ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ อาการอาจมีได้ตั้งแต่เบาถึงรุนแรงอาการที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้สูง คัดจมูก เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ไอ จามและรู้สึกเหนื่อย ตรงแบบอาการเหล่านี้เริ่มสองวันหลังสัมผัสไวรัสและส่วนใหญ่กินเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ทว่า อาการไออาจกินเวลานานเกินสองสัปดาห์ได้ ในเด็ก อาจมีอาการท้องร่วงและอาเจียนด้วย แต่พบน้อยในผู้ใหญ่ อาการท้องร่วงและอาเจียนจะพบได้ไม่บ่อยเท่าที่พบในโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ ซึ่งบางครั้งถูกเรียกอย่างผิด ๆ ว่า "หวัดลงกระเพาะ" หรือ "หวัด 24 ชั่วโมง" แต่ที่จริงแล้วเป็นคนละโรคกันกับไข้หวัดใหญ่ ภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่อาจได้แก่ ปอดบวมไวรัส, ปอดบวมแบคทีเรียทุติยภูมิ, โพรงอากาศติดเชื้อ, และการทรุดของปัญหาสุขภาพเดิมอย่างโรคหืดหรือภาวะหัวใจวาย
ไข้หวัดใหญ่ | |
---|---|
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ขยายประมาณ 100,000 เท่า | |
สาขาวิชา | โรคติดเชื้อ |
อาการ | ไข้, น้ำมูกไหล, เจ็บคอ, ปวดกล้ามเนื้อ, ปวดศีรษะ, ไอ, จาม, รู้สึกล้า |
การตั้งต้น | 1 ถึง 4 วันหลังได้รับเชื้อ |
ระยะดำเนินโรค | ~1 สัปดาห์ |
สาเหตุ | ไวรัสไข้หวัดใหญ่ |
การป้องกัน | การล้างมือ, หน้ากากอนามัย, วัคซีนไข้หวัดใหญ่ |
ยา | ยาต้านไวรัสอย่างโอเซลทามิเวียร์ |
ความชุก | 3–5 ล้านครั้งต่อปี |
การเสียชีวิต | จากการหายใจอาจสูงถึง 650,000 คนต่อปี |
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีผลต่อมนุษย์มีสามชนิด ได้แก่ ชนิดเอ ชนิดบี และชนิดซี นอกจากนี้ยังมีไข้หวัดใหญ่ชนิดดี ซึ่งยังไม่ทราบว่าทำให้เกิดติดเชื้อในมนุษย์หรือไม่ แต่เชื่อกันว่ามีโอกาสเป็นไปได้ ปกติ ไวรัสมีการแพร่ทางอากาศระหว่างการไอหรือจาม เชื่อกันว่าส่วนใหญ่เกิดในระยะห่างค่อนข้างใกล้ นอกจากนี้ยังสามารถแพร่ได้โดยการสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อนไวรัสแล้วนำมาสัมผัสปากหรือตา บุคคลอาจติดต่อโรคแก่ผู้อื่นได้ทั้งก่อนและระหว่างที่แสดงอาการ สามารถยืนยันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้โดยการทดสอบลำคอ เสมหะ หรือจมูกเพื่อหาเชื้อไวรัส มีการทดสอบให้ผลเร็วหลายชนิด แต่บุคคลยังอาจมีโรคอยู่ได้แม้ผลออกมาเป็นลบ ปฏิกิริยาลูกโซ่พอลีเมอเรสชนิดตรวจจับอาร์เอ็นเอของไวรัสมีความแม่นยำกว่า
การล้างมือบ่อย ๆ ลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อไวรัส การสวมผ้าปิดจมูกก็มีประโยชน์องค์การอนามัยโลกแนะนำการได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปีสำหรับผู้มีความเสี่ยงสูง ปกติวัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันไข้หวัดใหญ่สามหรือสี่ชนิด ปกติผู้ได้รับวัคซีนไม่ค่อยมีผลเสีย วัคซีนเพื่อผลิตขึ้นสำหรับหนึ่งปีอาจไม่มีประโยชน์ในปีถัดไป เพราะไวรัสวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วยาต้านไวรัสอย่างตัวยับยั้งนิวรามินิเดส โอเซลทามิเวียร์ เป็นต้น มีการใช้รักษาไข้หวัดใหญ่ ดูแล้วยาต้านไวรัสในผู้สุขภาพดีมีประโยชน์ไม่มากกว่าความเสี่ยง ไม่พบประโยชน์ในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอื่น
ไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่วโลกในการระบาดทั่วประจำปี ส่งผลให้มีผู้ป่วยรุนแรง 3 ถึง 5 ล้านคนและมีผู้เสียชีวิตประมาณ 290,000 ถึง 650,000 คน เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนประมาณ 20% และผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับวัคซีน 10% มีการติดเชื้อทุกปี ในซีกโลกเหนือและใต้ของโลก เกิดการระบาดส่วนใหญ่ในฤดูหนาว ส่วนรอบเส้นศูนย์สูตรอาจเกิดการระบาดได้ตลอดปี ส่วนใหญ่ผู้เสียชีวิตได้แก่ เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอื่นการระบาดใหญ่ที่เรียกโรคระบาดทั่วนั้นพบน้อยกว่า ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เกิดการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่สามครั้ง ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่สเปนในปี 1918 (ผู้เสียชีวิต ~50 ล้านคน), ไข้หวัดใหญ่เอเชียในปี 1957 (ผู้เสียชีวิต 2 ล้านคน), และไข้หวัดใหญ่ฮ่องกงในปี 1968 (ผู้เสียชีวิต 1 ล้านคน) องค์การอนามัยโลกประกาศการระบาดของไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ/เอช1เอ็น1 สายพันธุ์ใหม่เป็นโรคระบาดทั่วในเดือนมิถุนายน 2009 ไข้หวัดใหญ่ยังอาจติดในสัตว์อื่น ได้แก่ หมู ม้าและนกได้
อาการและอาการแสดง
อาการ: | ความไว | ความจำเพาะ |
---|---|---|
ไข้ | 68–86% | 25–73% |
ไอ | 84–98% | 7–29% |
คัดจมูก | 68–91% | 19–41% |
* สิ่งตรวจพบทั้งสามอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไข้ มีความไวน้อยกว่าในผู้อายุ 60 ปีขึ้นไป |
ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ประมาณ 33% ไม่มีอาการ
อาการของไข้หวัดใหญ่สามารถเริ่มได้เฉียบพลันหนึ่งถึงสองวันหลังติดเชื้อ ปกติอาการแรก ได้แก่ หนาวสั่นและปวดตามตัว แต่ไข้ก็พบได้บ่อยในช่วงแรก โดยมีอุณหภูมิกายในช่วงตั้งแต่ 38 to 39 °ซ หลายคนป่วยจนนอนซมหลายวัน โดยมีอาการเจ็บปวดทั่วกาย ซึ่งปวดที่หลังและขามากกว่าที่อื่น
อาการของไข้หวัดใหญ่
- ไข้หนาวสั่น
- ไอ
- คัดจมูก
- น้ำมูกไหล
- จาม
- เจ็บคอ
- เสียงแหบ
- ปวดหู
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ล้า
- ปวดศีรษะ
- คันตา, น้ำตาไหล
- ตา ผิวหนัง (โดยเฉพาะใบหน้า) ปาก คอและจมูกแดง
- ผื่นจุดเลือดออก
- ในเด็ก อาการทางระบบย่อยอาหาร ได้แก่ อาเจียน, ท้องร่วง, และปวดท้อง (อาจรุนแรงในเด็กที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ชนิดบี)
การแยกระหว่างโรคหวัดและไข้หวัดใหญ่ในระยะแรกของการติดเชื้อทั้งสองทำได้ยาก อาการของไข้หวัดใหญ่เป็นอาการของโรคหวัด รวมกับปอดบวม ปวดตามตัว ปวดศีรษะ และล้า ปกติท้องร่วงไม่ใช่อาการของไข้หวัดใหญ่ในผู้ใหญ่ แต่พบในผู้ป่วย "ไข้หวัดนก" เอช5เอ็น1 ได้บ้าง และอาจเป็นอาการในเด็ก อาการซึ่งพบในไข้หวัดใหญ่ที่น่าเชื่อถือมากที่สุดแสดงในตารางด้านขวามือ
อาการไข้และไอร่วมกันพบว่าเป็นตัวพยากรณ์ที่ดีที่สุด ความแม่นยำของการวินิจฉัยเพิ่มขึ้นเมื่ออุณหภูมิกายเกิน 38°ซ การศึกษาวิเคราะห์การตัดสินใจสองการศึกษา เสนอว่าระหว่างการระบาดท้องถิ่น ความชุกของโรคจะมีเกิน 70% แม้ไม่มีการระบาดในท้องถิ่น การวินิจฉัยอาจสมเหตุผลในผู้สูงอายุระหว่างฤดูไข้หวัดใหญ่ เพราะมีความชุกเกิน 15%
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) มีบทสรุปการทดสอบทางห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยอยู่ ข้อมูลของ CDC ระบุว่า การทดสอบวินิจฉัยอย่างรวดเร็วมีความไว 50–75% และความจำเพาะ 90–95% เมื่อเทียบกับการเพาะเชื้อไวรัส
บางทีไข้หวัดใหญ่สามารถก่อให้เกิดการเจ็บป่วยรุนแรงรวมทั้งปอดบวมไวรัสปฐมภูมิหรือปอดบวมแบคทีเรียทุติยภูมิได้ อาการเด่นชัดได้แก่ หายใจลำบาก นอกจากนี้ หากเด็ก (และผู้ใหญ่บางคน) ดูเหมือนดีขึ้นแล้วกลับมามีไข้สูงใหม่ เป็นสัญญาณอันตรายเพราะการเกิดโรคกลับนี้อาจเป็นปอดบวมแบคทีเรีย
ไข้หวัดใหญ่อาจทำให้เกิดอาการไม่ปกติได้ อย่างสับสนในผู้สูงอายุและกลุ่มอาการคล้ายภาวะพิษเหตุติดเชื้อในเยาวชน สมองอักเสบเนื่องจากไข้หวัดใหญ่หาได้ยากแต่ใช่ว่าไม่เคยมีรายงาน
อาการแสดงเตือนฉุกเฉิน
- หายใจลำบาก
- เจ็บหน้าอก
- เวียนศีรษะ
- สับสน
- อาเจียนรุนแรง
- อาการไข้หวัดใหญ่ที่ดีขึ้นแล้วแต่โรคกลับพร้อมมีไข้สูงและไอรุนแรง (อาจเป็นปอดบวมแบคทีเรีย)
- เขียวคล้ำ
- ไข้สูงออกผื่น
- ดื่มของเหลวไม่ได้
อาการแสดงของภาวะขาดน้ำ
- (ในทารก) ผ้าอ้อมเปียกน้อยกว่าปกติมาก
- กลั้นอาเจียนไม่อยู่
- (ในทารก) ร้องไห้ไม่มีน้ำตาหยด
วิทยาไวรัส
ชนิดของไวรัส
ในการจำแนกไวรัส ไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นอาร์เอ็นเอไวรัส ซึ่งประกอบด้วยสี่ในเจ็ดสกุลของวงศ์ Orthomyxoviridae
- อินฟลูเอ็นซาไวรัส เอ
- อินฟลูเอ็นซาไวรัส บี
- อินฟลูเอ็นซาไวรัส ซี
- อินฟลูเอ็นซาไวรัส ดี
ไวรัสเหล่านี้เกี่ยวข้องห่าง ๆ กับฮิวแมนพาราอินฟลูเอ็นซาไวรัส ซึ่งเป็นอาร์เอ็นเอไวรัสในวงศ์ paramyxovirus ซึ่งเป็นสาเหตุทั่วไปของการติดเชื้อทางเดินหายใจในเด็ก อย่างกล่องเสียงอักเสบอุดกั้น แต่ยังสามารถก่อโรคที่คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ในผู้ใหญ่ได้
ไวรัสไข้หวัดใหญ่วงศ์ที่สี่มีการระบุในปี 2016 คือ ไข้หวัดใหญ่ ดี สปีชีส์ชนิดสำหรับวงศ์นี้ได้แก่ไวรัสไข้หวัดใหญ่ดี ซึ่งมีการแยกครั้งแรกในปี 2011
อินฟลูเอ็นซาไวรัส เอ
สกุลนี้มีหนึ่งชนิด คือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่เอ นกน้ำตามธรรมชาติเป็นตัวถูกเบียนตามธรรมชาติสำหรับไข้หวัดใหญ่เอหลายสายพันธุ์ บางโอกาส มีการแพร่เชื้อไวรัสสู่สัตว์ชนิดอื่นแล้วอาจทำให้เกิดการระบาดที่สูญเสียใหญ่หลวงในสัตว์ปีกเลี้ยง หรือทำให้เกิดการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ ไวรัสชนิดเอเป็นเชื้อก่อโรคในมนุษย์ที่มีศักยภาพก่อโรคสูงสุด และก่อให้เกิดโรครุนแรงที่สุด ไวรัสไข้หวัดใหญ่เอสามารถแบ่งย่อยเป็นซีไรไทป์โดยยึดการตอบสนองของแอนติบอดีต่อไวรัสเหล่านี้ ซีไรไทป์ที่มีการยืนยันในมนุษย์ เรียงลำดับตามจำนวนผู้เสียชีวิตจากการระบาดทั่วที่ทราบ ได้แก่
- เอช1เอ็น1 ซึ่งก่อไข้หวัดใหญ่สเปนในปี 1918 และไข้หวัดใหญ่หมูในปี 2009
- เอช2เอ็น2 ซึ่งก่อไข้หวัดใหญ่เอเชียในปี 1957
- เอช3เอ็น2 ซึ่งก่อไข้หวัดใหญ่ฮ่องกงในปี 1968
- เอช5เอ็น1 ซึ่งก่อไข้หวัดใหญ่นกในปี 2004
- เอช7เอ็น7 ซึ่งมีศักยภาพรับจากสัตว์ผิดธรรมดา
- เอช1เอ็น2 พบประจำในมนุษย์ หมูและนก
- เอช9เอ็น2
- เอช7เอ็น2
- เอช7เอ็น3
- เอช10เอ็น7
- ในปี 2018 จัดว่ามีศักยภาพเกิดการระบาดทั่วสูงสุดในหมู่ชนิดย่อยเอ
- เอช6เอ็น1 ซึ่งติดเชื้อในมนุษย์คนเดียวเท่านั้น และรักษาหาย
อินฟลูเอ็นซาไวรัส บี
สกุลนี้มีชนิดเดียว คือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่บี ไข้หวัดใหญ่บีติดเชื้อเฉพาะในมนุษย์เกือบทั้งหมด และพบน้อยกว่าไข้หวัดใหญ่เอ สัตว์อื่นที่ทราบว่าไวต่อการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่บี ได้แก่ แมวน้ำ และ ไข้หวัดใหญ่ชนิดนี้กลายพันธุ์ช้ากว่าชนิดเอ 2–3 เท่า ฉะนั้นจึงมีความหลากหลายทางพันธุกรรมน้อยกว่ และซีโรไทป์เดียวเท่านั้น ผลจากการขาดความหลากหลายของแอนติเจนนี้ ทำให้ปกติมีการได้รับภูมิคุ้มกันต่อไข้หวัดใหญ่บีระดับหนึ่งตั้งแต่อายุยังน้อย อย่างไรก็ดี ไข้หวัดใหญ่บียังกลายพันธุ์มากพอทำให้ภูมิคุ้มกันที่อยู่นานยังเกิดขึ้นไม่ได้ อัตราการเปลี่ยนแอนติเจนที่ดลลงนี้ กอปรกับตัวถูกเบียนที่จำกัดกว่า (ซึ่งขัดขวางการเลื่อนแอนติเจนข้ามชนิด) ทำให้ไม่เกิดการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่บี
อินฟลูเอ็นซาไวรัส ซี
สกุลนี้มีชนิดเดียว คือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ซี ซึ่งติดเชื้อมนุษย์ หมาและหมู บางครั้งก่อการเจ็บป่วยรุนแรงและการระบาดท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ไข้หวัดใหญ่ซีพบน้อยกว่าชนิดอื่นและปกติก่อโรคไม่รุนแรงในเด็กเท่านั้น
อินฟลูเอ็นซาไวรัส ดี
สกุลนี้มีชนิดเดียว คือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ดี ซึ่งติดเชื้อหมูและปศุสัตว์ ไวรัสมีศักยภาพติดเชื้อในมนุษย์ แม้ยังไม่พบผู้ป่วยในขณะนี้ ไม่พบว่าไวรัสนี้เป็นตัวการของการระบาดใหญ่ครั้งใด
โครงสร้าง คุณสมบัติและการตั้งชื่อชนิดย่อย
อินฟลูเอ็นซาไวรัสเอ บี ซีและดีมีโครงสร้างโดยรวมคล้ายกันมาก อนุภาคไวรัส (หรือเรียก วิริออน) มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 80–120 นาโนเมตรซึ่งวิริออนเล็กสุดมีรูปทรงเป็นวงรี ความยาวของแต่ละอนุภาคแปรผันกันมาก เนื่องจากไข้หวัดใหญ่มีหลายรูป และสามารถใหญ่กว่านี้ได้หลายสิบไมโครเมตร ทำให้เกิดวิริออนเส้นใย อย่างไรก็ตาม แม้มีรูปทรงหลากหลาย แต่อนุภาคไวรัสของไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั้งหมดมีไกลโคโปรตีนสองชนิดหลัก ทั้งหมดนี้ประกอบด้วยเปลือกหุ้มไวรัส (envelope) ประกอบด้วยไกลโคโปรตีนสองชนิดหลัก ห่อรอบแก่นกลาง แก่นกลางบรรจุจีโนม อาร์เอ็นเอของไวรัส และโปรตีนของไวรัสชนิดอื่นที่ห่อหุ้มและปกป้องอาร์เอ็นเอนี้ อาร์เอ็นเอมีแนวโน้มเป็นเกลียวเดี่ยว แต่ในกรณีพิเศษจะเพิ่มเป็นเกลียวคู่ จีโนมของอินฟลูเอ็นซาไวรัสไม่ใช้กรดนิวคลินิกชิ้นเดียว แต่มีอาร์เอ็นเอชนิดขั้วลบเป็นท่อนเจ็ดหรือแปดชิ้น อาร์เอ็นเอแต่ละชิ้นที่บรรจุยีนหนึ่งหรือสองยีน ซึ่งมีรหัสสำหรับผลิตภัณฑ์ยีน (โปรตีน) ตัวอย่างเช่น จีโนมไข้หวัดใหญ่เอมี 11 ยีนบนอาร์เอ็นเอ 8 ชิ้น, ซึ่งเข้ารหัสโปรตีน 11 ชนิด ได้แก่ ฮีแม็กกลูตินิน (HA), นิวรามินิเดส (NA), นิวคลีโอโปรตีน (NP), เอ็ม1 (โปรตีนเมทริกซ์ 1), เอ็ม2, เอ็นเอส1 (โปรตีน 1 ที่ไม่ใช่โครงสร้าง), เอ็นเอส2 (อีกชื่อหนึ่งคือ โปรตีนส่งออกนิวเคลียส (nuclear export protein)), พีเอ, พีบี1 (โพลีเมอเรสพื้นฐาน 1), พีบี1-เอฟ2 และพีบี2
ฮีแม็กกลูตินิน (hemagglutinin, HA) และนิวรามินิเดส (neuraminidase, NA) เป็นไกลโคโปรตีนขนาดใหญ่สองชนิดที่อยู่นอกอนุภาคไวรัส HA เป็นที่อำนวยการยึดของไวรัสกับเซลล์เป้าหมายและการส่งจีโนมไวรัสเข้าสู่เซลล์เป้าหมาย ขณะที่ NA เกี่ยวข้องกับการปล่อยไวรัสลูกหลานจากเซลล์ที่ติดเชื้อ โดยการตัดน้ำตาลที่ยึดอนุภาคไวรัสที่เจริญเต็มที่ ฉะนั้นโปรตีนสองชนิดนี้จึงเป็นเป้าหมายสำหรับยาต้านไวรัส ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นแอนติเจนซึ่งสามารถผลิตแอนติบอดีได้ ไวรัสไข้หวัดใหญ่เอมีการจำแนกเป็นชนิดย่อยตามการตอบสนองของแอนติบอดีต่อ HA และ NA ซึ่ง HA และ NA ต่างชนิดก่อเป็นรากฐานเลข H และ N ที่ต่างกัน ตัวอย่างเช่น เอช5เอ็น1 มีชนิดย่อยเอช 18 ชนิด และเอ็น 11 ชนิดเท่าที่ทราบ แต่มีเฉพาะเอช 1, 2 และ 3 และเอ็น 1 และ 2 เท่านั้นที่พบในมนุษย์โดยทั่วไป
การถ่ายแบบ
ไวรัสสามารถถ่ายแบบเฉพาะในเซลล์มีชีวิตเท่านั้น การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่และการถ่ายแบบเป็นกระบวนการหลายขั้นตอน ขั้นแรก ไวรัสต้องผูกยึดกับและเข้าสู่เซลล์ เมื่อส่งจีโนมไปยังจุดที่มันสามารถผลิตสำเนาใหม่ของโปรตีนไวรัสและอาร์เอ็นเอ การประกอบองค์ประกอบเหล่านี้เป็นอนุภาคไวรัสใหม่ และขั้นสุดท้าย ออกจากเซลล์ตัวถูกเบียน
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ยึดผ่านฮีแม็กกลูตินินเข้าสู่น้ำตาลกรดไซอะลิกบนผิวเซลล์เยื่อบุ ตรงแบบในจมูก ลำคอและปอดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และลำไส้ของนก (ขั้นที่ 1 ในภาพการติดเชื้อ) หลังฮีแม็กกลูตินินถูกโปรตีเอสตัด เซลล์นำไวรัสเข้ามาโดยวิธีเอ็นโดไซโทซิส
รายละเอียดในเซลล์กำลังหาคำอธิบายอยู่ ทราบกันว่าวิริออนเบนเข้าสู่ศูนย์กลางการจัดระเบียบไมโครทิวบูล มีอันตรกิริยากับเอ็นโดโซมที่เป็นกรด และสุดท้ายเข้าสู่เอ็นโดดซมเป้าหมายเพื่อการปลดปล่อยจีโนม
เมื่ออยู่ในเซลล์ ภาวะเป็นกรดในเอนโดโซมทำให้เกิดเหตุการณ์สองอย่าง หนึ่ง ส่วนของโปรตีนฮีแม็กกลูตินินผสมกับเปลือกหุ้มไวรัสกับเยื่อของแวคิวโอล แล้วช่องไอออนเอ็ม2 ทำให้โปรตอนเคลื่อนผ่านเปลือกหุ้มไวรัสแล้วทำให้แก่นของไวรัสเป็นกรด ซึ่งทำให้แก่นแยกส่วนและปล่อยอาร์เอ็นเอของไวรัสและโปรตีนแก่น โมเลกุลอาร์เอ็นเอของไวรัส โปรตีนส่วนประกอบ แล้วจะมีการปล่อยอาร์เอ็นเอดีเพนเดนต์อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรส (RNA-dependent RNA polymerase) เข้าสู่ไซโตพลาสซึม (ระยะที่ 2) ยาอะแมนตาดีนขัดขวางช่องไอออนเอ็ม2 ซึ่งป้องกันการติดเชื้อ
โปรตีนแก่นและอาร์เอ็นเอของไวรัสก่อคอมเพล็กซ์ซึ่งมีการขนส่งเข้าสู่นิวเคลียสของเซลล์ โดยอาร์เอ็นเอดีเพนเดนต์อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรสเริ่มถอดรหัสอาร์เอ็นเอคู่สมชนิดขั้วบวก (ระยะที่ 3เอ และ 3บี) อาร์เอ็นเอของไวรัสมีการส่งออกสู่ไซโทพลาสซึมและแปลรหัส (ระยะที่ 4) หรือยังอยู่ในนิวเคลียสต่อไป โปรตีนของไวรัสที่สังเคราะห์ใหม่มีการหลั่งผ่านกอลไจแอปพาราตัสสู่ผิวเซลล์ (ในกรณีของนิวรามินิเดสและฮีแม็กกลูตินิน คือ ระยะที่ 5บี) หรือขนส่งกลับเข้าสู่นิวเคลียสเพื่อยึดอาร์เอ็นเอของไวรัสและก่ออนุภาคจีโนมของไวรัสใหม่ รวมทั้งสลายอาร์เอ็นเอนำรหัสของเซลล์ และใช้นิวคลีโอไทด์ที่ปล่อยออกมาเพื่อการสังเคราะห์อาร์เอ็นเอของไวรัส และยังยับยั้งการแปลรหัสอาร์เอ็นเอนำสารของเซลล์ตัวถูกเบียน
อาร์เอ็นเอของไวรัสชนิดขั้วลบซึ่งก่อเป็นจีโนมของไวรัสในอนาคต อาร์เอ็นเอดีเพนเดนต์อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรส และโปรตีนอื่นของไวรัสประกอบเข้าเป็นวิริออน โมเลกุลฮีแม็กกลูตินินและนิวรามินิเดสกระจุกเข้าสู่รอยโป่งในเยื่อหุ้มเซลล์ อาร์เอ็นเอของไวรัสและโปรตีนแก่นไวรัสออกจากนิวเคลียสแล้วเข้าสู่รอยโป่งของเยื่อนี้ (ระยะที่ 6) ไวรัสที่เจริญเต็มที่ผุดออกจากเซลล์ในเยื่อฟอสโฟลิพิดทรงกลมของตัวถูกเบียน ทำให้ได้ฮีแม็กกลูตินินและนิวรามินิเดสในโค้ดเยื่อนี้ (ระยะที่ 7) เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ ไวรัสยึดกับเซลล์ผ่านฮีแม็กกลูตินิน ไวรัสที่เจริญเต็มที่แล้วแยกออกเมื่อนิวรามินิเดสตัดส่วนตกค้างกรดไซอะลิกออกจากเซลล์ตัวถูกเบียน หลังปล่อยไวรัสไข้หวัดใหญ่ใหม่แล้ว เซลล์ตัวถูกเบียนจะตาย
เนื่องจากไม่มีเอ็นไซม์ตรวจอาร์เอ็นเอ อาร์เอ็นเอดีเพนเดนต์อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรสซึ่งคัดลอกจีโนมของไวรัสจึงทำให้เกิดข้อผิดพลาดเกือบทุก ๆ 10,000 นิวคลีโอไทด์ ซึ่งประมาณความยาวของอาร์เอ็นเอของไวรัสไข้หวัดใหญ่ ฉะนั้น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ซึ่งผลิตใหม่ส่วนใหญ่จึงเป็นสิ่งกลายพันธุ์ ทำให้เกิดการเบี่ยงเบนแอนติเจน (antigenic drift) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงช้า ๆ ในแอนติเจนบนผิวไวรัสตามเวลา การแบ่งจีโนมออกเป็นอาร์เอ็นเอของไวรัสส่วนต่าง ๆ แปดส่วนทำให้มีการผสมหรือการรวมกันใหม่ของอาร์เอ็นเอไวรัสหากมีไวรัสไข้หวัดใหญ่ติดเชื้อในเซลล์มากกว่าหนึ่งชนิด การเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของไวรัสอย่างรวดเร็วอันเป็นผลลัพธ์นี้ทำให้เกิดการเลื่อนแอนติเจน (antigenic shift) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงฉับพลันขนาดใหญ่ทำให้ไวรัสติดเชื้อชนิดตัวถูกเบียนใหม่ และเอาชนะภูมิคุ้มกันคุ้มครองอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการเกิดการระบาดทั่ว ดังที่อภิปรายด้านล่างในส่วนวิทยาการระบาด
กลไก
การแพร่เชื้อ
เมื่อผู้ติดเชื้อจามหรือไอ อนุภาคไวรัสกว่าครึ่งล้านอนุภาคสามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อยู่ใกล้ ในผู้ใหญ่สุขภาพดี การกระจายไวรัส (shedding) ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งในช่วงนี้บุคคลสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ เพิ่มขึ้นอย่างมากครึ่งถึงหนึ่งวันหลังติดเชื้อ โดยสูงสุดในวันที่ 2 และคงอยู่เป็นระยะเวลารวมเฉลี่ย 5 วัน แต่สามารถอยู่ได้นานสุด 9 วัน ในผู้ที่เกิดอาการจากการติดเชื้อทดลอง (เฉพาะ 67% ของบุคคลที่ติดเชื้อในการทดลองสุขภาพดี) อาการและการกระจายไวรัสมีรูปแบบคล้ายกัน แต่การกระจายไวรัสเกิดก่อนการป่วยหนึ่งวัน เด็กติดต่อได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่มากและกระจายไวรัสตั้งแต่ก่อนเกิดอาการจนถึงสองสัปดาห์หลังติดเชื้อ ในผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง การกระจายไวรัสสามารถเกิดต่อเนื่องได้นานกว่าสองสัปดาห์
ไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่เชื้อได้สามวิธีหลัก ได้แก่ 1) ด้วยการสัมผัสโดยตรง คือ บุคคลที่มีเชื่อจามเอามูกเข้าสู่ตา จมูกหรือปากของอีกบุคคลหนึ่งโดยตรง 2) ทางจากอากาศ คือ บุคคลสูดดมละอองฝอยที่เกิดจากบุคคลที่ติดเชื้อไอ จามหรือถ่มน้ำลาย และ 3) ผ่านการแพร่เชื้อมือสู่ตา มือสู่จมูกหรือมือสู่ปาก ไม่ว่าจากผิวที่ปนเปื้อนหรือจากการสัมผัสระหว่างบุคคลโดยตรง เช่น การสัมผัสมือ ความสำคัญโดยสัมพัทธ์ของการแพร่เชื้อสามวิธีนี้ไม่ชัดเจน และทั้งหมดมีส่วนทำให้ไวรัสแพร่ ในทางจากอากาศ ละอองเสมหะที่เล็กพอให้บุคคลสูดเข้าไปได้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 ถึง 5 ไมโครเมตร และการสูดดมละอองเสมหะเดียวก็อาจเพียงพอทำให้ติดเชื้อได้ แม้การจามครั้งเดียวอาจปล่อยละอองเสมหะได้ถึง 40,000 ละออง แต่ส่วนใหญ่มีขนาดค่อนข้างใหญ่และถูกพัดพาไปจากอากาศ ระยะเวลาที่ไข้หวัดใหญ่อยู่รอดในละอองเสมหะจากอากาศได้รับอิทธิพลจากระดับความชื้นและรังสียูวี โดยความชื้นต่ำและการขาดแสงอาทิตย์ในฤดูหนาวช่วยให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น
ขณะที่ไวรัสไข้หวัดใหญ่อยู่นอกร่างกาย มันสามารถแพร่เชื้อผ่านผิวปนเปื้อนได้ เช่น ธนบัตร ลูกบิดประตู สวิตช์ไฟ และสิ่งของในครัวเรือนอื่น ระยะเวลาที่ไวรัสคงอยู่บนผิวแปรผันได้ โดยไวรัสจะอยู่รอดหนึ่งถึงสองวันบนพื้นผิวแข็งไม่พรุน เช่น พลาสติกหรือโลหะ, ประมาณสิบห้านาทีบนกระดาษทิชชูแห้ง และเพียงห้านาทีบนผิวหนัง อย่างไรก็ดี หากไวรัสอยู่ในมูก จะสามารถป้องกันไวรัสได้นานขึ้น (นานถึง 17 วันบนธนบัตร) ไข้หวัดใหญ่นกสามารถมีชีวิตได้ไม่มีกำหนดเมื่อถูกแช่แข็ง ไวรัสจะถูกลดฤทธิ์เมื่อได้รับความร้อนถึง 56 °ซ เป็นเวลาอย่างน้อย 60 นาที เช่นเดียวกับกรด (ที่ pH <2)
พยาธิสรีรวิทยา
กลไกที่ทำให้การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ก่ออาการในมนุษย์นั้นมีการศึกษาอย่างเข้มข้น กลไกหนึ่งเชื่อว่าเป็นการยับยั้งฮอร์โมนแอดรีโนคอร์ติโคโทรปิก (ACTH) ส่งผลให้ระดับคอร์ติซอล (cortisol) ลดลง หากทราบว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์หนึ่งมียีนใดจะสามารถช่วยทำนายได้ว่าเชื้อติดมนุษย์ได้ดีเพียงใด และการติดเชื้อจะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด (กล่าวคือ พยากรณ์พยาธิสรีรวิทยาของสายพันธุ์นั้น)
ตัวอย่างเช่น ส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ทำให้ไวรัสไข้หวัดใหญ่บุกรุกเซลล์ คือ การแยกโปรตีนฮีแม็กกลูตินิน (hemagglutinin) ของไวรัสโดยโปรตีเอส (protease) ของมนุษย์ที่มีอยู่หลายตัว ในไวรัสที่ไม่รุนแรง โครงสร้างของฮีแม็กกลูตินินทำให้โปรตีเอสเฉพาะที่พบในลำคอและปอดเท่านั้นที่สามารถแยกมันได้ ฉะนั้นไวรัสจึงไม่สามารถติดเชื้อในเนื้อเยื่ออื่น ทว่าในสายพันธุ์ที่รุนแรง อย่างเอช5เอ็น1 โปรตีเอสหลายชนิดสามารถแยกฮีแม็กกลูตินินได้ ทำให้ไวรัสแพร่กระจายไปทั่วร่าง
โปรตีนฮีแม็กกลูตินินของไวรัสเป็นตัวตัดสินว่าสายพันธุ์นั้นสามารถติดในสัตว์ชนิดใดได้บ้าง และสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่นั้นจะติดทางเดินหายใจของมนุษย์ที่ใดบ้าง สายพันธุ์ที่แพร่เชื้อง่ายระหว่างบุคคลมีโปรตีนฮีแม็กกลูตินินซึ่งยึดกับทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ในจมูก ลำคอและปาก ในทางตรงข้าม สายพันธุ์เอช5เอ็น1 ที่มีอัตราเสียชีวิตสูง ยึดกับตัวรับที่ส่วนใหญ่พบในปอด ตำแหน่งติดเชื้อที่แตกต่างกันนี้เป็นสาเหตุที่สายพันธุ์เอช5เอ็น1 ก่อให้เกิดปอดบวมไวรัสรุนแรง แต่ติดต่อระหว่างบุคคลที่ไอและจามได้ยาก
อาการทั่วไปของไข้หวัดใหญ่อย่างไข้ ปวดศีรษะ และล้าเป็นผลของไซโตไคน์ (cytokine) และคีโมไคน์ (chemokine) ที่กระตุ้นการอักเสบ (อย่างอินเตอร์เฟอร์รอน (interferon) และทิวเมอร์เนโครซิสแฟกเตอร์ (tumor necrosis factor)) ปริมาณมากที่ผลิตจากเซลล์ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ในทางตรงข้ามกับไรโนไวรัสซึ่งก่อโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ก่อความเสียหายต่อเนื้อเยื่อ ฉะนั้นอาการจะไม่ได้เกิดจากการตอบสนองของการอักเสบ การตอบสนองภูมิคุ้มกันขนาดใหญ่นี้อาจก่อให้เกิดพายุไซโตไคน์ (cytokine storm) ที่ถึงแก่ชีวิตได้ มีการเสนอว่าผลดังกล่าวเป็นสาเหตุของยอดผู้เสียชีวิตสูงผิดปกติของทั้งไข้หวัดใหญ่นกเอช5เอ็น1 และสายพันธุ์โรคระบาดทั่วปี 1918 ทว่า อีกความเป็นไปได้หนึ่งคือไซโตไคน์ปริมาณมากนี้เป็นเพียงผลของระดับการถ่ายแบบของไวรัสระดับมหาศาลที่ผลิตจากสายพันธุ์เหล่านี้ และการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันไม่ได้ส่งผลต่อโรคด้วยตัวมันเอง ดูเหมือนว่าไข้หวัดใหญ่กระตุ้นกระบวนการตายของเซลล์ที่มีคำสั่ง (อะพอพโทซิส)
