngthangcitic sungsamarthchwythaihphncaksingesphtidid khwamthukkh nganwicyaesdngwaepnipidthicachwyehluxbukhkhlthikalngprasbthukkhodyesrimsrangkhwamaekhngaekrngthangcitic nxkcaknnaelw nkwicythisnicineruxngkarpxngknphbwa khwamaekhngaekrngthangciticcachwypxngknorkhcit khwamaekhngaekrngthiepnekhruxngknthidirwmthng khwamklahay karisicinxnakht karmxngolkinaengdi srththakhwamechuxmn khwamechuxinkarthakickarngan khwamhwng khwamsuxsty khwamxutsaha aelasmrrthphaphinkarsrang flow khuxprakxbkickarngandwysphaphthangicthimismathi dwykhwamyindiphxic aelainkarmxngxairxyangthalupruoprng khwamepnthukkhxaccaepntwchiwayngmiphvtikrrmthitxngepliyn hruxmiaenwkhidhruxixediythicatxngisicaelaphicarnaihm odythwipaelw nkcitwithyaekhaicwa khwamthukkhimsamarthkacdidodysineching aetwamnepnipidthicabriharaelaldkhwamthukkh sunycitwithyaechingbwkkhxngmhawithyalyephnsileweniyxthibaywa cudmunghmaykhxngcitwithyaephuxthicaaekpyhakhxngmnusyepneruxngthiekhaicidaelaepneruxngthiimkhwrcalathingxyangaennxn ephraawa khwamthukkhkhxngmnusyeriykrxngihmithangxxkthimiehtuphlthangwithyasastr aetwa thngkhwamthukkhaelakhwamxyuepnsukh thngsxngepnswnkhxngmnusy aelankcitwithyakhwrcaisicineruxngthngsxng citwithyaechingbwksungepnsastrthiidaerngcungiccakhlkthanechingprasbkarn phungkhwamsnicipthiwithikaraekpyhakhwamthukkhthiihphldi aelainkarsrangkhwamaekhngaekrngaelasilthrrmephuxldradbkhwamthukkhihtathisud tamnkcitwithyathimhawithyalyothrxnot dr cxraedn pietxrsn wathainphuththsasnawa chiwitepnthukkh khwrcaekhaicwaepnkhwamcringthimnusytxngyxmrb aelaepnkhathieriykrxngihsrangphthnasilthrrm xngkhthaillamainemuxngsiaextethilinpi 1993 emuxklawthungwathainphuththsasnawa chiwitepnthukkh nkwicyaelankcitwithyakhlinik dr cxraedn pietxrsn esnxwa mummxngniepnkhwamcring imichepnkarmxngolkinaengray aetwakaryxmrbkhwamcringwachiwitnnyaklabak caihxisrphaphcakkhwamkhadhwngthiimsamarthepncringwa bukhkhlcatxngsukhxyutlxd khwamekhaiceyiyngnicachwybriharkhwamthukkhthicatxngekidkhunxyangaennxn sahrb dr pietxrsn silthrrmepneruxngsakhyephraawaepnxupkrnsakhyinkarchwyihhlikphncakthukkh khux epnkalngthicayxmrbkhwamcringthiimthukic dr pietxrsnyunynwa khwamthukkhcahnkkhunephraamiprchyathiimtrngkbkhwamcring odynyediywkn dr eslikaemnechuxwa citwithyaechingbwkimicheruxngfungefx odyklawwa citwithyaechingbwkodyswnihyepneruxngsahrberathukkhn imwacamipyhahruxim caepnkhnxphisiththihruxim epnkhnkalngthukkhhruxim khwamsukhthiidcakkarsnthnathidi khwamyindiphxic insingthimixyusingthiid xyangmikalng karidpraoychncakkhwamemtta hruxpyya hruxkhwamechuxthangcitwiyyan hruxkhwamthxmtn karsubhakhwamhmayinchiwitaelayathxnphiscaksthankarnthiepn karxyuimepnsukhcnkrathngtay epnsiththiodykaenidsahrberathukkhn karrbmuxpyhaechingbwk Positive coping idrbniyamwa kartxbsnxngthimiepahmayinkarldpharathangkay thangxarmn aelathangcit thiechuxmkbehtukarnekhriydinchiwitaelakhwamyungyakinchiwitpracawn minganwicythiaesdngwa klyuthththiehmaasminkarrbmuxkbpyhacachwyldkhwamekhriydinthngrayasnaelarayayaw odysrangthrphyakrthichwyrangbhruxbrrethapyhainxnakht imwacaepnthrphyakrthangkay thangcitic hruxthangsngkhm karepliynaeplngkhxngradbkhwamsukh aedeniyl khahnamn mnusymismrrthphaphhlayxyang rwmthngkarprbtwtxsukharmn Hedonic Adaptation sungepnaenwkhidwa khwamswyngam chuxesiyng aelaenginthxngodythwipimmiphlthikhngyuntxkhwamsukh aelabangkhrngeriykwa Hedonic treadmill tamaenwkhidni nganwicybangxyangesnxwa ehtukarnerw niethann khuxthiekidkhunphayin 3 eduxnthiphanma miphltxradbkhwamsukh khwamonmexiyngthicaprbtw khuxkarkhunsuradbkhwamsukhthiekhymimakxn ehnidcakngansuksathiaesdngwa khnthukrangwllxtetxriimidmikhwamsukhinpitx mahlngcakthukrangwl mingansuksathiaesdngwakhnthiepnxmphatkhrunglang ekuxbcamikhwamsukhethakbklumkhwbkhumthipkti 48 hlngcakthiekidehtukarn 2 3 pitxma odynkcitwithyaphuidrbrangwlonebl dr aedeniyl khahnamnxthibaywa phwkekhaimichkhnepnxmphattlxdewla khux mnepneruxngekiywkbkarisic dngnn trngkhamkbxkhtikhxngerathikhidwaehtukarnbangxyangcamiphltxkhwamepnsukhkhxngeraxyangyawnanekinkhwamcring impact bias karthukrangwllxtetxrihruxkarepnxmphatkhrunglangimidepliynaeplngprasbkarnkhxngtninradbthieraechux aetwa karprbtwxaccaepnkrabwnkarthichaaelaimsmburn karepliynaeplngthisakhyinchiwit echn khwamtaykhxngkhuchiwit hruxkarsuyesiyngan samarthmiphltxradbkhwamsukhepnrayaewlahlaypi aelaaemaetkhnepnxmphatkhrunglang thiprbtwaelw dngthiklawmaaelwkhwamcringkyngraynganradbkhwamsukhthitakwakhnxun aemwa casukhmakkwathierakhid aetkimethakbkhnxun dngnn karprbtwcungepnkrabwnkarthisbsxn aelaaemwamncabrrethaphlthangxarmnekiywkbehtukarntang inchiwit aetmnkimidkacdphlxarmnehlannthnghmd khidtngkhwamsukh aenwkhidekiywkbkhidtngkhwamsukh happiness set point kkhuxwa khnodymakklbkhunipthiradbkhwamsukhechliy hruxkhidtngkhwamnsukh hlngcakmikhwamsukhephimkhunhruxldlng khnthimikhidtngipthangxarmnechingbwkcaepnkhnthiraeringodymak aelakhnthimikhidtngipinthanglbmkcaonmexiyngipthangmxngolkinaengrayaelakhwamwitkkngwl nkcitwithyathanhnungphbwa erasamarthmixiththiphltxradbkarxyuepnsukhodysrangsingaewdlxmthikxkhwamsukhidngay ehtuphlthikhwamrusukxyuepnsukhesthiyrodymakkephraaxiththiphlxnyingihykhxngphnthukrrm aemwa ehtukarninchiwitcamiphltxkhwamrusukxyuepnsukh khnodythwipcaklbipsuthikhidtngkhwamsukhkhxngtn 189 nganwicyhnungphbwa 24 khxngphurwmnganwicyepliynaeplngipxyangsakhyinchwng 5 piaerk aela 5 pihlngkhxngngan khux khnpraman 1 4 mikhwamxyuepnsukhinchwngewlahlaypiepliynaeplngip aelabangkhrngkhwamepliynaeplngnnehmuxnkbxyanglakhr swnxiknganhnungphbwa khnpraman 5 6 ephimkhwamyindiphxicinchiwitxyangsakhyinchwng 15 20 pi aelasingthibukhkhltngepahmaytha miphlxyangsakhytxkhwamyindiphxicinchiwit epahmaytang inchiwitsamarthcdklumodypramanidepn 2 xyang thixaceriykwa epnepahmaythitxngaephchna zero sum goal aelaepahmaythihlaykhnidpraoychn karmiepahmaythihlaykhnidpraoychnsmphnthkbkhwamyindiphxicinchiwit rwmkarihewlakbkhrxbkhrw ephuxnfung thanganthangsngkhmhruxkaremuxng aelakarthakicephuxpraoychnphuxun niepnepahmaythikhnthithaaelakhnxun thngsxngidpraoychn swnepahmaythitxngaephchnahmaythungkhnthithaidpraoychnodyphuxunesiypraoychn aetepahmayechnniimidoprohmtkhwamyindiphxicinchiwit insutrthithaihbukhkhlhnungmikhwamsukh epneruxngehlwihlthicaothspccyidpccyhnungediyw ephraawapccythukxyangsakhy aetwa emuxepriybethiybkhwamsukhkhxngkhnsxngkhn pccyhnung echnkrrmphnthu samarthxthibaykhwamaetktangaehngkhwamsukhidthungkhrunghnung sastracarycitwithyathanhnungthimhawithyalyaekhlifxreniyxangxasynganwicykhxngtnxyangkhlay knwa khwamsukhkhxngbukhkhlhnung epliynaeplngiprxb khidtngthiepniptamkrrmphnthu aetkminkwichakarxikphuhnungthietuxnwa epneruxngehlwihlthicaklawngay wa krrmphnthumixiththiphl 30 50 txkhwamsukh odyxthibaywa khwamsukhkhxngbukhkhltxngxasythngkrrmphnthu singaewdlxm aelaphvtikrrm dngnn cungepneruxngehlwihlthicaxangwa khwamsukhkhxngbukhkhlmacakpccyediywephiyngethann khwamaetktangrahwangpccyaesdngkhwamaetktangkhxngkhwamsukhrahwangbukhkhlethann dngnn nganwicythiwacungimidklawthungkhwamsukhkhxngbukhkhlidbukhkhlhnung aetklawthungkhwamaetktangrahwangkhwamsukhkhxngbukhkhlsxngkhnhruxmakkwann odyechphaakkhux phuthanganwicyesnxwa 30 40 khxngkhwamaetktangrahwangkhwamsukhkhxngbukhkhlsxngkhnhruxmakkwannmacakkrrmphnthu khuxsamarthsubtxmacakphxhruxaemid klawxikxyanghnungkkhux mnimthuktxngthicaklawwa khwamsukhkhxngkhn hnung 50 makcakkrrmphnthu aetwa thuktxngthicaklawwa khwamaetktangkhxngkhwamsukhrahwangbukhkhl 50 macakkhwamaetktangthangkrrmphnthu aelathiehluxcakphvtikrrmaelasingaewdlxm mingansuksakbaefdthisnbsnunthvsdithiwani khux aefdthiaeykeliyngtanghak mikhwamsukhekuxbethaethiymkn sungaesdngwa singaewdlxmimichpccyediywkhxngkhwamsukh aetwasakhymakwa khwamsukhradbphunthankhxngbukhkhlimidkahnd thnghmd odykrrmphnthu aelaimidkahndodyaemchiwitinebuxngtnsmphnthkbkrrmphnthu bukhkhlcasamarthephimradbphunthankhxngkhwamsukhsuradbthiepnipidthangkrrmphnthuhruxim khunxyukbpccyhlayxyangrwmthngphvtikrrmaelanisy nisythichwyesrimkhwamsukhrwmthngkhwamyindiphxicsingthimithiid khwamsanukkhun aelaaemaetphvtikrrmthichwyphuxun minisyaelaethkhnikhthiephimkhwamsukhxun tamphlnganwicythiklawxyuinbthkhwamni nxkcakkarsrangnisyihmaelw karichyaaekkhwamsumesra karxxkkalngkaythimiprasiththiphl aelakarrbprathanxaharthithuksukhphaph mihlkthanwamixiththiphltxxarmnkhwamrusuk cring aelw karxxkkalngkaymipraoychnhlayxyangmak