โรคกรดไหลย้อน หรือ โรคการไหลย้อนจากกระเพาะอาหารมาหลอดอาหาร (อังกฤษ: gastroesophageal reflux disease, GERD) เป็นภาวะระยะยาว (เช่น มีอาการมากกว่า 2 ครั้งต่ออาทิตย์เป็นเวลาหลายอาทิตย์) ที่สิ่งซึ่งอยู่ในกระเพาะอาหารไหลย้อนเข้าไปในหลอดอาหารซึ่งทนต่อกรดและเอนไซม์ย่อยอาหารได้แค่ระดับหนึ่ง แล้วทำให้เกิดอาการต่าง ๆ หรือนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อาการรวมทั้งเรอเปรี้ยวเรอขม คือได้รสกรดหรือรสขมที่ใกล้ ๆ คอ แสบร้อนกลางอก/ยอดอก ปวดหน้าอก ลมหายใจเหม็น อาเจียน หายใจมีปัญหาเช่นหายใจไม่ออกเวลานอนหรือเจ็บคอ และฟันกร่อน อาการอาจแย่ลงจนเกิดภาวะแทรกซ้อนรวมทั้งหลอดอาหารอักเสบ หลอดอาหารตีบ และเกิดเยื่อบุผิวเสี่ยงมะเร็งในหลอดอาหาร ซึ่งอย่างสุดท้ายพิจารณาว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุหลอดอาหารก่อนจะเป็นมะเร็ง แล้วอาจกลายเป็นมะเร็งชนิดต่อมซึ่งบ่อยมากทำให้เสียชีวิต
โรคกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease) | |
---|---|
ชื่ออื่น | โรคการไหลย้อนจากกระเพาะอาหารมาหลอดอาหาร, gastro-oesophageal reflux disease (GORD), gastric reflux disease, acid reflux disease, reflux, gastroesophageal reflux |
ภาพเอกซ์เรย์โดยความเปรียบต่าง (radiocontrast) แสดงกระเพาะอาหารซึ่งเลื่อนเข้าไปในช่องกลางของหน้าอกซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงก่อโรคนี้ | |
การออกเสียง | |
สาขาวิชา | วิทยาทางเดินอาหาร |
อาการ | ได้รสกรด แสบร้อนกลางอก เจ็บหน้าอก ลมหายใจเหม็น หายใจมีปัญหา |
ภาวะแทรกซ้อน | หลอดอาหารตีบ มีเยื่อบุผิวเสี่ยงมะเร็งในหลอดอาหาร ปัญหาการหายใจ |
ระยะดำเนินโรค | ระยะยาว |
สาเหตุ | หูรูดหลอดอาหารด้านล่างปิดได้ไม่ดี |
ปัจจัยเสี่ยง | โรคอ้วน ตั้งครรภ์ สูบบุหรี่ ได้รับควันบุหรี่เป็นประจำ กระเพาะอาหารเลื่อนผ่านกะบังลมยาบางอย่าง |
วิธีวินิจฉัย | การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน การวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหาร การกลืนแป้งถ่ายภาพรังสี การวัดการบีบตัวของหลอดอาหาร |
โรคอื่นที่คล้ายกัน | แผลเปื่อยเพปติก มะเร็งหลอดอาหาร หลอดอาหารกระตุก อาการปวดเค้นหัวใจ |
การรักษา | เปลี่ยนอาหารและพฤติกรรม ยา ผ่าตัด |
ยา | ยาลดกรด ยาต้านตัวรับเอช2 ยายับยั้งการหลั่งกรด, ยาเพิ่มการบีบตัวของลำไส้เล็ก (prokinetics) |
ความชุก | 7.4% (ไทย), <5% (เอเชีย), ~15% (ประเทศตะวันตก) |
ปัจจัยเสี่ยงรวมทั้งโรคอ้วน การตั้งครรภ์ การสูบบุหรี่ การได้รับควันบุหรี่เป็นประจำ กระเพาะอาหารเลื่อนผ่านกะบังลม (hiatus hernia) และการใช้ยาบางประเภท ยาที่อาจมีบทบาทรวมทั้งสารต้านฮิสตามีน (เช่น ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก) แคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ ยาแก้ซึมเศร้า และยานอนหลับ โรคมีเหตุจากหูรูดหลอดอาหารด้านล่าง (ส่วนต่อระหว่างกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร) ปิดได้ไม่ดี คือคลายตัวบ่อยเกินการวินิจฉัยสำหรับคนไข้ที่ไม่ดีขึ้นด้วยการตรวจรักษาปกติ อาจรวมการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน การกลืนแป้งถ่ายภาพรังสี และการวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหาร
โรคที่ไม่ได้รักษาดูแล สามารถทำความเสียหายต่อหลอดอาหารอย่างถาวร การรักษาปกติคือให้เปลี่ยนอาหารพร้อมพฤติกรรม การใช้ยา หรือบางครั้งการผ่าตัด การเปลี่ยนพฤติกรรมอาจรวมไม่นอนในระยะ 2-3 ชม. หลังทานอาหาร, ลดน้ำหนัก, เลี่ยงอาหารบางประเภท, เลิกสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ยารวมทั้งยาลดกรด ยาต้านตัวรับเอช2 ยายับยั้งการหลั่งกรด (PPI) และยาเพิ่มการบีบตัวของลำไส้เล็ก (prokinetics) การผ่าตัดอาจเป็นทางเลือกสำหรับคนไข้ที่รักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ไม่หาย
ประชากรประมาณ 7.4% ในประเทศไทยเป็นโรคนี้ ในเอเชีย อาจมีประชากรน้อยกว่า 5% ที่มีโรค แต่ในโลกตะวันตก ประชากรถึงระหว่าง 10-20% อาจมีโรคนี้ ถึงกระนั้น การมีกรดไหลย้อนธรรมดา (GER) เป็นบางครั้งบางคราว (คือมีอาการ 2 ครั้งหรือน้อยกว่าต่ออาทิตย์) โดยไม่มีอาการหรือภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ก็เป็นเรื่องสามัญกว่า โรคแม้จะไม่ร้ายแรงเหมือนกับโรคมะเร็งหรือโรคหัวใจ แต่ก็ทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน ลดคุณภาพชีวิตอย่างมากทั้งในด้านร่างกายและจิตใจและลดประสิทธิภาพการทำงาน รายละเอียดของอาการนี้ได้กล่าวถึงเป็นครั้งแรกในปี 1935 โดยแพทย์โรคทางเดินอาหารชาวอเมริกัน แต่อาการแบบคลาสสิกก็กล่าวถึงตั้งแต่ปี 1925 แล้ว
อาการ
--- รศ.นพ.อุดม คชินทร (หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) ให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2552
รูปแบบ | อาการ |
---|---|
ตรงแบบ/คลาสสิก | เรอเปรี้ยว แสบร้อนกลางอก |
นอกแบบ | จุก-แน่น-อึดอัด-เจ็บที่ยอดอก/ใต้ลิ้นปี่ อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอ |
อาการนอกเหนือหลอดอาหาร | ไอเรื้อรัง หลอดลมหดเกร็ง หายใจเสียงหวีด เสียงแหบ เจ็บคอ หอบหืด กล่องเสียงอักเสบ ฟันกร่อน |
ผู้ใหญ่
อาการสามัญที่สุดของโรคก็คือเรอเปรี้ยว เรอขม (คือรู้สึกถึงรสขมของน้ำดี รสเปรี้ยวของกรด ในปากหรือลำคอ) และแสบร้อนกลางอก (เนื่องจากกรดไปทำให้หลอดอาหารอักเสบ) ส่วนอาการที่สามัญน้อยกว่ารวมทั้งอาการกลืนเจ็บ เจ็บคอ น้ำลายมาก คลื่นไส้ เจ็บปวดหน้าอก จุกแน่นบริเวณหน้าอก ลมหายใจเหม็น อาเจียน ฟันกร่อน โรคนี้บางครั้งทำหลอดอาหารให้เสียหายโดยอาจเกิดดังต่อไปนี้
- (หลอดอาหารอักเสบเหตุกรดไหลย้อน) - เป็นการอักเสบของเยื่อบุหลอดอาหาร (esophageal epithelium) ซึ่งอาจทำให้เป็นแผลเปื่อยที่ส่วนเชื่อมระหว่างกระเพาะและหลอดอาหาร ผู้ใหญ่ที่มีหลอดอาหารอักเสบเรื้อรังเป็นเวลาหลายปีมีโอกาสสูงที่หลอดอาหารจะเปลี่ยนเป็นมีเนื้อเยื่อเสี่ยงมะเร็ง
- (หลอดอาหารตีบ) - เป็นการตีบของหลอดอาหารที่คงยืนเนื่องจากการอักเสบเหตุกรดไหลย้อน ซึ่งทำให้มีปัญหาในการกลืน
- เยื่อบุผิวเสี่ยงมะเร็งในหลอดอาหารคือ Barrett's esophagus - เป็นการเปลี่ยนแปลงผิดปกติ (metaplasia) ในเซลล์ที่ส่วนล่างของหลอดอาหาร คือเยื่อบุหลอดอาหารแบบ stratified squamous epithelium จะแทนที่ด้วย simple columnar epithelium ซึ่งบางครั้งกลายเป็นมะเร็งชนิดต่อมที่หลอดอาหาร
- (มะเร็งชนิดต่อมที่หลอดอาหาร) - เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งซึ่งบ่อยมากทำให้เสียชีวิต
โรคสามารถทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ เพราะกรดอาจเข้าไปในคอและปอด รวมทั้ง
- โรคหืด เป็นโรคระยะยาวในปอดที่ทำให้ไวเป็นพิเศษต่อสิ่งที่แพ้
- แน่นหน้าอก หรือมีน้ำในปอด
- ไอแห้ง ๆ เป็นระยะนาน หรือคอเจ็บ
- เสียงแหบ
- กล่องเสียงอักเสบ (laryngitis) ทำให้เสียงแย่ลง
- ปอดบวม คือเชื้อที่ปอดข้างหนึ่งหรือทั้งสอง โดยเป็นใหม่บ่อย ๆ
- หายใจเป็นเสียงหวีด
นักวิจัยบางพวกได้เสนอว่า การติดเชื้อที่หูซึ่งเป็นซ้ำ ๆ และภาวะเกิดผังผืดที่ปอดซึ่งไม่ทราบสาเหตุ (idiopathic pulmonary fibrosis) อาจมีความสัมพันธ์ในบางกรณีกับโรค แต่ก็ยังไม่สามารถแสดงความเป็นเหตุผล[] โรคดูจะไม่สัมพันธ์กับโพรงอากาศอักเสบเรื้อรัง (chronic sinusitis)
อาการและผลต่อชีวิต (เอเชีย)
งาน "The Asian Burning Desires Survey" ได้สำรวจผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน 1,020 คน ในประเทศเอเชีย 7 ประเทศ คือ จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และไทย เรื่องผลกระทบต่อการทำงานและชีวิต แล้วได้พบว่า
- 65% ของผู้ป่วยรวมที่ไปพบแพทย์ไม่รู้ว่า ตนกำลังป่วยเป็นโรคนี้
- 75% มีอาการเรอเปรี้ยวและแสบร้อนกลางอก
- 60% รู้สึกไม่สบาย เลี่ยงน้ำและอาหาร เหนื่อย และกังวลเรื่องโรค
- 50% ตื่นขึ้น 1-2 ครั้งต่อเดือนเพราะอาการของโรค
เด็ก
โรคอาจรู้ได้ยากในทารกและเด็ก เพราะไม่สามารถบอกว่ารู้สึกอย่างไรโดยผู้ใหญ่ต้องสังเกตอาการเอาเอง อาการอาจต่างจากของผู้ใหญ่โดยทั่ว ๆ ไป โรคในเด็กอาจทำให้อาเจียนบ่อย ๆ การขากออกโดยไม่ตั้งใจ ไอ และปัญหาการหายใจอื่น ๆ เช่น เสียงหายใจหวีด โดยอาการอื่น ๆ รวมทั้งการร้องไห้แบบปลอบไม่ได้ ปฏิเสธอาหาร ร้องไห้เรียกร้องอาหารแต่แล้วก็เอาขวดนมออก แล้วร้องขออีก น้ำหนักไม่สมวัย ลมหายใจเหม็น และเรอ ก็สามัญด้วยเหมือนกัน เด็กอาจมีอาการเดียวหรือหลายอย่าง ไม่มีอาการไหนที่เหมือนกันในเด็กทุกคนที่เป็นโรค
ในสหรัฐอเมริกาแต่ละปี ทารกเกิดใหม่ถึง 35% อาจมีปัญหากรดไหลย้อนในช่วง 2-3 เดือนแรก ทฤษฎีหนึ่งคือ "fourth trimester theory" (ทฤษฎีไตรมาสที่สี่) ซึ่งให้ข้อสังเกตว่า สัตว์โดยมากเกิดมาเคลื่อนไหวไปมาได้ทันที ส่วนมนุษย์ค่อนข้างจะช่วยตนเองไม่ได้เมื่อเกิด ซึ่งแสดงว่า อาจเคยอยู่ในครรภ์เป็นไตรมาสที่สี่ แต่ต่อมาเกิดความกดดันทางวิวัฒนาการให้มีศีรษะและสมองที่ใหญ่ขึ้นโดยก็ยังต้องลอดช่องคลอดออกมาได้ จึงต้องเกิดก่อนและทำให้ระบบย่อยอาหารยังไม่พัฒนาขึ้นเต็มที่[] เด็กโดยมากจะเลิกมีปัญหานี้ภายในปีแรก แต่ก็มีจำนวนหนึ่งซึ่งน้อยแต่ยังสำคัญ ผู้จะยังมีปัญหานี้อยู่ โดยจริงเป็นพิเศษสำหรับครอบครัวที่มีประวัติโรคนี้[]
Barrett's esophagus
Barrett's esophagus หมายถึงการเปลี่ยนแปลงผิดปกติ (metaplasia) ในเซลล์บุเยื่อที่ส่วนล่างของหลอดอาหาร คือเยื่อบุหลอดอาหารแบบ stratified squamous epithelium จะแทนที่ด้วย simple columnar epithelium ซึ่งประกอบด้วย goblet cell (ซึ่งปกติพบในส่วนล่างของทางเดินอาหาร) ความสำคัญทางการแพทย์ของอาการนี้ก็คือ สัมพันธ์อย่างมีกำลังกับมะเร็งชนิดต่อมที่หลอดอาหาร (esophageal adenocarcinoma) ซึ่งบ่อยมากทำให้เสียชีวิต
โรคกรดไหลย้อนอาจแย่ลงจนกลายเป็น Barrett's esophagus ซึ่งก็เป็นอาการเริ่มต้นก่อนจะเป็นมะเร็งหลอดอาหาร ความเสี่ยงการแย่ลงจากการเปลี่ยนแปลงผิดปกติ (metaplasia) ไปเป็นการเจริญผิดปกติ (dysplasia) ยังไม่ชัดเจน แต่ประเมินอยู่ที่ 20% เนื่องจากการแสบร้อนกลางหน้าอกเรื้อรังอาจแย่ลงจนเป็น Barrett's esophagus จึงแนะนำให้ส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน ทุก ๆ 5 ปีสำหรับผู้แสบร้อนกลางอกเรื้อรังหรือคนไข้โรคนี้แบบเรื้อรังที่ทานยาเป็นประจำ
เหตุ
โรคนี้มีเหตุจากการทำงานบกพร่องของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง (LES) ที่คลายตัวเมื่อมันไม่ควร ในคนปกติ ตรงมุมที่หลอดอาหารส่งเข้าไปในกระเพาะอาหาร (Angle of His) จะมีหูรูดที่ป้องกันของในกระเพาะอาหารรวมทั้งเอนไซม์ต่าง ๆ และกรดกระเพาะอาหารเป็นต้น ไม่ให้ไหลกลับเข้าไปในหลอดอาหารซึ่งสามารถทำให้มันแสบร้อนและอักเสบ
ปัจจัยที่อาจมีบทบาทต่อโรครวมทั้ง
- โรคอ้วน - ดัชนีมวลกายที่เพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับโรคที่รุนแรงขึ้น งานศึกษาคนไข้ที่มีอาการโรค 2,000 คนพบว่า 13% ของการเปลี่ยนแปลงการไหลย้อนของกรดสามารถสัมพันธ์กับการเพิ่มดัชนีมวลกายได้
- การตั้งครรภ์ทำให้มีความดันในท้องเพิ่ม
- การสูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่เป็นประจำ
- การใช้ยาต่าง ๆ เช่น ยารักษารักษาโรคหืด แคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ สารต้านฮิสตามีน ยาแก้ปวด ยานอนหลับ ยาแก้ซึมเศร้า
- กระเพาะอาหารเลื่อนผ่านกะบังลม ซึ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงโรคเนื่องจากปัจจัยทางกายภาพและการบีบตัว (motility) เช่น ลดความแข็งแรงของหูรูด
- Zollinger-Ellison syndrome - เป็นเหตุเพิ่มกรดในกระเพาะอาหารเนื่องจากการเพิ่มผลิตฮอร์โมนชนิดเพปไทด์คือ gastrin
- แคลเซียมในเลือดสูง (hypercalcemia) สามารถเพิ่มการผลิตฮอร์โมนชนิดเพปไทด์คือ gastrin ซึ่งเพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร
- โรคหนังแข็ง (ทั้ง scleroderma และ systemic sclerosis) อาจมีอาการเป็นหลอดอาหารบีบตัวผิดปกติ
- อวัยวะภายในย้อย (visceroptosis, Glénard syndrome) ซึ่งกระเพาะอาหารได้ย้อยลงในท้อง ทำให้การบีบตัวและการหลั่งกรดของกระเพาะผิดปกติ
โรคพบว่าสัมพันธ์กับปัญหาการหายใจและปัญหาที่กล่องเสียง เช่น กล่องเสียงอักเสบ (laryngitis) ไอเรื้อรัง ภาวะเกิดผังผืดที่ปอด (pulmonary fibrosis) เจ็บหู และโรคหืด แม้เมื่อโรคนี้อาจยังไม่ปรากฏอาการที่ชัดเจนทางคลินิก อาการปรากฏที่ไม่ทั่วไปของโรคเช่นนี้เรียกว่า กรดไหลย้อนขึ้นกล่องเสียงและคอหอย (laryngopharyngeal reflux, LPR) หรือโรคกรดไหลย้อนนอกหลอดอาหาร (extraesophageal reflux disease, EERD)
ปัจจัยที่ได้สัมพันธ์กับโรคแต่ยังสรุปไม่ได้รวมทั้ง
- การหยุดหายใจขณะหลับเหตุอุดกั้น (OSA)
- นิ่วน้ำดี (gallstone) ซึ่งสามารถขัดการไหลของน้ำดีเข้าไปในลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งมีผลต่อสมรรถภาพทำกรดกระเพาะอาหารให้เป็นกลาง
งานทบทวนวรรณกรรมปี 1999 พบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว คนไข้โรคนี้ 40% ติดเชื้อ H. pylori ด้วย แต่การกำจัดเชื้อกลับทำให้หลั่งกรดเพิ่มขึ้น ซึ่งสร้างคำถามว่า คนไข้ที่ติดเชื้อต่างจากที่ไม่มีเชื้ออย่างไร งานศึกษาแบบอำพรางสองทางปี 2004 ไม่พบความแตกต่างที่สำคัญทางคลินิกระหว่างคนไข้สองพวกนี้ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงของโรคที่วัดโดยเป็นอัตวิสัยหรือโดยปรวิสัย
- ดื่มแอลกอฮอล์
- ทานอาหารรสจัด เร่งรีบเกินไป อิ่มเกินไป
- ความเครียด
- ทานอาหารรสจัด เร่งรีบเกินไป อิ่มเกินไป ก็สามารถก่อให้เกิดกรดไหลย้อน[]ได้
การวินิจฉัย
การตรวจรักษา | อาการบ่งใช้ |
---|---|
ลองรักษาด้วย PPI | อาการคลาสสิกโดยไม่มีอาการอื่น ๆ ซึ่งน่าเป็นห่วง |
วัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหาร | การรักษาด้วยยาไม่ทำอาการให้ดีและสงสัยว่าเป็นโรคนี้จริง ๆ หรือไม่ หรือเพื่อประเมินว่ามีแผลในหลอดอาหารเหตุกรดก่อนการผ่าตัดหรือไม่ |
ส่องกล้อง | อาการน่าเป็นห่วงเช่นกลืนลำบาก, คนไข้ไม่ตอบสนองต่อ PPI, เสี่ยงสูงต่อภาวะเยื่อบุผิวเสี่ยงมะเร็งในหลอดอาหารคือ Barrett's esophagus |
กลืนแป้งถ่ายภาพรังสี | เพื่อประเมินการกลืนลำบาก นอกเหนือจากนี้ไม่แนะนำเพื่อประเมินโรคนี้ |
วัดการบีบตัวของหลอดอาหาร | ก่อนผ่าตัดเพื่อยืนยันว่าไม่ใช่อาการไม่บีบตัวของหลอดอาหาร (เช่นมีโรค กล้ามเนื้อเรียบไม่คลาย โรคหนังแข็ง) นอกเหนือจากนี้ไม่แนะนำเพื่อประเมินโรคนี้ |
แพทย์มักวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้เมื่อมีอาการแบบคลาสสิก คือเรอเปรี้ยวและแสบร้อนกลางหน้าอก ซึ่งเมื่อไม่มีอาการที่น่าเป็นห่วงอื่น ๆ ก็อาจเริ่มทดลองรักษาด้วยยาได้เลย และถ้าอาการดีขึ้นภายในสองอาทิตย์ก็สันนิษฐานได้ว่ามีโรคนี้ แต่คนไข้ที่ไม่ปรากฏอาการก็อาจมีโรคได้ โดยการวินิจฉัยจะต้องให้มีทั้งอาการ/ภาวะแทรกซ้อนบวกกับการไหลย้อนของสิ่งที่อยู่ในกระเพาะ ถ้าคนไข้ไม่ดีขึ้นเมื่อทานยาและเปลี่ยนอาหารพร้อมพฤติกรรมแล้ว อาจจะต้องตรวจเพิ่มขึ้น โดยอาจส่งไปหาแพทย์เฉพาะทาง เช่น แพทย์โรคทางเดินอาหาร
การตรวจวิธีอื่น ๆ รวมการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน (EGD) แต่อาจระบุโรคได้เพียงแค่ 10-30% เท่านั้นการวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหารในชีวิตปกติ อาจมีประโยชน์สำหรับคนไข้ที่ไม่ดีขึ้นหลังให้ยายายับยั้งการหลั่งกรด (PPI) แต่ไม่จำเป็นสำหรับคนไข้ที่เห็นว่ามีเยื่อบุผิวเสี่ยงมะเร็งในหลอดอาหารคือ Barrett's esophagus ไม่ควรใช้ภาพเอกซ์เรย์ที่ให้คนไข้กลืนแบเรียม (แป้ง) เพื่อการวินิจฉัยเพราะไม่สามารถแสดงโรค ส่วนการวัดการบีบตัวของหลอดอาหาร แนะนำให้ใช้ก่อนผ่าตัดเท่านั้นและไม่แนะนำให้ใช้เพื่อวินิจฉัย และการตรวจสอบการติดเชื้อ H. pylori ปกติก็ไม่จำเป็น
การลองรักษาด้วยยา
สำหรับคนไข้ที่ปรากฏอาการคลาสสิกของโรคคือแสบร้อนกลางอก และ/หรือเรอเปรี้ยว ที่ไม่มีอาการน่าเป็นห่วงอื่น ๆ วิธีการหนึ่งเพื่อวินิจฉัยโรคก็คือการให้ยายับยั้งการหลั่งกรด (PPI) ในระยะสั้น ๆ (เช่น 2 อาทิตย์) ถ้าอาการดีขึ้นก็อาจวินิจฉัยได้ว่ามีโรค แต่ถ้าไม่ดีขึ้น แพทย์อาจจะต้องตรวจเพิ่มเพื่อยืนยันการมีโรคนี้ และเพื่อประเมินว่ามีโรคอื่นหรือไม่ อนึ่ง อาการโรคนอกแบบหรือคนไข้ที่เจ็บหน้าอกเป็นอาการหลักซึ่งไม่เกี่ยวกับหัวใจ ก็ยังอาจต้องพิจารณาตรวจด้วยวิธีอื่นก่อนจะใช้วิธีการนี้ คนไข้แม้รับยา PPI ขนาดสูงก็ยังอาจพบลักษณะการถูกกรดในหลอดอาหารเมื่อวัดความเป็นกรดด่าง ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่ทานยาตามแพทย์สั่งหรือเพราะไม่ตอบสนองต่อยา
วิธีนี้ยังช่วยพยากรณ์ผลการเฝ้าสังเกตความเป็นกรดด่างที่ผิดปกติภายใน 24 ชม. ในบรรดาคนไข้ที่มีอาการซึ่งอาจแสดงถึงโรค
การส่องกล้อง
การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน (Esophagogastroduodenoscopy, gastroscopy เป็นต้น) เป็นวิธีการตรวจที่ใช้กล้องส่องต่อเส้นใยนำแสงซึ่งยืดหยุ่นได้ เพื่อดูตั้งแต่ส่วนบนของทางเดินอาหารจนไปถึงลำไส้เล็ก เป็นวิธีการที่ไม่ต้องผ่าตัดและใช้เวลาไม่มากเพื่อฟื้นตัว (ยกเว้นถ้าใช้ยาสลบหรือยาชา) แต่คอเจ็บก็สามัญด้วยเหมือนกัน
วิธีนี้ไม่จำเป็นต้องทำถ้าคนไข้มีอาการคลาสสิกและตอบสนองต่อการรักษา เพราะการส่องกล้องจะวินิจฉัยโรคได้เพียง 10-30% เท่านั้น แต่แนะนำให้ใช้สำหรับผู้ที่ทานยาแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีอาการน่าเป็นห่วงอื่น ๆ รวมทั้งการกลืนลำบาก (dysphagia) โลหิตจาง เลือดในอุจจาระ (โดยตรวจด้วยสารเคมี) หายใจเป็นเสียงหวีด น้ำหนักลด หรือเสียงเปลี่ยน แพทย์บางพวกเสนอให้ส่องกล้องดูครั้งหนึ่งในชีวิตหรือทุก ๆ 5-10 ปีสำหรับคนไข้โรคนี้ที่เป็นระยะยาว เพื่อประเมินว่ามีการเจริญผิดปกติ (dysplasia) หรือเยื่อบุผิวเสี่ยงมะเร็งในหลอดอาหารคือ Barrett's esophagus หรือไม่