การป้องกัน
การควบคุมการติดเชื้อ
การลดการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพสมเหตุสมผล ได้แก่ นิสัยสุขภาพและสุขอนามัยส่วนบุคคลดี เช่น ไม่สัมผัสตา จมูกหรือปากตัวเอง, ล้างมือบ่อย ๆ (ด้วยน้ำกับสบู่ หรือด้วยเจลถูมือที่มีแอลกอฮอล), เลี่ยงการสัมผัสหรือการอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย, แม้การสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องดูแลผู้ป่วยอาจช่วยลดโอกาสติดเชื้อลงบ้าง แต่ประสิทธิภาพการลดการติดเชื้ออาจไม่เท่าการสวมหน้ากากโดยตัวผู้ป่วยเอง ซึ่งสามารถทำควบคู่กันไปได้, ลดการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นเป็นต้นเหตุของความเสี่ยงในการสัมผัสไข้หวัดใหญ่และเป็นความเสี่ยงของอาการที่รุนแรงกว่า
การลดการแพร่เชื้อเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมโรค ผู้ป่วยควรหยุดพักผ่อนอยู่ที่บ้านเพื่อลดการกระจายเชื้อ, แนะนำไม่ให้ถ่มน้ำลาย, ล้างมือเป็นประจำเพื่อลดการแพร่เชื้อผ่านพื้นผิวของสิ่งของสาธารณะเช่นลูกบิดประตู, สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสที่อยู่ในน้ำมูกและน้ำลาย หากจำเป็นต้องออกมาพื้นที่ชุมชนหรือต้องการลดการแพร่เชื้อภายในบ้าน
เนื่องจากไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่ทางการสัมผัสผิวที่ปนเปื้อน การทำความสะอาดผิวจึงอาจช่วยลดการติดเชื้อลงบ้าง แอลกอฮอลเป็นสารชำระล้างที่มีประสิทธิภาพต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ส่วนสารประกอบควอเตอนารีแอมโมเนียมสามารถใช้ร่วมกับแอลกอฮอลเพื่อให้ฤทธิ์ชำระล้างอยู่นานขึ้น ในโรงพยาบาล สารประกอบควอเตอนารีแอมโมเนียมและสารฟอกใช้เพื่อชำระล้างห้องหรืออุปกรณ์ที่ผู้มีอาการไข้หวัดใหญ่ใช้ ที่บ้าน สามารถชำระล้างอย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วยสารฟอกคลอรีนเจือจาง
ยุทธศาสตร์การรักษาระยะห่างทางสังคมที่ใช้ระหว่างการระบาดทั่วในอดีต เช่น การปิดโรงเรียน โบสภ์และโรงละคร ชะลอการแพร่ของไวรัส แต่มีผลไม่มากนักต่ออัตราตายโดยรวม ยังไม่แน่ชัดว่าหากลดการประชุมในที่สาธารณะ ตัวอย่างเช่น ปิดโรงเรียนและที่ทำงาน จะลดการแพร่เชื้อเพราะผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่อาจเพียงย้ายจากพื้นที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง มาตรการดังนี้ยังบังคับใช้ได้ยากและอาจไม่ได้รับความนิยมด้วย เมื่อคนจำนวนน้อยติดเชื้อ การแยกผู้ป่วยอาจลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อ
การฉีดวัคซีน
องค์การอนามัยโลกและศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐแนะนำวัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับกลุ่มเสี่ยงสูงอย่างเด็ก ผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และผู้ป่วยเรื้อรังอย่างโรคหืด เบาหวาน โรคหัวใจ และผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น ในผู้ใหญ่สุขภาพดี วัคซีนมีประสิทธิภาพพอประมาณในการลดปริมาณอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ในประชากร ในเด็กสุขภาพดีอายุเกิน 2 ปี วัคซีนลดโอกาสได้รับไข้หวัดใหญ่ลงสองในสาม แต่ยังไม่มีการศึกษาดีนักในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี การฉีดวัคซีนลดการกำเริบในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าช่วยลดการกำเริบของโรคหืดด้วยหรือไม่ หลักฐานสนับสนุนอัตราป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ต่ำกว่าในกลุ่มผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหลายกลุ่ม เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี/เอดส์ มะเร็ง และผู้หลังปลูกถ่ายอวัยวะ ในผู้ป่วยฉีดวัคซีนความเสี่ยงสูงอาจลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ การกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีผลต่อผลการรักษาผู้ป่วยหรือไม่นั้นยังเป็นที่พิพาทอยู่ โดยบทปฏิทรรศน์บ้างไม่พบหลักฐานเพียงพอ และบ้างพบหลักฐานเบื้องต้น
เนื่องจากอัตรากลายพันธุ์ของไวรัสมีสูง วัคซีนไข้หวัดใหญ่เฉพาะปกติจึงให้การป้องกันโรคได้ไม่กี่ปีเท่านั้น ทุกปีองค์การอนามัยโลกพยากรณ์ว่าไวรัสสายพันธุ์ใดน่าจะไหลเวียนในปีหน้ามากที่สุด ทำให้บริษัทเภสัชภัณฑ์พัฒนาวัคซีนที่จะให้ภูมิคุ้มกันดีที่สุดต่อสายพันธุ์เหล่านี้ มีการเปลี่ยนสูตรวัคซีนแต่ละฤดูสำหรับสายพันธุ์จำเพาะบางสายพันธุ์ แต่ไม่รวมสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในโลกระหว่างฤดูนั้น ผู้ผลิตใช้เวลาหกเดือนสร้างสูตรและผลิตวัคซีนหลายล้านขนาดที่จำเป็นในการรับมือกับสายพันธุ์ที่โดดเด่นอยู่ในขณะนั้น นอกจากนี้การติดเชื้อก่อนฉีดวัคซีนและการเจ็บป่วยจากสายพันธุ์ที่วัคซีนควรป้องกันก็เป็นไปได้ เพราะวัคซีนใช้เวลาออกฤทธิ์สองสัปดาห์
วัคซีนสามารถทำให้ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองราวกับว่าร่างกายกำลังมีการติดเชื้อจริง และอาจมีอาการติดเชื้อทั่วไปได้ (ซึ่งอาการหลายอย่างของโรคหวัดและไข้หวัดใหญ่ก็เป็นอาการติดเชื้อทั่วไป) แม้อาการเหล่านี้ปกติไม่รุนแรงหรือไม่กินเวลานานเท่าไข้หวัดใหญ่ ผลไม่พึงประสงค์ที่อันตรายที่สุด ได้แก่ ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงต่อสารไวรัสเอง หรือส่วนตกค้างของไข่ไก่ที่ใช้เพาะไวรัสไข้หวัดใหญ่ แต่ปฏิกิริยานี้พบยากยิ่ง
บทปฏิทรรศน์ปี 2018 ของคอคแครนว่าด้วยเด็กที่มีสุขภาพโดยรวมดีพบว่าการฉีดวัคซีนชนิดเชื้อเป็นดูเหมือนลดความเสี่ยงการติดไข้หวัดใหญ่สำหรับฤดูกาลนั้นจาก 18% เหลือ 4% วัคซีนชนิดเชื้อตายดูเหมือนลดอัตราการติดไข้หวัดใหญ่สำหรับฤดูกาลนั้นจาก 30% เหลือ 11% ไม่มีข้อมูลเพียงพอดึงข้อสรุปแน่ชัดเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอย่างปอดบวมหรือการให้เข้าโรงพยาบาล
สำหรับผู้ใหญ่สุขภาพดี บทปฏิทรรศน์คอคแครนปี 2018 แสดงว่าวัคซีนลดอุบัติการณ์ของไข้หวัดใหญ่ที่ห้องปฏิบัติการยืนยันจาก 2.3% เหลือ 0.9% ซึ่งคิดเป็นการลดความเสี่ยงประมาณ 60% อย่างไรกฌดี สำหรับการเจ็บป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ซึ่งนิยามว่ามีอาการเดียวกันคือ ไอ ไข้ ปวดศีรษะ คัดจมูกและเจ็บปวดตามตัว วัคซีนลดความเสี่ยงจาก 21.5% เหลือ 18.1% ซึ่งคิดเป็นการลดความเสี่ยงลงเล็กน้อย 16% ข้อแตกต่างอาจอธิบายได้ดีที่สุดจากข้อเท็จจริงที่ว่ามีไวรัสกว่า 200 ชนิดที่ก่ออาการเดียวกันหรือคล้ายกันกับไวรัสไข้หวัดใหญ่
ต้นทุน-ประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลมีการประเมินอย่างกว้างขวางสำหรับกลุ่มและกรณีต่าง ๆ โดยทั่วไปพบว่าเป็นการรักษาที่คุ้มทุน โดยเฉพาะในเด็ก และผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม ผลของการประเมินการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทางเศรษฐกิจพบว่าขึ้นอยู่กับข้อสันนิษฐานสำคัญ
การวินิจฉัย
มีการทดสอบอย่างรวดเร็วสำหรับไข้หวัดใหญ่อยู่จำนวนหนึ่ง วิธีหนึ่งเรียกว่า การสอบปริมาณโมเลกุลอย่างเร็ว (Rapid Molecular Assay) ซึ่งเป็นการเก็บตัวอย่าง (มูก) โดยใช้สิ่งป้ายกวาดจมูกหรือสิ่งป้ายกวาดคอหอยส่วนจมูก ควรทดสอบภายใน 3–4 วันหลังเริ่มมีอาการ เพราะการกระจายของไวรัสในทางเดินหายใจส่วนบนจะยิ่งทวีจำนวนมากขึ้นหลังจากนั้น
การรักษา
แนะนำให้ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่พักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำมาก ๆ เลี่ยงการใช้แอลกอฮอลและยาสูบ และถ้าจำเป็น ใช้ยาอย่างอะเซตามีโนเฟน (พาราเซตามอล) เพื่อลดไข้และบรรเทาปวดกล้ามเนื้อที่สัมพันธ์กับไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้ยังแนะนำให้ผู้ป่วยเลี่งยการสัมผัสใกล้ชิดบุคคลอื่นเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ เด็กและวัยรุ่นที่มีอาการไข้หวัดใหญ่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งไข้) ควรเลี่ยงการใช้แอสไพรินระหว่างการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งไข้หวัดใหญ่ชนิดบี) เพราะอาจนำไปสู่กลุ่มอาการเรย์ เป็นโรคของตับที่หายากแต่อาจถึงแก่ชีวิตได้ ด้วยเหตุที่ไข้หวัดใหญ่เกิดจากไวรัส ยาปฏิชีวนะจึงไม่มีผลต่อการติดเชื้อ ยกเว้นจ่ายให้สำหรับการติดเชื้อขั้นตามอ่ยางปอดบวมแบคทีเรีย ยาต้านไวรัสอาจมีประโยชน์หากให้เร็ว (ภายใน 48 ชั่วโมงหลังอาการแรก) แต่ไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์มีการดื้อยาต้านไวรัสมาตรฐาน และมีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพของการวิจัย ปัจเจกบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเด็กเล็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุและผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องควรพบแพทย์เพื่อขอรับยาต้านไวรัส ผู้มีอาการเตือนฉุกเฉินควรติดต่อห้องฉุกเฉินทันที
ยาต้านไวรัส
มีการใช้ยาต้านไวรัสสองประเภทกับไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ สารยับยั้งนิวรามินิเดส (โอเซลทามิเวียร์, ซานามิเวียร์, ลานินามิเวียร์ และ เปรามิเวียร์ ) และตัวยับยั้งโปรตีนเอ็ม2 (อนุพันธ์ของอะดาแมนเทน)
สารยับยั้งนิวรามินิเดส
ประโยชน์โดยรวมของสารยับยั้งนิวรามินิเดสในผู้มีสุขภาพดีดูแล้วไม่มากกว่าความเสี่ยง และดูแล้วไม่เป็นประโยชน์ใด ๆ ในผู้มีปัญหาสุขภาพอื่น ในผู้ที่เชื่อว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ยาดังกล่าวลดระยะเวลาที่มีอาการน้อยกว่าหนึ่งวันเล็กน้อย แต่ดูไม่มีผลต่อความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน อย่างความจำเป็นต้องรับรักษาในโรงพยาบาลหรือโรคปอดบวม การดื้อสารยับยั้งนิวรามินิเดสที่พบมากขึ้นทุกทีทำให้นักวิจัยแสวงยาต้านไวรัสทางเลือกที่มีกลไกการออกฤทธิ์อื่น
สารยับยั้งเอ็ม2
ยาต้านไวรัสอะแมนตาดีนและไรแมนตาดีนยับยั้งการสร้างช่องไอออนของไวรัส (โปรตีนเอ็ม2) จึงยับยั้งการถ่ายแบบของไวรัสไข้หวัดใหญ่เอ ยาเหล่านี้บางครั้งมีผลต่อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ หากได้รับตั้งแต่การติดเชื้อระยะแรก แต่ไม่เป็นผลกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดบี ซึ่งไม่มีเป้าหมายของยาเอ็ม2 การดื้อยาอะแมนตาดีนและไรแมนตาดีนที่วัดได้ในบุคคลแยกชาวอเมริกันซึ่งเป็นเอช3เอ็น2 เพิ่มเป็น 91% ในปี 2005 การดื้อยาระดับสูงนี้อาจเนื่องจากอะแมนตาดีนหาซื้อเป็นยาบรรเทาหวัดซื้อเองได้และหาได้ง่ายในประเทศอย่างจีนและรัสเซีย และการใช้เพื่อป้องกันการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ปีกฟาร์ม ซีดีซีไม่แนะนำให้ใช้สารยับยั้งเอ็ม2 ระหว่างฤดูกาลไข้หวัดใหญ่ 2005–06 เนื่องจากมีการดื้อยาในระดับสูง
พยากรณ์โรค
ผลของไข้หวัดใหญ่รุนแรงกว่าและอยู่ได้นานกว่าโรคหวัด คนส่วนใหญ่จะฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ในประมาณหนึ่งถึงสองสัปดาห์ แต่บางคนอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิตได้ (เช่น ปอดบวม) ฉะนั้น ไข้หวัดใหญ่อาจถึงตายได้ในผู้อ่อนแอ เด็กและผู้สูงอายุ ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวีขั้นรุนแรงหรือผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ (ซึ่งทางการแพทย์ให้กดระบบภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการปฏิเสธอวัยวะที่ปลูกถ่าย) ผู้ประสบโรครุนแรงบางอย่าง หญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็กมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนสูงเช่นกัน
ไข้หวัดใหญ่อาจทำให้ปัญหาสุขภาพทรุดลงได้ ผู้ประสบภาวะมีอากาศในเนื้อเยื่อ, หลอดลมอักเสบเรื้อรังหรือโรคหืดอาจมีอาการหายใจลำบากระหว่างป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดใหญ่อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือ โรคหัวใจล้มเหลว การสูบบุหรี่เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่สัมพันธ์กับไข้หวัดใหญ่ที่รุนแรงมากขึ้นและเพิ่มอัตราการตายจากไข้หวัดใหญ่
องค์การอนามัยโลกมีข้อมูลว่า "ทุกฤดูหนาวมีบุคคลติดไข้หวัดใหญ่หลายสิบล้านคน ส่วนใหญ่ป่วยและหยุดทำงานหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น แต่ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย เราทราบว่ายอดผู้เสียชีวิตทั่วโลกอยู่ในหลักแสนคนต่อปี แต่กระทั่งในประเทศพัฒนาแล้ว จำนวนดังกล่าวยังไม่แน่นอนเนื่องจากทางการแพทย์ปกติไม่ได้ยืนยันว่าแท้จริงแล้วเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ หรือเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่" แม้แต่บุคคลสุขภาพดีก็สามารถป่วยได้ และปัญหารุนแรงจากไข้หวัดใหญ่สามารถเกิดได้ทุกวัย บุคคลอายุ 65 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ เด็กอ่อนและคนทุกวัยที่มีภาวะทางการแพทย์เรื้อรังมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการไข้หวัดใหญ่มากกว่า เช่น ปอดบวม, โรคหลอดลมอักเสบ, การติดเชื้อไซนัส และที่หู
ในบางกรณี การตอบสนองภูมิต้านตนเองเพื่อตอบสนองต่อการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่อาจมีผลต่อการพัฒนา อย่างไรก็ดี เนื่องจากการติดเชื้ออีกหลายอย่างสามารถเพิ่มความเสี่ยงของโรคนี้ ไข้หวัดใหญ่จึงอาจเป็นสาเหตุสำคัญเฉพาะระหว่างการระบาดเท่านั้น กลุ่มอาการนี้เชื่อว่าเป็นผลข้างเคียงพบได้น้อยของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ บทปฏิทรรศน์หนึ่งระบุว่าอุบัติการณ์มีประมาณหนึ่งต่อวัคซีนหนึ่งล้านขนาด การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่เองเพิ่มทั้งความเสี่ยงเสียชีวิต (ถึง 1 ใน 10,000) และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เรถึงระดับสูงกว่าระดับความเกี่ยวข้องของวัคซีนที่สงสัยสูงสุดมาก (ประมาณ 10 เท่าของการประมาณล่าสุด)
ข้อมูลของ cdc.gov ระบุว่า "เด็กทุกวัยที่มีภาวะทางประสาทวิทยามีโอกาสป่วยมากเทียบกับเด็กอื่นถ้าได้รับไข้หวัดใหญ่ ภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่อาจแตกต่างกันและสำหรับเด็กบางคนอาจรวมปอดบวมและถึงเสียชีวิตได้"
ภาวะทางประสาทวิทยารวมถึง
- ความผิดปกติของสมองและไขสันหลัง
- อัมพาตสมองใหญ่
- โรคลมชัก
- โรคหลอดเลือดสมอง
- ความพิการทางปัญญา
- พัฒนาการล่าช้าระดับปานกลางถึงรุนแรง
- โรคกล้ามเนื้อเจริญผิดเพี้ยน
- การบาดเจ็บของไขสันหลัง
ภาวะเหล่านี้สามารถขัดขวางการไอ การกลืน การทำให้ทางเดินหายใจโล่ง และในกรณีเลวร้ายที่สุด การหายใจ ฉะนั้นจึงทำให้อาการของไข้หวัดใหญ่เลวลง
ระบาดวิทยา
การผันแปรตามฤดูกาล
ไข้หวัดใหญ่มีความชุกสูงสุดในฤดูหนาว และเนื่องจากซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ตรงกับฤดูหนาวต่างเวลากัน ปีหนึ่งจึงมีฤดูไข้หวัดใหญ่สองฤดู เป็นเหตุให้องค์การอนามัยโลก (ซึ่งมีศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติสนับสนุน) ออกคำแนะนำสำหรับสูตรวัคซีนสองคำแนะนำแยกกันทุกปี คือให้ซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้
ปริศนาที่มีมานานมีอยู่ว่าเหตุใดการระบาดของไข้หวัดใหญ่จึงเกิดตามฤดูกาลไม่ใช่เกิดเท่ากันตลอดปี มีคำอธิบายทีเป็นไปได้อย่างหนึ่งว่าบุคคลอยู่ในอาคารมากขึ้นระหว่างฤดูหนาว จึงอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่นบ่อยครั้งขึ้น และส่งเสริมการแพร่เชื้อจากบุคคลสู่บุคคล การท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากฤดูวันหยุดฤดูหนาวในซีกโลกเหนือก็อาจมีบทบาท อีกปัจจัยหนึ่งได้แก่อุณหภูมิเย็นนำไปสู่อากาศแห้ง ซึ่งอาจทำให้อนุภาคเมือกเสียน้ำ อนุภาคแห้งเบากว่าและสามารถอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานานขึ้น ไวรัสยังอยู่รอดนานกว่าบนพื้นผิวที่อุณหภูมิเย็นกว่าและการแพร่เชื้อด้วยละอองฝอยของไวรัสเกิดสูงสุดในสิ่งแวดล้อมเย็น (ต่ำกว่า 5 °ซ) ซึ่งมีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ ความชื้นในอากาศต่ำกว่าในฤดูหนาวดูเป็นสาเหตุหลักของการแพร่เชื้อของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในเขตอบอุ่น
การเปลี่ยนแปลงอัตราการติดเชื้อตามฤดูกาลยังพบในเขตร้อนด้วย และในบางประเทศมีอัตราการติดเชื้อสูงสุดระหว่างฤดูฝนเป็นหลัก การเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลในอัตราการสัมผัสจากภาคเรียน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในโรควัยเด็กอย่างอื่น เช่น โรคหัดและโรคไอกรน อาจมีบทบาทในโรคไข้หวัดใหญ่เช่นกัน ผลตามฤดูกาลเล็กน้อยเหล่านี้เมื่อรวมกันแล้วอาจมีการเสริมจากการพ้องแบบพลวัตกับวัฏจักรโรคจากภายใน เอช5เอ็น1 ก็แสดงความผันแปรตามฤดูกาลทั้งในมนุษย์และสัตว์ปีก
สมมติฐานอีกอย่างหนึ่งเพื่ออธิบายความผันแปรตามฤดูกาลในการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่คือผลของระดับวิตามินดีที่มีต่อภูมิคุ้มกันต่อไวรัส โรเจอร์ เอ็ดการ์ โฮป-ซิมป์สันเป็นผู้เสนอความคิดนี้ครั้งแรกในปี 1965 เขาเสนอว่าสาเหตุของการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ระหว่างฤดูหนาวอาจเชื่อมโยงกับการขึ้นลงตามฤดูกาลของวิตามินดี ซึ่งมีการผลิตในผิวหนังภายใต้อิทธิพลของการแผ่รังสียูวี ซึ่งสามารถอธิบายว่าเหตุใดไข้หวัดใหญ่เกิดในฤดูหนาวเป็นหลัก และระหว่างฤดูฝนในเขตร้อน เมื่อบุคคลอยู่ในอาคาร ไม่ได้รับแสงอาทิตย์และทำให้ระดับวิตามินดีลดลง
การระบาดและการแพร่กระจายของโรคระบาดทั่ว
ด้วยเหตุว่าไข้หวัดใหญ่เกิดจากไวรัสหลายชนิดและหลายสายพันธุ์ ในปีหนึ่ง ๆ บางสายพันธุ์จึงอาจตายไป ส่วนบางสายพันธุ์อาจก่อให้เกิดการระบาด และบางสายพันธุ์ยังสามารถก่อให้เกิดการระบาดทั่ว ตรงแบบ ในฤดูกาลไข้หวัดใหญ่สองฤดูกาลตามปกติในหนึ่งปี มีผู้ป่วยรุนแรงระหว่าง 3 ถึง 5 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 500,000 คนทั่วโลก ซึ่งบางบทนิยามเป็นการระบาดของไข้หวัดใหญ่ประจำปี แม้อุบัติการณ์ของไข้หวัดใหญ่สามารถผันแปรได้มากระหว่างปี แต่มีผู้เสียชีวิตประมาณ 36,000 คนและการรับเข้าโรงพยาบาลกว่า 200,000 ครั้งที่สัมพันธ์โดยตรงกับไข้หวัดใหญ่ทุกปีในสหรัฐ วิธีการหนึ่งในการคำนวณอัตราตายของไข้หวัดใหญ่ได้ผลว่ามีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยต่อปี 41,400 คนในสหรัฐระหว่างปี 1979 ถึง 2001 การคำนวณอีกวิธีหนึ่งที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ใช้ในปี 2010 รายงานพิสัยตั้งแต่ประมาณ 3,300 คนถึง 49,000 คนต่อปี
เกิดการระบาดทั่วประมาณสามครั้งต่อศตวรรษ ซึ่งติดต่อประชากรของโลกเป็นจำนวนมาก และฆ่ามนุษย์หลายสิบล้านคน การศึกษาหนึ่งประมาณว่าถ้าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่มีศักยภาพก่อโรคคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ 1918 ปรากฏในปัจจุบัน จะทำให้มีผู้เสียชีวิตระหว่าง 50 ถึง 80 ล้านคน
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ใหม่มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องโดยการกลายพันธุ์หรือการเข้าชุดยีนใหม่ (reassortment) การกลายพันธุ์สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในแอนติเจนฮีแม็กกลูตินินและนิวรามินิเดสบนผิวของไวรัส สิ่งนี้เรียกการเบี่ยงเบนแอนติเจน (antigenic drift) ซึ่งสร้างสายพันธุ์ที่มีความหลากหลายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ จนสายพันธุหนึ่งวิวัฒนาการจนติดเชื้อบุคคลที่มีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ที่มีอยู่เดิม สายพันธุ์ใหม่นี้จะแทนที่สายพันธุ์เก่าเมื่อสายพันธุ์นั้นกวาดผ่านประชากรมนุษย์ ซึ่งมักก่อให้เกิดการระบาด อย่างไรก็ดี เนื่องจากสายพันธุ์ที่ผลิตจากการเลื่อนจะยังคล้ายกับสายพันธุ์เก่ากว่าอย่างสมเหตุผล บางคนจึงมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้น ในทางตรงข้าม เมื่อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการรวมกันใหม่ จะได้แอนติเจนใหม่ทั้งหมด ตัวอย่างเช่นเมื่อมีการรวมกันใหม่ระหว่างสายพันธุ์นกและสายพันธุ์มนุษย์ สิ่งนี้เรียก การเลื่อนแอนติเจน (antigenic shift) หากไวรัสไข้หวัดใหญ่มนุษย์ผลิตแอนติเจนใหม่ทั้งหมด ทุกคนจะไวรับ และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จะแพร่กระจายอย่างควบคุมไม่ได้ ก่อให้เกิดการระบาดทั่ว ในทางตรงข้ามกับแบบจำลองการระบาดทั่วที่อาศัยการเบี่ยงเบนและการเลื่อนแอนติเจน มีการเสนออีกแนวทางหนึ่งซึ่งการระบาดทั่วเป็นคาบนั้นเกิดจากอันตรกิริยาระหว่างสายพันธุ์ไวรัสบางชุดที่ประชากรมนุษย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงชุดภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
จากมุมมองของสาธารณสุข การระบาดของไข้หวัดใหญ่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและควบคุมยากมาก สายพันธุ์ไวรัสไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่ไม่ได้ติดเชื้อมาก และปัจเจกบุคคลที่ติดเชื้อจะแพร่เชื้อให้แก่ปัจเจกบุคคลอีกหนึ่งถึงสองคนเท่านั้น (จำนวนการสืบพันธุ์พื้นฐานสำหรับไข้หวัดใหญ่อยู่ที่ประมาณ 1.4) อย่างไรก็ดี เวลาชั่วรุ่นสำหรับไข้หวัดใหญ่สั้นมาก หรือเวลาตั้งแต่บุคคลติดเชื้อจนถึงเมื่อเขาแพร่เชื้อให้แก่บุคคลถัดไป กินเวลาเพียง 2 วัน เวลาชั่วรุ่นที่สั้นนี้หมายความว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่ปกติสูงสุดที่เวลา 2 เดือนและหมดไปหลัง 3 เดือน จึงต้องรีบตัดสินใจแทรกแซงในการระบาดของไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ต้น และฉะนั้นการตัดสินใจจึงมักตั้งอยู่บนข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ อีกปัญหาหนึ่งคือปัจเจกบุคคลสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ก่อนมีอาการ ซึ่งหมายความว่าการกักกันบุคคลหลังมีอาการป่วยไม่ใช่การแทรกแซงทางสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ สำหรับบุคคลทั่วไป การกระจายไวรัสมักสูงสุดในวันที่ 2 แต่อาการจะสูงสุดในวันที่ 3
ประวัติศาสตร์
ศัพทมูลวิทยา
คำว่า ไข้หวัดใหญ่ (influenza) มาจากภาษาอิตาลีหมายถึง "อิทธิพล" (influence) และหมายถึงสาเหตุของโรค ซึ่งเดิมทีเชื่อว่าเกิดจากอิทธิพลทางโหราศาสตร์ที่ไม่เอื้ออำนวย มีการนำมาใช้ในภาษาอังกฤษในกลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ระหว่างการระบาดทั่วทวีปยุโรป คำโบราณสำหรับไข้หวัดใหญ่เช่น epidemic catarrh, la grippeการป่วยเหงื่อออก (sweating sickness) และ ไข้สเปน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสายพันธุ์การระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ปี 1918)
การระบาดทั่ว
ฮิปพอคราทีสอธิบายอาการของไข้หวัดใหญ่มนุษย์อย่างชัดเจนเมื่อประมาณ 2,400 ปีก่อน แม้ว่าไวรัสดังกล่าวดูเหมือนก่อให้เกิดการระบาดตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ แต่ข้อมูลประวัติศาสตร์ของไข้หวัดใหญ่ตีความได้ยาก เพราะอาการสามารถคล้ายกับโรคทางเดินหายใจอื่นได้ โรคนี้อาจแพร่กระจายจากทวีปยุโรปไปทวีปอเมริกาตั้งแต่ เนื่องจากประชากรพื้นเมืองเกือบทั้งหมดของแอนทิลลิสเสียชีวิตจากการระบาดที่คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในปี 1493 หลังคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสเดินทางถึง
บันทึกที่น่าเชื่อครั้งแรกของไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่วคือการระบาดในปี 1580 ซึ่งเริ่มต้นในประเทศรัสเซียแล้วกระจายไปทวีปยุโรปผ่านทวีปแอฟริกา ในกรุงโรม มีผู้เสียชีวิตกว่า 8,000 คน และประชากรในนครของสเปนหลายแห่งเสียชีวิตเกือบทั้งหมด การระบาดทั่วดำเนินไปเป็นระยะตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 โดยมีการระบาดทั่วปี 1830–1833 ที่กว้างขวางเป็นพิเศษ ซึ่งติดเชื้อประชากรที่สัมผัสประมาณหนึ่งในสี่