cnsamartheriykidwaepnyamhscrryhruxyapatihariy aetwa kkhwrcaklawthunghnngsuxelmhnungthiphimphinpi 2553 dwythikhdkhankarichyathangcitewchxyangimechphaaecaacngtxkhnikhorkhcit odyechphaaphlpxnklbrayayawthiephimsphawaorkhcitkhxngkhnikhthvsdithwip PERMA minkwicythangcitwithyaechingbwkthiklawthungpraednkarsuksaihy 3 praednthikhabekiywkn 275 khux nganwicyineruxng chiwitthisbayic Pleasant Life hrux chiwitthiephlidephlin life of enjoyment trwcsxbwakhnsamarthprasb phyakrn aelaephimrschatikhxngkhwamrusukaelaxarmnechingbwkthiepnswnkhxngchiwitthipktiaeladiidxyangir echnineruxngkhwamsmphnthkbkhnxun kickrrmyamwang khwamsnic karbnething epntn aetwaaemcamikhwamsnicineruxngnimak s eslikaemnklawwa swnkhxngkhwamsukhthiepnephiyngeruxngchwkhruchwyamnixaccaepneruxngsakhynxythisud kartrwcsxbpraoychnkhxngkhwamcdcx echn flow thibukhkhlmiemuxkalngthakickrrmhlk khxngtnxyu niepnkarsuksaekiywkb chiwitthidi hrux chiwitthiimxyuwang flow karprakxbkickarngandwysphaphthangicthimismathi dwykhwamyindiphxic xacmiemuxcbkhucudaekhngkhxngbukhkhlhnung kbnganthitha khux emuxbukhkhlrusukmnicwacathanganthieluxkhruxcdihidxyangsaerc karsuksaineruxng chiwitthimikhwamhmay Meaningful Life hruxchiwitthimiswnepnsmachik life of affiliation trwcsxbwa bukhkhlsamarthidkhwamrusukxyuepnsukh wamiswn wamikhwamhmay aelamiepahmayodytnepnswnhnungthisrangsngesrimxairbangxyangthiihykwaaelakhngyunkwayingkwatn echn ekiywkbthrrmchati klumsngkhm xngkhkr khbwnkar praephni hruxrabbkhwamechux idxyangir aetwa hmwdhmuehlaniimmithngkarkhdkhanhruxkaryxmrbxyangkwangkhwangodynkwicyinchwng 12 pi thisakhawichakarniidekidkhun aelaaemwa s eslikaemncaidesnxhmwdhmuthng 3 ni aetwatngaetnnekhaidaenanawa hmwdhmusudthaykhux chiwitthimikhwamhmay khwraebngxxkepnxik 3 hmwdhmu dngnntwyxthikahndthvsdikhwamxyuepnsukhkhxng s eslikaemnkkhux PERMA sungmacakkhawa Positive Emotions xarmnechingbwk Engagement karxyuimwang Relationships khwamsmphnthkbphuxun Meaning and purpose khwamhmayaelaepahmay aela Accomplishments khwamsaerc xarmnechingbwk Positive emotions epnkhwamrusukhlayxyangimichephiyngkhwamsukhaelakhwamephlidephlin joy yngrwmxarmnxun xikechn khwamtunetn khwamphxic khwamphumiic aelakhwamxscrryic sungmxngwaepnxarmnthimiphldi echn ihmixayuyunaelamikhwamsmphnththangsngkhmthidi karmichiwitthiimwang Engagement hmaythungkarrwmkickrrmthidungdudaelaesrimsrangkhwamsnickhxngtn nkcitwithyaphuhnungxthibaykarmichiwitthiimwangwaepn flow epnkhwamrusukthiaerngklathinaipsukhwampitiyindiaelakhwamkracang singthikalngcathatxngichthksakhwamsamarththisungying khunip yakaelaepnkhwamthathay aetwa yngepnsingthiepnipid karmichiwitthiimwanghmayexakhwamchxbicaelasmathithimiinnganthikalngcatha aelaradbcawdodyihphutharaynganexngwa mismathiinnganthitha cnkrathngirkhwamrusukekhintnexng self consciousness hruxim khwamsmphnthkbkhnxun Relationships epneruxngsakhythisudinkarsrangxarmnechingbwktang imwacaekiywkbxachiphkarngan khrxbkhrw khuchiwit aelakhwamsmphnthaebbxun dngthibidakhxngcitwithyaechingbwkxikkhnhnung khux s dr khrisotefxr pietxrsn idklawiwxyangngay wa khnxunsakhy ephraamnusyepnstwthirb aechr aelakracaykhwamrusukdi ipihkhnxunphankhwamsmphnthtang sungimichwacasakhyemuxekidehtukarnrayinchiwitethann aetaeminchwngthisukhksakhydwy aelacring aelw khwamsmphnthsamarthephimkalngemuxtxbsnxngtxknaelakninechingbwk mnepneruxngpktiwa singdi inchiwitcaekidkhunemuxxyurwmkbphuxun khwamhmay Meaning hruxthiruckknwaepahmay epntwihekidkhathamwa thaim aelakarkhnhaaelakhnphbwa thaim thichdecn samarthepnokhrngsrangchiwittngaetineruxngxachiphkarngan khwamsmphnthkbkhnxun aeladanxun karkhnhakhwamhmayhmaythungkareriynruwamixairthiyingihykwatn aelaaemwaxaccamixupsrrkhinrahwang karmikhwamhmaychwyihbukhkhlphyayamthatamepahmayihid khwamsaerc Accomplishments epnkarsrangkhwamsaercaelakhwamechiywchay aetodyimehmuxnswnxun khxng PERMA karsubhakhwrcathaaemwacaimmiphlepnxarmn khwamhmay hruxkhwamsmphnthechingbwkxun aetwaepnswnthisamarthchwythaswnxun khxng PERMA echn khwamphumiic ihsaercphl khwamsaercxaccaepnswnbukhkhl epnswnkhxngchumchn epnkicyamwang hruxepneruxngkarnganxachiph pccy 5 xyangkhxng PERMA mieknthkhdeluxkdngtxipni khux miswnchwyihekidkhwamxyudimisukh epnsingthibukhkhlmkcaphyayamsubhaephraaehtukhxngmnexng samarthkahndaelawdidodyepnxisracakpccyxun PERMA imichaekhsamarthmibthbathinchiwitkhxngaetlabukhkhl aetsamarthichrayngankhawthidng odyichaenwkhidni nkkhawsamarthihkhwamsnickbkhawinechingbwk echn odyykpraednwa khwamkhdaeynghruxaemaetehtukarnray samarthdungchumchnihsamkhkhiknidxyangir khnthiprasbehtukarnraysamartheriynruaelaklayepnbukhkhlthiecriykhunidxyangir khawsamarthepliynmummxngcakkarhaehyuxmaepnkarykradbcitic PERMA samarthchwynkkhawihhaocthythichwyesrimsrang odyepliyncudsnicipinsingthiraymaepnsingthidi aelathangxxktxpyha thvsdi broaden and build khyayaelasrangkhwamtrahnkru incitwithyaechingbwkesnxwa xarmnechingbwk echn khwamsukh khwamsnic hruxkhwamkhadhwng samarthkhyaykhwamtrahnkru aelachwysngesrimkhwamkhidaelaphvtikrrmihm thiaetktang thiepnaebbsubesaa sungemuxekidkhunepnrayaewlayawnan caepnkarsngsmphvtikrrmihm aelasrangthksaaelathrphyakr thangkayaelaic yktwxyangechn khwamxyakruxyakehnekiywkbphumipraethssamarthklayepnkhwamruekiywkbhnthangthimikha karptismphnththidikbkhnaeplkhnasamarthsrangmitrthichwyehluxsungknaelakn karlaelnthiimmikhwamhmaysamarthklayepnkrabwnkarxxkkalngkayaelarangkaythiaekhngaerng inthvsdini xarmnechingbwkykmaepriybethiybkbxarmnechinglb sungyngphvtikrrmaebbexatwrxdthikhbaekhbihekidkhun yktwxyangechn xarmnechinglbechnkhwamwitkkngwlxacnaipsuptikiriyaaebbsuhruxhni fight or flight response thiepnipephuxkhwamxyurxdineruxngthikalngephchiyhna citrkrrmralukthungkarichchiwitaebbkhrxbkhrw s dr filip simbarod thimichuxesiyngineruxngkarthdlxngeruxncasaetnfxrd esnxwaerasamarthwiekhraahkhwamsukhodymummxngthangewla Time Perspective khuxesnxwa iheracdkhwamsnicinchiwitkhxngbukhkhlodykhw waepnaebbbwkhruxlb aelatamkalewla wamungxdit pccubn hruxxnakht karthaxyangnixacaesdngkhwamkhdaeynginbukhkhl aetimichineruxngwaephlidephlinkbkickrrmidkickrrmhnunghruxim aetineruxngwabukhkhlchxbicinkarphxnphnkarhakhwamsukhinpccubnephuxkhwamsukhinxnakhthruxim dr simbarodechuxwa nganwicyidaesdngcudsmdulthidithisudekiywkbkalewlaephuxcamichiwitthimikhwamsukh khux khwamsnicinkarprasbehtukarnechingbwkinxditxikkhwrcaxyuinradbsung tamdwykhwamrusukwacaidprasbkarnthidiinxnakht aelakhwrcaichewlaphxsmkhwr aetimmakekinip ephuxthicaephlidephlinyindiinehtukarnpccubn aemwahmwdhmuthiesnxkhxng s eslikaemn cayngkhlumekhrux nganwicythicaphudthungtxipcdtamhmwdhmunnodykhraw khux chiwitthisbayic thidi aelathimikhwamhmay aetwa nganwicythicdxyuinhmwdhmuhnungxaccaekhapraednkbhmwdhmuxun dwy chiwitthisbayic karxxkkalngkayaebbngay echnkarwing epnkuyaecsakhyxyanghnunginkarrusukmikhwamsukh s dr xbrahm masolw idesnxthvsdiladbkhnkhwamtxngkarkhxngmasolw khnaerk bukhkhlcaepntxngidpccyphunthan echn khwamplxdphythangkayaelaic kxnthicaidpccythangsngkhmxun echn karmikhwamsmphnththiiklchidkbphuxun txma cungcasamarthaeswnghapccythiepnnamthrrmxun echn silthrrmaelakarthungskyphaphkhxngtn self actualization hlkthanaesdngwa xarmnechinglbsamarthkxkhwamesiyhayid innganwicypi 2000 nkcitwithyaphuhnung tngsmmtithanwa xarmnechingbwksamarthaekpyhathanghlxdeluxdhwickhxngxarmnechinglbid khux emuxekhriyd xtrakaretnhwiccasungkhun radbnatalineluxdcasungkhun phumikhumkncata aelamikarprbtwxun thichwysngesrimihthaxairidxyangthnthithnkhwn aetwathaimkhwbkhumihdi karmisphaphtuntwthangkayechnnisamarthnaipsuorkh echn orkhhlxdeluxdhwicaelaxtrakaresiychiwitthisungkhun thngphlnganwicythithainaelbaelangansarwcihhlkthanwa xarmnechingbwkchwykhnekhriydihklbkhunmisukhphaphthangkaythidikwadngthiekhymimakxn swnnganwicyxun phbwa phunxarmnthidiepnpraoychnxyanghnungkhxngkarxxkkalngkay chiwitthidi ixediyekiywkbkhwamxyuepnsukhodyepnswnkhxngchiwitthidimacakaenwkhidkhxngxarisotetilineruxng eudaimonia swnaenwkhidthiekiywkhxngknrwmthng khwamechuxmninsmrrthphaphtn self efficacy prasiththiphlintw personal effectiveness flow aelakarmisti mindfulness khwamechuxmninsmrrthphaphtn epnkhwamechuxmnwa khwamsamarthinkarthanganihsaerckhunxyukbkhwamphyayam karmikhwamechuxechnniinradbta smphnthkbkhwamsumesra odyepriybethiybknaelw khwamechuxmninradbsungsmphnthkbkhwamepliynaeplngthidi echn kareliksingesphtid karaekpyhaorkhekiywkbkarrbprathan aelakardaeninchiwitthithuksukhphaph