ถ้าแพทย์ให้ทานยาเต็มอัตราแล้วแต่ยังไม่หาย แพทย์อาจส่องกล้องเพื่อตรวจเพิ่ม ซึ่งสามารถแสดงอาการผิดปกติต่าง ๆ ในคนไข้ที่รักษาด้วยยาไม่ดีขึ้นประมาณ 10% เป็นความผิดปกติเช่นของหลอดอาหารอักเสบแบบมีแผลที่คงยืน หลอดอาหารอักเสบแบบชอบอีโอซิโนฟิล (eosinophilic esophagitis) และ Barrett's esophagus โดยการพบการอักเสบจะช่วยยืนยันวินิจฉัยโรคนี้และแสดงว่า คนไข้ไม่ทานยาตามสั่งหรือยาล้มเหลวในการรักษา แต่กรดที่ไหลย้อนก็อาจไม่ก่อแผลในหลอดอาหาร เป็นแบบโรคที่เรียกว่า โรคกรดไหลย้อนที่ไม่ก่อแผลในหลอดอาหาร (non-erosive reflux disease, NERD) ทำให้โดยมากคนไข้จะไม่มีความผิดปกติในหลอดอาหาร และอาจจำเป็นต้องตรวจวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหารต่อไป
วิธีนี้มีข้อจำกัด ยกตัวอย่างเช่น ถ้าพบหลอดอาหารอักเสบหรือเยื่อบุผิวเสี่ยงมะเร็งในหลอดอาหารคือ Barrett's esophagus นี่เท่ากับยืนยันวินิจฉัยโรคนี้อย่างเฉพาะเจาะจง แต่การมีหลอดอาหารปกติก็ไม่ได้กันว่าไม่มีโรคนี้ คนไข้โรคนี้โดยมากจะไม่มีอะไรผิดปกติที่เห็นได้ผ่านกล้อง ดังนั้น จึงจะใช้ต่อเมื่อมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ หรือเพื่อประเมินโรคอื่น หรือเพื่อการติดตั้งแคปซูลตรวจความเป็นกรดด่างแบบไร้สาย คนไข้ที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างต่อ (esophageal adenocarcinoma) (รวมทั้งอายุมากกว่า 50 เป็นชาย เป็นโรคนี้แบบเรื้อรัง กระเพาะอาหารเลื่อนผ่านกะบังลมดัชนีมวลกายสูง ไขมันสะสมที่ท้อง) และเพื่อตรวจคัดกรองว่ามี Barrett's esophagus หรือไม่
การตัดเนื้ออกตรวจ
เมื่อส่องกล้อง นอกจากจะตรวจดูหลอดอาหารแล้ว แพทย์ยังสามารถตัดเนื้อออกตรวจถ้าเห็นความเปลี่ยนแปลงผิดปกติ ส่วนตีบ หรือก้อนเนื้อ การตัดเนื้อออกตรวจอาจแสดง
- การบวมน้ำ และ basal hyperplasia ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยอักเสบที่ไม่จำเพาะเจาะจง
- การอักเสบโดยเกี่ยวกับเม็ดเลือดขาว (lymphocytic inflammation) ที่ไม่จำเพาะเจาะจง
- การอักเสบแบบแต้มสีที่มีค่าพีเอชเป็นกลางได้ (neutrophilic inflammation) ซึ่งปกติมาจากกรดไหลย้อน หรือกระเพาะอักเสบ (gastritis) เนื่องจากเชื้อ Helicobacter
- การอักเสบแบบชอบอีโอซิโนฟิล (eosinophilic inflammation) ซึ่งปกติมีเหตุจากกรดไหลย้อน การมีอีโอซิโนฟิลภายในเยื่อบุอาจระบุให้วินิจฉัยเป็นหลอดอาหารอักเสบแบบชอบอีโอซิโนฟิล (EE) ถ้าพบอีโอซิโนฟิลเป็นจำนวนมากพอ แต่ถ้ามีอีโอซิโนฟิลไม่มากในหลอดอาหารส่วนล่าง และพบลักษณะทางเนื้อเยื่ออื่น ๆ ของโรคกรดไหลย้อน (GERD) อาการก็จะเข้ากับโรคนี้มากกว่า EE
- การเปลี่ยนแปลงผิดปกติ (metaplasia) ที่ประกอบด้วย Goblet cell ซึ่งเป็นอาการของ Barrett's esophagus
- papillae ที่ยาวขึ้น
- ชั้น squamous cell ที่บางลง
- การเจริญผิดปกติ (dysplasia)
- มะเร็งเยื่อบุ (carcinoma)
การวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหาร
การวัดค่าความเป็นกรดด่างและค่าอิมพีแดนซ์ในหลอดอาหาร (esophageal pH and impedance monitoring) เป็นวิธีการตรวจสอบกรดไหลย้อนที่แม่นยำที่สุด เป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยโรคนี้ เป็นการตรวจสอบที่เป็นปรวิสัยมากที่สุดเพื่อวินิจฉัยโรคนี้ และช่วยให้เฝ้าสังเกตการตอบสนองของคนไข้ต่อการรักษาไม่ว่าจะโดยยาหรือผ่าตัดด้วย เป็นการวัดค่ากรดในหลอดอาหารเมื่อคนไข้ทำกิจกรรมชีวิตประจำวันปกติรวมทั้งทานอาหารและนอน
แพทย์จะทำการนี้เมื่อส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน โดยมากเมื่อคนไข้มีสติ คือแพทย์จะส่งสายยางบาง ๆ ผ่านจมูกหรือปากไปถึงกระเพาะอาหาร แล้วก็ดึงสายขึ้นกลับมาอยู่ในหลอดอาหารแล้วเทปสายอีกปลายหนึ่งติดที่แก้ม ปลายในหลอดอาหารจะเป็นตัววัดว่า กรดย้อนขึ้นมาในหลอดอาหารเมื่อไรและเท่าไร ส่วนอีกปลายหนึ่งจะต่อเข้ากับเครื่องบันทึกที่ติดไว้นอกตัว
คนไข้จะใส่ชุดอุปกรณ์นี้เป็นเวลา 24 ชม. ซึ่งจะถอดออกเมื่อกลับไปหาแพทย์
วิธีนี้มีประโยชน์ต่อแพทย์มากที่สุดเมื่อคนไข้เก็บบันทึกว่า เมื่อไร อะไร และจำนวนแค่ไหน ที่คนไข้ได้ทานอาหารและเกิดอาการต่าง ๆ ของโรคหลังทานอาหาร ซึ่งทำให้แพทย์สามารถเห็นได้ว่า อาการโรค อาหารบางชนิด และเวลาบางเวลา สัมพันธ์กันอย่างไร วิธีนี้ยังช่วยแสดงว่า กรดไหลย้อนมีผลต่อปัญหาการหายใจด้วยหรือไม่
วิธีนี้มักใช้กับคนไข้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาและส่องกล้องดูแล้วแต่ไม่ปรากฏลักษณะของโรค เพื่อให้ยืนยันได้ว่ามีโรค อนึ่ง สามารถใช้สอดส่องการตอบสนองต่อยาสำหรับคนไข้ที่มีอาการคงยืน และแนะนำให้ใช้สำหรับคนไข้ที่ไม่มีหลักฐานผ่านการส่องกล้องว่ามีโรค ก่อนจะรักษาด้วยการผ่าตัดด้วย
ถ้าแพทย์ให้ทานยาเต็มอัตราแล้วยังไม่หาย และได้ส่องกล้องเพิ่มแต่ไม่พบอาการ แพทย์อาจเลือกตรวจโดยวิธีนี้เพื่อยืนยันหรือกันโรคนี้ ถ้าสามารถยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างกรดไหลย้อนที่ผิดปกติกับอาการของโรค นีก็จะเป็นตัวบ่งความล้มเหลวของการรักษาด้วยยายับยั้งการหลั่งกรด ซึ่งอาจทำให้แพทย์พิจารณาการรักษาด้วยยาเพิ่มหรือการผ่าตัด
นอกจากการวัดแบบมีสายเช่นนี้ ปัจจุบันยังมีวิธีการวัดแบบไร้สายโดยติดแคปซูลที่หลอดอาหารซึ่งทำเมื่อแพทย์ส่องกล้องตรวจดูหลอดอาหาร
การวัดการบีบตัวของหลอดอาหาร
การวัดการบีบตัวของหลอดอาหาร (esophageal manometry, EMS) ช่วยวัดการบีบเกร็งของกล้ามเนื้อในหลอดอาหาร แพทย์อาจให้ตรวจโดยวิธีนี้ถ้าคนไข้จะผ่าตัด เพื่อกันโรคหลอดอาหารไม่บีบตัวอื่น ๆ รวมทั้งกล้ามเนื้อเรียบไม่คลาย (achalasia) และโรคหนังแข็ง (scleroderma) ซึ่งเป็นตัวแสดงว่าไม่ควรผ่าตัด หรือเพื่อช่วยกำหนดจุดวางเครื่องวัดความเป็นกรดด่าง นอกเหนือจากนี้ เป็นวิธีที่ไม่แนะนำให้ใช้เกี่ยวกับโรคนี้
พยาบาลจะพ่นยาชาที่คอหรือให้คนไข้กลั้วคอด้วยยา แพทย์จะใส่สายบาง ๆ ผ่านเข้าจมูกเข้าไปในกระเพาะอาหาร ซึ่งคนไข้จะทำการกลืนเมื่อแพทย์ค่อย ๆ ดึงสายออกมาสู่หลอดอาหาร เครื่องคอมพิวเตอร์จะบันทึกแรงบีบของกล้ามเนื้อในส่วนต่าง ๆ ของหลอดอาหาร
วิธีตรวจนี้อาจแสดงว่าอาการของโรคเนื่องกับหูรูดอ่อนแอหรือไม่ และยังสามารถใช้วินิจฉัยปัญหาหลอดอาหารอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายกับการแสบร้อนกลางอก
การกลืนแป้งถ่ายภาพรังสี
การกลืนแป้งถ่ายภาพรังสี (upper gastrointestinal series) หรือ upper gastrointestinal study หรือ contrast radiography of the upper gastrointestinal tract เป็นการถ่ายภาพรังสีเป็นชุดเพื่อตรวจความผิดปกติของทางเดินอาหารส่วนบน เช่น เพื่อดูรูปร่างของทางเดินอาหาร เป็นการทดสอบที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาชา/ยาสลบ แต่จะจำกัดการทานอาหารและดื่มน้ำ เมื่อกำลังตรวจ คนไข้จะยืนหรือนั่งหน้าเครื่องเอ็กซ์เรย์และดื่มแบเรียม (แป้ง) เพื่อให้หุ้มเยื่อบุทางเดินอาหารส่วนบน เจ้าหน้าที่จะถ่ายภาพเป็นชุด ๆ ในขณะที่แบเรียมดำเนินผ่านทางเดินอาหาร เป็นการทดสอบที่ไม่แสดงโรคกรดไหลย้อน แต่แสดงปัญหาที่เกี่ยวข้องกันอื่น ๆ เช่น กระเพาะอาหารเลื่อนผ่านกะบังลม หลอดอาหารตีบ และแผลเปื่อย (ulcer) และยังอาจบวกใช้กับการส่องกล้องเพื่อประเมินการกลืนลำบากในคนไข้หลังผ่าตัดรักษาโรคนี้
การวินิจฉัยแยกแยะโรค
เหตุอื่น ๆ ของการเจ็บปวดหน้าอก เช่น โรคหัวใจ ต้องกันออกก่อนที่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ได้ ยังมีโรคกรดไหลย้อนอีกชนิดซึ่งมีอาการทางการหายใจและที่กล่องเสียงซึ่งเรียกว่า กรดไหลย้อนขึ้นกล่องเสียงและคอหอย (LPR) หรือโรคกรดไหลย้อนนอกหลอดอาหาร (EERD) แต่ไม่เหมือนโรคกรดไหลย้อนธรรมดา LPR ไม่ค่อยทำให้แสบร้อนกลางหน้าอก จึงบางครั้งเรียกว่า กรดไหลย้อนเงียบ (silent reflux)
โรคที่สามารถวินิจฉัยต่างอาจแบ่งเป็น 4 กลุ่ม โดยมีโรครวมทั้ง
- ความผิดปกติที่หลอดอาหาร - แผลเปื่อยเพปติก หลอดอาหารอักเสบเหตุยา หลอดอาหารอักเสบเหตุติดเชื้อ หลอดอาหารตีบ มะเร็งหลอดอาหาร มีของแปลกปลอมติด หลอดอาหารไม่บีบเกร็ง/ไม่เคลื่อน โรคหนังแข็ง (scleroderma)
- ความผิดปกติที่กล่องเสียง - ติ่งเนื้อเมือกที่กล่องเสียง ปัญหาที่กล่องเสียง ออกเสียงลำบากเพราะกล้ามเนื้อหดเกร็ง (spasmodic dysphonia)
- การเจ็บหน้าอก - อาการปวดเค้นหัวใจ เนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือด (MI) หลอดอาหารกระตุกที่กระจายไปทั่ว (diffuse esophageal spasm) ภาวะสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดในปอด (pulmonary embolism)
- การปวดท้องส่วนบน - นิ่วน้ำดี นิ่วท่อน้ำดี ตับอักเสบ ม้ามอักเสบฉับพลัน โรคแผลเปื่อยเพปติก กระเพาะอาหารอักเสบ ไตและกรวยไตอักเสบ
ส่วนวินิจฉัยต่างอื่น ๆ รวมทั้งภาวะกล้ามเนื้อเรียบไม่คลาย (achalasia) อาหารไม่ย่อย อัมพฤกษ์ทางเดินอาหาร (gastroparesis) functional heartburn
การรักษา
--- ผศ.นพ.สมชาย ลีลากุศลวงศ์ (อายุรแพทย์ด้านระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) ให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2552
การรักษาโรครวมทั้งการเปลี่ยนอาหารพร้อมพฤติกรรม การใช้ยา และอาจต้องผ่าตัด การรักษาเบื้องต้นบ่อยครั้งก็คือให้ทานยายับยั้งการหลั่งกรด เช่น โอมีปราโซล
การเปลี่ยนพฤติกรรม
เพื่อรักษากรดไหลย้อน แนะนำให้ปรับเปลี่ยนนิสัย และการดำเนินชีวิตประจำวัน การรักษาวิธีนี้สำคัญมากเพราะทำให้ผู้ป่วยมีอาการน้อยลง ป้องกันไม่ให้เกิดอาการ และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร และป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นไปในระบบทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ ส่วนบนมากขึ้น ที่สำคัญการรักษาด้วยวิธีนี้ควรทำอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต แม้ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นหรือหายดีแล้วโดยไม่ต้องรับประทานยาแล้วก็ตาม[]
สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (NIH) แนะนำว่า คนไข้อาจควบคุมอาการด้วยตนเองได้โดย
- ไม่ทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดอาการ เช่น อาหารมัน เผ็ด ของทอด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ เป็นต้น
- ในแต่ละมื้อ ไม่ควรรับประทานอาหารมากเกินไป (โดยเฉพาะมื้อเย็น)
- ไม่ทานอาหาร 2-3 ชม. ก่อนนอน
- ลดน้ำหนักถ้าหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน
- หยุดสูบบุหรี่และเลี่ยงควันบุหรี่
- ทานยาลดกรดที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ (แต่อาจมีผลข้างเคียงรวมทั้งท้องผูกท้องร่วง)
อนึ่ง สถาบันยังแนะนำด้วยว่า โรคสามารถลดอาการได้ด้วยการเปลี่ยนอาหารและพฤติกรรมรวมทั้ง
- ลดน้ำหนักถ้าจำเป็น เนื่องจากภาวะน้ำหนักเกินจะทำให้ความดันในช่องท้องมากขึ้น ทำให้กรดไหลย้อนได้มากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่คับเกินไป โดยเฉพาะบริเวณรอบเอว เพราะมันจะบีบกระเพาะแล้วดันกรดเข้าไปในหลอดอาหาร
- หลังอาหาร อย่านอนทันที โดยให้ตั้งตัวตรง 3 ชม. และเลี่ยงการนั่งเอนหรือนั่งหลังค่อม
- เวลานอน ควรหนุนหัวเตียงให้สูงขึ้นประมาณ 6 - 8 นิ้วจากพื้นราบ โดยใช้วัสดุรองขาเตียง เช่น ไม้ อิฐ (โดยให้นอนตะแคงซ้าย)
พฤติกรรมอื่น ๆ ที่อาจได้ผลรวมทั้งเลี่ยงก้มต้วเป็นเวลานาน
อย่างไรก็ดี แม้จะทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด การเปลี่ยนอาหารพร้อมพฤติกรรมเท่านั้นบ่อยครั้งช่วยควบคุมอาการไม่ได้ จึงจะต้องอาศัยยาด้วย
อาหาร
สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐแนะนำว่า คนไข้สามารถป้องกันหรือบรรเทาอาการของโรคโดยเปลี่ยนการกิน
- ในแต่ละมื้อ ไม่ควรรับประทานอาหารมากเกินไป ทานแค่พออิ่ม (โดยเฉพาะมื้อเย็น)
- ควรรับประทานอาหารปริมาณทีละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง แทนการทาน 3 มื้อปกติ
- ไม่ทานอาหาร 2-3 ชม. ก่อนนอน
- ลดหรืองดอาหารและเครื่องดื่มที่ก่ออาการ อาหารที่อาจทำให้อาการแย่ลงรวมทั้งช็อกโกแลต กาแฟ พืชพวกมินต์ อาหารมัน อาหารเผ็ด มะเขือเทศและผลิตภัณฑ์มะเขือเทศ (เช่น ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก ซอสในสปาเกตตีหรือพิซซา) และเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ เช่น สุรา
วิธีการทานอาหารอื่น ๆ ที่อาจได้ผลรวมทั้ง
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มบางประเภทอื่น ๆ เช่น ชา น้ำอัดลมน้ำผลไม้ที่เปรี้ยวจัด
- หลีกเลี่ยงอาหารบางประเภทอื่น ๆ เช่น อาหารที่เปรี้ยวจัดพืชผักรวมกระเทียมหัวหอมสะระแหน่ อาหารย่อยยาก เนย ถั่วฟาสต์ฟู้ดเช่นพิซซ่า อาหารคาร์โบไฮเดรตสูง
- หลังจากรับประทานอาหารทันที พยายามหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย ยกของหนัก เอี้ยวหรือก้มตัว
การเปลี่ยนวิถีชีวิตตามงานวิจัยและแนวทางการรักษาของแพทย์
แม้อาหารและพฤติกรรมบางอย่างพิจารณาว่า โปรโหมตให้เกิดโรค แต่ประสิทธิผลการรักษาโรคของการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตบางอย่างก็มีหลักฐานน้อยมาก การเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการยกเตียงขึ้นสูงทางศีรษะ เลี่ยงทานอาหารใกล้นอน เลี่ยงทานอาหารโดยเฉพาะ ๆ หรือเลี่ยงกิจกรรมบางโดยเฉพาะ ๆ เป็นต้น ควรจะแนะนำต่อคนไข้ที่การกระทำเช่นนั้นสัมพันธ์กับอาการเท่านั้น เช่น คนไข้ที่มีปัญหาแสบร้อนกลางอกในช่วงกลางคืนอาจได้ประโยชน์ด้วยการยกหัวเตียงให้สูงขึ้น แต่การแนะนำให้คนไข้ทำเช่นนี้ผู้ไม่มีอาการตอนกลางคืนอาจไม่ได้ประโยชน์อะไร
อาหารที่อาจมีผลรวมทั้งกาแฟ สุรา/แอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต อาหารมัน (เช่นของทอด ของมัน) อาหารที่เป็นกรด (ปกติมีรสเปรี้ยว) และอาหารเผ็ด
งานทบทวนวรรณกรรมและการวิเคราะห์อภิมานปี 2006 พบว่า การลดน้ำหนักและการยกศีรษะเมื่อนอนโดยทั่วไปได้ผลดี และการนอนตะแคงซ้ายก็เช่นกัน (เพราะหูรูดคลายตัวน้อยครั้งลง ) แม้จะทำได้ยาก โดยการลดน้ำหนักแนะนำสำหรับผู้หนักเกินและผู้ที่น้ำหนักเพิ่มขึ้นเร็ว ๆ นี้
หมอนรูปลิ่มที่ยกศีรษะอาจช่วยระงับกรดไหลย้อนในเวลานอนได้ แต่การหยุดสูบบุหรี่และการหยุดทานเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดูจะไม่ปรับปรุงอาการอย่างมีนัยสำคัญ แม้การออกกำลังกายหนักกลาง ๆ อาจช่วยปรับปรุงอาการ แต่การออกกำลังกายหนักดูเหมือนจะทำให้แย่ลง
อย่างไรก็ดี แม้จะทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด การเปลี่ยนอาหารพร้อมพฤติกรรมเท่านั้นบ่อยครั้งช่วยควบคุมอาการไม่ได้ จึงจะต้องอาศัยยาด้วย
--- ผศ.นพ.สมชาย ลีลากุศลวงศ์ (อายุรแพทย์ด้านระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)
ประเภทยาต่าง ๆ ที่ใช้รักษา
ยาที่ใช้รักษาบางอย่างสามารถซื้อเองได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ แต่ถ้าอาการไม่หาย คนไข้ควรไปหาแพทย์ ยาประเภทต่าง ๆ ทำงานต่างกัน และอาจต้องใช้ยาร่วมกันเพื่อควบคุมอาการ
ยาลดกรด - แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยานี้ก่อนสำหรับอาการแสบร้อนกลางอกและอาการอื่น ๆ ของโรค
ยาต้านตัวรับเอช2 - เป็นยาลดการผลิตกรด เป็นยาบรรเทาอาการชั่วคราว และอาจช่วยรักษาหลอดอาหาร แม้จะไม่เท่ายาอื่น ๆ ถ้าคนไข้มีอาการแสบร้อนกลางอกหลังทานอาหาร แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาลดกรดบวกยานี้ เพราะแม้เมื่อยาลดกรดหมดฤทธิ์ทำกรดให้เป็นกลางแล้ว แต่ยานี้ก็ได้ระงับการผลิตกรดแล้วเช่นกัน มียาชนิดต่าง ๆ รวมทั้ง
ยายับยั้งการหลั่งกรด (PPI) เป็นยาลดการผลิตกรด ซึ่งมีประสิทธิภาพรักษาอาการของโรคนี้ดีกว่ายาต้านตัวรับเอช2 มันสามารถรักษาหลอดอาหารในคนไข้โดยมาก แพทย์บ่อยครั้งสั่งยานี้เพื่อใช้ในการรักษาระยะยาว แต่ก็มีงานวิจัยที่แสดงว่า คนไข้ที่ใช้ยาในระยะยาวหรือในขนาดสูง เสี่ยงต่อกระดูกแตก/หักที่สะโพก ข้อมือ และสันหลัง คนไข้ต้องทานยาเมื่อท้องว่างเพื่อจะให้ยามีประสิทธิผล มียาชนิดต่าง ๆ รวมทั้ง
- โอมีปราโซล
- ราบีปราโซล
- esomeprazole
- lansoprazole
- pantoprazole
ยาเพิ่มการบีบตัวของลำไส้เล็ก (prokinetic) ช่วยทำให้กระเพาะเคลียร์อาหารได้เร็วขึ้น ยาเช่น
- bethanechol
- metoclopramide
- domperidone
ยาปฏิชีวนะบางอย่างรวมทั้งอิริโทรมัยซิน ช่วยทำให้กระเพาะเคลียร์อาหารได้เร็วขึ้น และอาจมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาเพิ่มการบีบตัวของลำไส้เล็ก แต่ก็อาจทำให้ท้องร่วงได้
งานวิเคราะห์อภิมานปี 2007 แสดงว่า เมื่อใช้ยาที่คนไข้หาซื้อเองได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์เพื่อรักษาโรคนี้ ยาต่าง ๆ มีผลดังต่อไปนี้เมื่อเทียบกับยาหลอก
- ยาลดกรดบวกกับกรดอัลจินิก (เช่นยี่ห้อกาวิสคอน) ทำให้คนไข้รู้สึกดีขึ้นถึง 60% (NNT=4)
- ยาต้านตัวรับเอช2 ทำให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้นได้ถึง 41%
- ยาลดกรดทำให้คนไข้รู้สึกดีขึ้นได้ 11% (NNT=13)
สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (NIH) แนะนำให้ไปหาหมอเมื่ออาการกรดไหลย้อนไม่ดีขึ้นเมื่อทานยาลดอาการที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ หรือเมื่อเปลี่ยนอาหารและพฤติกรรมแล้ว แต่ให้ไปหาหมอทันทีเมื่อ
การรักษาด้วยยา
ภาพรวม
พบว่าประมาณร้อยละ 80-100% ของผู้ป่วยที่มีอาการของโรคกรดไหลย้อนสามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา ปัจจุบันยายับยั้งการหลั่งกรดกลุ่ม PPI เป็นยาที่ได้ผลดีที่สุด มีประสิทธิภาพสูงมากเพื่อป้องกันการแสบร้อนกลางอก เพื่อสมานแผลที่หลอดอาหาร แพทย์จะแนะนำให้ทานยากลุ่มนี้เป็นเวลา 6-8 อาทิตย์ แต่บางรายที่เป็นมาก อาจต้องใช้ยาหลายเดือนหรือเป็นปี โดยอาจปรับใช้เป็นช่วงสั้น ๆ เช่นไม่กี่วัน ตามอาการที่มี หรืออาจต้องทานติดต่อกันเป็นเวลานาน
อย่างไรก็ตาม ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เมื่อใช้ยา ควรรับประทานยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ไม่ควรลดขนาดยา หรือ หยุดยาเอง นอกจากแพทย์แนะนำ และควรมาพบแพทย์ตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจใช้เวลานานประมาณ 1-3 เดือน กว่าที่อาการต่าง ๆ จะดีขึ้น ที่สำคัญไม่ควรซื้อยารับประทานเองเวลาป่วย เนื่องจากยาบางชนิดจะทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดเพิ่มขึ้น หรือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัวมากขึ้น