การระบาดครั้งที่มีชื่อเสียงที่สุดและมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดได้แก่ การระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ปี 1918 (ไข้หวัดใหญ่สเปน) (ไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ ประเภทย่อยเอช1เอ็น1) ซึ่งกินเวลาตั้งแต่ปี 1918 ถึง 1919 ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามียอดผู้เสียชีวิตเท่าใด แต่ค่าประมาณอยู่ระหว่าง 50 ถึง 100 ล้านคน มีการอธิบายการระบาดทั่วนี้ว่าเป็น "ภัยพิบัติทางการแพทย์ใหญ่สุดในประวัติศาสตร์" และอาจฆ่าคนได้มากเท่าแบล็กเดท ยอดผู้เสียชีวิตสูงขนาดนี้เกิดจากอัตราการติดเชื้อที่สูงอย่างยิ่งมากถึง 50% และอาการรุนแรงสุดขั้ว ที่ไวรับต่อพายุไซโทไคน์ อาการในปี 1918 ผิดปกติเสียจนทีแรกไข้หวัดใหญ่วินิจฉัยผิดเป็นไข้เด็งกี อหิวาตกโรคหรือไทฟอยด์ ผู้สังเกตคนหนึ่งเขียนว่า "ภาวะแทรกซ้อนที่เตะตาที่สุดอย่างหนึ่งคือเลือดออกจากเยื่อเมือก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจมูก กระเพาะอาหารและลำไส้ เลือดออกจากหูและจุดเลือดออกในผิวหนังก็พบได้" การเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากปอดบวมแบคทีเรีย ซึ่งเป็นการติดเชื้อทุติยภูมิที่เกิดจากไข้หวัดใหญ่ แต่ไวรัสยังฆ่ามนุษย์โดยตรงได้ โดยทำให้เกิดเลือดออกปริมาณมากและอาการบวมน้ำในปอด
การระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ปี 1918 เป็นการระบาดทั่วโลกอย่างแท้จริง โดยแพร่กระจายไปถึงอาร์กติกและหมู่เกาะแปซิฟิกอันห่างไกล ครั้งนั้นโรคทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตระหว่าง 2 ถึง 20% ตรงข้ามกับอัตราตายของไข้หวัดใหญ่ระบาดตามปกติ 0.1% ลักษณะอีกอย่างหนึ่งของการระบาดนี้คือผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นวัยผู้ใหญ่ตอนต้น โดยการเสียชีวิตจากการะบาดของไข้หวัดใหญ่ 99% เกิดในบุคคลอายุต่ำกว่า 65 ปี และกว่าครึ่งเป็นผู้ใหญ่อายุระหว่าง 20 ถึง 40 ปี นับเป็นสิ่งผิดปกติเพราะปกติไข้หวัดใหญ่มีอัตราตายสูงสุดในเด็กอ่อน (อายุต่ำกว่า 2 ปี) และผู้สูงอายุมาก (อายุเกิน 70 ปี) ไม่ทราบอัตราตายของการระบาดปี 1918–1919 แน่ชัด แต่ประเมินว่ามีประชากรโลกเสียชีวิตะระหว่าง 2.5% ถึง 5% ของประชากรโลก ใน 25 สัปดาห์แรก มีผู้เสียชีวิตมากถึง 25 ล้านคน ในทางตรงกันข้าม เอชไอวี/เอดส์มีผู้เสียชีวิต 25 ล้านใน 25 ปีแรก
การระบาดของไข้หวัดใหญ่ในเวลาต่อมาไม่มีผลทำลายล้างขนาดนั้นแล้ว ซึ่งรวมไข้หวัดใหญ่เอเชียปี 1957 (ชนิดเอ สายพันธุ์เอช2เอ็น2) และไข้หวัดใหญ่ฮ่องกงปี 1968 (ชนิดเอ สายพันธุ์เอช3เอ็น2) แต่แม้การระบาดขนาดย่อมกว่านี้ก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายล้านคนได้ ในการระบาดทั่วต่อมา มียาปฏิชีวนะเพื่อควบคุมการติดเชื้อทุติยภูมิ และอาจช่วยลดอัตราตายเมื่อเทียบกับไข้หวัดใหญ่สเปนปี 1918
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดแรกที่แยกได้มาจากสัตว์ปีก เมื่อในปี 1901 เชื้อก่อโรคชื่อ "กาฬโรคสัตว์ปีก" ผ่านตัวกรองเชมเบอร์แลน ซึ่งมีรูเล็กจนแบคทีเรียผ่านไม่ได้ มีการค้นพบสาเหตุของไข้หวัดใหญ่ คือไวรัสวงศ์ Orthomyxoviridae ครั้งแรกในหมูโดยริชาร์ด โชปในปี 1931 ไม่นานมีการแยกไวรัสจากมนุษย์โดยกลุ่มที่มีแพทริก เลดลอว์เป็นหัวห้นา ณ สภาวิจัยการแพทย์แห่งสหราชอาณาจักรในปี 1933 อย่างไรก็ตาม กว่าจะเข้าใจสภาพไม่ใช่เซลล์ของไวรัสก็ล่วงมาจนเวนเดล สแตนลีย์ทำให้ไวรัสโมเซกยาสูบเป็นผลึกในปี 1935
ก้าวสำคัญก้าวแรกในการป้องกันไข้หวัดใหญ่มีการพัฒนาวัคซีนชนิดไวรัสตายในปี 1944 โดยทอมัส ฟรานซิส จูเนียร์ ซึ่งต่อยอดจากงานของแฟรงก์ แม็กฟาร์ลีน เบอร์เน็ตชาวออสเตรเลีย ผู้แสดงว่าไวรัสเสียศักยภาพก่อโรคเมื่อเพาะเลี้ยงในไข่ไก่ที่ปฏิสนธิแล้ว การประยุกต์ใช้การสังเกตนี้โดยฟรานซิสทำให้กลุ่มนักวิจัยของเขาที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นครั้งแรกด้วยการสนับสนุนของกองทัพสหรัฐ กองทัพเข้าร่วมการวิจัยนี้เพราะประสบการณ์ไข้หวัดใหญ่ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งกำลังพลหลายพันนายเสียชีวิตจากไวรัสในเวลาไม่กี่เดือน เมื่อเทียบกับวัคซีนแล้ว การพัฒนายาต้านไข้หวัดใหญ่ช้ากว่า โดยมีการจดสิทธิบัตรอะแมนตาดีนในปี 1966 และอีกเกือบสามสิบปีต่อมา กำลังมีการพัฒนายากลุ่มใหม่ (ตัวยับยั้งนิวรามินิเดส)
ชื่อ | ปี | ประชากรโลก | ชนิดย่อย | Reproduction number | คนติด (คนโดยประมาณ) | คนตายทั่วโลก (คน) | อัตราป่วยตาย | ระดับความรุนแรง |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่ว ค.ศ. 1889-1890 | 1889-1890 | 1,530 ล้าน | น่าจะ H3N8 หรือ H2N2 | 2.10 (IQR, 1.9-2.4) | 20-60% (300-900 ล้าน) | 1 ล้าน | 0.10-0.28% | 2 |
ไข้หวัดใหญ่สเปน | 1918-20 | 1,800 ล้าน | H1N1 | 1.80 (IQR, 1.47-2.27) | 33% (500 ล้าน) หรือ >56% (>1 พันล้าน) | 17 - 100 ล้าน | 2-3%, หรือ ~4% หรือ ~10% | 5 |
ไข้หวัดใหญ่เอเชีย | 1957-58 | 2,900 ล้าน | H2N2 | 1.65 (IQR, 1.53-1.70) | >17% (>500 ล้าน) | 1-4 ล้าน | <0.2% | 2 |
ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง | 1968-69 | 3,530 ล้าน | H3N2 | 1.80 (IQR, 1.56-1.85) | >14% (>500 ล้าน) | 1-4 ล้าน | <0.2% | 2 |
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 | 2009-10 | 6,850 ล้าน | H1N1/09 | 1.46 (IQR, 1.30-1.70) | 11-21% (700-1,400 ล้าน) | 151,700 - 575,400 | 0.03% | 1 |
ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล | ทุกปี | 7,750 ล้าน | A/H3N2, A/H1N1, B, ... | 1.28 (IQR, 1.19-1.37) | 5-15% (340-1,000 ล้าน)3-11% หรือ 5-20%(240-1,600 ล้าน) | 290,000 - 650,000/ปี | <0.1% | 1 |
หมายเหตุ
|
สังคมและวัฒนธรรม
ไข้หวัดใหญ่มีราคาโดยตรงเนื่องจากการเสียผลิตภาพและการรักษาทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนราคาโดยอ้อมของมาตรการป้องกัน ในสหรัฐ ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลมีประเมินว่าส่งผลให้มีราคาทางเศรษฐกิจต่อปีเฉลี่ยกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นราคาทางการแพทย์ดดยตรงกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี มีการประเมินว่าการระบาดทั่วในอนาคตอาจทำให้ราคาโดยตรงและโดยอ้อมสูงถึงหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจของการระบาดทั่วในอดีตอย่างเข้มข้น และผู้ประพันธ์บางคนเสนอว่าไข้หวัดใหญ่สเปนอาจมีผลกระทบระยะยาวเป็นบวกต่อการเติบโตของรายได้ต่อหัว แม้มีการลดลงของประชากรทำงานและผลอย่างรุนแรงระยะสั้น การศึกษาอื่นพยายามทำนายราคาของการระบาดทั่วที่รุนแรงเท่ากับไข้หวัดใหญ่สเปนปี 1918 ต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งคนงาน 30% ป่วย และเสียชีวิต 2.5% อัตราป่วย 30% และการเจ็บป่วยนานสามสัปดาห์จะลดผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 5% ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอาจมาจากการรักษษทางการแพทย์ประชากร 18 ถึง 45 ล้านคน จะคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งสิ้นประมาณ 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าป้องกันยังสูงด้วย รัฐบาลทั่วโลกใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐเตรียมการและวางแผนการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่นกเอช5เอ็น1 โดยค่าใช้จ่ายที่สัมพันธ์กับการซื้อยาและวัคซีนตลอดจนการพัฒนาการฝึกภัยพิบัติและยุทธศาสตร์สำหรับการควบคุมชายแดนปรับปรุง เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2005 ประธานาธิบดีสหรัฐ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เปิดยุทธศาสตร์แห่งชาติสำหรับพิทักษ์อันตรายของไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่ว ซึ่งสนับสนุนโดยคำร้องต่อรัฐสภาเป็นเงิน 7.1 พันล้านดอลลาร์เพื่อเริ่มต้นนำแผนไปปฏิบัติ ในระดับสากล วันที่ 18 มกราคม 2006 ชาติผู้บริจาคให้คำมั่นว่าจะใช้เงิน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อต่อสู้กับไข้หวัดใหญ่นกในการประชุมจำนำระหว่างประเทศว่าด้วยไข้หวัดใหญ่นกและมนุษย์ที่จัดในประเทศจีน
ในการประเมินผลการระบาดทั่วของเอช1เอ็น1 ปี 2009 ในบางประเทศซีกโลกใต้ ข้อมูลชี้ว่าทุกประเทศมีผลจำกัดด้วยเวลา และ/หรือ การแยกทางภูมิศาสตร์ ผลทางสังคมและเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวลดลงชั่วคราวอันเนื่องจากความกลัวโรคเอช1เอ็น1 ปี 2009 ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่าการระบาดทั่วของเอช1เอ็น1 ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจระยะยาว
การวิจัย
การวิจัยเรื่องไข้หวัดใหญ่รวมการศึกษาวิทยาไวรัสโมเลกุล พยาธิกำเนิด การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของตัวถูกเบียน จีโนมิกส์ไวรัส และวิทยาการระบาด การศึกษาเหล่านี้ช่วยพัฒนามาตรการตอบโต้ไข้หวัดใหญ่ ตัวอย่างเช่น ความเข้าใจระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ดีขึ้นช่วยพัฒนาวัคซีน และภาพรายละเอียดวิธีที่ไข้หวัดใหญ่บุกรุกเซลล์ช่วยพัฒนายาต้านไวรัส โครงการวิจัยพื้นฐานหนึ่ง ได้แก่ โครงการเรียงลำดับจีโนมไข้หวัดใหญ่ ซึ่งสร้างคลังลำดับไข้หวัดใหญ่ คลังนี้ช่วยทำให้ปัจจัยที่ทำให้สายพันธุ์ไวรัสหนึ่งมีอัตราตายมากกว่าสายพันธุ์อื่นกระจ่างมากขึ้น ยีนใดมีผลต่อการก่อกำเนิดภูมิคุ้มกันมากที่สุด และไวรัสวิวัฒนาการอย่างไรตามเวลา
การวิจัยวัคซีนใหม่มีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะวัคซีนปัจจุบันผลิตได้ช้ามากและมีราคาแพง และจำเป็นต้องมีการปรับสูตรใหม่ทุกปี การเรียงลำดับจีโนมไข้หวัดใหญ่และเทคโนโลยีดีเอ็นเอสายผสมอาจเร่งการก่อกำเนิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ทดแทนแอนติเจนใหม่เข้าสู่สายพันธุ์วัคซีนที่พัฒนาก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ปัจจุบันกำลังมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพื่อเพาะไวรัสในการเพาะเลี้ยงเซลล์ ซึ่งจะให้ผลมากกว่า ราคาถูกกว่า มีคุณภาพดีกว่า และมีสมรรถนะมากขึ้น การวิจัยเรื่องวัคซีนไข้หวัดใหญ่เอสากล ซึ่งมุ่งเป้าโดเมนภายนอกของโปรตีนเอ็ม2 ข้ามเยื่อของไวรัส (M2e) อยู่ระหว่างดำเนินการที่มหาวิทยาลัยเกนต์โดยวัลเทอร์ เฟียส์, ซาเวียร์ เซเลนส์และคณะ และปัจจุบันสิ้นสุดการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 สำเร็จแล้ว มีความสำเร็จในการวิจัยบ้างต่อ "วัคซีนไข้หวัดใหญ่สากล" ซึ่งผลิตแอนติบอดีต่อโปรตีนที่อยู่บนโค้ตไวรัสซึ่งกลายพันธุ์ช้ากว่า ฉะนั้นวัคซีนเข็มเดียวสามารถให้การป้องกันที่อยู่นานขึ้น
ปัจจุบันกำลังมีการสอบสวนยาชีวภาพ (biologic) วัคซีนรักษาและยาชีวภาพภูมิคุ้มกัน (immunobiologic) สำหรับรักษาการติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสจำนวนหนึ่ง ชีววิทยาการรักษาออกแบบมาให้ปลุกฤทธิ์การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อไวรัสหรือแอนติเจน ตรงแบบยาชีวภาพไม่มุ่งเป้าวิถีเมแทบอลิซึมอย่างยาต้านไวรัส แต่กระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกันอย่างเม็ดเลือดขาว แมโครเฟจและ/หรือ เซลล์นำเสนอแอนติเจน (antigen presenting cell) ในความพยายามผลักดันการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อผลมีพิษต่อเซลล์ต่อไวรัส แบบจำลองไข้หวัดใหญ่ อย่างไข้หวัดใหญ่หนู เป็นแบบจำลองที่สะดวกเพื่อทดสอบผลของยาชีวภาพเพื่อป้องกันและรักษาโรค ตัวอย่างเช่น ยาปรับภูมิคุ้มกันเม็ดเลือดขาวที-เซลล์ (Lymphocyte T-Cell Immune Modulator) ยับยั้งการเจริญของไวรัสในแบบจำลองหนูของไข้หวัดใหญ่
สัตว์อื่น
ไข้หวัดใหญ่ยังมีการติดเชื้อในสัตว์หลายชนิด และการถ่ายโอนสายพันธุ์ไวรัสระหว่างสัตว์ชนิดต่าง ๆ นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ เชื่อว่านกเป็นสัตว์เก็บเชื้อหลักของไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีการระบุฮีม็กกลูตินินสิบหกแบบ และนิวรามินิเดสเก้าแบบ พบทุกชนิดย่อย (เอช_เอ็น_) ในนก แต่หลายชนิดย่อยพบประจำในมนุษย์ หมา ม้าและหมู อูฐบางส่วน เฟอร์เร็ต แมว แมวน้ำ มิงก์และวาฬยังแสดงหลักฐานของการติดเชื้อหรือการสัมผัสไข้หวัดใหญ่ก่อนหน้านี้ด้วย ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดต่าง ๆ บางทีได้ชื่อตามชนิดของสัตว์ที่พบประจำหรือมีการปรับตัว ชนิดหลักที่ได้ชื่อตามธรรมเนียมนี้ ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่นก ไข้หวัดใหญ่มนุษย์ ไข้หวัดใหญ่หมู ไข้หวัดใหญ่ม้าและไข้หวัดใหญ่หมา (ปกติไข้หวัดใหญ่แมวหมายถึงเยื่อจมูกและท่อลมอักเสบจากไวรัสในแมว หรือคาลิซิไวรัสแมว และไม่ใช่การติดเชื้อจากไวรัสไข้หวัดใหญ่) ในหมู ม้าและหมา อาการของไข้หวัดใหญ่คล้ายกับมนุษย์ คือมีไอ ไข้และเบื่ออาหาร ความถี่ของโรคสัตว์ยังมีการศึกษาไม่ดีเท่าการติดเชื้อในมนุษย์ แต่การระบาดของไข้หวัดใหญ่ในแมวน้ำตามท่าเรือทำให้มีแมวน้ำตายประมาณ 500 ตัวนอกชายฝั่งนิวอิงแลนด์ในปี 1979–1980 อย่างไรก็ดี การระบาดในหมูพบทั่วไปและไม่ก่อให้เกิดการตายรุนแรง ยังมีการวัคซีนเพื่อป้องกันสัตว์ปีกจากไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก วัคซีนเหล่านี้มีประสิทธิภาพต่อไวรัสหลายสายพันธุ์ และใช้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ป้องกัน หรือรวมกับการฆ่าสัตว์ (culling) เพื่อพยายามกำจัดการระบาด
ไข้หวัดใหญ่นก
อาการไข้หวัดใหญ่ในนกมีหลากหลายและอาจไม่จำเพาะ อาการตามหลังการติดเชื้อด้วยไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีกที่มีความสามารถก่อโรคต่ำอาจไม่รุนแรงอย่างขนฟู ผลิตไข่ลดลงเล็กน้อย หรือน้ำหนักลดร่วมกับโรคทางเดินหายใจเล็กน้อย เนื่องจากอาการเบา ๆ เหล่านี้อาจทำให้การวินิจฉัยในสนามทำได้ยาก การติดตามการระบาดของไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีกจึงต้องอาศัยการทดสอบทางห้องปฏิบัติการซึ่งตัวอย่างจากนกที่ติดเชื้อ บางสายพันธุ์อย่างเอช9เอ็น2 ในเอเชียมีศักยภาพก่อโรคสูงต่อสัตว์ปีก และอาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงและการตายสูง ในรูปที่ก่อโรคสูงสุด ไข้หวัดใหญ่ในไก่และไก่งวงทำให้มีอาการรุนแรงที่ปรากฏเฉียบพลันและอัตราตายเกือบ 100% ภายในสองวัน เมื่อไวรัสแพร่อย่างรวดเร็วในภาวะแออัดที่พบในการทำฟาร์มไก่และไก่งวงแบบเข้มข้น การระบาดเหล่านี้ทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมากต่อเกษตรกรสัตว์ปีก
สายพันธุ์ก่อโรคสูงและปรับตัวในสัตว์ปีกเอช5เอ็น1 (เรียก HPAI A(H5N1) ย่อมาจาก "ไวรัสไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีกก่อโรคสูงชนิดเอ ชนิดย่อยเอช5เอ็น1") ก่อโรคไข้หวัดใหญ่เอช5เอ็น1 หรือเรียกทั่วไปว่า "ไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก" หรือลำลองว่า "ไข้หวัดนก" พบประจำถิ่นในประชากรนกหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สายพันธุ์ HPAI A(H5N1) เชื้อสายเอเชียนี้กระจายไปทั่วโลก เป็นโรคระบาดในสัตว์และโรคระบาดทั่วในสัตว์ ทำให้มีนกตายหลายสิบล้านตัว และทำให้เกิดการฆ่านกอื่นหลายร้อยล้านตัวเพื่อพยายามควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส การพาดพิงในสื่อถึง "ไข้หวัดนก" ส่วนมากและการพาดพิงส่วนใหญ่ถึงเอช5เอ็น1 ก็เกี่ยวกับสายพันธุ์นี้โดยเฉพาะ
ปัจจุบัน HPAI A(H5N1) เป็นโรคสัตว์ปีกและไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่ามีการแพร่เชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์ของ HPAI A(H5N1) อย่างมีประสิทธิภาพ ในผู้ป่วยเกือบทั้งหมดล้วนมีการสัมผัสทางกายอย่างมากต่อนกที่ป่วย ในอนาคต เอช5เอ็น1 อาจกลายพันธุ์หรือรวมกันใหม่เป็นสายพันธุ์ที่สามารถแพร่เชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ การเปลี่ยนแปลงแน่ชัดที่จำเป็นต่อการเกิดเหตุการณ์ดังนี้ยังไม่เข้าใจดีนัก อย่างไรก็ดี เนื่องจากอัตราตายสูงและศักยภาพก่อโรคของเอช5เอ็น1 การมีการระบาด และตัวถูกเบียนเก็บเชื้อชีวภาพที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ ไวรัสเอช5เอ็น1 จึงเป็นภัยคุกคามโรคระบาดทั่วระหว่างฤดูกาลไข้หวัดใหญ่ปี 2006–07 และมีการระดมเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐและใช้จ่ายเพื่อวิจัยเอช5เอ็น1 และการเตรียมการสำหรับการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้น
ในเดือนมีนาคม 2013 รัฐบาลจีนรายงานการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่เอช7เอ็น9 ในมนุษย์ 3 ราย ในจำนวนนี้สองคนเสียชีวิตและคนที่สามป่วยวิกฤต แม้ไม่เชื่อว่าไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวมีการแพร่กระจายอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เมื่อถึงกลางเดือนเมษายน มีบุคคลอย่างน้อย 82 คนป่วยจากเอช7เอ็น9 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 17 คน ผู้ป่วยเหล่านี้ได้แก่กลุ่มครอบครัวขนาดเล็กสามกลุ่มในเซี่ยงไฮ้และหนึ่งกลุ่มระหว่างเด็กหญิงและชายที่เป็นเพื่อนบ้านกันในกรุงปักกิ่ง ทำให้มีข้อสงสัยความเป็นไปได้ของการแพร่เชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์ องค์การอนามัยโลกชี้ว่ากลุ่มหนึ่งมีผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยืนยันทางห้องปฏิบัติการสองคน และชี้ว่าไวรัสบางชนิดสามารถก่อให้เกิดการแพร่เชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์ภายใต้ภาวะการสัมผัสใกล้ชิด แต่ไม่แพร่เชื้อมากพอก่อให้เกิดการระบาดในชุมชนขนาดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่หมู
ในหมู ไข้หวัดใหญ่หมูก่ออาการไข้ เซื่องซึม จาม ไอ หายใจลำบากและเบื่ออาหาร ในบางกรณีการติดเชื้อสามารถทำให้แท้งได้ แม้อัตราตายตามปกติต่ำ แต่ไวรัสสามารถทำให้น้ำหนักลดและเติบโตไม่ดีได้ ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจต่อเกษตรกร หมูที่ติดเชื้ออาจมีน้ำหนักตัวลดลงมากถึง 12 ปอนด์ในระยะเวลา 3 ถึง 4 สัปดาห์ การแพร่เชื้อโดยตรงของไวรัสไข้หวัดใหญ่จากหมูสู่มนุษย์เป็นไปได้บางครั้ง (เรียกว่าไข้หวัดใหญ่หมูรับจากสัตว์) ทั้งหมดแล้ว ทราบกันว่าเกิดผู้ป่วยมนุษย์ 50 คนนับแต่มีการระบุไวรัสในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 6 คน
ในปี 2009 สายพันธุ์ไวรัสเอช1เอ็น1 ที่มีกำเนิดจากหมูที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "ไข้หวัดใหญ่หมู" นั้นก่อให้เกิดการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แต่ไม่มีหลักฐานว่าไวรัสพบเฉพาะในหมู หรือเป็นการแพร่เชื้อจากหมูสู่มนุษย์ แต่ไวรัสนั้นแพร่จากมนุษย์สู่มนุษย์ สายพันธุนี้เป็นการรวมกันใหม่ของเอช1เอ็น1 ที่ปกติพบแยกกัน ในมนุษย์ นกและหมู
อ้างอิง
- "Influenza (Seasonal)". World Health Organization (WHO). 6 November 2018. จากแหล่งเดิมเมื่อ 30 November 2019. สืบค้นเมื่อ 30 November 2019.
- Longo DL (2012). "Chapter 187: Influenza". Harrison's principles of internal medicine (18th ed.). New York: McGraw-Hill. ISBN .
- Jefferson T, Del Mar CB, Dooley L, และคณะ (2011). "Physical interventions to interrupt or reduce the spread of respiratory viruses" (PDF). Cochrane Database Syst Rev (7): CD006207. doi:10.1002/14651858.CD006207.pub4. PMID 21735402.
- "Up to 650 000 people die of respiratory diseases linked to seasonal flu each year". World Health Organization (WHO) (Press release). 14 December 2017. จากแหล่งเดิมเมื่อ 18 April 2019. สืบค้นเมื่อ 24 September 2019.
- "Key Facts about Influenza (Flu) & Flu Vaccine". cdc.gov. 9 September 2014. จากแหล่งเดิมเมื่อ 2 December 2014. สืบค้นเมื่อ 26 November 2014.
- Duben-Engelkirk, Paul G.; Engelkirk, Janet (2011). Burton's microbiology for the health sciences (9th ed.). Philadelphia: Wolters Kluwer Health/Lippincott Williams & Wilkins. p. 314. ISBN .
- "Types of Influenza Viruses Seasonal Influenza (Flu)". CDC (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 27 September 2017. สืบค้นเมื่อ 28 September 2018.
- Shuo Su; Xinliang Fu; Gairu Li; Fiona Kerlin; Michael Veit (25 August 2017). "Novel Influenza D virus: Epidemiology, pathology, evolution and biological characteristics". Virulence. 8 (8): 1580–91. doi:10.1080/21505594.2017.1365216. PMC 5810478. PMID 28812422.
- Brankston G, Gitterman L, Hirji Z, Lemieux C, Gardam M (April 2007). "Transmission of influenza A in human beings". Lancet Infect Dis. 7 (4): 257–65. doi:10.1016/S1473-3099(07)70029-4. PMID 17376383.
- Michiels B, Van Puyenbroeck K, Verhoeven V, Vermeire E, Coenen S (2013). "The value of neuraminidase inhibitors for the prevention and treatment of seasonal influenza: a systematic review of systematic reviews". PLOS One. 8 (4): e60348. Bibcode:2013PLoSO...860348M. doi:10.1371/journal.pone.0060348. PMC 3614893. PMID 23565231.
- Ebell MH, Call M, Shinholser J (April 2013). "Effectiveness of oseltamivir in adults: a meta-analysis of published and unpublished clinical trials". Family Practice. 30 (2): 125–33. doi:10.1093/fampra/cms059. PMID 22997224.
- Somes MP, Turner RM, Dwyer LJ, Newall AT (May 2018). "Estimating the annual attack rate of seasonal influenza among unvaccinated individuals: A systematic review and meta-analysis". Vaccine. 36 (23): 3199–3207. doi:10.1016/j.vaccine.2018.04.063. PMID 29716771.
- . World Health Organization. 14 October 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 October 2009. สืบค้นเมื่อ 26 September 2009.
- Chan, Margaret (11 June 2009). "World now at the start of 2009 influenza pandemic". World Health Organization. จากแหล่งเดิมเมื่อ 12 June 2009. สืบค้นเมื่อ 12 June 2009.
- Palmer SR (2011). Oxford textbook of zoonoses : biology, clinical practice, and public health control (2. ed.). Oxford u.a.: Oxford Univ. Press. p. 332. ISBN .
- Call S, Vollenweider M, Hornung C, Simel D, McKinney W (2005). "Does this patient have influenza?". JAMA. 293 (8): 987–97. doi:10.1001/jama.293.8.987. PMID 15728170.
- Centers for Disease Control and Prevention > Influenza Symptoms 1 พฤษภาคม 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Retrieved 28 April 2009.
- Time Lines of Infection and Disease in Human Influenza: A Review of Volunteer Challenge Studies 13 มิถุนายน 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, American Journal of Epidemiology, Carrat, Vergu, Ferguson, et al., 167 (7): 775–85, 2008. "... In almost all studies, participants were individually confined for 1 week ..." See especially Figure 5 which shows that virus shedding tends to peak on day 2 whereas symptoms tend to peak on day 3.
- Suzuki E, Ichihara K, Johnson AM (January 2007). "Natural course of fever during influenza virus infection in children". Clin Pediatr (Phila). 46 (1): 76–79. doi:10.1177/0009922806289588. PMID 17164515.
- "Influenza: Viral Infections: Merck Manual Home Edition". Merck. จากแหล่งเดิมเมื่อ 17 March 2008. สืบค้นเมื่อ 15 March 2008.
- Silva ME, Cherry JD, Wilton RJ, Ghafouri NM, Bruckner DA, Miller MJ (August 1999). "Acute fever and petechial rash associated with influenza A virus infection". Clinical Infectious Diseases. 29 (2): 453–54. doi:10.1086/520240. PMID 10476766.
- Richards S (2005). "Flu blues". Nurs Stand. 20 (8): 26–27. doi:10.7748/ns.20.8.26.s29. PMID 16295596.