karmikhwamechuxmnsungyngmiphlditxrabbphumikhumkn chwybriharkhwamekhriyd aelachwyldkhwamecbpwd swnaenwkhidkhlay kn khuxprasiththiphlswntw Personal effectiveness odyhlkepneruxngekiywkbkarwangaephnaelakardaeninnganodywithikarthithaihsaerc Flow flow hmaythungkarekidsmathi absorption emuxkhwamsamarthkhxngtnthdethiymkbsingthitxngthaechphaahna flow kahndodylksnatang rwmthngsmathithimikalng khwamirkhwamekhinekiywkbtn self awareness aelakhwamrusukwaeruxngthithaepneruxngthathay khuximichebuxaelaimichepneruxngyakekinip aelakhwamrusukwa ewlakalnglwngelyipxyangrwderw flow epnxairthidiodytwkhxngmnexng nxkcaknn yngsamarthchwyihthungepahmay echn chnakarlaelnhruxkarkila hruxchwyephimthksa echn epnkhnelnhmakrukidekngkhun thukkhnsamarthmiprasbkarnekiywkb flow ineruxngtang kn imwacaepnkarlaeln khwamkhidsrangsrrkh hruxxachiphkarngan odysamarthekididemuxmiehtukarnthithathaythdethiymkbkhwamsamarthkhxngtn aetwa thaimmikhwamsmdulechnmithksanxyekinip cathaihekidkhwamwitkkngwl aetthaepneruxngthathaynxyekinip kcathaihekidkhwamebuxhnay aetwa ephraasthankarnepneruxngthathay bxykhrngcamithngkhwamtunetnaelakhwamekhriyd aetniphicarnawa epnkhwamekhriydthidi odyechuxwa epnkhwamekhriydthimiphllbnxykwakhwamekhriydaebberuxrng aemwa withithangkayphaphekiywkbkhwamekhriydthngsxngaebbcaepnrabbediywkn aelathngsxnglwnsamarththaihekidkhwamehnuxyxxn aetwa khwamaetktangthangkayphaph aelapraoychnthiidthangickhxngkhwamekhriydthidi xaccathaihekidphldiodyrwmmakkwakhwamehnuxyxxnthiekinkhun s chikesnmihali phusrangaenwkhidekiywkb flow rabutwbng flow iw 9 xyangwa miepahmaythichdecninthukkhntxn miphlpraktthnthithichwynathangkarkrathatx ip singthathaykbkhwamsamarthsmdulkn karkrathaaelakhwamtrahnkruepnipdwykn twkwnsmathiimsamarthkwnicid imidepnhwngeruxngkhwamlmehlw khwamekhintn Self consciousness hayip khwamrusukekiywkbewlaphidipcakkhwamcring kickrrmklayepncudmunghmayintnexng autotelic khux thaephuxehnaekkarkrathaexng ngansuksakhxngekhayngphbxikdwywa flow xyuinradbsungkwaemuxthangan aelakhwamsukhcasungkwaemuxthakickrrmewlawang 200 khwamecriyrungeruxng Flourishing khwamecriyrungeruxngincitwithyaechingbwkhmaythungkarthakicinradbdisudkhxngmnusy odymipccy 4 xyangkhux khwamdingam goodness karkxkaenid generativity khwamecriy growth aelakhwamfunkhunid resilience tamnkcitwithyathanhnung khwamdingamrwmthng khwamsukh khwamphxic aelakarkrathathisaercphl karkxkaenidhmaythungkarthaihchiwitkhnruntx ipdikhun aelaniyamwaepn khlngkhwamkhid karkratha aelakhwamyudhyunidthangphvtikrrm khwamecriyepnkarichthrphyakrswnbukhkhlaelathangsngkhmthimi aelakhwamfunkhunidsathxnihehnthungkhwamxyurxdaelakhwamecriykawhnahlngcakthiprasbkhwamyaklabak 685 chiwitthiecriyrungeruxngidmacakkhwamechiywchayinpccythng 4 xyangnn odyepriybethiybkbaenwkhidtrngknkhamechn khwamhdhuimiydi languishing aelaorkhcit psychopathology inmitikhxngsukhphaphcit aenwkhidtrngknkhamehlaniepnphawakxncathungorkhcit sathxnihehnwabukhkhlichchiwitthiyngimetmhruxxacepnchiwitthiimmikhwamhmay bukhkhlthiprasbkhwamhdhuimiydiecbpwdthangxarmnmakkwa bkphrxngthangcit sngkhm thakickrrmthwipbangxyangimid aelakhadnganmakkwa mingansuksahnunginpi 2002 thisarwctwxyangbukhkhl 3 032 khninpraethsshrthxemrikainwyrahwang 25 74 pi aelaphbwa 17 2 khxngphuihythnghmdrusukecriyrungeruxng odymiphuihyxik 56 6 thimisukhphaphcitdiphxpramanethann pccysamykhxngkarmichiwitthiecriyrungeruxngrwmthng karmikarsuksa khwamsungwy karmikhuchiwit aelathanathidi ngansuksacungaesdngwa mioxkasthicaprbprungchiwitkhxngkhnxemriknephraawaephiyng 20 ethannthirusukwatnmichiwitthiecriyrungeruxng praoychnkhxngkarmichiwitthiecriyrungeruxngphbidinnganwicyekiywkbphlkhxngkarprasbkhwamrusukechingbwkethiybkbechinglb praoychnthiphbkhxngkarmixarmnechingbwkrwmthngkartxbsnxngthidi karmiphvtikrrmthihlayhlakkwa karmisychatiyanthidikwa aelakarrbruaelacintnakarthidikwa 678 nxkcaknnaelw khwamrusukdi thismphnthkbkarmichiwitthiecriyrungeruxngmiphlepnrabbphumikhumknthidikhun karfuntwcakorkhhlxdeluxdhwic karidphllbcakxarmnechinglbnxylng aelakhwamxsmmatrrawangsmxngdanhna swnpraoychnthiidsahrbbukhkhlthimisukhphaphcithruxkhwamecriyrungeruxngphxpramanrwmthng smrrthphaphthangicaelathangsngkhmthidikwa karfuntwiddikwa karmisukhphaphhlxdeluxdhwicthidikwa aelakarmisitlchiwitthiditxsukhphaphmakkwaodythwip dngnn praoychnkhxngkarmichiwitthiecriyrungeruxngcungaesdngniyamxyanghnungkhux bukhkhlthiecriyrungeruxngyxmprasbkbkhwamxyuepnsukhthangxarmn thangic aelathangsngkhm enuxngcakkhwamkrachbkraechngaelakalngwngcha aerngcungicphayin self determination karecriyetibotswnbukhkhlthiepnipxyangtxenuxng khwamsmphnththiiklchid aelachiwitthimikhwamhmayaelamiepahmay karmisti nkwicyaenanaihisicinehtukarnthithaihekidkhwamyindiinxdit isicinsingthithaihekidkhwamhwnginxnakht aetwa odythisudaelw ihisicodymakinpccubn karfnklangwnmkcamakxnkarldradbkhwamsukh dngnn karmistiaelaphvtikrrmxun thiphungkhwamsnicmayngpccubnxaccathaihekidkhwamsukhswnhnung kephraaepnkarepliynkhwamsnicipcakkhathamthinaesraicelknxywa chnmikhwamsukhhruxim karmistihmaythungkarphungkhwamsnicxyangcngicipthiprasbkarnthikalngekidkhun epnkartrahnkruxyangmismathi Focused awareness khuxisicodykhnathungpccytang khxngprasbkarnpccubn rwmthng khwamkhid xarmn khwamrusukthangkay aelasingaewdlxm cudmunghmaykhxngkarmistikephuxthicaihxyukbkhnapccubn aelasuksaephuxcasngektkarekidkhunaelakarphanipkhxngprasbkarntang odythiimtxngtdsinihkhwamsakhytxprasbkarnaelakhwamkhid imtxngphyayamephuxcahaehtuphlaelasrupehtukarn hruxepliynaeplngxair singthithaxyangediywinrahwangkarecriystikephiyngaekhsngekt praoychnkhxngkarecriystirwmthngkarldkhwamekhriyd khwamwitkkngwl khwamesrasum aelakhwamecbpwderuxrng s citwithyathimhawithyalyharwardxangwa khnmkcaekhaipsuphawakhwamirsti mindlessness odymiphvtikrrmthisasak thasingthikhunekhy thaepnkrabwnkar odyimidisic ehmuxnkbepnhunynt phuthisnbsnunkarisicinpccubnyngxangnganwicykhxngnkcitwithyathiekhiynhnngsux sadudecxkhwamsukh Stumbling on Happiness thiklawwa karfnklangwnaethnthicaisicinpccubnxacepnehtukhwangknkhwamsukh nkwicythanhnungphbhlkthansnbsnunphllbkhxngkarfnklangwn khux ekhamixasasmkhr 15 000 thwolkthiihrayngankwa 650 000 raynganodyichxxnilnaexpphliekhchnbnothrsphththietuxnkhxkhxmulodysum aelaphbwa khnthifnklangwntxmaimchakcarayngankhwamsukhthildlng aetepneruxngthipktimak swn dr simbarodihkhwamsakhytxkarisicinpccubn aetaenanaihralukthungehtukarnechingbwkinxditepnbangkhrngbangkhraw ephraawa karphicarnathungprasbkarnthidiinxditsamarthmiphltxphunxarmnpccubn aelachwyinkarsrangkhwamhwngthidiinxnakht minganwicythiaesdngwa singthibukhkhlsnicmiphltxradbkhwamsukh aelakarkhidthungkhwamsukhmakekinipmiphlthiimdi aethnthicathamtnwa chnmikhwamsukhhruxepla sungemuxthamephiyngaekh 4 khrngtxwn kcaerimldkhwamsukh dngnn cungxaccadikwathicakhidthungkhaniymkhxngtn echn chnsamarthmihwngineruxngniidhruxepla kartngkhathamtang xacchwyepliynkhwamkhid aelabangthixacnaipsukarkrathathierakhwrisicmakkwa kartxbkhathamodyepntwkhxngeraexngxacnaipsukarkrathaechingbwk aelasukhwamhwng sungepnkhwamrusukthimikalngaelaepnkhwamrusukechingbwk khwamhwngmkcakxkhwamsukh odythikhwamsinhwngmkcatdthxn nkwicythangcitwithyaechingbwkkhnhnungetuxnwa praednthiwithyasastridkhnphbepnebuxngtnehlani imkhwrnaipichodythwipmakekinip hruximkhwrnaipichodyimphicarna ephraawa kardarngstiepnkrabwnkarthangsmxngthiichthrphyakrmak aelaekhabxkwa imichidphlditlxdewla ephraawa mikickrrmbangxyangthithaiddithisudodyimtxngichkhwamkhid yktwxyangechn ecahnathihnwykuchiphthatamkhntxnthiidfukmaaelwepnxyangdi xyangirkdi thksathiphthnaechnnisamarthnaipichidinbangoxkas aelasamarthmiphlditamehtuphlthiidklawmaaelw swnsastracarythangcitwithyaaelacitewchsastrxikthanhnungaenanakarecriysti mindfulness meditation ephuxichinkarrabuaelakarbriharxarmnthiaemnya chiwitthimikhwamhmay hlngcakthithanganwicyekiywkbxarmnkhuxkhwamkhyaaekhyng disgust mahlaypi minkwicyklumhnungthisuksaxarmntrngknkham sungphwkekhaeriykwa elevation caeriykwakarthabuytxip karthabuyepnxarmnthangsilthrrm ekiywkhxngkbkhwamtxngkarthicapraphvtitamsilthrrmaelathasingthidi epnxarmnthimirakthanthangchiwphaph aelabangkhrngkahndwa epnkhwamrusukkarkhyayxxkkhxnghnaxk hruxkhwamrusuksabsanthiphiw karmxngolkinaengdiaelakhwamrusukwathaxairimid nkekhiynphuhnungaenanaihthukkhnrbphidchxbkarkrathaelknxy xyanghnungthichwyiholkdikhunxyangchdecn