เมื่ออาการต่าง ๆ ดีขึ้น และผู้ป่วยสามารถปรับเปลี่ยนนิสัยและการดำเนินชีวิตประจำวันข้างต้นดังกล่าวได้ และได้รับประทานยาต่อเนื่อง แพทย์ก็จะปรับลดขนาดยาลง ส่วนถ้าทานยาแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาตรวจด้วยการส่องกล้อง และด้วยการวัดความกรดด่างในหลอดอาหาร
การรักษาเบื้องต้น
ยาหลักที่ใช้รักษาโรคก็คือยายับยั้งการหลั่งกรด, ยาต้านตัวรับเอช2, และยาลดกรดโดยใช้หรือไม่ใช้ร่วมกับกรดอัลจินิก (alginic acid) ยายับยั้งการหลั่งกรด (PPI) เช่น โอมีปราโซล ได้ผลดีที่สุด ตามมาด้วยยาต้านตัวรับเอช2 เช่น แรนิทิดีน
สำหรับคนไข้ที่มีอาการไม่ซับซ้อนคือมีอาการแบบคลาาสสิก แพทย์อาจเริ่มลองรักษาด้วยยากลุ่ม PPI ถ้าทานยา PPI ครั้งเดียวต่อวันเพียงได้ผลบ้าง ก็อาจใช้ได้สองครั้งต่อวัน โดยเฉพาะคนไข้ที่มีอาการตอนกลางคืน มีเวลาการทำงานไม่แน่นอน และ/หรือนอนหลับได้ไม่ดี
ยาควรทานครึ่ง ชม. ถึงชั่วโมงหนึ่งก่อนอาหาร โดยอาจมียาแบบใหม่ ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องรอ เช่น dexlansoprazole ซึ่งสามารถทานได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงอาหาร PPI แบบต่าง ๆ ไม่แตกต่างในการรักษาอย่างสำคัญ
การรักษาเมื่อดื้อยา
สำหรับคนไข้ที่ทานยา PPI อย่างเดียวไม่หาย และมีอาการตอนกลางคืน แพทย์อาจเพิ่มยาต้านตัวรับเอช2ให้ทานเวลากลางคืน แต่ผลของยาอาจมีแค่ชั่วคราวคือเดือนเดียว ส่วนยาทำการต่อหน่วยรับกาบาบี (GABAB agonist) คือ baclofen ซึ่งลดอาการหลังอาหารและหลดกรดไหลย้อนทั้งในบุคคลปกติและคนไข้โรคนี้ (โดยมีผลข้างเคียงหลายอย่างเช่นง่วงนอน คลื่นไส้ อ่อนเปลี้ยและล้า) งานทดลองปี 2012 ได้พบว่า เมื่อทานเวลากลางคืน จะช่วยลดกรดไหลย้อนและช่วยทำให้คนไข้นอนหลับได้ดีขึ้นไม่ว่าจะวัดโดยค่าที่เป็นอัตวิสัยหรือปรวิสัย ดังนั้น ยานี้อาจมีอนาคตสำหรับคนไข้ที่ยังมีอาการเมื่อใช้ PPI เต็มที่แล้วแต่ยังมีอาการตอนกลางคืน
metoclopramide ซึ่งเป็นยาเพิ่มการบีบตัวของลำไส้เล็ก (prokinetic) ไม่แนะนำไม่ว่าจะใช้เดี่ยว ๆ หรือใช้กับการรักษาแบบอื่น ๆ เนื่องจากผลที่ไม่พึงประสงค์ ส่วนประโยชน์ของยาเพิ่มการบีบตัวของลำไส้เล็ก mosapride อาจอยู่ในระดับกลาง ๆ โดยงานทดลองทางคลินิกแบบสุ่มปี 2011 แสดงว่า ยา PPI บวก mosapride ไม่มีผลดีกว่ายา PPI บวกยาหลอก เพื่อควบคุมอาการคนไข้แบบหลอดอาหารไม่มีแผล อาศัยงานนี้และอื่น ๆ งานทบทวนวรรณกรรมปี 2014 จึงไม่แนะนำให้ใช้ยาเพิ่มการบีบตัวของลำไส้เล็กสำหรับโรคนี้ ส่วนแนวทางการรักษาปี 2013 แสดงทางเลือกเป็นยา domperidone ที่แม้จะไม่ได้อนุมัติให้ใช้สำหรับโรคนี้และทั้งไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ แต่ก็มีข้อมูลแสดงว่า มีผลเท่ากับของ metoclopramide เพื่อเคลียร์กระเพาะอาหาร แต่แพทย์อาจต้องคอยตรวจตราการเปลี่ยนคลื่นหัวใจ (QT prolongation) เพราะมีความเสี่ยงเล็กน้อยเนื่องจากหัวใจเต้นเสียจังหวะและทำให้ถึงตายได้
แม้ยา sucralfate จะมีประสิทธิผลคล้ายกับสารต้านตัวรับเอช2 แต่ก็ต้องทานหลายครั้งต่อวัน ทำให้การใช้จำกัด ส่วนยาทำการต่อหน่วยรับกาบาบีคือ baclofen แม้จะมีประสิทธิผล แต่ก็มีปัญหาคล้ายกันคือต้องทานบ่อยครั้งบวกกับมีผลไม่พึงประสงค์มากกกว่ายาอื่น ๆ
การรักษาดำรงสภาพ
คนไข้ที่เมื่อหมดอาการแล้วกลับมีอาการอีกเมื่อหยุดยา PPI หรือคนไข้ที่มีภาวะแทรกซ้อนเช่นหลอดอาหารอักเสบแบบมีแผล (erosive esophagitis) หรือเยื่อบุผิวเสี่ยงมะเร็งในหลอดอาหารคือ Barrett's esophagitis อาจควรใช้ยาเป็นประจำ เมื่อใช้ยาในระยะยาว ควรใช้ในขนาดน้อยสุดซึ่งมีประสิทธิผล
สำหรับคนไข้ที่ไม่มีปัญหาเรื่องแผลในหลอดอาหาร อาจสามารถทานยา PPI เพียงเมื่อตอนมีอาการ หรืออาจใช้ยาอื่น ๆ เช่น ยาต้านตัวรับเอช2 เพราะการใช้ยา PPI เป็นประจำอาจมีค่าใช้จ่ายสูง งานปี 2014 จึงแนะนำให้ใช้ยาต้านตัวรับเอช2ในระยะยาวถ้าจำเป็นเพื่อกันไม่ให้อาการกลับมา แล้วเปลี่ยนเป็นใช้ PPI ในระยะยาวถ้าโรคยังกำเริบ
การตั้งครรภ์
เมื่อตั้งครรภ์ การเปลี่ยนอาหารและพฤติกรรมอาจลองดูได้ แต่บ่อยครั้งมีผลน้อยมาก และแนะนำให้ใช้ยาลดกรดแบบเป็นแคลเซียมถ้าไม่ได้ผล โดยยาลดกรดแบบเป็นอะลูมิเนียมและแมกนีเซียมก็ปลอดภัยด้วย และเช่นกัน ยาต้านตัวรับเอช2 คือ แรนิทิดีน และยายับยั้งการหลั่งกรดต่าง ๆ
ทารก
ทารกอาจบรรเทาอาการได้ถ้าเปลี่ยนเทคนิกการให้นม เช่น เช่นให้ในปริมาณน้อยกว่าแต่บ่อยครั้งกว่า ให้เปลี่ยนอิริยาบถร่างกายเมื่อทานนม หรือเมื่อเรอบ่อยขึ้นเมื่อกำลังทานนม หรือก็สามารถให้ยาได้ด้วย เช่น แรนิทิดีนหรือยายับยั้งการหลั่งกรด (PPI) แต่ PPI ก็ไม่พบว่ามีประสิทธิผลในทารกและก็ไม่มีหลักฐานด้วยว่าปลอดภัย
การรักษาเกินควร
การบำบัดด้วยยาระงับกรดเป็นการตอบสนองที่สามัญต่อการมีอาการต่าง ๆ ของโรคนี้ และคนไข้หลายคนอาจได้การรักษาแบบนี้มากกว่าที่กรณีของตนควร การใช้วิธีการรักษานี้มากเกินเป็นปัญหาเพราะผลที่ไม่พึงประสงค์ และคนไข้ไม่ควรรักษาเกินความจำเป็น ในบางกรณี คนที่มีอาการอาจรักษาด้วยยาที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์และด้วยการเปลี่ยนอาหารพร้อมพฤติกรรม ซึ่งปกติจะปลอดภัยกว่าและเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่ายาที่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ มีแนวทางการรักษาที่แนะนำให้ลองรักษาอาการด้วยยาต้านตัวรับเอช2 ก่อนจะใช้ยายับยั้งการหลั่งกรดเพราะปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายและความปลอดภัย
ปัญหาการใช้ยา PPI ในระยะยาว
การใช้ยายับยั้งการหลั่งกรด (PPI) ในระยะยาวสัมพันธ์อย่างมีกำลังกับการเกิดติ่งเนื้อเมือกที่ไม่ร้าย (benign polyp) จากต่อมส่วนกระพุ้งกระเพาะ (fundic gland) (ซึ่งต่างจากโรค fundic gland polyposis) ติ่งเหล่านี้ไม่ได้ก่อมะเร็งและจะหายไปเองเมื่อหยุดใช้ยา ยังไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ PPI กับมะเร็ง แต่การใช้ยาก็อาจอำพรางมะเร็งหรือปัญหากระเพาะปัญหาที่หนักอื่น ๆ ซึ่งแพทย์จะต้องคอยระวัง
งานทบทวนวรรณกรรมปี 2017 พบความสัมพันธ์ของการใช้ยา PPI ระยะยาวกับสภาวะต่าง ๆ ในระดับไม่เท่ากันคือ
- สม่ำเสมอ - ติ่งเนื้อเมือกไม่ร้าย (benign polyp) จากต่อมส่วนกระพุ้งกระเพาะ (fundic gland) (ซึ่งต่างจาก fundic gland polyposis)
- ปานกลาง - โรคไต
- อ่อน - ความเสี่ยงกระดูกหักที่สูงขึ้น (OR<22,3), ภาวะแมกนีเซียมในเลือดน้อยเกิน (hypomagnesemia, OR<24), การขาดวิตามินบี12, ความเสี่ยงโรคหัวใจสูงขึ้น (OR<2), การติดเชื้อ Clostridium difficile (OR<26-8), ปอดบวม (OR<29)
- ไม่ชัดเจน - ภาวะสมองเสื่อม, มะเร็งกระเพาะอาหาร (OR<2 สำหรับมะเร็งและไม่มีนัยสำคัญสำหรับ pre-neoplastic lesion)
- ไม่มีความสัมพันธ์ทางคลินิกที่ชัดเจน - มะเร็งลำไส้ใหญ่
การรักษาด้วยการผ่าตัด
การผ่าตัดมาตรฐานสำหรับโรคที่อาการรุนแรง รักษาด้วยาไม่ดีขึ้น เรียกว่า fundoplication (การผูกหูรูดกระเพาะอาหาร) เป็นการผ่าตัดรักษาโรคนี้ซึ่งใช้บ่อยครั้งที่สุด และในกรณีโดยมากทำให้สามารถควบคุมกรดไหลย้อนในระยะยาวได้ แต่ก็แนะนำสำหรับคนไข้ที่ไม่ดีขึ้นเมื่อใช้ยายับยั้งการหลั่งกรด (PPI) แล้วเท่านั้น แม้คุณภาพชีวิตจะดีขึ้นในระยะสั้นเทียบกับการทานยา แต่ประโยชน์ของการผ่าตัดเหนือการรักษาด้วย PPI ในระยะยาวก็ไม่ชัดเจน การผ่าตัดในประเทศไทยอาจต้องอาศัยศัลยแพทย์มือหนึ่ง ซึ่งอาจยังมีจำนวนน้อย
ข้อบ่งใช้ในการผ่าตัดรักษาโรคนี้ ซึ่งปกติจะเป็นการผูกหูรูดกระเพาะอาหารหรือการผ่าตัดรักษาโรคอ้วน (bariatic surgery) รวมความไม่ต้องการใช้ยาตลอดชีวิต, การแพ้หรืออดทนต่อยาไม่ได้, อาการที่ดื้อยาบวกหลักฐานว่ามีโรคจากการส่องกล้องหรือการวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหาร, โรคนี้บวกกับกระเพาะอาหารที่เลื่อนเข้าไปในช่องกลางของหน้าอกอย่างมาก, และอาการที่ดื้อยาบวกกับโรคอ้วนระดับเป็นเหตุโรค (morbid)
ผลดีที่สุดจะได้ในคนไข้ที่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหารได้ผิดปกติโดยสัมพันธ์กับอาการของโรคเป็นอย่างดี แต่ไม่ดีเท่าในคนไข้ที่มีอาการไม่ตรงแบบหรือมีอาการนอกเหนือหลอดอาหาร เช่น งานศึกษาหนึ่งสำรวจคนไข้หลังผ่าตัด 69 เดือน แล้วพบว่าคนไข้ได้หมดอาการหรือลดอาการต่าง ๆ เทียบกับก่อนผ่าตัด โดยมีอัตราคนไข้ดังต่อไปนี้
- แสบร้อนกลางอก 90%
- เรอเปรี้ยว/เรอขม 92%
- กลืนลำบาก 75%
- เสียงแหบ (อาการนอกเหนือหลอดอาหาร) 69%
- ไอ (อาการนอกเหนือหลอดอาหาร) 69%
การผ่าตัดจะทำให้อาการตรงแบบต่าง ๆ ของโรคดีขึ้นในระยะสั้นและระยะกลาง แต่ในระยะยาวประโยชน์ที่ได้อาจลดลง งานศึกษาหนึ่งติดตามคนไข้ในระยะ 10-13 ปี แล้วพบว่า คนไข้ทีได้ผ่าตัด 62% ยังต้องทานยารักษาโรคนี้เป็นประจำ เทียบกับคนไข้ที่รักษาด้วยยาผู้ยังต้องทานยาเป็นปกติที่ 92% ดังนั้น แม้การผ่าตัดอาจมีประสิทธิผล แต่คนไข้ไม่ควรหวังว่าจะไม่ต้องทานยาอีก
แพทย์อาจผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องตรวจช่องท้อง (laparoscope) ซึ่งเป็นหลอดเล็ก ๆ ต่อกับกล้อง ในระหว่างการผ่าตัด แพทย์จะเย็บส่วนบนของกระเพาะอาหารรอบ ๆ หลอดอาหารซึ่งเพิ่มกำลัง/แรงกดของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง (LES) ลดการไหลย้อน และรักษาปัญหากระเพาะอาหารเลื่อนผ่านกะบังลม เป็นการผ่าตัดที่ใช้ยาชา ซึ่งคนไข้สามารถออกจาก รพ. ได้ภายใน 2-3 วัน โดยคนส่วนมากสามารถกลับไปทำกิจกรรมชีวิตได้ปกติภายใน 2-3 อาทิตย์
ภาวะแทรกซ้อนเนื่องกับการผ่าตัดรวมทั้งกลืนลำบาก ซึ่งรุนแรงพอที่จะต้องขยายหลอดอาหาร (esophageal dilation) ในคนไข้ผ่าตัดถึง 6%, ลมในท้อง/ท้องอืดท้องเฟ้อ, และเรอไม่ได้
เมื่อเทียบเทคนิคการผ่าตัดโดย fundoplication แบบต่าง ๆ partial posterior fundoplication จะมีประสิทธิผลกว่า partial anterior fundoplication และ partial fundoplication ก็มีผลดีกว่า total fundoplication
ในปี 2012 องค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ได้อนุมัติอุปกรณ์คือ LINX ซึ่งประกอบด้วยเม็ดลูกปัดโลหะที่มีแกนเป็นแม่เหล็กและต่อเป็นโซ่ และใช้พันรอบ ๆ LES ในการผ่าตัดรักษาคนไข้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบอื่น ๆ เป็นวิธีการที่ปรับปรุง LES โดยไม่ต้องเปลี่ยนกายวิภาคของกระเพาะอาหาร ซึ่งหลังจากผ่าตัด 4 ปี คนไข้ 87.5% พึงพอใจกับสภาพที่ตนมี และ 80% ไม่ต้องทานยายับยั้งการหลั่งกรดเป็นประจำ อาการของโรคจะดีขึ้นคล้ายกับการผ่าตัดโดย Nissen fundoplication แม้จะยังไม่มีข้อมูลในระยะยาว แต่เมื่อเทียบกับ Nissen fundoplication วีธีนี้จะลดภาวะแทรกซ้อน เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ซึ่งเกิดอย่างสามัญเมื่อผ่าตัดปกติ ผลไม่พึงประสงค์รวมทั้งกลืนลำบาก เจ็บปวดหน้าอก คลื่นไส้ และอาเจียน ข้อห้ามใช้ก็คือคนไข้ที่แพ้หรืออาจแพ้ไทเทเนียม เหล็กกล้าไร้สนิม นิกเกิล หรือวัสดุที่เป็น Iron (II) oxide/ferrous oxide โดยมีคำเตือนว่า ไม่ควรใช้ในคนไข้ที่อาจต้องประสบกับ หรือต้องตรวจด้วยการสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก (MRI) เพราะอาจทำให้บาดเจ็บหนักหรืออาจทำอุปกรณ์ให้เสียหาย
สำหรับคนไข้ที่ไม่ดีขึ้นเพราะยา PPI การผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องแบบ transoral incisionless fundoplication ก็อาจช่วย โดยมีผลดีอาจถึง 6 ปี แม้จะได้มีรายงานว่า คนไข้ส่วนย่อยเท่านั้นที่มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นและสามารถลดใช้ยายับยั้งการหลั่งกรดเมื่อติดตามหลังผ่าตัด 3 ปี และมีคนไข้เกินจำนวนที่ยอมรับได้ ผู้ต้องใช้ยาต่อไปอีกหรือต้องผ่าตัดเพิ่ม
--- ผศ.นพ.สมชาย ลีลากุศลวงศ์ (อายุรแพทย์ด้านระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) ให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2552
วิทยาการระบาด
ในโลกตะวันตก โรคนี้มีผลต่อประชากร 10-20% โดยมี 0.4% ผู้พึ่งเกิดอาการใหม่ ยกตัวอย่างเช่น มีการประเมินว่า คนแคนาดา 3.4-6.8 ล้านคน (ประมาณ 10-19% ของประชากรทั้งหมด) เป็นโรค ความชุกของโรคในประเทศพัฒนาแล้วสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับอายุ โดยผู้ใหญ่อายุระหว่าง 60-70 ปีเป็นกลุ่มที่มีโรคมากสุด ในสหรัฐอเมริกา ประชากร 20% จะมีอาการของโรคภายในหนึ่งอาทิตย์ โดย 7% จะมีอาการทุก ๆ วัน แต่ก็ไม่มีข้อมูลแสดงความมากน้อยของโรคสำหรับชายหญิงแต่ละเพศ
งานวิจัย
มีกล้องส่องเอ็นโดสโกปต่าง ๆ ที่ได้ทดสอบใช้รักษาอาการแสบร้อนกลางอกแบบเรื้อรัง รวมทั้ง
- Endocinch ทำรอยเย็บเข้าที่หูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง (LES) เพื่อสร้างรอยจีบ/กลีบเพื่อทำกล้ามเนื้อให้แข็งแรงขึ้น แต่ผลระยะยาวน่าผิดหวัง และบริษัทก็ไม่ได้ขายอุปกรณ์อีกต่อไป
- Stretta procedure ใช้อิเล็กโทรดเพื่อส่งพลังงานคลื่นวิทยุเข้าที่ LES แต่งานปริทัศน์เป็นระบบพร้อมการวิเคราะห์อภิมานปี 2015 ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อข้ออ้างที่มีมาก่อน ก็ไม่แสดงหลักฐานว่า วิธีนี้มีประสิทธิผลต่อการรักษาโรคนี้ แม้งานปริทัศน์เป็นระบบพร้อมการวิเคราะห์อภิมานปี 2012 จะพบว่า มันทำให้อาการดีขึ้น
- NDO Surgical Plicator ใช้สร้างรอยพับ (plication, fold) ที่เนื้อเยื่อใกล้ ๆ หูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง และเย็บมันด้วยวัสดุปลูกฝังพิเศษ แต่บริษัทได้ล้มเลิกกิจการไปเมื่อกลางปี 2008 จึงไม่มีการขายอุปกรณ์นี้ในปัจจุบัน
- Transoral incisionless fundoplication ซึ่งใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Esophyx อาจมีประสิทธิผล
เชิงอรรถ
- hiatus hernia เป็นภาวะที่อวัยวะในท้อง (โดยปกติกระเพาะอาหาร) จะเลื่อนผ่านกะบังลมเข้าไปในช่องกลางของหน้าอก ซึ่งอาจมีผลเป็นโรคกรดไหลย้อน อาการอื่น ๆ อาจรวมกลืนลำบากและเจ็บหน้าอก ภาวะแทรกซ้อนรวมทั้งโลหิตจางเหตุขาดธาตุเหล็ก ไส้บิดเกลียว (volvulus) การอุดกั้นลำไส้ (bowel obstruction)
- อาการแสบร้อนกลางอกและการเรอเปรี้ยว มีความจำเพาะสูงแต่มีความไวต่ำสำหรับโรคนี้ คือ จำเพาะที่ 89% และ 95% ไวที่ 38% และ 6% ตามลำดับ
- จากงานศึกษาแบบสังเกต อาจมีเหตุจาก gastrin ระดับสูงซึ่งมีผลทำให้เยื่อเมือกทางเดินอาหารงอกขึ้น
- จากงานศึกษาแบบสังเกต อาจมีเหตุจาก gastrin ระดับสูงซึ่งมีผลทำให้เยื่อเมือกทางเดินอาหารงอกขึ้น เหตุไม่ชัดเจน แต่อาจมากการสะสม PPI และเมแทบอไลต์ของมันในไตแล้วทำให้ภูมิคุ้มกันตอบสนอง
- จากงานทดลองแบบสุ่ม งานศึกษาแบบสังเกต งานทบทวนเป็นระบบและการวิเคราะห์อภิมาน อาจมีเหตุจากการลดการดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้เล็กส่วนต้นและลำไส้เล็กส่วนกลางต้น ๆ โดยเป็นผลของภาวะไร้กรดเกลือ (achlorhydria)
- งานทบทวนเป็นระบบและการวิเคราะห์อภิมานของการศึกษาแบบสังเกต เหตุไม่กำหนดอย่างชัดเจน อาจมาจากการดูดซึมได้ไม่ดี หรือไตเสีย
- จากงานศึกษาแบบสังเกต มีเหตุจากดูดซึมได้น้อยลงเนื่องจากการย่อยโปรตีนอาศัยสภาพกรดภายในกระเพาะได้ลดลง
- การวิเคราะห์อภิมานของงานศึกษาแบบสังเกตและการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม มีเหตุจากการอาศัยเมแทบอลิซึมในระบบ cytochrome P450 ร่วมกัน
- จากการวิเคราะห์อภิมานงานศึกษาแบบสังเกต มีเหตุจากการเพิ่มเชื้อในทางเดินอาหารเพราะกรดกระเพาะลดลง
- จากการวิเคราะห์อภิมานงานศึกษาแบบสังเกต จาก case-control studies มีเหตุจากการสูดหรือการเคลื่อนย้ายของเชื้อโรคจากทางเดินอาหารส่วนบนเข้าในปอด
- ในสหรัฐอเมริกา ดัชนีมวลกาย ≥ 35 kg/m2 และมีปัญหาสุขภาพเพราะอ้วน, หรือดัชนีมวลกาย ≥40-44.9 kg/m2 จัดว่าเป็น morbid obesity
อ้างอิง
- Carroll, Will (2016-10-14). Gastroenterology & Nutrition: Prepare for the MRCPCH. Key Articles from the Paediatrics & Child Health journal (ภาษาอังกฤษ). Elsevier Health Sciences. p. 130. ISBN .
Gastro-oesophageal reflux disease (GORD) is defined as 'gastrooesophageal reflux' associated with complications including oesophagitis...
{{}}
:|access-date=
ต้องการ|url=
((help)) - . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-12-08.
- . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-12-08.
- . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-12-08.
- . The National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases. 2015-11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-07-23. สืบค้นเมื่อ 2018-07-19.
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help)) บทความนี้รวมเอาเนื้อความจากแหล่งอ้างอิงนี้ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติ - Kahrilas, PJ; Shaheen, NJ; Vaezi, MF; American Gastroenterological Association, Institute; Clinical Practice and Quality Management, Committee (2008-10). "American Gastroenterological Association Institute technical review on the management of gastroesophageal reflux disease". Gastroenterology. 135 (4): 1392–1413, 1413.e1-5. doi:10.1053/j.gastro.2008.08.044. PMID 18801365.
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help)) - Kahan, Scott (2008). (ภาษาอังกฤษ). Lippincott Williams & Wilkins. p. 124. ISBN . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-08.
- Hershcovici, T; Fass, R (2011-04). "Pharmacological management of GERD: where does it stand now?". Trends in Pharmacological Sciences. 32 (4): 258–64. doi:10.1016/j.tips.2011.02.007. PMID 21429600.
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help))CS1 maint: uses authors parameter () - โรคกรดไหลย้อน (2009)
- Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease (2014), SYMPTOMS AND EPIDEMIOLOGY, pp. 105-106 อ้างอิง "Epidemiology of gastro-oesophageal reflux disease: a systematic review". 2005. doi:10.1136/gut.2004.051821.
{{}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
((help)) - . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-29. สืบค้นเมื่อ 2009-02-01.
- "Barrett oesophagus". 2009. PMID 19269522.
{{}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