- Heikkinen T (July 2006). "Influenza in children". Acta Paediatr. 95 (7): 778–84. doi:10.1080/08035250600612272. PMID 16801171.
- Kerr AA, McQuillin J, Downham MA, Gardner PS (1975). "Gastric 'flu influenza B causing abdominal symptoms in children". Lancet. 1 (7902): 291–95. doi:10.1016/S0140-6736(75)91205-2. PMID 46444.
- Eccles, R (2005). "Understanding the symptoms of the common cold and influenza". Lancet Infect Dis. 5 (11): 718–25. doi:10.1016/S1473-3099(05)70270-X. PMID 16253889.
- Hui DS (March 2008). "Review of clinical symptoms and spectrum in humans with influenza A/H5N1 infection". Respirology. 13 (Suppl 1): S10–13. doi:10.1111/j.1440-1843.2008.01247.x. PMID 18366521.
- Smith K, Roberts M (2002). "Cost-effectiveness of newer treatment strategies for influenza". Am J Med. 113 (4): 300–07. 10.1.1.575.2366. doi:10.1016/S0002-9343(02)01222-6. PMID 12361816.
- Rothberg M, Bellantonio S, Rose D (2 September 2003). "Management of influenza in adults older than 65 years of age: cost-effectiveness of rapid testing and antiviral therapy". Annals of Internal Medicine. 139 (5 Pt 1): 321–29. doi:10.7326/0003-4819-139-5_part_1-200309020-00007. PMID 12965940.
- Centers for Disease Control and Prevention. Lab Diagnosis of Influenza. 22 เมษายน 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Retrieved 1 May 2009
- "Rapid Diagnostic Testing for Influenza: Information for Clinical Laboratory Directors". Centers for Disease Control and Prevention. 13 ตุลาคม 2015. จากแหล่งเดิมเมื่อ 16 มกราคม 2016. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2016.
- Hospitalized Patients with 2009 H1N1 Influenza in the United States, April–June 2009 7 กุมภาพันธ์ 2021 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, New England Journal of Medicine, Jain, Kamimoto, et al., 12 November 2009.
- Transcript of virtual press conference with Gregory Hartl, Spokesperson for H1N1, and Dr Nikki Shindo, Medical Officer, Global Influenza Programme, World Health Organization 22 ธันวาคม 2020 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 12 November 2009.
- Report Finds Swine Flu Has Killed 36 Children 7 มีนาคม 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, New York Times, DENISE GRADY, 3 September 2009.
- "Guide for considering influenza testing when influenza viruses are circulating in the community | Seasonal Influenza (Flu) | CDC". www.cdc.gov (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 20 February 2018. สืบค้นเมื่อ 30 March 2018.
- "The Flu: What To Do If You Get Sick". Centers for Disease Control and Prevention (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 9 March 2018. สืบค้นเมื่อ 29 March 2018.
- Kawaoka Y, บ.ก. (2006). Influenza Virology: Current Topics. Caister Academic Press. ISBN . จากแหล่งเดิมเมื่อ 9 May 2008.
- Vainionpää R, Hyypiä T (April 1994). "Biology of parainfluenza viruses". Clin. Microbiol. Rev. 7 (2): 265–75. doi:10.1128/CMR.7.2.265. PMC 358320. PMID 8055470.
- Hall CB (June 2001). "Respiratory syncytial virus and parainfluenza virus". N. Engl. J. Med. 344 (25): 1917–28. doi:10.1056/NEJM200106213442507. PMID 11419430.
- Hause BM, Collin EA, Liu R, Huang B, Sheng Z, Lu W, Wang D, Nelson EA, Li F (2014). "Characterization of a novel influenza virus in cattle and swine: proposal for a new genus in the Orthomyxoviridae family". mBio. 5 (2): e00031–14. doi:10.1128/mBio.00031-14. PMC 3958797. PMID 24595369.
- Collin EA, Sheng Z, Lang Y, Ma W, Hause BM, Li F (2015). "Cocirculation of two distinct genetic and antigenic lineages of proposed influenza D virus in cattle". J Virol. 89 (2): 1036–42. doi:10.1128/JVI.02718-14. PMC 4300623. PMID 25355894.
- Ducatez MF, Pelletier C, Meyer G (2015). "Influenza D virus in cattle, France, 2011–2014". Emerg Infect Dis. 21 (2): 368–71. doi:10.3201/eid2102.141449. PMC 4313661. PMID 25628038.
- Song H, Qi J, Khedri Z, Diaz S, Yu H, Chen X, Varki A, Shi Y, Gao GF (2016). "An open receptor-binding cavity of hemagglutinin-esterase-fusion glycoprotein from newly-identified Influenza D Virus: Basis for its broad cell tropism". PLoS Pathog. 12 (1): e1005411. doi:10.1371/journal.ppat.1005411. PMC 4729479. PMID 26816272.
- Sheng Z, Ran Z, Wang D, Hoppe AD, Simonson R, Chakravarty S, Hause BM, Li F (2014). "Genomic and evolutionary characterization of a novel influenza-C-like virus from swine". Arch Virol. 159 (2): 249–55. doi:10.1007/s00705-013-1815-3. PMC 5714291. PMID 23942954.
- Quast M, Sreenivasan C, Sexton G, Nedland H, Singrey A, Fawcett L, Miller G, Lauer D, Voss S, Pollock S, Cunha CW, Christopher-Hennings J, Nelson E, Li F (2015). "Serological evidence for the presence of influenza D virus in small ruminants". Vet Microbiol. 180 (3–4): 281–85. doi:10.1016/j.vetmic.2015.09.005. PMC 4618254. PMID 26414999.
- Smith DB, Gaunt ER, Digard P, Templeton K, Simmonds P (2016). "Detection of influenza C virus but not influenza D virus in Scottish respiratory samples". J Clin Virol. 74: 50–53. doi:10.1016/j.jcv.2015.11.036. PMC 4710576. PMID 26655269.
- Klenk H, Matrosovich M, Stech J (2008). "Avian Influenza: Molecular Mechanisms of Pathogenesis and Host Range". Animal Viruses: Molecular Biology. Caister Academic Press. ISBN .
- Hay AJ, Gregory V, Douglas AR, Lin YP (December 2001). "The evolution of human influenza viruses". Philosophical Transactions of the Royal Society of London. Series B, Biological Sciences. 356 (1416): 1861–70. doi:10.1098/rstb.2001.0999. PMC 1088562. PMID 11779385.
- Fouchier RA, Schneeberger PM, Rozendaal FW, Broekman JM, Kemink SA, Munster V, และคณะ (กุมภาพันธ์ 2004). "Avian influenza A virus (H7N7) associated with human conjunctivitis and a fatal case of acute respiratory distress syndrome". Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 101 (5): 1356–61. Bibcode:2004PNAS..101.1356F. doi:10.1073/pnas.0308352100. PMC 337057. PMID 14745020.
- "Avian Influenza A (H7N9) Virus | Avian Influenza (Flu)". www.cdc.gov (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 24 February 2017.
- Yuan J, Zhang L, Kan X, Jiang L, Yang J, Guo Z, Ren Q (November 2013). "Origin and Molecular Characteristics of a Novel 2013 Avian Influenza A(H6N1) Virus Causing Human Infection in Taiwan". Clinical Infectious Diseases. 57 (9): 1367–68. doi:10.1093/cid/cit479. ISSN 1537-6591. PMID 23881153.
- Osterhaus AD, Rimmelzwaan GF, Martina BE, Bestebroer TM, Fouchier RA (May 2000). "Influenza B virus in seals". Science. 288 (5468): 1051–53. Bibcode:2000Sci...288.1051O. doi:10.1126/science.288.5468.1051. PMID 10807575.
- Jakeman KJ, Tisdale M, Russell S, Leone A, Sweet C (August 1994). "Efficacy of 2'-deoxy-2'-fluororibosides against influenza A and B viruses in ferrets". Antimicrobial Agents and Chemotherapy. 38 (8): 1864–67. doi:10.1128/aac.38.8.1864. PMC 284652. PMID 7986023.
- Nobusawa E, Sato K (April 2006). "Comparison of the mutation rates of human influenza A and B viruses". Journal of Virology. 80 (7): 3675–78. doi:10.1128/JVI.80.7.3675-3678.2006. PMC 1440390. PMID 16537638.
- Webster RG, Bean WJ, Gorman OT, Chambers TM, Kawaoka Y (March 1992). "Evolution and ecology of influenza A viruses". Microbiological Reviews. 56 (1): 152–79. PMC 372859. PMID 1579108.
- Zambon MC (พฤศจิกายน 1999). "Epidemiology and pathogenesis of influenza" (PDF). The Journal of Antimicrobial Chemotherapy. 44 (Suppl B, 90002): 3–9. doi:10.1093/jac/44.suppl_2.3. PMID 10877456. (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 23 มีนาคม 2013.
- Matsuzaki Y, Sugawara K, Mizuta K, Tsuchiya E, Muraki Y, Hongo S, Suzuki H, Nakamura K (February 2002). "Antigenic and genetic characterization of influenza C viruses which caused two outbreaks in Yamagata City, Japan, in 1996 and 1998". Journal of Clinical Microbiology. 40 (2): 422–29. doi:10.1128/JCM.40.2.422-429.2002. PMC 153379. PMID 11825952.
- Taubenberger JK, Morens DM (2008). "The pathology of influenza virus infections". Annual Review of Pathology. 3: 499–522. doi:10.1146/annurev.pathmechdis.3.121806.154316. PMC 2504709. PMID 18039138.
- Matsuzaki Y, Katsushima N, Nagai Y, Shoji M, Itagaki T, Sakamoto M, Kitaoka S, Mizuta K, Nishimura H (May 2006). "Clinical features of influenza C virus infection in children". The Journal of Infectious Diseases. 193 (9): 1229–35. doi:10.1086/502973. PMID 16586359.
- Katagiri S, Ohizumi A, Homma M (July 1983). "An outbreak of type C influenza in a children's home". The Journal of Infectious Diseases. 148 (1): 51–56. doi:10.1093/infdis/148.1.51. PMID 6309999.
- International Committee on Taxonomy of Viruses descriptions of:, and
- Nakatsu S, Murakami S, Shindo K, Horimoto T, Sagara H, Noda T, Kawaoka Y (March 2018). "Influenza C and D Viruses Package Eight Organized Ribonucleoprotein Complexes". Journal of Virology. 92 (6): e02084–17. doi:10.1128/jvi.02084-17. PMC 5827381. PMID 29321324.
- Sugita Y, Noda T, Sagara H, Kawaoka Y (November 2011). "Ultracentrifugation deforms unfixed influenza A virions". The Journal of General Virology. 92 (Pt 11): 2485–93. doi:10.1099/vir.0.036715-0. PMC 3352361. PMID 21795472.
- Dadonaite B, Vijayakrishnan S, Fodor E, Bhella D, Hutchinson EC (August 2016). "Filamentous influenza viruses". The Journal of General Virology. 97 (8): 1755–64. doi:10.1099/jgv.0.000535. PMC 5935222. PMID 27365089.
- Bouvier NM, (September 2008). "The biology of influenza viruses". Vaccine. 26 (Suppl 4): D49–53. doi:10.1016/j.vaccine.2008.07.039. PMC 3074182. PMID 19230160.
- Lamb RA, Choppin PW (1983). "The gene structure and replication of influenza virus". Annu. Rev. Biochem. 52: 467–506. doi:10.1146/annurev.bi.52.070183.002343. PMID 6351727.
- Ghedin E, Sengamalay NA, Shumway M, Zaborsky J, Feldblyum T, Subbu V, และคณะ (October 2005). "Large-scale sequencing of human influenza reveals the dynamic nature of viral genome evolution". Nature. 437 (7062): 1162–66. Bibcode:2005Natur.437.1162G. doi:10.1038/nature04239. PMID 16208317.
- Suzuki Y (March 2005). "Sialobiology of influenza: molecular mechanism of host range variation of influenza viruses". Biological & Pharmaceutical Bulletin. 28 (3): 399–408. doi:10.1248/bpb.28.399. PMID 15744059.
- Suzuki Y (March 2005). "Sialobiology of influenza: molecular mechanism of host range variation of influenza viruses". Biological & Pharmaceutical Bulletin. 28 (3): 399–408. doi:10.1248/bpb.28.399. PMID 15744059.
- Wilson JC, von Itzstein M (July 2003). "Recent strategies in the search for new anti-influenza therapies". Current Drug Targets. 4 (5): 389–408. doi:10.2174/1389450033491019. PMID 12816348.
- Hilleman MR (August 2002). "Realities and enigmas of human viral influenza: pathogenesis, epidemiology and control". Vaccine. 20 (25–26): 3068–87. doi:10.1016/s0264-410x(02)00254-2. PMID 12163258.
- Tong S, Zhu X, Li Y, Shi M, Zhang J, Bourgeois M, และคณะ (10 October 2013). "New world bats harbor diverse influenza A viruses". PLoS Pathogens. 9 (10): e1003657. doi:10.1371/journal.ppat.1003657. PMC 3794996. PMID 24130481.
- Tong S, Li Y, Rivailler P, Conrardy C, Castillo DA, Chen LM, และคณะ (March 2012). "A distinct lineage of influenza A virus from bats". Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 109 (11): 4269–74. Bibcode:2012PNAS..109.4269T. doi:10.1073/pnas.1116200109. PMC 3306675. PMID 22371588.
- Smith AE, Helenius A (April 2004). "How viruses enter animal cells". Science. 304 (5668): 237–42. Bibcode:2004Sci...304..237S. doi:10.1126/science.1094823. PMID 15073366.
- Wagner R, Matrosovich M, Klenk HD (May–June 2002). "Functional balance between haemagglutinin and neuraminidase in influenza virus infections". Reviews in Medical Virology. 12 (3): 159–66. doi:10.1002/rmv.352. PMID 11987141.
- Steinhauer DA (May 1999). "Role of hemagglutinin cleavage for the pathogenicity of influenza virus". Virology. 258 (1): 1–20. doi:10.1006/viro.1999.9716. PMID 10329563.
- Liu SL, Zhang ZL, Tian ZQ, Zhao HS, Liu H, Sun EZ, Xiao GF, Zhang W, Wang HZ, Pang DW (2011) Effectively and efficiently dissecting the infection of influenza virus by quantum dot-based single-particle tracking. ACS Nano
- Lakadamyali M, Rust MJ, Babcock HP, Zhuang X (August 2003). "Visualizing infection of individual influenza viruses". Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 100 (16): 9280–85. Bibcode:2003PNAS..100.9280L. doi:10.1073/pnas.0832269100. PMC 170909. PMID 12883000.
- Pinto LH, Lamb RA (April 2006). "The M2 proton channels of influenza A and B viruses". The Journal of Biological Chemistry. 281 (14): 8997–9000. doi:10.1074/jbc.R500020200. PMID 16407184.
- Cros JF, Palese P (September 2003). "Trafficking of viral genomic RNA into and out of the nucleus: influenza, Thogoto and Borna disease viruses". Virus Research. 95 (1–2): 3–12. doi:10.1016/S0168-1702(03)00159-X. PMID 12921991.
- Kash JC, Goodman AG, Korth MJ, Katze MG (July 2006). "Hijacking of the host-cell response and translational control during influenza virus infection". Virus Research. 119 (1): 111–20. doi:10.1016/j.virusres.2005.10.013. PMID 16630668.
- Nayak DP, Hui EK, Barman S (December 2004). "Assembly and budding of influenza virus". Virus Research. 106 (2): 147–65. doi:10.1016/j.virusres.2004.08.012. PMID 15567494.
- Drake JW (May 1993). "Rates of spontaneous mutation among RNA viruses". Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 90 (9): 4171–75. Bibcode:1993PNAS...90.4171D. doi:10.1073/pnas.90.9.4171. PMC 46468. PMID 8387212.
- Sherman IW (2007). Twelve diseases that changed our world. Washington, DC: ASM Press. p. 161. ISBN .
- Carrat F, Vergu E, Ferguson NM, Lemaitre M, Cauchemez S, Leach S, Valleron AJ (April 2008). "Time lines of infection and disease in human influenza: a review of volunteer challenge studies". American Journal of Epidemiology. 167 (7): 775–85. doi:10.1093/aje/kwm375. PMID 18230677.
- Mitamura K, Sugaya N (June 2006). "[Diagnosis and Treatment of influenza—clinical investigation on viral shedding in children with influenza]". Uirusu. 56 (1): 109–16. doi:10.2222/jsv.56.109. PMID 17038819.
- Gooskens J, Jonges M, Claas EC, Meijer A, Kroes AC (May 2009). "Prolonged influenza virus infection during lymphocytopenia and frequent detection of drug-resistant viruses". The Journal of Infectious Diseases. 199 (10): 1435–41. doi:10.1086/598684. PMID 19392620.
- Weber TP, Stilianakis NI (November 2008). "Inactivation of influenza A viruses in the environment and modes of transmission: a critical review". The Journal of Infection. 57 (5): 361–73. doi:10.1016/j.jinf.2008.08.013. PMID 18848358.
- Hall CB (สิงหาคม 2007). "The spread of influenza and other respiratory viruses: complexities and conjectures" (PDF). Clinical Infectious Diseases. 45 (3): 353–59. doi:10.1086/519433. PMID 17599315. (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 25 มกราคม 2016.
- Cole EC, Cook CE (August 1998). "Characterization of infectious aerosols in health care facilities: an aid to effective engineering controls and preventive strategies". American Journal of Infection Control. 26 (4): 453–64. doi:10.1016/S0196-6553(98)70046-X. PMID 9721404.
- Thomas Y, Vogel G, Wunderli W, Suter P, Witschi M, Koch D, Tapparel C, Kaiser L (May 2008). "Survival of influenza virus on banknotes". Applied and Environmental Microbiology. 74 (10): 3002–07. doi:10.1128/AEM.00076-08. PMC 2394922. PMID 18359825.
- Bean B, Moore BM, Sterner B, Peterson LR, Gerding DN, Balfour HH (July 1982). "Survival of influenza viruses on environmental surfaces". The Journal of Infectious Diseases. 146 (1): 47–51. doi:10.1093/infdis/146.1.47. PMID 6282993.
- "Influenza Factsheet" (PDF). Center for Food Security and Public Health, Iowa State University. (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 23 March 2009. p. 7
- Jefferies WM, Turner JC, Lobo M, Gwaltney JM (1998). "Low plasma levels of adrenocorticotropic hormone in patients with acute influenza" (PDF). Clin Infect Dis. 26 (3): 708–10. doi:10.1086/514594. PMID 9524849. (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 25 January 2016.
- Korteweg C, Gu J (May 2008). "Pathology, molecular biology, and pathogenesis of avian influenza A (H5N1) infection in humans". The American Journal of Pathology. 172 (5): 1155–70. doi:10.2353/ajpath.2008.070791. PMC 2329826. PMID 18403604.
- Nicholls JM, Chan RW, Russell RJ, Air GM, Peiris JS (April 2008). "Evolving complexities of influenza virus and its receptors". Trends in Microbiology. 16 (4): 149–57. doi:10.1016/j.tim.2008.01.008. PMID 18375125.
- van Riel D, Munster VJ, de Wit E, Rimmelzwaan GF, Fouchier RA, Osterhaus AD, Kuiken T (April 2006). "H5N1 Virus Attachment to Lower Respiratory Tract". Science. 312 (5772): 399. doi:10.1126/science.1125548. PMID 16556800.
- Shinya K, Ebina M, Yamada S, Ono M, Kasai N, Kawaoka Y (March 2006). "Avian flu: influenza virus receptors in the human airway". Nature. 440 (7083): 435–6. Bibcode:2006Natur.440..435S. doi:10.1038/440435a. PMID 16554799.
- van Riel D, Munster VJ, de Wit E, Rimmelzwaan GF, Fouchier RA, Osterhaus AD, Kuiken T (October 2007). "Human and avian influenza viruses target different cells in the lower respiratory tract of humans and other mammals". The American Journal of Pathology. 171 (4): 1215–23. doi:10.2353/ajpath.2007.070248. PMC 1988871. PMID 17717141.
- Schmitz N, Kurrer M, Bachmann MF, Kopf M (May 2005). "Interleukin-1 is responsible for acute lung immunopathology but increases survival of respiratory influenza virus infection". Journal of Virology. 79 (10): 6441–8. doi:10.1128/JVI.79.10.6441-6448.2005. PMC 1091664. PMID 15858027.
- Winther B, Gwaltney JM, Mygind N, Hendley JO (1998). "Viral-induced rhinitis". American Journal of Rhinology. 12 (1): 17–20. doi:10.2500/105065898782102954. PMID 9513654.
- Cheung CY, Poon LL, Lau AS, Luk W, Lau YL, Shortridge KF, Gordon S, Guan Y, Peiris JS (December 2002). "Induction of proinflammatory cytokines in human macrophages by influenza A (H5N1) viruses: a mechanism for the unusual severity of human disease?". Lancet. 360 (9348): 1831–37. doi:10.1016/S0140-6736(02)11772-7. PMID 12480361.
- Kobasa D, Jones SM, Shinya K, Kash JC, Copps J, Ebihara H, Hatta Y, Kim JH, Halfmann P, Hatta M, Feldmann F, Alimonti JB, Fernando L, Li Y, Katze MG, Feldmann H, Kawaoka Y (January 2007). "Aberrant innate immune response in lethal infection of macaques with the 1918 influenza virus". Nature. 445 (7125): 319–23. Bibcode:2007Natur.445..319K. doi:10.1038/nature05495. PMID 17230189.
- Kash JC, Tumpey TM, Proll SC, Carter V, Perwitasari O, Thomas MJ, และคณะ (October 2006). "Genomic analysis of increased host immune and cell death responses induced by 1918 influenza virus". Nature. 443 (7111): 578–81. Bibcode:2006Natur.443..578K. doi:10.1038/nature05181. PMC 2615558. PMID 17006449.
- Beigel J, Bray M (April 2008). "Current and future antiviral therapy of severe seasonal and avian influenza". Antiviral Research. 78 (1): 91–102. doi:10.1016/j.antiviral.2008.01.003. PMC 2346583. PMID 18328578.
- Spiro, Stephen G.; Silvestri, Gerard A.; Agustí, Alvar (2012). Clinical Respiratory Medicine (ภาษาอังกฤษ). Elsevier Health Sciences. p. 311. ISBN .
- Centers for Disease Control and Prevention: "QUESTIONS & ANSWERS: Novel H1N1 Flu (Swine Flu) and You" 4 มีนาคม 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 15 December 2009.
- Grayson ML, Melvani S, Druce J, Barr IG, Ballard SA, Johnson PD, Mastorakos T, Birch C (February 2009). "Efficacy of soap and water and alcohol-based hand-rub preparations against live H1N1 influenza virus on the hands of human volunteers". Clinical Infectious Diseases. 48 (3): 285–91. doi:10.1086/595845. PMID 19115974.
- MacIntyre CR, Cauchemez S, Dwyer DE, Seale H, Cheung P, Browne G, Fasher M, Wood J, Gao Z, Booy R, Ferguson N (กุมภาพันธ์ 2009). "Face mask use and control of respiratory virus transmission in households". Emerging Infectious Diseases. 15 (2): 233–41. doi:10.3201/eid1502.081167. PMC 2662657. PMID 19193267.
- Bridges CB, Kuehnert MJ, Hall CB (October 2003). "Transmission of influenza: implications for control in health care settings". Clinical Infectious Diseases. 37 (8): 1094–101. doi:10.1086/378292. PMID 14523774.
- Murin S, Bilello KS (October 2005). "Respiratory tract infections: another reason not to smoke". Cleveland Clinic Journal of Medicine. 72 (10): 916–20. doi:10.3949/ccjm.72.10.916. PMID 16231688.
- Kark JD, Lebiush M, Rannon L (October 1982). "Cigarette smoking as a risk factor for epidemic a(h1n1) influenza in young men". The New England Journal of Medicine. 307 (17): 1042–46. doi:10.1056/NEJM198210213071702. PMID 7121513.
- Aledort JE, Lurie N, Wasserman J, Bozzette SA (August 2007). "Non-pharmaceutical public health interventions for pandemic influenza: an evaluation of the evidence base". BMC Public Health. 7: 208. doi:10.1186/1471-2458-7-208. PMC 2040158. PMID 17697389.
- Hota B (October 2004). "Contamination, disinfection, and cross-colonization: are hospital surfaces reservoirs for nosocomial infection?". Clinical Infectious Diseases. 39 (8): 1182–89. doi:10.1086/424667. PMID 15486843.
- McDonnell G, Russell AD (มกราคม 1999). "Antiseptics and disinfectants: activity, action, and resistance" (PDF). Clinical Microbiology Reviews. 12 (1): 147–79. doi:10.1128/CMR.12.1.147. PMC 88911. PMID 9880479. (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 25 กรกฎาคม 2011.
- "Chlorine Bleach: Helping to Manage the Flu Risk". Water Quality & Health Council. April 2009. จากแหล่งเดิมเมื่อ 7 June 2009. สืบค้นเมื่อ 12 May 2009.
- Hatchett RJ, Mecher CE, Lipsitch M (พฤษภาคม 2007). "Public health interventions and epidemic intensity during the 1918 influenza pandemic". Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 104 (18): 7582–87. Bibcode:2007PNAS..104.7582H. doi:10.1073/pnas.0610941104. PMC 1849867. PMID 17416679.
- Bootsma MC, Ferguson NM (พฤษภาคม 2007). "The effect of public health measures on the 1918 influenza pandemic in U.S. cities". Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 104 (18): 7588–93. Bibcode:2007PNAS..104.7588B. doi:10.1073/pnas.0611071104. PMC 1849868. PMID 17416677.
- "Vaccine use". World Health Organization. จากแหล่งเดิมเมื่อ 15 December 2012. สืบค้นเมื่อ 6 December 2012.
- Smith NM, Bresee JS, Shay DK, Uyeki TM, Cox NJ, Strikas RA (กรกฎาคม 2006). "Prevention and Control of Influenza: recommendations of the Advisory Committee on Immunization Practices (ACIP)" (PDF). MMWR. Recommendations and Reports. 55 (RR-10): 1–42. PMID 16874296. (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 29 มิถุนายน 2011.
- Demicheli V, Jefferson T, Ferroni E, Rivetti A, Di Pietrantonj C (2018). "Vaccines for preventing influenza in healthy adults". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2: CD001269. doi:10.1002/14651858.CD001269.pub6. PMID 29388196.
- Jefferson T, Rivetti A, Di Pietrantonj C, Demicheli V (2018). "Vaccines for preventing influenza in healthy children". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2: CD004879. doi:10.1002/14651858.CD004879.pub5. PMID 29388195.
- Kopsaftis Z, Wood-Baker R, Poole P (2018). "Influenza vaccine for chronic obstructive pulmonary disease (COPD)". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2: CD002733. doi:10.1002/14651858.CD002733.pub3. PMID 29943802.
- Cates CJ, Rowe BH (February 2013). "Vaccines for preventing influenza in people with asthma". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2 (2): CD000364. doi:10.1002/14651858.CD000364.pub4. PMID 23450529.
- Beck CR, McKenzie BC, Hashim AB, Harris RC, Nguyen-Van-Tam JS (October 2012). "Influenza vaccination for immunocompromised patients: systematic review and meta-analysis by etiology". The Journal of Infectious Diseases. 206 (8): 1250–59. doi:10.1093/infdis/jis487. PMID 22904335.
- Udell JA, Zawi R, Bhatt DL, Keshtkar-Jahromi M, Gaughran F, Phrommintikul A, Ciszewski A, Vakili H, Hoffman EB, Farkouh ME, Cannon CP (October 2013). "Association between influenza vaccination and cardiovascular outcomes in high-risk patients: a meta-analysis". JAMA. 310 (16): 1711–20. doi:10.1001/jama.2013.279206. PMID 24150467.
- Abramson ZH (2012). "What, in Fact, Is the Evidence That Vaccinating Healthcare Workers against Seasonal Influenza Protects Their Patients? A Critical Review". International Journal of Family Medicine. 2012: 205464. doi:10.1155/2012/205464. PMC 3502850. PMID 23209901.
- Thomas RE, Jefferson T, Lasserson TJ (2018). "Influenza vaccination for healthcare workers who care for people aged 60 or older living in long-term care institutions". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2 (6): CD005187. doi:10.1002/14651858.CD005187.pub5. PMID 27251461.
- Ahmed F, Lindley MC, Allred N, Weinbaum CM, Grohskopf L (January 2014). "Effect of influenza vaccination of healthcare personnel on morbidity and mortality among patients: systematic review and grading of evidence". Clinical Infectious Diseases. 58 (1): 50–57. doi:10.1093/cid/cit580. PMID 24046301.
- Dolan GP, Harris RC, Clarkson M, Sokal R, Morgan G, Mukaigawara M, Horiuchi H, Hale R, Stormont L, Béchard-Evans L, Chao YS, Eremin S, Martins S, Tam J, Peñalver J, Zanuzadana A, Nguyen-Van-Tam JS (September 2013). "Vaccination of healthcare workers to protect patients at increased risk of acute respiratory disease: summary of a systematic review". Influenza and Other Respiratory Viruses. 7 (Suppl 2): 93–96. doi:10.1111/irv.12087. PMC 5909400. PMID 24034492.
- "Recommended composition of influenza virus vaccines for use in the 2006–2007 influenza season" (PDF). WHO Report. 14 February 2006. (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 14 April 2016. สืบค้นเมื่อ 28 December 2016.
- Holmes EC, Ghedin E, Miller N, Taylor J, Bao Y, St George K, Grenfell BT, Salzberg SL, Fraser CM, Lipman DJ, Taubenberger JK (September 2005). "Whole-genome analysis of human influenza A virus reveals multiple persistent lineages and reassortment among recent H3N2 viruses". PLoS Biology. 3 (9): e300. doi:10.1371/journal.pbio.0030300. PMC 1180517. PMID 16026181.
- Key Facts about Influenza (Flu) Vaccine 30 มิถุนายน 2017 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน CDC publication. Published 17 October 2006. Retrieved 18 October 2006.
- Questions & Answers: Flu Shot 19 ตุลาคม 2006 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน CDC publication updated 24 July 2006. Retrieved 19 October 2006.
- Questions & Answers: Flu Shot 1 ตุลาคม 2015 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน CDC publication updated 24 July 2006. Retrieved 19 October 2006.
- Jit M, Newall AT, Beutels P (April 2013). "Key issues for estimating the impact and cost-effectiveness of seasonal influenza vaccination strategies". Human Vaccines & Immunotherapeutics. 9 (4): 834–40. doi:10.4161/hv.23637. PMC 3903903. PMID 23357859.
- Newall AT, Jit M, Beutels P (August 2012). "Economic evaluations of childhood influenza vaccination: a critical review". PharmacoEconomics. 30 (8): 647–60. doi:10.2165/11599130-000000000-00000. PMID 22788257.
- Postma MJ, Baltussen RP, Palache AM, Wilschut JC (April 2006). "Further evidence for favorable cost-effectiveness of elderly influenza vaccination". . 6 (2): 215–27. doi:10.1586/14737167.6.2.215. PMID 20528557.
- Newall AT, Dehollain JP, Creighton P, Beutels P, Wood JG (August 2013). "Understanding the cost-effectiveness of influenza vaccination in children: methodological choices and seasonal variability". PharmacoEconomics. 31 (8): 693–702. doi:10.1007/s40273-013-0060-7. PMID 23645539.
- Newall AT, Kelly H, Harsley S, Scuffham PA (1 June 2009). "Cost effectiveness of influenza vaccination in older adults: a critical review of economic evaluations for the 50- to 64-year age group". PharmacoEconomics. 27 (6): 439–50. doi:10.2165/00019053-200927060-00001. PMID 19640008.
- "Influenza Virus Testing Methods | Seasonal Influenza (Flu) | CDC". www.cdc.gov (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 26 March 2018. สืบค้นเมื่อ 30 March 2018.