echnnkptibtikarephuxprahydphlngnganphyayamoprohmthlxdifchnidihm odymiaerngcungiccaknganwicythangsngkhm nkekhiynklawwa karthaeyiyngnichwyldkhwamrusukwathaxairimid karmxnginaengdiodyeriynru Learned optimism hmaythungkarphthnaskyphaphihminisymxngolkinaengdiaelaekhasngkhmid sungepnkhwamphyayamswntwaelaepnkhunlksnathiechuxmkbepahmayswntwthibukhkhltxngkar klawxikxyanghnungkkhux epnkhwamechuxwatnsamarthmixiththiphltxxnakhtthimxngehnidaelamikhwamhmay karmxnginaengdiodyeriynrutrngkhamkbkhwamrusukwathaxairimidaebberiynru learned helplessness sungepnkhwamechuxwa tnimsamarthkhwbkhumsingthiekidid aelapccyphaynxkxyangxunepntwkahndphl echnkhwamsaerc karmxnginaengdisamartheriynruidodytngickhdkhankhwamkhidechinglbkhxngtnexng echnkhdkhankhwamkhidekiywkbehtukarnir kidthimxngwaepnkhwamphidkhxngtnthimiphlxyangthawrtxthuk daninchiwit karkhuykbtwexngmiphltxkhwamrusuk yktwxyangechn raynganekiywkbkhwamsukhmishsmphnthkbkhwamsamarththwipthica ihehtuphlhruxxthibay khwamimethaethiymknthangsngkhmaelaesrsthkic khwamhwng Hope epnkhwamrusukechingbwkthimikalng odysmphnthkbkhwamkhidmiepahmaythieriynruid khwamhwngcaekidkhunemuxkhidodyhathangthicathungepahmay aelahaaerngcungicephuxcadaeniniptamthangsuepahmayehlann nkekhiynkhnhnungesnxwa karepliynkhwamkhidsamarthchwyaekkhwamrusukwathaxairimid insthanathiolkmipyhamakmay aenwkhidnimacaknganwicycaknksngkhmwithyakhnhnung thixthibaywa emuxephchiyhnakbpyhaihy bukhkhlmkcaeriynruwathaxairimidmakkwathicaepliynkhwamkhid withikarthisamarthichid sungnkekhiyneriykwa Vertical Agitation kkhux ihisicephiyngswnhnung khxngpyhaipthilaxyang odyihthuxwatnmihnathiaekswnpyhann sungichidkbpyhathukradbcnkrathngradbsungsudinrthbal inthurkic hruxinklumsngkhm echn ihoprohmtxairxyanghnungxyangekhmaekhng echn hlxdprahydif sungchwyihaetkhnaetlakhninsngkhmmiswnkhnlaelknxythaihmikarepliynaeplng odyimrusukkngwlwa minganmakaekhihnthnghmdthicatxngtha nxkcaknnaelw karichwithikarthakhnlahnxycachwyimihrusukwa tndikwakhnxun echn ethiywphudihephuxnaelakhrxbkhrwfngwakhwrcathatnxyangir aelaemuxmikhnthaechnniepncanwnmak ehtukarnkcasamarthprbprungidodyradbhnung karminganthidi nkcitwithyathimhawithyalyharwardphuhnungidthangansuksaxyangkwangkhwangwa karthanganihdimiphlxairhruxim ekhaesnxwa bukhkhlrunhlng odyechphaainpraethsshrthxemrika thuksxnihphungkhwamsnicipinkarhaenginthxng aemwakarmiengincaimidchwyihekidkhwamsukhxyangaennxn withikaraekthinkcitwithyaesnxkhlaykbhlkkarchiwitthisbayic thidi thimikhwamhmaydngthiklawmakxnaelw ekhaechuxwa khwrcafukiheyawchnthanganihdithisudinwichakarsakhakhxngtn aelamichiwitthixyuimwang tamkhwamechuxthangsilthrrmkhxngtn tamngansuksainpraethsshrthxemrikanganhnung phxaem 48 ihrangwllukkhxngtnthaidekrddiepnenginsdhruxxairxyangxunthimikhwamhmay aetwa eruxngnikimichepneruxngthithukkhrxbkhrwinshrthehndwy aemwa phuechiywchaythangcitwithyacasnbsnunihihrangwlemuxedkmiphvtikrrmthidi aethnthicaichkarlngothsemuxmiphvtikrrmthiimdi aetinbangkrni bangkhrxbkhrwimmienginthxngphxthicaihrangwllukinlksnaaebbni rangwlthisamarthihnxkehnuxcakenginrwmthng karihichewlamakkhunelnkhxmph hruxnxnsayidmakkhun aetkmiphuechiywchaythiechuxwa rangwlthidithisudkkhuxkhachmaelakhaihkalngic ephrawarangwlthiepnrupthrrminrayayawxaccathaihmiphlesiytxedk mingansuksaekiywkbrangwlthiihkbedkinpi 2514 thiyngichkncnthungthukwnni epnngansuksathixxkkhawinhnngsuxphimphedxaniwyxrkithms thiphungkhwamsnicipthiphlrayasnaelarayayawkhxngrangwltxphvtikrrmthidikhxngedk phuthangansuksaesnxwa rangwlephuxphvtikrrmthidiepnsingcungicthiidphlaetephiyngrayasn inebuxngtn rangwlcasnbsnunihmiaerngcungicphyayamthaihidtamepahmaykhxngtn aetwa hlngcakthielikihrangwl edkcasnicineruxngnnnxykwakhnxun thiimekhyidrangwl phusuksachiwa inwyeyaw edkmisychatyanthicaduxtxbukhkhlthiphyayamkhwbkhumphvtikrrmkhxngtn sungekhaichepnhlkthanwa rangwlephuxphvtikrrmthidimiphlcakd odyihepriybethiybkn hnngsuxphimphedxaniwyxrkithmskidesnxphlnganwicythisnbsnunphldithiidcakkarihrangwledkephuxphvtikrrmthidi nkesrsthsastrphuechiywchayxangwa edkthimipyhathangphvtikrrmhruxkarsuksainorngeriynkhwrcamitwchwymak rwmthngrangwl aemwa edkebuxngtnxaccasnicephiyngaekhsingthiidepnrangwl aetwakxaccaekidkhwamrkeriynkhun aemwacamieruxngthiimyutiinkarihrangwl phuechiywchaybangkhnechuxwa withithidithisudthicacungicedkkkhuxesnxihrangwlemuxtnpikarsuksa aetthaimidphl aenanaihthngkhruaelaphupkkhrxnghyudichrabbkarihrangwl aetephraaedktangkn withiidwithihnungkcaimidphlkbthukkhn edkbangkhntxbsnxngditxkarihrangwlephuxphvtikrrmdi bangkhntxbsnxnginechinglb phlthiidkhunxyukbkhn txngkarxangxing khwamekhmaekhngaelakhunthrrm hnngsux Character Strengths and Virtues twyx CSV epnkhwamphyayamaerk khxngnkwichakarthicacaaenkaelaaeykaeyalksnathangcitwithyaechingbwkkhxngmnusy odykhlaykbkhumuxkarwinicchyaelasthitisahrbkhwamphidpktithangcit DSM khxngsmakhmcitaephthyxemrikn thichwysrangkhwamekhaicineruxngcitwithyathwip hnngsux CSV micudprasngkhephuxsrangkhxbekhtechingthvsdiephuxchwysngesrimkhwamekhaicineruxngkhwamekhmaekhngaelakhunthrrm aelaephuxprayuktichcitwithyaechingbwk khumuxkahndhmwdhmukhunthrrm 6 xyanghlk sungepnthankhxngkhwamekhmaekhng 24 xyangthiwdid hnngsuxesnxwa khunthrrm 6 xyangehlanimixyuinprawtisastrkhxngwthnthrrmtang odymak nxkcaknnaelw khunthrrmaelakhwamekhmaekhngehlanithaihekidkhwamsukhmakkhunemuxidphthna khwamekhaicechnnichikhwamcring 3 xyangodyyngimklawthungkhaetuxnaelakhxykewntang thixaccami 51 karsuksaeruxngkhunsmbtiechingbwkkhxngmnusykhyaykhxbekhtkhxngnganwicythangcitwithyaephuxrwmsukhphaphthangicthidi phunainsastrcitwithyaechingbwkkalngthathayaenwkhidsmphththniymthangsilthrrm odyesnxwa mnusymikhwamonmexiyngodywiwthnakaripyngkhaniymthangsilthrrmbangxyang aelawa khunthrrmmirakthanthangchiwphaph biological karcdhmwdhmukhxngkhunthrrm 6 xyangaelakhwamekhmaekhng 24 xyangkkhux pyyaaelakhwamru rwmthng khwamkhidsrangsrrkh khwamxyakruxyakehn khwammiicepid khwamchxberiynru mummxnghruxpyya aelakarsrangsrrkhsingihm khwamklahay rwmkhwamklahay khwamxdthnimthxthxy khwamsuxtrng kalngwngcha vitality khwamsnuktunetn zest mnusythrrm rwmthngkhwamrk khwamemtta echawnpyyathangsngkhm social intelligence khwamyutithrrm rwmthngkhwamepnphlemuxngthimiswnrwm khwamyutithrrm khwamepnphuna khwamybyngchngic rwmthngkarihxphyaelakhwamkruna khwamthxmtn khwamsukhumrxbkhxb aelakarkhumtwexngid Transcendence rwmthng khwamsanukkhunkhakhxngkhwamswyngamaelakhwamdielis khwamkhxbkhunyindi gratitude khwamhwng xarmnkhn aelakhwamechuxthangcitwiyyan aetwanganwicyinpi 2010 khdkhankarcdklumkhunthrrmepn 6 klum khux nkwicyesnxwa khwamekhmaekhng 24 xyangsamarthcdihxyuinhmwdhmu 3 4 hmwdidxyangehmaasmkwa khux khwamekhmaekhngthangechawnpyya Intellectual khwamekhmaekhngineruxngrahwangbukhkhl Interpersonal aelakhwamekhmaekhnginkarybyngchngic Temperance hruxxikaebbhnungkhux khwamekhmaekhngrahwangbukhkhl khwamaekhngaekrng kalngwngcha aelakhwamramdrawng khwamekhmaekhngaelawithikarcdhmwdhmuechnni idphbinwrrnkrrmxun thitanghakcakeruxngni echninngansuksathiklawthungnisykhxngbukhkhlthimikhwamkhidsrangsrrkhsung aelakminganwicyxunthiaesdngwa karxyuepnsukhthipraktwaepnphlkhxngkhwamechuxthangcitwiyyan khwamcringepnsingthiekidcakkhunthrrmkarprayuktichkhntxn 5 xyangephuxihmichiwitthimikhwamsukh phaphcakkhxmulinhnngsux smmtithaneruxngkhwamsukh karhakhwamcringinkhaprachyobransahrbyukhpccubn The Happiness Hypothesis Finding Modern Truth in Ancient Wisdom citwithyaechingbwksamarthprayuktichephuxchwybukhkhlaelaxngkhkrkahndkhwamekhmaekhngephuxephimaeladarngrksakhwamxyuepnsukh thngphubabd phuihkhapruksa phufukhd phuthakarthangcitwithyatang aephnkbukhlakr nkklyuthththangthurkic aelabukhkhlxun kalngerimichwithiaelaethkhnikhihm inkarkhyayaelatxetimkhwamekhmaekhngkhxngbukhkhltang epncanwnmak sungrwmthngbukhkhlpktithiimidmiorkhthangcitid nkwicythangcitwithyathanhnungxthibaywa khnthimisukhphaphthangxarmndimilksnadngtxipnikhux yudhyunsamarthprbtwidkbsthankarntang rusukwachiwitmikhwamhmay ekhaicwa twexngimichepnsunyklangkhxngckrwal mikhwamemttakrunaaelasmrrthphaphthicaimehnaektw mikhwamiklchidaelakhwamyindiphxicinkhwamsmphnthkbkhnxun aelarusukwasamarthkhwbkhumkayicid karwdkhwamsukh odyxangcitwithyaechingbwk nkwiekhraahnoybaykhxngrthbangthan esnxihepliynichkhwamsukhmwlrwmprachachatiaethnphlitphnthmwlrwminpraethsepntwwdhlkwa praethshnung mikhwamsaercmakaekhihn inchwngkhristthswrrs 1970 nkwicy khwamsukh thanhnung