((help)) - "The diagnosis and management of hiatus hernia". 2014-10-23. PMID 25341679.
{{}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
((help)) - "Hiatal Hernia". PubMed Health. สืบค้นเมื่อ 2017-05-06.
- โรคกรดไหลย้อน โรคยอดฮิตของสาวออฟฟิศ (2007)
- Arcangelo, Virginia Poole; Peterson, Andrew M. (2006). (ภาษาอังกฤษ). Lippincott Williams & Wilkins. p. 372. ISBN . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-08.
- Granderath, Frank Alexander; Kamolz, Thomas; Pointner, Rudolph (2006). (ภาษาอังกฤษ). Springer Science & Business Media. p. 161. ISBN . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-08.
- Zajac, P; Holbrook, A; Super, ME; Vogt, M (March–April 2013). "An overview: Current clinical guidelines for the evaluation, diagnosis, treatment, and management of dyspepsia". Osteopathic Family Physician. 5 (2): 79–85. doi:10.1016/j.osfp.2012.10.005.
{{}}
: CS1 maint: date format () CS1 maint: uses authors parameter () - Kahrilas, PJ (2008). "Gastroesophageal Reflux Disease". The New England Journal of Medicine. 359 (16): 1700–7. doi:10.1056/NEJMcp0804684. PMC 3058591. PMID 18923172.
- Wang, KK; Sampliner, RE (2008-03). (PDF). Am J Gastroenterol. 103 (3): 788–97. doi:10.1111/j.1572-0241.2008.01835.x. PMID 18341497. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-07-20.
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help))CS1 maint: uses authors parameter () - . The New York Times. A.D.A.M., Inc. 2013-08-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-04-11. สืบค้นเมื่อ 2017-04-10.
- Gnanapandithan, Karthik; Joel, Popkin (2016-01-11). "Gastroesophageal reflux and idiopathic pulmonary fibrosis: A long term relationship". US National Library of Medicine National Institutes of Health. PMC 4821337.
{{}}
:|access-date=
ต้องการ|url=
((help));|url=
ไม่มีหรือว่างเปล่า ((help)) - Hanna, BC; Wormald, PJ (2012-02). "Gastroesophageal reflux and chronic rhinosinusitis". Current Opinion in Otolaryngology & Head and Neck Surgery. 20 (1): 15–8. doi:10.1097/moo.0b013e32834e8f11. PMID 22157165.
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help)) - . familydoctor.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-08.
- . 2009-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-09. สืบค้นเมื่อ 2018-07-26.
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help))CS1 maint: bot: original URL status unknown () - Ayazi S, Crookes PF, Peyre CG, และคณะ (September 2007). "Objective documentation of the link between gastroesophageal reflux disease and obesity". American Journal of Gastroenterology. 102: S138–S9. doi:10.14309/00000434-200709002-00059.
- Ayazi, S; Hagen, JA; Chan, LS; DeMeester, SR; Lin, MW; Ayazi, A; Leers, JM; Oezcelik, A; Banki, F; Lipham, JC; DeMeester, TR; Crookes, PF (2009-08). "Obesity and Gastroesophageal Reflux: Quantifying the Association Between Body Mass Index, Esophageal Acid Exposure, and Lower Esophageal Sphincter Status in a Large Series of Patients with Reflux Symptoms". J. Gastrointest. Surg. 13 (8): 1440–7. doi:10.1007/s11605-009-0930-7. PMC 2710497. PMID 19475461.
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help))CS1 maint: uses authors parameter () - Sontag, SJ (1999). "Defining GERD" (PDF). Yale J Biol Med. 72 (2–3): 69–80. PMC 2579007. PMID 10780568.
- Piesman, M; Hwang, I; Maydonovitch, C; Wong, RK (2007). "Nocturnal reflux episodes following the administration of a standardized meal. Does timing matter?" (PDF). Am J Gastroenterol. 102 (10): 2128–34. doi:10.1111/j.1572-0241.2007.01348.x. PMID 17573791.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Morse, CA; Quan, SF; Mays, MZ; Green, C; Stephen, G; Fass, R (2004). "Is there a relationship between obstructive sleep apnea and gastroesophageal reflux disease?". Clin. Gastroenterol. Hepatol. 2 (9): 761–8. doi:10.1016/S1542-3565(04)00347-7. PMID 15354276.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Kasasbeh, A; Kasasbeh, E; Krishnaswamy, G (2007). "Potential mechanisms connecting asthma, esophageal reflux, and obesity/sleep apnea complex—a hypothetical review". Sleep Med Rev. 11 (1): 47–58. doi:10.1016/j.smrv.2006.05.001. PMID 17198758.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - O'Connor, HJ (1999-02). "Helicobacter pylori and gastro-oesophageal reflux disease-clinical implications and management". Aliment Pharmacol Ther. 13 (2): 117–27. doi:10.1046/j.1365-2036.1999.00460.x. PMID 10102940.
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help)) - El-Omar, EM; Oien, K; El-Nujumi, A; Gillen, D; Wirz, A; Dahill, S; Williams, C; Ardill, JE; McColl, KE (1997). "Helicobacter pylori infection and chronic gastric acid hyposecretion". Gastroenterology. 113 (1): 15–24. doi:10.1016/S0016-5085(97)70075-1. PMID 9207257.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Fallone, CA; Barkun, AN; Mayrand, S; Wakil, G; Friedman, G; Szilagyi, A; Wheeler, C; Ross, D (2004). . Aliment Pharmacol Ther. 20 (7): 761–8. doi:10.1111/j.1365-2036.2004.02171.x. PMID 15379836. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-05-26. สืบค้นเมื่อ 2018-07-26.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease (2014), Table 2, pp. 107
- Katz, PO; Gerson, LB; Vela, MF (2013-03). (PDF). The American Journal of Gastroenterology. 108 (3): 308–28. doi:10.1038/ajg.2012.444. PMID 23419381. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-09-08.
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help))CS1 maint: uses authors parameter () - Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease (2014), Abstract, pp. 105
- Kahrilas, PJ; Shaheen, NJ; Vaezi, MF; Hiltz, SW; Black, E; Modlin, IM; Johnson, SP; Allen, J; Brill, JV (2008-10). "American Gastroenterological Association Medical Position Statement on the management of gastroesophageal reflux disease". Gastroenterology. 135 (4): 1383–1391, 1391.e1-5. doi:10.1053/j.gastro.2008.08.045. PMID 18789939.
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help))CS1 maint: uses authors parameter () - Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease (2014), Empirical therapy, pp. 106-107
- Numans, ME; Lau, J; de Wit, NJ; Bonis, PA (2004-04). "Short-term treatment with proton-pump inhibitors as a test for gastroesophageal reflux disease: a meta-analysis of diagnostic test characteristics" (PDF). Annals of Internal Medicine. 140 (7): 518–27. doi:10.7326/0003-4819-140-7-200404060-00011. PMID 15068979.
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help))CS1 maint: uses authors parameter () - . BUPA. 2006-12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-06. สืบค้นเมื่อ 2018-07-26.
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help)) - . National Digestive Diseases Information Clearinghouse, National Institutes of Health. 2004-11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-24. สืบค้นเมื่อ 2007-10-07.
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help)) - . American Gastroenterological Association. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 2007-10-07.
- , คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-09, สืบค้นเมื่อ 2018-07-26
{{}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown () - Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease (2014), Medical therapy, p. 108
- Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease (2014), Upper endoscopy, pp. 107-108
- Sternberg's Diagnostic Pathology (5th ed.). 2009.
{{}}
: ไม่รู้จักพารามิเตอร์|editors=
ถูกละเว้น แนะนำ (|editor=
) ((help)) - Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease (2014), Ambulatory pH monitoring, p. 107
- Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease (2014), Barium esophagram, p. 108
- Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease (2014), Barium esophagram, p. 108
- Kaltenbach, T; Crockett, S; Gerson, LB (2006). "Are lifestyle measures effective in patients with gastroesophageal reflux disease? An evidence-based approach". Arch. Intern. Med. 166 (9): 965–71. doi:10.1001/archinte.166.9.965. PMID 16682569.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - LPR-Thai (2017), ตารางที่ 6: การปรับอาหารและพฤติกรรมที่มีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง, pp. 7
- Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease (2014), Lifestyle changes, p. 108
- GERD คืออะไร (2009)
- "โรคกรดไหลย้อน". Siamhealth.net. จากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-13. สืบค้นเมื่อ 2009-07-11.
- Festi, D; Scaioli, E; Baldi, F; Vestito, A; Pasqui, F; Di Biase, AR; Colecchia, A (2009-04-14). "Body weight, lifestyle, dietary habits and gastroesophageal reflux disease". World Journal of Gastroenterology. 15 (14): 1690–701. doi:10.3748/wjg.15.1690. PMC 2668774. PMID 19360912.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - . Cleveland Clinic, Digestive Health Team. 2017-06-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-18. สืบค้นเมื่อ 2017-09-18.
- Tran, T; Lowry, AM; El-Serag, HB (2007). "Meta-analysis: the efficacy of over-the-counter gastro-oesophageal reflux disease drugs". Aliment Pharmacol Ther. 25 (2): 143–53. doi:10.1111/j.1365-2036.2006.03135.x. PMID 17229239.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease (2014), Medical therapy, p. 108 อ้างอิง "The effect of baclofen on nocturnal gastroesophageal reflux and measures of sleep quality: a randomized, cross-over trial". 2012. PMID 22404184.
{{}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
((help)) - Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease (2014), Medical therapy, p. 108 อ้างอิง "Randomised clinical trial: efficacy of the addition of a prokinetic, mosapride citrate, to omeprazole in the treatment of patients with non-erosive reflux disease - a double-blind, placebo-controlled study". 2011. PMID 21118395.
{{}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
((help)) - Mahadevan, U; Kane, S (2006-07). "American gastroenterological association institute medical position statement on the use of gastrointestinal medications in pregnancy". Gastroenterology. 131 (1): 278–82. doi:10.1053/j.gastro.2006.04.048. PMID 16831610.
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help))CS1 maint: uses authors parameter () - . MayoClinic. 2013-03-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-25.
- Tighe, MP; Afzal, NA; Bevan, A; Beattie, RM (2009). "Current pharmacological management of gastro-esophageal reflux in children: an evidence-based systematic review". Paediatr Drugs. 11 (3): 185–202. doi:10.2165/00148581-200911030-00004. PMID 19445547.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - van der Pol, RJ; Smits, MJ; van Wijk, MP; Omari, TI; Tabbers, MM; Benninga, MA (2011-05). "Efficacy of proton-pump inhibitors in children with gastroesophageal reflux disease: a systematic review". Pediatrics. 127 (5): 925–35. doi:10.1542/peds.2010-2719. PMID 21464183.
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help))CS1 maint: uses authors parameter () - Here is a plain English explanation, followed by specific studies.
- Consumer Reports; Drug Effectiveness Review Project (2010-05), (PDF), Best Buy Drugs, Consumer Reports, p. 6, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-12-02, สืบค้นเมื่อ 2013-03-27
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help)) - Gupta, R; Marshall, J; Munoz, JC; Kottoor, R; Jamal, MM; Vega, KJ (2013). "Decreased acid suppression therapy overuse after education and medication reconciliation". International Journal of Clinical Practice. 67 (1): 60–65. doi:10.1111/ijcp.12046. PMID 23241049.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Nardino, RJ; Vender, RJ; Herbert, PN (2000). "Overuse of acid-suppressive therapy in hospitalized patients1". The American Journal of Gastroenterology. 95 (11): 3118–3122. doi:10.1111/j.1572-0241.2000.03259.x. PMID 11095327.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Heidelbaugh, JJ; Kim, AH; Chang, R; Walker, PC (2012). "Overutilization of proton-pump inhibitors: What the clinician needs to know". Therapeutic Advances in Gastroenterology. 5 (4): 219–232. doi:10.1177/1756283X12437358. PMC 3388523. PMID 22778788.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () Full Article PDF (393 KB) - Forgacs, I; Loganayagam, A (2008). "Overprescribing proton pump inhibitors" (PDF). BMJ. 336 (7634): 2–3. doi:10.1136/bmj.39406.449456.BE. PMC 2174763. PMID 18174564.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - McKay, AB; Wall, D (2008). "Overprescribing PPIs: An old problem" (PDF). BMJ. 336 (7636): 109. doi:10.1136/bmj.39458.462338.3A. PMC 2206261. PMID 18202040.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter ()
- Consumer Reports; Drug Effectiveness Review Project (2010-05), (PDF), Best Buy Drugs, Consumer Reports, p. 6, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-12-02, สืบค้นเมื่อ 2013-03-27
-
- Consumer Reports; Drug Effectiveness Review Project (2010-05), (PDF), Best Buy Drugs, Consumer Reports, p. 6, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-12-02, สืบค้นเมื่อ 2013-03-27
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help)) - Overprescribing proton pump inhibitors (2008)
- Overutilization of proton-pump inhibitors: What the clinician needs to know (2012)
- Consumer Reports; Drug Effectiveness Review Project (2010-05), (PDF), Best Buy Drugs, Consumer Reports, p. 6, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-12-02, สืบค้นเมื่อ 2013-03-27
- Corleto, V.D. (2014-02). "Proton pump inhibitor therapy and potential long-term harm". Curr Opin Endocrinol Diabetes Obes. 21 (1): 3–8. doi:10.1097/med.0000000000000031. PMID 24310148.
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help)) - Eusebi, LH; Rabitti, S; Artesiani, ML; Gelli, D; Montagnani, M; Zagari, RM; Bazzoli, F (2017-07). "Proton pump inhibitors: Risks of long-term use". Journal of Gastroenterology and Hepatology. 32 (7): 1295–1302. doi:10.1111/jgh.13737. PMID 28092694.
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help)) - Garg, SK; Gurusamy, KS (2015-11-05). "Laparoscopic fundoplication surgery versus medical management for gastro-oesophageal reflux disease (GORD) in adults". The Cochrane Database of Systematic Reviews (11): CD003243. doi:10.1002/14651858.CD003243.pub3. PMID 26544951.
- "Increases in morbid obesity in the USA: 2000-2005". 2005. PMID 17399752.
{{}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
((help)) - Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease (2014), Surgical therapy, pp. 109-110
- Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease (2014), Surgical therapy, pp. 109-110 อ้างอิง "Long-term outcomes after laparoscopic antireflux surgery". 2008. PMID 17970835.
{{}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
((help)) - Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease (2014), Surgical therapy, pp. 109-110 อ้างอิง
- (ผลที่ได้ระยะสั้นและกลาง) "Fundoplication versus medical management of gastroesoph- ageal reflux disease: systematic review and meta-analysis". 2014. PMID 24018760.