- "Wash your hands often and right way". Centers for Disease Control and Prevention (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 5 January 2018. สืบค้นเมื่อ 29 March 2018.
- "Flu: MedlinePlus Medical Encyclopedia". U.S. National Library of Medicine. จากแหล่งเดิมเมื่อ 14 February 2010. สืบค้นเมื่อ 7 February 2010.
- Glasgow JF, Middleton B (พฤศจิกายน 2001). "Reye syndrome—insights on causation and prognosis" (PDF). Archives of Disease in Childhood. 85 (5): 351–53. doi:10.1136/adc.85.5.351. PMC 1718987. PMID 11668090. (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 8 กรกฎาคม 2011.
- Hurt AC, Ho HT, Barr I (October 2006). "Resistance to anti-influenza drugs: adamantanes and neuraminidase inhibitors". Expert Review of Anti-Infective Therapy. 4 (5): 795–805. doi:10.1586/14787210.4.5.795. PMID 17140356.
- "The Flu: What To Do If You Get Sick". Centers for Disease Control and Prevention (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 9 March 2018. สืบค้นเมื่อ 29 March 2018.
- Moscona, Anne (5 March 2009). "Global Transmission of Oseltamivir-Resistant Influenza". New England Journal of Medicine. 360 (10): 953–56. doi:10.1056/NEJMp0900648. ISSN 0028-4793. PMID 19258250.
- Stephenson I, Nicholson KG (กรกฎาคม 1999). "Chemotherapeutic control of influenza" (PDF). The Journal of Antimicrobial Chemotherapy. 44 (1): 6–10. doi:10.1093/jac/44.1.6. PMID 10459804. (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 25 มกราคม 2016.
- Centers for Disease Control Prevention (CDC) (มกราคม 2006). "High levels of adamantane resistance among influenza A (H3N2) viruses and interim guidelines for use of antiviral agents—United States, 2005–06 influenza season" (PDF). MMWR. Morbidity and Mortality Weekly Report. 55 (2): 44–46. PMID 16424859. (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 29 มิถุนายน 2011.
- Bright RA, Medina MJ, Xu X, Perez-Oronoz G, Wallis TR, Davis XM, Povinelli L, Cox NJ, Klimov AI (October 2005). "Incidence of adamantane resistance among influenza A (H3N2) viruses isolated worldwide from 1994 to 2005: a cause for concern". Lancet. 366 (9492): 1175–81. doi:10.1016/S0140-6736(05)67338-2. PMID 16198766.
- Ilyushina NA, Govorkova EA, Webster RG (ตุลาคม 2005). "Detection of amantadine-resistant variants among avian influenza viruses isolated in North America and Asia" (PDF). Virology. 341 (1): 102–06. doi:10.1016/j.virol.2005.07.003. PMID 16081121. (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 21 กรกฎาคม 2011.
- Parry J (July 2005). "Use of antiviral drug in poultry is blamed for drug resistant strains of avian flu". BMJ. 331 (7507): 10. doi:10.1136/bmj.331.7507.10. PMC 558527. PMID 15994677.
- "CDC Recommends against the Use of Amantadine and Rimantadine for the Treatment or Prophylaxis of Influenza in the United States during the 2005–06 Influenza Season". Centers for Disease Control and Prevention. 14 January 2006. จากแหล่งเดิมเมื่อ 19 June 2017. สืบค้นเมื่อ 28 December 2016.
- Hayden FG (March 1997). "Prevention and treatment of influenza in immunocompromised patients". Am. J. Med. 102 (3A): 55–60, discussion 75–76. doi:10.1016/S0002-9343(97)80013-7. PMID 10868144.
- Whitley RJ, Monto AS (2006). "Prevention and treatment of influenza in high-risk groups: children, pregnant women, immunocompromised hosts, and nursing home residents" (PDF). J Infect Dis. 194 (S2): S133–38. doi:10.1086/507548. PMID 17163386. (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 25 January 2016.
- Angelo SJ, Marshall PS, Chrissoheris MP, Chaves AM (April 2004). "Clinical characteristics associated with poor outcome in patients acutely infected with Influenza A". Conn Med. 68 (4): 199–205. PMID 15095826.
- Murin S, Bilello K (2005). "Respiratory tract infections: another reason not to smoke". Cleve Clin J Med. 72 (10): 916–20. doi:10.3949/ccjm.72.10.916. PMID 16231688.
- Sandman PM, Lanard J (2005). "Bird Flu: Communicating the Risk" (PDF). Perspectives in Health Magazine. 10 (2): 1–6. (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 21 มกราคม 2012.
- People at High Risk of Developing Flu–Related Complications 10 กรกฎาคม 2017 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน CDC publication. Published 26 August 2016. Retrieved 20 March 2017.
- Sivadon-Tardy V, Orlikowski D, Porcher R, Sharshar T, Durand MC, Enouf V, Rozenberg F, Caudie C, Annane D, van der Werf S, Lebon P, Raphaël JC, Gaillard JL, Gault E (January 2009). "Guillain-Barré syndrome and influenza virus infection". Clinical Infectious Diseases. 48 (1): 48–56. doi:10.1086/594124. PMID 19025491.
- Jacobs BC, Rothbarth PH, van der Meché FG, Herbrink P, Schmitz PI, de Klerk MA, van Doorn PA (October 1998). "The spectrum of antecedent infections in Guillain-Barré syndrome: a case-control study". Neurology. 51 (4): 1110–15. doi:10.1212/wnl.51.4.1110. PMID 9781538.
- Vellozzi C, Burwen DR, Dobardzic A, Ball R, Walton K, Haber P (March 2009). "Safety of trivalent inactivated influenza vaccines in adults: background for pandemic influenza vaccine safety monitoring". Vaccine. 27 (15): 2114–20. doi:10.1016/j.vaccine.2009.01.125. PMID 19356614.
- Stowe J, Andrews N, Wise L, Miller E (February 2009). "Investigation of the temporal association of Guillain-Barre syndrome with influenza vaccine and influenzalike illness using the United Kingdom General Practice Research Database" (PDF). American Journal of Epidemiology. 169 (3): 382–88. doi:10.1093/aje/kwn310. PMID 19033158.
- Sivadon-Tardy V, Orlikowski D, Porcher R, Sharshar T, Durand MC, Enouf V, Rozenberg F, Caudie C, Annane D, van der Werf S, Lebon P, Raphaël JC, Gaillard JL, Gault E (January 2009). "Guillain-Barré syndrome and influenza virus infection" (PDF). Clinical Infectious Diseases. 48 (1): 48–56. doi:10.1086/594124. PMID 19025491.
- "Children with Neurologic Conditions & Influenza (Flu)". Centers for Disease Control and Prevention (CDC). 5 February 2019. สืบค้นเมื่อ 10 July 2019.
Children of any age with neurologic conditions are more likely than other children to become very sick if they get flu. Flu complications may vary and for some children, can include pneumonia and even death.
- Weather and the Flu Season 15 พฤศจิกายน 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน NPR Day to Day, 17 December 2003. Retrieved, 19 October 2006
- Lowen AC, Mubareka S, Steel J, (ตุลาคม 2007). "Influenza virus transmission is dependent on relative humidity and temperature". PLoS Pathogens. 3 (10): 1470–76. doi:10.1371/journal.ppat.0030151. PMC 2034399. PMID 17953482.
- Shaman J, Kohn M (March 2009). "Absolute humidity modulates influenza survival, transmission, and seasonality". Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 106 (9): 3243–8. Bibcode:2009PNAS..106.3243S. doi:10.1073/pnas.0806852106. PMC 2651255. PMID 19204283.
- Shaman J, Pitzer VE, Viboud C, Grenfell BT, Lipsitch M (February 2010). Ferguson NM (บ.ก.). "Absolute humidity and the seasonal onset of influenza in the continental United States". PLoS Biology. 8 (2): e1000316. doi:10.1371/journal.pbio.1000316. PMC 2826374. PMID 20186267.
- Shek LP, Lee BW (June 2003). "Epidemiology and seasonality of respiratory tract virus infections in the tropics". Paediatric Respiratory Reviews. 4 (2): 105–11. doi:10.1016/S1526-0542(03)00024-1. PMID 12758047.
- Dushoff J, Plotkin JB, Levin SA, Earn DJ (November 2004). "Dynamical resonance can account for seasonality of influenza epidemics". Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 101 (48): 16915–16. Bibcode:2004PNAS..10116915D. doi:10.1073/pnas.0407293101. PMC 534740. PMID 15557003.
- "WHO Confirmed Human Cases of H5N1". WHO Epidemic and Pandemic Alert and Response (EPR). จากแหล่งเดิมเมื่อ 16 November 2016. สืบค้นเมื่อ 28 December 2016.
- , Vieth R, Umhau JC, Holick MF, Grant WB, Madronich S, Garland CF, Giovannucci E (December 2006). "Epidemic influenza and vitamin D". Epidemiology and Infection. 134 (6): 1129–40. doi:10.1017/S0950268806007175. PMC 2870528. PMID 16959053.
- Hope-Simpson RE (January 1965). "The Nature of Herpes Zoster: A Long-term Study and a New Hypothesis". Proceedings of the Royal Society of Medicine. 58: 9–20. PMC 1898279. PMID 14267505.
- Lozano R, Naghavi M, Foreman K, Lim S, Shibuya K, Aboyans V, และคณะ (December 2012). "Global and regional mortality from 235 causes of death for 20 age groups in 1990 and 2010: a systematic analysis for the Global Burden of Disease Study 2010". Lancet. 380 (9859): 2095–128. doi:10.1016/S0140-6736(12)61728-0. :10536/DRO/DU:30050819. PMID 23245604.
wikipedia, แบบไทย, วิกิพีเดีย, วิกิ หนังสือ, หนังสือ, ห้องสมุด, บทความ, อ่าน, ดาวน์โหลด, ฟรี, ดาวน์โหลดฟรี, mp3, วิดีโอ, mp4, 3gp, jpg, jpeg, gif, png, รูปภาพ, เพลง, เพลง, หนัง, หนังสือ, เกม, เกม, มือถือ, โทรศัพท์, Android, iOS, Apple, โทรศัพท์โมบิล, Samsung, iPhone, Xiomi, Xiaomi, Redmi, Honor, Oppo, Nokia, Sonya, MI, PC, พีซี, web, เว็บ, คอมพิวเตอร์
ikhhwdihyepnorkhtidechuxthiekidcakiwrsikhhwdihy xakarxacmiidtngaetebathungrunaerngxakarthiphbbxy idaek ikhsung khdcmuk ecbkhx pwdklamenux pwdsirsa ix camaelarusukehnuxy trngaebbxakarehlanierimsxngwnhlngsmphsiwrsaelaswnihykinewlaimthunghnungspdah thwa xakarixxackinewlananekinsxngspdahid inedk xacmixakarthxngrwngaelaxaeciyndwy aetphbnxyinphuihy xakarthxngrwngaelaxaeciyncaphbidimbxyethathiphbinorkhkraephaaxaharaelalaisxkesb sungbangkhrngthukeriykxyangphid wa hwdlngkraephaa hrux hwd 24 chwomng aetthicringaelwepnkhnlaorkhknkbikhhwdihy phawaaethrksxnkhxngikhhwdihyxacidaek pxdbwmiwrs pxdbwmaebkhthieriythutiyphumi ophrngxakastidechux aelakarthrudkhxngpyhasukhphaphedimxyangorkhhudhruxphawahwicwayikhhwdihyiwrsikhhwdihy khyaypraman 100 000 ethasakhawichaorkhtidechuxxakarikh namukihl ecbkhx pwdklamenux pwdsirsa ix cam rusuklakartngtn1 thung 4 wnhlngidrbechuxrayadaeninorkh 1 spdahsaehtuiwrsikhhwdihykarpxngknkarlangmux hnakakxnamy wkhsinikhhwdihyyayataniwrsxyangoxeslthamiewiyrkhwamchuk3 5 lankhrngtxpikaresiychiwitcakkarhayicxacsungthung 650 000 khntxpibthkhwamnixangxingkhristskrach khristthswrrs khriststwrrs sungepnsarasakhykhxngenuxha iwrsikhhwdihythimiphltxmnusymisamchnid idaek chnidex chnidbi aelachnidsi nxkcakniyngmiikhhwdihychniddi sungyngimthrabwathaihekidtidechuxinmnusyhruxim aetechuxknwamioxkasepnipid pkti iwrsmikaraephrthangxakasrahwangkarixhruxcam echuxknwaswnihyekidinrayahangkhxnkhangikl nxkcakniyngsamarthaephridodykarsmphsphunphiwthipnepuxniwrsaelwnamasmphspakhruxta bukhkhlxactidtxorkhaekphuxunidthngkxnaelarahwangthiaesdngxakar samarthyunynkartidechuxiwrsikhhwdihyidodykarthdsxblakhx esmha hruxcmukephuxhaechuxiwrs mikarthdsxbihphlerwhlaychnid aetbukhkhlyngxacmiorkhxyuidaemphlxxkmaepnlb ptikiriyalukosphxliemxerschnidtrwccbxarexnexkhxngiwrsmikhwamaemnyakwa karlangmuxbxy ldkhwamesiyngkaraephrechuxiwrs karswmphapidcmukkmipraoychnxngkhkarxnamyolkaenanakaridrbwkhsinikhhwdihypracapisahrbphumikhwamesiyngsung pktiwkhsinmiprasiththiphaphpxngknikhhwdihysamhruxsichnid pktiphuidrbwkhsinimkhxymiphlesiy wkhsinephuxphlitkhunsahrbhnungpixacimmipraoychninpithdip ephraaiwrswiwthnakarxyangrwderwyataniwrsxyangtwybyngniwraminieds oxeslthamiewiyr epntn mikarichrksaikhhwdihy duaelwyataniwrsinphusukhphaphdimipraoychnimmakkwakhwamesiyng imphbpraoychninphuthimipyhasukhphaphxun ikhhwdihyrabadthwolkinkarrabadthwpracapi sngphlihmiphupwyrunaerng 3 thung 5 lankhnaelamiphuesiychiwitpraman 290 000 thung 650 000 khn edkthiimidrbwkhsinpraman 20 aelaphuihythiimidrbwkhsin 10 mikartidechuxthukpi insikolkehnuxaelaitkhxngolk ekidkarrabadswnihyinvduhnaw swnrxbesnsunysutrxacekidkarrabadidtlxdpi swnihyphuesiychiwitidaek eyawchn phusungxayu aelaphuthimipyhasukhphaphxunkarrabadihythieriykorkhrabadthwnnphbnxykwa inkhriststwrrsthi 20 ekidkarrabadthwkhxngikhhwdihysamkhrng idaek ikhhwdihysepninpi 1918 phuesiychiwit 50 lankhn ikhhwdihyexechiyinpi 1957 phuesiychiwit 2 lankhn aelaikhhwdihyhxngknginpi 1968 phuesiychiwit 1 lankhn xngkhkarxnamyolkprakaskarrabadkhxngikhhwdihychnidex exch1exn1 sayphnthuihmepnorkhrabadthwineduxnmithunayn 2009 ikhhwdihyyngxactidinstwxun idaek hmu maaelankidxakaraelaxakaraesdngxakarthiiwsahrbkarwinicchyikhhwdihy xakar khwamiw khwamcaephaaikh 68 86 25 73 ix 84 98 7 29 khdcmuk 68 91 19 41 singtrwcphbthngsamxyang odyechphaaxyangyingikh mikhwamiwnxykwainphuxayu 60 pikhunipxakarkhxngikhhwdihy ikhaelaixepnxakarthiphbbxythisud phupwyikhhwdihypraman 33 immixakar xakarkhxngikhhwdihysamartherimidechiybphlnhnungthungsxngwnhlngtidechux pktixakaraerk idaek hnawsnaelapwdtamtw aetikhkphbidbxyinchwngaerk odymixunhphumikayinchwngtngaet 38 to 39 s hlaykhnpwycnnxnsmhlaywn odymixakarecbpwdthwkay sungpwdthihlngaelakhamakkwathixun xakarkhxngikhhwdihy ikhhnawsn ix khdcmuk namukihl cam ecbkhx esiyngaehb pwdhu pwdklamenux la pwdsirsa khnta nataihl ta phiwhnng odyechphaaibhna pak khxaelacmukaedng phuncudeluxdxxk inedk xakarthangrabbyxyxahar idaek xaeciyn thxngrwng aelapwdthxng xacrunaernginedkthipwyepnikhhwdihychnidbi karaeykrahwangorkhhwdaelaikhhwdihyinrayaaerkkhxngkartidechuxthngsxngthaidyak xakarkhxngikhhwdihyepnxakarkhxngorkhhwd rwmkbpxdbwm pwdtamtw pwdsirsa aelala pktithxngrwngimichxakarkhxngikhhwdihyinphuihy aetphbinphupwy ikhhwdnk exch5exn1 idbang aelaxacepnxakarinedk xakarsungphbinikhhwdihythinaechuxthuxmakthisudaesdngintarangdankhwamux xakarikhaelaixrwmknphbwaepntwphyakrnthidithisud khwamaemnyakhxngkarwinicchyephimkhunemuxxunhphumikayekin 38 s karsuksawiekhraahkartdsinicsxngkarsuksa esnxwarahwangkarrabadthxngthin khwamchukkhxngorkhcamiekin 70 aemimmikarrabadinthxngthin karwinicchyxacsmehtuphlinphusungxayurahwangvduikhhwdihy ephraamikhwamchukekin 15 sunykhwbkhumaelapxngknorkh CDC mibthsrupkarthdsxbthanghxngptibtikarthithnsmyxyu khxmulkhxng CDC rabuwa karthdsxbwinicchyxyangrwderwmikhwamiw 50 75 aelakhwamcaephaa 90 95 emuxethiybkbkarephaaechuxiwrs bangthiikhhwdihysamarthkxihekidkarecbpwyrunaerngrwmthngpxdbwmiwrspthmphumihruxpxdbwmaebkhthieriythutiyphumiid xakarednchdidaek hayiclabak nxkcakni hakedk aelaphuihybangkhn duehmuxndikhunaelwklbmamiikhsungihm epnsyyanxntrayephraakarekidorkhklbnixacepnpxdbwmaebkhthieriy ikhhwdihyxacthaihekidxakarimpktiid xyangsbsninphusungxayuaelaklumxakarkhlayphawaphisehtutidechuxineyawchn smxngxkesbenuxngcakikhhwdihyhaidyakaetichwaimekhymirayngan xakaraesdngetuxnchukechin hayiclabak ecbhnaxk ewiynsirsa sbsn xaeciynrunaerng xakarikhhwdihythidikhunaelwaetorkhklbphrxmmiikhsungaelaixrunaerng xacepnpxdbwmaebkhthieriy ekhiywkhla ikhsungxxkphun dumkhxngehlwimidxakaraesdngkhxngphawakhadna inthark phaxxmepiyknxykwapktimak klnxaeciynimxyu inthark rxngihimminatahydwithyaiwrschnidkhxngiwrs okhrngsrangkhxngwirixxnikhhwdihy oprtinhiaemkklutinin HA aelaniwraminieds NA aesdngxyubnphiwxnuphakh xarexnexkhxngiwrssungprakxbkhunepncionmaesdngepnkhdsiaednginxnuphakhaelaekaakbirobniwekhliyroprtin RNP inkarcaaenkiwrs iwrsikhhwdihyepnxarexnexiwrs sungprakxbdwysiinecdskulkhxngwngs Orthomyxoviridae xinfluexnsaiwrs ex xinfluexnsaiwrs bi xinfluexnsaiwrs si xinfluexnsaiwrs di iwrsehlaniekiywkhxnghang kbhiwaemnpharaxinfluexnsaiwrs sungepnxarexnexiwrsinwngs paramyxovirus sungepnsaehtuthwipkhxngkartidechuxthangedinhayicinedk xyangklxngesiyngxkesbxudkn aetyngsamarthkxorkhthikhlaykbikhhwdihyinphuihyid iwrsikhhwdihywngsthisimikarrabuinpi 2016 khux ikhhwdihy di spichischnidsahrbwngsniidaekiwrsikhhwdihydi sungmikaraeykkhrngaerkinpi 2011 xinfluexnsaiwrs ex skulnimihnungchnid khux iwrsikhhwdihyex nknatamthrrmchatiepntwthukebiyntamthrrmchatisahrbikhhwdihyexhlaysayphnthu bangoxkas mikaraephrechuxiwrssustwchnidxunaelwxacthaihekidkarrabadthisuyesiyihyhlwnginstwpikeliyng hruxthaihekidkarrabadthwkhxngikhhwdihyinmnusy iwrschnidexepnechuxkxorkhinmnusythimiskyphaphkxorkhsungsud aelakxihekidorkhrunaerngthisud iwrsikhhwdihyexsamarthaebngyxyepnsiirithpodyyudkartxbsnxngkhxngaexntibxditxiwrsehlani siirithpthimikaryunyninmnusy eriyngladbtamcanwnphuesiychiwitcakkarrabadthwthithrab idaek exch1exn1 sungkxikhhwdihysepninpi 1918 aelaikhhwdihyhmuinpi 2009 exch2exn2 sungkxikhhwdihyexechiyinpi 1957 exch3exn2 sungkxikhhwdihyhxngknginpi 1968 exch5exn1 sungkxikhhwdihynkinpi 2004 exch7exn7 sungmiskyphaphrbcakstwphidthrrmda exch1exn2 phbpracainmnusy hmuaelank exch9exn2 exch7exn2 exch7exn3 exch10exn7 inpi 2018 cdwamiskyphaphekidkarrabadthwsungsudinhmuchnidyxyex exch6exn1 sungtidechuxinmnusykhnediywethann aelarksahayxinfluexnsaiwrs bi kartngchuxiwrsikhhwdihy sahrbiwrsikhhwdihyfueciyn skulnimichnidediyw khux iwrsikhhwdihybi ikhhwdihybitidechuxechphaainmnusyekuxbthnghmd aelaphbnxykwaikhhwdihyex stwxunthithrabwaiwtxkartidechuxikhhwdihybi idaek aemwna aela ikhhwdihychnidniklayphnthuchakwachnidex 2 3 etha channcungmikhwamhlakhlaythangphnthukrrmnxykw aelasiorithpediywethann phlcakkarkhadkhwamhlakhlaykhxngaexntiecnni thaihpktimikaridrbphumikhumkntxikhhwdihybiradbhnungtngaetxayuyngnxy xyangirkdi ikhhwdihybiyngklayphnthumakphxthaihphumikhumknthixyunanyngekidkhunimid xtrakarepliynaexntiecnthidllngni kxprkbtwthukebiynthicakdkwa sungkhdkhwangkareluxnaexntiecnkhamchnid thaihimekidkarrabadthwkhxngikhhwdihybi xinfluexnsaiwrs si skulnimichnidediyw khux iwrsikhhwdihysi sungtidechuxmnusy hmaaelahmu bangkhrngkxkarecbpwyrunaerngaelakarrabadthxngthin xyangirktam ikhhwdihysiphbnxykwachnidxunaelapktikxorkhimrunaernginedkethann xinfluexnsaiwrs di skulnimichnidediyw khux iwrsikhhwdihydi sungtidechuxhmuaelapsustw iwrsmiskyphaphtidechuxinmnusy aemyngimphbphupwyinkhnani imphbwaiwrsniepntwkarkhxngkarrabadihykhrngid okhrngsrang khunsmbtiaelakartngchuxchnidyxy xinfluexnsaiwrsex bi siaeladimiokhrngsrangodyrwmkhlayknmak xnuphakhiwrs hruxeriyk wirixxn miesnphansunyklang 80 120 naonemtrsungwirixxnelksudmirupthrngepnwngri khwamyawkhxngaetlaxnuphakhaeprphnknmak enuxngcakikhhwdihymihlayrup aelasamarthihykwaniidhlaysibimokhremtr thaihekidwirixxnesniy xyangirktam aemmirupthrnghlakhlay aetxnuphakhiwrskhxngiwrsikhhwdihythnghmdmiiklokhoprtinsxngchnidhlk thnghmdniprakxbdwyepluxkhumiwrs envelope prakxbdwyiklokhoprtinsxngchnidhlk hxrxbaeknklang aeknklangbrrcucionm xarexnexkhxngiwrs aelaoprtinkhxngiwrschnidxunthihxhumaelapkpxngxarexnexni xarexnexmiaenwonmepnekliywediyw aetinkrniphiesscaephimepnekliywkhu cionmkhxngxinfluexnsaiwrsimichkrdniwkhlinikchinediyw aetmixarexnexchnidkhwlbepnthxnecdhruxaepdchin xarexnexaetlachinthibrrcuyinhnunghruxsxngyin sungmirhssahrbphlitphnthyin oprtin twxyangechn cionmikhhwdihyexmi 11 yinbnxarexnex 8 chin sungekharhsoprtin 11 chnid idaek hiaemkklutinin HA niwraminieds NA niwkhlioxoprtin NP exm1 oprtinemthriks 1 exm2 exnexs1 oprtin 1 thiimichokhrngsrang exnexs2 xikchuxhnungkhux oprtinsngxxkniwekhliys nuclear export protein phiex phibi1 ophliemxersphunthan 1 phibi1 exf2 aelaphibi2 hiaemkklutinin hemagglutinin HA aelaniwraminieds neuraminidase NA epniklokhoprtinkhnadihysxngchnidthixyunxkxnuphakhiwrs HA epnthixanwykaryudkhxngiwrskbesllepahmayaelakarsngcionmiwrsekhasuesllepahmay khnathi NA ekiywkhxngkbkarplxyiwrslukhlancakesllthitidechux odykartdnatalthiyudxnuphakhiwrsthiecriyetmthi channoprtinsxngchnidnicungepnepahmaysahrbyataniwrs yingipkwannyngepnaexntiecnsungsamarthphlitaexntibxdiid iwrsikhhwdihyexmikarcaaenkepnchnidyxytamkartxbsnxngkhxngaexntibxditx HA aela NA sung HA aela NA tangchnidkxepnrakthanelkh H aela N thitangkn twxyangechn exch5exn1 michnidyxyexch 18 chnid aelaexn 11 chnidethathithrab aetmiechphaaexch 1 2 aela 3 aelaexn 1 aela 2 ethannthiphbinmnusyodythwip karthayaebb karbukrukeslltwthukebiynaelakarthayaebbodyiwrsikhhwdihy khntxninkrabwnkarnimixphiprayinenuxha iwrssamarththayaebbechphaainesllmichiwitethann kartidechuxikhhwdihyaelakarthayaebbepnkrabwnkarhlaykhntxn khnaerk iwrstxngphukyudkbaelaekhasuesll emuxsngcionmipyngcudthimnsamarthphlitsaenaihmkhxngoprtiniwrsaelaxarexnex karprakxbxngkhprakxbehlaniepnxnuphakhiwrsihm aelakhnsudthay xxkcakeslltwthukebiyn iwrsikhhwdihyyudphanhiaemkklutininekhasunatalkrdisxalikbnphiweslleyuxbu trngaebbincmuk lakhxaelapxdkhxngstweliynglukdwynm aelalaiskhxngnk khnthi 1 inphaphkartidechux hlnghiaemkklutininthukoprtiexstd esllnaiwrsekhamaodywithiexnodisothsis raylaexiydinesllkalnghakhaxthibayxyu thrabknwawirixxnebnekhasusunyklangkarcdraebiybimokhrthiwbul mixntrkiriyakbexnodosmthiepnkrd aelasudthayekhasuexnoddsmepahmayephuxkarpldplxycionm emuxxyuinesll phawaepnkrdinexnodosmthaihekidehtukarnsxngxyang hnung swnkhxngoprtinhiaemkklutininphsmkbepluxkhumiwrskbeyuxkhxngaewkhiwoxl aelwchxngixxxnexm2 thaihoprtxnekhluxnphanepluxkhumiwrsaelwthaihaeknkhxngiwrsepnkrd sungthaihaeknaeykswnaelaplxyxarexnexkhxngiwrsaelaoprtinaekn omelkulxarexnexkhxngiwrs oprtinswnprakxb aelwcamikarplxyxarexnexdiephnedntxarexnexphxliemxers RNA dependent RNA polymerase ekhasuisotphlassum rayathi 2 yaxaaemntadinkhdkhwangchxngixxxnexm2 sungpxngknkartidechux oprtinaeknaelaxarexnexkhxngiwrskxkhxmephlkssungmikarkhnsngekhasuniwekhliyskhxngesll odyxarexnexdiephnedntxarexnexphxliemxerserimthxdrhsxarexnexkhusmchnidkhwbwk rayathi 3ex aela 3bi xarexnexkhxngiwrsmikarsngxxksuisothphlassumaelaaeplrhs rayathi 4 hruxyngxyuinniwekhliystxip oprtinkhxngiwrsthisngekhraahihmmikarhlngphankxlicaexppharatssuphiwesll inkrnikhxngniwraminiedsaelahiaemkklutinin khux rayathi 5bi hruxkhnsngklbekhasuniwekhliysephuxyudxarexnexkhxngiwrsaelakxxnuphakhcionmkhxngiwrsihm rwmthngslayxarexnexnarhskhxngesll aelaichniwkhlioxithdthiplxyxxkmaephuxkarsngekhraahxarexnexkhxngiwrs aelayngybyngkaraeplrhsxarexnexnasarkhxngeslltwthukebiyn xarexnexkhxngiwrschnidkhwlbsungkxepncionmkhxngiwrsinxnakht xarexnexdiephnedntxarexnexphxliemxers aelaoprtinxunkhxngiwrsprakxbekhaepnwirixxn omelkulhiaemkklutininaelaniwraminiedskracukekhasurxyopngineyuxhumesll xarexnexkhxngiwrsaelaoprtinaekniwrsxxkcakniwekhliysaelwekhasurxyopngkhxngeyuxni rayathi 6 iwrsthiecriyetmthiphudxxkcakesllineyuxfxsofliphidthrngklmkhxngtwthukebiyn thaihidhiaemkklutininaelaniwraminiedsinokhdeyuxni rayathi 7 echnediywkbkxnhnani iwrsyudkbesllphanhiaemkklutinin iwrsthiecriyetmthiaelwaeykxxkemuxniwraminiedstdswntkkhangkrdisxalikxxkcakeslltwthukebiyn hlngplxyiwrsikhhwdihyihmaelw eslltwthukebiyncatay enuxngcakimmiexnismtrwcxarexnex xarexnexdiephnedntxarexnexphxliemxerssungkhdlxkcionmkhxngiwrscungthaihekidkhxphidphladekuxbthuk 10 000 niwkhlioxithd sungpramankhwamyawkhxngxarexnexkhxngiwrsikhhwdihy chann iwrsikhhwdihysungphlitihmswnihycungepnsingklayphnthu thaihekidkarebiyngebnaexntiecn antigenic drift sungepnkarepliynaeplngcha inaexntiecnbnphiwiwrstamewla karaebngcionmxxkepnxarexnexkhxngiwrsswntang aepdswnthaihmikarphsmhruxkarrwmknihmkhxngxarexnexiwrshakmiiwrsikhhwdihytidechuxinesllmakkwahnungchnid karepliynaeplngphnthukrrmkhxngiwrsxyangrwderwxnepnphllphthnithaihekidkareluxnaexntiecn antigenic shift sungepnkarepliynaeplngchbphlnkhnadihythaihiwrstidechuxchnidtwthukebiynihm aelaexachnaphumikhumknkhumkhrxngxyangrwderw sungepneruxngsakhyinkarekidkarrabadthw dngthixphipraydanlanginswnwithyakarrabadklikkaraephrechux emuxphutidechuxcamhruxix xnuphakhiwrskwakhrunglanxnuphakhsamarthaephrkracayipsuphuxyuikl inphuihysukhphaphdi karkracayiwrs shedding ikhhwdihy sunginchwngnibukhkhlsamarthaephrechuxihphuxunid ephimkhunxyangmakkhrungthunghnungwnhlngtidechux odysungsudinwnthi 2 aelakhngxyuepnrayaewlarwmechliy 5 wn aetsamarthxyuidnansud 9 wn inphuthiekidxakarcakkartidechuxthdlxng echphaa 67 khxngbukhkhlthitidechuxinkarthdlxngsukhphaphdi xakaraelakarkracayiwrsmirupaebbkhlaykn aetkarkracayiwrsekidkxnkarpwyhnungwn edktidtxidngaykwaphuihymakaelakracayiwrstngaetkxnekidxakarcnthungsxngspdahhlngtidechux inphumiphumikhumknbkphrxng karkracayiwrssamarthekidtxenuxngidnankwasxngspdah ikhhwdihysamarthaephrechuxidsamwithihlk idaek 1 dwykarsmphsodytrng khux bukhkhlthimiechuxcamexamukekhasuta cmukhruxpakkhxngxikbukhkhlhnungodytrng 2 thangcakxakas khux bukhkhlsuddmlaxxngfxythiekidcakbukhkhlthitidechuxix camhruxthmnalay aela 3 phankaraephrechuxmuxsuta muxsucmukhruxmuxsupak imwacakphiwthipnepuxnhruxcakkarsmphsrahwangbukhkhlodytrng echn karsmphsmux khwamsakhyodysmphththkhxngkaraephrechuxsamwithiniimchdecn