smphnthlksnakhxngbukhkhltang kbkhwamrusukxyuepnsukhodyichsthiti sungklaymaepnphlnganwicythixangxingknmakthisudinthxp 2 4 khxngwarsarnn ethkhnikhcitwithyaechingbwkinyukhtn withithingaythisuddithisudxyanghnunginkarephimkhwamsukhkhxngtnkkhux karthasingthiephimxtraxarmnechingbwkethiybkbxarmnechinglb aelainkrnimakmay bukhkhltang khwamcringekngmakthicakahndwaxaircaephimxarmnechingbwkkhxngtn miethkhnikhhlayxyangthiidphthnaephuxchwyephimkhwamsukh ethkhnikhxyanghnungpraktinwidioxfuksrangkhwamsukhthainpi 1979 Happiness Training Program esnxhlk 14 xyangephuxkhwamsukh odyepnethkhnikhthimihlkthanyunyn aelakahndepnhmwdhmudngtxipni khux 1 epliynkickrrm 2 epliynkhwamkhid 3 srangaeladarngkhwamsmphnthkbphuxun 4 ihkhwamsakhytxkarphthnatn 5 ldxarmnechinglb aemwacakhxnkhanglasmyskhnxy khxmulehlanixyuinhnngsuxphasaxngkvs 21 hnathiekhathungidxxniln khux aelahnngsuxchudxiksxngelmkhux ethkhnikhthisxngruckknwa Sustainable Happiness Model SHM aeplwa aebbcalxngkhwamsukhthikhngyun sungesnxwa khwamsukhrayayawkahndody 1 khidtngthangkrrmphnthukhxngtn 2 pccyrxbtw 3 kickrrmthitngictha nkwicyphwkhnungesnxihepliynsingehlaniihehmaasmephuxcamikhwamsukhinrayayaw swnkhaaenanaxikxyanghnungephuxephimkhwamsukhkkhuxkarfukmikhwamhwng ephraaechuxwa khwamhwng hope epntwkhbekhluxnxarmnechingbwkaelakhwamrusukxyuepnsukh epnkarfukthixasythvsdikhwamhwng hope theory sungxangwa khwamrusukxyuepnsukhcaephimkhunemuxbukhkhlsrangepahmayaelaechuxwatnsamarththungepahmayehlannid epahmayhlkxyanghnungkhxngkarfukechnnikephuxpxngknimihbukhkhlmikhwamhwngthiepnipimid thiehnchdthisudkkhux emuxbukhkhlechuxwaphvtikrrmkhxngtnexngepliynidngay aelaphlkarepliynaeplngcapraktihehnidinchwngrayaewlasn wichaphla ephuxepnxupkrnihmichiwitdikhun citwithyaechingbwkmiepahmayephuxephimkhunphaphkhxngprasbkarntang inokhrngsrangeyiyngni edknkeriynsamartheriynruthicatunetnkbkickrrmthangkay karelnepnthrrmchatikhxngedkxyuaelw citwithyaechingbwktxngkarthicadarngrksakhwamkratuxruxrnechnni ephuxepnkhwamkratuxruxrnepnaerngcungicinkarichchiwit inkarmikickrrmthangkaysahrbedkthikalngot thathaihnasnic thathay aelasnuk karxxkkalngkaycachwysrangkhwamsukhihedk withikarnisamarthihaenwthangedkephuxthicamichiwitaebbimwang sbayic aelamikhwamhmay inkarsuksa citwithyaechingbwkmipraoychntxthngsthabnkarsuksaaelanksuksaephraawachwyihkalngicbukhkhltang ihthadithisudethathitnthaid odyepriybethiybkbkarduwa sungmiphltrngknkham nkekhiynkhuhnungklawthungnganwicyinpi 1925 thiedknkeriynchn p 4 p 5 aela p 6 idkhachm khatahni hruximwaxair aelwaetkhaaennthiidinkarthaelkh nkeriynthiidrbkhachmdikhun 71 thiidrbkhatahnidikhun 19 aelankeriynthiimidwaxairdikhun 5 dngnn karchmcungducaepnwithithiidphl tamnkekhiynkhuni khn 99 khncak 100 chxbthicaidrbxiththiphlcakkhnthimikhwamkhidechingbwk praoychnrwmthng karidphlnganmakkhun karaephrkracaykhxngxarmnechingbwk sungchwyihsamarththanganiddithisudtamkhwamsamarthkhxngtn khnkhwamkhidechinglbaemkhnediywsamarththalaykhwamrusukdi phayinsthankarnxyanghnungid nkekhiynxangwa xarmnechingbwkepnsingcaepnephuxkarxyurxdinaetlawn karphthnaeyawchn mikhbwnkarinkarphthnaeyawchninshrthxemrikapccubnthieriykwa Positive Youth Development karphthnaeyawchnaebbbwk sungsamarthprayuktichaenwkhidcakcitwithyaechingbwkechnkn ephraawa epnkaroprohmtkarphthnainaengbwkaethnthicamxngeyawchnwa mkcakxpyhathitxngaekikh sungepnopaekrmthithaodychumchn sthabnkarsuksa aelahnwyngantang khxngrth citwithyakhlinik khbwnkarepliynaeplngbukhkhlinechingbwkodyennkhwamekhmaekhng micudmunghmayephuxepliyncitwithyakhlinikihihkhwamsakhy txkickrrminchiwitpracawnthngthiepnechingbwkaelaechinglbemuxphyayamwinicchyekhaicaelarksaorkh karpxngknrksaodyennkhwamekhmaekhngaelaxarmnechingbwksamarthmiprasiththiphlinkarrksaorkh nxkehnuxipcakwithikarthiichodythwipechnkarbabdodykarprbepliynkhwamkhidaelaphvtikrrm CBT nkcitwithyakalngsubhawithiichethkhnikhkhxngcitwithyaechingbwkephuxrksakhnikh nkekhiynthanhnungklawthungwithikarrksapxngknaebbbwkephuxchwykhnikh odykahndwa epnkarbabdhruxkickrrmthimiepahmayhlkephuxephimkhwamrusuk phvtikrrm hruxkhwamkhidechingbwk aethnthicaphungkhwamsnicipthikhwamkhidechinglbhruxphvtikrrmthiimidphldi sungwithihnungthisamarthichinkarrksakkhux positive activity interventions PAI aeplwa karpxngknrksaodykickrrmechingbwk sungepnkarfuk karbriharthithadwytnexngihekidkhwamrusuk khwamkhid hruxphvtikrrmechingbwk ethkhnikhsxngxyangkhxng PAI thiichmakthisudkkhux singsamsingthidi Three Good Things aela twexngthidithisudinxnakht Best Future Self singsamsingthidi ihkhnikhbnthukpracawnepnewlahnungspdah ehtukarn 3 xyanginwnnnthiepnipdwydi aelaehtuthiyngihehtukarnnn ekidkhun swn twexngthidithisudinxnakht ihkhnikh khidthungchiwittwexnginxnakht aelaihcintnakarwathuksingthuxyangepnipiddithisudethathicaepnipid aelakhnikhidthanganxyangkhynkhnaekhng idsaercepahmaythukxyanginchiwit ihkhidthungwakhwamfnthukxyanginchiwitidklayepncring aelwihkhnikhekhiynsingthicintnakarthukxyang karpxngknrksaeyiyngnipraktkwachwyldkhwamsumesra citwithyaechingbwksamarthihkhxmultxcitwithyakhlinikephuxkhyaywithikarrksaaelapraoychnthiphungid thaidoxkasthiehmaasm citwithyaechingbwkxacchwyepliynkarihkhwamsakhywithikartang ephuxihsamarthaekpyhaekiywkbprasbkarnmnusythnginechingkwangaelainechinglukiddikhuninsthanthirksaphyabal inthithangan swnnirxephimetimkhxmul khunsamarthchwyephimkhxmulswnniidinkarbabdnkoths swnnirxephimetimkhxmul khunsamarthchwyephimkhxmulswnniidkarphthnahlngkhwambadecbaelakarrayngankhawthisrangsrrkh karphthnahlngehtukarnsaethuxnic Posttraumatic growth twyx PTG epnphlthiekidkhunidhlngekidehtukarnsaethuxnic aethnthicaekidkhwamphidpktithieriykwa khwamphidpktihlngkhwamekhriydthisaethuxnic PTSD khuxhlngcakehtukarnsaethuxnic echn thukkhmkhun karrwmpraewnikbyatisnith orkhmaerng karthuktharay hruxkartxsuinsngkhram epneruxngpktithicaprasbxakarsumesraaelakhwamwitkkngwlthibnthxnsukhphaph bukhkhlthieriynrucakprasbkarnaebb PTG caprasbkbphlray chwrayahnung aelwcamikhwamxyuepnsukhthidikhun thidiyingkwakxnthicamiehtukarnsaethuxnic s eslikaemnennwa karmiprasiththiphaphthangicinradbthisungkwathiekhymi epnkuyaecsakhykhxng PTG khux thabukhkhlprasbkbehtukarnsumesraaelwfunkhunsusphaphedimthangcit nieriykwakhwamfunkhunsphaphthangcitid Psychological resilience ethiybkb PTG thicudsaethuxniccaklayepncudepliynaeplngihbukhkhlthungkhwamxyuepnsukhthidiyingkhun s eslikaemnrbrxngwa khwamcringkkhux cudsaethuxnicbxykhrngepncuderimkarphthna aelathaidxupkrnkhwamchwyehluxthiehmaasm bukhkhlcasamarthidphldithisudcakoxkasnn s eslikaemnesnxihichxngkhprakxb 5 xyangehlaniephuxxanwy PTG 1 thakhwamekhaicekiywkbkartxbsnxngtxeruxngsaethuxnic 2 ldkhwamwitkkngwl 3 ihepidephyehtukarn txbukhkhlxun xyangsrangsrrkh 4 srangeruxngelaekiywkbehtukarnsaethuxnic trauma narrative aela 5 aesdnghlkaelakhwamehnekiywkbchiwitthiekhmaekhngsamarthephchiyrbpyhathathaytang id phuthiprasbkb PTG caidxngkhprakxbkhxng chiwitthidi tamthvsdikhxng s eslikaemn rwmthngkarmichiwitthimikhwamhmayaelamicudmunghmaythidikwa karmikhwamsmphnthkbkhnxunthidikwa khwamsaercinchiwit aelaciticthimxngolkinaengdiepidickwangkwa tamthvsdi Broaden and build hlktang khxng PTG samarthichidinhlayeruxng epnaenwkhidthisakhyimichaekhsahrbthhar phuthakarinehtukarnchukechin hruxkhnthirxdchiwitcakehtukarnsaethuxnic aetodythwipaelw epneruxngsahrbthuk khnthitxngephchiypyhatang inchiwitpracawn withiephyaephreruxngekiywkb PTG xyanghnungkkhux karrayngankhawthisrangsrrkh sungxaccaniyamidwa epnsitlkarxxkkhawaebbihmthiichethkhnikhcitwithyaechingbwkmicudmunghmayephuxdungdudphuxanodyesnxkhawthisrangsrrkhdikwa odyyngsamarthdarngpharkicxun khxngkarxxkkhaw nkkhawchanaykarkhnhnungaesdngwa karxxkkhawodythw ipepneruxnglb aelamiphllbtxkhwamrusukkhxngphufng karich PTG phungkhwamsnicipthikhwamekhmaekhngkhxngehyuxaelatwxyangkarkhamphnpyhathiephchiyhna cachwyihphuxan phuchmsrangxudmkhtiechnediywkninchiwitkhxngtn dngnn cudmunghmaykhxngcitwithyaechingbwkekiywkbthvsdikhwamxyuepnsukhkephuxwdaelasrangkhwamecriyrungeruxng flourishing khxngmnusy ephraachann karichaenwkhidkhxngcitwithyaechingbwkechn PTG PERMA aela broaden and build txkarxxkkhawxacchwyphthnakhwamrusukepnaerngcungicihbukhkhlekhaicthungpraoychnkhxngsphaphcitechingbwk karfuk swnnirxephimetimkhxmul khunsamarthchwyephimkhxmulswnniidaenwthangnganwicyinxnakht swnnirxephimetimkhxmul khunsamarthchwyephimkhxmulswnniidkhxkhdkhantamnkcitwithyachuxdngkhnhnung