{{}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
((help)) - (ผลระยะยาว) "Long-term outcome of medical and surgical therapies for gastroesophageal reflux disease: follow-up of a randomized controlled trial". 2001. PMID 11343480.
{{}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
((help))
- (ผลที่ได้ระยะสั้นและกลาง) "Fundoplication versus medical management of gastroesoph- ageal reflux disease: systematic review and meta-analysis". 2014. PMID 24018760.
- Abbas, AE; Deschamps, C; Cassivi, SD; Allen, MS; Nichols, FC; Miller, DL; Pairolero, PC (2004). "The role of laparoscopic fundoplication in Barrett's esophagus". Annals of Thoracic Surgery. 77 (2): 393–6. doi:10.1016/S0003-4975(03)01352-3. PMID 14759403.
{{}}
: CS1 maint: uses authors parameter () - Kurian, AA; Bhayani, N; Sharata, A; Reavis, K; Dunst, CM; Swanström, LL (2013-01). "Partial anterior vs partial posterior fundoplication following transabdominal esophagocardiomyotomy for achalasia of the esophagus: meta-regression of objective postoperative gastroesophageal reflux and dysphagia". JAMA Surg. 148 (1): 85–90. doi:10.1001/jamasurgery.2013.409. PMID 23324843.
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help))CS1 maint: uses authors parameter () - Ramos, RF; Lustosa, SA; Almeida, CA; Silva, CP; Matos, D (October–December 2011). "Surgical treatment of gastroesophageal reflux disease: total or partial fundoplication? systematic review and meta-analysis". Arquivos de gastroenterologia. 48 (4): 252–60. doi:10.1590/s0004-28032011000400007. PMID 22147130.
{{}}
: CS1 maint: date format () - . U.S. Food and Drug Administration, U.S. Department of Health and Human Services. 2014-01-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-10.
- Jain, D; Singhal, S (2016-03). "Transoral Incisionless Fundoplication for Refractory Gastroesophageal Reflux Disease: Where Do We Stand?". Clinical endoscopy. 49 (2): 147–56. doi:10.5946/ce.2015.044. PMC 4821522. PMID 26878326.
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help)) - Hopkins, J; Switzer, NJ; Karmali, S (2015-08-25). "Update on novel endoscopic therapies to treat gastroesophageal reflux disease: A review". World journal of gastrointestinal endoscopy. 7 (11): 1039–44. doi:10.4253/wjge.v7.i11.1039. PMC 4549661. PMID 26322157.
- Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease (2014), Surgical therapy, pp. 109-110 อ้างอิง "Transoral incisionless fundoplication for treatment of gastroesophageal reflux disease in clinical practice". 2012. PMID 22648098.
{{}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
((help)) - Fedorak, RN; van Zanten S, Veldhuyzen; Bridges, R (2010-07). "Canadian Digestive Health Foundation Public Impact Series: Gastroesophageal reflux disease in Canada: Incidence, prevalence, and direct and indirect economic impact". Canadian Journal of Gastroenterology. 24 (7): 431–4. PMC 2918483. PMID 20652158.
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help)); ไม่รู้จักพารามิเตอร์|laysummary=
ถูกละเว้น ((help))CS1 maint: uses authors parameter () - Jafri, SM; Arora, G; Triadafilopoulos, G (2009-07). "What is left of the endoscopic antireflux devices?". Current Opinion in Gastroenterology. 25 (4): 352–7. doi:10.1097/MOG.0b013e32832ad8b4. PMID 19342950.
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help))CS1 maint: uses authors parameter () - Lipka, S; Kumar, A; Richter, JE (2015-06). "No evidence for efficacy of radiofrequency ablation for treatment of gastroesophageal reflux disease: a systematic review and meta-analysis". Clinical Gastroenterology and Hepatology. 13 (6): 1058-67.e1. doi:10.1016/j.cgh.2014.10.013. PMID 25459556.
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help)) - Perry, KA; Banerjee, A; Melvin, WS (2012-08). "Radiofrequency energy delivery to the lower esophageal sphincter reduces esophageal acid exposure and improves GERD symptoms: a systematic review and meta-analysis". Surgical laparoscopy, endoscopy & percutaneous techniques. 22 (4): 283–8. doi:10.1097/sle.0b013e3182582e92. PMID 22874675.
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help)) - Testoni, PA; Vailati, C (2012-08). "Transoral incisionless fundoplication with EsophyX® for treatment of gastro-oesphageal reflux disease". Digestive and Liver Disease. 44 (8): 631–5. doi:10.1016/j.dld.2012.03.019. PMID 22622203.
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help))CS1 maint: uses authors parameter ()
อ้างอิงอื่น ๆ
- "Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease". 2014. doi:10.4292/wjgpt.v5.i3.105.
{{}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
((help)) - นพ.สุริยา กีรติชนานนท์ (ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพ), ผศ.พญ.วรางคณา กีรติชนานนท์ (หน่วยโรคระบบหายใจและภาวะวิกฤตระบบหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) (2017-04). (PDF). วงการแพทย์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-07-30. สืบค้นเมื่อ 2018-07-30.
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help))CS1 maint: uses authors parameter () - "โรคกรดไหลย้อน". รศ.นพ.อุดม คชินทร (หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล), ผศ.นพ.สมชาย ลีลากุศลวงศ์ (อายุรแพทย์ด้านระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล). สนุก! Woman. 2009. จากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-27. สืบค้นเมื่อ 2009-07-11.
{{}}
: CS1 maint: others () - . ผศ.นพ.สมชาย ลีลากุศลวงศ์ (อายุรแพทย์ด้านระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) ให้สัมภาษณ์. คอลัมน์...สายตรงสุขภาพกับศิริราช, ผู้จัดการออนไลน์. 2007-11-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05.
{{}}
: CS1 maint: others () - "แพทย์เตือนหนุ่ม-สาววัยทำงาน ระวังโรคกรดไหลย้อนโรคยอดฮิตของสาวออฟฟิศ". รศ.พญ. วโรชา มหาชัย (หัวหน้าหน่วยทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์) ให้สัมภาษณ์. 2007-05-28. จากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-22. สืบค้นเมื่อ 2009-07-11.
{{}}
: CS1 maint: others ()
- www.gerdthai.com (ไม่ดำเนินงานแล้ว ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตอาร์ไคฟ์)
- "โรคกรดไหลย้อน Gastroesophageal Reflux Disease (GERD) / GERD คืออะไร?". gerdthai.com. จากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-12. สืบค้นเมื่อ 2021-08-12.
- "ภาวะการไหลย้อนที่กระเพาะอาหาร - Gastroesophageal Reflux (GER)". gerdthai.com. จากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-28. สืบค้นเมื่อ 2021-08-12.
แหล่งข้อมูลอื่น
การจำแนกโรค | D |
---|---|
ทรัพยากรภายนอก |
|
- โรคกรดไหลย้อน ที่เว็บไซต์ Curlie
- Kahrilas, PJ; Shaheen, NJ; Vaezi, MF; Hiltz, SW; Black, E; Modlin, IM; Johnson, SP; Allen, J; Brill, JV (2008-10). "American Gastroenterological Association Medical Position Statement on the management of gastroesophageal reflux disease". Gastroenterology. 135 (4): 1383–91, 1391.e1-5. doi:10.1053/j.gastro.2008.08.045. PMID 18789939.
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help)); ไม่รู้จักพารามิเตอร์|laysummary=
ถูกละเว้น ((help))CS1 maint: uses authors parameter () - Lichtenstein, DR; Cash, BD; Davila, R; Baron, TH; Adler, DG; Anderson, MA; Dominitz, JA; Gan, SI; Harrison, ME; Ikenberry, SO; Qureshi, WA; Rajan, E; Shen, B; Zuckerman, MJ; Fanelli, RD; VanGuilder, T (2007-08). "Role of endoscopy in the management of GERD". Gastrointestinal Endoscopy. 66 (2): 219–24. doi:10.1016/j.gie.2007.05.027. PMID 17643692.
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help)); ไม่รู้จักพารามิเตอร์|laysummary=
ถูกละเว้น ((help))CS1 maint: uses authors parameter () - Hirano, I; Richter, JE (2007-03). (PDF). Am J Gastroenterol. 102 (3): 668–85. doi:10.1111/j.1572-0241.2006.00936.x. PMID 17335450. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-09-27. สืบค้นเมื่อ 2018-07-26.
{{}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
((help))CS1 maint: uses authors parameter ()
wikipedia, แบบไทย, วิกิพีเดีย, วิกิ หนังสือ, หนังสือ, ห้องสมุด, บทความ, อ่าน, ดาวน์โหลด, ฟรี, ดาวน์โหลดฟรี, mp3, วิดีโอ, mp4, 3gp, jpg, jpeg, gif, png, รูปภาพ, เพลง, เพลง, หนัง, หนังสือ, เกม, เกม, มือถือ, โทรศัพท์, Android, iOS, Apple, โทรศัพท์โมบิล, Samsung, iPhone, Xiomi, Xiaomi, Redmi, Honor, Oppo, Nokia, Sonya, MI, PC, พีซี, web, เว็บ, คอมพิวเตอร์
orkhkrdihlyxn hrux orkhkarihlyxncakkraephaaxaharmahlxdxahar xngkvs gastroesophageal reflux disease GERD epnphawarayayaw echn mixakarmakkwa 2 khrngtxxathityepnewlahlayxathity thisingsungxyuinkraephaaxaharihlyxnekhaipinhlxdxaharsungthntxkrdaelaexnismyxyxaharidaekhradbhnung aelwthaihekidxakartang hruxnaipsuphawaaethrksxnxun xakarrwmthngerxepriywerxkhm khuxidrskrdhruxrskhmthiikl khx aesbrxnklangxk yxdxk pwdhnaxk lmhayicehmn xaeciyn hayicmipyhaechnhayicimxxkewlanxnhruxecbkhx aelafnkrxn xakarxacaeylngcnekidphawaaethrksxnrwmthnghlxdxaharxkesb hlxdxahartib aelaekideyuxbuphiwesiyngmaernginhlxdxahar sungxyangsudthayphicarnawa epnkarepliynaeplngkhxngeslleyuxbuhlxdxaharkxncaepnmaerng aelwxacklayepnmaerngchnidtxmsungbxymakthaihesiychiwitorkhkrdihlyxn gastroesophageal reflux disease chuxxunorkhkarihlyxncakkraephaaxaharmahlxdxahar gastro oesophageal reflux disease GORD gastric reflux disease acid reflux disease reflux gastroesophageal refluxphaphexkseryodykhwamepriybtang radiocontrast aesdngkraephaaxaharsungeluxnekhaipinchxngklangkhxnghnaxksungepnpccyesiyngkxorkhnikarxxkesiyng ɡ ae s t r oʊ ɪ ˌ s ɒ f e ˈ dʒ iː el ˈ r iː f l ʌ k s sakhawichawithyathangedinxaharxakaridrskrd aesbrxnklangxk ecbhnaxk lmhayicehmn hayicmipyhaphawaaethrksxnhlxdxahartib mieyuxbuphiwesiyngmaernginhlxdxahar pyhakarhayicrayadaeninorkhrayayawsaehtuhurudhlxdxahardanlangpididimdipccyesiyngorkhxwn tngkhrrph subbuhri idrbkhwnbuhriepnpraca kraephaaxahareluxnphankabnglmyabangxyangwithiwinicchykarsxngklxngtrwcthangedinxaharswnbn karwdkhwamepnkrddanginhlxdxahar karklunaepngthayphaphrngsi karwdkarbibtwkhxnghlxdxaharorkhxunthikhlayknaephlepuxyephptik maernghlxdxahar hlxdxaharkratuk xakarpwdekhnhwickarrksaepliynxaharaelaphvtikrrm ya phatdyayaldkrd yatantwrbexch2 yaybyngkarhlngkrd yaephimkarbibtwkhxnglaiselk prokinetics khwamchuk7 4 ithy lt 5 exechiy 15 praethstawntk pccyesiyngrwmthngorkhxwn kartngkhrrph karsubbuhri karidrbkhwnbuhriepnpraca kraephaaxahareluxnphankabnglm hiatus hernia aelakarichyabangpraephth yathixacmibthbathrwmthngsartanhistamin echn yaaekaeph yaldnamuk aekhlesiymaechnaenlblxkekxr yaaeksumesra aelayanxnhlb orkhmiehtucakhurudhlxdxahardanlang swntxrahwangkraephaaxaharaelahlxdxahar pididimdi khuxkhlaytwbxyekinkarwinicchysahrbkhnikhthiimdikhundwykartrwcrksapkti xacrwmkarsxngklxngtrwcthangedinxaharswnbn karklunaepngthayphaphrngsi aelakarwdkhwamepnkrddanginhlxdxahar orkhthiimidrksaduael samarththakhwamesiyhaytxhlxdxaharxyangthawr karrksapktikhuxihepliynxaharphrxmphvtikrrm karichya hruxbangkhrngkarphatd karepliynphvtikrrmxacrwmimnxninraya 2 3 chm hlngthanxahar ldnahnk eliyngxaharbangpraephth eliksubbuhriaelahlikeliyngkhwnbuhri yarwmthngyaldkrd yatantwrbexch2 yaybyngkarhlngkrd PPI aelayaephimkarbibtwkhxnglaiselk prokinetics karphatdxacepnthangeluxksahrbkhnikhthirksadwywithixun imhay prachakrpraman 7 4 inpraethsithyepnorkhni inexechiy xacmiprachakrnxykwa 5 thimiorkh aetinolktawntk prachakrthungrahwang 10 20 xacmiorkhni thungkrann karmikrdihlyxnthrrmda GER epnbangkhrngbangkhraw khuxmixakar 2 khrnghruxnxykwatxxathity odyimmixakarhruxphawaaethrksxnthisakhy kepneruxngsamykwa orkhaemcaimrayaerngehmuxnkborkhmaernghruxorkhhwic aetkthaihphupwythukkhthrman ldkhunphaphchiwitxyangmakthngindanrangkayaelaciticaelaldprasiththiphaphkarthangan raylaexiydkhxngxakarniidklawthungepnkhrngaerkinpi 1935 odyaephthyorkhthangedinxaharchawxemrikn aetxakaraebbkhlassikkklawthungtngaetpi 1925 aelwxakaraetethathiphb phupwybangrayimidmadwyxakaraesbyxdxk erxepriyw aetmahahmxdwyxakarkhxngorkhhu khx cmuk echn ixeruxrng esiyngaehberuxrng miklinpak hruxxacmadwyxakarthangrabbhayic echn hxbhud bangraykmadwyxakarecbhnaxk sungemuxwinicchyaelwimphborkhxun kcasngmathiaephnk aelaswnihycaphbwaepnorkhkrdihlyxn rs nph xudm khchinthr hwhnaphakhwichaxayursastr khnaaephthysastrsirirachphyabal ihsmphasnemuxpi 2552 rupaebbtang aelaxakar rupaebb xakartrngaebb khlassik erxepriyw aesbrxnklangxknxkaebb cuk aenn xudxd ecbthiyxdxk itlinpi xaharimyxy khlunis thxngxud thxngefx erxxakarnxkehnuxhlxdxahar ixeruxrng hlxdlmhdekrng hayicesiynghwid esiyngaehb ecbkhx hxbhud klxngesiyngxkesb fnkrxnphuihy xakarsamythisudkhxngorkhkkhuxerxepriyw erxkhm khuxrusukthungrskhmkhxngnadi rsepriywkhxngkrd inpakhruxlakhx aelaaesbrxnklangxk enuxngcakkrdipthaihhlxdxaharxkesb swnxakarthisamynxykwarwmthngxakarklunecb ecbkhx nalaymak khlunis ecbpwdhnaxk cukaennbriewnhnaxk lmhayicehmn xaeciyn fnkrxn orkhnibangkhrngthahlxdxaharihesiyhayodyxacekiddngtxipni hlxdxaharxkesbehtukrdihlyxn epnkarxkesbkhxngeyuxbuhlxdxahar esophageal epithelium sungxacthaihepnaephlepuxythiswnechuxmrahwangkraephaaaelahlxdxahar phuihythimihlxdxaharxkesberuxrngepnewlahlaypimioxkassungthihlxdxaharcaepliynepnmienuxeyuxesiyngmaerng hlxdxahartib epnkartibkhxnghlxdxaharthikhngyunenuxngcakkarxkesbehtukrdihlyxn sungthaihmipyhainkarklun eyuxbuphiwesiyngmaernginhlxdxaharkhux Barrett s esophagus epnkarepliynaeplngphidpkti metaplasia inesllthiswnlangkhxnghlxdxahar khuxeyuxbuhlxdxaharaebb stratified squamous epithelium caaethnthidwy simple columnar epithelium sungbangkhrngklayepnmaerngchnidtxmthihlxdxahar maerngchnidtxmthihlxdxahar epnmaerngchnidhnungsungbxymakthaihesiychiwit orkhsamarththaihmipyhaekiywkbkarhayic ephraakrdxacekhaipinkhxaelapxd rwmthngorkhhud epnorkhrayayawinpxdthithaihiwepnphiesstxsingthiaeph aennhnaxk hruxminainpxd ixaehng epnrayanan hruxkhxecb esiyngaehb klxngesiyngxkesb laryngitis thaihesiyngaeylng pxdbwm khuxechuxthipxdkhanghnunghruxthngsxng odyepnihmbxy hayicepnesiynghwid nkwicybangphwkidesnxwa kartidechuxthihusungepnsa aelaphawaekidphngphudthipxdsungimthrabsaehtu idiopathic pulmonary fibrosis xacmikhwamsmphnthinbangkrnikborkh aetkyngimsamarthaesdngkhwamepnehtuphl imxyuinaehlngxangxing orkhducaimsmphnthkbophrngxakasxkesberuxrng chronic sinusitis xakaraelaphltxchiwit exechiy ngan The Asian Burning Desires Survey idsarwcphupwyorkhkrdihlyxn 1 020 khn inpraethsexechiy 7 praeths khux cin hxngkng xinodniesiy ekahliit filippins ithwn aelaithy eruxngphlkrathbtxkarthanganaelachiwit aelwidphbwa 65 khxngphupwyrwmthiipphbaephthyimruwa tnkalngpwyepnorkhni 75 mixakarerxepriywaelaaesbrxnklangxk 60 rusukimsbay eliyngnaaelaxahar ehnuxy aelakngwleruxngorkh 50 tunkhun 1 2 khrngtxeduxnephraaxakarkhxngorkhedk orkhxacruidyakintharkaelaedk ephraaimsamarthbxkwarusukxyangirodyphuihytxngsngektxakarexaexng xakarxactangcakkhxngphuihyodythw ip orkhinedkxacthaihxaeciynbxy karkhakxxkodyimtngic ix aelapyhakarhayicxun echn esiynghayichwid odyxakarxun rwmthngkarrxngihaebbplxbimid ptiesthxahar rxngiheriykrxngxaharaetaelwkexakhwdnmxxk aelwrxngkhxxik nahnkimsmwy lmhayicehmn aelaerx ksamydwyehmuxnkn edkxacmixakarediywhruxhlayxyang immixakarihnthiehmuxnkninedkthukkhnthiepnorkh inshrthxemrikaaetlapi tharkekidihmthung 35 xacmipyhakrdihlyxninchwng 2 3 eduxnaerk thvsdihnungkhux fourth trimester theory thvsdiitrmasthisi sungihkhxsngektwa stwodymakekidmaekhluxnihwipmaidthnthi swnmnusykhxnkhangcachwytnexngimidemuxekid sungaesdngwa xacekhyxyuinkhrrphepnitrmasthisi aettxmaekidkhwamkddnthangwiwthnakarihmisirsaaelasmxngthiihykhunodykyngtxnglxdchxngkhlxdxxkmaid cungtxngekidkxnaelathaihrabbyxyxaharyngimphthnakhunetmthi txngkarxangxing edkodymakcaelikmipyhaniphayinpiaerk aetkmicanwnhnungsungnxyaetyngsakhy phucayngmipyhanixyu odycringepnphiesssahrbkhrxbkhrwthimiprawtiorkhni txngkarxangxing Barrett s esophagus Barrett s esophagus hmaythungkarepliynaeplngphidpkti metaplasia inesllbueyuxthiswnlangkhxnghlxdxahar khuxeyuxbuhlxdxaharaebb stratified squamous epithelium caaethnthidwy simple columnar epithelium sungprakxbdwy goblet cell sungpktiphbinswnlangkhxngthangedinxahar khwamsakhythangkaraephthykhxngxakarnikkhux smphnthxyangmikalngkbmaerngchnidtxmthihlxdxahar esophageal adenocarcinoma sungbxymakthaihesiychiwit orkhkrdihlyxnxacaeylngcnklayepn Barrett s esophagus sungkepnxakarerimtnkxncaepnmaernghlxdxahar khwamesiyngkaraeylngcakkarepliynaeplngphidpkti metaplasia ipepnkarecriyphidpkti dysplasia yngimchdecn aetpraeminxyuthi 20 enuxngcakkaraesbrxnklanghnaxkeruxrngxacaeylngcnepn Barrett s esophagus cungaenanaihsxngklxngtrwcthangedinxaharswnbn thuk 5 pisahrbphuaesbrxnklangxkeruxrnghruxkhnikhorkhniaebberuxrngthithanyaepnpraca sphawapktiethiybkborkhkrdihlyxn bn hurudpkti lang hurudinkhnikhorkhkrdihlyxn karihlyxnkhxngkrdaelakhxnginkraephaaekhaipinhlxdxaharthaihaesbrxnklangxk khaaepl Esophagus hlxdxahar Stomach kraephaaxahar Lower esophageal sphincter closed open hurudhlxdxaharswnlangpid epid Normal pkti GERD orkhkrdihlyxnehtuorkhnimiehtucakkarthanganbkphrxngkhxnghurudhlxdxaharswnlang LES thikhlaytwemuxmnimkhwr inkhnpkti trngmumthihlxdxaharsngekhaipinkraephaaxahar Angle of His camihurudthipxngknkhxnginkraephaaxaharrwmthngexnismtang aelakrdkraephaaxaharepntn imihihlklbekhaipinhlxdxaharsungsamarththaihmnaesbrxnaelaxkesb pccythixacmibthbathtxorkhrwmthng orkhxwn dchnimwlkaythiephimkhunsmphnthkborkhthirunaerngkhun ngansuksakhnikhthimixakarorkh 2 000 khnphbwa 13 khxngkarepliynaeplngkarihlyxnkhxngkrdsamarthsmphnthkbkarephimdchnimwlkayid kartngkhrrphthaihmikhwamdninthxngephim karsubbuhrihruxidrbkhwnbuhriepnpraca karichyatang echn yarksarksaorkhhud aekhlesiymaechnaenlblxkekxr sartanhistamin yaaekpwd yanxnhlb yaaeksumesra kraephaaxahareluxnphankabnglm sungephimoxkasesiyngorkhenuxngcakpccythangkayphaphaelakarbibtw motility echn ldkhwamaekhngaerngkhxnghurud Zollinger Ellison syndrome epnehtuephimkrdinkraephaaxaharenuxngcakkarephimphlithxromnchnidephpithdkhux gastrin aekhlesiymineluxdsung hypercalcemia samarthephimkarphlithxromnchnidephpithdkhux gastrin sungephimkrdinkraephaaxahar orkhhnngaekhng thng scleroderma aela systemic sclerosis xacmixakarepnhlxdxaharbibtwphidpkti xwywaphayinyxy visceroptosis Glenard syndrome sungkraephaaxaharidyxylnginthxng thaihkarbibtwaelakarhlngkrdkhxngkraephaaphidpkti orkhphbwasmphnthkbpyhakarhayicaelapyhathiklxngesiyng echn klxngesiyngxkesb laryngitis ixeruxrng phawaekidphngphudthipxd pulmonary fibrosis ecbhu aelaorkhhud aememuxorkhnixacyngimpraktxakarthichdecnthangkhlinik xakarpraktthiimthwipkhxngorkhechnnieriykwa krdihlyxnkhunklxngesiyngaelakhxhxy laryngopharyngeal reflux LPR hruxorkhkrdihlyxnnxkhlxdxahar extraesophageal reflux disease EERD pccythiidsmphnthkborkhaetyngsrupimidrwmthng karhyudhayickhnahlbehtuxudkn OSA niwnadi gallstone sungsamarthkhdkarihlkhxngnadiekhaipinlaiselkswntn sungmiphltxsmrrthphaphthakrdkraephaaxaharihepnklang nganthbthwnwrrnkrrmpi 1999 phbwa odyechliyaelw