aelathnghmdmiswnthaihiwrsaephr inthangcakxakas laxxngesmhathielkphxihbukhkhlsudekhaipidmiesnphansunyklang 0 5 thung 5 imokhremtr aelakarsuddmlaxxngesmhaediywkxacephiyngphxthaihtidechuxid aemkarcamkhrngediywxacplxylaxxngesmhaidthung 40 000 laxxng aetswnihymikhnadkhxnkhangihyaelathukphdphaipcakxakas rayaewlathiikhhwdihyxyurxdinlaxxngesmhacakxakasidrbxiththiphlcakradbkhwamchunaelarngsiyuwi odykhwamchuntaaelakarkhadaesngxathityinvduhnawchwyihmichiwityunyawkhun khnathiiwrsikhhwdihyxyunxkrangkay mnsamarthaephrechuxphanphiwpnepuxnid echn thnbtr lukbidpratu switchif aelasingkhxnginkhrweruxnxun rayaewlathiiwrskhngxyubnphiwaeprphnid odyiwrscaxyurxdhnungthungsxngwnbnphunphiwaekhngimphrun echn phlastikhruxolha pramansibhanathibnkradasthichchuaehng aelaephiynghanathibnphiwhnng xyangirkdi hakiwrsxyuinmuk casamarthpxngkniwrsidnankhun nanthung 17 wnbnthnbtr ikhhwdihynksamarthmichiwitidimmikahndemuxthukaechaekhng iwrscathukldvththiemuxidrbkhwamrxnthung 56 s epnewlaxyangnxy 60 nathi echnediywkbkrd thi pH lt 2 phyathisrirwithya taaehnngkartidechux aesdngdwysiaedng khxng exch1exn1 tamvdukal kb exch5exn1 ikhhwdnk thiaetktangkn sungmiphltxoxkasthungtayaelakhwamsamarthinkarluklam klikthithaihkartidechuxikhhwdihykxxakarinmnusynnmikarsuksaxyangekhmkhn klikhnungechuxwaepnkarybynghxromnaexdrionkhxrtiokhothrpik ACTH sngphlihradbkhxrtisxl cortisol ldlng hakthrabwaikhhwdihysayphnthuhnungmiyinidcasamarthchwythanayidwaechuxtidmnusyiddiephiyngid aelakartidechuxcamikhwamrunaerngmaknxyephiyngid klawkhux phyakrnphyathisrirwithyakhxngsayphnthunn twxyangechn swnhnungkhxngkrabwnkarthithaihiwrsikhhwdihybukrukesll khux karaeykoprtinhiaemkklutinin hemagglutinin khxngiwrsodyoprtiexs protease khxngmnusythimixyuhlaytw iniwrsthiimrunaerng okhrngsrangkhxnghiaemkklutininthaihoprtiexsechphaathiphbinlakhxaelapxdethannthisamarthaeykmnid channiwrscungimsamarthtidechuxinenuxeyuxxun thwainsayphnthuthirunaerng xyangexch5exn1 oprtiexshlaychnidsamarthaeykhiaemkklutininid thaihiwrsaephrkracayipthwrang oprtinhiaemkklutininkhxngiwrsepntwtdsinwasayphnthunnsamarthtidinstwchnidididbang aelasayphnthuikhhwdihynncatidthangedinhayickhxngmnusythiidbang sayphnthuthiaephrechuxngayrahwangbukhkhlmioprtinhiaemkklutininsungyudkbthangedinhayicswnbn echn incmuk lakhxaelapak inthangtrngkham sayphnthuexch5exn1 thimixtraesiychiwitsung yudkbtwrbthiswnihyphbinpxd taaehnngtidechuxthiaetktangknniepnsaehtuthisayphnthuexch5exn1 kxihekidpxdbwmiwrsrunaerng aettidtxrahwangbukhkhlthiixaelacamidyak xakarthwipkhxngikhhwdihyxyangikh pwdsirsa aelalaepnphlkhxngisotikhn cytokine aelakhiomikhn chemokine thikratunkarxkesb xyangxinetxrefxrrxn interferon aelathiwemxrenokhrsisaefketxr tumor necrosis factor primanmakthiphlitcakesllthitidechuxikhhwdihy inthangtrngkhamkbironiwrssungkxorkhhwd ikhhwdihykxkhwamesiyhaytxenuxeyux channxakarcaimidekidcakkartxbsnxngkhxngkarxkesb kartxbsnxngphumikhumknkhnadihynixackxihekidphayuisotikhn cytokine storm thithungaekchiwitid mikaresnxwaphldngklawepnsaehtukhxngyxdphuesiychiwitsungphidpktikhxngthngikhhwdihynkexch5exn1 aelasayphnthuorkhrabadthwpi 1918 thwa xikkhwamepnipidhnungkhuxisotikhnprimanmakniepnephiyngphlkhxngradbkarthayaebbkhxngiwrsradbmhasalthiphlitcaksayphnthuehlani aelakartxbsnxngthangphumikhumknimidsngphltxorkhdwytwmnexng duehmuxnwaikhhwdihykratunkrabwnkartaykhxngesllthimikhasng xaphxphothsis karpxngknkarkhwbkhumkartidechux karldkartidechuxikhhwdihyxyangmiprasiththiphaphsmehtusmphl idaek nisysukhphaphaelasukhxnamyswnbukhkhldi echn imsmphsta cmukhruxpaktwexng langmuxbxy dwynakbsbu hruxdwyeclthumuxthimiaexlkxhxl eliyngkarsmphshruxkarxyuiklchidphupwy aemkarswmhnakakxnamyemuxtxngduaelphupwyxacchwyldoxkastidechuxlngbang aetprasiththiphaphkarldkartidechuxxacimethakarswmhnakakodytwphupwyexng sungsamarththakhwbkhuknipid ldkarsubbuhri sungepnepntnehtukhxngkhwamesiynginkarsmphsikhhwdihyaelaepnkhwamesiyngkhxngxakarthirunaerngkwa karldkaraephrechuxepnpccysakhyinkarkhwbkhumorkh phupwykhwrhyudphkphxnxyuthibanephuxldkarkracayechux aenanaimihthmnalay langmuxepnpracaephuxldkaraephrechuxphanphunphiwkhxngsingkhxngsatharnaechnlukbidpratu swmhnakakxnamyephuxpxngknkaraephrkracaykhxngiwrsthixyuinnamukaelanalay hakcaepntxngxxkmaphunthichumchnhruxtxngkarldkaraephrechuxphayinban enuxngcakikhhwdihysamarthaephrthangkarsmphsphiwthipnepuxn karthakhwamsaxadphiwcungxacchwyldkartidechuxlngbang aexlkxhxlepnsarcharalangthimiprasiththiphaphtxiwrsikhhwdihy swnsarprakxbkhwxetxnariaexmomeniymsamarthichrwmkbaexlkxhxlephuxihvththicharalangxyunankhun inorngphyabal sarprakxbkhwxetxnariaexmomeniymaelasarfxkichephuxcharalanghxnghruxxupkrnthiphumixakarikhhwdihyich thiban samarthcharalangxyangmiprasiththiphaphiddwysarfxkkhlxrinecuxcang yuththsastrkarrksarayahangthangsngkhmthiichrahwangkarrabadthwinxdit echn karpidorngeriyn obsphaelaornglakhr chalxkaraephrkhxngiwrs aetmiphlimmaknktxxtratayodyrwm yngimaenchdwahakldkarprachuminthisatharna twxyangechn pidorngeriynaelathithangan caldkaraephrechuxephraaphupwyikhhwdihyxacephiyngyaycakphunthihnungipxikthihnung matrkardngniyngbngkhbichidyakaelaxacimidrbkhwamniymdwy emuxkhncanwnnxytidechux karaeykphupwyxacldkhwamesiyngkhxngkaraephrechux karchidwkhsin khnakalngihwkhsinikhhwdihy xngkhkarxnamyolkaelasunykhwbkhumaelapxngknorkhkhxngshrthaenanawkhsinikhhwdihysahrbklumesiyngsungxyangedk phusungxayu ecahnathisatharnsukh aelaphupwyeruxrngxyangorkhhud ebahwan orkhhwic aelaphumiphumikhumknbkphrxng epntn inphuihysukhphaphdi wkhsinmiprasiththiphaphphxpramaninkarldprimanxakarkhlayikhhwdihyinprachakr inedksukhphaphdixayuekin 2 pi wkhsinldoxkasidrbikhhwdihylngsxnginsam aetyngimmikarsuksadinkinedkxayutakwa 2 pi karchidwkhsinldkarkaeribinphupwyorkhpxdxudkneruxrng aetyngimchdecnwachwyldkarkaeribkhxngorkhhuddwyhruxim hlkthansnbsnunxtrapwykhlayikhhwdihytakwainklumphumiphumikhumknbkphrxnghlayklum echn phupwyexchixwi exds maerng aelaphuhlngplukthayxwywa inphupwychidwkhsinkhwamesiyngsungxacldkhwamesiyngkhxngorkhhwic karkratunphumikhumkninecahnathisatharnsukhmiphltxphlkarrksaphupwyhruximnnyngepnthiphiphathxyu odybthptithrrsnbangimphbhlkthanephiyngphx aelabangphbhlkthanebuxngtn enuxngcakxtraklayphnthukhxngiwrsmisung wkhsinikhhwdihyechphaapkticungihkarpxngknorkhidimkipiethann thukpixngkhkarxnamyolkphyakrnwaiwrssayphnthuidnacaihlewiyninpihnamakthisud thaihbristhephschphnthphthnawkhsinthicaihphumikhumkndithisudtxsayphnthuehlani mikarepliynsutrwkhsinaetlavdusahrbsayphnthucaephaabangsayphnthu aetimrwmsayphnthuthikalngrabadxyuinolkrahwangvdunn phuphlitichewlahkeduxnsrangsutraelaphlitwkhsinhlaylankhnadthicaepninkarrbmuxkbsayphnthuthioddednxyuinkhnann nxkcaknikartidechuxkxnchidwkhsinaelakarecbpwycaksayphnthuthiwkhsinkhwrpxngknkepnipid ephraawkhsinichewlaxxkvththisxngspdah wkhsinsamarththaihrabbphumikhumkntxbsnxngrawkbwarangkaykalngmikartidechuxcring aelaxacmixakartidechuxthwipid sungxakarhlayxyangkhxngorkhhwdaelaikhhwdihykepnxakartidechuxthwip aemxakarehlanipktiimrunaernghruximkinewlananethaikhhwdihy phlimphungprasngkhthixntraythisud idaek ptikiriyaphumiaephrunaerngtxsariwrsexng hruxswntkkhangkhxngikhikthiichephaaiwrsikhhwdihy aetptikiriyaniphbyakying bthptithrrsnpi 2018 khxngkhxkhaekhrnwadwyedkthimisukhphaphodyrwmdiphbwakarchidwkhsinchnidechuxepnduehmuxnldkhwamesiyngkartidikhhwdihysahrbvdukalnncak 18 ehlux 4 wkhsinchnidechuxtayduehmuxnldxtrakartidikhhwdihysahrbvdukalnncak 30 ehlux 11 immikhxmulephiyngphxdungkhxsrupaenchdekiywkbphawaaethrksxnrunaerngxyangpxdbwmhruxkarihekhaorngphyabal sahrbphuihysukhphaphdi bthptithrrsnkhxkhaekhrnpi 2018 aesdngwawkhsinldxubtikarnkhxngikhhwdihythihxngptibtikaryunyncak 2 3 ehlux 0 9 sungkhidepnkarldkhwamesiyngpraman 60 xyangirkchdi sahrbkarecbpwykhlayikhhwdihysungniyamwamixakarediywknkhux ix ikh pwdsirsa khdcmukaelaecbpwdtamtw wkhsinldkhwamesiyngcak 21 5 ehlux 18 1 sungkhidepnkarldkhwamesiynglngelknxy 16 khxaetktangxacxthibayiddithisudcakkhxethccringthiwamiiwrskwa 200 chnidthikxxakarediywknhruxkhlayknkbiwrsikhhwdihy tnthun prasiththiphaphkhxngkarchidwkhsinikhhwdihytamvdukalmikarpraeminxyangkwangkhwangsahrbklumaelakrnitang odythwipphbwaepnkarrksathikhumthun odyechphaainedk aelaphusungxayu xyangirktam phlkhxngkarpraeminkarchidwkhsinikhhwdihythangesrsthkicphbwakhunxyukbkhxsnnisthansakhykarwinicchyphaphrngsiexkskhxngphupwyexkh1exn1 yunynaelw xayu 29 pi mikarthdsxbxyangrwderwsahrbikhhwdihyxyucanwnhnung withihnungeriykwa karsxbprimanomelkulxyangerw Rapid Molecular Assay sungepnkarekbtwxyang muk odyichsingpaykwadcmukhruxsingpaykwadkhxhxyswncmuk khwrthdsxbphayin 3 4 wnhlngerimmixakar ephraakarkracaykhxngiwrsinthangedinhayicswnbncayingthwicanwnmakkhunhlngcaknnkarrksaaenanaihphupwyikhhwdihyphkphxnmak dumnamak eliyngkarichaexlkxhxlaelayasub aelathacaepn ichyaxyangxaestamionefn pharaestamxl ephuxldikhaelabrrethapwdklamenuxthismphnthkbikhhwdihy nxkcakniyngaenanaihphupwyelingykarsmphsiklchidbukhkhlxunephuxpxngknkaraephrechux edkaelawyrunthimixakarikhhwdihy odyechphaaxyangyingikh khwreliyngkarichaexsiphrinrahwangkartidechuxikhhwdihy odyechphaaxyangyingikhhwdihychnidbi ephraaxacnaipsuklumxakarery epnorkhkhxngtbthihayakaetxacthungaekchiwitid dwyehtuthiikhhwdihyekidcakiwrs yaptichiwnacungimmiphltxkartidechux ykewncayihsahrbkartidechuxkhntamxyangpxdbwmaebkhthieriy yataniwrsxacmipraoychnhakiherw phayin 48 chwomnghlngxakaraerk aetikhhwdihybangsayphnthumikarduxyataniwrsmatrthan aelamikhwamkngwlekiywkbkhunphaphkhxngkarwicy pceckbukhkhlthimikhwamesiyngsungxyangedkelk hyingmikhrrph phusungxayuaelaphumiphumikhumknbkphrxngkhwrphbaephthyephuxkhxrbyataniwrs phumixakaretuxnchukechinkhwrtidtxhxngchukechinthnthi yataniwrs mikarichyataniwrssxngpraephthkbikhhwdihy idaek sarybyngniwraminieds oxeslthamiewiyr sanamiewiyr laninamiewiyr aela epramiewiyr aelatwybyngoprtinexm2 xnuphnthkhxngxadaaemnethn sarybyngniwraminieds praoychnodyrwmkhxngsarybyngniwraminiedsinphumisukhphaphdiduaelwimmakkwakhwamesiyng aeladuaelwimepnpraoychnid inphumipyhasukhphaphxun inphuthiechuxwaepnikhhwdihy yadngklawldrayaewlathimixakarnxykwahnungwnelknxy aetduimmiphltxkhwamesiyngtxphawaaethrksxn xyangkhwamcaepntxngrbrksainorngphyabalhruxorkhpxdbwm karduxsarybyngniwraminiedsthiphbmakkhunthukthithaihnkwicyaeswngyataniwrsthangeluxkthimiklikkarxxkvththixun sarybyngexm2 yataniwrsxaaemntadinaelairaemntadinybyngkarsrangchxngixxxnkhxngiwrs oprtinexm2 cungybyngkarthayaebbkhxngiwrsikhhwdihyex yaehlanibangkhrngmiphltxikhhwdihychnidex hakidrbtngaetkartidechuxrayaaerk aetimepnphlkbiwrsikhhwdihychnidbi sungimmiepahmaykhxngyaexm2 karduxyaxaaemntadinaelairaemntadinthiwdidinbukhkhlaeykchawxemriknsungepnexch3exn2 ephimepn 91 inpi 2005 karduxyaradbsungnixacenuxngcakxaaemntadinhasuxepnyabrrethahwdsuxexngidaelahaidngayinpraethsxyangcinaelarsesiy aelakarichephuxpxngknkarrabadkhxngikhhwdihyinstwpikfarm sidisiimaenanaihichsarybyngexm2 rahwangvdukalikhhwdihy 2005 06 enuxngcakmikarduxyainradbsungphyakrnorkhphlkhxngikhhwdihyrunaerngkwaaelaxyuidnankwaorkhhwd khnswnihycafuntwxyangsmburninpramanhnungthungsxngspdah aetbangkhnxacmiphawaaethrksxnthixntraythungchiwitid echn pxdbwm chann ikhhwdihyxacthungtayidinphuxxnaex edkaelaphusungxayu phuthimirabbphumikhumknbkphrxnghruxphupwyeruxrng phumirabbphumikhumknxxnaex echn phutidechuxexchixwikhnrunaernghruxphuthiidrbkarplukthayxwywa sungthangkaraephthyihkdrabbphumikhumknephuxpxngknkarptiesthxwywathiplukthay phuprasborkhrunaerngbangxyang hyingtngkhrrphaelaedkelkmikhwamesiyngtxphawaaethrksxnsungechnkn ikhhwdihyxacthaihpyhasukhphaphthrudlngid phuprasbphawamixakasinenuxeyux hlxdlmxkesberuxrnghruxorkhhudxacmixakarhayiclabakrahwangpwyepnikhhwdihy aelaikhhwdihyxacthaihekidorkhhlxdeluxdhwic hrux orkhhwiclmehlw karsubbuhriepnxikpccyesiynghnungthismphnthkbikhhwdihythirunaerngmakkhunaelaephimxtrakartaycakikhhwdihy xngkhkarxnamyolkmikhxmulwa thukvduhnawmibukhkhltidikhhwdihyhlaysiblankhn swnihypwyaelahyudthanganhnungspdahethann aetphusungxayumikhwamesiyngsungtxkaresiychiwitcakkarecbpwy erathrabwayxdphuesiychiwitthwolkxyuinhlkaesnkhntxpi aetkrathnginpraethsphthnaaelw canwndngklawyngimaennxnenuxngcakthangkaraephthypktiimidyunynwaaethcringaelwesiychiwitcakorkhikhhwdihy hruxesiychiwitcakkarecbpwykhlayikhhwdihy aemaetbukhkhlsukhphaphdiksamarthpwyid aelapyharunaerngcakikhhwdihysamarthekididthukwy bukhkhlxayu 65 pikhunip hyingtngkhrrph edkxxnaelakhnthukwythimiphawathangkaraephthyeruxrngmioxkasekidphawaaethrksxncakkarikhhwdihymakkwa echn pxdbwm orkhhlxdlmxkesb kartidechuxisns aelathihu inbangkrni kartxbsnxngphumitantnexngephuxtxbsnxngtxkartidechuxikhhwdihyxacmiphltxkarphthna xyangirkdi enuxngcakkartidechuxxikhlayxyangsamarthephimkhwamesiyngkhxngorkhni ikhhwdihycungxacepnsaehtusakhyechphaarahwangkarrabadethann klumxakarniechuxwaepnphlkhangekhiyngphbidnxykhxngwkhsinikhhwdihy bthptithrrsnhnungrabuwaxubtikarnmipramanhnungtxwkhsinhnunglankhnad kartidechuxikhhwdihyexngephimthngkhwamesiyngesiychiwit thung 1 in 10 000 aelaephimkhwamesiyngkhxngkarekidklumxakarkilaelng barerthungradbsungkwaradbkhwamekiywkhxngkhxngwkhsinthisngsysungsudmak praman 10 ethakhxngkarpramanlasud khxmulkhxng cdc gov rabuwa edkthukwythimiphawathangprasathwithyamioxkaspwymakethiybkbedkxunthaidrbikhhwdihy phawaaethrksxnkhxngikhhwdihyxacaetktangknaelasahrbedkbangkhnxacrwmpxdbwmaelathungesiychiwitid exmxarixaesdngsmxngxkesbcakikhhwdihy phawathangprasathwithyarwmthung khwamphidpktikhxngsmxngaelaikhsnhlng xmphatsmxngihy orkhlmchk orkhhlxdeluxdsmxng khwamphikarthangpyya phthnakarlacharadbpanklangthungrunaerng orkhklamenuxecriyphidephiyn karbadecbkhxngikhsnhlng phawaehlanisamarthkhdkhwangkarix karklun karthaihthangedinhayicolng aelainkrnielwraythisud karhayic channcungthaihxakarkhxngikhhwdihyelwlngrabadwithyakarphnaeprtamvdukal phunthiesiyngtamvdukalsahrbikhhwdihy phvscikayn emsayn sinaengin emsayn phvscikayn aedng aelatlxdpi siehluxng ikhhwdihymikhwamchuksungsudinvduhnaw aelaenuxngcaksikolkehnuxaelasikolkittrngkbvduhnawtangewlakn pihnungcungmivduikhhwdihysxngvdu epnehtuihxngkhkarxnamyolk sungmisunyikhhwdihyaehngchatisnbsnun xxkkhaaenanasahrbsutrwkhsinsxngkhaaenanaaeykknthukpi khuxihsikolkehnuxaelasikolkit prisnathimimananmixyuwaehtuidkarrabadkhxngikhhwdihycungekidtamvdukalimichekidethakntlxdpi mikhaxthibaythiepnipidxyanghnungwabukhkhlxyuinxakharmakkhunrahwangvduhnaw cungxyuiklchidkbphuxunbxykhrngkhun aelasngesrimkaraephrechuxcakbukhkhlsubukhkhl karthxngethiywthiephimkhunenuxngcakvduwnhyudvduhnawinsikolkehnuxkxacmibthbath xikpccyhnungidaekxunhphumieynnaipsuxakasaehng sungxacthaihxnuphakhemuxkesiyna xnuphakhaehngebakwaaelasamarthxyuinxakasidepnewlanankhun iwrsyngxyurxdnankwabnphunphiwthixunhphumieynkwaaelakaraephrechuxdwylaxxngfxykhxngiwrsekidsungsudinsingaewdlxmeyn takwa 5 s sungmikhwamchunsmphththta khwamchuninxakastakwainvduhnawduepnsaehtuhlkkhxngkaraephrechuxkhxngikhhwdihytamvdukalinekhtxbxun karepliynaeplngxtrakartidechuxtamvdukalyngphbinekhtrxndwy aelainbangpraethsmixtrakartidechuxsungsudrahwangvdufnepnhlk karepliynaeplngtamvdukalinxtrakarsmphscakphakheriyn sungepnpccyhlkinorkhwyedkxyangxun echn orkhhdaelaorkhixkrn xacmibthbathinorkhikhhwdihyechnkn phltamvdukalelknxyehlaniemuxrwmknaelwxacmikaresrimcakkarphxngaebbphlwtkbwtckrorkhcakphayin exch5exn1 kaesdngkhwamphnaeprtamvdukalthnginmnusyaelastwpik smmtithanxikxyanghnungephuxxthibaykhwamphnaeprtamvdukalinkartidechuxikhhwdihykhuxphlkhxngradbwitamindithimitxphumikhumkntxiwrs orecxr exdkar ohp simpsnepnphuesnxkhwamkhidnikhrngaerkinpi 1965 ekhaesnxwasaehtukhxngkarrabadthwkhxngikhhwdihyrahwangvduhnawxacechuxmoyngkbkarkhunlngtamvdukalkhxngwitamindi sungmikarphlitinphiwhnngphayitxiththiphlkhxngkaraephrngsiyuwi sungsamarthxthibaywaehtuidikhhwdihyekidinvduhnawepnhlk aelarahwangvdufninekhtrxn emuxbukhkhlxyuinxakhar imidrbaesngxathityaelathaihradbwitamindildlng karrabadaelakaraephrkracaykhxngorkhrabadthw dwyehtuwaikhhwdihyekidcakiwrshlaychnidaelahlaysayphnthu inpihnung bangsayphnthucungxactayip swnbangsayphnthuxackxihekidkarrabad aelabangsayphnthuyngsamarthkxihekidkarrabadthw trngaebb invdukalikhhwdihysxngvdukaltampktiinhnungpi miphupwyrunaerngrahwang 3 thung 5 lankhn aelamiphuesiychiwitpraman 500 000 khnthwolk sungbangbthniyamepnkarrabadkhxngikhhwdihypracapi aemxubtikarnkhxngikhhwdihysamarthphnaepridmakrahwangpi aetmiphuesiychiwitpraman 36 000 khnaelakarrbekhaorngphyabalkwa 200 000 khrngthismphnthodytrngkbikhhwdihythukpiinshrth withikarhnunginkarkhanwnxtrataykhxngikhhwdihyidphlwamiphuesiychiwitechliytxpi 41 400 khninshrthrahwangpi 1979 thung 2001 karkhanwnxikwithihnungthisunykhwbkhumaelapxngknorkh CDC ichinpi 2010 raynganphisytngaetpraman 3 300 khnthung 49 000 khntxpi ekidkarrabadthwpramansamkhrngtxstwrrs sungtidtxprachakrkhxngolkepncanwnmak aelakhamnusyhlaysiblankhn karsuksahnungpramanwathaikhhwdihysayphnthuthimiskyphaphkxorkhkhlaykbikhhwdihy 1918 praktinpccubn cathaihmiphuesiychiwitrahwang 50 thung 80 lankhn kareluxnhruxkarrwmknihmkhxngaexntiecnsamarthsngphlihekidsayphnthuihmaelakxorkhxyangsungkhxngikhhwdihymnusy iwrsikhhwdihyihmmiwiwthnakarxyangtxenuxngodykarklayphnthuhruxkarekhachudyinihm reassortment karklayphnthusamarththaihekidkarepliynaeplngelknxyinaexntiecnhiaemkklutininaelaniwraminiedsbnphiwkhxngiwrs singnieriykkarebiyngebnaexntiecn antigenic drift sungsrangsayphnthuthimikhwamhlakhlayephimkhuneruxy xyangcha cnsayphnthuhnungwiwthnakarcntidechuxbukhkhlthimiphumikhumkntxsayphnthuthimixyuedim sayphnthuihmnicaaethnthisayphnthuekaemuxsayphnthunnkwadphanprachakrmnusy sungmkkxihekidkarrabad xyangirkdi enuxngcaksayphnthuthiphlitcakkareluxncayngkhlaykbsayphnthuekakwaxyangsmehtuphl bangkhncungmiphumikhumkntxsayphnthunn inthangtrngkham emuxiwrsikhhwdihymikarrwmknihm caidaexntiecnihmthnghmd twxyangechnemuxmikarrwmknihmrahwangsayphnthunkaelasayphnthumnusy singnieriyk kareluxnaexntiecn antigenic shift hakiwrsikhhwdihymnusyphlitaexntiecnihmthnghmd thukkhncaiwrb aelaikhhwdihysayphnthuihmcaaephrkracayxyangkhwbkhumimid kxihekidkarrabadthw inthangtrngkhamkbaebbcalxngkarrabadthwthixasykarebiyngebnaelakareluxnaexntiecn mikaresnxxikaenwthanghnungsungkarrabadthwepnkhabnnekidcakxntrkiriyarahwangsayphnthuiwrsbangchudthiprachakrmnusythimikarepliynaeplngchudphumikhumkntxiwrssayphnthutang xyangtxenuxng ewlachwrunsahrbikhhwdihy ewlatngaetkartidechuxsxngkhrng snmak 2 wn cungxthibaywaehtuidkarrabadkhxngikhhwdihycungerimtnaelasinsudinewlasn imkieduxn cakmummxngkhxngsatharnsukh karrabadkhxngikhhwdihyaephrkracayxyangrwderwaelakhwbkhumyakmak sayphnthuiwrsikhhwdihyswnihyimidtidechuxmak aelapceckbukhkhlthitidechuxcaaephrechuxihaekpceckbukhkhlxikhnungthungsxngkhnethann canwnkarsubphnthuphunthansahrbikhhwdihyxyuthipraman 1 4 xyangirkdi ewlachwrunsahrbikhhwdihysnmak hruxewlatngaetbukhkhltidechuxcnthungemuxekhaaephrechuxihaekbukhkhlthdip kinewlaephiyng 2 wn ewlachwrunthisnnihmaykhwamwakarrabadkhxngikhhwdihypktisungsudthiewla 2 eduxnaelahmdiphlng 3 eduxn cungtxngribtdsinicaethrkaesnginkarrabadkhxngikhhwdihytngaettn aelachannkartdsiniccungmktngxyubnkhxmulthiimsmburn xikpyhahnungkhuxpceckbukhkhlsamarthaephrechuxidtngaetkxnmixakar sunghmaykhwamwakarkkknbukhkhlhlngmixakarpwyimichkaraethrkaesngthangsatharnsukhthimiprasiththiphaph sahrbbukhkhlthwip karkracayiwrsmksungsudinwnthi 2 aetxakarcasungsudinwnthi 3prawtisastrsphthmulwithya khawa ikhhwdihy influenza macakphasaxitalihmaythung xiththiphl influence aelahmaythungsaehtukhxngorkh sungedimthiechuxwaekidcakxiththiphlthangohrasastrthiimexuxxanwy mikarnamaichinphasaxngkvsinklaykhriststwrrsthi 18 rahwangkarrabadthwthwipyuorp khaobransahrbikhhwdihyechn epidemic catarrh la grippekarpwyehnguxxxk sweating sickness aela ikhsepn odyechphaaxyangyingsahrbsayphnthukarrabadthwkhxngikhhwdihypi 1918 karrabadthw krafaesdngkaresiychiwittx 100 000 prachakrinaetlaklumxayuinshrthrahwangpi 1911 1917 esnpra aelapirabadthw 1918 esnthub aesdngkhxaetktangrahwangkarkracaykhxngxayuesiychiwitcakikhhwdihyrahwangkarrabadpi 1918 aelakarrabadpktiklxngaelacxthayphaphkhwamrxn sungthaycakxakharsnambininpraethskrisrahwangkarrabadthwkhxngikhhwdihypi 2009 karthayphaphkhwamrxntrwccbxunhphumikaythisungkhun sungepnxakaraesdnghnungkhxngikhhwdihyhmu hipphxkhrathisxthibayxakarkhxngikhhwdihymnusyxyangchdecnemuxpraman 2 400 pikxn aemwaiwrsdngklawduehmuxnkxihekidkarrabadtlxdprawtisastrkhxngmnusy aetkhxmulprawtisastrkhxngikhhwdihytikhwamidyak ephraaxakarsamarthkhlaykborkhthangedinhayicxunid orkhnixacaephrkracaycakthwipyuorpipthwipxemrikatngaet enuxngcakprachakrphunemuxngekuxbthnghmdkhxngaexnthillisesiychiwitcakkarrabadthikhlaykbikhhwdihythirabadinpi 1493 hlngkhrisotefxr okhlmbsedinthangthung bnthukthinaechuxkhrngaerkkhxngikhhwdihyrabadthwkhuxkarrabadinpi 1580 sungerimtninpraethsrsesiyaelwkracayipthwipyuorpphanthwipaexfrika inkrungorm miphuesiychiwitkwa 8 000 khn aelaprachakrinnkhrkhxngsepnhlayaehngesiychiwitekuxbthnghmd karrabadthwdaeninipepnrayatlxdkhriststwrrsthi 17 aela 18 odymikarrabadthwpi 1830 1833 thikwangkhwangepnphiess sungtidechuxprachakrthismphspramanhnunginsi karrabadkhrngthimichuxesiyngthisudaelamiphuesiychiwitmakthisudidaek karrabadthwkhxngikhhwdihypi 1918 ikhhwdihysepn ikhhwdihychnidex praephthyxyexch1exn1 sungkinewlatngaetpi 1918 thung 1919 yngimthrabaenchdwamiyxdphuesiychiwitethaid aetkhapramanxyurahwang 50 thung 100 lankhn mikarxthibaykarrabadthwniwaepn phyphibtithangkaraephthyihysudinprawtisastr aelaxackhakhnidmakethaaeblkedth yxdphuesiychiwitsungkhnadniekidcakxtrakartidechuxthisungxyangyingmakthung 50 aelaxakarrunaerngsudkhw thiiwrbtxphayuisothikhn xakarinpi 1918 phidpktiesiycnthiaerkikhhwdihywinicchyphidepnikhedngki xhiwatkorkhhruxithfxyd phusngektkhnhnungekhiynwa phawaaethrksxnthietatathisudxyanghnungkhuxeluxdxxkcakeyuxemuxk odyechphaaxyangyingcakcmuk kraephaaxaharaelalais eluxdxxkcakhuaelacudeluxdxxkinphiwhnngkphbid karesiychiwitswnihyekidcakpxdbwmaebkhthieriy sungepnkartidechuxthutiyphumithiekidcakikhhwdihy aetiwrsyngkhamnusyodytrngid odythaihekideluxdxxkprimanmakaelaxakarbwmnainpxd karrabadthwkhxngikhhwdihypi 1918 epnkarrabadthwolkxyangaethcring odyaephrkracayipthungxarktikaelahmuekaaaepsifikxnhangikl khrngnnorkhthaihphutidechuxesiychiwitrahwang 2 thung 20 trngkhamkbxtrataykhxngikhhwdihyrabadtampkti 0 1 lksnaxikxyanghnungkhxngkarrabadnikhuxphuesiychiwitswnihyepnwyphuihytxntn odykaresiychiwitcakkarabadkhxngikhhwdihy 99 ekidinbukhkhlxayutakwa 65 pi aelakwakhrungepnphuihyxayurahwang 20 thung 40 pi nbepnsingphidpktiephraapktiikhhwdihymixtrataysungsudinedkxxn xayutakwa 2 pi aelaphusungxayumak xayuekin 70 pi imthrabxtrataykhxngkarrabadpi 1918 1919 aenchd aetpraeminwamiprachakrolkesiychiwitarahwang 2 5 thung 5 khxngprachakrolk in 25 spdahaerk miphuesiychiwitmakthung 25 lankhn inthangtrngknkham exchixwi exdsmiphuesiychiwit 25 lanin 25 piaerk karrabadkhxngikhhwdihyinewlatxmaimmiphlthalaylangkhnadnnaelw sungrwmikhhwdihyexechiypi 1957 chnidex sayphnthuexch2exn2 aelaikhhwdihyhxngkngpi 1968 chnidex sayphnthuexch3exn2 aetaemkarrabadkhnadyxmkwanikthaihmiphuesiychiwithlaylankhnid inkarrabadthwtxma miyaptichiwnaephuxkhwbkhumkartidechuxthutiyphumi aelaxacchwyldxtratayemuxethiybkbikhhwdihysepnpi 1918 iwrsikhhwdihychnidhlkinmnusy siehliymthbaesdngkarpraktsayphnthuihm thaihekidkarrabadthwkhxngikhhwdihysa esnpraaesdngkarrabusayphnthuthiimaenchd iwrsikhhwdihychnidaerkthiaeykidmacakstwpik emuxinpi 1901 echuxkxorkhchux kalorkhstwpik phantwkrxngechmebxraeln sungmiruelkcnaebkhthieriyphanimid mikarkhnphbsaehtukhxngikhhwdihy khuxiwrswngs Orthomyxoviridae khrngaerkinhmuodyrichard ochpinpi 1931 imnanmikaraeykiwrscakmnusyodyklumthimiaephthrik eldlxwepnhwhna n sphawicykaraephthyaehngshrachxanackrinpi 1933 xyangirktam kwacaekhaicsphaphimichesllkhxngiwrsklwngmacnewnedl saetnliythaihiwrsomeskyasubepnphlukinpi 1935 kawsakhykawaerkinkarpxngknikhhwdihymikarphthnawkhsinchnidiwrstayinpi 1944 odythxms fransis cueniyr sungtxyxdcakngankhxngaefrngk aemkfarlin ebxrentchawxxsetreliy phuaesdngwaiwrsesiyskyphaphkxorkhemuxephaaeliynginikhikthiptisnthiaelw karprayuktichkarsngektniodyfransisthaihklumnkwicykhxngekhathimhawithyalymichiaeknphthnawkhsinikhhwdihyepnkhrngaerkdwykarsnbsnunkhxngkxngthphshrth