citwithyaechingbwkimsamarthxthibayphvtikrrmthiohdraytharundngechnthithaodynasieyxrmni ocesf stalin aelaxun id nxkcaknnaelw ekhayngchiwa mihlkthannganwicythiaesdngwa khwamrusukinechingbwksungmishsmphnthkbkaraeplsingeraphidechingbwk positive illusion sungbidebuxnkhwamepncring phlraykhxngkarmikhwamrusukechingbwkmakekinipkkhux klayepnkhnimsamarththicaphthnathangcitid imsamarthphicarnatnexngihsmcringid aelamkcamixkhtiineruxngchatiaelaphiwphrrn odytrngknkhamkn khwamrusukechinglb sungbangkhrngpraktinbukhkhlthisumesrainradbxxnhruxpanklang smphnthkbkhwambidebuxnkhwamcringthinxykwa dngnn khwamrusukechinglbxacmibthbathsakhyinphawakhwamecriyrungeruxngkhxngmnusy twxyangechn karbriharcdkarkhxkhdaeyng aelakaryxmrbkhwamrusukechinglb rwmthngxarmnechinglbechnkhwamrusukphid xaccaepntwchwyesrimsrangkhwamecriyrungeruxng flourishing iddikwa nkcitwithyannihmummxnghnungwa bangthi khwamsukhthiaethcringxacimichxairthitxngtngepa aetepnsingthiidenuxngcakkarichchiwitthidi aelakarichchiwitthidiimidtngxyuinsthankarnthitngopraekrmiw hruxcdprbtngkhaiwepnxyangdi s eslikaemnidyxmrbinngankhxngekhaekiywkberuxngkaraeplsingeraphidechingbwk aelakepnkhnhnungthiimehndwykbkarephiyngaekhmikhwamrusukthidi ekiywkbtnthiimsmkbkhwamcring aelayxmrbkhwamsakhykhxngkhwamrusukechinglbkbkhwamwitkkngwl nkekhiynkhxngsankkhaw edxakarediyn phuhnungihkhxsngektwa nkcitwithyaechingbwksamarththuklawhaidwa fngsirsatwexngxyuinthray ehmuxnnkkracxkeths aelaimsnicwa bukhkhlthiesrasum hruxaemaetkhnephiyngaekhimmikhwamsukh mipyhacring thicaepntxngaekikh aelwxangkhakhxngnkcitwithyakhlinikkhnhnungthimhawithyalycxrcwxchingtnphuklawwa ngansuksaeruxngcitwithyaechingbwkepnaekhkarklawsaaenwkhidedim thiekhymimaaelw aelawaimmiphlnganwithyasastrthisnbsnunprasiththiphaphkhxngwithieyiyngni minkwichakarthixangwa aemwacitwithyaechingbwkcaepnpraoychntxsakhacitwithyaodythwip aetkmicudxxnkhxngmnexng ethxxangpraednphllbkhxngcitwithyaechingbwk aelakhwamaebngaeykknkhxngnkwichakarinsakhacitwithyaenuxngcakaenwkhidkhxngcitwithyaechingbwk rwmthngkhwamehnthiimsmaesmxineruxngbthbathkhxngkhwamrusukechinglb aelaykpraednpyhaekiywkbkarprayuktichethkhnikhkhxngsastraebbngay ekinip khuxepnaebbediywichkbthukkhn sungxaccaimichwithithidithisudinkarphthnakhxmulwichakarkhxngsastr ethxesnxihphicarnakhwamaetktangrahwangbukhkhlephuxprayuktichwithikartang duephimkhwamhmaykhxngchiwit khwamchladthangxarmnsastrthimakxncitwithyaechingbwk ladbkhnkhwamtxngkarkhxngmasolwechingxrrthaelaxangxingSeligman Martin E P 2000 Positive Psychology An Introduction American Psychologist 55 1 5 14 doi 10 1037 0003 066X 55 1 5 PMID 11392865 Seligman M E P 1998 Learned optimism 2nd ed New York Pocket Books a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite book title aemaebb Cite book cite book a CS1 maint uses authors parameter Compton William C 2005 1 An Introduction to Positive Psychology Wadsworth Publishing pp 1 22 ISBN 0 534 64453 8 Positive Psychology kbchiwitkhrxbkhrw PDF mhawithyalymhidl lingkesiy ithy Peterson C 2009 Positive psychology Reclaiming Children and Youth 18 2 3 7 Seligman M E P 2009 Authentic Happiness New York Free Press using your signature strengths every day to produce authentic happiness and abundant gratification a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite book title aemaebb Cite book cite book a CS1 maint uses authors parameter Peterson Christopher 2006 07 27 A Primer in Positive Psychology Oxford University Press ISBN 978 0 19 518833 2 Peterson C 2009 Reclaiming Children and Youth Positive Psychology 18 2 3 7 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint uses authors parameter Seligman M E P Csikszentmihalyi M 2000 Positive Psychology An introduction American Psychologist 55 1 5 14 doi 10 1037 0003 066x 55 1 5 the scientific study of positive human functioning and flourishing on multiple levels that include the biological personal relational institutional cultural and global dimensions of life Keyes CLM Lopez SJ 2002 Lopez CR Snyder SJ b k Toward a science of mental health Positive directions in diagnosis and interventions Handbook of positive psychology London Oxford University Press pp 45 59 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite book title aemaebb Cite book cite book a CS1 maint uses authors parameter Schimmack U 2005 Larsen M Eid R b k The structure of subjective well being The science of subjective well being New York NY US Guilford Press pp 97 123 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite book title aemaebb Cite book cite book a CS1 maint uses authors parameter Russell J A Barrett L 1999 Core affect prototypical emotional episodes and other things called emotion Dissecting the elephant Journal of Personality and Social Psychology 76 5 805 819 doi 10 1037 0022 3514 76 5 805 PMID 10353204 International Positive Psychology Association 2011 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2013 03 24 subkhnemux 2016 07 24 Seligman Martin E P 2007 Positive Psychology Center Positive Psychology Center University of Pennsylvania cakaehlngedimemux 2007 12 23 subkhnemux 2013 03 12 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint uses authors parameter PDF khlngkhxmulekaekbcakaehlngedim PDF emux 2006 07 11 subkhnemux 2011 02 07 Maslow Abraham 1954 Toward a Positive Psychology Motivation and Personality Harper ISBN 9780060419875 Secker J 1998 Current conceptualizations of mental health and mental health promotion PDF Vol 13 no 1 Health Education Research p 58 subkhnemux 2010 05 18 Amongst psychologists the importance of promoting health rather than simply preventing ill health date back to the 1950s Jahoda 1958 Hales Dianne 2010 An Invitation to Health Brief Psychological Well Being 2010 2011 ed Wadsworth Cengage Learning p 26 subkhnemux 2010 05 18 Seligman Martin E P 2002 Authentic Happiness Using the New Positive Psychology to Realize Your Potential for Lasting Fulfillment New York Free Press ISBN 0 7432 2297 0 Maslow Abraham 1954 Motivation and Personality Harper amp Brothers p 354 ISBN 9780060419875 The science of psychology has been far more successful on the negative than on the positive side It has revealed to us much about man s shortcomings his illness his sins but little about his potentialities his virtues his achievable aspirations or his full psychological height It is as if psychology has voluntarily restricted itself to only half its rightful jurisdiction the darker meaner half a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite book title aemaebb Cite book cite book a CS1 maint uses authors parameter Ben Shahar Ben 2007 Happier Learn the Secrets to Daily Joy and Lasting Fulfillment 1st ed McGraw Hill a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite book title aemaebb Cite book cite book a CS1 maint uses authors parameter First World Congress on Positive Psychology Kicks Off Today With Talks by Two of the World s Most Renowned Psychologists Reuters Press release 2009 06 18 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2012 09 08 subkhnemux 2016 07 24 Surah al Ra d 28 Compton William C Hoffman Edward 2013 Positive Psychology The Science of Happiness and Flourishing 2nd ed Belmont CA Wadsworth Cengage Learning a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite book title aemaebb Cite book cite book a CS1 maint uses authors parameter Robertson D 2010 The Philosophy of Cognitive Behavioural Therapy Stoicism as Rational and Cognitive Psychotherapy London Karnac ISBN 978 1 85575 756 1 Wilkinson Phaedra 2014 10 21 Chicago Chicago Tribune khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2014 11 15 subkhnemux 2014 11 16 The Jewish Learning Institute s JLI Newest Class Looks at Positive Psychology through the 3 000 year old lens of Jewish thought Northbrook IL When Israeli born psychologist Tal Ben Shahar began teaching a class called Positive Psychology at Harvard in 2006 a record 855 undergraduate students signed up for his class Droves of students at the academically intense university came to learn as the course description puts it about psychological aspects of a fulfilling and flourishing life Cape Coral Daily Breeze 2014 10 31 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2017 