khnikhorkhni 40 tidechux H pylori dwy aetkarkacdechuxklbthaihhlngkrdephimkhun sungsrangkhathamwa khnikhthitidechuxtangcakthiimmiechuxxyangir ngansuksaaebbxaphrangsxngthangpi 2004 imphbkhwamaetktangthisakhythangkhlinikrahwangkhnikhsxngphwkni imwacaepnkhwamrunaerngkhxngorkhthiwdodyepnxtwisyhruxodyprwisy dumaexlkxhxl thanxaharrscd erngribekinip ximekinip khwamekhriyd thanxaharrscd erngribekinip ximekinip ksamarthkxihekidkrdihlyxn lingkesiy idphaphsxngklxngexnodnsokpkhxnghlxdxahartibikl cudthiechuxmkbkraephaa niepnphawaaethrksxnkhxngorkhkrdihlyxneruxrng aelaxacepnehtuihklunlabakkarwinicchykhxbngichkartrwcephuxwinicchyorkh kartrwcrksa xakarbngichlxngrksadwy PPI xakarkhlassikodyimmixakarxun sungnaepnhwngwdkhwamepnkrddanginhlxdxahar karrksadwyyaimthaxakarihdiaelasngsywaepnorkhnicring hruxim hruxephuxpraeminwamiaephlinhlxdxaharehtukrdkxnkarphatdhruximsxngklxng xakarnaepnhwngechnklunlabak khnikhimtxbsnxngtx PPI esiyngsungtxphawaeyuxbuphiwesiyngmaernginhlxdxaharkhux Barrett s esophagusklunaepngthayphaphrngsi ephuxpraeminkarklunlabak nxkehnuxcakniimaenanaephuxpraeminorkhniwdkarbibtwkhxnghlxdxahar kxnphatdephuxyunynwaimichxakarimbibtwkhxnghlxdxahar echnmiorkh klamenuxeriybimkhlay orkhhnngaekhng nxkehnuxcakniimaenanaephuxpraeminorkhni aephthymkwinicchywaepnorkhniemuxmixakaraebbkhlassik khuxerxepriywaelaaesbrxnklanghnaxk sungemuximmixakarthinaepnhwngxun kxacerimthdlxngrksadwyyaidely aelathaxakardikhunphayinsxngxathityksnnisthanidwamiorkhni aetkhnikhthiimpraktxakarkxacmiorkhid odykarwinicchycatxngihmithngxakar phawaaethrksxnbwkkbkarihlyxnkhxngsingthixyuinkraephaa thakhnikhimdikhunemuxthanyaaelaepliynxaharphrxmphvtikrrmaelw xaccatxngtrwcephimkhun odyxacsngiphaaephthyechphaathang echn aephthyorkhthangedinxahar kartrwcwithixun rwmkarsxngklxngtrwcthangedinxaharswnbn EGD aetxacrabuorkhidephiyngaekh 10 30 ethannkarwdkhwamepnkrddanginhlxdxaharinchiwitpkti xacmipraoychnsahrbkhnikhthiimdikhunhlngihyayaybyngkarhlngkrd PPI aetimcaepnsahrbkhnikhthiehnwamieyuxbuphiwesiyngmaernginhlxdxaharkhux Barrett s esophagus imkhwrichphaphexkserythiihkhnikhklunaeberiym aepng ephuxkarwinicchyephraaimsamarthaesdngorkh swnkarwdkarbibtwkhxnghlxdxahar aenanaihichkxnphatdethannaelaimaenanaihichephuxwinicchy aelakartrwcsxbkartidechux H pylori pktikimcaepn karlxngrksadwyya sahrbkhnikhthipraktxakarkhlassikkhxngorkhkhuxaesbrxnklangxk aela hruxerxepriyw thiimmixakarnaepnhwngxun withikarhnungephuxwinicchyorkhkkhuxkarihyaybyngkarhlngkrd PPI inrayasn echn 2 xathity thaxakardikhunkxacwinicchyidwamiorkh aetthaimdikhun aephthyxaccatxngtrwcephimephuxyunynkarmiorkhni aelaephuxpraeminwamiorkhxunhruxim xnung xakarorkhnxkaebbhruxkhnikhthiecbhnaxkepnxakarhlksungimekiywkbhwic kyngxactxngphicarnatrwcdwywithixunkxncaichwithikarni khnikhaemrbya PPI khnadsungkyngxacphblksnakarthukkrdinhlxdxaharemuxwdkhwamepnkrddang sungxacepnephraaimthanyatamaephthysnghruxephraaimtxbsnxngtxya withiniyngchwyphyakrnphlkarefasngektkhwamepnkrddangthiphidpktiphayin 24 chm inbrrdakhnikhthimixakarsungxacaesdngthungorkh karsxngklxng karsxngklxngtrwcthangedinxaharswnbn Esophagogastroduodenoscopy gastroscopy epntn epnwithikartrwcthiichklxngsxngtxesniynaaesngsungyudhyunid ephuxdutngaetswnbnkhxngthangedinxaharcnipthunglaiselk epnwithikarthiimtxngphatdaelaichewlaimmakephuxfuntw ykewnthaichyaslbhruxyacha aetkhxecbksamydwyehmuxnkn withiniimcaepntxngthathakhnikhmixakarkhlassikaelatxbsnxngtxkarrksa ephraakarsxngklxngcawinicchyorkhidephiyng 10 30 ethann aetaenanaihichsahrbphuthithanyaaelwimdikhun hruxmixakarnaepnhwngxun rwmthngkarklunlabak dysphagia olhitcang eluxdinxuccara odytrwcdwysarekhmi hayicepnesiynghwid nahnkld hruxesiyngepliyn aephthybangphwkesnxihsxngklxngdukhrnghnunginchiwithruxthuk 5 10 pisahrbkhnikhorkhnithiepnrayayaw ephuxpraeminwamikarecriyphidpkti dysplasia hruxeyuxbuphiwesiyngmaernginhlxdxaharkhux Barrett s esophagus hruxim thaaephthyihthanyaetmxtraaelwaetyngimhay aephthyxacsxngklxngephuxtrwcephim sungsamarthaesdngxakarphidpktitang inkhnikhthirksadwyyaimdikhunpraman 10 epnkhwamphidpktiechnkhxnghlxdxaharxkesbaebbmiaephlthikhngyun hlxdxaharxkesbaebbchxbxioxsionfil eosinophilic esophagitis aela Barrett s esophagus odykarphbkarxkesbcachwyyunynwinicchyorkhniaelaaesdngwa khnikhimthanyatamsnghruxyalmehlwinkarrksa aetkrdthiihlyxnkxacimkxaephlinhlxdxahar epnaebborkhthieriykwa orkhkrdihlyxnthiimkxaephlinhlxdxahar non erosive reflux disease NERD thaihodymakkhnikhcaimmikhwamphidpktiinhlxdxahar aelaxaccaepntxngtrwcwdkhwamepnkrddanginhlxdxahartxip withinimikhxcakd yktwxyangechn thaphbhlxdxaharxkesbhruxeyuxbuphiwesiyngmaernginhlxdxaharkhux Barrett s esophagus niethakbyunynwinicchyorkhnixyangechphaaecaacng aetkarmihlxdxaharpktikimidknwaimmiorkhni khnikhorkhniodymakcaimmixairphidpktithiehnidphanklxng dngnn cungcaichtxemuxmixakaraethrksxnxun hruxephuxpraeminorkhxun hruxephuxkartidtngaekhpsultrwckhwamepnkrddangaebbirsay khnikhthimipccyesiynghlayxyangtx esophageal adenocarcinoma rwmthngxayumakkwa 50 epnchay epnorkhniaebberuxrng kraephaaxahareluxnphankabnglmdchnimwlkaysung ikhmnsasmthithxng aelaephuxtrwckhdkrxngwami Barrett s esophagus hruxim kartdenuxxktrwc emuxsxngklxng nxkcakcatrwcduhlxdxaharaelw aephthyyngsamarthtdenuxxxktrwcthaehnkhwamepliynaeplngphidpkti swntib hruxkxnenux kartdenuxxxktrwcxacaesdng karbwmna aela basal hyperplasia sungepnkarepliynaeplngodyxkesbthiimcaephaaecaacng karxkesbodyekiywkbemdeluxdkhaw lymphocytic inflammation thiimcaephaaecaacng karxkesbaebbaetmsithimikhaphiexchepnklangid neutrophilic inflammation sungpktimacakkrdihlyxn hruxkraephaaxkesb gastritis enuxngcakechux Helicobacter karxkesbaebbchxbxioxsionfil eosinophilic inflammation sungpktimiehtucakkrdihlyxn karmixioxsionfilphayineyuxbuxacrabuihwinicchyepnhlxdxaharxkesbaebbchxbxioxsionfil EE thaphbxioxsionfilepncanwnmakphx aetthamixioxsionfilimmakinhlxdxaharswnlang aelaphblksnathangenuxeyuxxun khxngorkhkrdihlyxn GERD xakarkcaekhakborkhnimakkwa EE karepliynaeplngphidpkti metaplasia thiprakxbdwy Goblet cell sungepnxakarkhxng Barrett s esophagus papillae thiyawkhun chn squamous cell thibanglng karecriyphidpkti dysplasia maerngeyuxbu carcinoma karwdkhwamepnkrddanginhlxdxahar karwdkhakhwamepnkrddangaelakhaximphiaednsinhlxdxahar esophageal pH and impedance monitoring epnwithikartrwcsxbkrdihlyxnthiaemnyathisud epnmatrthaninkarwinicchyorkhni epnkartrwcsxbthiepnprwisymakthisudephuxwinicchyorkhni aelachwyihefasngektkartxbsnxngkhxngkhnikhtxkarrksaimwacaodyyahruxphatddwy epnkarwdkhakrdinhlxdxaharemuxkhnikhthakickrrmchiwitpracawnpktirwmthngthanxaharaelanxn aephthycathakarniemuxsxngklxngtrwcthangedinxaharswnbn odymakemuxkhnikhmisti khuxaephthycasngsayyangbang phancmukhruxpakipthungkraephaaxahar aelwkdungsaykhunklbmaxyuinhlxdxaharaelwethpsayxikplayhnungtidthiaekm playinhlxdxaharcaepntwwdwa krdyxnkhunmainhlxdxaharemuxiraelaethair swnxikplayhnungcatxekhakbekhruxngbnthukthitidiwnxktw khnikhcaischudxupkrnniepnewla 24 chm sungcathxdxxkemuxklbiphaaephthy withinimipraoychntxaephthymakthisudemuxkhnikhekbbnthukwa emuxir xair aelacanwnaekhihn thikhnikhidthanxaharaelaekidxakartang khxngorkhhlngthanxahar sungthaihaephthysamarthehnidwa xakarorkh xaharbangchnid aelaewlabangewla smphnthknxyangir withiniyngchwyaesdngwa krdihlyxnmiphltxpyhakarhayicdwyhruxim withinimkichkbkhnikhthiimtxbsnxngtxkarrksadwyyaaelasxngklxngduaelwaetimpraktlksnakhxngorkh ephuxihyunynidwamiorkh xnung samarthichsxdsxngkartxbsnxngtxyasahrbkhnikhthimixakarkhngyun aelaaenanaihichsahrbkhnikhthiimmihlkthanphankarsxngklxngwamiorkh kxncarksadwykarphatddwy thaaephthyihthanyaetmxtraaelwyngimhay aelaidsxngklxngephimaetimphbxakar aephthyxaceluxktrwcodywithiniephuxyunynhruxknorkhni thasamarthyunynkhwamsmphnthrahwangkrdihlyxnthiphidpktikbxakarkhxngorkh nikcaepntwbngkhwamlmehlwkhxngkarrksadwyyaybyngkarhlngkrd sungxacthaihaephthyphicarnakarrksadwyyaephimhruxkarphatd nxkcakkarwdaebbmisayechnni pccubnyngmiwithikarwdaebbirsayodytidaekhpsulthihlxdxaharsungthaemuxaephthysxngklxngtrwcduhlxdxahar karwdkarbibtwkhxnghlxdxahar karwdkarbibtwkhxnghlxdxahar esophageal manometry EMS chwywdkarbibekrngkhxngklamenuxinhlxdxahar aephthyxacihtrwcodywithinithakhnikhcaphatd ephuxknorkhhlxdxaharimbibtwxun rwmthngklamenuxeriybimkhlay achalasia aelaorkhhnngaekhng scleroderma sungepntwaesdngwaimkhwrphatd hruxephuxchwykahndcudwangekhruxngwdkhwamepnkrddang nxkehnuxcakni epnwithithiimaenanaihichekiywkborkhni phyabalcaphnyachathikhxhruxihkhnikhklwkhxdwyya aephthycaissaybang phanekhacmukekhaipinkraephaaxahar sungkhnikhcathakarklunemuxaephthykhxy dungsayxxkmasuhlxdxahar ekhruxngkhxmphiwetxrcabnthukaerngbibkhxngklamenuxinswntang khxnghlxdxahar withitrwcnixacaesdngwaxakarkhxngorkhenuxngkbhurudxxnaexhruxim aelayngsamarthichwinicchypyhahlxdxaharxun thimixakarkhlaykbkaraesbrxnklangxk karklunaepngthayphaphrngsi karklunaepngthayphaphrngsi upper gastrointestinal series hrux upper gastrointestinal study hrux contrast radiography of the upper gastrointestinal tract epnkarthayphaphrngsiepnchudephuxtrwckhwamphidpktikhxngthangedinxaharswnbn echn ephuxduruprangkhxngthangedinxahar epnkarthdsxbthiimcaepntxngichyacha yaslb aetcacakdkarthanxaharaeladumna emuxkalngtrwc khnikhcayunhruxnnghnaekhruxngexkseryaeladumaeberiym aepng ephuxihhumeyuxbuthangedinxaharswnbn ecahnathicathayphaphepnchud inkhnathiaeberiymdaeninphanthangedinxahar epnkarthdsxbthiimaesdngorkhkrdihlyxn aetaesdngpyhathiekiywkhxngknxun echn kraephaaxahareluxnphankabnglm hlxdxahartib aelaaephlepuxy ulcer aelayngxacbwkichkbkarsxngklxngephuxpraeminkarklunlabakinkhnikhhlngphatdrksaorkhni karwinicchyaeykaeyaorkh ehtuxun khxngkarecbpwdhnaxk echn orkhhwic txngknxxkkxnthicawinicchywaepnorkhniid yngmiorkhkrdihlyxnxikchnidsungmixakarthangkarhayicaelathiklxngesiyngsungeriykwa krdihlyxnkhunklxngesiyngaelakhxhxy LPR hruxorkhkrdihlyxnnxkhlxdxahar EERD aetimehmuxnorkhkrdihlyxnthrrmda LPR imkhxythaihaesbrxnklanghnaxk cungbangkhrngeriykwa krdihlyxnengiyb silent reflux orkhthisamarthwinicchytangxacaebngepn 4 klum odymiorkhrwmthng khwamphidpktithihlxdxahar aephlepuxyephptik hlxdxaharxkesbehtuya hlxdxaharxkesbehtutidechux hlxdxahartib maernghlxdxahar mikhxngaeplkplxmtid hlxdxaharimbibekrng imekhluxn orkhhnngaekhng scleroderma khwamphidpktithiklxngesiyng tingenuxemuxkthiklxngesiyng pyhathiklxngesiyng xxkesiynglabakephraaklamenuxhdekrng spasmodic dysphonia karecbhnaxk xakarpwdekhnhwic enuxhwictayehtukhadeluxd MI hlxdxaharkratukthikracayipthw diffuse esophageal spasm phawasinghludxudhlxdeluxdinpxd pulmonary embolism karpwdthxngswnbn niwnadi niwthxnadi tbxkesb mamxkesbchbphln orkhaephlepuxyephptik kraephaaxaharxkesb itaelakrwyitxkesb swnwinicchytangxun rwmthngphawaklamenuxeriybimkhlay achalasia xaharimyxy xmphvksthangedinxahar gastroparesis functional heartburnkarrksakarprbphvtikrrmkarkin karnxn casamarthchwyrksaid 20 aethakichyainkarrksacahayid 80 100 phs nph smchay lilakuslwngs xayuraephthydanrabbthangedinxahar khnaaephthysastrsirirachphyabal ihsmphasnemuxpi 2552 karrksaorkhrwmthngkarepliynxaharphrxmphvtikrrm karichya aelaxactxngphatd karrksaebuxngtnbxykhrngkkhuxihthanyaybyngkarhlngkrd echn oxmipraosl karepliynphvtikrrm ephuxrksakrdihlyxn aenanaihprbepliynnisy aelakardaeninchiwitpracawn karrksawithinisakhymakephraathaihphupwymixakarnxylng pxngknimihekidxakar aelaephimkhunphaphchiwitkhxngphupwy odyldprimankrdinkraephaaxahar aelapxngknimihkrdihlyxnklbkhunipinrabbthangedinxaharaelathangedinhayic swnbnmakkhun thisakhykarrksadwywithinikhwrthaxyangtxenuxngtlxdchiwit aemphupwycamixakardikhunhruxhaydiaelwodyimtxngrbprathanyaaelwktam txngkarxangxing sthabnsukhphaphaehngchatishrth NIH aenanawa khnikhxackhwbkhumxakardwytnexngidodyimthanxaharhruxekhruxngdumthithaihekidxakar echn xaharmn ephd khxngthxd ekhruxngdumaexlkxhxl kaaef epntn inaetlamux imkhwrrbprathanxaharmakekinip odyechphaamuxeyn imthanxahar 2 3 chm kxnnxn ldnahnkthahnkekinhruxepnorkhxwn hyudsubbuhriaelaeliyngkhwnbuhri thanyaldkrdthiimtxngichibsngaephthy aetxacmiphlkhangekhiyngrwmthngthxngphukthxngrwng xnung sthabnyngaenanadwywa orkhsamarthldxakariddwykarepliynxaharaelaphvtikrrmrwmthng ldnahnkthacaepn enuxngcakphawanahnkekincathaihkhwamdninchxngthxngmakkhun thaihkrdihlyxnidmakkhun hlikeliyngkarswmesuxphathikhbekinip odyechphaabriewnrxbexw ephraamncabibkraephaaaelwdnkrdekhaipinhlxdxahar hlngxahar xyanxnthnthi odyihtngtwtrng 3 chm aelaeliyngkarnngexnhruxnnghlngkhxm ewlanxn khwrhnunhwetiyngihsungkhunpraman 6 8 niwcakphunrab odyichwsdurxngkhaetiyng echn im xith odyihnxntaaekhngsay phvtikrrmxun thixacidphlrwmthngeliyngkmtwepnewlanan xyangirkdi aemcathatamkhaaenanaxyangekhrngkhrd karepliynxaharphrxmphvtikrrmethannbxykhrngchwykhwbkhumxakarimid cungcatxngxasyyadwy xahar sthabnsukhphaphaehngchatishrthaenanawa khnikhsamarthpxngknhruxbrrethaxakarkhxngorkhodyepliynkarkin inaetlamux imkhwrrbprathanxaharmakekinip thanaekhphxxim odyechphaamuxeyn khwrrbprathanxaharprimanthilanxy aetbxykhrng aethnkarthan 3 muxpkti imthanxahar 2 3 chm kxnnxn ldhruxngdxaharaelaekhruxngdumthikxxakar xaharthixacthaihxakaraeylngrwmthngchxkokaelt kaaef phuchphwkmint xaharmn xaharephd maekhuxethsaelaphlitphnthmaekhuxeths echn sxsmaekhuxeths sxsphrik sxsinspaekttihruxphissa aelaekhruxngdumaexlkxhxll echn sura withikarthanxaharxun thixacidphlrwmthng hlikeliyngekhruxngdumbangpraephthxun echn cha naxdlmnaphlimthiepriywcd hlikeliyngxaharbangpraephthxun echn xaharthiepriywcdphuchphkrwmkraethiymhwhxmsaraaehn xaharyxyyak eny thwfastfudechnphissa xaharkharobihedrtsung hlngcakrbprathanxaharthnthi phyayamhlikeliyngkarxxkkalngkay ykkhxnghnk exiywhruxkmtwkarepliynwithichiwittamnganwicyaelaaenwthangkarrksakhxngaephthy aemxaharaelaphvtikrrmbangxyangphicarnawa oprohmtihekidorkh aetprasiththiphlkarrksaorkhkhxngkarepliynrupaebbkardaeninchiwitbangxyangkmihlkthannxymak karepliynphvtikrrmtang rwmthngkaryketiyngkhunsungthangsirsa eliyngthanxahariklnxn eliyngthanxaharodyechphaa hruxeliyngkickrrmbangodyechphaa epntn khwrcaaenanatxkhnikhthikarkrathaechnnnsmphnthkbxakarethann echn khnikhthimipyhaaesbrxnklangxkinchwngklangkhunxacidpraoychndwykarykhwetiyngihsungkhun aetkaraenanaihkhnikhthaechnniphuimmixakartxnklangkhunxacimidpraoychnxair xaharthixacmiphlrwmthngkaaef sura aexlkxhxl chxkokaelt xaharmn echnkhxngthxd khxngmn xaharthiepnkrd pktimirsepriyw aelaxaharephd nganthbthwnwrrnkrrmaelakarwiekhraahxphimanpi 2006 phbwa karldnahnkaelakaryksirsaemuxnxnodythwipidphldi aelakarnxntaaekhngsaykechnkn ephraahurudkhlaytwnxykhrnglng aemcathaidyak odykarldnahnkaenanasahrbphuhnkekinaelaphuthinahnkephimkhunerw ni hmxnruplimthiyksirsaxacchwyrangbkrdihlyxninewlanxnid aetkarhyudsubbuhriaelakarhyudthanekhruxngdumaexlkxhxl ducaimprbprungxakarxyangminysakhy aemkarxxkkalngkayhnkklang xacchwyprbprungxakar aetkarxxkkalngkayhnkduehmuxncathaihaeylng xyangirkdi aemcathatamkhaaenanaxyangekhrngkhrd karepliynxaharphrxmphvtikrrmethannbxykhrngchwykhwbkhumxakarimid cungcatxngxasyyadwy enuxngcakorkhkrdihlyxncamixakarthxngxudthxngefxrwmdwy khlay kbxakarkhxngorkhkraephaaxahar cungthaihkhnswnihymkcaehmarwmwatnexngxaccaepnorkhkraephaaxahar aelaipsuxyaldkrd antacids thimiwangcahnaytamthxngtladmarbprathan sungyapraephthnimiprasiththiphaphimsungphxthicarksa thaihkarrksaimtrngcud odyechphaakhnithyeramkcachxbsuxyamarbprathanexngaelakhidwakaripphbaephthyepn eruxngihy rayahlngmanicungphborkhkrdihlyxnephimsungkhuneruxy phs nph smchay lilakuslwngs xayuraephthydanrabbthangedinxahar khnaaephthysastrsirirachphyabal praephthyatang thiichrksa yathiichrksabangxyangsamarthsuxexngidodyimtxngichibsngaephthy aetthaxakarimhay khnikhkhwriphaaephthy yapraephthtang thangantangkn aelaxactxngichyarwmknephuxkhwbkhumxakar yaldkrd aephthyxacaenanaihichyanikxnsahrbxakaraesbrxnklangxkaelaxakarxun khxngorkh yatantwrbexch2 epnyaldkarphlitkrd epnyabrrethaxakarchwkhraw aelaxacchwyrksahlxdxahar aemcaimethayaxun thakhnikhmixakaraesbrxnklangxkhlngthanxahar aephthyxacaenanaihichyaldkrdbwkyani ephraaaememuxyaldkrdhmdvththithakrdihepnklangaelw aetyanikidrangbkarphlitkrdaelwechnkn miyachnidtang rwmthngisemthidin faomthidin nisathidin aernithidin yaybyngkarhlngkrd PPI epnyaldkarphlitkrd sungmiprasiththiphaphrksaxakarkhxngorkhnidikwayatantwrbexch2 mnsamarthrksahlxdxaharinkhnikhodymak aephthybxykhrngsngyaniephuxichinkarrksarayayaw aetkminganwicythiaesdngwa khnikhthiichyainrayayawhruxinkhnadsung esiyngtxkradukaetk hkthisaophk khxmux aelasnhlng khnikhtxngthanyaemuxthxngwangephuxcaihyamiprasiththiphl miyachnidtang rwmthngoxmipraosl rabipraosl esomeprazole lansoprazole pantoprazole yaephimkarbibtwkhxnglaiselk prokinetic chwythaihkraephaaekhliyrxahariderwkhun yaechnbethanechol metoclopramide domperidone yaptichiwnabangxyangrwmthngxiriothrmysin chwythaihkraephaaekhliyrxahariderwkhun aelaxacmiphlkhangekhiyngnxykwayaephimkarbibtwkhxnglaiselk aetkxacthaihthxngrwngid nganwiekhraahxphimanpi 2007 aesdngwa emuxichyathikhnikhhasuxexngidodyimtxngichibsngaephthyephuxrksaorkhni yatang miphldngtxipniemuxethiybkbyahlxk yaldkrdbwkkbkrdxlcinik echnyihxkawiskhxn thaihkhnikhrusukdikhunthung 60 NNT 4 yatantwrbexch2 thaihxakartang dikhunidthung 41 yaldkrdthaihkhnikhrusukdikhunid 11 NNT 13 sthabnsukhphaphaehngchatishrth NIH aenanaihiphahmxemuxxakarkrdihlyxnimdikhunemuxthanyaldxakarthiimtxngichibsngaephthy hruxemuxepliynxaharaelaphvtikrrmaelw aetihiphahmxthnthiemuxxaeciynepncanwnmak xaeciynaerngepnpraca xaeciynepnsiekhiyw siehluxng sinatal khlaykaaef hruxmieluxd mipyhahayichlngxaeciyn ecbpakhruxkhxemuxthankhaw klunlabakhruxklunecb karrksadwyya phaphrwm phbwapramanrxyla 80 100 khxngphupwythimixakarkhxngorkhkrdihlyxnsamarthkhwbkhumxakariddwyya pccubnyaybyngkarhlngkrdklum PPI epnyathiidphldithisud miprasiththiphaphsungmakephuxpxngknkaraesbrxnklangxk ephuxsmanaephlthihlxdxahar aephthycaaenanaihthanyaklumniepnewla 6 8 xathity aetbangraythiepnmak xactxngichyahlayeduxnhruxepnpi odyxacprbichepnchwngsn echnimkiwn tamxakarthimi hruxxactxngthantidtxknepnewlanan xyangirktam khwrxyuphayitkarduaelkhxngaephthyemuxichya khwrrbprathanyasmaesmxtamaephthysng imkhwrldkhnadya hrux hyudyaexng nxkcakaephthyaenana aelakhwrmaphbaephthytamaephthyndxyangsmaesmxaelatxenuxng sungphupwybangrayxacichewlananpraman 1 3 eduxn kwathixakartang cadikhun thisakhyimkhwrsuxyarbprathanexngewlapwy enuxngcakyabangchnidcathaihkraephaaxaharhlngkrdephimkhun hruxklamenuxhurudkhxnghlxdxaharswnlangkhlaytwmakkhun emuxxakartang dikhun aelaphupwysamarthprbepliynnisyaelakardaeninchiwitpracawnkhangtndngklawid aelaidrbprathanyatxenuxng aephthykcaprbldkhnadyalng swnthathanyaaelwimdikhun aephthyxacphicarnatrwcdwykarsxngklxng aeladwykarwdkhwamkrddanginhlxdxahar karrksaebuxngtn yahlkthiichrksaorkhkkhuxyaybyngkarhlngkrd yatantwrbexch2 aelayaldkrdodyichhruximichrwmkbkrdxlcinik alginic acid yaybyngkarhlngkrd PPI echn oxmipraosl