kxngthphekharwmkarwicyniephraaprasbkarnikhhwdihyinsngkhramolkkhrngthihnung sungkalngphlhlayphnnayesiychiwitcakiwrsinewlaimkieduxn emuxethiybkbwkhsinaelw karphthnayatanikhhwdihychakwa odymikarcdsiththibtrxaaemntadininpi 1966 aelaxikekuxbsamsibpitxma kalngmikarphthnayaklumihm twybyngniwraminieds ikhhwdihyrabadthwthisakhy yukhpccubn chux pi prachakrolk chnidyxy Reproduction number khntid khnodypraman khntaythwolk khn xtrapwytay radbkhwamrunaerngikhhwdihyrabadthw kh s 1889 1890 1889 1890 1 530 lan naca H3N8 hrux H2N2 2 10 IQR 1 9 2 4 20 60 300 900 lan 1 lan 0 10 0 28 2ikhhwdihysepn 1918 20 1 800 lan H1N1 1 80 IQR 1 47 2 27 33 500 lan hrux gt 56 gt 1 phnlan 17 100 lan 2 3 hrux 4 hrux 10 5ikhhwdihyexechiy 1957 58 2 900 lan H2N2 1 65 IQR 1 53 1 70 gt 17 gt 500 lan 1 4 lan lt 0 2 2ikhhwdihyhxngkng 1968 69 3 530 lan H3N2 1 80 IQR 1 56 1 85 gt 14 gt 500 lan 1 4 lan lt 0 2 2ikhhwdihysayphnthuihm 2009 2009 10 6 850 lan H1N1 09 1 46 IQR 1 30 1 70 11 21 700 1 400 lan 151 700 575 400 0 03 1ikhhwdihytamvdukal thukpi 7 750 lan A H3N2 A H1N1 B 1 28 IQR 1 19 1 37 5 15 340 1 000 lan 3 11 hrux 5 20 240 1 600 lan 290 000 650 000 pi lt 0 1 1hmayehtu xacimichkarrabadthw aetaesdngiwephuxepriybethiybsngkhmaelawthnthrrmikhhwdihymirakhaodytrngenuxngcakkaresiyphlitphaphaelakarrksathangkaraephthythiekiywkhxng tlxdcnrakhaodyxxmkhxngmatrkarpxngkn inshrth ikhhwdihytamvdukalmipraeminwasngphlihmirakhathangesrsthkictxpiechliykwa 11 000 landxllarshrth sungepnrakhathangkaraephthyddytrngkwa 3 phnlandxllarshrthtxpi mikarpraeminwakarrabadthwinxnakhtxacthaihrakhaodytrngaelaodyxxmsungthunghlayaesnlandxllarshrth xyangirktam yngimmikarsuksaphlkrathbthangesrsthkickhxngkarrabadthwinxditxyangekhmkhn aelaphupraphnthbangkhnesnxwaikhhwdihysepnxacmiphlkrathbrayayawepnbwktxkaretibotkhxngrayidtxhw aemmikarldlngkhxngprachakrthanganaelaphlxyangrunaerngrayasn karsuksaxunphyayamthanayrakhakhxngkarrabadthwthirunaerngethakbikhhwdihysepnpi 1918 txesrsthkicshrth sungkhnngan 30 pwy aelaesiychiwit 2 5 xtrapwy 30 aelakarecbpwynansamspdahcaldphlitphnthmwlrwmphayinpraeths 5 khaichcayephimetimxacmacakkarrkssthangkaraephthyprachakr 18 thung 45 lankhn cakhidepnmulkhathangesrsthkicthngsinpraman 700 000 landxllarshrth mulkhapxngknyngsungdwy rthbalthwolkichenginhlayphnlandxllarshrthetriymkaraelawangaephnkarrabadthwkhxngikhhwdihynkexch5exn1 odykhaichcaythismphnthkbkarsuxyaaelawkhsintlxdcnkarphthnakarfukphyphibtiaelayuththsastrsahrbkarkhwbkhumchayaednprbprung emuxwnthi 1 phvscikayn 2005 prathanathibdishrth cxrc dbebilyu buch epidyuththsastraehngchatisahrbphithksxntraykhxngikhhwdihyrabadthw sungsnbsnunodykharxngtxrthsphaepnengin 7 1 phnlandxllarephuxerimtnnaaephnipptibti inradbsakl wnthi 18 mkrakhm 2006 chatiphubricakhihkhamnwacaichengin 2 phnlandxllarshrthephuxtxsukbikhhwdihynkinkarprachumcanarahwangpraethswadwyikhhwdihynkaelamnusythicdinpraethscin inkarpraeminphlkarrabadthwkhxngexch1exn1 pi 2009 inbangpraethssikolkit khxmulchiwathukpraethsmiphlcakddwyewla aela hrux karaeykthangphumisastr phlthangsngkhmaelaesrsthkic aelakarthxngethiywldlngchwkhrawxnenuxngcakkhwamklworkhexch1exn1 pi 2009 yngerwekinipthicatdsinwakarrabadthwkhxngexch1exn1 kxihekidphlkrathbthangesrsthkicrayayawkarwicynkwicykalngtrwcsxbkarsrangihmkhxngiwrsikhhwdihysepnpi 1918 thiephaainhxngptibtikarinsingaewdlxmkhwamplxdphychiwphaphradb 3 karwicyeruxngikhhwdihyrwmkarsuksawithyaiwrsomelkul phyathikaenid kartxbsnxngthangphumikhumknkhxngtwthukebiyn cionmiksiwrs aelawithyakarrabad karsuksaehlanichwyphthnamatrkartxbotikhhwdihy twxyangechn khwamekhaicrabbphumikhumknkhxngrangkaythidikhunchwyphthnawkhsin aelaphaphraylaexiydwithithiikhhwdihybukrukesllchwyphthnayataniwrs okhrngkarwicyphunthanhnung idaek okhrngkareriyngladbcionmikhhwdihy sungsrangkhlngladbikhhwdihy khlngnichwythaihpccythithaihsayphnthuiwrshnungmixtrataymakkwasayphnthuxunkracangmakkhun yinidmiphltxkarkxkaenidphumikhumknmakthisud aelaiwrswiwthnakarxyangirtamewla karwicywkhsinihmmikhwamsakhyepnphiess ephraawkhsinpccubnphlitidchamakaelamirakhaaephng aelacaepntxngmikarprbsutrihmthukpi kareriyngladbcionmikhhwdihyaelaethkhonolyidiexnexsayphsmxacerngkarkxkaenidiwrssayphnthuihmephuxihnkwithyasastrthdaethnaexntiecnihmekhasusayphnthuwkhsinthiphthnakxnhnani nxkcakni pccubnkalngmikarphthnaethkhonolyiihmephuxephaaiwrsinkarephaaeliyngesll sungcaihphlmakkwa rakhathukkwa mikhunphaphdikwa aelamismrrthnamakkhun karwicyeruxngwkhsinikhhwdihyexsakl sungmungepaodemnphaynxkkhxngoprtinexm2 khameyuxkhxngiwrs M2e xyurahwangdaeninkarthimhawithyalyekntodywlethxr efiys saewiyr eselnsaelakhna aelapccubnsinsudkarthdlxngthangkhlinikrayathi 1 saercaelw mikhwamsaercinkarwicybangtx wkhsinikhhwdihysakl sungphlitaexntibxditxoprtinthixyubnokhtiwrssungklayphnthuchakwa channwkhsinekhmediywsamarthihkarpxngknthixyunankhun pccubnkalngmikarsxbswnyachiwphaph biologic wkhsinrksaaelayachiwphaphphumikhumkn immunobiologic sahrbrksakartidechuxthiekidcakiwrscanwnhnung chiwwithyakarrksaxxkaebbmaihplukvththikartxbsnxngthangphumikhumkntxiwrshruxaexntiecn trngaebbyachiwphaphimmungepawithiemaethbxlisumxyangyataniwrs aetkratunesllphumikhumknxyangemdeluxdkhaw aemokhrefcaela hrux esllnaesnxaexntiecn antigen presenting cell inkhwamphyayamphlkdnkartxbsnxngthangphumikhumkntxphlmiphistxeslltxiwrs aebbcalxngikhhwdihy xyangikhhwdihyhnu epnaebbcalxngthisadwkephuxthdsxbphlkhxngyachiwphaphephuxpxngknaelarksaorkh twxyangechn yaprbphumikhumknemdeluxdkhawthi esll Lymphocyte T Cell Immune Modulator ybyngkarecriykhxngiwrsinaebbcalxnghnukhxngikhhwdihystwxunikhhwdihyyngmikartidechuxinstwhlaychnid aelakarthayoxnsayphnthuiwrsrahwangstwchnidtang nnsamarthekidkhunid echuxwankepnstwekbechuxhlkkhxngiwrsikhhwdihy mikarrabuhimkklutininsibhkaebb aelaniwraminiedsekaaebb phbthukchnidyxy exch exn innk aethlaychnidyxyphbpracainmnusy hma maaelahmu xuthbangswn efxrert aemw aemwna mingkaelawalyngaesdnghlkthankhxngkartidechuxhruxkarsmphsikhhwdihykxnhnanidwy iwrsikhhwdihychnidtang bangthiidchuxtamchnidkhxngstwthiphbpracahruxmikarprbtw chnidhlkthiidchuxtamthrrmeniymni idaek ikhhwdihynk ikhhwdihymnusy ikhhwdihyhmu ikhhwdihymaaelaikhhwdihyhma pktiikhhwdihyaemwhmaythungeyuxcmukaelathxlmxkesbcakiwrsinaemw hruxkhalisiiwrsaemw aelaimichkartidechuxcakiwrsikhhwdihy inhmu maaelahma xakarkhxngikhhwdihykhlaykbmnusy khuxmiix ikhaelaebuxxahar khwamthikhxngorkhstwyngmikarsuksaimdiethakartidechuxinmnusy aetkarrabadkhxngikhhwdihyinaemwnatamthaeruxthaihmiaemwnataypraman 500 twnxkchayfngniwxingaelndinpi 1979 1980 xyangirkdi karrabadinhmuphbthwipaelaimkxihekidkartayrunaerng yngmikarwkhsinephuxpxngknstwpikcakikhhwdihystwpik wkhsinehlanimiprasiththiphaphtxiwrshlaysayphnthu aelaichepnswnhnungkhxngyuththsastrpxngkn hruxrwmkbkarkhastw culling ephuxphyayamkacdkarrabad ikhhwdihynk xakarikhhwdihyinnkmihlakhlayaelaxacimcaephaa xakartamhlngkartidechuxdwyikhhwdihystwpikthimikhwamsamarthkxorkhtaxacimrunaerngxyangkhnfu phlitikhldlngelknxy hruxnahnkldrwmkborkhthangedinhayicelknxy enuxngcakxakareba ehlanixacthaihkarwinicchyinsnamthaidyak kartidtamkarrabadkhxngikhhwdihystwpikcungtxngxasykarthdsxbthanghxngptibtikarsungtwxyangcaknkthitidechux bangsayphnthuxyangexch9exn2 inexechiymiskyphaphkxorkhsungtxstwpik aelaxackxihekidxakarrunaerngaelakartaysung inrupthikxorkhsungsud ikhhwdihyinikaelaikngwngthaihmixakarrunaerngthipraktechiybphlnaelaxtratayekuxb 100 phayinsxngwn emuxiwrsaephrxyangrwderwinphawaaexxdthiphbinkarthafarmikaelaikngwngaebbekhmkhn karrabadehlanithaihekidkarsuyesiythangesrsthkicxyangmaktxekstrkrstwpik sayphnthukxorkhsungaelaprbtwinstwpikexch5exn1 eriyk HPAI A H5N1 yxmacak iwrsikhhwdihystwpikkxorkhsungchnidex chnidyxyexch5exn1 kxorkhikhhwdihyexch5exn1 hruxeriykthwipwa ikhhwdihystwpik hruxlalxngwa ikhhwdnk phbpracathininprachakrnkhlaychnid odyechphaaxyangyinginexechiytawnxxkechiyngit sayphnthu HPAI A H5N1 echuxsayexechiynikracayipthwolk epnorkhrabadinstwaelaorkhrabadthwinstw thaihminktayhlaysiblantw aelathaihekidkarkhankxunhlayrxylantwephuxphyayamkhwbkhumkaraephrkracaykhxngiwrs karphadphinginsuxthung ikhhwdnk swnmakaelakarphadphingswnihythungexch5exn1 kekiywkbsayphnthuniodyechphaa pccubn HPAI A H5N1 epnorkhstwpikaelaimmihlkthanbngchiwamikaraephrechuxcakmnusysumnusykhxng HPAI A H5N1 xyangmiprasiththiphaph inphupwyekuxbthnghmdlwnmikarsmphsthangkayxyangmaktxnkthipwy inxnakht exch5exn1 xacklayphnthuhruxrwmknihmepnsayphnthuthisamarthaephrechuxcakmnusysumnusyidxyangmiprasiththiphaphid karepliynaeplngaenchdthicaepntxkarekidehtukarndngniyngimekhaicdink xyangirkdi enuxngcakxtrataysungaelaskyphaphkxorkhkhxngexch5exn1 karmikarrabad aelatwthukebiynekbechuxchiwphaphthimikhnadihymakkhuneruxy iwrsexch5exn1 cungepnphykhukkhamorkhrabadthwrahwangvdukalikhhwdihypi 2006 07 aelamikarradmenginhlayphnlandxllarshrthaelaichcayephuxwicyexch5exn1 aelakaretriymkarsahrbkarrabadthwkhxngikhhwdihythixacekidkhun phutrwcchawcinbnekhruxngbinkalngtrwcsxbphuodysarhaikh sungepnxakarthwipkhxngikhhwdihyhmu ineduxnminakhm 2013 rthbalcinrayngankartidechuxikhhwdihyexch7exn9 inmnusy 3 ray incanwnnisxngkhnesiychiwitaelakhnthisampwywikvt aemimechuxwaiwrssayphnthudngklawmikaraephrkracayxyangmiprasiththiphaphrahwangmnusydwykn emuxthungklangeduxnemsayn mibukhkhlxyangnxy 82 khnpwycakexch7exn9 sungmiphuesiychiwit 17 khn phupwyehlaniidaekklumkhrxbkhrwkhnadelksamkluminesiyngihaelahnungklumrahwangedkhyingaelachaythiepnephuxnbankninkrungpkking thaihmikhxsngsykhwamepnipidkhxngkaraephrechuxcakmnusysumnusy xngkhkarxnamyolkchiwaklumhnungmiphupwythiimidrbyunynthanghxngptibtikarsxngkhn aelachiwaiwrsbangchnidsamarthkxihekidkaraephrechuxcakmnusysumnusyphayitphawakarsmphsiklchid aetimaephrechuxmakphxkxihekidkarrabadinchumchnkhnadihy ikhhwdihyhmu inhmu ikhhwdihyhmukxxakarikh esuxngsum cam ix hayiclabakaelaebuxxahar inbangkrnikartidechuxsamarththaihaethngid aemxtrataytampktita aetiwrssamarththaihnahnkldaelaetibotimdiid kxihekidkhwamsuyesiythangesrsthkictxekstrkr hmuthitidechuxxacminahnktwldlngmakthung 12 pxndinrayaewla 3 thung 4 spdah karaephrechuxodytrngkhxngiwrsikhhwdihycakhmusumnusyepnipidbangkhrng eriykwaikhhwdihyhmurbcakstw thnghmdaelw thrabknwaekidphupwymnusy 50 khnnbaetmikarrabuiwrsinklangkhriststwrrsthi 20 sungmiphuesiychiwit 6 khn inpi 2009 sayphnthuiwrsexch1exn1 thimikaenidcakhmuthieriykknodythwipwa ikhhwdihyhmu nnkxihekidkarrabadthwkhxngikhhwdihysayphnthuihm 2009 aetimmihlkthanwaiwrsphbechphaainhmu hruxepnkaraephrechuxcakhmusumnusy aetiwrsnnaephrcakmnusysumnusy sayphnthuniepnkarrwmknihmkhxngexch1exn1 thipktiphbaeykkn inmnusy nkaelahmuxangxing Influenza Seasonal World Health Organization WHO 6 November 2018 cakaehlngedimemux 30 November 2019 subkhnemux 30 November 2019 Longo DL 2012 Chapter 187 Influenza Harrison s principles of internal medicine 18th ed New York McGraw Hill ISBN 978 0 07 174889 6 Jefferson T Del Mar CB Dooley L aelakhna 2011 Physical interventions to interrupt or reduce the spread of respiratory viruses PDF Cochrane Database Syst Rev 7 CD006207 doi 10 1002 14651858 CD006207 pub4 PMID 21735402 Up to 650 000 people die of respiratory diseases linked to seasonal flu each year World Health Organization WHO Press release 14 December 2017 cakaehlngedimemux 18 April 2019 subkhnemux 24 September 2019 Key Facts about Influenza Flu amp Flu Vaccine cdc gov 9 September 2014 cakaehlngedimemux 2 December 2014 subkhnemux 26 November 2014 Duben Engelkirk Paul G Engelkirk Janet 2011 Burton s microbiology for the health sciences 9th ed Philadelphia Wolters Kluwer Health Lippincott Williams amp Wilkins p 314 ISBN 978 1 60547 673 5 Types of Influenza Viruses Seasonal Influenza Flu CDC phasaxngkvsaebbxemrikn 27 September 2017 subkhnemux 28 September 2018 Shuo Su Xinliang Fu Gairu Li Fiona Kerlin Michael Veit 25 August 2017 Novel Influenza D virus Epidemiology pathology evolution and biological characteristics Virulence 8 8 1580 91 doi 10 1080 21505594 2017 1365216 PMC 5810478 PMID 28812422 Brankston G Gitterman L Hirji Z Lemieux C Gardam M April 2007 Transmission of influenza A in human beings Lancet Infect Dis 7 4 257 65 doi 10 1016 S1473 3099 07 70029 4 PMID 17376383 Michiels B Van Puyenbroeck K Verhoeven V Vermeire E Coenen S 2013 The value of neuraminidase inhibitors for the prevention and treatment of seasonal influenza a systematic review of systematic reviews PLOS One 8 4 e60348 Bibcode 2013PLoSO 860348M doi 10 1371 journal pone 0060348 PMC 3614893 PMID 23565231 Ebell MH Call M Shinholser J April 2013 Effectiveness of oseltamivir in adults a meta analysis of published and unpublished clinical trials Family Practice 30 2 125 33 doi 10 1093 fampra cms059 PMID 22997224 Somes MP Turner RM Dwyer LJ Newall AT May 2018 Estimating the annual attack rate of seasonal influenza among unvaccinated individuals A systematic review and meta analysis Vaccine 36 23 3199 3207 doi 10 1016 j vaccine 2018 04 063 PMID 29716771 World Health Organization 14 October 2005 khlngkhxmulekaekbcakaehlngedimemux 8 October 2009 subkhnemux 26 September 2009 Chan Margaret 11 June 2009 World now at the start of 2009 influenza pandemic World Health Organization cakaehlngedimemux 12 June 2009 subkhnemux 12 June 2009 Palmer SR 2011 Oxford textbook of zoonoses biology clinical practice and public health control 2 ed Oxford u a Oxford Univ Press p 332 ISBN 978 0 19 857002 8 Call S Vollenweider M Hornung C Simel D McKinney W 2005 Does this patient have influenza JAMA 293 8 987 97 doi 10 1001 jama 293 8 987 PMID 15728170 Centers for Disease Control and Prevention gt Influenza Symptoms 1 phvsphakhm 2009 thi ewyaebkaemchchin Retrieved 28 April 2009 Time Lines of Infection and Disease in Human Influenza A Review of Volunteer Challenge Studies 13 mithunayn 2012 thi ewyaebkaemchchin American Journal of Epidemiology Carrat Vergu Ferguson et al 167 7 775 85 2008 In almost all studies participants were individually confined for 1 week See especially Figure 5 which shows that virus shedding tends to peak on day 2 whereas symptoms tend to peak on day 3 Suzuki E Ichihara K Johnson AM January 2007 Natural course of fever during influenza virus infection in children Clin Pediatr Phila 46 1 76 79 doi 10 1177 0009922806289588 PMID 17164515 Influenza Viral Infections Merck Manual Home Edition Merck cakaehlngedimemux 17 March 2008 subkhnemux 15 March 2008 Silva ME Cherry JD Wilton RJ Ghafouri NM Bruckner DA Miller MJ August 1999 Acute fever and petechial rash associated with influenza A virus infection Clinical Infectious Diseases 29 2 453 54 doi 10 1086 520240 PMID 10476766 Richards S 2005 Flu blues Nurs Stand 20 8 26 27 doi 10 7748 ns 20 8 26 s29 PMID 16295596 Heikkinen T July 2006 Influenza in children Acta Paediatr 95 7 778 84 doi 10 1080 08035250600612272 PMID 16801171 Kerr AA McQuillin J Downham MA Gardner PS 1975 Gastric flu influenza B causing abdominal symptoms in children Lancet 1 7902 291 95 doi 10 1016 S0140 6736 75 91205 2 PMID 46444 Eccles R 2005 Understanding the symptoms of the common cold and influenza Lancet Infect Dis 5 11 718 25 doi 10 1016 S1473 3099 05 70270 X PMID 16253889 Hui DS March 2008 Review of clinical symptoms and spectrum in humans with influenza A H5N1 infection Respirology 13 Suppl 1 S10 13 doi 10 1111 j 1440 1843 2008 01247 x PMID 18366521 Smith K Roberts M 2002 Cost effectiveness of newer treatment strategies for influenza Am J Med 113 4 300 07 10 1 1 575 2366 doi 10 1016 S0002 9343 02 01222 6 PMID 12361816 Rothberg M Bellantonio S Rose D 2 September 2003 Management of influenza in adults older than 65 years of age cost effectiveness of rapid testing and antiviral therapy Annals of Internal Medicine 139 5 Pt 1 321 29 doi 10 7326 0003 4819 139 5 part 1 200309020 00007 PMID 12965940 Centers for Disease Control and Prevention Lab Diagnosis of Influenza 22 emsayn 2009 thi ewyaebkaemchchin Retrieved 1 May 2009 Rapid Diagnostic Testing for Influenza Information for Clinical Laboratory Directors Centers for Disease Control and Prevention 13 tulakhm 2015 cakaehlngedimemux 16 mkrakhm 2016 subkhnemux 2 kumphaphnth 2016 Hospitalized Patients with 2009 H1N1 Influenza in the United States April June 2009 7 kumphaphnth 2021 thi ewyaebkaemchchin New England Journal of Medicine Jain Kamimoto et al 12 November 2009 Transcript of virtual press conference with Gregory Hartl Spokesperson for H1N1 and Dr Nikki Shindo Medical Officer Global Influenza Programme World Health Organization 22 thnwakhm 2020 thi ewyaebkaemchchin 12 November 2009 Report Finds Swine Flu Has Killed 36 Children 7 minakhm 2010 thi ewyaebkaemchchin New York Times DENISE GRADY 3 September 2009 Guide for considering influenza testing when influenza viruses are circulating in the community Seasonal Influenza Flu CDC www cdc gov phasaxngkvsaebbxemrikn 20 February 2018 subkhnemux 30 March 2018 The Flu What To Do If You Get Sick Centers for Disease Control and Prevention phasaxngkvsaebbxemrikn 9 March 2018 subkhnemux 29 March 2018 Kawaoka Y b k 2006 Influenza Virology Current Topics Caister Academic Press ISBN 978 1 904455 06 6 cakaehlngedimemux 9 May 2008 Vainionpaa R Hyypia T April 1994 Biology of parainfluenza viruses Clin Microbiol Rev 7 2 265 75 doi 10 1128 CMR 7 2 265 PMC 358320 PMID 8055470 Hall CB June 2001 Respiratory syncytial virus and parainfluenza virus N Engl J Med 344 25 1917 28 doi 10 1056 NEJM200106213442507 PMID 11419430 Hause BM Collin EA Liu R Huang B Sheng Z Lu W Wang D Nelson EA Li F 2014 Characterization of a novel influenza virus in cattle and swine proposal for a new genus in the Orthomyxoviridae family mBio 5 2 e00031 14 doi 10 1128 mBio 00031 14 PMC 3958797 PMID 24595369 Collin EA Sheng Z Lang Y Ma W Hause BM Li F 2015 Cocirculation of two distinct genetic and antigenic lineages of proposed influenza D virus in cattle J Virol 89 2 1036 42 doi 10 1128 JVI 02718 14 PMC 4300623 PMID 25355894 Ducatez MF Pelletier C Meyer G 2015 Influenza D virus in cattle France 2011 2014 Emerg Infect Dis 21 2 368 71 doi 10 3201 eid2102 141449 PMC 4313661 PMID 25628038 Song H Qi J Khedri Z Diaz S Yu H Chen X Varki A Shi Y Gao GF 2016 An open receptor binding cavity of hemagglutinin esterase fusion glycoprotein from newly identified Influenza D Virus Basis for its broad cell tropism PLoS Pathog 12 1 e1005411 doi 10 1371 journal ppat 1005411 PMC 4729479 PMID 26816272 Sheng Z Ran Z Wang D Hoppe AD Simonson R Chakravarty S Hause BM Li F 2014 Genomic and evolutionary characterization of a novel influenza C like virus from swine Arch Virol 159 2 249 55 doi 10 1007 s00705 013 1815 3 PMC 5714291 PMID 23942954 Quast M Sreenivasan C Sexton G Nedland H Singrey A Fawcett L Miller G Lauer D Voss S Pollock S Cunha CW Christopher Hennings J Nelson E Li F 2015 Serological evidence for the presence of influenza D virus in small ruminants Vet Microbiol 180 3 4 281 85 doi 10 1016 j vetmic 2015 09 005 PMC 4618254 PMID 26414999 Smith DB Gaunt ER Digard P Templeton K Simmonds P 2016 Detection of influenza C virus but not influenza D virus in Scottish respiratory samples J Clin Virol 74 50 53 doi 10 1016 j jcv 2015 11 036 PMC 4710576 PMID 26655269 Klenk H Matrosovich M Stech J 2008 Avian Influenza Molecular Mechanisms of Pathogenesis and Host Range Animal Viruses Molecular Biology Caister Academic Press ISBN 978 1 904455 22 6 Hay AJ Gregory V Douglas AR Lin YP December 2001 The evolution of human influenza viruses Philosophical Transactions of the Royal Society of London Series B Biological Sciences 356 1416 1861 70 doi 10 1098 rstb 2001 0999 PMC 1088562 PMID 11779385 Fouchier RA Schneeberger PM Rozendaal FW Broekman JM Kemink SA Munster V aelakhna kumphaphnth 2004 Avian influenza A virus H7N7 associated with human conjunctivitis and a fatal case of acute respiratory distress syndrome Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America 101 5 1356 61 Bibcode 2004PNAS 101 1356F doi 10 1073 pnas 0308352100 PMC 337057 PMID 14745020 Avian Influenza A H7N9 Virus Avian Influenza Flu www cdc gov phasaxngkvsaebbxemrikn subkhnemux 24 February 2017 Yuan J Zhang L Kan X Jiang L Yang J Guo Z Ren Q November 2013 Origin and Molecular Characteristics of a Novel 2013 Avian Influenza A H6N1 Virus Causing Human Infection in Taiwan Clinical Infectious Diseases 57 9 1367 68 doi 10 1093 cid cit479 ISSN 1537 6591 PMID 23881153 Osterhaus AD Rimmelzwaan GF Martina BE Bestebroer TM Fouchier RA May 2000 Influenza B virus in seals Science 288 5468 1051 53 Bibcode 2000Sci 288 1051O doi 10 1126 science 288 5468 1051 PMID 10807575 Jakeman KJ Tisdale M Russell S Leone A Sweet C August 1994 Efficacy of 2 deoxy 2 fluororibosides against influenza A and B viruses in ferrets Antimicrobial Agents and Chemotherapy 38 8 1864 67 doi 10 1128 aac 38 8 1864 PMC 284652 PMID 7986023 Nobusawa E Sato K April 2006 Comparison of the mutation rates of human influenza A and B viruses Journal of Virology 80 7 3675 78 doi 10 1128 JVI 80 7 3675 3678 2006 PMC 1440390 PMID 16537638 Webster RG Bean WJ Gorman OT Chambers TM Kawaoka Y March 1992 Evolution and ecology of influenza A viruses Microbiological Reviews 56 1 152 79 PMC 372859 PMID 1579108 Zambon MC phvscikayn 1999 Epidemiology and pathogenesis of influenza PDF The Journal of Antimicrobial Chemotherapy 44 Suppl B 90002 3 9 doi 10 1093 jac 44 suppl 2 3 PMID 10877456 PDF cakaehlngedimemux 23 minakhm 2013 Matsuzaki Y Sugawara K Mizuta K Tsuchiya E Muraki Y Hongo S Suzuki H Nakamura K February 2002 Antigenic and genetic characterization of influenza C viruses which caused two outbreaks in Yamagata City Japan in 1996 and 1998 Journal of Clinical Microbiology 40 2 422 29 doi 10 1128 JCM 40 2 422 429 2002 PMC 153379 PMID 11825952 Taubenberger JK Morens DM 2008 The pathology of influenza virus infections Annual Review of Pathology 3 499 522 doi 10 1146 annurev pathmechdis 3 121806 154316 PMC 2504709 PMID 18039138 Matsuzaki Y Katsushima N Nagai Y Shoji M Itagaki T Sakamoto M Kitaoka S Mizuta K Nishimura H May 2006 Clinical features of influenza C virus infection in children The Journal of Infectious Diseases 193 9 1229 35 doi 10 1086 502973 PMID 16586359 Katagiri S Ohizumi A Homma M July 1983 An outbreak of type C influenza in a children s home The Journal of Infectious Diseases 148 1 51 56 doi 10 1093 infdis 148 1 51 PMID 6309999 International Committee on Taxonomy of Viruses descriptions of and Nakatsu S Murakami S Shindo K Horimoto T Sagara H Noda T Kawaoka Y March 2018 Influenza C and D Viruses Package Eight Organized Ribonucleoprotein Complexes Journal of Virology 92 6 e02084 17 doi 10 1128 jvi 02084 17 PMC 5827381 PMID 29321324 Sugita Y Noda T Sagara H Kawaoka Y November 2011 Ultracentrifugation deforms unfixed influenza A virions The Journal of General Virology 92 Pt 11 2485 93 doi 10 1099 vir 0 036715 0 PMC 3352361 PMID 21795472 Dadonaite B Vijayakrishnan S Fodor E Bhella D Hutchinson EC August 2016 Filamentous influenza viruses The Journal of General Virology 97 8 1755 64 doi 10 1099 jgv 0 000535 PMC 5935222 PMID 27365089 Bouvier NM September 2008 The biology of influenza viruses Vaccine 26 Suppl 4 D49 53 doi 10 1016 j vaccine 2008 07 039 PMC 3074182 PMID 19230160 Lamb RA Choppin PW 1983 The gene structure and replication of influenza virus Annu Rev Biochem 52 467 506 doi 10 1146 annurev bi 52 070183 002343 PMID 6351727 Ghedin E Sengamalay NA Shumway M Zaborsky J Feldblyum T Subbu V aelakhna October 2005 Large scale sequencing of human influenza reveals the dynamic nature of viral genome evolution Nature 437 7062 1162 66 Bibcode 2005Natur 437 1162G doi 10 1038 nature04239 PMID 16208317 Suzuki Y March 2005 Sialobiology of influenza molecular mechanism of host range variation of influenza viruses Biological amp Pharmaceutical Bulletin 28 3 399 408 doi 10 1248 bpb 28 399 PMID 15744059 Suzuki Y March 2005 Sialobiology of influenza molecular mechanism of host range variation of influenza viruses Biological amp Pharmaceutical Bulletin 