07 01 subkhnemux 2014 11 03 Rabbi Zalman Abraham of JLI s headquarters in New York says that being happy can depend on one s perspective explaining How Happiness Thinks is based on the premise that to be happy you can either change the world or you can change your thinking While drawing on 3 000 years of Jewish wisdom on happiness the course which was prepared in partnership between JLI and the Washington School of Psychiatry builds on the latest observations and discoveries in the field of positive psychology Wallis Claudia 2005 01 09 Science of Happiness New Research on Mood Satisfaction TIME khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2013 01 05 subkhnemux 2011 02 07 Ted com khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2011 11 04 subkhnemux 2011 02 07 Argyle Michael Hills Peter Oxford Happiness Questionnaire a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint uses authors parameter Hills P Argyle M 2002 The Oxford Happiness Questionnaire a compact scale for the measurement of psychological well being Personality and Individual Differences 33 1073 1082 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint uses authors parameter Kashdan Todd B 2004 The assessment of subjective well being issues raised by the Oxford Happiness Questionnaire PDF Personality and Individual Differences 36 5 1225 1232 doi 10 1016 S0191 8869 03 00213 7 Klein Stefan 2006 The Science of Happiness Marlowe amp Company ISBN 1 56924 328 X Wnyc org khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2010 08 18 subkhnemux 2011 02 07 Luz A Dunne J Davidson R 2007 Zelazo P Moscovitch M Thompson E b k Meditation and the neuroscience of consciousness Cambridge Handbook of Consciousness Cambridge University Press a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite book title aemaebb Cite book cite book a CS1 maint uses authors parameter Lykken D Tellegen A 1996 Happiness is a stochastic phenomenon Psychological Science 7 3 186 189 doi 10 1111 j 1467 9280 1996 tb00355 x Grinde Bjorn 2002 Happiness in the perspective of evolutionary psychology Journal of Happiness Studies 3 4 331 354 doi 10 1023 A 1021894227295 Bakalar Nicholas 2010 05 31 The Guardian Happiness May Come With Age Study Says by almost any measure people become happier with age although researchers are not sure why Nytimes com subkhnemux 2011 11 12 Alok Jha science correspondent 2008 01 29 Happiness is being young or old but middle age is misery London Guardian subkhnemux 2011 11 12 Bakalar Nicholas 2010 05 31 The Guardian Happiness May Come With Age Study Says Nytimes com subkhnemux 2011 11 12 Age and happiness The U bend of life The Economist 2010 12 16 subkhnemux 2011 02 07 Vedantam Shankar 2008 07 14 Older Americans May Be Happier Than Younger Ones The Washington Post Lopez SJ Snyder CR 2009 The Oxford Handbook of Positive Psychology Oxford University Press a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite book title aemaebb Cite book cite book a CS1 maint uses authors parameter Stevenson B amp Wolfers J 2009 The paradox of declining female happiness PDF American Economic Journal Economic Policy doi 10 3386 w14969 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint uses authors parameter Reid A 2004 Gender and sources of subjective well being Sex Roles 51 11 12 617 629 doi 10 1007 s11199 004 0714 1 Plagnol A Easterlin R 2008 Aspirations attainments and satisfaction life cycle differences between American women and men Journal of Happiness Studies 9 4 601 619 doi 10 1007 s10902 008 9106 5 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint multiple names authors list lingk lingkesiy Mencarini L Sironi M 2010 Happiness Housework and Gender Inequality in Europe PDF European Sociological Review 0 2 1 17 doi 10 1093 esr jcq059 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint multiple names authors list lingk Strickland B 1992 Women and depression Current Directions in Psychological Science 1 4 132 5 doi 10 1111 1467 8721 ep10769766 JSTOR 20182155 Khodarahimi Siamak The Role of Gender on Positive Psychology Constructs in a Sample of Iranian Adolescents and Young Adults Applied Research in Quality of Life PsycINFO a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint uses authors parameter Bai Sunhye 2008 Children s expressions of Positive Emotion are Sustained by Smiling Touching and Playing with Parents and Siblings a Naturalistic Observational Study of Family Life Developmental Psychology doi 10 1037 a0039854 The happiness income paradox revisited PNAS Pnas org 2010 12 13 subkhnemux 2011 02 07 Aknin L Norton M Dunn E 2009 From wealth to well being Money matters but less than people think The Journal of Positive Psychology 4 6 523 7 doi 10 1080 17439760903271421 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint multiple names authors list lingk Easterlin R 2008 Income and happiness towards a unified theory PDF The Economic Journal 11 473 465 484 doi 10 1111 1468 0297 00646 Stevenson B Wolfers J 2008 Economic growth and subjective well being Reassessing the Easterlin paradox PDF Brookings Papers on Economic Activity 39 1 1 102 doi 10 3386 w14282 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint uses authors parameter Kahneman D Deaton A September 2010 High income improves evaluation of life but not emotional well being Proc Natl Acad Sci U S A 107 38 16489 93 doi 10 1073 pnas 1011492107 PMC 2944762 PMID 20823223 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint multiple names authors list lingk Quoidbach J Dunn EW Petrides KV Mikolajczak M June 2010 Money giveth money taketh away the dual effect of wealth on happiness Psychol Sci 21 6 759 63 doi 10 1177 0956797610371963 PMID 20483819 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint multiple names authors list lingk Levy Francesca 2010 07 14 Forbes article Table The World s Happiest Countries Forbes com subkhnemux 2011 11 12 Dunn EW Aknin LB Norton MI March 2008 Spending money on others promotes happiness Science 319 5870 1687 8 doi 10 1126 science 1150952 PMID 18356530 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint multiple names authors list lingk Brickman Philip Coates amp Janoff Bulman 1978 Lottery Winners and Accident Victims Is Happiness Relative Journal of Personality and Social Psychology 36 8 917 927 doi 10 1037 0022 3514 36 8 917 Ignorance is bliss Define Ignorance is bliss at Dictionary com Dictionary reference com subkhnemux 2011 02 07 Where ignorance is bliss Tis folly to be wise Ericsson K Anders Prietula Michael J Cokely Edward T PDF Harvard Business Review khlngkhxmulekaekbcakaehlngedim PDF emux 2012 02 24 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint uses authors parameter Comparing countries The rich the poor and Bulgaria The Economist 2010 12 16 subkhnemux 2011 02 07 Twenge JM Campbell WK Foster CA August 2003 Parenthood and Marital Satisfaction A Meta Analytic Review Journal of Marriage and Family 65 3 574 583 doi 10 1111 j 1741 3737 2003 00574 x a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint multiple names authors list lingk Evenson Ranae J Simon December 2005 Clarifying the Relationship Between Parenthood and Depression Journal of Health and Social Behavior 46 4 341 358 doi 10 1177 002214650504600403 The joys of parenthood The Economist 2008 03 27 Brooks Arthur C 2008 Gross National Happiness Why Happiness Matters for America and How We Can Get More of It Basic Books ISBN 978 0 465 00278 8 Angeles L 2009 Children and Life Satisfaction Journal of Happiness Studies 11 4 523 538 doi 10 1007 s10902 009 9168 z Umberson D Gove W 1989 Parenthood and psychological well being theory measurement and stage in the family life course Journal of Family Issues 10 4 440 462 doi 10 1177 019251389010004002 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint multiple names authors list lingk McLanahan S Adams J 1987 Parenthood and psychological well being Annual Review of Sociology 13 237 257 doi 10 1146 annurev soc 13 1 237 JSTOR 2083248 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint multiple names authors list lingk Ferri E Smith K 1996 Parenting