idphldithisud tammadwyyatantwrbexch2 echn aernithidin sahrbkhnikhthimixakarimsbsxnkhuxmixakaraebbkhlaassik aephthyxacerimlxngrksadwyyaklum PPI thathanya PPI khrngediywtxwnephiyngidphlbang kxacichidsxngkhrngtxwn odyechphaakhnikhthimixakartxnklangkhun miewlakarthanganimaennxn aela hruxnxnhlbidimdi yakhwrthankhrung chm thungchwomnghnungkxnxahar odyxacmiyaaebbihm thiimcaepntxngrx echn dexlansoprazole sungsamarththanidodyimtxngkhanungthungxahar PPI aebbtang imaetktanginkarrksaxyangsakhy karrksaemuxduxya sahrbkhnikhthithanya PPI xyangediywimhay aelamixakartxnklangkhun aephthyxacephimyatantwrbexch2ihthanewlaklangkhun aetphlkhxngyaxacmiaekhchwkhrawkhuxeduxnediyw swnyathakartxhnwyrbkababi GABAB agonist khux baclofen sungldxakarhlngxaharaelahldkrdihlyxnthnginbukhkhlpktiaelakhnikhorkhni odymiphlkhangekhiynghlayxyangechnngwngnxn khlunis xxnepliyaelala nganthdlxngpi 2012 idphbwa emuxthanewlaklangkhun cachwyldkrdihlyxnaelachwythaihkhnikhnxnhlbiddikhunimwacawdodykhathiepnxtwisyhruxprwisy dngnn yanixacmixnakhtsahrbkhnikhthiyngmixakaremuxich PPI etmthiaelwaetyngmixakartxnklangkhun metoclopramide sungepnyaephimkarbibtwkhxnglaiselk prokinetic imaenanaimwacaichediyw hruxichkbkarrksaaebbxun enuxngcakphlthiimphungprasngkh swnpraoychnkhxngyaephimkarbibtwkhxnglaiselk mosapride xacxyuinradbklang odynganthdlxngthangkhlinikaebbsumpi 2011 aesdngwa ya PPI bwk mosapride immiphldikwaya PPI bwkyahlxk ephuxkhwbkhumxakarkhnikhaebbhlxdxaharimmiaephl xasynganniaelaxun nganthbthwnwrrnkrrmpi 2014 cungimaenanaihichyaephimkarbibtwkhxnglaiselksahrborkhni swnaenwthangkarrksapi 2013 aesdngthangeluxkepnya domperidone thiaemcaimidxnumtiihichsahrborkhniaelathngimmikhxmulekiywkborkhni aetkmikhxmulaesdngwa miphlethakbkhxng metoclopramide ephuxekhliyrkraephaaxahar aetaephthyxactxngkhxytrwctrakarepliynkhlunhwic QT prolongation ephraamikhwamesiyngelknxyenuxngcakhwicetnesiycnghwaaelathaihthungtayid aemya sucralfate camiprasiththiphlkhlaykbsartantwrbexch2 aetktxngthanhlaykhrngtxwn thaihkarichcakd swnyathakartxhnwyrbkababikhux baclofen aemcamiprasiththiphl aetkmipyhakhlayknkhuxtxngthanbxykhrngbwkkbmiphlimphungprasngkhmakkkwayaxun karrksadarngsphaph khnikhthiemuxhmdxakaraelwklbmixakarxikemuxhyudya PPI hruxkhnikhthimiphawaaethrksxnechnhlxdxaharxkesbaebbmiaephl erosive esophagitis hruxeyuxbuphiwesiyngmaernginhlxdxaharkhux Barrett s esophagitis xackhwrichyaepnpraca emuxichyainrayayaw khwrichinkhnadnxysudsungmiprasiththiphl sahrbkhnikhthiimmipyhaeruxngaephlinhlxdxahar xacsamarththanya PPI ephiyngemuxtxnmixakar hruxxacichyaxun echn yatantwrbexch2 ephraakarichya PPI epnpracaxacmikhaichcaysung nganpi 2014 cungaenanaihichyatantwrbexch2inrayayawthacaepnephuxknimihxakarklbma aelwepliynepnich PPI inrayayawthaorkhyngkaerib kartngkhrrph emuxtngkhrrph karepliynxaharaelaphvtikrrmxaclxngduid aetbxykhrngmiphlnxymak aelaaenanaihichyaldkrdaebbepnaekhlesiymthaimidphl odyyaldkrdaebbepnxalumieniymaelaaemkniesiymkplxdphydwy aelaechnkn yatantwrbexch2 khux aernithidin aelayaybyngkarhlngkrdtang thark tharkxacbrrethaxakaridthaepliynethkhnikkarihnm echn echnihinprimannxykwaaetbxykhrngkwa ihepliynxiriyabthrangkayemuxthannm hruxemuxerxbxykhunemuxkalngthannm hruxksamarthihyaiddwy echn aernithidinhruxyaybyngkarhlngkrd PPI aet PPI kimphbwamiprasiththiphlintharkaelakimmihlkthandwywaplxdphy karrksaekinkhwr karbabddwyyarangbkrdepnkartxbsnxngthisamytxkarmixakartang khxngorkhni aelakhnikhhlaykhnxacidkarrksaaebbnimakkwathikrnikhxngtnkhwr karichwithikarrksanimakekinepnpyhaephraaphlthiimphungprasngkh aelakhnikhimkhwrrksaekinkhwamcaepn inbangkrni khnthimixakarxacrksadwyyathiimtxngichibsngaephthyaeladwykarepliynxaharphrxmphvtikrrm sungpkticaplxdphykwaaelaesiykhaichcaynxykwayathitxngichibsngaephthy miaenwthangkarrksathiaenanaihlxngrksaxakardwyyatantwrbexch2 kxncaichyaybyngkarhlngkrdephraapyhaeruxngkhaichcayaelakhwamplxdphy pyhakarichya PPI inrayayaw karichyaybyngkarhlngkrd PPI inrayayawsmphnthxyangmikalngkbkarekidtingenuxemuxkthiimray benign polyp caktxmswnkraphungkraephaa fundic gland sungtangcakorkh fundic gland polyposis tingehlaniimidkxmaerngaelacahayipexngemuxhyudichya yngimphbkhwamsmphnthrahwangkarich PPI kbmaerng aetkarichyakxacxaphrangmaernghruxpyhakraephaapyhathihnkxun sungaephthycatxngkhxyrawng nganthbthwnwrrnkrrmpi 2017 phbkhwamsmphnthkhxngkarichya PPI rayayawkbsphawatang inradbimethaknkhux smaesmx tingenuxemuxkimray benign polyp caktxmswnkraphungkraephaa fundic gland sungtangcak fundic gland polyposis panklang orkhit xxn khwamesiyngkradukhkthisungkhun OR lt 22 3 phawaaemkniesiymineluxdnxyekin hypomagnesemia OR lt 24 karkhadwitaminbi12 khwamesiyngorkhhwicsungkhun OR lt 2 kartidechux Clostridium difficile OR lt 26 8 pxdbwm OR lt 29 imchdecn phawasmxngesuxm maerngkraephaaxahar OR lt 2 sahrbmaerngaelaimminysakhysahrb pre neoplastic lesion immikhwamsmphnththangkhlinikthichdecn maernglaisihykarrksadwykarphatd karphatdmatrthansahrborkhthixakarrunaerng rksadwyaimdikhun eriykwa fundoplication karphukhurudkraephaaxahar epnkarphatdrksaorkhnisungichbxykhrngthisud aelainkrniodymakthaihsamarthkhwbkhumkrdihlyxninrayayawid aetkaenanasahrbkhnikhthiimdikhunemuxichyaybyngkarhlngkrd PPI aelwethann aemkhunphaphchiwitcadikhuninrayasnethiybkbkarthanya aetpraoychnkhxngkarphatdehnuxkarrksadwy PPI inrayayawkimchdecn karphatdinpraethsithyxactxngxasyslyaephthymuxhnung sungxacyngmicanwnnxy khxbngichinkarphatdrksaorkhni sungpkticaepnkarphukhurudkraephaaxaharhruxkarphatdrksaorkhxwn bariatic surgery rwmkhwamimtxngkarichyatlxdchiwit karaephhruxxdthntxyaimid xakarthiduxyabwkhlkthanwamiorkhcakkarsxngklxnghruxkarwdkhwamepnkrddanginhlxdxahar orkhnibwkkbkraephaaxaharthieluxnekhaipinchxngklangkhxnghnaxkxyangmak aelaxakarthiduxyabwkkborkhxwnradbepnehtuorkh morbid phldithisudcaidinkhnikhthitxbsnxngtxkarrksadwyya hruxwdkhwamepnkrddanginhlxdxaharidphidpktiodysmphnthkbxakarkhxngorkhepnxyangdi aetimdiethainkhnikhthimixakarimtrngaebbhruxmixakarnxkehnuxhlxdxahar echn ngansuksahnungsarwckhnikhhlngphatd 69 eduxn aelwphbwakhnikhidhmdxakarhruxldxakartang ethiybkbkxnphatd odymixtrakhnikhdngtxipniaesbrxnklangxk 90 erxepriyw erxkhm 92 klunlabak 75 esiyngaehb xakarnxkehnuxhlxdxahar 69 ix xakarnxkehnuxhlxdxahar 69 karphatdcathaihxakartrngaebbtang khxngorkhdikhuninrayasnaelarayaklang aetinrayayawpraoychnthiidxacldlng ngansuksahnungtidtamkhnikhinraya 10 13 pi aelwphbwa khnikhthiidphatd 62 yngtxngthanyarksaorkhniepnpraca ethiybkbkhnikhthirksadwyyaphuyngtxngthanyaepnpktithi 92 dngnn aemkarphatdxacmiprasiththiphl aetkhnikhimkhwrhwngwacaimtxngthanyaxik aephthyxacphatdodyichklxngsxngtrwcchxngthxng laparoscope sungepnhlxdelk txkbklxng inrahwangkarphatd aephthycaeybswnbnkhxngkraephaaxaharrxb hlxdxaharsungephimkalng aerngkdkhxnghurudhlxdxaharswnlang LES ldkarihlyxn aelarksapyhakraephaaxahareluxnphankabnglm epnkarphatdthiichyacha sungkhnikhsamarthxxkcak rph idphayin 2 3 wn odykhnswnmaksamarthklbipthakickrrmchiwitidpktiphayin 2 3 xathity phawaaethrksxnenuxngkbkarphatdrwmthngklunlabak sungrunaerngphxthicatxngkhyayhlxdxahar esophageal dilation inkhnikhphatdthung 6 lminthxng thxngxudthxngefx aelaerximid emuxethiybethkhnikhkarphatdody fundoplication aebbtang partial posterior fundoplication camiprasiththiphlkwa partial anterior fundoplication aela partial fundoplication kmiphldikwa total fundoplication inpi 2012 xngkhkarxaharaelayashrth FDA idxnumtixupkrnkhux LINX sungprakxbdwyemdlukpdolhathimiaeknepnaemehlkaelatxepnos aelaichphnrxb LES inkarphatdrksakhnikhthiimtxbsnxngtxkarrksaaebbxun epnwithikarthiprbprung LES odyimtxngepliynkaywiphakhkhxngkraephaaxahar sunghlngcakphatd 4 pi khnikh 87 5 phungphxickbsphaphthitnmi aela 80 imtxngthanyaybyngkarhlngkrdepnpraca xakarkhxngorkhcadikhunkhlaykbkarphatdody Nissen fundoplication aemcayngimmikhxmulinrayayaw aetemuxethiybkb Nissen fundoplication withinicaldphawaaethrksxn echn thxngxud thxngefx sungekidxyangsamyemuxphatdpkti phlimphungprasngkhrwmthngklunlabak ecbpwdhnaxk khlunis aelaxaeciyn khxhamichkkhuxkhnikhthiaephhruxxacaephithetheniym ehlkklairsnim nikekil hruxwsduthiepn Iron II oxide ferrous oxide odymikhaetuxnwa imkhwrichinkhnikhthixactxngprasbkb hruxtxngtrwcdwykarsrangphaphdwyerosaennsaemehlk MRI ephraaxacthaihbadecbhnkhruxxacthaxupkrnihesiyhay sahrbkhnikhthiimdikhunephraaya PPI karphatdodyichklxngsxngaebb transoral incisionless fundoplication kxacchwy odymiphldixacthung 6 pi aemcaidmiraynganwa khnikhswnyxyethannthimikhunphaphchiwitdikhunaelasamarthldichyaybyngkarhlngkrdemuxtidtamhlngphatd 3 pi aelamikhnikhekincanwnthiyxmrbid phutxngichyatxipxikhruxtxngphatdephim khnithycaphborkhnipraman 7 4 sungmakkwaebahwansungcaphbaekh 4 khxngprachakrethann aetphuthimiorkhnipraman 40 caimkrathbkbkardaeninchiwitpracawn phs nph smchay lilakuslwngs xayuraephthydanrabbthangedinxahar khnaaephthysastrsirirachphyabal ihsmphasnemuxpi 2552withyakarrabadinolktawntk orkhnimiphltxprachakr 10 20 odymi 0 4 phuphungekidxakarihm yktwxyangechn mikarpraeminwa khnaekhnada 3 4 6 8 lankhn praman 10 19 khxngprachakrthnghmd epnorkh khwamchukkhxngorkhinpraethsphthnaaelwsmphnthxyangaenbaennkbxayu odyphuihyxayurahwang 60 70 piepnklumthimiorkhmaksud inshrthxemrika prachakr 20 camixakarkhxngorkhphayinhnungxathity ody 7 camixakarthuk wn aetkimmikhxmulaesdngkhwammaknxykhxngorkhsahrbchayhyingaetlaephsnganwicymiklxngsxngexnodsokptang thiidthdsxbichrksaxakaraesbrxnklangxkaebberuxrng rwmthng Endocinch tharxyeybekhathihurudhlxdxaharswnlang LES ephuxsrangrxycib klibephuxthaklamenuxihaekhngaerngkhun aetphlrayayawnaphidhwng aelabristhkimidkhayxupkrnxiktxip Stretta procedure ichxielkothrdephuxsngphlngngankhlunwithyuekhathi LES aetnganprithsnepnrabbphrxmkarwiekhraahxphimanpi 2015 sungepnkartxbsnxngtxkhxxangthimimakxn kimaesdnghlkthanwa withinimiprasiththiphltxkarrksaorkhni aemnganprithsnepnrabbphrxmkarwiekhraahxphimanpi 2012 caphbwa mnthaihxakardikhun NDO Surgical Plicator ichsrangrxyphb plication fold thienuxeyuxikl hurudhlxdxaharswnlang aelaeybmndwywsduplukfngphiess aetbristhidlmelikkickaripemuxklangpi 2008 cungimmikarkhayxupkrnniinpccubn Transoral incisionless fundoplication sungichxupkrnthieriykwa Esophyx xacmiprasiththiphlechingxrrthhiatus hernia epnphawathixwywainthxng odypktikraephaaxahar caeluxnphankabnglmekhaipinchxngklangkhxnghnaxk sungxacmiphlepnorkhkrdihlyxn xakarxun xacrwmklunlabakaelaecbhnaxk phawaaethrksxnrwmthngolhitcangehtukhadthatuehlk isbidekliyw volvulus karxudknlais bowel obstruction xakaraesbrxnklangxkaelakarerxepriyw mikhwamcaephaasungaetmikhwamiwtasahrborkhni khux caephaathi 89 aela 95 iwthi 38 aela 6 tamladb cakngansuksaaebbsngekt xacmiehtucak gastrin radbsungsungmiphlthaiheyuxemuxkthangedinxaharngxkkhun cakngansuksaaebbsngekt xacmiehtucak gastrin radbsungsungmiphlthaiheyuxemuxkthangedinxaharngxkkhun ehtuimchdecn aetxacmakkarsasm PPI aelaemaethbxiltkhxngmninitaelwthaihphumikhumkntxbsnxng caknganthdlxngaebbsum ngansuksaaebbsngekt nganthbthwnepnrabbaelakarwiekhraahxphiman xacmiehtucakkarldkardudsumaekhlesiymcaklaiselkswntnaelalaiselkswnklangtn odyepnphlkhxngphawairkrdeklux achlorhydria nganthbthwnepnrabbaelakarwiekhraahxphimankhxngkarsuksaaebbsngekt ehtuimkahndxyangchdecn xacmacakkardudsumidimdi hruxitesiy cakngansuksaaebbsngekt miehtucakdudsumidnxylngenuxngcakkaryxyoprtinxasysphaphkrdphayinkraephaaidldlng karwiekhraahxphimankhxngngansuksaaebbsngektaelakarthdlxngaebbsumaelamiklumkhwbkhum miehtucakkarxasyemaethbxlisuminrabb cytochrome P450 rwmkn cakkarwiekhraahxphimanngansuksaaebbsngekt miehtucakkarephimechuxinthangedinxaharephraakrdkraephaaldlng cakkarwiekhraahxphimanngansuksaaebbsngekt cak case control studies miehtucakkarsudhruxkarekhluxnyaykhxngechuxorkhcakthangedinxaharswnbnekhainpxd inshrthxemrika dchnimwlkay 35 kg m2 aelamipyhasukhphaphephraaxwn hruxdchnimwlkay 40 44 9 kg m2 cdwaepn morbid obesityxangxingCarroll Will 2016 10 14 Gastroenterology amp Nutrition Prepare for the MRCPCH Key Articles from the Paediatrics amp Child Health journal phasaxngkvs Elsevier Health Sciences p 130 ISBN 9780702070921 Gastro oesophageal reflux disease GORD is defined as gastrooesophageal reflux associated with complications including oesophagitis a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite book title aemaebb Cite book cite book a access date txngkar url help khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2015 12 08 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2015 12 08 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2015 12 08 The National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases 2015 11 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2018 07 23 subkhnemux 2018 07 19 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a trwcsxbkhawnthiin date help bthkhwamnirwmexaenuxkhwamcakaehlngxangxingni sungepnsatharnsmbti Kahrilas PJ Shaheen NJ Vaezi MF American Gastroenterological Association Institute Clinical Practice and Quality Management Committee 2008 10 American Gastroenterological Association Institute technical review on the management of gastroesophageal reflux disease Gastroenterology 135 4 1392 1413 1413 e1 5 doi 10 1053 j gastro 2008 08 044 PMID 18801365 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a trwcsxbkhawnthiin date help Kahan Scott 2008 phasaxngkvs Lippincott Williams amp Wilkins p 124 ISBN 9780781770354 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2017 09 08 Hershcovici T Fass R 2011 04 Pharmacological management of GERD where does it stand now Trends in Pharmacological Sciences 32 4 258 64 doi 10 1016 j tips 2011 02 007 PMID 21429600 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a trwcsxbkhawnthiin date help CS1 maint uses authors parameter orkhkrdihlyxn 2009 Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease 2014 SYMPTOMS AND EPIDEMIOLOGY pp 105 106 xangxing Epidemiology of gastro oesophageal reflux disease a systematic review 2005 doi 10 1136 gut 2004 051821 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a Cite journal txngkar journal help khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2009 10 29 subkhnemux 2009 02 01 Barrett oesophagus 2009 PMID 19269522 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a Cite journal txngkar journal help The diagnosis and management of hiatus hernia 2014 10 23 PMID 25341679 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a Cite journal txngkar journal help Hiatal Hernia PubMed Health subkhnemux 2017 05 06 orkhkrdihlyxn orkhyxdhitkhxngsawxxffis 2007 Arcangelo Virginia Poole Peterson Andrew M 2006 phasaxngkvs Lippincott Williams amp Wilkins p 372 ISBN 9780781757843 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2017 09 08 Granderath Frank Alexander Kamolz Thomas Pointner Rudolph 2006 phasaxngkvs Springer Science amp Business Media p 161 ISBN 9783211323175 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2017 09 08 Zajac P Holbrook A Super ME Vogt M March April 2013 An overview Current clinical guidelines for the evaluation diagnosis treatment and management of dyspepsia Osteopathic Family Physician 5 2 79 85 doi 10 1016 j osfp 2012 10 005 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint date format lingk CS1 maint uses authors parameter Kahrilas PJ 2008 Gastroesophageal Reflux Disease The New England Journal of Medicine 359 16 1700 7 doi 10 1056 NEJMcp0804684 PMC 3058591 PMID 18923172 Wang KK Sampliner RE 2008 03 PDF Am J Gastroenterol 103 3 788 97 doi 10 1111 j 1572 0241 2008 01835 x PMID 18341497 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedim PDF emux 2011 07 20 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a trwcsxbkhawnthiin date help CS1 maint uses authors parameter The New York Times A D A M Inc 2013 08 28 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2017 04 11 subkhnemux 2017 04 10 Gnanapandithan Karthik Joel Popkin 2016 01 11 Gastroesophageal reflux and idiopathic pulmonary fibrosis A long term relationship US National Library of Medicine National Institutes of Health PMC 4821337 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a access date txngkar url help url immihruxwangepla help Hanna BC Wormald PJ 2012 02 Gastroesophageal reflux and chronic rhinosinusitis Current Opinion in Otolaryngology amp Head and Neck Surgery 20 1 15 8 doi 10 1097 moo 0b013e32834e8f11 PMID 22157165 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a trwcsxbkhawnthiin date help familydoctor org khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2008 10 08 2009 06 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2018 12 09 subkhnemux 2018 07 26 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a trwcsxbkhawnthiin date help CS1 maint bot original URL status unknown lingk Ayazi S Crookes PF Peyre CG aelakhna September 2007 Objective documentation of the link between gastroesophageal reflux disease and obesity American Journal of Gastroenterology 102 S138 S9 doi 10 14309 00000434 200709002 00059 Ayazi S Hagen JA Chan LS DeMeester SR Lin MW Ayazi A Leers JM Oezcelik A Banki F Lipham JC DeMeester TR Crookes PF 2009 08 Obesity and Gastroesophageal Reflux Quantifying the Association Between Body Mass Index Esophageal Acid Exposure and Lower Esophageal Sphincter Status in a Large Series of Patients with Reflux Symptoms J Gastrointest Surg 13 8 1440 7 doi 10 1007 s11605 009 0930 7 PMC 2710497 PMID 19475461 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a trwcsxbkhawnthiin date help CS1 maint uses authors parameter Sontag SJ 1999 Defining GERD PDF Yale J Biol Med 72 2 3 69 80 PMC 2579007 PMID 10780568 Piesman M Hwang I Maydonovitch C Wong RK 2007 Nocturnal reflux episodes following the administration of a standardized meal Does timing matter PDF Am J Gastroenterol 102 10 2128 34 doi 10 1111 j 1572 0241 2007 01348 x PMID 17573791 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint uses authors parameter Morse CA Quan SF Mays MZ Green C Stephen G Fass R 2004 Is there a relationship between obstructive sleep apnea and gastroesophageal reflux disease Clin Gastroenterol Hepatol 2 9 761 8 doi 10 1016 S1542 3565 04 00347 7 PMID 15354276 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint uses authors parameter Kasasbeh A Kasasbeh E Krishnaswamy G 2007 Potential mechanisms connecting asthma esophageal reflux and obesity sleep apnea complex a hypothetical review Sleep Med Rev 11 1 47 58 doi 10 1016 j smrv 2006 05 001 PMID 17198758 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint uses authors parameter O Connor HJ 1999 02 Helicobacter pylori and gastro oesophageal reflux disease clinical implications and management Aliment Pharmacol Ther 13 2 117 27 doi 10 1046 j 1365 2036 1999 