28 3 399 408 doi 10 1248 bpb 28 399 PMID 15744059 Wilson JC von Itzstein M July 2003 Recent strategies in the search for new anti influenza therapies Current Drug Targets 4 5 389 408 doi 10 2174 1389450033491019 PMID 12816348 Hilleman MR August 2002 Realities and enigmas of human viral influenza pathogenesis epidemiology and control Vaccine 20 25 26 3068 87 doi 10 1016 s0264 410x 02 00254 2 PMID 12163258 Tong S Zhu X Li Y Shi M Zhang J Bourgeois M aelakhna 10 October 2013 New world bats harbor diverse influenza A viruses PLoS Pathogens 9 10 e1003657 doi 10 1371 journal ppat 1003657 PMC 3794996 PMID 24130481 Tong S Li Y Rivailler P Conrardy C Castillo DA Chen LM aelakhna March 2012 A distinct lineage of influenza A virus from bats Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America 109 11 4269 74 Bibcode 2012PNAS 109 4269T doi 10 1073 pnas 1116200109 PMC 3306675 PMID 22371588 Smith AE Helenius A April 2004 How viruses enter animal cells Science 304 5668 237 42 Bibcode 2004Sci 304 237S doi 10 1126 science 1094823 PMID 15073366 Wagner R Matrosovich M Klenk HD May June 2002 Functional balance between haemagglutinin and neuraminidase in influenza virus infections Reviews in Medical Virology 12 3 159 66 doi 10 1002 rmv 352 PMID 11987141 Steinhauer DA May 1999 Role of hemagglutinin cleavage for the pathogenicity of influenza virus Virology 258 1 1 20 doi 10 1006 viro 1999 9716 PMID 10329563 Liu SL Zhang ZL Tian ZQ Zhao HS Liu H Sun EZ Xiao GF Zhang W Wang HZ Pang DW 2011 Effectively and efficiently dissecting the infection of influenza virus by quantum dot based single particle tracking ACS Nano Lakadamyali M Rust MJ Babcock HP Zhuang X August 2003 Visualizing infection of individual influenza viruses Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America 100 16 9280 85 Bibcode 2003PNAS 100 9280L doi 10 1073 pnas 0832269100 PMC 170909 PMID 12883000 Pinto LH Lamb RA April 2006 The M2 proton channels of influenza A and B viruses The Journal of Biological Chemistry 281 14 8997 9000 doi 10 1074 jbc R500020200 PMID 16407184 Cros JF Palese P September 2003 Trafficking of viral genomic RNA into and out of the nucleus influenza Thogoto and Borna disease viruses Virus Research 95 1 2 3 12 doi 10 1016 S0168 1702 03 00159 X PMID 12921991 Kash JC Goodman AG Korth MJ Katze MG July 2006 Hijacking of the host cell response and translational control during influenza virus infection Virus Research 119 1 111 20 doi 10 1016 j virusres 2005 10 013 PMID 16630668 Nayak DP Hui EK Barman S December 2004 Assembly and budding of influenza virus Virus Research 106 2 147 65 doi 10 1016 j virusres 2004 08 012 PMID 15567494 Drake JW May 1993 Rates of spontaneous mutation among RNA viruses Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America 90 9 4171 75 Bibcode 1993PNAS 90 4171D doi 10 1073 pnas 90 9 4171 PMC 46468 PMID 8387212 Sherman IW 2007 Twelve diseases that changed our world Washington DC ASM Press p 161 ISBN 978 1 55581 466 3 Carrat F Vergu E Ferguson NM Lemaitre M Cauchemez S Leach S Valleron AJ April 2008 Time lines of infection and disease in human influenza a review of volunteer challenge studies American Journal of Epidemiology 167 7 775 85 doi 10 1093 aje kwm375 PMID 18230677 Mitamura K Sugaya N June 2006 Diagnosis and Treatment of influenza clinical investigation on viral shedding in children with influenza Uirusu 56 1 109 16 doi 10 2222 jsv 56 109 PMID 17038819 Gooskens J Jonges M Claas EC Meijer A Kroes AC May 2009 Prolonged influenza virus infection during lymphocytopenia and frequent detection of drug resistant viruses The Journal of Infectious Diseases 199 10 1435 41 doi 10 1086 598684 PMID 19392620 Weber TP Stilianakis NI November 2008 Inactivation of influenza A viruses in the environment and modes of transmission a critical review The Journal of Infection 57 5 361 73 doi 10 1016 j jinf 2008 08 013 PMID 18848358 Hall CB singhakhm 2007 The spread of influenza and other respiratory viruses complexities and conjectures PDF Clinical Infectious Diseases 45 3 353 59 doi 10 1086 519433 PMID 17599315 PDF cakaehlngedimemux 25 mkrakhm 2016 Cole EC Cook CE August 1998 Characterization of infectious aerosols in health care facilities an aid to effective engineering controls and preventive strategies American Journal of Infection Control 26 4 453 64 doi 10 1016 S0196 6553 98 70046 X PMID 9721404 Thomas Y Vogel G Wunderli W Suter P Witschi M Koch D Tapparel C Kaiser L May 2008 Survival of influenza virus on banknotes Applied and Environmental Microbiology 74 10 3002 07 doi 10 1128 AEM 00076 08 PMC 2394922 PMID 18359825 Bean B Moore BM Sterner B Peterson LR Gerding DN Balfour HH July 1982 Survival of influenza viruses on environmental surfaces The Journal of Infectious Diseases 146 1 47 51 doi 10 1093 infdis 146 1 47 PMID 6282993 Influenza Factsheet PDF Center for Food Security and Public Health Iowa State University PDF cakaehlngedimemux 23 March 2009 p 7 Jefferies WM Turner JC Lobo M Gwaltney JM 1998 Low plasma levels of adrenocorticotropic hormone in patients with acute influenza PDF Clin Infect Dis 26 3 708 10 doi 10 1086 514594 PMID 9524849 PDF cakaehlngedimemux 25 January 2016 Korteweg C Gu J May 2008 Pathology molecular biology and pathogenesis of avian influenza A H5N1 infection in humans The American Journal of Pathology 172 5 1155 70 doi 10 2353 ajpath 2008 070791 PMC 2329826 PMID 18403604 Nicholls JM Chan RW Russell RJ Air GM Peiris JS April 2008 Evolving complexities of influenza virus and its receptors Trends in Microbiology 16 4 149 57 doi 10 1016 j tim 2008 01 008 PMID 18375125 van Riel D Munster VJ de Wit E Rimmelzwaan GF Fouchier RA Osterhaus AD Kuiken T April 2006 H5N1 Virus Attachment to Lower Respiratory Tract Science 312 5772 399 doi 10 1126 science 1125548 PMID 16556800 Shinya K Ebina M Yamada S Ono M Kasai N Kawaoka Y March 2006 Avian flu influenza virus receptors in the human airway Nature 440 7083 435 6 Bibcode 2006Natur 440 435S doi 10 1038 440435a PMID 16554799 van Riel D Munster VJ de Wit E Rimmelzwaan GF Fouchier RA Osterhaus AD Kuiken T October 2007 Human and avian influenza viruses target different cells in the lower respiratory tract of humans and other mammals The American Journal of Pathology 171 4 1215 23 doi 10 2353 ajpath 2007 070248 PMC 1988871 PMID 17717141 Schmitz N Kurrer M Bachmann MF Kopf M May 2005 Interleukin 1 is responsible for acute lung immunopathology but increases survival of respiratory influenza virus infection Journal of Virology 79 10 6441 8 doi 10 1128 JVI 79 10 6441 6448 2005 PMC 1091664 PMID 15858027 Winther B Gwaltney JM Mygind N Hendley JO 1998 Viral induced rhinitis American Journal of Rhinology 12 1 17 20 doi 10 2500 105065898782102954 PMID 9513654 Cheung CY Poon LL Lau AS Luk W Lau YL Shortridge KF Gordon S Guan Y Peiris JS December 2002 Induction of proinflammatory cytokines in human macrophages by influenza A H5N1 viruses a mechanism for the unusual severity of human disease Lancet 360 9348 1831 37 doi 10 1016 S0140 6736 02 11772 7 PMID 12480361 Kobasa D Jones SM Shinya K Kash JC Copps J Ebihara H Hatta Y Kim JH Halfmann P Hatta M Feldmann F Alimonti JB Fernando L Li Y Katze MG Feldmann H Kawaoka Y January 2007 Aberrant innate immune response in lethal infection of macaques with the 1918 influenza virus Nature 445 7125 319 23 Bibcode 2007Natur 445 319K doi 10 1038 nature05495 PMID 17230189 Kash JC Tumpey TM Proll SC Carter V Perwitasari O Thomas MJ aelakhna October 2006 Genomic analysis of increased host immune and cell death responses induced by 1918 influenza virus Nature 443 7111 578 81 Bibcode 2006Natur 443 578K doi 10 1038 nature05181 PMC 2615558 PMID 17006449 Beigel J Bray M April 2008 Current and future antiviral therapy of severe seasonal and avian influenza Antiviral Research 78 1 91 102 doi 10 1016 j antiviral 2008 01 003 PMC 2346583 PMID 18328578 Spiro Stephen G Silvestri Gerard A Agusti Alvar 2012 Clinical Respiratory Medicine phasaxngkvs Elsevier Health Sciences p 311 ISBN 978 1 4557 2329 4 Centers for Disease Control and Prevention QUESTIONS amp ANSWERS Novel H1N1 Flu Swine Flu and You 4 minakhm 2010 thi ewyaebkaemchchin Retrieved 15 December 2009 Grayson ML Melvani S Druce J Barr IG Ballard SA Johnson PD Mastorakos T Birch C February 2009 Efficacy of soap and water and alcohol based hand rub preparations against live H1N1 influenza virus on the hands of human volunteers Clinical Infectious Diseases 48 3 285 91 doi 10 1086 595845 PMID 19115974 MacIntyre CR Cauchemez S Dwyer DE Seale H Cheung P Browne G Fasher M Wood J Gao Z Booy R Ferguson N kumphaphnth 2009 Face mask use and control of respiratory virus transmission in households Emerging Infectious Diseases 15 2 233 41 doi 10 3201 eid1502 081167 PMC 2662657 PMID 19193267 Bridges CB Kuehnert MJ Hall CB October 2003 Transmission of influenza implications for control in health care settings Clinical Infectious Diseases 37 8 1094 101 doi 10 1086 378292 PMID 14523774 Murin S Bilello KS October 2005 Respiratory tract infections another reason not to smoke Cleveland Clinic Journal of Medicine 72 10 916 20 doi 10 3949 ccjm 72 10 916 PMID 16231688 Kark JD Lebiush M Rannon L October 1982 Cigarette smoking as a risk factor for epidemic a h1n1 influenza in young men The New England Journal of Medicine 307 17 1042 46 doi 10 1056 NEJM198210213071702 PMID 7121513 Aledort JE Lurie N Wasserman J Bozzette SA August 2007 Non pharmaceutical public health interventions for pandemic influenza an evaluation of the evidence base BMC Public Health 7 208 doi 10 1186 1471 2458 7 208 PMC 2040158 PMID 17697389 Hota B October 2004 Contamination disinfection and cross colonization are hospital surfaces reservoirs for nosocomial infection Clinical Infectious Diseases 39 8 1182 89 doi 10 1086 424667 PMID 15486843 McDonnell G Russell AD mkrakhm 1999 Antiseptics and disinfectants activity action and resistance PDF Clinical Microbiology Reviews 12 1 147 79 doi 10 1128 CMR 12 1 147 PMC 88911 PMID 9880479 PDF cakaehlngedimemux 25 krkdakhm 2011 Chlorine Bleach Helping to Manage the Flu Risk Water Quality amp Health Council April 2009 cakaehlngedimemux 7 June 2009 subkhnemux 12 May 2009 Hatchett RJ Mecher CE Lipsitch M phvsphakhm 2007 Public health interventions and epidemic intensity during the 1918 influenza pandemic Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America 104 18 7582 87 Bibcode 2007PNAS 104 7582H doi 10 1073 pnas 0610941104 PMC 1849867 PMID 17416679 Bootsma MC Ferguson NM phvsphakhm 2007 The effect of public health measures on the 1918 influenza pandemic in U S cities Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America 104 18 7588 93 Bibcode 2007PNAS 104 7588B doi 10 1073 pnas 0611071104 PMC 1849868 PMID 17416677 Vaccine use World Health Organization cakaehlngedimemux 15 December 2012 subkhnemux 6 December 2012 Smith NM Bresee JS Shay DK Uyeki TM Cox NJ Strikas RA krkdakhm 2006 Prevention and Control of Influenza recommendations of the Advisory Committee on Immunization Practices ACIP PDF MMWR Recommendations and Reports 55 RR 10 1 42 PMID 16874296 PDF cakaehlngedimemux 29 mithunayn 2011 Demicheli V Jefferson T Ferroni E Rivetti A Di Pietrantonj C 2018 Vaccines for preventing influenza in healthy adults The Cochrane Database of Systematic Reviews 2 CD001269 doi 10 1002 14651858 CD001269 pub6 PMID 29388196 Jefferson T Rivetti A Di Pietrantonj C Demicheli V 2018 Vaccines for preventing influenza in healthy children The Cochrane Database of Systematic Reviews 2 CD004879 doi 10 1002 14651858 CD004879 pub5 PMID 29388195 Kopsaftis Z Wood Baker R Poole P 2018 Influenza vaccine for chronic obstructive pulmonary disease COPD The Cochrane Database of Systematic Reviews 2 CD002733 doi 10 1002 14651858 CD002733 pub3 PMID 29943802 Cates CJ Rowe BH February 2013 Vaccines for preventing influenza in people with asthma The Cochrane Database of Systematic Reviews 2 2 CD000364 doi 10 1002 14651858 CD000364 pub4 PMID 23450529 Beck CR McKenzie BC Hashim AB Harris RC Nguyen Van Tam JS October 2012 Influenza vaccination for immunocompromised patients systematic review and meta analysis by etiology The Journal of Infectious Diseases 206 8 1250 59 doi 10 1093 infdis jis487 PMID 22904335 Udell JA Zawi R Bhatt DL Keshtkar Jahromi M Gaughran F Phrommintikul A Ciszewski A Vakili H Hoffman EB Farkouh ME Cannon CP October 2013 Association between influenza vaccination and cardiovascular outcomes in high risk patients a meta analysis JAMA 310 16 1711 20 doi 10 1001 jama 2013 279206 PMID 24150467 Abramson ZH 2012 What in Fact Is the Evidence That Vaccinating Healthcare Workers against Seasonal Influenza Protects Their Patients A Critical Review International Journal of Family Medicine 2012 205464 doi 10 1155 2012 205464 PMC 3502850 PMID 23209901 Thomas RE Jefferson T Lasserson TJ 2018 Influenza vaccination for healthcare workers who care for people aged 60 or older living in long term care institutions The Cochrane Database of Systematic Reviews 2 6 CD005187 doi 10 1002 14651858 CD005187 pub5 PMID 27251461 Ahmed F Lindley MC Allred N Weinbaum CM Grohskopf L January 2014 Effect of influenza vaccination of healthcare personnel on morbidity and mortality among patients systematic review and grading of evidence Clinical Infectious Diseases 58 1 50 57 doi 10 1093 cid cit580 PMID 24046301 Dolan GP Harris RC Clarkson M Sokal R Morgan G Mukaigawara M Horiuchi H Hale R Stormont L Bechard Evans L Chao YS Eremin S Martins S Tam J Penalver J Zanuzadana A Nguyen Van Tam JS September 2013 Vaccination of healthcare workers to protect patients at increased risk of acute respiratory disease summary of a systematic review Influenza and Other Respiratory Viruses 7 Suppl 2 93 96 doi 10 1111 irv 12087 PMC 5909400 PMID 24034492 Recommended composition of influenza virus vaccines for use in the 2006 2007 influenza season PDF WHO Report 14 February 2006 PDF cakaehlngedimemux 14 April 2016 subkhnemux 28 December 2016 Holmes EC Ghedin E Miller N Taylor J Bao Y St George K Grenfell BT Salzberg SL Fraser CM Lipman DJ Taubenberger JK September 2005 Whole genome analysis of human influenza A virus reveals multiple persistent lineages and reassortment among recent H3N2 viruses PLoS Biology 3 9 e300 doi 10 1371 journal pbio 0030300 PMC 1180517 PMID 16026181 Key Facts about Influenza Flu Vaccine 30 mithunayn 2017 thi ewyaebkaemchchin CDC publication Published 17 October 2006 Retrieved 18 October 2006 Questions amp Answers Flu Shot 19 tulakhm 2006 thi ewyaebkaemchchin CDC publication updated 24 July 2006 Retrieved 19 October 2006 Questions amp Answers Flu Shot 1 tulakhm 2015 thi ewyaebkaemchchin CDC publication updated 24 July 2006 Retrieved 19 October 2006 Jit M Newall AT Beutels P April 2013 Key issues for estimating the impact and cost effectiveness of seasonal influenza vaccination strategies Human Vaccines amp Immunotherapeutics 9 4 834 40 doi 10 4161 hv 23637 PMC 3903903 PMID 23357859 Newall AT Jit M Beutels P August 2012 Economic evaluations of childhood influenza vaccination a critical review PharmacoEconomics 30 8 647 60 doi 10 2165 11599130 000000000 00000 PMID 22788257 Postma MJ Baltussen RP Palache AM Wilschut JC April 2006 Further evidence for favorable cost effectiveness of elderly influenza vaccination 6 2 215 27 doi 10 1586 14737167 6 2 215 PMID 20528557 Newall AT Dehollain JP Creighton P Beutels P Wood JG August 2013 Understanding the cost effectiveness of influenza vaccination in children methodological choices and seasonal variability PharmacoEconomics 31 8 693 702 doi 10 1007 s40273 013 0060 7 PMID 23645539 Newall AT Kelly H Harsley S Scuffham PA 1 June 2009 Cost effectiveness of influenza vaccination in older adults a critical review of economic evaluations for the 50 to 64 year age group PharmacoEconomics 27 6 439 50 doi 10 2165 00019053 200927060 00001 PMID 19640008 Influenza Virus Testing Methods Seasonal Influenza Flu CDC www cdc gov phasaxngkvsaebbxemrikn 26 March 2018 subkhnemux 30 March 2018 Wash your hands often and right way Centers for Disease Control and Prevention phasaxngkvsaebbxemrikn 5 January 2018 subkhnemux 29 March 2018 Flu MedlinePlus Medical Encyclopedia U S National Library of Medicine cakaehlngedimemux 14 February 2010 subkhnemux 7 February 2010 Glasgow JF Middleton B phvscikayn 2001 Reye syndrome insights on causation and prognosis PDF Archives of Disease in Childhood 85 5 351 53 doi 10 1136 adc 85 5 351 PMC 1718987 PMID 11668090 PDF cakaehlngedimemux 8 krkdakhm 2011 Hurt AC Ho HT Barr I October 2006 Resistance to anti influenza drugs adamantanes and neuraminidase inhibitors Expert Review of Anti Infective Therapy 4 5 795 805 doi 10 1586 14787210 4 5 795 PMID 17140356 The Flu What To Do If You Get Sick Centers for Disease Control and Prevention phasaxngkvsaebbxemrikn 9 March 2018 subkhnemux 29 March 2018 Moscona Anne 5 March 2009 Global Transmission of Oseltamivir Resistant Influenza New England Journal of Medicine 360 10 953 56 doi 10 1056 NEJMp0900648 ISSN 0028 4793 PMID 19258250 Stephenson I Nicholson KG krkdakhm 1999 Chemotherapeutic control of influenza PDF The Journal of Antimicrobial Chemotherapy 44 1 6 10 doi 10 1093 jac 44 1 6 PMID 10459804 PDF cakaehlngedimemux 25 mkrakhm 2016 Centers for Disease Control Prevention CDC mkrakhm 2006 High levels of adamantane resistance among influenza A H3N2 viruses and interim guidelines for use of antiviral agents United States 2005 06 influenza season PDF MMWR Morbidity and Mortality Weekly Report 55 2 44 46 PMID 16424859 PDF cakaehlngedimemux 29 mithunayn 2011 Bright RA Medina MJ Xu X Perez Oronoz G Wallis TR Davis XM Povinelli L Cox NJ Klimov AI October 2005 Incidence of adamantane resistance among influenza A H3N2 viruses isolated worldwide from 1994 to 2005 a cause for concern Lancet 366 9492 1175 81 doi 10 1016 S0140 6736 05 67338 2 PMID 16198766 Ilyushina NA Govorkova EA Webster RG tulakhm 2005 Detection of amantadine resistant variants among avian influenza viruses isolated in North America and Asia PDF Virology 341 1 102 06 doi 10 1016 j virol 2005 07 003 PMID 16081121 PDF cakaehlngedimemux 21 krkdakhm 2011 Parry J July 2005 Use of antiviral drug in poultry is blamed for drug resistant strains of avian flu BMJ 331 7507 10 doi 10 1136 bmj 331 7507 10 PMC 558527 PMID 15994677 CDC Recommends against the Use of Amantadine and Rimantadine for the Treatment or Prophylaxis of Influenza in the United States during the 2005 06 Influenza Season Centers for Disease Control and Prevention 14 January 2006 cakaehlngedimemux 19 June 2017 subkhnemux 28 December 2016 Hayden FG March 1997 Prevention and treatment of influenza in immunocompromised patients Am J Med 102 3A 55 60 discussion 75 76 doi 10 1016 S0002 9343 97 80013 7 PMID 10868144 Whitley RJ Monto AS 2006 Prevention and treatment of influenza in high risk groups children pregnant women immunocompromised hosts and nursing home residents PDF J Infect Dis 194 S2 S133 38 doi 10 1086 507548 PMID 17163386 PDF cakaehlngedimemux 25 January 2016 Angelo SJ Marshall PS Chrissoheris MP Chaves AM April 2004 Clinical characteristics associated with poor outcome in patients acutely infected with Influenza A Conn Med 68 4 199 205 PMID 15095826 Murin S Bilello K 2005 Respiratory tract infections another reason not to smoke Cleve Clin J Med 72 10 916 20 doi 10 3949 ccjm 72 10 916 PMID 16231688 Sandman PM Lanard J 2005 Bird Flu Communicating the Risk PDF Perspectives in Health Magazine 10 2 1 6 PDF cakaehlngedimemux 21 mkrakhm 2012 People at High Risk of Developing Flu Related Complications 10 krkdakhm 2017 thi ewyaebkaemchchin CDC publication Published 26 August 2016 Retrieved 20 March 2017 Sivadon Tardy V Orlikowski D Porcher R Sharshar T Durand MC Enouf V Rozenberg F Caudie C Annane D van der Werf S Lebon P Raphael JC Gaillard JL Gault E January 2009 Guillain Barre syndrome and influenza virus infection Clinical Infectious Diseases 48 1 48 56 doi 10 1086 594124 PMID 19025491 Jacobs BC Rothbarth PH van der Meche FG Herbrink P Schmitz PI de Klerk MA van Doorn PA October 1998 The spectrum of antecedent infections in Guillain Barre syndrome a case control study Neurology 51 4 1110 15 doi 10 1212 wnl 51 4 1110 PMID 9781538 Vellozzi C Burwen DR Dobardzic A Ball R Walton K Haber P March 2009 Safety of trivalent inactivated influenza vaccines in adults background for pandemic influenza vaccine safety monitoring Vaccine 27 15 2114 20 doi 10 1016 j vaccine 2009 01 125 PMID 19356614 Stowe J Andrews N Wise L Miller E February 2009 Investigation of the temporal association of Guillain Barre syndrome with influenza vaccine and influenzalike illness using the United Kingdom General Practice Research Database PDF American Journal of Epidemiology 169 3 382 88 doi 10 1093 aje kwn310 PMID 19033158 Sivadon Tardy V Orlikowski D Porcher R Sharshar T Durand MC Enouf V Rozenberg F Caudie C Annane D van der Werf S Lebon P Raphael JC Gaillard JL Gault E January 2009 Guillain Barre syndrome and influenza virus infection PDF Clinical Infectious Diseases 48 1 48 56 doi 10 1086 594124 PMID 19025491 Children with Neurologic Conditions amp Influenza Flu Centers for Disease Control and Prevention CDC 5 February 2019 subkhnemux 10 July 2019 Children of any age with neurologic conditions are more likely than other children to become very sick if they get flu Flu complications may vary and for some children can include pneumonia and even death Weather and the Flu Season 15 phvscikayn 2016 thi ewyaebkaemchchin NPR Day to Day 17 December 2003 Retrieved 19 October 2006 Lowen AC Mubareka S Steel J tulakhm 2007 Influenza virus transmission is dependent on relative humidity and temperature PLoS Pathogens 3 10 1470 76 doi 10 1371 journal ppat 0030151 PMC 2034399 PMID 17953482 Shaman J Kohn M March 2009 Absolute humidity modulates influenza survival transmission and seasonality Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America 106 9 3243 8 Bibcode 2009PNAS 106 3243S doi 10 1073 pnas 0806852106 PMC 2651255 PMID 19204283 Shaman J Pitzer VE Viboud C Grenfell BT Lipsitch M February 2010 Ferguson NM b k Absolute humidity and the seasonal onset of influenza in the continental United States PLoS Biology 8 2 e1000316 doi 10 1371 journal pbio 1000316 PMC 2826374 PMID 20186267 Shek LP Lee BW June 2003 Epidemiology and seasonality of respiratory tract virus infections in the tropics Paediatric Respiratory Reviews 4 2 105 11 doi 10 1016 S1526 0542 03 00024 1 PMID 12758047 Dushoff J Plotkin JB Levin SA Earn DJ November 2004 Dynamical resonance can account for seasonality of influenza epidemics Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America 101 48 16915 16 Bibcode 2004PNAS 10116915D doi 10 1073 pnas 0407293101 PMC 534740 PMID 15557003 WHO Confirmed Human Cases of H5N1 WHO Epidemic and Pandemic Alert and Response EPR cakaehlngedimemux 16 November 2016 subkhnemux 28 December 2016 Vieth R Umhau JC Holick MF Grant WB Madronich S Garland CF Giovannucci E December 2006 Epidemic influenza and vitamin D Epidemiology and Infection 134 6 1129 40 doi 10 1017 S0950268806007175 PMC 2870528 PMID 16959053 Hope Simpson RE January 1965 The Nature of Herpes Zoster A Long term Study and a New Hypothesis Proceedings of the Royal Society of Medicine 58 9 20 PMC 1898279 PMID 14267505 Lozano R Naghavi M Foreman K Lim S Shibuya K Aboyans V aelakhna December 2012 Global and regional mortality from 235 causes of death for 20 age groups in 1990 and 2010 a systematic analysis for the Global Burden of Disease Study 2010 Lancet 380 9859 2095 128 doi 10 1016 S0140 6736 12 61728 0 10536 DRO DU 30050819 PMID 23245604