in the 1990s London Family Policy Studies Centre a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite book title aemaebb Cite book cite book a CS1 maint uses authors parameter Orden SR Bradburn NM May 1968 Dimensions of Marriage Happiness American Journal of Sociology 73 6 715 731 doi 10 1086 224565 JSTOR 2775777 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint multiple names authors list lingk Hoppmann CA Gerstorf D Willis SL Shaie KW January 2011 Spousal interrelations in happiness in the Seattle Longitudinal Study Considerable similarities in levels and change over time Developmental Psychology 47 1 1 8 doi 10 1037 a0020788 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint multiple names authors list lingk Gwanfogbe PN Schumm WR Smith M Furrow JL January 1997 Polygyny and marital life satisfaction An exploratory study from rural Cameroon Journal of Comparative Family Studies 28 1 55 71 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint multiple names authors list lingk Becker Anne 2003 03 18 Marriage Is Not the Key to Happiness Psychology Today Diener E Suh E M 2000 Culture and subjective well being Cambridge MA MIT Press a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite book title aemaebb Cite book cite book a CS1 maint uses authors parameter Diener M Diener McGavran M B 2008 What makes people happy A developmental approach to the literature on family relationships and well being in Eid M Larsen R b k The science of subjective well being New York Guilford Press pp 347 375 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite book title aemaebb Cite book cite book a CS1 maint uses authors parameter Glenn N D Weaver C N 1988 The changing relationship of marital status to reported happiness Journal of Marriage and the Family 50 317 324 doi 10 2307 351999 Barnes M L Sternberg R J 1997 A hierarchical model of love and its prediction of satisfaction in close relationships in Sternberg RJ Hojjatt M b k Satisfaction in close relationships New York Guilford Press pp 79 101 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite book title aemaebb Cite book cite book a CS1 maint uses authors parameter Diener Ed Suh Eunkook M Lucas Richard E Smith Heidi L 1999 01 01 Subjective well being Three decades of progress Psychological Bulletin 125 2 276 302 doi 10 1037 0033 2909 125 2 276 Weiss A Bates TC Luciano M March 2008 Happiness is a personal ity thing the genetics of personality and well being in a representative sample Psychol Sci 19 3 205 10 doi 10 1111 j 1467 9280 2008 02068 x PMID 18315789 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint multiple names authors list lingk Nordqvist Christian 2011 05 07 Happiness Gene Located Medical News Today Shenk J Autumn 2009 Wilson Quarterly 33 73 74 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2012 10 27 subkhnemux 2016 07 24 Fowler JH Christakis NA 2008 Dynamic spread of happiness in a large social network longitudinal analysis over 20 years in the Framingham Heart Study BMJ 337 768 a2338 doi 10 1136 bmj a2338 PMC 2600606 PMID 19056788 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint uses authors parameter Belluck Pam 2008 12 05 Strangers May Cheer You Up Study Says New York Times subkhnemux 2010 04 10 Happiness Can Spread Among People Like a Contagion Study Indicates The Washington Post 2008 12 05 p A08 Adams Ryan E Bukoeski amp Santo 2011 The Presence of a Best Friend Buffers the Effects of Negative Experiences Developmental Psychology 47 6 1786 1791 doi 10 1037 a0025401 Zak Paul 2011 TED lecture khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2012 06 01 subkhnemux 2016 07 24 Anderson C Kraus M W Galinsky A D Keltner D 2012 05 31 The Local Ladder Effect Social Status and Subjective Well Being Psychological Science 23 7 764 771 doi 10 1177 0956797611434537 Aaronson Lauren Happiness Is a Beach Sometimes Psychology Today subkhnemux 2011 02 07 Paloutzian R F Park C L Handbook of the psychology of religion and spirituality New York NY US Guilford Press a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite book title aemaebb Cite book cite book a CS1 maint uses authors parameter George L K Larson D B Koenig H G McCullough M E 2000 Spirituality and health What we know what we need to know Journal of Social and Clinical Psychology 19 1 102 116 doi 10 1521 jscp 2000 19 1 102 Donahue M J Benson P L 1995 Religion and the well being of adolescents Journal of Social Issues 51 2 145 160 doi 10 1111 j 1540 4560 1995 tb01328 x Emmons R A 1999 The psychology of ultimate concerns Motivation and spirituality in personality New York Guilford a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite book title aemaebb Cite book cite book a CS1 maint uses authors parameter Frazier Patricia May 2013 The relation between trauma exposure and prosocial behavior Psychological Trauma Theory Research Practice and Policy subkhnemux 2015 04 12 Sasaki Joni Y Kim Heejung S Xu Jun 2011 11 01 Journal of Cross Cultural Psychology 42 8 1394 1405 doi 10 1177 0022022111412526 ISSN 0022 0221 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2015 02 05 subkhnemux 2015 04 12 Reuter Kirby K March 2014 Religiosity and Spirituality as Resiliency Resources Moderation Mediation or Moderated Mediation Journal for the Scientific Study of Religion 53 56 72 doi 10 1111 jssr 12081 Graff Ladd October 1971 POI CORRELATES OF A RELIGIOUS COMMITMENT INVENTORY Journal of Clinical Psychology 27 502 504 doi 10 1002 1097 4679 197110 27 4 lt 502 AID JCLP2270270431 gt 3 0 CO 2 2 subkhnemux 2015 04 12 Religion or spirituality has positive impact on romantic marital relationships child development research shows subkhnemux 2015 04 13 Greggo Stephen P 2012 Clinical Appraisal of Spirituality In Search of Rapid Assessment Instruments RAIs for Christian Counseling Journal of Psychology and Christianity subkhnemux 2015 04 12 www themirrorpost com khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2015 04 12 subkhnemux 2015 04 13 Galen LW September 2012 Does religious belief promote prosociality A critical examination Psychol Bull 138 876 906 doi 10 1037 a0028251 PMID 22925142 Masters KS August 2006 Are there demonstrable effects of distant intercessory prayer A meta analytic review Ann Behav Med 32 21 6 doi 10 1207 s15324796abm3201 3 PMID 16827626 Hodge David R 2007 03 01 A Systematic Review of the Empirical Literature on Intercessory Prayer Research on Social Work Practice 17 2 174 187 doi 10 1177 1049731506296170 ISSN 1049 7315 subkhnemux 2015 04 13 Pargament K I 1999 The psychology of religion and spirituality Yes and no International Journal for the Psychology of Religion 9 3 16 doi 10 1207 s15327582ijpr0901 2 a search for the sacred Snyder C R Lopez Shane 2002 Handbook of Positive Psychology New York Oxford University Press a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite book title aemaebb Cite book cite book a CS1 maint uses authors parameter Nelson James M 2009 Psychology Religion and Spirituality New York Springer Science Business Media LLC p 359 Wood Connor 2013 05 30 Does spirituality help well being or do we just need to be good to each other Institute for the Bio Cultural Study of Religion Emmons R A Cheun C Tehrani K 1998 Assessing spirituality through personal goals Implications for research on religion and subjective well being Social Indicators Research 45 391 422 doi 10 1023 A 1006926720976 Holder Mark D Coleman Ben Wallace Judi M 2008 Spirituality Religiousness and Happiness in Children Aged 8 12 Years Journal of Happiness Studies 11 131 150 doi 10 1007 s10902 008 9126 1 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint uses authors parameter Fehring RJ Miller JF Shaw C 1997 Spiritual well being religiosity hope depression and other mood states in elderly people coping with cancer Oncology Nursing Forum 24 4 663 671 PMID 9159782 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint uses authors parameter Strawbridge W J Cohen R D Shema S J 1997 Frequent attendance at religious services and mortality over 28 years American Journal of Public Health 87 957 961 doi 10 2105 ajph 87 6 957 PMC 1380930 PMID 9224176