00460 x PMID 10102940 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a trwcsxbkhawnthiin date help El Omar EM Oien K El Nujumi A Gillen D Wirz A Dahill S Williams C Ardill JE McColl KE 1997 Helicobacter pylori infection and chronic gastric acid hyposecretion Gastroenterology 113 1 15 24 doi 10 1016 S0016 5085 97 70075 1 PMID 9207257 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint uses authors parameter Fallone CA Barkun AN Mayrand S Wakil G Friedman G Szilagyi A Wheeler C Ross D 2004 Aliment Pharmacol Ther 20 7 761 8 doi 10 1111 j 1365 2036 2004 02171 x PMID 15379836 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2020 05 26 subkhnemux 2018 07 26 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint uses authors parameter Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease 2014 Table 2 pp 107 Katz PO Gerson LB Vela MF 2013 03 PDF The American Journal of Gastroenterology 108 3 308 28 doi 10 1038 ajg 2012 444 PMID 23419381 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedim PDF emux 2017 09 08 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a trwcsxbkhawnthiin date help CS1 maint uses authors parameter Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease 2014 Abstract pp 105 Kahrilas PJ Shaheen NJ Vaezi MF Hiltz SW Black E Modlin IM Johnson SP Allen J Brill JV 2008 10 American Gastroenterological Association Medical Position Statement on the management of gastroesophageal reflux disease Gastroenterology 135 4 1383 1391 1391 e1 5 doi 10 1053 j gastro 2008 08 045 PMID 18789939 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a trwcsxbkhawnthiin date help CS1 maint uses authors parameter Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease 2014 Empirical therapy pp 106 107 Numans ME Lau J de Wit NJ Bonis PA 2004 04 Short term treatment with proton pump inhibitors as a test for gastroesophageal reflux disease a meta analysis of diagnostic test characteristics PDF Annals of Internal Medicine 140 7 518 27 doi 10 7326 0003 4819 140 7 200404060 00011 PMID 15068979 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a trwcsxbkhawnthiin date help CS1 maint uses authors parameter BUPA 2006 12 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2007 10 06 subkhnemux 2018 07 26 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a trwcsxbkhawnthiin date help National Digestive Diseases Information Clearinghouse National Institutes of Health 2004 11 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2007 10 24 subkhnemux 2007 10 07 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a trwcsxbkhawnthiin date help American Gastroenterological Association khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2007 09 28 subkhnemux 2007 10 07 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2018 12 09 subkhnemux 2018 07 26 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Citation title aemaebb Citation citation a CS1 maint bot original URL status unknown lingk Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease 2014 Medical therapy p 108 Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease 2014 Upper endoscopy pp 107 108 Sternberg s Diagnostic Pathology 5th ed 2009 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite book title aemaebb Cite book cite book a imruckpharamietxr editors thuklaewn aenana editor help Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease 2014 Ambulatory pH monitoring p 107 Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease 2014 Barium esophagram p 108 Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease 2014 Barium esophagram p 108 Kaltenbach T Crockett S Gerson LB 2006 Are lifestyle measures effective in patients with gastroesophageal reflux disease An evidence based approach Arch Intern Med 166 9 965 71 doi 10 1001 archinte 166 9 965 PMID 16682569 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint uses authors parameter LPR Thai 2017 tarangthi 6 karprbxaharaelaphvtikrrmthimipraoychnsahrbphupwyorkhkrdihlyxnkhunmathikhxaelaklxngesiyng pp 7 Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease 2014 Lifestyle changes p 108 GERD khuxxair 2009 orkhkrdihlyxn Siamhealth net cakaehlngedimemux 2017 09 13 subkhnemux 2009 07 11 Festi D Scaioli E Baldi F Vestito A Pasqui F Di Biase AR Colecchia A 2009 04 14 Body weight lifestyle dietary habits and gastroesophageal reflux disease World Journal of Gastroenterology 15 14 1690 701 doi 10 3748 wjg 15 1690 PMC 2668774 PMID 19360912 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint uses authors parameter Cleveland Clinic Digestive Health Team 2017 06 16 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2017 09 18 subkhnemux 2017 09 18 Tran T Lowry AM El Serag HB 2007 Meta analysis the efficacy of over the counter gastro oesophageal reflux disease drugs Aliment Pharmacol Ther 25 2 143 53 doi 10 1111 j 1365 2036 2006 03135 x PMID 17229239 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint uses authors parameter Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease 2014 Medical therapy p 108 xangxing The effect of baclofen on nocturnal gastroesophageal reflux and measures of sleep quality a randomized cross over trial 2012 PMID 22404184 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a Cite journal txngkar journal help Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease 2014 Medical therapy p 108 xangxing Randomised clinical trial efficacy of the addition of a prokinetic mosapride citrate to omeprazole in the treatment of patients with non erosive reflux disease a double blind placebo controlled study 2011 PMID 21118395 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a Cite journal txngkar journal help Mahadevan U Kane S 2006 07 American gastroenterological association institute medical position statement on the use of gastrointestinal medications in pregnancy Gastroenterology 131 1 278 82 doi 10 1053 j gastro 2006 04 048 PMID 16831610 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a trwcsxbkhawnthiin date help CS1 maint uses authors parameter MayoClinic 2013 03 28 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2011 09 25 Tighe MP Afzal NA Bevan A Beattie RM 2009 Current pharmacological management of gastro esophageal reflux in children an evidence based systematic review Paediatr Drugs 11 3 185 202 doi 10 2165 00148581 200911030 00004 PMID 19445547 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint uses authors parameter van der Pol RJ Smits MJ van Wijk MP Omari TI Tabbers MM Benninga MA 2011 05 Efficacy of proton pump inhibitors in children with gastroesophageal reflux disease a systematic review Pediatrics 127 5 925 35 doi 10 1542 peds 2010 2719 PMID 21464183 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a trwcsxbkhawnthiin date help CS1 maint uses authors parameter Here is a plain English explanation followed by specific studies Consumer Reports Drug Effectiveness Review Project 2010 05 PDF Best Buy Drugs Consumer Reports p 6 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedim PDF emux 2012 12 02 subkhnemux 2013 03 27 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Citation title aemaebb Citation citation a trwcsxbkhawnthiin date help Gupta R Marshall J Munoz JC Kottoor R Jamal MM Vega KJ 2013 Decreased acid suppression therapy overuse after education and medication reconciliation International Journal of Clinical Practice 67 1 60 65 doi 10 1111 ijcp 12046 PMID 23241049 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint uses authors parameter Nardino RJ Vender RJ Herbert PN 2000 Overuse of acid suppressive therapy in hospitalized patients1 The American Journal of Gastroenterology 95 11 3118 3122 doi 10 1111 j 1572 0241 2000 03259 x PMID 11095327 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint uses authors parameter Heidelbaugh JJ Kim AH Chang R Walker PC 2012 Overutilization of proton pump inhibitors What the clinician needs to know Therapeutic Advances in Gastroenterology 5 4 219 232 doi 10 1177 1756283X12437358 PMC 3388523 PMID 22778788 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint uses authors parameter Full Article PDF 393 KB Forgacs I Loganayagam A 2008 Overprescribing proton pump inhibitors PDF BMJ 336 7634 2 3 doi 10 1136 bmj 39406 449456 BE PMC 2174763 PMID 18174564 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint uses authors parameter McKay AB Wall D 2008 Overprescribing PPIs An old problem PDF BMJ 336 7636 109 doi 10 1136 bmj 39458 462338 3A PMC 2206261 PMID 18202040 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint uses authors parameter Consumer Reports Drug Effectiveness Review Project 2010 05 PDF Best Buy Drugs Consumer Reports p 6 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedim PDF emux 2012 12 02 subkhnemux 2013 03 27 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Citation title aemaebb Citation citation a trwcsxbkhawnthiin date help Overprescribing proton pump inhibitors 2008 Overutilization of proton pump inhibitors What the clinician needs to know 2012 Corleto V D 2014 02 Proton pump inhibitor therapy and potential long term harm Curr Opin Endocrinol Diabetes Obes 21 1 3 8 doi 10 1097 med 0000000000000031 PMID 24310148 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a trwcsxbkhawnthiin date help Eusebi LH Rabitti S Artesiani ML Gelli D Montagnani M Zagari RM Bazzoli F 2017 07 Proton pump inhibitors Risks of long term use Journal of Gastroenterology and Hepatology 32 7 1295 1302 doi 10 1111 jgh 13737 PMID 28092694 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a trwcsxbkhawnthiin date help Garg SK Gurusamy KS 2015 11 05 Laparoscopic fundoplication surgery versus medical management for gastro oesophageal reflux disease GORD in adults The Cochrane Database of Systematic Reviews 11 CD003243 doi 10 1002 14651858 CD003243 pub3 PMID 26544951 Increases in morbid obesity in the USA 2000 2005 2005 PMID 17399752 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a Cite journal txngkar journal help Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease 2014 Surgical therapy pp 109 110 Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease 2014 Surgical therapy pp 109 110 xangxing Long term outcomes after laparoscopic antireflux surgery 2008 PMID 17970835 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a Cite journal txngkar journal help Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease 2014 Surgical therapy pp 109 110 xangxing phlthiidrayasnaelaklang Fundoplication versus medical management of gastroesoph ageal reflux disease systematic review and meta analysis 2014 PMID 24018760 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a Cite journal txngkar journal help phlrayayaw Long term outcome of medical and surgical therapies for gastroesophageal reflux disease follow up of a randomized controlled trial 2001 PMID 11343480 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a Cite journal txngkar journal help Abbas AE Deschamps C Cassivi SD Allen MS Nichols FC Miller DL Pairolero PC 2004 The role of laparoscopic fundoplication in Barrett s esophagus Annals of Thoracic Surgery 77 2 393 6 doi 10 1016 S0003 4975 03 01352 3 PMID 14759403 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint uses authors parameter Kurian AA Bhayani N Sharata A Reavis K Dunst CM Swanstrom LL 2013 01 Partial anterior vs partial posterior fundoplication following transabdominal esophagocardiomyotomy for achalasia of the esophagus meta regression of objective postoperative gastroesophageal reflux and dysphagia JAMA Surg 148 1 85 90 doi 10 1001 jamasurgery 2013 409 PMID 23324843 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a trwcsxbkhawnthiin date help CS1 maint uses authors parameter Ramos RF Lustosa SA Almeida CA Silva CP Matos D October December 2011 Surgical treatment of gastroesophageal reflux disease total or partial fundoplication systematic review and meta analysis Arquivos de gastroenterologia 48 4 252 60 doi 10 1590 s0004 28032011000400007 PMID 22147130 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a CS1 maint date format lingk U S Food and Drug Administration U S Department of Health and Human Services 2014 01 17 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2013 11 10 Jain D Singhal S 2016 03 Transoral Incisionless Fundoplication for Refractory Gastroesophageal Reflux Disease Where Do We Stand Clinical endoscopy 49 2 147 56 doi 10 5946 ce 2015 044 PMC 4821522 PMID 26878326 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a trwcsxbkhawnthiin date help Hopkins J Switzer NJ Karmali S 2015 08 25 Update on novel endoscopic therapies to treat gastroesophageal reflux disease A review World journal of gastrointestinal endoscopy 7 11 1039 44 doi 10 4253 wjge v7 i11 1039 PMC 4549661 PMID 26322157 Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease 2014 Surgical therapy pp 109 110 xangxing Transoral incisionless fundoplication for treatment of gastroesophageal reflux disease in clinical practice 2012 PMID 22648098 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a Cite journal txngkar journal help Fedorak RN van Zanten S Veldhuyzen Bridges R 2010 07 Canadian Digestive Health Foundation Public Impact Series Gastroesophageal reflux disease in Canada Incidence prevalence and direct and indirect economic impact Canadian Journal of Gastroenterology 24 7 431 4 PMC 2918483 PMID 20652158 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a trwcsxbkhawnthiin date help imruckpharamietxr laysummary thuklaewn help CS1 maint uses authors parameter Jafri SM Arora G Triadafilopoulos G 2009 07 What is left of the endoscopic antireflux devices Current Opinion in Gastroenterology 25 4 352 7 doi 10 1097 MOG 0b013e32832ad8b4 PMID 19342950 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a trwcsxbkhawnthiin date help CS1 maint uses authors parameter Lipka S Kumar A Richter JE 2015 06 No evidence for efficacy of radiofrequency ablation for treatment of gastroesophageal reflux disease a systematic review and meta analysis Clinical Gastroenterology and Hepatology 13 6 1058 67 e1 doi 10 1016 j cgh 2014 10 013 PMID 25459556 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a trwcsxbkhawnthiin date help Perry KA Banerjee A Melvin WS 2012 08 Radiofrequency energy delivery to the lower esophageal sphincter reduces esophageal acid exposure and improves GERD symptoms a systematic review and meta analysis Surgical laparoscopy endoscopy amp percutaneous techniques 22 4 283 8 doi 10 1097 sle 0b013e3182582e92 PMID 22874675 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a trwcsxbkhawnthiin date help Testoni PA Vailati C 2012 08 Transoral incisionless fundoplication with EsophyX for treatment of gastro oesphageal reflux disease Digestive and Liver Disease 44 8 631 5 doi 10 1016 j dld 2012 03 019 PMID 22622203 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a trwcsxbkhawnthiin date help CS1 maint uses authors parameter xangxingxun Diagnosis and treatment of gastroesophageal reflux disease 2014 doi 10 4292 wjgpt v5 i3 105 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a Cite journal txngkar journal help nph suriya kirtichnannth sunyorkhrabbthangedinxaharaelatb orngphyabalkrungethph phs phy wrangkhna kirtichnannth hnwyorkhrabbhayicaelaphawawikvtrabbhayic phakhwichaxayursastr khnaaephthysastr mhawithyalysngkhlankhrinthr 2017 04 PDF wngkaraephthy khlngkhxmulekaekbcakaehlngedim PDF emux 2018 07 30 subkhnemux 2018 07 30 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a trwcsxbkhawnthiin date help CS1 maint uses authors parameter orkhkrdihlyxn rs nph xudm khchinthr hwhnaphakhwichaxayursastr khnaaephthysastrsirirachphyabal phs nph smchay lilakuslwngs xayuraephthydanrabbthangedinxahar khnaaephthysastrsirirachphyabal snuk Woman 2009 cakaehlngedimemux 2009 04 27 subkhnemux 2009 07 11 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite web title aemaebb Cite web cite web a CS1 maint others lingk phs nph smchay lilakuslwngs xayuraephthydanrabbthangedinxahar khnaaephthysastrsirirachphyabal ihsmphasn khxlmn saytrngsukhphaphkbsirirach phucdkarxxniln 2007 11 01 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 2016 03 05 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite news title aemaebb Cite news cite news a CS1 maint others lingk aephthyetuxnhnum sawwythangan rawngorkhkrdihlyxnorkhyxdhitkhxngsawxxffis rs phy worcha mhachy hwhnahnwythangedinxahar orngphyabalculalngkrn ihsmphasn 2007 05 28 cakaehlngedimemux 2010 04 22 subkhnemux 2009 07 11 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite news title aemaebb Cite news cite news a CS1 maint others lingk www gerdthai com imdaeninnganaelw khxmulcakxinethxrentxarikhf orkhkrdihlyxn Gastroesophageal Reflux Disease GERD GERD khuxxair gerdthai com cakaehlngedimemux 2009 04 12 subkhnemux 2021 08 12 phawakarihlyxnthikraephaaxahar Gastroesophageal Reflux GER gerdthai com cakaehlngedimemux 2009 03 28 subkhnemux 2021 08 12 aehlngkhxmulxunkarcaaenkorkhDICD 10 K21 kICD 530 81 109350MeSH D005764 23596thrphyakrphaynxk 000265 med 857 ped 1177 radio 300orkhkrdihlyxn thiewbist Curlie Kahrilas PJ Shaheen NJ Vaezi MF Hiltz SW Black E Modlin IM Johnson SP Allen J Brill JV 2008 10 American Gastroenterological Association Medical Position Statement on the management of gastroesophageal reflux disease Gastroenterology 135 4 1383 91 1391 e1 5 doi 10 1053 j gastro 2008 08 045 PMID 18789939 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a trwcsxbkhawnthiin date help imruckpharamietxr laysummary thuklaewn help CS1 maint uses authors parameter Lichtenstein DR Cash BD Davila R Baron TH Adler DG Anderson MA Dominitz JA Gan SI Harrison ME Ikenberry SO Qureshi WA Rajan E Shen B Zuckerman MJ Fanelli RD VanGuilder T 2007 08 Role of endoscopy in the management of GERD Gastrointestinal Endoscopy 66 2 219 24 doi 10 1016 j gie 2007 05 027 PMID 17643692 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a trwcsxbkhawnthiin date help imruckpharamietxr laysummary thuklaewn help CS1 maint uses authors parameter Hirano I Richter JE 2007 03 PDF Am J Gastroenterol 102 3 668 85 doi 10 1111 j 1572 0241 2006 00936 x PMID 17335450 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedim PDF emux 2011 09 27 subkhnemux 2018 07 26 a href wiki E0 B9 81 E0 B8 A1 E0 B9 88 E0 B9 81 E0 B8 9A E0 B8 9A Cite journal title aemaebb Cite journal cite journal a trwcsxbkhawnthiin date help CS1 maint uses authors parameter